สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2559

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2559
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11058/2559 สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 หากถือคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าตายให้สัญญาระงับ สัญญาเช่าต้องกำหนดระยะเวลาเช่าไว้มีกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แม้การเช่าทรัพย์สินตามปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ แต่คุณสมบัติผู้เช่านั้น ผู้ให้เช่าพิจารณาเพื่อมาตกลงทำสัญญาเช่ากัน เมื่อผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตกลงทำสัญญาเช่ากันสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา จึงไม่ต้องกลับไปพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าอีกจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ตกลงไว้หรือตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่ แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้ เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่า ผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี ทั้งสัญญาเช่ายังกำหนดให้ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559 คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยปลอมสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ และนำสืบสัญญากู้เงินปลอมนั้นจนศาลรับฟังและพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย เป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2559 ทั้งก่อนและหลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีโจทก์เป็นภริยาแล้ว จำเลยยังติดต่อคบหาสมาคมกับ ท. และติดตาม ท. มาถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงานของ ท. และมีเพศสัมพันธ์กันซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ปกปิดมิดชิดไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เมื่อคนงานและเพื่อนร่วมงาน ท. ทราบว่า ท. มีภริยาแล้วและพบเห็นจำเลยกับ ท. มาที่บริษัท โดยจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยกับ ท. มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ หลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีภริยาแล้ว ย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปมีเหตุอันควรเชื่อและเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับ ท. มากกว่าที่จะรู้จักกันในฐานะลูกค้าหรือบุคคลธรรมดาที่รู้จักกันทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ท. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีที่ฟังยุติมาข้างต้นมิอาจแปลความว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับ ท. และพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยกับ ท.
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10810/2559 ส. สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โดยข้อเท็จจริงได้ความว่า ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส. โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10809/2559 ข้อความในพินัยกรรมส่วนที่เพิ่มเติมตอนท้ายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไม่สมบูรณ์ แต่ไม่มีผลกระทบถึงพินัยกรรมทั้งฉบับ ข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับ เมื่อพิเคราะห์ข้อความส่วนที่ยังมีผลใช้บังคับได้ ย่อมเห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมได้โดยชัดแจ้งว่า ต้องการยกทรัพย์สินของผู้ตายให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ข้อความในส่วนอื่นในพินัยกรรมที่ระบุทรัพย์สินเป็นข้อๆ เป็นเพียงส่วนประกอบให้เห็นว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินใดบ้าง หรือมีทรัพย์สินที่ผู้ตายจำได้ในขณะที่กำลังเขียนพินัยกรรมเท่านั้น ทรัพย์สินที่ผู้ตายเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ตายเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของผู้ตายที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลย คดีฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่จำเลย ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 ดังนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรมทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความได้สละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งกำหนดให้ ส. เป็นผู้รวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่า ๆ กัน เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10933 และ 11652 ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงฟ้องขอให้บังคับจำนอง จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไว้แก่โจทก์ เพียงแต่ต่อสู้ว่า โจทก์นำค่านายหน้าและดอกเบี้ยล่วงหน้ารวมเป็นต้นเงินเป็นการไม่ชอบ ถือว่าจำเลยรับแล้วว่าจำนองที่ดินทั้งสองแปลงไว้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบหรือส่งพยานหลักฐานเกี่ยวกับการจำนองที่ดินทั้งสองแปลงต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งโฉนดที่ดิน 11652 ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา..." ถ้อยคำว่า "ไปถึง" นั้น หมายความว่า ได้มีการแสดงเจตนาโดยมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้ แม้ขณะจดหมายบอกกล่าวไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้จะไม่พบลูกหนี้หรือไม่มีผู้ใดรับไว้ ก็ถือว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงลูกหนี้โดยชอบแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 และมาตรา 169 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10802/2559 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับ ป. ขับรถพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปห้องพักที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 1 เต็มใจไปกับ ป. ด้วย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชักชวนโจทก์ร่วมที่ 1 คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า ป. ชวนโจทก์ร่วมที่ 1 ไปโดยบอกว่าจะไปส่งจำเลยที่ 2 กลับหอพักและจะส่งโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนเพราะเป็นทางผ่าน แต่ ป. ไม่ทำตามที่พูดกลับพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปล่วงละเมิดทางเพศในห้องพักที่เกิดเหตุ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด การกระทำของ ป. กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานดังกล่าวนี้ แต่เนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ได้ สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10798/2559 โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการค้าขายสินค้ากระดาษโดยโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 98.39 และต่างเป็นบริษัทในเครือ ป. โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ดังนี้หากจำเลยทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำการจำหน่ายสินค้ากระดาษโดยใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ คล้ายของโจทก์ทั้งสองข้างต้นจนทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 และทำให้โจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ที่ 2 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ดังนี้ย่อมถือว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิโดยจำเลยทั้งสาม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงปรากฏตามห่อสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์และของจำเลยที่ 1 ด้านหน้าห่อสินค้าของทั้งสองฝ่ายนั้น ของฝ่ายโจทก์ด้านบนมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า "idea" สีแดง และคำว่า "GREEN" สีเขียว ของจำเลยที่ 1ใช้ข้อความในตำแหน่งเดียวกันว่า "เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" โดยใช้คำว่า "เป็ดกระดาษ" สีแดง และคำว่า "กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" สีเขียว เป็นทำนองเดียวกันกับของฝ่ายโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรโรมันตัว "i" ของโจทก์ที่ 1 ใช้เป็นอักษรประดิษฐ์ ขณะที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ตัวอักษรตัวแรกเป็นสระในอักษรไทย "เ" แต่จำเลยที่ 1 กลับทำให้เหมือนของฝ่ายโจทก์ นอกจากนี้ในส่วนกลางของห่อสินค้าด้านหน้าของจำเลยที่ 1 ยังปรากฏรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งคล้ายกันมากกับรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์ ซึ่งฝ่ายโจทก์โฆษณาภาพยนตร์ดังกล่าวทางโทรทัศน์และจัดรายการส่งเสริมการขายโดยใช้ภาพตามภาพยนตร์ดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะวางจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยใช้ห่อสินค้าดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่เห็นภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ และต่อมาเมื่อเห็นรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ดังที่เห็นในภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "เป็ดกระดาษ" ด้วยอักษรสีแดงขนาดใหญ่ที่ส่วนบนของด้านหน้าห่อสินค้าก็อาจทำให้ผู้ที่เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ของฝ่ายโจทก์มาก่อนเข้าใจผิดว่าสินค้ากระดาษที่ใช้ห่อสินค้าดังกล่าวคือสินค้าของฝ่ายโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปต่าง ๆ หลายข้อความหลายรูปและจัดองค์ประกอบภาพในส่วนต่าง ๆ คล้ายกับของฝ่ายโจทก์อันเป็นการกระทำซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ากระดาษเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ จึงมีเหตุผลให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่ห่อสินค้ากระดาษเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ และไม่รับผิดชอบต่อประชาชนหรือผู้บริโภคที่อาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริต ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 แล้ว จำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของประเทศเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่ม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรับรู้และมีส่วนร่วมกับการกระทำของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสินค้ากระดาษ "เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" การที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ผู้ผลิต จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบถึงสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และสัญญาจ้างผลิตกระดาษระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ซึ่งมีข้อตกลงทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิใด ๆ ต่อบุคคลภายนอกโดยให้ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้ถึงการละเมิดดังกล่าวนั้น ไม่มีน้ำหนักและไม่อาจนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10786/2559 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับจำเลยด้วยและศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์กับส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษปรับจำเลยตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อความผิดของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ..." ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเพียงสถานเดียว โดยมิได้ลงโทษปรับจำเลยด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10778/2559 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม" และตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม ได้แยกสารเสพติดให้โทษในประเภท 1 ออกเป็น 3 อนุมาตราตาม (1) (2) (3) แต่ละอนุมาตรากำหนดให้ยาเสพติดให้โทษแต่ละชนิดมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิอันเป็นข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแยกต่างหากจากกัน ปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิของยาเสพติดให้โทษแต่ละอนุมาตราจึงต้องคำนวณจากยาเสพติดให้โทษในอนุมาตราเดียวกันไม่อาจนำยาเสพติดให้โทษในอนุมาตราอื่นมาคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์รวมกันได้ ดังนั้นการที่ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และมีปริมาณสารบริสุทธิ์ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม หรือไม่ จึงต้องรวมปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 15 วรรคสาม เฉพาะในอนุมาตราเดียวกัน เมื่อตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม บัญญัติว่า "ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษ..." ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมหรือไม่จึงต้องรวมปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จากยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 15 วรรคสาม อนุมาตราเดียวกันเช่นเดียวกับวรรคหนึ่งด้วย แม้เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยกัน และการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกัน แต่เมื่อเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษต่างชนิดกัน และบัญญัติอยู่ในมาตรา 15 วรรคสาม ต่างอนุมาตรากันจึงไม่อาจนำสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนมาคำนวณรวมกันเพื่อลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสาม ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10773/2559 ตามทางไต่สวนพันตำรวจโท ธ. และร้อยตำรวจตรี ณ. เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมสอบปากคำจำเลยและเป็นผู้ร่วมจับกุม บ. ก. และ ส. ผู้ต้องหาทั้งสามที่อ้างว่าจับกุมได้จากการให้ข้อมูลของจำเลยก็ตาม แต่พันตำรวจโท ธ. และร้อยตำรวจตรี ณ. มิได้เป็นผู้จับกุมจำเลย บันทึกการสอบปากคำจำเลยกระทำขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 แต่การจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามกระทำในวันที่ 10, 12 และ 14 กรกฎาคม 2555 ตามลำดับ โดยในบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามระบุเหตุที่มีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามได้เนื่องจากสายลับซึ่งไม่ประสงค์ออกนามแต่ต้องการสินบนนำจับแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันเดียวกับที่ทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามแต่ละคนนั้นเอง ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือสายลับกับจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทั้งบันทึกการสอบปากคำของจำเลย ก็ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติกรณีผู้กระทำความผิดได้ให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามคำสั่งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 31/2548 จึงง่ายต่อการจัดทำขึ้นภายหลังและตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงไม่ได้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันจะเป็นเหตุให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10742/2559 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี กับพวกอีก 4 คน เป็นเทศมนตรี เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาล ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานีที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 นั้น เป็นกรณีแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราวโดยชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีขึ้นใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้น พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2542 แล้ว โดยมีมาตรา 3 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 (ฉบับเดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ และแก้ไขใหม่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ว่า "ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่" ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้มิได้กล่าวถึงสถานะของคณะเทศมนตรีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับเดิมว่าจะให้ดำรงอยู่ในสถานะใด เช่นนี้ คณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับเดิม จึงยังคงมีสถานะเป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของเทศบาลนครอุดรธานีไปจนกว่าจะมีการส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเป็นการชั่วคราวต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีในการบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงมติว่าจำเลยที่ 1 มีมูลความผิดอาญา กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำที่มีอำนาจกระทำได้ ถือว่ามีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมอ้างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แม้โจทก์นำ ช. เข้าเบิกความในชั้นพิจารณาโดยทำบันทึกคำเบิกความพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานต่อมาอีกหลายนัดจนเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้คัดค้านเช่นกัน ดังนี้ จำเลยที่ 5 จะยกขึ้นเถียงในชั้นฎีกาว่า การสืบพยานดังกล่าวขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ และแม้คำเบิกความของ ช. ดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำเบิกความของ ช. จึงรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริงไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินให้แก่เทศบาลนครอุดรธานี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีและเป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดิน แต่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ มิให้เป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันจัดซื้อที่ดินจาก ท. ในราคาไร่ละ 286,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินมีราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท เท่านั้น ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมาก และจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งยังออกเช็คสั่งจ่ายเงินผิดระเบียบเพราะไม่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้หรือคู่สัญญาโดยตรงหรือในนามของผู้มอบฉันทะ แต่กลับไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจ ดังนี้ พฤติการณ์บ่งชี้ชัดแจ้งว่าเป็นการร่วมรู้เห็นกันมาแต่ต้นในการจัดซื้อที่ดิน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10741/2559 จำเลยที่ 22 ทำสัญญาเช่าถังแก๊สจำนวน 42 ฉบับ กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 โดยไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันในทางการค้าอย่างแท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 22 อ้างสัญญาเช่าถังแก๊สอันเป็นเท็จดังกล่าว เพื่อตกแต่งบัญชีโดยสั่งให้บันทึกรายได้ค่าเช่าถังแก๊สลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 แล้วนำรายได้นั้นจัดทำและส่งเป็นงบการเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 22 มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 22 สูงขึ้น จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 องค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่า สัญญาเช่าถังแก๊สดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่แท้จริง แต่ทำขึ้นเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 22 อาศัยสัญญาเช่าไปบันทึกลงในบัญชีและงบการเงินว่าจำเลยที่ 22 มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าความเป็นจริง งบการเงินนั้นเมื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว หลังจากนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลประกอบการของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนาเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้ว และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยที่ 21 โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง จัดทำหรือยินยอมให้จัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ว่าที่ประชุมอนุมัติให้นิติบุคคลทั้ง 2 ราย กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จ แล้วจำเลยที่ 22 ส่งบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง และการร่วมกันจัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้วอีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 แม้ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและการทำงบการเงินของจำเลยที่ 22 ด้วย แต่การทำสัญญาเช่าถังแก๊สที่ไม่จริงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้อาศัยสัญญาเช่าที่ไม่จริงหรือเป็นเท็จไปลงในบัญชีของจำเลยที่ 22 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินอันเป็นเท็จเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ทั้งที่ไม่มีการกู้เงินกันจริง จำเลยที่ 10 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้แต่ไม่เคยได้รับเงินกู้เลยย่อมรู้ว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 10 และที่ 21 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตาม มาตรา 312 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 21 จึงมีความผิดตาม มาตรา 315 ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 หมวด 12 การควบบริษัท บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการในการควบบริษัท โดยในมาตรา 151 และ 152 กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทที่ควบกันแล้วต้องขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกรณีจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาตาย การควบบริษัทมีผลให้จำเลยที่ 22 หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมายและตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ที่กำหนดว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดก็หาได้กำหนดถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลควบบริษัทด้วยไม่ บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม มาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 การที่จำเลยที่ 22 ได้ควบบริษัทกับบริษัท ว. และเกิดเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ด. ความรับผิดทางอาญาของจำเลยที่ 22 จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10672/2559 แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 จะบัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมไม่อาจไปยื่นคำร้องในคดีความผิดอื่นของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายได้ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกันดัดแปลงขึ้นด้วยการต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก บนที่ว่างด้านหลังเชื่อมต่ออาคารหลังเดิมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงต่อเติมอาคาร แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอันเป็นคนละข้อหากับที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาในคดีนี้ หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยทั้งสองจริงก็ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10661/2559 การที่จำเลยได้ยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ ก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่จำเลยเลือกใช้สิทธิและโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ ว. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยจะยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ภายใน 1 ปี นับจากวันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรก่อนฟ้องคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ ประกอบมาตรา 65 ทวิ และยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบการประดิษฐ์ก็ตาม แต่การยื่นคำขอกระทำโดยจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นเรื่องที่ฟ้องในมูลละเมิดอนุสิทธิบัตร หากถือว่าโจทก์ทั้งสองยังไม่มีอำนาจฟ้องอาจเปิดโอกาสให้มีการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองต่อไปผ่านทางการใช้สิทธิในการขอตรวจสอบการประดิษฐ์เพียงเพื่อให้มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองต้องรอจนกว่ากระบวนการนี้จะสิ้นสุด ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง การยื่นคำขอของจำเลยให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองให้ต้องรอจนกว่าการตรวจสอบการประดิษฐ์นั้นจะเสร็จสิ้นก่อนฟ้องคดีนี้ เมื่อได้ความตามคำฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองได้ประดิษฐ์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ให้มีระบบคืนเงินตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 จำเลยผลิตเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ใช้ชื่อทางการค้า "มินิ ไชโย ท็อปอัพ" มีระบบการคืนเงินเหมือนกับข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษเฉพาะตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้บังคับตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยในมูลละเมิดได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิเดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการละเมิด โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายจากการขาดประโยชน์หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรกำหนดให้โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายรวมทั้งการสูญประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 และมาตรา 77 ตรี เป็นเงิน 30,000 บาท โดยไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรคือ ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสองซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์เพื่อนำมาตรวจพิสูจน์เป็นเงิน 29,000 บาท ค่าจ้างบริษัท ก. ให้ตรวจพิสูจน์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์เป็นเงิน 5,000 บาท และค่าจ้างทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีพยานหลักฐานมานำสืบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองว่า มีการซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์และส่งให้ตรวจพิสูจน์ จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองได้อ้างส่งสัญญาว่าจ้างทนายความซึ่งระบุชื่อทนายความเป็นผู้รับจ้างตกลงรับค่าจ้างทนายความจากโจทก์ทั้งสองผู้ว่าจ้างจำนวน 50,000 บาท โดยผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าจ้างทนายความถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ตรี เช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10657/2559 การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้... 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)... 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T."... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet Smart English"...ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว... 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T"... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet"... ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า..." ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์" แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า "เครื่องหมายการค้า" เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1" จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2" จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้วมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่า ที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาต ให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น" เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2559 แม้จำเลยจะไม่ได้หยิบยกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ ซึ่งสั่ง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 มาอ้างในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ตาม แต่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ หากปรากฏตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับโทษในการกระทำของจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้กำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ กำหนดให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครองนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ไม่ต้องรับโทษ จึงต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวกฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครองแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10492/2559 ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกา มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสิบห้าในส่วนโทษปรับและการริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1), 82 และ 98 และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 69, 147 วรรคหนึ่ง และ 169 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยทั้งสิบห้า ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ซึ่งมาตรา 69 (เดิม) บัญญัติว่า เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น และมาตรา 70 (เดิม) บัญญัติว่า เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย เมื่อจำเลยทั้งสิบห้าใช้เรือยนต์ประมงในการกระทำความผิดและนำเครื่องมืออวนล้อมจับอันเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ริบจึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10489/2559 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยและมีคำขอบังคับให้จำเลยออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงถือเป็นผู้เสียหายในคดี และถือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนคำขอส่วนแพ่งที่ขอให้จำเลยออกไปจากป่าสงวน กรมป่าไม้ย่อมสามารถที่จะทำการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 แต่เนื่องจากคดีนี้เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งในส่วนแพ่งและส่วนอาญา โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ เมื่อโจทก์ในฐานะคู่ความได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย จึงเป็นการออกหมายบังคับคดีที่ชอบแล้ว ทั้งในหมายบังคับคดีก็ระบุให้โจทก์ตั้งผู้แทนโจทก์ไปดำเนินการบังคับคดีแทนได้ ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะไปดำเนินการบังคับคดีด้วยตนเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโจทก์ว่าโจทก์เห็นควรตั้งบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียกับการบังคับคดีแทนโจทก์ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีแทนย่อมทราบว่าควรให้บุคคลใดเป็นผู้แทนโจทก์ในการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ที่จำเลยครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีดังกล่าว จึงสามารถดำเนินการบังคับคดีได้ตามกฎหมายไม่มีเหตุเพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10450 - 10452/2559 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 และขอเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีในช่วงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ทำงานติดต่อกันมาตลอดโดยมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์มิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 8.5 วัน จำเลยที่ 4 มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ 6 วัน จำเลยที่ 5 มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน จึงเข้ากรณีที่โจทก์มิได้จัดให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างหยุดงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 64 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 และที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 มิใช่กรณีว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ตามมาตรา 67 ที่จะต้องพิจารณาประกอบด้วยว่าโจทก์เลิกจ้างโดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 หรือไม่ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 78/2550 และที่ 79/2550 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 กับคำสั่งที่ 126/2550 ลงวันที่ 24 กันยายน 2550 ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ก็ไม่ได้นำคดีมาสู่ศาลเพื่อฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้นจึงเป็นที่สุดแล้วสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินตามคำสั่งดังกล่าว จึงไม่ชอบ และที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 3 ตามคำสั่งที่ 78/2550 ให้โจทก์คืนเงินที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยที่ 5 เพียง 767.13 บาท แทนตามคำสั่งที่ 79/2550 โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และค่าโทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 ตามคำสั่งที่ 126/2550 เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งที่ 78/2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 3 ไม่ชอบ และคำสั่งที่ 79/2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์คืนเงินจำนวน 2,200 บาท ทั้งหมด ที่หักจากค่าจ้างเดือนเมษายน 2550 แก่จำเลยที่ 5 ไม่ชอบ และคำสั่งที่ 126/2550 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และค่าโทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 ไม่ชอบ ศาลแรงงานกลางชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่ไม่ชอบเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวทั้งฉบับมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10431/2559 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10354/2559 แม้คำร้องขอถอนฟ้องคดีก่อนจะระบุว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีดังกล่าวอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้อง โดยปรากฏว่าในคำฟ้องคดีดังกล่าวโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง แต่ทนายโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ ทั้งปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้นหลังจากศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้มายื่นคำฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ในมูลคดีอาญาความผิดเดียวกันกับคดีก่อนและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในบทมาตราเดียวกัน โดยในคำฟ้องใหม่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องใหม่ถูกต้องตามกฎหมายเชื่อว่าเหตุที่โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนเนื่องจากเห็นว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง ซึ่งเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงประสงค์จะถอนฟ้องแล้วยื่นฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง การถอนฟ้องคดีก่อนจึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 36 ไม่ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่อีก ในส่วนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ตามฟ้อง จำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2519 มาตรา 36 ทวิ หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งห้า ย่อมเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) แล้ว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จึงอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงและคัดค้านเอกสารที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิยกเรื่องการสืบสิทธิการออก ส.ป.ก. 4-01 ขึ้นต่อสู้และนำพยานหลักฐานมาพิจารณาเข้าด้วยกันในคราวเดียวกับคำฟ้องเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10346/2559 เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้หลายอย่างอันจะพึงเลือกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 ดังนั้น หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำก่อนจึงเป็นหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน อันแสดงว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อและมีสิทธิติดตามเอาคืนเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ อีกทั้งโจทก์สามารถบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ กรณีไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดได้โดยแน่นอน ดังนั้นจึงไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนของราคารถใช้แทนให้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340/2559 โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท อ. ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ ซึ่งโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำรายรับจากผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. ทั้งจำนวนมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ต่อมาได้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังนี้ เงินจำนวนเท่าภาษีสรรพสามิตซึ่งเรียกเก็บจากการให้บริการตามสัญญาอนุญาตดังกล่าวย่อมจะต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 79 วรรคหนึ่ง เป็นการเฉพาะแล้ว ส่วนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเพื่อให้มีการหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาต้องนำส่งให้โจทก์ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ เห็นว่า คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนจนเต็มจำนวนตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีที่ได้ชำระแล้วดังกล่าวตลอดทั้งปี (ไม่รวมดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือเงินเพิ่มใด ๆ) มาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้คู่สัญญาภาครัฐเมื่อสิ้นปีดำเนินการได้นั้น มิได้มีผลทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาในเรื่องการลดจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัทคู่สัญญาต้องจ่ายแก่โจทก์ และแม้บริษัท อ. จะใช้วิธีนำค่าภาษีสรรพสามิตที่ชำระให้แก่กรมสรรพสามิตไปแล้วมาหักออกจากผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินสดส่วนนี้ แต่การหักหนี้กันเองเช่นนี้ย่อมส่งผลให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทคู่สัญญาในอันที่จะนำเงินค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อตอนสิ้นปีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นระงับลง ประโยชน์จากการหักหนี้ดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่โจทก์ได้รับแล้วอันเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสอง มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางดำเนินการระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเอง จึงเป็นคนละส่วนกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่โจทก์ได้รับชำระค่าบริการ ตามมาตรา 78/1 (1) มติคณะรัฐมนตรีจึงมิได้มีผลเป็นการลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของโจทก์ เงินค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทคู่สัญญาหักออกจากเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายแก่โจทก์ จึงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มและถือเป็นรายรับที่โจทก์ได้รับจริงแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10339/2559 พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 34 กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่พึงมีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี โดยรายได้ของโจทก์ที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ย่อมต้องเป็นไปตามมาตรา 22 สำหรับกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของโจทก์มีที่มาจากบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้อง ที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศ ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมในส่วนนี้ ย่อมต้องคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากยอดขายปิโตรเลียมของโจทก์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับในการคำนวณยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม ที่ต้องนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 22 (1) โจทก์จึงมีหน้าที่จัดทำประมาณการกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่พึงมีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 34
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10338/2559 แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 19 จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2534 มาตรา 3 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรา 19 เดิม บัญญัติว่า ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนและสั่งให้นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่ ป.รัษฎากร มาตรา 19 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติแต่เพียงว่า การออกหมายเรียกจะต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มิได้กำหนดว่า เจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการแต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ และกรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรจะพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์เกินกว่าสองปีก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีการแก้ไขให้ออกหมายเรียกได้ภายในสองปี จากเดิมที่บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกได้ภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10337/2559 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.85/2542 ข้อ 2 (1) กำหนดฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับยาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศกรณีเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดราคายาสูบไว้ตามความในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ให้คำนวณมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตโดยหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรต พร้อมทั้งยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ จึงเห็นได้ว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเพียงแต่นำความในมาตรา 79/5 (2) ซึ่งบัญญัติให้ใช้ราคาขายปลีกที่หักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมาออกเป็นคำสั่งเท่านั้น แต่มิได้กำหนดรายละเอียดว่าจำนวนเต็มของราคาขายปลีกนั้นจะต้องคำนวณอ้างอิงจากราคาใด จึงมิได้เป็นการออกคำสั่งเกินขอบเขตแห่งบทบัญญัติมาตรา 79/5 (2) ส่วนประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องกำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และวันที่ 30 มีนาคม 2550 ก็เป็นการกำหนดราคาขายปลีกยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้ได้รับอนุญาตขายยาสูบประเภท 3 ซึ่งขายได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 มวน จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตขายยาสูบประเภท 1 ซึ่งขายโดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงอื่น ฐานภาษีสำหรับราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตของโจทก์ย่อมขึ้นอยู่กับราคาตั้งขายปลีกแก่บุคคลทั่วไปตามความเป็นจริง ซึ่งโจทก์เป็นผู้แนะนำราคาขายปลีกแก่ผู้ค้าปลีกของโจทก์ โจทก์ย่อมต้องรู้ราคาขายปลีกแก่บุคคลทั่วไปสำหรับสินค้าของโจทก์เป็นอย่างดีและมีหน้าที่ต้องนำราคาขายปลีกนั้นมาคำนวณเป็นฐานภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย เมื่อโจทก์ออกใบกำกับภาษีขายและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยโดยใช้ฐานภาษีที่คำนวณจากราคาขายปลีกสูงสุดตามประกาศกรมสรรพสามิต ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับเอาราคาขายปลีกสูงสุดตามประกาศกรมสรรพสามิตมาเป็นราคาตั้งขายปลีกแก่บุคคลทั่วไปที่แท้จริงจึงเป็นการกระทำของโจทก์เองและปรากฏว่า ลูกค้าของโจทก์ได้นำใบกำกับภาษีขายของโจทก์ไปใช้เป็นภาษีซื้อแล้ว โจทก์จึงไม่อาจยกผลจากการกระทำดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอคืนภาษีจากจำเลยได้ การตอบข้อหารือของจำเลยเป็นการให้บริการแก่ประชาชนอันเป็นสิทธิของผู้เสียภาษี แต่การตอบข้อหารือของหน่วยงานรัฐย่อมขึ้นอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องระดับชั้นของเจ้าพนักงานผู้ตอบข้อหารือเอง ข้อจำกัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ตอบข้อหารือ ข้อจำกัดในเรื่องข้อเท็จจริงที่จำเป็นและเพียงพอแก่การตอบข้อหารือแต่ละกรณี และข้อจำกัดในเรื่องคำถามของผู้ขอหารือเองด้วยว่ามีความชัดแจ้งหรือครบถ้วนมากน้อยเพียงใด ผลของการตอบข้อหารือเป็นแนวทางแก่ผู้เสียภาษีได้ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว เมื่อจำเลยตอบข้อหารือไปภายใต้ข้อจำกัดของข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏจากการสอบถามของโจทก์ในเวลานั้นและเป็นการตอบข้อหารือในปี 2542 ซึ่งไม่เป็นปัญหาต่อโจทก์ในเวลานั้น หากต่อมาโจทก์เห็นว่าราคาขายปลีกจริงต่ำกว่าราคาตามประกาศกรมสรรพสามิตอันทำให้การยื่นแบบรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ราคาตามประกาศกรมสรรพสามิตทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องสอบถามจำเลยเพื่อให้ตอบข้อหารือใหม่โดยระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาขายปลีกตามความเป็นจริงหรือจะยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงราคาขายปลีกตามที่โจทก์อ้างก็ได้ จึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่อาจยกเอาหนังสือตอบข้อหารือของจำเลยมาอ้างเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการโดยใช้ฐานภาษีที่คำนวณจากราคาขายปลีกสูงสุดตามประกาศกรมสรรพสามิตได้ ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และวันที่ 30 มีนาคม 2550 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 เพื่อมิให้มีการขายบุหรี่ซิกาแรตเกินราคาที่กำหนด โดยบัญญัติโทษปรับแก่ผู้ฝ่าฝืน จึงเป็นการประกาศกำหนดราคาสูงสุดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้แนะนำราคาขายปลีกแก่คู่ค้าของโจทก์เอง โจทก์จึงกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตต่ำกว่าประกาศกรมสรรพสามิตได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายบังคับให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ราคาขายปลีกตามประกาศกรมสรรพสามิต ส่วนคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกที่โจทก์อ้างก็เป็นการวินิจฉัยถึงประกาศกรมสรรพสามิตซึ่งปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้วินิจฉัยไปถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.85/2542 และที่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกมีคำวินิจฉัยว่า กรมสรรพสามิตใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากวิธีการปกติในการกำหนดราคาขายปลีกสูงสุดซึ่งเป็นผลให้ค่าการตลาดของบุหรี่ซิกาแรตนำเข้าสูงกว่าที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าการตลาดนั้นด้วย การที่จำเลยเพียงออกคำสั่งเพื่อวางแนวทางปฏิบัติให้โจทก์ยื่นแบบแสดงราคาขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเองได้ จึงหาเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่เป็นธรรมไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10322/2559 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายอื่น หากการดำเนินการนั้นไม่เป็นผล ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปโดยขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่บัญญัติให้ประเทศไทยอาจให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้ร้องขอในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการริบหรือยึดทรัพย์สิน ตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายอื่น แม้ผู้ร้องเคยร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่มาก่อน แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ก็เป็นกรณีที่การดำเนินการตามกฎหมายอื่นไม่เป็นผล ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 ดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้ร้องไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นร้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10318/2559 โจทก์ฟ้องขอให้แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับ อ. มิได้ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมหรือฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมในฐานะผู้รับพินัยกรรม แม้จะมีคำขอให้จำเลยนำเงินจากกองมรดกของ อ. มาชำระให้แก่โจทก์ด้วย ก็เป็นเพียงการเรียกส่วนแบ่งคืนทุนและผลกำไรที่คำนวณได้จากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับ อ. ซึ่งอยู่ในกองมรดกของ อ. เท่านั้น หาใช่คดีมรดกหรือคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ แม้จะฟังว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว ฟ้องโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10313/2559 โจทก์เป็นภริยาของ ส. แม้ ส. จะเป็นเจ้าของรถตู้คันเกิดเหตุและโดยสารมาในรถตู้คันเกิดเหตุที่มี ว. ลูกจ้างของ ส. เป็นผู้ขับรถตู้คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. มีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุการณ์รถชนที่เกิดขึ้น การที่ ส. ถึงแก่ความตายจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของ ว. และของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกและรถพ่วงคู่กรณี ว. และ จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการตายของ ส. ด้วยกัน และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งฟ้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ณ. ทายาทของ ส. ผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้ฟ้อง ว. ลูกจ้าง ส. ให้ร่วมรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับ ว. ต้องรับผิดเท่ากัน และให้ลดค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ลงกึ่งหนึ่งจึงชอบแล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เด็กหญิง ณ. มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในข้อดังกล่าวไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10312/2559 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ในทางเดินรถที่สวนกันได้ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่กลับรถหรือเลี้ยวรถทางขวาในเมื่อมีรถอื่นสวนหรือตามมาในระยะน้อยกว่าหนึ่งร้อยเมตร เว้นแต่เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่น" สภาพถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีช่องเดินรถไป 3 ช่อง และกลับ 3 ช่อง แยกจากกันโดยมีเกาะกลางถนน รถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมีความยาวของรถหัวลากรวมถึงท่อนซุง 20 ม. ในขณะความกว้างของทางเดินรถทั้ง 3 ช่อง มีเพียง 10.5 ม. การเลี้ยวกลับรถไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียวโดยเฉพาะท่อนซุงมีน้ำหนักมาก สภาพถนนที่เปียกแฉะทำให้ไม่สามารถเลี้ยวกลับรถด้วยความเร็ว จำเลยที่ 1 ต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งกว่ารถบรรทุกที่มีความยาวปกติจะเลี้ยวกลับรถได้ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นที่อยู่ในทางเดินรถที่สวนทางมา การที่จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวากลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุโดยขับเลยเข้าไปในช่องทางเบี่ยงที่อยู่คู่ขนานด้านซ้ายของทางเดินรถที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อออกไปยังทางเดินรถอีกด้านหนึ่งเพื่อเข้าทางเดินรถปกติ แสดงว่าการเลี้ยวกลับรถเข้าทางเดินรถที่เกิดเหตุ ณ จุดกลับรถตามปกติไม่อาจทำได้โดยก่อนเลี้ยวจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเห็นแสงไฟรถในทางเดินรถที่เกิดเหตุอยู่ในระยะไกลเกินกว่า 200 ม. หากเป็นจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในช่องทางเบี่ยงคู่ขนานดังกล่าวได้ทันก่อนรถคันที่จำเลยที่ 1 เห็นแสงไฟจะแล่นมาถึง แต่ ร.ต.อ. อ. พนักงานสอบสวนเบิกความว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยล้อปัดของรถยนต์ของโจทก์เป็นทางยาว 70 ม. รอยปัดเริ่มจากช่องเดินรถช่องกลางเมื่อใกล้จุดเกิดเหตุได้เบนไปทางซ้ายเข้าสู่ช่องเดินรถซ้ายสุด เชื่อว่า ก. ต้องห้ามล้อรถด้วยความแรงพอสมควรถึงขนาดทำให้ล้อรถยนต์โจทก์มีรอยลื่นปัดและเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องกลางไปยังช่องซ้ายสุด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุในขณะที่มีรถยนต์ของโจทก์แล่นสวนทางมาในระยะน้อยกว่า 100 ม. ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่รอให้รถยนต์ของโจทก์ที่สวนมาผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน อันเป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นและไม่ปลอดภัย การเลี้ยวกลับรถของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10300/2559 จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ แต่ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งให้งดการชี้สองสถาน และให้นัดสืบพยานโจทก์และพยานฝ่ายจำเลยต่อไป จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานและดำเนินกระบวนพิจารณาถามค้านพยานโจทก์ที่นำเข้าสืบและนำสืบพยานจำเลยที่ 1 จนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ และถือได้ว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือไม่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอุทธรณ์ได้อีก เพราะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย การวินิจฉัยปัญหาว่าสัญญาที่มีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น เมื่อสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮ. ระบุข้อตกลงไว้ชัดเจนแล้วเรื่องกำหนดเวลาของสัญญาว่าเป็นสัญญาแบบปีต่อปี โดยมีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา และสัญญาดังกล่าว ข้อ 8.1 ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการปฏิบัติผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญาของอายุสัญญาดั้งเดิมหรืออายุสัญญาที่ต่อออกไปของสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาแก่โจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มียอดขายสินค้าและมาตรฐานการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกการต่ออายุสัญญาตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบโจทก์ ดังนั้นข้อตกลงตามข้อ 8.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10293/2559 แม้ฟ้องโจทก์จะบรรยายเพียงว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากผู้มีชื่อ แต่คำฟ้องโจทก์เป็นที่เข้าใจถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์กับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยให้ปรากฏแล้ว อีกทั้งจำเลยที่ 3 ให้การยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 เข้าใจถึงสาระสำคัญแห่งคำฟ้องที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10289/2559 หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นช่วงระยะเวลาจนบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปีนั้น ไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จึงได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับไม่ชอบ และที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามานั้นจึงไม่ชอบเช่นกัน เห็นควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2559 การที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดในกรณีสินค้าที่จำเลยรับขนส่งสูญหายในขณะที่จำเลยขับรถประสบอุบัติเหตุตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 616 เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีสินค้าที่จำเลยรับขนสูญหายจริง ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน สองแสนบาท และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีความเห็นแย้ง หรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเข้าร่วมรับจ้างขนสินค้ากับโจทก์และต้องรับผิดในการสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าที่จำเลยรับขนเนื่องจากการขับรถโดยประมาทเลินเล่อ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ ความรับผิดในฐานะผู้ขนสินค้า มิใช่ขอให้รับผิดในฐานะเป็นผู้กระทำละเมิด แม้ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิด ก็เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยโดยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2559 การร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ผู้คัดค้านมีข้อบังคับกำหนดเวลาให้สมาชิกต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลงมติดังกล่าว เมื่อตามคำร้องขอของผู้ร้องมีการกล่าวอ้างว่าการลงมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกสามัญของผู้คัดค้านได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้คัดค้านโดยมีคำขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมตินั้น เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนนั้นมีการลงมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 จึงพ้นกำหนดเวลาที่จะร้องขอต่อศาลตามข้อบังคับดังกล่าว ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวและปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2559 พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์พา อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 หน้าโรงเรียนและพาออกนอกเส้นทางไปที่ร้านถ่ายรูป และไปขายบริการที่โรงแรมก็ดี และมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้าน ด. ก็ดี แล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูก อ. กระทำชำเราล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยกับ อ. ได้นัดกันไว้แล้วล่วงหน้า แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและ อ. รวมทั้งยินยอมให้ อ. กระทำชำเราก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุสิบแปดปี ตาม ปอ. มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10254/2559 ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลจึงอยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นมอบหมายให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งรายงานการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทำการไต่สวนพยานและพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาลนั้น ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้กล่าวหาและพิพากษาคดีนี้เองจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเห็นข้อความในเอกสารซึ่งมีข้อความที่แสดงการดูหมิ่น เสียดสี ใส่ร้าย ข่มขู่ผู้พิพากษา น่าจะแจ้งต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบที่มาของเอกสาร แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับใช้วิธีนำข้อความดังกล่าวมาเรียงเป็นคำฟ้องและแนบเอกสารดังกล่าวมาท้ายฟ้องของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับคดีที่ฟ้อง อันเป็นการจงใจทำให้เอกสารดังกล่าวปรากฏต่อศาลและบุคคลอื่นและถูกเผยแพร่ออกไปโดยไม่จำเป็น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการจงใจดูหมิ่น เสียดสี ใส่ร้าย หรือข่มขู่ผู้พิพากษาด้วยการแนบเอกสารที่มีข้อความดังกล่าวมาท้ายฟ้อง มีเจตนาประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10159/2559 ตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและแบ่งสินสมรส ฝ่ายชายให้บุตรทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ฝ่ายชายจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดที่ได้ยกให้แก่บุตรทั้งสอง สินสมรสที่มีชื่อฝ่ายชายถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ฝ่ายชายก็จะโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้ครอบครองแทนบุตรทั้งสอง ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้ว ฝ่ายชายตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองคนต่อไปในทันที ก็หมายถึง สินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น หาได้มีข้อความระบุถึงสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังแล้วฝ่ายหญิงตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใดไม่ และไม่ได้หมายถึงสินสมรสของทั้งสองฝ่ายดังเช่นที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงที่มีรายละเอียดของสินสมรสที่คู่สัญญาทั้งสองตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว คงเหลือสินสมรสส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในบังคับข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาสินสมรสส่วนนี้มาเป็นของตนได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับหญิงอื่น ต่อมาเดือนสิงหาคม 2557 จำเลยถอนเรื่องร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ยอมกลับมาอยู่กับจำเลยที่บ้าน จึงเห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีการบรรยายระบุถึงพฤติการณ์ที่แสดงถึงการให้อภัยจำเลยโดยยอมกลับมาอยู่กับจำเลยภายหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) อีกทั้งจำเลยได้ยื่นถอนเรื่องร้องเรียนความประพฤติด้านชู้สาวของโจทก์ต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่า จำเลยตกลงใจถอนเรื่องร้องเรียนโดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือให้โจทก์กลับเข้าบ้านและปฏิบัติตนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีดูแลบุตรภริยาตามเดิม ให้โจทก์ปฏิบัติตนในทางที่ดี ไม่ให้เป็นที่ดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยาม ซุบซิบนินทาของบุคคลทั่วไปในสังคมและให้โจทก์ให้เกียรติยกย่องบุคคลในครอบครัวอันได้แก่ บุตร ภริยา ตามกาลเทศะที่เหมาะสม โดยโจทก์ก็ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะกลับเข้าพักในบ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิม แม้ข้อตกลงจะไม่ได้ระบุว่าโจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลย แต่พฤติการณ์ที่โจทก์แสดงออกโดยกลับมาอยู่บ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิมเพื่ออยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยต่อการกระทำของจำเลยที่ส่งข้อความหมิ่นประมาทบิดาของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ในเรื่องนี้จึงหมดไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10129/2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 91 รวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน และปรับ 25 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 จำคุก 7 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามไม่ให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพรับฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นความผิดตามฟ้อง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10127/2559 จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 กระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ถือว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดคดีนี้ก่อนคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อมูลการแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฉะเชิงเทรามาใช้ประกอบดุลพินิจกำหนดโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยที่ 3 ว่ากระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งที่ 2 นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก), 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แม้ฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นฎีกาที่ขอให้รอการลงโทษ หรือ รอการกำหนดโทษ หรือ คุมประพฤติ อันเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180, 183 และไม่อาจฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ เพราะ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมา ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเกี่ยวกับโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 3 ให้เหมาะสมได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10126/2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่โทษจำคุกให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยวางเงื่อนไขคุมความประพฤติ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม อันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) การที่จำเลยฎีกาขอให้จำเลยปรับปรุงตัวเองอยู่กับครอบครัวแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม มาตรา 180 ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 183 ประกอบมาตรา 180 และไม่มีบทบัญญัติใดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10100/2559 แม้เดิมบริษัท ท. จะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (เดิม) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นเวลาภายหลังจากมาตรา 1273/4 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่คดีนี้ ซึ่งมาตรา 1273/4 วรรคสอง กำหนดว่าการร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน อันเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้ร้องซึ่งเคยมีอยู่แต่เดิมก่อนกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ การนับระยะเวลาจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด การนับกำหนดระยะเวลาร้องขอให้บริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง จึงให้เริ่มนับแต่วันที่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 หาใช่เริ่มนับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียน เมื่อนับแต่วันที่มาตรา 1273/4 วรรคสอง มีผลใช้บังคับจนถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10099/2559 จำเลยทั้งสองให้การว่ามีกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายกับจำเลยที่ 1 ขอเช่ารถยนต์คันพิพาทแล้วไม่ส่งมอบรถคืน จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ อ. กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานอัยการมีความเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันใช้กลอุบายในการที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป โดยแนบสัญญาเช่ารถยนต์และสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการมาท้ายคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานให้เห็นว่า อ. กับพวก มีพฤติการณ์ใช้กลอุบายในการร่วมกันลักเอารถยนต์ไปอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การนำรถยนต์ออกให้เช่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 หากแต่เพียงอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาและสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยประกอบคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ามีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำรถยนต์มาคืน มีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งสำเนาคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อ. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. กับพวก ร่วมกันลักรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวไปอย่างไร คดีอาญาเรื่องอื่นที่มีคำขอให้นับโทษจำคุกต่อเป็นความผิดฐานใด ส่วนจำเลยร่วมมี น. เบิกความว่าพยานสอบปากคำจำเลยที่ 1 ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การแสดงให้เห็นว่า อ. ที่มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีตัวตนจริงไม่ได้มีการแอบอ้างหรือมีบุคคลอื่นแสดงตนเป็น อ. มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า อ. เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาเช่าแล้วร่วมกับพวกลักเอารถยนต์ไปจึงเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองเพราะเหตุความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์นั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตอนหลังกลับวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองเต็มจำนวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ยังต้องการให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง โจทก์ต้องอุทธรณ์ ไม่ใช่เรื่องของจำเลยร่วมที่จะต้องอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10098/2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 และนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา และต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นต้องงดการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือ การทำคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับใหม่เพื่อรอให้คู่ความดำเนินการใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างส่งรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ตามท้ายอุทธรณ์โดยมิได้นำสืบในศาลชั้นต้น และส่งสำเนาให้จำเลย ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวไม่ชอบนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทำคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่คำฟ้องคดีแพ่งสามัญ ถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลแพ่งต้องมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนั้นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุศาลแพ่งไม่รับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่เพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นกรณีศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โดยรับฟังคำเบิกความของ ส. ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่าคำเบิกความของ ส. ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่ามีน้ำหนักเนื่องจากเบิกความสอดคล้องกับเอกสารดังกล่าว ศาลอุทธรณ์มิได้นำเอกสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อมาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดค่าสินไหมทดแทน บทกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันเกิดวินาศภัย โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความสองปี แต่อายุความครบกำหนดในระหว่างการส่งคำฟ้องให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ต่อศาลชั้นต้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อศาลแพ่งอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 8 พร้อมกับคำสั่งไม่รับฟ้องให้จำหน่ายคดีในวันที่ 22 กันยายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 ตุลาคม 2551 ยังไม่เกินหกสิบวัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10072/2559 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ร้อยเอก ธ. กับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตรวจสอบรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงที่จำเลยขับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งมาตรา 15 ทวิ บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน" การที่ร้อยเอก ธ. กับพวกกักตัวจำเลยไว้ก่อนที่จำเลยจะหลบหนีจึงเป็นการกักตัวตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เฉพาะ มิใช่การจับตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ขณะกักตัวจำเลยจะมีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ด้วยก็ตาม ทั้งนี้การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะมี เจ้าพนักงานตำรวจร่วมอยู่ด้วยในการกักตัวจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ ดังนี้ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 จำเลยจึงยังไม่ถูกจับ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการฝากขังจำเลยในคดีนี้ จึงชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10061/2559 การที่จำเลยหลบหนีจากสถานฟื้นฟูและได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยยังปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าวไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลำปาง อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลได้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 24 และพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องจำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559 ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวหากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ใบแต่งทนายความจำเลยระบุข้อความเกี่ยวกับอำนาจของทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของจำเลย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ โดยมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพร้อมตราประทับของจำเลยถูกต้องตามหนังสือรับรองของจำเลย ทนายความจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทนายความจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยใช้รถบรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 20,750 กิโลกรัม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน ทั้งทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตาม ป.อ. มาตรา 23
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9961/2559 สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ฯลฯ ยอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกันโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" และข้อ 11 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญาหลายครั้ง หากผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใด ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่น ๆ" เมื่อพิจารณาข้อสัญญาทั้งสองข้อประกอบกันด้วยแล้ว เห็นได้ว่า แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ไม่อาจถือเป็นเด็ดขาดว่า สัญญาเช่าซื้อจะต้องเลิกกันทันทีตามสัญญา ข้อ 9 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาให้ผู้เช่าซื้อ ดังที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 โดยยินยอมให้เวลาผู้เช่าซื้อนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาชำระภายหลังจากครบกำหนดเวลาชำระค่างวดตามสัญญาได้ และถือว่าสัญญายังคงมีความผูกพันกันต่อไป คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 13 งวด โดยตั้งแต่การชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยโจทก์เองก็ยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัด และยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดในคราวการชำระงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 แม้จะครบกำหนดระยะเวลาชำระแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าโจทก์ผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยอีก หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามสัญญา ข้อ 9 แล้ว ดังนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9960/2559 การกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของผู้อื่นด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และการกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) บุคคลผู้กระทำการเช่นว่านั้นจะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดดังกล่าวต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 17 และมาตรา 59 ผู้ที่จะต้องรับโทษทางอาญาในความผิดดังกล่าวในกรณีการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นนอกจากผู้กระทำจะต้องรู้ว่างานที่ตนทำซ้ำหรือดัดแปลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้ว ผู้กระทำยังต้องรู้ด้วยว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งงานนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ผู้กระทำต้องรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์ประกอบกรณีเจตนาแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) ด้วย โดยผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อาจเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดนั้นโดยการกระทำทางกายภาพด้วยตนเองโดยมีเจตนากระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือได้ใช้หรือหลอกให้บุคคลอื่นซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดซึ่งไม่มีความรับผิดในทางอาญาดังกล่าวเป็นผู้กระทำการแทนโดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นนั้นมีสภาพดังเช่นเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้นั้นเองก็ได้ เมื่อได้ความตามเอกสารว่าจำเลยที่ 1 รับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิทธิคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนทั้งปวงในทุกอาณาเขตทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว และรับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับสิทธิผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาที่มีสัญลักษณ์รูปอุลตร้าแมนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ในนามบริษัท บ. จึงทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาอุลตร้าแมน ตามฟ้องรวมห้าแบบจำนวน 425,000 ชิ้น ในเขตประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิอุลตร้าแมนดังกล่าวจำนวน 818,584 บาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏตามสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อประกอบเอกสารอธิบายฉลากสินค้าดังกล่าวว่าฉลากสินค้าที่อยู่ในซองบรรจุสินค้านั้นมีข้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า "Ultraman Characters (c) Sompote Saengduenchai All rights reserved Products by KFC" อันแปลความได้ว่าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 สงวนสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผลิตภัณฑ์นี้ทำโดยเคเอฟซี แสดงว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในขณะนั้นรวมถึงอุลตร้าแมนตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ด้วยว่า จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์กับตัวแทนของโจทก์แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนคอสมอส และประกาศจะเผยแพร่สิทธิทางการค้าในผลงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังประกาศโฆษณาว่าขอให้โจทก์และตัวแทนของโจทก์ยุติการดำเนินการดังกล่าว มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี และพยานเคยถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนมาโดยตลอด รวมตลอดถึงลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานในอุลตร้าแมนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ด้วย แม้ในขณะที่โจทก์ตรวจพบสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้อง และยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.459/2543 โดยวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม สัญญาให้ใช้สิทธิ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอมจึงมีผลผูกพันโจทก์ เฉพาะลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวโอนไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนภาพยนตร์อุลตร้าแมนตอนใหม่ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมกับโจทก์หรือนายเอยิหรือไม่ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลาย โดยมีสาระสำคัญว่าสัญญาให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัท ซ. กับจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และขอบเขตการมีผลบังคับใช้ของสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวมีผลครอบคลุมให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายภายหลังจากที่มีการทำสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีผลคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามผลคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าตามผลคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงมาโดยตลอดนั้นได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนว่าเป็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในผลงานดังกล่าวในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมแต่อย่างใด รวมทั้งโดยผลคำพิพากษาของศาลดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีลิขสิทธิ์เฉพาะภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาให้ใช้สิทธิโดยไม่รวมถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นหลังจากมีข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าว ทั้งภายหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ลงประกาศในหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น มีข้อความตอนต้นว่า บริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยได้รับโอนสิทธิจากโจทก์ และบริษัทดังกล่าวได้อนุญาตให้บริษัทต่างๆ จำนวนมากใช้สิทธิซึ่งบริษัทดังกล่าวมีอยู่ แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุที่คนทั่วไปย่อมต้องเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายทั้งที่ในขณะนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่าสัญญาให้ใช้สิทธิมีผลใช้บังคับได้จริง และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุชื่อไว้ในสัญญาดังกล่าวเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้อง ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมิได้รวมอยู่ในข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนหน้านั้น แล้วจำเลยที่ 1 อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวโดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงผลิตเป็นตุ๊กตาออกจำหน่ายจ่ายแจกและโฆษณาเผยแพร่โดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เองต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม โดยอาศัยผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 ดังเช่นจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่อยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์แต่อยู่ในฐานะตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) ของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องได้ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม เมื่อพิจารณาสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อรวมห้าแบบซึ่งดัดแปลงขึ้นโดยอาศัยหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้องที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นความคล้ายคลึงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะคนทั่วไปเข้าใจได้ว่าสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นเป็นอุลตร้าแมนลักษณะเดียวกันกับอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมแล้วดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์ พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ในงานอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามที่โจทก์ฟ้อง และสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นเป็นการดัดแปลงงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 อาศัยจำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวและมีการผลิตสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องออกจำหน่ายและเพื่อการส่งเสริมการขาย และนำสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องเผยแพร่โฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายทางโทรทัศน์โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลคือการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องของโจทก์ และมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นจะทำซ้ำหรือดัดแปลงแล้วนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนอันเป็นงานจิตรกรรมทั้งห้าแบบตามฟ้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันในการละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9958/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการขายสินค้าอาหารทะเลสำเร็จรูปรายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองท้ายฟ้องเท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 5 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ตามความหมายของคำว่า "บริษัท" ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/1 อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 89/2 (1) ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9949/2559 คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว นอกจากทนายความทั้งสองฝ่ายมาศาล ยังปรากฏว่าตัวความทั้งสองฝ่ายมาศาล และได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีทางดำเนินคดีต่อไปเพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ภายในกำหนดเวลา หนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมถึงที่สุด ไม่อาจที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความภายหลังว่า คำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสจำเลย เป็นคดีที่ไม่มีผู้เยาว์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้อง โจทก์และจำเลยต่างแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ต้องการผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่น้อยกว่าสองคนย่อมเป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 147 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9881/2559 สัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า คู่สัญญาภาคเอกชนทั้งสามรายต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์ตลอดอายุสัญญาเป็นรายปี คิดเป็นอัตราร้อยละของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การที่โจทก์ให้คู่สัญญาทั้งสามรายนำเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ได้ชำระแล้วมาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้โจทก์ เป็นการกระทำที่มีผลเช่นเดียวกับการที่โจทก์นำเงินที่ได้รับจากคู่สัญญาทั้งสามรายบางส่วนไปจ่ายคืนให้แก่คู่สัญญาทั้งสามราย เพื่อให้คู่สัญญาทั้งสามรายนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระภาษีสรรพสามิตตามที่คู่สัญญาทั้งสามรายมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่กรมสรรพสามิต อันเป็นการชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตให้แก่คู่สัญญาทั้งสามราย โดยโจทก์เป็นผู้รับภาระค่าภาษีสรรพสามิตแทนคู่สัญญาทั้งสามราย เพื่อให้คู่สัญญาทั้งสามรายมีภาระที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาในอัตราเท่าเดิม โดยไม่มีการลดผลประโยชน์ตอบแทนหรือส่วนแบ่งรายได้ที่โจทก์จะได้รับจากคู่สัญญาทั้งสามราย ส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากคู่สัญญาทั้งสามรายยังมีครบถ้วนตามสัญญาเดิมและถือเป็นรายรับที่โจทก์ได้รับจริงจากการให้บริการตามสัญญา ซึ่งเป็นฐานภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 โจทก์จึงต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคู่สัญญาทั้งสามรายตามมาตรา 77/2 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและคู่สัญญาทั้งสามรายไม่มีสิทธินำเอาค่าภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้วมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องชำระแก่โจทก์ คู่สัญญาทั้งสามรายต้องรับภาระภาษีสรรพสามิตเอง คู่สัญญาทั้งสามรายยังชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงยังไม่ได้รับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้นั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9880/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น" ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 18 ได้บัญญัติลักษณะแห่งตราสารจำนำ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ถ้าการจำนำมิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท เมื่อตามสัญญาจำนำ ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 ระบุว่า "ผู้จำนำเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญจำนวนหนึ่งอันเป็นหุ้นทุนซึ่งออกโดยบริษัท อ.ตามที่ปรากฏในเอกสารแนบท้าย 1 ของสัญญานี้ และผู้จำนำตกลงจะจำนำหุ้นกับผู้รับจำนำเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าปรับ ค่าเสียหาย การใช้เงินคืน หรือเงินอื่นใด ("หนี้สิน") ที่บริษัท อ. ต้องชำระหรือจะต้องชำระให้กับผู้รับจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้..." แสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์จะจำนำประกันหนี้ของบริษัท อ. เฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่บริษัท อ. จะต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าการจำนำรายนี้มิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้ซึ่งกำหนดให้เสียค่าอากรแสตมป์เพียง 1 บาท ดังที่โจทก์อ้าง ฉะนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจำนำจึงต้องรับผิดชำระค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ของจำนวนหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9857/2559 อนุญาโตตุลาการสืบพยานของคู่พิพาทเสร็จแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของ ช. มีหน้าที่ขนไก่ขึ้นลงจากรถ วันเกิดเหตุหลังจากส่งไก่เสร็จแล้ว ช. จะไปซื้อหญ้าที่อำเภอองครักษ์มาปลูกที่บ้าน ผู้ตายขอไปด้วยเพราะรู้จักสถานที่ จึงโดยสารมาในรถ ระหว่างที่ ช. ขับรถยนต์พาผู้ตายกลับบ้าน เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเดินทางไปกับ ช. หลังจากเสร็จสิ้นการส่งไก่ ไม่ใช่ทางการที่จ้าง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) (2) วรรคสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ตามเงื่อนไขท้ายกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่อาจยกความไม่สมบูรณ์ของกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น แต่เงื่อนไขท้ายกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่ ผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในเงื่อนไขกรมธรรม์ข้อนี้ ผู้คัดค้านย่อมไม่ถูกห้ามปฏิเสธความรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 8 ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ขัดต่อข้อสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2) วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9855/2559 แม้ใบรับขนสินค้าของจำเลยที่ 1 มีข้อความท้ายสุดว่า "สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท" ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนที่สินค้าเสียหายจริงคือ 34,527.50 บาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9853/2559 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบัญญัติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากสถาบันการเงินประเภทอื่น ดังนี้ ทั้งโจทก์ บริษัท บ. และผู้ร้องจึงต่างมีสถานะเป็นสถาบันการเงินซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ทั้งสิ้น การที่บริษัท บ. รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้มาจากโจทก์แล้วนำไปขายแก่ผู้ร้องต่อจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินอันถือว่าเป็นการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของบริษัท บ. กับผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ของโจทก์มาจากบริษัท บ. ผู้ร้องก็ต้องนำสินทรัพย์ของโจทก์ที่รับซื้อหรือรับโอนมาดังกล่าวมาบริหารตามบทบัญญัติของ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ต่อไป กรณีมิใช่เป็นการโอนสินทรัพย์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกันเองหรือโอนไปเพื่อให้ผู้ร้องบริหารสินทรัพย์แทนอันขัดต่อเจตนารมณ์ในการตรา พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 การโอนสินทรัพย์ระหว่างบริษัท บ. กับผู้ร้องจึงมีผลสมบูรณ์ ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ของโจทก์มาจากบริษัท บ. ผู้ร้องจึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้โดยชอบ แม้ผู้ร้องจะซื้อมาในราคาต่ำกว่ามูลหนี้เดิม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของสิทธิเต็มจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาเต็มจำนวนที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จำเลยยังคงค้างชำระหนี้กับโจทก์อยู่เท่าใดก็ต้องมีการชำระหนี้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบเพียงนั้น การซื้อสินทรัพย์ซึ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจของโจทก์ไม่ได้เป็นการค้ากำไรเกินควร พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะยกเว้นหลักกฎหมายเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากไม่มีบทบัญญัติในพระราชกำหนดทั้งสองที่จะยกมาปรับแก่คดี ก็ต้องบังคับไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่นำพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้บังคับในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งของพระราชกำหนดอีกฉบับหนึ่ง เมื่อสินทรัพย์ที่โอนกันนี้เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งโจทก์นำมาฟ้องคดีนี้และศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว โจทก์และบริษัท บ. ต่างมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวต่อมาจากบริษัท บ. กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ที่บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์คดีนี้ได้ทุกประการ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9852/2559 ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่มีมติให้ประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ เป็นมติที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำกิจการแทนประธานกรรมการในฐานะที่ประธานกรรมการเป็นผู้แทนคณะกรรมการชำระบัญชีตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ส่วนข้อความของมติต่อมาที่ว่า ในกิจการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้เป็นไปตามนัย มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 นั้น เป็นการขยายความว่า กิจการที่มอบอำนาจให้ทำแทนประธานกรรมการนั้นจะต้องเกี่ยวกับหน้าที่ของประธานกรรมการในการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่อาจแปลขยายความว่าเป็นกรณีที่ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำการแทนคณะกรรมการชำระบัญชีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถกระทำการได้โดยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการชำระบัญชี เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการนำข้อสรุปเบื้องต้นตามบันทึกการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชำระบัญชีและมีมติให้ขายทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์พิพาทได้อยู่ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9840 - 9841/2559 ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 43 ให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐานให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกันและเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว" ดังนี้ แม้พนักงานอัยการจะไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. เป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้น และผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. ผู้ล้มละลาย แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 และผู้คัดค้านที่ 4 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้นก่อน เมื่อไม่มีผู้เสียหายแล้วจึงจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้เสียหายจะยื่นคำร้องหรือไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9694/2559 คำขอยกเว้นภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 102 ทวิ (1) และ (2) ที่โจทก์ยื่น ระบุว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการ แต่ขอยกเว้นค่าภาษีสรรพสามิตเพื่อบริจาครายรับเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระทำในนามของโจทก์เองไม่ได้ระบุว่าโจทก์ยื่นคำขอยกเว้นแทนองค์กรใด และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ส่งมอบรายรับทั้งหมดเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการสนามแข่งม้า
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9688/2559 สินค้าที่โจทก์นำเข้าถูกระบุในใบกำกับสินค้าโดยชัดแจ้งว่าเป็นสินค้าประเภทแบตเตอรี่ แสดงให้เห็นว่าสินค้าพิพาทเป็นแบตเตอรี่โดยสภาพ ซึ่งตรงกับพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2540 ประเภทที่ 08.90 (4) ส่วนที่โจทก์อ้างว่าแบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำรองไฟฟ้าครบชุดบริบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ข้อ (3) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 22 เมษายน 2528 คำเบิกความของพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเข้าแบตเตอรี่พิพาทเพื่อสำหรับผลิตหรือประกอบเข้ากันเป็นเครื่องสำรองไฟฟ้าเป็นการเฉพาะเจาะจง เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วเสร็จแล้วแบตเตอรี่จะเปลี่ยนสภาพเป็นส่วนที่นำไปประกอบกับส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นเครื่องสำรองไฟอย่างแท้จริง อันจะถือว่าเป็นสินค้าครบชุดบริบูรณ์ และที่โจทก์อ้างว่า แบตเตอรี่ไม่อาจแยกการทำงานออกจากส่วนประกอบอื่นของเครื่องสำรองไฟฟ้าได้ โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า แบตเตอรี่พิพาทต้องประกอบอยู่ในตัวเครื่องสำรองไฟฟ้าจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ และไม่สามารถใช้งานได้ด้วยตนเองนอกจากประกอบเข้ากับเครื่องสำรองไฟ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่พอฟังได้ว่า แบตเตอรี่ที่โจทก์นำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำรองไฟฟ้าครบชุดบริบูรณ์ อันจะทำให้แบตเตอรี่ที่นำเข้าไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นแบบพิมพ์เดียวกัน โจทก์คงสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีศุลกากรเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุรหัสสินค้าสรรพสามิตที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีสรรพสามิต อันจะทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่ามุ่งหมายจะยื่นรายการภาษีสรรพสามิตด้วย ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตมาแต่แรกนั้น ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ไม่เคยมีเจตนาจะยื่นแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตมาก่อน กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 48 (3) และแม้หากจะฟังได้ว่าโจทก์ยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิต แต่มูลค่าของสินค้าขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าที่แสดงในแบบรายการภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินภาษีสรรพสามิตภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบรายการภาษีตามมาตรา 83 (3)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9687/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ฌ) ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น โดยมิได้จำกัดว่าผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น และตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการการให้บริการการประกอบโรคศิลปะอันมีวัตถุประสงค์ถึงตัวกิจการเป็นสำคัญว่าต้องเป็นการประกอบโรคศิลปะ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ให้บริการการประกอบโรคศิลปะสามารถเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือนิติบุคคล เมื่อโจทก์ประกอบกิจการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขั้นตอนการรักษาทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการวิชาชีพ ถือได้ว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมของโจทก์เป็นการรักษาผู้ป่วยไตวายอันเป็นการประกอบโรคศิลปะ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฌ)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9686/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสัญญาเช่าเรือข้อ 21 ที่กำหนดว่า หากจำเลยใช้เวลาในการนำสินค้าบรรทุกลงเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเกิน 6 วัน จำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมความล่าช้า (Demurrage) แม้ตามสัญญาเช่าเรือข้อ 24 จะมิได้กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ แต่ปัญหาว่าจำเลยใช้เรือล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดอันเป็นผลให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือดังกล่าว เมื่อสัญญาข้อ 24 กำหนดให้ระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9675/2559 จำเลยดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อนำไปสู่การแข่งรถจักรยานยนต์ในทาง รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการแข่งรถจักรยานยนต์ในทางโดยตรงซึ่งศาลมีอำนาจริบได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9661/2559 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 กำหนดความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม แม้การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินและไม่มีวงเงินในบัญชีกระแสรายวัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งลักษณะเป็นการร่วมวางแผนและร่วมลงมือมาแต่ต้น แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติมาตรา 315 ได้กำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำความผิดตามมาตรา 308 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2559 ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ระบุใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานในบัญชีพยานและมิได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 อันต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังใบเสร็จรับเงิน เห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบพยานโดยเบิกความและอ้างส่งใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองหลังจากนั้นนานถึง 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน และนำสืบหักล้างหรือปฏิเสธได้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 และหม่อม อ. เบิกความ ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงิน และหม่อม อ. ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง คดีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับฟังใบเสร็จรับเงิน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9647/2559 คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ตาม ป.อ. มาตรา 340, 340 ตรี จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 และ 357 วรรคหนึ่ง ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลย ยกฟ้องฐานปล้นทรัพย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคหนึ่ง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 จำคุก 8 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 (จังหวัดเชียงใหม่) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 25,540 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยฎีกาว่าไม่มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขบทความผิดและแก้โทษจากรอการกำหนดโทษเป็นฝึกและอบรม มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขมากแต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะการฝึกและอบรมไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9593/2559 แม้เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบมิใช่ข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่เกี่ยวกับที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องนำสืบ คดีนี้โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษา... ต่อมาต้นปี 2557 จำเลยเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นไปจำเลยไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมีสิทธิเพียงถามค้านพยานโจทก์ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นไปตามคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาข้อเท็จจริงว่าคู่สัญญาฝ่ายจำเลยที่ลงลายมือชื่อสองคนในสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าเป็นกรรมการบริษัทจำเลยหรือได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ทำสัญญากับโจทก์ทั้งสอง ไม่มีการประทับตราสำคัญของจำเลยมาวินิจฉัย ย่อมถือว่าจำเลยทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองไม่ได้ สัญญาไม่ผูกพันจำเลย นำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องอำนาจฟ้องย่อมเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่เกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีหน้าที่ต้องนำสืบมาวินิจฉัย เป็นการไม่ชอบ อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ แล้วพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก เป็นการมิชอบ ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2559 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ซ. ซึ่งเป็นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดถึงแก่ความตาย สภาพบุคคลของ ซ. ย่อมสิ้นไปไม่อาจเกี่ยวข้องทางกายภาพกับกิจกรรมการก่อการร้ายหรือสนับสนุนแก่การก่อการร้ายได้ต่อไปอีก ถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนชื่อ ซ. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9591/2559 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด" การที่ ม. ซึ่งเป็นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดถึงแก่ความตายย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ ม. หมดสิ้นไป จึงเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไป ศาลย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนชื่อ ม. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9590/2559 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลนั้น ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียว ขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด และถ้าปรากฏแก่ศาลว่ามีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ดังต่อไปนี้ ให้ศาลมีคำสั่งตามที่ขอ (1) ผู้นั้นมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ (2) ผู้นั้นดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ถูกกำหนดตาม (1) หรือตามมาตรา 4 ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด ตามบทบัญญัติวรรคสองดังกล่าว เห็นได้ว่า ถ้าพฤติการณ์ของบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดได้ สำหรับคดีนี้ ป. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด เนื่องจากมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายโดยร่วมอยู่ในขบวนการก่อการร้ายจนศาลออกหมายจับไว้หลายคดี การที่ ป.ถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ ป. หมดสิ้นไป จึงเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไปตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง ศาลย่อมมีคำสั่งเพิกถอนชื่อ ป. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9589/2559 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด" การที่ อ. ซึ่งเป็นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ อ. หมดสิ้นไป จึงเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไป ศาลย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนชื่อ อ. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9584/2559 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์เพื่อเรียกโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับ คืน ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับ คืนแก่จำเลยที่ 1 คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจะดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินได้ก็ต่อเมื่อคดีนั้นถึงที่สุด ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 56 และ 63 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หมวด 3 ข้อ 17 (3) เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 ของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่สามารถขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับ ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับมาแล้วสองครั้ง โดยไม่ได้นำคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 มาประกอบคำขอ เจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหลักฐานคดีถึงที่สุดมาแสดง จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกใบแทน การมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินย่อมแสดงให้เห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 393/2546 เป็นคำพิพากษาอันเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน การจะดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ก็โดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 56 และ 63 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หมวด 3 ข้อ 17 (3) เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำขอออกใบแทนโฉนดเป็นครั้งที่สาม โดยอ้างเหตุเดิมว่าโฉนดที่ดินสูญหาย แต่มีเพิ่มเติมว่าได้นำพยาน 2 คน มาบันทึกถ้อยคำรับรองพร้อมนำสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 มาประกอบ เจ้าพนักงานที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งที่เป็นกรณีเดียวกันและเหมือนกันกับครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออกใบแทนเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหลักฐานอันแสดงว่าคดีถึงที่สุดมาแสดง การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ปฏิบัติตามข้อ 17 (3) แต่ข้ามขั้นตอนไปปฏิบัติตามข้อ 17 (1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงดังกล่าว การออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งไม่ชอบตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด และให้โฉนดที่ดินพิพาทฉบับเดิมยังคงมีผลใช้ได้ต่อไป ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 ของศาลชั้นต้น ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สละกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 40 แปลง แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และไม่มีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนตามกฎหมาย ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9572/2559 การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับเป็นมาตรการในการบังคับตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการผู้ร้องที่ต้องดำเนินการบังคับคดีอาญาในส่วนการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับโดยไม่อาจถือได้ว่ารัฐหรือศาลหรือโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แม้จำเลยที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่การบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในทางแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2559 ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 บัญญัติให้การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 3 (1) ได้แก่ "การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การมีไว้ในครอบครอง การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้ามาในราชอาณาจักร..." เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า "...จำเลยร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว... จากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม... ดังกล่าว ไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นถังก๊าซหุงต้ม (Valve) และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น ถังก๊าซหุงต้ม (Seal)..." การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เมื่อ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 (1) มิได้บัญญัติว่าการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9484/2559 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 ทวิ กำหนดว่าในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่อมีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ดังนั้น สิทธิในการได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของโจทก์จึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลงคือเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งขณะที่ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลงนั้นยังอยู่ภายใต้บังคับประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพประจำปี พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพในอัตราร้อยละ 6.30 ต่อปี ของเงินสมทบสุทธิ แม้ต่อมาจะมีการออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพประจำปี พ.ศ.2551 ในวันที่ 26 มกราคม 2552 ที่กำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพเป็นร้อยละ 0.10 ต่อปี และโจทก์ยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นวันหลังจากจำเลยออกประกาศเรื่อง กำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพประจำปี พ.ศ.2551 ก็ตาม แต่เมื่อประกาศดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่าผู้ใดมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่เพียงใด ก็ให้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนนั้นต่อไปตามสิทธิ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพในอัตราร้อยละ 6.30 อยู่ก่อนวันที่มีประกาศของจำเลยประจำปี พ.ศ.2551 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9480/2559 คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่อง ภาพลักษณ์นักบิน ที่ระบุว่า 1. การไว้ผมต้องเรียบร้อยและชายผมต้องไม่เกินคอปกเสื้อ รวมถึงการย้อมสีผมต้องดูสุภาพและเหมาะสมเป็นธรรมชาติ 2. การไว้หนวดและจอนต้องให้เรียบร้อย โดยจอนต้องยาวไม่เกินติ่งหูและไม่อนุญาตให้ไว้เครา 3. การแต่งเครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อปฏิบัติการบินต้องครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบนั้น เป็นการออกคำสั่งภายใต้ระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบหน่วยงานกำหนดวิธีปฏิบัติหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ไม่อยู่ในความหมายของสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 โดยคำสั่งนี้ขยายความการปฏิบัติในเรื่องภาพลักษณ์ของนักบินตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และในตอนท้ายของคำสั่งที่ระบุว่าหากนักบินยังมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามให้งดปฏิบัติการบินจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นคำสั่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมและจำเป็นต้องมีมาตรการให้นักบินต้องปฏิบัติตาม มิใช่การลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งเมื่อเป็นคำสั่งกำหนดแนวทางให้พนักงานในตำแหน่งนักบินทุกคนปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กรจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติและประกอบธุรกิจด้านบริการ โดยมิได้สร้างภาระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งนักบินเกินสมควร หรือขัดต่อสภาพทางกาย สุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาของโจทก์อันจะทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ได้ หรือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของโจทก์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของโจทก์หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ออกคำสั่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักบินหรือ Low Rank โดยโจทก์ยังคงได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนตามตำแหน่งนักบินที่ 1 ตลอดมา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9479/2559 ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า "นายจ้างจะเลิกจ้าง ลดค่าจ้างหรือตัดค่าจ้างกรรมการกิจการสัมพันธ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เว้นแต่..." มาตรา 34 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง... ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง... ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ หรืออนุกรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่..." และมาตรา 35 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้าง (1) เลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้ดำเนินการขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือเข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน..." มีความหมายเพียงว่า นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างหรือลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์หากไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน และไม่อาจเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน บทบัญญัตินี้ไม่ได้คุ้มครองถึงกระบวนการก่อนการเลิกจ้างหรือก่อนการลงโทษลูกจ้างเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะขอให้ศาลแรงงานลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์ หรือลงโทษลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างแล้วแต่กรณีไป มิฉะนั้นนายจ้างย่อมไม่อาจริเริ่มกระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ลูกจ้างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงานโดยปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบสวน เปิดโอกาสให้โจทก์ชี้แจงแล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในการทุจริตต่อหน้าที่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน จึงมิใช่เป็นการประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะโจทก์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวดังที่โจทก์อุทธรณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9474/2559 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ระบุว่า "ทางบริษัทฯ (หมายถึงจำเลย) ตกลงให้ค่าตำแหน่งช่างเทคนิค ที่จบวุฒิการศึกษา ปวส. สาขาทางด้านเทคนิค เป็น 50 บาท/วันทำงาน/ทุกตำแหน่ง" จึงหมายความว่าลูกจ้างที่จะได้รับเงินค่าตำแหน่งช่างเทคนิควันละ 50 บาท จะต้องจบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาเทคนิค โดยจะต้องนำความรู้ทางด้านเทคนิคมาใช้ทำงานให้แก่จำเลยในตำแหน่งช่างเทคนิคหรือในตำแหน่งอื่นที่ต้องใช้ความรู้ดังกล่าว และจะได้รับเงินค่าตำแหน่งเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น มิใช่จ่ายให้โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน การที่จำเลยโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งช่างเทคนิคไปทำงานในตำแหน่งเสมียนก็เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานประสงค์จะไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลา คือ ไม่ต้องทำงานตามหน้าที่ลูกจ้างให้แก่จำเลย ที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลาโดยจ่ายค่าจ้างให้เสมือนโจทก์มาทำงานให้แก่จำเลยจึงนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว เมื่อการโยกย้ายหน้าที่โจทก์เป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลย ทั้งไม่มีข้อตกลงห้ามมิให้จำเลยโยกย้ายหน้าที่โจทก์ และการโยกย้ายหน้าที่โจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้ง แม้การทำงานในตำแหน่งเสมียนของโจทก์จะทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าตำแหน่ง แต่โจทก์ก็ยังคงได้รับเงินเดือนและสวัสดิการอื่นเหมือนเดิม กรณีจึงไม่เป็นการลดค่าจ้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9471/2559 ผู้คัดค้านจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยมีกรรมการ 2 คน เมื่อกรรมการคนหนึ่งถึงแก่กรรม จึงเป็นกรณีที่จำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1159 กรรมการที่เหลือเพียงคนเดียวต้องเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องจำนวนกรรมการที่ไม่ครบองค์ประชุมเสียก่อน มิใช่ว่าจะนัดเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องอื่น ๆ โดยมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องอื่นตามคำร้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559 แม้ความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น แต่กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าบริษัท ส. นายจ้างของจำเลยเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่าบริษัท ช. เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป จึงเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2559 บ. ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่บริษัท ว. เป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเหตุเกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยด้วยความประมาทเลินเล่อ โจทก์ที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ บ. ผู้ประสบภัยจึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บริษัท ว. จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท แล้ว เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 บริษัท ว. มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นนี้จำเลยที่ 2 ชอบที่จะกันเงิน 50,000 บาท ไว้เพื่อคืนแก่บริษัท ว. ดังนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงเหลือเพียง 50,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 วางเงินชำระต่อศาลชั้นต้นไว้แล้ว 50,000 บาท เมื่อรวมกับเงิน 50,000 บาท ที่ต้องกันไว้เพื่อคืนบริษัท ว. แล้ว เป็นเงิน 100,000 บาท เต็มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิตแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีก แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 วางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงมีความรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน 50,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2550
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559 ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ก. จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานของธนาคาร ก. แต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 จึงเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวแทน จำเลยที่ 5 เป็นทนายความของบริษัท พ. ซึ่งรับจ้างดำเนินคดีล้มละลายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรับสำนวนต่อมาจากจำเลยที่ 7 ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 7 แก้ไขคำฟ้อง จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ไปสืบพยานเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จำเลยที่ 5 อ้างตนเองเป็นพยาน ส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของตนแทนการซักถาม และส่งเอกสารซึ่งมีแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของลูกหนี้ที่ถูกต้องแล้วต่อศาล จึงเป็นการนำสืบถึงลูกหนี้ที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้ว มิใช่นำสืบว่าลูกหนี้คือโจทก์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด น่าจะเกิดจากความผิดหลงที่ไปพิจารณาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 7 ฟ้องโจทก์แต่ไม่ถอนฟ้องกลับใช้วิธีการแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว ยังไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ขณะคดีอาญายังไม่เด็ดขาด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2559 ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน อันเป็นการสืบพยานเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี มิใช่การสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์และจำเลยพิพาทกัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มาใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ความตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิฉบับนี้โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ อันเป็นเหตุเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9367/2559 ในการท้ากันนั้น โจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงให้จำเลยดื่มน้ำสาบานและรับศีลห้าด้วย การดื่มน้ำสาบานและรับศีลห้าจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำท้า ส่วนการที่จำเลยต้องกล่าวคำสาบานให้โจทก์หรือผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และผู้อำนวยการฯ ได้ยินด้วยนั้น เป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งของคำท้า เมื่อปรากฏว่าจำเลยกล่าวคำสาบานโดยผู้อำนวยการฯ ได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลยขณะอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 1 เมตร เมื่อผู้อำนวยการฯ แจ้งให้โจทก์เข้าไปใกล้จำเลยเพื่อจะได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลย ฝ่ายโจทก์กลับปฏิเสธว่าต้องการให้จำเลยพูดเสียงดังเพื่อให้ได้ยินทั่วกัน ถือว่าโจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทั่วไปได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลยด้วย ซึ่งมิใช่เป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของคำท้า และก็ไม่ได้กำหนดให้จำเลยกล่าวสาบานผ่านเครื่องขยายเสียง อันจะแปลเจตนาของคำท้าได้ว่าจำเลยต้องกล่าวคำสาบานให้บุคคลทั่วไปได้ยิน โจทก์ย่อมสามารถเข้าไปใกล้จำเลยได้ แต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่เข้าไปใกล้เพื่อให้ได้ยินเสียงถ้อยคำสาบาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายเสียเปรียบกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขที่ฝ่ายโจทก์ต้องได้ยินถ้อยคำสาบานของจำเลยด้วยนั้นไม่สำเร็จ ถือได้ว่าจำเลยสาบานตนตรงตามคำท้าครบถ้วน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559 คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2559 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายอันเกิดแต่เจ้ามรดกกับ ส. ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุตรของเจ้ามรดกจริงหรือไม่ หากเป็นบุตรจะมีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว เป็นเรื่องที่ศาลสามารถปรับข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แม้ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรมว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของเจ้ามรดกจะเป็นเพียงความเห็นของเจ้าพนักงานผู้ตรวจ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าลายมือชื่อปัญหากับลายมือชื่อตัวอย่างมีคุณสมบัติการเขียนรูปร่างลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันหลายจุดและสรุปความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ตรวจรู้จักหรือมีสาเหตุกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมีการทำรายงานการตรวจพิสูจน์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งลายมือชื่อตัวอย่างลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด โดยไม่มีสะดุด ขณะลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรทีละตัว คล้ายการลากเส้นช้า ๆ ตามตัวอย่างทำให้น้ำหนักลายเส้นมีลักษณะแข็งไม่อ่อนพลิ้วเหมือนลายมือชื่อตัวอย่าง ทั้งผู้ร้องไม่เคยโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านขอส่งไปตรวจพิสูจน์ เพิ่งมากล่าวอ้างโต้แย้งเอกสารหลังจากปรากฏผลการตรวจพิสูจน์แล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9311/2559 คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่ น. พ. ว. และ ป. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ น. พ. ว. และ ป. แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 น. พ. ว. และ ป. ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลงดังกล่าว แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อนและคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้ว แต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไป แต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9309/2559 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานจำเลยร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 38, 74 โดยมิได้ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 78 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยโยนวัตถุระเบิดขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ประกอบขึ้นเองไว้ในครอบครองกับฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น มีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละอันแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวกันไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9302/2559 ในการยื่นคำร้องขอฝากขังนั้นพนักงานสอบสวนเพียงแต่แสดงข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จและมีเหตุจำเป็นที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำการสอบสวนคดีต่อไปอีกจึงขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาตามกำหนดเวลาเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอฝากขังรวมถึงเอกสารท้ายคำร้องจึงหาได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำร้องขอฝากขังไม่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เมื่อข้อหาดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารแนบท้ายคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์มาประกอบการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9284/2559 การร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 นั้น มาตรา 8 ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้อง แล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาคำร้องของศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น" และวรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด" เมื่อคดีอยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นของศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ตามมาตรา 10 ดังกล่าว มิใช่กรณีที่มีการพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาตามมาตรา 13 ที่จะฎีกาได้ตามมาตรา 15 (2) ดังนั้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่และให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องทั้งสองมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9282/2559 คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน มีวันเวลากระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของงานศิลปกรรมต่างรายกันเท่านั้น การที่จำเลยนำออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายสินค้าที่มีรูปงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายหลายรายการต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแต่ละรายถือเป็นความผิดกรรมเดียวกัน มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก.อ.33/2558 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้แล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีดังกล่าว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงระงับไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9274/2559 การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงตามคำเบิกความโจทก์มาอุทธรณ์เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มอบหมายงานให้โจทก์ทำนอกประเทศไทยโดยมิได้เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางโดยต้องไปฟ้องต่อศาลในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง การพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ หาใช่พิจารณาแต่เพียงว่านายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีการเลิกจ้างมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์เพราะเสียดายที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนมากแก่โจทก์และเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อันเป็นการเลิกจ้างที่ให้ประโยชน์แก่นายจ้างฝ่ายเดียว จึงไม่มีเหตุอันจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินไทยแก่โจทก์ได้ ส่วนหนี้ค่าชดเชยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนหนึ่งโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 40,249.98 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ คงค้างโจทก์อยู่อีก 4,750 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนี้ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ หากจำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินไทยก็ทำได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ในการเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ได้โดยลำพัง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดเป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีการชำระค่าชดเชยบางส่วนไปแล้วนั้น จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9263/2559 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเก็บรวบรวมจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 กำหนด การประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นนั้น พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 32 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ การเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ 1) เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านสอบถามความประสงค์ของเจ้าหนี้ในการดำเนินการแก่ที่ดินพิพาทเพื่อให้การดำเนินคดีล้มละลายสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยผู้คัดค้านได้กำหนดหัวข้อประชุมให้เจ้าหนี้แถลงความประสงค์เกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงและระบุเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ไม่มาประชุมหรือไม่แถลงตามกำหนดจะถือว่าไม่ประสงค์ดำเนินการแก่ทรัพย์ดังกล่าวและไม่คัดค้านการที่ผู้คัดค้านจะรายงานขอให้ศาลมีคำสั่งปิดคดี เมื่อถึงกำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ 1) ไม่มีเจ้าหนี้รายใดมาร่วมประชุมจึงถือว่าเจ้าหนี้ได้สละสิทธิที่จะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยปริยาย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ กับที่ดินพิพาทตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้อีกต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9253/2559 คำให้การของจำเลยทั้งสามเป็นการให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยมีเหตุแห่งการปฏิเสธว่าข้อถือสิทธิในลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะมีงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วคือสิ่งใดนั้นเป็นข้อเท็จจริงอันสำคัญในการใช้เปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิของโจทก์ว่าต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เพื่อจะได้วินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่ต้องระบุไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้ง จึงถือว่ามีงานที่ปรากฏอยู่แล้วเท่าที่จำเลยทั้งสามให้การระบุไว้ในคำให้การของจำเลยทั้งสามเท่านั้นที่ถือว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธินำสืบตามข้ออ้างของตน ส่วนคำให้การปฏิเสธในเรื่องงานที่ปรากฏอยู่แล้วก่อนโจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตรที่ไม่ระบุว่าเป็นงานใดนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธ จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยทั้งสามจะนำสืบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้วนอกเหนือจากที่จำเลยทั้งสามได้ระบุไว้ในคำให้การของจำเลยทั้งสามโดยชัดแจ้งข้างต้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2559 แม้จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมทั้งดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แจ้งการมาถึงของเรือและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่จำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตกลงร่วมกันรับขนที่ฟ้องร้องในคดีนี้เท่านั้น ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันจะทำให้อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงดังกล่าว โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 จัตวา โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ไม่ดำเนินการภายในกำหนดตามคำสั่งศาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาล ย่อมเป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 174 (2) และมาตรา 132 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9243/2559 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ 38 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ของผู้คัดค้านโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันเป็นการขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดิน แต่ในชั้นพิจารณาผู้ร้องกลับนำสืบอ้างว่าที่ดินที่ครอบครองอยู่นอกเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ที่เช่าจากผู้คัดค้านและเป็นที่ดินที่ตนเองครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานโดยนำข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีว่า ที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองปรปักษ์อยู่นอกเขตที่ดินของผู้คัดค้านและมีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่ผู้ร้องครอบครอง แม้ผลแห่งคดีเป็นการยกคำร้องขอของผู้ร้อง ก็เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามคำร้องขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยในปัญหาที่เกี่ยวพันกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน เห็นว่า เมื่อปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองที่ดินของผู้คัดค้านเป็นอันตกไปเพราะไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ จึงต้องรับฟังว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 ส่วนปัญหาที่ว่าการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องตกไปเพราะข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ และปัญหาเรื่องการออกโฉนดที่ดินชอบหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 และการออกโฉนดทับที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำร้องขอ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9226/2559 การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 42 เป็นกระบวนพิจารณาหนึ่งเพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย จำเลยจึงต้องให้การตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยทราบดีว่าตนเองเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกและศาลแพ่งยังมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับทายาทอื่นอีกด้วย จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่ชั้นชี้แจงกิจการและทรัพย์สินถึงสิทธิของจำเลยในทรัพย์มรดกแม้จะยังไม่มีการแบ่งหรือการจัดการและแม้จำเลยจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกรวม 2 ฉบับ ก็ตาม จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่า จำเลยไม่น่าจะได้รับทรัพย์มรดกเนื่องจากเมื่อคำนวณทรัพย์มรดกและหนี้ของกองมรดกแล้ว จำเลยคิดว่าไม่มีทรัพย์มรดกเหลือ จึงไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยต่อศาลโดยไม่แจ้งว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้งที่มีหน้าที่ต้องตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ และมีสิทธิที่จะได้รับมาทั้งหมดโดยละเอียด จึงเป็นการละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองต่อศาล จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (2) ประกอบมาตรา 42
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9204 - 9207/2559 กรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 จะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้ แต่ก็หาได้หมายความว่าผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กับพวกจะมีสิทธิเรียกร้องด้วยวิธีรวมตัวกันชุมนุมประท้วงโดยเดินถือป้ายที่เขียนข้อความไม่สุภาพไปตามสถานที่ต่างๆ ในบริเวณโรงแรมผู้ร้องและโรงแรมอื่นในเครือ นำรถบัสรับส่งพนักงานมาจอดปิดกั้นถนน ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยในลักษณะปลุกระดมและข่มขู่ว่าจะตัดน้ำตัดไฟหากไม่ได้สิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีการกางเต็นท์กลางถนนทำเป็นสถานที่ปรุงอาหารให้ผู้ร่วมชุมนุมรับประทาน ตบมือเสียงดังแสดงความพอใจต่อคำปราศรัยของฝ่ายผู้คัดค้าน มีลักษณะชักชวนให้ลูกจ้างออกมาชุมนุมประท้วงอันเป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะกดดันผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างไม่ การกระทำในลักษณะต่างๆ ดังกล่าวจึงมิใช่การเข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับนายจ้างหรือนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงาน หรือเป็นการชุมนุมหรือเข้าร่วมโดยสงบในการนัดหยุดงาน ผู้คัดค้านดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 และเมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องด้วย ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีสิทธิดำเนินการทางวินัยแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9202/2559 เมื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว แม้สัญญาดังกล่าวข้อ 3.1 และ 3.2 จะได้ความว่า โจทก์ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของจำเลยทั้งที่กำหนดไว้แล้วในขณะทำสัญญาหรือกำหนดขึ้นใหม่ในภายหน้า ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โจทก์ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการฝึกซ้อม แข่งขัน และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีมหรือผู้บริหารทีมของจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่ก็ปรากฏวัตถุประสงค์หลักของสัญญาในข้อ 8 ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของสัญญาฉบับนี้ถูกต้องตรงกันแล้วว่าผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างมีความผูกพันในความสำเร็จของงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างตามนโยบายของผู้ว่าจ้างเท่านั้น ประกอบกับระเบียบปฏิบัติแนบท้ายสัญญาข้อ 3 ถึงข้อ 5 ที่กำหนดการจ่ายโบนัสการแข่งขันโดยพิจารณาจากผลการแข่งขันเฉพาะผลการแข่งขันที่ชนะหรือเสมอว่าหากลงแข่งขันชนะจะได้รับโบนัสรวม 6,000 บาทต่อคน แต่หากผลการแข่งขันเสมอจะได้รับโบนัสรวม 3,500 บาทต่อคน กำหนดการประเมินผลและเงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันและเงินรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดโดยคิดคำนวณจากการให้คะแนนจัดกลุ่มซึ่งคำนึงถึงการลงแข่งขันและการฝึกซ้อม แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หลักตามสัญญาว่ามุ่งถึงผลการแข่งขันและการมีชื่อเสียงของจำเลยจึงได้กำหนดค่าตอบแทนในความสำเร็จดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ฝึกซ้อม แข่งขัน ตลอดจนการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทีม หรือผู้บริหารทีมของจำเลย โดยมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานที่รับจ้างซึ่งก็คือผลการแข่งขันและนำไปสู่การมีชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างอันเป็นเป้าหมายสำคัญของจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 หากแต่เป็นสัญญาในทางแพ่งประเภทหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9196/2559 เมื่อค่าจ้างที่โจทก์ค้างจ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขายตามคำสั่งของจำเลยนั้นมิได้มีค่าจ้างที่เป็นส่วนของค่าคอมมิสชันรวมอยู่ด้วย และเมื่อค่า CFI และค่า LAPSE ซึ่งเป็นค่าคอมมิสชันจ่ายล่วงหน้าสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ถูกลูกค้ายกเลิกในภายหลัง ที่โจทก์จะนำมาหักจากค่าจ้างนั้นมิใช่เงินประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา 76 (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่จะให้นายจ้างมีสิทธินำมาหักออกจากค่าจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำค่า CFI และค่า LAPSE ดังกล่าวมาหักออกจากค่าจ้างที่ค้างจ่ายได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีข้อโต้แย้งเรื่องภาระภาษีสรรพสามิต ซึ่งต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตจนทำให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินค่าภาษีสรรพสามิตไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ขอขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ไม่มีภาระเบี้ยปรับ แต่ยังมีเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือน โจทก์จึงมีหนังสือขอขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลย ต่อมากรมสรรรพากรมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยพิจารณาแล้วไม่อนุมัติการขอขยายระยะเวลา โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย อันเป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีคำสั่งไม่อนุมัติขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีผลกระทบต่อโจทก์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง โจทก์จึงฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเป็นจำเลยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9179/2559 บริษัท ธ. ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัท ธ. แต่เมื่อบริษัท ธ. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของบริษัทดังกล่าวย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 หรือบุคคลกลางอื่น เช่น เจ้าพนักงานบังคับคดี จะเข้าจัดการทรัพย์สินของบริษัทเพื่อชำระบัญชีได้อีกต่อไป อันเป็นกรณีที่กรรมการของบริษัทไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีได้ จึงเห็นสมควรตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นนี้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทซึ่งล้มละลายที่การชำระบัญชีจะต้องจัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายตามมาตรา 1247 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องยกคำร้องขอของผู้ร้องเพื่อบังคับคดีไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2559 โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยเป็นเวลาหนึ่งปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 96 โดยให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปากช่อง เขตเลือกตั้งที่ 12 ใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยด้วย คำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลบังคับเด็ดขาดเฉพาะกรณีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยเป็นเวลาหนึ่งปีและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ อันเกี่ยวกับในส่วนวิธีการและการจัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์เท่านั้น แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้บริการท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในทางแพ่งจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรมที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยกระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงให้จำเลย โดยการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ใด จัดรถรับส่งคนไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ดังนั้น การที่โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปากช่องเขตเลือกตั้งที่ 12 ใหม่ มิได้เกิดจากจำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปากช่อง เขตเลือกตั้งที่ 12 ใหม่ ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9151/2559 ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใด ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องไปทำมาใหม่โดยใช้แบบพิมพ์ขนาดกระดาษเอ 4 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องได้ตามวรรคสองของมาตรา 18 คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9127/2559 การที่ที่ประชุมมีมติด้วยเสียงข้างมากอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวาระการประชุมวาระที่ 3 จากเดิมที่ว่า "พิจารณาการแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" เป็นว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม และกำหนดอำนาจกรรมการ" ซึ่งวาระการประชุมที่เปลี่ยนแปลงใหม่เหมือนกับวาระการประชุมเดิมเฉพาะในส่วนที่ว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" ส่วนวาระที่เปลี่ยนแปลงใหม่ที่ไม่ตรงกับวาระการประชุมวาระที่ 3 เดิม คือ แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม ซึ่งการประชุมที่เพิ่มเติมเป็นวาระการประชุมที่กำหนดเร่งด่วนกะทันหัน มิได้เป็นวาระที่กำหนดไว้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จึงเป็นวาระการประชุมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1175 วรรคสอง ที่ว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่วัน เวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน เมื่อมีการประชุมตามวาระนั้นและมีมติแต่งตั้งกรรมการใหม่ จึงเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ที่เกิดจากการประชุมใหญ่ที่ได้มีการนัดเรียกประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น และแม้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจะกำหนดวาระการประชุมวาระที่ 6 ว่าพิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ไว้ด้วยก็ตาม ที่ประชุมใหญ่ก็ไม่อาจอ้างวาระดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเรื่องแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมได้เนื่องจากวาระการประชุมที่ว่า พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการบริหารกิจการบริษัทแต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย สัพเพเหระมากกว่าที่สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดล่วงหน้า แต่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมเป็นเรื่องสำคัญของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทควรจะได้ใช้เวลาคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนวันประชุม หากที่ประชุมใหญ่ใช้วาระดังกล่าวเพื่อประชุมลงมติเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมก็อาจจะเป็นการจู่โจมผู้ถือหุ้นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นและบริษัทได้ มติของที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นเฉพาะในส่วนที่แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมขึ้นมานั้นเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แล้ว มติที่ประชุมใหญ่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9124/2559 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9103/2559 โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 ตัดทอนไม้ให้เปลี่ยนรูปไปจากเดิมและบรรยายฟ้องในข้อ 2.3 ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ให้เป็นแผ่น ได้ไม้สักแปรรูป 49 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.72 ลูกบาศก์เมตร และได้ไม้ประดู่แปรรูป 19 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ตามคำฟ้องดังกล่าวมีความหมายในตัวว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1) เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและไม้ที่จำเลยที่ 1 กับพวกตั้งโรงงานเป็นไม้สัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 15 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 158/2549 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนในขณะที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน และภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีดังกล่าว (จำเลยพ้นโทษวันที่ 1 กันยายน 2552) จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเพิ่มโทษจำเลยมาแล้ว เมื่อความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 93 โดยไม่ได้ขอตาม ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068/2559 มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 มาตรา 69 เป็นไปตามวิธีการและขั้นตอนการประชุมโดยปกติทั่วไป กฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดรูปแบบและข้อความของมติดังกล่าว มิได้กำหนดขั้นตอนให้ทำเป็นหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียน ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหา และมิได้กำหนดผลบังคับว่าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีมติดังกล่าวอย่างชัดแจ้งแล้วผลจะเป็นอย่างไร จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เคร่งครัดกับรูปแบบและวิธีการของการมีมติดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่รับไว้พิจารณาอยู่ก่อนแล้วตามกฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (3) ดังนั้น แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในภายหลังโดยเห็นชอบกับคณะอนุกรรมการไต่สวนว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็มีผลเท่ากับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้มีการดำเนินการพิจารณาความผิดของจำเลยต่อไปตามมาตรา 69 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9066/2559 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานจัดตั้งและประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง รวม 3 คดี เมื่อสถานที่เกิดเหตุทั้งสามคดีเป็นสถานที่เดียวกัน คือโรงแรมของจำเลย โดยที่ฐานความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยในทั้งสามคดีเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง ฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนซึ่งมีสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอันเดียวกัน ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำความผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ขณะที่คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1019/2558 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า ต่อมาคดีหมายเลขแดงที่ อ. 4674/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ. 1019/2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อความผิดของจำเลยในคดีนี้อาศัยข้อเท็จจริงอันเดียวกันกับคดีดังกล่าวซึ่งถึงที่สุดแล้ว กรณีถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ศาลไม่อาจมีการพิจารณาพิพากษาความผิดในคดีนี้ของจำเลยซ้ำอีกได้ เพราะสิทธินำคดีอาญาในข้อหาความผิดดังกล่าวของโจทก์ระงับสิ้นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9061/2559 โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 213,500 หุ้น ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ต่อมาโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 แต่ศาลไม่มีการแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทั้ง ๆ ที่นับแต่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จึงไม่อาจถือได้ว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบตามกฎหมายแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ยังคงให้ทนายความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งต่าง ๆ ของศาลชั้นต้นอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์จะยื่นคำแถลงขอเข้าว่าคดีแทนก็หาทำให้กลับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลังไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9050/2559 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการ โจทก์ทราบข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการที่ระบุห้ามพนักงานเข้าร่วมโครงการมีสิทธิได้รับคืนเงินโบนัสที่เตรียมไว้ชำระค่าจองซื้อหุ้นนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า ข้อบังคับโครงการเพิ่งจัดทำขึ้นหลังจากโจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งแรก จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง สัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสมัครใจผูกพันกันตามโครงการจ่ายเงินโบนัสในรูปแบบหุ้นสามัญ ซึ่งจำเลยจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการส่งเสริมและจูงใจให้ลูกจ้างจงรักภักดีต่อองค์กร แสดงว่าเป็นสัญญาที่อยู่บนพื้นฐานนิติสัมพันธ์จ้างแรงงาน จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องหรือเกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงานที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการข้อ 6.3 ระบุว่า "...ในกรณีที่การจ้างแรงงานของพนักงานสิ้นสุดลง พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรอีกต่อไป โดยถือเสมือนว่าธนาคาร (จำเลย) ได้ยกเลิกหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรดังกล่าวแล้ว" ไม่ได้กำหนดถึงกรณีพนักงานหรือลูกจ้างลาออกจากงาน และข้อ 6.5 ที่ระบุว่า "หากมิได้มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับฉบับนี้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่ได้มีการจองซื้อหรือการยกเลิกสิทธิในการจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรร ห้ามมิให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะได้รับชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (เงินโบนัส) หรือค่าตอบแทนกรณีพิเศษสำหรับส่วนที่เตรียมไว้สำหรับชำระค่าจองซื้อหุ้น นอกจากการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าจองหุ้นที่ถูกจัดสรร" เป็นการกำหนดเงื่อนไขลอย ๆ ไม่ชัดแจ้งว่าสาเหตุที่ไม่ได้จองซื้อหุ้นหรือยกเลิกสิทธิการจองซื้อหุ้นเกิดจากการกระทำหรือความผิดของฝ่ายใด ทั้งไม่มีข้อกำหนดอัตราค่าปรับหรือริบเงินโบนัสตามพฤติการณ์การกระทำที่เป็นเหตุให้ไม่ได้จองซื้อหุ้น เมื่อพิจารณาสภาพการทำงาน ภาวะค่าครองชีพ ความเดือดร้อนของโจทก์ ระดับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อื่นของโจทก์ ฐานะแห่งกิจการของจำเลย สภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วไป และสภาพข้อบังคับโครงการประกอบกันแล้ว ข้อบังคับโครงการที่กำหนดเงื่อนไขตัดสิทธิขอรับคืนเงินโบนัสซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาตั้งแต่จำเลยอนุมัติจ่ายให้ในแต่ละปีย่อมทำให้จำเลยในฐานะนายจ้างได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควร ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจสั่งให้ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานอันได้แก่ข้อบังคับโครงการในส่วนนี้มีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 โดยให้จำเลยจ่ายคืนเงินโบนัสส่วนที่ยังไม่ได้นำไปซื้อหุ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ลาออกตามฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ลาออกมีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 แต่ในส่วนพิพากษาศาลแรงงานกลางกลับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9049/2559 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน (1) ถึง (5) ดังนั้นในการตีความบทบัญญัติขยายข้อยกเว้นดังกล่าวว่ากรณีใดเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างจะยกขึ้นเลิกจ้างลูกจ้างนอกเหนือจาก (1) ถึง (5) ได้นั้นต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งต้องเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่สำคัญซึ่งต้องพิจารณาแต่ละกรณีไป เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 อ้างเหตุว่ามีวันลาป่วยและลากิจจำนวนมาก โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 11 ปรับปรุงพฤติกรรมแล้วแต่จำเลยที่ 11 ไม่ปรับปรุงพฤติกรรม แต่ปรากฏว่าในการลาป่วยและลากิจของจำเลยที่ 11 ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาทุกครั้ง ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็กำหนดว่า โจทก์อาจไม่อนุญาตให้ลาป่วยโดยถือเป็นการขาดงานได้ หากเป็นการลาป่วยโดยปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลที่น่าเชื่อถือ และในการลากิจให้ยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยโจทก์จะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้างาน การที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 11 ลาป่วยและลากิจจำนวนมากแต่ก็อนุมัติให้ลาทุกครั้งโดยไม่นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลามาใช้บังคับอย่างเคร่งครัดทั้งที่โจทก์เคยมีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 11 ปรับปรุงพฤติกรรมการลาป่วยและลากิจ เหตุที่จำเลยที่ 11 ไม่ปรับปรุงพฤติกรรมการลาส่วนหนึ่งจึงเกิดจากการบริหารจัดการของโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุการลาของจำเลยที่ 11 ว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่อยู่นอกเหนือเหตุเลิกจ้างตามมาตรา 123 (1) ถึง (5) ได้ การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) ไม่ได้จำกัดอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าจะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าสมควรเยียวยาจำเลยที่ 11 โดยให้โจทก์รับจำเลยที่ 11 กลับเข้าทำงานและใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงานจึงกระทำได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2559 การที่จะพิจารณาว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีร้ายแรงในตัวเองหรือไม่ แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างจะไม่ได้ระบุให้การกระทำของลูกจ้างเป็นความผิดร้ายแรง ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาหรือวินิจฉัยได้ว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการขุดเจาะปิโตรเลียม โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งวิศวกรตรวจวัดขณะขุดเจาะ ประจำแท่นขุดเจาะน้ำมัน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โจทก์ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะออกปฏิบัติงานภาคสนามเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9035/2559 พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 (2) ประสงค์ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้ประกอบการในขณะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการที่ให้บริการรับฝากสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับฝากสินค้าภายหลังจากที่ได้มีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีแล้ว กิจการของโจทก์รับฝากสินค้าในสภาพใดก็จะคืนไปในสภาพนั้น ไม่ได้ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อลูกค้าต้องการฝากสินค้าโจทก์จะทำสัญญารับฝากสินค้า กำหนดค่ารับฝาก โจทก์จะจัดเตรียมพื้นที่ให้เมื่อลูกค้าต้องการรับคืนสินค้า และจะจัดทำใบเบิกสินค้าพร้อมแจ้งจำนวนสินค้าคงเหลือที่รับฝากไว้เท่านั้น แม้โจทก์จะให้บริการทางพาณิชยกรรม แต่ก็มิใช่ผู้ประกอบการที่นำเข้าของจึงไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9034/2559 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2550 โดยนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท อ. มารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นและใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้ ทำให้โจทก์ชำระภาษีไว้ขาด จึงประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินไว้แล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ได้ขอถอนอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์ของโจทก์ การประเมินจึงเป็นยุติ โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามการประเมิน และไม่อาจโต้แย้งว่าการประเมินไม่ถูกต้องได้อีกต่อไป แม้ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการฉบับเพิ่มเติมโดยไม่นำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ก็ไม่อาจลบล้างอำนาจประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้ต้องยกเลิกหรือแก้ไขการประเมินใหม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8950/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยมิใช่บุตรของ จ. และ ส. ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ โดยโจทก์ได้ร้องขอให้นายอำเภอคลองหลวงแก้ไขรายการช่องบิดามารดาในทะเบียนราษฎรของจำเลย คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงไม่อาจแก้ไขรายการช่องบิดามารดาในทะเบียนราษฎรของจำเลยได้ ทำให้โจทก์ในฐานะบุตรของ จ. และ ส. เสียสิทธิในการได้รับสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. และสิทธิอื่นอีกหลายประการ จึงขอให้บังคับจำเลยแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิกถอนชื่อ จ. และ ส. ในช่องบิดามารดาออกจากรายการทะเบียนราษฎรของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่พึงจะได้รับตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิกถอนชื่อ จ. และ ส. ในช่องบิดามารดาออกจากรายการทะเบียนราษฎรของจำเลยได้ แล้วพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดี จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ปัญหาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์จำเลยพิพาทกันเป็นคดีนี้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด และวรรคสองบัญญัติว่า การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยานแต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การที่จำเลยยกปัญหาเรื่องฟ้องผิดศาลขึ้นในชั้นฎีกาจึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมาย ไม่อาจกระทำได้ ทั้งจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จะยกขึ้นอ้างได้แม้จะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2559 ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มี ห. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยได้รับการยกให้จากบิดาและครอบครองต่อมาอีก 27 ปี เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ห. จึงครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ไร่ กรณีการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกินหนึ่งพันไร่ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 29 วรรคสอง ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตาม ป.ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังได้มาเนื่องจากการจัดซื้อของ ส.ป.ก. หรือมีผู้ยกให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ การโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวมิให้นำความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุนอกจากนี้ไม่อาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการโอนที่ราชพัสดุให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 5 เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นผู้ครอบครองมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่ใช่ที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ ส.ป.ก. จะใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ดังนั้น ที่ ส.ป.ก. ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่ อ. อันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวทำให้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดขายทอดตลาดได้เป็นที่ดินที่ไม่อาจถูกบังคับคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่าสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อออกขายทอดตลาด มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีจึงมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดกับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) ที่ออกให้แก่ อ. นั้น ฉบับใดจะออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องว่ากล่าวกันต่อไปต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8944/2559 ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการสั่งจำหน่ายคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ตอนท้าย มิได้ประสงค์ให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลเสียทีเดียว คำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้มิใช่คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 เมื่อต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีล้มละลาย โจทก์ก็กลับมาดำเนินคดีนี้ต่อไปได้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปโดยไม่ได้ไต่สวน แต่ในวันนัดพร้อม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว ถือว่าศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาดแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏเหตุผลอื่นอีก ศาลชั้นต้นสามารถวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้เองตามข้อกฎหมายข้างต้น คดีจึงไม่จำต้องไต่สวน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จำเลยก็จะใช้สิทธิขอให้บังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2559 คำฟ้องของโจทก์อาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นมาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแทนบริษัทซึ่งไม่ยอมฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 โดยบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่เลิกและกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ แต่ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ บริษัทถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนไปแล้วโดยที่ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จึงต้องถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 (เดิม) แม้ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดว่า ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่อย่างไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิกก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า ในขณะฟ้องคดีนี้มีการตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว และจำเลยทั้งสามก็มีหน้าที่ดำเนินการชำระบัญชีใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป บริษัทจึงอยู่ระหว่างการชำระบัญชีแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของบริษัทย่อมได้แก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 หากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทในระหว่างชำระบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2559 โจทก์รู้ตั้งแต่ก่อนประมูลซื้อห้องชุดว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ทั้งตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่ค้างชำระด้วย การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดรายนี้เท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่าเจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลอาคารชุดก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป แต่การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของร่วมเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2559 การที่โจทก์ทำการสืบสวนสอบสวนแล้วเชื่อว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 โจทก์จึงมีคำวินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งจำเลยเป็นเวลาหนึ่งปีและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 96 นั้น โจทก์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง เมื่อโจทก์พิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำการเป็นการฝ่าฝืน ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 57 มีผลให้การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และโจทก์ได้มีคำวินิจฉัยสั่งการ โดยให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยด้วย คำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลบังคับเด็ดขาดเฉพาะกรณีการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยเป็นเวลาหนึ่งปีและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ อันเกี่ยวกับในส่วนวิธีการและการจัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์เท่านั้น แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้น ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 99 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในทางแพ่ง เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้มอบเงิน 20 บาท ให้แก่ ค. เพื่อจงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งจำเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใหม่ ดังนั้น การที่โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใหม่ จึงมิได้เกิดจากการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 57 จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งนั้นให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8898/2559 การที่คณะกรรมการมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการจัดให้มีการประชุมในบางเรื่องย่อมกระทำได้ ดังนั้น การมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้มีอำนาจออกหนังสือเชิญประชุมใหญ่ย่อมกระทำได้และไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย ทั้งไม่ทำให้การเรียกประชุมใหญ่เสียไปแต่อย่างใด การจัดให้มีการประชุมใหญ่ แม้พ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีย่อมเป็นผลดีแก่ผู้เป็นเจ้าของร่วม หากมีการประชุมตามวาระและลงมติโดยถูกต้องแล้ว การประชุมใหญ่ดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่างบดุลและรายงานประจำปี 2555 ไม่ถูกต้อง และที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 มีมติรับรองแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ส่วนการประชุมวาระที่ 6 และวาระที่ 7 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ปรับขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (5) จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ในวาระดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2559 การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างทำการจูงใจให้ลูกจ้างของผู้ร้องให้ไม่ทำงานล่วงเวลาในวันที่ 9 และวันที่ 10 กันยายน 2552 นั้น แม้การทำงานล่วงเวลาจะเป็นไปตามความสมัครใจของลูกจ้างของผู้ร้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ความสมัครใจนั้นต้องมิได้เกิดจากการชักจูงของบุคคลใด การที่ผู้คัดค้านจูงใจลูกจ้างของผู้ร้องไม่ให้ทำงานล่วงเวลาจึงเป็นการแทรกแซงอำนาจในการตัดสินใจของลูกจ้างผู้ร้องเพื่อมิให้ทำงานล่วงเวลาแก่ผู้ร้อง การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการต่อต้านอำนาจบังคับบัญชาของผู้ร้อง อันถือว่าผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างและเป็นการประพฤติตนอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ผู้ร้องจึงมีเหตุสมควรเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882 - 8883/2559 ตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2555 แบ่งการดำเนินการเลือกตั้งออกเป็นสองขั้นตอน คือขั้นตอนก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกับขั้นตอนตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้ง กล่าวคือขั้นตอนก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกำหนดไว้ในหมวดที่ 2 คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมวดที่ 3 การยื่นใบสมัครรับการเลือกตั้ง และหมวดที่ 4 หลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนขั้นตอนตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้งกำหนดไว้ในหมวดที่ 5 การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หมวดที่ 6 การนับคะแนนและการเปิดหีบบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และหมวดที่ 7 ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าขั้นตอนก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้งนั่นเอง ซึ่งขั้นตอนนี้หากคณะกรรมการการเลือกตั้งของจำเลยไม่รับสมัครบุคคลใดก็ย่อมกระทบสิทธิเฉพาะบุคคลนั้นและผู้ถูกกระทบสิทธิอาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับสมัครตนได้เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการลงคะแนนต่อไป แต่การไม่รับสมัครเลือกตั้งหาได้กระทบถึงขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้การไม่รับสมัครโจทก์ทั้งสองจะเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับและระเบียบของจำเลย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2555 หรือกฎหมาย จึงหามีผลให้การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยชุดที่ 5 ปี 2555 ถึงปี 2558 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ส่วนการที่จำเลยไม่รับสมัครโจทก์ทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองอย่างไร โจทก์ทั้งสองชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8879/2559 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่างานของบริษัท ด. ที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ทำนั้นเป็นงานที่มิใช่เกี่ยวกับกิจการของจำเลย เพราะบริษัทดังกล่าวนี้มิใช่เป็นบริษัทในเครือของจำเลยหรือบริษัท ก. ก็ดี ข้อตกลงในการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดให้โจทก์ต้องทำงานให้แก่บริษัท ด. แม้โจทก์ยอมรับในคำฟ้องว่าจำเลยมอบให้ปฏิบัติงานกับบริษัทดังกล่าวก็ตามก็ไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่บังคับให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการมอบหมายงานให้โจทก์ทำงานนอกเหนือจากงานที่เป็นกิจการของจำเลยเป็นการใช้สิทธิบังคับลูกจ้างนอกจากที่กฎหมายแรงงานบัญญัติไว้ จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะก็ดี จำเลยปรับตำแหน่งและขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่งานในส่วนของบริษัท ด. ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงมิใช่เหตุผลที่จำเลยใช้ปรับค่าจ้างและเลื่อนตำแหน่งแก่โจทก์ก็ดี ล้วนแต่เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าการรับทำและดูแลงานด้านเอกสารและด้านบุคคลให้บริษัท ด. เป็นงานของจำเลยซึ่งมอบหมายให้โจทก์ดูแลงานดังกล่าวจนเป็นสาเหตุให้จำเลยปรับเลื่อนตำแหน่งและค่าจ้างแก่โจทก์ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อุทธรณ์ให้แตกต่างไปจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8862/2559 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งคำว่า "ทั้งนี้" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ คำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย มิใช่ครอบคลุมเฉพาะกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทดังที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพโคเคอีนและมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8858/2559 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักลอบนำพารถยนต์ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับเอาไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งรถยนต์ของกลางที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นนั้นลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามจำเลยให้ชัดเจนว่าจะให้การรับสารภาพในข้อหาใด แล้วจึงพิพากษาลงโทษในข้อหาที่จำเลยให้การรับสารภาพดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดเจนกลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยเหลือผู้ที่นำของที่ยังมิได้เสียภาษี ของต้องห้ามหรือของที่ต้องจำกัด เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไป ตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบไปด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8848/2559 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงในอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้ข้อเท็จจริงมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วย มิใช่ได้ข้อเท็จจริงมาจากเรื่องนอกฟ้อง นอกคำให้การ หรือนอกประเด็น หรือที่ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความต้องนำสืบ คดีนี้เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์สืบพยานโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง (2) คดีจึงมีประเด็นเพียงว่าจำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาทหรือไม่เพียงใด ไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องและโจทก์ฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้นที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตโดยอ้างอิงจากคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่มิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะเห็นว่าไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง นั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คในฐานะโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท มิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมูลหนี้อื่น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ มิใช่ลายมือชื่อของจำเลย และมิได้ต่อสู้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กรอกจำนวนเงินในเช็คพิพาท แต่โจทก์เป็นผู้กรอกจำนวนเงิน และจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้งหมดมากกว่าที่เป็นหนี้กันอยู่จริง จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2559 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2559 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปด่าโจทก์ในบริเวณบ้านของโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานของโจทก์เพื่อด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นการเข้าไปในเคหสถานของโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 364 แต่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ ตามมาตรา 365 (2) ได้ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8827/2559 ถ้อยคำปราศรัยของ ด. เป็นที่เข้าใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นการกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า ด. หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มิได้เป็นการกล่าวขยายความให้มีความหมายนอกเหนือไปจากคำปราศรัยของ ด. การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้องนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่ ด. อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2559 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152 ไม่มีองค์ประกอบของความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจว่า อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค "การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน" โดยดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือมีระเบียบห้ามไว้ ในขั้นตอนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการตรวจรับและการติดตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกิดขึ้น แต่พื้นที่แปลงสาธิตเป็นของ ส. ภริยาของจำเลย แม้การจัดหาที่ดินแปลงสาธิตจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าเกษตรอำเภอแม่วงก์เป็นผู้จัดหาที่ดินและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากแปลงสาธิตก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้ เพราะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การนำที่ดินของ ส. มาดำเนินการโดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคมาลงในที่ดิน ที่ดินของ ส. ย่อมได้รับประโยชน์อยู่ในตัวโดยปริยาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโครงการดังกล่าว ถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับภริยาตนเนื่องด้วยกิจการนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8804/2559 บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 175 ระบุว่า หากโจทก์ถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อนเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามว่า หากจำเลยคัดค้าน ศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้องไม่ได้ กรณีเป็นดุลพินิจของศาลที่ต้องพิจารณาถึงผลได้ผลเสียของคู่ความทุกฝ่าย ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มีว่า จำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายแก่สินสมรสและสมควรอนุญาตให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นในคดีอื่นมีคำสั่งให้จำเลยเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ย่อมผูกพันโจทก์และจำเลย ทำให้โจทก์มีอำนาจจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์ฟ้องและถอนฟ้องเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่ประการใด แม้จำเลยคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงชอบแล้ว โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนอำนาจจัดการสินสมรสของจำเลย ย่อมไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องสอดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้าง สิทธิของผู้ร้องสอดจะมีอยู่เพียงใด ก็คงมีอยู่เพียงนั้น ทั้งการที่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ก็จำต้องมีโจทก์จำเลยเดิมว่าคดีกันต่อไป แต่เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความเสียแล้ว จึงไม่มีโจทก์จำเลยเดิมว่าคดีกันอีก เป็นเรื่องที่ผู้ร้องสอดจะดำเนินคดีของตนในทางอื่นต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559 จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533 รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้ จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799 - 8801/2559 โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บ. คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 มีผลกระทบต่อสิทธิในครอบครัวและสิทธิในการรับมรดกของโจทก์หรือทายาทโดยธรรมอื่นของ บ. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการจัดการสินสมรสที่จำเลยที่ 1 ทำไปโดยปราศจากความยินยอมของ บ. มารดาโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 ในขณะที่จำเลยที่ 1 มี บ. เป็นคู่สมรสแล้ว การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ประกอบมาตรา 1452 ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาได้ แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้กล่าวไว้ในประเด็นว่า การสมรสดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับ บ. จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมวินิจฉัยต่อไปได้ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในภายหลังเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น การที่ บ. ยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่า บ. มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บ. อีก ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดจาก บ. และ ส. และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า บ. โต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่ บ. ยังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่า บ. ยินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของ บ. จึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้ ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2559 โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงิน 1,927,770.08 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดจะชำระภาษีและเบี้ยปรับมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 โดยในหนังสือแจ้งการประเมินระบุให้นำเงินมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,927,770.08 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดให้ชำระเงินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินคือนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8784/2559 พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายเริ่มก่อเหตุ เมื่อเห็นรถจักรยานยนต์ของจำเลยเสียหลักล้มลง ผู้ตายวิ่งเข้าหาจำเลย จำเลยวิ่งหนี ผู้ตายวิ่งไล่ตามไป ครั้นเมื่อวิ่งไปทันผู้ตายวิวาทชกต่อยจำเลย ต่อมาจึงถูกจำเลยกับพวกใช้อาวุธมีดฟันและแทงจนถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายสมัครใจเข้าวิวาทกับจำเลยจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอในคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2559 การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่าเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก่อนหน้าคดีนี้ตามที่ปรากฏในคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครกำหนดแต่จำเลยไม่เข้ารับการฟื้นฟูตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และไม่สามารถติดตามตัวได้ กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้วไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งคดีดังกล่าวจำเลยต้องหาและถูกดำเนินคดีว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนี้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่าจำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีคำสั่งว่า ถือว่าจำเลยอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นต้องดำเนินการตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนที่ให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์ ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น โดยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้กล่าวถึงความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นอย่างไร หรือศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ชอบอย่างไร ทั้งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ด้วย เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะถือว่าการที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไปโดยปริยายหาได้ไม่ กรณีดังกล่าวเท่ากับโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้การลงโทษจำคุกในความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและการรอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จะเป็นการลงโทษที่ลักลั่นกันก็ตาม แต่การลงโทษที่ลักลั่นกันดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้ดุลพินิจของศาล แต่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ในความผิดฐานที่ศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แม้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่รอการลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ให้สินเชื่อแก่บริษัท ม. เพื่อนำไปซื้อหนี้ของบริษัท ธ. จากเจ้าหนี้เดิม อันเนื่องมาจากการฟื้นฟูกิจการ แต่บริษัท ม. ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ทั้งหมด ต่อมาบริษัท ม. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยตกลงชำระหนี้บางส่วน ส่วนที่เหลือขอตีราคาหลักประกันที่ดินของผู้ค้ำประกันตามราคาประเมินชำระหนี้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัท ม. ขอซื้อที่ดินคืนในราคาที่สูงกว่า โจทก์ชำระภาษีจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามเงื่อนไขข้อยกเว้นของกฎหมายและตามที่ ธปท. กำหนด ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการขายที่ดินคืนให้แก่บริษัท ม. ลูกหนี้ตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2547 หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า บริษัท ม. มิได้ประสบปัญหาในการชำระหนี้อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ แต่เหตุที่ต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์ในการยกเว้นภาษีตาม พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศ ธปท. และไม่ใช่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอันเนื่องมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ โจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยยกข้ออ้างใหม่ว่า บริษัท ม. เป็นผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กลุ่มบริษัท ธ. จึงย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกระทำการใด ๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แทนและผูกพันเพื่อกิจการของลูกหนี้ดุจเสมือนหนึ่งตนเป็นลูกหนี้เอง ไม่ใช่กระทำไปในทางเพื่อกิจการของตนเองนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้น แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในคำฟ้องแต่เมื่อ ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานโดยไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าโจทก์สละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8726/2559 คำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8718/2559 จำเลยที่ 2 ใช้มือจับแขนผู้เสียหายอายุ 4 ปีเศษ ไว้ให้จำเลยที่ 1 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยที่ 1 โดยการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำชำเราตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม และเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยกันทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเรา ผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ทั้ง ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติแต่เพียงว่า "ผู้ใดกระทำชำเรา..." หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหญิง แต่เมื่อฟังได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 จับผู้เสียหายขึ้นไปบนบ้าน แล้วจำเลยที่ 2 ใช้มือจับแขนผู้เสียหายไว้ให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายโดยการใช้นิ้วมือกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี อันมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2559 วันที่ 19 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานเพิ่งมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 ไปช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ในการนี้วันที่ 21 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้ามีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่จัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 โดยนัยของคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ปฏิบัติเฉพาะงานตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงไม่มีหน้าที่ในการควบคุมโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2552 แต่อย่างใด หากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้ควบคุมโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ข้อ 32 วรรคหนึ่ง เสียก่อน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอความเห็นชอบจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ดังนั้นคำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าในส่วนแต่งตั้งจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานจึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานโครงการตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2559 การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่กรณีที่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้ตายลาออกจากงานวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2559 เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้ในสัญญาร่วมหุ้นกันทำงานจะระบุวิธีการดำเนินการของห้าง การแบ่งรายได้หรือผลตอบแทนในการร่วมหุ้นตลอดจนการแบ่งปันผลกำไรหรือการส่งมอบเงินทุนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ระบุถึงวิธีร่วมลงทุนและการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น และแม้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะระบุถึงการแบ่งปันเฉพาะผลกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน กรณีจึงมีเหตุต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนมีหุ้นส่วนเพียง 4 คน คือผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ดังนี้ หากตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาในการชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2559 เมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 จำเลยเป็นข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ แม้เป็นเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ ก็อาจเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจึงเป็นการเหมาะสมและสอดคล้องตามระเบียบดังกล่าว ส่วนของอายุความในสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งตามวรรคหนึ่งรวมประการที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย กรณีจะใช้อายุความตามหลักละเมิดทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาบังคับไม่ได้ หนังสือสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 15 มีนาคม 2544 ที่นายอำเภอบางพลีแจ้งให้ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ทราบแต่เพียงว่าผู้ที่น่าจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายมีบุคคลใดบ้าง และยังมีเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ต่อไป หนังสือดังกล่าวจึงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทราบและรู้ว่าจำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกรมบัญชีกลางประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 แล้วมีมติให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดให้โจทก์ทราบ โดยหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 โจทก์ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2559 อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้นเป็นอันสะดุดหยุดลงเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล และได้ตัวผู้ถูกฟ้องมายังศาลด้วยแล้ว ระยะเวลาที่ล้วงพ้นไปก่อนนั้นไม่คิดนับเข้าในอายุความตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โดยอายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่งและคดีเด็ดขาดแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8619/2559 โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559 โจทก์ฎีกาประเด็นขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเรื่องที่โจทก์ตกลงจะให้ค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 และไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247 ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520,1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8594/2559 โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2559 ป.พ.พ. มาตรา 1066 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยวรรคหนึ่งบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น และวรรคสามบัญญัติไว้ความว่า การที่ห้างหุ้นส่วนเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติกรณีฝ่าฝืนนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย จึงต้องยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการในบริษัท ท. อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2559 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจะต้องเป็นเหตุรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น เพียงแต่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นายจ้างอาจหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้การที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะลูกจ้างในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ด้วยเหตุโรงงาน ผลิตชิ้นส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาประกอบการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนนำส่งแก่โจทก์ได้ ซึ่งเป็นเหตุที่มีผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจในกิจการของโจทก์ ถือว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2559 ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในหมวดสวัสดิการกำหนดว่า นายจ้างจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารแก่พนักงานทุกคนที่เป็นพนักงานประจำตามสภาพการจ้าง ยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหารนั้น เดิมนายจ้างเคยมอบคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ 1 ใบ ต่อวัน เป็นมูลค่าวันละ 5 บาท และปี 2535 นายจ้างมอบกระดาษทิชชูให้แก่ลูกจ้างคนละ 2 ม้วน ต่อเดือน แสดงให้เห็นว่านายจ้างมีเจตนาแต่แรกที่จะให้ค่าอาหารเป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานประจำยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จึงกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวดสวัสดิการ และเห็นเจตนาชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อระยะแรกนายจ้างจ่ายค่าอาหารในรูปคูปองและจ่ายกระดาษทิชชูให้ลูกจ้าง แม้ต่อมานายจ้างเปลี่ยนการจ่ายค่าอาหารในรูปคูปองและการจ่ายกระดาษทิชชูมาเป็นตัวเงิน โดยจ่ายให้พนักงานที่มีสิทธิได้รับทุกคนเป็นประจำทุกเดือนและไม่มีเงื่อนไขว่าพนักงานจะขาดลามาสายหรือไม่ ก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติของบริษัทนายจ้างเท่านั้น มิได้แสดงว่าเมื่อนายจ้างเปลี่ยนการให้สวัสดิการจากรูปแบบอื่นมาเป็นตัวเงินแล้วจะทำให้สวัสดิการดังกล่าวกลายเป็นค่าจ้าง สวัสดิการจึงเป็นตัวเงินได้ ไม่จำต้องเป็นแต่สิ่งของหรือบริการที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง ดังนั้นเงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างประจำทุกเดือนจึงเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8484 - 8485/2559 พฤติการณ์ของจำเลยที่มิได้มีการประกาศโครงการและผลตอบแทนเชิญชวนหาผู้สมัครใจลาออกให้ลูกจ้างทั้งระบบทราบ แต่ใช้วิธีกำหนดตัวบุคคลลูกจ้างเป้าหมาย คือ โจทก์ทั้งสอง ซึ่งมีเงินค่าตอบแทนการจ้างสูงให้ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไว้ล่วงหน้า มีการจัดเตรียมเอกสารใบลาออก เงินค่าตอบแทนการลาออกของโจทก์ทั้งสองไว้ก่อนจะเชิญโจทก์ทั้งสองมาเจรจาขอให้ลาออก หลังให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในใบลาออกแล้วยังแจ้งการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ทั้งสองในครั้งแรกว่าเป็นการเลิกจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยพยายามหลีกเลี่ยงเบี่ยงเบนจัดทำหลักฐานทางเอกสารให้เป็นเรื่องของการลาออกโดยอาศัยอำนาจต่อรองของนายจ้างที่เหนือกว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออก ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 แม้โจทก์ทั้งสองจะรับว่าได้ลงชื่อในใบลาออกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าที่โจทก์ทั้งสองยอมลงชื่อในใบลาออกนั้นเพราะถูกจำเลยบังคับขู่เข็ญ ที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่สมัครใจลงชื่อในใบลาออก เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยประสบภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีความจำเป็นต้องลดรายจ่าย จึงมีโครงการปรับโครงสร้างองค์กรลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นปัญหาทางธุรกิจโดยรวมที่มีเหตุผลความจำเป็นสามารถอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หากมีการแจ้งเหตุผลความจำเป็น กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลิกจ้าง การคัดเลือกลูกจ้างที่จะให้ออกไว้แน่นอนและเป็นธรรม ประกาศให้ลูกจ้างทราบทั่วกัน และดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกาศแจ้งเหตุผลความจำเป็น หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกลูกจ้างให้ทราบโดยทั่วกัน ใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกโจทก์ทั้งสองเป็นเป้าหมายในการให้ออกจากงาน นอกเหนือไปจากการที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนการจ้างสูง ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2559 โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน กรณีดังกล่าวจึงไม่จำต้องให้สมาชิกของโจทก์มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 36 บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเป็นการตัดสิทธิไม่ให้สหภาพแรงงานฟ้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ โจทก์มีวัตถุที่ประสงค์ตามข้อบังคับ ข้อ 5 (1) ว่า เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (2) กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงานและที่ประชุมใหญ่มีมติให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นไปตามมาตรา 103 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแทนสมาชิกของโจทก์ได้ บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 เป็นเพียงข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้มีมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคน เมื่อข้อบังคับของโจทก์ได้กำหนดเรื่องการเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกไว้ใน ข้อ 20 ว่า คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุม และเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก... และเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการ ในข้อ 27 วรรคสาม ว่า ... การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก...การที่โจทก์มีกรรมการทั้งหมด 11 คน แม้ขณะฟ้องกรรมการโจทก์จะเหลืออยู่เพียง 8 คน ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมากตามข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมอบอำนาจให้ ส. หรือ ท. หรือ น. ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจได้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8471/2559 คดีเดิมศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องอายุความ แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำไปฝ่ายเดียว โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิมอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ครั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีเดิมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมถึงที่สุด จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาใช้บังคับแก่อายุความ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2559 ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 758,467 บาท เพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายจริง หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ให้การไว้ ก็ย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล อันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559 โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2559 ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยเหตุกิจการของห้างที่จะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก และผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินคดีฟ้องร้องกันหลายเรื่องจนไม่สามารถจะร่วมทำกิจการต่อไปได้ ทั้งผู้ร้องยกเลิกสัมปทานค้าขายน้ำมัน รื้อถอนถังบรรจุน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมันคืนแก่บริษัท อ. ไปแล้ว อันเป็นเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (2) และ (3) หาได้อ้างเหตุผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ไม่ เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8443/2559 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาล พ. อันเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มิใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิ ส่วนค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ที่จำเลยตกลงจ่ายแก่ พ. ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้นเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ค่าเสียหายที่จำเลยตกลงจ่ายแก่ พ. จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไป ถือเป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมในทางแพ่งที่ พ. มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ตามมาตรา 22 ไม่ทำให้ค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์จ่ายแทนไปก่อนระงับไป โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากจำเลยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8435/2559 การนั่งพิจารณาคดีไม่ว่าจะนั่งพิจารณาโดยผู้พิพากษาคนเดียวหรือนั่งพิจารณาคดีโดยไม่ครบองค์คณะ หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติไว้แล้ว ถือได้ว่าเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี อันเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น จำเลยจึงชอบที่จะยกข้อคัดค้านในเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างภายในเวลาไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อจำเลยทราบถึงการนั่งพิจารณาคดีที่อ้างว่าผิดระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 แต่จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 จึงช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิยกขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้วพิจารณาคดีใหม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2559 ข้อความที่โจทก์ขอแก้ฟ้องโดยเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย บ. โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมไว้ในตอนต้นเกี่ยวกับฐานะของโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัย บ. อันเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย บ. จึงทำให้เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย บ. อันเป็นพนักงานหรือหน่วยงานของรัฐ และข้อความที่โจทก์ขอแก้ว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องเดิมแล้วว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องดังกล่าวข้างต้นจึงมีผลตรงกันกับฟ้องเดิมในใจความสำคัญอันเป็นการแก้ไขรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องเพื่อทำให้ฟ้องชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด รวมทั้งการแก้ไขบทลงโทษก็เป็นการแก้ไขฐานความผิด หาทำให้จำเลยหลงต่อสู้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน โจทก์ชอบที่จะขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8426/2559 แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ไม่กระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมที่ยังคงมีอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวหากกระทำไปโดยไม่ชอบ เป็นความเท็จ และมีการนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จนั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัทย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มากก็น้อย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ย่อมได้รับผลกระทบด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2559 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการหักวันควบคุมและการบังคับค่าปรับไว้เป็นการเฉพาะ โดยมาตรา 85 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจระหว่างพิจารณาคดี ไม่ให้ถือเป็นการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าศาลพิพากษาหรือลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ศาลหักจำนวนวันที่อยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ" จากถ้อยคำตามบทบัญญัติมาตรา 85 วรรคแรก เห็นได้ว่า เป็นบทบังคับให้ศาลต้องหักวันที่จำเลยถูกควบคุมในกรณีศาลพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนทุกกรณี ไม่ได้ให้ศาลใช้ดุลพินิจแต่อย่างใด นอกจากนี้ตามมาตรา 145 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับค่าปรับในกรณีจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ดังนั้น ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาจึงต้องนำวันถูกควบคุมดังกล่าวมาหักออกจากระยะเวลาควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามคำพิพากษาโดยผลของบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลจะระบุให้หักวันถูกควบคุมดังกล่าวไว้หรือไม่ก็ตามเพราะเป็นการบังคับคดีตามกฎหมาย ดังนั้น แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่จำเป็นต้องระบุเรื่องนี้ไว้ก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นระบุในคำพิพากษาว่า ให้หักจำนวนวันที่จำเลยทั้งสองอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจออกจากระยะเวลาฝึกอบรมก็เป็นการระบุการบังคับคดีตามกฎหมาย มิได้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแล้วไม่ชำระค่าปรับซึ่งตามมาตรา 145 วรรคแรก ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่ศาลเห็นสมควรตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี คำพิพากษาของศาลจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่า ให้ส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมซึ่งเป็นคนละกรณีกับกรณีมีการชำระค่าปรับตามวรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีมีการชำระค่าปรับหากเด็กหรือเยาวชนได้ถูกควบคุมตัวมาบ้างแล้ว ให้คิดหักระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวออกจากค่าปรับที่จะต้องชำระตามอัตราที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 25 บาท ก็ต้องระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับค่าปรับโดยให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเท่าใดให้ชัดเจน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8415/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง" และวรรคสอง "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร... โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง..." แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์ไม่เสียภาษีตามการประเมินภายในกำหนด ถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ การยึด ย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์มาหักหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ การที่จำเลยนำเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนจากจำเลย ไปหักหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างชำระ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8401/2559 จำเลยกระทำผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยว่าพบประวัติการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยเคยเข้ารับการฟื้นฟูในความผิดฐานเสพและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองแล้วไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูและผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจ จึงแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป คดีก่อนที่จำเลยต้องหาว่ากระทำผิดฐานเสพและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่จับจำเลยเข้าไปไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่ามีข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า จำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยคดีนี้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานอื่นและเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8399/2559 ตามหนังสือของกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แนบท้ายอุทธรณ์ระบุว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้หลายคน แต่ตามหนังสือดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในวันเวลาก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ และไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยถูกจับกุมเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8393/2559 ฎีกาของโจทก์ยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีน 1,844 เม็ด ที่ยึดได้จาก ห. กับเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ที่ยึดได้จากจำเลย มีการแบ่งแยกกันเป็นคนละส่วน คนละจำนวน และจำเลยได้มาคนละคราวกัน ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนที่ยึดได้จากจำเลยและ ห. มิได้มีลักษณะหรือสีเหมือนกัน ประกอบกับชั้นจับกุมจำเลยให้การทันทีว่าซื้อเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด เพื่อเสพ และชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า รับจ้างจาก ฉ. นำเมทแอมเฟตามีนไม่ทราบจำนวนบรรจุอยู่ในห่อไปส่งที่จังหวัดพังงามี ห. มารับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไป จึงฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ดที่ยึดได้จากจำเลย เป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยได้มาคนละคราวกับเมทแอมเฟตามีน 1,844 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่ ห. เมทแอมเฟตามีนเป็นคนละจำนวนกัน จำเลยมีเจตนามีเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแยกต่างหากจากการมีเมทแอมเฟตามีน 1,844 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า พันตำรวจโท อ. ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้จากจำเลยเท่านั้น โดยไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อซื้อขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้อย่างใด โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยจึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8384/2559 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2556 จำเลยมาที่บ้านโจทก์ร่วมและพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยบอกว่าจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลงเล่นแชร์ทองคำภายใน 1 ถึง 2 วัน แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามยังไม่สนใจ หลังจากนั้นจำเลยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลยอีกหลายครั้งจนกระทั่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามตกลง โดยโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยผ่านทางบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วม ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ได้เงินไปจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสาม โดยจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดรวม 4 กรรม ส่วนที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามนำเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยหลายครั้งหลายคราวตามฟ้องนั้น เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลยในครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8383/2559 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งขัดกันหรือไม่ เมื่อโจทก์ในคดีดังกล่าว (คือจำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงไม่ใช่กรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 คดีนี้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง และคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่โจทก์คดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เนื่องจากคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งและคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกันโดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและมีประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ ทั้งจำเลยที่ 1 อ้างส่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นสำคัญในคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงให้นำสำนวนในคดีก่อนมาประกอบการพิจารณาคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 187
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8381/2559 การที่ผู้ร้องว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอกดำเนินการจัดหาพนักงานขับรถเพื่อทำหน้าที่แทนพนักงานขับรถของผู้ร้องเป็นเรื่องการบริหารจัดการซึ่งผู้ร้องในฐานะผู้ประกอบการย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ร้อง ส่วนการว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอกดำเนินการจัดหาคนมาทำงานแทนลูกจ้างตำแหน่งใด นายจ้างหาจำต้องประกาศยกเลิกตำแหน่งนั้นเสียก่อนแล้วจึงจะสามารถกระทำได้ไม่ ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านไปแล้ว ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม มิได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทำสัญญาจ้างผู้คัดค้านเฉพาะตำแหน่งพนักงานขับรถ ผู้ร้องในฐานะนายจ้างมีอำนาจให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งอื่นได้ เมื่อผู้ร้องมีนโยบายว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอกหาคนมาทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถแล้ว การให้ผู้คัดค้านทำงานในแผนกโลจิสติคส์หรือฝ่ายผลิตย่อมกระทำได้หากสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หาใช่ว่าหากผู้คัดค้านไม่สมัครใจแล้วผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งได้ตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ มูลเหตุที่ผู้ร้องประกาศยกเลิกตำแหน่งพนักงานขับรถประจำก็เพื่อให้ผู้คัดค้านเห็นว่าต่อไปไม่มีตำแหน่งงานที่ผู้คัดค้านประสงค์จะทำต่อไปแล้วและยินยอมเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่เท่านั้น ซึ่งหลังจากผู้ร้องออกคำสั่งดังกล่าวผู้ร้องยังมีหนังสือแจ้งและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานอีกหลายครั้ง การออกประกาศยกเลิกตำแหน่งพนักงานขับรถจึงหาใช่เหตุผลที่จะให้สอดคล้องกับคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ผู้คัดค้านอ้างในทำนองว่าผู้ร้องนำเรื่องการไม่มีตำแหน่งพนักงานขับรถมาอ้างเพื่อขออนุญาตศาลเลิกจ้างผู้คัดค้าน ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและฉ้อฉลต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านได้รับค่าจ้างก่อนถูกเลิกจ้างเป็นเงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าอาหารกลางวัน และรายได้อื่น ซึ่งค่าล่วงเวลา ค่าอาหารกลางวัน และรายได้อื่นจะมากน้อยย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของงานแต่ละแผนก เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องลดเงินเดือนผู้คัดค้าน การให้ผู้คัดค้านไปทำงานตำแหน่งใหม่ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน การที่ผู้ร้องมีอำนาจสั่งผู้คัดค้านไปทำงานตำแหน่งใหม่ได้และไม่ใช่การกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมเข้าทำงานตามคำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างรวมเวลากว่า 10 เดือน และตลอดเวลาดังกล่าวผู้คัดค้านเข้าไปยังสถานประกอบการของผู้ร้องทุกวันแต่ไปนั่งในห้องพักพนักงานขับรถอยู่เฉย ๆ นอกจากจะประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างแล้วยังเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรอีกด้วย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8374/2559 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดเพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยมีข้อความว่า เพื่อเป็นการค้ำประกันความเสียหายหรือความรับผิดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ค้ำประกันขอให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามที่เสียหายจริงแทนลูกจ้างจนหมดสิ้นโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือยกข้อกฎหมายใดๆ มากล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดชอบ เช่นนี้ เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่มีข้อความชัดแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดกรณีจำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2559 การที่จำเลยร่วมกับพวกรุมเตะผู้ตายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้ตาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายอีกบทหนึ่ง คงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพียงบทเดียวเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2559 คำสั่งที่จะเป็นคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสาม (1) และ (2) นอกจากจะต้องเป็นคำสั่งในเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังจะต้องมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เมื่อพิจารณาหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 24 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 แจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสาร และหนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 3 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2555 ขอเชิญโจทก์พบและให้นำส่งเอกสารหลักฐาน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวยังมิได้มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์อันใดขึ้นระหว่างกรมสรรพากรและโจทก์ผู้ขอคืนภาษีอากร ที่โจทก์อ้างว่า เมื่อเจ้าพนักงานเรียกให้ส่งเอกสารแล้วหากไม่ปฏิบัติตามจะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ที่กำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งการ นั้น การระงับการคิดดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าว หาใช่เป็นผลมาจากการสั่งให้ส่งเอกสารของเจ้าพนักงานโดยตรง หากแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่ผู้ขอคืนภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน อันทำให้ต้องระงับการคิดดอกเบี้ยโดยผลบังคับของกฎกระทรวงฉบับที่ 161 ถือไม่ได้ว่าคำสั่งเรียกให้ส่งเอกสารของเจ้าพนักงานได้ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ขอคืนภาษีอากร ดังนั้น การออกหนังสือพิพาททั้งสองฉบับของเจ้าพนักงานให้ส่งเอกสารหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อประกอบการพิจารณาในการคืนภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 จัตวา จึงเป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าพนักงานเพื่อจะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองต่อไปว่าจะมีคำสั่งคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า "การพิจารณาทางปกครอง" ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หนังสือพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง ย่อมไม่จำต้องระบุเหตุผลตามมาตรา 37
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2559 คดีนี้ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากซึ่งกฎหมายให้ศาลดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้าแต่ต้องมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 196 จำเลยร่วมเป็นบุคคลภายนอกที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การไปแล้ว แต่ให้รอมีคำพิพากษาสำหรับจำเลยร่วมไว้ก่อน เนื่องจากต้องดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยต่อไปโดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เวลา 9.30 ถึง 16.30 นาฬิกา แต่มิได้แจ้งวันนัดดังกล่าวให้จำเลยร่วมทราบทั้งการนัดฟังคำพิพากษาก็มิได้มีการแจ้งวันนัดให้จำเลยร่วมทราบอีกเช่นกัน ดังนี้จะถือว่าจำเลยร่วมทราบนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 และวันนัดฟังคำพิพากษาในวันนัดถัดไปโดยชอบแล้วหาได้ไม่ ประกอบกับมูลหนี้ของจำเลยกับจำเลยร่วมเกี่ยวด้วยหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยให้การต่อสู้เป็นปรปักษ์ต่อจำเลยร่วมในมูลหนี้ดังกล่าวตลอดมา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรวบรัดข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด กระทบต่อสิทธิในการดำเนินคดีของคู่ความ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) โดยให้ยกฎีกาจำเลยเสีย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2559 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครององค์กรของฝ่ายลูกจ้าง มิให้ถูกนายจ้างแทรกแซง ครอบงำ หรือใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าในฐานะนายจ้าง และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการกดดันบีบคั้นมิให้ลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น โดยห้ามมิให้นายจ้างใช้วิธีการเลิกจ้างลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ดังนั้น การเลิกจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรานี้ นายจ้างจะต้องมีมูลเหตุจูงใจที่จะขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือขัดขวางมิให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือจากคำชี้ขาด เมื่อโจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานเนื่องจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ก็ปฏิเสธไม่ไปทำงาน โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ขณะลูกจ้างเข้าทำงานโดยความสมัครใจของลูกจ้างและตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างย่อมมีสิทธิคัดสรรแรงงานที่มีคุณภาพที่สุดแก่กิจการได้ แม้จะมิได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตาม (1) ถึง (5) ของบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม นอกจากนั้น การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในคราวเดียวกันด้วยถึง 6 คน และรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ร่วมนัดหยุดงานจำนวน 2 คน เข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือเพราะไปร่วมนัดหยุดงาน การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในการบริหารงานบุคคล มิได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจเพื่อขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือเพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้าง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8304/2559 แม้การปลดจากการล้มละลายมีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนที่ได้มานับตั้งแต่วันที่ได้รับการปลดจากการล้มละลายเท่านั้น ที่ดินตราจองตามคำร้อง จำเลยที่ 2 ได้มาตั้งแต่ปี 2526 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ซึ่งถือว่าเป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและขณะศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวอยู่ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (1) ผู้ร้องจึงมีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ประกอบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกปลดจากการล้มละลายยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องหลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากการล้มละลายแล้วก็ตาม เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวตกอยู่ในอำนาจของผู้ร้องในขณะเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายได้ สำหรับการจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 นั้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามคำร้องต่อธนาคาร ก. และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านอันอยู่ในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองกับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ก็เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำนองต่อผู้คัดค้านมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวอยู่ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากผู้คัดค้านแล้ว จำเลยที่ 2 ก็นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วนำที่ดินที่ไถ่ถอนจำนองนั้นมาจดทะเบียนจำนองต่อผู้คัดค้านในทันที กรณีจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนสถาบันการเงินผู้รับจำนอง เช่นนี้ การจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จึงเป็นเพียงสัญญาจำนองที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 จึงไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินตามคำร้องแก่ผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 นั้น เป็นการกระทำภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ดังนั้น การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินที่จำเลยที่ 2 กระทำขึ้นในวันดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559 การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8287/2559 เจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่มีอัตราโทษจำคุก แม้ปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ แต่ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยได้แต่งตั้งทนายความ และทนายจำเลยก็ได้ทำหน้าที่ทนายจำเลยตลอดมาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ทั้งจำเลยก็มิได้เปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ คดีจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8265/2559 การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดเครื่องหมายการค้าซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่และผู้ร้องไม่เคยทราบหรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขายย่อมเห็นได้ว่าผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้นผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือจึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านกรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านหาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์ ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้องเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือและครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้นโดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่าการกระทำใดๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัยซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 การชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย การกำหนดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อตามสัญญาประกันอัคคีภัยมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องรับผิดในดอกเบี้ยในกรณีที่ผู้ร้องผิดนัดชำระค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไปได้ ผู้คัดค้านก็ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการใช้อำนาจกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) เมื่อข้อต่อสู้ที่ผู้ร้องยกขึ้นต่อสู้ว่าสินค้าที่นำมาเอาประกันภัยเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครอง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้อนุญาโตตุลาการที่จะกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้ การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260 - 8262/2559 เงินรางวัลจากการขายรถยนต์ จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ทั้งสามต่อเมื่อลูกค้าผ่อนค่างวดครบสี่งวดแรกตรงตามกำหนด หากชำระไม่ตรงตามกำหนด โจทก์ทั้งสามต้องติดตามให้ลูกค้าชำระให้ครบภายในงวดที่ 5 มิฉะนั้นจำเลยจะหักเงินรางวัลจากเงินรางวัลรวมที่ทำได้ในงวดที่ 4 แต่หากโจทก์ทั้งสามติดตามให้ลูกค้าชำระครบในงวดที่ 5 จำเลยจะคืนให้พร้อมเงินรางวัลที่หักไว้ ส่วนเงินรางวัลสำหรับการขายประกันคุ้มครองภาระหนี้จะจ่ายให้เมื่อลูกค้าชำระตรงตามกำหนดสี่งวดแรกต่อการขายแต่ละครั้ง เช่นนี้เห็นได้ว่าการจ่ายเงินรางวัลดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อเป็นการจูงใจให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการหาลูกค้าและตรวจสอบความสามารถในการผ่อนชำระเงินค่างวดของลูกค้าเพื่อป้องกันความเสียหายในด้านสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจของจำเลยอีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้พนักงานกระตือรือร้นหาลูกค้าและติดตามเร่งรัดการจ่ายเงินค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนด ดังนั้น พนักงานจะมีโอกาสได้รับเงินดังกล่าวมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับความขยันและประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละคน จึงไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงานโดยตรงตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เมื่อการจ่ายเงินรางวัลดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติงานจนครบก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับ ทั้งจำเลยจะจ่ายเงินรางวัลให้กับพนักงานที่ยังคงมีสถานภาพเป็นพนักงานในวันที่จ่ายเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามลาออกจากการเป็นลูกจ้างเป็นการพ้นสถานภาพการเป็นพนักงานไปก่อนในวันที่จ่าย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559 โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า "จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง" จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบทั้ง 6 งวด ตามสัญญาประนีประนอมความที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยการชำระเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ตรงตามกำหนด การชำระเงินงวดที่ 5 ถึงกำหนดวันอาทิตย์ จำเลยจึงชำระเงินแก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันจันทร์ และการชำระเงิน งวดสุดท้ายถึงกำหนดสิ้นเดือนเมษายน 2556 วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นวันแรงงานแห่งชาติอันเป็นวันหยุดของสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจึงโอนเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อันเป็นโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดมาเพียง 2 วัน ดังนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยโดยตลอดแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559 พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8180/2559 ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8305/2549 ระบุว่าให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้ละเมิดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แต่ บ. ขอให้โจทก์ร่วมรับผิดในค่าเสียหายจำนวนเดียวกันกับที่ บ. ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อ บ. จึงถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ส่วนจำเลยทั้งสามแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้สัญญาซื้อขายแก่ บ. เพียงแต่ค่าเสียหายที่ บ. เรียกจากโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นเป็นจำนวนเดียวกันถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงมีผลให้ความรับผิดของโจทก์กับจำเลยแต่ละคนต่อ บ. เป็นอย่างลูกหนี้ร่วมในค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดต่อ บ. หมดไป โจทก์ยังคงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ตามส่วนของตน การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บ. เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการชำระหนี้มูลละเมิดของโจทก์ที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่งและชำระหนี้มูลสัญญาซื้อขายของจำเลยทั้งสามที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่ง โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8108/2559 การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างออกหนังสือตักเตือนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเรื่องบริหารงานล้มเหลว ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่ายโดยไม่เป็นความจริง และไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณนั้น พอเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยเป็นการใช้อำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องความล้มเหลวในการบริหารงาน ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่าย โดยมีข้อความระบุว่า "...หากมีความผิดลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทางบริษัทจะพิจารณาโทษในสถานหนักยิ่งขึ้นไป หนังสือเตือนนี้มีอายุ 1 ปี นับแต่วันที่ออก" จึงมีลักษณะเป็นการออกหนังสือตำหนิโทษหรือคาดโทษโจทก์ว่า หากโจทก์กระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันออกหนังสือ จำเลยจะพิจารณาโทษสถานหนักขึ้นบังคับใช้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางวินัยประเภทภาคทัณฑ์เป็นหนังสือ (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากการกระทำผิดครั้งแรก) ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 6.2.2 ส่วนปัญหาว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยอันเป็นการลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือนั้นชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนหนังสือตักเตือนหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำความผิดตามหนังสือตักเตือนหรือไม่ และจำเลยมีขั้นตอนการพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2559 กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 กำหนดในข้อ 5 ว่าในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสามแสนบาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 474,219 บาท และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ ไม่เกิน 110,000 บาท จึงถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยโดยคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาและไม่ให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของ ฉ. ลูกจ้างเป็นการประสบอันตรายตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5 เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ฉ. แทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8099/2559 คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวอ้างว่า เจ้าพนักงานคุมขัง ธ. ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2558 เวลา 12 นาฬิกา ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2558 เวลา 13 นาฬิกา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคดีก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 เจ้าพนักงานคุมขัง ธ. ขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการคุมขัง ธ. คดีนี้และคดีก่อนเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องเดียวกันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานคุมขัง ธ. โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าการคุมขัง ธ. นั้น เจ้าพนักงานผู้จับจะมีหมายจับ ธ. หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ผู้ร้องก็อ้างว่าเป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น คำร้องคดีนี้จึงเป็นคำร้องซ้อนกับคำร้องคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559 แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8054/2559 เมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดตั้งขึ้นแล้ว ย่อมมีอำนาจหน้าที่จัดการและบำรุงรักษาสาธารณูปโภคได้ และมีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคจากสมาชิก จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดการและบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงมีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคจากสมาชิกของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและเป็นสมาชิกของจำเลย มีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ตนซื้อแก่จำเลย ตามความในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ส่วนการที่ผู้จัดสรรที่ดินยังไม่จดทะเบียนโอนที่ดินและทรัพย์สินอื่นอันเป็นสาธารณูปโภคแก่จำเลยนั้น เป็นคนละกรณีที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคแก่จำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2559 จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ดังนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/30 มาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะซึ่งขัดหรือแย้งกับมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลยกเว้นมาตรา 448 วรรคหนึ่งเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 448 วรรคหนึ่งในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7977/2559 คำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 นั้น จะต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าโจทก์ต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5745/2546 ของศาลชั้นต้นว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ แม้ต่อมาศาลฎีกาในคดีหมายเลขแดงที่ 5745/2546 ของศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่าทางพิพาทไม่เป็นทางสาธารณะ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเนื้อหาแห่งคดี จึงถือไม่ได้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวขัดกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดในคดีนี้จึงมีว่า ตราบใดที่โจทก์ยังต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5745/2546 ของศาลชั้นต้นอยู่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ โจทก์จะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อนำมาเป็นเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองไม่ได้เท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7965/2559 ยาเสพติดให้โทษของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองในขณะเกิดเหตุ มีอยู่ 2 จำนวน จำนวนแรกเป็นเฮโรอีนจำนวน 82 แท่ง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 18,721.813 กรัม และจำนวนที่ 2 เป็นเฮโรอีนผสมมอร์ฟีน จำนวน 1 แท่ง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของมอร์ฟีนได้ 27.930 กรัม การที่ยาเสพติดให้โทษของกลางจำนวนที่ 2 เป็นเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ผสมมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองรวมกันไป ย่อมไม่อาจแบ่งแยกเจตนาในการครอบครองต่างหากออกจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวนแรกไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7893/2559 ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 นอกจากบัญญัติห้ามการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้าไปในน้ำอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าแล้ว ยังบัญญัติรวมถึงการนำสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำด้วย การปรับพื้นถมดินล่วงล้ำเข้าไปในลำน้ำตามฟ้องถือว่าเป็นการนำสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7876/2559 เมื่อบริษัท ช. ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยชอบแล้ว แม้บริษัท ช. จะลงพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางหนังสือพิมพ์ก่อนวันนัดประชุมน้อยกว่า 7 วัน ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าว่าบริษัทจะได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ในกิจการใด ที่ใด เมื่อใด เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1174 วรรคสอง โดยได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางไปรษณีย์แก่ผู้ถือหุ้นโดยชอบ เป็นที่เห็นได้ว่าผู้ถือหุ้นทุกคนทราบกำหนดวันนัดประชุมใหญ่แล้ว และผู้ร้องได้มอบฉันทะให้ตัวแทนผู้ร้องเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ด้วย ต้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้แจ้งนัดประชุมใหญ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 แล้ว ย่อมถือได้ว่า การส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของบริษัท ช. ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559 เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้ เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7810/2559 พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 บัญญัติว่า "ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนและค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการจำเลยเป็นผู้ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง และการลงโทษทางวินัยต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ซึ่งข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย คือ ข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดเรื่องการสอบสวนและการลงโทษไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่ข้อ 59 ถึงข้อ 70 โดยข้อ 62 กำหนดเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการเสนอรายงานการสอบสวนและความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็วเท่านั้น ส่วนอำนาจในการสั่งลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างโดยทั่วไปก็มิได้จำกัดอำนาจผู้อำนวยการจำเลยไว้ คงมีข้อบังคับข้อ 66 กำหนดว่าในกรณีที่ผู้อำนวยการจำเลยจะลงโทษทางวินัยพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ผู้อำนวยการจำเลยจึงสั่งได้เท่านั้น อันแสดงว่าตามข้อบังคับให้อำนาจผู้อำนวยการใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างทั่วไปได้โดยลำพัง เว้นแต่กรณีเป็นพนักงานหรือลูกจ้างระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนตามข้อ 66 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อ 66 และข้อบังคับไม่ได้กำหนดถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานและความเห็นต่อผู้อำนวยการแล้วต่อมาผู้อำนวยการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมและมีการเสนอรายงานการสอบสวนโดยมีความเห็นในครั้งแรกกับครั้งหลังไม่ตรงกันดังเช่นกรณีของโจทก์ว่าให้ผู้อำนวยการดำเนินการอย่างไร การที่ อ. รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นพิจารณาสำนวนการสอบสวนทั้งหมดแล้วเห็นว่าโจทก์ทุจริตและฝ่าฝืนระเบียบโดยเจตนาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษไล่ออกและลดโทษเป็นให้ออก โดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพิจารณาก่อนจึงชอบด้วย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 และข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2559 ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559 ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7767/2559 การประสบอันตรายในคดีนี้เป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนซ้ายแตกหัก กล้ามเนื้อแขนซ้ายชอกช้ำ กระดูกสันหลังระดับทรวงอกปล้องที่ 12 และระดับเอวปล้องที่ 1 หักยุบ แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายด้วยโลหะและใส่เฝือกพยุงหลัง ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รักษาทางยาและทำกายภาพบำบัด ต่อมาแพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อนำเอาเหล็กที่ดามไว้ที่แขนซ้ายออก ดังนี้ แม้การประสบอันตรายของ ส. จะได้รับการผ่าตัดเพื่อดามและถอดเหล็กดามที่กระดูกแขนซ้ายเพียงแห่งเดียวก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ ส. ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซึ่งอยู่ในเกณฑ์จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาทสำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2559 การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2559 การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7574/2559 จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานและเหตุที่พนักงานจะต้องพ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจและพนักงานทุกคนตามวันที่บทกฎหมายดังกล่าวกำหนด กฎหมายดังกล่าวมิใช่เป็นบทกฎหมายกำหนดความผิดที่มีโทษในทางอาญาที่จะต้องใช้ขณะกระทำความผิดและต้องห้ามมิให้ใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนการกระทำความผิด เมื่อมาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับในวันที่ 6 กันยายน 2550 โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยจึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว คือ ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้วแต่กรณีเกิน 5 ปี เมื่อโจทก์กระทำความผิดกฎหมายอาญา และคดีถึงที่สุดในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นพนักงานตามมาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นเหตุให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งพนักงานตามมาตรา 11 (3) จำเลยยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้ คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7570/2559 คู่มือสำหรับพนักงานขาย ข้อ 14 ที่กำหนดให้พนักงานขายต้องรับผิดชอบบัญชีขายทุกรายการที่ตนเองขาย เช่น ร้านค้าเก็บเงินไม่ได้ เช็คคืน เป็นต้น เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่าตอบแทนการขายจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนสิทธิและผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่มีผลเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดระเบียบให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นระเบียบที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง คู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวคงมีผลบังคับใช้ให้โจทก์ที่ 1 รับผิดชำระค่าสินค้าแทนลูกค้าของจำเลยได้เฉพาะกรณีที่โจทก์ที่ 1 ตัดสินใจขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คจากลูกค้าโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริตอันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยได้เท่านั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าเป็นเช็คและต่อมาเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าถูกต้องตามคู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวแล้ว หาได้มุ่งหมายให้จำเลยไม่ได้รับชำระค่าสินค้าไม่ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริต โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายในจำนวนเงินค่าสินค้าตามเช็คให้แก่จำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559 โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่ ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าแห่งการงานอันเนื่องมาจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งไม่ได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำงานในงวดที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการวิชาชีพในงวดที่ 2 โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าการงาน 2,140,000 บาท ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551 จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่... ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7432/2559 วันที่ 24 เมษายน 2550 เจ้าพนักงานประเมินเข้าตรวจสภาพกิจการของโจทก์และตรวจนับสินค้าคงเหลือได้ 6,500 กิโลกรัม อีกสี่เดือนต่อมาโจทก์ส่งรายงานภาษีซื้อ - ภาษีขาย พร้อมรายงานสินค้าและวัตถุดิบคงเหลือ แสดงยอดสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 24 เมษายน 2550 จำนวน 6,500 กิโลกรัม เจ้าพนักงานประเมินจึงตรวจยอดสินค้าคงเหลือจากรายงานสินค้าฯ โดยนำยอดยกมา ณ วันที่ 1 มกราคม 2550 บวกรายการรับตามใบกำกับภาษีซื้อ และหักรายการจ่ายตามใบกำกับภาษีขาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2550 ซึ่งในรายงานสินค้าฯ ณ วันที่ 24 เมษายน 2550 โจทก์ต้องบันทึกยอดสินค้าคงเหลือ 161,577 กิโลกรัม แต่ตรวจนับสินค้าคงเหลือได้ 6,500 กิโลกรัม โจทก์จึงมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าฯ 155,077 กิโลกรัม ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) (จ) ป.รัษฎากร มาตรา 79/3 (3) บัญญัติว่า "การขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (จ) ที่เกิดจากสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือ 87 วรรคสอง มูลค่าฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น" และมาตรา 78/3 บัญญัติว่า "ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีดังต่อไปนี้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (5) การขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (จ)..." ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534) ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณีข้อ 8 ระบุว่า "ในกรณีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3)... ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดเมื่อมีการตรวจพบ" และมาตรา 79/3 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ราคาตลาดตามมาตรานี้ ให้ถือราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น..." ดังนั้น มูลค่าของฐานภาษีของโจทก์จึงต้องถือตามราคาตลาดในวันที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่ามีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบคือวันที่ 24 เมษายน 2550 ซึ่งตามใบกำกับภาษีขาย โจทก์ขายสินค้าเม็ดพลาสติกไป 3 ครั้ง มีราคาเฉลี่ย 45.66 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ยดังกล่าวจึงนำไปใช้ในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ขาดไปจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2559 โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2557 จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 จำเลยทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์และกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า ระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองมิได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท และมิได้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด ทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาท กรณีย่อมแปลความหมายได้อยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แล้วมีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยและมีคำพิพากษาที่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้ว เป็นการไม่ชอบ ทั้งหากต่อไปในภายภาคหน้า จำเลยทั้งสองได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกเหนือจากวันเวลาตามฟ้องคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อาจพิพากษาล่วงหน้าไว้ในคดีนี้โดยสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท โจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์และเป็นสมบัติของโจทก์ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่าสุสานทุ่งมนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินพิพาทแปลงอื่นเป็นที่ดินของสุสานทุ่งมนซึ่งไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองมิใช่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การวินิจฉัยชี้ขาดถึงสิทธิของการเป็นเจ้าของที่ดินสุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทแปลงอื่นซึ่งมิใช่ประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลภายนอกคดี จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยตรงมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ ทั้งไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกระจ่าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง กรณีก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2559 แม้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 22 วรรคสาม ไม่มีข้อความตอนใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมด นายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่สำหรับคดีนี้การที่โจทก์ปิดงานเฉพาะลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. และผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกจ้างโจทก์คนใดบ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. หรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงานนั้น เมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน บ. ซึ่งแจ้งข้อเรียกร้อง โดยสหภาพแรงงาน บ. มีสมาชิกประมาณ 125 คน จากลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดประมาณ 200 คน ซึ่งเกินกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด การที่จะตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าลูกจ้างของจำเลยคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ที่ถือว่าเป็นผู้ร่วมแจ้งข้อเรียกร้องด้วยนั้น โจทก์สามารถกระทำได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคสาม โจทก์จึงมีหนทางที่จะทราบว่าลูกจ้างคนใดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ แต่โจทก์ก็หาได้ขวนขวายที่จะตรวจสอบไม่ และการที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์ปิดงานเฉพาะผู้แทนการเจรจาของสหภาพแรงงาน บ. เนื่องจากไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการเจรจาสหภาพแรงงาน บ. ส่งผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้างรวม 7 คน แต่โจทก์กลับเลือกปิดงานเฉพาะกับลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปิดงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานอันถือเป็นการปิดงานตามนิยามคำว่า "การปิดงาน" ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เป็นการจงใจเลือกปฏิบัติใช้การปิดงานโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ลูกจ้างทั้ง 5 คน ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่สหภาพแรงงาน บ. ได้ยื่นข้อเรียกร้องและเป็นการขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (1) และ (4) การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2559 ข้อที่โจทก์แก้ฎีกาอ้างมาเป็นเหตุผลบางประการที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาประกอบคำวินิจฉัยให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ฉ้อฉลหลอกลวงในประเด็นว่าจำเลยทั้งสามใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตตามฟ้องหรือไม่ แม้ฎีกาของจำเลยที่ 1 จะไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาวินิจฉัยดังกล่าวโดยตรงก็ตาม แต่เมื่ออ่านฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งฉบับแล้ว ก็เห็นได้ว่าเนื้อหาของฎีกาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องและมีรายละเอียดแสดงเหตุผลว่าที่ถูกควรเป็นเช่นไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง) พฤติการณ์ของโจทก์บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอให้โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 และร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการประกันชีวิตให้โจทก์มาก่อนลงลายมือชื่อเป็นตัวแทนในใบคำขอเอาประกันชีวิตของโจทก์และเอกสารที่เกี่ยวข้องยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฉ้อฉลโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2559 สัญญาจ้างโฆษณามีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว ยังมีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า "เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ" ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นอกจากนี้พฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันและในการประชุมที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว โดยถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อีกทั้งเมื่อคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน แสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น แต่เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559 เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคา ที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559 จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2559 การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่จะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในส่วนของสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะต้องพิจารณาจากรายละเอียดขอบเขตการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิและรูปเขียนทั้งหมดที่ทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามความมุ่งหมายของการประดิษฐ์นั้น เมื่อผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลย มิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์และวิธีการปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง เลขที่ 22925 ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 36 (1) เมื่อพิจารณารูปร่างของผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ กับผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยแล้ว เห็นได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์แตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยอย่างชัดเจน จึงฟังไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้แบบผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 63 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าแม้แบบผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยจะแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและยังมีคุณสมบัติในการใช้สอยทำให้เกิดผลในทำนองเดียวกันนั้น เป็นหลักการตีความโดยทฤษฎีความเท่าเทียมกัน (Doctrine of Equivalents) ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 36 ซึ่งเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งมาตรา 65 มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 36 ทวิ วรรคสอง มาใช้กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอนุโลม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2559 มูลหนี้ที่จะนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้จะต้องเป็นหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ทั้งเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ประกอบมาตรา 94 สำหรับมูลหนี้ในคดีนี้คือมูลหนี้ตามสัญญาประกันที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันต่อศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรี ในวงเงินประกัน 330,000 บาท โดยมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักประกัน ต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามกำหนดนัดซึ่งถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลแขวงธนบุรีมีคำสั่งปรับเงินลูกหนี้ที่ 2 เต็มตามสัญญาประกัน มูลแห่งหนี้เงินจึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าวภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีที่เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้นับจากวันคดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 93 ดังนี้ เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรีมายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งหนี้เงินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 94 แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติในส่วนการบังคับหลักประกันที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องว่ากล่าวกันต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7120/2559 โจทก์เป็นวิศวกรมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ได้จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง การที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนในการจ้างโจทก์ออกแบบงานระบบประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ทำช็อปดรออิ้งขยายรายละเอียดในการก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ซึ่งเป็นการรับเงินตามปกติของการว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. และแม้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เบียดบังเวลาการทำงานของจำเลยไปใช้ทำงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. จ้างให้โจทก์ทำงาน ดังนั้น การที่โจทก์ได้รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามประกาศเรื่องการจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 ให้แก่ลูกจ้างจำเลย จึงแปลว่า จำเลยมีเจตนาจ่ายเงินรางวัลพิเศษและเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยเท่านั้น การที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนจำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 จำเลยไม่มีอำนาจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7114/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1034/2554 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีนั้น จำเลยได้รับโทษเสร็จสิ้นจนพ้นโทษแล้ว ขณะที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดคดีนี้ จำเลยมิได้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยเคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลมาก่อน ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนด จำเลยมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแทนการฟ้องเป็นคดีอาญา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดคือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 22 จำเลยเป็นผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยนาท แม้จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่ต้องดำเนินการบังคับให้จำเลยเข้าสู่แผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดติดตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7113/2559 บทบัญญัติมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กในการจัดสถานที่ให้เหมาะสมและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กและเยาวชน ในการสอบปากคำจำเลยในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน นอกจากจะเป็นไปตามความประสงค์ที่จำเลยเป็นผู้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมฟังการสอบสวนแล้ว ยังเป็นไปตามวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนที่กำหนดให้มีสหวิชาชีพ ในที่นี้คือพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยเพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134/2 กรณีไม่อาจถือว่าพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นการประจานจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2559 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ซึ่งกรณีนี้จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยโดยถูกต้องว่าไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7110/2559 จำเลยใช้รถบรรทุกลากจูงและรถบรรทุกกึ่งพ่วงของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 10,400 กิโลกรัม เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทางหลวงแผ่นดิน ทั้งยังมีผลกระทบต่อผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายอันเกิดจากสภาพแห่งท้องถนนที่ได้รับความเสียหาย ทำให้ยากต่อการควบคุมให้รถแล่นไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น รถบรรทุกลากจูงและรถบรรทุกกึ่งพ่วงของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2559 การตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย ข. ส่งผลการตรวจ ดี เอ็น เอ มาศาล โดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ซึ่งสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจ ดี เอ็น เอ ประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 และเนื่องจากผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ การใช้กระบวนการทางเลือกโดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจาก ข. บิดาของผู้ตาย แล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ เมื่อผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับ ร. ในปี 2551 เมื่อ ร. คลอดผู้ร้องทั้งสอง ผู้ตายเป็นผู้แจ้งเกิดและยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสองใช้นามสกุลผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับ ข. บิดาของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์อยู่กินกันกับคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีบุตรชายที่มีอายุมากกว่าบุตรสาวจำเลย 1 คน เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยโจทก์นำบุตรพักนอนอยู่ห้องเดียวกับสามีใหม่ เป็นการไม่เหมาะสม และอาจเกิดอันตรายแก่บุตรสาวของจำเลยได้ ทั้ง อ. เคยทำร้ายร่างกายจำเลยจนถูกศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ก็มีบุตรกับสามีใหม่แล้ว โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรใหม่ สำหรับผู้เยาว์ โจทก์พาไปฝากบิดามารดาของโจทก์เลี้ยงบ้าง ทั้งโจทก์ยังนำผู้เยาว์ซึ่งอายุ 7 ปีแล้ว ไปนอนรวมห้องเดียวกับสามีใหม่ แสดงว่าบ้านพักอาศัยคับแคบ และสามีใหม่ของโจทก์มีบุตรชายติดมาด้วย 1 คน แสดงว่ารายได้ของโจทก์และสถานที่พักอาศัยของโจทก์ไม่เอื้ออำนวยให้โจทก์อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้ได้เหมาะสมตลอดจนปลอดภัยต่ออนาคตและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ได้ จำเลยในฐานะบิดาย่อมเล็งเห็นสภาพข้อเท็จจริงที่โจทก์เลี้ยงดูผู้เยาว์รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความประพฤติอุปนิสัยของบุคคลรอบข้างผู้เยาว์และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ดี เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยย่อมต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่โจทก์อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2559 การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีมีสิทธิโต้แย้งว่า เด็กมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. 1542 แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้ใช้เฉพาะชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กเท่านั้น เมื่อ ด. ผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อนที่มีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. 1545 ได้เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ อันได้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็ก หรือผู้ที่จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก เมื่อโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ก็มีกำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 1544 (1) คือ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นสามีจะพึงฟ้อง ซึ่งมาตรา 1542 กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก ดังนั้นเมื่อ ด. เป็นผู้ไปแจ้งเกิดว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2512 เท่ากับอย่างน้อย ด. ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันเกิดของจำเลย คืออย่างช้าในวันที่ 30 เมษายน 2522 การที่ ด. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 ด. จึงไม่ได้ตายก่อนพ้นระยะเวลาที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1544 (1) เมื่อ ด. ซึ่งเป็นบิดายังไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ด. แม้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยมิใช่บุตรของ ด. เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2559 ตามสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โดยบริษัท ว. เจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "VANS" มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อปัจจุบันยังไม่มีการจดทะเบียนอนุญาตให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" ในประเทศไทย ดังนั้น ทั้งบริษัท อ. และโจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด (Exclusive Licensee) จากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะมีอำนาจฟ้องผู้กระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าของตนหรือที่ตนได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาดตามมาตรา 68 วรรคสอง โจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" ที่ทำขึ้นระหว่างบริษัท อ. กับโจทก์ โดยจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาดังกล่าวด้วย จำเลยจึงหาจำต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีในนามของตนเองเพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดเครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 การขายสินค้าโดยลดราคาของจำเลยเป็นเพียงการขายสินค้าที่ยังเหลือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น การขายสินค้าโดยลดราคาดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติในทางการค้า มิใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VANS" ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือผิดสัญญาใด ๆ ต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2559 แม้ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ.2549 มาตรา 2 จะบัญญัติว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไป แต่ตามความในมาตรา 3 (1) วรรคสอง บัญญัติให้เงินได้ที่ได้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ต้องจ่ายภายในห้ารอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป โดยไม่มีข้อความใดบัญญัติให้เงินได้ที่จ่ายตามมาตรา 3 (1) วรรคหนึ่ง ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จะต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายหลังวันที่ พ.ร.ฎ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156) ฯ ซึ่งออกตาม พ.ร.ฎ ฉบับดังกล่าว ก็กำหนดเงื่อนไขในข้อ 3 ไว้แต่เพียงว่าต้องเป็นโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายหลัง พ.ร.ฎ ฉบับนี้ใช้บังคับ ดังนั้น เงินได้ที่ได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ตามมาตรา 3 (1) และได้จ่ายนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป แม้ก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ฎ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7052/2559 รายจ่ายที่จะนำมาคำนวณเพื่อหากำไรสุทธิได้นั้น ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ตลอดจนเหตุผลจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป โจทก์เป็นเพียงผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลด์ และกองทุนรวมดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าแก่โจทก์จนครบเมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า การที่โจทก์ประกันค่าเช่าเพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุนกับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลด์ การประกันค่าเช่าจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กองทุนรวมดังกล่าว มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ ดังนั้น เงินที่โจทก์จ่ายเป็นเงินประกันค่าเช่าให้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลด์ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2559 โจทก์ขายสินค้าพิพาททั้งสามรายการตามใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ออก ณ โรงอุตสาหกรรม สูงกว่าราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม โดยอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตสินค้า เช่น ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการหรือค่าโฆษณารวมอยู่ด้วย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าส่วนต่างระหว่างราคาขายตามใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์กับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม เป็นค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารหรือค่าโฆษณา โจทก์นำสืบว่าการขายสินค้าของโจทก์ทั้งหมดเป็นการขายโดยขนส่งถึงมือลูกค้าซึ่งโจทก์จะทำการขนส่งสินค้าไปยังคลังสินค้าประจำสำนักงานสาขา จากนั้นก็จะกระจายสินค้าส่งไปยังลูกค้าต่อไป โดยค่าขนส่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะคำนวณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยและคิดรวมอยู่ในราคาสินค้าที่ขายแต่ละขวด ส่วนจำเลยนำสืบเพียงว่าจำนวนฝาขวดที่โจทก์ได้เสียภาษีไว้ ไม่สัมพันธ์กับจำนวนฝาขวดที่โจทก์รับไปจึงออกตรวจปฏิบัติการสถานประกอบการของโจทก์พบว่า ราคาขายตามใบกำกับภาษีของโจทก์สูงกว่าราคาขายของโจทก์ที่แจ้งต่อจำเลยตามแบบแจ้งราคาขาย และไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาเพิ่มเติม จึงมีส่วนต่างราคาที่โจทก์ต้องชำระภาษี ซึ่งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมที่แสดงในแบบแจ้งราคาขาย เป็นราคาที่ผู้ผลิตขายให้แก่ผู้ซื้อโดยสุจริตและเปิดเผย ณ สถานที่ผลิตสินค้า หรือราคาซื้อขายกัน ณ สถานที่ผลิตสินค้า แต่กรณีของโจทก์เป็นการขายสินค้าโดยโจทก์เป็นผู้นำสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าพร้อมออกใบกำกับภาษีขาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ราคาสินค้าตามที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษีเป็นราคาที่มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วยโดยโจทก์มิได้แยกค่าขนส่งและค่าบริหารการขายออกจากราคาพิพาท แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้หักค่าใช้จ่ายในการขนส่งออกจากมูลค่าสินค้าก่อนคำนวณภาษีนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งทั้งปีซึ่งรวมสินค้ารายการอื่นๆ ของโจทก์ที่มิได้พิพาทกันในคดีนี้ด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าขนส่งสินค้าที่พิพาททั้งสามรายการในคดีนี้จำนวนเท่าใด ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางให้หักค่าขนส่งออกจากมูลค่าสินค้าที่เป็นฐานภาษี (ราคาขาย) ก่อนคำนวณภาษี จึงไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2559 ผู้เสียหายทั้งสามไม่ได้ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลฎีกาจึงต้องมีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งด้วย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี โดยวินิจฉัยว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย และให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005/2559 การที่จำเลยขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในคดีที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงของศาลชั้นต้นอีกคดีหนึ่ง และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว ทั้งความก็ปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ได้มีคำพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจนับโทษต่อได้ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อศาลเอง โดยจำเลยไม่ได้แถลงหรืออุทธรณ์คัดค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าว จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2559 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อาจจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในส่วนแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้กระทำความผิดคดีนี้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดในส่วนแพ่งได้ ผู้ร้องชอบที่จะนำคดีไปฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคดีแพ่งใหม่ต่างหากจากคดีนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถกระบะกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ผู้ร้องนั่งโดยสารมาด้วยต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิด เมื่อผู้ร้องมิได้มีส่วนทำความผิดด้วยและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อผู้ร้อง ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วยกันเอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2559 วันที่ 3 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงินคนละ 250,000 บาท วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานด้วยการค้ำประกันด้วยบุคคลไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย หากมีการค้ำประกันเกินกำหนดดังกล่าวให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันใหม่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนด ต่อมาโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์คนละ 250,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559 เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6953/2559 ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์แก้ฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยักยอกนำไปขายให้แก่ อ. เป็นรถเกี่ยวข้าวคันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยคำร้องขอแก้ฟ้องและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ฯ มาตรา 3 คดีที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ยักยอกรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์ฟ้องไป ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6914/2559 เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2559 การที่โจทก์จะได้รับการอนุญาตหรือไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 แต่การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวไม่ปิดประกาศแบบ ท.ด.25 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทราบทั่วกัน โดยเฉพาะราษฎรในพื้นที่ให้ทราบว่ามีผู้ขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ หากราษฎรผู้ใดมีส่วนได้เสีย ก็สามารถคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นได้นั้น ย่อมเป็นเหตุให้นายอำเภอทับคล้อไม่สามารถรายงานความเห็นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อพิจารณาตามคำขออนุญาตของโจทก์ได้ตามขั้นตอนและตามกำหนดเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ผู้ยื่นคำขอที่ต้องได้รับผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในความล่าช้าอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่จงใจขัดขวางการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ให้เกิดอุปสรรคและความล่าช้าในการดำเนินการ โจทก์เป็นผู้ซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งการกระทำของจำเลยที่จงใจเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอำเภอ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6903/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ..." การที่จำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่โจทก์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2553 กำหนดไว้ในหมวด 6 ระบบงานไปรษณีย์ การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ ข้อ 64 ว่า ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือ 64.3 เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร 64.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานหรืออาคารหลายชั้นต่าง ๆ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ของไปรษณีย์ได้นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปส่งให้แก่โจทก์ที่อาคารเลขที่ 255/6 รัชดาเพรสทีจ คอนโดมิเนียม ตรงตามที่อยู่ของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ โดยมี น. เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 จึงถือได้ว่าได้มีการจ่ายหนังสือแจ้งการประเมินให้แก่ผู้แทนของโจทก์แล้วในวันดังกล่าว โจทก์จึงต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 30 แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 เกินกำหนดเวลา 30 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมิน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6902/2559 กรณีคู่ความมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องพร้อมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลครั้งแรก อ้างว่าเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าต้องใช้เอกสารการประเมินภาษีเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมศาล ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งในวันถัดมาว่า ให้โจทก์เสนอหลักฐานการประเมินภาษีเพื่อประกอบการคำนวณทุนทรัพย์ในการเสียค่าขึ้นศาลมาภายใน 5 วัน แล้วจะพิจารณาสั่ง แสดงให้เห็นว่า สาเหตุที่โจทก์มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาล เนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบจำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่จะต้องชำระให้ถูกต้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นครั้งที่สองอ้างว่า โจทก์ได้ไปติดตามเอกสารจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่เชียงใหม่แล้ว ได้รับแจ้งว่าต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ย่อมเป็นอำนาจของศาลภาษีอากรกลางที่จะพิจารณาว่ามีเหตุจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะขยายระยะเวลาส่งเอกสารตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 19 หรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นที่จะขยายระยะเวลาส่งเอกสารให้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควรเสียก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง และทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลภาษีอากรกลางต้องพิจารณาจากหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับ คดีนี้ทุนทรัพย์ที่ปรากฏในหนังสือแจ้งการประเมิน 43,927,464.47 บาท แต่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องโจทก์ทั้งสองฉบับและมีคำสั่งไม่รับฟ้องพร้อมกันไปในวันเดียวกัน โดยโจทก์ไม่มีเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลได้ ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจงใจขัดขืนไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมศาล
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6901/2559 ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ดังนั้น ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาของจำเลยที่ 1 ว่าจะคืนภาษีให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2554 ในวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้วินิจฉัยให้บทบัญญัติดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นไม่ ซึ่งจะมีผลเป็นการลบล้าง ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่มีบทบัญญัตินั้นไม่ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ซึ่งตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือ วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6899/2559 ที่ ส. เจ้าพนักงานของจำเลยเบิกความว่า คณะบุคคล ก. และ ว. เป็นหน่วยภาษีที่เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ร่วมกันถือหุ้นดังกล่าวนั้น ต้องจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ได้รับถือเป็นการรับแทนผู้ร่วมหุ้น เงินปันผลที่ได้รับจึงถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละคนผู้ร่วมในคณะบุคคลนั้น ก็ปรากฏจากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในนามของคณะบุคคล ก. และ ว. ได้จ่ายเงินปันผลให้คณะบุคคลดังกล่าว และผู้จ่ายเงินปันผลได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายแล้ว โดยระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของคณะบุคคล ก. และ ว. ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศไทยได้จ่าย เงินปันผลในระหว่างปีภาษี 2553 ให้แก่คณะบุคคล ก. และ ว. มิได้จ่ายเงินปันผลให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียวดังที่พยานจำเลยเบิกความ เมื่อคณะบุคคลดังกล่าวเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลตามมาตรา 40 (4) (ข) จากบริษัทต่าง ๆ ในปีภาษี 2553 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เกินกว่า 30,000 บาท คณะบุคคลจึงเป็นผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของคณะบุคคลจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก โดยผู้เป็นบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีอีกตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร คณะบุคคลที่โจทก์ทั้งสองจัดตั้งขึ้นจึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อคณะบุคคลยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลที่ได้รับตามมาตรา 65 วรรคสอง โดยนำเงินปันผลที่ได้รับมาเครดิตภาษีตามวิธีการที่มาตรา 47 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้ แล้วมีภาษีที่ชำระเกิน จำเลยจึงต้องคืนภาษีแก่คณะบุคคล ก. และ ว.
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6898/2559 โจทก์ที่ 1 แบ่งหุ้นในบริษัทให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคล มีการยื่นคำขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นของบริษัท คณะบุคคลนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 นำเครดิตภาษีจากเงินปันผลรวมคำนวณภาษี และมีภาษีที่ชำระเกินจึงขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกิน จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเพราะเห็นว่าเงินปันผลที่คณะบุคคลได้รับถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละบุคคลผู้ร่วมในคณะบุคคล โจทก์ทั้งสามมีเพียงสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลที่จัดทำขึ้นเอง ซึ่งกำหนดให้โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการแทนคณะบุคคล โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้นมาเป็นชื่อของตน แม้บริษัทจะได้ลงชื่อคณะบุคคลในทะเบียนผู้ถือหุ้นก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทตามกฎหมาย เนื่องจากคณะบุคคลมิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอันอาจเป็นผู้ใช้สิทธิถือหุ้นแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในหุ้นบริษัท ซึ่งความข้อนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า เงินปันผลที่ได้มาไม่มีการแบ่งปันให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยเก็บสะสมไว้เป็นเงินสำหรับการศึกษาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าเงินปันผลอันเป็นดอกผลของหุ้นมิได้ตกแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อย่างแท้จริง แต่เป็นเงินที่อยู่ในความควบคุมและจัดการของโจทก์ที่ 1 พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะบุคคลเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 ต้องการที่จะจัดตั้งหน่วยภาษีขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเท่านั้น หุ้นของบริษัทยังคงเป็นของโจทก์ที่ 1 เช่นเดิม ดังนั้น คณะบุคคลที่โจทก์ทั้งสามจัดตั้งขึ้นจึงไม่ใช่คณะบุคคลตามมาตรา 56 วรรคสอง อันจะมีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6881/2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 จะไม่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ร่วมอุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้น แต่ก็พอถือได้ว่าความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อวินิจฉัยไปพร้อมกับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง กรณีจึงถือได้ว่า คดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีการพิจารณาตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสองแล้ว และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ซ้ำอีก จึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6877/2559 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนวิธีการดำเนินคดีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีผลใช้บังคับทันทีหลังจากมีประกาศ เมื่อปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวประกาศใช้บังคับขณะคดีของจำเลยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอำนาจที่จะเลือกใช้ช่องทางตามประกาศดังกล่าวแก่คดีของจำเลยหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 8 ยังกำหนดว่า บรรดาบทบัญญัติใดของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน ดังนั้น การดำเนินการตามข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวจึงมิได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่อย่างใด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องของจำเลยแล้วมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้างฉัตรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย การยึดรถกระบะของกลางตลอดจนการคืนล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม (เดิม), 131 ส่วนเรื่องการเก็บรักษา ดูแล หรือพิจารณาสั่งคืนของกลาง แม้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนโดยลำพังก็ตาม ก็หาทำให้อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหมดสิ้นไป จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเรียกรับเงินค่าตรวจสภาพรถกระบะของกลางโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6808/2559 เมื่อตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับสิทธิมาโดยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท ซ. มิใช่อ้างว่าได้สิทธิมาโดยการรับโอนสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบ ทำนองว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัท ซ. กับโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีก็ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัท ซ. กับโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6807/2559 จำเลยให้การว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับค่าตอบแทนการจำหน่ายค่าระวางขนส่งสินค้าระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2536 ถึง 15 กรกฎาคม 2552 ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปี คำให้การดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องใด คำให้การของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องสำหรับค่าตอบแทนการจำหน่ายค่าระวางขนส่งสินค้าช่วงเวลาดังกล่าว ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6790/2559 แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 มิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ที่โจทก์ต้องนำสืบในข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเพื่อขอเพิ่มโทษตามฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การเพิ่มโทษจำเลยอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้แถลงรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง โจทก์จึงต้องนำสืบให้ปรากฏถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น คำให้การของจำเลยที่ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา เป็นการรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาในฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยรับในเรื่องการเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเพื่อขอเพิ่มโทษ เช่นนี้แล้วไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 97 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2559 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะต้องนำค่าปรับมาชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องถูกยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง วิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับดังกล่าว เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับซึ่งเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำค่าปรับมาชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับและในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับกับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6758/2559 แม้โจทก์จะฟ้องขอค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยมีมูลเหตุจากการที่ จ. ขับรถบรรทุกชน ศ. บุตรโจทก์ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เอาประกันภัย เรียกให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 มิใช่นับแต่ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6735/2559 คดีนี้ เจ้าพนักงานของจำเลยไม่ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม แต่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรไปยังโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามมาตรา 84/3 ประกอบมาตรา 4 ทศ แห่ง ป.รัษฎากร เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 (2) จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) ซึ่งมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้ดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ ป.รัษฎากร ได้บัญญัติไว้เพียงกำหนดเวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบในการขอคืนเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้ขอคืนภาษีอากรที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการขอคืนภาษีดังกล่าวต้องอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานด้วย เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นส่วนหนึ่งในการขอคืนค่าภาษีอากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาอุทธรณ์จากจำเลยก่อน แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกิดจากมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายหรือมีเครดิตภาษียกมา ต่างก็ถือได้ว่าเป็นกรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร ข้อ 1 (2) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำเลย จากบทบัญญัติ มาตรา 84/3 และมาตรา 4 ทศ แห่ง ป.รัษฎากร จำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนหมายถึงจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยอนุมัติให้คืนแก่โจทก์ หาใช่จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากได้มีการหักกลบลบหนี้กันแล้ว การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้คืนเงินภาษีอากรจึงต้องพิจารณาจากจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินอันเป็นวันสุดท้ายที่สามารถคิดดอกเบี้ยได้ หาอาจนำจำนวนเงินที่มีการหักกลบลบหนี้ภายหลังจากการมีคำสั่งแจ้งคืนเงินมาใช้เป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ย สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกมาตามฟ้องโดยอ้างว่า การที่จำเลยไม่สั่งให้ดอกเบี้ยในระหว่างยังไม่ได้คืนเงินภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร ในเวลาที่คืนเงินภาษีอากรล่าช้าแก่โจทก์ เป็นกรณีจำเลยไม่ให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์เพื่อบรรเทาความเสียหายในระหว่างได้รับเงินภาษีอากรล่าช้า โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนนั้น เป็นกรณีที่ยังมีข้อต่อสู้ให้ศาลต้องวินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อนว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรหรือไม่ และเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานของจำเลยใช้ดุลพินิจไปตามอำนาจหน้าที่ จึงยังไม่สมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 83/5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย" และวรรคสองบัญญัติว่า "ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 และให้นำมาตรา 54 และมาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี" และมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย นอกจากนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ทำหน้าที่ทอดตลาด จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า ราคาหรือเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่ผู้ซื้อนำมาชำระแก่กรมบังคับคดีเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว การที่กรมบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์จนหมด โดยมิได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยตามมาตรา 83/5 จึงเป็นกรณีที่กรมบังคับคดีได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและหักภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วแต่มิได้นำส่งแก่จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชำระเงินภาษีแต่ฝ่ายเดียว มีผลให้โจทก์พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าจำนวนที่กรมบังคับคดีได้หักไว้แล้วนั้น ตามมาตรา 54 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6729/2559 ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการชื่อ บ. คาราโอเกะ และ ป. คันทรีคลับ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากการจะได้รับอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 หากผู้ใดฝ่าฝืนตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องรับโทษตามมาตรา 26 ทั้งไม่มีบทบัญญัติอนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตแก่กันได้ แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อโจทก์ในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าวได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6708/2559 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีมาก่อนและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เข้ามาใหม่อีก แม้ตามคำร้องฉบับแรกจะอ้างเพื่อไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้รายเดียวกันเพื่อผู้ร้องจะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อ จึงเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีแทนโจทก์หรือไม่เช่นเดียวกันทั้งสองฉบับ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์ของผู้ร้องฉบับแรก อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องการขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในการบังคับคดีต่อของผู้ร้องแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เข้ามาใหม่อีกขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องเดียวกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6693/2559 โจทก์มีที่ดินพิพาทเพียงแปลงเดียวขณะที่ถูกเวนคืนโจทก์ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานของโจทก์และมีไว้ให้ผู้อื่นเช่า อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินและอาคารที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้เพื่อประกอบกิจการไม่ได้มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนั้น การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ การฟ้องขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่นในคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 91/11 และมาตรา 27 ตรี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6691/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลย เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากจำเลยให้เป็นผู้บริหารระดับสูงจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการเงินโดยเคร่งครัดเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและป้องปรามมิให้เกิดการทุจริต การที่โจทก์เบิกเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,400 บาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6688/2559 คำฟ้องของโจทก์บรรยายพอเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันที่จำเลยที่ 1 ขับโดยประมาทมาชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้ง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การยอมรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันดังกล่าว แต่ปฏิเสธความรับผิดโดยกล่าวอ้างว่าคนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทโดยการเปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับทำให้เกิดเฉี่ยวชนกัน การที่จำเลยที่ 2 ให้การเช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 2 สามารถเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ได้ดี จึงสามารถให้การต่อสู้คดีได้ คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559 ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2559 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 บัญญัติว่า "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และ ป.อ. มาตรา 102 ที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดบัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน" ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่บัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ทั้ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในภาค 1 อันรวมถึง มาตรา 102 ไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 102 ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมาปรับแก่คดีนี้ด้วย ดังนี้ ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจึงเป็นความผิดลหุโทษ เมื่อ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติว่า "ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำในครั้งก่อนหรือครั้งหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวดนี้" ซึ่งหมายความว่า ความผิดลหุโทษไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษในการกระทำความผิดอีกตาม ป.อ. มาตรา 92 เมื่อ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 94 มาปรับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 17 ด้วยเช่นกัน กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตาม ป.อ. มาตรา 92 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617 - 6619/2559 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2559 แม้ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ อันทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่ปรากฏว่าภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โจทก์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้โดยการขอบังคับคดีในคดีนี้ไม่ได้ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ และต่อมาผู้ร้องก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้แทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว ดังนั้นโจทก์จะมาขอให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 77 ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 77 (1) หรือ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในกรณีของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6613/2559 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีโดยหากเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ และการบังคับคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 284 ด้วย ซึ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ มีความหมายและเจตนารมณ์เพียงห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ แต่ไม่ได้มีความหมายหรือเจตนารมณ์ถึงขนาดห้ามยึดทรัพย์ใดๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์ในการบังคับคดีเป็นการกระทำและการใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสำหรับในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถสืบค้นและหาหลักฐานความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินดังกล่าว เป็นเวลาเกือบจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการบังคับคดีแล้ว เช่นนี้ ถึงแม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาอยู่มาก ก็ไม่ใช่ข้อห้ามถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อการบังคับคดี โจทก์ย่อมใช้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271, 282 (1), 283 วรรคหนึ่ง และ 284 ด้วยการชี้หรือแจ้งยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าวตามที่โจทก์ชี้ให้ยึด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2559 แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงกันว่า หากโจทก์ผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองโดยครบถ้วนอันเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6599/2559 คดีนี้โจทก์ทั้งสองจัดรายการส่งเสริมการขาย "ผนึกกำลังสนั่นวงการ ช้อปสะใจคืนกำไร 2 ห้าง" โดยแจกคูปองมูลค่า 80 บาท ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองขั้นต่ำ 800 บาท นำมาใช้เป็นส่วนลดราคาสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้เมื่อซื้อสินค้าตั้งแต่ 400 บาท ขึ้นไป จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขายและโฆษณาว่า "ยินดีต้อนรับลูกค้าคาร์ฟูร์ด้วยใจ สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ถือคูปองคาร์ฟูร์ นำมาเพิ่มมูลค่า 2 เท่า เมื่อใช้คู่กับบัตรคลับการ์ด" โดยโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งยังอยู่ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสองจัดรายการส่งเสริมการขาย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงถึงยอดขายของโจทก์ทั้งสอง กรณีนี้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นลงทุนโฆษณาสื่อถึงลูกค้าเพื่อมาซื้อสินค้าของตน ต้องใช้บุคลากรและเงินจำนวนมาก ส่วนจำเลยเพียงแต่อาศัยการโฆษณาของโจทก์ทั้งสองเป็นพื้นฐานแล้วโฆษณาเพิ่มเติมโดยให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่า ง่ายต่อการจูงใจให้ลูกค้านำคูปองมาใช้ที่ห้างของตน เมื่อลูกค้าของโจทก์ทั้งสองนำคูปองของห้างโจทก์ทั้งสองมาซื้อสินค้าที่ห้างของจำเลยแล้ว จำเลยก็จะเก็บคูปองไว้ ทำให้ลูกค้าของห้างโจทก์ทั้งสองไม่มีคูปองที่จะกลับไปซื้อสินค้าครั้งที่สองที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้อีก อันเป็นการทำให้รายการส่งเสริมการขายของห้างโจทก์ทั้งสองไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ลูกค้าที่นำคูปองมาใช้ที่ห้างของจำเลย ก็มิได้รับสิทธิในการใช้คูปองทุกคน โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิในการใช้คูปองคือ ลูกค้าที่ยังไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยและจะต้องสมัครเป็นสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยก่อนที่จะได้รับสิทธิ แม้ลูกค้าที่สมัครสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยแล้ว ยังสามารถเป็นสมาชิกของห้างโจทก์ทั้งสองและกลับไปซื้อสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้ แต่ก็ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่า ห้างของจำเลยให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่าห้างของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นวิสัยทางการค้าปกติ แต่มีเจตนาทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสียหาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 รายการส่งเสริมการขายมุ่งต่อการขยายฐานลูกค้าบางกลุ่มเป็นหลัก แม้จะมีการอ้างถึงบัตรคาร์ฟูร์ไอวิช แต่โจทก์ทั้งสองก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้ทราบถึงการเข้าซื้อกิจการของโจทก์ที่ 2 แล้ว ลูกค้าย่อมรับทราบว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อกิจการและมีการเปลี่ยนชื่อโจทก์ที่ 2 เป็นห้าง บ. ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองว่า มีลูกค้าคนใดเกิดความสับสนว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อกิจการของโจทก์ที่ 2 ดังนั้นการจัดรายการส่งเสริมการขายของจำเลยโดยอ้างถึงบัตรไอวิชและชื่อของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพียงการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่ยังไม่ใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ยังไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6594/2559 จำเลยที่ 3 ขับรถกระบะพาจำเลยที่ 2 มาตามหาผู้เสียหายในเวลาค่ำคืน แล้วใช้อาวุธปืนยิงบริเวณท้ายซอยห่างจากบ้านของผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ประมาณ 500 เมตร 1 นัด และยังใช้อาวุธปืนยิงบริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหายและบ้านจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ แต่เป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 กลับไปเอาอาวุธปืนลูกซองยาวของบิดาแล้วไปหลบซ่อนตัวกับผู้เสียหาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ เพราะบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนตัว อยู่บริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะหลบหนีไปที่ใด และมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหากมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ แม้ขณะที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง จำเลยที่ 2 จะไม่ทราบว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 หลบซ่อนบริเวณใด แต่ตามพฤติการณ์ที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงถึงสองครั้งพร้อมทั้งท้าทายให้ผู้เสียหายออกมา ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าหากจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 และผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 อาจใช้อาวุธปืนยิงบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนก็ได้ จึงถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปทางจำเลยที่ 2 ทันทีหลังจากที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6590/2559 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 63 "บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป" อันเป็นบทบัญญัติในส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา 63 บัญญัติเรื่องการขอคืนเงินภาษีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การขอคืนเงินภาษีอากรและเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในกรณีทั่วไปมาใช้บังคับได้ โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในปี 2550 ภายในสามปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันสุดท้ายแห่งปีที่โจทก์ถูกหักภาษีเกินไป ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมและขอคืนเงินภาษีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6578/2559 ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายให้แทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน และมาตรา 50 ทวิ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อค่าจ้างและเงินภาษีที่จำเลยยอมชำระแทนโจทก์เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) จำเลยจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราว และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6577/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์ส่งเบี้ยประกันภัยทุกปี ต่อมาโจทก์ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ส่งไป ค่ารักษาพยาบาล และค่าพาหนะเดินทางไปรักษาพยาบาล อันเป็นการเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 391 วรรคสาม ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขอมานั้นจะเรียกได้หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6574/2559 จำเลยทั้งสองแนบประกาศกระทรวงมหาดไทยเป็นเอกสารท้ายอุทธรณ์ โดยไม่ได้มีการนำสืบในศาลชั้นต้น คำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่ได้รับรองความถูกต้องของข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ จึงรับฟังเอกสารท้ายอุทธรณ์ไม่ได้ คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนที่จะรับฟังว่า ที่ดินจำนองต้องอยู่นอกเขตศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งสามเสร็จ แม้หากจะฟังว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ แล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ไม่อาจยกเอาข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นขึ้นกล่าวอ้างได้อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6552/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยพา ร. ผู้เสียหายจากประเทศไทยส่งออกไปนอกราชอาณาจักรยังประเทศญี่ปุ่น แล้วหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้และจัดให้อยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้เสียหายทำการค้าประเวณีที่สถานที่การค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่นโดยการฉ้อฉลและใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย เพื่อบังคับข่มขู่ให้ผู้เสียหายกระทำการค้าประเวณี หรือเพื่อสนองความใคร่หรือสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นการมิชอบ เพื่อจำเลยจะได้แสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและไม่สามารถขัดขืนได้ เหตุเกิดที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นหลายท้องที่เกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 52 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 ป.อ. มาตรา 283 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยและได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยด้วย ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทำการสอบสวน โดยให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญาร่วมทำการสอบสวน และให้ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนี้ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2559 การที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า บนปกหนังสือและแบบทดสอบทั้งห้าเล่มของจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏว่าที่หน้าปกหนังสือและแบบทดสอบดังกล่าวเครื่องหมายคำว่า "KENDALL SQUARE" ประกอบรูปประดิษฐ์อาคารทรงกลม ที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ด้วย แม้จะมิใช่เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ของโจทก์ในลักษณะที่สาธารณชนอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าก็ตาม แต่ปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าหนังสือคู่มือประกอบการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อใช้ในห้องเรียน มิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย สาธารณชนทั่วไปย่อมไม่ทราบว่าคำว่า "KENDALL SQUARE" เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ในขณะที่คำว่า "TOEFL" ของโจทก์ มีลักษณะที่สาธารณชนคือกลุ่มนักศึกษาไทยที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนรู้จักเครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ของโจทก์เป็นอย่างดี เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าหนังสือและแบบทดสอบกับสินค้าหนังสือและแบบทดสอบของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420 ชื่อโดเมนเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อความสะดวกในการจดจำและเรียกขานโดยสื่อถึงเจ้าของชื่อโดเมนในการติดต่อระหว่างกันในระบบเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ต อันเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์ของชื่อหรือนามตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ซึ่งผู้เป็นเจ้าของนามจะได้รับความคุ้มครองในการใช้นามของตนโดยมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นใช้ชื่อหรือนามเดียวกันนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของชื่อหรือนามเป็นเหตุให้เจ้าของชื่อหรือนามนั้นได้รับความเสื่อมเสียประโยชน์ รวมตลอดทั้งมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียประโยชน์นั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของชื่อโดเมนอันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ กรณีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 หรือไม่ นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "TOEFL" และคำว่า "TOEIC" ของโจทก์ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโดเมนของจำเลยที่ 1 เพราะสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นั้นแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับรายการสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโดเมน www.toeffthailand.wordpress.com ชื่อโดเมน www.2toeic.com และชื่อโดเมน www.7toefl.com กับสินค้าหนังสือ หนังสือเล่มเล็ก หนังสือคู่มือ แบบทดสอบ กระดาษคำตอบข้อสอบ และกับบริการพัฒนาดำเนินการและให้คะแนนการทดสอบประเมินความสามารถ แจกเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบ เปิดเผยคะแนนให้แก่ผู้สอบและสถาบัน ดำเนินการค้นคว้าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบเพื่อความพัฒนาก้าวหน้าในด้านทฤษฎีและในด้านปฏิบัติ บริการทดสอบและประเมินความสามารถในภาษาอังกฤษ การค้นคว้าวิจัยในด้านการศึกษา บริการให้การศึกษาตามที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 32 ถึง 43 เป็นข้อต่อสู้ที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์จะหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว หาใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องกล่าวบรรยายในคำฟ้องไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้รับค่าตอบแทนจากการจำหน่ายหนังสือคู่มือและแบบทดสอบ จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนในการสอนจากผู้เรียนหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการสอบ "TOEFL" ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนน้อยก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการสอนที่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้เรียนในหลักสูตรดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนแล้วนำไปแจกแก่ผู้เรียนในหลักสูตรซึ่งจำเลยที่ 1 จัดสอนถึงวันละ 4 รอบ มีผู้เรียนจำนวนประมาณวันละ 80 คน จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงสำเนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน ทั้งผู้ทำซ้ำคือจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เรียนและมีการทำซ้ำเกินกว่า 1 สำเนา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การกระทำที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรอันจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (1) (3) (6) (7) แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนการคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 33 นั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แต่ปรากฏว่าการนำเอาข้อสอบอันเป็นงานอันที่ลิขสิทธิ์ของโจทก์มาทำซ้ำเป็นหนังสือคู่มือนั้น เป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญทั้งหมดของงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งฉบับและมีปริมาณเป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์เพียงบางตอนตามสมควร ส่วนข้อความที่ปรากฏในหนังสือและแบบทดสอบว่า "An official TOEFL publication developed by ETS test specialist Copyright @ 1998 ETS. Unauthorized reproduction of this book is prohibited." ก็เป็นข้อความที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นข้อความที่โจทก์ประกาศแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และแสดงเจตนาห้ามการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เสียก่อน มิใช่การที่จำเลยที่ 1 แสดงความรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 ยุติการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "TOEFL" คำว่า "TOEIC" และคำว่า "ETS" ของโจทก์และยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 เก็บรวบรวมตำราเรียนแบบฝึกหัดและแบบทดสอบ ซีดี-รอม และเอกสารอื่นใดทั้งหมดที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อจัดการทำลายนั้น เป็นคำขอในลักษณะที่ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้หรือเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป ถือเป็นคำขอที่มุ่งบังคับถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในอนาคต จึงไม่อาจบังคับให้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การตัดฟ้องว่าสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ แต่จำเลยที่ 1 มิได้กล่าวในคำให้การในส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความเรื่องใด อายุความเริ่มนับโดยโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่วันใด และมีกำหนดอายุความเท่าใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในเรื่องอายุความย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2559 คดีนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีฯ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงต่ำกว่าระวางโทษขั้นต่ำ โจทก์จึงไม่เห็นด้วยและขอให้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) นั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าว นอกจากโจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับบทให้ถูกต้องแล้วยังอุทธรณ์โต้แย้งโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยและขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสูงกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้เพิ่มเติมโทษ ประกอบกับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาแล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามที่โจทก์อุทธรณ์ และมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงโทษที่จะลงแก่จำเลยให้เหมาะสมและเป็นไปตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกแก่จำเลย และไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติและไม่ปรับ จึงเป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2559 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจะขายที่ดินให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินบางส่วนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นหลักประกัน โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อย่อมมีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือและให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จในคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินว่าต้นฉบับโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 สูญหาย จนกระทั่งเจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ในการที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน อีกทั้งหากจำเลยที่ 1 นำใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โจทก์ก็อาจไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ดังนั้น แม้การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานและรัฐเป็นผู้เสียหายก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6466/2559 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยและ ว. ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารต่อศาลยุติธรรม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าคู่ความที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยาน แต่จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้อง เป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และเมื่อศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ การนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องมาพิพากษาลงโทษจำเลย แม้เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 เช่นเดียวกัน ก็ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458/2559 แม้มูลเหตุคดีนี้เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินและได้รับเงินน้อยลงจากการกระทำของจำเลย อันเป็นการกระทบต่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการที่จะบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้ หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะบังคับเอาจากจำเลย ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว ทั้งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมีมติไม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างดังกล่าวจากจำเลย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างจากจำเลยเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ในส่วนที่จำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินโดยหลงเชื่อว่าที่ดินทั้งสามแปลงมีเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกันและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทุกแปลง อันเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากจำเลยมีข้อสงสัยประการใดหรือประสงค์จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นที่ดินมีเนื้อที่ติดต่อเป็นแปลงเดียวกันและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทุกแปลงหรือไม่ จำเลยสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากทางราชการที่เกี่ยวข้องได้โดยง่าย การที่จำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินครั้งแรกแล้ว จำเลยจึงเพิ่งตรวจสอบที่ดิน นับว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนเข้าประมูลซื้อที่ดิน จำเลยจึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดในที่ตั้งของที่ดินมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินทั้งสามแปลงเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินส่วนต่างจากการขายทอดตลาดที่ดินแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2559 การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายจะขอได้เฉพาะในคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นฎีกาไม่ได้ จำเลยที่ 2 มีข้อตกลงตามสัญญาเช่ารถยนต์คันเกิดเหตุกับโจทก์ที่ 3 ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เกี่ยวข้องกรณีรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุทุกกรณีด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นความคุ้มครองแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือโจทก์ที่ 3 ตามสัญญาเช่ารถยนต์ ตามสัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่ารถยนต์ตกลงว่ารถยนต์จะได้รับความคุ้มครองโดยการประกันภัยแบบครบวงจรด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ให้เช่าเอง และได้กำหนดตารางรายละเอียดความคุ้มครองและขีดจำกัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้ สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ดังกล่าว คือข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวคือจัดทำสัญญาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน ข้อ 12 จำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าไว้กับบริษัท ธ. และบริษัทผู้รับประกันภัยดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ยังไม่ครบตามเงื่อนไขข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญารับผิดชดใช้เงินตามข้อตกลงข้อ 12 ส่วนที่เกินจากที่บริษัท ธ. จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6410/2559 จำเลยทั้งสองฎีกาโดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทั้งสิ้น คงมีการแก้ไขเฉพาะคำว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นศาลฎีกา และมีส่วนเพิ่มเติม พิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิดไปจากอุทธรณ์บ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่าพิพากษาไม่ชอบอย่างไร หรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพราะเหตุใด ทั้งเหตุผลในการวินิจฉัยคดีของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็แตกต่างกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6341/2559 แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คือ อ. และ ช. ลงลายมือชื่อเพียงสองคน แต่ตามบันทึกต่อท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ช. รองประธานศาลอุทธรณ์ทำการแทนประธานศาลอุทธรณ์ได้รับรองว่า ค. ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อีกคนหนึ่งได้ร่วมปรึกษาและมีความเห็นพ้องกัน ดังได้ลงลายมือชื่อไว้ในต้นร่างคำพิพากษาแล้ว กับได้บันทึกจดแจ้งเหตุที่ ค. ไม่สามารถลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้เนื่องจากย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นก่อนที่จะลงลายมือชื่อในคำพิพากษานั้น เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสามคนลงลายมือชื่อไว้ในต้นร่างคำพิพากษาย่อมแสดงชัดแจ้งแล้วว่าองค์คณะดังกล่าวมีความเห็นพ้องด้วยกันกับคำพิพากษานั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการนั่งพิจารณา หรือการทำคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 และมาตรา 29 ที่รองประธานศาลอุทธรณ์กระทำการแทนประธานศาลอุทธรณ์จะต้องตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะในคำพิพากษาไม่ เนื่องจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้มีการพิจารณาและพิพากษาไปจนเสร็จสิ้นสำนวนความแล้ว การบันทึกต่อท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการจดแจ้งเหตุที่องค์คณะผู้พิพากษาไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ หาใช่เป็นกรณีที่รองประธานศาลอุทธรณ์จะต้องเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการทำคำพิพากษาอีกแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6328/2559 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ การนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลา อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในงานนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวันที่ 5 สิงหาคม 2553 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โดยการนับระยะเวลานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นคือวันที่ 5 สิงหาคม 2553 รวมเข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 90 วัน โดยนับวันที่ 6 สิงหาคม 2553 เป็นวันแรก ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 จึงเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลยร่วม โจทก์ต้องฟ้องจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ด้วยตั้งแต่ต้น เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในกรณีที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทคือจำเลยร่วมหาใช่จำเลยไม่ แม้จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยภายหลังก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6325/2559 กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่ามีการแบ่งปันมรดกกันแล้ว โจทก์ให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์แทน และฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยเกินสิบปี นับแต่บิดาโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2559 กรมธรรม์ประกันภัยแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 หมวด คือ ความเสียหายต่อวัตถุและความรับผิดต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นสัญญาประกันวินาศภัยและสัญญาประกันภัยค้ำจุนรวมอยู่ด้วยกัน แม้ส่วนที่โจทก์ทำงานก่อสร้างและก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอกต้องเป็นความเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามหลักวิชาการสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมทุกประการ แต่ความสั่นสะเทือนของการก่อสร้างได้ทำให้บ้านของ จ. ได้รับความเสียหาย หาใช่เป็นการบรรยายฟ้องปฏิเสธความรับผิดของโจทก์ไม่ แต่มีความหมายไปในทำนองเพียงว่ามิได้เกิดจากความจงใจของโจทก์เพราะได้ปฏิบัติตามหลักวิชาแล้วเท่านั้น แต่การก่อสร้างมีความสั่นสะเทือนและความสั่นสะเทือนดังกล่าวส่งผลให้บ้านของ จ. ได้รับความเสียหาย และโจทก์ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ จ. อันเป็นการยอมรับในผลแห่งการกระทำของโจทก์ว่าเป็นละเมิดได้ก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น ทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ มิได้ปฏิเสธว่าเป็นความเสียหายที่มิใช่เกิดจากการก่อสร้างของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญแห่งคดีที่จำเลยต้องรับผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยให้การรับว่าได้รับประกันวินาศภัยไว้ แต่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยเพราะโจทก์ก่อสร้างอาคารโดยขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้บ้านของ จ. ที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้างได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้ เมื่อจำเลยนำสืบไม่สมข้อกล่าวอ้าง จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย การประกันภัยค้ำจุนนั้น ผู้เสียหายคือ จ. ชอบที่จะได้รับค่าเสียหายที่ควรได้จากผู้รับประกันภัยโดยตรงแต่โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยกลับฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยโดยตรง ค่าเสียหายที่เรียกร้องมาทั้งหมดย่อมเป็นความเสียหายที่ จ. สมควรได้รับ ทั้งโจทก์มิได้ชำระค่าเสียหายทั้งหมดตามที่มีการประเมินให้แก่ จ. ก่อนฟ้อง และไม่ปรากฏว่า จ. ยอมรับค่าเสียหายที่มีการประเมินดังกล่าว การฟ้องคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการฟ้องในฐานะผู้เอาประกันภัยเพื่อนำค่าเสียหายไปชดใช้ให้ จ. ไม่ปรากฏว่า จ. ตกลงด้วยว่าเป็นความเสียหายที่ได้รับจริงและจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมมากกว่านี้ ทั้งพยานโจทก์เบิกความว่า ยังมีค่าเสียหายในส่วนอื่นซึ่งเป็นการซ่อมแซมต่อเนื่องยังไม่ได้จ่ายให้แก่ จ. ต้องรอให้การซ่อมแซมแล้วเสร็จก่อนจึงจะรู้จำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ที่แน่นอน ดังนั้น หากศาลกำหนดค่าเสียหายทั้งหมดที่จำเลยต้องชดใช้ ย่อมถือว่าเป็นการกำหนดไปล่วงหน้าไม่ถูกต้องตรงกับความเสียหายที่เป็นจริง กรณีอาจจะมีจำนวนค่าเสียหายมากกว่าที่ประเมิน จ. มิได้เป็นคู่ความในคดีย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะฟ้องร้องจำเลยอีกได้ หรือหากมีความเสียหายน้อยกว่าที่ประเมินก็ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์โดยไม่มีมูลจะอ้างตามกฎหมาย ชั้นนี้จึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนค่าใช้จ่ายการซ่อมฐานรากที่ดำเนินการไปแล้วและมีการจ่ายให้กับ จ. ไปแล้วเป็นเงิน 2,000,000 บาท โดยค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายส่วนอื่นเป็นเรื่องที่ จ. หรือโจทก์จะไปว่ากล่าวเอากับจำเลยในภายหลังเมื่อทราบจำนวนความเสียหายที่แท้จริงซึ่ง จ. มีสิทธิได้รับ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6285/2559 หลังเกิดเหตุ โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นเงิน 15,000 บาท ต่อมาโจทก์ฟ้อง ป. ผู้ทำละเมิดและห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. นายจ้าง โดยมีจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยร่วม และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความครอบคลุมทั้งกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและกรมธรรม์ภาคสมัครใจ โดยในแบบขอเบิกเงินค่าสินไหมทดแทนมีการวงเล็บที่ด้านข้างของส่วนที่เป็นลายมือชื่อโจทก์ว่าเป็น พ.ร.บ. 65,000 บาท บจ. 135,000 บาท อันเป็นการแยกแยะว่าเงิน 200,000 บาท ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมี 2 ส่วน โดยส่วนที่เป็นเงิน 65,000 บาท น่าจะเป็นเงินที่จ่ายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ยังขาดอีก 65,000 บาท ส่วนเงินอีก 135,000 บาท น่าจะเป็นการจ่ายให้ตามสัญญาประกันภัยรถประเภท 1 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยทั้งสองฉบับเป็นอันระงับสิ้นไป เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงิน 200,000 บาท จากจำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีสิทธิย้อนกลับมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอาจากจำเลยได้อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6282/2559 การวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันใด ศาลจำต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้ผิดนัดนับตั้งแต่เวลาใดและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้น กรณีจึงเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 บัญญัติว่า ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นับแต่วันทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเช่นกัน สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนหรือเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดหรือผู้ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนดแต่เพียงวงเงินความรับผิดที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ โดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด โดยต้องรับผิดนับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ผิดนัดเท่านั้น และเมื่อหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัย อันเกิดขึ้นตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แล้วและจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 แต่หนังสือทวงถามโจทก์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ ดังนี้ เมื่อเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และจำเลยที่ 3 ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 เมื่อจำเลยที่ 3 รับหนังสือทวงถามในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 แล้ว ไม่ชำระค่าสินไหมทดแทน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2545 และต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2559 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย คำร้องขอของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสินค้าบนรถยนต์ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่าเช่ารถคันอื่นมาใช้ทดแทน เป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สามารถเรียกได้ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย จึงไม่ใช่คำขอบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด การพิจารณาสิทธิในการฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ในหนี้ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมแต่ละคนแยกกัน ส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ต้องแยกเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ตกได้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยรับผิดยังสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมาย จำเลยให้การว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ก. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น มิได้หยิบยกเรื่องสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ท. กับมิได้โต้แย้งเรื่องความเป็นเจ้าของรถยนต์ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิด อุทธรณ์ทั้งสองประเด็นจึงอยู่นอกประเด็นตามคำให้การ เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ทั้งสองต้องสูญเสียรายได้จากกิจการที่ทำอยู่ก่อนเกิดเหตุให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ จึงเป็นการโต้แย้งค่าเสียหายส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6256/2559 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 16 (1) ให้อำนาจอธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ที่ดินดังกล่าวจึงยังไม่เป็นของโจทก์ แม้จำเลยจะเข้ายึดถือครอบครองก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 362
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231 - 6250/2559 การส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 211 จะต้องเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อโต้แย้งของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 21 เป็นกรณีที่เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสามขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์แต่ละคนฟ้องว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติต่อโจทก์แต่ละคนโดยนำเอาความแตกต่างในเรื่องรูปร่าง น้ำหนักมาใช้ให้แตกต่างจากพนักงานอื่น ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาว่าคำสั่งและการปฏิบัติของจำเลยทั้งสามเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ดังกล่าวโดยผิดกฎหมายให้แตกต่างจากพนักงานอื่นหรือไม่ มิได้เป็นการพิพากษาเกินอำนาจแต่อย่างใด เมื่อศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานทุกฝ่ายและวินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสามที่กำหนดให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีค่า Body Mass Index และค่าวัดรอบเอวไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ กำหนดระยะเวลาให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่มีค่าเกินกำหนดปรับปรุงบุคลิกภาพ และมาตรการที่มอบหมายให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ไม่สามารถปรับปรุงบุคลิกภาพได้ตามเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดปฏิบัติงานบินในเส้นทางในประเทศหรือเส้นทางที่ไปและกลับภายในวันเดียวกัน หรือปฏิบัติงานภาคพื้นดินจนกว่าจะมีค่า Body Mass Index และค่าวัดรอบเอวตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นคำสั่งที่ชอบด้วย ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงาน ไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงาน คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการประกาศปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และมาตรการบางส่วนที่จำเลยเคยใช้บังคับแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และมาตรการที่กำหนดก็มิได้เป็นโทษแก่โจทก์แต่ละคนเมื่อเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์เดิมหากโจทก์แต่ละคนสามารถปรับปรุงบุคลิกภาพได้ตามเกณฑ์ ทั้งยังเป็นสิทธิในการบริหารจัดการที่จำเลยในฐานะนายจ้างมีอำนาจกระทำได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งดังกล่าวแม้จะใช้บังคับเฉพาะแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแต่ก็ใช้บังคับเป็นการทั่วไปทุกคน มิใช่ใช้บังคับแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเฉพาะบุคคลหรือเป็นรายๆไป จึงไม่ใช่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและมิได้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอื่น แม้คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจะมิได้กล่าวโดยตรงว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโจทก์ทั้งหมดหรือไม่ แต่ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยโดยรวมแล้วว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโจทก์ทั้งหมดนั่นเอง คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและแสดงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นโดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่งแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2559 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันอื่นที่มิใช่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 โดยไม่ได้ส่งหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ เท่ากับเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นอุทธรณ์ที่หยิบยกข้อเท็จจริงใหม่กล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองและมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกระบวนการผลิตแร่ที่เหมืองแร่ของจำเลยที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการ ได้จัดทำบันทึกในนามของจำเลยว่าจำเลยซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่กล่าวหาว่าจำเลยทำเหมืองแร่รุกล้ำที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย ซึ่งแม้โจทก์จะใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดิน ก็เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จำเลยได้สัมปทานทำเหมืองแร่หลังจากหมดอายุประทานบัตรซึ่งโจทก์รู้ว่าจะหมดอายุในเวลาอีกไม่นาน และต่อมาอีกประมาณ 1 ปี โจทก์ก็เข้าครอบครองที่ดินทันทีที่หมดอายุประทานบัตรของจำเลยและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559 เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 90/5 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น" คดีนี้ แม้คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุมาตรา 90/5 มาด้วย จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 90/5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 90/5 จึงเป็นการเกินคำขอ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 อาจเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงในนาม ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 จะได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6170/2559 การจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตเพิ่มเติมจากผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4 การจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 เมื่อมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2527 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตเสียภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละสิบของภาษี และมาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 บัญญัติให้เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินภาษี การคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทยในกรณีนี้จึงต้องคำนวณในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตรวมกับเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตที่ต้องชำระ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6162/2559 อาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 หมายถึง อาคารที่บุคคลสามารถแยกถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วน ๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อเจ้าของร่วมในอาคารชุดต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารชุดดังกล่าว ทั้งอาคารเป็นอาคารเพื่อประกอบกิจการโรงแรม จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล และการใช้ทรัพย์ส่วนกลางซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมภายในอาคารดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (4) บัญญัติไว้ กล่าวคือ จะต้องกระทำโดยการแก้ไขข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ด้วยการลงมติของเจ้าของร่วมและจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้ลงมติแต่เพียงอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารเท่านั้น และการลงมติดังกล่าวก็ไม่อาจถือได้ว่าที่ประชุมใหญ่ได้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารจากอาคารชุดเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นอาคารชุดเพื่อประกอบกิจการโรงแรมไปในตัว เนื่องจากการอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งจะต้องกระทำด้วยการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 (4) ดังนั้น ก่อนที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมจะลงมติในการประชุมวาระที่ 7 จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการลงมติอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงการใช้อาคารหรือต้องทำการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อน การลงมติเจ้าของร่วมด้วยเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 44 แล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนการลงมติในวาระนี้ ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้ลงมติให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีสิทธิสั่งปรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบังคับได้ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท มีลักษณะเช่นเดียวกับการตกลงว่าจะให้เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงมีผลใช้บังคับได้ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 18/1 วรรคสอง บัญญัติให้มีการออกข้อบังคับแก่ผู้ที่ไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยการถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางได้ แต่ทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 หมายถึง ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม เมื่อน้ำประปาหรือก๊าซหุงต้มเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ภายในห้องชุดแต่ละห้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมแต่ละคนโดยเฉพาะ น้ำประปาและก๊าซหุงต้มจึงมิใช่ทรัพย์ส่วนกลาง การที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมลงมติให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิระงับการให้บริการน้ำประปาและก๊าซหุงต้มภายในห้องชุดของผู้ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงเป็นการไม่ชอบ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 6 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 6 จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 6 ได้ว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญมารักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดและซ่อมแซมทรัพย์ส่วนกลางที่ชำรุดเสียหายก็อยู่ในความหมายของคำว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 36 วรรคสอง แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6162/2559 อาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 หมายถึง อาคารที่บุคคลสามารถแยกถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วน ๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อเจ้าของร่วมในอาคารชุดต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารชุดดังกล่าว ทั้งอาคารเป็นอาคารเพื่อประกอบกิจการโรงแรม จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล และการใช้ทรัพย์ส่วนกลางซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมภายในอาคารดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (4) บัญญัติไว้ กล่าวคือ จะต้องกระทำโดยการแก้ไขข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ด้วยการลงมติของเจ้าของร่วมและจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้ลงมติแต่เพียงอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารเท่านั้น และการลงมติดังกล่าวก็ไม่อาจถือได้ว่าที่ประชุมใหญ่ได้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารจากอาคารชุดเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นอาคารชุดเพื่อประกอบกิจการโรงแรมไปในตัว เนื่องจากการอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งจะต้องกระทำด้วยการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 (4) ดังนั้น ก่อนที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมจะลงมติในการประชุมวาระที่ 7 จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการลงมติอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงการใช้อาคารหรือต้องทำการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อน การลงมติเจ้าของร่วมด้วยเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 44 แล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนการลงมติในวาระนี้ ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้ลงมติให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีสิทธิสั่งปรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบังคับได้ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท มีลักษณะเช่นเดียวกับการตกลงว่าจะให้เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงมีผลใช้บังคับได้ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 18/1 วรรคสอง บัญญัติให้มีการออกข้อบังคับแก่ผู้ที่ไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยการถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางได้ แต่ทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 หมายถึง ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม เมื่อน้ำประปาหรือก๊าซหุงต้มเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ภายในห้องชุดแต่ละห้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมแต่ละคนโดยเฉพาะ น้ำประปาและก๊าซหุงต้มจึงมิใช่ทรัพย์ส่วนกลาง การที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมลงมติให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิระงับการให้บริการน้ำประปาและก๊าซหุงต้มภายในห้องชุดของผู้ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงเป็นการไม่ชอบ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 6 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 6 จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 6 ได้ว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญมารักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดและซ่อมแซมทรัพย์ส่วนกลางที่ชำรุดเสียหายก็อยู่ในความหมายของคำว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 36 วรรคสอง แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6160/2559 ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ จนนำไปสู่การจับกุม ว. ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แม้จำเลยมิได้นำ พ.ต.ต. ส. ไปจับกุม ว. ก็ตาม หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลแล้วยากที่ พ.ต.ต. ส. จะสืบทราบว่า ว. จำหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ศาลจึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6140/2559 จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางทะเลตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) ที่ทำกับผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่ง สิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้รับตราส่งจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ทั้งนี้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และถือว่าสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เริ่มตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 1 รับสินค้าไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 4 ผู้ประกอบการโรงพักสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ประกอบมาตรา 40 (3) ซึ่งเมื่อรับสินค้าที่ท่าเรือต้นทางจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งโดยมิได้บันทึกสภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอกไว้ในใบตราส่งจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 รับสินค้าที่มีสภาพภายนอกเรียบร้อยไว้เพื่อการขนส่ง ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเมื่อเรือมาถึงท่าเรือของจำเลยที่ 4 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีการบันทึกไว้ที่มุมล่างขวาของ "Time Sheet" ว่าสินค้าได้รับการขนถ่ายขึ้นจากเรือตามสภาพที่บรรทุกลงเรือโดยไม่มีการสำรวจความเสียหายของสินค้าหรือมีการบอกกล่าวเป็นหนังสือจากผู้รับตราส่งถึงจำเลยที่ 1 ว่า สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายภายในเวลาตามที่บัญญัติในมาตรา 49 (1) และ (2) จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามสภาพที่ระบุไว้ในใบตราส่งและโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าเหตุที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางถนนจากท่าเรือของจำเลยที่ 4 ไปยังโรงงานของบริษัท พ. ที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นผู้ขนส่งและผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยรับขนของ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้า หากเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 618 อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 บัญญัติว่า "ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของสูญหายหรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายในแปดวันนับแต่วันส่งมอบ อนึ่ง บทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้" และแม้จำเลยที่ 5 จะให้การถึงเหตุที่ความรับผิดของผู้ขนส่งสิ้นสุดลงดังกล่าวเพียงคนเดียว แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อาจต้องรับผิดร่วมกันเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ กระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 5 ให้การไว้ เมื่อมิได้ทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถือว่าการที่จำเลยที่ 5 ให้การนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 5 ได้ทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อสภาพความเสียหายของสินค้าไม่สามารถเห็นได้จากสภาพภายนอกเช่นนี้ ผู้รับตราส่งจะต้องบอกกล่าวเรื่องความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ภายในแปดวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 แล้วแต่กรณีส่งมอบสินค้า มิฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมสิ้นสุดลง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 5 ระหว่างวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 ตามลำดับ และจำเลยที่ 5 ส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งที่โรงงานของบริษัท พ. เมื่อวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 ตามลำดับ ระยะเวลา 8 วัน ที่ผู้รับตราส่งจะต้องบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในเรื่องความเสียหายของสินค้าจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5, 6 และ 8 มิถุนายน 2553 ตามลำดับ เมื่อผู้รับตราส่งไม่ได้บอกกล่าวภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น จึงต้องถือว่าความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้สิ้นสุดลงแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งคดีไม่มีประเด็นเรื่องการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งจะเนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 หรือไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6134/2559 ในวันนัดไต่สวนคำร้องเพื่อขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ ศาลพิเคราะห์คำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวน แล้วศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ว่า กรณีไม่มีเหตุให้เลื่อนคดี ให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์เพราะไม่มีเหตุตามคำร้องหรือไม่เชื่อว่าพยานโจทก์เจ็บป่วยจริง ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่จะให้เลื่อนคดีตามคำร้องของโจทก์ หรือสั่งให้เจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูอาการเจ็บป่วยของพยานโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41 แต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีตามคำร้องของโจทก์ในประเด็นใด อย่างไร ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์แล้วมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามคำร้องของโจทก์ต่อไปโดยไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว กรณีที่จะเป็นการขายทอดตลาดอันฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้คัดค้านราคาขายทอดตลาดแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดไปโดยไม่ขยายระยะเวลาขายทอดตลาด แต่ตามคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์อ้างว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของโจทก์ ผู้แทนโจทก์ออกไปทำธุระส่วนตัวซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อผู้แทนโจทก์กลับเข้าห้องขายทอดตลาดอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปโดยไม่มีผู้คัดค้าน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายใดที่จะต้องประกาศหรือโทรศัพท์ติดตามโจทก์เพื่อให้โจทก์มาคัดค้านราคาขายทอดตลาดก่อนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เป็นการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ว่าผู้แทนโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเอง และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีราคาซื้อขายสูงถึง 1,000,000 บาท และผู้แทนโจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าสู้ราคาไม่ต่ำกว่า 680,000 บาท ฟังไม่ขึ้น เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้ มิได้เป็นการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร ทั้งไม่มีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคา หรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง มิใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2559 สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ผิดนัด อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่อายุความ 10 ปีไม่ เมื่อเริ่มนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเกิน 5 ปี หนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108/2559 การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่ตรงตามประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินมัดจำแก่โจทก์นั้น แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลล้มละลายกลางอันเป็นศาลที่มีเขตอำนาจแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและไม่คืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตามที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปนั้น หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้บุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้หรือบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายโดยกระทำหรือวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 อันเป็นบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งหรือดำเนินการภายในกำหนดเวลา 14 วัน การที่โจทก์ดำเนินคดีนี้โดยทำเป็นคำฟ้องนั้นถือได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาตามมาตรา 146 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2559 การไต่สวนมูลฟ้องเป็นกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (12) จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น ยังไม่เกี่ยวกับจำเลย คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรง ก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์กลับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ แสดงว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ ยังไม่เกี่ยวกับจำเลยหรือมีผลผูกพันจำเลยในชั้นพิจารณา ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงยังไม่ยุติ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2559 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่ จูง ไล่ต้อนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทางเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขจึงเป็นผู้ดูแลสัตว์จะต้องดูแลควบคุมมิให้สัตว์กีดขวางการจราจร การที่สุนัขของจำเลยทั้งสองวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด ย่อมเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้ม เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงและไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างไร ดังนั้น เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลสุนัข เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2559 โจทก์อุทธรณ์ว่า จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตาย เหลือ จ. เพียงคนเดียว โดยไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดก จ. ระบุว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดบังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัด จ. เพราะว่า จ. โอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวนถือว่า จ. มีพฤติกรรมในการปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2559 แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2559 แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด มีน้ำหนักรวม 84.56 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 88.723 กรัม น้ำหนักรวมน้อยกว่าปริมาณสารบริสุทธิ์ แต่ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ระบุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด มีน้ำหนักรวม 84.56 กรัม มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95.45 เมื่อคำนวณแล้วจะได้ผลเป็นสารบริสุทธิ์ 80.712 กรัม ดังนั้น ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ระบุว่า คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 88.723 กรัม นั้น เป็นการคำนวณผิดพลาด ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเกี่ยวกับการคำนวณหาปริมาณสารบริสุทธิ์แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แต่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะเป็นเหตุให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ทั้งหมด ทั้งการบรรยายฟ้องที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6048/2559 จำเลยขับรถจักรยานยนต์พา ศ. ไปรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนที่ อ. ค้างชำระ ศ. ที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุและเดินตาม ศ. เข้าไปในร้าน จำเลยรับว่าเป็นคนขับรถจักรยานยนต์พา ศ. นำเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ไปซุกซ่อนไว้ที่โคนเสาป้ายจราจร จำเลยพาไปยังจุดซ่อนและพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากจำเลยไม่บอกและไม่พาไปเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่อาจทราบได้ พฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ว่ารู้เห็นกับการกระทำของ ศ. จำเลยจึงร่วมกับ ศ. มีเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศ. รับว่า ตกลงขายเมทแอมเฟตามีนแก่ อ. จริง แต่เดินทางมาในวันเกิดเหตุเพื่อรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนที่ อ. ค้างชำระเท่านั้น ไม่ได้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบ โดยซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนไว้ที่โคนเสาป้ายจราจรห่างจากร้านที่เกิดเหตุ 1 กิโลเมตร เมทแอมเฟตามีนจึงยังไม่พร้อมส่งมอบแก่ อ. ในทันทีที่ได้รับเงิน พฤติการณ์ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ไม่เป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2559 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางไปกับพวกไปที่เกิดเหตุโดยทราบมาก่อนแล้วว่าพวกของจำเลยที่ 1 จะไปทำร้ายผู้เสียหาย และหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะร่วมทำร้ายผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงต้องการทำร้ายผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น แต่เมื่อผลการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ แต่พลาดไปถูกผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 และฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มี ส. หรือนางฐิตาภา กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แม้ต่อมาจะบรรยายว่า โจทก์โดย นางฐิติภา มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ตาม แต่เมื่อ ด. เบิกความเป็นพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีเป็นหลักฐานว่า บริษัทโจทก์โดยนางฐิตาภา กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ ด. ดำเนินคดีแทน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านางฐิตาภา กับนางฐิติภา ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง และเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์พิมพ์ชื่อ "นางฐิตาภา" ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็น "นางฐิติภา" อันเป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้อำนาจฟ้องคดีของโจทก์เสียไป ส่วนที่ท้ายฟ้องเดิมทนายโจทก์ลงชื่อไว้ในท้ายฟ้องในฐานะโจทก์ก็เป็นเพียงฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น อันเป็นฟ้องที่มิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไป โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งคำขอท้ายฟ้องอาญาที่โจทก์โดย ด. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์แทนคำขอท้ายฟ้องเดิม โดยอ้างว่าเป็นความผิดหลงเผอเรอของทนายโจทก์นั้นก็พอแปลได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง และกรณีถือว่ามีเหตุอันควรที่จะแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับดังกล่าวเข้ามาในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ถือว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2559 พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (7) กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าเมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความและให้คณะกรรมการทนายความจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ อันมีผลให้ทนายความผู้นั้นขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 (4) เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสภาทนายความได้จำหน่ายชื่อ ณ. ออกจากทะเบียนทนายความ ณ. จึงยังไม่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 ดังนั้นกระบวนพิจารณาของศาลที่ ณ. เป็นทนายความจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ ณ. ทนายความจำเลยที่ 2 ได้โดยชอบจึงถือว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5973/2559 การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายแล้วต่อมาศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณา ศาลที่รับพิจารณาคดีล้มละลายไว้ก่อน จำต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) เพื่อให้โจทก์ที่ฟ้องคดีซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งของจำเลยซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูไปดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย คำสั่งของศาลย่อมมีผลผูกมัดทั้งเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 90/27 แผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบจึงผูกมัดโจทก์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคหนึ่ง ผลของคำสั่งดังกล่าวยังคงผูกมัดโจทก์และมูลหนี้ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 กล่าวคือ มีผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ทำให้จำเลยมาผูกพันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในแผนแทนการชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559 การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2559 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความ และให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำเช่นนั้นในบริเวณศาลอันจะถือว่าเป็นตัวการ แต่ก็ถือเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.อ. มาตรา 17 และ 84
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2559 แม้คำสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อศาลฎีกาอนุญาตให้ผู้ร้องฎีกาและศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์แก้แล้ว โจทก์ไม่ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ร้องและส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์แก้อีก ขณะที่ ธ. และ ส. มอบอำนาจให้ ย. และ ด. ยื่นคำร้องขอคืนของกลางในคดีอาญาและแต่งตั้งให้ทนายความเข้าดำเนินการ ธ. ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง แม้ว่าขณะที่ ย. และ ด. มอบอำนาจช่วงให้ ก. ดำเนินคดี ธ. จะพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนผู้ร้องไปแล้วก็ตาม ก็หาได้ทำให้ฐานะของผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ร้องสิ้นสุดไปไม่ เมื่อการมอบอำนาจให้ ย. และ ด. ยังไม่ถูกยกเลิกเพิกถอน หนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับการดำเนินคดีและหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีจึงมีผลสมบูรณ์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอคืนของกลางดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2559 การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองอันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เป็นการกระทำความผิดที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกัน ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการที่จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี นั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเมาสุรา โดยโจทก์มิได้บรรยายอ้างเหตุว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสาม แต่คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา และความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราจะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5898/2559 ข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัตินั้นต้องเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นหรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้และเจ้าพนักงานไม่สามารถค้นพบหรือยึดได้หากไม่ได้รับข้อมูลจากผู้กระทำความผิด แม้หลังจากถูกจับกุมจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจค้นเฮโรอีนของกลางที่ซุกซ่อนอยู่บริเวณกอกล้วยหลังบ้านจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจยึดเฮโรอีนของกลางได้ จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5884/2559 อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลล้มละลายกลางเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในการสืบพยานโจทก์และการรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ เมื่อคำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวมิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งศาลฎีกาพิจารณาแล้วไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2552 ซึ่งศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาตามยอม รวม 4 คดี จำเลยตกลงยินยอมชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าทนายความแก่โจทก์และเจ้าหนี้อื่นอีก 3 ราย ภายในวันที่ 10 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (8) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5861/2559 คดีนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ซึ่งได้ประกาศและให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 และมาตรา 48 ความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และความในลำดับที่ 53 ในช่องประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดาของบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 และให้ใช้บทบัญญัติตามความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 และมาตรา 48 ความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่แก้ไขใหม่ มีผลให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับไม้พะยูงตามฟ้อง ฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป ต้องถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ซึ่งความผิดทั้งสองฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติเดิม และพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 5,000 บาท จึงเป็นโทษที่ต่ำกว่าอัตราโทษตามกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยโดยปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 โดยไม่รอการลงโทษแก่จำเลย อันเป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปรับบทกฎหมายและลงโทษจำเลยตามฟ้องเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด และมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท สูงกว่าระวางโทษตามบทกฎหมายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ย่อมถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบที่จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ การที่จำเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและการที่จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ลักษณะความผิดในแต่ละข้อหาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้หวงห้ามที่มีราคาแพงมีความต้องการในตลาดสูง แม้มีจำนวนไม่มากแต่ก็เป็นการทำลายทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ เป็นเหตุให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติถูกทำลาย ประกอบกับปัจจุบันปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนมีมากมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5852/2559 คำให้การชั้นสอบสวนของ ส. เป็นพยานบอกเล่า แต่โจทก์มีข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระถือเสมือนเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย จึงเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีความเกี่ยวพันกับการขนส่งกัญชาของ ส. อย่างไร จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อกับ ส. หลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้มิได้โทรศัพท์ติดต่อ ส. และ ผ. ผู้ว่าจ้าง แต่ก็ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 โดยตลอดเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ย่อมรู้เรื่องดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองขับรถดูต้นทางให้ ส. จริง จำเลยทั้งสองจึงร่วมกระทำความผิดฐานมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5851/2559 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดโทษให้ผู้กระทำความผิดฐานพยายามต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสามเนื่องจากต้องรับโทษสูงขึ้นกว่าการกระทำความผิดขั้นพยายามทั่วๆ ไป เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ย่อมไม่อาจนำมาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามโดยต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามบทบัญญัติมาตรานี้ ทั้งยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2559 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร สวนแหลมทอง 2 จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนิติบุคคลเพื่อดำเนินการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ตามข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ข้อ 8 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ดังนั้น แม้คณะกรรมการนิติบุคคลชุดที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมการอยู่ด้วยจะครบวาระแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ และดำเนินกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการชุดนี้จึงยังคงมีอำนาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะหากถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจบริหารกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ย่อมทำให้เกิดปัญหาขัดข้องในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ได้ ส่วนการที่คณะกรรมการชุดนี้ไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่นั้น โจทก์ทั้งแปดสามารถรวบรวมสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนให้ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเสนอวาระเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ต่อคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ซึ่งคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ จะต้องจัดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งแปดจะกระทำได้ โจทก์ทั้งแปดเป็นเพียงสมาชิกของหมู่บ้านจัดสรร สวนแหลมทอง 2 ไม่มีอำนาจบริหารกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่มีอำนาจใดที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ทั้งแปดได้ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่ได้เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งแปดแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5839/2559 โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยระบุรายละเอียดของเช็คพิพาท และแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทมาท้ายฟ้อง พร้อมทั้งคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ครบถ้วนแล้ว ส่วนมูลหนี้ตามเช็คพิพาทจะเป็นการชำระหนี้อะไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าก่อสร้าง จำเลยทั้งสองให้การรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่โจทก์จริง แต่อ้างว่าเป็นการออกเช็คเพื่อให้โจทก์นำไปเป็นหลักประกันค่ายืมวัสดุก่อสร้าง ทั้งจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ค่าก่อสร้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าเช็คพิพาททั้งหกฉบับไม่มีมูลหนี้ จำเลยทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของตน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559 คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2559 จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด มาแบ่งให้ ธ. เสพ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นโดยวิธีการให้อันเป็นการจำหน่ายตามบทนิยามคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2559 ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยจำนวน 1,087,902.64 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 128812 และ 137866 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของจำเลยก่อน ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ หลังจากนั้นผู้ร้องได้นำผู้คัดค้านยึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์หลักประกันของจำเลยซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับ ว. และผู้คัดค้านนำออกขายทอดตลาดได้ในราคา 940,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน แล้วจ่ายเงินสุทธิในส่วนของจำเลยเป็นเงิน 438,291 บาท ให้แก่ผู้ร้อง และได้กันเงินในส่วนของ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้จำนวน 467,650 บาท เมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อผู้คัดค้านขอให้จ่ายเงินที่กันไว้ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยและ ว. ได้นำทรัพย์หลักประกันที่ยึดมาจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้ และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยและ ว. เป็นหนี้ร่วมกันต่อผู้ร้องโดย ว. เป็นหนี้ผู้ร้องคิดถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 935,291.23 บาท เมื่อทรัพย์หลักประกันเป็นของจำเลยและ ว. ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันและผู้คัดค้านใช้อำนาจยึดออกขายทอดตลาดรวมกันโดยแบ่งแยกกันมิได้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ ว. จะไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยก็ตามแต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งมีบุริมสิทธิที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์หลักประกันที่ผู้คัดค้านยึดไว้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องยื่นฟ้องหรือคำร้องต่อศาลก่อน ซึ่งผู้คัดค้านสามารถส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีโอกาสคัดค้านแล้วสอบสวนพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้ การที่ผู้คัดค้านและศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5748/2559 เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และการที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้นั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ คือ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใดจะต้องนำหนี้ดังกล่าวมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้ไม่อาจที่จะได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามจำนวนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้หรือผู้ทำแผนซึ่งได้นำเงินมาชำระหนี้หรือนำเงินมาวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์แต่อย่างใด และการที่ลูกหนี้นำเงินไปชำระหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว หรือผู้ทำแผนนำเงินไปวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์อันมิใช่วิธีที่กฎหมายกำหนดเพื่อชำระหนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่อาจกระทำได้เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย หนี้จึงยังไม่ระงับ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อกฎหมายล้มละลายในส่วนของการฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนจะดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการค้าตามปกตินั้นหาได้ไม่ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5741/2559 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งสองส่วน รวมกันเป็นเงิน 1,750 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มา 900 บาท ถือว่าเป็นการชำระค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องของโจทก์ครบถ้วนแล้ว ที่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องดำเนินคดีในส่วนฟ้องตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไป และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 243 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5695/2559 สถานประกอบการโจทก์ที่เจ้าพนักงานของจำเลยนำหนังสือแจ้งการประเมินไปส่งเป็นภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของโจทก์ ในวันนั้นมีพนักงานของโจทก์อยู่ที่สถานประกอบการแต่ไม่มีผู้ใดยินยอมรับหนังสือแจ้งการประเมิน เพราะหากพนักงานของโจทก์ยินยอมรับหมาย ก็ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานของจำเลยจะต้องไปเชิญเจ้าพนักงานตำรวจทำการปิดหมาย จึงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของเจ้าพนักงานของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่ชอบตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คู่กรณีมีสิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงหรือป้องกันสิทธิของตนได้..." และวรรคสองบัญญัติว่า "การตรวจดูเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการตรวจดูเอกสาร หรือการจัดทำสำเนาเอกสารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง" เมื่อพิจารณามาตรา 31 ดังกล่าวทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกัน จะเห็นได้ว่า การตรวจดูเอกสารหาใช่เป็นบทบัญญัติที่รับรองเพียงแต่สิทธิในการตรวจดูเอกสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดทำสำเนาเอกสารด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2559 การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบ ทั้งยังเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมา ตราบใดที่ผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ยังคงเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าว เมื่อคณะบุคคลที่จำเลยทั้งเจ็ดเข้าร่วมเป็นสมาชิกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ กับคณะบุคคลที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีก่อนเป็นคณะบุคคลเดียวกัน และช่วงระยะเวลาที่จำเลยทั้งเจ็ดสมัครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 สมัครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลในคดีดังกล่าว ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว หากคดีดังกล่าวถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญาในความผิดฐานเป็นอั้งยี่มาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือหากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือศาลฎีกา ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในความผิดเป็นอั้งยี่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บทบัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่ โดยมีการกระทำถึงขั้นคบคิดหรือตกลงกันหรือประชุมหรือตกลงกันเพื่อกระทำความผิด ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตาม ป.อ. มาตรา 135/2 (2) จะเป็นความผิดต่อเมื่อผู้กระทำได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) อันเป็นการยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่เช่นกัน แม้ความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายอาจเป็นความผิดกรรมเดียวกันได้หากเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อก่อการร้ายซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้ต่างจากวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน และเจตนาในการกระทำความผิดคดีนี้ต่างกับเจตนาในการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับฟ้องในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีดังกล่าว เมื่อการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำการก่อการร้าย และลงมือกระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยร่วมกันมีวัตถุระเบิด ดังนี้ การกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้จึงเป็นกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวอันถือเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นมีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดไม่ว่าโดยร่วมกันคบคิดหรือวางแผนเพื่อกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนาต่างกัน อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2559 การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 วรรคสาม และในกรณีที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งต่อนายทะเบียนว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1549 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรตั้งแต่วันที่เด็กเกิด กรณีเช่นนี้แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสามและวรรคสี่ และแม้เด็กหรือบิดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว ก็ให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานของเด็กหรือเด็กที่จะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับมรดกระหว่างกันอันมีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 1556 วรรคสี่ และมาตรา 1558 สำหรับคดีนี้เป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่าให้ผู้อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย โดยมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1552 ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5660/2559 บุตรที่เกิดนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาในภายหลังได้ 3 ประการ คือ เมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาตามกฎหมายของ พ. และมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. มิใช่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งการที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 และมาตรา 1555 นั้น เป็นสิทธิของฝ่ายเด็กที่จะฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือ ในกรณีที่เด็กยังมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน หรือในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็ก มิใช่กรณีที่ให้สิทธิแก่บุคคลที่อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 แต่กลับขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาของศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. กรณีของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 1547 จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2559 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยในฐานะผู้รับจำนอง ทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มี จ. ทนายความโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ทรัพย์จำนองอันเป็นหลักประกัน ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 57826 และ 57827 ตำบลทุ่งครุ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้ถูกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล พี.เอ็น.เทพเจริญ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 4009/2546 ของศาลแพ่งธนบุรีนำยึดไว้แล้ว และกรมบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมนำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาจำนอง เมื่อโจทก์นำสืบเพียงนี้ แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง เช่นนี้ การจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 57826 และ 57827 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (เดิม) ดังนั้น ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยในทางจำนอง โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยตามความใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 การฟ้องคดีของโจทก์ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) กล่าวคือ โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันตามมาตรา 10 (2) ดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559 การที่โจทก์เบิกทองคำซึ่งเป็นลวดที่ใช้ในการทำงานไปเกินกว่าปริมาณงานในแต่ละครั้งเพราะโจทก์ทำงานกับจำเลยมานานและมีความเชี่ยวชาญจึงสามารถทำชิ้นงานได้มากกว่าคนอื่น เมื่อไม่ได้ความว่าโจทก์เอาลวดทองคำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และในการคืนผงทองคำตลอดเวลาหลายสิบปีจะมีส่วนเกินไปบ้างหรือขาดไปบ้างก็มีขั้นตอนการดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ขาดก็จะต้องหักเป็นเงินทุกครั้งเสมอมา ก่อนเดือนที่จะถูกเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยมีปัญหาหรือขัดแย้งกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการคืนเศษทองคำขาดหรือเกิน คงมีปัญหาเฉพาะเดือนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น และเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยกะทันหันโจทก์จึงไม่มีโอกาสเข้าไปเคลียร์งานหรือคืนผงทองคำให้แก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยขายซิงค์น้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์หยิบอันอื่นผิดไปจากที่ตกลงกัน ซึ่งต่อมาโจทก์ได้นำมาคืนจำเลยแล้ว และโจทก์กระทำในฐานะที่เป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างกระทำต่อนายจ้าง ตามพฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์โดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 และมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5618/2559 โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมแก้ไขงานที่จำเลยส่งมอบคิดเป็นเงิน 1,829,089.80 บาท เมื่อตามสัญญาจำเลยตกลงที่จะรับประกันผลงานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากส่งมอบ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานต่อโจทก์ แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องต่อโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับ กรณีจึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ลูกหนี้ชดใช้ มิใช่ตามจำนวนที่โจทก์คิดคำนวณมาเอง เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ค่าว่าจ้างงานล่วงหน้าที่จ่ายให้แก่จำเลยซึ่งก็ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงหรือไม่ และมูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยที่โจทก์ยังมิได้นำมูลหนี้ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เพื่อให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ก่อนแต่อย่างใด จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2559 การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7 (2) เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยในปัญหาว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และพิพากษายกฟ้องจำเลยดังกล่าวมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องเขตอำนาจศาล
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 กำหนดหลักเกณฑ์ของฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยวรรคสามบัญญัติว่า "ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ได้แก่ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร" และกฎกระทรวง (ฉบับที่ 132) ข้อ 8 ระบุว่า ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องเป็นราคาที่ได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระสำหรับของที่นำเข้านั้น เมื่อได้มีการขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร การตรวจปล่อยสินค้าถ่านหินของโจทก์เทกองในลักษณะ BULK CARGO ผลการคำนวณจากการวัดระดับเรือได้น้ำหนักสินค้า 6,198 เมตริกตัน เท่ากับน้ำหนักสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า ใบตราส่งสินค้า บัญชีสินค้าสำหรับเรือ บัญชีหีบห่อสินค้า ใบรับรองค่าขนส่ง และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยมีราคาต่อหน่วยคือ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน จึงเป็นราคาสินค้า 495,840 ดอลลาร์สหรัฐ การที่โจทก์ปฏิเสธราคาเช่นว่านั้นว่าไม่ถูกต้อง ความจริงราคาที่โจทก์จ่ายต่ำกว่านั้น โจทก์จึงมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ความดังที่อ้าง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าค่าความชื้นที่ปรากฏตามบัญชีราคาสินค้านั้นสามารถคำนวณหักออกจากปริมาณน้ำหนักสินค้าทั้งหมดเพื่อคำนวณหาราคาที่แท้จริงอย่างไร โจทก์จึงไม่อาจนำค่าความชื้นมาหักเป็นส่วนลดจากมูลค่าของสินค้าได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้... (4) เงินได้ที่เป็น (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน" เดิมบริษัทมีทุนจดทะเบียน 35,000,000 วันที่ 27 เมษายน 2549 บริษัทจดทะเบียนลดทุนเหลือ 29,000,000 บาท งบดุลของบริษัทรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ก่อนการคืนเงินลงทุนมีกำไรสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำนวน 14,888,824 บาท เมื่อหักเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,900,000 บาท คงเหลือกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน 9,988,824 บาท การที่บริษัทจดทะเบียนลดทุนและจ่ายเงินลดทุนหรือเงินลงทุนคืนแก่ผู้ถือหุ้น 6,000,000 บาท จึงเป็นการจ่ายเงินลดทุนซึ่งส่วนที่จ่ายคืนนั้นไม่เกินกว่ากำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ง) ที่โจทก์ทั้งสามต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5559/2559 โจทก์นำสืบว่า โจทก์ทำข้อตกลงขายชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อโดยให้กำหนดราคาขายคำนวณจากต้นทุนจริงบวกกำไรร้อยละ 15 ตามสัญญาซื้อขายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์จำหน่ายภายในประเทศแต่สัญญาดังกล่าวผู้ขายที่ตกลงทำสัญญาไม่ใช่บริษัทโจทก์ และในข้อสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงให้มีผลใช้บังคับกับโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งในข้อ 2 ของสัญญาก็ระบุเพียงว่า ราคาซื้อสินค้าให้เป็นไปตามเอกสารกำหนดราคาเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการกำหนดราคาต้นทุนชิ้นส่วนบวกกำไรร้อยละ 15 ข้อสัญญาตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่ตรงกับข้อตกลงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง และที่โจทก์นำสืบอ้างว่าตามข้อตกลงทางการค้า การกำหนดราคาต้นทุนของชิ้นส่วนต้องคำนวณราคาชิ้นส่วนจากราคาวัตถุดิบ ค่าเครื่องจักร แรงงาน และระยะเวลาในการผลิตชิ้นส่วน เป็นต้น แต่โจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้โจทก์ลดราคาสินค้าที่ขาย เนื่องจากโจทก์คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงอย่างไร ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 82/10 (1) อีกทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีความชัดเจนเพียงพอถึงต้นทุนวัตถุดิบและวิธีการคำนวณต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้า อันเป็นเหตุในการลดราคาสินค้าหรือเพิ่มราคาสินค้าที่จะมีสิทธิออกใบลดหนี้หรือเพิ่มหนี้ได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า การออกใบลดหนี้ของโจทก์เกิดจากการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากคำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง อันจะเป็นเหตุให้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10 (1) (2) (3) และ (4) แห่ง ป.รัษฎากร ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (6) กำหนดให้บุคคลสองประเภทที่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่า ประเภทแรก คือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งได้แก่บุคคลตามมาตรา 82 รวมทั้งบุคคลตามมาตรา 82/1 และมาตรา 82/2 ประเภทที่สอง คือ บุคคลตามมาตรา 86/13 ซึ่งในวรรคหนึ่งของมาตรา 86/13 ได้บัญญัติบุคคลสองไว้สองประเภทเช่นกัน ประเภทแรก คือ บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ประเภทที่สอง คือ บุคคลซึ่งมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ ซึ่งนอกจากหมายความถึงบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนแต่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ ยังหมายความรวมถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนแต่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ด้วย กรณีนี้โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่ง ป.รัษฎากร กำหนดว่าการออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 86 ถึงมาตรา 86/14 เมื่อโจทก์ออกใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 82/10 โจทก์ย่อมเป็นบุคคลตามมาตรา 86/13 ที่ต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (6) ด้วย แต่เนื่องจากเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (6) สูงกว่าเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) โจทก์จึงคงรับผิดเบี้ยปรับจำนวนสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบลดหนี้ที่โจทก์ออกโดยไม่มีสิทธิที่จะออกได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5548/2559 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อย.2203/2555 ของศาลชั้นต้น และมีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ ความปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อย.3747/2556 ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลไม่อาจรู้เองได้แต่การจะนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อเพราะมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลชั้นต้นเองว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นในคดีนั้นพิพากษาว่าอย่างไร จึงสามารถใช้ดุลพินิจนับโทษต่อได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงเพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2559 การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงเข้าไปที่ขอบหน้าต่างด้านบนของห้องของบ้านเกิดเหตุ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อกระสุนปืนกระทบขอบหน้าต่างแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกผู้ที่อยู่ภายในห้องถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5453/2559 โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิตสำหรับปี 2546 ถึงปี 2551 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทกันตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตเท่านั้น การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นสถานบริการตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ไว้เป็นที่ชัดเจนแล้ว โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกันและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แม้สถานประกอบการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาใช้เป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ โดยการให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นสถานที่ทำให้รื่นเริงหรือบันเทิงใจ ซึ่งเปิดในเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย อันมีลักษณะแตกต่างจากร้านอาหารหรือภัตตาคารโดยทั่วไป อีกทั้งเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน นอกจากนี้โจทก์ยังมีวัตถุที่ประสงค์ว่า ประกอบกิจการภัตตาคาร ห้องอาหาร บาร์ ไนท์คลับ ดังนั้น สถานประกอบการของโจทก์จึงจัดอยู่ในพิกัดลักษณะบริการประเภท 09.01 ไนต์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 7
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2559 ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2559 แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้รับจำนอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่ บสท. ส. จำกัด ดังนั้น จำเลยไม่ใช่ผู้รับจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยให้ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ขณะโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นฟ้องคดีนี้นั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในการรับจำนองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ชอบแล้ว และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2559 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระ ส่วนบทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามกฎหมาย โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ประมูลซื้อห้องชุดเลขที่ 83/15 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ 1 ของอาคารชุด ศ. อาคาร 3 อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยการขายทอดตลาดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ผู้ซื้อย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิมและต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามข้อบังคับของจำเลย เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบด้วย ในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุด ตามปกติของเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบุเงื่อนไขการขายทอดตลาดไว้ว่า ผู้ซื้อได้ต้องรับผิดชอบเรื่องภาระหนี้สิน (หากมี) ต่อนิติบุคคลอาคารชุดด้วยซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบังคับคดี โจทก์จึงสามารถตรวจสอบภาระหนี้สินได้จากเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนเข้าประมูลสู้ราคาได้ ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระมีจำนวนมากหรือสูงกว่าราคาห้องชุดที่โจทก์ซื้อ โจทก์สามารถตัดสินใจที่จะเข้าสู้ราคาในการประมูลขายทอดตลาดหรือไม่ตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่จำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์และระงับการให้สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่โจทก์ได้ ค่าปรับของจำนวนค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระตามข้อบังคับของจำเลยมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ซึ่งจำเลยกำหนดไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เจ้าของห้องชุดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรนั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 โจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องชุดชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งถ้าหากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ก็มีอำนาจลดลงให้เป็นจำนวนที่พอสมควรได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจากจำเลยแจ้งจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดที่ค้างชำระแต่อย่างใด ที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้ทำนองว่า จำเลยเรียกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและค่าปรับเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางเดือนละ 425 บาท ทั้ง ๆ ที่ในข้อบังคับหมวด 6 ข้อ 13 ในอัตราส่วน 1 ส่วนต่อ 250 บาท เพียงเดือนละ 423.50 บาท เท่านั้นและไม่มีการออกใบเสร็จเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ เป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5349/2559 คดีนี้จำเลยที่ 1 ถอนคำให้การปฏิเสธหลังจากที่โจทก์สืบพยานหลักฐานไปบ้างแล้วและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ยุติตามฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กับได้มีการร้องทุกข์โดยชอบ และจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้สิ้นสงสัยว่าลิขสิทธิ์ในงานตามฟ้องทั้งหมดเป็นของผู้เสียหายจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบ และจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าของกลางตามฟ้องเป็นของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ร่วมกระทำความผิดนั้น จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2559 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 2) ใช้บังคับ โดยมาตรา 12 พ.ร.บ.ดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จากเดิมที่บัญญัติให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 69 หรือมาตรา 70 ให้ตกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นว่า บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ริบเสียทั้งสิ้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เมื่อบทบัญญัติมาตรา 75 เดิม บัญญัติให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้มาตรา 75 เดิม บังคับแก่คดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2559 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงลูกจ้างขายสินค้าให้แก่นายจ้างตามตลาดนัดทั่วไป ไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจของจำเลยทั้งสองเอง จำเลยทั้งสองไม่รู้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2559 ความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามอุทธรณ์ของโจทก์กับความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษไปแล้วนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทั้งสองฐานนี้หรือไม่จึงต้องพิจารณาพิพากษาไปพร้อมกัน ดังนั้น แม้ว่าโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นควรวินิจฉัยความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายไปพร้อมกับความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย แม้จะแปลความหมายตอนท้ายของคำพิพากษาที่ระบุว่า "คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ด้วย แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องระบุถึงเหตุผลในการพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว คงบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 และมาตรา 81 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้ โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (1) ว่า จำเลยเพื่อประสงค์แห่งการค้าได้บังอาจมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกที่แสดงการร่วมประเวณีระหว่างชายกับหญิงในลักษณะยั่วยุกามารมณ์จำนวน 30 แผ่น ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และบรรยายฟ้องข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานยึดได้แผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกจำนวน 30 แผ่น อันมีไว้เป็นความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายกับขอให้ริบของกลางดังกล่าว แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนคำขอให้ริบของกลางดังกล่าวว่า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการริบของกลาง จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (9) เมื่อคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามกจำนวน 30 แผ่น ไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกตาม ป.อ. มาตรา 287 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลย 2,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โทษปรับในข้อหาความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมานั้นสูงเกินไป จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) (เดิม) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2559 จำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศ คือบริษัท พ. และบริษัท ล. ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ชื่อประกอบการว่า "กิจการร่วมค้า พ. และบริษัท พ. /บริษัท ล." และเข้าทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร จากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า "กิจการร่วมค้า พ. และบริษัท พ. /บริษัท ล." ก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งจำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศอีกสองบริษัทดังกล่าวร่วมกันกระทำในประเทศไทยนั่นเอง แม้หลังจากกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง จำเลยที่ 1 จะโอนสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในกิจการร่วมค้าฯ ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่กิจการร่วมค้าฯ ทำสัญญากับกรุงเทพมหานครและยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจนกระทั่งเลิกกิจการ มีการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าฯ มาโดยตลอด โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจการร่วมค้าฯ ย่อมต้องทราบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น กลับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการไม่ยินยอมหรือคัดค้านการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าฯ และเหตุในการประเมินภาษีคดีนี้เนื่องจากการกิจการร่วมค้าฯ มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงระยะเวลาที่มีการใช้ชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อกิจการร่วมค้าฯ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของกิจการร่วมค้าฯ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2559 แม้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และข้อ 3 ระบุว่า หากจำเลยขายที่ดินทั้งสองแปลงได้ภายใน 2 ปี จำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ 1,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ย หากจำเลยผิดนัด ให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีก็ตาม แต่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ว่า หากจำเลยผิดนัดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แสดงว่าคู่สัญญามิได้ประสงค์ที่จะให้มีการคิดดอกเบี้ยเมื่อมีการผิดนัด จะตีความสัญญาประนีประนอมยอมความว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดด้วยนั้น เป็นการตีความเพื่อให้จำเลยรับผิดเพิ่มขึ้นซึ่งตามสัญญามิได้กำหนดความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยไว้ ย่อมไม่ชอบด้วยหลักของการตีความ ทั้งตามสัญญาข้อ 5 มีข้อความระบุด้วยว่า โจทก์และจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีก ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ตามที่ตกลงกันเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2559 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับมีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยที่ 14 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 14 ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยที่ 14 จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับซึ่งเป็นเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 14 กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่ 14 จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 14 ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 14 เอง จำเลยที่ 14 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ค. กรรมการโจทก์เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของตนบริเวณชั้นสองของอาคารที่ทำการ ซึ่ง ค. ทำงานที่อาคารชั้นสองเพียงคนเดียว ส่วนพนักงานคนอื่น ๆ ทำงานชั้นล่างของอาคาร พนักงานจะขึ้นไปต่อเมื่อ ค. เรียกเข้าพบเท่านั้น โต๊ะทำงานและลิ้นชักดังกล่าวล็อกกุญแจไว้ทุกครั้ง กุญแจจะอยู่ที่ ค. เพียงคนเดียว ดังนี้ ฟังได้ว่าโจทก์ได้เก็บรักษาเช็คพิพาทดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทอันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 14 ทราบเมื่อเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับเกิดการสูญหายและมีผู้ไม่สุจริตนำไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้กระทำโดยประมาท จำเลยที่ 14 จะหยิบยกข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดของตนมาปัดความรับผิดไม่ได้ ในคดีอาญา เป็นกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเลคทรอนิกส์ ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 14 เป็นจำเลย ในข้อหาละเมิด ฝากทรัพย์ คดีนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 14 จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ทั้งจำเลยที่ 14 ในคดีนี้ก็ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 14 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5267/2559 โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์กับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต จัดซื้อ และจัดหารายการโทรทัศน์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำรายการโทรทัศน์จากจำเลยมาแพร่เสียงแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของโจทก์ โดยจำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสิทธิในรายการโทรทัศน์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อสัญญาดังกล่าวจึงถือเป็นสาระสำคัญ เพราะหากจำเลยไม่ใช่ผู้มีสิทธิในภาพยนตร์ที่อนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิ โจทก์ย่อมไม่ทำสัญญากับจำเลยอย่างแน่แท้ เมื่อบริษัท ส. แจ้งแก่โจทก์ว่าพบการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ตนมีสิทธิจัดจำหน่ายและหรือเผยแพร่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์และจำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากการแพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์ที่จำเลยยืนยันว่ามีสิทธิในภาพยนตร์นั้นแล้วอนุญาตให้โจทก์แพร่เสียงแพร่ภาพตามสัญญาดังกล่าว ทั้งที่จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ จึงทำให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจแพร่เสียงแพร่ภาพได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ เพราะบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจโทรคมนาคม และความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้าของโจทก์ นอกจากนี้การที่โจทก์ต้องชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายให้แก่สำนักงานกฎหมาย ก็เป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวจนทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณเนื่องจากการถูกดำเนินคดีอาญา และค่าเสียหายที่เป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายให้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่ พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2559 ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 สถานะของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองคือ ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพนิติบุคคล โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลล้มละลายกลางก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ได้ แม้ต่อมานายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ก็ไม่มีผลกระทบแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้แม้จำเลยจะสิ้นสภาพนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. ก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5256/2559 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันทำให้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2499 และ ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 83 เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และ ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 83 แล้วพิพากษาแก้ให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 25 ปี ถือว่าจำเลยที่ 2 ฎีกาคดีนี้และศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2559 การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอำนาจของศาลที่จะบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องในฐานะพนักงานอัยการมีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และบรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะต้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2583 มาตรา 27, 91 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 แต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2559 ถนนที่จำเลยขับรถมาเป็นทางเดินรถทางโท มีสัญญาณจราจรไฟกระพริบสีแดงและป้ายเตือนให้หยุด ติดไว้ก่อนเข้าทางร่วมทางแยก จำเลยต้องหยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยก หลังเส้นให้หยุดรถและให้ผู้ขับรถในทางเอกขับผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรแล้วจึงจะขับรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนโจทก์ขับรถมาในทางเอกแม้จะมีสิทธิขับรถผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โดยต้องลดความเร็วของรถ เมื่อขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก สภาพความเสียหายของรถโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากอันเกิดจากการชนโดยแรง และตามแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุ รถยนต์โจทก์อยู่ห่างจากจุดชนประมาณ 35 เมตร แสดงว่าโจทก์ขับรถมาด้วยความเร็วและไม่ได้ชะลอความเร็วของรถ เมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกันโจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2559 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะคันที่ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บัญญัติให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์ต้องรับผิดต่อผู้ถูกกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ หรือยกขึ้นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (5) ประกอบมาตรา 246
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2559 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายทั้งคันจนไม่สามารถซ่อมให้คืนสู่สภาพเดิมได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อมาตามสภาพและราคาขณะเกิดเหตุ ไม่อาจเรียกจากราคาเช่าซื้อรวมถึงเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระไปแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234/2559 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 อ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมาจากการที่ ม. เช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แล้วสืบสิทธิต่อเนื่องกันมา แต่มิได้มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือหลักฐานการชำระเงินค่าเช่ามาแสดง ทั้งยังได้ความว่า ม. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิการเช่าที่พิพาทย่อมสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 จึงไม่อาจที่จะอ้างการสืบสิทธิของ ม. เพื่ออยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ใช้สิทธิแห่งตนในการฟ้องคดี โดยมีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมฟ้องขับไล่มาด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนที่มีอยู่เพื่อขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ผู้กระทำละเมิดได้ โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ที่ 1 หนังสือมอบอำนาจ ย. ผู้ว่าการของโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แทน โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 กล่าวอ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ม. อันเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีร่วมกับโจทก์ที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่านั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และมาตรา 549 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดตามพฤติการณ์ความร้ายแรงให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อพิจารณาการทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบห้าแล้ว เห็นว่า จำเลยแต่ละกลุ่มแต่ละรายได้เข้าไปอยู่อาศัยหรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่พิพาทตามจำนวนเนื้อที่มากน้อยแตกต่างกันคนละเวลา จึงเป็นความรับผิดเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ไม่ได้ร่วมกันทำละเมิด จึงต้องกระจายความรับผิดของจำเลยแต่ละกลุ่มแต่ละรายโดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีในการกำหนดค่าเสียหายทางละเมิด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5230/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้... (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน" สัญญาจ้างดูแลสวนยางระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. ข้อ 3 กำหนดว่า ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ดังรายละเอียดอัตราค่าจ้างและงวดชำระเงินปรากฏตามเอกสารแนบท้ายสัญญานี้ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาฉบับนี้ ซึ่งตามบัญชีการทำงานแนบท้ายสัญญามีข้อความว่า ระยะปลูก 76 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1,000 ไร่ และมีหมายเหตุต่อท้ายด้วยว่า หากผู้ว่าจ้างจัดทำพันธุ์ยางได้ไม่ครบจำนวนทันเวลา ผู้รับจ้างสงวนสิทธิในการจัดหาพันธุ์ยางเองในราคาต้นละ 15 บาท แสดงว่าสัญญาดังกล่าวมุ่งถึงผลสำเร็จของการปลูกต้นยางตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาตามช่วงเวลาจนเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ ทั้ง ข้อ 2 ยังกำหนดให้โจทก์ดำเนินการปลูกยางพารา ปราบวัชพืช... โดยโจทก์ตกลงจะเป็นผู้จัดหาสัมภาระ เครื่องมือ ปุ๋ยบำรุง ยาปราบศัตรูพืช และวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการบำรุงดูแลรักษาสวนยาง รวมถึงจะเป็นผู้จัดหาคนงาน โจทก์บริหารจัดการของโจทก์เอง โดยไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท พ. ซึ่งอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. จึงหาใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ แต่เป็นการให้บริการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2559 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และมาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2559 ร. เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญอันเป็นพยานหลักฐานประเภทหนึ่งที่ ป.วิ.อ. บัญญัติรับรองไว้และยังเบิกความเป็นพยานต่อศาลโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 243 รายงานผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ ที่ ร. จัดทำขึ้นผ่านขั้นตอนการจัดทำทั้งการถ่ายรูป สำรวจ และทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีวิชาชีพในแต่ละสาขานั้นโดยตรง และเป็นไปตามหลักวิชาการ มีมาตรฐาน แม้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้แต่ก็ผ่านกระบวนการตรวจสอบผลโดยคณะกรรมการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ อ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ อันเป็นกระบวนการตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญอื่นอย่างเป็นระบบ ประกอบกับมีการซักถามและอธิบายโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ฉายภาพประกอบ อันถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ในศาลจนเป็นที่ยอมรับและสิ้นสงสัย พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบและพิสูจน์ถึงความถูกต้องเป็นจริงได้ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ในปี 2510 ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง ที่ดินส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนั้นเป็นที่ชายทะเลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) แม้ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนี้ในภายหลังน้ำทะเลร่นหรือเขินไปทางทิศตะวันตกทำให้กลายเป็นที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงก็ตาม ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1309 ตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ถอนสภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ประกอบ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่เช่นเดิม ส่วนที่ดินเกิดเหตุส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกที่เป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงและไม่ปรากฏมีผู้ครอบครองทำประโยชน์นั้น เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) แม้จะมีบทบัญญัติว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1334 ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 4 ก็บัญญัติรับรองให้เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับเท่านั้น แต่การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุของจำเลยเป็นเวลาภายหลังปี 2519 และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2559 จำเลยที่ 1 ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 และต่อมาได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่โดยจำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ดังนั้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 รวมทั้งไม่มีหน้าที่จับกุม ป. กับพวก ซึ่งกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.การพนัน พุทธศักราช 2478 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน" นั้น เป็นบทบัญญัติให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อสิทธิในการรับเงินเดือน และเงินอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสี่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงไม่อาจถือว่าระหว่างเวลาที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เรียกรับเงินจาก ป. กับพวก เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จึงเป็นการกระทำในขณะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดซึ่งผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5148/2559 ป.รัษฎากร บัญญัติให้เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานสามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) ได้แบ่งประเภทเงินได้ดังกล่าวออกเป็น 4 ประเภท สำหรับข้อ 1 (ค) มีข้อความกำหนดไว้เพียงว่าให้หมายถึงเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุครบเกษียณอายุ และได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงานรวม 3,118,040 บาท โดยหนังสือแจ้งการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินบำเหน็จของบริษัทฯ แยกเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1,792,000 บาท และเงินบำเหน็จ 1,326,040 บาท เงิน 1,792,000 บาท เป็นการจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ กรณีพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี และนายจ้างคำนวณจ่ายให้แก่โจทก์จากเงินเดือนอัตราสุดท้ายเป็นระยะเวลา 300 วัน ซึ่งวิธีการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 118 (5) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อีกทั้งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อเกษียณอายุอันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถือได้ว่าเข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2559 ส. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลย โดย ส. ชำระราคารวมมัดจำให้แก่จำเลยแล้ว 1,691,272 บาท คงมีหนี้ค้างชำระ 22,828 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. กับจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์จะเลิกสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายยังมีความประสงค์ที่จะให้มีการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน ดังนี้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ต่อกัน หากบังคับฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ก็ต้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ตอบแทนได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยมิได้มีคำขอท้ายฟ้องเสนอขอชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลือให้แก่จำเลยตามสัญญาก็ตาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่เข้าใจว่า ส. ได้ชำระราคาให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วเช่นนี้ ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง และศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา โดยบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และกำหนดให้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอของโจทก์ทั้งสี่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559 เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2559 ในการพิจารณาว่าชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักแพร่หลายนั้นต้องพิจารณาจากประชาชนโดยทั่วไปทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่มในประเทศไทยว่าเคยได้ยินคำว่า "MONTE CARLO" และคุ้นหูว่า คำดังกล่าวเป็นสถานที่ทางภูมิศาสตร์ในโลกนี้หรือไม่ คือเมื่อเอ่ยถึงคำดังกล่าวประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่มในประเทศทราบได้ทันทีว่าเป็นชื่อเขตบริหารเขตหนึ่งในประเทศราชรัฐโมโนโก เมื่อพยานหลักฐานรับฟังได้เพียงว่า สาธารณชนในประเทศไทยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยเห็นชื่อ "MONTE CARLO" และกลุ่มคนที่สนใจกีฬาแข่งขันรถสูตร 1 กรังด์ปรีซ์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปในประเทศไทยจะไม่ทราบว่าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อเขตหนึ่งในเขตบริหารของประเทศราชรัฐโมนาโก ซึ่งมีบ่อนการพนันและเป็นสถานที่ที่จัดการแข่งขันรถสูตร 1 กรังด์ปรีซ์ ชื่อ "MONTE CARLO" จึงไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยอันจะถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) คำว่า "CASINO DE MONTE - CARLO" ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวมีความหมายว่า บ่อนการพนันแห่งเมืองมอนติคาร์โล เมื่อพิจารณากับรายการสินค้าและบริการส่วนใหญ่ตามคำขอจดทะเบียนทั้งสี่คำขอแรกของโจทก์ ซึ่งได้แก่รายการสินค้า เครื่องบันทึกส่งและทำเสียงซ้ำ สื่อบันทึกข้อมูล ระบบแม่เหล็ก แผ่นบันทึกเสียง เครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ กลไกสำหรับเครื่องที่ทำงานด้วยการหยอดเหรียญเครื่องบันทึกเงินสด เครื่องคิดเลข อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล เครื่องมือที่ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องดับเพลิง วีดีโอเกมส์ที่ทำงานด้วยการหยอดเหรียญ รายการสินค้า กระดาษที่ใช้สำหรับพิมพ์ กระดาษชีตที่ใช้เป็นเครื่องเขียน กระดาษที่ใช้กับเครื่องบันทึก กระดาษแข็ง โบรชัวร์ แม็กกาซีน เอกสารแผ่นพับ ใบปลิว สมุด/หนังสือ เอกสารโฆษณา นิตยสารหรือวารสารที่ออกตามกำหนดเวลา วัสดุที่ใช้ในการเข้าเล่ม ภาพถ่าย กาวหรือสารยึดติดและสำหรับเครื่องเขียนหรือใช้ในครัวเรือน แปรงทาสีหรือพู่กัน เครื่องพิมพ์ดีด วัสดุที่ใช้ในการเรียนการสอน (ยกเว้นเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์) วัสดุพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ ตัวพิมพ์ แม่พิมพ์ รายการสินค้า เกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ปรับใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่นเกมและชิ้นส่วนประกอบของเครื่องเล่นเกมที่ไม่ได้ปรับใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องให้ความบันเทิงและชิ้นส่วนประกอบของเครื่องให้ความบันเทิงที่ไม่ได้ปรับใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ อุปกรณ์สำหรับเล่นเกมที่ไม่ได้ปรับใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ปรับใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ ไพ่ เกมกระดาน เกมที่ใช้การ์ดหรือไม่ ชุดบัตรแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับเล่นเกมเสี่ยงโชค เครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ และวีดีโอเกมแบบมือถือ เกมล็อตเตอรี่ โดมิโน อุปกรณ์เกมในร่ม เกมรูเล็ตต์ วิดีโอโป๊กเกอร์ เกมบลู รายการบริการ บริการถ่ายทอดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร (การส่ง) ทางเครื่องปลายทางคอมพิวเตอร์ การส่งข้อมูลผ่านการใส่รหัสเพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลและเซิร์ฟเวอร์ของคอมพิวเตอร์หรือเทเลมาติก การสื่อสาร (การส่ง) ข้อมูลโดยเครื่องปลายทางคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายการสื่อสารระดับประเทศ ระดับระหว่างประเทศ และทั่วโลกผ่านทางเคเบิล ดาวเทียม บริการสื่อสารทางโทรทัศน์ บริการสื่อสารทางเทเลมาติก บริการสื่อสารแบบมัลติมีเดีย บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งข้อความและภาพโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ การส่งผ่านข้อมูลทางบริการเทเลมาติกโดยใช้รหัสผ่านบริการไปรษณีย์ออนไลน์ บริการโต้ตอบระดับประเทศและข้ามประเทศ (อินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต) และรายการบริการ บริการศึกษา บริการด้านการฝึกอบรมกิจกรรมกีฬาและวัฒนธรรมดิสโกเธก บริการข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจบันเทิง บริการสโมสร (ธุรกิจบันเทิงหรือการศึกษา) การจัดการแสดง การจัดการและดำเนินการสัมมนา การประชุม การพบปะหารือ การประชุมทางวิชาการ การจัดงานแสดงนิทรรศการด้านวัฒนธรรมหรือการศึกษา การจัดการอีเวนต์ด้านการกีฬา การจัดการแข่งขัน (ด้านการศึกษาหรือด้านบันเทิง) การจัดการประกวดนางงาม การจัดการและดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดงานเต้นรำ วางแผนการต้อนรับแขก (ธุรกิจบันเทิง) ผลิตการแสดงไม่อาจให้เข้าใจไปได้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ใช้อยู่ภายในบ่อนการพนันแห่งเมืองมอนติคาร์โลหรือสินค้าและบริการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันแห่งเมืองมอนติคาร์โล จึงไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง ไม่ต้องห้ามรับจดทะเบียน คงมีรายการบริการจำนวน 9 รายการ ของรายการบริการตามคำขอที่ 5 ของโจทก์ ได้แก่ บริการการพนันเงิน (ที่ได้รับอนุญาต) บริการจัดการสลากกินแบ่ง (ที่ได้รับอนุญาต) บริการการพนันออนไลน์ (จากเครือข่ายประมวลผลข้อมูลที่ได้รับอนุญาต) บริการการพนันและสลากกินแบ่งออนไลน์ (จากเครือข่ายประมวลผลข้อมูลที่ได้รับอนุญาต) บริการห้องเล่นพนัน บริการคาสิโน (เกมที่ได้รับอนุญาต) บริการให้เช่าเครื่องเล่นพนันอัตโนมัติและเครื่องเล่นสำหรับสถานเล่นการพนัน บริการคาสิโนและการพนันการตลาด (ที่ได้รับอนุญาต) และการพนันและสลากกินแบ่งผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้น คำว่า "CASINO" ในเครื่องหมายบริการคำว่า "CASINO DE MONTE - CARLO" เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของบริการทั้งเก้ารายการดังกล่าวซึ่งเกี่ยวกับการพนันโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะสำหรับบริการทั้งเก้ารายการดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายบริการ "CASINO DE MONTE - CARLO" กับบริการทั้งเก้ารายการดังกล่าวโดยการให้บริการ เผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวแตกต่างไปจากบริการอื่นตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คำว่า "CASINO DE MONTE - CARLO" จึงไม่อาจรับจดทะเบียนสำหรับบริการทั้งเก้ารายการได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5000/2559 การมอบอำนาจให้นำคดีมาฟ้องเป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คำให้การของจำเลยที่ต่อสู้ถึงการมอบอำนาจว่า จำเลยไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ได้แนบมาท้ายฟ้อง และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ออกไว้นานไม่เป็นปัจจุบัน จำเลยไม่เข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ เพราะถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ก่อสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2559 แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้บังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ใช่คู่ความรายเดียวกันกับคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2643/2556 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2645/2556 และมีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว จำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ แม้โจทก์ไม่ได้แถลงให้ศาลทราบว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร ทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แต่การจะนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ประกอบกับก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเองว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4682/2556 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4687/2556 ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงเพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2559 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้การปรับปรุงตึกแถวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนโดยไม่มีสาเหตุอันควร ทำให้ต้องเลิกสัญญาเช่ากันในเวลาต่อมา และการงานที่โจทก์เข้าปรับปรุงตึกแถวเป็นการงานที่โจทก์ทำให้และจำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกแถวพิพาทได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2559 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการคำนวณภาษีซื้อและภาษีขายตามมาตรา 82/3 ต้องมีสถานะเป็นบุคคลตามมาตรา 77/1 (1) ซึ่งภาษีซื้อและภาษีขายย่อมต้องเกิดขึ้นจากการขายระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (17) และ (18) เมื่อสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่างเป็นสถานประกอบกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันอยู่ในฐานะเป็นบุคคลเดียวกัน การโอนน้ำมันจากสำนักงานใหญ่ไปยังสำนักงานสาขาจึงเป็นเพียงการจัดการกิจการภายในของโจทก์เอง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สำนักงานใหญ่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้แก่สำนักงานสาขา และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4811/2559 คำว่า "SEASONS" ที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยนั้นเป็นคำที่มีความหมายว่า ฤดูกาล จึงเป็นคำที่มีอยู่แล้วและใช้กันได้เป็นการทั่วไป เมื่อพิจารณาในภาพรวมเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยแล้ว เห็นว่า ไม่เหมือนหรือคล้ายกัน ทั้งการออกเสียงเรียกขานก็แตกต่างกัน แม้สินค้าของโจทก์และจำเลยจะเป็นสีประเภทและชนิดเดียวกัน แต่การหีบห่อสินค้าก็มีลักษณะแตกต่างกัน เมื่อจำเลยนำสืบถึงความเป็นมาของเครื่องหมายการค้าและเหตุที่จำเลยใช้คำว่า "ALL SEASONS" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยสุจริต โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่าผู้บริโภคจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือจำเลย การใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้คำว่า "SEASONS" จะเป็นคำที่มีความหมายในพจนานุกรมว่า ฤดูกาล แต่หากคำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในทางการค้าสำหรับสินค้าประเภทสีน้ำพลาสติก สีน้ำมัน และสีน้ำใช้สำหรับทาอาคารตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองไว้ คำดังกล่าวก็อาจมีลักษณะบ่งเฉพาะได้ เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์เห็นว่า โจทก์หาได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเฉพาะคำว่า "SEASONS" อย่างเดียวไม่ แต่ยังประกอบด้วย ตัวเลข "4" อยู่ด้านหน้า รวมเป็นคำว่า "4 SEASONS" ซึ่งการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของทั้งเครื่องหมาย เมื่อพิจารณาคำว่า "4 SEASONS" แล้ว เห็นได้ชัดว่าคำดังกล่าวไม่เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสินค้าสีน้ำพลาสติก สีน้ำมัน และสีน้ำใช้สำหรับทาอาคารแต่อย่างใด อันไม่ทำให้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4810/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยยินยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาทำนาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินพิพาท กรณีไม่ใช่เรื่องผู้ให้เช่านาบอกเลิกการเช่านา ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 31 แต่เป็นเรื่องผู้ให้เช่าไม่ให้ผู้เช่าเข้าทำนา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้ผู้เช่านาต้องคัดค้านต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเหมือนการบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา 31 ซึ่งผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาและส่งสำเนาหนังสือต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีแทน แต่จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4802/2559 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมให้แก่สหกรณ์การเกษตร ก. แตกต่างจากสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยวในอีกคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำปุ๋ยเคมีปลอมมาให้สหกรณ์การเกษตร ก. ขาย แต่การกระทำความผิดในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมของจำเลยทั้งสองที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้กับที่พนักงานอัยการวินิจฉัยเนื้อหาสาระแห่งคดีแล้วมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในอีกคดีหนึ่งดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดเดียวกัน มิใช่ความผิดใหม่หรือความผิดที่ต่อเนื่องกันมา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวได้ จึงต้องห้ามมิให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์สอบสวนจำเลยทั้งสองในเรื่องร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นเรื่องเดียวกันนั้นอีกตาม ป.วิ.อ. มาตรา 147 ถือไม่ได้ว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมตามมาตรา 120 ความผิดฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยว กับความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมที่เกิดขึ้นในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน แม้จะเป็นกรณีความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ซึ่งทั้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยวและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ต่างอาจมีอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) แต่การที่กรมวิชาการเกษตรแยกกล่าวโทษแต่ละข้อหาความผิดต่อพนักงานสอบสวนที่ความผิดแต่ละข้อหาเกิดในเขตอำนาจ กับมีการสอบสวนในแต่ละข้อหาความผิดแยกต่างหากจากกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีพนักงานสอบสวนหลายท้องที่มาเกี่ยวข้องซึ่งต้องกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสอง การที่ ก. ผู้รับมอบอำนาจจากกรมวิชาการเกษตรไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรี ค. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอม พันตำรวจตรี ค. จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนของพันตำรวจตรี ค. ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมได้ตามมาตรา 120
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2559 วันที่ 5 มกราคม 2551 โจทก์ปวดท้องน้อยด้านซ้ายจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดและให้ยาแก้ปวดมารับประทานแล้วให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 6 มกราคม 2551 โจทก์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ศ. เนื่องด้วยปวดท้องน้อยด้านซ้าย แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นเนื้องอกยื่นออกจากมดลูกหรือเป็นเนื้องอกของรังไข่ด้านซ้าย แพทย์นัดใหม่วันที่ 9 มกราคม 2551 ในวันที่ 6 และวันที่ 9 มกราคม 2551 โจทก์โทรศัพท์สอบถามขอรับการผ่าตัดจากสถานพยาบาลตามสิทธิแต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่ได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1 หรือห้องผ่าตัดไม่ว่าง ถึงวันที่ 9 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดโจทก์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ศ. และรับการผ่าตัดในวันที่ 10 มกราคม 2551 โดยเสียค่ารักษาพยาบาลไป 67,332 บาท เมื่อแพทย์ของสถานพยาบาลตามสิทธิวินิจฉัยแล้วว่าต้องรักษาโจทก์ด้วยการผ่าตัดแต่กลับไม่ดำเนินการรับโจทก์ไว้รักษาหรือวางแผนการรักษาทันที โดยอ้างว่าอาการของโจทก์ไม่รุนแรงและไม่ฉุกเฉิน การผ่าตัดรอได้ เพียงแต่ให้ยาแก้ปวดไปรับประทานที่บ้าน เป็นการไม่ให้การรักษาที่จำเป็นและสมควรแก่อาการป่วยของโจทก์ โจทก์โทรศัพท์สอบถามขอรับการผ่าตัดจากสถานพยาบาลตามสิทธิถึง 2 ครั้ง ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดจากโรงพยาบาล ศ. แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ศ. เป็นกรณีโจทก์ใช้ความพยายามที่จะขอรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้อย่างเต็มที่เท่าที่ตนจะพึงทำได้แล้ว ถือเป็นเหตุสมควรที่โจทก์ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจัดให้โจทก์ได้รับบริการทางการแพทย์และตามสัญญา เมื่อสถานพยาบาลตามสิทธิไม่ให้การรักษา จึงเป็นกรณีจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามจำนวนที่โจทก์เสียไปคืนแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานจากการเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ เพียงใด ทั้ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายมหาชนที่ศาลต้องบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมยิ่งกว่าข้อจำกัดของวิธีพิจารณาความเช่นที่ใช้ในคดีแพ่งทั่วไป ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจยกเหตุตามมาตรา 59 ขึ้นวินิจฉัยได้แม้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แม้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลว่าเพราะโจทก์ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยทั้งสองวินิจฉัยว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ต้องรับการรักษาในทันทีในสถานพยาบาลอื่นนอกจากสถานพยาบาลตามสิทธิ ก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์และต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ จึงต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับผลของคำพิพากษา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ (1) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ..." บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามความในตอนท้ายของมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง แต่หากยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้มีสิทธิขอคืนก็ยังยื่นคำร้องขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการนั้นตามมาตรา 27 ตรี (1) การนับระยะเวลาขอคืนภาษีอากรจึงต้องเริ่มต้นจากการยื่นแบบแสดงรายการของผู้เสียภาษีก่อน เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการจะมีภาษีที่ได้ชำระแล้วหรือมีการคำนวณเครดิตภาษีจากจำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่ง อันมีผลทำให้เกิดจำนวนภาษีที่ได้ชำระแล้วและมีสิทธิจะขอคืนได้ ดังนั้น ในกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการก็จะไม่มีเวลาเริ่มต้นที่จะใช้สำหรับนับระยะเวลาในการขอคืนภาษีตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ โจทก์มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 ทั้งตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน" เป็นผลให้เงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงไม่มีกำหนดเวลายื่นรายการภาษีของโจทก์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักในการเริ่มต้นระยะเวลาการขอคืนภาษีตามมาตรา 27 ตรี การที่จำเลยที่ 2 หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยที่ 1 โดยอาศัย ป.รัษฎากร มาตรา 52 และจำเลยทั้งสองไม่คืนเงินภาษีแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกินกำหนดตามมาตรา 27 ตรี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เงินภาษีไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ในขณะรับเงินนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4750/2559 คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ไปประกันภัยกับจำเลยตามหนังสือรับรองการประกันภัย โจทก์ที่ 2 มอบให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวขับไปโรงเรียน ต่อมาโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ประสบอุบัติเหตุทำให้ได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพ ตามหนังสือรับรองการประกันภัยระบุคุ้มครองถึงการสูญเสียชีวิต การสูญเสียสายตาและทุพพลภาพถาวร... ตามรายชื่อผู้ครอบครอง/ผู้เอาประกันภัยที่ระบุด้านล่าง... แสดงว่า หนังสือรับรองการประกันภัยดังกล่าวคุ้มครองเฉพาะบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในช่องผู้ครอบครอง/ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น เมื่อช่องผู้ครอบครอง/ผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อโจทก์ที่ 2 เท่านั้น มิได้ระบุชื่อโจทก์ที่ 1 ด้วย แม้โจทก์ที่ 1 จะเป็นผู้ครอบครองใช้รถจักรยานยนต์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559 สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น มิได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม มิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุน นั้น โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ดังกล่าว ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์ เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2559 การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาโดยมอบเงินจำนวนมากถึง 400,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ก็เพราะเชื่อมั่นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการทหารมียศสูงถึงพลโทสามารถวิ่งเต้นหรือดำเนินการช่วยเหลือให้ อ. เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้ โดยผ่านช่องทางหรือกระบวนการพิเศษที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาเหมือนกรณีการสอบเข้ารับราชการตามปกติทั่วไป หาใช่มอบเงินให้เพื่อตอบแทนหรือเป็นค่าใช้จ่ายการพา อ. ไปสมัครสอบ พาไปติวและดำเนินการสอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมากก็โดยมุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขัน เพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเอื้ออำนวยให้ อ. ได้เข้ารับราชการ หรือโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องนำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกระทำการอันมิชอบ อันเป็นการสนับสนุนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ในขณะเดียวกันก็ทำลายระบบคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง สัญญาฝากเข้าทำงาน ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และแม้ตามสัญญาฝากเข้าทำงานจะระบุไว้ว่า "ผู้ให้สัญญา (จำเลยที่ 1) ยอมรับว่าเงินที่ผู้รับสัญญา (โจทก์) จ่ายให้ตามข้อ 4 ไม่ใช่เงินที่ผู้รับสัญญาให้เพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อให้ อ. เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้" ก็หาอาจลบล้างวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2559 ส. เป็นผู้เอาประกันภัยสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับจำเลย โดยระบุให้ธนาคาร ก. เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย และไม่ปรากฏว่าธนาคาร ก. แสดงเจตนาขอรับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยดังกล่าว ธนาคาร ก. จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ เมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ส. ผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ค่าสินไหมทดแทนไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ ส. มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย เพราะได้มาหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทของ ส. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก โจทก์เป็นมารดาของ ส. ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ส. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559 เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559 ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปี แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอลงวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลย ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตามทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2559 บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น และมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืมไป เมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ. การพิจารณาความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ย่อมกระทำโดยการพิจารณาและสืบพยานในศาล ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อน ความรับผิดทางอาญาคือโทษ ผู้กระทำความผิดย่อมได้รับเองเป็นรายบุคคลเฉพาะตัว แม้ตัวการถึงแก่ความตาย ผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ตัวการยังต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2559 ก่อนเกิดเหตุ ย. แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถจักรยานยนต์ของตนถูกคนร้ายลักไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว ย. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ให้เช่าซื้อ แล้วนำไปขายต่อให้แก่ผู้ใช้ชื่อว่า ข. เพื่อแลกกับเงินสด 13,000 บาท โดยจะมีชายไม่ทราบชื่อไปรับรถและมอบเงินให้ แต่ ย. ต้องไปแจ้งความว่ารถหายเพื่อให้ผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมโดยให้ ก. ติดต่อขอกู้ยืมเงิน 20,000 บาท จากผู้ใช้ชื่อว่า ข. และผู้ใช้ชื่อว่า ข. แจ้งให้ ก. ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้วนำมามอบให้แลกกับเงิน 20,000 บาท การที่ ก. นัดจะส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลย แล้วจำเลยจะมอบเงินให้ ก็เป็นเรื่องที่ ก. วางแผนจับกุมจำเลยโดยจะส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยเอง มิใช่จำเลยจะเอาไปซึ่งการครอบครองรถจักรยานยนต์จาก ก. โดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานพยายามลักทรัพย์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559 โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4505/2559 โจทก์ระบุตัวบุคคลที่จะถูกฟ้องในช่องชื่อคู่ความกับที่บรรยายว่าขอยื่นฟ้องผู้ใดขัดกันเอง ทั้งการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องมาในอุทธรณ์โดยขอเพิ่มกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเป็นจำเลยในคดีอีกคนหนึ่งไม่ใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย และเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่ศาลทรัพย์สินฯ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้ว ล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนของกรม และเป็นผู้ที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับสิทธิบัตร จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการพิจารณายกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 74 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งชอบที่ศาลทรัพย์สินฯ จะมีคำสั่งยกฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สินฯ เพียงแต่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง อันเป็นการสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 จึงไม่ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559 การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4483/2559 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 น. และ น. จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าที่ดินพิพาทใช้เป็นที่ตั้งกิจการโรงสีไฟของจำเลยที่ 1 และบ้านพักอาศัย จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่มีหน้าที่จะต้องไถ่ถอนจำนองและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน มิได้ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของห้างที่จะต้องนำมาเพื่อการชำระบัญชีหรือเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับเจ้าของรวมคนอื่นจึงเป็นการไม่ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินของ จ. นำมาลงทุนเป็นหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 อันเท่ากับรับฟังว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยทั้งสองต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีที่มาจากสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยรวมเป็นการตกลงแบ่งมรดกในส่วนที่เป็นที่ดินรวม 8 แปลง และหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 กับหุ้นในบริษัท ร. สำหรับที่ดินแปลงอื่นที่จดทะเบียนจำนองได้ระบุว่าให้นำเงินของจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนให้แก่ทายาทที่ระบุชื่อไว้ แต่ที่ดินพิพาทซึ่งขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีภาระจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีการกล่าวถึงการไถ่ถอนจำนอง เพียงแต่ระบุส่วนแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมแต่ละคน เมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งของโรงสีและสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน และหนี้ที่ที่ดินพิพาทจำนองเป็นประกันก็เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคารมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เมื่อเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคือผู้ถือหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 โดยมีส่วนเท่ากับส่วนของหุ้นที่ได้รับจึงเห็นได้ว่าผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินต่างมีเจตนาใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่ประกอบกิจการโรงสีและใช้เป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กันต่อไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 หากจะแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเสียในขณะนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนาดังกล่าวทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของห้างให้ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งศาลวินิจฉัยไว้แล้วว่ายังไม่มีเหตุให้ต้องเลิกห้างอันจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งหมดทุกคน แม้เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งๆ จะมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันสมควรไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคสาม พฤติการณ์ดังกล่าวมาถือได้ว่ายังไม่เป็นโอกาสอันสมควรที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สิน คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อัตราค่าทนายความต้องกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2551 มาตรา 21 ที่ให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งตาราง 6 ระบุว่าคดีไม่มีทุนทรัพย์ อัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ 1,500 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2559 โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยพลัดตกช่องลิฟต์ได้รับบาดเจ็บกระดูกกะโหลกศีรษะหลังหูขวาแตกมีเลือดออกในสมองแต่เลือดในสมองสลายไปเองได้แพทย์จึงไม่ได้ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ซึ่งไม่ใช่การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (3) กระดูกซี่โครงด้านขวาหักแต่กระดูกจะเชื่อมติดเองได้แพทย์จึงไม่ได้ผ่าตัด กระดูกนิ้วก้อยขวาหักแพทย์ให้การรักษาทายาโดยไม่ต้องผ่าตัด และกระดูกไหปลาร้าหักแพทย์ผ่าตัดรักษาตามโลหะให้ กรณีจึงเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) ส่วนอาการบาดเจ็บมีเลือดออกในปอดก็เป็นอวัยวะภายในเพียงส่วนเดียวซึ่งแพทย์รักษาโดยการเจาะใส่ท่อระบายลมและเลือดในปอด จึงไม่ใช่การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (1) ดังนี้อาการบาดเจ็บของโจทก์เป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (2) เพียงรายการเดียว และเมื่อโจทก์พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วย ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 20 วัน โดยพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก 5 วัน จึงไม่ใช่การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไป กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 4 (1) และ (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2559 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ผู้โดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2559 เมื่อสัญญาเลิกกันหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเพื่อชำระหนี้บางส่วน ย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยทั้งเจ็ดมีข้อตกลงกันให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วได้ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อศาลลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 (วันที่โจทก์ยื่นคำขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) นั้นไม่ เพราะการที่จำเลยทั้งเจ็ดริบเงินไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นยุติแล้วว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2559 ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามคำร้องขอฝากขังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงถือเป็นข้อยกเว้นที่พนักงานสอบสวนไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4409/2559 จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเรือยอช์ท ซึ่งเป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องแล่นเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 โดยแจ้งต่อนายด่านศุลกากรว่าเป็นการนำเข้าชั่วคราว ซึ่งมีเวลาอยู่ในราชอาณาจักร 6 เดือน คือภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2540 จากนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกนำเรือของกลางจอดแล่นใช้งานตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2540 จนกระทั่งมีผู้แจ้งความนำจับและเจ้าพนักงานอายัดเรือไว้เป็นของกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ดังนี้ วันที่กระทำความผิดจึงเป็นวันที่ 20 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเรือของกลางเข้ามา หาใช่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่เรือของกลางอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด 6 เดือน ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำผิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 นั้น จึงชอบแล้ว เงินตามสัญญาประกันค่าเรือที่บริษัท ล. ซึ่งเป็นเจ้าของเรือทำสัญญาไว้กับกรมศุลกากรในการรับเรือของกลางไปเก็บรักษา หากเรือของกลางชำรุดเสียหายหรือไม่สามารถส่งมอบเรือคืนให้ในสภาพเดิมได้ จะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 133,821,659 บาท นั้น เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบแทนเรือของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิด เพราะหากปรากฏภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ริบเรือของกลางแล้ว บริษัท ล. ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ กรมศุลกากรก็มีสิทธิฟ้องบังคับเงินค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนที่ให้ริบเงินตามสัญญาประกันเท่ากับขายเรือของกลาง และให้จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดจากเงินตามสัญญาประกันจึงไม่ชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านในประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย โจทก์มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4375/2559 ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) และมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนทั้งแผนฟื้นฟูกิจการนั้นก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินและวิธีการในการจัดกิจการของลูกหนี้ต่อไป นอกจากนี้รายการในแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (6) ก็ให้กำหนดให้ในแผนมีรายการคือ วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่นนี้สิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยสภาพแล้วย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถโอนกันได้ดั่งเช่นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นวิธีการในการดำเนินการของสถาบันการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการหนี้เสียและเป็นวิธีการที่จะนำรายได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจต่อไป เมื่อปรากฏว่าในการโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โอนสิทธิเรียกร้องตามแผนให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด และมีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่าธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องมายังธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด และธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวพร้อมหลักประกันมายังโจทก์และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมเคยมีอยู่และสามารถใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่ค้างอยู่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2559 อาการป่วยของโจทก์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน เพราะมีการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ว. อันเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อาการของโจทก์ไม่ดีขึ้นมีแต่จะทรุดลงจนเมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี จำเป็นต้องทำการเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลตามสิทธิก็ชำรุด แพทย์ผู้ทำการรักษาต้องสั่งให้นำตัวโจทก์ไปเอ็กซเรย์ที่ศูนย์ประชาชื่นโดยกำหนดนัดไว้แล้ว ก็ไม่อาจดำเนินการได้เพราะติดขัดที่ขั้นตอนอนุมัติของผู้อำนวยการโรงพยาบาลตามสิทธิ และไม่มีการนัดไปทำการเอ็กซเรย์ที่ศูนย์ประชาชื่นอีก ในขณะที่โจทก์ยังคงมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นไม่มีความหวังว่าจะได้รับการรักษาต่อไปอย่างไร เสี่ยงต่อความตายหรือไม่ จนไม่อาจรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลตามสิทธิอีกต่อไป โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์ที่โรงพยาบาล ธ. ก็ให้ความเห็นว่า อาการป่วยของโจทก์มีความจำเป็นต้องรักษารีบด่วน หากมิได้รับการรักษาพยาบาลทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนี้ ถือได้แล้วว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วน และมีความจำเป็นเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาของโรงพยาบาลตามสิทธิชำรุด โจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลตามสิทธิได้ โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเจ็บป่วย ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4363/2559 การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 คดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้นั้น จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเพื่อนำไปบำบัดฟื้นฟูตามแผน แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีแล้วไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการดังกล่าว ดังนี้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า เป็นกรณีที่จำเลยอยู่ระหว่างต้องหาหรือถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานอื่นซึ่งมีโทษจำคุก ต้องดำเนินการตามมาตรา 24 ให้ส่งตัวจำเลยคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2559 ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ในวันดังกล่าว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง แม้ข้อตกลงจะระบุให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่า ในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่า สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวจึงถูกต้องแล้ว การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์ สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้ เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 145
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2559 พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น" เมื่อพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่อาจส่งมอบคืนได้ ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้ราคาแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของราคาเช่าซื้อ ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จึงย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อที่จะต้องคืนหรือใช้ราคารถในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันด้วยเหตุที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายด้วย สัญญาข้อดังกล่าวกำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี โดยไม่ได้แบ่งแยกความรับผิดกรณีเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ และกรณีไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อไว้ต่างหากจากกัน จึงเป็นการได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดให้ข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นโมฆะ เพียงแต่ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เพียงแต่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคาแทนเป็นจำนวนพอสมควรได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2559 พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้แทนของกองทุน และมีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด เมื่อมีข้อบังคับของกองทุนโจทก์ว่าด้วยการรักษาการแทนและการมอบอำนาจของผู้จัดการกองทุนที่กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลใดฟ้องคดีแทนตนได้แล้ว การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ จึงชอบด้วยกฎหมาย สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ข้อความใดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บังคับให้จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ถ้าไม่ทราบว่ารับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งมีผลเท่ากับรับ ไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัยอีกและไม่มีกรณีต้องรับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐาน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2559 ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดระบุว่า กรณีใดมิได้ตราไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รวมถึงกฎหมายอาคารชุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้า ตลอดจนบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดมิได้มีบทบัญญัติให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งกรณีนี้ได้แก่มาตรา 1176 และมาตรา 1195 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การมอบฉันทะให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นกรณีที่การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเป็นการประชุมซึ่งมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1176 การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและการลงมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมย่อมเสียไปทั้งหมด หาใช่มีผลเพียงไม่นับการออกเสียงลงคะแนนของ อ. เป็นองค์ประชุมและคะแนนที่จะใช้ลงมติไม่ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำร้องเดิม การนับกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 ต้องนับถึงวันยื่นคำร้องเดิม มิใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล คำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในกำหนดเวลาตามกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4280/2559 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20..." และมาตรา 24 บัญญัติว่า "การจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี จะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้" จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือน เพื่อให้มีเงินช่วยเหลือในการดำรงชีวิตในระยะยาว การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นนั้น จะทำได้ต้องเกิดจากการตกลงกันระหว่างนายจ้างหรือสำนักงานประกันสังคมกับลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พิจารณาตกลงอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองคราวเดียว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 11 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือน ตามมาตรา 18 (4) จึงเท่ากับว่าจำเลยไม่ประสงค์จะตกลงกับโจทก์ทั้งสองในการจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่สามารถขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนได้ตามมาตรา 24 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวบางส่วนจึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2559 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย การใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์เกือบ 20 คัน ในระยะเวลาต่อเนื่องติดต่อกัน พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสุจริตชนอันส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นเรื่องร้ายแรง เมื่อพิเคราะห์ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เห็นว่า บิดามารดาผู้ปกครองจำเลย รวมทั้งบุคคลใกล้ชิดจำเลย ไม่อยู่ในวิสัยที่จะอบรมดูแลสั่งสอนจำเลยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาจึงเป็นการเหมาะสมแล้ว และเมื่อความปรากฏต่อศาลว่าจำเลยถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์ในระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นจึงต้องหักวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนออกจากระยะเวลาการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่หักวันควบคุมออกจากระยะเวลาฝึกอบรมเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2559 หนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุน อ. เจ้าหนี้เดิม มีต่อลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีการแก้ไขแผนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ครั้งที่ 3 ซึ่งศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบแล้วโดยกำหนดให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมดังกล่าวได้รับการปลดหนี้ทั้งจำนวนตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ของศาลล้มละลายกลาง คำสั่งดังกล่าวย่อมผูกพันเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าหนี้เดิม ผลของคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ย่อมผูกพันเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เจ้าหนี้จึงไม่อาจนำหนี้ที่ได้รับการปลดหนี้แล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้อีกได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2559 แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย เมื่อโจทก์ต้องการสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นตามคำฟ้อง ก็เพื่อให้เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคลและขอให้มีคำสั่งเรียกเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ จึงไม่ชอบ ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มีคำขอ 3 ประการ คือ เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับบ้านและเกี่ยวกับต้นไม้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงวินิจฉัยแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินเท่านั้นว่าเป็นเพียงคำมั่นว่าจะให้ อันเป็นการวินิจฉัยจากพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบ เนื่องจากศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคลและขอให้มีคำสั่งเรียกพยานเอกสารมาสืบดังกล่าว ซึ่งถ้านำสืบจนสิ้นกระแสความ ข้อเท็จจริงก็อาจรับฟังได้เป็นอย่างอื่น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้แก้ไข ถือได้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2559 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยแจ้งว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิการครอบครองและรับรองว่าสามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนองธนาคาร จำเลยจะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปไถ่ถอนจำนองมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน 2555 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โจทก์ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 - 01 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องที่ถูกหลอกว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 - 01 มิใช่ที่ดินมีเอกสารสิทธิที่จะสามารถโอนให้กันได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เกิน 3 เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับรองว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาทให้กระทบสิทธิของโจทก์เพราะเป็นการตกลงกันภายหลัง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง การที่จำเลยนำ ส.ป.ก. 4 - 01 ไปถ่ายสำเนาแล้วลบชื่อบิดาจำเลยผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เดิมและเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลย แล้วจำเลยนำไปขายให้แก่ น. และ จ. ทั้งที่จำเลยรับกับโจทก์แล้วว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังเป็นของรัฐเพียงแต่รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนครอบครองทำกินเท่านั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่ก่อให้ น. และ จ. มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท แม้จำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันในที่ดินพิพาท โจทก์ก็มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอม แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แต่การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ น. และ จ. ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงมิใช่การโอนไปซึ่งทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 350 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2559 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการจัดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ และจำเลยทั้งห้าดำเนินการจดทะเบียนตามมติที่ประชุมใหญ่อันเป็นโมฆะดังกล่าว โจทก์ทั้งสองไม่จำต้องฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดเป็นจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องอย่างไร ถือว่าฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2559 โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อ ๆ ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน และร่วมกันจำหน่ายโดยการขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวให้แก่ร้าน จ. แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองแยกเป็นรายกระทงความผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ทั้งความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง และฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน กับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายปุ๋ยเคมีดังกล่าวเป็นความผิดที่ต้องอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้ แม้ปุ๋ยเคมีปลอม ปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง ปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน และปุ๋ยเคมีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาแยกการร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง และร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนต่างหากจากการร่วมกันขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวตั้งแต่จำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีให้แก่ร้าน จ. แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559 ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสองประกอบ มาตรา 216 วรรคหนึ่งและมาตรา 225 วางหลักว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาโดยคัดลอกข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาทั้งสิ้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ยกเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฎีกาว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง และตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ล. และ น.ยังไม่อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ป่วยราย ล. และ น. ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะฐานกะโหลกแตกและสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้สมองบวมกดแกนสมองเคลื่อนไป แพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองราย ไม่รู้สึกตัวและอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากไม่หายใจ เกณฑ์การตรวจและวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยการตรวจและทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายและตามหลักวิชาทางการแพทย์ ปรากฏว่าผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออกก็ไม่หายใจ แสดงให้เห็นได้ว่าแกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้อย่างแน่นอน ก่อนทำการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองรายไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด แกนสมองตายแล้วและไม่หายใจเช่นเดียวกัน จึงน่าเชื่อว่าก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะออกไปนั้น ผู้ป่วยทั้งสองรายแกนสมองตาย มีผลทำให้หัวใจขาดออกซิเจน กล้ามเนื้อหัวใจจะหยุดทำงานและหัวใจจะหยุดเต้นในเวลาต่อมา โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ล. และ น. อยู่ในสภาวะสมองตายก่อนที่จะมีการผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกายไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้วมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และเป็นกรณีไม่อาจอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่ามีการวินิจฉัยสมองตายตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภาไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เช่น ไม่ได้กระทำโดยองค์คณะแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน ไม่ได้บันทึกว่าแกนสมองตายนั้น เห็นว่า ข้อความในฎีกาโจทก์เป็นทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแกนสมองของ ล. และ น. ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป บุคคลทั้งสองจึงอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายฉบับแรกและฉบับที่ 2 ก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะของ ล. และ น. ออกไป วิสัญญีแพทย์ ตรวจผู้ป่วยทั้งสองแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อปลดเครื่องช่วยหายใจออกจากท่อแล้วผู้ป่วยไม่หายใจเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองคนถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้แล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เองโดยปราศจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภา แม้การวินิจฉัยเรื่องแกนสมองตาย จะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เช่น ไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของแพทยสภา หรือการวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยแพทย์ไม่ครบ 3 คน ก็เป็นความบกพร่องในด้านการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกลงโทษโดยแพทยสภาไปแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การตายของ ล. และ น. จะนำหลักเกณฑ์ตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายซึ่งออกในปี 2532 และตามประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปี 2539 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยการตายในทางการแพทย์ที่จะใช้ในการเปลี่ยนปลูกถ่ายอวัยวะ แต่คดีนี้จะต้องวินิจฉัยการตายตามความหมายในทางกฎหมาย คือ การไม่หายใจและหัวใจหยุดทำงาน นั้น เห็นว่า ป.อ. มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมีองค์ประกอบความผิดประการหนึ่ง คือ ฆ่า คำว่า "ฆ่า" เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หมายถึงการกระทำด้วยประการใดๆ ให้คนตาย แต่ตาม ป.อ. มิได้กำหนดบทนิยามคำว่า "ตาย" ว่ามีความหมายอย่างไร และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดนิยามความตายให้ชัดแจ้ง เมื่อตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้แพทย์เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตาย ดังนั้น การวินิจฉัยการตายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย โดยที่งานของแพทย์มีลักษณะเป็นวิชาชีพ จึงเป็นงานที่ต้องมีกรอบขนบธรรมเนียมและจรรยาบรรณของหมู่คณะโดยเฉพาะ และเป็นการใช้ความรู้ในวิทยาการเฉพาะด้านที่ผู้อื่นไม่อาจรู้ได้ทั้งหมด อีกทั้งมีวิวัฒนาการด้านการรักษาและวิทยาการเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพนี้เป็นพิเศษและมีการสอดส่องดูแลโดยบุคคลในวิชาชีพเดียวกันเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปโดยถูกต้องตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะเกิดเหตุ วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยที่มีปัญหาการสูญเสียหน้าที่การทำงานของอวัยวะหรือมีความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต เป็นต้น มีความก้าวหน้าจนสามารถเอาอวัยวะจากผู้ที่ตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่นำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยได้ ในการนี้ได้มีประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ.2532 และประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายมีสาระสำคัญว่า การวินิจฉัยคนตายโดยอาศัยเกณฑ์สมองตายนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้โดยเฉพาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญของมนุษย์ และอาจนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพและเพื่อประโยชน์ของประชาชน บุคคลซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย ถือว่า บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สมองตายหมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป แพทย์เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและตัดสินการตายของสมองตามเกณฑ์ของวิชาชีพ ดังนั้น เมื่อแพทย์ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับในการสรุปว่าคนไข้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว บุคคลผู้อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายที่คณะกรรมการแพทยสภากำหนดและออกเป็นประกาศแพทยสภาตามประกาศแพทยสภาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า เป็นการตายของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้างและตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. ซึ่งอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ตายแล้วไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้อีก ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2559 การพิจารณาว่าป้ายของโรงเรียนเอกชนใดจะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 8 (9) หรือไม่ ต้องพิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 28 และมาตรา 127 (1) ที่กำหนดถึงการใช้ชื่อของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ซึ่งก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโรงเรียนเอกชนดังกล่าว เดิมมี พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 54 บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจัดมีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่ ซึ่งกฎหมายโรงเรียนเอกชนฉบับเดิมและฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ชัดเจนว่า ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหมายความถึงป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเท่านั้น โดย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอักษรที่แสดงอยู่บนป้ายชื่อของโรงเรียน ดังนั้น ป้ายของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่จะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8 (9) จึงต้องเป็นป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควร และป้ายนั้นติดไว้ที่บริเวณโรงเรียนเอกชนที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า "โรงเรียน" ประกอบชื่อด้วย เมื่อป้ายพิพาทของโจทก์ทั้งสองป้ายมิได้มีชื่อโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีอักษรต่างประเทศปะปนอยู่ และมีข้อความอื่นแสดงหลักสูตรที่เปิดสอนพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการโฆษณากิจการเพื่อหารายได้ แม้จะติดไว้บริเวณโรงเรียน ย่อมไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 8 (9) พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2559 จำเลยได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่จำเลยไม่สามารถนำวัตถุดิบที่นำเข้าและได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เนื่องจากวัตถุดิบที่นำเข้าถูกไฟไหม้ โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือมีส่วนร่วมกระทำหรือประมาทเลินเล่อ และยังเป็นเหตุสุดวิสัย เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยจงใจ และเหตุดังกล่าวเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จำเลยจะบังคับได้ การที่จำเลยได้รับการส่งเสริมให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำเข้าก็เนื่องจากรัฐต้องการส่งเสริมการลงทุน มุ่งเน้นประโยชน์ในการสร้างงานเพิ่มรายได้แก่ประชาชน โดยประชาชนไม่ได้บริโภควัตถุดิบหรือสินค้าที่นำเข้าอันจะทำให้รัฐเสียดุลการค้าอันจะเห็นได้จากเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดให้นำวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเท่านั้น ก่อนที่จะเกิดไฟไหม้วัตถุดิบที่นำเข้าจำเลยก็ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว เมื่อวัตถุดิบที่นำเข้าถูกไฟไหม้ทำลายไปแล้วก็ไม่สามารถนำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้และไม่อาจนำวัตถุดิบมาบริโภคภายในประเทศได้เช่นกัน และยังเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่สามารถนำวัตถุดิบที่นำเข้าไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้วยเหตุไฟไหม้วัตถุดิบ จึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่จำเลยได้รับตามบัตรส่งเสริมฯ ดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2559 การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 400,000 บาท กันแต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่กองทรัพย์สินของจำเลย และการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวเป็นนิติกรรมการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้มีการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (2) และมาตรา 62
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2559 คดีนี้มีเจ้าหนี้ 13 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,579,969,429.28 บาท จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ยอมชำระหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 5 ของหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ ส่วนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันให้ได้รับชำระหนี้จำนวนร้อยละ 5 ของส่วนที่ขาดจากการบังคับชำระหนี้จากหลักประกันแล้ว โดยกำหนดผ่อนชำระทุก 6 เดือน ให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี เมื่อพิจารณาทรัพย์สินและรายได้ของจำเลยดังกล่าวแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะมีเงินพอที่จะสามารถชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ได้เสร็จสิ้น ทั้งยังไม่พอที่จะรับฟังให้เป็นที่แน่นอนได้ว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพราะเจ้าหนี้ยังคงโต้แย้งอยู่ว่าจำเลยกับเจ้าหนี้รายที่ 11 ซึ่งขอรับชำระหนี้จำนวนมากกว่าร้อยละ 82 ของหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ทั้งหมดร่วมกันก่อหนี้อันเป็นเท็จในลักษณะเป็นหนี้ที่สมยอมกันโดยไม่มีหนี้อยู่จริง และเจ้าหนี้รายที่ 11 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยแล้ว พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงเชื่อว่าการประนอมหนี้ของจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เพียงร้อยละ 5 และจะได้หลุดพ้นจากการล้มละลายทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ กรณีจึงมีเหตุไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 53 (2) และมาตรา 54 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166 - 4170/2559 บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือการร้องขอซ้ำนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมซึ่งจะได้รับชำระหนี้จำนวนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการ โดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนว่าเป็นการกระทำแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย หากมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างมูลเหตุเดิมหรือช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเดียวกันก็ย่อมเป็นการร้องขอซ้ำได้เช่นกัน ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้ผู้ร้องได้อ้างเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า ลูกหนี้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวและการเปลี่ยนค่าเงินบาทในปี 2540 ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น มูลเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้เป็นเหตุที่มีการร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วในคดีแรก แม้ว่าผู้ร้องขอคดีนี้จะไม่ได้เป็นผู้ร้องขอเองก็ตาม แต่เมื่อคดีแรกศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ อันมีผลทำให้เจ้าหนี้ต้องถูกปรับยอดหนี้ลงมาและมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะหนี้ที่ค้างอยู่ตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งหลังจากศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็ไม่ปรากฏเหตุใหม่ในสาระสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ร้องขอมีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการได้อีก ทั้งศาลวินิจฉัยในคดีแรกมาแล้วว่าลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้และในคดีแรกมีการดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเช่นนี้ การที่เจ้าหนี้มายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้อีก จึงเป็นการร้องขอซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีที่สามนั้น ธนาคาร ส. ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการซึ่งเป็นผู้รับโอนจากห้าธนาคารในประเทศในขณะที่คดีแรกอยู่ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีที่สามจึงเป็นการร้องขอซ้อนและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแรกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 และมาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการที่ผู้ร้องขอมายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีนี้โดยเหตุทำนองเดียวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีที่สามอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีที่สาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4094/2559 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้" แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายเดือนละ 28,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างโดยใช้ฐานเงินเดือนดังกล่าว แต่จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายเดือนละ 45,000 บาท การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความโจทก์และพยานจำเลยที่ยืนยันว่าระหว่างทำงานจำเลยจ่ายเงินเดือนเดือนสุดท้ายให้โจทก์จริงเดือนละ 45,000 บาท จึงใช้ดุลพินิจเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความให้นำเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามความเป็นจริงซึ่งเป็นเงินเดือนสุดท้ายมาเป็นฐานในการคิดเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4089/2559 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีอีกโดยอ้างเหตุว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 และโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้คดีนี้เต็มจำนวนแล้ว อันเป็นการอ้างเหตุเดิม แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับไปแล้วก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการอ้างเพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาเช่นเดียวกับคำร้องขอให้งดการบังคับคดีครั้งก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ที่ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4086/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนที่ พ. มารดาโจทก์จะถึงแก่ความตาย โจทก์และจำเลยเคยร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินของ พ. ไว้ในคดีแพ่ง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยกที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ของ พ. ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ประสงค์จะขอรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ ดังนี้ คำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง มิใช่มาฟ้องเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559 คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 เป็นจำเลยในคดีส่วนอาญาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาท ในคดีส่วนแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง โจทก์ขอหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในระหว่างคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์รับจ้างขนส่งข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยมีข้อตกลงว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ แม้ขณะเกิดเหตุละเมิดข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจากจำเลยร่วมทั้งสองผู้ทำละเมิด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2559 มูลคดีนี้ มีข้อเท็จจริงเดียวกับมูลคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องจำเลยนี้ในคดีอาญาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยกับผู้ตายต่างสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน คดีนี้ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ขณะผู้ตายวิ่งขึ้นจากสระน้ำมาทะเลาะวิวาทกับจำเลย ผู้ตายมีอาวุธปืนด้วย เช่นนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงเกินเลยไปจากที่ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อผู้ตายและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055 - 4056/2559 ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุว่าการว่ากล่าวตักเตือนเป็นโทษผิดวินัย จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนของจำเลยที่ 1 เป็นการลงโทษโจทก์ทั้งสอง และหากโจทก์ทั้งสองจะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะกระทำการดังถูกว่ากล่าวตักเตือนมาแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือที่ไม่ถูกต้อง การว่ากล่าวตักเตือนเช่นนี้จึงยังไม่โต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2559 ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 39 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเพื่อประโยชน์ของเจ้าของห้องชุดซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดใช้สิทธิของเจ้าของร่วมในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้อีกด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชุดอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาท จนเป็นเหตุให้เจ้าของห้องชุดและโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากทางพิพาทเพื่อเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกจากถนนสาธารณะสู่อาคารชุดโจทก์ได้ดังเดิม การที่โจทก์ยื่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทและให้ไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะที่โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดนั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2558)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4003/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 ที่จองซื้อไว้ตามที่กรรมการโจทก์เรียกร้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหุ้นที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จองซื้อไว้โดยไม่จำต้องรอให้ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์จัดประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยในเรื่องนี้เพราะบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่จะจัดให้มีการการจัดประชุมใหญ่เสียก่อนจึงจะชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมตามที่โจทก์เรียกร้อง นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานการประชุมใหญ่ของโจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ก็ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นในลักษณะการลงมติมิให้โจทก์เรียกเก็บค่าหุ้นเพิ่มเติม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดค่าหุ้นเพิ่มเติมรวมทั้งดอกเบี้ย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2559 ก่อนมีการตกลงว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้ากังหันไอน้ำความดันต่ำ โจทก์แจ้งกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าว่า ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ให้จำเลยทราบแล้วในหนังสือขอให้จำเลยเสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น ก่อนเสนอราคาจำเลยย่อมต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่าสามารถดำเนินการรับขนสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ได้ทันวันดังกล่าวหรือไม่ แต่จำเลยกลับนำสืบว่าได้จองเรือที่เดินทางออกจากท่าเรือในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้เมื่อโจทก์สนองรับราคาของจำเลย โจทก์ยังแนบสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำซึ่งมีกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ไปพร้อมกับหนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือให้จำเลยทราบอีกด้วย จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหากจำเลยไม่สามารถจัดหาเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาอย่างช้าที่สุดวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ได้ จำเลยยังมีทางเลือกที่จะจัดหาเรือซึ่งออกจากท่าเรือต้นทางอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ได้อีกด้วย แม้หนังสือจ้างจะไม่มีข้อตกลงให้จำเลยไปรับสินค้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีเพียงข้อกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานภายใน 22 วัน นับจากวันที่จำเลยรับสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทราบกำหนดวันที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ หนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาไว้แน่นอน การที่จำเลยจองระวางเรือซึ่งมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาวันที่ 23 มิถุนายน 2552 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการจองระวางเรือที่เหมาะสมกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย แม้จำเลยนำสืบว่าเรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาการเดินเรือและเข้าเทียบท่าอาจคลาดเคลื่อนได้ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่ควรจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ไปรับสินค้าตามกำหนดที่ตกลงไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบสินค้าชักช้า จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 และ 58 มาปรับใช้แก่คดีดังที่จำเลยต่อสู้ได้ เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบกำหนดรับมอบสินค้าว่าประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือไปรับสินค้าให้ทันวันดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์จะใช้สินค้าเมื่อใด เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2559 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ส่วนที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาให้ครบองค์คณะ ซึ่งเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) นั้น ก็มีผลเพียงให้คำพิพากษาและกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นภายหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หามีผลให้ต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาด้วยไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย แต่กลับให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา โดยให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การสืบพยานโจทก์เป็นต้นมาจึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3901/2559 สำหรับคดีที่โจทก์ฟ้อง ธ. นั้น ศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) วินิจฉัยว่า ธ. ทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. มิได้ทำสัญญากับโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์กับ ธ. จึงฟังไม่ได้ว่า ธ. เป็นลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ตามสัญญาจ้างมากล่าวอ้างว่า ธ. ปฏิบัติผิดสัญญาจนโจทก์ได้รับความเสียหายได้ พิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดและผูกพันคู่ความทั้งในส่วนของผลคดีและข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัย ส่วนคดีนี้ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคนละบุคคลกับ ธ. แต่ตามคำฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่า ธ. เป็นลูกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ ธ. ทำกับบริษัท พ. และ ธ. ปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัญญา นำความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในกิจการของบริษัทที่ ธ. กับภริยาตนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นสัญญาเดียวกับที่โจทก์นำมากล่าวอ้างในคดีก่อน ประเด็นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์และ ธ. ทั้งสองคดีจึงเป็นประเด็นเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์คดีนี้ว่า ธ. ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ในสัญญาจ้างแรงงานมากล่าวอ้างว่า ธ. ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานได้ ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐานผูกพันคู่ความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ธ. ทำสัญญาขายหุ้นของบริษัทโจทก์ให้แก่บริษัท อ. ก่อนที่ ธ. จะทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. แม้บริษัท อ. จะควบรวมกิจการกับบริษัท จ. กลายเป็นบริษัท พ. และถือว่าบริษัท พ. สวมสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นที่ซื้อจาก ธ. แทนบริษัท อ. ก็ตาม แต่บริษัท พ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิยกเอาข้อตกลงตามสัญญาขายหุ้นดังกล่าวที่ห้าม ธ. ประกอบธุรกิจหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นการแข่งขันทางธุรกิจกับโจทก์มากล่าวอ้างฟ้องร้องคดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2559 สัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยตกลงให้นำสัญญาหลักระหว่างจำเลยกับบริษัท อ. เจ้าของงานมาใช้บังคับ สัญญาหลักมีข้อตกลงว่าหากมีกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัย จึงถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้วตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคท้าย แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ส่วนกรณีสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงที่มีข้อกำหนดให้จำเลยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงนั้น หาได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เพราะข้อวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย หากโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักอยู่ดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในคดีนี้ก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3892/2559 โจทก์บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของฟ้องว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทเลขที่ 30/540 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ขอให้จดทะเบียนระงับการจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้โจทก์ โดยบรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนระงับการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การว่า กรณีห้องชุดเลขที่ 30/540 นั้น จำเลยตรวจสอบพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 ส. พนักงานของจำเลยเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบัน กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของ ส. แล้ว จึงเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ ประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีว่าห้องชุดเลขที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้หรือไม่เท่านั้น ไม่มีปัญหาว่าจำเลยค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยหรือไม่ การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นเหตุให้จำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ เป็นการนำสืบนอกประเด็นคำให้การ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับห้องชุดดังกล่าวแก่จำเลย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ส่วนคำให้การที่ต่อสู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ห้องพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ แต่กลับอ้างว่ามีบุคคลภายนอกครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยไม่มีหลักฐานคำพิพากษาของศาลแสดงกรรมสิทธิ์ของบุคคลดังกล่าวหรือมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นของบุคคลอื่นแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ไม่อาจทำให้ศาลวินิจฉัยให้จำเลยชนะคดีในประเด็นนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883 - 3884/2559 ผู้ร้องทั้งหกได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ผู้ร้องทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทที่ได้ร่วมกันเช่าจากผู้คัดค้านที่ 2 ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินและบ้านพิพาทที่อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องทั้งหก เพื่อถือการครอบครองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องทั้งหกโดยปกติสุข และได้เปลี่ยนกุญแจบ้าน ประตูห้องนอน ประตูรั้วบ้าน ตัดน้ำ ตัดไฟ ขับไล่บริวารของผู้ร้องทั้งหกออกจากบ้าน ซึ่งไม่มีสิทธิกระทำได้โดยขอให้อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งขับไล่ผู้คัดค้านทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท ให้ส่งมอบที่ดินและบ้านในสภาพคงเดิมและให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและผู้ร้องทั้งหกได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด โดยขอให้มีคำสั่งห้ามผู้คัดค้านทั้งสองเข้าไปในที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของผู้ร้องทั้งหก ให้ดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ผู้ร้องทั้งหกสามารถเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทได้เป็นการชั่วคราวก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ร้องทั้งหกอาจได้รับต่อไป เนื่องจากการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) เมื่อข้อเรียกร้องของผู้ร้องทั้งหกมีมูลและมีเหตุผลเพียงพอ ผู้ร้องทั้งหกจึงร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ปัญหาว่าการจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ เป็นกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองกับผู้ร้องทั้งหก ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 15.5 ระบุว่าในกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาหรือเกิดขึ้นจากสัญญานี้ ไม่สามารถตกลงกันได้โดยคู่สัญญาด้วยกัน คู่สัญญาตกลงเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ผู้คัดค้านทั้งสองชอบที่จะเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมตามข้อสัญญา ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาแต่อย่างใด ปัญหาว่ามีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อน มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่ คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นการขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) ในการพิจารณาตามคำร้องขอต้องเป็นที่พอใจของศาลว่า ผู้ร้องทั้งหกจะดำเนินการให้มีการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนการจดทะเบียน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) (ก) แต่ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ 2 อ้างเหตุในคำร้องขอแต่เพียงว่า การจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทไม่ชอบ โดยไม่ปรากฏเหตุว่าผู้ร้องทั้งหกจะไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหรือเพิกถอนการจดทะเบียนในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ไม่มีเหตุสมควรที่จะใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2559 การพิจารณาในเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" และคำว่า "ROSS" ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ปรากฏว่าลักษณะของคำประกอบด้วยพยัญชนะที่เป็นอักษรโรมัน 4 ตัว เหมือนกัน แม้พยัญชนะสามตัวหลังเหมือนกันแต่พยัญชนะตัวหน้าแตกต่างกันโดยสามารถสังเกตเห็นอย่างเด่นชัด ส่วนลักษณะตัวอักษรแม้ทั้งสามเครื่องหมายต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันแต่มีลักษณะของแบบอักษร (font) แตกต่างกัน ข้อแตกต่างประการสำคัญคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังประกอบด้วยรูปหูฟัง ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปหูฟัง แต่ก็มีผลเพียงว่าไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใช้รูปประดิษฐ์นั้นแต่เพียงผู้เดียวหรือหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้รูปประดิษฐ์ดังกล่าวได้เท่านั้น แต่ในการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมายโดยถือว่ารูปประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า มิใช่ตัดส่วนที่เป็นรูปประดิษฐ์ดังกล่าวออกจากการพิจารณา ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีรูปประดิษฐ์รูปหูฟังประกอบอักษรโรมันคำว่า "KOSS" ซึ่งมีรูปลักษณะแตกต่างโดยชัดแจ้งจากเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" และคำว่า "ROSS" ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วที่ไม่มีรูปประดิษฐ์ใด ๆ มาประกอบ ในส่วนของเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า คอส แตกต่างจากเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งเรียกขานว่า บอส และ รอส อย่างชัดเจน แม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 และรายการสินค้าจะเป็นสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีรายการสินค้าบางรายการตรงกับรายการสินค้าของผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน เช่น เครื่องขยายเสียง แต่เมื่อองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนย่อมสามารถแยกแยะได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นไปได้ยาก เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" และคำว่า "ROSS" ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2559 โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ประดิษฐ์การประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะแบบอัด ซึ่งได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองอ้างในคำฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ซึ่งการโอนสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ปรากฏตามสิทธิบัตรดังกล่าวว่ามีรายการที่โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนโอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 แล้ว ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ที่ 2 โอนสิทธิบัตรให้แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 2 โอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะแบบอัดดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงยังคงเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าว ซึ่งมีอำนาจฟ้องว่าจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทรงสสิทธิบัตรที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าว คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้ โดยลอกเลียนหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตตู้บรรทุกขยะโดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่อยู่ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะตามสิทธิบัตรดังกล่าวให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง แต่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า คำกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองผลิตตามแบบของตนเองไม่ได้ลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ของผู้ใดเป็นเท็จ เพราะถ้าเป็นแบบของตนเอง รูปแบบสินค้าที่นำมาเสนอขายควรเป็นแบบหรือภาพถ่ายสินค้าของตนเอง ไม่ควรนำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นของตนเอง โจทก์ทั้งสองจึงมั่นใจว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองโดยการคัดลอกแบบแปลนและผลิตออกจำหน่ายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ค. โดยมิได้นำสืบว่า รถยนต์บรรทุกที่อ้างว่า จำเลยทั้งสองผลิตและขายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ค. นั้นมีลักษณะอย่างไร มีกระบวนการการทำงานอย่างไร ตรงกับข้อถือสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองในสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารถเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้โดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่มีรายละเอียดตรงหรือสอดคล้องกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แม้ผู้รับมอบอำนาจจำเลยทั้งสองจะตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลิตรถขนขยะตามแบบที่เสนอตามสเป็กที่กำหนดต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ค. และส่งมอบเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกขยะที่จำเลยทั้งสองผลิตและส่งมอบดังกล่าวนั้นมีส่วนใดบ้างที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ความคิดในการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบบ่งชี้ไปในทางที่ว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายรถต้นแบบและแค็ตตาล็อกของโจทก์ทั้งสองไปใช้ในการเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ค. ซึ่งไม่ใช่การที่จำเลยทั้งสองผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงสิทธิบัตร ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2559 จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในงานภาพยนตร์ งานวรรณกรรม และงานศิลปกรรมอันมีลักษณะเป็นงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ที่เป็นตัวงานเรียกว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ ในลักษณะเป็นรูปคนที่เป็นตัวละครต่างๆ ในตระกูลเดียวกันกับอุลตร้าแมน งานภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งปวง สัตว์ประหลาดที่เป็นตัวละครในภาพยนตร์ดังกล่าว ภาพเหมือน ภาพวาด และภาพถ่ายในลักษณะต่างๆ ของตัวละครตระกูลอุลตร้าแมน และสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ดังกล่าว และจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ รวมทั้ง ชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าประเภทลักษณะตัวละครอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ในลักษณะต่างๆ และสัตว์ประหลาดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งชื่อและข้อความว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ซึ่งได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนอกราชอาณาจักร โดยได้รับโอนสิทธิจากบริษัท ซ. ในประเทศญี่ปุ่น แต่จำเลยไม่ได้อ้างว่า จำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์ในงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมน คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยมีลิขสิทธิ์โดยการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนต่างๆ ตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยทำนองว่า จำเลยได้พัฒนาหรือสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตัวต่างๆ ที่จำเลยอนุญาตให้ใช้สิทธิตามฟ้องตามสิทธิของจำเลยในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2559 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ร้านวีดิทัศน์" หมายความว่าสถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบกิจการให้บริการร้านเพลงคาราโอเกะอันเป็นร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่ร้าน ค. และได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการเพลงคาราโอเกะดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และไม่ใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคสี่ ที่ว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการนั้น ไม่นำมาใช้กับคดีนี้เพราะไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องส่วนใดที่ระบุว่าร้านอาหาร ค. ของจำเลยกับพวกเป็นร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3836/2559 โจทก์เป็นเจ้าของสนามบิน โจทก์ทำสัญญาให้เช่าสนามบินระยะยาวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับสัญญาอื่น ๆ อีก 4 ฉบับ คือ สัญญาเช่าช่วงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัญญาให้บริการระบบ สัญญาตกลงกระทำการ หนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองในวันเดียวกัน เพื่อระดมเงินผ่านกองทุนรวมฯ เมื่อพิจารณาหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนที่ระบุว่ามีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินที่ได้จากการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนไปซื้อ เช่าและหรือ เช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยการให้เช่า ให้เช่าช่วง โอน และ/หรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมฯ ได้ลงทุน โดยกองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ ได้แก่ ที่ดิน ทางวิ่ง และลานจอดเครื่องบิน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ซึ่งปัจจุบันใช้ดำเนินการสนามบินสมุย โดยเข้าทำสัญญาเช่าระยะยาวและสัญญาตกลงกระทำการกับบางกอกแอร์เวย์ส ในขณะเดียวกันกองทุนรวมฯ ประสงค์ที่จะจัดหาผลประโยชน์โดยนำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป และนโยบายการลงทุนครั้งแรกที่กองทุนรวมฯ ประกาศชี้ชวนผู้ลงทุนทั่วไปนั้นปรากฏข้อความชัดเจนว่า กองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ อีกทั้งเป็นกองทุนรวมฯ ประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่มุ่งลงทุนโดยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน คงมีเพียงสิทธิในการนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปหาผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาของสัญญาเช่าที่กองทุนรวมฯ ได้ตกลงไว้กับโจทก์ การที่กองทุนรวมฯ ทำสัญญาทั้งห้าฉบับกับโจทก์ จึงเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนว่า กองทุนรวมฯ จะนำเงินไปลงทุนในสิทธิการเช่าสนามบินสมุย โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่กองทุนรวมฯ นำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป รวมทั้งได้รับประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาให้บริการระบบรวมกันมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 6 ของจำนวนเงินทุนของโครงการ ณ วันที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมฯ ดังที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวน นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าระยะยาว ยังระบุความประสงค์ของโจทก์ไว้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ที่ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 537 ไม่อาจแปลความสัญญาเช่าระยะยาวดังกล่าวเป็นการกู้เงิน หรือเป็นสัญญาเช่าที่มิใช่สัญญาเช่าปกติทั่วไปได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสนามบินสมุยได้นำสนามบินสมุยออกให้กองทุนรวมฯ เช่าตามสัญญาเช่าระยะยาว เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นมีการนำออกให้เช่า พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 วรรคสาม บัญญัติให้ถือว่าค่าเช่านั้นเป็นค่ารายปี จำเลยนำค่าเช่าตามสัญญาเช่าระยะยาวมาคำนวณเป็นค่ารายปีและคิดเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2559 โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิง ว. โจทก์จึงมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.พ.พ. 1567 (1) และ (4) ขณะที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยที่สุราษฎร์ธานี ผู้เยาว์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลยจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองบุตร และต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยจะได้จดทะเบียนรับรองผู้เยาว์เป็นบุตรอันทำให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ก็ตาม ก็หากระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ถูกต้องแห่งอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกบุตรคืนจากจำเลยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2559 การฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง และค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาหมั้น ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาว่าเหตุที่ไม่อาจจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีพฤติกรรมชอบดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน ไม่ดูแลจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์แก้ไขความประพฤติดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่แก้ไข จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นและไม่ต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้น ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648 - 3808/2559 ก่อนการเลิกจ้างจำเลยยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยได้แจ้งถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้จำเลยต้องประสบภาวะขาดทุน คือต้นทุนค่าแรง ทั้งค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นต้นทุนที่สูงมากให้สหภาพแรงงาน ร. ทราบแล้ว แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้จนมีการนัดหยุดงานและแจ้งปิดงาน ต่อมาจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงาน ร. เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งซื้อจึงต้องเปิดงาน แม้สหภาพแรงงาน ร. จะลดข้อเรียกร้องลงแต่ในส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังคงมีอยู่จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในส่วนของต้นทุนค่าแรง ยอดรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีไม่ว่าจำเลยจะขาดทุนหรือกำไร คือเงินเดือน ค่าแรงและผลประโยชน์อื่นของลูกจ้าง ก่อนเลิกจ้างจำเลยจัดโครงการสมัครใจลาออก โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด มีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ จำเลยจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างเฉพาะลูกจ้างประจำไม่เลิกจ้างลูกจ้างรายปีเพราะลูกจ้างรายปีไม่มีโบนัส ไม่มีการปรับค่าจ้าง ทั้งการเลิกจ้างลูกจ้างประจำก็มีหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นลำดับไม่ได้เลือกปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งเน้นลดต้นทุนค่าแรง จึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของจำเลยดำรงอยู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3639/2559 คำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางปรากฏจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 ท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวว่า โจทก์เคยมีคำขอให้ริบรถของกลางดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางมาแล้ว ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 เดิมเป็นคู่ความรายเดียวกัน ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องเป็นวิธีพิจารณาความเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีเท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอให้ริบของกลางในคดีก่อนและคดีนี้เป็นการอ้างเหตุเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีก่อน จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นเรื่องของกลางแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ร้องขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้อีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ของกลางมาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559 การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2559 พฤติการณ์ของจำเลยที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ให้แก่ บ. หลังจากนั้นแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. ส. ท. และ ร. คนละ 1/4 เม็ด เพื่อนำไปเสพอีก และจำเลยก็เสพในเวลาต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะเสพด้วยจึงแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อจะเสพพร้อมกับจำเลย กรณีไม่ใช่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อให้แต่ละคนไปเสพเพียงลำพังภายหลัง จึงเป็นการมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน มิใช่มีเจตนาแจกจ่ายให้แก่บุคคลดังกล่าว การกระทำของจำเลยหาได้อยู่ในความหมายของคำว่าจำหน่าย ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2559 ป.พ.พ. มาตรา 510 บัญญัติว่า "ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป" คดีนี้แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโดยระบุว่า ขายที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน แต่ในวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน และได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แถลงให้ผู้เข้าร่วมประมูลและผู้สนใจเข้าฟังการขายทอดตลาดทราบแล้วว่าจะรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกัน โดยจำเลยที่ 2 มาดูแลการขายทอดตลาดด้วย แต่จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งคำโฆษณาบอกขายว่าเป็นการรวมขายหรือแยกทรัพย์สินเป็นเพียงวิธีการในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดี อันเป็นรายละเอียดของการขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดหรือข้อกำหนดของศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำคำโฆษณาบอกขายระบุถึงรายละเอียดวิธีการขาย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าการรวมขายไปด้วยกันเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจจัดรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 (1) (ข) ถือได้ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำโฆษณาบอกขายหรือข้อความอื่นซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 510 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในการขายทอดตลาดต้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย การขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2559 การที่จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่ใช้ราคาซื้อทรัพย์ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่ง และได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมนั้น จำเลยผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย การที่จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งแรกและต้องรับผิดในส่วนราคาที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 309 ทวิ ในอันที่จะโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้หากดำเนินการไปโดยไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่มาดูแลการขายโดยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งใหม่อ้างว่าการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และไม่ได้คัดค้านว่าการที่โจทก์ซื้อทรัพย์รายพิพาทจากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคา 4,440,000 บาท เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้และเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ การขายทอดตลาดครั้งใหม่จึงเป็นการดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่ขาดจำนวน 8,760,000 บาท ซึ่งการที่จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่มีจำนวนมากเพียงนั้นก็เกิดจากจำเลยเองด้วยที่เสนอราคาสูงสุดในครั้งก่อนสูงถึง 13,200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประเมินทรัพย์รายพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเพียง 8,870,000 บาท โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดในส่วนต่างคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3570/2559 แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้รวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์แยกกัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 62,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 56,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 148,893 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 133,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 200,000 บาท ย่อมต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3533/2559 โจทก์ฟ้องโดยระบุข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้องว่า ผิดสัญญาจ้างแรงงาน ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรียกค่าเสียหาย และในคำฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 โจทก์บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสระบุรี มีหน้าที่ช่วยปฏิบัติและบริหารงานของผู้จัดการสาขา ช่วยดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสาขาทุกระบบงานโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยไปดูแลการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้โจทก์ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรี แต่จำเลยไปไม่ทันกำหนดเวลาขายทอดตลาด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดอนุมัติให้ขาย อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลสัญญาจ้างแรงงานเป็นหลักแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นสำคัญ ส่วนการบรรยายฟ้องถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็เป็นการบรรยายฟ้องถึงลำดับเหตุการณ์ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องคือวันที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนับถึงวันฟ้อง ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ก่อนขายทอดตลาดประมาณ 3 ถึง 4 วัน จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ โดยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าจะต้องไปก่อนเวลาขายทอดตลาด และการขายทอดตลาดครั้งก่อนมีผู้สู้ราคาและมีการคัดค้าน ซึ่งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าต้องหาผู้สู้ราคาสูงกว่าหรือมาซื้อไว้เอง การขายทอดตลาดครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สำคัญที่จำเลยต้องไปดูแลและเตรียมความพร้อมโดยตรวจสอบสำนวนคดีและเส้นทางที่จะไปสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีล่วงหน้า ซึ่งจำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อม การที่จำเลยไปไม่ทันกำหนดจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2559 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 44 มิได้บัญญัติบังคับไว้เด็ดขาดให้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นในทุกกรณี จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะพิจารณาว่าเรื่องประเภทใดที่สมควรจะเชิญหรือไม่ ส่วนมาตรา 41 (4) เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรืออาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ย่อมได้ เมื่อขณะเป็นลูกจ้างโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่นายจ้างและผู้บังคับบัญชา และร้องเรียนนายจ้างต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ รวมแล้วหลายสิบเรื่อง อันเป็นการก้าวก่ายการใช้สิทธิปกติในทางการบริหารของนายจ้าง จากพฤติการณ์ของโจทก์จะเห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นนายจ้างมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าหากให้โจทก์ทำงานร่วมกับจำเลยที่ 12 อีกต่อไปรังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น จึงมิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณี มิได้คำนึงแต่การคุ้มครองสิทธิหรือประโยชน์ของลูกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังคำนึงถึงการคุ้มครองฝ่ายนายจ้างเพื่อให้ประกอบกิจการไปโดยราบรื่น อันจะเป็นผลดีแก่ลูกจ้างโดยรวมอีกด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 37 ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างที่คอยถ่วงดุลในการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นอกจากเพื่อปกป้องมิให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบแล้วยังให้การพิจารณาของคณะกรรมการเป็นไปโดยเหมาะสมแก่กรณีและเป็นธรรมแก่ลูกจ้างด้วย คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ให้จำเลยที่ 12 จ่ายเฉพาะค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2559 การที่ผู้ร้องมีคำขอให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องเป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นการร้องขอที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2559 ที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัท ท. โดยที่โจทก์มิได้มีสิทธิอื่นใดเหนือหลักประกันอันเป็นเครื่องจักร เนื่องจากการจำนำระงับไปแล้ว เพราะทรัพย์จำนำตกอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำซึ่งเป็นผู้แทนผู้จำนำ สาระที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ให้การเกี่ยวกับเหตุผลของการจำนำที่ระงับไปแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายล้วนเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก และข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสามารถนำสืบพยานหลักฐานได้ตามประเด็นข้อพิพาท เช่นนี้ การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองย่อมไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ตามสัญญาจำนำเครื่องจักรและสัญญารักษาทรัพย์ ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำเครื่องจักรมาจำนำไว้แก่โจทก์โดยตกลงให้ ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของลูกหนี้เป็นผู้เก็บรักษาเครื่องจักรที่จำนำไว้ที่โรงงานของลูกหนี้ โดย ศ. จะได้รับค่าตอบแทนการรักษาทรัพย์จำนำเพียงเดือนละ 100 บาท และยังมีข้อตกลงว่า ตลอดเวลาที่ทรัพย์จำนำอยู่ในความครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำ แม้ผู้จำนำจะได้ใช้สอยทรัพย์สินที่จำนำ ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนสู่ความครอบครองของผู้จำนำ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่ให้ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนสู่การครอบครองของผู้จำนำก็ตาม แต่เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เพราะเจตนาอันแท้จริงของสัญญาจำนำดังกล่าวประสงค์ให้ลูกหนี้ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่จำนำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่จำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) สิทธิจำนำของโจทก์จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจบังคับจำนำตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 764 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2559 ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีส่วนแพ่ง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่รับคดีส่วนแพ่งโดยวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2559 คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปใช้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิชอบก็ดี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็ดี ย่อมก่อให้เกิดผลว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เป็นการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โดยโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในเวลาอีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 25 มีนาคม 2541 จึงมิใช่การรับจำนองจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ดังนี้ การจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 ยกสิทธิจำนองขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวแทนของโจทก์ในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยก ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกมาปรับแก่คดีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองได้กระทำการโดยสุจริตมิได้ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและเมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาไม่เพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440 - 3441/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์ โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่ เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ สำหรับประเด็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่นั้น ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่คู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ซึ่งพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลใดที่ต้องร่วมกันกับโจทก์แสดงเจตนาลวงในการทำนิติกรรมดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกว่า จะไม่ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวเท่านั้น และจะโอนกรรมสิทธิ์คืนให้ต่อเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าไถ่จำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนแล้วนั้น ก็เป็นเพียงคำมั่นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกกล่าวและกำหนดเวลาให้โจทก์ซื้อที่ดินคืน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตาม คำมั่นดังกล่าวจึงเป็นอันไร้ผลไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559 โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386 - 3387/2559 เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างและเงินอื่นๆ ตามฟ้อง อันเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยนับตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานใหม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าบันทึกข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น จึงไม่รับฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาหามีอำนาจวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องจึงไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3374/2559 ตามคำโฆษณาโครงการยูเนี่ยนมอลล์ของจำเลย ภายในโครงการนอกจากจะมีพื้นที่ให้เช่าขายสินค้าแล้วยังมีร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย และสถานที่อื่น ๆ อีก แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลูกค้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการ การเช่าพื้นที่ภายในโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเหตุผลให้เชื่อว่า เกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวตามที่จำเลยโฆษณาไว้ และโจทก์ได้แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทันสมัยมีผู้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้มากขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนเช่าพื้นที่ แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความตามที่จำเลยโฆษณาไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสถานที่บริการตามคำโฆษณาที่โฆษณาไว้ต่อโจทก์และลูกค้ารายอื่น คำโฆษณาของจำเลยที่มีลักษณะเป็นการจูงใจโจทก์ให้เข้าทำสัญญาเช่านั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดโครงการจำเลยยังดำเนินการจัดให้มีสถานบริการและกิจการตามคำโฆษณาดังกล่าวของจำเลยไม่ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2559 ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านนำทรัพย์หลักประกันออกขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองขอเอาบุริมสิทธิในทรัพย์ที่รับจำนองไว้ไม่เกินกว่าหนี้ที่รับจำนองเท่านั้น หากขายทอดตลาดได้เงินเกินกว่าหนี้จำนอง เงินส่วนที่เกินย่อมตกเข้าแก่กองทรัพย์สินของจำเลยผู้ล้มละลาย แต่ถ้าขายไม่ได้ถึงราคาทรัพย์จำนองหนี้ส่วนที่เหลือก็ตกเป็นพับแก่ผู้รับจำนองไป ฉะนั้นต้องคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องจนถึงวันขายทอดตลาด เมื่อเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกัน มิใช่การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 96 จึงไม่ต้องห้ามคิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 100
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2559 คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่รับคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 มิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าคำสั่งดังกล่าวของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่ โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ในวันนัดพิจารณา จำเลยมาศาลและแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่ติดใจถามค้านและไม่ติดใจสืบพยาน ทั้งยังแถลงว่าอยู่ระหว่างตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่โจทก์คาดว่าจะตกลงกันได้ ขอระยะเวลา 4 เดือน หากนัดหน้าไม่สามารถตกลงกันได้จะไม่ขอเลื่อนคดีอีกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า คดีเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น จำเลยเป็นฝ่ายขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งรวม 5 ครั้ง เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปีเศษ อ้างว่าอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยได้อ้างส่งเอกสารที่แสดงว่าตนเป็นหนี้โจทก์จริงและประสงค์จะผ่อนชำระหนี้นั้น นอกจากนี้ จำเลยแถลงรับในคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 และฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า อยู่ในระหว่างการเจรจาหนี้กับโจทก์ เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้ชำระหนี้คืนโจทก์ ขอศาลได้โปรดเลื่อนคดี ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 จำเลยกลับยื่นคำร้องรวม 3 ฉบับ คือ คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพยานเอกสาร คำร้องขอนำส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และคำร้องขออนุญาตต่อสู้คดีและยื่นคำให้การ ทั้งยังยื่นคำให้การคำแถลงระบุพยานจำเลย และบัญชีระบุพยานมาด้วย ศาลล้มละลายกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ว่า ได้สอบโจทก์แล้วแถลงคัดค้านเนื่องจากจำเลยมีเจตนาประวิงคดี แล้ววินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยแถลงว่า การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ แต่จำเลยมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ ไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดี กับมีคำสั่งให้เลื่อนไปถามค้านและสืบพยานจำเลยวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ทั้งที่การพิจารณาคดีล้มละลายต้องดำเนินการติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง การกำหนดแนวทางการดำเนินคดีเพื่อระงับข้อพิพาทโดยวิธีอื่นโดยการไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีเสร็จไป ตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 ข้อ 14 (1) จึงกำหนดให้กระทำได้เมื่อก่อนมีการสืบพยาน เมื่อคดีนี้ได้มีการสืบพยานแล้วเสร็จและคดีเสร็จการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 การให้โอกาสแก่จำเลยในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปเป็นเวลานานกว่า 1 ปีเศษ ซึ่งจำเลยมีระยะเวลาพอสมควรที่จะเจรจาหนี้นอกศาลกับโจทก์ แต่ไม่ปรากฏผลว่าสามารถเจรจาระงับข้อพิพาทนอกศาลกันได้สำเร็จโดยเร็ว โดยจำเลยเป็นฝ่ายแถลงต่อศาลในวันคดีเสร็จการพิจารณาเองว่า หากการเจรจาหนี้กับโจทก์ไม่สามารถตกลงกันได้จะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขออนุญาตต่อสู้คดีและยื่นคำให้การความว่า การเจรจาหนี้กับโจทก์ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจำเลยใช้เวลานานเกินควรในการเจรจา และในคำร้องก็ระบุแต่เพียงว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในคำร้องว่า หากศาลไม่อนุญาตให้ต่อสู้คดีและยื่นคำให้การแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยส่อไปในทางประวิงคดี และการที่จำเลยยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ภายหลังจากสืบพยานในคดีเสร็จสิ้นและคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการยื่นคำให้การล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยมานั้น เป็นการมิชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2559 โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามอันมีผลให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ชนะในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง จำเลยจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้น ๆ ก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ด้วยการมีคำสั่งให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป และศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 1315/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ก็มิใช่คำพิพากษาถึงที่สุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยังฎีกาอยู่ การยึดและอายัดทรัพย์สินจึงยังคงมีผลอยู่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246 - 3250/2559 สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริตหรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยรับรู้ ขณะที่ ส. ขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า ส. ได้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกนับสิบรายเป็นจำนวนหลายสิบกรมธรรม์ รวมเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยกว่า 47 ล้านบาท ย่อมถือได้ว่า ส. เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการขอเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินที่สูง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเหมาะสมกับฐานะหรืออาชีพของ ส. หรือไม่อย่างไร และอาจมีมูลเหตุไปในทางไม่สุจริต การเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นจึงถือเป็นสาระสำคัญที่ ส. ต้องเปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าทราบ เพราะอาจจูงใจให้จำเลยทั้งห้าเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่รับประกันภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้การที่จำเลยทั้งห้ายอมตกลงเข้าทำประกันภัยตามฟ้องกับ ส. จึงเกิดจากความไม่สุจริตของ ส. ที่ไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันภัยตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งห้าบอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2559 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อขนกลับไปคืนให้แก่ ศ. เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมาก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรู้ว่า ศ. มีไว้เพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาร่วมกับ ศ. มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปที่โรงแรม อ. ขอกุญแจห้องพักหมายเลข 503 จากพนักงานของโรงแรมดังกล่าวและถูกจับกุมขณะกำลังเปิดประตูห้องพัก ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าไปที่โรงแรม ล. ขณะกำลังเคาะประตูห้องพักหมายเลข 10 เพื่อจะไปรับเมทแอมเฟตามีนคืนให้ ศ. จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเช่นกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เข้าขั้นพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่เป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุน ศ. มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2559 บทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ใช้บังคับแก่ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าผู้บริโภคตามมาตรา 3 ที่ว่า "ผู้บริโภค" หมายความว่า ผู้เข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้การเข้าทำสัญญาดังกล่าวต้องเป็นไปโดยมิใช่เพื่อการค้า ทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใด จึงเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ล้วนแต่ทำสัญญาร่วมลงทุนกับโจทก์เพื่อประโยชน์ในการนำเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากโจทก์ไปใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ทางการค้า และไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องแพ้คดีโดยวินิจฉัยว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญตามคำร้อง ผู้ร้องก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ธ. ไม่มีอำนาจออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพราะเหตุที่พ้นจากตำแหน่งและไม่อาจทำหน้าที่รักษาการได้ คงกล่าวอ้างในอุทธรณ์เพียงว่า การออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญไม่ชอบเพราะไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมายเท่านั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ธ. พ้นจากตำแหน่งและ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้จัดการนิติบุคคลที่พ้นตำแหน่งเพราะเหตุครบวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ธ. จึงไม่มีสถานะเป็นผู้จัดการและไม่อาจทำหน้าที่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้นั้น จึงเป็นการชี้ขาดตัดสินนอกเหนือไปจากข้อหาที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559 คดีก่อนเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองอันเป็นการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้เป็นกรณีพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเข้ามาในกองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ในคดีก่อน การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น อายุความที่จะใช้บังคับต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา เมื่อโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ทราบเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยประการอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และเมื่อเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คดีนี้คู่ความนำสืบรับกันว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนตามคำขอของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงยังไม่สิ้นสุด อายุความไม่เริ่มนับใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในขณะที่อายุความของโจทก์สะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2559 เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และการที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ กล่าวคือ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใดจะต้องนำหนี้ดังกล่าวมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้ไม่อาจที่จะได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามจำนวนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้หรือผู้ทำแผนซึ่งได้นำเงินมาชำระหนี้หรือนำเงินมาวางไว้ที่ สำนักงานวางทรัพย์แต่อย่างใด และการที่ลูกหนี้นำเงินไปชำระหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว หรือผู้ทำแผนนำเงินไปวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์อันมิใช่วิธีการที่กฎหมายกำหนดเพื่อชำระหนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจึงเป็นการกระทำที่ไม่อาจกระทำได้ ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 วรรคท้าย หนี้จึงยังไม่ระงับ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อกฎหมายฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนจะดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการค้าตามปกตินั้นหาได้ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2559 คดีนี้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันทำรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกของโครงการหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่โครงการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 อันเป็นเท็จ เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร การจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่แห่งจึงเป็นโมฆะ ทำให้การจัดประชุมใหญ่ควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่แห่งเข้าด้วยกันเป็นจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ย่อมตกเป็นโมฆะไปด้วย ที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอเพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกทั้งสองครั้งดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการฟ้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่บริษัทอันผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 และมิใช่การประชุมใหญ่ตามความหมายของกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545 ข้อ 15 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 1195 และข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ข้อ 55 ที่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนมติในการประชุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติแต่ละครั้งและก็มิใช่เป็นกรณีที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นฝ่ายฟ้องคดีแทนสมาชิกเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ข้อ 5.4 ที่ต้องมีมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกโครงการหมู่บ้านจัดสรรอนุญาตให้ฟ้องคดี โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดนำสืบว่า มีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกหมู่บ้านจัดสรรที่ลงมติในการประชุมดังกล่าวโดยไม่ชอบ และการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแต่ละโครงการ แต่กลับมีการจัดประชุมร่วมกันทั้งสี่โครงการ ไม่ได้มีการแยกประชุมสมาชิกหมู่บ้านจัดสรรแต่ละโครงการตามกฎหมาย การประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ดังนี้ รายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2548 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนเฉพาะรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 3 นั้น ไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1, 2 และ4 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2548 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) และต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกหมู่บ้านจัดสรรเพื่อควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 เข้าด้วยกันเป็นจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบ จำเลยที่ 4 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. จำเลยที่ 4 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แทนนั้น ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. จำเลยที่ 4 ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. จำเลยที่ 4 ได้ คดีเดิมที่จำเลยที่ 4 ฟ้องโจทก์บางคนต่อศาลแขวงธนบุรีนั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 และรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 เป็นจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีเดิมกับคดีนี้จึงต่างกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเอ็ดคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2559 แม้ลายมือชื่อจำเลยในการทำนิติกรรมยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์จะเป็นลายมือชื่อปลอมที่ภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน แต่จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมที่มีลายมือชื่อปลอมจึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2559 ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเฉพาะในส่วนที่พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 และจำเลยร่วมเท่านั้น มิได้โต้แย้งคัดค้านในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวกลับมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 4 และจำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธความรับผิดของตนต่อโจทก์แต่อย่างใด แม้ท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จะขอให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แต่ก็ขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ดังกล่าว อุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2559 ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 "ใบตราส่ง" หมายความว่าเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้า ตามคำฟ้องปรากฏตามใบตราส่งว่าสายการเดินเรือเอ็มเอสซี ผู้ขนส่ง เป็นผู้ออกใบตราส่งดังกล่าวโดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้ส่งสินค้า โจทก์มิได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง ในใบตราส่งยังได้ระบุเลขที่การจองระวางเรือของสายการเดินเรือเอ็มเอสซีว่าเป็นเลขที่ "173IB1107951" ซึ่งตรงกับเลขที่การจองระวางเรือ ในหนังสือยืนยันการจองระวางเรือ (Booking Confirm) ที่โจทก์เป็นผู้จองและโจทก์ส่งหนังสือยืนยันการจองระวางเรือดังกล่าวไปให้จำเลย เมื่อใบตราส่งเป็นเอกสารที่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยออกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของ ใบตราส่งจึงเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนสินค้าของจำเลยทางทะเลระหว่างสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งกับจำเลยผู้ส่งของ ซึ่งแสดงว่าสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งได้รับสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าของจำเลยผู้ส่งของตามที่ระบุในใบตราส่งดังกล่าวไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงการจองระวางเรือที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบนตามหนังสือยืนยันการจองระวางเรือ และการที่โจทก์ได้ชำระค่าระวางขนส่ง ค่ายกขน ค่าธรรมเนียมใบตราส่งและค่าซีล ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่ง แล้วโจทก์ได้ส่งใบเรียกเก็บเงินที่โจทก์ได้ชำระไปดังกล่าวไปยังจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินทดรองจ่ายจำนวน 119,574.64 บาท แก่โจทก์ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยผู้ส่งของในการติดต่อทำสัญญารับขนของทางทะเลกับสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งโดยดำเนินการจองระวางเรือให้แก่จำเลยและได้ทดรองจ่ายค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งแทนจำเลยไปก่อน ดังนี้ หนังสือยืนยันการจองระวางเรือจึงมิใช่หลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบน ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย โจทก์ย่อมเป็นเพียงตัวแทนในการไปติดต่อว่าจ้างสายการเดินเรือเอ็มเอสซีให้ขนส่งสินค้าของจำเลยจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบน ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย เท่านั้น มิใช่ผู้ขนส่งแต่อย่างใด การที่โจทก์ชำระค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งเป็นการทดรองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแทนจำเลยผู้ส่งของ แม้เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนจำเลยและเรียกเก็บเงินนั้นจากจำเลยจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ประเภทค่าขนส่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยผู้ส่งของในการติดต่อสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าของจำเลยกลายเป็นผู้ขนส่งไปด้วย โจทก์ยังคงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3202/2559 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมที่รวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ไว้ด้วย แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในวันถัดจากวันที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. 226 (2) ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์คือผลจากการที่โจทก์ผิดสัญญา ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เครื่องหม้อน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานตามสัญญา จำเลยจำเป็นต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา มูลหนี้ตามฟ้องแย้งคือความเสียหายที่จำเลยได้รับจากการผิดสัญญาของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิมแล้ว เมื่อจำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิอันเนื่องมาจากสัญญาจัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบเครื่องหม้อน้ำพร้อมอุปกรณ์เช่นเดียวกับที่โจทก์อ้างเป็นฐานแห่งมูลความคดี มูลคดีที่โจทก์ฟ้องและที่จำเลยฟ้องแย้งจึงเกิดจากสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ภายหลังโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิม เป็นเพียงการแก้ไขความเสียหายของจำเลยที่มีอยู่ก่อนแล้ว หาใช่จำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิเมื่อจำเลยไปว่าจ้างบุคคลภายนอกไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2559 บัญชีระบุพยานของโจทก์ระบุเพียงต้นฉบับหรือสำเนาสัญญาซ่อมเรือพร้อมคำแปลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับ "Work Done Report" แต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานโดยชอบ ส่วนที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาให้แก่จำเลยทั้งสองก่อน ศาลตรวจดูเอกสารฉบับนี้แล้วพบว่ามีลายมือชื่อของผู้ที่มีข้อความระบุว่าเป็นตัวแทนเจ้าของเรือลงไว้ เหนือขึ้นไปยังมีลายมือชื่อของต้นกลเรือและนายเรือด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของตนอยู่แล้ว โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาอีก และเอกสารชิ้นนี้เป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรรับฟังเอกสารชิ้นนี้ได้ แม้โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่บริหารจัดการเรือเพื่อแสวงหากำไรจากจำเลยที่ 2 เอง และเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาซ่อมเรือกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ต้องรับผิดต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2559 คำว่า "คนเดินทางหรือแขกอาศัย" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 หมายถึง บุคคลอื่นใดที่ใช้บริการเข้าพักในโรงแรม หรือ โฮเต็ล หรือ สถานที่อื่นทำนองเช่นนั้น ดังนี้ การที่ ก. เข้าพักอาศัยที่โรงแรมของจำเลย จึงถือได้ว่า ก. เป็นแขกอาศัยตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมประกอบกิจการเพื่อให้บริการแขกอาศัยโดยมีค่าตอบแทน ได้ยกเว้นไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนจาก ก. ก็หาทำให้ ก. มิใช่แขกอาศัยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2559 การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า "ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง" ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 223/2555 ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะอาศัยมูลหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินคนละสถาบันและคนละมูลหนี้ในการฟ้องแต่ละคดีก็ตาม แต่ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 223/2555 อยู่ในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2559 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าบริการ 23 ลำดับ รวมเป็นเงิน 213,167,728.24 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ 213,167,728.23 บาท โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับ 6 ต้นเงิน 16,391,865 บาท และอันดับที่ 21 ต้นเงิน 686,153.71 บาท ผู้ทำแผนยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 6 และอันดับที่ 21 ทั้งเจ้าหนี้ยังต้องชำระค่าปรับให้แก่ลูกหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ผิดสัญญา กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้โดยตรง การที่ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้นัดพิจารณาคำร้องและให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยที่มิได้มีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าหนี้ หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานเฉพาะระหว่างผู้ทำแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น จึงเป็นการที่มิได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องให้มีโอกาสในการที่จะโต้แย้งดูแลและดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247 (เดิม) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 คดีมีเหตุอันสมควรที่จะยกคำสั่งศาลล้มละลายกลางและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเสียให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2559 เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนทั้งสองของโจทก์ด้วยการนำเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ดังกล่าวไปใช้กับสินค้าท่อเหล็กกลมดำของจำเลยทั้งสองจำนวน 10 ท่อ โดยที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่ายเพราะถูกยึดไว้เป็นของกลางเสียก่อน โจทก์จึงยังไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดกำไรในการจำหน่ายสินค้าท่อเหล็กของโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยทั้งสองขายสินค้าท่อเหล็กกลมดำดังกล่าว เมื่อไม่มีผู้บริโภครายใดได้ซื้อสินค้าท่อเหล็กดำดังกล่าว จึงไม่มีผู้บริโภครายใดที่หลงเชื่อว่าสินค้าท่อเหล็กนี้เป็นสินค้าของโจทก์และพบว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพดีเทียบเท่ากับสินค้าของโจทก์จนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในชื่อเสียงของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนทั้งสองของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์เสียชื่อเสียงได้ ค่าเสียหายที่อ้างว่าโจทก์ต้องว่าจ้างพนักงานเป็นการเฉพาะเพื่อชี้แจงเรื่องท่อเหล็กปลอมต่อบรรดาลูกค้าผู้ซื้อสินค้าท่อเหล็กของโจทก์กับกลุ่มที่จะซื้อสินค้าของโจทก์นั้น หากโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายไปจริง ก็หาได้เป็นความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองยังมิได้จำหน่ายสินค้าท่อเหล็กดำกลมจำนวน 10 ท่อ เนื่องจากถูกจับและเจ้าพนักงานยึดสินค้าท่อเหล็กดำดังกล่าวเป็นของกลางเสียก่อน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์คงได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวในส่วนที่จำเลยทั้งสองมิได้จ่ายค่าแห่งการใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนทั้งสองของโจทก์เท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2559 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาเดียวกัน มีวันกระทำความผิด และสถานที่เกิดเหตุในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างราย การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเผยแพร่เพลงดังกล่าวต่อสาธารณชนต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีก่อนแล้ว ฟ้องในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3118/2559 โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยเหตุเกิดที่ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และแขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจ ไม่ใช่กรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยอย่างเดียว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ คดีนี้ตามฟ้องจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 และนำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นฎีกา ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2559 ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น" เมื่อเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ วันที่ 9 มกราคม 2551 คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2559 การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าขณะจำเลยลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยได้ออกจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. และได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว จำเลยไม่อาจกระทำการแทนบริษัท ทั้งบริษัทไม่สามารถรับผิดต่อโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนั้นเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2559 คดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้นั้น จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวและแบบควบคุมตัว แบบไม่เข้มงวด แต่จำเลยยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และหลบหนีจากสถานที่เพื่อการฟื้นฟู กรณีถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วน ตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติด ยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตาม มาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด และกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3069/2559 ตามคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องมีประเด็นเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าสมควรริบรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้จำเลยจงใจฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกินก็ตาม แต่ระเบียบและประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้บังคับต่อจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องยังต้องมีหน้าที่ตรวจตราว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของผู้ร้องดังกล่าวหรือไม่เพื่อมิให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินอีกด้วย ทั้งการตรวจตรามิใช่เพียงแต่มีระเบียบและประกาศให้จำเลยปฏิบัติตามหรือหัวหน้างานโทรศัพท์สอบถามจากจำเลยเท่านั้น นอกจากนี้การที่ผู้ร้องไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องในขณะที่มีการขนถ่ายสินค้าภายในโรงงานของบริษัท น. ได้ ก็มิใช่ว่าผู้ร้องไม่อาจตรวจตราได้ว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ เมื่อผู้ร้องไม่มีการควบคุมตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของผู้ร้องหรือไม่ ย่อมเป็นช่องทางให้จำเลยฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องได้โดยง่าย ซึ่งผู้ร้องย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนี้ การที่ผู้ร้องปล่อยปละละเลยให้จำเลยฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องจนจำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าน้ำหนักน้ำมันรถจะขาดหายไปพอดีกับน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไว้และจำเลยต้องการทำเวลาเพื่อจะได้ขับรถได้จำนวนหลายรอบ ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2559 เมื่อปรากฏว่าอุณหภูมิของตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงผิดปกติ พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว และในที่สุดแม้สินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องไม่ได้รับการขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการจากบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้าดังกล่าว โดยหลังจากรับขนส่งและรับสินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องมาแล้วจำเลยที่ 1 จึงออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้านั้นไว้เพื่อขนส่งต่อไปแล้ว และใบเรียกเก็บเงิน ยังเป็นการเรียกเก็บค่าระวางอีกด้วย นอกจากนี้แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับอ้างเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งว่าเป็นสัญญาที่บริษัท ม. ผู้เอาประกันภัยตกลงในเรื่องการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อความที่ใช้กับเฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เช่นจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาผู้รับขนส่งทางอากาศได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยา ที่บริษัท ม. ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ ใบรับขนของทางอากาศในช่องรายการแสดงราคาสินค้า (Shipper's Declared Values) แบ่งเป็น 2 ช่อง ช่องทางซ้ายเป็นช่องแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (for Customs) ระบุว่า "NVD" ส่วนช่องทางขวาเป็นช่องแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (for carriage) ระบุว่า "M/F" แสดงว่าเฉพาะในช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carraige) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกันและมีผลต่อการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ในช่องดังกล่าวของใบรับขนของทางอากาศกลับระบุว่า "M/F" ไม่ใช่ "NVD" โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 หรือฝ่ายใดว่า "M/F" กับ "NVD" มีความหมายเช่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายอ้างเอาประโยชน์จากข้อสัญญาจำกัดความรับผิดในความเสียหายจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด ซึ่งอยู่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นด้วยว่าบริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด เมื่อไม่ปรากฏลายมือชื่อของกรรมการบริษัท ม. ผู้ส่ง ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท บริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างย่อมไม่ผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2559 การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวและจะต้องขายทรัพย์ให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ในการขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด จึงชอบแล้ว ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์กล่าวอ้างว่าจำเลยขอร้องให้ผู้ซื้อทรัพย์ช่วยประมูลซื้อทรัพย์และให้สัญญาว่าหากผู้ซื้อทรัพย์ชนะการประมูล จำเลยจะโอนสิทธิการเช่าทรัพย์ที่จำเลยมีต่อบุคคลภายนอกมาเป็นของผู้ซื้อทรัพย์ แล้วจำเลยผิดสัญญา หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดคดีนี้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 หาใช่เป็นผู้แทนจำเลยไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2559 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบรถยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนการยกฟ้องยังคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งคนร้ายได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจสั่งริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2559 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทที่ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้" เมื่อความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย การที่จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2559 ตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะเห็นได้ว่าโทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น ความผิดในคดีหลังจะต้องกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามที่คดีก่อนกำหนดไว้ เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษารอการลงโทษจำคุกจำเลยในปี 2557 แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิพากษาคดีดังกล่าว และก่อนมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีดังกล่าวให้จำเลยทราบ การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 57/2557 ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2559 ตามหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าและตัวแทนดำเนินการตามพิธีการศุลกากร ทั้งที่การท่าอากาศยานและการท่าเรือเพื่อนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนในการรับส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือและทางอากาศ ประกอบกิจการบริการให้เช่าช่วงรถบรรทุกสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ และใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 2 ในช่องสำหรับการส่งมอบสินค้ากรุณาติดต่อ ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในการติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า สอดคล้องกับหนังสือแจ้งการมาถึงของเรือ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้ดำเนินการติดต่อส่งมอบสินค้าเมื่อเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าตามคำฟ้องเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ใบตราส่งดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ตลอดจนเรือบรรทุกสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งสินค้าตามใบตราส่ง การที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าระวางไปยังผู้เอาประกันภัยตามใบเรียกเก็บค่าระวางที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น โดยไม่ปรากฏค่าธรรมเนียมตัวแทนในใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้ผู้เอาประกันภัย ก็เป็นการดำเนินการในฐานะบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรับขนของทางทะเล ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการรับขนสินค้าอันจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เอาประกันภัยได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท และจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าดังกล่าวอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศ คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้อง จึงเป็นข้อแก้อุทธรณ์ที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2559 ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง แม้เครื่องหมายการค้ามีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่จะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ต้องพิจารณาด้วยว่ามีโอกาสที่สาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์ผู้ขอจดทะเบียนหรือของ ท. ผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะสับสนหลงผิดหรือไม่ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะใช้กับรายการสินค้า แปรงสีฟัน เช่นเดียวกัน แต่ ท. เป็นแปรงสีฟันธรรมดา ส่วนโจทก์เป็นแปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและมีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย บุคคลที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวันย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงไม่ใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดโดยง่าย ประกอบกับโจทก์นำสืบว่าใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "PHILIPS" มานานหลายสิบปี และจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจำเลยไม่นำสืบโต้แย้ง การที่ประชาชนผู้บริโภคในประเทศไทยรู้จักสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าโจทก์อย่างดีย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผู้บริโภคดังกล่าวจะสับสนหลงผิด และไม่น่าเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาจะแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของ ท. ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2559 พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652, 1653, 1656, 1657, 1658, 1660, 1661 หรือ 1663 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เป็นสินสมรสส่วนของโจทก์เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7,0625 ตารางวา โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนดังกล่าวหลังจากที่จดทะเบียนหย่า การที่ ส. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ตรวจแก้ไขชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1481 ที่บัญญัติ "สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" เพราะขณะทำพินัยกรรมโจทก์และ ส. ไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทมาตราที่จะตกเป็นโมฆะตามที่มาตรา 1705 บัญญัติ แต่เป็นการทำพินัยกรรมกำหนด การเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ใช่ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 1646 ก็มีผลเพียงว่า ข้อกำหนดที่ยกที่ดินพิพาทส่วนของผู้อื่นไม่มีผลบังคับเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดอื่น เช่น การตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกคงมีผลบังคับได้ ดังนี้ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่เนื่องจากไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 1705 เช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ผู้ตาย โดยบรรยายคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นบุตรของ บ. และ ห. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน บิดามารดาและพี่น้องบางคนได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยไม่เคยแต่งงานและไม่มีบุตร ผู้ตายมีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก คำร้องขอของผู้ร้องได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นทายาทที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นคำร้องที่สมบูรณ์และชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 171 ประกอบมาตรา 172 วรรคสอง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายซึ่งรับรองโดยเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายใน 7 วัน จึงจะพิจารณาสั่งคำร้องขอ มิฉะนั้นถือว่าไม่รับ แม้เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วใช้ดุลพินิจสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ก็ตาม แต่หนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำร้องขอ คงเป็นเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดที่ผู้ร้องสามารถนำสืบได้ในชั้นไต่สวนว่า บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย เป็นทายาทผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผู้ตาย และอาจส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนได้ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้ผู้ร้องจะมิได้ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องที่ยื่นโดยชอบแล้วหาได้ไม่และกรณีไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องทิ้งคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ด้วยก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ไต่สวนแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งทิ้งคำร้องจึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายโดยให้รับคำร้องขอแล้วดำเนินการไต่สวนต่อไปตามรูปคดีต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559 ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ครบถ้วนโดยสั่งเฉพาะค่าทนายความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 167
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2559 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ด. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,570 เม็ด และอาวุธปืน ในระหว่างที่ ด. ถูกควบคุมตัวจำเลยที่ 4 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ด. ด.ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ว. ให้จำเลยที่ 4 ว. ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ ด. เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด แล้วขยายผลการจับกุมโดยให้สิบตำรวจเอก ท. ปลอมตัวเป็นลูกน้องของ ด. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 3 มารับเมทแอมเฟตามีนแทน การที่สิบตำรวจเอก ท. ส่งมอบกระเป๋าซึ่งภายในไม่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ 3 คงเป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจเกรงว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งมารับเมทแอมเฟตามีนอาจแย่งชิงเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสิบตำรวจเอก ท. ไปมากกว่าเหตุอื่น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หาใช่เป็นการแน่แท้เด็ดขาดว่าเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 3 จะกระทำความผิดสำเร็จไม่ได้เพราะเหตุไม่มีเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้ แต่เป็นกรณีที่อาจบรรลุผลได้ตามเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่ต้องการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไป การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 80 ไม่ใช่พยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 81
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559 จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2559 การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พ. ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ได้ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะตามคำให้การของ น. ทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. ที่ให้การเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวกับการนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังยิ่งกว่าคำเบิกความของ น. ที่บ่ายเบี่ยงในทำนองช่วยเหลือจำเลยทั้งสองให้ไม่ต้องรับโทษ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของ น. มีลักษณะเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่ก็ไม่ได้ให้การเพื่อปัดความรับผิดของตนเพียงแต่ให้การในรายละเอียดที่ตนเองประสบพบเห็นมา ส่วนที่ น. อ้างว่าเหตุที่ให้การซัดทอดถึงผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพูดจูงใจเพื่อจะได้รับการบรรเทาโทษนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ น. ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของ น. จึงไม่อาจรับฟังได้ ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยทั้งสอง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าพันตำรวจโท ฉ. และทนายความ ซึ่งร่วมฟังการสอบสวนด้วยอันเป็นการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจัดทำบันทึกคำให้การดังกล่าวถูกต้องตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีการจูงใจให้จำเลยที่ 2 ให้การซัดทอดบุคคลอื่นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ดังเช่นกรณีของ น. ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แจ้งให้ พ. สามีของจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก น. จึงมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อ พ. หยิบเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจวางล่อไว้ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในความครอบครองของ น. และ พ. กับจำเลยที่ 2 มีจำนวน 100 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 9.80 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.714 กรัม ซึ่งปริมาณของยาเสพติดดังกล่าวกฎหมายสันนิษฐานไว้เด็ดขาดว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2559 ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติว่า "ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ..." และ ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น... ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้" ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2553 จำเลยมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการหรือเปลี่ยนแปลงที่ทำการ จึงถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม เมื่อโจทก์ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายในประเทศไปยังภูมิลำเนาของจำเลยและมีผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งจำเลยนำสืบยอมรับว่ามีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจำเลยไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยชอบด้วยมาตรา 8 แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2559 จำเลยที่ 2 เบิกความสองครั้งในคดีเดียวกันคือวันที่ 26 มิถุนายน 2553 และวันที่ 1 ธันวาคม 2555 แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราวต่างเวลากันก็ตาม แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้งโดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันอันเป็นการกระทำกรรมเดียว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559 การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2798/2559 เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แม้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมจะขอถอนคำขอรับชำระหนี้และผู้คัดค้านอนุญาตให้ถอนไปแล้วก็ตาม แต่อยู่ในระหว่างผู้คัดค้านนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ใหม่แทนโจทก์เดิม ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมิได้พิจารณาแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไปเสียก่อนอันเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะกระทำได้ โจทก์เป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึดออกขายทอดตลาดในการรวบรวมทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และมีส่วนได้เสียโดยตรงในการนำยึดที่ดินดังกล่าวแต่ประการใด ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียม ส่วนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้อง ในการขอรับชำระหนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวก่อนแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์หลักประกันดังกล่าว และเป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึด แม้ผู้คัดค้านจะมีหมายนัดให้ผู้ร้องไปทำการยึดและเป็นอำนาจของผู้คัดค้านในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นความประสงค์ของผู้ร้องที่ขอบังคับชำระหนี้ด้วยการขอให้ผู้คัดค้านยึดหลักประกันดังกล่าวขายทอดตลาดตามคำขอรับชำระหนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) ทั้งนี้เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2769/2559 ดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญากู้เงินระยะยาวและสัญญากู้เงินระยะสั้นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า หนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ขาดอายุความเพราะเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดอายุความตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/15 นั้น เห็นว่า หนี้ดอกเบี้ยค้างรับที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ หนี้ดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระในระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2541 มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ซึ่งครบกำหนดอายุความตั้งแต่ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2546 เมื่อในคดีก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 เห็นได้ว่าอายุความดอกเบี้ยส่วนหนึ่งครบกำหนดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และอายุความดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่งครบกำหนดภายใน 6 เดือน นับแต่วันดังกล่าว มีผลให้อายุความดอกเบี้ยค้างรับทั้งหมดยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/15 อายุความดอกเบี้ยค้างรับจึงครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม 2547 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ ดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญากู้เงินระยะยาวและสัญญากู้เงินระยะสั้นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2559 แม้โจทก์จะนำสืบได้ว่าหลังจากจำเลยผิดสัญญา จำเลยได้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอปรับเปลี่ยนจำนวนตอนการส่งมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชัน "Olly the Little White Van" ก็ตาม แต่หนังสือดังกล่าวหาใช่เป็นการที่โจทก์บอกสงวนสิทธิในการเรียกเบี้ยปรับเอาแก่จำเลยไม่ แต่เป็นเพียงหนังสือที่จำเลยส่งถึงโจทก์เพื่อชี้แจงถึงเหตุที่ไม่อาจส่งมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ เนื่องจากผู้ผลิตรายการการ์ตูนที่ต่างประเทศขาดเงินทุนและต้องปิดบริษัท และขอให้โจทก์พิจารณาไม่ปรับจำเลยตามสัญญา แต่หากจะปรับก็ขอให้โจทก์รับข้อเสนอของจำเลยที่ขอจ่ายค่าปรับจำนวน 78,000 บาท และเสนอส่วนลดให้โจทก์จำนวน 90,000 บาท รวมจำนวน 168,000 บาท หรืออีกกรณีหนึ่งคือ หากจำเลยสามารถส่งมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันให้แก่โจทก์ได้จำนวนอีก 2 ตอน ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2556 และโจทก์รับไว้ ก็ขอให้โจทก์ปรับจำเลยเป็นเงินจำนวน 138,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังจำเลยว่าโจทก์ยังคงสงวนสิทธิที่จะปรับจำเลยตามสัญญาหรือไม่ หรือขณะที่โจทก์รับมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันอีกจำนวน 6 ตอน จากจำเลยนั้นโจทก์ได้แสดงเจตนาสงวนสิทธิในการปรับให้จำเลยทราบทางใดทางหนึ่งไม่ว่าจะโดยการจดแจ้งข้อสงวนสิทธิในการปรับไว้ในหนังสือรับมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันดังกล่าวหรือโดยแจ้งให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่รับชำระหนี้ดังกล่าวว่าโจทก์ยังคงสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยจะตกลงว่าจะให้เบี้ยปรับแก่โจทก์หากไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องภายในกำหนดตามเอกสารแนบท้ายสัญญา ข้อ 6 วรรคสอง ที่ระบุว่า จำเลยตกลงชำระค่าปรับให้แก่โจทก์เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 10 ต่อวัน ต่อตอน ที่ยังไม่ได้รับมอบ จนกว่าโจทก์จะได้รับมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันตามสัญญา และต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้โดยการส่งมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันจำนวน 52 ตอน ภายในเดือนตุลาคม 2555 ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยอมรับมอบวัสดุรายการงานการ์ตูนแอนิเมชันจำนวนอีก 6 ตอน จากจำเลยโดยไม่ได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาในเวลาที่โจทก์รับการชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยตามสัญญาจำนวน 1,867,290.84 บาท แต่เมื่อหักกลบลบหนี้กับเงินค่ารายการงานการ์ตูนแอนิเมชันที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยจำนวน 390,000 บาท คงเหลือเบี้ยปรับที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดตามคำฟ้องจำนวน 1,477,290.84 บาท แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 156,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนคำฟ้องจึงมีจำนวน 1,321,290.84 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลจำนวน 26,425 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาจำนวน 29,545 บาท อันเป็นการชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมาจำนวน 3,120 บาท ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของฟ้องแย้งที่จำเลยขอให้โจทก์ชำระเงินค่ารายการงานการ์ตูนแอนิเมชัน ที่ค้างชำระจำนวน 390,000 บาท นั้น เมื่อจำนวนเงินตามฟ้องแย้งโจทก์ได้หักกลบลบหนี้กับเงินเบี้ยปรับแล้วคงเหลือเงินเบี้ยปรับที่โจทก์นำมาฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยจำนวน 1,477,290.84 บาท จึงไม่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งของจำเลยอีก แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งมาด้วยจำนวน 4,680 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่โจทก์ชำระเกินมาทั้งสองจำนวนให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2559 เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBID - COMBID" ของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่จำนวน 6 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF Combif" ประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว และตัวพิมพ์เล็กอีกจำนวน 5 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิฟ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสอง จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันจำนวน 6 ตัว เช่นเดียวกัน และเป็นอักษรโรมันที่เหมือนกันเกือบทั้งหมดโดยมีความแตกต่างกันที่ตัวอักษรตัวสุดท้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBID" ของโจทก์เป็นตัวอักษร "D" แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF" เป็นตัวอักษร "F" ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองแล้ว พบว่ามีความแตกต่างที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF Combif" คำที่ 2 มีเพียงตัวอักษรตัวแรก คืออักษร "C" เท่านั้นที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ส่วนตัวอักษรที่เหลือทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์เล็ก นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าทั้งสองแม้จดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน คือ จำพวกที่ 5 แต่รายการสินค้าที่จดทะเบียนนั้นแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนใช้กับรายการสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านหรือทำลายเชื้อไวรัส ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF Combif" ขอจดทะเบียนใช้กับรายการสินค้าอาหารเสริมใช้ในทางการแพทย์ช่วยย่อยอาหารและป้องกันท้องผูก ซึ่งเป็นสินค้าคนละประเภทกัน โอกาสที่ผู้บริโภคจะสับสนหลงหรือผิดจึงเป็นไปได้น้อย แม้จะเป็นสินค้าจำพวกยาเหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้สินค้าของยาทั้งสองก็แตกต่างกัน สินค้ายาตามเครื่องหมายการค้า "COMBID" ของโจทก์ ผู้ใช้คือผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งไม่สามารถซื้อใช้เองได้โดยตรง แต่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "COMBIF" เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างกว่า ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF" ที่ขอจดทะเบียนจึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 (3) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2559 แม้คดีก่อนและคดีนี้โจทก์และจำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์เช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค169410 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค201033, ค201729, ค210592, ค265798 และ ค294075 ทั้งในคดีก่อนมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "Super Shield" หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ คดีก่อนและคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คนละเครื่องหมายซึ่งใช้กับสินค้าแตกต่างกัน และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความมีลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายแตกต่างกัน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยคดีก่อนก็แตกต่างจากคดีนี้ คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน แม้คำว่า "SuperShield" เมื่อนำมาใช้กับสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร จะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แต่โจทก์ได้นำสืบการได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม โดยแสดงหลักฐานความแพร่หลายในการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้า ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่าพิจารณาจากหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่ามีความแพร่หลายตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม จึงให้รับจดทะเบียนได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นของโจทก์ที่โจทก์ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "SuperShield" ไว้แล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "SuperShield" โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพียงมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ประกอบกับคำว่า "SuperShield" ก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน และสีน้ำใช้สำหรับทาอาคารที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" กับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 การใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่จดทะเบียนไว้อาจมีการใช้เครื่องหมายอื่นควบคู่กันไปก็ได้ โดยเฉพาะคำว่า "TOA" เป็นชื่อของบริษัทโจทก์ด้วย การที่โจทก์ใช้คำว่า "TOA" ควบคู่กับคำว่า "SuperShield" ก็เพื่อให้ผู้ซื้อทราบว่าเป็นสินค้าของบริษัทโจทก์ โจทก์ใช้คำว่า "SuperShield" ตัวใหญ่ที่ส่วนบนสุดของกระป๋องบรรจุภัณฑ์ แม้จะมีคำว่า "TOA" อยู่ด้วยแต่ก็วางอยู่ที่ด้านล่างสุดไม่มีลักษณะที่เด่นเห็นได้ชัดเหมือนคำว่า "SuperShield" แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าสีของโจทก์ว่าแตกต่างจากสินค้าสีของบุคคลอื่น จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้า หาได้ใช้อย่างคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้าไม่ คำว่า "SuperShield" แปลว่า ป้องกันได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อโจทก์ใช้กับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร จึงเป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้าโจทก์ว่าเมื่อนำสีของโจทก์ไปทาบ้านแล้วจะสามารถป้องกันบ้านได้อย่างดีเยี่ยมและนาน แต่จำเลยใช้คำว่า "SuperShield" ในลักษณะเป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้ากาวซีเมนต์ กาวยาแนว และซีเมนต์ทากันซึม ซึ่งคำว่า "Shield" แปลว่า โล่ห์ เครื่องบัง แผ่นกำบัง เกราะ จึงไม่อาจบรรยายคุณสมบัติของสินค้าจำพวกกาวหรือซีเมนต์ทากันซึมได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะหรือคุณสมบัติของกาวหรือซีเมนต์ทากันซึม ทั้งเมื่อพิจารณากระป๋องสินค้าของจำเลยแล้วเห็นได้ว่าจำเลยจงใจนำคำว่า "SUPER - SHIELD" มาวางไว้ที่ด้านหน้ากระป๋องโดยวางอยู่ในตำแหน่งบนสุด และเป็นจุดที่มองเห็นได้ชัดที่สุดยิ่งกว่ารูปจระเข้ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยเจตนาจะให้ผู้ซื้อมองเห็นและจดจำคำดังกล่าวได้ยิ่งกว่าเครื่องหมายการค้ารูปจระเข้ของจำเลยที่มีขนาดเล็กและติดอยู่ด้านข้าง การที่จำเลยนำคำว่า "SUPER - SHIELD" ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เด่นและใช้เรียกขานสินค้าของโจทก์ไปใช้ จึงเป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่สุจริต มิได้ใช้เป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้า แม้สินค้าซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยจะเป็นสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร ของโจทก์ แต่สินค้าของโจทก์และจำเลยมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเหมือนกัน จึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ในการพิจารณาว่าการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SUPER - SHIELD" กับสินค้าของจำเลยมาก่อนที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" อันจะถือว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น จะต้องพิจารณาถึงความสุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SUPER - SHIELD" ของจำเลยเป็นสำคัญ แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่ในขณะที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" กับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่อาจใช้คำที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" เพื่อใช้กับสินค้าสีน้ำมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งจำเลยย่อมทราบดีถึงการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ เนื่องจากจำเลยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายซีเมนต์ทากันซึมซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเช่นเดียวกัน แต่จำเลยกลับนำคำว่า "SUPER - SHIELD" มาใช้กับสินค้าประเภทซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นคำบรรยายสินค้าที่อยู่บนถุงบรรจุภัณฑ์สินค้าที่จำเลยซื้อจากบริษัทในต่างประเทศ โดยไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยจะต้องใช้คำดังกล่าวเป็นคำบรรยายสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าที่จำหน่าย จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้คำว่า "SUPER - SHIELD" กับสินค้าของจำเลยโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ เมื่อจำเลยใช้คำว่า "SUPER - SHIELD" อย่างเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว แม้สินค้าของจำเลยจะเป็นซีเมนต์ทากันซึมซึ่งเป็นสินค้าต่างจำพวกกันกับสินค้าประเภทสีของโจทก์ แต่สินค้าของจำเลยกับของโจทก์ก็เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเช่นเดียวกัน ทั้งโจทก์ยังมีสินค้าโพลิเมอร์สังเคราะห์ใช้ป้องกันน้ำรั่วซึม ซึ่งบรรจุในกระป๋องเหมือนสินค้าซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยด้วย เมื่อบรรจุภัณฑ์สินค้าของจำเลยเป็นกระป๋องเช่นเดียวกับบรรจุภัณฑ์สินค้าของโจทก์และมีลักษณะคล้ายกัน และยังมีคำว่า "SUPER - SHIELD" คล้ายกับคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ด้วย สาธารณชนจึงอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของจำเลยได้ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า"SuperShield" ในประเทศไทยจนมีชื่อเสียงมาหลายสิบปี มียอดขายต่อปีสูงมาก และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวปีละจำนวนมาก แสดงว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณจนได้รับความนิยมเชื่อมั่นในสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จากผู้บริโภคทั่วไป การที่จำเลยใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้าส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยเจตนาไม่สุจริตแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าของตนโดยมิชอบ เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2559 ตามคำฟ้องเป็นการกล่าวอ้างให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วในฐานะที่จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนที่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. จากเจ้าของเรือทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือ อ. นั้น เป็นการบรรยายให้เห็นถึงมูลเหตุและสถานะของจำเลยที่เข้าทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ และเพื่อให้การนำเรือที่จำเลยเป็นผู้บริหารจัดการออกให้บริการในน่านน้ำไทยได้ จำเลยจึงจำเป็นต้องนำเรือดังกล่าวไปตรวจสภาพและขอรับการจัดชั้นเรือพร้อมทั้งขอรับใบรับรองสถานภาพเรือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความชำนาญและมีหน้าที่โดยตรงซึ่งก็คือโจทก์นั่นเอง หาใช่โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนซึ่งเข้าทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ไม่ ส่วนจำเลยให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์แทนเจ้าของเรือซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศมาเลเซียและโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว อันเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น โดยอ้างเหตุว่าจำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ แต่จำเลยทำสัญญากับโจทก์แทนตัวการซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ตรวจเรือแทนตัวการหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ทำไปแล้วหลังจากจำเลยเลิกสัญญาหรือไม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทผิดไปจากข้ออ้างและข้อเถียง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคหนึ่ง การกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีความมุ่งหมายเพื่อให้คู่ความแพ้ชนะคดีกันในเนื้อหาแห่งคดีตามกฎหมายสารบัญญัติ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้เพิกถอนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาตรา 246 และ 142 (5) จำเลยเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. (Ship Management Agent) แทนเจ้าของเรือ (Shipowner) โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการบริหารจัดการเรือแก่เจ้าของเรือเพื่อนำออกให้บริการรับขนส่ง และเมื่อเจ้าของเรือประสงค์จะนำเรือออกให้บริการรับขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยจึงย่อมต้องทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ หลักเกณฑ์ และระเบียบว่าด้วยการนำเรือออกให้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งการสำรวจจัดชั้นเรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเรือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ของเรือ และระวางบรรทุกก็เพื่อให้เรือสามารถจดทะเบียนได้ใบอนุญาตใช้เรือและนำเรือออกให้บริการได้ พฤติการณ์และลักษณะการให้บริการของจำเลยแก่เจ้าของเรือในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์นาวีและอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือ อ. แทนเจ้าของเรือรวมทั้งการว่าจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงทำให้การบริการของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวแทนค้าต่างตาม ป.พ.พ. มาตรา 833 ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่ว่าเจ้าของเรือซึ่งเป็นตัวการคือใคร โดยทั้งเจ้าของเรือและจำเลยต่างก็มีผลประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เรือในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ หากจำเลยบริหารจัดการเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพเจ้าของเรือก็จะได้ผลกำไรจากการดำเนินการนั้น ส่วนจำเลยก็จะได้ผลประโยชน์เป็นบำเหน็จตอบแทนจากเจ้าของเรือ โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุง ซ่อมแซมเรือ อ. จำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือซึ่งได้รับมอบหมายเรือไว้จากเจ้าของเรือย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพเหมาะสมแก่การใช้งานดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 842 บัญญัติไว้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฝากทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามควรแก่เรื่อง จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างจึงย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559 หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2559 คดีปรากฏว่า ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดได้เงินแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ครั้งที่ 2 เสร็จ ผู้แทนโจทก์ได้ตรวจบัญชีดังกล่าวแล้วรับเงินไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2550 จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การบังคับคดีในส่วนนี้จึงเสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 มกราคม 2557 จึงเป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของ ป. ผู้ขอประกันจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินมีสภาพและที่ตั้งไม่ตรงตามรายงานการยึดทรัพย์ แผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขปและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยปกติศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ว่าจะคัดค้านหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวน ส่งสำเนาให้ผู้ประกันและเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งคำร้องของผู้ร้องมิใช่เป็นคำขอที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ว่าจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งมีคำสั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737/2559 แม้การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจะเป็นการขายโดยวิธีปลอดจำนอง แต่การบังคับจำนองดังกล่าวไม่เป็นการทำให้หนี้ของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้และผู้รับจำนองระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๔๔ (๕) เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้จำนองตามมาตรา ๗๒๘ หรือเป็นการฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองตามมาตรา ๗๓๕ และมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญฟ้องคดีแล้วไปยึดทรัพย์ที่ติดจำนองและนำไปขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองเท่านั้น เช่นนี้ ในระหว่างผู้ร้องและจำเลย ผู้ร้องจึงยังมีสิทธิตามสัญญาจำนองในฐานะผู้รับจำนองและเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทำกับรับเงินไปจากผู้ร้องและยังไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้กับผู้ร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้สามัญรายอื่น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2559 ค่าเช่าห้องพักเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ในการยึดอสังหาริมทรัพย์นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง บัญญัติให้ครอบไปถึงเครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมครอบไปถึงค่าเช่าอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย ไม่ว่าดอกผลนิตินัยนั้นจะมีอยู่ก่อนหรือขณะยึดอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำยึดไม่จำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบถึงความมีอยู่แห่งดอกผลนิตินัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดค่าเช่าห้องพัก ซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดได้ แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม กรณีหาใช่เป็นการอายัดทรัพย์เพิ่มเติมเมื่อพ้นระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ การบังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2723/2559 ตามหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการและสามารถกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำต้องมีตราประทับสำคัญของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 3 คนเดียวจึงลงนามมอบอำนาจในฐานะกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และในฐานะส่วนตัวของโจทก์ที่ 3 ได้ ตามหนังสือมอบอำนาจมีใจความชัดเจนว่า ขอมอบอำนาจให้ อ. เป็นตัวแทนฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบ อันเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสามเพียงคดีเดียว ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว และแม้โจทก์ทั้งสามมอบอำนาจในตราสารเดียวกันก็ต้องคิดตามรายบุคคล จึงต้องปิดอากรแสตมป์รายละ 10 บาท ตามบัญชีอัตราแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารข้อ 7 (ก) ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ใบมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์มา 30 บาท จึงครบถ้วนบริบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 108, 118 ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสามปิดอากรแสตมป์เพิ่มและขีดฆ่าก่อนมีคำพิพากษานั้น หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นตราสารใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้อยู่แล้วกลับเป็นใช้ไม่ได้แต่อย่างใดไม่ ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองข้อมีข้อความทั้งหมดเป็นไปในทำนองเดียวกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 13 ไม่มีเนื้อหาที่ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ฎีกาทั้งสองข้อนี้จึงไม่ได้ว่ากล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน ข้อความที่โจทก์ทั้งสามฎีกา เป็นข้อความที่คัดลอกตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อ 5.1 หน้า 24 ถึง 39 โดยมีใจความสำคัญเหมือนกับอุทธรณ์ดังกล่าวทั้งหมด เพียงแต่เพิ่มเติมและตัดทอนข้อความที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยบางส่วน ไม่มีเนื้อหาโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2559 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดที่จำเลยพยายามจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 50 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนักสุทธิ 4.642 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.919 กรัม ดังนั้น จึงย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 30 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 50 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วปรากฏว่ามีสารบริสุทธิ์ 0.551 กรัม และเมื่อรวมกับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาวที่มีสารบริสุทธิ์ 0.226 กรัม แล้ว เป็นสารบริสุทธิ์ 0.777 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2559 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับเรื่องการขอขยายเวลาหาประกันมาวางตามเงื่อนไขที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น เป็นเรื่องต่อเนื่องกับการขอทุเลาการบังคับ ซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาหาประกันมาวางศาลต่อไปอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว รวมทั้งฎีกาที่คัดค้านว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับต้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่ง ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2559 การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย..."แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ ๓รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๖ ประกอบมาตรา ๑๔๒ (๕)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559 ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2672/2559 คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรม แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ และที่ดิน แต่สำหรับเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีในคดีนี้ เป็นคนละส่วนกับเงินฝากในคดีดังกล่าว ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยได้ปิดบังไม่แจ้งให้โจทก์ในฐานะทายาททราบว่ามีบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีดังกล่าวอยู่ก่อนที่โจทก์จะได้ยื่นฟ้องจำเลยในคดีก่อน โดยจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบหักล้างว่าโจทก์ได้ทราบมาก่อนหน้านั้นแล้วว่าบัญชีเงินฝากต่าง ๆ ที่โจทก์ขอแบ่งในคดีนี้นั้น โจทก์ทราบอยู่แล้วว่ามีอยู่ก่อนที่จะฟ้องคดีก่อน จึงต้องรับฟังว่า โจทก์เพิ่งทราบความมีอยู่ของเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยแบ่งเงินในบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีดังกล่าวได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน ตามคำให้การของจำเลยในข้อ 1 กล่าวอ้างว่า เจ้ามรดกยกกรรมสิทธิ์ของเงินฝากตามบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีให้แก่จำเลยแล้ว แต่ในข้อ 2 จำเลยกลับกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ในเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชีแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง คำให้การของจำเลยในส่วนนี้ไม่ชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็น แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์ไม่เคยทราบถึงเรื่องที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชี ประกอบกับระหว่างที่มีการประชุมทายาทเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยเคยพูดยอมรับว่า ทรัพย์มรดกที่ตนเองครอบครองนั้นครอบครองไว้แทนทายาทคนอื่น ๆ โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีตามฟ้องได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง แม้จะยื่นฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 แต่เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอยู่ก่อนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 อยู่ในทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อวินิจฉัยปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่ชอบ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์ มีลักษณะเป็นแถบเส้นในแนวนอน 3 เส้น เรียงซ้อนกันขึ้นไปด้านบน โดยเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นและเฉียงขึ้นทำมุมในระดับ 30 องศา คล้ายกับอักษรโรมัน ตัว "E" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบเส้นทึบในแนวตั้ง 3 เส้น เรียงซ้อนต่อกันไปทางด้านข้างโดยทุกแถบเส้นจะเอียงมาทางด้านหน้าและเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นคล้ายอักษรโรมัน ตัว "M" และมีคำว่า "Mahajak" อยู่ด้านล่างของแถบเส้น รูปลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีคำว่า "Mahajak" ประกอบอยู่กับภาพประดิษฐ์ จึงออกเสียงเรียกขานได้ว่า มหาจักร ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในช่องคำอ่านและแปลภาษาต่างประเทศเพียงว่า อักษรโรมันสัญลักษณ์ตัว "อี" แปลไม่ได้ เป็นอักษรย่อส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทคือคำว่า "อีริคสัน" ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ได้ระบุเสียงเรียกขานไว้ แต่เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยมีคำสั่งให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุดกับคำขอจดทะเบียนอื่น ๆ ของโจทก์ และโจทก์ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว ปรากฏว่ารูปลักษณะเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนอื่น ๆ ของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์เช่นเดียวกับภาพประดิษฐ์ในคดีนี้ บางคำขอจดทะเบียนเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ "ERICSSON" ดังนั้นจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อาจเรียกขานได้ว่า อีริคสัน อันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโจทก์เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์ เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ประกอบกับรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น มีรายการเดียวคือ มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า ส่วนรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เฉพาะที่จำเลยอุทธรณ์คือ สายเคเบิลไฟฟ้า ลวดไฟฟ้า สายเคเบิลไฟฟ้าออพติก แม้เป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันแต่รายการสินค้าและลักษณะการใช้งานของสินค้าแตกต่างกันกล่าวคือ สินค้าตามรายการสินค้าของโจทก์เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้ามิใช่อุปกรณ์วัดกระแสไฟฟ้าดังเช่นสินค้าตามรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2559 การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตามเมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัย ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวไม่เข้มงวด เป็นเวลา 120 วัน หลังจากนั้นให้เข้ารับการฟื้นฟูในโปรแกรมเป็นเวลา 2 เดือน รายงานตัวเดือนละ 2 ครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิดและยินยอมให้มีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัว หลังจากจำเลยผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จากสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนแล้วจำเลยไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดไว้จนครบหกเดือน นับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งมิใช่เพียงรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดหรือไม่ และตรวจปัสสาวะของจำเลยเพื่อหาสารเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 เพื่อที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยเป็นที่พอใจหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2559 การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูคือบุคคลตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 จำเลยกระทำผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ข้อ 1 ก. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 ก่อนการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1 ข. ในระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2555 นั้น จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่จำเลยรายงานตัวไม่ครบตามกำหนดนัดถือว่าไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจจับจำเลยเข้าไปไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูและให้มีอำนาจลงโทษตาม มาตรา 32 แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามฟ้อง ข้อ 1 ก. และยังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยในการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1 ข. ว่าผลการฟื้นฟู ไม่เป็นที่น่าพอใจในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนครั้งแรกซึ่งต้องดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และถือว่าจำเลยอยู่ระหว่างต้องหาหรือถูกดำเนินคดีอื่นซึ่งมีโทษจำคุกไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ต่อไป โดยยังไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้องข้อ 1 ข. เช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2559 ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร ส่วนการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 6 ที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร และของผู้เสียหายที่ 7 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า สินค้าในคดีนี้มีทั้งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยในส่วนของการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ส่วนการกระทำของจำเลยในส่วนของการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ 7 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 อีกบทหนึ่งต่างหาก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2559 แม้เจ้าของลิขสิทธิ์ในคดีนี้กับในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4061/2557 ดังกล่าวไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกัน และงานอันมีลิขสิทธิ์เป็นคนละชิ้นกัน แต่การกระทำของจำเลยคือ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานดนตรีกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและกระทำแก่งานนั้นเพื่อหากำไร อันเป็นการกระทำและเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน การที่งานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของทั้งผู้เสียหายและบริษัท ส. จัดเก็บอยู่ในหน่วยเก็บความจำหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ร้าน ด. เช่นเดียวกัน และจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีการอย่างเดียวกันคือ การเปิดเพลงเป็นคาราโอเกะโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทมิดี้ไฟล์ที่มีการทำซ้ำดัดแปลงลงไว้ภายในหน่วยเก็บความจำหลักของคอมพิวเตอร์ อีกทั้งเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในวันเวลาเดียวกัน เท่ากับว่าจำเลยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ส่วนการทำซ้ำหรือดัดแปลงเพลงต่าง ๆ แม้กระทำต่างเวลากัน ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้การพิจารณาการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดกรรมเดียวหรือต่างกรรมกัน ต้องพิจารณาเจตนาในการกระทำผิดเป็นสำคัญ หาได้พิจารณาจากการเปิดเพลงในแต่ละครั้งไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้อีกเพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกับคดีดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2559 องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ แม้งานออกแบบและแบบร่างชุดกระโปรงจะเป็นงานจิตรกรรม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ทั้งสามได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2559 โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม งานบันทึกเสียงและงานโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย โดยนำแผ่นซีดีที่บันทึกเนื้อร้อง ทำนองเพลง และภาพคาราโอเกะ ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าการเผยแพร่งานดังกล่าวของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ฟ้องของโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2559 สิทธิที่จะใช้ที่ดินของ ล. เป็นทางเข้าออกอันเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมตามข้อตกลงแม้จะไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ เมื่อจำเลยได้รับโอนที่ดินจาก ล. ก็มิได้ขัดขวางการใช้ทางพิพาทของ ป. และโจทก์ ถือว่าจำเลยตกลงยอมรับที่จะผูกพันปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่าง ล. กับ ป. โดยปริยาย โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินและสิทธิจาก ป. ย่อมอาศัยข้อตกลงฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิและรับโอนที่ดินจาก ล. ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ ล. สร้างบ้าน ทำคันปูนและปลูกต้นไม้รุกล้ำทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยรื้อต้นไม้และคันปูนออกแล้วต่อเติมเป็นห้องพักให้ ล. โจทก์จึงไม่สามารถใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นทางเข้าออกได้ โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ภาระจำยอมในที่ดินส่วนนั้นจึงสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยกว้าง 1.50 เมตร ยาวตลอดแนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินโจทก์ แผนที่พิพาท ไม่ระบุตำแหน่ง ไม่ระบุความกว้างยาวและเนื้อที่ของทางภาระจำยอมไว้ ถือว่าโจทก์ประสงค์ได้ทางภาระจำยอมมีความกว้างตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินด้านทิศตะวันออกของจำเลย กว้าง 1.74 เมตร เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินของจำเลยบางส่วนที่เป็นภาระจำยอมสิ้นไปแล้วตกเป็นภาระจำยอมด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559 จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้ เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2608/2559 ผู้ร้องจำเป็นต้องนำยึดทรัพย์ที่ดินพิพาทเนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายแจ้งไปให้ผู้ร้องดำเนินการ การที่ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับเป็นอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่เป็นเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องไม่สุจริตในการดำเนินการบังคับคดีอย่างไร อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่กำหนดให้ความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมอยู่ในดุลพินิจของศาล กรณีจึงมีเหตุสมควรกำหนดให้ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2559 คำหรือข้อความที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการบริการนั้น หากว่าเป็นคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของรายการบริการธนาคารพาณิชย์ที่ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว คำหรือข้อความนั้นย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว ส่วนคำหรือข้อความอันเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายบริการที่เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจมีคำสั่งให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการนั้นแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำหรือข้อความว่า "Make THE Difference" ดังกล่าวตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 17 ต้องได้ความว่า คำหรือข้อความนั้นเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการบริการสำหรับบริการธนาคารพาณิชย์ที่ขอจดทะเบียนอันไม่ควรให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหนึ่งรายใดถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวกรณีหนึ่งหรือเป็นกรณีที่คำหรือข้อความดังกล่าวมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ สำหรับกรณีการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า "TMB Make THE Difference" เพื่อใช้กับบริการจำพวก 36 รายการบริการ ธนาคารพาณิชย์ นี้ ข้อความว่า "Make THE Difference" เป็นข้อความที่นำเอาภาษาอังกฤษจำนวน 3 คำ มาประกอบกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของคำดังกล่าวตามพจนานุกรมแล้ว สามารถแปลได้ความหมายรวมกัน "ทำให้เกิดความแตกต่าง หรือสร้างความแตกต่าง" ซึ่งมีลักษณะเป็นคำบรรยายทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้บริการธนาคารพาณิชย์อันเป็นรายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียนแต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำ ยังไม่ใช่คำพรรณนาที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้โดยทันทีถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจการธนาคารพาณิชย์ทั้งปวงซึ่งใช้เครื่องหมายบริการนี้โดยตรงว่ามีลักษณะหรือคุณสมบัติใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ใช้บริการจะต้องจินตนาการหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงจะทราบได้ว่าบริการเกี่ยวกับกิจการธนาคารพาณิชย์ของโจทก์แตกต่างจากบริการอื่นอย่างไร นอกจากนี้ข้อความว่า "Make THE Difference" ยังมิได้เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญสำหรับการให้บริการเกี่ยวกับกิจการธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ประกาศกำหนดให้ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการให้บริการธนาคารพาณิชย์ที่โจทก์ขอจดทะเบียนด้วย ข้อความว่า "Make THE Difference" ดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการธนาคารพาณิชย์โดยตรงและมิได้เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายหรือบริการสำหรับรายการบริการธนาคารพาณิชย์ที่โจทก์ขอจดทะเบียน ดังนั้นเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า "TMB Make THE Difference" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยโจทก์ไม่จำต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันข้อความว่า "Make THE Difference"
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2559 ลักษณะการประดิษฐ์ของจำเลยแตกต่างจากลักษณะพิเศษตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ 3 รายการ คือ ในลำดับที่ 1 แผ่นปิดกั้นด้านซ้ายตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเป็นแนวขอบกั้นด้านซ้ายที่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายอย่างน้อยหนึ่งแนวติดตั้งอยู่ สำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดด้านซ้ายจากภายนอก ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเป็นแนวขอบกั้นด้านซ้าย ไม่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายติดตั้งอยู่ แต่จะมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นที่มีรูสำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดจากภายนอก ลำดับที่ 3 แผ่นรองด้านล่างในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณพื้นผิวของแผ่นรองด้านล่างเป็นแนวร่องเปิดด้านบนอย่างน้อยหนึ่งแนว หรือแนวร่องปิดด้านบนอย่างน้อยหนึ่งแนว สำหรับรองรับการยึดของนอตยึดด้านซ้ายที่สอดทะลุผ่านมาจากแนวร่องยึดด้านซ้าย ขณะที่แนวขอบด้านหนึ่งของแผ่นรองด้านล่างสอดเข้าด้านในระหว่างมุมบรรจบด้านหน้าซ้ายกับมุมบรรจบด้านหลังซ้ายของส่วนปิดกั้นด้านซ้าย ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณพื้นผิวของแผ่นรองด้านล่างของส่วนรองรับด้านล่างไม่มีแนวร่องเปิดด้านบนหรือแนวร่องปิดด้านบน แต่จะมีรูเจาะสำหรับรองรับการยึดของนอตยึดด้านล่างที่สอดทะลุมาจากส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นของแผ่นปิดกั้นด้านซ้าย ลำดับที่ 7 แผ่นปิดกั้นด้านขวาตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านขวาเป็นแนวขอบกั้นด้านขวาที่มีแนวร่องยึดด้านขวาอย่างน้อยหนึ่งแนวติดตั้งอยู่ สำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดด้านขวาที่สอดทะลุผ่านมาจากแนวร่องยึดด้านขวา ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านขวาเป็นแนวขอบกั้นด้านขวา ไม่มีแนวร่องยึดด้านขวาติดตั้งอยู่ แต่จะมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นของแผ่นปิดกั้นด้านขวาสำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดจากภายนอกลักษณะที่แตกต่างกันในลำดับที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ดังกล่าว ถือเป็นข้อสาระสำคัญเนื่องจากความมุ่งหมายในการประดิษฐ์ของโจทก์ต้องการแก้ไขปัญหาแผ่นป้ายแสดงสถานะด้านบนหลังคายานพาหนะแบบเก่าซึ่งใช้เวลามากในการประกอบติดตั้งยึดแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน โดยการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ระบุว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรนี้ ส่วนประกอบต่าง ๆ จะสามารถติดตั้งเข้าด้วยกันหรือถอดออกจากกันได้โดยง่ายด้วยการขันยึดของนอต ดังนั้น วิธีการยึดของนอตจึงหาใช่รายละเอียดปลีกย่อยไม่ ตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์การประกอบแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเข้ากับแผ่นรองด้านล่างใช้วิธีสอดนอตยึดจากภายนอกผ่านแนวร่องยึดด้านซ้ายโดยมีแนวร่องเปิดด้านบนของแผ่นรองด้านล่างรองรับการยึดของนอตยึดด้านซ้าย การประกอบแผ่นปิดกั้นด้านขวาเข้ากับแผ่นรองด้านล่างมีลักษณะเช่นเดียวกันคือใช้วิธีสอดนอตยึดจากภายนอกผ่านแนวร่องยึดด้านขวาโดยมีแนวร่องเปิดด้านบนของแผ่นรองด้านล่างรองรับการยึดของนอตด้านขวา การใช้นอตยึดในการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์จึงต้องอาศัยแนวร่องซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และขอรับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาการประดิษฐ์ของจำเลยปรากฏว่าแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาไม่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายและแนวร่องยึดด้านขวา กับแผ่นรองด้านล่างไม่มีแนวร่อง โดยแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาของจำเลยมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นด้านซ้ายและด้านขวา และมีรูเพื่อรองรับการสอดผ่านของนอตยึด แผ่นรองด้านล่างมีรูเจาะสำหรับรองรับนอตยึดที่ทะลุมาจากส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นด้านซ้ายและด้านขวา การประดิษฐ์ของจำเลยจึงมีลักษณะแตกต่างจากการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์อย่างชัดเจน ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 ทวิ สิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีขอบเขตดังระบุในข้อถือสิทธิ ซึ่งการวินิจฉัยขอบเขตการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิต้องพิจารณาจากลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ในกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ต้องนำลักษณะการประดิษฐ์ที่โจทก์ระบุไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิมาเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ของจำเลย ส่วนที่แตกต่างกันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าการประดิษฐ์ของจำเลยไม่อยู่ในขอบเขตข้อถือสิทธิของโจทก์ในการพิจารณาเปรียบเทียบจึงไม่อาจละเลยส่วนดังกล่าวได้ การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์มีส่วนประกอบแยกได้ดังนี้ คือ ส่วนปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาที่มีลักษณะเป็นแผ่นสามเหลี่ยม แผ่นรองด้านหลัง ท่อแบนกลวงปิดกั้นด้านบนและแผ่นป้ายปิดด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งสามัญซึ่งใช้ในการประดิษฐ์ทั่ว ๆ ไปจำเลยจึงสามารถนำมาใช้ในการประดิษฐ์ได้ สำหรับรูปทรงภายนอกเมื่อประกอบเสร็จแม้จะมีความคล้ายคลึงกันก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ เนื่องจากอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นเรื่องการประดิษฐ์หาใช่เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ จำเลยมิได้นำข้อถือสิทธิของโจทก์ในเรื่องแนวร่องซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และได้รับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์มาใช้ในการประดิษฐ์ป้ายไฟบนรถแท็กซี่ของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2585/2559 หลักเกณฑ์การชำระค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ประกอบมาตรา 43 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีเริ่มแต่ปีที่ 5 ของอายุสิทธิบัตรและต้องชำระภายใน 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ 5 นั้น และของทุก ๆ ปีต่อไป เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ 5 จึงเป็นวันที่ 1 เมษายน 2550 และต้องชำระภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ไม่ใช่ชำระได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 62, 65 ประกอบมาตรา 43 และประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การนับระยะเวลาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติเรื่องการนับระยะเวลาค่าธรรมเนียมรายปีของผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองต้องแสดงแผนผังแสดงวิธีการนับระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมปีที่ 5 ถึงปีที่ 10 ให้โจทก์ทราบอีก โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 9 แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ที่ถูกโจทก์ต้องชำระระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 แต่เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของจำเลยที่ 1 รับชำระไว้แล้วนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เกิดจากข้อผิดพลาดของระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรซึ่งคณะกรรมการสิทธิบัตรรับฟังว่าผิดพลาดจริงและถือว่าการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 9 เป็นการชำระที่พ้นกำหนดเวลา โจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มิได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 9 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ทำรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ แล้วต่อมาคณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 62, 65 ประกอบมาตรา 43 แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559 พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2559 การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยปัญหาอายุความว่า ผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาซึ่งไม่ถูกต้องแล้วนับอายุความสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสองในฐานะตัวการตัวแทนจึงไม่ถูกต้อง อันเป็นการวินิจฉัยสถานะของคู่ความโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น แต่เป็นกรณีปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) และศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2559 จำเลยถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดีจึงไม่มีสภาพบุคคลในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์มิอาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลได้ ฟ้องของโจทก์และกระบวนพิจารณานับแต่ศาลชั้นต้นรับฟ้องมาจึงมิชอบ แต่เมื่อรับฟ้องไว้แล้ว จึงต้องจำหน่ายคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2559 การจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับกันได้ ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำหรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด โดยลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่ามีถนนทางผ่านเข้าออกไปยังที่ดินพิพาทเชื่อมกับถนนสาธารณะ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเรื่องถนนเชื่อมผ่านตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินมัดจำคืน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2559 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือเตือนผู้ประกันตนที่ผิดนัดชำระเงินสมทบเสียก่อนจึงจะถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกันตามมาตรา 39 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 ไม่สามารถส่งเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกันไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ย่อมมีผลให้สถานะความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลงทันทีตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 41 (4) เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีรายได้จะส่งเงินสมทบยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ เพราะความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นเรื่องความสมัครใจของผู้ประกันตนที่จะส่งเงินสมทบ อีกทั้งไม่เป็นธรรมที่รัฐจะต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนมาจ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ผิดข้อตกลงหรือผิดหน้าที่ส่งเงินสมทบ ส่วนเรื่องที่รัฐจะนิรโทษกรรมการผิดข้อตกลงไม่จ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนและให้ถือว่าไม่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนหรือยินยอมให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับผลทางกฎหมายของมาตรา 41 และเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องใช้อำนาจตรากฎหมายขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งซึ่งขณะนี้ยังไม่มี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559 โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในวันฟ้องคดี จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบ 1087 เมื่อศาลพิจารณาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก คดีนี้นับแต่เสร็จการพิจารณา ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าได้เจรจาขอประนอมหนี้กับโจทก์ และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปอีกหลายนัด ครั้งสุดท้ายศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อันเป็นเวลาภายหลังเสร็จการพิจารณานานถึง 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ได้กระทำโดยเร็วตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2559 โจทก์ทั้งสองบรรยายสภาพแห่งข้อหาในส่วนของจำเลยที่ 1 สรุปความได้ว่า สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 รับขนสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สินค้าได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง โจทก์ที่ 1 กับบริษัท ฮ. จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมในข้อหาผิดสัญญารับขนของทางทะเล ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 สมัครใจจดทะเบียนเลิกบริษัททั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าข้อพิพาทมูลผิดสัญญารับขนของทางทะเลดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ต่อมาศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ฮ. พร้อมดอกเบี้ยและใช้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ที่ 1 และบริษัท ฮ. จำเลยที่ 1 ทราบผลคำพิพากษาแล้ว ไม่ดำเนินการชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนสภาพแห่งข้อหาที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบผลคำพิพากษาแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่เคยมีหนังสือแจ้งให้ทราบถึงการเลิกบริษัทของจำเลยที่ 1 และการแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีแต่อย่างใด ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาจากบริษัท ฮ. ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม ส่วนจำเลยที่ 2 จงใจละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับชำระหนี้ และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย เห็นได้ว่า คำฟ้องเป็นการบรรยายรายละเอียดความเป็นมาของการกระทำของจำเลยทั้งสองโดยเท้าความถึงมูลหนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทและแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี โจทก์ทั้งสองทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ซึ่งเป็นการกระทำหลังจากที่ศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมพิพากษาแล้ว ซึ่งเป็นการบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสองอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ มาตรา 55 แล้ว ประกอบกับตามคำขอบังคับ แม้โจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระต้นเงินซึ่งมีจำนวนพ้องกับหนี้ตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม ก็เป็นเพียงฐานการคำนวณความเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีขึ้นใหม่โดยอ้างคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมในฐานะมูลหนี้หรือหลักฐานประกอบข้ออ้างอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นการร้องขอบังคับคดีเพื่อขอให้ศาลไทยออกหมายบังคับคดีให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2559 ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559 ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจาก ย. และ ม. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทน ย. ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ จึงเป็นการยกข้อกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ข้างต้นเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2559 จำเลยให้การรับว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจริงเพียงแต่อ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ การรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยคดีจึงไม่จำต้องอาศัยเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐาน เพราะรับฟังได้ตามคำรับของจำเลยแล้ว จึงไม่มีกรณีอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามรับฟังตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืม และจำเลยยังมิได้ชำระหนี้คืนแก่โจทก์ผู้ให้กู้ เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิด มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควร เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลังถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการปลอมเช็คดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมไม่ การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย จึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เรื่อง ตั๋วเงิน โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2464/2559 ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า "เจ้าของร่วม (หมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด) ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ" เจ้าของร่วมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคสอง ดังกล่าว และในกรณีที่จะต้องมีการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ผู้ขอจดทะเบียนก็จะต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง" โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและแม้โจทก์จะมิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 18 วรรคสองก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่า จะรับผิดชอบชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีให้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ดังนั้น เมื่อเจ้าของห้องชุดเดิมมีหนี้ค่าส่วนกลางค้างชำระอยู่แก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้แก่จำเลยด้วย โจทก์จะมาอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ก่อหนี้ที่จำเลยเรียกให้ชำระจึงไม่ต้องมารับผิดชำระหนี้ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาได้ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2461/2559 องค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งที่โจทก์ต้องบรรยายมาในคำฟ้องตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 คือ การเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปซึ่งหมายถึงการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้ล่วงรู้ในลักษณะที่มีผลทำให้ข้อมูลนั้นเสียสภาพหรือคุณสมบัติการเป็นความลับ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอาข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าของผู้เสียหายไปเปิดเผยให้กับบุคคลผู้มีชื่ออันเป็นบุคคลทั่วไปล่วงรู้ถึงข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย และจำเลยทั้งสามมีเจตนากลั่นแกล้ง อันเป็นเหตุให้ข้อมูลซึ่งเป็นความลับทางการค้าของผู้เสียหายสิ้นสภาพความเป็นความลับทางการค้า ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจ โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุวิธีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้นว่าเป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร กระจายเสียง หรือการแพร่ภาพหรือเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด จึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าดังกล่าว แต่เป็นการยืนยันเพียงว่าเป็นการเปิดเผยแก่บุคคลหนึ่งที่เป็นบุคคลทั่วไป จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 33 ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2559 เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410 - 2411/2559 จำเลยเบิกความยอมรับว่าการทำสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง มาจากการที่ ส. ซื้อกิจการบริษัท ป. และบริษัท พ. จากโจทก์ทั้งสองและจำเลย และ พ. กับ อ. พยานจำเลยก็เบิกความได้ความว่า การทำสัญญาเอกสารหมาย จ.7 นำข้อมูลมาจากรายงานการเคลียร์หนี้ตามเอกสารหมาย ล.28 การดำเนินการตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น พ. ได้รับมอบหมายจาก ส. ให้ไปดำเนินการเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายกิจการ โดยให้ อ. ลงนามแทนฝ่าย ส. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของ ส. ดังนี้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะบังคับกันอย่างแท้จริงตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกับ ส. ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง ที่จำเลยฎีกาว่าวัตถุแห่งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 คือหุ้นในบริษัท พ. แตกต่างจากทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.15 ที่วัตถุแห่งหนี้คือกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ป. และบริษัท พ. นั้น เห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุแห่งหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.15 นั่นเอง เพราะเป็นการตกลงที่ต่อเนื่องกันมาไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405 - 2407/2559 ข้อเท็จจริงยุติตามคำร้องและคำคัดค้านว่าการนัดหยุดงานกระทำไปโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อผู้ร้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้พนักงานนัดหยุดงานตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) การนัดหยุดงานที่ฝ่าฝืนมาตรา 34 มีโทษตามมาตรา 139 เมื่อการนัดหยุดงานต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) และมีโทษตามมาตรา 139 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชักชวนให้พนักงานนัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานนัดหยุดงานจึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา 99 (2) อีกทั้งศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เข้าทำงาน ออกไปชุมนุมด้วย และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีการชักชวนพนักงานให้ออกไปชุมนุมประท้วงโดยการปิดถนนและนำรถยนต์ไปจอดขวางถนนภายในโรงแรมซึ่งเป็นถนนสาธารณะจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 215 วรรคแรก จึงเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยติดตั้งสายไฟฟ้าบนรั้วคอนกรีตพิพาทของโจทก์ในลักษณะที่เป็นอันตรายและไม่ปลอดภัยแก่โจทก์และบุคคลอื่น ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าออกจากรั้วคอนกรีตพิพาทของโจทก์ จำเลยให้การว่า รั้วคอนกรีตพิพาทเป็นของโจทก์และจำเลยรวมกัน การติดตั้งสายไฟฟ้าบนรั้วคอนกรีตพิพาทไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า รั้วคอนกรีตพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เมื่อได้ความว่า รั้วคอนกรีตพิพาทเป็นของโจทก์และจำเลยรวมกัน และการติดตั้งสายไฟฟ้าของจำเลยไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้จำเลยแก้ไขการต่อสายไฟฟ้าจากมิเตอร์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงรายถึงตู้ประธานบ้านจำเลยนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างมาในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างและพิพากษาให้ถูกต้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2559 ข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในรายงานเจ้าหน้าที่ที่เสนอต่อผู้พิพากษา ปรากฏว่าคู่ความมิได้ลงลายมือชื่อไว้จึงถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดที่โจทก์จะอ้างมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้บังคับแก่จำเลยทั้งห้าได้ ส่วนรายงานกระบวนพิจารณา แม้โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และทนายจำเลยทั้งห้าลงลายมือชื่อไว้ แต่ความตกลงยังหาได้ยุติไม่ เพราะยังจะต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันอยู่อีก กรณีจึงไม่ใช่เรื่องตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ หรือที่จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จสิ้นไปในทันทีด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน และรายงานเจ้าหน้าที่กับรายงานกระบวนพิจารณาไม่อาจนำมาประกอบกันแล้วถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2559 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินเลยหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอให้พิพากษาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อหาและข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยเหตุที่ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีเฉพาะเกี่ยวกับเหตุที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยในข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 รวมทั้งข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในการรับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราอื่น ดังนั้น แม้คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จะเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสมควรต้องเพิกถอนดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ คงพิพากษาให้ได้แต่เพียงว่าให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2559 ขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นคือ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ใช้บังคับ แต่มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 บัญญัติว่า "บรรดา...คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ...ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นคำขอตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้" การพิจารณาเรื่องเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา 80 ประกอบ มาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่แก้ไขใหม่ มิใช่มาตรา 80 ประกอบ มาตรา 8 (11) (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ดังนั้น เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ซึ่งตามประกาศดังกล่าว การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ได้แก่ (1) สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นจะต้องมีการจำหน่ายหรือมีการใช้ หรือมีการโฆษณาหรือได้มีการใช้เครื่องหมายโดยวิธีใด ๆ อย่างแพร่หลายตามปกติโดยสุจริต ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าของหรือผู้แทนหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายนั้นไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี (2) เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะการส่งเสริมการขายของบริษัท ซ. ที่โจทก์จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการขายของโจทก์เป็นไปอย่างจำกัด อีกทั้งโจทก์มิได้มีหลักฐานการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อสารมวลชนที่แสดงให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบถึงเครื่องหมายรูปประดิษฐ์ศีรษะซีซาร์สในวงกว้าง ประกอบกับพยานเอกสารกับวัตถุพยานเท่าที่ นาง ว. พยานโจทก์เบิกความถึงมีปริมาณเพียงเล็กน้อยยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการโฆษณาหรือมีการใช้เครื่องหมายหรือบริการดังกล่าวอย่างแพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในประเทศไทยเมื่อปี 2546 และยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2549 กับยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการแล้วตั้งแต่ปี 2540 พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเพื่อขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายล่าช้ากว่าจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่พิสูจน์ให้รับฟังได้ว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและเชื่อมโยงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการโดยไม่สุจริต เครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 8 (9) , (10) กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2559 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2559 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ เนื่องจากจำเลยขาดการทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง จึงมีมติให้ส่งคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนแล้ว เพียงแต่จำเลยขาดการทำงานบริการสังคม คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ตามมาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงทำนองว่า จำเลยยังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพตามมาตรา 25 จึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง แต่เพื่อมิให้คดีนี้ต้องล่าช้าเกินสมควรหากศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปเลยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก จำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติดและได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเป็นเวลา 6 เดือน จนผ่านการประเมินในทุกขั้นตอนขณะที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามโปรแกรมที่กำหนด เพียงแต่จำเลยขาดการทำงานบริการสังคมเท่านั้น กรณีมีเหตุสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีในสังคมจึงให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2559 จ. เคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างเหตุว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. โดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. บิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่ จ. นำสืบฟังไม่ได้ว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่า จ. มิใช่เจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือ จ. และโจทก์รวมทั้งผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ จ. ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขัดทรัพย์คดีนี้อ้างเหตุว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนอีกย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2559 ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษ ให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกในการกรณีที่จัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ถูกต้อง เสียภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ต้องหมายถึงกรณีที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก หรือจัดการทรัพย์มรดกไปตามปกติมิใช่กรณีที่ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่เบียดบัง ยักยอก และปกปิดโดยทายาทไม่รับรู้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทอื่นเลย นอกจากจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรคนเดียวของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 5 คน บางคนก็แยกไปประกอบอาชีพที่อื่น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายต้องตกได้แก่พี่น้องคนอื่นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจะโอนขายที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกไปให้แก่ผู้อื่นโดยทายาทมิได้ให้ความยินยอมทุกคน จำเลยที่ 2 ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงนี้ดีเช่นกัน จะอ้างว่าเป็นผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้เป็นการตอบแทนหาได้ไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริต ดังนั้นการจัดการมรดกรายนี้จึงไม่ชอบ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามกฎหมาย อายุความห้าปียังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะทำนิติกรรมในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ แม้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจัดการมรดกที่ไม่ชอบ ก็ขอให้เพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกเสียใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมในส่วนที่มิใช่เป็นทรัพย์มรดกไม่ได้ ที่ศาลล่างพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2559 ในการพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้า นอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายแล้วยังคงต้องพิจารณาสินค้าที่นำมาขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายด้วยว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหรือไม่ รวมทั้งช่องทางจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันหรือไม่ เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 1 เช่นเดียวกัน แม้ในส่วนรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานมีความคล้ายกันเนื่องจากมีอักษรตัวท้ายแตกต่างกันเพียงตัวเดียวและมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ ผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ส่วนผู้ใช้สินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นเกษตรกรที่ปลูกต้นยาง เมื่อกลุ่มผู้ใช้สินค้าและวัตถุประสงค์การใช้สินค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โจทก์จะใช้วิธีติดต่อกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมโดยตรงและไม่มีการวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และในการจำหน่าย เสนอจำหน่าย และโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า "" นั้นจะปรากฏชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า "BIOMERIEUX" อยู่ด้วยเสมอ จึงช่วยสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์กับสินค้าของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นคำว่า "" และเครื่องหมายการค้า "" แต่เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสามแล้ว มีความแตกต่างในเรื่องจำนวนตัวอักษรและตัวอักษรที่ต่างกัน รูปลักษณ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามจึงต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนแม้จะเป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันทั้งสามเครื่องหมาย แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอของโจทก์เป็นสินค้าประเภทเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และสินค้าของโจทก์ถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ส่วนสินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "" เป็นหลอดแก้วที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ซึ่งถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับทางการแพทย์ซึ่งย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นอย่างดี จึงย่อมทราบความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของบุคคลอื่น ใช้กับรายการสินค้าที่เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับด้านการสื่อสารทางเสียง จึงไม่ใช่สินค้าที่มีลักษณะเดียวกับสินค้าโจทก์ ทั้งช่องทางการจำหน่ายของโจทก์เป็นการขายตรงต่อลูกค้าไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จึงยากที่กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์จะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และ 16
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559 การร้องขอถอนผู้จัดการมรดกก่อนปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นเรื่องอำนาจฟ้องหรืออำนาจยื่นคำร้องอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐเป็นเจ้าของหรือผู้ปกปักรักษาตามกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 ออกตามความใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 123 เป็นกุศลสถานสำหรับมหาชนแม้ผู้ตายจะเป็นผู้ดูแลขณะมีชีวิต ก็หาทำให้ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วตลอดทั้งทรัพย์สินและผลประโยชน์ของศาลจ้าวนั้นเป็นมรดกของผู้ตายอันจะตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ตายจะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรมได้ แม้จะกำหนดไว้ในพินัยกรรมก็ไม่มีผลบังคับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้ว การจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2559 เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์แล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ประกอบด้วยรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของก็เป็นรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะของสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อก ยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน ขาทั้งสี่ข้างล้วนอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และมีรายละเอียดต่าง ๆ ตรงกันจนไม่อาจสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายได้อย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายกับการลอกเลียนกันมา คงมีข้อแตกต่างกันเพียงแต่ในรายละเอียดอื่นที่ไม่ใช่รูปสุนัข โดยในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้มีเส้นตรงในแนวนอนลากผ่านด้านหลังขาทั้งสี่ช่วงล่างซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าสุนัขยืนอยู่บนพื้นราบ แต่รูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของไม่มีเส้นตรงเช่นนั้นประกอบอยู่ด้วยเท่านั้น ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่างนี้ และแม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วยโดยที่เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่โจทก์กล่าวอ้างถึงไม่มีคำดังกล่าวประกอบหรือในบางครั้งก็มีคำว่า "MIRKA" ประกอบอยู่ด้วยอันเป็นความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าภาคส่วนรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบเหล่านั้น การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีรูปลักษณะของรูปสุนัขซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อกในลักษณะที่คล้ายกับลอกเลียนกันมาดังกล่าว ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" ได้ ด้วยความคล้ายกันอย่างมากโดยคล้ายกับลอกเลียนกันมาของรูปสุนัขดังกล่าว ประกอบกับความเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นของรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าทั้งสองเช่นนี้ แม้จำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของจำเลยไว้สำหรับใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าที่โจทก์ส่งมาขายในประเทศไทยก็ตาม แต่สินค้าของโจทก์และของจำเลยต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง ย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของและใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทรายและกระดาษทรายจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ โจทก์มีหลักฐานสำเนาหนังสือโต้ตอบ สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า และสำเนาสัญญาตัวแทนจำหน่ายมาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และวัสดุที่ใช้ในการขัดถูในประเทศไทยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ในขณะที่จำเลยนอกจากจะไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ผ่านตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 แล้ว ยังปรากฏว่าบริษัทที่จำเลยเคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการได้สั่งซื้อสินค้ากระดาษทรายของโจทก์มาจำหน่าย การที่โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้ากระดาษทรายและเครื่องมือเครื่องใช้ในการขัดถูโดยใช้เครื่องหมายการค้า มาตั้งแต่ปี 2486 การได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศต่าง ๆ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 และที่ 7 รวมทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและการที่จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์ดังกล่าว และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า มาก่อนที่โจทก์จะส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย คงนำสืบเพียงว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 โดยประกอบกิจการขายปลีกเครื่องมือช่างและเครื่องมือเกษตร รวมทั้งไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง กระดาษทราย และผ้าทราย แต่หลักฐานที่จำเลยอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่มีลักษณะเป็นเอกสารที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โฆษณาสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุวันเวลาลงโฆษณา ส่วนพยานหลักฐานอื่นก็เป็นหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าอันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อกก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อก ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 แม้โจทก์จะยังไม่เคยนำสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่สินค้าที่โจทก์นำมาจำหน่ายในประเทศไทยและสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าโจทก์เป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นแหล่งเดียว กับสินค้าของโจทก์ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่จำเลยเริ่มยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ทะเบียนเลขที่ ค4208 อีกทั้งยังปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนดังกล่าวและที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าเครื่องมือช่างก่อสร้างจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง จำเลยย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกในปี 2535 กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยจงใจนำเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ที่พิพาทในคดีนี้ดีกว่าจำเลย กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ของจำเลย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง และเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จำเลยมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาห้าปีตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าววันที่ 15 มิถุนายน 2548 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 จึงไม่เกินกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 ส่วนระยะเวลาที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์เป็นกรณีของการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 ซึ่งจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ไม่ใช่การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นคดีนี้ อีกทั้งจำเลยขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกและรายการเดิม แต่ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการจดทะเบียน กรณีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกดีกว่าจำเลย การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับการใช้สินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องของจำเลย และนำสินค้านั้นออกขาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขของโจทก์กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องและสินค้าอื่นของจำเลย รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 เพราะสินค้าดังกล่าวมิใช่สินค้าสุนัขพันธุ์บูลด็อก แต่รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นรูปที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ส่วนคำว่า "BULLDOG" ก็ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องโดยตรง จึงเป็นคำที่มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงอันมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2559 การที่โจทก์เป็นครูสอนวิชาสามัญร้องเรียนผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินผลและมาตรฐานทางการศึกษา เมื่อจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏผลว่าไม่มีการกระทำความผิดตามที่โจทก์ร้องเรียนดังกล่าว ก็กลับเป็นผลดีแก่โรงเรียนของจำเลยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการเรียนการสอนและการประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษา ทั้งไม่ได้ความว่าโจทก์มีเจตนาใส่ร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้อำนวยการโรงเรียนของจำเลยประการใด แม้ตามหนังสือร้องเรียนที่โจทก์เป็นผู้จัดทำ จะมีถ้อยคำเสียดสีไม่สุภาพ แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการเป็นครูซึ่งต้องเป็นแบบอย่างที่ดีไปบ้าง แต่การกระทำของโจทก์ก็ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโรงเรียนจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2559 แม้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุโดยตรงว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 2 ก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 รับว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดในขณะมีการขับเคลื่อนรถยนต์ แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดในขณะขับรถ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด กรณีตามคำให้การดังกล่าว จำเลยที่ 2 หาได้หลงต่อสู้ไม่ คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 อ้างทำนองว่า ถังสีตกมาจากด้านบนของตึก จำเลยที่ 2 ก็เพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เกี่ยวกับความเสียหายที่อ้างว่าโจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง จำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งให้ชัดแจ้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามจำนวนเงินค่าซ่อมตามที่โจทก์มีใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานนั้น ค่าซ่อมรายการใดที่ไม่จำเป็น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาที่กล่าวมาจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลใด ทั้งยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้าง หาได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2559 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวเป็นผู้มีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ดังนั้น การยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวม จึงเป็นอำนาจของผู้คัดค้าน ผู้ร้องเป็นเพียงตัวแทนของผู้คัดค้านในการนำบันทึกข้อความขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดปราจีนบุรี สาขากบินทร์บุรี ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแทน ไปยื่นและดำเนินการแทนผู้คัดค้านเท่านั้น หาใช่ผู้ร้องโดยส่วนตัวเป็นผู้ยึดทรัพย์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด อันส่งผลให้ผู้คัดค้านหมดอำนาจในการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้ดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวเอง ไม่อาจสั่งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของผู้คัดค้านในการนำยึดไปดำเนินการถอนการยึดและชำระค่าธรรมเนียมได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพิพาทว่าตนไม่ใช่บริวารศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวนและเจ้าหน้าที่ศาลได้นัดไต่สวน โดยผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเสียใหม่จากเดิมที่นัดไว้ และผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง และการแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้ร้องทราบนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสาร ที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์นั้น หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2142/2559 ในคดีอาญาที่ ว. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์จากโจทก์ถูกฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังว่าการที่รถของ ว. ชนกับรถของ ศ. มิใช่เป็นเพราะความประมาทของ ว. และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ศ. คดีในส่วนความประมาทของ ว. ถือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวและถึงที่สุดแล้ว จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพยานหลักฐานและรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งไปอีกทางหนึ่งอันรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาย่อมไม่สามารถจะกระทำได้อันเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนความประมาทของ ศ. จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศ. เป็นผู้ประมาทโดยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์คันที่ ว. ขับ อันเป็นการละเมิดต่อ ว. โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระค่าเสียหายให้แก่ ว. จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ศ. แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 และจากจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ศ. ได้ ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แม้ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์และฎีกา ได้เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ และคู่ความสืบพยานข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้ เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2559 ช. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่ที่ได้รับ คำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว ผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณี ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2559 พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6 บัญญัติว่า ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตาม พระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และวรรคสองบัญญัติว่า ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกป้องราษฎรที่ได้รับสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้มีที่ดินไว้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี จะจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินที่ได้รับมาด้วยประการใด ๆ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก ดังนั้นภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยผู้ได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองหรือทำนิติกรรมสัญญาประการใดอันมีผลหรือมีลักษณะไปในทางที่สละ หรือโอน หรืออาจต้องถูกบังคับคดีให้มีการโอนสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินขณะอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ซึ่งตามลักษณะของสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในอันที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเสียสิทธิการครอบครองที่ดินซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นเคหสถานและประกอบอาชีพ และพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยก่อนทำสัญญาที่ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีข้อห้ามโอน เห็นได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมที่มีเจตนาที่จะโอนที่ดินกัน แม้จะมีเงื่อนไขให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจยกนิติกรรมอันเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อบังคับให้จำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศของจำเลยที่ 1 และประกาศของจำเลยที่ 3 กับห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 พร้อมบริวารรบกวนการชุมนุมของโจทก์ทั้งสองกับพวก โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกประกาศตามคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ก็เพื่อที่โจทก์ทั้งสองกับพวกจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้โดยไม่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ขัดขวางการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะเกิดเหตุ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ประกาศของจำเลยที่ 1 และประกาศของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนั้นได้สิ้นผลไปตามกำหนดระยะเวลาที่ประกาศมีผลใช้บังคับ และโจทก์ทั้งสองกับพวกได้ยุติการชุมนุมทางการเมืองแล้ว หากโจทก์ทั้งสองหรือบุคคลใดที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญา ก็ยังคงยกข้อต่อสู้ในคดีอาญาว่าประกาศของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ และศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคดีอาญานั้นก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของจำเลยในคดีอาญาว่าเป็นความผิดหรือไม่ โดยโจทก์ในคดีอาญามีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าประกาศตามคำฟ้องชอบด้วยกฎหมายและจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้กระทำความผิดด้วย ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศของจำเลยที่ 1 และประกาศของจำเลยที่ 3 กับห้ามมิให้รบกวนการชุมนุมของโจทก์ทั้งสองกับพวกโดยมิได้มีคำขอให้บังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้กระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใดอีก การที่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ศาลจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเสียได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2559 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิผู้อื่นจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และมาตรา 90/12 ก็ไม่มีข้อห้ามลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นเมื่อศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยโดยจำเลยเป็นผู้ทำแทนแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งได้ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันในคดีที่จำเลยขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 ไม่ปฏิบัติตามและไม่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งภายในกำหนด คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยอันมีผลเสมือนว่าไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้ และศาลแรงงานกลางสามารถถือตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นที่สุดแล้วได้โดยไม่ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2559 การนำเข้าระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติของโจทก์ไม่ใช่การซื้อแบบแยกชิ้นเฉพาะส่วนที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน อันมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่มีลักษณะเป็นการซื้อสินค้าชนิดหนึ่งที่ต้องประกอบไปด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นที่จะต้องใส่ลงไปเฉพาะสินค้าชิ้นนั้น เพื่อให้สินค้าชิ้นนั้นเริ่มทำงานหรือใช้งานได้ อันมีลักษณะที่ไม่สามารถแยกจากส่วนประกอบอื่นได้ จึงไม่อาจฟังได้ว่า โจทก์นำเข้าระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติจากผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยแยกราคาโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานออกจากโครงสร้างหลักให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ ที่จะถือเป็นค่าลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (3) โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตาม มาตรา 70 ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและมีการใช้บริการในราชอาณาจักร อันจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2559 จำเลยมีนักวิชาการสรรพสามิตชำนาญการเบิกความว่า จำเลยจัดทำประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าสุราที่ทำในราชอาณาจักร เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2546 และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักร เมื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี พ.ศ.2552 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 โดยจำเลยดำเนินการศึกษากำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีสุราทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในตลาดสุราชนิดเบียร์ ผลการศึกษาปรากฏว่าวิธี Equal Ex - Factory Price เป็นวิธีการคำนวณหาราคาขาย ณ โรงงานสุราเพื่อเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีสุราที่เหมาะสมที่สุด ก่อให้เกิดความเป็นธรรมและเสริมสร้างยุทธศาสตร์ในการแข่งขันในระหว่างผู้รับใบอนุญาตทำสุราประเภทเบียร์ด้วยกันและเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค การแบ่งเบียร์เป็น 3 ระดับ เป็นการพิจารณาจากเป้าหมายทางการตลาดและการจัดวางตำแหน่งทางการตลาดของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายกำหนดเอง และความแตกต่างของราคาแต่ละระดับ เป็นไปตามข้อเท็จจริงในท้องตลาด จำเลยมิได้กำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราตามอำเภอใจ และสำหรับเบียร์สด มีวิธีการจำหน่ายแตกต่างจากเบียร์บรรจุขวดหรือกระป๋องที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เพราะเบียร์สด (ถัง) ต้องจำหน่ายเฉพาะที่ เนื่องจากต้องมีอุปกรณ์หัวจ่าย อีกทั้งมูลค่าเบียร์สดจะแตกต่างกันไปตามสถานที่ เช่น ร้านอาหาร หรือสถานเริงรมย์ ในการศึกษาหลักเกณฑ์จึงมิได้มีการนำเบียร์สดเข้าจัดกลุ่มหรือระดับ โจทก์มิได้โต้แย้งว่า หลักเกณฑ์การคิดคำนวณตามประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยโจทก์คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายจากการจำหน่ายเบียร์สิงห์และเบียร์สดสิงห์ของโจทก์ และเตรียมรองรับภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอยอันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลก โจทก์จึงมีนโยบายปรับลดกำไรจากการขายเบียร์สิงห์และเบียร์สดสิงห์ ณ โรงงานของโจทก์ลง หากจำเลยประกาศกำหนดราคาขาย ณ โรงงานใหม่ตามที่โจทก์แจ้ง จะทำให้ราคาขายส่งและขายปลีกลดลงได้ต่อไป โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่าหากปรับลดราคาเบียร์สิงห์และเบียร์สดสิงห์ ณ โรงงานของโจทก์ลงแล้ว จะมีความสัมพันธ์กับการลดลงของราคาขายเบียร์สิงห์และเบียร์สดสิงห์อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ข้ออ้างของโจทก์ยังขัดแย้งกับพยานโจทก์ว่าราคาขายปลีกเป็นเรื่องของผู้บริโภคแต่ละรายจะเป็นผู้กำหนดเอง และข้ออ้างโจทก์ยังขัดแย้งกับหนังสือของโจทก์ เรื่อง การปรับราคาขาย ณ โรงงานสุราแช่ ชนิดเบียร์ ชื่อสิงห์ โดยราคาขายปลีกผู้บริโภคไม่มีส่วนสัมพันธ์กับราคาขาย ณ โรงงาน และข้ออ้างของโจทก์ในการประหยัดต่อขนาดหนึ่งพันล้านลิตร โจทก์ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าการประหยัดต่อขนาดทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างไร หรือโจทก์สามารถบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบและควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพอย่างไร โจทก์จึงปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า ราคาขายของเบียร์สิงห์และเบียร์สดสิงห์ ณ โรงงานสุราของโจทก์ที่จะปรับลดนั้น เป็นราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มาตรา 8 จัตวา (1) วรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987/2559 พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 16 และมาตรา 17 บัญญัติให้ ผู้รับใบอนุญาตการเล่นหมายเลข 17 หมายเลข 18 และหมายเลข 19 ในบัญชี ข. จะต้องเสียภาษีตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจากฐานที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ผู้รับใบอนุญาตการเล่นหมายเลข 17 ในบัญชี ข. เสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ผู้รับใบอนุญาตการเล่นหมายเลข 18 ในบัญชี ข. เสียภาษีจากยอดสลากซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่าย และผู้รับใบอนุญาตการเล่นหมายเลข 19 ในบัญชี ข. เสียภาษีจากยอดรายรับซึ่งหักรายจ่ายแล้ว ดังนั้น การที่มาตรา 16 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตการเล่นหมายเลข 17 หมายเลข 18 และหมายเลข 19 ในบัญชี ข. เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกไม่เกินร้อยละสองครึ่งเพื่อให้เป็นรายได้แก่เทศบาลแห่งท้องที่ที่เล่นการพนันตามใบอนุญาต โดยมิได้ระบุว่าให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละสองครึ่งจากฐานใดนั้น จึงหมายความว่าให้ผู้รับใบอนุญาตหมายเลข 17 หมายเลข 18 และหมายเลข 19 ดังกล่าวเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกไม่เกินร้อยละสองครึ่งแห่งยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายหรือยอดราคาสลากซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่ายหรือยอดรายรับซึ่งหักรายจ่ายแล้ว แล้วแต่กรณีว่าผู้รับใบอนุญาตนั้นเป็นผู้รับใบอนุญาตการเล่นหมายเลขใดในบัญชี ข. ซึ่ง รมว.กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2503) กำหนดภาษีตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ไว้ในข้อ 12 วรรคหนึ่ง (1) (ก) ว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตการเล่นโตแตไลเซเตอร์สำหรับการเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการเล่นหมายเลข 19 ในบัญชี ข. เสียภาษีในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีร้อยละ 10 แห่งยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย และกำหนดในข้อ 12 วรรคสองว่า นอกจากภาษีดังกล่าวแล้วให้ผู้รับใบอนุญาตเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามมาตรา 16 วรรคสอง อีกร้อยละสองครึ่งแห่งยอดที่ต้องเสีย เพื่อเป็นรายได้ของเทศบาลแห่งท้องที่ที่เล่นการพนันตามใบอนุญาต ดังนั้น คำว่า "ยอดที่ต้องเสีย" ตามข้อ 12 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2503) ดังกล่าว จึงหมายถึงยอดที่เป็นฐานในการเสียภาษีตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) คือยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ความในวรรคสองของมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 นั้น ต้องอ่านต่อเนื่องจากความในวรรคหนึ่ง ฐานในการจัดเก็บภาษีคือยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ซึ่งในกรณีนี้คือสลากม้าแข่งที่สนามม้าได้รับไว้ทั้งสิ้น เมื่อจำเลยผู้รับใบอนุญาตการเล่นโตแตไลเซเตอร์สำหรับการแข่งม้าซึ่งเป็นการเล่นหมายเลข 17 ในบัญชี ข. จำเลยจึงต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามมาตรา 16 วรรคสอง ในอัตราร้อยละสองครึ่งของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2559 แม้กองทุนเงินทดแทนจะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องระบุชื่อสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเข้ามาเป็นจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 แม้ในการควบกิจการดังกล่าวทั้ง 10 บริษัทเดิมจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และโจทก์ซึ่งเกิดจากการควบกันย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 ก็ตาม แต่ 10 บริษัทดังกล่าวต่างมีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการสำหรับการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่หลากหลายแตกต่างกัน มิได้มีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการที่เหมือนกับโจทก์เสียทีเดียว ทั้งการควบกิจการนี้ยังทำให้ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์อันเกิดจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทดังกล่าวระคนปนกันไปจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ กรณีจึงไม่อาจนำอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของ 10 บริษัทดังกล่าวก่อนการควบกิจการมาใช้เป็นส่วนลดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 ข้อ 15 กับตารางที่ 2 แนบท้ายประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ได้ เมื่ออัตราเงินสมทบ หมวด 1600 ประเภทกิจการอื่นๆ รหัส 1601 สถาบันการเงิน สถาบันการประกันภัย สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย การบริหารเกี่ยวกับกฎหมาย บัญชี หรือบริการด้านธุรกิจ อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างนั้นใช้สำหรับการประเมินเงินสมทบในประเภทกิจการที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการของนายจ้าง แม้โจทก์จะอ้างว่ากิจการของโจทก์มีลูกจ้างทำงานในสำนักงานด้วย แต่เมื่อโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารและถนอมอาหาร ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการประเภทดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจปรับเข้ารหัส 1601 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2559 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริตดัดแปลงลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า วันที่ 11 กันยายน 2546 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 มีนาคม 2553 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมีสิทธิดีกว่าก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2559 แม้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 บัญญัติให้นายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตาม พ.ร.บ.นี้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำวินิจฉัยนั้น เดิมสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่จำต้องนำส่งเงินสมทบทั้งในส่วนของลูกจ้างและของนายจ้างอีกต่อไปนับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างของพนักงานขาย SA โจทก์จึงไม่ได้นำส่งเงินสมทบนับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 ถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 แจ้งให้โจทก์ทราบความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิมและยกเลิกคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เนื่องจากมติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานซึ่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้ความเห็นชอบ โดยมีคำสั่งใหม่ว่าให้พิจารณานิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นราย ๆ ไป และก่อนที่จะวินิจฉัยนิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างของโจทก์แต่ละราย ให้โจทก์ส่งเงินสมทบให้แก่พนักงานขาย SA นับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไปก่อน โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อไปได้ ดังนี้การพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิม ยกเลิกคำสั่ง และออกคำสั่งใหม่ของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ยังไม่ได้ปลดชื่อพนักงานขาย SA ออกจากการเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีพนักงานขาย SA จำนวน 10 คน ยื่นขอรับและได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ อันเป็นการใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนได้ในฐานะผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และเมื่อโจทก์กับพนักงานขาย SA มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและนำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้แก่จำเลยตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 46 และมาตรา 47
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2559 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะขอซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนโดยอยู่ในระหว่างพิจารณาของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารได้ ส่วนผู้ร้องเป็นเพียงผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ แม้จะมีข้อตกลงว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีนี้ ผู้ร้องก็มิใช่ผู้ที่ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2559 ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นในวันเดียวกันและต่อเนื่องกัน โดยพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นก่อน ต่อจากนั้นจึงพิพากษาคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาอย่างไร ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลชัดแจ้งแล้วว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษต่อได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2559 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่า คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง จึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 จึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่อาจฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ตามมาตรา 46 จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559 แม้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ศาล หมวด 1 เขตอำนาจศาลได้บัญญัติเกี่ยวกับคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลว่าให้ฟ้องหรือร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ตามมาตรา 7 (1) แต่คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ ขอให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล มีผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดต่างขอให้ตั้งตนเป็นผู้อนุบาลด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้บังคับ ศ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรักษาเงินรายได้ของ ซ. ให้ส่งมอบเงินให้ ซ. โดย ศ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้อนุบาลแต่อย่างใดว่าไม่ยอมส่งมอบเงินรายได้ของคนไร้ความสามารถ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ศ. เป็นอีกคดีต่างหาก คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ใช่คำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559 ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2559 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าประเด็นหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์โดยไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้ใช้แทน จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท และจำเลยที่ 2 เห็นว่ารับผิดในค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งจึงวางเงินเพียง 3,260 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เห็นว่าศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์มาโดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเพิ่มเติม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องแล้ว แสดงว่าไม่จงใจจะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2559 เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย การที่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมมีผลทำให้มรดกของผู้ตายยังเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ ไม่ตกทอดไปยังทายาทดังที่กฎหมายว่าด้วยมรดกกำหนดไว้ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยมรดก ข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่แปลงตกเป็นโมฆะ ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ใด ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559 โจทก์มิได้ฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันเป็นคำฟ้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งสิทธิการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิในการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมที่ได้มาโดยผลของกฎหมายหมดสิ้นไป จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้คัดค้านที่ 3 ส. เป็นผู้คัดค้านที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้คัดค้านที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นผู้คัดค้านที่ 6 จำเลยที่ 6 เป็นผู้คัดค้านที่ 7 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ซึ่งโจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ต่างกล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ต่างเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วและต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน แม้คดีนี้จะมิได้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวเพราะโจทก์ในคดีนี้มิใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ต่างกล่าวอ้างความเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีดังกล่าวก็เกี่ยวด้วยฐานะความเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่มีต่อกองมรดกเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์ในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ผู้ตายมีบุตรเป็นทายาทโดยธรรมรวม 10 คน คือ โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 กับนาวาตรีหญิง ร.ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยในคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ต่างใช้สิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883 - 1884/2559 การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อ้างความเป็นบุตรทายาทโดยธรรมของผู้ตายฟ้องเรียกร้องทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 เรียกร้องจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 จึงเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 จะเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ ก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก ไม่ทำให้คำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เคลือบคลุม กรณีที่ตามฟ้องโจทก์ทั้งหกและคำให้การของจำเลยต่างรับกันได้ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามฟ้องมีบริษัทต่าง ๆ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งหกก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้แบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งหก คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ และในส่วนรถยนต์จำนวน 25 คัน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่า ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย โจทก์ทั้งหกมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวว่า ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง แม้โจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกจะยื่นฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนและจำเลยยื่นคำให้การไว้ในสำนวนแรกก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีก็ตาม แต่ในคดีนี้โจทก์ที่ 1 อ้างสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ทำมาหาได้ร่วมกันกึ่งหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกันกับในคดีดังกล่าว กรณีจึงถือว่าโจทก์ทั้งหกและจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งหกและจำเลยนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายกึ่งหนึ่งในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และแม้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยตามประเด็นในคำให้การของจำเลยไปโดยไม่ชอบ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาต่อมาได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งให้ จำเลย นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ว. ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ม. กับ ฐ. โจทก์ ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม ผู้จัดการทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 ดังนั้น การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้เป็นเหตุทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป เมื่อผู้ตายมีทายาทโดยธรรมรวม 10 คน แม้โจทก์ที่ 3 จะถอนฎีกาไปแล้ว แต่สิทธิของโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 และจำเลยคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ มิใช่การกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายมีโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์ที่ 1 สำนวนแรกจึงมีอำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังมีอำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จำเลยครอบครองอยู่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2559 แม้โจทก์อาจได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อ อ. เป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลย และเป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จนคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้อุทธรณ์ที่จะมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2559 การจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างโดยทั่วไป เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนโดยมิต้องเสี่ยงกับฐานะการเงินของนายจ้าง โดยลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ซึ่งหากลูกจ้างได้รับเงินทดแทนครบตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 จากนายจ้างแล้ว จึงเท่ากับนายจ้างได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างนั้นไปก่อน ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้อีก คดีนี้เมื่อโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานและห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้รับเหมาช่วงในลำดับถัดขึ้นไปได้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือน 22 วัน เป็นเงิน 9,167.60 บาท และค่ารักษาพยาบาลในการที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลตำรวจให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อันเป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินทดแทนดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำนวนเงินทดแทนที่ได้รับไปแล้วไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยินยอมให้โจทก์ขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2559 เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ประกอบด้วย 2 ภาคส่วน คือ ส่วนรูปประดิษฐ์ซึ่งตรงกลางมีอักษรประดิษฐ์คำว่า Rasasi และส่วนอักษรโรมันคำว่า Rasasi การพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของทั้งเครื่องหมาย เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วย 2 ภาคส่วน จึงต้องพิจารณาทั้งสองภาคส่วน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า Rasasi อยู่ 2 ตำแหน่ง ก็หาได้หมายความว่า Rasasi จะสำคัญกว่าภาคส่วนที่เป็นรูปประดิษฐ์ การพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะโดยมุ่งเน้นแต่คำว่า Rasasi เพียงส่วนเดียวจึงยังไม่ครบถ้วน เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบด้วยรูปประดิษฐ์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นแตกต่างจากรูปประดิษฐ์ของบุคคลอื่น และมีคำว่า Rasasi ซึ่งมีความหมายว่า สีเทาหรือสีตะกั่วอันไม่ใช่คำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าน้ำหอมหรือเครื่องสำอางตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 768528 โดยตรง ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าดังกล่าวของโจทก์ย่อมทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์ดังกล่าวแตกต่างจากของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (2) การที่โจทก์เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาครั้งหนึ่งแล้วและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียน โจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลแต่นำเครื่องหมายการค้าเดิมมายื่นขอจดทะเบียนต่อจำเลยอีก โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในการขอจดทะเบียนครั้งหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเพราะโจทก์ยังไม่เคยเสนอคดีต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องคดีนี้มาก่อน เมื่อคำว่า Rasasi เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ทั้งคำดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการขายสินค้าน้ำหอมหรือเครื่องสำอางในอันที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำดังกล่าวในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่อาจสั่งให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 768528 แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า Rasasi ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868/2559 แม้การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านั้นต้องพิจารณาภาคส่วนทั้งหมดอันเป็นองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายการค้าก็ตาม แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้ายิ่งกว่าภาคส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ความสำคัญในส่วนของเสียงเรียกขานว่าคล้ายคลึงกันเพียงใด ต้องพิจารณาถึงสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันนั้นหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงสาธารณชนผู้ใช้สินค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและสินค้าดังกล่าวมีช่องทางการจำหน่ายเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์แม้จะมีภาคส่วนที่เป็นรูปบางส่วนของโลกที่มีแผนที่ประกอบและมีภาพบางส่วนของดวงอาทิตย์ส่องแสงกับคำว่า EARTH & SUN แต่ภาพดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าเพราะภาพโลกและดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นพื้นรองรับตัวอักษรขนาดใหญ่คำว่า ES ซึ่งเป็นลักษณะโดดเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนคำว่า EARTH & SUN ที่ปรากฏในเครื่องหมายมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตัวอักษรคำว่า ES และวางอยู่ที่มุมด้านล่างข้างซ้าย จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สาธารณชนจดจำได้ ดังนั้นภาคส่วนที่เป็นภาพโลก ดวงอาทิตย์ และคำว่า EARTH & SUN จึงไม่ใช่ภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า แม้ภาคส่วนดังกล่าวจะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านแต่เมื่อไม่ใช่ภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นจึงไม่ถึงกับทำให้รับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่คล้ายกับของผู้คัดค้าน และเมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นอักษรคำว่า ES ซึ่งอยู่กึ่งกลางของเครื่องหมายจึงเป็นส่วนที่เด่นที่สุดทั้งมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาใช้คำดังกล่าวเป็นภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายเพื่อให้สาธารณชนจดจำได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีอักษรคำว่า GS ขนาดใหญ่อยู่กึ่งกลางของเครื่องหมาย จึงเป็นภาคส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายเช่นเดียวกับคำว่า ES ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เห็นได้ว่ามีอักษรที่แตกต่างกันเพียงอักษรเดียว ทั้งรูปลักษณะการเขียนอักษรตัว E ในเครื่องหมายของโจทก์ก็เขียนในลักษณะเดียวกันและมีความคล้ายกับการเขียนอักษรตัว G ในเครื่องหมายของผู้คัดค้านอย่างมาก นอกจากนี้เสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับของผู้คัดค้านด้วย เมื่อพิจารณาถึงจำพวกสินค้าและรายการสินค้าที่โจทก์นำมาจดทะเบียนซึ่งเป็นแบตเตอรี่เช่นเดียวกับสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน สาธารณชนผู้ใช้สินค้าเป็นผู้ใช้รถยนต์เช่นเดียวกัน ช่องทางจำหน่ายสินค้าเป็นสถานที่เดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าแบตเตอรี่รถยนต์สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าเป็นของโจทก์หรือผู้คัดค้านได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1836 - 1837/2559 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่ ผู้ร้องทั้งสองชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ครบถ้วนตามสัญญา ลูกหนี้ที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะได้รับจากผู้ร้องทั้งสองอีก ลูกหนี้ที่ 2 คงมีแต่เพียงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายคือการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้ที่ 2 จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่จะพิจารณาว่า สิทธิตามสัญญาที่ผู้ร้องทั้งสองจะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 หรือไม่ เพราะประโยชน์ที่จะพึงได้ในการที่ผู้ร้องทั้งสองใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสองหาตกได้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้องทั้งสอง และการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวสามารถแยกส่วนกับภาระหนี้จำนองและการไถ่ถอนจำนองที่ลูกหนี้ที่ 2 มีต่อผู้รับจำนอง ประกอบกับผู้รับจำนองเพียงแต่มีคำร้องขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยและขอรับชำระหนี้ จึงอยู่ในวิสัยที่ผู้คัดค้านจะดำเนินการในส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2559 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 เมื่อสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีขาดอายุความ อย่างไรก็ตามในมูลหนี้ดังกล่าวลูกหนี้ที่ 3 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ และ ป. เจ้าหนี้อื่นในคดีแพ่งได้นำยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมาเจ้าหนี้ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเท่ากับสิทธิของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจากการบังคับจำนองอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559 โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ถูกต้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762 - 1763/2559 ป.รัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้... (9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร..." บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางค้าหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น การได้หุ้นมาจึงย่อมถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร รายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าหุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม มีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทแล้วโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าเป็นทุนของบริษัท มีโจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นอีก 7 คน เป็นผู้ถือหุ้น หลังจากนั้น ยังมีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอีกหนึ่งบริษัท ต่อมาโจทก์ทั้งสองตกลงโอนขายหุ้นของตนในบริษัททั้งสองให้แก่ ป. กับพวก การที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจัดตั้งบริษัทแล้วแบ่งหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น เป็นการสงวนผลประโยชน์รายได้ที่เกิดจากกิจการให้ตกอยู่แก่ทายาทของ ส. ที่ถือหุ้นบริษัททั้งสองไว้ต่อไป และการถือหุ้นของโจทก์ทั้งสองกับทายาทดังกล่าว ยังทำให้ได้บริหารกิจการซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่ามูลค่าทรัพย์สินนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือได้ว่าการได้รับหุ้นบริษัททั้งสองเป็นเรื่องของการค้าหากำไรและมิใช่การจัดตั้งบริษัทโดยไม่มีผลประโยชน์หรือกำไรที่จะแบ่งให้ผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้หุ้นของบริษัทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 42 (9)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2559 แม้ศาลอุทธรณ์รวมโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามสิบกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ จะเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน น้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 365 วัน หรือ 366 วัน สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติก็ตาม แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 150 ปี ไม่ว่าศาลอุทธรณ์จะรวมโทษก่อนแล้วลดโทษเป็นจำคุก 75 ปี หรือลดโทษก่อนแล้วรวมโทษเป็นจำคุก 60 ปี 180 เดือน ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ต้องลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) การรวมโทษก่อนลดโทษให้แก่จำเลยย่อมไม่เป็นผลร้ายแก่จำเลยจนถึงกับต้องแก้ไขโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2559 โจทก์พยายามปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โดยไม่มีการหยิบยกข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและได้พ้นโทษแล้ว เข้าเงื่อนไขหรือองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่ตนต่อคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 ในระหว่างสอบสวนคุณสมบัติของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่เคยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 คณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบและไม่ได้นำ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาให้ กรณีจึงหาเป็นความผิดของคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 ไม่ มติของคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2559 เดิม ห. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้ขับไล่ ห. ออกจากที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 ให้ ห. และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ในชั้นบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา โดยอ้างว่าครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ โดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษที่ผู้ร้องได้ยื่นไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นการร้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องเป็นร้องซ้อนต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีคำร้องขอและตัวผู้ร้องที่ผู้คัดค้านจะฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องเช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2559 แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีประกาศฉบับที่ 11/2557 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง แต่ได้รับรองอำนาจของศาลว่า ยังคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดี ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนจำเลย อันเป็นกรณีจำเลยถูกออกจากตำแหน่งหรือสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดเพราะเหตุที่จำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 111 ซึ่งตามนัยมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น จำเลยย่อมตกอยู่ในบังคับมาตรา 92 ตอนท้าย ที่บัญญัติว่า กรณีที่ออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือสรรหามาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้ต่อมาจะมีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงก็ตาม แต่มูลหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย เกิดขึ้นในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีผลใช้บังคับ โดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายยกเว้นไว้และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ยกเลิกมูลหนี้ที่เกิดขึ้น จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นทั้งหมดที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว และเมื่อจำเลยเป็นผู้ขอให้โจทก์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำเลยและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ได้มาระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งและเป็นประโยชน์แก่จำเลย ดังนี้ เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บุคคลที่จำเลยขอให้โจทก์แต่งตั้ง จึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำเลย และเงินค่าตอบแทนผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2559 แม้โจทก์มิได้ฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมกัน คือ ส. และจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยในคดีก็ตาม แต่ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเพื่อประสงค์ให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่บรรดาทายาท ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงย่อมตกทอดแก่โจทก์ ม. และ ส. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับมรดกแทนที่โดยสิทธิตามกฎหมาย เพื่อนำมาแบ่งปันกัน หามีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีแต่ประการใดไม่ ทั้ง ม. ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว และก่อนฟ้องคดี ส. ก็ได้ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน โดย ส. ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีบุตร และโจทก์ไม่ได้ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงนับเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถฟ้อง ส. หรือทายาทของ ส. คนใดที่อาจได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาเข้ามาเป็นจำเลยในคดีได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โดยไม่จำต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมกันเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยแต่อย่างใด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2559 คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม โดยมิได้วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ทางพิพาทอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกัน แต่โจทก์ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องอุทธรณ์อีกต่อไปอีก เพราะคำพิพากษาเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว แม้ว่าเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอมและไม่เป็นทางจำเป็น แต่เมื่อโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่เท่านั้น โดยไม่รับวินิจฉัยประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็เป็นการกล่าวถึงเหตุผลตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเท่านั้น กรณีถือไม่ได้ว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่แล้ว และไม่มีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวที่จะผูกพันโจทก์ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้เปิดทางจำเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1670/2559 ศาลชั้นต้นสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางสืบเนื่องจากจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จึงมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2559 การที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140, 141, 161 ทวิ กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรใช้ดุลพินิจเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว และให้ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน หรือใบรับการส่งธนาณัติ หรือใบรับการส่งตั๋วแลกเงิน ประกอบกับใบสั่งเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นเวลาสิบวันนับแต่วันที่ส่งธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 รีบไปชำระค่าปรับตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจรโดยเร็ว เพื่อจะได้รับใบอนุญาตขับขี่คืนจากพนักงานสอบสวนทันที อันจะทำให้สามารถขับขี่รถต่อไปได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเจ้าพนักงานจราจรผู้ออกใบสั่งมิได้รับมอบอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ผู้บังคับการตำรวจจราจร ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ที่ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน และผู้ขับขี่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 161 จึงไม่มีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจแปลความคำว่า "เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว" ตามมาตรา 140 วรรคสาม ว่า เป็นการยึดใบอนุญาตขับขี่ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับขี่รถในระหว่างที่เจ้าพนักงานจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว และพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่แล้ว จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 152
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2559 การให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา ข้อมูลที่จำเลยอ้างว่าให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถจับกุมคนร้ายซึ่งเป็นเครือข่ายยาเสพติดให้โทษได้เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยจึงไม่อาจที่จะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก ชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องศาลชั้นต้นให้ประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการหลอกหลวงโจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อข้อหายักยอกตามฟ้องและข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองข้อหามีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่ง และมาตรา 193 ทวิ ซึ่งนำมาปรับใช้กับคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นเดียวกับในชั้นพิจารณา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างจากฟ้องก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจใช้ ป.วิ.อ. 192 ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง คดีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2559 ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับจำเลยต่างเมาสุราโต้เถียงทะเลาะกัน จำเลยกลับบ้านเอามีดดาบของกลางมาขู่ผู้ตาย ผู้ตายกับจำเลยโต้เถียงกันอีก แล้วจำเลยถือมีดดาบวิ่งไล่ผู้ตายไปจนถึงบริเวณที่ผู้ตายกับพวกนั่งดื่มสุรากัน อ.เข้าไปห้ามจำเลย จำเลยจึงกลับบ้านโดยไม่ได้ฟันผู้ตาย ผู้ตายกลับมานั่งดื่มสุรากับพวกต่อ สักครู่หนึ่งผู้ตายเดินออกไปทางท้ายซอยห่างจากวงสุราประมาณ 10 เมตร และยืนชี้มาทางบ้านจำเลยลักษณะท้าทาย จำเลยโมโหจึงได้ขับรถจักรยานยนต์เข้าไปหาผู้ตายแล้วใช้มีดดาบฟันผู้ตาย ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยหลังจากที่จำเลยใช้มีดดาบของกลางวิ่งไล่ผู้ตายไปจนถึงที่เกิดเหตุและใช้มีดดาบของกลางเล่มเดิมฟันผู้ตาย เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2559 คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6594 ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า ที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6594 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ หากผู้คัดค้านไม่สามารถยื่นฎีกาได้และคดีถึงที่สุด ผู้ร้องก็สามารถนำคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ผู้ร้อง ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนไต่สวนคำร้องขอ ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้คัดค้านแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งหรือคำพิพากษา ต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดี จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ร้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่แสดงกรรมสิทธิ์ในที่งอกไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) การที่ผู้คัดค้านยื่นฎีกาดังกล่าวพอแปลได้ว่าผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องขอและคำคัดค้านเพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านไปตามรูปคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2559 คดีมโนสาเร่ กรณีคดีมีประเด็นว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องชัดเจนขึ้นก่อน หากโจทก์ไม่ทำการแก้ไขจึงจะถือว่ามีประเด็นเรื่องคำฟ้องเคลือบคลุมที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุจพินิจพิจารณาแล้วว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมต้องถือว่าประเด็นเรื่องคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ เป็นอันยุติไปตามสภาพที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง จำเลยไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2559 จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการแต่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามสัญญาต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ จำเลยค้างชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์เพียง 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกินจำนวนที่แท้จริงถึง 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นการอ้างความเท็จเพื่อเอาเปรียบจำเลย แต่จำเลยก็นำสืบทำนองว่า จำเลยเองเป็นฝ่ายขอให้โจทก์แสดงราคาสินค้าให้สูงเกินจริงด้วยเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพกิจการของจำเลย รวมทั้งใช้ราคาที่กำหนดสูงขึ้นนี้ขอสินเชื่อต่อธนาคารและจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรนี้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อต่อธนาคารดังกล่าว ทั้งนี้โดยจำเลยถือโอกาสที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องชำระภาษีศุลกากรการนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม อันถือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่สุจริตโจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์แห่งความไม่สุจริตดังกล่าวเรียกร้องเอาหนี้ได้เต็มจำนวน แต่จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าในส่วนคงค้างต่อโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องรีดพลาสติกในส่วนคงค้างต่อโจทก์ 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้ารวมถึงอุปกรณ์ที่ยังขาดส่งรวมเป็นเงิน 3,377,261.31 บาท จำเลยจึงยังคงต้องชำระค่าสินค้าดังกล่าวแต่สามารถหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบออกได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2559 ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 นั้น เป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค 2 เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความที่สมควรได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมาย จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำของโจทก์นั้นจำเลยไม่ได้รับความเสียหายและจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียในผลกำไรขาดทุนในการขนส่งสินค้าระหว่าง ม. กับ บ. ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพฤติกรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับ ม. อันเป็นลักษณะการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง จากพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1) เมื่อศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ของค่าจ้างอัตราเดือนละ 39,912 บาท คิดเป็นค่าชดเชย 239,472 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (3) แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 239,432 บาท แก่โจทก์ ซึ่งไม่ตรงกับส่วนวินิจฉัยและไม่ถูกต้องตรงตามสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) , 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557 - 1558/2559 การพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการที่ไม่ได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาบังคับใช้ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย การจัดตั้งกิจการของจำเลยที่ 1 มีที่มาจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หมวด 7 องค์กรเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนที่ 2 สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ที่บัญญัติให้บริษัทหลักทรัพย์รวมกันจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันได้ โดยต้องมีข้อบังคับ ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้นำ พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ การควบคุม การเลิก และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 หมวด 3 การดำเนินกิจการของสมาคมการค้า มาตรา 22 (1) บัญญัติห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก หรือเข้ามีส่วน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่เป็นการถือตราสารหนี้หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่สมาคมการค้า มาตรา 23 บัญญัติห้ามมิให้สมาคมการค้าแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก และมาตรา 4 ให้นิยาม "ผู้ประกอบวิสาหกิจ" หมายความว่าบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจทางการค้า อุตสาหกรรมหรือการเงิน และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจอื่นในทางเศรษฐกิจที่รัฐมนตรีจะได้กำหนดในกฎกระทรวง การฝ่าฝืนมีโทษปรับตามมาตรา 48 แสดงว่าตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ประกอบ พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 กำหนดให้กิจการสมาคมเช่นจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น กล่าวคือไม่สามารถแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 5 กำหนดวัตถุประสงค์ตาม (1) ถึง (8) ไม่ปรากฏว่าได้ระบุวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไว้ ส่วนวัตถุประสงค์ตาม (2) ที่ว่าส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ มีความหมายว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ซึ่งไม่ได้กำหนดเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ 6 มุ่งเน้นควบคุมดูแลจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ส่วนข้อ 10 ข้อ 116 ถึงข้อ 118 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าโอนสิทธิ ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่ายื่นคำขอขึ้นทะเบียนข้อมูลตราสารหนี้ได้ก็เพื่อหารายได้ดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา ไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อใดที่กำหนดให้นำรายได้ไปแบ่งปันเป็นผลกำไรแก่สมาชิกหรือผู้ใด ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินรายได้สนับสนุนจากกระทรวงการคลังซึ่งใช้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้างต้น และรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายไม่มีการแบ่งให้แก่สมาชิกของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน เป็นการประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจซึ่งมิให้นำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาใช้บังคับตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2559 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีกัญชา 19 ห่อ น้ำหนัก 122.550 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยขายกัญชา 1 ห่อใหญ่ น้ำหนักเท่าใดไม่ปรากฏชัด แต่ไม่เกิน 122.550 กรัม อันเป็นส่วนหนึ่งของกัญชาที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่ากัญชาที่จำเลยจำหน่ายมีน้ำหนักเท่าใดไม่ปรากฏชัดแต่ไม่เกินกว่า 122.550 กรัม จึงอาจแปลความได้ว่ากัญชาที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับมีน้ำหนักน้อยกว่า 122.550 กรัม ก็ได้ หรือมีน้ำหนักเท่ากับ 122.550 กรัม ก็ได้ กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยจำหน่ายกัญชาน้ำหนัก 122.550 กรัม ให้แก่สายลับ เมื่อกัญชาที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวกัน แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรมกัน แต่การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2559 คดีก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีผลให้คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาลที่สั่งไปก่อนหน้านั้นเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไป ดังนั้น ข้อกำหนดในแผนที่ให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพียงบางส่วนอันเป็นความผูกพันตามแผนนั้นต้องสิ้นผลไปด้วย สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้ซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมกลับไปเป็นดังเดิมตามที่เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามแผนในคดีก่อนเป็นการชำระหนี้บางส่วน ทำให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้ระงับไปเพียงเท่าจำนวนที่เจ้าหนี้เดิมได้รับชำระหนี้เท่านั้น เจ้าหนี้เดิมได้รับชำระเงินจากลูกหนี้รวม 55,782,026.86 บาท จึงต้องนำเงินดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง มิใช่หักต้นเงินดังที่ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ แม้คดีก่อนศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ก็ไม่กระทบถึงการใดที่ผู้ทำแผนได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/76
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2559 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 9,000,000 บาท และจำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐถึงกำหนดชำระวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 130,350,000 บาท ถึงกำหนดชำระวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ให้แก่เจ้าหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1313/2544 ของศาลล้มละลายกลาง แม้เจ้าหนี้จะยังไม่ได้ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และไม่ได้ขออนุญาตศาลล้มละลายกลางในการฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งมาก่อน แต่มูลแห่งหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เจ้าหนี้ก็อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งการขอรับชำระหนี้ดังกล่าวถือเป็นการทวงถามให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดโดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1313/2544 ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อนับถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการคดีนี้ คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 จึงยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 คำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ไม่ขาดอายุความ แม้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว จะผูกมัดเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะไม่กระทบถึงการใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้นตามมาตรา 90/76 ก็ตาม แต่การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ก็มีผลให้แผนฟื้นฟูกิจการสิ้นผลและสิทธิหน้าที่ของลูกหนี้ย่อมกลับไปเป็นดังเดิมที่มีกันอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ให้ครบถ้วนตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ ลูกหนี้จะยกเอาประโยชน์ในการชำระหนี้บางส่วนเพื่อมาปลดเปลื้องหนี้เงินต้นตามแผนฟื้นฟูกิจการและใช้ยันเจ้าหนี้เมื่อมีการยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปแล้วหาได้ไม่ เจ้าหนี้ย่อมกลับมามีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เดิมตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เจ้าหนี้จึงนำเงินที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จัดใช้เป็นดอกเบี้ยเสียก่อนตามมาตรา 329 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ และลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 วันที่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ในคดีดังกล่าวจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กล่าวคือ คำขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดพิจารณา แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว คดีดังกล่าวศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าการส่งคำบังคับมีผลในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เมื่อมิได้ขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 30 ตุลาคม 2545 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำนวนเงินตรงกับจำนวนภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยอ้างมูลเหตุในคำร้องขอคืนภาษีว่า โจทก์เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดแต่ได้นำเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษี แสดงว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มิใช่เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามที่จำเลยอุทธรณ์ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะขอคืนภาษีเป็นจำนวนเกินกว่าที่ได้ยื่นคำร้องขอคืน แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องโดยคำนวณหาจำนวนภาษีที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนที่ถูกต้อง กรณีมิใช่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและชอบที่จะขอคืนภาษีได้ตามจำนวนที่ถูกต้อง ประกาศเรื่องโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุ ครบ60 ปีบริบูรณ์โดยความสมัครใจร่วมกัน คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศฉบับนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเดิม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ขณะออกจากงานโจทก์มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2559 การที่โจทก์นำที่ดินที่แบ่งแยก โดยได้จัดทำถนนและสิ่งสาธารณูปโภคไว้ ไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลธรรมดา เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน และทำสัญญาให้ที่ดินแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายถือกรรมสิทธิ์ ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) ประกอบมาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และมาตรา 4 (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 และเงินได้ที่โจทก์ได้มาจากการขายที่ดินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 48 (4) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) (2) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อที่ดินมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขายโดยจัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น ๆ การที่โจทก์ยกที่ดินที่เหลือจากการขายให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) จึงย่อมเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 4 (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ฉบับที่ 342 ดังนั้น แม้ต่อมาโจทก์ได้ยกที่ดินจำนวน 49 แปลงให้แก่บุตรก็ไม่ต้องพิจารณาว่าเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 4 (6) (ง) แห่ง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวอีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2559 ภายหลังที่ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เฉพาะโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น หารวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ เพราะสิทธิในการฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ราย ฉะนั้นขณะที่ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาจึงพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตามคำร้องของ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองด้วย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้อง ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ อ้างเพียงว่าเอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมดซึ่งยังติดต่อไม่ได้ ต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดได้ อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเท่านั้น แม้ตามคำร้องจะอ้างว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็หาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 27 มีนาคม 2558 ไม่ เพียงแต่เป็นเหตุส่วนตัวของ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ทั้งสองในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงทำให้ ม. ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ทั้งสองก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559 จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2559 โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยการนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ออกขายทอดตลาดให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยมิได้มีคำขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่อย่างใด คำฟ้องคดีนี้จึงไม่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีในคดีดังกล่าว และไม่อยู่ในบังคับให้โจทก์ต้องเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจ จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2559 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 49 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งนำส่งเงินสมทบไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 47 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่ เป็นการบัญญัติหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มไว้โดยชัดแจ้งและเคร่งครัด สามารถคำนวณเงินเพิ่มได้แน่นอน และไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่านายจ้างจะมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โจทก์ (นายจ้าง) ไม่นำค่าเที่ยวซึ่งเป็นค่าจ้างของลูกจ้างรวมเข้าเป็นฐานคำนวณเงินสมทบ จึงนำส่งเงินสมทบให้แก่จำเลยไม่ครบจำนวน โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2559 โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและค่าภาษีในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ใช่จ่ายให้โจทก์ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผู้ซื้อออกแทนจึงไม่เป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าภาษีบำรุงท้องที่ และค่าอากรแสตมป์ ที่ผู้ซื้อออกแทน จะเห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงที่จะต้องเสีย ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ มีลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1) การที่โจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเงิน 1,643,890.17 บาท เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเกินไปกว่าที่ควรต้องชำระ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขให้ต้องขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงจะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ เมื่อปรากฏว่า ในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งแรก โจทก์ขอคืนเงินมาในคำอุทธรณ์การประเมินภาษี มิได้เป็นการยื่นคำร้องขอคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งที่สอง ยังอยู่ในระหว่างที่จำเลยตรวจสอบและยังไม่มีคำวินิจฉัยในเรื่องการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้หลังจากการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเวลาเพียง 26 วัน เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานก่อนว่าโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และเจ้าพนักงานประเมินสามารถทราบได้แน่ชัดว่าโจทก์จะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2559 โรงงานของจำเลยที่ 1 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยของเสีย ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นต้นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นและโจทก์ที่ 5 กับพวกเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ครอบครองมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่ามลพิษนั้นเกิดจากข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 กับพวก ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งการแสดงออกของบริษัทย่อมกระทำโดยทางกรรมการ ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทกับบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน กิจการใดอันเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องกระทำย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการต้องกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่า การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่จำเลยที่ 2 กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2559 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินสี่แปลงรวมกันโดยมิได้แยกขายรายแปลง การโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ต้องกระทำโดยครบถ้วนให้ถูกต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ มิฉะนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ได้ ก่อนถึงกำหนดชำระราคาที่ดินทั้งสี่แปลงส่วนที่เหลือ บริษัท พ. ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดิน 1 ใน 4 แปลง โดยอ้างว่าออกเอกสารทับที่ดินของบริษัท พ. ดังนี้เมื่อการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผู้ร้องอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จนเป็นที่เสียหายแก่ผู้ร้องในภายหลังได้ ทั้งผู้ร้องนำสืบว่าพร้อมชำระราคาที่ดินที่เหลือได้ กรณีจึงมิใช่ความผิดของผู้ร้องหรือเป็นเรื่องที่ผู้ร้องหาเหตุไม่ชำระราคาภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่จะให้เลื่อนกำหนดเวลาชำระราคาที่ดินทั้งสี่แปลงที่เหลือไปจนกว่าคดีที่บริษัท พ. ฟ้องจำเลยจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320/2559 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าต้นเพลิงเกิดจากบ้านของจำเลยแล้วไฟไหม้ลุกลามไปไหม้บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 โดยกรณีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ต้นเพลิงเกิดจากบ้านของจำเลยแล้วไฟไหม้ลุกลามไปไหม้บ้านของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชอบเพราะถือว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559 โจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) และภาษีที่คำนวณหักไว้ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย และจำเลยรับเงินภาษีที่มีการนำส่งดังกล่าวโดยมีสิทธิตามกฎหมาย การที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังและมิใช่เหตุที่จะโทษจำเลยได้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่เมื่อต่อมามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว กรณีเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559 บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2559 ป.พ.พ. บรรพ 1 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา 158 (เดิม) คือไม่นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดวิธีนับอายุบุคคลเป็นไปตาม ป.พ.พ. ที่บังคับใช้ในขณะนั้นและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตาม ต่อมา พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. บรรพ 1 และบรรพ 3 โดย (3) ให้ใช้บทบัญญัติท้าย พ.ร.บ.นี้เป็นบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ซึ่งมาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า "การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด" คือต้องนับวันเกิดเป็น 1 วัน เต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0025/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 แล้วให้นับอายุของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันกล่าวคือให้นับอายุของบุคคลนับแต่วันเกิด เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติการนับอายุบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามมาตรา 16 (ใหม่) การเปลี่ยนแปลงการนับวิธีการนับอายุของบุคคลเกิดขึ้นจากกฏหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมตามข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ด้วย วิธีการนับอายุของบุคคลที่ปลี่ยนไปด้วยผลของกฏหมาย แม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสมพันธ์ พ.ศ.2543 โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 ต้องนับอายุโจทก์นับแต่วันเกิดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เป็น 1 วัน เต็ม โจทก์จึงมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 (ใหม่) อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตราฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (3), 11 และข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 19 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2559 ในการสืบพยานโจทก์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลย ศาลต้องรับฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ จำเลยจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2559 คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ 7620/2553 ในวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เป็นเวลา 7 วัน โดยที่ศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวไม่ทราบว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ไปก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวดำเนินการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ในขณะที่ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นเวลาก่อนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้เพิ่งลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ 1 ทางหนังสือพิมพ์และในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 และวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ตามลำดับ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวพิจารณารับคำขอรับชำระหนี้และกำหนดนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าววันที่ 19 มกราคม 2554 แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันก็ไม่เคยทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในคดีนี้ไปก่อนแล้ว ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว โดยมิได้ตรวจสอบว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีอื่นก่อนแล้วหรือไม่เพื่อจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีอื่นนั้น จึงเป็นผลจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวที่ทำให้เจ้าหนี้เกิดสำคัญผิดหลงเข้าใจว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีอื่นอีก ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด สมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้จนถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2559 เจ้าหนี้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันของลูกหนี้โดยเป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 74181, 58539 และ 58540 ตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของลูกหนี้ในทางจำนอง แม้จะได้ความว่าหนี้ประธานของเจ้าหนี้ขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ ตามมาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 การที่เจ้าหนี้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เท่ากับว่าเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามบุริมสิทธิจำนองในลำดับสองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าธนาคาร ก. เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ. 2770/2548 ของศาลแพ่ง ซึ่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้จำนองลำดับหนึ่งโดยเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 81/2554 โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีแพ่งต่อไปและให้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่น แล้วส่งเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งเข้ามาในคดีล้มละลาย ดังนี้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทนตามนัยมาตรา 6 นิยาม "เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" และมาตรา 112 อันเป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2559 แม้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ และคำสั่งที่ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะไม่กระทบถึงการใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือผู้บริหารแผนได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/76 ก็ตาม แต่การที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมมีผลทำให้คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว ข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนย่อมสิ้นผลไปด้วย ทำให้สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้ย่อมกลับไปเป็นดังเดิมที่มีอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการในคดีก่อนสิ้นผลไปด้วยเหตุที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้จะนำเงินบางส่วนที่ได้ชำระหนี้ไปหักกับต้นเงินตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการย่อมไม่ได้ อย่างไรก็ตามการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีผลกระทบและถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องนำไปจัดใช้เป็นค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยตามลำดับเสียก่อน ในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธานตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2559 แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะระบุภูมิลำเนาของจำเลยอยู่ที่จังหวัดนครปฐม แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันที่อำเภอหาดใหญ่ และโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายซึ่งระบุว่ามีการทำสัญญาที่โรงแรมซากุระ แกรนด์วิว หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง ก. และ น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมี ก. และ น. เข้าร่วมตกลงด้วย การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง ก. และ น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อ ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่ ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับ ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2559 โจทก์ที่ 1 กับ อ. จดทะเบียนการหย่าโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีการทำบันทึกแบ่งสินสมรส ให้ อ. ดำเนินการเกี่ยวกับสินสมรสและภาระหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า หากยังมีเหลืออยู่เท่าใด อ. จะยกให้แก่บุตรทั้งสอง อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่ากับจำเลยที่ 2 ซึ่งตามสัญญา ในข้อ 1 ระบุว่าผู้โอนสิทธิเป็นผู้มีสิทธิในการเก็บค่าเช่าห้องพักบนที่ดิน เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินตามบันทึกแบ่งสินสมรส ซึ่ง อ. ทราบอยู่แล้วว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ อ. การที่ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่า โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ทราบเรื่องและไม่ให้ความยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2559 การเบิกความของ ธ. ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับลายมือชื่อของ อ. เป็นการเบิกความไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของ ธ. ในลายมือชื่อของ อ. ตามที่เห็นเท่านั้น กรณีไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าลายมือชื่อที่ ธ. เห็นตามเอกสารที่ทนายจำเลยที่ 3 นำมาถามค้านนั้น เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของ อ. หรือเป็นลายมือชื่อปลอม และความเห็นของ ธ. เป็นความเห็นในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมิใช่เช็คพิพาทในคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รับรู้ถึงการใช้ลายมือชื่อปลอมของ อ. ในเช็คพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามฟ้องได้ การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เป็นผู้เก็บแบบพิมพ์เช็คและตราประทับของโจทก์ไว้ แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาแบบพิมพ์เช็คพิพาทที่มีการปลอมลายมือชื่อของ อ. ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ถึง 43 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานาน 3 ปี เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาทและตราประทับของโจทก์ รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีการนำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้วใช้ตราประทับของโจทก์ประทับลงในเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินจากจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 3 ได้ส่งรายการเดินบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ให้แก่โจทก์ทราบทุกเดือน หากโจทก์มีมาตรการตรวจสอบที่ดี ก็จะทราบถึงความผิดปกติในการใช้เช็คเบิกเงินออกจากบัญชีของโจทก์และสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ แต่โจทก์กลับปล่อยปละไม่ตรวจสอบจนเวลาล่วงมาถึง 3 ปี จึงทราบเหตุละเมิดดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเป็นการเฉพาะตัว โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และมูลหนี้ละเมิดไม่อาจให้สัตยาบันได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะนำเงินที่ได้จากการละเมิดต่อโจทก์มาซื้อทรัพย์สินหรือฝากไว้ในธนาคารระบุชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน ก็มิใช่หนี้ร่วมตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1490 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ร่วม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2559 จำเลยทั้งสองทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยเหตุว่าตามคำร้องมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โดยอธิบายเหตุแห่งการขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการที่ล่าช้า เพื่อให้คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง กรณีดังกล่าวมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสองสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับที่สองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 หรือคำร้องฉบับที่สอง แม้จะมีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรก และจำเลยทั้งสองใช้ชื่อคำร้องว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เพิ่มเติมก็ตาม แต่คำร้องฉบับที่สองก็คือคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั่นเอง และระยะเวลาการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง คือภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ หรือในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ค้นพบคำบังคับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 จึงถือว่าวันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำวันดังกล่าวมาใช้คำนวณระยะเวลา ดังนั้น เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง จะต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้ากว่ากำหนดตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอฉบับแรกวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งแต่เพียงเหตุที่จำเลยทั้งสองได้ขาดนัดยื่นคำให้การตามคำร้องขอข้อ 1 และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลว่าจำเลยทั้งสองมีทางชนะคดีโจทก์ตามคำร้องขอข้อ 2 เท่านั้น ส่วนเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้าจำเลยทั้งสองมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้นโดยมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันจะทำให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ศาลจึงไม่อาจไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองฉบับแรกได้จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยบรรยายชัดแจ้งซึ่งเหตุทั้งสามประการตามบทกฎหมายดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2559 การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนถ้อยคำประกอบรูป นอกจากจะพิจารณาลักษณะเด่น หรือสาระสำคัญ ของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน แม้สาระสำคัญหรือลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าจะเป็นภาพปลาโลมาซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่เมื่อภาพประดิษฐ์ปลาโลมาในเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวมีความแตกต่างกันในภาพรวม เช่น จำนวนของปลาโลมา หรือการจัดองค์ประกอบของภาพที่แสดงให้เห็นว่าปลาโลมาได้หันไปคนละทิศทางกันและมีคลื่นทะเลประกอบอยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์และบริษัท ช. จึงต่างก็มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามมาตรา 7 (6) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งภาพปลาโลมาก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าข้าวที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2537 มาตรา 17 แต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรจีนและภาคส่วนของอักษรโรมัน คำว่า "TWIN DOLPHINS" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ช. มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรโรมันคำว่า "BLUE DOLPHIN" จึงมีเพียงอักษรโรมันคำว่า "DOLPHIN" ที่เหมือนกันเท่านั้น ทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในส่วนของอักษรจีนอ่านออกเสียงได้ว่า "ซวงห่ายถุน" และอักษรโรมันคำว่า "TWIN DOLPHINS" มีความหมายว่า ปลาโลมาคู่ จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า ซวงห่ายถุน หรือ ทวินดอลฟิน หรือปลาโลมาคู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ช. มีอักษรโรมันคำว่า "BLUE DOLPHIN" มีความหมายว่า ปลาโลมาสีน้ำเงิน จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า บลูดอลฟิน หรือปลาโลมาสีน้ำเงิน สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับบริษัท ช. จึงแตกต่างกัน แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันเป็นรายการสินค้าข้าว ก็ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2559 ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใด สำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า "DETECH" ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 4 ตัว คือ "D" "T" "E" และ "C" อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมน โดยอักษรโรมัน "D" มีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ต่างจากอักษรโรมันตัวอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันธรรมดาเพื่อให้เป็นลักษณะเด่นและง่ายต่อการจดจำ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยอักษรโรมันธรรมดา 6 ตัว คือ "D" "E" "T" "E" "C" และ "H" และไม่มีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นทึบมุมมน ล้อมตัวอักษรดังกล่าว จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์ แม้เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีเสียงเรียกขาน 2 พยางค์เหมือนกันว่า ดีเทค แต่เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าตามคำขอของโจทก์และรายการสินค้าของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ได้ความว่าตามคำขอของโจทก์เป็นการขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 12 รายการสินค้า เครื่องระบบเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ผ้าเบรกสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ส่วนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "DETECH" ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แม้จะเป็นสินค้าจำพวก 12 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเป็นสินค้ารถจักรยานยนต์ โครงเครื่องยนต์ และอานที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ รายการสินค้าตามคำขอของโจทก์เป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ แต่รายการสินค้าตามเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าจึงเป็นคนละกลุ่มกัน ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมยานพาหนะที่ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ ซึ่งย่อมต้องมีความรู้เกี่ยวกับชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์พอสมควรและย่อมคุ้นเคยกับเครื่องหมายการค้าที่ตนจะซื้อดีพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "DETECH" ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเครื่องหมายการค้า ตามคำขอของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "DETECH" ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่าคำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นสามารถทำให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างไรและเพียงใด หากสาธารณชนสามารถทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าเป็นสินค้านั้น หรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใดเพราะคำดังกล่าวเป็นคำที่บรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง แต่หากสาธารณชนยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงประเภทหรือชนิดของสินค้านั้น เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำของสินค้าแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ เมื่อเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่มีความหมายหรือคำแปลในพจนานุกรมว่ามีความหมายเช่นไร คงมีคำแปลแต่เพียงคำว่า "TEC" ซึ่งโจทก์นำสืบว่าหมายถึง ส่วนจำเลยนำสืบเพียงคำว่า "TEC" เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำว่า "TECH" ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำว่า "TECHNOLOGY" ตามพจนานุกรมเท่านั้น ซึ่งตามพจนานุกรมดังกล่าวก็ยังปรากฏด้วยว่าคำว่า tec เป็นคำย่อมาจากคำว่า "detective" หมายถึงนักสืบ และคำว่า "TEC" เป็นคำย่อมาจาก "total blood eosinophil count" หมายถึงการนับจำนวนเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟีลด้วย คำว่า "DTEC"จึงไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโดยตรง จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2559 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสิบสามฉบับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในหนึ่งปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ อ. เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2559 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้วางโทษจำเลยที่ 2 ทวีคูณ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 113 นั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น ไม่ได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้วางโทษจำเลยที่ 2 ทวีคูณ แม้จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ฟ้องขอให้วางโทษจำเลยที่ 2 ทวีคูณ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การรับในประเด็นดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับในเรื่องการวางโทษทวีคูณ และไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และถูกลงโทษปรับ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อีก จึงไม่อาจวางโทษจำเลยที่ 2 ทวีคูณตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 113 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2559 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จับจำเลยเท่านั้น ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้นำจับด้วยว่ามีหรือไม่ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ ศาลก็ไม่อาจสั่งให้จ่ายสินบนนำจับตามคำขอท้ายฟ้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2559 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่างานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือโต้แย้งลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือพรหมญาณพยากรณ์อันเป็นงานวรรณกรรมและไพ่พรหมญาณ 1 ชุด มี 67 ใบ อันเป็นงานศิลปกรรม และในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยยังไม่ได้ให้การ จำเลยจึงยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือและไพ่ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยนำไพ่อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ โปรแกรมไลน์ และเว็บไซต์ยูทูบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และเพื่อทางการค้าของจำเลย คดีโจทก์จึงมีมูลตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 69 และ ป.อ. มาตรา 91
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1109/2559 ค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นรายจ่ายเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เอง จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากร และยังเป็นรายจ่ายที่ไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่ง ป.รัษฎากร อีกด้วย เนื่องจากค่าปรับทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรา 65 ตรี (6) มิใช่หมายถึงเฉพาะค่าปรับและเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่ง ป.รัษฎากร เป็นเพียงการปรับบทมาตรา 65 ตรี ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจหยิบยกปรับบทให้ถูกต้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2559 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยพยายามจำหน่าย 20 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.564 กรัม โดยเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ดังนั้น ย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วเป็นสารบริสุทธิ์ 0.417 กรัม จึงเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2559 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามบุกรุกที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารกับเรียกค่าเสียหาย 100,000 บาท ในส่วนคำขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อจำเลยทั้งสามให้การเพียงว่าไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ หาได้ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทที่จำต้องตีราคาทรัพย์พิพาทเพื่อให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาล คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์ฎีกาเฉพาะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้วให้ศาลชั้นต้นเริ่มต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เพียงประการเดียว ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2559 พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ.2540 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 ให้แก่ (1) บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ไว้เพียงสองกรณี คือ กรณีแรก ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กรณีที่สอง ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกรณีแรกให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น เมื่อ บริษัท ท. ประกอบกิจการหลักเป็นผู้ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจเรือเดินทะเล มีรายได้หลักคือเงินปันผล มิได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินปันผลจากบริษัท ท. จึงไม่ได้รับประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2559 คดีก่อนทั้งสองคดีกับคดีนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองในวันเดือนปีเดียวกันในการกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน ใบกำกับภาษีที่ว่าปลอมหรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นของห้างเดียวกันกับในคดีนี้ และการใช้ใบกำกับภาษีนั้นมีการใช้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าใบกำกับภาษีของทั้งสามคดีเป็นฉบับเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ 1 ของทุกคดี เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน และ ป.รัษฎากร มาตรา 39 มิได้บัญญัติว่าจำเลยที่ 1 อีก 2 คดีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเครือเดียวกันถือว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน มีแต่จำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทุกคดี ดังนั้น แม้คดีทั้งสองที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวจะมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นนิติบุคคลคนละคนกันก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีเป็นการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีเดียวกัน และความผิดเป็นอย่างเดียวกัน คดีทั้งสามมีความเกี่ยวพันกันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งให้รวมการพิจารณาคดีด้วยกัน และโทษที่จะกำหนดลงโทษจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมแล้ว ก็ต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น การนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของสองคดีดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2559 เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยตามมาตรา 148 วรรคสาม เมื่อโจทก์ยึดหุ้นของบริษัท น. ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2559 เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการพร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้าโดยเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/27 และบุคคลตามมาตรา 90/26 วรรคสอง เป็นผู้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีรายการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/42 โดยที่มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทั้งนี้ตามมาตรา 90/27 กล่าวคือ เจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนแทนการได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม คดีนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติตามมาตรา 90/46 เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม กรณีเช่นนี้ตามมาตรา 90/77 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเจ้าหนี้ในหนี้อื่นที่อาจขอรับชำระหนี้ได้จากมูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เนื่องจากมาตรา 90/78 บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความใน...มาตรา 90/68... ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น และมีผลให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ในขณะนั้นจะไม่เปิดช่องให้กระทำได้" ฉะนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม เจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงชอบที่จะขอรับชำระหนี้ตามจำนวนหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการไว้ตามมาตรา 90/32 หาใช่จำนวนหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/42 (3) (ข) ไม่ ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะรับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ตามมาตรา 90/61 เจ้าหนี้ผู้นั้นจึงหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 90/77 วรรคหนึ่ง เช่นกัน เจ้าหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/61 (1) ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผน และอาจได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนไปตามแผนแล้ว ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม ซึ่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดดังกล่าวไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น ดังนั้น สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ตามแผนก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม จึงขึ้นอยู่กับผลตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลที่เคยอนุญาตให้เจ้าหนี้นั้นได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ด้วย เมื่อคดีนี้เจ้าหนี้อุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลายกลางเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ปรากฏสิทธิของเจ้าหนี้รายนี้ในการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม และเมื่อนำทรัพย์สินที่เจ้าหนี้อาจได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน (ถ้ามี) ไปหักออกแล้ว จึงจะทราบยอดหนี้สุทธิที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/77 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/78 ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559 แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2559 คำเบิกความของจำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อน ย่อมใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 233 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนตามคำเบิกความของจำเลยเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องการให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อจะได้วินิจฉัยว่ามีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นฎีกาที่บิดเบือนปัญหาข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2559 สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดหรือจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกจำนวน 13 ข้อ แม้สัญญาดังกล่าวโจทก์สามารถเจรจาต่อรองขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงได้ แต่ก็เป็นการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน ข้อสัญญาส่วนใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญยังคงเดิมหรือเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ฝ่ายที่นำสัญญาดังกล่าวมาใช้ยืนยันว่าจะต้องมีข้อสัญญาเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นจะไม่ทำสัญญาด้วย ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะที่จะเลือกได้เพียงว่าจะเข้าทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น และสัญญาดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน ดังนั้น สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามนัยแห่งมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกข้อ 3 ระบุว่า "วันเริ่มต้นและระยะเวลาสัญญานี้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันมีผลบังคับ และให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด เว้นแต่จะถูกบอกเลิกโดย 3.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งบอกเลิกสัญญาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือ" แม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย มิใช่กำหนดให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าให้สัญญาเลิกหรือสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาระตามสัญญาของฝ่ายตนหนักขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกเลิกสัญญาเลย และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามีสิทธิเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ได้ แม้โจทก์มิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ฉะนั้นข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบโจทก์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (3) ข้อกำหนดสัญญาบอกรับสมาชิกข้อ 3. 3.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และกระทำการไม่สุจริตลักลอบนำสัญญายูบีซีของจำเลยที่ 1 ไปใช้และหรือจำหน่ายจ่ายแจก การบอกรับสมาชิกที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญจึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่ได้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง มิใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงประพฤติผิดสัญญาแต่งตั้งตัวแทนให้บริการจำหน่ายสัญญาณยูบีซี ประเภทโครงการและหน่วยงานราชการ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนด 10 ปี มิใช่เป็นการกระทำละเมิดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 1 ปี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2559 แม้ทางพิจารณาได้ความว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเพื่อการค้าและร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม เป็นปุ๋ยสูตร 16 - 8 - 8 ชื่อการค้า ท๊อปพรอดคัท เครื่องหมายการค้า ตรามังกรเรือ ทะเบียนเลขที่ 2438/2551 และข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องปรากฏว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเพื่อการค้าและร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม เป็นปุ๋ยสูตร 16 - 8 - 8 ชื่อการค้า มังกรเรือ เครื่องหมายการค้า ตรามังกรเรือ ทะเบียนเลขที่ 2438/2551 ก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็แตกต่างกันเฉพาะชื่อการค้าเท่านั้น ส่วนสูตร เครื่องหมายการค้า เลขทะเบียน และผู้ผลิต ยังคงตรงตามคำฟ้อง เมื่อผลคือปุ๋ยเคมีปลอมที่ผลิตเพื่อการค้าและขายปุ๋ยเคมีปลอมดังกล่าวเป็นปุ๋ยเคมีปลอมอันเกิดจากการร่วมกันผลิตและร่วมกันขายของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าว ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องจนศาลต้องยกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2559 สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 อาจมีความจำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงานในกรณีที่พนักงานมีหนี้สินรุงรัง และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายได้ บุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีหนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ทำหน้าที่ตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไปด้วย การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อที่โจทก์อ้างว่ามูลหนี้ที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเป็นมูลหนี้ที่ ส. และโจทก์ ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ก. ซึ่งต่อมาธนาคารได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งมีกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวอันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มีหนี้สินอยู่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงานนั้น เมื่อธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์มีหนี้สินขณะจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยกเว้นไม่นำกรณีที่โจทก์มีหนี้สินรุงรังมาเป็นเหตุเลิกจ้างนั้น ก็เป็นความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว ข้อที่โจทก์อ้างว่าระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 วางเกณฑ์ไว้สูงกว่าคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่กำหนดเอาไว้ว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้วโจทก์ยังมีคุณสมบัติเป็นตัวแทนประกันชีวิต ระเบียบดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์นั้น เมื่อระเบียบดังกล่าวใช้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 ทุกคน ไม่ได้เลือกบังคับใช้เฉพาะโจทก์ เงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 จะเลิกจ้างลูกจ้างตามระเบียบดังกล่าวเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมใช้บังคับได้ และขณะที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จะอ้างว่าระเบียบดังกล่าวไม่เป็นธรรมย่อมไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2559 คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนให้ออกจากที่ดินพิพาท คดีทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ที่ได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ ต่อมาปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 สั่งให้ควบคุมบริษัท ส. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัท ส. ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยการควบคุมบริษัทตามกฎหมายจนกว่าจะแล้วเสร็จ และปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท ส. ว่า ผู้คัดค้านทั้งแปดและ ธ. ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและคณะกรรมการควบคุมบริษัทได้ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทแทนผู้คัดค้านทั้งแปดกับพวกแล้ว อันเป็นผลจากการดำเนินการตามกฎหมายของคณะกรรมการควบคุมบริษัท เมื่อผู้คัดค้านทั้งแปดหมดสภาพจากการเป็นกรรมการดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 7 ต่อไปเนื่องจากคำร้องของผู้ร้องไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559 โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามมาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2559 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปรับเมทแอมเฟตามีนจากชายไม่ทราบชื่อตามที่ ส. ว่าจ้างเพื่อนำไปส่งลูกค้าของ ส. โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับ ส. และได้รับเงินค่าจ้างก่อน 5,000 บาท จากนั้นจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับโทรศัพท์ของ ส. และ อ.ให้นำเงินมาให้จำเลยเพิ่มเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนี้ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่จำเลยได้ใช้ในการขนส่งลำเลียงเมทแอมเฟตามีน เงินของกลางจึงเป็นเงินที่จำเลยได้จากการรับจ้างขนเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเลยใช้ในการติดต่อกับ ส. และ อ. ในการรับและส่งเมทแอมเฟตามีนของกลาง รถจักรยานยนต์ เงินและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์ซึ่ง ช. ผู้เป็นเจ้าของเอาประกันภัยไว้กับจำเลย ช. ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์จนได้รับความเสียหาย โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ที่ ช. ขับให้รับผิดในค่าซ่อมรถยนต์ ช. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยก็ยอมรับว่าเป็นผู้ประมาท แต่จำเลยเพิกเฉย ตามคำฟ้องดังกล่าว โจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนแล้ว ทั้งตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็สนับสนุนข้ออ้างที่โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประจักษ์ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทน หลังเกิดเหตุ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดแก่โจทก์จนมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน ซึ่งโจทก์เป็นผู้ชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อได้แสดงตนแล้ว และกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อเช่นโจทก์ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 คดีก่อน ป. ฟ้อง ช. และจำเลยเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้คดีดังกล่าวเป็นเรื่องละเมิดและประกันภัยอันเป็นมูลกรณีเดียวกับคดีนี้ แต่โจทก์ดำเนินคดีดังกล่าวในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ป. เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เสียหายโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัวต่างจากคดีเดิมที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ จึงมิใช่โจทก์คนเดียวกันกับโจทก์คดีเดิม ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีเดิม ในคดีเดิมศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว และปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีจึงยุติไปด้วยการถอนฟ้องของโจทก์ กรณีหาได้มีการดำเนินคดีต่อจำเลยในหนี้เดียวกันทั้งสองคดีไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559 คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 บริษัท บ. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส. จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส. โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2559 การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้ จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองกำหนด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีแล้วไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด ดังนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2559 จำเลยที่ 2 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก อ. ชาวลาวให้ส่งเมทแอมเฟตามีนนั้นจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 กับ อ. เป็นพวกเดียวกันและได้วางแผนแบ่งหน้าที่กันกระทำผิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้ขาย แต่ถือเป็นผู้ก่อให้ผู้ขายนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจึงแตกต่างจากฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่พิจารณาได้ความ คงลงโทษได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิด ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งสองโดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับเข้ามาในเงื้อมมือของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จ แต่การที่จำเลยที่ 2 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาเพื่อส่งมอบให้ที่จุดนัดหมาย ถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวชัดแจ้งในฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ซึ่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ต่อเมทแอมเฟตามีนของกลางดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้ความว่ามีลักษณะเดียวกับที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อกัญชาของกลาง ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงการกระทำผิดเกี่ยวกับกัญชาของกลางซึ่งยุติไปแล้วด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2559 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กลุ่มคนชมรม ค. กระทำความผิดในคดีนี้ โดยบรรยายครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละข้อหา จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว โดยหาจำต้องระบุตัวบุคคลผู้ถูกใช้หรือลงมือกระทำความผิดไม่ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 ที่ได้กระทำโดยมีอาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามวรรคสอง ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 321 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น แม้จะได้ความว่าฝ่ายโจทก์ตกลงยอมความกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ตกลงให้ความผิดของจำเลยที่ 1 ระงับไปด้วย ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาระงับไปไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559 ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้ จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2559 หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2559 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2559 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 56 เดือน การที่ระหว่างฎีกาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี และต่อมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าคดีมีทางตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลชั้นต้น 883,357 บาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดพิสูจน์ต่อศาล ชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด แสดงว่าจำเลยที่ 1 วางเงินจำนวนดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี มิใช่เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นเหตุบรรเทาโทษจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง มิได้ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อถึงวันนัดสมานฉันท์ครั้งที่ 2 ทนายโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดแถลงว่า ไม่ประสงค์จะเจรจากับฝ่ายจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำมูลเหตุในคดีนี้ไปฟ้องโจทก์บางคนเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 6 คดี และหลังจากนั้นโจทก์บางคนซึ่งได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้นที่แจ้งให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดและได้นำเงินวางศาลจำนวน 883,357 บาทแล้ว ก็ไม่ได้มารับเงินที่จำเลยที่ 1 วางไว้ไปจากศาลชั้นต้น จนกระทั่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ประสงค์ที่จะยอมความกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ขอถอนเงินที่วางศาลคืน ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้เป็นไปตามเจตนาของจำเลยที่ 1 แล้วศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดมารับเงินก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559 ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาลงแสดงในเฟซบุ๊กมีข้อความที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาว่าศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และไปถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบข้อความเท็จของตนในเฟซบุ๊กว่าศาลเรียกเงิน และมีข้อความลงข่มขู่ศาลว่าจะยิงทำร้าย ขอให้ผู้พิพากษาระวังตัว อันเป็นข้อความที่ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล และเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ แม้ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล เพื่อนำไปประกอบข้อความเท็จที่ตนใช้แสดงต่อสาธารณชน ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงข้อความเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาล แสดงความเท็จว่าตนถูกศาลกลั่นแกล้งเป็นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 32 (2) ด้วย อันเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างเจตนา และต่างบทกฎหมาย ชอบที่จะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทั้งสองกรรม.
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดไว้เฉพาะตามมาตรา 33 วรรคสอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น แต่นิติบุคคลอาคารชุดยังมีอำนาจตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก... เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้" เมื่อเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น หากเจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับภาระจำยอมเอาจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจใช้สิทธินั้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 39 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้ง การเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผลของกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำต้องตั้งตัวแทนตามบทกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาอีก จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแย้ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585/2559 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ศาลเป็นเพียงผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อยเท่านั้นส่วนวิธีการจัดการเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงย่อมมีสิทธิและอำนาจในการนำที่ดินบางส่วนของทรัพย์มรดกไปจดทะเบียนให้เช่าเองได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากศาล แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องดำเนินการให้เช่าที่ดินบางส่วนของทรัพย์มรดกจะเป็นคำสั่งที่เกินเลยประเด็นแห่งคดีก็ตาม แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้คัดค้านที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น หากผู้คัดค้านเห็นว่าตนเองได้รับความเสียหายจากการจัดการมรดกของผู้ร้อง ผู้คัดค้านชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องให้ผู้ร้องรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559 การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทำของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่รถยนต์จากผู้เสียหายทั้งสี่หลังจากนั้น จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานกรรโชก เพราะการกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไป ทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชกหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559 จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2559 แม้ตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาจตกลงกันเป็นหนังสือกำหนดให้เสนอข้อพิพาทใดๆ ที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิดให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ เมื่อตามใบตราส่งทั้งสามฉบับซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการขนส่งสินค้าในคดีนี้ไม่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำสืบว่า มีสัญญาอนุญาโตตุลาการอื่นแยกต่างหากจากใบตราส่งทั้งสามฉบับดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 คู่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมิได้ตกลงกันเป็นหนังสือกำหนดให้เสนอข้อพิพาทใดที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ เมื่อบริษัท ซ. ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องในประเทศเดนมาร์กส่งมอบสินค้าให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2552 จึงเป็นการที่โจทก์ผู้ส่งฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งในต่างประเทศ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทย เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาขนส่งภายในเก้าเดือนนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของ สิทธิเรียกร้องของตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ตามใบตราส่ง ในช่องผู้รับตราส่ง หรือคำสั่ง ระบุว่า "ตามคำสั่ง" จึงเป็นใบตราส่งต่อเนื่องชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ซึ่งตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 บัญญัติให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีหน้าที่ส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งได้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งได้สลักหลังโดยชอบ การที่ ต. ผู้รับตราส่งตามคำสั่งเดิมของโจทก์ไม่มารับสินค้า และพฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ปล่อยให้สินค้าอยู่ที่ท่าเรือปลายทางเป็นระยะเวลาเนิ่นนานถึง 9 เดือนเศษ ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและบริษัท ซ. ตัวแทนจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยไม่ได้รับค่าระวางและมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเก็บรักษาสินค้าตามฟ้อง ทั้งสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารซึ่งบางส่วนเป็นกะทิซึ่งมีอายุการใช้งาน 12 เดือน แม้โจทก์จะอ้างว่า โจทก์พยายามติดต่อให้ลูกค้ามาชำระเงินโดยตลอดและยืนยันว่าผู้รับตราส่งใหม่จะมาเป็นผู้รับตู้สินค้าและชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อต่อมาโจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ผู้รับตราส่งใหม่คือ ท. แต่ ท. ไม่ยอมมารับสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่มารับสินค้า เมื่อต่อมาพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ตราส่งทันที และถามเอาคำสั่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และตัวแทนจำเลยที่ 2 เก็บสินค้าตามฟ้องต่อไปหลังจากที่เก็บไว้นานถึง 9 เดือนเศษแล้ว เพื่อที่โจทก์จะหาผู้ซื้อรายต่อไปนั้น จึงเป็นคำสั่งที่สร้างภาระและความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องเกินสมควร โดยโจทก์ไม่ได้เยียวยาความเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่อาจปฏิบัติได้ตามมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 เมื่อต่อมา ต. ผู้รับตราส่งเดิมที่โจทก์แจ้งตามคำสั่งได้ติดต่อไปยังบริษัท ซ. ตัวแทนของจำเลยที่ 2 แล้วว่าต้องการรับมอบสินค้าโดยยินดีจ่ายค่าระวางสินค้าและค่าใช้จ่ายให้แก่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 แล้วบริษัท ซ. จึงมอบสินค้าให้แก่ ต. โดยไม่เวนคืนใบตราส่งนั้น จึงเป็นการจัดการตามความเหมาะสมและความจำเป็นตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 23 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและตัวแทนจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับค่าระวางและค่าใช้จ่ายจาก ต. ได้ตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 23 วรรคสี่ เมื่อต่อมาบริษัท ซ. ตัวแทนจำเลยที่ 2 ได้ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์มาถึงโจทก์โดยระบุว่า บริษัท ซ. ได้ปล่อยตู้สินค้าให้แก่ลูกค้าไปเนื่องจากว่าหากยังเก็บตู้สินค้าต่อไปจะทำให้ขาดทุนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องบอกกล่าวแก่โจทก์ผู้ตราส่งโดยไม่ชักช้า จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 23 วรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525 - 526/2559 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งยกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2559 ในฎีกา โจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ถูกต้องอย่างไร หากโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นข้อใดแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ โจทก์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อใดและเป็นการไม่ชอบอย่างไร เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาดังกล่าว จึงถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 65 นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นเท่านั้น ดังนั้น คณะบุคคลหรือหน่วยงานใด หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองสถานะว่ามีฐานะเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นนิติบุคคลได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร อยู่ในหมวดที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด" ส่วนบทบัญญัติในหมวด 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หาได้มีบทมาตราใดบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้นิยามความหมายของ "เจ้าหน้าที่" ว่า หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใดซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 10 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ในอันที่จะควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กับมีอำนาจหน้าที่วางระเบียบและดำเนินการหรือสั่งการเพื่อกำกับดูแลกิจการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (2) ถึง (17) และมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ถึงมาตรา 25 แล้ว และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 236 (9) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติได้ โดยมีความในวรรคสองและวรรคสามให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชนให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่การสืบสวนสอบสวนเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งออกคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 334/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบ การพิจารณาก่อนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำการไต่สวน แสวงหา และรวบรวมพยานหลักฐาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และตาม พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พ.ศ.2540 และการกระทำที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น แม้หากเป็นความจริงก็เป็นการฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรง จะฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็น "เจ้าหน้าที่" ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2559 การที่จำเลยแบ่งบรรจุฝิ่นเป็นห่อเพื่อความสะดวกแก่การจำหน่าย ทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานผลิตฝิ่นตามความหมายของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 แต่เมื่อฝิ่นที่จำเลยผลิตเป็นจำนวนเดียวกับฝิ่นที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการที่จำเลยแบ่งบรรจุฝิ่นเป็นห่อก็เพื่อสะดวกในการจำหน่ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2559 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุซึ่งมีชื่อของ ส. บุตรโจทก์ร่วมถือสิทธิ และโจทก์ร่วมยอมไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกำลังเดือดร้อน ส. ยอมโอนขายสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุให้ผู้อื่น เงินที่ขายได้เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำขู่บังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยตรงย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ โดยทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมและคนในครอบครัว โจทก์ร่วมเกิดความกลัวยอมกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับ จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานกรรโชกตามที่โจทก์ฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2559 คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 กับได้ขอหมายเรียกจำเลยร่วมมาในคดีนั้นด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยร่วมให้การว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน และจำเลยร่วมไม่ได้เพิกเฉยในการใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงถึงสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกับคำฟ้องของโจทก์ในการที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสอง และเป็นคำให้การที่ไม่ยอมรับฐานะของโจทก์ในการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 จำเลยร่วมจึงไม่อาจขอเปลี่ยนสถานะจากจำเลยเป็นโจทก์ได้ อีกทั้งไม่สามารถเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ที่ระบุเฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2559 ป.วิ.พ. มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ว่าการขอแก้ไขต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่มีวันกำหนดดังกล่าว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลมได้ การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ไม่ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเวลาแก้ฎีกา คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับหมายส่งสำเนาฎีกาเพื่อให้แก้ฎีกาภายในสิบห้าวัน โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 พ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2559 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,818,750 บาท พร้อมยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลกึ่งหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จึงผูกพันโจทก์ที่จะต้องนำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งที่โจทก์ต้องชำระนั้น หมายถึงค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ตามคำฟ้อง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเหลือ 2,409,375 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว โจทก์จึงต้องชำระค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และรับคำฟ้องในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล คือกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ 2,409,375 บาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2559 โจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายในคำร้องสอดว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดา ส. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะที่ ส. ขับ เป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะ โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับค่าขาดไร้อุปการะดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายคำร้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองขาดไร้อุปการะ จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองหรือบังคับตามสิทธิของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมทั้งสองได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีเรื่องใหม่ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่ประการใด แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะกล่าวในท้ายของคำร้องสอดว่า ขอให้พิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง ก็มีความหมายเพียงว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยทั้งสามเท่ากับที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้อง หาใช่โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้เรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ร่วมทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมทั้งสองชอบแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 438/2559 ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ให้แก่ผู้รับโอนได้ โดยมิได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนก็ตาม แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นเองไม่เปิดช่องให้โอนกันได้หรือเป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแล้วย่อมไม่สามารถกระทำได้ตามบทมาตราดังกล่าว สิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. มีต่อบริษัท ป. ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. ได้ฟ้องบริษัท ป. ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กลางและต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และคดีทั้งสองอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ประกอบกับได้ความว่าโจทก์รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคดีนี้มีมูลหนี้จำนวนประมาณ 312,000,000 บาท โดยซื้อมาเพียง 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้มาก ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. จึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยปกติธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง หากแต่เป็นการซื้อขายความในการดำเนินคดีทั้งสองคดีแก่บริษัท ป. เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ในคดีหรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ การรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436 - 437/2559 จำเลยที่ 10 และ ป. ขับรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินของผู้ตายได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยที่ 10 และ ป. จึงเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรกลที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยที่ 10 และ ป. จึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยเล่าข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จำเลยที่ 10 และ ป. เป็นผู้ขับซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลแล้วเกิดการเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้าง ป.และเป็นเจ้าของรถลากจูงที่ ป. เป็นผู้ขับ ซึ่งเอาประกันไว้แก่จำเลยที่ 9 จึงขอให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้บรรยายว่าเป็นความประมาทของฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายและขับรถประมาทกันอย่างไร ก็เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ไม่เคลือบคลุมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง สัญญาเช่าที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วม ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกอันเป็นการสืบเนื่องมาจากการกระทำไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของพนักงานขับรถ หรือบริษัทจำเลยผู้เช่า (จำเลยที่ 11) หรือผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ดังนั้น แม้จำเลยร่วมจะมิใช่เป็นนายจ้างจำเลยที่ 10 และเป็นเพียงผู้ให้เช่ารถกระบะ แต่เมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นและทำให้จำเลยที่ 11 มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 ย่อมมีอำนาจขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเสร็จไปในคราวเดียว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้อง ตั้งสภาพแห่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ว่า จำเลยที่ 5 ในฐานะตัวการหรือนายจ้างของ ป. ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า การที่ ป. ขับรถลากจูงนั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์หรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และทำให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2559 ขณะศาลฎีกาส่งคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเขาบิน จังหวัดราชบุรี ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม การที่ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลฎีกาให้ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านให้จำเลยที่ 1 ฟังก่อน แล้วจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังโดยชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 182 จำเลยที่ 2 จะกล่าวอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ฟัง ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ได้ เมื่อตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติเพียงว่า คำพิพากษามีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป โดยมิได้บัญญัติว่า คดีถึงที่สุดเมื่อใด จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 147 มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อ 18 กันยายน 2555 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 18 กันยายน 2555 จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2559 ความผิดฐานลักลอบนำน้ำมันซึ่งมิได้เสียภาษีและผ่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมาย เข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอากรขาเข้า กับความผิดฐานซื้อ รับจำนำ ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ในครอบครอง ซึ่งน้ำมันที่ยังมิได้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำพาหลบหนีศุลกากร เข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสีย เป็นคนละความผิดกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อน้ำมันของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำพาหลบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มิได้เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 147 (2) ได้ และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี และความผิดฐานรับซื้อของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรู้ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรรวมมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ลงโทษเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสองกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2559 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมให้จำเลยทั้งสอง แสดงว่าจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงวางเงินค่าขึ้นศาลของจำเลยทั้งสองแต่เพียงว่า รับไว้ นำฝาก โดยไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในอุทธรณ์แล้ว แม้จะมีตราประทับที่ด้านล่างอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว และทนายจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อทราบคำสั่งก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นเคยสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองคนละวันกับที่จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ว่า รอไว้สั่งเมื่อผู้อุทธรณ์ชำระค่าขึ้นศาลครบถ้วนแล้ว จึงถือว่าจำเลยทั้งสองได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยอาศัยตราประทับที่ด้านล่างอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมาครั้งหนึ่งแล้ว หากจะให้ตราประทับที่ด้านล่างอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีผลบังคับตลอดไปว่าศาลชั้นต้นสั่งอะไรในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจะมาทราบติดตามเพื่อรับทราบคำสั่งศาลชั้นต้นทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วอีก ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แล้วไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องแจ้งคำสั่งรับอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยตรง การที่ศาลชั้นต้นไม่แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรในกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2559 การที่โจทก์มอบเงินจำนวน 700,000 บาท ให้ น. นำไปใช้ในลักษณะวิ่งเต้นต่อเจ้าพนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือบุตรชายของโจทก์ให้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนทหารช่างฝีมือด้วยวิธีการมิชอบ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้สมัครสอบรายอื่น ๆ มีผลก่อให้เกิดการสอบคัดเลือกที่ไม่เป็นธรรมโปร่งใส แม้โจทก์จะไม่ทราบว่า น. เอาเงินไปติดต่อกับเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนใดก็ดี หรือ น. เป็นคนเชื้อเชิญจนโจทก์หลงเชื่อให้เงินไปก็ดี โจทก์ก็มีส่วนสมรู้ร่วมคิดรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของ น. ทั้งสิ้น เมื่อ น. ไม่สามารถนำบุตรชายโจทก์เข้าศึกษาได้ โจทก์เรียกเงินคืนโดย น. ทำสัญญากู้เงินตกลงชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์ ถือว่า น. ไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการให้ น. คืนเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นนำบุตรของโจทก์เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทหารช่างฝีมือนั่นเอง วัตถุประสงค์ของการทำสัญญากู้เงินดังกล่าว จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเพื่อชำระเงินตามสัญญากู้เงินดังกล่าว ส่วนประเด็นว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ได้ให้การไว้โดยชัดแจ้งจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 225 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 6,000 บาท แทนโจทก์ โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอื่น เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2559 คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา การที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้ จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นทนายความ ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลย เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่การนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2559 เดิมโจทก์ถือหุ้นในบริษัท อ. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2550 โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ที่ถืออยู่ทั้งหมด ต่อมาวันที่ 25 พ.ย. 2550 โจทก์จดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น ขณะที่โจทก์ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อประกาศจ่ายเงินปันผล โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อบริษัท อ. ผู้รับเงินปันผลถือหุ้นในบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทโจทก์ผู้จ่ายเงินปันผล เงินปันผลที่บริษัท อ. ได้รับ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (10) (ข) โจทก์ผู้จ่ายเงินปันผลจึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2559 การกำหนดค่าเสียหายเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ สำหรับข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญามาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่ว่าผู้ร้องไม่ส่งมอบงานงวดที่ 3 ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2554 เพื่อปรับปรุงงานงวดที่ 3 ของกรมการค้าภายในและไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2554 กับคณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานงวดที่ 3 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากนั้นคณะกรรมการตรวจรับงานยังประชุมกับคณะทำงานของผู้คัดค้านอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ร้องไม่เข้ามาดำเนินการใดในงวดที่ 3 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยเห็นว่าข้อแก้ตัวต่างๆของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบแล้ว การยอบรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลแพ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559 แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278 - 284/2559 ป.อ. ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติบทนิยามของ "เจ้าพนักงาน" ไว้ เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐมิได้มีแต่ส่วนราชการ แต่ประกอบไปด้วย รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ สำหรับองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ฎ. ล้วนระบุว่าการจัดตั้งใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินและทุนประเดิมจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และมอบหมายให้ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการดังกล่าว ดังนั้น ว. หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกนอกจากจะมีฐานะเป็นพนักงานองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตามที่ผู้เสียหายได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยมีหน้าที่ออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำและรับเงินจากธนาคาร พ. เมื่อธนาคารดังกล่าวจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้วก็จะนำเอกสารที่เกษตรกรมอบให้ไปเบิกเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลซึ่งบางส่วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน การกระทำของ ว. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของรัฐในโครงการดังกล่าว แม้ ว. ไม่ใช่เป็นข้าราชการที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพนักงานที่รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากผู้เสียหายที่เป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการงานของรัฐบาลโดยแท้ อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ว. ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559 การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2559 การกำหนดสิทธิในการออกเสียงของเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/30 บัญญัติว่า "คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้..." เมื่อปรากฏว่าในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ทั้งลูกหนี้หรือผู้ทำแผนหรือเจ้าหนี้รายอื่นต่างมิได้โต้แย้งสิทธิในการลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้รายนี้แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายนี้จึงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ส่วนปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงินจำนวนเท่าใดเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาสั่งในกระบวนการในการขอรับชำระหนี้ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ในมาตรา 90/29 และมาตรา 90/32 เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จำนวน 445,000,000 บาท เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้วตามมาตรา 90/32 วรรคหนึ่ง หากเจ้าหนี้ประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านต้องดำเนินการตามมาตรา 90/32 วรรคสาม จะยกปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนหาได้ไม่ การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจอันเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบเนื้อหาของแผนตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนด้วย และที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า "ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย..." ไม่ได้หมายความเพียงว่าให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย และตามมาตรา 90/42 (2) ที่กำหนดว่าแผนจะต้องมีรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของสินทรัพย์นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ด้วย เมื่อในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้ได้กล่าวถึงสิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับเงินค่าเสียหายในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 ไว้จากบุคคลภายนอก จำนวนเงินที่ลูกหนี้จะได้รับในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประการหนึ่ง แม้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีเงื่อนไขและไม่แน่นอน แต่ก็ต้องนำมากำหนดไว้ในแผนเพื่อหากว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายชนะคดีได้รับการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วจะได้นำเงินค่าเสียหายมาจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามแผนได้ ดังนี้ การที่ผู้ทำแผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวมากำหนดไว้ในแผนและดำเนินการจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน แม้ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ (3) จะบัญญัติว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ต่างกลุ่มนั้น สามารถที่จะชำระหนี้แตกต่างกันได้โดยจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ เมื่อตามแผนกำหนดชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีเจ้าหนี้รายที่ 14 เพียงรายเดียวและเจ้าหนี้ดังกล่าวเคยเป็นกรรมการของลูกหนี้ โดยจะชำระหนี้ค่าจ้างในการบริหารกิจการเพื่อดำเนินการติดตามสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามคำขอรับชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น จึงเป็นกรณีแตกต่างกันเป็นอันมาก ทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของลูกหนี้แสวงหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟื้นฟูกิจการในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อื่น การดำเนินการของลูกหนี้ตามแผนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเป็นอันมาก นอกจากนี้ในชั้นร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยระบุว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์รวม 4,879,222,575 บาท โดยมีหนี้สินรวม 5,831,673,100 บาท แต่เมื่อลูกหนี้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนลูกหนี้กลับแสดงว่าสินทรัพย์มีอยู่เพียง 2,352,382,015 บาท และมีหนี้สิน 6,137,606,819 บาท เช่นนี้ ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินจึงแตกต่างกันในสาระสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งที่จัดทำงบการเงินห่างกันเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้จะทำการลดทุนโดยไม่เรียกร้องเงินค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังค้างชำระอยู่จำนวน 170,000,000 บาท อันเป็นรายได้จำนวนมาก โดยลูกหนี้อ้างว่าเพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมมิให้นักลงทุนต้องร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมในการรับภาระการขาดทุนสะสม แต่การที่ลูกหนี้ใช้วิธีลดทุนของกิจการในส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังมิได้ชำระค่าหุ้นไปก่อนการลดมูลค่าหุ้นทั้งหมดนั้น หาได้ทำให้ผลการขาดทุนสะสมลดลงตามหลักการที่ลูกหนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อลูกหนี้มิได้บันทึกค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมค้างชำระไว้ในส่วนทุนตั้งแต่ต้น การไม่เรียกเก็บเงินค่าหุ้นค้างชำระจึงไม่ทำให้รายการทางบัญชีใดเปลี่ยนแปลงไป และการที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังค้างชำระตามกฎหมาย กลับทำให้สินทรัพย์ของลูกหนี้ลดน้อยลงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาความเสียหายจากการได้รับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นจำนวนมากดังกล่าว ดังนั้น พฤติการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นอกจากแผนจะมีรายการไม่ครบถ้วนแล้ว แผนยังมีลักษณะเป็นการให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สินเป็นจำนวนมากโดยซ่อนเงื่อนที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่มีความใกล้ชิดกับลูกหนี้และส่อไปในทางที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 241 - 243/2559 พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 มาตรา 4 บัญญัติให้คุรุสภาเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกระทรวงศึกษาธิการโดย มาตรา 7 บัญญัติให้มีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานฯลฯ มาตรา 10 บัญญัติให้คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา 6 เมื่อมาตรา 7 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาโดยตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามีส่วนในการกำกับควบคุมและสอดส่องดูแลคุรุสภารวมทั้งองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของคุรุสภาให้ปฏิบัติการเป็นไปตามกฎหมาย และในฐานะประธานคณะกรรมการย่อมเป็นผู้แทนกระทำการใด ๆ ต่อบุคคลภายนอกรวมทั้งการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ทุจริต เบียดบังทรัพย์สินขององค์การค้าของคุรุสภาได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติทั่วไปของนิติบุคคลจะพึงกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของนิติบุคคล กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาปฏิบัติหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงมีฐานะเป็นผู้แทนอื่น ๆ ของคุรุสภา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และ มาตรา 5 (3) จึงมีอำนาจร้องทุกข์รวมทั้งมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2559 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 (ประกาศฉบับปัจจุบัน) ที่ออกโดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 6 และมาตรา 10 ข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 กำหนดว่า ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2541 ซึ่งประกาศฉบับเดิมปี 2541 ที่ถูกยกเลิก ไม่ได้จำกัดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไว้ ขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันนี้ ข้อ 10 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เช่นนี้ เป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับ ข้อ 12 กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับปัจจุบันด้วย นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องรับผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายและประกาศดังกล่าวกำหนด เมื่อประกาศฉบับปัจจุบันลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าว โดยในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะต้องพิจารณาว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อนายจ้างเกิดมีขึ้นในวันใด หากหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดมีขึ้นก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551อันเป็นวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนกรณีหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นตั้งแต่หรือหลังจากวันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะถูกจำกัดไว้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของลูกจ้างที่ได้รับ อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นการแน่นอน กรณีนี้จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษนี้ โดยให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดในการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ไว้ก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ แต่เมื่อไม่สามารถระบุได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขายทำให้สินค้าแต่ละรายการสูญหายไปเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ อันเป็นผลให้ไม่ทราบว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เกิดมีขึ้นในช่วงขณะประกาศฉบับใดมีผลบังคับใช้ การตีความใช้กฎหมายจำต้องกระทำไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน โดยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับ ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นประกาศฉบับปัจจุบันที่มีผลใช้บังคับ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจรับประกันภัยวินาศภัยทุกประเภทและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วค 5927 กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย โดยขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินวงเงิน 100,000 บาท ของส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เท่ากับโต้แย้งแล้วว่ามีข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ก็คงถือได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 รับแล้วว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น กรมธรรม์ภาคสมัครใจที่จำเลยที่ 2 ส่งมาตามคำสั่งเรียกและโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. 100,000 บาทต่อคน อันเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในความเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 1 เมษายน 2546 ข้อ 3 กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนดังต่อไปนี้ (1) ห้าหมื่นบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยนอกจากกรณีตาม (2) และ (2) หนึ่งแสนบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ...... (ช) ทุพพลภาพอย่างถาวร โจทก์เบิกความเพียงว่าสภาพร่างกายของโจทก์ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเสริมสวยได้เหมือนเดิม โดยไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บที่โจทก์ได้รับนั้นรุนแรงหรือส่งผลถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมสวยที่ทำประจำอยู่ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพอย่างถาวร ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงมีเพียง 50,000 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย 100,000 บาท และความรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งมีวงเงิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจที่โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์โดยศาลชั้นต้นกำหนดให้ 2,385 บาทแล้ว รวมเป็นเงิน 152,385 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเต็มตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่ต้องรับผิด ไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด เมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2559 ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า "การบริหารสินทรัพย์หมายความว่า (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" และกระทรวงการคลังได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ดังนั้น การที่ผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้ขอสวมสิทธิเดิมซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกัน จึงเป็นการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับซื้อหรือรับโอนหนี้สินด้อยคุณภาพจากผู้ขอสวมสิทธิเดิม โดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้โดยชอบ หาตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559 ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ ส่วนบ้านไม่มีเลขที่ ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านหลังไม่มีเลขที่บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวในที่ดินที่ขายฝากต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้ห้ามปราม จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างย่อมเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกำหนดในสัญญา การปลูกสร้างบ้านไม่มีเลขที่บ้านของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยเด็ดขาด กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะใช้ปรับได้โดยตรง จึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยผู้สร้าง และการที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างบ้านต่อไปในที่ดินของโจทก์โดยมิได้ห้ามปรามถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มให้แก่จำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2559 แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ขอให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 ในการนำเงินที่จำเลยที่ 2 ร่วมลงทุนค้าทองคำและอัญมณีกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีค่าดำเนินการ แล้วจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำนวน 2,500,000 บาท 1,300,000 บาท และ 152,000 บาท ตามลำดับ การที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในแต่ละครั้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2559 การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์เพื่อแลกเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยเพียงต้องการได้เงินสดจากการนำเช็คของจำเลยที่มอบให้โจทก์ไปแลกเงินสดโดยจำเลยยอมเสียค่าตอบแทนให้โจทก์และยอมเสียดอกเบี้ยจากการนำเช็คไปแลกเงินสดโดยไม่คำนึงว่าจะแลกเช็คนั้นกับผู้ใด เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท 7 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์เพื่อแลกเงินสด โดยโจทก์เป็นผู้นำเงินมามอบให้จำเลยเป็นการแลกเช็คพิพาทเสียเอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลย ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องกู้ยืมเงิน ทั้งข้อเท็จจริงที่นำสืบพยานมาไม่ปรากฏว่ามีการเรียกดอกเบี้ยกันในอัตราเท่าใด เพียงแต่โจทก์ได้ค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 2 ถึง 5 เท่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 และเมื่อโจทก์ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจขอให้บังคับโจทก์รับผิดชำระเงินตามฟ้องแย้งหรือให้คืนเช็คตามฟ้องแย้งได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2559 ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จะระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่า ฟ้องโจทก์เป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับคดีก่อน ศาลอุทธรณ์จะหยิบปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับตามมาตรา 39 (4) จึงไม่อาจรับฟังได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2559 อำนาจในการตรวจสอบการจับกุมเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ตรวจสอบว่าเด็กหรือเยาวชนที่พนักงานสอบสวนนำตัวมาอยู่ต่อหน้าศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมนั้น เป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ผู้ต้องหาจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2559 โจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ประกอบอาชีพขายสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งผ้าหมึกใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และหมึกที่บรรจุในคาร์ทริดจ์สำหรับใช้กับเครื่องพิมพ์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า โดยนำออกจำหน่ายในฐานะเจ้าของสินค้าในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และผู้เสียหายที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 16 รายการสินค้า ผ้าหมึกใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ และสำหรับสินค้าจำพวก 2 รายการสินค้า หมึกที่บรรจุในคาร์ทริดจ์สำหรับใช้กับเครื่องพิมพ์ ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว แล้วนำไปทำให้ปรากฏบนผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ หีบห่อ ฉลาก และสติกเกอร์ของผลิตภัณฑ์สินค้าที่ทำปลอม โดยนำตลับคาร์ทริดจ์เปล่ามาถอดออกแล้วเติมผงหมึกปลอมลงไปในตลับหมึก จากนั้นประกอบเข้าที่เดิมพร้อมใส่ลูกกลิ้งหมึกพิมพ์ลงไปแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงปิดกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ปลอม และนำสติกเกอร์ที่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า มาติดลงบนหีบห่อที่ใช้บรรจุสินค้า เป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์มาใช้ให้ปรากฏบนสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายที่ 1 ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่าชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า ที่โจทก์อ้างก็คือเครื่องหมายเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การที่จำเลยทั้งสองนำตลับคาร์ทริดจ์เปล่ามาถอดออกแล้วเติมผงหมึกปลอมลงไปในตลับหมึกพร้อมใส่ลูกกลิ้งหมึกพิมพ์ลงไปแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงปิดกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 และนำสติกเกอร์ที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า มาติดลงบนหีบห่อที่ใช้บรรจุสินค้าตลับหมึกคาร์ทริดจ์นั้นถือเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 กับสินค้าตลับหมึกคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า อันเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 เพราะการใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นกับสินค้าปลอมอาจเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับตัวสินค้าหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดสินค้าว่าโดยสภาพของสินค้าสามารถติดเครื่องหมายการค้าที่ตัวสินค้าได้หรือไม่ สำหรับสินค้าหมึกคาร์ทริดจ์ในคดีนี้เห็นได้โดยสภาพของสินค้าว่าไม่อาจติดเครื่องหมายการค้าที่สินค้าหมึกได้แต่ต้องติดเครื่องหมายการค้าที่หีบห่อบรรจุสินค้าหมึกคาร์ทริดจ์เท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 โดยปิดที่ถุงกระดาษบรรจุตลับหมึกและนำสติกเกอร์ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ปลอมไปติดบนหีบห่อที่บรรจุสินค้าตลับหมึกคาร์ทริดจ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) อีก ส่วนการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) แต่ไม่ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (8) จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2559 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด โดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูแบบควบคุมตัวเข้มงวดและอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติโดยกำหนดเงื่อนไข หากสถานที่ฟื้นฟูไม่ว่างให้เข้ารับการฟื้นฟูแบบควบคุมตัวไม่เข้มงวดหรือแบบไม่ควบคุมตัวในหลักสูตรสำนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 120 วัน โดยให้มารายงานตัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 4 ครั้ง ฟื้นฟูตามโปรแกรมปรับตัวกลับสู่สังคมเป็นเวลา 60 วัน ให้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อฝึกความรับผิดชอบและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และยินยอม ให้ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดตามดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งว่าภายหลังคณะอนุกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ขยายระยะเวลาฟื้นฟูเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 แล้วนั้น ผู้เข้ารับการฟื้นฟูมารายงานตัว 2 ครั้ง จากนั้นไม่มารายงานตัว พนักงานคุมประพฤติได้ออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง ผู้เข้ารับการฟื้นฟูจึงมารายงานตัวอีก 2 ครั้ง จากนั้นก็ไม่มารายงานตัวอีก พนักงานคุมประพฤติจึงได้ออกหนังสือเตือนอีก 1 ครั้ง แต่เมื่อถึงกำหนดนัดก็ไม่มาพบ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงมีคำวินิจฉัยว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ ให้รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง จากข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงว่าจำเลยได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง โดยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผน การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยครบถ้วนแล้ว ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย ได้มีคำวินิจฉัยให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูจำเลยออกไปอีก แต่ภายในเวลาที่ขยายระยะเวลาการฟื้นฟู จำเลยมารายงานตัวไม่ครบแล้วไม่มารายงานตัวอีก คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย จึงมีความเห็นว่าผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจและให้รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว เมื่อผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยจึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2559 การยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงการนำตัวจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาส่งศาลประกอบด้วย ดังนั้นคำร้องขอคืนหลักประกันถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ส่วนที่ผู้ประกันทั้งสองฎีกาว่า การชำระหนี้เป็นการพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันเกิดขึ้นภายหลังการก่อหนี้ซึ่งผู้ประกันทั้งสองไม่ต้องรับผิดชอบเนื่องจากเป็นเหตุเกิดจากศาลเอง ขอให้ศาลฎีกาคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันนั้นเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกันซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ประกันทั้งสองไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ตามกำหนดนัด ย่อมเป็นการผิดสัญญาประกันที่ได้ทำไว้ในคดีนี้ จึงมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ประกันทั้งสองคืนหลักประกันให้แก่ศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2559 จำเลยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบกำหนดแล้ว เพียงแต่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก 180 วัน เมื่อผลประเมินไม่เป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ยช. 11/2559 โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท และนำที่ดินที่แบ่งแยกขายให้แก่นางสาว ก. แต่จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินแล้วจำเลยไม่นำเงินมาให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์และขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน บรรพ 3 ลักษณะ 15 ไม่ได้เป็นเรื่องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
Read more