มาตรา ๘๖๙ อันคำว่า “วินาศภัย”
ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ
บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้
มาตรา ๘๗๐
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน
และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้
ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น
ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย
ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน
ท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน
ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้
ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อ ๆ
กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ
มาตรา ๘๗๑ ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันก็ดี
หรือสืบเนื่องเป็นลำดับกันก็ดี
ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น
ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ
มาตรา ๘๗๒ ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย
ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน
มาตรา ๘๗๓ ถ้าในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนั้น
มูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลงไปหนักไซร้
ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
และลดจำนวนเงินเบี้ยประกันภัย
การลดจำนวนเบี้ยประกันภัยนั้น
ให้เป็นผลต่อในอนาคต
มาตรา ๘๗๔ ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้
ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน
ก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวนสูงเกินไปหนัก
และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ยด้วย
มาตรา ๘๗๕ ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น
เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี
ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้
ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง
ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้
ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ
มาตรา ๘๗๖ ถ้าผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย
ผู้เอาประกันภัยจะเรียกให้หาประกันอันสมควรให้แก่ตนก็ได้
หรือจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย
ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับตามควรแก่เรื่อง แต่กระนั้นก็ดี ถ้าเบี้ยประกันภัยได้ส่งแล้วเต็มจำนวนเพื่ออายุประกันภัยเป็นระยะเวลามากน้อยเท่าใดไซร้
ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยบอกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลานั้นสุดลง
มาตรา ๘๗๗
ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑)
เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(๒) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(๓)
เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น
ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่ง
จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
มาตรา ๘๗๘ ค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยนั้น ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้
มาตรา ๘๗๙
ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต
หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย
เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๘๘๐ ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้
ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด
ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้
ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย
หรือผู้รับประโยชน์
ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น
มาตรา ๘๘๑
ถ้าความวินาศเกิดขึ้นเพราะภัยมีขึ้นดังผู้รับประกันภัยตกลงประกันภัยไว้ไซร้
เมื่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ทราบความวินาศนั้นแล้ว ต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับประกันภัยโดยไม่ชักช้า
ถ้ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อน
ผู้รับประกันภัยอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ
อันเกิดแต่การนั้นได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้
มาตรา ๘๘๒ ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน
ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย
ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย
ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8789/2559
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง
3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา
เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7
ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6
การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150
มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6
บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด
เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย
ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้
ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น
หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด
โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2
มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้
แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6914/2559
เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา
แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย
จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8
กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า
150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว
ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม
กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย
ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง
และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี
นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป
คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6758/2559
แม้โจทก์จะฟ้องขอค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยมีมูลเหตุจากการที่
จ. ขับรถบรรทุกชน ศ. บุตรโจทก์ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เอาประกันภัย
เรียกให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882
มิใช่นับแต่ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559
คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3
ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน
ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน
ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่
1 และที่ 2 ดังนั้น
คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3
เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2
บริษัท บ.
ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก
และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น
ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น
ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส.
จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส.
โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด
อย่างไรก็ดี
การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ
25,000 บาท
แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท
ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง
จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13071/2558
โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน
ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์
เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ.
ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก.
ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ
และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ
โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม
และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่
บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์
โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย
สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย
เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป
โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้
ขณะเกิดเหตุ บ.
ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ
แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์
เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่
เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป
พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ.
ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2558
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
พ.ศ.2535
มาตรา 4 กำหนดให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 25
วรรคสอง และเมื่อบริษัทรับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด
มาตรา 31 บัญญัติว่าย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากบุคคลภายนอกหรือจากเจ้าของรถ
ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย
หากเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลดังกล่าว
แม้มาตรา 22 จะไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตาม
ป.พ.พ.
แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการให้สิทธิโจทก์ในอันจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลที่รับไปแล้วได้อีก
จึงต้องนำเงินที่โจทก์ได้รับมาแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหักออกจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปจริงด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2122/2559
ช.
เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7
บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย
หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้
โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน
นับแต่ที่ได้รับ คำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด
โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา
31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
มิใช่เป็นเรื่องโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา
12 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540
บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว
ผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี
นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11
ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540
โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป
จึงเป็นกรณี
ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ
จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่
6 พฤศจิกายน 2552 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี
สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12849/2558
จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้า ซ. จัดลานจอดรถเพื่อให้บริการแก่ร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่และลูกค้าของร้านค้าเพื่อจอดรถยนต์ขณะเข้าไปใช้บริการยังร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในอาคารศูนย์การค้าและมอบให้บริษัท
น.
เป็นผู้จัดการให้บริการด้านสาธารณูปโภคทั้งหมดรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในอาคารและนอกอาคารโดยมีการแบ่งผลประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้จากร้านค้าที่เช่าพื้นที่และรับบริการ
จำเลยที่ 2 กับบริษัท น.
เป็นบริษัทในเครือเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้อาคารศูนย์การค้า
ซ. ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 จัดเก็บค่าเช่าพื้นที่อาคาร
ส่วนบริษัท น. จัดเก็บค่าบริการด้านสาธารณูปโภค การที่บริษัท น.
เข้าทำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยที่อาคารศูนย์การค้าจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่อาคารศูนย์การค้า
จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้าจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่
1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้าย่อมแสดงให้ผู้มาใช้บริการที่อาคารศูนย์การค้าเข้าใจว่าจำเลยที่
2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า
พฤติการณ์ของบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบการค้าร่วมกัน
ย่อมถือได้ว่าบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 เป็นตัวการด้วยกันในการทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่
1 รักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้า
เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของจำเลยที่
1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558
ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่
1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์
เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง
(จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880
วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง
ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย
ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
การบังคับคดีเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น
เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีของผู้เอาประกันภัยได้
ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10461/2558
เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันแล้ว
ก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้
รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 และมาตรา 880 มีความหมายว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด
ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกันตามความเสียหายที่แท้จริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
11044/2558
แม้คู่ความจะรับกันว่า
สัญญาระหว่างบริษัท ท.
กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า
แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน
ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก.
ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้
การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท.
ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท.
กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587
เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 537
จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง
เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย
จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2558
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
พ.ศ.2535
มาตรา 4 กำหนดให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 25
วรรคสอง
และเมื่อบริษัทรับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด
มาตรา 31 บัญญัติว่าย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากบุคคลภายนอกหรือจากเจ้าของรถ
ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย
หากเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลดังกล่าว
แม้มาตรา 22 จะไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตาม
ป.พ.พ.
แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการให้สิทธิโจทก์ในอันจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลที่รับไปแล้วได้อีก
จึงต้องนำเงินที่โจทก์ได้รับมาแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหักออกจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปจริงด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10154/2558
จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมจึงมีหน้าที่ต้องรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา
โรงแรมของจำเลยมีห้องพัก 48 ห้อง มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว
มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่ 2 คน อ.
ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยและทำหน้าที่เปิดห้องพักให้แขกทางเข้าออกของโรงแรมไม่มีแผงเหล็กล้อเลื่อน
ไม่มีไม้กั้นรถเข้าออก มีเพียงป้อมยาม เช่นนี้แสดงว่าขณะ อ.
ไปเปิดห้องพักให้แขกจะไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราหรือดูแลรักษาความปลอดภัย
คงมีเพียงพนักงานเก็บเงินคนเดียวประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียนเข้าพัก
ซึ่งย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าบุคคลดังกล่าวไม่อาจดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าได้
คงทำได้เพียงอำนวยความสะดวกในการเข้าพักเท่านั้น
ทั้งการขับรถเข้าออกโรงแรมสามารถกระทำได้โดยง่ายเพราะไม่มีแผงกั้นและจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีวิธีรักษาความปลอดภัยวิธีอื่นใดทำให้คนร้ายเข้ามาภายในห้องพักของแขกที่เข้ามาพักอาศัยได้โดยง่าย
แม้ดาบตำรวจ ส. กับ ร. จะล็อกเพียงลูกบิดประตูห้องโดยไม่ได้ล็อกกลอนประตูและอุปกรณ์ล็อกรูปตัวยูทั้งที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่
ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยของคนเข้าพักอาศัย
ไม่อาจถือว่าเป็นความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัย
เพราะหากโรงแรมของจำเลยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ก็ย่อมเป็นการยากที่คนร้ายจะสามารถเข้าไปภายในห้องพักของลูกค้าได้
จำเลยจึงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้ว
ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่
อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย
พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ.
ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด
โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป
มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้
อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก
ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย
ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ.
หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4966/2558
โจทก์ฟ้องโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม
ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ผู้รับประกันภัยจึงมีเท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อโจทก์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง ดังนั้น
เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนด 1 ปี ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ก็ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2558
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่
2 เพื่อคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกรวมถึงความเสียหายต่อชีวิต
ร่างกาย หรืออนามัยและทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
บัญญัติว่า
"อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ"
และวรรคสอง บัญญัติว่า
"บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง
แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่..."
มีความหมายว่าบุคคลผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่ตนจากผู้รับประกันภัยโดยตรงและเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบฐานละเมิด
คือจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ได้รับ และมาตรา 877 บัญญัติว่า
"ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยแท้จริง..." คำว่า
"วินาศภัยอันเกิดขึ้นและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ"
จึงหมายความว่า เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น
ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์
ส่วนผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนในหนี้ละเมิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับโจทก์ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438 กรณีที่โจทก์และจำเลยที่
1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้ละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยที่
1 ระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม
ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เป็นเรื่องระหว่างโจทก์และจำเลยที่
1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์
จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับในส่วนที่เหลือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4075/2558
โจทก์ที่ 1
ลงลายมือในเอกสารโดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความในเอกสารมีความหมายเช่นไร
เมื่อข้อความในเอกสารมีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1
ขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1
จึงหาอาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ จำเลยที่ 2
แม้จะเป็นผู้รับประกันภัยในรถจักรยานยนต์ที่บุตรของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับ
ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัย
แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ได้ทำบันทึกขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่
1 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ จ. ผู้ละเมิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2
ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880
ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 หรือ จ. โจทก์ที่ 1
จึงหามีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3568/2558
สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท
ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1
ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง
หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย
แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท
อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น
รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท.
มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3397/2558
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
จำเลยเป็นผู้ก่อวินาศภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่
ถ. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยตาม
ป.พ.พ. มาตรา 880
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ได้
บันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเพียงข้อตกลงระหว่าง
ถ. ผู้เอาประกันกับจำเลยเท่านั้น หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่
แม้มูลหนี้ละเมิดระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยจะระงับสิ้นไป
ตามบันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาไม่
โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง
แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2558
สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา
และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม
ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้คำนิยาม วินาศภัย ว่า
ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้
การที่โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย
จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัย
เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัย
ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ในข้อ 2.1
ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง
ให้จำเลยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม
ก็เห็นว่าการรับประกันภัยเป็นความรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ
อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้
เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
ซึ่งเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ข้อ 5 ระบุว่า
การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์
โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ
หรือโดยบุคคลที่ทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น
ที่จำเลยฎีกาว่ารถสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง
กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิด
วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการฉ้อโกงดังที่จำเลยฎีกา
จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่
ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
หมวดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 4 ความรับผิดของบริษัทเมื่อมีการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
กำหนดว่า
เมื่อมีการเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทและหากบริษัทปฏิเสธความรับผิดไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามจนเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล
หากศาลพิพากษาให้บริษัทแพ้คดี
บริษัทจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้เสียหายนั้น
โดยชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดในอัตราร้อยละ 15
ต่อปี นับแต่วันผิดนัด เห็นว่า
ความรับผิดของผู้รับประกันภัยในกรณีที่ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกและผู้เอาประกันภัยได้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วจึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามข้อสัญญานี้ดังที่จำเลยฎีกามา
เมื่อข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร
โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของค่าเสียหายได้นับแต่วันผิดนัด
มิใช่บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความรับผิดของจำเลยดังที่จำเลยฎีกา
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ
7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2460/2558
ค่าประเมินความเสียหายของรถเป็นค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยซึ่งโจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดังกล่าวได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 878
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
16386/2557
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่
ว. ผู้นั่งโดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ว.
มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน
เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันและจำเลยที่
1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้ ว. เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล
50,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของ ว.
มาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 25,000 บาท กรณีนี้มิได้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 มาใช้บังคับกับ ว.
แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
15977/2557
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย
ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว
ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ
1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ
ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน
หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่
3 เมษายน 2546
ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1
และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก
ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี
เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13383
- 13386/2557
ผู้เช่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงจำเลยที่
1 ให้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เช่ามาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้เช่าประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งกับเป็นตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า
และมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1
เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้จำเลยที่ 1
หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงตกลงส่งมอบรถยนต์ 3 คัน
ให้ผู้เช่า แต่ความจริงผู้เช่าไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถยนต์แต่อย่างใด
แม้จะชำระค่าเช่ามาบางส่วนแต่ก็เพื่อที่จะทำให้จำเลยที่ 1
หลงเชื่อและเพื่อฉ้อโกงรถยนต์คันต่อไปจากโจทก์เพิ่มอีกดังที่ได้ติดต่อไว้
จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์ดังกล่าวกันจริง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินคดีอาญากับ ม. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เช่าในเรื่องนี้
และศาลแขวงพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษ ม. ในความผิดฐานยักยอก โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม
แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้างต้น จึงไม่อยู่ในบังคับตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าว
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานข้างต้นถือได้ว่าการกระทำของผู้เช่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
หาใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่
เมื่อโจทก์ไม่สามารถติดตามรถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนมาได้ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ที่ให้เช่าดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากถูกฉ้อโกงแล้ว
และเมื่อสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น
หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา
และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม
ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า วินาศภัย ว่า
ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้
การที่จำเลยที่ 1
ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญา
จำเลยร่วมตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยที่
1 เอาประกันภัย
เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
ซึ่งตามเงื่อนไขและความคุ้มครองตามข้อ 5
ระบุว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์
หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า
สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น
แต่คดีนี้ฟังได้ว่าการที่รถยนต์ทั้งสามคันสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง
กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
แม้ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์
ในข้อ 2.1
ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง
ให้จำเลยร่วมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยก็เป็นการรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ
อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้
เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่วินิจฉัยมาแล้ว
วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์ทั้งสามคันอันเกิดจากการฉ้อโกงคดีนี้
จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่
จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย
และตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2
ซึ่งในเงื่อนไขข้อดังกล่าวยังระบุว่าให้จำเลยที่ 1
ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยร่วมทันทีและให้ถือว่าการคุ้มครองรถรถยนต์นั้นสิ้นสุดลง
ดังนั้น แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยที่ 1
จะได้ติดตามรถยนต์ที่สูญหายคืนมาได้ 1 คัน แต่จำเลยที่ 1
ก็มีหนังสือถึงจำเลยร่วมเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ที่สูญหายไปทั้งสามคัน
และให้มารับซากรถยนต์ที่ติดตามได้คืนมาแล้ว อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.1.2
ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืน
จำเลยร่วมจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในรถยนต์คันนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย
แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายจะเป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่
1 ระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 แต่ปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 และข้อ 6.2.3 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ความว่า
หากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถือว่าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาทั้งหมด
และโจทก์อาจยอมรับการบอกเลิกสัญญานั้นทันทีหรือเมื่อใดหลังจากนั้นก็ได้
และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายต่างๆ แก่โจทก์ อันได้แก่
ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินงวดและดอกเบี้ยที่ค้าง
ค่าโสหุ้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโจทก์ในการค้นหา ยึดคืน ซ่อมแซม เก็บรักษา
ทวงหนี้
ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินค่างวดทั้งหมดที่จะต้องชำระในระยะเวลาเช่าซื้อที่เหลือ
ตลอดจนค่าเสียหายอื่นๆ ดังนี้ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1
ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ไว้ด้วย จำเลยที่ 1
จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว
แต่การกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1
ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าตามข้อตกลงเช่นว่านี้ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ
ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1
ชำระแต่ละงวดมิใช่เป็นการชำระราคารถแต่เพียงอย่างเดียว
หากแต่ยังมีค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
เมื่อหักค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวออกจากค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้ว
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เหมาะสมแล้ว
อนึ่ง
คดีนี้ศาลรวมพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน มูลคดีมาจากรถยนต์พิพาท 3 คัน สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์
ฟ้องจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยเนื่องจากรถยนต์สูญหาย
ส่วนสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่
โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ข้างต้นฟ้องจำเลยทั้งสาม
ในฐานะผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
และศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่แล้ว
ทำให้ในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่นี้
ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ได้
ดังนั้น เมื่อศาลได้วินิจฉัยในสำนวนแรกให้จำเลยร่วมรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่
เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีจึงให้นำเงินที่จำเลยร่วมต้องชำระต่อจำเลยที่ 1
ในสำนวนแรกซึ่งมีจำนวนที่มากกว่าอยู่แล้ว
มาชำระให้โจทก์ในนามของจำเลยทุกคนในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่
เหลืออยู่เท่าใดก็ให้จำเลยร่วมชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมต้องชำระเงินให้จำเลยที่
1 เป็นเงิน 3,450,000 บาท
และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,441,000 บาท
เมื่อนำมาหักกลบกันตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น
จึงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,009,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2557
เหตุที่รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้สูญหายเกิดจากการกระทำของ
ส. ที่ขับรถเข้าไปจอดเพื่อเข้าห้องน้ำโดยไม่ดับเครื่องยนต์จนมีคนลักเอารถไปได้
ซึ่งไม่ว่าการกระทำของ
ส.จะเป็นเพียงการประมาทเลินเล่อหรือถึงขนาดเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม
แต่ก็มิใช่การกระทำของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยโดยตรง
จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง และเมื่อธนาคาร ธ.
ผู้รับประโยชน์ใช้สิทธิฟ้องบังคับโจทก์กับพวกให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์กับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไปแล้วโดยไม่ใช้สิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย
อันมีผลทำให้โจทก์ยังคงเสียหายโดยไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย
ดังนี้
โจทก์ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้โดยตรงตามสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2418/2557
ร.
รับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าแล้ววางบัตรไว้ที่คอนโซลภายในรถ
แม้จะเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังในการเก็บรักษาบัตรจอดรถ
แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่จะเข้าไปซื้อของ ร.
ได้ล็อกประตูรถไว้เรียบร้อยแล้วโดยไม่ได้เสียบกุญแจติดเครื่องยนต์ไว้กับรถยนต์
และได้จอดรถยนต์ไว้เพียง 30 นาที
ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่นานเกินสมควร
ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ได้หายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
588/2557
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต
จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์
โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889
แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2
ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่
1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่
เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม
หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2
ระงับไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
19985/2556
แม้กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่
อ. ผู้เอาประกันภัยจะมีกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์
ซึ่งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองก็ตาม กรณีเป็นเรื่องระหว่าง อ.
กับโจทก์ เมื่อคู่สัญญาดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้
และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส.
ผู้ให้เช่าซื้อไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว
โดยไม่มีข้อคัดค้านโต้เถียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้แต่ประการใด
ดังนั้นโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัย
ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจาก อ.
ผู้เอาประกันภัยในอันที่จะฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยและจำเลยร่วมได้ ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 880
เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ อ.
ลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว
ก็ไม่ทำให้จำเลยและจำเลยร่วมพ้นจากความรับผิดไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2555
การที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าจากผู้เอาประกันภัยโดยกำหนดทุนประกันภัยไว้สูงกว่าราคาสินค้าโดยรวมเอาค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง
ๆ เพิ่มเข้าไปอีกร้อยละ 10 รวมเป็นร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น
แม้จะเป็นการชอบด้วยหลักการรับประกันภัยทางทะเลซึ่งมีผลให้การคิดค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่ผู้เอาประกันภัยจะคิดจากจำนวนเงินทุนประกันภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้
แต่กรณีดังกล่าวเป็นการรับประกันภัยและการคิดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
จำเลยมิใช่คู่สัญญาจึงไม่มีความผูกพันหรือความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว
จำเลยเป็นเพียงผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องเท่านั้น
ซึ่งหากสินค้าที่ขนส่งเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยแล้ว
จำเลยก็ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาขนส่งหรือผู้รับตราส่งหรือผู้ที่มีสิทธิรับสินค้าตามใบตราส่ง
อันเป็นความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่างหาก
คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยต้องรับผิดต่อบริษัท ก.
ผู้ซื้อสินค้าและรับสินค้าจากจำเลยผู้ขนส่งเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่ง
และบริษัท ก. ได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์
และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ก. ผู้เอาประกันภัยนั้นไป
โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของบริษัท ก. มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาขนส่ง
โดยจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของหรือสินค้าที่จำเลยได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายตาม
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง
และเมื่อเป็นกรณีที่ถือว่าสินค้าตามฟ้องเสียหายโดยสิ้นเชิงทั้งหมดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
โดยสินค้าทั้งหมดมีราคาซีเอฟอาร์ โดยผู้ขายได้คิดค่าขนส่งมายังท่าเรือกรุงเทพรวมเข้าเป็นราคาดังกล่าวไว้แล้ว
ย่อมถือได้ว่าความเสียหายของสินค้ามีจำนวนมากที่สุดเพียงเท่านั้น
เมื่อหักราคาขายซากสินค้า จึงคงเหลือค่าเสียหายของสินค้าที่แท้จริง
ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10624/2554
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปต่อจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรก
เป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเพราะไม่รู้ว่าวินาศภัยอันเดียวกันนี้มีผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยไว้ก่อนตน
กรณีจึงเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไป ทั้งๆ ที่ผู้ร้องไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่
ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสามบัญญัติไว้
ถือได้ว่าการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องนั้น เป็นการสมประโยชน์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ
หรือความประสงค์ตามที่พึงสันนิษฐานได้
กรณีตามคำร้องจึงเข้าเกณฑ์เป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งซึ่งก่อให้เกิดหนี้ที่ผูกพันผู้คัดค้านให้ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องได้ออกทดรองจัดการงานให้ผู้คัดค้านไปตาม
ป.พ.พ. มาตรา 401
การที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยว่า
ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไป
ยังไม่คุ้มกับจำนวนวินาศภัย
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปไม่รอเพื่อจ่ายในส่วนที่ยังขาดอยู่ถ้าหากมีแต่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งสิ้นไปทีเดียว
จึงต้องถือว่าผู้ร้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยไม่มีหน้าที่
เมื่อไม่มีกฎหมายใดบัญญัติถึงกรณีนี้ในอันจะให้ผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินตามที่ได้จ่ายไปนั้นได้
การที่ผู้ร้องจ่ายไปนั้นจึงตกเป็นพับแก่ผู้ร้อง
และมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องมานั้น
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นเสียได้ตาม
พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสาม (2)(ข)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
536/2554
การประนีประนอมยอมความตาม
ป.พ.พ. มาตรา 850 นั้น คือ
สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่
หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความเพียงว่า "ค่าเสียหายในการนี้ คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเอง"
ไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยเจรจาตกลงกับ ส.
คนขับรถบรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด
จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย
มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับสิ้นไปเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม
โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2551
จำเลย ที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 รับจ้างรักษาความปลอดภัยบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่กำหนดรวมทั้งลานจอดรถ
ของจำเลยที่ 3 โดยกำหนดให้ต้องรักษาความปลอดภัยด้านโจรกรรม
และดูแลรถของลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ไม่ให้เกิด
ความเสียหาย ซึ่งในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1
จะจัดให้มีพนักงานประจำที่ทางเข้าลานจอดรถเพื่อคอยมอบบัตรผ่านลานจอดรถและ
เขียนหมายเลขทะเบียนกำกับไว้ก่อนมอบให้ผู้ที่จะนำรถเข้ามาจอด
เมื่อจะนำรถออกผู้ขับรถจะต้องคืนบัตรผ่านลานจอดรถและชำระค่าบริการจอดรถให้
แก่พนักงานที่ประจำทางออกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงขับรถผ่านออกไปได้ ก. และ ว.
ผู้เอาประกันภัยได้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดในลานจอดรถของอาคารดัง กล่าว
และได้รับบัตรผ่านลานจอดรถจากพนักงานของจำเลยที่ 1
แต่ไม่ได้เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้จึงมีผู้นำรถยนต์พิพาทผ่านออกจากลาน
จอดรถได้ โดยที่บัตรผ่านลานจอดรถและหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยังอยู่กับ ว.
ผู้เอาประกันภัย เหตุที่รถยนต์ของ ว.
ผู้เอาประกันภัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ไม่เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ในบัตรผ่านลานจอดรถและไม่ตรวจสอบหลัก
ฐานให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำรถออกไป เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลาน
จอดรถ ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1
กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้รถยนต์ ของ ว.
ผู้เอาประกันภัยสูญหาย ถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1
กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย
เงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถที่ว่า
การออกบัตรนี้ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ บริษัทฯ
จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายต่อรถใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 1
พ้นความรับผิดตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1
กำหนดขึ้นแต่ฝ่ายเดียว
ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3
รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2551
บันทึก
ข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดยอมรับผิดต่อ
น.ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ว่าจะนำรถยนต์ที่ได้รับ
ความเสียหายไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะยอมรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บด้วย แต่ก็ไม่มีข้อตกลงที่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายส่วนอื่นที่เจ้า
ของรถยนต์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้อีก
ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่
หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 850
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปติดต่อธุรกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1
จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
โจทก์นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปซ่อมจนรถอยู่ในสภาพเดิม
และโจทก์ออกใบสั่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์กับใบเสร็จรับเงินและปลดหนี้ให้
แก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว
ถือว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมรถให้แก่อู่ซ่อมรถแล้ว
โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2550
จำเลย ที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นการประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ.
มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บริษัท ซ. ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าของบริษัท ซ.
ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์โดยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว
แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3
และตามกรมธรรม์ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1
ผู้เอาประกันภัยเพื่อวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัท ซ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท
ซ. ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3
โดยตรงตามมาตรา 887
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665/2550
จำเลย
ไม่ได้ตกลงทำสัญญากับ ผ. เพื่อรับดูแลรักษารถยนต์ของ ผ.
ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษารถยนต์ของ ผ. ตามสัญญา
การที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยไม่ได้ตรวจตราและมีคนลัก
เอารถยนต์ของผ.ไปจากบริเวณหมู่บ้านจัดสรรจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาหรือ
ละเมิดต่อ ผ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อ ผ. ทั้งในเรื่องสัญญาและละเมิด
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ผ. จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิจาก ผ.
มาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่รถยนต์ของ ผ. สูญหายไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2550
โจทก์
ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1
โดยอาศัยมูลหนี้ที่ ต. ได้นำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จาก บ.
เจ้าของรถยนต์ไปจอดในบริเวณโรงแรมของจำเลยที่ 1
แล้วเข้าพักในโรงแรม ต่อมารถยนต์หายไป จำเลยที่ 1
ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในความสูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน
นับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้นตามมาตรา 678 แม้โจทก์จะอ้างว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและมีคำขอให้คืนรถยนต์แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลย ที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมเท่านั้น
จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่มีอายุความ 1 ปี เมื่อเหตุรถยนต์สูญหายเกิดขึ้นวันที่
2 สิงหาคม 2540
โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 880
มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้
จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 เกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ ต.
ออกจากโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550
โจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1
ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2
เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3
ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลย ที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3
จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี
นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทด แทนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง
ขึ้นต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2549
การประกันภัยค้ำจุนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 887 เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง
ซึ่งบัญญัติแยกไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 อายุความฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.
มาตรา 882 ซึ่งบัญญัติเป็นบทเบ็ดเสร็จทั่วไปในส่วนที่ 1 ของหมวดเดียวกัน อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว
จึงไม่อาจเทียบได้กับกรณีประกันชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดอื่นและไม่อาจนำ
อายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30
มาใช้บังคับแก่กรณีประกันภัยค้ำจุนได้
การเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดในค่าสินไหมทดแทนนั้น
ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า
"บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจาก
ผู้รับประกันภัยโดยตรง...ฯลฯ" โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จาก
สัญญาก่อน ทั้งอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง
ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยก็เป็นการ
บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้นับแต่วันเกิดวินาศภัย
จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12
มาบังคับใช้แก่กรณีนี้หรือนำมาตีความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น
เมื่อโจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลย ที่ 4 จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3914/2548
แม้
คดีของโจทก์ขาดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตาม ป.พ.พ.
มาตรา 448 วรรคแรก ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตามมาตรา 193/29
ส่วนจำเลยที่ 4
ซึ่งโจทก์รับฟ้องขอให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 882 วรรคแรก กำหนดอายุความไว้ 2 ปี
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ภายในกำหนดอายุความดังกล่าว
ฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2548
โจทก์
ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์คันเกิดเหตุที่หายไปให้
แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น
ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์คันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4731/2548
โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งจากประเทศไทยไป
ยังประเทศสาธารณรัฐสังคมเวียดนามกับเป็นผู้ว่าจ้างและชำระค่าตรวจสอบความ
เสียหายให้แก่บริษัทผู้ตรวจสอบความเสียหายโดยตรง
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายให้ แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว
ทั้งไม่ปรากฏว่าการที่ที่โจทก์จ่ายแทนผู้เอาประกันภัยไปนั้นเป็นเพราะผู้เอา
ประกันภัยมีหน้าที่หรือความจำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้น
โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะที่รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายของ
สินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโดยตรงเท่านั้น
ไม่มีสิทธิเรียกร้องในค่าตรวจสอบความเสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6519/2548
โจทก์
เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าข้าวจากบริษัท ซ.
ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าข้าว
เมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตาม
ป.พ.พ. มาตรา 877 อันเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย
และผลแห่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้รับ
ช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็น
ผู้ขนส่งสินค้าข้าวพิพาทได้ในนามของโจทก์เองตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง และการรับช่วงสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมาย
หาใช่เกิดจากข้อตกลงของคู่กรณีในสัญญาประกันภัยไม่
แม้เอกสารการรับช่วงสิทธิไม่มีกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซ.
ลงลายมือชื่อพร้อมกับประทับตราสำคัญของบริษัท
ก็ไม่มีผลทำให้การรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เป็นอันสิ้นสิทธิหรือระงับ สิ้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548
โจทก์ ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาโดยชำระเงินดาวน์และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ
เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อ ส.
ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1
ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จาก ส.
ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกับภัยรถยนต์ของ ส.
แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1
จะได้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไปแล้ว
ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่ซึ่ง
โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้เท่านั้น
เงินดาวน์ดังกล่าวเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด
และเป็นค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย
จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุและไม่เป็นค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับไปจากบริษัท
ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4256/2548
จำเลย ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2
ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2
ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อ
เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็น 561,070 บาท อีกทั้งทรัพย์สินของบริษัท ฟ.
ที่บรรทุกมากับรถยนต์บรรทุกของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 350,000 บาท จำเลยที่ 3
ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2
ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท
ฟ. ไปแล้ว 350,000 บาท และบริษัท น.
ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว และถึงแม้ว่าจำเลยที่ 3 กับบริษัท น.
จะมีข้อตกลงร่วมกันว่าหากมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 กับบริษัท น. เป็นผู้รับประกันภัย
ต่างฝ่ายต่างจะรับผิดชอบซ่อมแซมและชดให้ค่าเสียหายแก่รถยนต์ที่ฝ่ายตน
รับประกันภัยโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม
แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นไม่มีผลกระทบถึงสิทธิ
เรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิดในส่วนของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การที่บริษัท น.
ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ยังไม่ครบถ้วน แม้จำเลยที่ 3
ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท ฟ. ไปแล้ว แต่ในเมื่อยังไม่เต็มวงเงินยังเหลือวงเงินอีก
150,000 บาท ตามที่รับประกันภัยโจทก์ไว้ จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์อีก 150,000 บาท
ตามวงเงินที่เหลือด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2548
จำเลย
ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของ ส. ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์
เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ซึ่งตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
นอกจากพนักงานสอบสวนจะทำบันทึกแจ้งข้อหาจำเลยเป็นคดีอาญาและเปรียบเทียบปรับ
อันทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังทำบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายมีข้อความว่า
คู่กรณีสมัครใจตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย
ตกลงกันเป็นที่พอใจแล้วจึงให้ ส. และจำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้แสดงว่า ส.
และจำเลยตกลงกันว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน
เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่ต่าง
ฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง
ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ทำให้ ส. ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของ ส. จะรับช่วงสิทธิของ ส. ได้เพียงเท่าที่ ส.
ผู้เอาประกันภัยมีอยู่เท่านั้น แม้ ส.
จะทำบันทึกตกลงกับจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก็ตาม แต่ ส.
เป็นผู้ได้รับความเสียหายกรณีละเมิดถูกรถยนต์จำเลยเฉี่ยวชน
ย่อมมีสิทธิที่จะทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับจำเลยด้วยการทำสัญญา
ประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน
อันเป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอม
จากโจทก์ เมื่อ ส. ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้
โจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของ ส.
ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่
ส. ผู้เอาประกันภัยไปเป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ที่โจทก์ทำไว้กับ ส.
เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2548
จำเลย ที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถหรืออำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง
ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1
ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2
ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ ป.
ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1
เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1
จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2
ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่
โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง
และกระทำไปโดยพลการนอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2
หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่
2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2
ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3
ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2546
ตาม
กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลคุ้มครองที่และจากแหลมฉบัง
ประเทศไทยถึงโฮจิมินห์ในประเทศเวียดนามคำว่าที่และจากแหลมฉบังย่อมเป็นการ
คุ้มครองภัยที่เกิดที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วยไม่ใช่เฉพาะนับจากเรือออกจากท่า
เรือแหลมฉบัง
ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลที่มีผลคุ้มครองสินค้าตั้งแต่เวลาที่สินค้า
อยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังขณะรอบรรทุกลงเรือจึงคุ้มครองสินค้าขณะอยู่ในคลัง
สินค้าของจำเลยที่ 5
ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังก่อนขนสินค้าลงเรือด้วย
เมื่อสินค้าได้สูญหายไปขณะที่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5
โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าซึ่งได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อสินค้าที่สูญหาย
ให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วตามความผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล
จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5
ที่รับฝากสินค้าไว้และจำเลยที่ 6
ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนภัยของจำเลยที่ 4
ผู้รับฝากสินค้าไว้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2545
การ ที่ ฉ.
เอารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปในครั้งเกิดเหตุแล้วไม่นำมาคืนภายในเวลาที่เคยยืมไปใช้
จำเลยที่ 1 ย่อมต้องสันนิษฐานได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย
การกระทำของ ฉ. อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สมควรที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งความดำเนินคดีแก่ ฉ. โดยไม่ชักช้า แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิ่งแจ้งความหลังจากที่ ฉ. เอารถยนต์ไปใช้แล้วนานถึง 6 เดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียหายแก่จำเลยที่ 3
ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ผู้เอาประกันภัย
ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ชักช้า จำเลยที่ 3
จึงอ้างเป็นเหตุไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2544
โจทก์
ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มอบหมายให้
ช.ขับรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 ที่เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลย
ช. ขับไปชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ที่
1 ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ที่ 2
ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
โดยโจทก์ทั้งสองได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยมาท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วน
หนึ่งแห่งคำฟ้อง ซึ่งระบุว่าจำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกในนามของ
โจทก์ที่ 1 สภาพแห่งข้อหาในกรณีของโจทก์ที่ 2 คือ
จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในนามของโจทก์ที่ 1 โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ช. ขับรถยนต์กระบะที่โจทก์ที่ 1 ประกันภัยไว้ต่อจำเลยชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2
เสียหายและมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระค่าซ่อมแซมแก่โจทก์ที่ 2
คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
ร่วมกันฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามกรมธรรม์
ประกันภัยที่โจทก์ที่ 1 ทำไว้ต่อจำเลย
โจทก์ทั้งสองจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี
กระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยโจทก์ที่ 1 ถือว่าได้ทำโดยโจทก์ที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)
คำว่า "อู่"
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
ให้ความหมายว่า "ที่ที่ต่อหรือซ่อมรถหรือเรือ" การที่โจทก์ที่ 1
นำรถยนต์กระบะของตนไปทำการเคลือบสีและพ่นกันสนิมจึงหาเป็นการนำไปให้ซ่อมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2658/2544
กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์
ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทด แทนให้
เมื่อรถยนต์ถูก ภ. ลักไปโดยจำเลยที่ 1
ผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย แม้จำเลยที่ 1
จะทราบว่า ภ. นำรถยนต์ไปจำนำไว้ที่บ่อนย่านคลองตัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำรถยนต์กลับคืนมาได้
ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ได้สูญหายไปโดยเหตุเนื่องจากการลักทรัพย์ตามข้อกำหนด
ของกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว
จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่ง
เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6874/2543
แม้
กรมธรรม์ประกันภัยจะกำหนดเงื่อนไขกรณีเกิดเหตุความรับผิดให้โจทก์ผู้เอา
ประกันภัยแจ้งคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้ขนส่งภายใน 3 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า
แต่การที่โจทก์แจ้งเรื่องสินค้าสูญหายล่าช้าไปหลายเดือนก็เนื่องมาจากกระบวน
การตรวจสอบว่าสินค้าได้สูญหายไปจริงหรือไม่
เมื่อตรวจสอบว่าสินค้าได้สูญหายไปจริงโจทก์ก็ได้แจ้งให้ผู้ขนส่งและจำเลยผู้
รับประกันภัยทราบทันที
ซึ่งจำเลยก็ไม่เคยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ได้แจ้งความเสีย
หายให้ทราบภายในกำหนดแต่อย่างใด จำเลยคงปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินค้าสูญหายโดยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ไม่มีหลักฐาน
ว่าสินค้าสูญหาย กับจำเลยไม่สามารถรับช่วงสิทธิจากผู้ทำละเมิดได้เท่านั้น
จากพฤติการณ์ดังกล่าว
แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอาข้อกำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวเป็นข้อ
สาระสำคัญให้โจทก์ปฏิบัติตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950/2543
โจทก์
นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันภัยไว้กับจำเลยโดยระบุให้บริษัทเงินทุนหลัก ทรัพย์ ก.
เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก
สิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอา
ประโยชน์จากสัญญา ตราบใดที่ยังไม่ได้แสดงเจตนาดังกล่าว
คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิตามสัญญานั้นได้
เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ
แสดงว่าได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว
โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและ
กันตามหลักทั่วไป
และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย เองได้
จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เช่าสถานที่ของวัดเป็นที่จอดและอู่ซ่อมรถ
บริเวณดังกล่าวมีประตูเข้าออกทางเดียว แม้ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยแต่ก็มีผู้ดูแลถือว่าโจทก์ใช้ความระมัด
ระวังในการสงวนทรัพย์สินเช่นวิญญูชนพึงประพฤติตามพฤติการณ์แล้ว
รถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้าย
แรงของโจทก์
และเมื่อทราบเหตุโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งจำเลยและแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ทันที
แต่ขาดหลักฐานการมอบอำนาจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
ก.ทำให้การแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรล่าช้า
ถือไม่ได้ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงยังต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1059/2543
แม้
กรมธรรม์ประกันภัยจะมิได้มีข้อกำหนดยกเว้นให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด
ในเหตุอันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขับขี่ไว้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ.
มาตรา 879 ก็ได้บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุ
อื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
จำเลยจึงยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2542
วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การ
ประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็น
สำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ใน
กรมธรรม์ประกันภัย
แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกัน
ภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย
การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริง
ของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น
ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย
ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย
ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11
ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้อง
เสียในมูลหนี้นั้นด้วยกรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้
เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้ว
สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย
เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ย.
ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่า
สินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น
ตามสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้
แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอา
ประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น
แต่การที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้ พ.
ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพ
อากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป
โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่า
ซื้อตลอดมา ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กับ พ.
ภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง
การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่าน
เข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะ
เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกัน
ภัยนั้นอยู่เช่นเดิม และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป
แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้
บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดัง กล่าว
กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4133/2542
กรมธรรม์
ประกันภัยระบุว่า
กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น จำเลยที่
1 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 3
เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ง. ผู้ให้เช่าซื้อ
บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ การที่จำเลยที่ 1 เพียงโอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แก่
ส.กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังคงเป็นของบริษัทง. ผู้ให้เช่าซื้อ
กรณีมิใช่เป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้บุคคลอื่น
กรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่สิ้นผลบังคับ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 ส.ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยส.
เป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ส. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ และ ส. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของ ส.
และจำเลยที่ 3
ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยแต่คำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3
ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ ส. ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย คำฟ้องของโจทก์จึงอ้างเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
เพราะจำเลยที่ 1
ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดด้วยเท่านั้น
ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1
ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3
ก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่
1 ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2542
จำเลย ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากส.เจ้าหน้าที่วิทยาลัยการปกครอง
ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะมีระเบียบว่าด้วยการใช้ รถยนต์เป็นประการใดก็ตาม
ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 2
จึงต้องรับผิดในผลแห่ง ละเมิดนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้
เอาประกันภัยที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดแล้วจึงรับช่วงสิทธิ
มาเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2542
กรมธรรม์
ประกันภัยที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัย ทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายในทันทีและภายใน
15 วัน นับแต่วันเกิดการสูญเสียหรือเสียหาย
มิฉะนั้นผู้รับประกันภัยจะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา
แม้บริษัทผู้รับประกันภัยจำเลยจะไม่ยกเงื่อนไขเป็นข้อต่อสู้ในการเจรจาประนี ประนอม
แต่ก็หาได้ตัดสิทธิจำเลยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลไม่
เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งค่าเสียหายให้จำเลยทราบเพียงครั้งเดียว
โดยค่าเสียหายก่อนหน้านั้นโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบ
กรณีจึงมิได้เป็นตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
จำเลยมีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิด
ขึ้นในครั้งก่อน ๆ ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4449/2541
การประกันภัยในการรับขนมีวิธีการเฉพาะซึ่งแตกต่างจากการประกันภัยทั่วไป
เพราะราคาแห่งมูลประกันภัยหรือ
ส่วนได้เสียสำหรับการประกันภัยในการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 884 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่หมายความเพียงแต่เฉพาะราคาค่าสินค้าเท่านั้น
แต่ยังอาจรวมถึง ค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้วแต่กรณีด้วย
เครื่องพิมพ์ซองพิพาทมีราคาซีแอนด์เอฟ จำนวน 71,681ปอนด์สเตอร์ลิง
ส่วนราคาที่โจทก์เอาประกันภัยกับผู้ร้องสอดมีจำนวน 78,849
ปอนด์สเตอร์ลิง เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับว่าราคาที่เอาประกันภัยนั้นเป็นร้อยละ 110 ของราคาสินค้า แสดงว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10
ของราคาสินค้าดังกล่าวก็คือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่รวมเป็นมูลประกันภัย
ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทางปฏิบัติสำหรับการประกันภัยในการขนส่งสินค้า
ดังนี้เงินจำนวน 187,610 บาท ที่โจทก์เรียกว่าเป็น
"ค่าเรียกร้อง"คือจำนวนร้อยละ 10 ของราคาเครื่องพิมพ์พิพาทที่เสียหายจำนวน
1,876,100 บาท จึงฟังได้ว่าค่าเรียกร้องดังกล่าวก็คือ
ค่าใช้จ่ายอันถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลประกันภัย เป็นส่วนได้
เสียซึ่งผู้ร้องสอดได้รับประกันภัยกับโจทก์ด้วย ตาม มาตรา 884 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4086/2541
โจทก์
รับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาประกันภัยจาก
ว.โดยได้แจ้งให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ
และผู้ให้เช่าซื้อได้แจ้งให้จำเลยผู้รับประกันภัยทราบแล้วถือได้ว่าโจทก์
แจ้งให้จำเลยทราบถึงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาประกันภัยแล้ว
เมื่อการโอนในกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875มิได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือและจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการโอนสิทธิแต่
อย่างใดฉะนั้น สิทธิตามสัญญาประกันภัยจึงโอนไปยังโจทก์
ว.
เพียงแต่โอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์เท่านั้น
กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของบริษัท ส. ผู้ให้เช่า
ซึ่งมิได้เปลี่ยนไปยังโจทก์
จึงมิใช่กรณีผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
ประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นผล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2540
กรมธรรม์
ประกันภัยระบุข้อยกเว้นที่จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายว่า
ความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลที่
ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่าเป็นอันไม่คุ้มครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ท. และ
ข. ทำสัญญาเช่ารถยนต์ไปจากโจทก์ผู้เอาประกันภัย
แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาเช่าบุคคลทั้งสองไม่นำรถยนต์ไปคืน เนื่องจาก ท. และ ข.
ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์ดังกล่าว
เหตุที่ทำสัญญาเช่าทรัพย์ก็เพื่อเป็นกลอุบายลักรถยนต์ไปขายที่ประเทศพม่าดัง นั้น
การที่ ท. และ ข.
ลักรถยนต์โดยใช้กลอุบายทำสัญญาเช่าเช่นนี้จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่
ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639/2540
ศาล
ชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า
จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด
โดยกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน
ก่อนสืบพยานโจทก์คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้เอาประกันภัยรถยนต์
พิพาทไว้แก่จำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายคำแถลงของจำเลย
และผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกินกว่า 180 วัน และขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่า
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.10 และ 3.9.2 เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่
โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงได้นัดฟังคำพิพากษา ดังนี้
กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์และจำเลยได้สละข้อต่อสู้อื่น ๆ แล้ว
ทั้งตามคำให้การของจำเลย จำเลยก็มิได้อ้างเหตุว่า
ผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไว้เป็นฝ่ายประมาท ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไว้ไม่ได้ขับรถโดยประมาท
นั้น กรณีจึงเป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์
การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น
จึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้วและหาใช่เป็นการวินิจฉัยเกินไปหรือนอก
เหนือจากคำฟ้องไม่ ตามตารางกรมธรรม์ ข้อ 1.10 มีข้อความว่า
"บริษัทอาจจะไม่รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นี้
เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประกันภัย
และเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้"ซึ่งมีความหมายรวมถึงเงื่อนไขตามข้อกำหนดของ
สัญญาทุก ๆ ข้อและรวมถึง ข้อ 3.9 ตอนท้ายด้วย และข้อ 3.9.2 มีข้อความว่า"การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด
ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกิน 180 วัน ฯลฯ
ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ"และตอนท้ายของข้อ 3.9
มีข้อความว่า "การยกเว้นตามข้อ 3.9จะไม่นำมาใช้ในกรณีที่ความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดขึ้นและมิใช่ความ
ประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์นี้"ดังนี้
เมื่อผู้ขับรถที่เอาประกันภัยไว้แม้จะขาดต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกิน 180
แต่กรณีที่ความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดขึ้นและมิใช่เป็นความประมาทของผู้ขับ
จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์
ตามตารางกรมธรรม์ข้อ 1.10 ต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2539
คำ ว่า
"ทุพพลภาพ" หมายถึง หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติ
โจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์และจำหน่ายอะไหล่รถจักรยานยนต์
โจทก์ย่อมต้องใช้การฟังเสียงเครื่องยนต์ประกอบในการซ่อมรถจักรยานยนต์
และต้องพูดคุยกับลูกค้ามาซื้ออะไหล่รถจักรยานยนต์
การที่ประสาทหูทั้งสองข้างของโจทก์เสีย ไม่ได้ยินเสียง
โจทก์จึงหย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติโดยสิ้นเชิงตลอดไป
ถือได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า
"การบอกกล่าวเรียกร้องผู้เอาประกันต้องบอกกล่าวให้บริษัททราบถึงการทุพพลภาพ
ดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน
นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรยังไม่
อาจแจ้งให้บริษัททราบ" ตามข้อความดังกล่าวมิได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยจะ
ต้องบอกกล่าวให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน
นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพทุกกรณี ในกรณีมีเหตุจำเป็นอันสมควร
โจทก์อาจไม่ต้องปฏิบัติตามนั้นได้
โจทก์ไปติดต่อจำเลยด้วยตนเองแต่ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพราะโจทก์ใช้มือ
เขียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งจำเลยก็ได้รับคำบอกกล่าวของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว
แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะให้โจทก์ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 180 วัน
นับแต่วันเริ่มทุพพลภาพตามที่กำหนดไว้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทด
แทนจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8292/2538
โจทก์ กล่าวในฟ้องว่า
โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันและนำไปประกันภัยต่อผ่านจำเลยซึ่งเป็นตัว
แทนของบริษัทประกันวินาศภัยในต่างประเทศเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นและโจทก์ได้ชด
ใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว จึงฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อเช่นนี้
ความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความรับผิดในฐานะผู้รับประกัน
วินาศภัยการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ต้องถืออายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9245/2538
โจทก์ ที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรับประกันภัยทรัพย์พิพาทโดยโจทก์ที่
1 และที่ 2
จะต้องรับผิดชดใช้ในวงเงินร้อยละ 60และ 40 ของค่าเสียหายทั้งหมดตามลำดับ
เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญาและโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตาม
วินาศภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามส่วนที่รับประกันภัยไว้แล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย
ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ทั้ง
สองดังนี้
การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยก
ต่างหากจากกัน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยมิใช่นายจ้างหรือตัวการของคนขับรถบรรทุกผู้ทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2
ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่มีพยานยืนยันว่าคนขับรถบรรทุกดังกล่าวเป็นลูกจ้างหรือ
ตัวแทนของจำเลยก็ตาม แต่คำพยานจำเลยก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังนั้นเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการ
รับฟัง พยานหลักฐาน ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า
คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2537
ที่ดินและตึกแถวเป็นของ
ศ. ซึ่งได้จำนองแก่ธนาคารและได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย
โดยระบุให้ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 231 สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัย อันมีความหมายว่าค่าสินไหมทดแทนที่ธนาคารผู้รับจำนองจะพึงเรียกได้จากจำเลย
ผู้รับประกันภัยก็ตกอยู่ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์ที่จำนองดังนั้น
หากเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวในระหว่างการจำนอง
ธนาคารย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแทนตึกแถวจาก จำเลยได้โดยตรง
จึงเป็นกรณีที่ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้จำนองรับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียก ร้องของ
ศ. ลูกหนี้ที่เอาประกันภัยที่มีอยู่กับจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยตามมาตรา 226 วรรค 2
เมื่อตึกแถวมิได้ถูกเพลิงไหม้ในระหว่างการจำนองและ ศ.
ได้จดทะเบียนไถ่จำนองโดยโจทก์เป็นผู้ชำระหนี้แก่ธนาคารแทน ศ.แล้วศ.
ได้จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์โดยปลอดการจำนอง
จึงทำให้สิทธิจำนองระงับไปและธนาคารผู้รับจำนองหมดสิทธิที่จะได้รับช่วง
ทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ ศ.
มีอยู่ต่อจำเลยอีกต่อไปตามมาตรา 231 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยจึงกลับมาเป็นของ
ศ. ผู้เอาประกันภัยตามเดิม
ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวโจทก์ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิด้วย
อำนาจกฎหมายจากธนาคารผู้รับจำนองเพราะโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริม
ทรัพย์และเอาเงินราคาค่าซื้อให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์สินเสร็จไปตามมาตรา 229(2)
การที่ ศ. โอนตึกแถวให้โจทก์
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในสัญญาประกันภัยของ ศ.
จะโอนมาเป็นของโจทก์ด้วยหรือไม่นั้นต้องบังคับตามมาตรา 875
วรรคสอง เมื่อ ศ.
ผู้เอาประกันภัยไม่ได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบเพราะไม่ทราบเงื่อนไขจน
กระทั่งเกิดเพลิงไหม้ตึกแถว
สิทธิในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนตามไปด้วยและตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ว่า
สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมระงับสิ้นไปเมื่อทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกัน
ภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยวิธีอื่นนอกจากทางพินัยกรรมหรือ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2537
ผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน
80-1287 ศรีสะเกษไว้กับจำเลยที่ 3 ได้แก่ร.
โดยทำสัญญาประกันภัยเมื่อวันที่24 มกราคม 2528 มีระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2528ถึงวันที่ 25 มกราคม 2529
ขณะทำสัญญาประกันภัยห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีสะเกษ ต.ไทยเจริญ
เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและใช้รถโดยถือกรรมสิทธิ์รถบรรทุกคันดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งรับโอนสิทธิครอบครองและใช้รถโดยถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528
หลังจากทำสัญญาประกันภัยรถบรรทุกคันดังกล่าวไปแล้วและไม่มีการโอนสิทธิตาม
สัญญาประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 3
รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1769/2521
ผู้
เอาประกันชีวิตระหว่างเดินทางเอาประกันไว้กับบริษัทหนึ่งแล้วขอเลื่อนวัน เดินทาง
บริษัทยังไม่อนุมัติ กับได้ขอเอาประกันกับอีกบริษัทซึ่งยังไม่ตอบรับ
ผู้นั้นเอาประกันกับบริษัทจำเลยอีก ข้อความที่ว่าไม่เคยประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุกับบริษัทอื่นก่อนเป็นข้อ
สำคัญที่จำเลยอาจบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา
แต่การประกันภัยครั้งนี้เป็นคนละระยะเวลากับครั้งก่อนที่ยังไม่อนุมัติ
เลื่อนการเดินทางจึงถือไม่ได้ว่าได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นก่อน
การ
บอกล้างโมฆียะกรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 ต้องทำภายใน 1
เดือนหลังจากบริษัททราบเหตุที่ปกปิดข้อความจริง การบอกล้างหลังจากนั้นไม่มีผล
สัญญาประกัน
อุบัติเหตุระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินมีเงื่อนไขให้จ่ายเงินในกรณีตายรวม
ทั้งบาดเจ็บนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้เงินอันอาศัยความมรณะ เป็นประกันชีวิตตาม
มาตรา 889 ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวน ไม่มีการจ่ายเงินตามลำดับผู้รับประกันภัยก่อนหลัง
ตาม มาตรา 870
โจทก์ขวนขวายออกเงินให้ผู้อื่นเอาประกันชีวิตโดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์
ยังไม่พอเป็นข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันชีวิตของผู้อื่นนั้น
ถือเป็นการที่ผู้เอาประกันซึ่งมีส่วนได้เสียเอาประกันชีวิตตนเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2518
อ.
เอาประกันภัยอาคารโรงงานซึ่งระหว่างก่อสร้างและวัตถุดิบไว้กับจำเลย
โดยยกประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้โจทก์ มีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ว่า ถ้าการค้าหรือการอุตสาหกรรมที่ผู้เอาประกันดำเนินอยู่มีการเปลี่ยนแปลงไปใน
ทางที่เพิ่มการเสี่ยงวินาศภัย
ผู้เอาประกันต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนวินาศภัยเกิดขึ้น
มิฉะนั้นสัญญาประกันภัยระงับทันที และมีข้อตกลงว่า
อัตราดอกเบี้ยประกันจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จ ดังนี้
การที่จำเลยได้เรียกให้อ.
ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จและเริ่มเดิมเครื่องจักร
ทำการผลิต
เจตนาของจำเลยเป็นเพียงการใช้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามที่
ตกลงกันไว้เท่านั้น หาเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าการเดินเครื่องจักรทำการผลิตเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อ
วินาศภัยเพิ่มขึ้นโดยละเมิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยไม่
เมื่อจำเลยเรียกให้ อ.
ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้นอ.มีหนังสือตอบจำเลยมีใจความว่าขอ
ส่งคืนกรมธรรม์เนื่องจากอ. ได้เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับบริษัทอื่นแล้ว อ.
ประสงค์จะเอาประกันเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ซึ่งยังมิได้เอาประกันไว้
เงินเอาประกันเครื่องจักรขอให้เป็นไปตามเดิม ดังนี้ เจตนาของ อ.
มีความหมายเป็นคำเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เดิม
โดยจะเอาประกันภัยเครื่องจักรแทนวัตถุดิบ ซึ่งได้ย้ายไปเอาประกันไว้กับบริษัทอื่น
หาเป็นการบอกเลิกสัญญาไม่ และการที่ อ.
แสดงเจตนาตามคำเสนอต่อจำเลยซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง
ย่อมตกเป็นอันไร้ผลเมื่อเกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยเสียก่อนที่หนังสือ อ.
จะไปถึงบริษัทจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมจึงยังมีผลผูกพันจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 877 สันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัย
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยถูกวินาศภัยไปทั้งหมด
ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องเอาชดใช้ค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เอา ประกัน
เว้นแต่ผู้รับประกันภัยพิสูจน์หักล้างได้ว่าความเสียหายของทรัพย์สินต่ำกว่า จำนวนเงินที่เอาประกัน
อ.
เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับจำเลย
แล้วนำวัตถุดิบนั้นไปประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นอีก
แม้เมื่อเกิดความเสียหายจากอัคคีภัยขึ้น
อ.ได้ยอมรับค่าเสียหายจากบริษัทรับประกันภัยอื่นนั้นไปบางส่วนแล้วก็ไม่
กระทบกระทั่งถึงสิทธิหน้าที่ของจำเลย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
871 และจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเมื่อความวินาศภัยก่อน
ซึ่งต้องรับผิดมากกว่าผู้รับประกันภัยคนหนึ่ง ตามมาตรา 870
วรรคท้ายจำเลยจึงต้องรับผิดในจำนวนวินาศภัยจริงที่ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้
เครื่องปรับอากาศทำความเย็นซึ่งติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารที่เอา
ประกันภัย เป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์ หาใช่ส่วนควบของอาคารไม่
เมื่อเกิดอัคคีภัยไหม้อาคารและเครื่องปรับอากาศก็ไป
ผู้เอาประกันภัยจะเรียกเอาชดใช้ค่าเสียหายในส่วนเครื่องปรับอากาศไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2500
ตาม กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ว่า
ผู้รับประกันจะยอมรับใช้เงินให้ในกรณีมีอุบัติเหตุนั้น
คำว่า"อุบัติเหตุ" ก็คือเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิดหรือความบังเอิญเป็น
ซึ่งหมายความว่าเป็นเหตุที่เกิดหรือเป็นขึ้นโดยมิได้จงใจ ฉะนั้น
จึงรวมถึงเหตุที่เกิดขึ้นโดยประมาทด้วย