ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทน

มาตรา ๘๒๖ อันสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไปด้วยตัวการถอนตัวแทน หรือด้วยตัวแทนบอกเลิกเป็นตัวแทน
อนึ่ง สัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น

มาตรา ๘๒๗ ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ
คู่สัญญาฝ่ายซึ่งถอนตัวแทนหรือบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นในความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น เว้นแต่ในกรณีที่เป็นความจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้

มาตรา ๘๒๘ เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี ตัวการตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้

มาตรา ๘๒๙ เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวแทนตายก็ดี ตัวแทนตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าทายาทหรือบุคคลผู้รับหน้าที่ดูแลทรัพย์มรดกของตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมายต้องบอกกล่าวแก่ตัวการและจัดการเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการไปตามสมควรแก่พฤติการณ์ จนกว่าตัวการอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้

มาตรา ๘๓๐ อันเหตุที่ทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปนั้นจะเกิดแต่ตัวการหรือตัวแทนก็ตาม ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จนกว่าจะได้บอกกล่าวเหตุนั้น ๆ ไปยังคู่สัญญาฝ่ายนั้นแล้ว หรือจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะได้ทราบเหตุแล้ว

มาตรา ๘๓๑ อันความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทนนั้น ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต เว้นแต่บุคคลภายนอกหากไม่ทราบความนั้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตนเอง

มาตรา ๘๓๒ ในเมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป ตัวการชอบที่จะเรียกให้เวนคืนหนังสือมอบอำนาจอย่างใด ๆ อันได้ให้ไว้แก่ตัวแทนนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2550
ก่อนถึงวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาเรื่องการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาของ จำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 1 ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ศาลชั้นต้นจะต้องสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ และหากเป็นความจริงก็ถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นจะต้องจัดให้มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 เสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวโดยมิได้ดำเนินการตามบทบัญญัติ ดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และการที่ทนายจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันทราบเรื่องผิดระเบียบ แต่กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลานำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกามาวางต่อศาล ชั้นต้นตามคำสั่งศาลฎีกาแทนจำเลยที่ 1 นั้นก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตัวการ เพราะการกระทำดังกล่าวมิใช่การดำเนินคดีไปในทางปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แต่เป็นการกระทำที่มีผลทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายเสียสิทธิที่จะยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบ ดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาแทนจำเลย ที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินตามขอก็ดี และต่อมามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ทิ้งฟ้องฎีกาเนื่องจากไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางภายในเวลาที่ศาลชั้นต้น อนุญาตให้ขยายก็ดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้วให้ศาลชั้น ต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071 - 2074/2550
การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 เป็นการตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้สัญญาตัวแทนจะระงับไปเมื่อผู้ร้องถึงแก่กรรม ทนายผู้ร้องก็ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ ของผู้ร้องต่อไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของผู้ร้องจะอาจเข้ามาปกปักรักษาผล ประโยชน์ของผู้ร้องโดยการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

ผู้ร้องถึงแก่กรรมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องจึงอาจร้องขอเข้า มาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ในการดำเนินคดีของผู้ ร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องถึงแก่กรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 แต่ก็ไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว จนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังในวันที่ 19 ธันวาคม 2548 จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายผู้ร้องจะจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว ทนายผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2550
จำเลย ที่ 2 แต่งตั้ง พ. ทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตายไปจะเป็นผลให้สัญญาตัวแทนระงับไปก่อนที่ พ. จะยื่นอุทธรณ์ แต่ พ. ก็ยังคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย ที่ 2 ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยที่ 2 จะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ได้ อำนาจทนายความหาหมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายไม่ พ. จึงมีอำนาจลงนามในฐานะทนายจำเลยที่ 2 ในอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2203/2547
ความ เกี่ยวพันกันระหว่างบริษัทจำเลยกับ น. ผู้เป็นกรรมการนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น การที่ น. ลาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทจำเลยซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการบอกเลิก เป็นตัวแทนย่อมบอกเลิกเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่จำเลยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826, 827 หาใช่มีผลต่อเมื่อจำเลยได้นำไปจดทะเบียนไม่ ส่วนเรื่องการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทจะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ และการแต่งตั้งกรรมการบริษัทจะต้องนำความไปจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1151 และ 1157 เท่านั้น ส่วนกรณีกรรมการบริษัทลาออกไม่มีบทกฎหมายบังคับไว้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ น. บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นเวลาภายหลังที่ น. ลาออกจากบริษัทจำเลย น. ย่อมพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินต่าง ๆ อันเนื่องจากการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3297/2547
คดี นี้จำเลยถึงแก่กรรมภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แม้ทนายจำเลยจะมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของ จำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยโดยทนาย จำเลยมีอำนาจลงนามเป็นฎีกาแทนจำเลยได้ก็ตาม แต่ความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าจำเลยได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่าจำเลยถึงแก่กรรมแล้วไม่ มีผู้ใดยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2545
จำเลย ทั้งสองตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เป็นผู้ติดต่อหาลูกค้า เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้า โจทก์จะส่งคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็จะแจ้งกลับไปยังโจทก์ว่าจะส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เมื่อใด โจทก์จึงแจ้งให้ลูกค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลย ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองจัดส่งสินค้าแล้วก็จะเรียกเก็บเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่ลูกค้าเปิดไว้เห็นได้ว่าลูกค้ามิได้สั่งซื้อและรับสินค้ากับชำระราคา สินค้าแก่โจทก์โดยตรง ราคาสินค้าที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าก็คือราคาที่จำเลยทั้งสองขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละ 3 ถึง ร้อยละ 7 ของจำนวนสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อ โจทก์มิได้ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 ในนามของตนเองจึงไม่ใช่ตัวแทนค้าต่างของจำเลยทั้งสอง แต่การที่จำเลยทั้งสองตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนขายสินค้าในประเทศสาธารณรัฐ ประชาชนจีนและฮ่องกงและโจทก์ตกลงทำการดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะของสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็น อย่างอื่นจึงตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน จำเลยทั้งสองในฐานะตัวการย่อมมีสิทธิถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนเสียเมื่อ ใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคแรก ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ขอให้เลิกสัญญาโดยไม่ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนอีก ต่อไปย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและมีผลตามกฎหมายทันที ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิด สัญญาได้ส่วนความเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวก แก่โจทก์นั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งไม่อาจถือว่าการที่จำเลยทั้งสองถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนโดยมิได้ บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการถอนตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 827 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7061/2539
โจทก์ โดยธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจเมื่อวันที่1ตุลาคม 2534ให้ว.ฟ้องคดีแทนโจทก์ต่อมาวันที่13ตุลาคม2535ธ. ได้ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ครั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536 ว.ได้ฟ้องคดี นี้แทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจนั้นโดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้เพิกถอนหนังสือมอบ อำนาจดังกล่าวดังนี้สัญญาตัวแทนที่โจทก์แต่งตั้งว. ให้ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจนั้นยังคงมีผลผูกพันโจทก์และว. อยู่ตามกฎหมายหาได้ระงับสิ้นไปเพราะเหตุที่ธ.ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท โจทก์ไม่เหตุดังกล่าวคงมีผลแต่เพียงว่าธ. ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นับแต่วันที่13ตุลาคม2535เท่านั้นส่วนกิจการอัน ได้กระทำไปแล้วหามีผลกระทบกระเทือนถึงไม่ว. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวหนังสือมอบอำนาจ ฉบับนั้นหาได้สิ้นผลไปก่อนวันฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2539
สัญญา พิพาทที่โจทก์และฝ่ายจำเลยทำกันไว้ เป็นสัญญาที่โจทก์มอบหมายให้ฝ่ายจำเลยเป็นตัวแทนไปเจรจาขอเช่าที่ดินของ ก.เพื่อก่อสร้างอาคารเมื่อไปเจรจาเป็นผลสำเร็จและฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างอาคาร เสร็จแล้ว ฝ่ายจำเลยจะต้องจัดการให้โจทก์ได้เช่าอาคารที่ก่อสร้างขึ้นนั้นจากกรมธนา รักษ์ ไม่ได้มีผลผูกพันกันเป็นพิเศษว่าจะเลิกสัญญาต่อกันไม่ได้ ดังนั้น ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนจะบอกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่จะเป็นการบอกเลิกในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์ ฝ่ายจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การนั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 827

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6409/2538
แม้ จำเลยจะเพิ่งตั้งให้ส. เข้ามาเป็นทนายความของจำเลยในชั้นอุทธรณ์แต่จำเลยก็มิได้แถลงให้ศาลทราบว่า ไม่ต้องการให้ว. ทนายความคนก่อนเป็นทนายความของจำเลยต่อไปหรือยื่นคำร้องขอถอนว. จากการเป็นทนายความของจำเลยว. จึงยังเป็นทนายความของจำเลยอยู่และมีอำนาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2538
ขณะ ที่จำเลยที่1และที่2ยื่นคำร้องขอถอนทนายความนั้นศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ และส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์แล้วคดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้มี อำนาจสั่งคำร้องคือศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งคำร้อง จำเลยที่1และที่2แต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตน เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ15ว่าด้วยตัวแทน มาตรา797และย่อมมีสิทธิขอถอนทนายความซึ่งเป็นแทนเมื่อใดก็ได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา827วรรคหนึ่งหากทนายความเสียหายอย่างไรชอบที่จะ ว่ากล่าวเอาแก่คู่ความที่ตั้งตนเป็นทนายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 827วรรคสอง ขณะที่จำเลยที่1ยื่นคำร้องขอถอนทนายความเป็นเวลาที่จำเลยที่1ถูกนายทะเบียน หุ้นส่วนบริษัทกลางถอนชื่อออกจากทะเบียนอันถือได้ว่าบริษัทได้เลิกแล้วแต่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1249ก็บัญญัติว่าให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีจำเลยที่2และที่6เป็นกรรมการบริษัท ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่1ย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีและมีอำนาจอยู่เช่น เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1251,1252กับมีอำนาจตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา1259ตราบใดที่ยังไม่มีการตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่1ขึ้น มาใหม่จำเลยที่1และที่6ในฐานะผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนทนาย ความแทนจำเลยที่1ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2537
การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 นั้น เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทนเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นตัวการถึงแก่กรรม สัญญาตัวแทนย่อมระงับไปทนายโจทก์คงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปก ปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของโจทก์จะอาจเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ อำนาจทนายโจทก์หาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมไม่ ทนายโจทก์มีอำนาจลงนามเป็นผู้ฎีกาแทนโจทก์ได้ แต่เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฎต่อศาลว่าโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2537
จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยไม่มีผู้ใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมจนกระทั่งได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความฟังแล้วถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายจำเลย ที่ 2จะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 แล้ว ทนายจำเลยที่ 2จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนอีกต่อไป ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลังจากที่หมดอำนาจแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2536
ตาม ข้อบังคับของบริษัทโจทก์กำหนดให้กรรมการคือ ส.ช.และจ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยกรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทจึงจะผูกพัน โจทก์แต่การที่ ส.ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้วยังมาร่วมลงลายมือ ชื่อกับ ช. ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอีก เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ความเกี่ยวพันกันในระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส.ผู้เป็นกรรมการนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น ส.ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826,827,386หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้น ส่วนบริษัทแล้วไม่ ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2531
บุคคล ใดจะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้ ต่อเมื่อมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นจะต้องร้องขอต่อศาล เพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนมารดาผู้ร้องออกจากการเป็นตัว แทน เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะต้องใช้สิทธิทาง ศาล ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2493
ตัว แทนเมื่อพ้นหน้าที่เป็นตัวแทน จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ตนปกครองดูแลคืนให้ตัวการโดยสิ้นเชิง ทรัพย์สิ่งใดที่ตัวแทนยังคงยึดถือครอบครองไว้ ไม่ส่งคืนให้ตัวการโดยตัวการไม่ทราบนั้น ตัวแทนจะอ้างว่าเป็นการครอบครองโดยปรปักษ์เพื่อเอาเป็นของตนเสียมิได้ ต้องถือว่ายังคงยึดถือครอบครองไว้แทนตัวการและผู้อื่นที่เข้าครอบครองโดยตัว แทนแบ่งให้ เมื่อทราบว่าตัวแทนไม่มีอำนาจเอาทรัพย์นั้นมาแบ่งให้ตนแล้ว การที่ผู้อื่นเข้าครอบครอง จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองแทนตัวการเช่นเดียวกับตัวแทนนั้น ซึ่งจะอ้างการครอบครองมาใช้ยันตัวการไม่ได้ จนกว่าจะได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1381 แล้ว