โมฆะกรรม และ โมฆียะกรรม


มาตรา ๑๗๒  โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2559
การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์

มาตรา ๑๗๓  ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้

มาตรา ๑๗๔  การใดเป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรมซึ่งไม่เป็นโมฆะ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้ว ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440 - 3441/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์ โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่ เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559
จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555
แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2554
โจทก์และจำเลยทราบดีว่าที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน แต่ก็ซื้อขายกันโดยหลีกเลี่ยงข้อกำหนดดังกล่าว โดยวิธีทำเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งยังจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้จะซื้อเป็นการอำพราง และทำพินัยกรรมไว้ว่าเมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นของจำเลย ซึ่งนิติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นโมฆะมาแต่ต้น มิใช่กรณีที่เป็นโมฆียะแล้วมาถูกบอกล้างในภายหลัง อันที่จะทำให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เงินค่าที่ดินบางส่วนที่จำเลยชำระไปจึงเป็นการกระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิจะได้รับเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2554
สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๗๕  โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
(๑) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
(๒) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
(๓) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
(๔) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา ๓๐ ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

มาตรา ๑๗๖  โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19696/2557
จำเลยทราบว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 แต่จำเลยก็ไม่เคยคิดจะไปขออนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งหากจำเลยมีความสุจริตใจประสงค์จะขายอาคารพิพาทตามสภาพที่มีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต ก็ควรแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย เพราะหากโจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาคารแล้วโจทก์อาจถูกระงับการใช้อาคารพิพาทหรือถูกปรับในอัตราค่าปรับสูง และการไปขออนุญาตเพิ่มเติมภายหลังเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา พฤติการณ์ที่โจทก์ยอมทำสัญญาจะซื้อขายตามที่ฝ่ายจำเลยจัดทำขึ้นซึ่งไม่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องไปจัดการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องก่อน และไม่มีการกำหนดเบี้ยปรับทั้งที่โจทก์ต้องวางเงินมัดจำจำนวนมาก เชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้างก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย การทำสัญญาจะซื้อขายของโจทก์จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติอาคารพิพาทว่าก่อสร้างถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้าง นิติกรรมที่โจทก์ทำไปจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วจึงมีผลเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13764/2557
โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทกับจำเลยแล้วเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงตึกแถวพิพาท โดยต่อเติมบริเวณด้านหลังซึ่งเป็นทางเดิน สร้างผนังปิดทางเดิน สร้างเพิ่มเติมพื้นชั้นลอย เพิ่มความสูงของอาคารเป็น 4 ชั้น ก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กต่อจากชั้นที่ 4 ขึ้นไป จึงเชื่อได้ว่าในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้น จำเลยไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ทราบว่ามีพื้นชั้นลอยด้านหลังที่จำเลยยังไม่ได้รื้อถอนให้แล้วเสร็จตามคำสั่งของสำนักงานเขตจอมทอง ซึ่งหากจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงนี้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะกล้าเสี่ยงต่อเติมอาคารหลายรายการและเสียค่าใช้จ่ายมากมายโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจำเลยโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้บอกล้างโมฆียะกรรม แต่การฟ้องคดีนี้มีผลเท่ากับเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่อาจอาศัยสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ต่อกันได้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เพียงคืนเงินค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยได้อีก

มาตรา ๑๗๗  ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา ๑๗๕ ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก

มาตรา ๑๗๘  การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน

มาตรา ๑๗๙  การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา ๓๐ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี
ทายาทของบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้นับแต่เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมนั้นถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้ตายนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ ถ้าการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์

มาตรา ๑๘๐  ภายหลังเวลาอันพึงให้สัตยาบันได้ตามมาตรา ๑๗๙ ถ้ามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมโดยการกระทำของบุคคลซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา ๑๗๕ ถ้ามิได้สงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใดให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
(๑) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
(๒) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว
(๓) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(๔) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น
(๕) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
(๖) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน
มาตรา ๑๘๑  โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2541
แม้ส. ผู้จะขายได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้ง 8 แปลงในขณะที่ส.เป็นปกติอยู่ก็ตาม แต่ในช่วงระยะเวลาที่ส. จะต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อ ตามสัญญาจะซื้อขายปรากฏว่า ส. ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลประสงค์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ขายให้ผู้จะซื้อ ผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง และ 1574(1) ประกอบมาตรา 1598/18 วรรคสอง แม้สัญญาจะซื้อขายที่ส. ทำขึ้นเป็นโมฆียะกรรมก็ตามแต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะมิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทนส. ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง โดยผู้ร้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินและยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายแทนส. พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นโมฆียะกรรมโดยการแสดงเจตนาแก่ผู้จะซื้อ ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177 ซึ่งมีผลผูกพันที่ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามสัญญา โดยผู้ร้องจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ ส. ขายให้แก่ผู้จะซื้อ เป็นเหตุให้ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย อีกทั้งบุตรของ ส.อีก 2 คน ที่แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าทราบรายละเอียดในคดีนี้แล้วไม่ค้านตลอดจนศาลได้คำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมและเมื่อพิจารณาถึงการจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขายที่ดินของส.ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อส. เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายได้ ดังนั้น การขายที่ดินของส.ให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายถือได้ว่า มีเหตุจำเป็นและสมควร อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อส. จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของส.คนไร้ความสามารถขายที่ดินของส. ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2541)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2538
จำเลยไม่ได้ให้การว่าได้ บอกล้าง โมฆียะกรรมภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้วการนำสืบของจำเลยที่ว่าได้บอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์ก่อนวันที่พากันไปโอนที่ดินพิพาทตาม สัญญาจะซื้อจะขายที่เป็นโมฆียะที่สำนักงานที่ดินจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้ในวันนัดจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ได้เพราะภรรยาจำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนครึ่งหนึ่งแต่แสดงว่าจำเลยตั้งใจที่จะปฏิบัติตาม สัญญาจะซื้อจะขายตลอดมาซึ่งเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุที่เป็นโมฆียะกรรมได้สูญสิ้นไปโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมแล้วโดยปริยายและแม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำให้การต่อสู้คดีโดยถือว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแต่เมื่อจำเลยได้ให้สัตยาบันก่อนแล้วจึงไม่อาจ บอกล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2550
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จะให้สิทธิผู้รับประกันภัยบอกล้างโมฆียะกรรมได้แต่สัญญาประกันชีวิตเป็นนิติกรรมสองฝ่าย การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 178 เมื่อจำเลยต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาประกันชีวิตย่อมต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์ทั้งสามผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่าย มิใช่เพียงแสดงหลักฐานฝ่ายเดียวว่าตนได้ใช้สิทธิบอกล้างแล้ว การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙ คดีนี้จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปถึงโจทก์ทั้งสามที่จังหวัดพิจิตรทางไปรษณีย์ อันเป็นการแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง การบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่เวลาที่หนังสือไปถึงโจทก์ทั้งสาม เมื่อนับจากวันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมมีผลในวันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10258/2558
      โจทก์เพียงต้องการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทจึงลงชื่อในหนังสือมอบ อำนาจ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความให้ อ. นำไปจำนอง จำเลยที่ 1 ไปกรอกข้อความเป็นขาย แล้วดำเนินการจดทะเบียนเป็นว่าโจทก์ขายแก่จำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์และ อ. ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินในวันจดทะเบียนซื้อขาย ไม่รู้เห็นยินยอมให้ขายและไม่ได้รับเงินค่าขายแต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์ และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสีย จริงอยู่แม้การที่โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความเป็น ความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 รู้เห็นเกี่ยวกับการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเป็นผู้ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2 มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งการซื้อขายคือที่ดินและบ้านที่ ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 ชี้ให้ดู อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งการซื้อขาย ไม่ได้มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทเนื่องจากถูก ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงเป็นไปโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็น ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จำเลยที่ 2 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจด ทะเบียนนิติกรรมนี้เสียเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนอันอาจได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะไป ว่ากล่าวเอาจาก ธ. ก. และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2558
        โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลย แต่เมื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วปรากฏว่า บ้านปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของผู้อื่นบางส่วน เป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยและขอให้จำเลยคืนเงิน แต่จำเลยไม่คืนเงินให้ ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังว่า บ้านพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยตั้งอยู่บนที่ดินที่ซื้อบางส่วนและบางส่วน ตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น กรณีถือได้ว่าโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสำคัญผิด ในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากมิได้มีความสำคัญผิดการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์มีสิทธิบอกล้างโดยการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายได้และ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 805/2552
       หนี้เงินต้นตามจำนวนในเช็คมีมูลหนี้มาจากเจ้าหนี้ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวแทนลูกหนี้ไป แล้วก่อนวันที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย เรื่องก่อนของศาลจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหนี้มิได้นำหนี้ดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ จนกระทั่งศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ ซึ่งการประนอมหนี้ดังกล่าวผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ก็มีผลผูกพันหนี้เดิมของเจ้าหนี้ที่ได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้นและมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวเท่านั้น แต่ภายหลังลูกหนี้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ได้ทำหนังสือพิพาทให้แก่เจ้าหนี้โดยตกลงยอมชำระหนี้เงินต้นจำนวนใน เช็ค 22,750,000 บาท ที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริงและลูกหนี้ยังมิได้ชำระคืนให้แก่เจ้า หนี้หนังสือพิพาทดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับเจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้และ มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย มิใช่เป็นเอกสารรับสภาพหนี้ตามเช็คธนาคาร ท. ที่ลูกหนี้สั่งจ่ายมอบให้แก่เจ้าหนี้ในระหว่างที่ลูกหนี้ยังอยู่ในภาวะล้มละลายอันเป็นการกระทำเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 ซึ่งตกเป็นโมฆะไม่ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามหนังสือพิพาทเป็นเงินต้น 22,750,000 บาท
       ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะชำระให้แก่เจ้าหนี้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ 24 เมษายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นข้อตกลงให้ดอกเบี้ยย้อนหลังแก่เจ้าหนี้ไปถึงวันที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็ค มอบให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ลูกหนี้อยู่ในภาวะล้มละลาย ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการถือเอาเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายมอบให้แก่เจ้าหนี้ซึ่ง เป็นโมฆะมาเป็นมูลเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยส่วนนี้ จึงตกเป็นโมฆะเช่นกันและตามพฤติการณ์แห่งกรณี คู่กรณีมีเจตนาจะให้ส่วนเงินต้นที่ลูกหนี้จะใช้คืนให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 22,750,000 บาท ที่สมบูรณ์แยกออกจากข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 22,750,000 บาท นับจากวันที่ 15 สิงหาคม 2542 อันเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือพิพาทจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2552
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบตาม พ.ระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อน สำนวนตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1)

โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ทำข้อตกลงให้แก่โจทก์ว่า หากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยที่ 3 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีพิพาท จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีโดยสัญญาว่าหากเกิดการทุจริตในการขอรับ เงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดจำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วง หน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความไว้เฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4541/2550
โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินตามมูลหนี้ตามเช็คพิพาทสี่ฉบับต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะเรียกร้องให้ จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ใช้เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะ เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอัน สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ถึงแม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ข้อ 3 จะระบุเป็นข้อยกเว้นว่า การตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่มีผลในคดีอาญาคดีนี้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตก เป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และข้อตกลงดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอม ความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 173 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และตกลงซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่อยู่ติดกับที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาทีล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ ข้อความในหนังสือดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง แม้ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนในหมู่บ้านที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ก็ตาม แต่ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2545
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 5 มิถุนายน2540 จำนวนเงิน 691,960 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยระบุข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามจำนวนที่ลงในเช็ค เป็นการบรรยายฟ้องครบถ้วนแล้ว ส่วนการออกเช็คเป็นการชำระหนี้ค่าอะไร มูลหนี้เกิดจากอะไร และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ก่อนที่จำเลยจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท จำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์มาแล้วรวม6 ครั้ง เป็นการชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนอง 5 ครั้ง ซึ่งการชำระหนี้แต่ละครั้งไม่พอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดไปก่อนที่จะชำระต้นเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และถือว่าการที่จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่อาจเรียกร้องคืนหรือให้นำมาหักหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้ตามมาตรา 407 แม้เช็คพิพาทมีหนี้ในส่วนที่เป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานที่สมบูรณ์แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ มิใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2545
สัญญาโอนหุ้น มีการลงลายมือชื่อจำเลยและโจทก์ไว้ จึงถือเป็นหลักฐานในการโอนหุ้น แต่เมื่อหุ้นของบริษัท บ. ทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อและยังไม่ได้ออกใบหุ้น ซึ่งการโอนหุ้นดังกล่าวต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง ที่กำหนดแบบไว้ว่าถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ แล้วถือว่าเป็นโมฆะ เมื่อสัญญาโอนหุ้นระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือการโอนหุ้นดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6759/2544
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันในปี 2536แต่จำเลยเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2538 ดังนั้น ขณะจำเลยจัดสรรที่ดินในโครงการออกเสนอขายต่อโจทก์และบุคคลทั่วไป จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ข้อ 10 ประกอบข้อ 35 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐที่จะเข้าไปควบคุมให้จำเลยหรือผู้จะจัดสรรที่ดินได้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อความสะดวกสบายของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทก็ไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งใด ๆตามกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้เป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทั้งจำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นกลฉ้อฉลทำให้โจทก์ต้องเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลย การที่จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันนั้น แม้จำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ไม่ถึงกับให้รับฟังว่าเป็นกลฉ้อฉลของจำเลยอันจะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกำหนดให้โจทก์ชำระเงินเป็นงวด งวดละเดือนรวม 20 งวด และชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเป็นลักษณะผ่อนผันให้แก่กันเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มิได้เป็นสาระสำคัญที่จะให้ถือว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาทันทีตามกำหนดไว้แต่อย่างใด แต่การที่โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ 16 ให้แก่จำเลยแล้วไม่ชำระเงินค่างวดต่อไปให้แก่จำเลยให้ครบ 20 งวดอีกจนกระทั่งจำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระเงินที่เหลือภายใน 7 วันนับแต่วันรับหนังสือ โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและริบเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2539
การที่โจทก์ตกลงยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยจำเลยชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแทนโจทก์มีผลเท่ากับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา31แล้วข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(มาตรา150ที่แก้ไขใหม่) และเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่การที่โจทก์มาฟ้องคดีจึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ แม้คำฟ้องขอไถ่ถอนจำนองจะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของโจทก์ และโจทก์สละสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยแล้วเป็นการโต้เถียงสิทธิครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นการรวมประเด็นที่ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันหรือไม่ตามคำให้การของจำเลยด้วย คดีไม่มีทุนทรัพย์จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2538
คดีนี้แม้โจทก์จำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาในส่วนที่ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ยังคงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายและดอกเบี้ยต่อมานั้น ไม่อาจทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษานั้นได้ถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อยินยอมโอนที่ดินให้แก่จำเลย อันเป็นการทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์ดังนั้นสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นโมฆียะกรรม เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้ว สัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก อันมีผลทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 วรรคท้าย เดิมจำเลยจะต้องโอนที่ดินพิพาทกลับคืนให้แก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลยไปแล้วทั้งหมดแก่จำเลยและในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมซึ่งเป็นเงินจำนวนหนึ่งนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย และคดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งหรือมีคำขอให้โจทก์ต้องรับผิดคืนค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ย ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะต้องคืนแก่จำเลยด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลย มิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้หรือใช้สิทธิเลิกสัญญาอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้อีกส่วนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 วรรคท้าย และ มาตรา 391 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้บอกล้างแล้ว ถือได้ว่าตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้ทำนิติกรรมต่อกันมาแต่ต้น และทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 138 วรรคท้ายเดิม ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้มีการได้รับค่าเสียหายชดใช้แทนก็แต่เฉพาะกรณีที่การจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมดังกล่าวเป็น การพ้นวิสัยเท่านั้น ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2537
การล้มละลายของจำเลยที่ 3 มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 62 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยที่ 3หรือซึ่งจำเลยที่ 3 จะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ตาม พระราชบัญญัติล้้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จึงตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ซึ่งมีสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทที่มีต่อจำเลยที่ 3 จะดำเนินการได้ก็แต่โดยวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 และหากโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้

โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 ทั้งโจทก์ก็มิใช่เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายด้วย การที่โจทก์กลับนำสิทธิตามสัญญามาฟ้องจำเลยที่ 3 หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายและยังไม่พ้นภาวะจากการล้มละลาย โดยจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเองในขณะนั้น ประกอบกับที่ดินพิพาทได้โอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้วและหากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทให้กลับคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ต่อไปตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2536
เมื่อศาลพิพากษาให้บุคคลใดตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย บุคคลนั้นย่อมไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้ เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 24ถ้าฝ่าฝืนนิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 133 เดิม (มาตรา 172 ใหม่) หมายถึงผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หากนิติกรรมที่กล่าวอ้างว่าเป็นโมฆะเป็นผลหรือไม่เป็นหรือกลับกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าบิดาโจทก์ทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ส.ผู้ล้มละลาย ต่อมาบิดาโจทก์ทั้งสี่ถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสี่ และจำเลยให้การต่อสู้ว่าบิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ส.ขณะที่ส. เป็นบุคคลล้มละลาย นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ดังนี้จำเลยจึงเป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากที่นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างส. กับบิดาโจทก์ทั้งสี่เป็นโมฆะจำเลยจึงชอบที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นอ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2536
การที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น นิติกรรมหาได้ตกเป็นโมฆะกรรมไม่เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2535
สัญญาซื้อขายที่ดิน ส.ค.1 มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 แต่ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองแล้วผู้ซื้อย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะ ผู้ซื้อจึงไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาซื้อขายจากผู้ขายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2535
จำเลยขายที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์โดยไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทหลังจากซื้อจากจำเลย โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองจากการโอนตามมาตรา 1377,1378 หาจำต้องทำตามแบบของนิติกรรมไม่แต่จำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมในอันที่โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5683/2534
เมื่อคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องบรรยายไว้แล้วว่า ที่ปรากฏใน น.ส.3 ว่าที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ เพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ ผู้ร้องจึงตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยไว้แทนผู้ร้อง ดังนี้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายย่อมเป็นโมฆะกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 ถือว่าไม่มีข้อตกลงดังกล่าว ที่ดินจึงเป็นของจำเลยซึ่งมีชื่อใน น.ส.3 ศาลชอบที่จะพิจารณาคำร้อง ของผู้ร้องแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีไปได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2533
จำเลยซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมี น.ส.3 จากโจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก และ 115 แต่ ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยฐานเป็นนิติกรรมอย่างอื่นได้ ตาม มาตรา 136 กรณีปรากฏว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วซึ่งกระทำได้ตามมาตรา 1378 ตามพฤติการณ์สันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทน ดังนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหนังสือมาแสดง ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3520/2532
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ ตาม ป.ระมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิห้ามโอนภายใน 10 ปีนั้น เป็นที่ดินที่รัฐยังไม่มอบสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้นโจทก์ไม่อาจโอนสิทธิครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 หรือมาตรา 1378 ให้ผู้อื่นได้ การที่โจทก์ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ภายในกำหนดเวลาห้ามโอน แล้วต่อมาบิดาโจทก์ได้นำไปขายและมอบการครอบครองให้แก่จำเลยครอบครองทำกินโดยจะไปโอนให้จำเลยหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วนั้น จำเลยหาอาจยกสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1175/2532
สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมของทายาทของผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 นั้น จะมีได้ต่อเมื่อผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้ถึงแก่ความตายลงโดยมิได้มีการบอกล้างโมฆียะกรรมก่อนถึงแก่ความตาย ฉะนั้นเมื่อบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่แม้จะทำนิติกรรมขณะวิกลจริต โจทก์ก็เป็นเพียงผู้สืบสันดานเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ทายาทอันจะมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4987/2531
โจทก์มอบให้ ช. พนักงานของสหกรณ์การเกษตรจำเลยนำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของโจทก์ที่จะกู้จากจำเลยแต่ ช. กลับนำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของ ล. จึงเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2531
โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยโดยนำสัญญาเช่าอาคารและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่ามอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน มีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทได้ทันทีต่อมาโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงโอนสิทธิการเช่ามาเป็นของจำเลยดังนี้ เมื่อโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงคิดราคาค่าสิทธิการเช่าอาคารพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินนั้นในเวลาโอนสิทธิการเช่า จึงขัดต่อข้อความดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง และเป็นโมฆะตามวรรคสาม การโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทมาเป็นของจำเลยตกเป็นโมฆะและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์ย่อมยกเหตุที่นิติกรรมเป็นโมฆะกรรมขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2531
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซึ่งคู่สมรสฝ่ายหนึ่งกระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่สมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่ง อ. ได้กระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นคู่สมรส จึงเป็นการฟ้องขอให้แสดงว่าฐานะของ อ. และจำเลยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่สมบูรณ์ดังกล่าว หาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเพิกถอนฐานะความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 และมาตรา 164 และเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดระยะเวลาที่โจทก์อาจฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้แล้ว โจทก์ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีดังกล่าวได้เสมอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2530
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ และเปลี่ยนชื่อ สกุล แต่ทางสำนักงานทะเบียนท้องที่ไม่สามารถกระทำให้ได้ ผู้ร้องชอบที่จะดำเนินการต่อไปตาม พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มิใช่กรณีที่จะมาใช้สิทธิทางศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2530
นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะย่อมถือเสมือนว่าไม่มีการทำนิติกรรมกรณีไม่จำต้องมีการเพิกถอนนิติกรรมนั้นอีก การที่ศาลล่างพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ มีความหมายเป็นเพียงการบังคับให้มีการเพิกถอนรายการจดทะเบียนต่าง ๆ อันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3485/2529
ก่อนนำนิติกรรมแลกเปลี่ยนรถยนต์ จำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานรถยนต์ที่มีผู้นำมาขอแลกว่า หมายเลขเครื่องในตัวถังรถยนต์ตรงกับในทะเบียนรถยนต์ และรูปถ่ายในบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้ขอแลกนำมาแสดงก็ตรงกับผู้ขอแลกซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของรถไม่ปรากฏว่าทะเบียนรถมีพิรุธว่าเป็นของปลอม หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ขอแลกไม่ใช่เจ้าของรถ แม้จำเลยจะไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนยังกองทะเบียนกรมตำรวจ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำนิติกรรมแลกเปลี่ยนรถยนต์โดยสำคัญผิด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ต้องห้ามในอันที่จะยกเอาความไม่สมบูรณ์หรือโมฆะกรรมนั้นมาใช้ประโยชน์แก่ตน จำเลยย่อมมีสิทธิอายัดรถยนต์พิพาทหรือทะเบียนรถยนต์พิพาทได้ เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จำเลยไม่ต้องรับผิดในการขออายัดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2529
ก่อนทำนิติกรรมแลกเปลี่ยนรถยนต์จำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานรถยนต์ที่มีผุ้นำมาขอแลกว่าหมายเลขเครื่องในตัวถังรถยนต์ตรงกับในทะเบียนรถยนต์และรูปถ่ายในบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้ขอแลกนำมาแสดงก็ตรงกับผู้ขอแลกซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของรถไม่ปรากฏว่าทะเบียนมีพิรุธว่าเป็นของปลอมหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ขอแลกไม่ใช่เจ้าของรถแม้จำเลยจะไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนยังกองทะเบียนกรมตำรวจก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำนิติกรรมแลกเปลี่ยนรถยนต์โดยสำคัญผิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ต้องห้ามในอันที่จะยกเอาความไม่สมบูรณ์หรือโมฆะกรรมนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนจำเลยย่อมมีสิทธิอายัดรถยนต์พิพาทหรือทะเบียนรถยนต์พิพาทได้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตจำเลยไม่ต้องรับผิดในการขออายัดดังกล่าว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2526
โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินมีโฉนดสองแปลงให้แก่จำเลยมีสาระสำคัญว่าโจทก์ผู้ขายจะมอบใบอนุญาตให้ทำการก่อสร้างสถานีขนส่งของบริษัทขนส่ง จำกัดและจะมอบใบอนุญาตให้ทำถนนเชื่อมกับทางหลวงสายเอเซียตลอดแนวด้านหน้าของที่ดินหากผู้ขายไม่สามารถนำใบอนุญาตและทำการโอนชื่อให้ผู้ซื้อตามรายการดังกล่าวภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521ผู้ขายยินยอมให้ปรับโดยยกกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาให้ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อไม่ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือ เมื่อได้ความว่าการก่อสร้างสถานีขนส่งนั้นความจริงเป็นการก่อสร้างสถานีเดินรถซึ่งบริษัทขนส่ง จำกัด ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้ ข้อกำหนดเบี้ยปรับในกรณีนี้จึงมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการพ้นวิสัย เป็นโมฆะกรรม ไม่มีผลบังคับ ส่วนเรื่องใบอนุญาตให้ก่อสร้างถนนจากที่ดินเชื่อมกับทางหลวงสายเอเซียนั้น ได้ความว่าให้ขออนุญาตเมื่อสร้างสถานีเดินรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่แม้กำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องมอบใบอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ได้ล่วงพ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีเดินรถขึ้น ย่อมเป็นเหตุขัดข้องที่โจทก์จะขอใบอนุญาตมามอบให้จำเลยที่ 1 ในเวลาที่กำหนดในสัญญา การที่โจทก์จะชำระหนี้ในเรื่องนี้จึงเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบ โจทก์จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิปรับโจทก์ตามสัญญาและจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระราคาที่ดินตามฟ้อง ความรับผิดของจำเลยเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 โจทก์ยังไม่ได้โอนที่ดินตามสัญญาซื้อขายให้จำเลยครบถ้วน ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ในเรื่องนี้ ดังนั้นจะถือว่าจำเลยผิดนัดแล้วมิได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าดอกเบี้ย เมื่อให้จำเลยชำระราคาที่ดินส่วนที่ค้างชำระ ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้โจทก์โอนที่ดินตามสัญญาซื้อขายแปลงที่ยังไม่ได้โอนได้เพราะเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2430/2516)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2525
การซื้อขายที่ดินเป็นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ผู้มีกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขายได้ สิทธิของจำเลยกับเจ้าของที่ดินตามที่อ้างว่าได้ทำสัญญากันไว้ให้จำเลยมีโอกาสซื้อที่ดินส่วนที่จำเลยเช่าได้ก่อนคนอื่นนั้นไม่ผูกพันโจทก์หากเจ้าของที่ดินผิดสัญญากับจำเลยก็ชอบที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับเจ้าของที่ดินมิใช่กรณีที่มีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด นิติกรรมหาเป็นโมฆะกรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2377/2523
การเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้นผู้เป็นเจ้าของจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์ตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการพิมพ์อาจต้องรับโทษทางอาญา จึงเป็นกิจการที่ต้องทำเองเฉพาะตัว จะตั้งตัวแทนให้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์แทนตัวการหาได้ไม่ สัญญาที่โจทก์ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนถือใบอนุญาตเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์แทนตัวการจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมเป็นโมฆะกรรม ศาลจึงไม่อาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2522
การที่พนักงานสอบสวนสั่งปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวโดยกำหนดจำนวนเงินให้นายประกันต้องรับผิดชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันเกินจำนวนเงินตามเช็ค อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) นั้นเป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจพนักงานสอบสวน ใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือตามจำนวนเงินในเช็คไม่ทำให้สัญญาประกันมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2520
สัญญาซื้อขายบ้านมีข้อความว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายบ้านพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ผู้ซื้อชำระราคาให้ผู้ขายตามจำนวนที่ตกลงครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ดังนี้ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ไม่มีข้อความใดที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งคู่กรณีจะต้องปฏิบัติกันต่อไปอีก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 โจทก์จะอ้างโมฆะกรรมมาเป็นมูลฟ้องร้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2519
บิดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยในระหว่างที่ยังเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาโจทก์ แม้ต่อมาบิดามารดาโจทก์จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันก็ตามการสมรสระหว่างบิดาโจทก์และจำเลยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมจะกล่าวอ้างขึ้นได้ และโมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ การหย่ากันระหว่างบิดามารดาโจทก์ในภายหลังก็ไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการสมรสระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลย ซึ่งตกเป็นโมฆะไปก่อนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958/2519
จำเลยทำสัญญายอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญากับบุตรจำเลยในการที่ทำให้บุตรโจทก์ตาย โจทก์ตกลงด้วยวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการตกลงให้ระงับคดีอาญาแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 สัญญาจึงตกเป็นโมฆะกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2518
การให้สินบริคณห์โดยเสน่หาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม ซึ่งสามีทำได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมของภรรยาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 นั้น ผู้ได้รับการยกให้ต้องมีความสัมพันธ์หรือมีฐานะชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับให้เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่เป็นการให้ที่ยกเว้นตามมาตรานี้ แต่ไม่ใช่เรื่องโมฆะกรรมหรือโมฆียะเป็นแต่เพียงนิติกรรมที่ทำไปโดยไม่ชอบซึ่งภริยาเพิกถอนได้ สามีทำพินัยกรรมฉบับหลังว่ามิให้พินัยกรรมฉบับแรกที่ยกทรัพย์ให้ภริยาทั้งหมดมีผลกระทบถึงทรัพย์ที่ยกให้ภริยาน้อยไปแล้วดังนี้ ภริยาน้อยได้รับที่ดินส่วนของสามีครึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361,1477 ชายออกเงินซื้อที่ดินยกให้ภริยาน้อย ที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างชายกับภริยาหลวง มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างชายกับภริยาน้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2517
จำเลยจ้างโจทก์ไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมรายละเอียดและหลักฐานเกี่ยวแก่ที่ดินของจำเลยที่ถูกบุกรุกและจ้างโจทก์ดำเนินการเกี่ยวแก่การแจ้งความหรือร้องทุกข์ที่ดินแปลงเดียวกันนี้ โดยยอมให้ค่าจ้างเป็นรายข้อหา สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของและตามข้อสัญญาก็มิได้เป็นช่องทางให้โจทก์ดำเนินการแจ้งความหรือร้องทุกข์ได้หลายข้อหาเพื่อหวังจะได้ค่าจ้างมากขึ้นตามข้อหาเหล่านั้น เพราะการจะแจ้งความหรือร้องทุกข์กี่ข้อหากี่คดีย่อมแล้วแต่ความประสงค์ของจำเลย ผู้ว่าจ้างจะลงชื่อร้องทุกข์แจ้งความในข้อหาใดหรือไม่ ซึ่งโจทก์กำหนดราคาค่าจ้างให้จำเลยทราบก่อนแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาส่งเสริมให้จำเลยเป็นความกับบุคคลอื่น ไม่ขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3405/2516
จำเลยที่ 1 เป็นสามีของนาง บ. ได้ซื้อที่ดินพิพาทในคดีนี้มาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากับนาง บ. เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหนังสือสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับนาง บ. ที่ทำไว้เป็นพิเศษก่อนสมรสอันจะให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 มาแสดงจึงต้องสันนิษฐานว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนาง บ. เมื่อนาง บ. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทแบ่งส่วนสินสมรสของจำเลยที่ 1 ออกแล้ว ส่วนของนาง บ. ย่อมเป็นกองมรดกตกได้แก่ทายาท โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมของนาง บ. กำลังฟ้องจำเลยที่ 1 ขอแบ่งทรัพย์มรดกของนาง บ. ซึ่งมีที่ดินพิพาทแปลงนี้รวมอยู่ด้วย จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 เอาที่ดินพิพาทดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 2 ในขณะที่กำลังพิพาทเป็นความเรื่องมรดกกับโจทก์อยู่โดยการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลยที่ 2 อันเป็นโมฆะกรรม เช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมจะกล่าวอ้างขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 133 โดยฟ้องขอให้เพิกถอนโมฆะกรรมนี้เสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2516
คู่กรณีในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นความผิดอันยอมความกันได้หรือไม่ก็ตาม อาจตกลงประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเสียหายในทางแพ่งอันพึงมีพึงได้ตามสิทธิของตนได้ กฎหมายห้ามเฉพาะการตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับหรืองดการฟ้องคดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยบุกรุกขึ้นไปบนเรือนโจทก์ในเวลากลางคืนและกระทำอนาจารโจทก์ มีข้อความว่า จำเลยยอมเสียค่าทำขวัญให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดหากไม่ทำตามยอมให้ดำเนินคดีต่อไปนั้น เป็นเรื่องทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดให้แก่โจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่ค่าเสียหายที่เรียกร้องเพื่อระงับการฟ้องคดีอาญาซึ่งกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใด จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น กฎหมายมิได้บังคับว่าคู่กรณีจะต้องลงชื่อทั้งสองฝ่าย แม้จำเลยผู้เดียวลงชื่อรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2514
โจทก์ฟ้องอ้างมูลเหตุว่า จำเลยที่ 2 มีสามีเป็นคนต่างด้าวรับซื้อที่ดินของโจทก์ไปเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ดิน ขอให้ศาลพิพากษาว่าหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโมฆะนั้นมีผลเป็นการฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า หนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโมฆะซึ่งมีผลเป็นการเรียกที่ดินคืน และโจทก์ก็เสียค่าขึ้นศาลมาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ทั้งตามฎีกาของโจทก์ยังขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้กลับคืนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามเดิมด้วย กรณีจึงเป็นการเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้

การฟ้องเรียกที่ดินคืนฐานลาภมิควรได้เนื่องแต่โมฆะกรรม โจทก์จะต้องฟ้องเรียกร้องเสียภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงสิทธิเรียกคืน หรือภายในสิบปีนับแต่วันทำนิติกรรมอันเป็นโมฆะซึ่งสิทธิเรียกคืนได้มีขึ้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปขายที่ดินและจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีสามีเป็นคนต่างด้าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น เป็นของจำเลยที่ 1 มาแต่เดิมหาได้ไม่เพราะมิได้เป็นการฟ้องแย้งโจทก์ แต่เป็นการฟ้องแย้งจำเลยด้วยกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2514
การที่หญิงมีสามีทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นก็ถือว่าทำการที่จะผูกพันสินบริคณห์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 แล้ว ถ้าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของสามีสัญญานั้นย่อมเป็นโมฆียะ เมื่อสามีบอกล้างแล้วสัญญานั้นก็ตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันสินบริคณห์ แต่โมฆะกรรมในกรณีเช่นนี้มิได้ทำให้สัญญาที่หญิงมีสามีไปทำไว้นั้นไม่มีผลเสียเลย หญิงนั้นยังคงต้องรับผิดใช้หนี้เป็นส่วนตัว คือให้ใช้ด้วยสินส่วนตัวของหญิงนั้นก่อน เมื่อไม่พอหรือไม่ปรากฏว่าหญิงนั้นมีสินส่วนตัว เจ้าหนี้จะต้องร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของหญิงนั้นตามมาตรา 1483 เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษา โจทก์จะยึดสินบริคณห์ก่อนขอแยกไม่ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9-10/2514)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2513
จำเลยสมยอมกันทำสัญญากู้และสมยอมกันทำยอมความในศาลเป็นผลให้เกิดการโอนทรัพย์สินของจำเลยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์

คำพิพากษาที่พิพากษาตามที่จำเลยยอมความกันนั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองย่อมไม่ผูกพันโจทก์ การทำการสมยอมกัน นิติกรรมระหว่างจำเลยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องขอให้เพิกถอน
(ข้อแรกประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2512 และ 5/2512)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2512
ในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างโดยตรงที่จะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้น จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาด้วยตนเองว่า ผู้ว่าจ้างเป็นบุคคลมีหลักฐานสมควรที่ผู้รับจ้างเข้าทำสัญญาด้วยหรือไม่ การที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นความประมาทและเสี่ยงภัยของตนเอง ฉะนั้น แม้ผู้อื่นจะแจ้งแก่ผู้รับจ้างโดยไม่เป็นความจริงว่า ผู้ว่าจ้างเป็นคนร่ำรวยมีฐานะดีก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้อื่นทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ สัญญารับเหมาก่อสร้างจึงไม่ตกเป็นโมฆียะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 366/2508
เมื่อสัญญาซื้อขายเรือนเป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เงินซึ่งผู้ขายรับไว้ตามสัญญานั้นก็เป็นลาภมิควรได้ ซึ่งผู้ซื้อจะต้องฟ้องเรียกคืน หรือภายในสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น