การใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน

มาตรา ๙๔๑ อันตั๋วแลกเงินนั้น ย่อมจะพึงใช้เงินในวันถึงกำหนดและถึงกำหนดวันใด ผู้ทรงต้องนำตั๋วเงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันนั้น

มาตรา ๙๔๒ อันจะบังคับให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินรับเงินใช้ก่อนตั๋วเงินถึงกำหนดนั้นท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
อนึ่ง ผู้จ่ายคนใดใช้เงินไปแต่ก่อนเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด ท่านว่าย่อมทำเช่นนั้นด้วยเสี่ยงเคราะห์ของตนเอง

มาตรา ๙๔๓ อันการถึงกำหนดแห่งตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันใดอันหนึ่งนับแต่วันได้เห็นนั้น ท่านให้กำหนดนับแต่วันรับรองหรือวันคัดค้าน
ถ้าไม่มีคำคัดค้าน และคำรับรองมิได้ลงวัน ท่านให้ถือว่าผู้รับรองได้ให้คำรับรองนั้นในวันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัดไว้ตามกฎหมาย หรือตามสัญญาเพื่อการยื่นตั๋วนั้น

มาตรา ๙๔๔ อันตั๋วแลกเงินซึ่งให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นนั้น ท่านว่าย่อมจะพึงใช้เงินในวันเมื่อยื่นตั๋ว ทั้งนี้ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลา ซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น

มาตรา ๙๔๕ การใช้เงินจะเรียกเอาได้ต่อเมื่อได้เวนตั๋วแลกเงินให้ผู้ใช้เงินจะให้ผู้ทรงลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วเงินนั้นก็ได้

มาตรา ๙๔๖ อันตั๋วแลกเงินนั้น ถ้าเขาจะใช้เงินให้แต่เพียงบางส่วน ท่านว่าผู้ทรงจะบอกปัดเสียไม่ยอมรับเอาก็ได้
ถ้าและรับเอาเงินที่เขาใช้แต่เพียงบางส่วน ผู้ทรงต้องบันทึกข้อความนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน และส่งมอบใบรับให้แก่ผู้ใช้เงิน

มาตรา ๙๔๗ ถ้าตั๋วแลกเงินมิได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนดไซร้ ท่านว่าผู้รับรองจะเปลื้องตนให้พ้นจากความรับผิดโดยวางจำนวนเงินที่ค้างชำระตามตั๋วนั้นไว้ก็ได้

มาตรา ๙๔๘ ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่ายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้เป็นคู่สัญญาคนก่อน ๆ ซึ่งมิได้ตกลงในการผ่อนเวลานั้น

มาตรา ๙๔๙ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐๙ บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนดย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2550
หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ได้ระบุวันที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาจะใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน คือในวันที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อถึงกำหนดเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง แม้มาตรา 985 จะบัญญัติให้นำมาตรา 941 ในเรื่องตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพแห่งตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งตามบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องนำไปให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้ หรือตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังที่ได้เห็นเท่า นั้น ตามมาตรา 986 วรรคสอง เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วที่กำหนดวันใช้เงินชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 986 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไปยื่นตามมาตรา 941 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2537
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 สัญญาจะใช้เงินจำนวน 8,000,000 บาท แก่โจทก์เมื่อทวงถาม จึงเห็นได้ว่าวันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทหมายถึงวันที่ โจทก์ทวงถามให้ใช้เงินตามความในตอนต้นของมาตรา 913(3) เท่านั้น ไม่มีทางที่จะแปลว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นแต่ อย่างใด ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถามมีความหมายและผลบังคับต่างกับตั๋ว สัญญาใช้เงินเมื่อได้เห็น ฉะนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งระบุให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 วรรคแรก ที่จะต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถามวันที่ โจทก์ทวงถามคือวันที่ 4 กันยายน 2528 จึงเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงิน เมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันหยุดก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 161(เดิม) โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 5 กันยายน 2531 จึงยังไม่พ้นเวลาสามปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม มาตรา 1001 จำเลยฎีกาว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่จำเลยทั้งสองให้การโดยมิได้ยกประเด็นข้อนี้เป็นข้อต่อสู้ ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัย ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อต่อสู้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2536
ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมมีความผูกพันเป็นอย่างเดียวกับลูกหนี้ซึ่งเป็น ผู้ออกตั๋ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 940 วรรคแรก การฟ้องให้ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดจึงต้องฟ้องภายใน 3 ปี นับแต่วันตั๋วถึงกำหนด ตามมาตรา 1001 ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่ได้ระบุเวลาใช้เงิน ต้องถือว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ตามมาตรา 984 วรรคสองซึ่งกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดดังกล่าวต้องเป็นไปตามบท บัญญัติว่าด้วยกำหนดใช้เงินของตั๋วแลกเงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ตามมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 กล่าวคือในวันเมื่อยื่นตั๋ว แต่ทั้งนี้ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้ รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น สำหรับกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรอง ตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็น มีบัญญัติไว้ในมาตรา 928 ว่า ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินหรือ ภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้ แสดงว่าผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงิน เมื่อได้เห็นอาจนำตั๋วยื่นให้ผู้ออกตั๋วใช้เงินได้ตั้งแต่วันออกตั๋วซึ่งก็ คือวันที่ลงในตั๋วแต่จะยื่นให้ใช้เงินภายหลังพ้นเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วไม่ได้ กำหนดเวลาใช้เงินตามตั๋ว สัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็นจึงมีได้ตั้งแต่วันที่คงในตั๋วจนถึง วันครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋ว อันเป็นวันสุดท้ายที่อาจยื่นให้ใช้เงินได้ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะมีการยื่นตั๋ว ให้ใช้เงินวันใด ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทลงวันที่ 31 มกราคม 2520 เมื่อครบกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2520ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนำตั๋วไปยื่นให้ ใช้เงิน จึงต้องถือว่าวันที่ 31 กรกฎาคม 2520 อันเป็นวันสุดท้ายที่อาจบังคับให้ผู้ร้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ได้ เป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท กำหนดอายุความ 3 ปี ตามาตรา 1001 ต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเมื่อผู้คัดค้านเพิ่งใช้สิทธิของลูกหนี้เรียก ร้องให้ผู้ร้องใช้เงินเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2530 จึงขาดอายุความตามมาตรา 1001ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2534
เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดโจทก์ผู้ทรงมิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อให้ใช้เงินตามตั๋ว เพียงแต่มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินถือว่าโจทก์มิได้ ปฏิบัติตามวิธีการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 985 ประกอบด้วยมาตรา 941 บังคับไว้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดคำมั่นไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยและจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วก็ เป็นเรื่องโจทก์ปฏิบัติการทวงถามแบบหนี้ทั่วไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 5 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์เพราะโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดย คบคิดกันฉ้อฉลนั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยที่ 5 ที่จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ดังที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง เมื่อเช็คพิพาทได้มาโดยมีมูลหนี้ จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อ ย.จนย. ได้บอกเลิกสัญญาขายหุ้นและโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทโดยทราบดีว่าสัญญาซื้อขาย หุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ย. ได้เลิกกัน เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่สามารถสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดตามเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2521
ในกรณีตั๋วแลกเงินมิได้ระบุถึงเรื่องดอกเบี้ยไว้ แม้เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ทรงใช้สิทธิเรียกร้องโดยตรงจากจำเลยที่ 1 ผู้จ่ายซึ่งได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ไม่ใช่เรียกร้องเอาจากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 968 โจทก์ก็มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดชำระและมีการผิด นัดแล้วตามหลักหนี้ทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204,224
เมื่อโจทก์ผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่ วันถึงกำหนดชำระจากบรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นได้แล้วก็ย่อมมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละห้าต่อปีจากจำเลยที่ 1 ผู้รับรองตั๋วแลกเงินซึ่งต้องร่วมกันกับบุคคลดังกล่าวรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรง ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967,968(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2514
แม้ จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏในขณะที่เช็คอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คนั้นได้มีการลงวันออกเช็คไว้แล้ว จะโดยผู้ใดเป็นผู้ลงไว้ไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อไม่ได้ความว่าวันออกเช็คที่ลงไว้เป็นวันที่ไม่ถูกต้องแท้จริงและลงไว้ โดยไม่สุจริต ก็ถือได้ว่าเป็นเช็คที่มีรายการครบถ้วนและออกเช็คไว้แล้วจะโดยผู้ใดเป็นผู้ ลงไว้ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อไม่ได้ความว่าวันออกเช็คที่ลงไว้เป็นวันที่ไม่ถูกต้องแท้จริงและลงไว้ โดยไม่สุจริต ก็ถือได้ว่าเป็นเช็คที่มีรายการครบถ้วนและเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 และ 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2509
จำเลย ที่ 1 ออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้สลักหลัง เมื่อเช็คถึงกำหนดและโจทก์นำไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 จำเลยที่3 จึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มิได้มีฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 และ 948 มาบังคับไม่ได้

Read more

การอาวัลตั๋วแลกเงิน

มาตรา ๙๓๘ ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”
อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้

มาตรา ๙๓๙ อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจำต่อ
ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล
อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย
ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย

มาตรา ๙๔๐ ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์
เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2550
ธนาคาร น. ในฐานะผู้รับอาวัลได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้าง ที่แล้ว ธนาคาร น. ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ ตามป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 985 และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดัง กล่าวมาจากธนาคาร น. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวภายในอายุความข้าง ต้นเช่นกัน
ธนาคาร น. ผู้รับอาวัลใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแทนลูกหนี้ไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 อันเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2548
โจทก์ ยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน (อาวัล) จำเลยที่ 1 ในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงและโจทก์ต้องผูกพันรับผิดต่อ ผู้ทรงเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงแทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปจำนำไว้แก่โจทก์เป็นประกันการที่โจทก์ยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้ จำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจำนำมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ยอมให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงินของ จำเลยที่ 2 ได้ทันที แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะถูกองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ก็เป็นเรื่องความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาจำนำ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่รับจำนำไว้ หนี้ตามสัญญาใช้เงินที่โจทก์อาวัลยังไม่ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5050/2547
โจทก์รับรองการจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วในฐานะผู้รับอาวัลเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ได้ทำคำขอให้รับรองตั๋วเงินไว้ต่อโจทก์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนซึ่งเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามคำขอให้รับรองตั๋ว เงินด้วย และถือได้ว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งมีผลผูกพันสามารถบังคับกันได้ตาม กฎหมายแยกต่างหากจากความผูกพันที่โจทก์ยอมตกเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้ เงินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋ว ดังนั้น เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงินโจทก์ได้ใช้เงินไปตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. แล้วมาใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามคำขอให้รับรองตั๋วเงินดังกล่าว แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทถึงกำหนดอันเป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของ โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 แล้ว แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในหนี้อันเกิดจากคำขอให้รับรองตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกันไว้แก่โจทก์ก็ยังคงมีอยู่ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีเช่นว่านี้ ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
เช็ค เป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรง ทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้นข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นการห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่จำเลยออกเช็คพิพาทโดยขีดเส้นสีดำในช่องวันที่ไว้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 899 กรณีถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารย่อมลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้ายประกอบ มาตรา 989 จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อ บ. เป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกแม้จำเลยอ้างว่าประสงค์จะออกเช็คระบุชื่อ แต่ด้วยความไม่สันทัดของจำเลยจึงมิได้ ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกก็ตาม ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ มีผลเป็นการประกัน หรืออาวัลผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึงไม่ต้องมีการเขียน ข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัลอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2533
จำเลย ที่ 2 ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทมิใช่ของตนโจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2 ในสัญญาจำนอง ใบแต่งทนาย และคำให้การ เมื่อเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง ศาลมีอำนาจอาศัยลายมือชื่อดังกล่าวตรวจเปรียบเทียบ เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า เพียงพอให้เชื่อฟังได้หรือไม่ มูลหนี้คดีนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท มิได้ทำสัญญากู้กันไว้ แต่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานใน การกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท มอบให้โจทก์อีกโดยตกลงว่าเพื่อเป็นประกัน เช็คพิพาทจึงออกเพื่อประกันการกู้ยืมเงินด้วย โจทก์มีสิทธิฟ้องได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คที่สั่งจ่ายระบุชื่อ โจทก์ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก และมุม ซ้ายบนของด้านหน้ามีข้อความว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นห้ามเปลี่ยนมือ และในเช็คไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัล หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลแต่การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและจำเลยทั้งสองนำเช็คไปมอบ ให้โจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตามมาตรา 900 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2534
ตาม บันทึกการกู้ยืมเงินมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้เงินโจทก์ได้ออกเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อเป็นประกันเงินกู้แต่ เมื่อบันทึกดังกล่าวจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังอาวัลเช็คพิพาทมิได้เข้าเป็นคู่สัญญาด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจเอาข้อตกลงตามบันทึกที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้มาเป็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามบันทึกกู้ยืมให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์เติมวันเดือนปีที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอง มิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2533
จำเลย ที่ 2 ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทมิใช่ของตนโจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2 ในสัญญาจำนอง ใบแต่งทนาย และคำให้การ เมื่อเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง ศาลมีอำนาจอาศัยลายมือชื่อดังกล่าวตรวจเปรียบเทียบ เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า เพียงพอให้เชื่อฟังได้หรือไม่ มูลหนี้คดีนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท มิได้ทำสัญญากู้กันไว้ แต่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานใน การกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท มอบให้โจทก์อีกโดยตกลงว่าเพื่อเป็นประกัน เช็คพิพาทจึงออกเพื่อประกันการกู้ยืมเงินด้วย โจทก์มีสิทธิฟ้องได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คที่สั่งจ่ายระบุชื่อ โจทก์ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก และมุม ซ้ายบนของด้านหน้ามีข้อความว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นห้ามเปลี่ยนมือ และในเช็คไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัล หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลแต่การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและจำเลยทั้งสองนำเช็คไปมอบ ให้โจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตามมาตรา 900 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย คำขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดเพราะโจทก์มีเพียงคนเดียวจะขอให้โจทก์ชำระ ดอกเบี้ยให้โจทก์ย่อมไม่ได้ ทั้งในที่อื่นตามฟ้องทั้งหมดได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ขอให้ชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จนถึงวันที่ชำระเสร็จตามคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2533
โจทก์ ได้เข้าอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัท ว. ออกให้แก่บริษัท ท. โดยจำเลยในฐานะผู้จัดการของบริษัท ว. ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ว่า หากโจทก์ได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว จำเลยยอมชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ต่อมาเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด บริษัท ว. ขอยืดเวลาการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาต่อบริษัท ท. ผู้ทรงออกไปรวม 2 ครั้งโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ใหม่ทั้งสองครั้ง โจทก์ได้เข้าอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับนั้นตามคำขอร้อง ของ บริษัท ว.ครั้นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับหลังสุดถึงกำหนด โจทก์ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่บริษัท ท. ตามที่ได้รับการทวงถามดังนี้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับที่ออกใหม่มีมูลหนี้มาจากตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับแรก และตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์มีใจความว่า จำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินที่โจทก์จ่ายไปในการที่โจทก์อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ของบริษัท ว. ในวงเงินที่กำหนดเท่านั้น หาได้ระบุวันออกตั๋วและวันถึงกำหนดใช้เงินไว้ไม่ อีกทั้งสัญญาค้ำประกันก็ระบุว่าหากโจทก์ผ่อนผันเวลาการชำระหนี้ให้แก่ผู้ออก ตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยตกลงด้วยในการผ่อนผันเวลาทุกครั้ง โดยโจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่โจทก์เข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับ หลังสุดด้วย

Read more

การรับรองตั๋วแลกเงิน

มาตรา ๙๒๗ อันตั๋วแลกเงินนั้นจะนำไปยื่นแก่ผู้จ่าย ณ ที่อยู่ของผู้จ่าย เพื่อให้รับรองเมื่อไร ๆ ก็ได้ จนกว่าจะถึงเวลากำหนดใช้เงินและผู้ทรงจะเป็นผู้ยื่นหรือเพียงแต่ผู้ที่ได้ตั๋วนั้นไว้ในครอบครองจะเป็นผู้นำไปยื่นก็ได้
ในตั๋วแลกเงินนั้น ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่าให้นำยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัดไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้
ผู้สั่งจ่ายจะห้ามการนำตั๋วแลกเงินยื่นเพื่อรับรองก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นตั๋วเงินอันได้ออกสั่งให้ใช้เงินเฉพาะ ณ สถานที่อื่นใดอันมิใช่ภูมิลำเนาของผู้จ่าย หรือได้ออกสั่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งนับแต่ได้เห็น
อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่ายังมิให้นำตั๋วยื่นเพื่อให้รับรองก่อนถึงกำหนดวันใดวันหนึ่งก็ได้
ผู้สลักหลังทุกคนจะลงข้อกำหนดไว้ว่า ให้นำตั๋วเงินยื่นเพื่อรับรอง โดยกำหนดเวลาจำกัดไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ห้ามการรับรอง

มาตรา ๙๒๘ ผู้ทรงตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็นนั้น ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินหรือภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้

มาตรา ๙๒๙ ภายในบังคับบทบัญญัติมาตรา ๙๒๗ ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิที่จะยื่นตั๋วเงินแก่ผู้จ่ายได้ในทันใดเพื่อให้รับรอง ถ้าและเขาไม่รับรองภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงไซร้ ผู้ทรงก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน

มาตรา ๙๓๐ ในการยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองนั้น ผู้ทรงไม่จำต้องปล่อยตั๋วนั้นให้ไว้ในมือผู้จ่าย
อนึ่ง ผู้จ่ายจะเรียกให้ยื่นตั๋วแลกเงินแก่ตนอีกเป็นครั้งที่สองในวันรุ่งขึ้นแต่วันที่ยื่นครั้งแรกนั้นก็ได้ ท่านห้ามมิให้คู่กรณีที่มีส่วนได้เสียยกเอาการที่มิได้อนุวัตตามคำเรียกอันนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่การเรียกนั้นได้ระบุไว้ในคำคัดค้าน

มาตรา ๙๓๑ การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า “รับรองแล้ว” หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

มาตรา ๙๓๒ ตั๋วแลกเงินฉบับใดเขียนสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินนั้น แต่หากมิได้ลงวันไว้ก็ดี หรือตั๋วเงินฉบับใดสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น แต่หากคำรับรองตั๋วนั้นมิได้ลงวันไว้ก็ดีตั๋วแลกเงินเช่นว่ามานี้ ท่านว่าผู้ทรงจะจดวันออกตั๋วหรือวันรับรองลงตามที่แท้จริงก็ได้ แล้วพึงให้ใช้เงินตามนั้น
อนึ่ง ท่านบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ทรงทำการโดยสุจริตแต่ลงวันคลาดเคลื่อนไปด้วยสำคัญผิด และในกรณีลงวันผิดทุกสถาน หากว่าในภายหลังตั๋วเงินนั้นตกไปยังมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตั๋วเงินจะเสียไปเพราะเหตุนั้นก็หาไม่ ท่านให้คงเป็นตั๋วเงินที่ใช้ได้ และพึงใช้เงินกันเสมือนดั่งว่าวันที่ได้จดลงนั้นเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง

มาตรา ๙๓๓ ถ้าการรับรองมิได้ลงวัน ท่านให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาอันกำหนดไว้เพื่อรับรองนั้นเป็นวันรับรอง

มาตรา ๙๓๔ ถ้าผู้จ่ายเขียนคำรับรองลงในตั๋วแลกเงินแล้ว แต่หากกลับขีดฆ่าเสียก่อนตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นไปจากมือตนไซร้ ท่านให้ถือเป็นอันว่าได้บอกปัดไม่รับรอง แต่ถ้าผู้จ่ายได้แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ทรง หรือคู่สัญญาฝ่ายอื่นซึ่งได้ลงนามในตั๋วเงินว่าตนรับรองตั๋วเงินนั้นก่อนแล้ว จึงมาขีดฆ่าคำรับรองต่อภายหลังไซร้ ท่านว่าผู้จ่ายก็คงต้องผูกพันอยู่ตามเนื้อความที่ตนได้เขียนรับรองนั้นเอง

มาตรา ๙๓๕ อันการรับรองนั้นย่อมมีได้สองสถาน คือรับรองตลอดไป หรือรับรองเบี่ยงบ่าย
การรับรองตลอดไป คือยอมตกลงโดยไม่แก้แย้งคำสั่งของผู้สั่งจ่ายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย
ส่วนการรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น กล่าวเป็นเนื้อความทำผลแห่งตั๋วเงินให้แผกไปจากที่เขียนสั่งไว้
กล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า ถ้าคำรับรองมีเงื่อนไขก็ดี หรือรับรองแต่เพียงบางส่วนก็ดีท่านว่าเป็นรับรองเบี่ยงบ่าย

มาตรา ๙๓๖ คำรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะบอกปัดเสียก็ได้ และถ้าไม่ได้คำรับรองอันไม่เบี่ยงบ่าย จะถือเอาว่าตั๋วเงินนั้นเป็นอันขาดความเชื่อถือรับรองก็ได้
ถ้าผู้ทรงรับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย และผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังมิได้ให้อำนาจแก่ผู้ทรงโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้รับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่ายเช่นนั้นก็ดี หรือไม่ยินยอมด้วยในภายหลังก็ดี ท่านว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้น ๆ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วเงินนั้นแต่บทบัญญัติทั้งนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการรับรองแต่บางส่วนซึ่งได้บอกกล่าวก่อนแล้วโดยชอบ
ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วเงินรับคำบอกกล่าวการรับรองเบี่ยงบ่ายแล้วไม่โต้แย้งไปยังผู้ทรงภายในเวลาอันสมควร ท่านให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นเป็นอันได้ยินยอมด้วยกับการนั้นแล้ว

มาตรา ๙๓๗ ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6054/2550
การที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วแลกเงินจึงเป็นผู้รับรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 927 ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตาม มาตรา 937 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 967 วรรคสาม ดังนั้นเมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับ ไปแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะได้สละประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงิน คืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็น เช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้ม โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่า เป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงิน ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2536
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นหนี้เงินกู้และจากการเอาเช็คแลก เงินสด เมื่อไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้โจทก์ย่อมทวงถามให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็คที่จำเลยมิได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ภาย หลังจากวันที่โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำการโดยสุจริตจดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2538
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้จ่ายและได้รับรองตั๋วแลกเงินอันต้องผูกพันจ่ายเงินตามเนื้อ ความแห่งคำรับรองของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา937ย่อมอยู่ในฐานะ ลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินลูกหนี้ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนเจ้าหนี้ตามมาตรา967วรรคสาม เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ลูกหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2536
ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมมีความผูกพันเป็นอย่างเดียวกับลูกหนี้ซึ่งเป็น ผู้ออกตั๋ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 940 วรรคแรก การฟ้องให้ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดจึงต้องฟ้องภายใน 3 ปี นับแต่วันตั๋วถึงกำหนด ตามมาตรา 1001 ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่ได้ระบุเวลาใช้เงิน ต้องถือว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ตามมาตรา 984 วรรคสองซึ่งกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดดังกล่าวต้องเป็นไปตามบท บัญญัติว่าด้วยกำหนดใช้เงินของตั๋วแลกเงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ตามมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 กล่าวคือในวันเมื่อยื่นตั๋ว แต่ทั้งนี้ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้ รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น สำหรับกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรอง ตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็น มีบัญญัติไว้ในมาตรา 928 ว่า ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินหรือ ภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้ แสดงว่าผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงิน เมื่อได้เห็นอาจนำตั๋วยื่นให้ผู้ออกตั๋วใช้เงินได้ตั้งแต่วันออกตั๋วซึ่งก็ คือวันที่ลงในตั๋วแต่จะยื่นให้ใช้เงินภายหลังพ้นเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วไม่ได้ กำหนดเวลาใช้เงินตามตั๋ว สัญญาใช้เงินชนิดพึงใช้เงินเมื่อได้เห็นจึงมีได้ตั้งแต่วันที่คงในตั๋วจนถึง วันครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋ว อันเป็นวันสุดท้ายที่อาจยื่นให้ใช้เงินได้ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะมีการยื่นตั๋ว ให้ใช้เงินวันใด ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทลงวันที่ 31 มกราคม 2520 เมื่อครบกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2520ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนำตั๋วไปยื่นให้ ใช้เงิน จึงต้องถือว่าวันที่ 31 กรกฎาคม 2520 อันเป็นวันสุดท้ายที่อาจบังคับให้ผู้ร้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ได้ เป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท กำหนดอายุความ 3 ปี ตามาตรา 1001 ต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเมื่อผู้คัดค้านเพิ่งใช้สิทธิของลูกหนี้เรียก ร้องให้ผู้ร้องใช้เงินเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2530 จึงขาดอายุความตามมาตรา 1001ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2532
การที่โจทก์ซึ่ง เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัล ใช้เงินตาม ตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้เงินได้ เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 944 และมาตรา 985 วรรคแรก ที่ผู้ทรงจะต้อง นำตั๋ว ยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2530
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ค. ได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยจ่ายเงินแก่ธนาคาร ฮ.ซึ่งเป็นธนาคารตัวแทนของบริษัทค.และเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงิน ธนาคาร ฮ. สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ธนาคาร ก. ดำเนินการแทนโดยธนาคาร ก. ได้จัดการให้จำเลยรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดจำเลยผิดนัดไม่ยอมชำระเงินแก่ธนาคาร ก. บริษัท ค. มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ติดตามเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วแลกเงินธนาคาร ก. จึงสลักหลังตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ในฐานะจัดการแทน การสลักหลังของธนาคาร ก. เป็นการสลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 925 โจทก์ผู้รับสลักหลังจึงเป็นตัวแทนของบริษัท ค. ซึ่งเป็นตัวการ ดังนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้เดิม โจทก์บรรยายฟ้องว่า "ธนาคาร ฮ. ได้สลักหลังให้ธนาคาร ก. ดำเนินการแทน" ต่อมาโจทก์แก้ฟ้องเป็นว่า"บริษัท ค. ได้มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการแทน" คำฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม รายการในตั๋วแลกเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 909(3) ระบุเพียงว่า"ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย" จะถือว่าต้องมีข้อความระบุว่า "ผู้จ่าย"ด้วยไม่ได้และมาตรา 909(8) ระบุเพียงว่า "ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย"ไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า "ผู้สั่งจ่าย" ด้วย เมื่อธนาคาร ฮ. ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงิน ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ธนาคาร ก. จัดการแทน และธนาคาร ก. สลักหลังต่อไปยังโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋ว นั้นย่อมได้ทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงิน และฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง จำเลยมีชื่อ ในตั๋วแลกเงิน และยังมีตรา บริษัท และลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งด้วย อันหมายความถึงการรับรองตั๋วแลกเงิน จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2523
โจทก์ ออกตั๋วแลกเงินสั่งสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือตามคำสั่ง โดยสาขาธนาคารของจำเลยที่ 3 ผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วแลกเงินใต้ข้อความว่า 'เป็นอาวัลค้ำประกันผู้สั่งจ่าย' ต้องถือว่าการลงลายมือชื่อของสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นอาวัล และผู้จ่ายเป็นผู้รับอาวัลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 938 วรรคสองตอนสุดท้าย
มาตรา 939 วรรคสามที่บัญญัติว่า 'อนึ่งเพียงแต่ลงลงลายมือชื่อผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย' นั้นหมายความว่า ถ้าผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วเงินอย่างเดียวโดยไม่มีถ้อยคำสำนวน ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง กฎหมายจึงไม่ให้ถือว่าเป็นคำรับอาวัล เพราะการลงลายมือชื่อดังกล่าวเป็นการรับรองการจ่ายเงินตามมาตรา 931 อยู่แล้ว หากมาตรา939 วรรคสามไม่ยกเว้นไว้ก็จะเป็นทั้งคำรับรองการจ่ายเงินและคำรับอาวัลซ้ำกัน ไม่อาจทราบได้ว่าลงลายมือชื่อในฐานะใด
สาขาธนาคาร จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับอาวัลต้องบังคับตามมาตรา 940 คือจำเลยที่ 3 มีความผูกพันอย่างเดียวกับโจทก์ผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งสาขาของตนรับอาวัลจึงเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมาย โจทก์ผู้สั่งจ่ายไม่มีอำนาจสั่งห้ามจำเลยที่ 3 จ่ายเงิน
อำนาจสั่งห้ามตามมาตรา 992 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องเช็คโดยเฉพาะจะนำมาใช้กับตั๋วแลกเงินไม่ได้
Read more

การออกและสลักหลังตั๋วแลกเงิน

มาตรา ๙๐๘ อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

มาตรา ๙๐๙ อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
(๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
(๓) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย
(๔) วันถึงกำหนดใช้เงิน
(๕) สถานที่ใช้เงิน
(๖) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(๗) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
(๘) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

มาตรา ๙๑๐ ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน
ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

มาตรา ๙๑๑ ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

มาตรา ๙๑๒ อันตั๋วแลกเงินนั้นจะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้
อนึ่ง จะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้

มาตรา ๙๑๓ อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ
(๒) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ
(๓) เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ
(๔) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น

มาตรา ๙๑๔ บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา ๙๑๕ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
(๑) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน
(๒) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมีแก่ตนบางอย่างหรือทั้งหมด

มาตรา ๙๑๖ บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา ๙๑๗ อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดั่งนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

มาตรา ๙๑๘ ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา ๙๑๙ คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา ๙๒๐ อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน
ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดั่งกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(๑) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(๒) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(๓) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา ๙๒๑ การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา ๙๒๒ การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไข ถ้าและวางเงื่อนไขบังคับลงไว้อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย
อนึ่ง การสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา ๙๒๓ ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง

มาตรา ๙๒๔ ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินนั้นแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่ายกับสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้นภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น
แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลังแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรองต่อผู้สั่งจ่าย และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น

มาตรา ๙๒๕ เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า “ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ” ก็ดี“เพื่อเรียกเก็บ” ก็ดี “ในฐานจัดการแทน” ก็ดี หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียงในฐานเป็นตัวแทน
ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วยข้อต่อสู้อันจะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น

มาตรา ๙๒๖ เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า”ราคาเป็นประกัน” ก็ดี “ราคาเป็นจำนำ” ก็ดี หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน
คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิด หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นกิจการตามเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ป. ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่ กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับ จำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญา จักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้า บัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2550
จำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาท จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
ข้อที่จำเลยนำสืบเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ ท. นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็น สมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่ ท. ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลัง ถือได้ว่า ท. เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ไม่
จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อ ท. ผู้ทรงคนก่อน การที่ ท. ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยการส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับ ท. ผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และ ท. ผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกันในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 918, 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2549
ตาม ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุวันออกตั๋วคือวันที่ 30 กันยายน 2540 วันถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 31 ตุลาคม 2540 กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ BBL MOR +1 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกมีข้อกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ และมิได้ระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันใด จึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนับแต่วัน ที่ลงในตั๋ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968, 985 เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องบอกกล่าวหรือทวงถามก่อนแต่อย่างใด เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ผู้รับโอนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมจึงมีสิทธิเรียกร้องตามมูล หนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้จากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2548
เช็ค พิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548
เช็ค พิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น
จำเลยจำนำตั๋วแลกเงินเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับจำนำโดยเป็นผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงิน ไว้ในครอบครอง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 และ 766 นั้น เมื่อมีการสลักหลังเพื่อจำนำตั๋วแลกเงิน ผู้ทรงย่อมใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น และผู้รับจำนำตั๋วแลกเงินก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นในวันถึงกำหนด ได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดนำเงินมาหัก ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำแก่จำเลยที่ 1 ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2548
ในกรณีจำนำทรัพย์สินตามปกติทั่วไปนั้น หากผู้รับจำนำจะบังคับจำนำก็ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระ หนี้และอุปกรณ์ในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวผู้รับจำนำจึงชอบที่จะนำทรัพย์สินซึ่ง จำนำออกขายทอดตลาดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยหากมีการตกลงให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่า ด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 756 และแม้เฉพาะในกรณีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่ผู้จำนำนำมาจำนำเป็น ประกันหนี้นั้น ผู้รับจำนำมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าว บังคับจำนำก่อนก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินในวันถึงกำหนดชำระเงินด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 766 การที่โจทก์ใช้วิธีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่รับจำนำไว้ดังกล่าว โดยการนำไปไถ่ถอนก่อนครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งการไถ่ถอนหรือขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋ว นี้ ผู้จ่ายก็ชอบที่จะไม่จ่ายเงินได้จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่กรณีนี้ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นยอมจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่ โจทก์ โดยมีการหักลดเงินตามตั๋วไว้ ทำให้ผู้จ่ายเงินได้ประโยชน์จากส่วนลดนั้น ขณะที่โจทก์ก็ได้ประโยชน์ได้รับเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายต้องเสียประโยชน์จากการที่มีการนำเงินที่ได้จากการไถ่ถอนตั๋ว แลกเงินก่อนวันครบกำหนดน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วซึ่งนำไปหักชำระหนี้ได้น้อย ลง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมิชอบของโจทก์ดังกล่าว จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินส่วนที่ขาดไปนั้น หรือคิดหักชำระหนี้เสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2548
จำเลย ให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ช. เพื่อเป็นหลักประกัน ช. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียก เก็บเงินนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับ ช. ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ที่จะนำสืบ เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ ช. ผู้ทรงย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับ จำเลย ทั้งเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้ผู้ถือ เบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ผู้ทรงรับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่ง จำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547
ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน?" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไป เช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2547
จำเลย ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทอ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ และผู้โอนเช็คพิพาทกับโจทก์ผู้รับโอนคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่อ้าง เมื่อจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้ทรงคนก่อน การที่ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ ทั้งเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ จำเลยไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ ทั้งจำเลยจะอ้างว่าโจทก์และผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินต่อกันหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
(ปัญหานี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2547
จำเลย สั่งจ่ายเช็คให้ใช้เงินแก่ บ. หรือผู้ถือ มีผู้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากโจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับ ผิดตามเช็คได้ จำเลยหาอาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคล ระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยให้การเพียงว่าเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่ บ. ไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพราะจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คนั้นไปแล้ว เป็นการกล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คกับผู้ทรง คนก่อนเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คโดยการคบคิดกันฉ้อฉลกับผู้ทรงคนก่อน อย่างไร จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 916
จำเลยให้การว่าโจทก์ใช้อำนาจในการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตโดยมิได้บรรยายให้ชัด ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท
จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2545
จำเลย ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ มีแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้การยกอายุความขึ้นต่อสู้แต่เนื่องจากมูลความแห่งคดี เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การยกอายุความขึ้นต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงถือได้ว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 4 ด้วย
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกำหนดวันชำระเงินเมื่อทวงถามตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 913(3) ประกอบกับมาตรา 985 ซึ่งอายุความจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ออกตั๋วแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนการทวงถามจำเลยที่ 2 ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2539 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปีเดียวกัน จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 3 ปี ตามมาตรา 1001
โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่ง ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30(2) ข้อกฎหมายดังกล่าวศาลรู้ได้เองโดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ตามที่ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4383/2545
เช็ค พิพาทระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน แต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือจึงเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย หากมีการสลักหลังเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 จึงบัญญัติว่าเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังไม่ ดังนั้น การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาท ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเรียกเก็บเงินผ่านบัญชีของผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทน ของโจทก์ หรือโอนเช็คพิพาทไป เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้เช็คพิพาทกลับมาครอบครอง โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ตามมาตรา 904ไม่อยู่ในฐานะผู้สลักหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดตามมาตรา 1002 ไม่ใช่กรณีที่จะบังคับตามมาตรา 1003ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน
ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็ค มิได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริตหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรง เช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ ดังนั้น โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะยื่นฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9539/2544
เช็ค เป็นตั๋วเงินที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เพื่อทวงถาม ผู้ทรงเช็คจึงมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึง วันที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงเช็คยื่นเช็ค แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวันที่ผู้ทรงอาจบังคับตาม สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12
โจทก์จำเลยตกลงให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คพิพาท เดิม และยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการขาด ตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็ค เมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลงวันออกเช็คในครั้งหลังเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คจึงเป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2543
เช็ค พิพาททั้ง 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายระบุผู้รับเงินคือจำเลยที่ 2โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า ผู้ถือ ในเช็คออก จึงเป็นเช็คผู้ถือผู้จ่ายอาจจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลใดก็ได้ที่มีเช็คอยู่ในครอบครอง การที่จำเลยที่ 2สลักหลังโอนให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339/2539
เช็ค พิพาทเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วส่งมอบให้ธนาคารก.เพื่อขายลดเช็ค ย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นธนาคารก. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ และเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจึงมิใช่การเรียกเก็บเงินในฐานะที่โจทก์ยัง เป็นผู้ทรงเช็คอยู่ครั้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระ เงินตามเช็คให้ธนาคารก.และรับเช็คพิพาทคืนมาโจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลัง หาใช่ผู้ทรงเช็ค ขณะนั้นไม่จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948/2539
ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุว่าผู้ออกตั๋วได้ออกตั๋วเมื่อวันที่17มิถุนายน2528สัญญาว่า จะจ่ายเงิน10,030,000บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5ต่อปีในวันที่ 17มิถุนายน2529ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่17มิถุนายน 2528ซึ่งเป็นวันออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 911ประกอบมาตรา985

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2547
อายุ ความเช็คต้องนับแต่วันที่ลงในเช็คไม่ใช่นับแต่วันมอบเช็คให้ เมื่อขณะที่โจทก์รับมอบเช็ค เช็คยังไม่ลงวันที่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันที่ออก เช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คได้ตาม ป.พ.พ. มารตรา 910 ประกอบมาตรา 989 เมื่อนับจากวันที่ซึ่งปรากฏในเช็คถึงวันฟ้องไม่เกินหนึ่งปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7545/2538
จำเลย เป็นผู้สลักหลังเช็คที่ ย.สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินโจทก์ไม่ได้ รับชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นผู้สลักหลังย่อมต้องรับผิดร่วมกับย . ชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อหนี้เดิมจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ตามเช็คแต่ต่อมาได้ทำสัญญากู้ เงินกันแทนหนี้จำนวนนี้ย่อมเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแม้ ตอนทำสัญญากู้เงินจำเลยมิได้รับเงินจากโจทก์แต่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อน แล้วตามจำนวนหนี้ที่ ย.สั่งจ่ายเช็คและจำเลยเป็นผู้สลักหลังโดยจำเลยไม่จำต้องเกี่ยวข้องหรือมีผล ประโยชน์ร่วมกับ ย. จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้รายนี้เมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์และได้มี การทำสัญญากู้เงินกันแทนถือว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และโจทก์สามารถบังคับให้ ชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามกฎหมายแม้ในวันทำสัญญากู้เงินจำเลยได้สั่งจ่ายเช็ค โดยลงวันที่สั่งจ่ายตรงกับวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญากู้เงินการสั่ง จ่ายเช็คดังกล่าวถือว่าเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับ ได้ตามกฎหมายเมื่อธนาคารปฎิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คการกระทำของจำเลยย่อมเป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2538
จำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอยตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง9ฉบับจำเลยจึงมีความ ผูกพันร่วมกับบริษัทจ.ผู้ออกตั๋วรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง9ฉบับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา919,967และ985 โจทก์แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามหนี้จากจำเลยเมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน2530จำเลยได้รับการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามเมื่อวัน ที่26พฤศจิกายน2530กรณีเช่นนี้ถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยมี ผลตามกฎหมายเมื่อวันที่26พฤศจิกายน2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยให้ ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงินเพราะก่อนหน้า นั้นจำเลยยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท เพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีเท่านั้นเมื่อ จำเลยทราบแล้วเพิกเฉยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดอายุความแห่งสิทธิเรียกร้อง ของโจทก์ต้องเริ่มนับแต่วันที่26พฤศจิกายน2530โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23ธันวาคม2530ยังไม่เกิน1ปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยคดีโจทก์จึง ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2522
เมื่อ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินดังกล่าว หาได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินไม่สัญญาขายลดตั๋วเงินไม่มี กฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะดังนั้น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือมีกำหนดอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2530
ตั๋ว แลกเงินระบุว่า ธนาคาร ฮ.เป็นผู้รับเงิน มีชื่อบริษัทจำเลยและตราบริษัท กับลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งอันหมายความถึง การรับรองตั๋วแลกเงินจึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายหาจำต้องมีข้อความระบุว่า 'ผู้จ่าย' ด้วยไม่ ส่วนบริษัทค.ซึ่งในตั๋วแลกเงินมีระบุชื่อบริษัทดังกล่าวและลายมือชื่อ กรรมการผู้จัดการด้วย จึงต้องถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้สั่งจ่าย และไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า 'ผู้สั่งจ่ายเช่นกัน
ธนาคาร ฮ. ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นผู้ทรงได้สลักหลังให้ธนาคาร ก. จัดการแทน และธนาคาร ก. ได้สลักหลังต่อไปยังโจทก์ในฐานะจัดการแทน โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋ว นั้นได้ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงินและฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2521
ใน กรณีตั๋วแลกเงินมิได้ระบุถึงเรื่องดอกเบี้ยไว้ แม้เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ทรงใช้สิทธิเรียกร้องโดยตรงจากจำเลยที่ 1 ผู้จ่ายซึ่งได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ไม่ใช่เรียกร้องเอาจากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 968 โจทก์ก็มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดชำระและมีการผิด นัดแล้วตามหลักหนี้ทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204,224
เมื่อโจทก์ผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่ วันถึงกำหนดชำระจากบรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นได้แล้วก็ย่อมมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละห้าต่อปีจากจำเลยที่ 1 ผู้รับรองตั๋วแลกเงินซึ่งต้องร่วมกันกับบุคคลดังกล่าวรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรง ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967,968(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2499
หนังสือ ตราสารที่ขาดรายการตาม มาตรา 909 ย่อมไม่เป็นตั๋วแลกเงินที่สมบูรณ์ และเมื่อไม่มีข้อความว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถืออยู่ด้วยแล้ว เพียงการส่งมอบเท่านั้นยังไม่เป็นการโอนโดยชอบ
หนังสือ ตราสารซึ่งไม่มีลักษณะว่าผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินให้แก่อีก บุคคลหนึ่งหรือตามคำสั่งของอีกบุคคลหนึ่งนั้นย่อมไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงิน
Read more

ตั๋วเงิน (บททั่วไป)

มาตรา ๘๙๘ อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่งคือ ตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่ง คือ เช็ค

มาตรา ๘๙๙ ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา ๙๐๐ บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อม จะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงไดหรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา ๙๐๑ ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา ๙๐๒ ถ้าตั๋วเงินลงลายมือชื่อของบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลไซร้ ท่านว่าการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน

มาตรา ๙๐๓ ในการใช้เงินตามตั๋วเงิน ท่านมิให้ให้วันผ่อน

มาตรา ๙๐๔ อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา ๙๐๕ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐๘ บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่ง ข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา ๙๐๖ คำว่าคู่สัญญาคนก่อน ๆ นั้น รวมทั้งผู้สั่งจ่าย หรือผู้ออกตั๋วเงินและผู้สลักหลังคนก่อน ๆ ด้วย

มาตรา ๙๐๗ เมื่อใดไม่มีที่ในตั๋วเงินซึ่งจะสลักหลังได้ต่อไปไซร้ท่านอนุญาตให้เอากระดาษแผ่นหนึ่งผนึกต่อเข้ากับตั๋วเงินเรียกว่าใบประจำต่อ นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งตั๋วเงินนั้น
การสลักหลังในใบประจำต่อครั้งแรกต้องเขียนคาบบนตั๋วเงินเดิมบ้างบนใบประจำต่อบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2550
เช็ค พิพาททั้งสองฉบับระบุจ่ายชื่อโจทก์หรือผู้ถือ จึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาททั้งสองฉบับในขณะที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสอง ฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์ได้สลักหลังโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่ ธนาคาร ม. ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้กลับมาอยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์อีก ในฐานะเป็นผู้รับเงิน โจทก์ย่อมกลับมาเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายอีก ครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 904
จำเลยให้การว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าใด ๆ จากโจทก์ จำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และลาย มือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์ หากศาลฟังว่าโจทก์และจำเลยมีการซื้อขายเพชรพลอยกันจริง การซื้อขายก็ไม่เกิน 3,000,000 บาท ชอบที่จำเลยจะรับผิดเพียง 3,000,000 บาท เพราะเพชรบางรายการจำเลยได้คืนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนตามเช็คทั้งสองฉบับ จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว ครั้งแรกจำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้ซื้อสินค้าใด ๆ จากโจทก์และไม่ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ค่าซื้อสินค้า แต่ขณะเดียวกันจำเลยกลับให้การว่าจำเลยได้คืนเพชรบางรายการให้แก่โจทก์แล้ว หากฟังว่าเป็นหนี้ก็ไม่เกิน 3,000,000 บาท จำเลยไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ซึ่งเท่ากับจำเลยให้การยอมรับด้วยว่า จำเลยได้ซื้อเพชรพลอยไปจากโจทก์และได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์ ไว้ เพียงแต่จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพียง 3,000,000 บาท ตามจำนวนสินค้าที่ซื้อไปจากโจทก์นั่นเอง เช่นนี้ คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง และทำให้จำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามคำให้การดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2550
แม้ ในใบตราส่งช่องลายมือชื่อของผู้ขนส่งที่มุมขวาด้านล่างจะใช้คำว่า VIRGO LINE by LEO TRANSPORT CORPORATION LTD. AS AGENT FOR THE CARRIER ซึ่งแปลได้ความว่าโจทก์ในฐานะตัวแทนเพื่อ VIRGO LINE ผู้ขนส่ง แต่ใบตราส่งนี้เป็นเพียงหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่ตัวสัญญารับขนของทางทะเล และสัญญารับขนของทางทะเลไม่มีแบบ โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารนี้ได้ว่าโจทก์รับขน ของทางทะเลโดยใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่า VIRGO LINE อันเป็นชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และโจทก์ใช้เป็นชื่อในการออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางทะเลมีสิทธิเรียกค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งจากจำเลยที่ 1 และที่ 2
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบธุรกิจค้าขายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยร่วมขายสินค้าและติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งกับชำระค่าจ้างขนส่ง และค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งเป็นผู้ชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งโดยชำระด้วยเช็คส่ง มอบให้โจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นและยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ส่งร่วม กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าทางทะเลดังที่โจทก์นำสืบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2550
โจทก์ ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำข้อเท็จจริงตามบันทึกที่ระบุว่าในกรณีที่เช็คถึงกำหนดชำระแล้วไม่สามารถ เรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยอมรับผิดชอบค่าเสียหายต่อผู้ทรงเช็คในฐานะส่วนตัวมาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้า บัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2550
จำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาท จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
ข้อที่จำเลยนำสืบเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ ท. นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็น สมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่ ท. ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลัง ถือได้ว่า ท. เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ไม่
จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อ ท. ผู้ทรงคนก่อน การที่ ท. ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยการส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับ ท. ผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และ ท. ผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกันในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 918, 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2549
จำเลย ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความใน เช็คนั้น เมื่อจำเลยทั้งหมดให้การต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว โดยจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ให้แก่โจทก์เป็นการตีใช้หนี้ อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดตามเช็ค หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ตีใช้หนี้ตามเช็คฉบับอื่น เป็นเพียงการนำสืบแก้ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นโต้เถียงในคำให้การ เท่านั้น หน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้หาได้ตกอยู่แก่โจทก์ไม่
จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำสืบ แต่นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์แล้วตาม ข้อกล่าวอ้าง หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็ค
แม้โจทก์จะอ้างเอกสารซึ่งเป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายเฉพาะด้านหน้าของเช็คก็ตาม แต่โจทก์อ้างว่าได้มอบต้นฉบับเช็คคืนแก่จำเลยทั้งสองไปแล้ว จำเลยทั้งสองคงคัดค้านเพียงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนา มิได้คัดค้านว่า ต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ทั้งมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ต้นฉบับเช็คอยู่ที่จำเลยทั้งสองจริงหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ศาลจึงรับฟังสำเนาเช็คดังกล่าวประกอบคำเบิกความของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2549
จำเลย และ ป. ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัท ร. ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นกรรมการ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับแม้จะเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ซื้อ แต่เป็นเช็คที่จำเลยและ ป. ร่วมกันออกเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่บริษัท ร. มิใช่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นส่วนตัว บริษัท ร. จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท แม้โจทก์ร่วมจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ร. โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ จำเลยได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7544/2548
จำเลย ต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 การที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้เงินค่าแชร์กับหนี้เงินต้นเงินยืมตามเช็คพิพาทกับ ดอกเบี้ยนั้น ถือว่าจำเลยประสงค์จะนำหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนี้จำเลยจำนวน 800,000 บาท มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามเช็คพิพาทในชั้นศาล โจทก์นำสืบโต้เถียงว่าโจทก์กับจำเลยได้ตกลงหนี้สินระหว่างกันแล้วโดยให้หัก ค่าแชร์ที่โจทก์จะต้องชำระอีก 1,200,000 บาท กับหนี้เงินยืมที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ เมื่อตกลงแล้วโจทก์ได้คืนเช็คตามจำนวนหนี้ที่หักหนี้ให้แก่จำเลยและจำเลยมี หน้าที่ชำระค่าแชร์แทนโจทก์ หลังจากหักหนี้กันแล้วจำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 759,040 บาท ซึ่งจำเลยได้สั่งจ่ายเป็นเช็ค 4 ฉบับ อันเป็นการต่อสู้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยนั้นระงับไปแล้ว ด้วยการหักกลบลบหนี้ โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องชำระแก่จำเลยอีก ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องที่จำเลยนำมาหักกลบลบหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 344 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่" ดังนั้นจำเลยจึงนำสิทธิเรียกร้องค่าแชร์ที่ชำระแทนโจทก์ไปขอหักกลบลบหนี้กับ โจทก์ตามเช็คพิพาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548
เช็ค พิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2548
จำเลย ให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ช. เพื่อเป็นหลักประกัน ช. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียก เก็บเงินนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับ ช. ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ที่จะนำสืบ เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ ช. ผู้ทรงย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับ จำเลย ทั้งเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้ผู้ถือ เบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ผู้ทรงรับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่ง จำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547
ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน?" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไป เช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547
เช็ค พิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2543
จำเลย ที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ได้ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริต กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ได้โอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับและฉบับอื่นให้แก่โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉล โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย คำให้การดังกล่าวเป็นเพียงคำให้การปฏิเสธที่ไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธ ว่า คบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ได้ อย่างไรก็ตามคำให้การที่ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบ เท่ากับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าสิทธิของโจทก์ที่ได้เช็คมานั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คที่ฟ้องในฐานะผู้ทรงเนื่องจากไม่ มีมูลหนี้นั่นเอง จำเลยที่ 1 ย่อมกล่าวอ้างและนำสืบได้เพราะเป็นการยกข้อต่อสู้ที่มีต่อโจทก์ซึ่งเป็น ผู้ทรงคนปัจจุบัน มิใช่ข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ทรงคนก่อน ๆ อันจะเป็นการขัดต่อมาตรา 916

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
จำเลย ให้การว่า จำเลยกู้เงินบ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมาบ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
เช็ค เป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรง ทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้นข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นการห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่จำเลยออกเช็คพิพาทโดยขีดเส้นสีดำในช่องวันที่ไว้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 899 กรณีถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารย่อมลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้ายประกอบ มาตรา 989 จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อ บ. เป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกแม้จำเลยอ้างว่าประสงค์จะออกเช็คระบุชื่อ แต่ด้วยความไม่สันทัดของจำเลยจึงมิได้ ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกก็ตาม ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ มีผลเป็นการประกัน หรืออาวัลผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึงไม่ต้องมีการเขียน ข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัลอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1084/2542
จำเลย สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คถึงกำหนด แม้โจทก์จะนำเข้า บัญชีมารดาโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินและถูกธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงการนำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินโดย อาศัยบัญชีของมารดาแทนเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่มารดาโจทก์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและ เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีได้ การที่โจทก์เป็น ผู้ทรงเช็คพิพาท นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารตามเช็คเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายฉะนั้น ไม่ว่าโจทก์จะนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เองเพื่อเรียก เก็บเงิน หรือเข้าบัญชีของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงินแทนก็เป็น เพียงรายละเอียดในการนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเท่านั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงมิใช่แตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็น เหตุให้ศาลยกฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2541
เช็ค พิพาทเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ ผู้ทรงคนเดิม มีสิทธิโอนต่อให้บุคคลอื่นได้และย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918ประกอบมาตรา 989 เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทโดยการส่งมอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ครอบครองเช็คในฐานเป็นผู้รับเงินโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท โดยชอบตามมาตรา 904 และมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้สั่งจ่ายให้รับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทได้ เช็คพิพาทนั้นไม่ปรากฏข้อความในเช็คว่าจำเลยที่ 2ได้เขียนระบุว่าได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย แม้จำเลยที่ 2 ประทับตราของจำเลยที่ 1ในเช็คพิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ได้กรณีจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยมิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 901

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7121/2539
จำเลย ที่1และที่2เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของบริษัทอ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นของบริษัทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ของบริษัทและของจำเลยที่1แต่จำเลยที่1และที่2มิได้ประทับตราของบริษัทด้วย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1และที่2ไม่ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยระบุว่า กระทำการแทนบริษัทดังกล่าวดังนั้นจำเลยที่1และที่2จึงต้องร่วมกันรับผิดตาม เนื้อความที่ปรากฏในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา900,901

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2537
จำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนคือ ท. หรือน. ร่วมกับกรรมการอื่นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ระบุให้ชัดว่ากระทำแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2536
เมื่อ ได้ความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์โดยมีมูลหนี้ระหว่างกันจึงหาต้องคำนึง ถึงการรับโอนของผู้ทรงคนต่อมาว่าสุจริตหรือไม่ เพราะจำเลยไม่สามารถยกข้อต่อสู้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ขึ้นต่อสู้ผู้ทรงคนก่อน ได้อยู่แล้ว เช็คพิพาทเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับดวงตราสำคัญแบบใหม่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนการใช้ จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย แต่การที่เช็คพิพาทลงลายมือชื่อบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลยหรือเป็นได้แต่ไม่ เต็มผล ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 902 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามเช็ค จำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพียงแต่อ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ดังนี้แม้เช็คพิพาทจะปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5250/2533
เช็ค ผู้ถือมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แม้จะมีข้อความอื่นบันทึกไว้ด้านหลังเช็คและถูกขีดฆ่าก่อนที่โจทก์ได้รับมา ข้อความดังกล่าวก็หามีผลกระทบต่อเช็คไม่ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เช็คมาโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์เป็นธนาคารได้รับเช็คจากลูกค้าเพื่อชำระหนี้ตามปกติทางการค้า หาจำต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถึงที่มาหรือฐานะของผู้สั่งจ่ายเช็คไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์คบคิดกับลูกค้าฉ้อฉลจำเลย จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2528
ข้อ สัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างโจทก์จำเลยมีว่า การสั่งจ่ายเช็คต้องลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดย ฉ. และ จ. ร่วมกันพร้อมทั้ง ประทับตราบริษัทโจทก์เป็นสำคัญ เช็คพิพาททั้งสองฉบับปรากฏว่า ลายมือชื่อจ.เป็นลายมือปลอมเช็คนั้นจึงเป็นอันใช้ไม่ได้เลย เพราะมีแต่ฉ.ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่ผู้เดียวจำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ดังกล่าวย่อมไม่ทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นและยังเป็นการผิดสัญญา เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวด้วย การที่ ฉ. ลง ลายมือชื่อแท้จริงในเช็คไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์อยู่ในฐานเป็น ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทั้งกรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1006 การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ที่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายปลอม โดยที่จำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า โจทก์ได้ทำปลอมหรือได้ร่วมกระทำปลอมแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธินำจำนวนเงินที่จ่ายไปตามเช็คมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ว่าโจทก์ เป็นลูกหนี้จำเลยและโจทก์มีสิทธิให้จำเลยเพิกถอนรายการนั้นเสียได้
โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและให้ จำเลยคืนเงินที่จำเลยจ่ายไปตามเช็คซึ่งลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายเป็น ลายมือชื่อปลอม แล้วนำจำนวนเงินนั้นมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แสดงว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนธันวาคม 2518 และฟ้องคดีนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2525 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2521
การ ที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินยอมผ่อนเวลาให้กับผู้ออกตั๋วนั้นไม่เป็นเหตุให้ ผู้รับอาวัลหลุดพ้นจากความรับผิด เพราะผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกันจึง อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับผู้ออกตั๋ว และไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตามหลักทั่วไปในเรื่องค้ำประกัน
ผู้รับอาวัลสั่งจ่ายเช็คจำนวนหนึ่งผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้ เงินเป็นการรับสภาพหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น และย่อมเป็นเหตุให้อายุความสดุดหยุดลง
Read more

การประกันชีวิต

มาตรา ๘๘๙ ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา ๘๙๐ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา ๘๙๑ แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐๙ มาใช้บังคับ

มาตรา ๘๙๒ ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา ๘๖๕ ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น

มาตรา ๘๙๓ การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน

แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา ๘๙๔ ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

มาตรา ๘๙๕ เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใดท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(๑) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญาหรือ
(๒) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ ๒ นี้ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

มาตรา ๘๙๖ ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย

มาตรา ๘๙๗ ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2559
ข้อที่โจทก์แก้ฎีกาอ้างมาเป็นเหตุผลบางประการที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาประกอบคำวินิจฉัยให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ฉ้อฉลหลอกลวงในประเด็นว่าจำเลยทั้งสามใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตตามฟ้องหรือไม่ แม้ฎีกาของจำเลยที่ 1 จะไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาวินิจฉัยดังกล่าวโดยตรงก็ตาม แต่เมื่ออ่านฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งฉบับแล้ว ก็เห็นได้ว่าเนื้อหาของฎีกาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องและมีรายละเอียดแสดงเหตุผลว่าที่ถูกควรเป็นเช่นไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)

พฤติการณ์ของโจทก์บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอให้โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 และร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการประกันชีวิตให้โจทก์มาก่อนลงลายมือชื่อเป็นตัวแทนในใบคำขอเอาประกันชีวิตของโจทก์และเอกสารที่เกี่ยวข้องยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฉ้อฉลโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559
โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557
สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423 - 6424/2555
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711 - 11712/2554
เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156

เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย

แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2550
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รถยนต์พิพาทถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนทำให้คนบนรถยนต์พิพาทรวม 4 คนเสียชีวิต โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรวม 4 คน ๆ ละ 50,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตไป โจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 กับพวกได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2548
ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ถึงโจทก์ผู้รับประโยชน์บอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหม มรณกรรม จึงเป็นการผิดสัญญาและถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2546
ตาม กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัย ต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้ เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตายและค่ารักษาพยาบาลผู้บาด เจ็บซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นการ ประกันชีวิตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2544
ธุรกรรมของจำเลยในการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภท สงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทร โดยการจ่ายจำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ก็คือการรับประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889

เมื่อ อ. พนักงานของจำเลยได้รับคำขอและเงินฝากงวดแรกจาก ช. อ. ต้องส่งเรื่องไปให้ผู้อำนวยการภาคของจำเลยเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ ภายใน 1 เดือนนับแต่จำเลยได้รับเงินฝากงวดแรกของ ช. คือภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้อำนวยการภาคของจำเลยได้พิจารณาอนุมัติให้ออก กรมธรรม์ให้แก่ ช. ย่อมแสดงชัดว่าจำเลยยอมรับว่า ช. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ ส่วนข้อกำหนดในคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่ม ไทรที่ว่า "ข้าพเจ้ายอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใด ๆ กับข้าพเจ้าจนกว่าธนาคารจะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว..." นั้น ย่อมมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ที่จำเลยกำหนดไว้เท่านั้น

จำเลยผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันรับฝากเงินคือภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนซึ่งขณะนั้น ช. ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้ง ช. ยังได้ส่งเงินฝากงวดที่ 2 ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนก่อนวันครบกำหนดคือวันที่ 3 ถึงสองวันด้วยกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ เพราะกรมธรรม์ออกให้แก่ ช. ล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียว เท่านั้นข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนใน เรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2544
ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิต ของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แม้จะเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่ก็มิใช่กรณีที่ผู้ตายเอาประกันชีวิตตนเองจึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญา ว่าประสงค์ที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ตกได้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยโดย ตรง มิใช่เป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้ตาย ดังนั้นโจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อการเสีย ชีวิตของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึง แก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยัง มีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและ จำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมี ลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์ อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงิน ประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540
ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการ เสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของ บุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา889หา ใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการ ประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่าง กรณีการประกันวินาศภัยดังนั้นแม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อ ฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2536
การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895(1) บัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยเนื่องมาจากผู้เอาประกันภัย กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญานั้นก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้ทำสัญญาประกันชีวิตทำอัตวินิบาต กรรมอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อต้องการให้ผู้รับประโยชน์ได้รับเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิต นั้น ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้รับประกันภัย ดังนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา แม้การกระทำจะเกิดผลสำเร็จโดยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตามแต่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำดังกล่าว ผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ผู้รับ ประโยชน์ตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2536
ผู้ เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะ ของตนเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคแรก มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียก เบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะถือว่าการที่ผู้รับประกันภัยไม่ตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก่อนเป็น การละเลยหาได้ไม่ แม้การประกันชีวิตในทุนประกันภัยต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไม่ จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับประกันภัย ไม่ถือเอาเรื่องสุขภาพของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ สัญญาประกันภัยชีวิตที่กระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรก เป็นโมฆียะมีผลให้ผู้รับประกันภัยใช้สิทธิบอกล้างได้ หากผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมใช้บังคับได้ จึงเป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยจะบอกล้างหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิบอกล้างแต่เพียงเฉพาะสัญญารายใดก็หาเป็นการไม่ ชอบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2534
ล. รู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิตล. โดยไม่ทราบการเป็นโรคไตร้ายแรงดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็น โมฆะ ดังนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตาม สัญญาประกันชีวิตได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2532
แม้ สัญญาประกันภัยจะไม่คุ้มครองการทำร้ายหรือฆาตกรรมก็ตามแต่ เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าผู้เอาประกันถึงแก่ความตายเพราะถูก คนร้ายใช้ อาวุธปืนยิง เพราะยังไม่ปรากฏว่าคนที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เอาประกันเป็นใครแล้ว นับว่าการตาย ของผู้เอาประกันเกิดขึ้นโดย อุบัติเหตุ ผู้รับประกันภัยคุ้มครองมรณกรรมเนื่องจากอุบัติเหตุจะปฏิเสธความรับผิดหาได้ ไม่ เมื่อผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันได้ แจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบถึง อุบัติเหตุและได้ ส่งหลักฐานความเสียหายไปให้ผู้รับประกันภัยครบถ้วนแล้ว ผู้รับประกันเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ ผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย ของเงินที่ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับ นับแต่วันผิดนัด ในคดีที่โจทก์ฟ้องและดำเนินคดีอย่างคนอนาถามาโดยตลอดค่าธรรมเนียมในศาลที่ จำเลยจะต้อง ใช้ แทนโจทก์ชั้นศาล ต้อง สั่งให้จำเลยชำระต่อ ศาลในนามของโจทก์ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 158

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2531
ผู้ เอาประกันชีวิตทราบก่อนทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยว่าตนเป็นโรคพิษสุรา เรื้อรังจนตับอักเสบแต่มิได้แจ้งให้จำเลยทราบซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียก เบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิตสัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยมีสิทธิบอกล้างได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันชีวิตตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด ดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2530
ขณะ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำ ณ. เข้าสืบยังอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานประเด็นโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้แถลงหมด พยานทั้งหมดแม้จำเลยจะนำพยานเข้าสืบบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามโจทก์นำ พยานมาสืบเพิ่มในกรณีนี้ จึงรับฟังคำพยานของ ณ. ได้ กรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุที่ ส. เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าในกรณีที่ ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินจำนวนประกันรวมจำนวนเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ผู้รับ ประโยชน์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ส.ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตามแต่เหตุที่ทำให้ส. ถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้าน หลังล้มหงายศีรษะฟาด พื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไข แห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา จำเลยที่ 3 ตัวแทนเชิด เก็บเบี้ยประกันตามที่ได้รับมอบหมายมาให้จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยยังไม่ออกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยโดยผ่านทางจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว กรมธรรม์จึงยังไม่สิ้นผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2530
ขณะ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำ ณ. เข้าสืบยังอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานประเด็นโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้แถลงหมด พยานทั้งหมดแม้จำเลยจะนำพยานเข้าสืบบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามโจทก์นำ พยานมาสืบเพิ่มในกรณีนี้ จึงรับฟังคำพยานของ ณ. ได้ กรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุที่ ส. เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าในกรณีที่ ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินจำนวนประกันรวมจำนวนเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ผู้รับ ประโยชน์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ส.ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตามแต่เหตุที่ทำให้ส. ถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้าน หลังล้มหงายศีรษะฟาด พื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไข แห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา จำเลยที่ 3 ตัวแทนเชิด เก็บเบี้ยประกันตามที่ได้รับมอบหมายมาให้จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยยังไม่ออกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยโดยผ่านทางจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว กรมธรรม์จึงยังไม่สิ้นผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2522
จำเลย ขับรถยนต์โดยประมาททำให้คนตาย โจทก์เป็นทายาทฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายเช่าซื้อมาและต้องรับ ผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อได้โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิตผู้ตายแล้ว ไม่ทำให้หมดสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าเสียหายด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2522
โจทก์ มิได้รับการตรวจสุขภาพ มิได้รับการฉายเอ๊กซเรย์และตรวจคลื่นหัวใจและจำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงให้โจทก์เอาประกันชีวิตโดยแจ้งว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพแล้วจัดหา บุคคลอื่นไปรับการตรวจสุขภาพแทน ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์มีสุขภาพดี และรับประกันชีวิตโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยเข้าใจผิดว่าได้ ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว ซึ่งถ้าโจทก์รู้ว่าเป็นการไม่ชอบก็จะไม่ทำสัญญาด้วย

จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของจำเลยที่ 1ขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะทำฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะโจทก์บอกล้างโดยชอบแล้วสัญญาดังกล่าว จึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดส่งคืนเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2516
หน้าที่ เปิดเผยข้อความจริงของผู้เอาประกันภัย มิได้สิ้นสุดลงเพียงในชั้นยื่นคำเสนอขอเอาประกันภัยโดยกรอกคำตอบในแบบคำขอ นั้นเท่านั้น แต่ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาในระหว่างนั้นเรื่อยไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัย สนองตอบรับจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วระหว่างคู่กรณี ฉะนั้น ในกรณีประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันภัยจะได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแล้ว โดยเฉพาะในข้อถามที่ 7 ว่า ตนไม่เคยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ โรคตับอักเสบ ฯลฯ ยื่นส่งแก่บริษัทประกันภัยไปแล้วก็ตาม ถ้าภายหลังนั้นผู้เอาประกันภัยเกิดป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรค กระเพาะอาหารและโรคตับแข็งซึ่งเป็นผลให้ข้อความจริงซึ่งได้แถลงไปแล้วแต่แรก นั้นคลาดเคลื่อนไม่ตรงต่อความเป็นจริง และผู้เอาประกันภัยย่อมทราบว่ายังอยู่ในระหว่างเวลาที่บริษัทยังพิจารณาคำขอ และยังมิได้ออกกรมธรรม์ตอบรับมา ทั้งข้อถามต่างๆ ในแบบคำขอนั้น ผู้เอาประกันภัยเองก็ได้ทราบและรับรองไว้ว่าเป็นข้อความจริงอันเป็นมูลฐาน และสารสำคัญแห่งการออกกรมธรรม์ของฝ่ายผู้รับประกันภัยดังนี้ ย่อมมีผลให้สัญญาไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างและคืนแต่ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ทายาทของผู้ เอาประกันภัยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2513
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 894 ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยในเวลาใด ๆ ก็ได้ ด้วยการงดส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปี ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยหรือรับ กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

เมื่อ ผู้เอาประกันภัยงดส่งเบี้ยประกันภัย ก็ต้องถือว่าบอกเลิกสัญญาประกันภัยแล้วนับแต่วันที่งดส่งเบี้ยประกันภัยเป็น ต้นมา หาจำต้องบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ แม้เงื่อนไขแห่งกรมธรรม์จะระบุว่าหากผู้เอาประกันภัยกลับมาต่ออายุสัญญาใหม่ ภายในกำหนดห้าปี เบี้ยประกันภัยที่ชำระไว้แล้วจะไม่ถูกริบ ก็กำหนดไว้ด้วยว่าการต่ออายุสัญญาต้องตรวจสุขภาพผู้เอาประกันภัยตามระเบียบ เมื่อผู้เอาประกันภัยมิได้กลับมาต่ออายุสัญญาจนกระทั่งผู้รับประกันภัยถูก ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิได้รับเพียงเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เท่านั้น

เงื่อนไข แห่งกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้เอาประกันภัยโดยเริ่มเฉลี่ยให้ทุกปี หลังจากเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยไว้ครบสองปีแล้ว ตามเงื่อนไขนี้หมายความว่าผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินปันผลให้เมื่อสัญญา ประกันภัยยังมีอยู่ หากสัญญาประกันภัยเลิกกันแล้วผู้เอาประกันภัยหามีสิทธิได้รับเงินปันผลต่อไป ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2513
การละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ย ประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 จะต้องพิจารณาถึงความสำคัญของข้อความที่ละเว้นไม่เปิดเผยด้วยมิใช่ว่าถ้ามี การปกปิดความจริงแล้วจะทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะไปเสียทั้งหมด

โรคไส้เลื่อนมิใช่เป็นโรคอันตรายร้ายแรง เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายไปได้การที่ผู้เอาประกันมิได้แจ้งเรื่องเคยเป็นโรคนี้ และได้รับการผ่าตัดมาก่อนให้ทราบ ยังไม่ถึงขนาดที่จะอนุมานเอาได้ว่า ถ้าได้แจ้งเช่นนั้นผู้รับประกันภัยจะบอกปัดไม่รับประกันหรือเรียกเบี้ย ประกันให้สูงขึ้น จึงไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2507
การประกันชีวิตซึ่งตามกรมธรรม์ระบุไว้ว่า ถ้าผู้เอาประกันไม่ชำระเบี้ยประกันคราวใดเมื่อถึงกำหนด กรมธรรม์เป็นอันสิ้นอายุ นั้น เมื่อผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันเมื่อพ้นกำหนดเวลาและล่วงพ้นวันผ่อนตามที่ กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว กรมธรรม์เป็นอันสิ้นอายุ ไม่มีผลผูกพันต่อไป บริษัทรับประกันจึงไม่ต้องรับผิด แม้ต่อมาผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายก็ตาม

ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันที่มีเงื่อนไขว่ายังไม่สมบูรณ์มีผลบังคับจนกว่าจะ ได้ปฏิบัติตามระเบียบการต่ออายุกรมธรรม์นั้น จะถือว่าการชำระเบี้ยประกันสมบูรณ์และเป็นการต่ออายุกรมธรรม์ย่อมไม่ได้
Read more