ยืมใช้สิ้นเปลือง

มาตรา ๖๕๐ อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา ๖๕๑ ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

มาตรา ๖๕๒ ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้

มาตรา ๖๕๓ การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา ๖๕๔ ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

มาตรา ๖๕๕ ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

มาตรา ๖๕๖ ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2559 
             คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืม และจำเลยยังมิได้ชำระหนี้คืนแก่โจทก์ผู้ให้กู้ เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิด มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควร เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลังถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการปลอมเช็คดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ 

        โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมไม่ การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย จึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เรื่อง ตั๋วเงิน โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558 
            โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11637/2556 
        เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมิได้มีคำว่ากู้หรือยืมเลย และอ่านข้อความในเช็คพิพาททั้งหมดก็ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจึงมิใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556 
            การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3927/2556 
           เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วไม่ปรากฏว่ามีเอกสารฉบับใดเลยที่มีข้อความแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนอันเป็นสาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ ลำพังหนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนของจำเลยที่ 1 ที่มีเพียงข้อความระบุถึงจำนวนเงินที่ขอเบิกและวันที่ขอรับเงินตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.24 คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คไปจากโจทก์แล้วเท่านั้น ยังไม่อาจฟังขยายความออกไปได้ว่าเป็นการรับเช็คที่กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือรับเงินที่กู้ยืม หนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ส่วนรายงานที่ ป. มีถึงโจทก์ ก็ปรากฎเพียงข้อความว่า ขอให้โจทก์พิจารณาจ่ายเงินกู้ยืมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารที่ ป. จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียว ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ลงไว้เป็นสำคัญ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินอีกเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2556 
          พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตามหมายเหตุแนบท้าย พ.ร.ก. และข้อความในตอนต้นของ พ.ร.ก. ก็ระบุไว้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า พ.ร.ก. นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.ก. ดังกล่าวมิได้ใช้บังคับกับการทำนิติกรรมทั่ว ๆ ไป ดังเช่นที่ใช้ใน ป.พ.พ. แต่ใช้เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับหนี้สินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. เท่านั้น บทบัญญัติต่าง ๆ ที่ระบุไว้จึงย่อมแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. รวมทั้งเรื่องการบังคับจำนองหรือการเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนอง การที่โจทก์บังคับจำนองทรัพย์สินคือที่ดินพิพาทหลุดเป็นสิทธิโดยอาศัยอำนาจตามที่ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว แม้ไม่ได้ดำเนินการตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ไม่ทำให้การโอนที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นโมฆะ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556 
            ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555 
            โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้ยืม จำเลยทั้งสองยอมรับว่าทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง แต่ชำระหนี้เป็นรายวันครบถ้วนแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลยทั้งสอง การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7593/2555 
             สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏแม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอนก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2555 
        เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้ การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11489/2554 
           หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ไม่ใช่แบบแห่งนิติกรรม ทั้งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีขึ้นเฉพาะในขณะที่ทำสัญญากู้ยืม ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีขึ้นก่อนหรือหลังทำสัญญากู้ยืมก็ได้ เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลขอกู้ยืมเงินโจทก์วงเงิน 35,000 บาท ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในแบบพิมพ์ดังกล่าวและยื่นต่อโจทก์อันเป็นการทำคำเสนอขอกู้ยืมเงินโจทก์ และวันต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงิน 24,700 บาท ซึ่งอยู่ภายในวงเงินที่จำเลยขอกู้ยืม จึงเป็นคำสนองรับตามคำเสนอของจำเลย สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นและบริบูรณ์ เมื่อโจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืม โดยโอนเงิน 23,630 บาท เข้าบัญชีที่จำเลยระบุไว้ ดังนี้ ใบสมัครสินเชื่อบุคคลที่จำเลยกรอกข้อความและลงลายชื่อในช่องลายมือของผู้กู้ จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามมาตรา 653 วรรคแรก ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องให้บังคับจำเลยตามสัญญากู้ยืมได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11488/2554 
             หนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้เงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ กรณีจึงไม่มีหนี้ประธาน โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้จำนองรับผิดตามสัญญาจำนอง ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ไปจดทะเบียนจำนองหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2554 
           แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554 
            โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2553
           คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ จึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 653 ว่าจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ยืมเป็นสำคัญ และอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กล่าวคือโจทก์จะนำสืบพยานบุคคลหรือกล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจาก สัญญากู้ยืมเงินหาได้ไม่ ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่าทำที่เขตกรุงเทพ มหานครเป็นความเท็จ ความจริงแล้วทำที่สำนักงานของโจทก์ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามสัญญากู้ยืม เงินในส่วนที่ระบุถึงมูลคดีที่เกิดขึ้นตามความประสงค์ของคู่สัญญา จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

           สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินคือการส่งมอบและการทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่โจทก์จะเบิกหรือถอนเงินจากธนาคารใดไปให้จำเลยกู้ยืมเงิน มิใช่สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด และตามคำฟ้อง โจทก์ร่วมกับจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ในธนาคารที่อยู่ในท้องที่ที่ จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะทำสัญญา เงินที่โจทก์โอนไปยังไม่เป็นสิทธิของจำเลยเพราะโจทก์ยังมีสิทธิเบิกถอนได้ การที่จำเลยจะรับเงินที่โจทก์ให้กู้ยืมได้จะต้องไปเบิกถอนเงินจากธนาคารดัง กล่าว ธนาคารดังกล่าวจึงถือว่าเป็นที่รับมอบเงินที่กู้ยืม จึงเป็นกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในท้องที่เดียวกับที่จำเลยมีภูมิลำเนาในขณะทำ สัญญาและที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินว่าเป็นที่จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2552 
            การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2552
          เจ้าหนี้อื่นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอด ตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อน เจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกโดยบวก ดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืม เงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2552
            ข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์เป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น จำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกเอาได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึก อบรมคืนโจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า จึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 300,000 บาท โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไป 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขตซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551
          ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็น จำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

          ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตรา ร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูก ต้องตามสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่เป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551
หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืม เงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่ กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็น หนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ โจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6414/2551
จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติโจทก์ และได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียน ปฏิรูปการศึกษา การที่จำเลยขอยืมจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูป การศึกษาดังกล่าว เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การทำสัญญาการยืมเงินเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของ จำเลย จึงมิใช่เป็นการยืมตามลักษณะ 9 แห่ง ป.พ.พ. และไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ 9 มาใช้บังคับในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7160/2551
การชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีผลทำให้หนี้เป็นอันระงับ ส่วนการแทงเพิกถอนลงในเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องของการนำ สืบการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง เป็นคนละกรณีกัน การไม่มีการแทงเพิกถอนลงในเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินไม่อาจถือได้ ว่ายังไม่มีการชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6474/2551
การพิจารณาถึงคำฟ้องของโจทก์ว่าประสงค์จะให้จำเลยชำระหนี้ตามมูลหนี้อะไรจะต้อง พิจารณาถึงเนื้อหาของคำฟ้องทั้งหมดประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาแต่ถ้อยคำหรือข้อความเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของคำฟ้องซึ่งตามคำ ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและตามตั๋วสัญญาใช้เงินในเวลาเดียวกัน เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธเกี่ยวกับมูลหนี้การกู้ยืมเงิน ดังนั้น แม้จะรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองว่าสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้ เงินขาดอายุความ จำเลยทั้งสองก็ยังคงต้องรับผิดตามมูลหนี้กู้ยืมเงินต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6823/2551
จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ว่า จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ก. ให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือน และโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลง กันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงวิธีการชำระหนี้ว่าได้ ปฏิบัติต่อกันเช่นใด ไม่อยู่ในบทบังคับเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2551
ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้

ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราช อาณาจักรหรือไม่ คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงปทุมวันได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลยเป็น เพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเท่านั้น หาทำให้มูลคดีที่เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่

โจทก์เป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อ เรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้ กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าว จึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือน อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่ จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ย ทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2550)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551
ค. กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำ รายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดิน และบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2551
ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวัน เดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้

ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับคับแก่จำเลย ได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2551
แม้ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ร่วมกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ผู้จัดการมรดกจะต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมทุกคน การที่โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ในฐานะเจ้าหนี้และผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งรู้เห็นยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันแล้ว ประกอบกับการทำหนังสือรับสภาพหนี้ก็มิใช่การทำสัญญาหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง ส่วนเจ้าหนี้หาจำต้องเป็นคู่สัญญาด้วยไม่ เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้กู้ยืมเงิน ส. เจ้ามรดก แม้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะมิได้ลงชื่อด้วยหรือลงชื่อแต่เพียงผู้เดียว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ผู้ยอมรับสภาพหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550
ข้อตกลงที่กำหนดว่า หากโจทก์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้ ส. ยึดถือไว้เป็นประกันโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2550
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีได้ และตามมาตรา 6 เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสถาบันการเงินตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เรียกจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทโดยตรง ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์จะต้องนำสืบ การที่พยานโจทก์เบิกความว่า การคิดดอกเบี้ยและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ โดยอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ แนบท้ายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว

แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการที่จำเลยและประชาชนโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่และถูกต้องแท้จริงได้โดยไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในระหว่างสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นศาลชั้นต้นก็ได้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย จำเลยมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ครั้งถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านถึงความมีอยู่และความถูกต้องของประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมตามมาตรา 4 แล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงไม่อาจนำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550
แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โจทก์จึงได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมาใช้บังคับ กรณีของจำเลยอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อชฎาทองเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งโจทก์เรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 13.75 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์ข้อ 2.1.1 เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระบุไว้ตอนท้ายของเอกสารต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งหลายอัตราตามตารางรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดจากจำเลยมีบางรายการในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 19.50 ต่อปีบ้าง และร้อยละ 24 ต่อปีก็มี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีกต่างหาก จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์เอง อันเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ดังนั้นเงินส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ฉะนั้นเมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2550
ใบตอบรับการสมัครสินเชื่อเงินสดควิกแคชพร้อมสัญญาให้สินเชื่อเงินสดระบุข้อความว่า จำเลยขอรับบริการสินเชื่อเงินสดควิกแคชในวงเงิน 500,000 บาท ในอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินร้อยละ 1.15 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนเฉพาะเดือนแรกเท่านั้น ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ร้อยละ 0.5 ของยอดเงินกู้และจำเลยได้ลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้เป็นสำคัญ โดยไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่าเป็นสัญญาให้สินเชื่อเงินสดระหว่างโจทก์กับจำเลย เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 ดังนั้น เอกสารดังกล่าวที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550
ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550
ป.กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย

หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2550
จำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ เพื่อประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย สอดคล้องกับสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1 ซึ่งมีข้อความระบุว่า คู่สัญญาให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอย่างหนี้สามัญ การทำข้อตกลงตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 อันเป็นการตกลงกันเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติไว้ เพื่อให้มีผลบังคับกันว่าจำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3375/2549
หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรก ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปกลับเขียนอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่เขียนไว้นั้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงต้องตีความว่าข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2549
ตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ออกข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ไว้ในข้อ 3 ว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด" นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้เอง ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ออกประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังแล้ว การกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์แม้จะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2549
หนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า "ผู้จะขายยอมตกลงขายที่นาฝากไว้... เป็นราคาเงิน 200,000 บาท มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาถึงวันที่ 1 เมษายน 2543 หากไม่มีเงิน 200,000 บาท มาคืนให้ผู้ซื้อ ผู้ขายยอมให้ที่นาจำนวน 15 ไร่ ตามสัญญาให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ 1 เมษายน 2543" มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะยอมให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อถึงเวลาที่กำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 อาจไถ่ที่นานั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์ทั้งสองและตกลงว่าจะชำระคืนให้ อันเข้าลักษณะเป็นการกู้เงิน และหนังสือสัญญาดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเท้าความถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญา ซึ่งโจทก์แนบสำเนามาท้ายคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าต้องด้วยบทกฎหมายใด โดยเฉพาะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับคดีเกี่ยวกับที่ดิน คงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5863/2549
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ จำเลยจะนำสืบการใช้เงินต้นเงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่สำเนาสัญญากู้ยืมที่โจทก์ส่งคืนจำเลยไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนหลักฐานแห่งการกู้ยืมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถนำสืบการใช้ต้นเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ส่วนการนำสืบการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยนำสืบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2549
สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมาแต่ต้น โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน แล้วส่งคืนเข้าสำนวนในชั้นฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวยังคงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมมาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2549
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับ ร. ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ และการที่โจทก์กับ ร. ตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. อีกจำนวนหนึ่ง เห็นได้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มนั้นเป็นสาระสำคัญที่จะต้องตกลงกัน แต่จำเลยก็ยังไม่มีการตกลงกันในรายละเอียดว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. เป็นจำนวนเท่าใด จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2549
หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มเอกสารหมาย จ.7 ด้านหน้ามีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยมีความจำเป็นขอยืมเงินจากโจทก์เป็นการส่วนตัวก่อน 14,000 บาท กับที่เคยยืมแล้ว 200,000 บาท รวมจำนวนเงินยืม 214,000 บาท ลงชื่อจำเลยผู้กู้ยืม โจทก์ให้กู้ยืม ส่วนด้านหลังเป็นบันทึกต่อท้ายว่า ขอยืมเงินเพิ่มอีกหลายครั้ง รวมเป็นจำนวนเงิน 380,000 บาท ลงชื่อจำเลยไว้ทุกครั้ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 353 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 5 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่ง ป. รัษฏากรแต่อย่างใด ทั้งเอกสารหมาย จ.7 ทำขึ้นภายหลังเอกสารหมาย จ.6 เป็นเอกสารคนละฉบับที่แยกต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่บันทึกต่อท้ายเอกสารหมาย จ.6 จึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4918/2548
สัญญากู้เงินระบุข้อตกลงว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) ฯ ที่กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญากู้เงินไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว การทำสัญญากู้เงินของโจทก์และจำเลยเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาและอยู่ในกรอบที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดจึงไม่ตกเป็นโมฆะ และแม้ขณะทำสัญญากู้เงินดังกล่าวจะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ก็ตาม ก็ได้ความว่าในทางปฏิบัติจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์และประกาศกระทรวงการคลัง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7050/2548
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้จำนวน 24,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธว่าหนังสือสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม การที่จะฟังว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์หรือไม่ จึงต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งหนังสือสัญญากู้เงินตามที่โจทก์อ้างมีลักษณะเป็นตราสาร ต้องปิดอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อยอดเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินมีจำนวน 24,000 บาท จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 12 บาท แต่ในหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวปิดอากรแสตมป์เพียง 5 บาท จึงปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

การขอปิดอากรแสตมป์เพิ่มในหนังสือสัญญากู้เงิน จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่นำเอกสารนั้นมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานก่อนศาลชั้นต้นตัดสิน เมื่อโจทก์กระทำหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ไม่สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินไม่สามารถใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีได้แล้ว แม้โจทก์ได้ขออนุญาตปิดอากรเพิ่มเพื่อให้มีผลเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์ครบบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 117 ก็ไม่ทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2548
เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5026/2548
จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ใช้ตำแหน่งหน้าที่พิจารณาอนุมัติการยืมทรัพย์สินที่ไม่สามารถยืมได้ เพราะเป็นทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลืองออกนอกบริเวณโรงงาน แต่จำเลยไม่ได้นำระเบียบข้อบังคับมาแสดง ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยก็มิได้ระบุนิยามคำว่า ทรัพย์สินประเภทใช้สิ้นเปลืองไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป แต่ทรัพย์สินที่โจทก์อนุมัติให้ พ. ยืม คือ สายไฟฟ้า ท่อหุ้มสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้าตัวผู้ ปลั๊กไฟฟ้าตัวเมีย เบ้าปลั๊กไฟฟ้า ไม่ใช่ทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป จึงไม่ใช่ทรัพย์สินประเภทยืมใช้สิ้นเปลือง การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2548
เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2548
การที่จำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมจากโจทก์เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่โจทก์มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้โจทก์ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยไม่ได้นิติกรรมโดยตรงต่อโจทก์ ไม่อาจมีการกระทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามมาตรา 321 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงนำสืบดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2721/2548
หนังสือสัญญากู้ยืมที่มีข้อความว่า "พระครู ก. ได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างวัดให้ลุล่วงไปด้วยดี....บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว" เป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อพระครู ก. ผู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
หนี้สินที่พระครู ก. ซึ่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสจัดจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เป็นหนี้ที่ใช้ในการก่อสร้างกุฎิอันเป็นศาสนสมบัติของวัดจำเลย มิใช่เป็นการกู้ยืมเพื่อตนเอง พระครู ก. กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 และ 39 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 อีกทั้งเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเงินให้พระครู ก. ซึ่งกระทำแทนจำเลยไปแล้ว สัยญากู้ย่อมบริบูรณ์ การที่จะต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บรักษาเงินหรือต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามกฎกระทรวงข้อ 6 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ไม่เกี่ยวกับความบริบูรณ์ของสัญญากู้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2548
จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 500,000 บาท ต่อมาจำเลยได้ติดต่อขอกู้เงินโจทก์อีก 4,000,000 บาท แล้วโจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยระบุรวมเอาจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่จำเลยกู้จากโจทก์ไปก่อนหน้านั้นเข้าไว้ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท แม้การกู้เงินกันจำนวน 4,000,000 บาท ในภายหลังจะไม่เกิดขึ้น หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็ยังมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ในหนี้จำนวน 500,000 บาท ที่มีการกู้ยืมกันจริง และถือว่าโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีในหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 500,000 บาท แล้วตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548
จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2548
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์เพียง 45,000 บาท และลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินไว้ แล้วมีการนำสัญญากู้ยืมเงินไปกรอกจำนวนกู้เป็น 200,000 บาท ในภายหลังเกินกว่าจำนวนเงินกู้ที่แท้จริง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยินยอม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้กู้และรับเงินกู้ไปเป็นเงิน 45,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2548
ข้อที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินเพียง 100,000 บาท แต่โจทก์กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เงินเป็นจำนวน 275,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองไม่ยินยอมสัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองอ้างก็ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับให้ตามกฎหมาย และศาลย่อมนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้อยู่แล้ว จำเลยทั้งสองหาจำต้องฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รับชำระหนี้ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้เงินปลอมแก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปทำลายประการใดไม่ ทั้งคำขอตามฟ้องแย้งดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะหากสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ก็เท่ากับการกู้ยืมเงินรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2547
มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 บัญญัติว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้? (2) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ การที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้เองก็เพื่อความคล่องตัวของระบบธนาคารพาณิชย์ตามภาวะขึ้นลงของเศรษฐกิจในขณะนั้นอันจะก่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นหลักประกันแก่การประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ข้อ 4 ยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งประกาศเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 3 วัน เพื่อควบคุมไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ออกประกาศตามอำเภอใจ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้วิธีหนึ่งตามที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ให้อำนาจไว้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวหาตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2547
สัญญากู้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ เป็นสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์ทั้งสี่ เนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสี่ได้ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ที่ ม. กับ บ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากธนาคาร หากโจทก์ทั้งสี่ต้องชำระหนี้แก่ธนาคารแล้วจำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามสัญญา โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้โดยที่ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามภาระการค้ำประกันแก่ธนาคารอันเนื่องจากมูลหนี้ของ ม. กับ บ. จำเลยยังไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยตกลงจะไถ่ถอนจำนองที่ดินแล้วคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่ภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจะต้องนำเงินจำนวน 500,000 บาท มอบแก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อนำไปไถ่ถอนจำนองนั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นว่าจะให้ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 526 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2546
โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องอุปโภคและบริโภค รวมทั้งให้ยืมเงินแก่ ผ. จำเลยและลูกค้าของโจทก์รายอื่น ๆ อีกหลายรายที่ประกอบอาชีพทำนาที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอุปโภคบริโภคโดยโจทก์ให้เครดิตสินเชื่อสินค้าและเงินยืมของแก่ลูกค้า มีบัญชีบันทึกหนี้สินกันไว้เป็นหลักฐานโดยโจทก์หวังผลประโยชน์ตอบแทนปรากฏว่า ผ. ยังค้างชำระหนี้อยู่จึงยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยกับยอดหนี้ดังกล่าวเป็นต้นเงินในปีต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในทางการค้าไม่ใช่การคิดดอกเบี้ย

ผ. ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์เป็นการแปลงหนี้เดิมที่ค้างชำระกันอยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม ผ. ไม่ยอมชำระหนี้จึงตกเป็นผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาของ ผ. และจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ผ. จึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา 1599 ประกอบด้วยมาตรา 1629,1635(1) และมาตรา 1737

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2546
โจทก์ฟ้องขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้หนี้เดิมจะมาจากมูลหนี้การกู้ยืมเงิน แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้มาแสดงต่อศาล

หนี้ตามต้นเงินที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เป็นหนี้จากมูลสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนี้กู้ยืมจึงไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์เรียกหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2546
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน ย่อมอยู่ภายในบังคับแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 6 ซึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินอาจคิดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนั้นแม้สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในช่องกำหนดอัตราร้อยละต่อปีจะเว้นว่างไว้โดยไม่มีการพิมพ์ตัวเลข แต่สัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้กู้ได้ และยังระบุอีกว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดให้เรียกจากผู้กู้ยืมได้ ซึ่งหมายความว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาได้ในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศใช้บังคับใหม่ทันที โดยไม่จำต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้กู้และให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ครบถ้วน อันเป็นข้อตกลงที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมชัดแจ้งแล้ว และไม่ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดจะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินหรือไม่ก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในอัตราต่าง ๆ ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์พึงมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6449/2544
ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2540 นับแต่วันดังกล่าวทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใด ๆ กับบุคคลภายนอกโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจรับชำระหนี้เงินกู้ยืมแทน ป. จำเลยโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยร่วมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540แม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของ ป. ก็ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทน ป. ประกอบกับการโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมไม่มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคท้ายจึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2539
คำขอสินเชื่อบัตรเครดิตมีข้อสัญญาว่าโจทก์ยอมผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนทั้งที่เงินฝากในบัญชีมีไม่พอจ่ายโดยไม่มีกำหนดเวลาชำระคืนเป็นแต่เพียงจำเลยตกลงชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นการกำหนดดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าถือได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแต่ต้นจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา654ซึ่งห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปีเพราะมิใช่การกู้ยืมและโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ข้อตกลงดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/search.jsp