สิทธิจำนองครอบเพียงใด

มาตรา ๗๑๕ ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ดอกเบี้ย
(๒) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
(๓) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง

มาตรา ๗๑๖ จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา ๗๑๗ แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง
ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดั่งว่านี้หากมิได้จดทะเบียน ท่านว่าจะยกเอาขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่

มาตรา ๗๑๘ จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้

มาตรา ๗๑๙ จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง
แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

มาตรา ๗๒๐ จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

มาตรา ๗๒๑ จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10532/2551
จำเลย ที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 12844 ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ภายหลังจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอม ซึ่งการจะจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวได้ต้องไม่ทำให้เป็นที่เสื่อม เสียสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 722 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดถึง 9 ครั้ง ไม่สามารถขายได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการจดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์ หากมีการจดทะเบียนภาระจำยอมทำให้ราคาทรัพย์จำนองลดลงเป็นที่เสื่อมเสียสิทธิ ของจำเลยที่ 2 ในเวลาบังคับจำนอง สิทธิจำนองของจำเลยที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนย่อมเป็นใหญ่กว่าภาระจำยอมของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาหนองแค เพื่อทำการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314 - 8315/2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยพิมพ์ตัวเลขโฉนดที่ดินผิดพลาด ศาลชั้นต้นมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นเพียงการแก้ไขในรายละเอียดให้ตรงตามความเป็นจริง มิใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นผลทำให้คำพิพากษา เปลี่ยนแปลงไป

โฉนดที่ดินที่จำนองมีการแบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดี เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมิได้ตกลงยินยอมให้จำเลยทำการแบ่งแยกที่ดินที่ จำนองออกไปโดยปลดจากการจำนอง ต้องถือว่าการจำนองยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนที่แบ่งแยกออกไป อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดิน ที่จำนองอย่างทรัพย์ที่จำนองได้ มิใช่เป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยอันจะทำให้การบังคับคดีไม่ เป็นไปตามคำพิพากษา

คำพิพากษาที่ 3793/2551
ป.พ.พ. มาตรา 719 วรรคสอง ให้อำนาจแก่ผู้รับจำนองที่จะยึดเอาสิ่งปลูกสร้างอันผู้จำนองปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะยึดสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 พร้อมกับที่ดินด้วยโดยไม่จำต้องขอให้ศาลระบุในหมายบังคับคดีว่าให้ยึดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองด้วย และมิใช่เป็นการบังคับคดีเกินหรือนอกเหนือจากที่ได้ระบุในหมายบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์ไม่จำต้องแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าหากขายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินรวมไปด้วยจะทำให้การขายทอดตลาดกระทำได้ง่ายและจะได้ราคาแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2550
ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า "วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท" นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า "เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท" ข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม" จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องใน ต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน

ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง

จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อ ชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย โดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วแต่กรณี

จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคาร ม. เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนองดังกล่าว ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,00,000 บาท อีกต่างหาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย

คำพิพากษาที่ 7569/2549
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนด
การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 มีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งสัญญาจำนองที่ดินก็ระบุให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่หนี้จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน

คำพิพากษาที่ 5414/2549
สัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งหนี้ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้จึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่โจทก์นำมาฟ้องบังคับจำเลยผู้ลงลายมือชื่อไว้ได้ ส่วนจำนวนเงินกู้ที่ระบุไว้ 800,000 บาท เมื่อจำเลยต่อสู้และนำสืบพยานหลักฐานหักล้างและฟังได้ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เพียง 400,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญาจำนองนั้นไม่สมบูรณ์เท่านั้น มิใช่กรณีที่ทำให้สัญญาจำนองเป็นเอกสารที่มีการทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

คำพิพากษาที่ 3987/2546
โจทก์ทำสัญญากู้เงินไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ และตกลงทำหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ระบุว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่ผู้จำนองเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือจะเป็นหนี้ต่อไปในภายหน้าก็ตาม ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายอย่างชัดแจ้งว่าสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวนอกจากจะเพื่อเป็นประกันเงินที่โจทก์กู้จากจำเลยแล้ว ยังเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยอีก เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังค้างชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายตั๋วสัญญาใช้เงินแก่จำเลย ถือได้ว่าโจทก์ยังมีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองรายนี้อยู่ แม้โจทก์จะชำระหนี้ที่โจทก์กู้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองก็ยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาที่ 3775/2546
การที่จำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา คงมีผลเพียงว่า ภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
สัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง เป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐาน ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินรายนี้ได้

คำพิพากษาที่ 5941/2545
โจทก์และจำเลยถูกผู้ร้องฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์สินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุด โดยศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับจำนองทรัพย์พิพาทไว้โดยไม่สุจริต ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมจำนอง จึงพิพากษายกฟ้อง ผลของคดีดังกล่าวย่อมผูกพัน คู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทได้ นิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์พิพาทได้ทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้ ส่วนคดีที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแม้ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่ผู้ร้องก็มีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว หามีผลต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาที่ 4038/2543
เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามหมายบังคับคดีโดยยึดและขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรวมทั้งรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษา เป็นการทำไปในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ถือว่าเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยในวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดเป็นเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในหนี้จำนองถึงวันขายทอดตลาดเท่านั้น ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยเสร็จล่าช้าไปหลายปีนับแต่วันขายทอดตลาดก็เพราะมีผู้เข้าสู้ราคาคัดค้านการขายทอดตลาด และโจทก์คัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยในเรื่องจำนวนเงินตามบุริมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้จำนองที่โจทก์จะได้รับ จำเลยหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยเสร็จล่าช้าไม่จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์หลังจากวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนองอีกต่อไป

คำพิพากษาที่ 1901/2542
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินประกันหนี้ ของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดวงเงินไว้ 710,000 บาท 1,120,000 บาท และ 870,000 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีความรับผิดชอบตามสัญญาจำนองในต้นเงินดังกล่าว ส่วนข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่กำหนดว่าจำนวนเงินต้น ตามสัญญาไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนองจะบังคับจำนองสำหรับต้นเงิน ที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ย หรือหนี้อุปกรณ์ รวมกันเกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้น เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้เพราะ ผู้จำนองต้องรับผิดดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตาม สัญญาจำนองไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดทีได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีดอกเบี้ยหรือ หนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินเท่านั้น

คำพิพากษาที่ 2826/2541
แม้จะมีการแบ่งแยกที่ดินที่จำนองออกเป็นหลายแปลงก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ตกลงยินยอมให้จำเลยทำการแบ่งแยกที่ดินที่จำนองออกไปโดยปลอดจากการจำนอง ต้องถือว่าการจำนองยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนที่แบ่งแยกออกไปด้วยกันอยู่นั่นเอง ตามป.พ.พ.มาตรา 717 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกออกไปจากที่ดินที่จำนองอย่างทรัพย์ที่จำนองได้

คำพิพากษาที่ 715/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา715ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์คือดอกเบี้ยด้วยและตามสัญญาจำนองระบุว่าผู้จำนองตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ15ต่อปีโดยส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้งการคิดดอกเบี้ยให้คิดทบต้นตามวิธีการของธนาคารข้อตกลงอื่นๆให้เป็นไปตามสัญญาต่อท้ายและให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจำนองซึ่งตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดว่าผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15ต่อปีในจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ผู้จำนองเป็นหนี้เงินดอกเบี้ยนี้จะได้คิดในยอดเงินคงเหลือประจำวันและผู้จำนองยอมส่งดอกเบี้ยทุกๆเดือนเสมอไปหากผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่กล่าวนี้ยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบต้นในบัญชีของผู้จำนองด้วยโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราดังกล่าวได้ตามข้อตกลงในสัญญาจำนองดังกล่าวเมื่อดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ถูกทบเข้าเป็นต้นเงินเสียแล้วจึงไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี

คำพิพากษาที่ 4175/2539
จำเลยในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องบังคับยึดทรัพย์จำนองรวมถึงทรัพย์พิพาทในคดีนี้ให้บริษัทส.ชำระหนี้จำนองโดยการขายทอดตลาดรวมทั้งทรัพย์พิพาทตามที่บริษัทส.เป็นลูกหนี้อยู่ดังนั้นเมื่อโจทก์อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทที่อาจจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทหากปล่อยให้จำเลยบังคับคดีโดยการขายทอดตลาดโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัทส.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา230 หนี้จำนองที่บริษัทส.มีต่อจำเลยในคดีนี้ยังมีเหลืออยู่อีกจำนวน5,396,629.37บาทแต่มีทรัพย์จำนองเป็นประกันในการชำระหนี้ที่ดินพิพาทแปลงนี้เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวการที่จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจึงต้องเป็นการชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัทส. เป็นหนี้จำเลยอยู่คือจำนวน5,396,629.37บาทโจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียงจำนวน386,784.60บาทหาได้ไม่ทั้งนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา716และ717วรรคหนึ่งโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับไถ่ถอนจำนองจากโจทก์ต่ำกว่าหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้อยู่ได้

คำพิพากษาที่ 2410/2524
บ้านเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงนั้น ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานเป็นอย่างอื่นผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้น ดังนั้น การจำนองหรือการโอนที่ดินถ้าหากไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขว่าจำนองหรือโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านอันเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ก็ต้องถือว่าได้จำนองหรือโอนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้นด้วย โดยไม่จำต้องระบุว่าการจำนองหรือโอนนั้นให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นด้วย

คำพิพากษาที่ 2521/2516
ผู้ที่มิใช่เจ้าของทรัพย์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำทรัพย์นั้นไปจำนอง
แม้เอกสารต่อท้ายสัญญาจำนองจะมีข้อความระบุว่าผู้จำนองได้จำนองสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังจำนองด้วย ข้อความดังกล่าวก็ย่อมหมายถึงสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนองเท่านั้น ไม่รวมถึงทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกด้วย ผู้รับจำนองจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายสิ่งปลูกสร้างของบุคคลภายนอกซึ่งได้ปลูกสร้างไว้บนที่ดินของผู้จำนอง

คำพิพากษาที่ 1096 - 1097/2510
เรือน 3 หลังปลูกติดต่อเป็นหลังเดียวกัน ทำรั้วบ้านด้านข้างติดต่อรั้วเดียวกันมีนอกชานด้านหน้าซึ่งทำประตูเข้าไว้ตรงนอกชานทั้งปรากฏว่าเจ้าของได้อยู่อาศัยอย่างเป็นบ้านเดียวกันมาหลายสิบปีและส่วนของสิ่งปลูกสร้างของเรือนหลังหนึ่งล้ำเข้าไปอยู่ในเรือนของอีกหลังหนึ่ง ตัวเรือนมีชายคาติดต่อต้องใช้รางน้ำร่วมกัน แม้เรือนทั้ง 3 หลังจะปลูกต่างปีกัน ก็ฟังได้ว่าเรือนทั้ง 3 หลังนั้นเป็นส่วนควบซึ่งกันและกัน