ขายฝาก


มาตรา ๔๙๑  อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา ๔๙๒ ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๓๓ วรรคสาม

มาตรา ๔๙๓  ในการขายฝาก คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้ ถ้าและผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้ ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น

มาตรา ๔๙๔  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(๑) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(๒) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา ๔๙๕  ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์

มาตรา ๔๙๖ กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๙๔ ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๙๔

การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา ๔๙๗  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ

(๑) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ

(๒) ผู้รับโอนสิทธินั้น หรือ

(๓) บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้

มาตรา ๔๙๘  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ

(๑) ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม หรือ

(๒) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

มาตรา ๔๙๙  สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี[๑๑]

มาตรา ๕๐๐  ค่าฤชาธรรมเนียมการขายฝากซึ่งผู้ซื้อได้ออกไปนั้น ผู้ไถ่ต้องใช้ให้แก่ผู้ซื้อพร้อมกับสินไถ่

ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ทรัพย์นั้น ผู้ไถ่พึงออกใช้

มาตรา ๕๐๑  ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

มาตรา ๕๐๒  ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าบุคคลผู้ไถ่ย่อมได้รับคืนไปโดยปลอดจากสิทธิใด ๆ ซึ่งผู้ซื้อเดิม หรือทายาท หรือผู้รับโอนจากผู้ซื้อเดิมก่อให้เกิดขึ้นก่อนเวลาไถ่

ถ้าว่าเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างขายฝากอันได้จดทะเบียนเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไซร้ ท่านว่าการเช่านั้นหากมิได้ทำขึ้นเพื่อจะให้เสียหายแก่ผู้ขาย กำหนดเวลาเช่ายังคงมีเหลืออยู่อีกเพียงใด ก็ให้คงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เพียงนั้น แต่มิให้เกินกว่าปีหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559
      บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559
            ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ ส่วนบ้านไม่มีเลขที่ ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านหลังไม่มีเลขที่บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวในที่ดินที่ขายฝากต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้ห้ามปราม จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างย่อมเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกำหนดในสัญญา การปลูกสร้างบ้านไม่มีเลขที่บ้านของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยเด็ดขาด กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะใช้ปรับได้โดยตรง จึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยผู้สร้าง และการที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างบ้านต่อไปในที่ดินของโจทก์โดยมิได้ห้ามปรามถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11102/2558
           คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ราคา 50,000 บาท และวินิจฉัยว่าจำเลยใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากไม่ชอบเนื่องจากก่อนนำเงินสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์จำเลยไม่เคยมาพบโจทก์เพื่อขอชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ และพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายฝาก กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงย่อมฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในราคา 50,000 บาท จึงถือได้ว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งมีเพียง 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ 51,000 บาท โดยนำเงินที่จำเลยวางเป็นค่าใช้จ่ายการวางทรัพย์ 1,000 บาท มารวมเป็นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากโดยชอบเพราะก่อนที่จำเลยจะนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์นั้น จำเลยได้พบโจทก์และขอให้โจทก์รับสินไถ่แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาตามฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2558
           คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในราคา 8,500,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี โจทก์ได้รับเงินค่าขายฝากครบถ้วน แล้วโจทก์ไม่ไถ่คืนภายในกำหนดและไม่ออกไปจากที่ดินที่ขายฝาก ขอให้ขับไล่และเรียกค่าขาดประโยชน์ โจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยชำระเงินค่าขายฝากไม่ครบ ขาดอยู่ 1,500,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับเงินค่าขากฝากครบจำนวนตามข้อความที่ระบุในสัญญาขายฝาก พิพากษาให้ขับไล่โจทก์พร้อมชำระค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในราคา 8,500,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี จำเลยชำระเงินค่าขายฝากให้แก่โจทก์แล้ว 7,000,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,500,000 บาท ยังไม่ชำระ ขอให้จำเลยชำระส่วนที่เหลือ เช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยคดีว่าจำเลยคดีนี้ชำระเงินค่าขายฝากให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์คดีนี้จึงตกอยู่ภายใต้บังคับเรื่องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 จึงไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยคดีนี้จะมิได้ยกเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2558
          ที่ดินและบ้านพิพาท ป. ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจาก ป. และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน จึงเป็นสินสมรส เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีที่ ป. ถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ป. เมื่อที่ดินและบ้านส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก น. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกแก่ น. และนำไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับ น. หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของตน การจดทะเบียนขายฝากไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. คนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่ น. จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นของตนแต่ผู้เดียวและนำไปขายฝากให้โจทก์ ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจของการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะทายาทเห็นว่า ไม่ถูกต้องและทำให้ตนได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น. ได้ การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง เมื่อการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกชอบและไม่มีการไถ่การขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านส่วนนี้จึงตกเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 2 ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาท จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557
           ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557
           การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16134/2557
           แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อฝากที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้ ทั้งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น การที่ปรากฏจากการจดทะเบียนว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาหลายครั้ง โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมย่อมทำให้มีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถทำนิติกรรมได้ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 มีความประมาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้เป็น 300,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายคำฟ้องว่า หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองจึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคแรก ตอนท้าย โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้ การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงสมรสกันกรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16097/2557
        ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดีและวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงานเป็นหลักฐาน ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่ พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว ส่วนการจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้มีสิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้" ในกรณีวางทรัพย์บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้โจทก์ทั้งสองผู้ไถ่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมกับสินไถ่ที่โจทก์ทั้งสองวางแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นสินไถ่เท่าที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก จึงเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
           โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10513/2557
           การที่ อ. ภริยา ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2557
          ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2557
        โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.1062/2550 ของศาลแพ่ง จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 121938 ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ของจำเลยให้แก่ ร. ต่อมาจำเลยตกลงกับ ร. ว่าให้จำเลยขายที่ดินแล้วนำเงินที่ได้มามอบให้แก่ ร. เป็นสินไถ่ จึงมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. ในวันเดียวกัน แล้วนำเงินที่ได้มอบให้แก่ ร. ดังนี้ การกระทำของจำเลยสำเร็จเป็นความผิดนับแต่ขายฝากที่ดินให้แก่ ร. เพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ แม้ต่อมาจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. แล้วมอบเงินที่ได้เป็นสินไถ่ให้แก่ ร. ไม่ว่าจำเลยได้รับส่วนต่างจากเงินค่าขายที่ดินหรือไม่ ก็เป็นการกระทำเพื่อให้การขายที่ดินสำเร็จตามข้อตกลงเท่านั้น ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยกลับเป็นความผิดขึ้นใหม่อีกกรรมหนึ่งแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556
           โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดินซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10834/2556
           โจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่าง อ. กับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือ นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผย คู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10256/2556
          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกับโจทก์ โดยไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด โจทก์ให้จำเลยทำนาในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังโจทก์แจ้งให้จำเลยออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินแก่ บ. จำเลยไม่รู้จักโจทก์และไม่มีเจตนาขายฝากที่ดินให้แก่โจทก์ การขายฝากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลถึงขนาดต่อจำเลย ทำให้นิติกรรมการขายฝากเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมาย ดังนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยขายฝากที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่าการขายฝากเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลต่อจำเลย อันจะทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยมิได้ให้การว่า ใครเป็นคนทำการฉ้อฉลและจำเลยถูกกลฉ้อฉลอย่างไร จึงทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะ คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าการขายฝากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลต่อจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยกรณีไม่มีการฉ้อฉลต่อจำเลย การขายฝากจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงต้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2556
            สัญญาซื้อขายไม่ทำให้ผู้ขายมีสิทธิจะได้ทรัพย์คืนโดยตรง ดังนั้น ผู้ขายย่อมต้องคำนึงถึงการที่จะต้องสูญเสียทรัพย์ไปในการกำหนดราคาขายสูงตามมูลค่าทรัพย์ แต่ในสัญญาขายฝากมีสิทธิได้รับทรัพย์คืนโดยการไถ่ถอนได้ ย่อมมีเหตุผลที่ผู้ขายฝากจะกำหนดราคาขายฝากเพื่อใช้สิทธิไถ่ถอนในราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ตามความจำเป็นที่ต้องการเงินและไม่เป็นภาระที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการใช้สิทธิไถ่ถ่อนเกินความจำเป็น ดังนั้น เมื่อมีการทำสัญญาขายฝากโดยตกลงราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ที่แท้จริงและต่อมาไม่สามารถไถ่ถ่อนการขายฝากได้ ก็ย่อมมีผลให้โจทก์ผู้รับซื้อฝากได้รับทรัพย์สินนั้นในมูลค่าทรัพย์ที่สูงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้ผู้ขายฝากไปได้ อันเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 40 (1) ถึง (7) ดังที่บัญญัติไว้ในความตอนท้ายของมาตรา 40 (8) ประกอบกับมาตรา 39 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับเงินได้ของผู้ขายฝากที่ได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากตามสัญญาขายฝาก นอกจากนี้หากเป็นกรณีที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากไว้ในราคาสูงหรือเท่ากับมูลค่าทรัพย์จริง โจทก์ก็อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคานี้ เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร... ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังต่อไปนี้... (27) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก หรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝาก ร้อยละ 85 และ มาตรา 8 วรรคสอง กำหนดว่า เว้นแต่ผู้มีเงินได้จากกิจการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ... และมาตรา 65 ตรี... แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อัตราร้อยละ 85 ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) มาตรา 8 (27) มีผลเท่ากับว่าโจทก์มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายอันเป็นกำไรเพียงร้อยละ 15 ซึ่งก็สอดคล้องกับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้รับซื้อฝากมีสิทธิได้รับสินไถ่ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น การที่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินแล้วผู้ขายฝากไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดเวลาตามสัญญาถือว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ในปีภาษีนั้น และให้โจทก์หักค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กลับทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากราคาที่ขายฝากซึ่งเคยนำมาคำนวณเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของผู้ขายฝากไปแล้วนั้นจะถูกนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของผู้รับซื้อฝาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15794/2555
             จำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินให้ ย่อมทำให้นิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาของโจทก์ในการทำสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคแรก เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อันมีผลเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกและให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ซึ่งมีความหมายรวมถึงสิทธิในการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 โอนกลับคืนมาเป็นของโจทก์ด้วยผลของกฎหมาย เพราะสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของสัญญาขายฝากซึ่งมีที่ดินทั้งสองแปลงเป็นวัตถุแห่งหนี้ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิไถ่ทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 497 (2) จำเลยที่ 2 ต้องรับการไถ่เมื่อโจทก์นำเงินจำนวนที่เป็นสินไถ่ไปขอใช้สิทธิไถ่ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมรับและโจทก์นำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนพ้นกำหนดไถ่โดยมิได้สละสิทธิถอนทรัพย์ที่วางไว้ จำเลยที่ 2 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้ โจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากคืนแก่โจทก์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552
         จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหาก มีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้ เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่น สัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

          การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนด ที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้ บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551
ค. กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำ รายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดิน และบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086 - 2087/2550
สัญญาขายฝากที่ดินที่โจทก์ผู้ซื้อฝากทำกับจำเลยผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากตามราคาที่ขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคแรก หากจำเลยมีเงินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ไถ่ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากด้วยการนำเงินสินไถ่ไปวางทรัพย์ต่อสำนัก งานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าที่ดินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตั้งแต่เวลา ที่จำเลยได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคแรก

บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นหลักฐานว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยไถ่ ที่ดินที่ขายฝากหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ แม้มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็มีผลบังคับให้ผูกพันโจทก์ผู้รับไถ่ ซึ่งลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 เมื่อสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่มิได้กำหนดเวลาไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 494 กล่าวคือ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินขายฝากภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก เมื่อจำเลยฟ้องขอไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก จำเลยจึงมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์

เมื่อจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ขายฝากหลังจากทำสัญญาขายฝากให้ โจทก์แล้วโดยโจทก์ยินยอมและโจทก์ทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ที่ดินที่ขายฝากให้ จำเลย การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่ขายฝากต่อไปหลังจากครบกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญา เดิมจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2550
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 เมื่อจำเลยได้ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกแก่โจทก์ การที่จำเลยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการ ละเมิด จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ หากจำเลยไถ่ถอนภายในกำหนดระยะเวลาแล้วโจทก์มิให้ไถ่ถอนก็ชอบที่จำเลยจะฟ้อง ร้องขอให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5873/2550
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ผู้ไถ่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากก็ต่อเมื่อได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองและรับสินไถ่ตามคำขอบังคับของผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2549
หนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า "ผู้จะขายยอมตกลงขายที่นาฝากไว้... เป็นราคาเงิน 200,000 บาท มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาถึงวันที่ 1 เมษายน 2543 หากไม่มีเงิน 200,000 บาท มาคืนให้ผู้ซื้อ ผู้ขายยอมให้ที่นาจำนวน 15 ไร่ ตามสัญญาให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ 1 เมษายน 2543" มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะยอมให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อถึงเวลาที่กำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 อาจไถ่ที่นานั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์ทั้งสองและตกลงว่าจะชำระคืนให้ อันเข้าลักษณะเป็นการกู้เงิน และหนังสือสัญญาดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเท้าความถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญา ซึ่งโจทก์แนบสำเนามาท้ายคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าต้องด้วยบทกฎหมายใด โดยเฉพาะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับคดีเกี่ยวกับที่ดิน คงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12487/2547
ที่ดินของจำเลยและที่ดินของมารดาและยายจำเลยตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นแปลงใหญ่ จำเลยทราบดีว่า ท. ยายจำเลยขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่และเป็นที่ดินที่จำเลยได้ครอบครองทำกินอยู่ด้วยไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยคงทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังจำเลยทราบด้วยว่า ท. ไม่ไถ่คืน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยก็ยังทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือโดยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ฐานะการครอบครอบที่ดินพิพาทของจำเลยก็คงมีตามเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2546
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ให้ ผ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แม้จำเลยที่ 1 จะหลอกลวงกลฉ้อฉลโจทก์และ ผ. จนโจทก์และ ผ. ตกลงทำสัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ และโจทก์บอกล้างแล้วก็ตามแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน การที่ภายหลังโจทก์ไปขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ในขณะที่ยังไม่ครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามสัญญา และจำเลยที่ 2ไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ถอน โจทก์ก็ไม่อาจยกเอาเหตุกลฉ้อฉลต่อโจทก์และ ผ. อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะที่โจทก์ได้บอกล้างแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและได้ที่ดินพิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544
 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2544
 ผู้ขายฝากได้ไถ่ที่ดินพิพาทจากผู้ซื้อภายในกำหนดในสัญญาขายฝากแล้ว แม้จะไม่มีการจดทะเบียนไถ่การขายฝากก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิในที่ดินพิพาทยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่มีผลใช้บังคับยันกันเองได้ แม้ยังมิได้มีการจดทะเบียนไถ่ ที่ดินที่ขายฝากก็ตกเป็นของผู้ขายฝากทันที ซึ่งมีผลบังคับยันกันได้ระหว่างคู่สัญญา ผู้จัดการมรดกของผู้ขายฝากย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนและฟ้องร้องขอให้ผู้ซื้อจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินในระยะเวลาใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2543
จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ ระหว่างที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ ต่อมา จำเลยทำสัญญากับ ภ. ว่าไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิไถ่ถอน ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ภ. ถือได้ว่า เป็นการขายขาดที่ดินให้แก่ ภ. โดยทำสัญญากันเอง จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่และภายในกำหนดระยะการขายฝาก จำเลยย่อมมีสิทธินำที่ดินไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ที่ดินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904/2542
 โจทก์ได้นำที่ดินพิพาทขายฝากให้แก่ ว.มีกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอน 1 ปี สิทธิครอบครองจึงตกอยู่กับ ว.ตั้งแต่วันจดทะเบียนขายฝาก โจทก์คงมีแต่สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 491 ครบกำหนด1 ปีแล้ว โจทก์ไม่ไถ่ทรัพย์คืน สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของ ว.โดยเด็ดขาด โจทก์ผู้ขายฝากเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทน ว.ผู้ซื้อฝากเท่านั้นการที่โจทก์เพียงแต่นำป้ายไปปักประกาศในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ และห้ามบุคคลภายนอกเกี่ยวข้อง หาเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองแทน ว.ไม่ เนื่องจากไม่มีการบอกกล่าวไปยัง ว.ผู้มีสิทธิครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2541
 สัญญาการขายฝากทำเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538มีกำหนด 1 ปีครบกำหนดเวลาไถ่คืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539เมื่อโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539ระบุว่าจำเลยยินดีที่จะให้โจทก์ซื้อที่ดินคืนได้ในราคา550,320 บาท ภายในเวลา 1 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์2539 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2539 หากพ้นกำหนดนี้แล้วไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น และโจทก์จำเลยลงชื่อไว้ แสดงว่าขณะทำบันทึกข้อตกลงยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ แม้บันทึกข้อความดังกล่าวจะไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าให้ตกลงขยายเวลาไถ่ถอนการขายฝาก ก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีคำมั่นที่จะขายทรัพย์ที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยเด็ดขาดแล้วให้แก่โจทก์เมื่อราคาที่ซื้อคืน 550,320 บาท ส่วนราคาไถ่ถอนการขายฝาก544,000 บาท ราคาที่ซื้อคืนสูงกว่าราคาไถ่ถอนการขายฝากเพียง 6,320 บาท ซึ่งหากจำเลยขายคืนให้โจทก์ภายใน 1 เดือนแล้ว จำเลยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอัตราร้อยละ 3 นอกจากนั้นจำเลยยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินสุทธิจากการขายทรัพย์คืนต่ำกว่าราคาไถ่ถอนการขายฝาก จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่ขายฝากซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยคืนให้แก่โจทก์ตามพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าจำเลยยอมขยายกำหนดระยะเวลา ขายฝากให้แก่โจทก์อีก 1 เดือน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่พิพาทตามข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2541
 การที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากคิดดอกเบี้ยจาก ส.ผู้ขายฝากและจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นภริยาและบุตรของ ส. เมื่อ ป.พ.พ.มาตรา 499 บัญญัติให้กำหนดสินไถ่กันไว้ได้ การที่โจทก์ตกลงกับ ส.และจำเลยทั้งสองให้ชำระดอกเบี้ยในระหว่างอายุสัญญาขายฝาก จึงเป็นการกำหนดให้ ส.และจำเลยทั้งสองชำระสินไถ่ให้โจทก์ทั้งสองบางส่วนนั่นเอง

ส.กับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงยกที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นบุตรและยังเป็นผู้เยาว์ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ.มาตรา 374 และสิทธิของจำเลยที่ 1 กับพวกจะเกิดมีขึ้นเมื่อได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กับพวกได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 กับพวกจึงยังไม่มีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาท ส.ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของย่อมสามารถโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาทจาก ส.ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

โจทก์กับ ส.มีเจตนาทำสัญญาขายฝากโดยได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และนิติกรรมการขายฝากถูกต้องตามแบบแล้ว แม้โจทก์จะไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบว่าการขายฝากมีการชำระดอกเบี้ย ก็ไม่มีผลทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7725/2540
ล.สามีโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครองครองที่ดินพิพาทตาม น.ส.3ล.นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์และ ล.ใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด และจำเลยได้คืน น.ส.3 กับหนังสือสัญญาขายฝากคืนให้แก่โจทก์และ ล.แล้ว หลังจากนั้นโจทก์และ ล.ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทจนกระทั่ง ล.ถึงแก่กรรม โจทก์ก็ครอบครองที่ดินตลอดมา โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1378 และ 1379 เมื่อการครอบครองดังกล่าวเกิดจากการใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากคืนจากจำเลยผู้ซื้อฝากภายในกำหนด แม้ไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิในที่ดินยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่ในระหว่างโจทก์และจำเลยด้วยกัน ย่อมมีผลใช้ยันกันได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2540
 คดีฟ้องขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก โดยโจทก์อ้างว่า ได้ขอไถ่ทรัพย์ดังกล่าวภายในกำหนดตามสัญญาขายฝากแล้วแต่จำเลยไม่ยอมให้ไถ่คืน เป็นคดีที่พิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์ที่ขายฝากอันจะมีผลทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้หรือเสียสิทธิในทรัพย์นั้นเข้าลักษณะคดีมีทุนทรัพย์โดยถือทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์ที่ขายฝากหาใช่เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2540
 การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้นโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากจะต้องแสดงเจตนาเพื่อขอไถ่ต่อจำเลยผู้รับซื้อฝากและจะต้องนำสินไถ่ตามราคาที่ขายฝากพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ไปพร้อมในวันไถ่การขายฝากด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา499และมาตรา500เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไถ่มีหน้าที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลยฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองจะยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินพร้อมที่จะไถ่การขายฝากที่ดินจากจำเลยก็ตามแต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเงินสินไถ่ให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินดูและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากแต่กลับได้ความจากว.พยานจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยให้มารับเงินจากการไถ่การขายฝากที่ดินแต่โจทก์ทั้งสองบอกให้รอนายทุนนำเงินมาไถ่ซึ่งในวันนั้นไม่มีผู้ใดมาไถ่ที่ดินพิพาทแสดงว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเงินสินไถ่จำนวนเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากจากจำเลยได้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2538
 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาได้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์ดังนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 497 กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก และใน (2) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับการไถ่แม้ว่าจะมิใช่คู่สัญญาขายฝากก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับการไถ่ โจทก์จึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนพ้นกำหนดไถ่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2538
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาไถ่ 3 ปี การที่โจทก์ทั้งสองตกลงกับจำเลยที่ 1 ก่อนเวลาไถ่ครบกำหนดว่ายอมให้โจทก์ซื้อในราคาเดิมเมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้วข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลเช่นเดียวกับให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืนได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาไถ่ 3 ปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝาก เป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 ข้อตกลงจึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามข้อตกลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3421/2538
 จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนแล้วได้ทำสัญญาเช่าบ้านพิพาทกับโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาหลังจากพ้นกำหนดไถ่ถอนการขายฝาก จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ หาได้สิทธิครอบครองไม่ แม้จำเลยมีหนังสือขอระงับการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินต่อนายอำเภอก็ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะการยึดถือตาม ป.พ.พ.มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ไม่มีเจตนาจะยึดถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ต่อไป โจทก์ไม่ได้ถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2536
บันทึกด้านหลังของหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพากษากำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์ขายฝากต้องนำเงินค่าไถ่ถอนไปวางณ สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาขายฝาก หากไม่สามารถติดตามตัวจำเลยผู้ซื้อฝากเพื่อขอไถ่ถอนได้นั้น หากปรากฎว่าโจทก์ ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพากษาตามกำหนดเวลาแล้ว แต่จำเลย หลีกเลี่ยงประวิงเวลาเอาไว้ไม่ให้ไถ่ถอนโจทก์จึงหาจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2535
หลังจากครบกำหนดการขายฝากแล้ว ส. ผู้ซื้อฝากกับ บ.ผู้ขายฝากทำหนังสือสัญญากันมีข้อความว่า "บ. ได้ให้เงิน ส.ค่าไถ่ถอนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 33,000 บาท ส. ขายคืนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ บ." ในวันที่ ส. รับเงินจาก บ.นั้น ส. และ บ. ได้พากันไปสำนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ. แต่ยังโอนกันไม่ได้เพราะ บ.ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมการโอน ได้ตกลงกันว่าก่อนปีใหม่2-3 วันจะไปโอนกันใหม่ แต่ ส. ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนแสดงว่า ส. จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ.ภายหลัง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการขยายเวลาการขายฝาก เนื่องจากได้ครบกำหนดการขายฝากและ บ.หมดสิทธิไถ่คืนการขายฝากไปก่อนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2530
 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 บุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต้องเป็นผู้ขายเดิมทายาทผู้ขายเดิมผู้รับโอนสิทธิหรือบุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้เป็นการกำหนดตัวผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินไว้โดยเฉพาะเจาะจงแล้ว โจทก์มิใช่บุคคลที่มีสิทธิในการไถ่ที่ดินพิพาทตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นแม้โจทก์จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ผู้ขายฝากหรือไม่ก็ตามโจทก์จะอ้างเหตุว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสและขอใช้สิทธิไถ่ที่พิพาทหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2530
 จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับ ซ.สามีโจทก์ 1 ปีจำเลยได้ไถ่ถอนการขายฝากแล้ว แม้การไถ่ถอนจะไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม ก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพย์สิทธิในที่ดินยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่ในระหว่างโจทก์และจำเลยด้วยกันเอง ย่อมมีผลใช้ยันกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ซ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2530
 ข้อตกลงที่ผู้รับซื้อฝากยินยอมที่จะขายทรัพย์คืนให้แก่ผู้ขายฝากเมื่อทรัพย์ที่ขายฝากได้หลุดเป็นสิทธิของผู้รับซื้อฝากแล้ว เข้าลักษณะเป็นคำมั่นจะขายทรัพย์ซึ่งบังคับกันได้ มิใช่เป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์อันต้องห้ามตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2523
เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามตนเองแทนลูกหนี้โดยฟ้องคดีขอไถ่ทรัพย์ที่ลูกหนี้ขายฝากไว้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้วไม่ได้ เพราะลูกหนี้ไม่มีสิทธิไถ่คืนแล้ว

การที่ก่อนครบกำหนดไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้มีหนังสือแจ้งขอสวมสิทธิไถ่ทรัพย์แทนผู้ขายฝากซึ่งเป็นลูกหนี้นั้น ถือไม่ได้ว่าผู้มีสิทธิในการไถ่ทรัพย์ได้ใช้สิทธิขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืน เพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้เท่านั้น ไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2522
เดิมโจทก์มีเจตนาจะทำสัญญาจำนอง แต่เมื่อจำเลยไม่ตกลงด้วย และให้ทำสัญญาขายฝาก โจทก์ก็ตกลงยินยอม เช่นนี้ ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากโดยความสมัครใจเอง มิใช่เกิดจากเจตนาลวง และมิใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง แม้จำเลยจะคิดผลประโยชน์ในการรับซื้อฝากโดยเรียกเท่ากับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 บาท 75 สตางค์ต่อเดือน เป็นอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนดในการเรียกดอกเบี้ยก็ตาม แต่เมื่อนำผลประโยชน์ที่เรียกมารวมกับเงินค่ารับซื้อฝากที่จำเลยให้โจทก์ไปแล้วย่อมกลายเป็นสินไถ่ซึ่งในสัญญาขายฝาก คู่สัญญาจะกำหนดสินไถ่โดยเรียกผลประโยชน์รวมไปกับเงินต้นเท่าใดก็ได้ โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 499 อนุญาตไว้ และคู่สัญญาย่อมตกลงผ่อนชำระสินไถ่กันได้ การผ่อนชำระเงินต้นของโจทก์ย่อมมีผลเท่ากับผ่อนชำระสินไถ่บางส่วนนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2521
โจทก์มีเงินแต่ยังเบิกไม่ได้เพราะเป็นวันหยุดราชการรุ่งขึ้นไม่ได้ไถ่ขายฝากเพราะจำเลยว่าหนังสือสัญญาอยู่ที่อื่นให้มาไถ่วันหลังถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดแล้ว