จ้างทำของ

มาตรา ๕๘๗ อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น


มาตรา ๕๘๘ เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา


มาตรา ๕๘๙ ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี


มาตรา ๕๙๐ ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่ง ท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวังและประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่า เมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว มีสัมภาระเหลืออยู่ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง


มาตรา ๕๙๑ ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน


มาตรา ๕๙๒ ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น


มาตรา ๕๙๓ ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย


มาตรา ๕๙๔ ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น


มาตรา ๕๙๕ ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะซื้อขาย


มาตรา ๕๙๖ ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้


มาตรา ๕๙๗ ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า


มาตรา ๕๙๘ ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย


มาตรา ๕๙๙ ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดีท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร


มาตรา ๖๐๐ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น


มาตรา ๖๐๑ ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น


มาตรา ๖๐๒ อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ

ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ ไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น


มาตรา ๖๐๓ ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้รับจ้าง

ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้


มาตรา ๖๐๔ ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้รับจ้าง

ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศนั้นเป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง


มาตรา ๖๐๕ ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น


มาตรา ๖๐๖ ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่าสัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง

ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้องรับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้น ๆ


มาตรา ๖๐๗ ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใด ๆ ของผู้รับจ้างช่วง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563

โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างแล้ว แม้จำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้โจทก์เข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการเบื้องต้นแก่จำเลย พร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว จำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมลดลงให้แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน


การชุมนุมทางการเมืองตามที่จำเลยอ้าง ยังไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง และมาตรา 372 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4424/2562

จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการค้าการเดินอากาศ และได้ทำสัญญากับโจทก์มีข้อตกลงกันให้จำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงบริการที่เก็บอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ของโจทก์ และจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราภาระการใช้ ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะใช้ใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นเรื่องที่โจทก์มีหน้าที่เพียงให้บริการการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่จำเลยเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการตามข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ประกาศกระทรวงคมนาคมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) เป็นกฎหมายลำดับรองหรือเป็นส่วนของรายละเอียดของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับสูงหรือกฎหมายแม่บทของประกาศกระทรวงนั้น เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวถูกยกเลิก ประกาศกระทรวงนั้นย่อมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประกาศหรือกฎหมายลำดับรองให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2561 

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า จ. ว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า จ. จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ภ. พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากกิจการร่วมค้า จ. เริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า จ. ได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า จ. ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2561 

โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2560

สัญญาการบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นการจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ที่มีการตกลงรับทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ เพื่อจะให้ได้สินจ้างจากงานที่ทำนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลร่างกายนั้น แม้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะมีเจตนาเดียวกันโดยมุ่งผลสำเร็จของงานคือการหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่เมื่อร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่จะสามารถกำหนดได้ว่าการรับทำงานต้องสัมฤทธิ์ผลในการรักษาได้อย่างแน่นอน เพราะการรักษาต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าบาดแผลที่ได้รับ สภาพและอายุของผู้ป่วย ลักษณะของโรค ความยากง่ายในการรักษา เป็นต้น ดังนั้นการจะนำเอาผลสำเร็จของงานในการรับจ้างทำทรัพย์สินหรือสิ่งของมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกับการรักษาว่าจะต้องหายจากอาการเจ็บป่วยย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ โดยจะต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ภาวะและวิสัย ทั้งของผู้ป่วย แพทย์ และลักษณะของโรคขณะที่ทำการรักษาเป็นกรณีไป ดังนั้น สัญญาบริการทางการแพทย์จึงไม่ใช่การจ้างทำของโดยแท้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2559 

สัญญาจ้างโฆษณามีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว ยังมีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า "เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ" ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นอกจากนี้พฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันและในการประชุมที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว โดยถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อีกทั้งเมื่อคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน แสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น แต่เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558 

แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2558 

สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1 ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท. มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557 

สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556 

สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2556 

การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในการทำงานของนายจ้างลูกจ้างจึงจะทราบเจตนาในการทำสัญญาว่าคู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ แม้สัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีรายละเอียดมุ่งถึงผลสำเร็จของการหาโฆษณาให้แก่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองของจำเลยให้ได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญาว่าโจทก์กับพวกต้องหาโฆษณาจากบุคคลภายนอกมาตีพิมพ์โดยคิดค่าโฆษณามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท และ 32 ล้านบาท ภายในกำหนด 10 เดือน และ 12 เดือน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาได้ตามเป้าประสงค์ จำเลยก็ผ่อนผันให้แก่โจทก์กับพวก ทั้งยังจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้าให้ตามสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยยังทำสัญญาจ้างโจทก์กับพวกต่ออีก แสดงว่าเจตนาของจำเลยในการทำสัญญาจ้างโจทก์หาโฆษณาไม่ได้มุ่งถึงความสำเร็จของการงานที่ว่าจ้างเป็นสำคัญ จำเลยกำหนดให้โจทก์มีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและมอบบัตรประจำตัวพนักงานแก่โจทก์ พวกของโจทก์มีตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาทั้งสิ้น โจทก์มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างที่กระทำผิดแทนจำเลยได้ แสดงถึงอำนาจบังคับบัญชาที่จำเลยมีต่อโจทก์กับพวก นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงาน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22850/2555 

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ข้อ 4 เกี่ยวกับการส่งมอบงานงวดที่ 3 อันเป็นงวดสุดท้าย คู่สัญญาทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างต้องมีการทดลองระบบทุกระบบที่ติดตั้งให้คณะกรรมการตรวจการจ้างรับว่าใช้ราชการได้ดี แต่ในการตรวจรับงานงวดที่ 3 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้ทำการทดลองทุกระบบ รวมทั้งไม่ได้ทดลองจ่ายไฟฟ้าบกให้แก่เรือรบหลวงตามสัญญาอันจะทำให้ทราบว่าระบบไฟฟ้าบกใช้ราชการได้ดีหรือไม่ และต่อมาเมื่อมีการใช้ระบบไฟฟ้าบกแก่เรือรบหลวง ปรากฏว่าไม่สามารถใช้ได้ตามสัญญา เป็นเหตุให้เรือรบหลวง 5 ลำ ต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเรือซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ค่าบำรุงรักษา และค่าสึกหรอของเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าสูงกว่าการใช้ระบบไฟฟ้าบกเป็นเงิน 4,591,790.07 บาท นั้น เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าบกไม่ครบถ้วน และไม่มีประสิทธิภาพตามสัญญา อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำของ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์อันจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 แต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับมอบงานจากจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จากการที่จำเลยที่ 5 ผิดสัญญา การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 เพราะเหตุปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ในวันที่ 25 กันยายน 2540 จึงไม่ขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16349/2555 

ตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงาน งวดที่ 2 จำเลยจะต้องดำเนินการสกัดแนวท่อ ฝังบล็อก วางท่อ ร้อยสายไฟฟ้า ต่อสาย ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ พร้อมทั้งปิดฝากล่องเชื่อมสายไฟให้เรียบร้อย ทั้งจะต้องจัดทำระบบสายใต้ดินให้แล้วเสร็จร้อยละ 90 ของงาน จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้ส่งมอบงานและดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญางวดที่ 2 โจทก์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองจำต้องให้ฝ่ายโจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปคืนแก่โจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของ เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานเรียกเอาคืนซึ่งเงินทดรองที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 2 ปี หาใช่เรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาจึงเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดลงในวันนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดดังกล่าว เมื่อคิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2555 

จำเลยจ้างโจทก์ขับรถขนส่งสินค้าโดยโจทก์ต้องมีรถบรรทุกสินค้าของตัวเอง จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่ปฏิบัติงานส่งสินค้าให้จำเลยเท่านั้น จึงบ่งบอกว่าจำเลยมุ่งผลสำเร็จของงานให้มีการขนสินค้าไปให้ลูกค้าตามช่วงเวลานั้นจนเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ อีกทั้งโจทก์จะมาทำงานวันใดก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยหากฝ่าฝืนจำเลยมีสิทธิลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11732/2555 

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าประเภทผลไม้แช่แข็ง โดยนำรถยนต์บรรทุกลากตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบรรจุสินค้าลงตู้คอนเทนเนอร์ และลากตู้คอนเทนเนอร์นำไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร แล้วจำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าขนส่งให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งสิ่งของเรียกเอาค่าขนส่งพร้อมค่ายกตู้และค่าผ่านท่าจากจำเลย ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าระวาง มิใช่หนี้ที่เกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานจ้างทำของและมิใช่หนี้ที่เรียกร้องเกี่ยวกับข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่สูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าด้วย จึงอยู่ในบังคับอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2552

แม้สัญญาซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีรายละเอียดของแบบสินค้า จำนวนชุด ราคา วันจัดส่งและระบุด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ ส่วนโจทก์เป็นผู้ขาย แต่ในสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผ้า วัสดุอุปกรณ์ กรรมวิธีการผลิต หีบห่อ และเศษวัสดุจากการตัดเย็บและสินค้าคุณภาพรองไว้ โดยสินค้าจะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานของโรงงานและเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนด อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 เสียก่อน และก่อนลงมือผลิตสินค้า โจทก์จะต้องส่งตัวอย่างสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อทำการอนุมัติและทดสอบก่อน หากไม่ผ่านการทดสอบ จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าได้ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่กำหนดให้โจทก์ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่จำเลย ที่ 1 โดยผ้าและวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานและได้รับอนุมัติจาก จำเลยที่ 1 ก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 จะต้องส่งชุดต้นแบบไปให้แก่โจทก์เพื่อทำชุดตัวอย่างสำหรับลองขนาด สัญญาพิพาทจึงมิใช่สัญญาซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยทั่วไปที่โจทก์ได้ผลิต สินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว หรือโจทก์สามารถผลิตสินค้าขึ้นตามแบบที่โจทก์คิดขึ้นได้เอง แต่เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยผ้า วัตถุดิบ รูปแบบการตัดเย็บ และขั้นตอนการผลิตล้วนอยู่ในการควบคุมมาตรฐานของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบทบังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 7 ในเรื่องจ้างทำของ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3660/2551

สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาอาจจะตกลงเงื่อนไข เงื่อนเวลา หรือขั้นตอนในการชำระหนี้กันอย่างไรก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ตกลงชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อใดจึงต้องชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ทำงานเสร็จกล่าวคือเมื่อคดีถึงที่สุด

 

โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเงื่อนไขการชำระเงินค่าจ้างว่าความไว้เป็นส่วนๆ ว่าโจทก์ทำการงานถึงขั้นตอนใดๆ จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใด หรือเมื่อคดีเสร็จเด็ดขาดในขั้นต้นใด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด อันเป็นการตกลงให้ค่าจ้างตามผลแห่งการงานที่ทำ จึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงจ้างว่าความกันโดยคำนึงถึงผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นประการสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าการงานที่ให้ทำนั้นจะสำเร็จเมื่อใด ในขั้นตอนใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำการงานโดยดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสองจนจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีได้ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คดีถึงที่สุด ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ทำการงานสำเร็จตามที่ตกลงว่าจ้างกันแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10707/2550

ปัญหาว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์รับเอาส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้รับจากลูกความขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยมีสิทธิยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

 

ตามสัญญาจ้างว่าความกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลย โดยจำเลยจะต้องชำระค่าทนายความแก่โจทก์ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกา ปรากฏว่าหากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี คงมีผลเพียงว่าจำเลยไม่ต้องแบ่งที่ดินให้แก่ ช. เท่านั้น ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นทรัพย์สินของจำเลยเช่นเดิม จำเลยหาได้ทรัพย์สินเพิ่มเติมจากการเป็นฝ่ายชนะคดีไม่ การที่คิดค่าทนายความตามผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี จึงมิใช่เป็นการคิดค่าทนายความตามส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่จำเลยจะพึงได้รับจากการเป็นความ สัญญาว่าจ้างความจึงไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญและการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือจ่ายสินจ้างตามที่ตกลงกันไว้ แม้จะตกลงค่าจ้างว่าความไว้ในอัตราสูงก็หาได้ทำให้สัญญาดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าว่าความเต็มจำนวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2550

การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วงานที่ทำเกิดการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลังส่งมอบ แต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น อันเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตาม หาใช่เป็นเพียงข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 600 ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้กำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6314/2550

เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น

 

เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549

จำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี เมื่อนับระยะเวลาจากวันครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2549

สัญญาที่โจทก์รับซ่อมรถยนต์ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)


โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์แต่ละคันให้แก่ผู้ที่นำมาซ่อม การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15


โจทก์นำหนี้จำนวน 41 รายการ รวมเป็นเงิน 402,197 บาท ซึ่งโจทก์สามารถบังคับตามสิทธิของตนได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 มาฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ค่าซ่อมรถอีก 11 รายการ จำนวน 47,500 บาท ปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้บางส่วน หนี้ค่าซ่อมรถทั้ง 11 รายการ ยังไม่ขาดอายุความ อายุความสำหรับหนี้ดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับใหม่ และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ในส่วน 11 รายการนี้ จึงยังไม่ขาดอายุความ

 

การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องกระทำก่อนที่หนี้ขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าซ่อมรถจำนวน 402,197 บาท ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 การชำระหนี้บางส่วนของจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141/2548

การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าและการที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงราคาสินค้าและค่าสินจ้างไว้ได้ ดังนี้ การชำระหนี้จึงยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือ นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2548

เมื่อโจทก์มิได้ก่อสร้างห้องใต้ดินและถังน้ำใต้ดินตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคาร จำเลยทั้งสามชอบที่จะไม่ชำระสินจ้างในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ได้ แต่ในส่วนอื่นๆ ที่โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ไว้แล้ว แต่ไม่แล้วเสร็จนั้น ถือว่างานก่อสร้างของโจทก์มีความชำรุดบกพร่องหลายรายการ จำเลยทั้งสามชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ไว้จนกว่าโจทก์จะซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องแล้วเสร็จตาม ป.พ.พ. มาตรา 599 หากโจทก์ไม่จัดทำจนจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งสามชอบที่จะหักเป็นค่าซ่อมแซมความเสียหายตามควรค่าแห่งการนั้นได้เท่านั้น หากมีสินจ้างเหลือก็ต้องคืนให้แก่โจทก์ไป ไม่ชอบที่จำเลยทั้งสามจะไม่ชำระค่าสินจ้างเสียเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2548

จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างบ้านลงบนที่ดินของจำเลยทั้งสองเพื่อพักร่วมกันกับจำเลยที่ 2 ทั้งข้อเท็จจริงตามที่ฟังได้ความยังปรากฏว่าระหว่างดำเนินการก่อสร้างจำเลยทั้งสองยังร่วมกันเข้าไปตรวจดูความเรียบร้อยของงาน มีการสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ แม้จำเลยที่ 2 จะลงลายมือในสัญญาฐานะผู้ว่าจ้างก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและมุ่งผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ หนี้ค่าก่อสร้างบ้านจึงผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681 - 1683/2548

สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาที่จำเลยที่ ตกลงให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการเกี่ยวกับการดัดแปลงอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรม จัดหาบุคลากรที่เหมาะสมมาทำงานที่โรงแรม และวางแผนการตลาดให้โรงแรมมีกำไร เป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำเดือนละ 140,000 บาท แม้โจทก์ที่ 3 ได้เข้าทำงานทุกวันคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 8.30 ถึง 17.00 นาฬิกาก็มิใช่เป็นการทำงานตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด แต่เป็นการเข้าไปทำงานยังสถานที่ที่จำเลยที่ 1 จัดหาไว้ตามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3838/2547

จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของจำเลย แต่โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ปัจจุบันจำเลยได้เข้าอยู่และใช้อาคารพาณิชย์ดังกล่าวแล้ว กรณีไม่ได้เป็นเรื่องจำเลยรับมอบอาคารพาณิชย์ทั้งที่ชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา 598 แห่ง ป.พ.พ. สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 การที่จำเลยยอมเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารพาณิชย์ที่ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างแล้ว ถือได้ว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้แล้ว โดยจำเลยไม่สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับในเวลาที่จำเลยยอมรับชำระหนี้ จำเลยจึงเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7592/2547

สัญญาจ้างทำของมิได้ปิดอากรแสตมป์ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 จึงต้องห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแต่การจ้างทำของไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังนั้นจึงรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2547

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าให้จำเลยและโจทก์ตกลงรับจะทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าให้ เมื่อทำการโฆษณาแล้วจำเลยตกลงจะชำระเงินค่าโฆษณาให้แก่โจทก์ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่จำเลย และจำเลยตกลงจะใช้ราคานั้น ไม่เข้าลักษณะสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยซื้อขาย แต่เป็นเรื่องโจทก์ผู้รับจ้างตกลงจะทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าจนสำเร็จให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง และจำเลยตกลงจะชำระเงินค่าโฆษณาหรือสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น อันเข้าลักษณะของการจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7172/2547

ความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 หมายความถึงความชำรุดบกพร่องซึ่งเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 598 , 599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้กับผู้ว่าจ้างครบถ้วนแล้ว มิใช่หมายถึงการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา ที่จำเลยฎีกาว่า ว. ตัวแทนโจทก์รับมอบงานก่อสร้างบ้านจากจำเลยโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 นั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญา หาใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานที่ทำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ปฏิบัติงานให้เรียบร้อยตามสัญญาจริง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยตามสัดส่วนของงานที่ยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อยตามสัญญาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128 - 1129/2547

จำเลยประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวจัดให้มีการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ เมื่อมีลูกค้าจะลงท่องเที่ยวเรือสำราญจำเลยจะแจ้งโจทก์ทราบโจทก์มีสิทธิที่จะให้บริการหรือปฏิเสธที่จะไม่ให้บริการแก่ลูกค้าได้หากโจทก์รับให้บริการแก่ลูกค้าบนเรือสำราญจะได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน เมื่อเรือสำราญต้องเข้าฝั่งโจทก์จะหมดหน้าที่เป็นคราวไปการจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ไม่ใช่การจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แต่เป็นการจ้างทำของตามมาตรา 587โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5203/2546

วันที่โจทก์ส่งมอบงานถมดินและปรับพื้นที่ย่อมไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยที่ 1จะรับมอบงานหรือไม่ มิใช่ว่าเมื่อโจทก์ส่งมอบงานแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ทันทีเพราะงานที่ส่งมอบอาจมีข้อบกพร่องอันจะต้องแก้ไขเสียก่อน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานเป็นต้นไป จำเลยที่ 1ลงชื่อในบันทึกท้ายหนังสือของคณะกรรมการตรวจรับงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม2539 แต่ก็ยังมีข้อเรียกร้องให้โจทก์ปรับถนนให้เรียบร้อยเสียก่อน แสดงว่าการรับมอบงานของจำเลยที่ 1 ไม่เร็วไปกว่าวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24เมษายน 2541 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2545

จำเลยซื้อแผ่นพลาสติกพร้อมติดตั้งจากโจทก์เพื่อใช้ปูบ่อบำบัดน้ำเสียของจำเลยโจทก์ส่งมอบงานปูแผ่นพลาสติกในบ่อบำบัดน้ำเสียให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยใช้บ่อบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 2 ถึง 3 เดือน แผ่นพลาสติกที่ปูไว้ได้โป่งพองลอยขึ้นอันเป็นความบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อส่งมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 โดยจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้แต่เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเท่านั้น เมื่อโจทก์ติดต่อกับจำเลยขอเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมโดยอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องใช้บ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว ไม่สามารถสูบน้ำออกจากบ่อได้เพราะจะทำให้เสียรายได้ ถือเป็นข้ออ้างที่ไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างจะสามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ดังนั้นการที่โจทก์ไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานได้จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่ค้างชำระอีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001/2544

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างออกแบบผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้สารกันน้ำซึม และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้งานได้หรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ชำรุดบกพร่อง อันมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 แต่เป็นการฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือออกแบบและควบคุมงานผิดพลาดซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2544

ตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวออกใช้บังคับมิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความที่ระบุว่า "คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ" จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนข้อตกลงที่ให้คิดค่าทนายความเป็นร้อยละของทุนทรัพย์ และลดส่วนลงหากบังคับคดีได้เพียงบางส่วน หรือมีการประนีประนอมยอมความกัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความ หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความจึงไม่เป็นโมฆะ และตามสัญญาจ้างว่าความเมื่อไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชค และไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะกัน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่ทนายความต้องลงแรงว่าต่างให้แก่ลูกความจึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2542

ความชำรุดบกพร่องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 หมายถึง ความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ๆ คือ มาตรา 598,599 และ 600 อันหมายถึงความชำรุดบกพร่อง ในตัวทรัพย์ที่ผู้รับจ้างส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้าง ครบถ้วนแล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาที่ไม่ตรวจภายในอาคารคลังพัสดุให้ละเอียดว่ามีปลวกขึ้นหรือไม่ จำเลยจึงไม่เห็นปลวกในจุดที่ปลวกกัดกินผ้าดิบของโจทก์และไม่กำจัดปลวกให้หมดสิ้น กับ ไม่ใส่ยาเคมีป้องกันมิให้ปลวกขยายพันธุ์ให้ทั่วบริเวณสถานที่ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างกำจัดและป้องกันปลวกซึ่งขณะปลวกกัดกินผ้าดิบยังอยู่ในอายุสัญญาจ้างดังกล่าว ตามคำฟ้อง ของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดที่ ไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่ผ้าดิบของโจทก์ถูกปลวกกัดกินเสียหายแก่โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และนับแต่วันที่โจทก์พบปลวกกัดกินผ้าดิบเสียหายถึงวันฟ้อง คดียังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2541

ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงเรื่องความชำรุดบกพร่องไว้ในสัญญาว่า หากงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกแบบและควบคุมเกิดความชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบและโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ซ่อมแซมแก้ไขหรือซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่ไม่เรียบร้อย โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นซ่อมแซมแก้ไขแทนได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชอบในค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่ผู้อื่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องได้ตามข้อสัญญา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 600 และ 601 มาใช้บังคับ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ไม่มีข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างอื่น กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้มาใช้บังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6675/2541

สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จของงานคือการดำเนินคดีหรือทำหน้าที่ทนายความตั้งแต่ตระเตรียมคดีและว่าต่างหรือแก้ต่างในศาลไปจนคดีถึงที่สุดและการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือจ่ายสินจ้างตามที่ตกลงกันไว้แม้ข้อตกลงว่าผู้ว่าจ้างจะชำระสินจ้างให้เต็มตามจำนวนในสัญญาจ้างไม่ว่าผู้ว่าจ้างจะเลิกสัญญาในชั้นใดหรือเวลาใดก็ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ผูกมัดตัดทอนเสรีภาพของผู้ว่าจ้างเพราะมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ว่าจ้างถอนทนายเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าหากถอนทนายผู้ว่าจ้างก็ยังต้องชำระค่าสินจ้างเต็มจำนวนในสัญญาเท่านั้นจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนข้อตกลงเช่นว่าจึงมีผลบังคับได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6135/2540

แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าว่าจ้างทำของ แต่เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์สมควรได้เป็นค่าแห่งการงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลย ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้โจทก์ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996/2540 

จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 11 คูหา โจทก์ได้ก่อสร้างมาระยะหนึ่งก็หยุดไม่ทำต่อไป เมื่อโจทก์ทิ้งงานแล้ว จำเลยได้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน โดยระบุแสดงเจตนาไว้ว่าไม่ให้โจทก์มาเกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่อไป และจำเลยได้สอบถามคนงานว่าสามารถทำงานต่อไปได้หรือไม่ หัวหน้าคนงานของโจทก์ก็ตอบว่าสามารถทำงานต่อไปได้แม้จะไม่มีโจทก์ก็ตามและได้ทำงานต่อไปจนเสร็จโดยจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าแรงให้แก่คนงานดังกล่าว การที่โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานให้จำเลยโดยทิ้งงานไป จำเลยก็แสดงเจตนาที่ไม่ต้องการให้โจทก์ทำงานตามสัญญาต่อไปอีก สัญญาก่อสร้างอาคารระหว่างโจทก์จำเลย เป็นอันเลิกกันโดยปริยาย หลังจากโจทก์ทิ้งงานแล้ว คนงานอื่น ๆ ของโจทก์อีกประมาณ80 คน ก็ทำงานต่อในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย เช่นนี้ คนงานของโจทก์ที่ทำงานต่อไปจึงทำในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย มิใช่ในฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่คนงานที่ทำงานหลังจากโจทก์ทิ้งงานต่อไปจนเสร็จดังกล่าวหาใช่เป็นการจ่ายแทนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าแรงงานในส่วนนี้จากโจทก์ตามฟ้องแย้งได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2540

ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้าง จึงมิใช่โจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และบันทึกที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้โจทก์ระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อน โจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ดังนี้จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1ทำงานผิดพลาดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 67,650 บาท ซึ่งเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2540

จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความ ผลสำเร็จของงานย่อยอยู่ที่การว่าความจนคดีถึงที่สุด ส่วนการแพ้หรือชนะเป็นเพียงผลแห่งการงานในการชำระสินจ้างเท่านั้น เมื่อคดีที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความถึงที่สุด เพราะมีการตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและถอนฟ้องในคดีอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไป สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ต้องปฏิบัติชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ในขณะเดียวกัน เมื่อโจทก์ผู้รับจ้างได้ทำงานให้จำเลยผู้ว่าจ้างและจำเลยได้รับผลงานเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไป ส่วนข้อตกลงที่ว่า "ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไรและย่อมอยู่แก่ความพอใจของจำเลย" นั้น เป็นเพียงข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม มิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144(เดิม) มาตรา 182(ใหม่) สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6144/2539

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น การซื้อขาย ต่างจากการรับจ้างทำของตรงที่การซื้อขายมุ่งถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ส่วนการรับจ้างทำของมุ่งถึงการงานที่ทำและผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ซึ่งในเรื่องจ้างทำของนั้น ป.พ.พ. มาตรา 592 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้รับจ้างไว้ว่าผู้รับจ้างต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลา และมาตรา 605 กำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างไว้ว่าถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญา คดีนี้ การติดต่อสั่งทอผ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยในครั้งแรก ๆ ได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ ต่อมาจึงสั่งทอด้วยวาจาโดยจำเลยสั่งโจทก์ให้ทอผ้าตามลายที่จำเลยกำหนดโดยกำหนดจำนวนที่จำเลยต้องการแน่นอน ข้อตกลงในการส่งมอบผ้าและการชำระราคายังเป็นไปตามที่เคยกำหนดไว้ในสัญญาและในการทอผ้าตามที่จำเลยสั่ง โจทก์จะแจ้งให้ผู้อื่นเป็นผู้ทอให้ ในระหว่างที่มีการทอผ้าจำเลยไม่ได้เข้าไปควบคุมตรวจตราการทอและจะบอกยกเลิกการทอไม่ได้ ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้โจทก์ทอผ้าหลายครั้ง การสั่งทอผ้าครั้งใดที่มีราคาเกินกว่า 500 บาท และไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดหรือได้วางประจำไว้หรือได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้วโจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 สำหรับผ้าที่มีการสั่งทอในครั้งดังกล่าวไม่ได้