สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2564

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2564 jQuery Live Search
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6098/2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) จำคุก 25 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้อาวุธมีดขู่บังคับขณะกระทำชำเราเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีอาวุธมีดในขณะกระทำชำเราผู้เสียหาย โจทก์ฎีกาว่า ขณะกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยถืออาวุธมีดอยู่ในมือย่อมทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5997/2564 โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงและบอกปัดไม่ให้ความช่วยเหลือโจทก์ในขณะที่จำเลยสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้ โดยจำเลยกล่าวว่า "แล้วแต่พวกมึงจะไปอยู่ที่ไหนอีแก่มึงเป็นคนไม่ยุติธรรม" และอีกข้อความหนึ่งว่า "แล้วแต่พวกมึงจะพากันไปตายที่ไหน กูไม่สนใจ มึงตายกูก็จะไม่ไปเผามึง" แต่ตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยด่าโจทก์ว่า อีแก่ หรือมึงตายกูก็ไม่ไปเผามึง แม้ ส. จะเบิกความว่า จำเลยด่าโจทก์ว่าไม่มีความยุติธรรมซึ่งตรงตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวด้วยความน้อยใจว่าโจทก์รักบุตรแต่ละคนไม่เท่ากัน หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501/2564 จำเลยปลอมเช็คของผู้เสียหายที่ 1 รวม 3 ฉบับ และนำเช็คที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าว 2 ฉบับ ไปใช้อ้างต่างกรรมต่างวาระ รวม 3 ครั้ง จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอม รวม 3 กระทง ตามจำนวนครั้งที่นำตั๋วเงินปลอมออกใช้ แต่สำหรับเช็คฉบับเลขที่ 00134343 ซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้นนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำออกใช้ จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมตั๋วเงินสำหรับเช็คฉบับนี้ตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) ด้วยอีกกระทงหนึ่ง การปลอมตั๋วเงินตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) เป็นความผิดต่างกรรมกับการใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก เพียงแต่มาตรา 268 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ใช้ตั๋วเงินปลอม ซึ่งเป็นผู้ปลอมตั๋วเงินนั้นรับโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมแต่กระทงเดียว เมื่อจำเลยทำปลอมเช็คฉบับเลขที่ 00134446 และใช้แสดงต่อ ภ. จึงต้องลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก แต่เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่เมื่อต่อมาจำเลยใช้เช็คฉบับนี้แสดงต่อ ณ. โดยไม่ได้ปลอมเช็คดังกล่าวขึ้นอีก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมตั๋วเงินตามมาตรา 266 (4) อีก คงมีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2564 โจทก์ยื่นคำร้องโดยมุ่งประสงค์ขอให้ศาลทำการไต่สวนและออกหมายเรียกจำเลยทั้งสองกับบุคคลอื่นมาให้ถ้อยคำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 277 โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายสินค้าแล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 กับบุคคลอื่นอันเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ทรัพย์สินใดเป็นของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งมาตรา 277 บัญญัติให้ศาลทำการไต่สวนออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เชื่อว่าอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือหรืออำนาจของผู้นั้นเพื่อให้ได้ความเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเรียกบุคคลผู้เคยเป็นกรรมการผู้ถือหุ้นและพนักงานบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้ถ้อยคำและทำการไต่สวนเกี่ยวกับการขายสินค้าและการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าวอันเป็นการอนุญาตตามคำร้องของโจทก์แล้ว ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งใด ๆ ตามคำร้องของโจทก์อีก ส่วนการที่ตามทางไต่สวนจะได้ข้อเท็จจริงเป็นประการใดเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องไปดำเนินการขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามที่พิจารณาได้ความต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 298 ต่อไป โดยมาตรา 277 หาได้บัญญัติให้อำนาจศาลในการมีคำวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไปเสียทีเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นของจำเลยที่ 1 และมีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งสองดังกล่าวโดยให้โจทก์วางเงินประกันความเสียหายมานั้น เป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4864/2564 จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 เช่นนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 2 ออกเสียจากทะเบียน ซึ่งเป็นกรณีการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่เป็นกรณีที่บริษัทเลิกกันอันให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว ดังนั้น ขณะฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลที่จะให้โจทก์ฟ้องได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจดชื่อจำเลยที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเสียก่อนที่จะฟ้องตามมาตรา 1273/4 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) และมาตรา 55
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2564 ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ สามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4592/2564 แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดที่ฟ้องก็ฟังได้แล้วว่าคดีมีมูล ไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานจนปราศจากข้อสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเหมือนดังเช่นในชั้นพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องมาจากพยานหลักฐานที่ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายและต้องไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ด้วย หนังสือรับสภาพหนี้ที่อ้างว่าเป็นเอกสารปลอมถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ทั้งสามไม่ได้นำมาแสดงต่อศาล หรือขอให้ศาลหมายเรียกจากผู้ครอบครองเอกสารมาอ้างเป็นพยาน ทำให้ไม่อาจตรวจสอบลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ได้ และก็ไม่ได้นำโจทก์ที่ 3 และ น. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่ของตน คงมีโจทก์ที่ 2 มาเบิกความปากเดียว อันเป็นพยานบอกเล่า ทั้งที่โจทก์ที่ 3 และ น. มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและอยู่ในวิสัยที่จะติดตามมาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็น และไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะให้รับฟังได้ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 คดีโจทก์ทั้งสามไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2564 ค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายจากการจำหน่ายสินค้า ส่วนการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่า ลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เอง จึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายอัตราตารางเมตรละ 640.70 บาท ต่อเดือน โดยวิธีเทียบเคียงจากพื้นที่ของโจทก์ที่นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันกับพื้นที่ขายของโจทก์เพียงประการเดียว ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน ส่วนพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ต่อเนื่อง เดิมพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีในอัตรา 6 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งจำเลยก็ได้ใช้อัตรานี้ในการกำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2560 ด้วย แต่ปีภาษี 2561 จำเลยปรับขึ้นเป็น 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยไม่ปรากฏว่า เมื่อคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ มีเหตุสมควรใดจึงปรับเพิ่มค่ารายปีดังกล่าว การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2559 ที่กำหนดค่ารายปีสำหรับพื้นที่ขายของโจทก์ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือนชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2563 ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ค่ารายปีในปีภาษี 2561 แตกต่างไปจากเดิม จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายสำหรับปีภาษี 2561 ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน และค่ารายปีพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ต่อเนื่องในอัตราตารางเมตรละ 6 บาทต่อเดือน ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่ง พระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2564 สำหรับสัญญาประกันภัยฉบับที่ 1 ที่โจทก์ร่วมทำไว้ต่อบริษัท อ. เป็นสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เมื่อบริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ร่วมไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ดังกล่าว การประกันภัยเฉพาะข้อตกลงคุ้มครองกรณีการรักษาพยาบาลย่อมถือเป็นการประกันความเสียหายเกี่ยวกับการเสี่ยงภัยกรณีบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ การชำระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง ไม่ใช่การชดใช้จำนวนเงินแน่นอนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาสำหรับความเสียหายที่ไม่อาจประเมินเป็นเงินได้ และไม่ได้อาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน จึงเป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การประกันชีวิต เมื่อบริษัท อ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้แก่โรงพยาบาลทั้งสามแทนโจทก์ร่วมไปแล้วรวม 100,989 บาท บริษัท อ. ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ร่วมมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้จากจำเลยได้อีก จึงต้องนำเงิน 100,989 บาท ไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม ส่วนสัญญาประกันภัยฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 เป็นสัญญาประกันชีวิต ซึ่งมีข้อตกลงเพิ่มเติมผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นการรักษาในโรงพยาบาลและการศัลยกรรมกับสัญญาประกันสุขภาพรวมอยู่ด้วย เมื่อเงินที่บริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ร่วมเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลงเพิ่มเติมผลประโยชน์อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับ จึงถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่บริษัท อ. พึงใช้ให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาประกันชีวิตซึ่งอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้บริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ร่วมไปตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้งสองฉบับข้างต้นแล้วก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่มีต่อจำเลยระงับไปไม่ โจทก์ร่วมยังคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้อีก ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ร่วมได้รับมาตามกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงหาได้เป็นจำนวนเงินที่ต้องนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิด คงต้องหักออกเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ร่วมได้รับมาตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2564 ฟ้องโจทก์แยกบรรยายการกระทำซึ่งอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามลำดับเหตุการณ์ที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์และปลอมลายมือชื่อโจทก์กับใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมกล่าวอ้างต่อผู้พิพากษา ฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาเป็นความผิดหลายกระทงซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ซึ่งการบรรยายการกระทำทั้งหลายตามลำดับเหตุการณ์เป็นการแยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องฟ้องแยกแต่ละกระทงเป็นข้อ ๆ ดังนั้น การที่ฟ้องโจทก์บรรยายข้อ 1 ข ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้พิพากษาหลงเชื่อว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจปลอม จึงไม่ได้แยกต่างหากจากฟ้องข้อ 1 ก และเท่ากับฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าจำเลยกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันเป็นการบรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำของจำเลยแล้ว และเมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจว่าเป็นเจตนาพิเศษของบุคคลอื่นนอกจากจำเลยไปได้ จำเลยย่อมเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2564 โครงการหมู่บ้าน พ. มีลักษณะเป็นหมู่บ้านปิด มีรั้วกำแพงกั้นเขตล้อมรอบและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะคือซอยท่าอิฐเพียงทางเดียวเท่านั้น การที่บริษัท พ. ในฐานะผู้จัดสรรทำถนนและรั้วกำแพงล้อมรอบที่ดินของโครงการที่จัดสรรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสัญจรและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการโดยเฉพาะ มิได้หมายที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินและบ้านในโครงการดังกล่าวด้วย ที่บริษัท พ. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 172178 พร้อมบ้านในโครงการหมู่บ้าน พ. แล้วรื้อถอนบ้านและรั้วกำแพงออก ก่อสร้างเป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน สภาพของถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนมีลักษณะแตกต่างจากถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ที่ก่อสร้างเป็นคอนกรีตอย่างถาวรเจือสมกับสำเนาบันทึกถ้อยคำที่ ว. ตัวแทนบริษัท พ. และกรรมการบริษัท พ. ให้ถ้อยคำยืนยันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า การสร้างถนนเชื่อมกันข้างต้นเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อให้ลูกค้าโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้าชมโครงการ และเพื่อการขนส่งวัสดุก่อสร้าง มิได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการโดยเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองเข้าด้วยกัน และจะทำการปิดกั้นถนนระหว่างโครงการทั้งสองให้เป็นไปตามแผนผังโครงการที่ขอจัดสรร กอปรกับตามแผนผังโครงการหมู่บ้าน น. มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทางซอยท่าอิฐ - บางรักน้อย อยู่แล้ว และปัจจุบันใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้าออกหมู่บ้านเช่นนี้ การก่อสร้างถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองนั้น หาได้มีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะให้ผู้อาศัยในโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ไม่ แม้ต่อมาบริษัท พ. ได้จดทะเบียนโอนถนนทั้งหมดภายในโครงการหมู่บ้าน พ. เป็นทางสาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าได้กระทำไปเพียงเพื่อให้การเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง อันจะทำให้หน้าที่ในการเป็นผู้บำรุงรักษาถนนของบริษัท พ. ตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง ตกแก่หน่วยงานของรัฐซึ่งปัจจุบันคือองค์การบริหารส่วนตำบล บ. เท่านั้น ถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ยังคงมีอยู่สำหรับการใช้ประโยชน์เฉพาะจำเลยที่ 1 และสมาชิกของจำเลยที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน พ. โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเข้ามาใช้ถนนดังกล่าวได้ ดังนี้จำเลยทั้งสิบหกย่อมใช้สิทธิขัดขวางด้วยการนำแท่งปูนมาวางปิดกั้นเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ได้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสิบหกจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2564 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดการสอนโครงการนานาชาติไม่เป็นไปตามที่โฆษณา แม้จำเลยจะเป็นส่วนราชการ การใช้จ่ายเงินใด ๆ ต้องเสนอของบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ก็ตาม แต่จำเลยเปิดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติขึ้นนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนในอัตราสูง ย่อมไม่อาจนำข้ออ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมายกเว้นหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามคำโฆษณาได้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ในส่วนที่โจทก์ขอค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืน นั้น แม้เงินค่าแรกเข้าจะตกเป็นของจำเลย แต่โจทก์ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาให้บริการทางการศึกษาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ค่าแรกเข้าเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้ในการทัศนศึกษาของแต่ละคน แต่บุตรโจทก์ได้รับค่าสูท 1 ชุด ค่าสมัครสอบ TOEFL Junior 1 ครั้ง 500 บาท จัดติว 30 ชั่วโมง แต่ยังไม่ได้ไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ และยังไม่ได้ทดสอบภาษาอีกหลายครั้ง โจทก์จึงได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยผิดสัญญาดังเหตุข้างต้น กรณีถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืนอันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ส่วนที่โจทก์ชำระค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนให้แก่จำเลย 5,000 บาท นั้น เพื่อให้เด็กชาย ช. ยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยในระหว่างที่เด็กชาย ช. ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4221/2564 การจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม มาตรา 203 แต่วันที่เลิกสัญญากันก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดกันไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินคงเหลือ กล่าวคือต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้วโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เมื่อครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 เพื่อบอกกล่าวการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการบอกกล่าวก่อนจำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่ต่อมาโจทก์มีหนังสือขอให้ชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 4 อีก ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่10 มกราคม 2561 หนังสือขอให้ชำระหนี้มีนัยเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไปตามอัตราที่ระบุในสัญญาบัญชีเดินสะพัดจนถึงวันผิดนัด แต่ที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์นั้น เห็นว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและการเงินในแต่ละช่วงเวลา จึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสี่รับผิดตามอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดที่ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ภายหลังวันฟ้อง แต่ไม่ให้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ปัญหานี้แม้คู่ความจะไม่ได้ฎีกาแต่ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และกรณีเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์จะฎีกาเฉพาะในส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2564 คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดิน 84 แปลง ซึ่งไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ที่มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวรวมอยู่ด้วย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นภริยาสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย อันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 2 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อที่ดินดังกล่าวมิใช่ที่ดินที่พิพาทกันในคดีก่อน เป็นเพียงที่ดินที่จำเลยที่ 1 เสนอขายให้แก่โจทก์รวมไปกับที่ดิน 84 แปลง เพื่อระงับข้อพิพาทในคดีก่อนด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โดยตกลงกันว่าหากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 1 บังคับคดีตามฟ้อง เมื่อโจทก์ผิดนัด จำเลยที่ 1 ก็บังคับคดีได้เพียงที่ดิน 84 แปลง ตามฟ้องในคดีก่อน ไม่อาจบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ได้ เพราะมิใช่ส่วนหนึ่งของฟ้องในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ที่ขอให้ขับไล่โจทก์จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ อันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อ้างว่าทำเพื่ออำพรางการกู้เงินโดยมีที่ดินดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายสมบูรณ์ โจทก์ขายที่ดินโดยสมัครใจ และฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ออกไปจากที่ดินดังกล่าว โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งโดยยืนยันตามฟ้องเดิม จึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน หากผลคดีเป็นไปตามข้ออ้างของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามสัญญาซื้อขายที่ดินตกลงซื้อขายในราคา 145,000,000 บาท จึงถือว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในที่ดินแปลงนี้เท่ากับจำนวนเงินที่ซื้อขายกัน มิใช่ราคาประเมิน 18,400,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอุทธรณ์ขอให้บังคับตามคำขอของแต่ละฝ่ายเช่นเดียวกันกับคำขอในศาลชั้นต้น ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น แม้ต่อมาโจทก์จะขอถอนอุทธรณ์ และศาลมีคำสั่งอนุญาต ก็ไม่ทำให้ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) ก ท้าย ป.วิ.พ. เป็นเงิน 295,000 บาทจำเลยที่ 2 ฎีกาฝ่ายเดียว โจทก์มิได้ฎีกา ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับโจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินได้หรือไม่ คดีของจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตาม ตาราง 1 (2) ก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคสอง เป็นเงิน 200 บาท แต่จำเลยที่ 2 ชำระมา 295,000 บาท เกินมา 294,800 บาท จึงคืนให้แก่จำเลยที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4163/2564 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.1406/2559 ของศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าห้องชุดพิพาทกับโจทก์ โจทก์บุกรุกเข้าอาศัยในห้องชุดพิพาทเป็นการละเมิดจำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องชุดพิพาทพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องชุดพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมหรือไม่ และโจทก์อยู่อาศัยในห้องชุดพิพาทเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งตามสัญญาเช่า โจทก์ได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าจนครบกำหนดเวลาเช่า ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะไม่ได้ตกลงกันในทุกประเด็นที่มีการฟ้องก็ตาม ก็ถือได้ว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้วและศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิพากษาตามยอมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ที่ระบุว่า โจทก์และจำเลย (จำเลยที่ 2 และโจทก์คดีนี้) ไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ กันอีกย่อมหมายรวมถึง ค่าเช่าล่วงหน้าตามสัญญาเช่าที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วย โจทก์จึงถูกปิดปากด้วยข้อสัญญาดังกล่าวมิอาจฟ้องค่าเช่าล่วงหน้าที่โจทก์ยังอยู่อาศัยในห้องชุดพิพาทไม่ครบกำหนดได้ และการที่โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำเฉพาะจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องชุดพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เจ้าของห้องชุดพิพาท ในลักษณะจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่ากับโจทก์ มิใช่กระทำเป็นส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าตามสัญญาเช่า
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4137/2564 โจทก์และเจ้าของรวมเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อปี 2516 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2555 โดยเสียค่าเช่ามาตลอด ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแทนโจทก์ แม้ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสามแปลงอันเป็นคำสั่งทางปกครองมีผลทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่โจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว แม้ในที่สุดผลคดีเป็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินชอบแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็เพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยยอมรับสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา ส่วนโจทก์แก้ฎีกาโดยยื่นระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมเช่นกัน โดยโจทก์และจำเลยต่างก็มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง และมาตรา 90 วรรคสอง แต่เอกสารตามที่ระบุพยานเพิ่มเติมต่างเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นในคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งเอกสารดังกล่าวเพิ่งมีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วและมิได้อยู่ในความครอบครองของคู่ความมาแต่ต้น พฤติการณ์จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์และจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานและสำเนาเอกสารดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่เมื่อมีเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง จึงฟังได้ว่า เอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2564 คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ระบุว่า โจทก์ยอมชำระเงินให้จำเลย 2,000,000 บาท โดยได้ชำระให้จำเลยไปก่อนแล้ว 300,000 บาท และจะโอนให้จำเลยตามบัญชี... ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2556 อีก 700,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้โอนขายที่ดินพิพาทแล้ว แม้โจทก์จะชำระเงินให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วรวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่การที่โจทก์จะชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท นั้น มีข้อตกลงว่าโจทก์จะชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้โอนขายที่ดินพิพาทแล้วตามสัญญา ข้อตกลงการชำระเงินในสัญญาส่วนนี้จึงตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่โจทก์จะต้องโอนขายที่ดินพิพาทเสียก่อนจึงจะชำระเงินส่วนนี้ให้แก่จำเลย แต่เงื่อนไขดังกล่าวนี้มิได้กำหนดระยะเวลาว่าโจทก์จะต้องขายที่ดินพิพาทเมื่อใด ซึ่งหากโจทก์ไม่ดำเนินการจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดี โจทก์ก็อาจไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่จำเลย ที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกาว่า ผู้ซื้อที่ดินต้องการให้โจทก์ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินก่อนนั้น ก็ได้ความตามคำแก้ฎีกาของโจทก์เองว่าโจทก์เพิ่งดำเนินการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมกว่า 5 ปี ส่วนที่อ้างว่าการออกโฉนดที่ดินที่ติดกับลำน้ำอิงมีข้อขัดข้องเรื่องการกำหนดแนวเขตที่ดิน จึงสามารถออกโฉนดที่ดินได้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์พยายามปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยพลัน พฤติการณ์ส่อว่าหากโจทก์ขายที่ดินพิพาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้าอาจเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปจนเนิ่นนานโดยไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา กรณีจึงเป็นการไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะสามารถขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใดเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ขายที่ดินพิพาทและจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 ตุลาคม 2561 แจ้งให้โจทก์ดำเนินการขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉย จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมได้จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อมิให้จำเลยได้รับชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน จำเลยมีความประสงค์จะบังคับคดีเพื่อให้จำเลยได้รับชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดี หรือออกหมายบังคับคดีเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี เมื่อศาลได้มีหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามอำนาจหน้าที่ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่กำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีเป็นอำนาจของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ข้อตกลงข้อ 2 ที่ระบุว่า ส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการโอนให้แก่บุคคลใด เงื่อนไขระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่เริ่มนับ จะถือว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้ ให้ยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของจำเลย อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาวินิจฉัยว่าการออกหมายบังคับคดีนั้นไม่ถูกต้องและไม่ดำเนินการยึดทรัพย์ตามที่จำเลยขอบังคับคดีโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย ซึ่งกระทำมิได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าหมายบังคับคดีมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาด ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรายงานศาลเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขหมายบังคับคดีตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของจำเลย โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ยังไม่ผิดนัดตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นการทบทวนคำสั่งศาลในการออกหมายบังคับคดีจึงไม่อาจกระทำได้ จึงต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีเสีย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2564 เงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (4) (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากบริษัทมีลักษณะเป็นเงินได้ที่เกิดจากการลงทุนถือหุ้นในบริษัท เมื่อบริษัทประกอบกิจการมีกำไรจะแบ่งเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น สาระสำคัญการจ่ายเงินปันผลคือต้องจ่ายจากกำไรของกิจการ บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 ถึง 1205 บริษัทผู้จ่ายเงินปันผลแก่บุคคลธรรมดามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยตามมาตรา 50 (2) (จ) แห่ง ป.รัษฎากร โดยให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ ส่วนเงินได้ที่เป็นเงินลดทุนของบริษัทนั้น ตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่ง ป.รัษฎากร เงินลดทุนของบริษัทเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน สาระสำคัญการจ่ายเงินลดทุนนี้ คือ เมื่อบริษัทลดทุนแล้วจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นมีลักษณะเป็นส่วนของเจ้าของลดลงไป โดยที่บริษัทแสดงกำไรสะสมในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีในลักษณะส่วนหนึ่งของเจ้าของ (Equities) การลดทุนตามความหมายของมาตรา 40 (4) (ง) เป็นการจ่ายเงินคืนทุนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน โดยไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินปันผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ได้จดทะเบียนลดทุนจาก 435,000,000 บาท เหลือทุนจดทะเบียน 108,350,000 บาท ลดทุนลง 326,250,000 บาท ต่อมาที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของโจทก์มีมติให้ลดเงินสำรองตามกฎหมายของโจทก์ 43,500,000 บาท เหลือเงินสำรองตามกฎหมาย 10,875,000 บาท โดยลดเหลือร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียนที่ลดลงดังกล่าว เงินสำรองตามกฎหมายที่ลดลง 32,625,000 บาท เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่เป็นเงินลดทุนของบริษัทเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40 (4) (ง) โจทก์ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) โดยให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ โดยหักภาษีเงินได้เมื่อได้จ่ายเงินนี้ แม้ภายหลังจากการจดทะเบียนลดทุนแล้วที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์เห็นชอบให้โอนเงินสำรองตามกฎหมายจำนวน 32,625,000 บาท เป็นกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร ก็ยังคงเป็นเงินที่ส่วนหนึ่งของเจ้าของลดลง การจ่ายเงินลักษณะนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการของบริษัทตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร แม้หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จะอ้างว่า มีหนังสือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าวินิจฉัยว่า บริษัทไม่มีสิทธิคืนเงินทุนสำรองตามกฎหมายส่วนที่เป็นทุนจดทะเบียนที่ลดลงได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คืนเงินทุนสำรองตามสัดส่วนของทุนจดทะเบียนที่ลดลงนั้น จะเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ ก็ไม่ทำให้หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ตามมาตรา 50 (2) ประกอบมาตรา 40 (4) (ง) แห่ง ป.รัษฎากร เปลี่ยนแปลงไปฐานภาษี คือ จำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่คิดคำนวณได้เป็นเงินที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีและเสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อเท็จจริงปรากฏตามงบการเงินของโจทก์ว่า รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นงบแสดงฐานะทางการเงินของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนโจทก์จ่ายเงินลดทุนนี้ โจทก์มีทุนเรือนหุ้นจดทะเบียน 435,000,000 บาท มีกำไรสุทธิจัดสรรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย 43,500,000 บาท และมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 11,347,139.42 บาท เมื่อรวมกำไรสุทธิจัดสรรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมายกับกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรเป็นเงิน 54,847,139.42 บาท จำนวนนี้ คือฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินลดทุนของโจทก์เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จ่ายเงินได้พึงประเมินนี้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) โดยต้องคำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว และเมื่อเจ้าพนักงานประเมินถือเอากำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรจำนวน 11,347,139.42 บาท เป็นเงินที่กันไว้รวมกับเงินกำไรสุทธิจัดสรรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย อันเป็นฐานภาษีของเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ง) แล้ว โจทก์จึงไม่อาจถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรอันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร ด้วย เมื่อโจทก์ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 54 ทั้งต้องรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับพิพาทมิได้ขัดต่อหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามเกณฑ์เงินสดตามมาตรา 39 และมาตรา 50 (2) แห่ง ป.รัษฎากรอนึ่ง โจทก์ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งจำเลย โดยคำนวณตามมาตรา 50 (2) (จ) แห่ง ป.รัษฎากร โดยคำนวณหักในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ เป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย 4,393,999.99 บาท และจำเลยไม่ได้นำเงินจำนวนนี้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีให้โจทก์ จึงเป็นการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายซ้ำซ้อน จึงให้จำเลยนำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวมาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2564 จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ แต่ละฉบับเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ...” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า “...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม...” เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าวโจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าหรือไม่ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาต้องถือตามเงินเพิ่มอากรขาเข้าส่วนที่เกินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องเสียคำนวณถึงวันฟ้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4123/2564 ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทในชั้นฎีกาว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) หรือไม่ และคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2564 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับคดีนี้ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในคดีนี้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2564 ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (18) มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่าย ต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางนำสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับ ก. เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. และบิลเงินสดที่ ก. ทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ที่ปรากฏแต่ชื่อของ ก. เท่านั้น อ.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นที่เจ้าหน้าที่สรรพากรให้นำตัว ก. มาชี้แจง โจทก์ไม่สามารถติดต่อ ก. มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงได้ ซึ่งก็ได้ความจาก ว. เจ้าพนักงานตรวจสอบเช่นกันว่า โจทก์ไม่สามารถนำตัว ก. มาให้ถ้อยคำได้และยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อด้วย ซึ่งมีข้อพิรุธที่โจทก์และ ก. ติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2551 มีการเช่ารถยนต์พร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติแล้วย่อมจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อ ก. ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับ ก. มีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่า คงมีเพียงตารางค่าเช่ารถเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก นอกจากนี้ ฐ. กรรมการบริหารบริษัทโจทก์ยังเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท อ. ซึ่งบริษัท อ. มี ณ.เป็นผู้ถือหุ้น และ ณ. ยังเป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นบริษัท ม. ทำให้เห็นได้ว่าโจทก์กับบริษัท ม. มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท ม. จ่ายค่าเช่ารถให้แก่ ก. สูงกว่าปกติ และบริษัท ม. ไม่สามารถนำตัว ก. มายืนยันว่ามีการรับเงินตามบิลเงินสดที่บริษัท ม. นำมาแสดงเป็นรายจ่ายต่อเจ้าพนักงานของจำเลยได้เช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของ ก. ก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัว ก. เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงทำหนังสือเชิญ ก. ให้มาพบแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ ก. ก็ไม่มาพบ แม้โจทก์จะประกอบการจริงและรายจ่ายที่เป็นค่าเช่ายานพาหนะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 ตามกระดาษทำการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด.50 จำนวน 10,621,603.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.71 ของรายได้ เป็นค่าเช่าที่จ่ายให้แก่ ก. 10,533,342 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าผู้ให้เช่ารายอื่น และโจทก์ชำระเงินค่าเช่ารถยนต์ให้แก่ ก. โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ ก. และขีดคร่อมประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตาม แต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถและผู้รับเงินค่าเช่ารถที่แท้จริง ทางนำสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหาก ก. เป็นผู้ให้เช่ารถยนต์แล้วน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ก. มากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2564 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ธนาคาร N. เป็นสถาบันการเงินตามข้อ 11 (4) (ข) ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนหรือไม่ ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ข้อ 11 ระบุว่า “... (4) แม้จะมีบทของวรรค 2 และ 3 อยู่ ดอกเบี้ยซึ่งเกิดขึ้นในรัฐทำสัญญารัฐหนึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีในรัฐนั้น ถ้าดอกเบี้ยนั้นได้รับโดย (ก) รัฐทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง มลรัฐ (ลันด์) ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของอีกรัฐหนึ่งนั้น หรือ (ข) สถาบันการเงินใด ๆ ซึ่งรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง มลรัฐ (ลันด์) ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของอีกรัฐหนึ่งนั้นเป็นเจ้าของทั้งหมด และโดยเฉพาะในกรณีสหพันธ์สาธารณรัฐ โดย "ดอยซ์บุนเดสแบงก์"หรือ "เครดิตทันสตาลห์ฟือร์ วิเดอรัฟเบา" และในกรณีประเทศไทย โดย "ธนาคารแห่งประเทศไทย" หรือ (ค) โดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งจากพันธบัตรซึ่งออกจำหน่ายโดยรัฐบาลของรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ..." ธนาคาร N. ไม่เป็นสถาบันการเงินซึ่งมลรัฐ ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นเจ้าของทั้งหมดตามข้อ 11 (4) (ข) ของความตกลงดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะเหตุผลสามประการประกอบกัน ประการที่หนึ่ง คำว่า เป็นเจ้าของทั้งหมดตามข้อ 11 (4) (ข) หมายถึงเป็นเจ้าของทั้งหมดโดยทางตรงเท่านั้น ไม่หมายรวมถึงการเป็นเจ้าของโดยอ้อมหรือโดยทางอ้อมด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ตามความตกลงนี้หากกรณีที่ต้องการให้หมายรวมถึงโดยทางอ้อมด้วยก็จะระบุไว้ชัดเจน ดังที่ระบุไว้ในข้อ 9 และ ข้อ 23 ประการที่สอง เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อ 11 (4) (ก) กับข้อ 11 (4) (ข) แล้วควรมีความสำคัญที่เท่าเทียมหรือเกือบเท่าเทียมกัน ซึ่งตามข้อ 11 (4) (ก) ถ้าดอกเบี้ยได้รับโดยรัฐ มลรัฐ ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนข้อ 11 (4) (ข) ผู้รับดอกเบี้ยมิใช่รัฐ แต่เป็นสถาบันการเงินโดยเป็นสถาบันการเงินซึ่งรัฐ... เป็นเจ้าของทั้งหมด การที่รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมดของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจึงควรมีความสำคัญเท่ากับหรือเกือบเท่ากับรัฐตามข้อ 11 (4) (ก) นั่นคือต้องเป็นเจ้าของทั้งหมดโดยทางตรงเท่านั้น เพราะหากเป็นเจ้าของทั้งหมดโดยทางอ้อมด้วย ความสำคัญของสถาบันการเงินจะมีน้อยกว่ารัฐตามข้อ 11 (4) (ก) มาก เช่น หากรัฐเป็นเจ้าของทางอ้อมด้วย รัฐไม่อาจควบคุมดูแลสถาบันการเงินได้ดีเหมือนกับที่รัฐ ... เป็นเจ้าของทั้งหมดโดยทางตรง และประการที่สาม กรณีที่กระทรวงการคลัง สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีหนังสือ 2 ฉบับ ตอบมายังจำเลยโดยตอบมารวมความได้ว่า ธนาคาร N. มีหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นถือหุ้นโดยทางอ้อมด้วย จึงไม่ได้เป็นสถาบันการเงินตามข้อ 11 (4) (ข) ที่อาจอ้างสิทธิได้รับยกเว้นภาษีจากแหล่งเงินได้ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาเหตุผล สามประการดังกล่าวประกอบกันแล้ว เห็นได้ชัดว่า ธนาคาร N. ไม่เป็นสถาบันการเงินซึ่งมลรัฐ ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นเจ้าของทั้งหมดตามข้อ 11 (4) (ข) ของความตกลงดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2564 ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งโดยไม่ได้สั่งคืนค่าขึ้นศาล ซึ่งไม่ถูกต้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง 10,000 บาท มาวางศาลโดยจำเลยนำเงินค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมใช้แทน เมื่อเงินค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืน 30,100 บาท รวมกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ที่จำเลยนำมาวางศาล 10,000 บาท ดังกล่าว เกินกว่าค่าธรรมเนียมใช้แทนที่จำเลยต้องวางศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คดีจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2564 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนด ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 180 ต้องห้ามฎีกา” ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4076/2564 ผู้ร้องที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของ ว. ในคดีแพ่งและเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 76843 ที่มีชื่อ ว. ผู้ประกันจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งถูกยึดเพื่อขายทอดตลาดในคดีนี้ การที่ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองจึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ผู้ร้องที่ 1 ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 (5) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 76843 ก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้ว เมื่อผู้ร้องที่ 1 โอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อ ว. รวมทั้งบุริมสิทธิจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 76843 ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องที่ 2 ย่อมยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นแทนผู้ร้องที่ 1 ในคดีนี้ได้ โดยได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 (5) เช่นเดียวกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4028/2564 เหตุแห่งการทำสัญญาประกันภัยเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ ว. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท ก. ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยแนบท้าย หมวด 2 ข้อตกลงคุ้มครอง และหมวด 4 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 9 ระบุว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสูญหายจากการลักทรัพย์ โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไม่เกินมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญา ณ วันที่เกิดความสูญหาย ส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) โจทก์จะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แสดงให้เห็นว่าภัยที่ผู้เอาประกันภัยยกขึ้นเอาประกันกับโจทก์คือสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อ และตามข้อตกลงแห่งกรมธรรม์ยังชี้ให้เห็นถึงภัยซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรับเสี่ยงมีลักษณะเป็นการคุ้มครองสิทธิและความรับผิดที่เกิดมีขึ้นตามสัญญาเช่าซื้อเช่นกัน เพราะนำมูลค่าหนี้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ตามสัญญามาเป็นเงื่อนไขแห่งความรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยมีบริษัท ก. ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ แต่ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยนอกจากจะระบุรายละเอียดสัญญาเช่าซื้อไว้ยังได้ระบุถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและระบุความคุ้มครองถึงการสูญหายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงของรถจักรยานยนต์ อันเป็นการกำหนดรายการวัตถุที่เอาประกันภัย ถือได้ว่าเป็นการประกันภัยตัวรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อ อีกประการหนึ่งด้วย และเงื่อนไขแห่งความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยรวมถึง ภัยที่จะเกิดแก่รถจักรยานยนต์ด้วย หาใช่เพียงสิทธิหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นไม่ บริษัท ก. ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์และ ว. ในฐานะผู้ครอบครองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา เมื่อรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมสูญหายไปโดยความประมาทของจำเลย และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อม เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4019/2564 จำเลยกับ ป. ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์โต้ตอบกัน เนื่องจาก ศ. ไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ป. ที่บ้านจำเลย แต่ ป. ไม่ทราบว่าจำเลยซุกซ่อนไว้ที่ใด บ่งชี้ว่า ป. ทราบดีว่าจำเลยเก็บเมทแอมเฟตามีนไว้ภายในบ้านและ ป. ต้องการนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ ศ. ซึ่งจำเลยก็ประสงค์ให้ ป. นำเมทแอมเฟตามีนที่เก็บไว้ไปจำหน่ายให้แก่ ศ. เช่นกัน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ส่วนการที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ป. เสพที่บ้านจำเลยและให้ ป.จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อไปด้วย จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย เพราะคำว่า จำหน่าย ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3986/2564 ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแต่แรก เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบของกลางทั้งหมดภายในบ้านจำเลย หาได้กระทำการใดอันเป็นการก่อให้จำเลยจัดหามาไว้ในความครอบครองของตนซึ่งธนบัตรปลอมดังกล่าว การล่อซื้อน้ำยาเคมีล้างกระดาษให้กลายเป็นธนบัตรดอลลาร์สหรัฐของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเท่านั้น มิใช่จำเลยขาดเจตนากระทำความผิดมาแต่แรกแล้วเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การสอบสวนชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเก็บธนบัตรปลอมไว้ในบ้านจำนวนมากลักษณะที่พร้อมจะนำออกมาใช้เองหรือมอบต่อให้ผู้อื่นใช้ดังเช่นธนบัตรจริง กับนำออกแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อเพื่อให้หลงเชื่อหรือสนใจซื้อน้ำยาเคมีจากจำเลยด้วย ถือเป็นการมีธนบัตรปลอมไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2564 การที่จะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 ซึ่งหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือ ให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 แต่วันที่สัญญาเลิกกัน ก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คงเหลือ โดยต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564 ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และข้อบังคับจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ ส่วนข้อ 3 ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นนั้น ผู้จะโอนจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหลังจากนั้นแล้ว 30 วัน หากไม่มีผู้ใดประสงค์จะรับโอน จึงจะโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการด้วย แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ด้วย แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการ แต่เมื่อข้อบังคับบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้และผูกพันเป็นสัญญาในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทกำหนดให้การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ย่อมเป็นหน้าที่ของบริษัทต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริษัทเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ การไม่มีคณะกรรมการบริษัทมิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งข้อบังคับจำเลยที่ 1 มิได้มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายในครอบครัวหรือการโอนหุ้นให้แก่บุตรแล้วมิต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 การที่ จ. โอนหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 บุตรของ จ. ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่เป็นบุคคลภายนอก โดยมิได้บอกกล่าวให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น ๆ ทราบเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมมีโอกาสรับโอนหุ้นจาก จ. ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อนจึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2564 ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ ข้อ 54 กำหนดว่า ให้นำข้อกำหนดในหมวด 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในหมวด 4 ข้อ 18 กำหนดให้ผู้ทำคำเสนอซื้อยื่นคำเสนอซื้อตามแบบ 247 - 4 พร้อมแบบตอบรับคำเสนอซื้อต่อสำนักงานโดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และที่ปรึกษาทางการเงินตามนิยามข้อ 1 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนฉบับดังกล่าว หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำคำเสนอซื้อและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ แม้ต่อมาจะมีประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (ฉบับที่ 3) ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 56 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 โดยให้ใช้ข้อความว่า มูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระแทนก็ตาม แต่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 ข้อ 4 ระบุว่า ก่อนการแก้ไขโดยประกาศฉบับนี้ ให้ถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 56 (4) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้แล้ว ดังนั้น ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประกาศที่ใช้บังคับคือ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เมื่อประกาศฉบับใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง จึงถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อความในข้อ 56 (4) ฉบับก่อนแก้ไขกระทำได้แม้มิได้ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน พ.ศ.2552 ข้อ 25 ที่ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ การเป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 เป็นการให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ของกิจการจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกิจการที่ถูกเสนอซื้อหลักทรัพย์ หาใช่กิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อแต่อย่างใดไม่ ข้อ 24 ตามประกาศดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงินของจำเลยที่ 1 ผู้ทำคำเสนอซื้อ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ตั้งตนเองเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของตนเองในการดำเนินการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายและสามารถทำได้โดยชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3800/2564 คำให้การและคำเบิกความของจำเลยที่ 2 แม้จะปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใบรับรองแพทย์ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 เป็นเอกสารปลอม แต่จำเลยที่ 2 ก็รับว่าไม่ได้พาคนต่างด้าวไปตรวจสุขภาพจริง เท่ากับยอมรับว่าซื้อใบรับรองแพทย์ดังกล่าวมาโดยไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่เพียงลำพัง หากเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสั่งซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลาง ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ให้การถึงเรื่องดังกล่าวทันทีในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจเชิญตัวไปสถานีตำรวจ จึงถือเป็นพยานซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีน้ำหนักรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่งป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันจะเป็นความผิดหลายกรรมไม่ได้ เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมทั้ง 16 ฉบับ ยื่นแสดงต่อนาย ส. ในคราวเดียวและวันเดียวกัน แต่โดยสภาพการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมมีผลถึงคนต่างด้าวแต่ละรายแยกต่างหากจากกัน อันเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกันแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 16 กระทง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2564 โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 274 ที่แก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่30) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2564 กรณีที่จำเลยไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดตาม ป.อ. มาตรา 56 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการคุมความประพฤติและให้ลงโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้แก่จำเลย ดังนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ.2559 มาตรา 34 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2564 ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าทำความตกลงกับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ได้ และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ขอแก้ไขคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อกล่าวหา ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่การยื่นคำร้องและคำให้การใหม่ดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 จะแถลงขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น โจทก์ย่อมสามารถฎีกาได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2564 จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับแต่ละฉบับเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า “…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม...” เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 22 ดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2564 ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน มาตรา 8 วรรคสาม วางหลักว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้... ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์...” ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2560 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่โดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไปและโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจาก ร. เจ้าพนักงานประเมินพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ในปีภาษี 2558 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่ารายปี 76,383,808 บาท ค่าภาษี 9,547,976 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่แล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้วหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด” จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว หากจำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามกฎหมายแก่จำเลยได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าวและอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดย พระราชกฤษฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564 จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3716/2564 จำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ภาษีอากร 104,731,200 บาท หลังจากโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วไม่นำเงินภาษีอากรมาชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดถือเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยย่อมมีสิทธิใช้อำนาจยึดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 การที่จำเลยมีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ให้ยึดที่ดินพิพาทของโจทก์หลังแจ้งการประเมิน ประมาณเพียง 3 เดือน จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้บังคับเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แล้ว แม้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองโดยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2545 ต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมิน ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 และการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างยังไม่แล้วเสร็จก็ไม่ทำให้จำเลยหมดสิทธิในการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างแต่อย่างใด จำเลยย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.648/2553 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าลูกหนี้ที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ขณะที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย ลูกหนี้ที่ 2 ไม่อาจเป็นคู่ความได้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องคดีล้มละลายในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ต่อศาลได้ เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นตั้งแต่ชั้นรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ทั้งหมดและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 เสียจากสารบบความ คำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวมีผลเท่ากับว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาก่อน กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาว่าจำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้โจทก์ที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 โดยไม่ระบุถึงที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดไว้ถือว่าจำเลยสละสิทธิการยึดที่ดินพิพาทหรือไม่ สิทธิการยึดทรัพย์ของจำเลยระงับไปตั้งแต่ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่อีกต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715/2564 แม้ตาม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 7 จะบัญญัติให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน โดยมาตรา 24 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดก็ตาม แต่ตามความในหมวด 5 เรื่องการชำระภาษีบำรุงท้องที่ ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคมแรกหลังจากการตีราคาปานกลางของที่ดิน และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี แต่ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ได้รับแจ้งการประเมินภายหลังเดือนมีนาคมตามมาตรา 33 วรรคสาม ให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 35 แสดงให้เห็นว่าหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินและแจ้งการประเมินให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ทราบแล้ว โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาท ในปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2559 พร้อมเงินเพิ่มรวม 1,711,718 บาท โดยจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่จึงเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 21 มีนาคม 2558 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลายแล้ว โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้โดยไม่จำต้องฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2564 พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความยันกันอยู่ว่าโจทก์จำนำหรือขายฝากรถยนต์ ยากที่รับฟังว่าฝ่ายใดเบิกความตามจริง แต่ตามคำเบิกความของโจทก์และ ส. ได้ความว่า โจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง และ ส. เบิกความตอบคำถามติงทนายโจทก์ว่าโจทก์และจำเลยเข้าใจตรงกันว่าให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน นอกจากนั้น จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่า โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์เป็นการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลย โดยข้อความดังกล่าวระบุว่าเป็นการโอนเงินชำระดอกเบี้ยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าซื้อรถยนต์คืนจากจำเลย ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้อันเป็นการจำนำรถยนต์ อีกทั้งการขายฝากนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ปรากฏว่าจำเลยหักเงินที่จ่ายให้โจทก์เป็นค่าจอดรถยนต์และค่าดูแลรักษาไว้ด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยถือว่ารถยนต์ดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามสำเนาสัญญาขายฝากรถยนต์ มีข้อความว่า “ข้อ 1 ผู้ขายตกลงขายฝากและผู้ซื้อตกลงซื้อรถยนต์...ในราคา 90,000 บาท...ผู้ขายได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบรถพร้อมใบคู่มือจดทะเบียน...ให้แก่ผู้ซื้อไว้เพื่อกระทำการโอนรถได้หากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ข้อ 2 ผู้ขายฝากจะกระทำการไถ่รถในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ทำสัญญามิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ข้อ 6 ถ้าในระหว่างสัญญาขายฝาก...จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้รถที่ขายฝากไม่สามารถที่จะกระทำการโอนได้ในภายหลังที่ผู้ขายฝากสละสิทธิ์ไถ่รถ...ผู้ขายฝากจะต้องคืนเงินที่รับไปตามข้อ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย...ให้แก่ผู้ซื้อ...” ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า โจทก์จะยอมให้รถยนต์ตกไปยังจำเลยก็ต่อเมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 90,000 บาท คืนแก่จำเลยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์อาจไถ่รถยนต์นั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาผูกพันตามสัญญาจำนำ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายฝากไม่ สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่รับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือกับขอให้จำเลยคืนรถยนต์ตามฟ้องได้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2564 แม้การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีอื่น ๆ ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จะเป็นการกระทำด้วยเจตนาเหมือนกัน และมีการดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายต่างรายกัน ทั้งการกระทำความผิดเกิดขึ้นคนละสถานที่และต่างวันเวลากัน คดีแต่ละสำนวนจึงมิได้เกี่ยวพันกัน แม้โดยรูปคดีอาจพิจารณาไปด้วยกันได้ก็เป็นเพราะจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แล้ว มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินกว่า 20 ปี ก็ย่อมพิพากษาให้บังคับเช่นนี้ได้ หาได้อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3662/2564 จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยเป็นผู้เสียหายที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 จดข้อความเท็จลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.6) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน และเป็นเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่น เพื่อย้ายชื่อผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเลขที่ 131 หมู่ที่ 6 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และนำชื่อย้ายเข้าบ้านเลขที่ 3/2 หมู่ที่ 3 ตำบลเนินทราย อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด แล้วจำเลยลงลายมือชื่อปลอมเป็นผู้เสียหายที่ 2 ในเอกสารราชการดังกล่าว ต่อมาจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายที่ 3 ว่า จำเลยเป็นผู้เสียหายที่ 2 ได้ตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองปรากฏว่าสูญหาย/ถูกทำลาย เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 3 จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลาย (บ.ป.7) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จากนั้นจำเลยกับ ย. ร่วมกันยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ต่อผู้เสียหายที่ 3 และผู้เสียหายที่ 4 โดยใช้บันทึกคำให้การรับรองบุคคลเอกสารราชการอันเป็นเท็จอันเกิดจากการกระทำความผิดของ ย. ประกอบคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นผู้เสียหายที่ 2 จนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 หลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียว คือ เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3644/2564 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอ้างว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้นำข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมาเป็นเหตุผลในการตัดสินตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาวินิจฉัยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เท่ากับ เป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพิกถอนคำวินิจฉัยเดิมและวินิจฉัยพยานหลักฐานใหม่ อันเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยมิใช่เป็นการแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย จึงขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ข้อที่อ้างว่า โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หาก่อให้เกิดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3624/2564 คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงเป็นการจงใจฝ่าฝืนเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติ และมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาให้นำโทษจำคุกและปรับที่รอไว้มาลงโทษแก่จำเลยทั้งสี่ เมื่อจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ.2559 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยทั้งสี่จะฎีกาไม่ได้ ทั้งตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ การที่จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสี่ฎีกาคำสั่งศาลไม่จำต้องขออนุญาตฎีกา ให้ยกคำร้อง แล้วมีคำสั่งให้รับฎีกาจำเลยทั้งสี่มานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3606/2564 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงข้อเท็จจริงที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียง 1 วัน อันแสดงว่าจำเลยมิได้ยอมรับว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแต่อย่างใด และมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่จะต้องให้จำเลยแถลงหรือโต้แย้งคัดค้านอีก ซึ่งในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยไม่มีทนายความ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นความผิดพลาดของศาลชั้นต้น จึงไม่สมควรให้จำเลยต้องรับผลร้ายดังกล่าว การที่จำเลยไม่ได้แถลงหรือโต้แย้งคัดค้านในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงหาเป็นการให้สัตยาบันยอมรับการผิดระเบียบ เห็นได้จากจำเลยยังฎีกาโต้แย้งในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งเองให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับต่อมารับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ตลอดจนศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องพิจารณาพิพากษาใหม่ และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1), 252 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3588/2564 มูลเหตุที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกอุทธรณ์ของจำเลย เนื่องจาก ส. ขณะทำคำแก้อุทธรณ์และอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าเป็นทนายความ จึงต้องห้ามมิให้เป็นผู้เรียงคำแก้อุทธรณ์และอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคำคู่ความและคำฟ้องอุทธรณ์ตามลำดับที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในส่วนที่เป็นรูปแบบซึ่งสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ในส่วนคำแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้จำเลยแก้ไขคำแก้อุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ในส่วนอุทธรณ์เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดย ส. ผู้รับมอบอำนาจจำเลยลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์ เช่นเดียวกันกับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับไปแล้ว คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ แต่ศาลชั้นต้นกลับสั่งรับฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ หรือศาลอุทธรณ์ภาค 9 ดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ไขให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยเสียทีเดียว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นฎีกาว่า จำเลยโดย ส. ผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ส. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้แล้ว อันไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3586/2564 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากที่ดิน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้ยกคำร้องขอให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีจึงมีประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์มิได้ฎีกา คดีอาญาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ เป็นเพียงมูลเหตุแห่งคดีอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดแล้ว คู่ความชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ยกฎีกาจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2564 ป.อ. มาตรา 358 บัญญัติถึงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์” เห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” นั้น ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้นเมื่อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเป็นของ ล. และผู้เสียหายยืมจากเพื่อนรุ่นน้องมาใช้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ล. ซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ได้ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เมื่อ ล. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ การที่พนักงานสอบสวนสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และผู้เสียหายไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2564 คำร้องของผู้มีส่วนได้เสียทั้งห้ามิได้อ้างว่าการที่ศาลมิได้สั่งให้ผู้ร้องทั้งสองส่งสำเนาคำร้องขอให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งห้าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ทั้งผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างพินัยกรรมและมติของทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรม ตามคำร้องขอดังกล่าวมิได้ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองจำเป็นจะใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งผู้ร้องทั้งสองได้ดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 โดยเริ่มคดีด้วยการยื่นคำร้องขอ ซึ่งในการดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ป.วิ.พ. ไม่มีบทบัญญัติให้ต้องมีการส่งหมายและสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้ใด ผู้มีส่วนได้เสียทั้งห้าชอบที่จะร้องว่าผู้ร้องทั้งสองนำพินัยกรรมที่เป็นโมฆะมาร้องขอจัดการมรดกและมีเหตุที่ผู้ร้องทั้งสองไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก มิใช่ดำเนินคดีด้วยการขอเพิกถอนกระบวนพิจารณา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478/2564 คดีนี้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยนำสมุดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารเป็นหลักประกัน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างพิจารณา แต่ในระหว่างการเลื่อนคดีไปเพื่อนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 สัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 แต่เมื่อจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกันถึงแก่ความตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมรดกหลักประกันดังกล่าวตามพินัยกรรมต่างยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น การพิจารณาคำร้องดังกล่าวย่อมเป็นกรณีพิจารณาความเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 ในคดีอาญา และเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญา การใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 และลักษณะ 2 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติว่าเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างไรแล้ว ให้คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นถึงที่สุดแต่ประการใด ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้คืนหลักประกันให้แก่ผู้ร้องได้ป.วิ.อ. มาตรา 118 บัญญัติว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดหรือความรับผิดตามสัญญาประกันหมดไปตามมาตรา 116 หรือโดยเหตุอื่น ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ที่ควรรับไป” ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตายอันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) สัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลจึงชอบที่จะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ที่ควรรับไป แม้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 ตามคำสั่งศาลมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรวบรวมทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ผู้ตายรวมเข้าไว้ในกองมรดกผู้ตายรวมถึงการขอคืนหลักประกันของจำเลยที่ 4 ผู้ตายเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำพินัยกรรมยกมรดกเป็นสมุดบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกและผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี กรณีจึงยังฟังได้ไม่แน่นอนว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้ที่ควรได้รับสมุดบัญชีเงินฝากประจำอันเป็นหลักประกันไปจากศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้สั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวใช้ดุลพินิจให้รอฟังคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีในคดีดังกล่าว จึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3459/2564 คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านบนที่ดินโฉนดดังกล่าวที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ส. โอนให้แก่จำเลย ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนี้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาล โจทก์ก็สามารถดำเนินการโดยใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดี และที่ศาลพิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยนั้น ก็มิใช่การพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนแก่โจทก์ทั้งสามโดยตรง โจทก์ทั้งสามจึงยังมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนหนี้ค่าใช้จ่ายนี้ หากจำเลยไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่าย ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนไปก่อน แล้วค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสามได้จ่ายไปนี้ย่อมถือเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์ทั้งสามจะบังคับคดีต่อไปตามนัย ป.วิ.พ. มาตรา 352 วรรคห้า มาตรา 358 วรรคสอง และมาตรา 359 วรรคสี่ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านบนที่ดินโฉนดดังกล่าว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดี เพื่อยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยบังคับคดีนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3457/2564 การที่ อ. ลงชื่อเป็นผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้และยื่นต่อศาลชั้นต้น เป็นคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องข้างต้นแล้วให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3449/2564 การกำหนดให้มีวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยองค์คณะที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์คณะประชุมคดีจะได้รับเลือกจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจในการบริหารจัดการคดีเพื่อให้การกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง กระชับรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย และมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้คดีนี้องค์คณะในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีจะเป็นคนละองค์คณะกันกับในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษา แต่การที่ ณ. กับ อ. นั่งพิจารณาคดีในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษานั้น เนื่องมาจากการจ่ายสำนวนคดีของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตามมาตรา 32 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการจ่ายสำนวนคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้องค์คณะประชุมคดีและองค์คณะพิจารณาต้องเป็นองค์คณะเดียวกันเพราะเป็นการพิจารณาคดีคนละขั้นตอนกัน มีวัตถุประสงค์และวิธีการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแตกต่างกัน นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีจาก น. และ ป. ซึ่งเป็นองค์คณะประชุมคดี และโอนสำนวนคดีให้ ณ. กับ อ. ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงกรณีที่มีการมอบหมายให้องค์คณะผู้พิพากษารับผิดชอบพิจารณาพยานหลักฐานและพิพากษาแต่มีเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลเท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกา ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีและสืบพยานไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งหากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็คงไม่โต้แย้งในปัญหาข้อนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นไปโดยชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ณ. และ อ. จึงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3347/2564 กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้จัดส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาเฉพาะการที่จำเลยได้แถลงไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้จำเลยไม่ทราบและไม่ได้มีโอกาสเข้าสู้ราคาหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งขอเปลี่ยนที่อยู่จัดส่งเอกสารต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีคำสั่งคำร้องว่า “ทราบ รวม จำเลยทราบประกาศขายในวันนี้แล้ว” เมื่อประกาศขายทอดตลาดใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจำต้องส่งประกาศขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ที่อยู่ตามที่จำเลยแจ้งภูมิลำเนาเฉพาะการไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้จัดส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาเฉพาะการที่จำเลยแจ้งไว้ กลับจัดส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง ถือมิได้ว่ามีการจัดส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่จำเลยแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2564 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะได้รับจากการบังคับชำระหนี้เอาจากบริษัท ก. และหลักประกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.517/2557 ของศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ให้แก่โจทก์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แล้ว การอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 และบริษัท ก. ตกลงกันได้ จำเลยที่ 1 ขอถอนการยึดทรัพย์และถอนการบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.517/2557 ของศาลจังหวัดนนทบุรี โดยจำเลยที่ 1 เสนอชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์จนครบถ้วนและโจทก์ตกลงตามข้อเสนอจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว จึงขอยุติการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และขอให้มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งยกเลิกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ย่อมมีผลให้การบังคับคดีตามคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปด้วยเหตุเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (6) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2858/2564 ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีภาระพิสูจน์ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีไม้พะยูงแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 69 และ 73 ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าว หากจำเลยจะต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าไม้ท่อนของกลางเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ส่วนไม้แปรรูปของกลางก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 50 (4) เมื่อมาตรา 69 วรรคหนึ่งและมาตรา 50 (4) ได้บัญญัติในเรื่องภาระการพิสูจน์ไว้เป็นการเฉพาะเช่นนี้แล้ว แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วมี พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม” บทบัญญัติมาตรา 7 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็หามีผลทำให้โจทก์มีภาระพิสูจน์ถึงที่มาของไม้ท่อนและไม้แปรรูปของกลางไม่ แต่ยังคงเป็นภาระของจำเลยที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวในการนำสืบข้อเท็จจริงอันจะทำให้ตนพ้นผิด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2564 เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการในวันดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ การยึดทรัพย์ดังกล่าวย่อมมีผลตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านไปก่อนในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ตามคำขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ผู้คัดค้านคงมีสิทธิเพียงขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน ดังนั้น ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 4 หรือผู้คัดค้านซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 ก่อนการยึดเพียง 2 วัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยเองว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมาย ทั้งในกรณีนี้ตามกฎหมายก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจถอนการยึดทรัพย์ได้เองและเรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีได้ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีมานั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2564 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2361/2564 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมิได้มีสัญชาติไทยได้แจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นคนผู้มีสัญชาติไทยเพื่อให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในแบบทะเบียนราษฎร อันเป็นเอกสารราชการเพื่อขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรเก่าที่ชำรุด และบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีชื่อ ส. เป็นเอกสารราชการที่จำเลยปลอมขึ้น เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 และ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งบทมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าการกระทำอันเป็นความผิดต้องเป็นการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และสอบถามคำให้การแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานและสอบคำให้การไป แต่ก็ไม่จำต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และสอบถามคำให้การซ้ำอีก จำเลยยื่นคำให้การขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สำเนาให้โจทก์ รับเป็นคำให้การของจำเลยอันมีผลเป็นการอนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และจำเลยให้การใหม่เป็นรับสารภาพโดยไม่ต้องสอบถามคำให้การดังกล่าวต่อหน้าโจทก์จำเลยอีก เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษและจำเลยให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งการสืบเสาะและพินิจจำเลยเป็นดุลพินิจของศาลเมื่อเห็นว่าการสืบเสาะและพินิจไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและพิพากษา เนื่องจากจำเลยได้ให้ข้อเท็จจริงตามคำร้องประกอบคำให้การรับสารภาพเพียงพอแล้ว หาใช่ศาลจำต้องสั่งให้มีการสืบเสาะพินิจจำเลยทุกกรณีไปไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2564 ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้น คำว่า โยคี กับฤาษี มีความหมายในทำนองเดียวกัน หากสาธารณชนทั่วไปพบเห็นเฉพาะภาพในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ย่อมอาจเรียกขานได้ว่า ภาพฤาษี ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค275169 แล้ว ประกอบไปด้วยภาพโยคีหรือฤาษีอยู่ในวงกลม โดยไม่มีชื่อ คำ หรือข้อความใดประกอบอีก ภาพดังกล่าวจึงถือเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค296443 แม้มีคำว่า “โยคี” และ “YOKI” ประกอบอยู่ใต้ภาพ แต่คำดังกล่าวก็มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของภาพ ในเครื่องหมาย จึงมีเฉพาะภาคส่วนภาพเท่านั้นที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเช่นเดียวกับเครื่องหมายแรก อีกทั้งภาพดังกล่าวไม่พบว่ามีรายละเอียดหรือลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากภาพโยคีหรือฤาษีตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เมื่อตามประกาศนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 1/2546 กำหนดให้ “ฤาษี” เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยารักษาโรคมนุษย์ การใช้เครื่องหมายการค้าที่มีสาระสำคัญของเครื่องหมายเพียงแค่ภาพโยคีหรือฤาษีดังเช่นเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง นอกจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาและได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 และวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ตามลำดับ ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นคำขอจดทะเบียน การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้นั้นอาจทำได้เฉพาะกรณี ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตามมาตรา 7 (1) หรือ (2) (เดิม) เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ล้วนมีสาระสำคัญเป็นภาพดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่อาจมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) ได้ การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ย่อมขัดต่อบทกฎหมายข้างต้น ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวจึงชอบแล้ว แม้ปัจจุบัน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 จะอนุญาตให้พิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าในลักษณะภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นได้แล้ว แต่การจะพิสูจน์เครื่องหมายการค้าในลักษณะดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่ยื่นคำขอจดทะเบียนหลังจาก พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มาตรา 35 (1) กำหนดให้บรรดาคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดไว้แล้ว ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เดิมต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2564 ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่ง ณ. เป็นทนายความและ ณ. มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความจำเลยทั้งสองมาก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา ณ. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60, 61 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่จำเลยทั้งสองตั้งแต่ง ส. เป็นทนายความและ ส. เคยมอบฉันทะให้ ณ. เป็นเสมียนทนายทำการแทนในกิจการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 รับทราบคำสั่งศาล รับทราบกำหนดวันนัด รับเอกสารจากศาล ตรวจสำนวน รวมถึงให้ถ้อยคำแถลงต่อศาลและแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดได้ ก็ไม่ทำให้ ณ. เสมียนทนายจำเลยทั้งสองมีอำนาจทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เพราะทนายความอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำการแทนได้ในกิจการที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 64 เท่านั้น โดยไม่รวมถึงกิจการสำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองเช่นการทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา มีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฎีกาและฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2200/2564 ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ห้องเช่ากับจำเลยโดยออกค่าเช่าคนละครึ่ง ม. กับชายคนหนึ่งติดต่อผู้เสียหายไปขายบริการทางเพศโดยจำเลยไม่ได้มีส่วนร่วมรับการติดต่อตกลงด้วย แต่จำเลยพูดสนับสนุนให้ผู้เสียหายไปขายบริการทางเพศเพื่อจะได้มีเงินมาชำระค่าเช่าห้องพัก และร่วมเดินทางไปที่โรงแรมกับผู้เสียหายในลักษณะพาไปขายบริการทางเพศเนื่องจากผู้เสียหายอายุ 16 ปี อาจมีปัญหาในการเข้าใช้บริการโรงแรม ทั้งเมื่อเข้าไปในห้องพักสายลับล่อซื้อถามว่าคนไหนจะมาบริการ จำเลยบอกว่าเป็นผู้เสียหาย สายลับจึงมอบเงินที่ใช้ล่อซื้อให้จำเลย และเมื่อจับกุมตรวจค้นจำเลยก็พบเงินที่ใช้ล่อซื้ออยู่ในกระเป๋าสะพายของจำเลย บ่งชี้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมวางแผนตัดสินใจร่วมกันหรือแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2564 จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2564 การส่งข้อมูลในรูปแบบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถือเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อื่น ซึ่งเป็นวัตถุอื่นใดทำให้ปรากฏและสามารถอ่านและเข้าใจความหมายได้ อันเป็นหลักฐานแห่งความหมาย จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2564 จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิ้น คงมีการแก้ไขเฉพาะคำว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นศาลฎีกา และมีส่วนเพิ่มเติม พิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิดไปจากอุทธรณ์บ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า พิพากษาไม่ชอบอย่างไรหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ทั้งเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีบางส่วนก็แตกต่างกัน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 และศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2564 การที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่นำพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับหนี้ การจำนองจึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เจ้าหนี้จึงยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองนั้นได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2564 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยระบุว่าจำเลยตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 436 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และตามข้อมูลทะเบียนราษฎรก็ระบุว่าจำเลยมีที่อยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว ประกอบกับในชั้นพิจารณา เมื่อจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานต่อศาลก็ได้ระบุที่อยู่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเช่นเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งย้ายที่อยู่ใหม่แต่อย่างใด กรณีถือว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลย แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29/31 หมู่ที่ 4 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ก็ตาม หากเป็นความจริงก็ต้องถือว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ดังนั้น บ้านเลขที่ 436 ย่อมเป็นภูมิลำเนาของจำเลยด้วยแห่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2564 การดูหมิ่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136 หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้วพันตำรวจเอก ส. โจทก์ร่วม เรียกจำเลยกับพวกไปสอบถามถึงเหตุที่แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่คนร้ายที่ร่วมกันปล้นรถยนต์ ซึ่งได้ความว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีชื่อ ส. เป็นผู้ครอบครองมิใช่จำเลย โจทก์ร่วมจึงให้ ส. เป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง ส. แจ้งว่าวันเกิดเหตุพนักงานของบริษัทผู้ให้เช่าชื้อมายึดรถยนต์ของตน เป็นเหตุให้จำเลยเกิดความไม่พอใจกล่าวต่อโจทก์ร่วมว่า “ผู้กำกับเหลี่ยมใส่เราแล้ว” ทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นไปตามขั้นตอนการทำงานตามปกติ เพราะก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะรับแจ้งความเรื่องใดย่อมต้องสอบถามข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดแจ้งว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นเสียก่อน เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งกันโดยการนำเอาความเท็จมาแจ้ง ที่จำเลยพูดกับโจทก์ร่วมด้วยถ้อยคำดังกล่าวอันหมายถึงโจทก์ร่วมใช้เล่ห์เหลี่ยมไม่รับแจ้งความตามที่ ส. แจ้ง ทำให้ผู้ที่ได้ยินเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ถ้อยคำดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่เป็นการกล่าวถ้อยคำสบประมาทโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ เป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2564 จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุขณะโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกกระทำชำเรา แม้มิได้ร่วมกระทำชำเราด้วย แต่ก็มิได้ขัดขวางหรือห้ามปราม กลับได้ความว่าจำเลยมอบถุงยางอนามัยให้แก่ ต. ก่อนที่ ต. จะเข้าไปกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งเมื่อบุคคลอื่นจะเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยกลับดึงแขนอันเป็นการขัดขวางมิให้บุคคลนั้นเข้าไปช่วยเหลือ พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนกระทำความผิด จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2564 สิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและเป็นตราสารที่โอนแก่กันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น สลากออมสินพิเศษมีลักษณะเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นหนังสือตราสาร มี พ.ร.บ. และกฎกระทรวงรองรับจึงเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ มิใช่เอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไป สลากออมสินพิเศษจึงเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารที่สามารถจำนำประกันหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 751 จำเลยที่ 1 นำสลากออมสินพิเศษไปจำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำไว้ การบังคับคดีของโจทก์ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนำของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินส่วนที่ได้จากการอายัดสลากออมสินพิเศษในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้อื่น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2564 ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 190, 353 และ 354 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 206459 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) การที่จำเลยที่ 2 เสนอคำขอประนอมหนี้โดยขอชำระเงิน 590,000,000 บาท เพื่อไถ่ถอนจำนองทรัพย์หลักประกันจากผู้ร้องและให้คืนโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ 2 แล้วขอให้ผู้คัดค้านถอนการยึดทรัพย์หลักประกัน ทั้งที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 190, 353 และ 354 ขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้รายที่ 190 เป็นเงิน 174,335,644.93 บาท เจ้าหนี้รายที่ 353 เป็นเงิน 182,019,304.11 บาท ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 354 มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเงิน 701,691,757.72 บาท และผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันอันมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ใช้สิทธิเลือกที่จะให้ผู้คัดค้านจัดการกับทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องด้วยวิธีให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) คำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่ขอไถ่ถอนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องโดยที่จำเลยที่ 2 กำหนดราคาไถ่ถอนทรัพย์หลักประกันเองซึ่งผู้ร้องไม่ยินยอมด้วย จึงเป็นคำขอประนอมหนี้ที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน อันเป็นคำขอประนอมหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้คัดค้านไม่อาจดำเนินการจัดประชุมเพื่อเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติเพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้ การจัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ของผู้คัดค้านจึงกระทำโดยมิชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2564 ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 มีใจความว่า โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง การจ่ายเงินในการก่อสร้าง การสั่งสินค้าต่าง ๆ ต่อมาโจทก์ร่วมเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่างบที่ตั้งไว้ จึงให้จำเลยส่งมอบใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบ เมื่อโจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาแอบอ้างแก่โจทก์ร่วมว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยไป เหตุเกิดที่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้และจะได้สอบสวนต่อไป ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการนำใบเสร็จรับเงินซึ่งหมายถึงบิลเงินสดที่ระบุจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมาแสดงแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้จำเลยไปเกินกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ร่วม ทั้งยังได้ความดังกล่าวข้างต้นว่าโจทก์ร่วมส่งมอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย และในข้อที่พนักงานสอบสวนบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจะได้สอบสวนต่อไป ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ขอให้พนักงานสอบสวนระงับการดำเนินการสอบสวนไว้ก่อน พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแก่พนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ซึ่งได้กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2564 ป.วิ.อ. มาตรา 161 บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง” และมาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามปรากฏว่า โจทก์ทั้งสามได้ลงลายมือชื่อแล้วโดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แทนโจทก์ทั้งสาม เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์ทั้งสามพิมพ์แบบพิมพ์คำขอท้ายฟ้องมาไม่ครบถ้วน โดยพิมพ์เฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีรายการให้ลงลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ฟ้องไว้มาด้วย จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์ทั้งสามแก้ไขก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2564 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนของกลางรวม 80 รายการ ให้แก่ผู้ร้อง โดยอ้างว่าทรัพย์ของกลางดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่ผู้ร้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ร้องรับจำนำไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งแม้ตามคำร้องขอจะไม่ต้องด้วยกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แต่ตามคำร้อง ผู้ร้องประสงค์จะได้รับทรัพย์ของกลางคืนมาเป็นของผู้ร้อง เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ในการทำคำพิพากษา ศาลก็ต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนทรัพย์ของกลางว่าให้คืนแก่โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 หากผู้ร้องมีข้อโต้แย้งสิทธิด้วยเห็นว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์ของกลางที่แท้จริงก็ชอบที่จะไปดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 48 วรรคท้าย ด้วยการฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีอำนาจชำระตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบกับการเป็นคู่ความในคดีอาญานั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) บัญญัติคำนิยามของคำว่าคู่ความไว้ว่าหมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่มีคู่ความฝ่ายที่สาม ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในกรณีเช่นว่านี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2564 แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วยผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2564 ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อคู่มือพนักงานเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1 จัดหมวดหมู่ของลูกจ้างให้สอดคล้องกับลักษณะของงานและสถานที่ทำงานโดยแบ่งเป็นพนักงานประจำสำนักงานและพนักงานด้านการปฏิบัติการ โดยกำหนดให้พนักงานด้านการปฏิบัติการต้องทำงานตามตารางการทำงานปกติ อันประกอบด้วยวันที่ทำงานภาคสนามติดต่อกันไม่เกิน 28 วัน ตามด้วยวันหยุดประจำช่วง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะเพิ่มขี้นจากเงินเดือนให้แก่โจทก์โดยคิดจากการที่โจทก์ไปทำงานบนแท่นขุดเจาะในวันทำงาน จึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติโดยคำนวณตามผลงาน แม้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในกรณีโจทก์เจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่ง แต่เป็นสิทธิของลูกจ้างตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย เงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะจึงเป็นค่าจ้างตามผลงานการที่คู่มือพนักงานเอกสารหมาย ล.1 กำหนดให้เงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวไม่ถือเป็นค่าจ้างนั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัตินิยามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2564 การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ต้องพิจารณาทั้งการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ซึ่งต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วยจำเลยที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวตลาดคลองถมเชียงม่วน จำเลยทั้งสองและผู้เสียหายที่ 1 ร่วมเดินทางมาด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางจำเลยทั้งสองซื้อเบียร์มาดื่มด้วยกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ดื่มเบียร์จนรู้สึกมึนเมา จำเลยที่ 2 ซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อและไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปตลาดคลองถมเชียงม่วนแต่กลับร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าพักในโรงแรมที่เกิดเหตุโดยพักอยู่ห้องเดียวกันและนอนเตียงเดียวกัน ต่อมาขณะผู้เสียหายที่ 1 หลับแล้วตื่นขึ้นมา จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในห้องพัก จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีเข้าไปในห้องน้ำ จนกระทั่งจำเลยที่ 2 เรียก จึงยอมออกมา การกระทำของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อนโดยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อยู่ในห้องพักในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร หาใช่เพียงผู้สนับสนุนไม่จำเลยทั้งสองตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 และปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ยอมความแทนผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) สิทธินำคดีมาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227/2564 โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องและนำสืบว่าพื้นที่จอดรถ เป็นทรัพย์ส่วนกลางของจำเลยที่ 1 จำเลยร่วมกันนำที่จอดรถให้ผู้อื่นเช่าเพื่อหาประโยชน์เป็นของตนโดยทุจริตเป็นการยักยอกทรัพย์ คดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ เจ้าของห้องชุดทุกคนในอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นผู้เสียหายร่วมกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2564 ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อคู่มือพนักงานจำเลยที่ 1 จัดหมวดหมู่ของลูกจ้างให้สอดคล้องกับลักษณะของงานและสถานที่ทำงานโดยแบ่งเป็นพนักงานประจำสำนักงานและพนักงานด้านการปฏิบัติการ โดยกำหนดให้พนักงานด้านการปฏิบัติการต้องทำงานตามตารางการทำงานปกติ อันประกอบด้วยวันที่ทำงานภาคสนามติดต่อกันไม่เกิน 28 วัน ตามด้วยวันหยุดประจำช่วง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนให้แก่โจทก์โดยคิดจากการที่โจทก์ไปทำงานบนแท่นขุดเจาะในวันทำงาน จึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติโดยคำนวณตามผลงาน แม้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในกรณีโจทก์เจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่ง แต่เป็นสิทธิของลูกจ้างตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย เงินเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานบนแท่นขุดเจาะจึงเป็นค่าจ้างตามผลงานการที่คู่มือพนักงานกำหนดให้เงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวไม่ถือเป็นค่าจ้างนั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัตินิยามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ปรากฏว่า ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ เอกสารท้ายฎีกาของจำเลย เป็นหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ถึง ม. ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่เกิดเหตุ เรื่อง การแก้ไขอาคารตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 โจทก์ได้รับสำเนาฎีกาพร้อมเอกสารดังกล่าว มิได้โต้แย้ง จึงรับฟังหลักฐานได้ว่า สถานที่ประกอบกิจการของ ม. ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จเรียบร้อย ซึ่งตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวกำหนดให้ได้รับยกเว้นโทษทางอาญา ถือว่าเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (7)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564 การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2564 ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้จึงเป็นการขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วยเพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2564 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ยึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของจำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึด เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคสาม หาใช่กรณีที่จะกระทำได้โดยมีคำสั่งอายัดก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกคำสั่งอายัดก่อน เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยแล้วจึงให้ยึดเพื่อขายทอดตลาดต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2564 การกักตัวคนต่างด้าวตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่อยู่ในความหมายบทนิยาม “คุมขัง” ตาม ป.อ. มาตรา 1 (12) โดยที่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวคนต่างด้าวไว้ ณ สถานที่ใดตามที่เห็นเหมาะสม แต่การที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่มีห้องกักตัวที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง แล้วนำผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวไปกักตัวไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ จึงมิใช่เป็นการกักตัวผู้ร้องไว้ ณ สถานที่เหมาะสม และกรณีมีเหตุจำเป็นต้องกักตัวผู้ร้องไว้เกินกำหนดเจ็ดวัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวต่อไปอีก เป็นการไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคสอง การกักตัวผู้ร้องไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจดังกล่าว จึงเป็นการคุมขังในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2564 เมื่อเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาและคำสั่งชี้แจงของศาลฎีกาเกี่ยวกับข้อสงสัยในการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสามในเครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าคำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าที่มีรูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง ส่วนเหตุที่ศาลไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค199455 ด้วยนั้น เป็นเพียงเพราะโจทก์นำคดีในส่วนนี้มาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเท่านั้น ไม่ได้มีการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาในส่วนนี้ว่า ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้เครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าคำว่า เรือใบไวกิ้ง กับสินค้าของจำเลยทั้งสาม จึงรวมไปถึงการให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค199455 ด้วย อันถือได้ว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยทั้งสามทราบคำบังคับดังกล่าวแล้ว และได้ความจากคำขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยทั้งสามของโจทก์ประกอบคำแถลงของจำเลยทั้งสามในวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามยังคงใช้เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค199455 อยู่ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ และไม่มีวิธีการบังคับอื่นใดที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้บังคับได้ จึงเป็นการชอบที่ศาลจะมีคำสั่งจับกุม กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และจำเลยที่ 3 ได้ ตามคำขอของโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2564 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดตามคำพิพากษาตามยอม และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อาจทำให้ความรับผิดตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงเพราะหากขายทอดตลาดได้ในราคาสูงก็อาจเพียงพอแก่การชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมได้สิ้นเชิงหรือคงเหลือหนี้ค้างชำระจำนวนน้อยลงอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง ด้วยก็ตาม แต่การเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือโดยส่วน เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็คงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยทำให้ความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ตามคำพิพากษายอมลดลงเท่านั้น ส่วนความรับผิดท้ายสุดเป็นความรับผิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาตามยอมด้วยกันตามมาตรา 296 แห่ง ป.พ.พ.นั้น ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยกันเองภายหลังลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ การขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จะได้ราคาทอดตลาดมากน้อยเพียงใด จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมด้วยกันซึ่งเป็นความรับผิดโดยตรงแต่ประการใด จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบด้วย กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของจำเลยที่ 2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2564 เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) เพราะโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2564 จำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้ แทนที่จะลดโทษในแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 มากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้นการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2564 การนำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ไม่จำต้องได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์เพียงแต่นำสืบให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2564 แม้ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 5 มีอายุ 15 ปีเศษ ถือเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ขณะกระทำความผิดและวันที่โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 7 เมษายน 2547 ในท้องที่จังหวัดพิจิตรที่จำเลยที่ 5 มีถิ่นที่อยู่ปกติและท้องที่ที่กระทำความผิดยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดพิจิตรเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) แม้ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดพิจิตรตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2549 ก็ตาม แต่การพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์จนชั้นฎีกาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 21 ปี 3 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. มิใช่คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวที่จะขอให้กำหนดโทษใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเกี่ยวกับการลงโทษตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 99 ต่อมา พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 แม้มาตรา 137 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 บัญญัติว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วและต่อมาความปรากฏต่อศาลเอง หรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือปรากฏจากคำร้องของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามมาตรา 115 หรือมาตรา 119 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ก็ตาม แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตั้งแต่ต้น และศาลที่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเอง หรือศาลคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นกำลังรับโทษหรือถูกควบคุมตัวอยู่ ด้วยเหตุนี้ ศาลจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วของจำเลยที่ 5 ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และมิใช่กรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2564 การที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 3 มาใช้บังคับในฐานกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2564 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 42 ปกติคดีจะถึงที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟัง เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งคู่ความยื่นคำร้องขอฎีกาพร้อมคำฟ้องฎีกาและศาลฎีการับไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติชอบก็ยังไม่ถึงที่สุด แต่หากศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งไม่รับฎีกานั้น ตามมาตรา 46 วรรคสาม เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นฎีกา แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอฎีกาและคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย คดีนี้จึงต้องถึงที่สุดตามมาตรา 42 โดยถึงที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟัง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2564 ผลของคดีก่อนถึงที่สุดว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ส่วนที่ทับที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1) ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่ ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ แม้คดีก่อนศาลมิได้มีคำสั่งให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ แต่ ป.วิ.พ. มาตรา 348 วรรคสอง (ที่เพิ่มเติมใหม่) บัญญัติให้การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้นำบทบัญญัติในหมวด 4 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 มาตรา 21 ให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกระบวนการบังคับคดีในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนที่กฎหมายใช้บังคับด้วย ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยบังคับคดีโจทก์ในคดีก่อนได้ โจทก์ซึ่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่มีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิในที่ดินและไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งว่าได้เปลี่ยนแปลงการยึดถือครอบครองที่ดินแทนจำเลยแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2564 การจัดการทำศพเป็นกิจการซึ่งไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย การจะทำให้บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายต้องแสดงเจตนาโดยทำเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 แต่คำสั่งเสียด้วยวาจาของผู้มรณภาพที่ให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 ย่อมไม่บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก และทรัพย์สินของผู้มรณภาพได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ส่วนโจทก์และน้องคนอื่นของผู้มรณภาพ แม้เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629 (3) ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้มรณภาพ ย่อมไม่อาจมอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพผู้มรณภาพ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามผลของมาตรา 1623 อันเป็นจำนวนมากที่สุด จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพผู้มรณภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบศพผู้มรณภาพแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2564 การยับยั้งเสียเองซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 82 เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่มีการยับยั้งไม่กระทำความผิดไปให้ตลอด ซึ่งจะต้องเป็นการยับยั้งโดยสมัครใจของผู้กระทำเอง จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ แต่ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไปไม่ตลอด เป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็ก ร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำ เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกที่ทำให้จำเลยต้องจำใจหยุดกระทำต่อไป จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 82
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2564 โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณสร้อยคอทองคำลายโซ่กลม ในลักษณะผ่อนชำระรายงวด อันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 4 (2) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งเสื้อคลุม 2 ตัว ซึ่งปักชื่อบริษัท น. จำเลยทั้งสองใช้สวมใส่เพื่อแสดงตนว่าเป็นพนักงานของบริษัท น. ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ริบได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2564 จำเลยที่ 2 เพียงแต่ขับรถยนต์ไปส่งและรอรับจำเลยที่ 1 อันเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการชิงทรัพย์ มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ดังกล่าวเพื่อความสะดวกในการชิงทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 340 ตรี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2564 เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนเป็นเงินที่ผู้ร้องจ่ายให้แก่จำเลย ไม่ใช่เงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดในฐานะนายจ้างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่อยู่จ่ายให้แก่จำเลยตามความในมาตรา 42/1 แห่ง พ.รบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542ข้อตกลงตามสัญญากู้ที่จำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน ผู้ร้องจึงไม่อาจนำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวได้การขอให้นำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนมาหักชำระหนี้ได้กระทำภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับหนังสืออายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนปี 2561 จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจหักเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคสองหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเป็นเพียงหนี้กู้ยืมไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 และมาตรา 324 ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของจำเลยในอันที่จะนำไปหักชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2564 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยพิพากษาให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ปรากฏว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ตามฟ้องและฟ้องแย้งเท่านั้น โดยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และทนายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ ทนายจำเลยย่อมต้องทราบว่าต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางพร้อมกับอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมาก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
Read more