มาตรา ๗๓๗ ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำบอกกล่าว
มาตรา ๗๓๘ ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
(๑) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
(๒) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
(๓) ชื่อเจ้าของเดิม
(๔) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
(๕) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
(๖) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
อนึ่งให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย
มาตรา ๗๓๙ ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอ เจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่าเจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด
(๒) ต้องเข้าสู้ราคาเอง หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้
(๓) บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่น ๆ บรรดาได้จดทะเบียน กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย
มาตรา ๗๔๐ ถ้าขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำจำนวนเงินที่ผู้รับโอนเสนอว่าจะใช้ ท่านให้ผู้รับโอนเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาด ถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวนท่านให้เจ้าหนี้ผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดเป็นผู้ออก
มาตรา ๗๔๑ เมื่อเจ้าหนี้ทั้งหลายได้สนองรับคำเสนอทั่วทุกคนแล้วโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ดี ท่านว่าจำนองหรือบุริมสิทธิก็เป็นอันไถ่ถอนได้ด้วยผู้รับโอนใช้เงิน หรือวางเงินตามจำนวนที่เสนอจะใช้แทนการชำระหนี้
มาตรา ๗๔๒ ถ้าการบังคับจำนองก็ดี ถอนจำนองก็ดี เป็นเหตุให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดมือไปจากบุคคลผู้ได้ทรัพย์สินนั้นไว้แต่ก่อนไซร้ ท่านว่าการที่ทรัพย์สินหลุดมือไปเช่นนั้นหามีผลย้อนหลังไม่ และบุริมสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้แห่งผู้ที่ทรัพย์หลุดมือไปอันมีอยู่เหนือทรัพย์สินและได้จดทะเบียนไว้นั้น ก็ย่อมเข้าอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิอันเจ้าหนี้ของผู้จำนอง หรือเจ้าของคนก่อนได้จดทะเบียนไว้
ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสิทธิใด ๆ อันมีอยู่เหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แต่ก่อนได้ระงับไปแล้วด้วยเกลื่อนกลืนกันในขณะที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาไซร้ สิทธินั้นท่านให้กลับคืนมาเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้นั้นได้อีก ในเมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองกลับหลุดมือไป
มาตรา ๗๔๓ ถ้าผู้รับโอนได้ทำให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองเสื่อมราคาลงเพราะการกระทำหรือความประมาทเลินเล่อแห่งตน เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้มีสิทธิจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นต้องเสียหายไซร้ ท่านว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น อย่างไรก็ดีอันผู้รับโอนจะเรียกเอาเงินจำนวนใด ๆ ซึ่งตนได้ออกไป หรือเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ตนได้ทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นนั้น ท่านว่าหาอาจจะเรียกได้ไม่ เว้นแต่ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินนั้นงอกราคาขึ้น และจะเรียกได้เพียงเท่าจำนวนราคาที่งอกขึ้นเมื่อขายทอดตลาดเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2549
การที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นใดโดยอาศัย เหตุอย่างใดแล้ว คู่ความเดียวกันจะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นนั้น โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับ พ. ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำนองเนื่องจาก พ. ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาดของศาลในคดีแพ่งหมายเลข แดงที่ 11353/2534 ที่ ส. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. ขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองเพื่อนำเงินชำระหนี้แก่ ส. แม้จำเลยจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง แต่จำเลยก็มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ที่โจทก์ฟ้อง พ. ทั้งจำเลยมีสิทธิที่จะไถ่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 เมื่อจำเลยไม่ไถ่จำนองและโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยตามมาตรา 735 แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดี แพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นแล้ว มูลคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้จึงเป็นคนละอย่างกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2549
การที่จำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาจากการขายทอดตลาดในคดีอื่นของศาลชั้น ต้น โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้แต่หา ได้ทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง อันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. คือ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคา ทรัพย์สินนั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ยอมรับ โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 738 และ 739 และถ้าจำเลยมิได้ใช้สิทธิเสนอไถ่ถอนจำนองดังกล่าว หากโจทก์จะบังคับจำนอง ก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนอง ได้ตามมาตรา 735 มิใช่ว่าเมื่อจำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาแล้วโจทก์จะอาศัยสิทธิความ เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ติดตามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ประเด็นแห่งคดีก็เป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2534
ความ ระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองมี 6 กรณี ตามที่บัญญัติไว้ในป.พ.พ. มาตรา 744 โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ทำหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับข้อเสนอจนพ้นกำหนด 1 เดือน จำเลยไม่นำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง การที่จำเลยไม่ฟ้องคดี แม้จะถือเท่ากับว่าจำเลยสนองรับคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของโจทก์โดยปริยายตาม มาตรา 739,741 แล้วก็ตาม แต่จำนองจะระงับไปโดยเหตุการไถ่ถอนนี้ก็ต่อเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่จำเลยตาม จำนวนที่โจทก์เสนอจะใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จดทะเบียนจำนองพร้อมดอกเบี้ยหรือ โจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ซึ่งฟ้องโจทก์ก็หาได้ปรากฏถึงสภาพแห่งข้อหาที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่นว่า นี้ไม่เหตุตามคำฟ้องของโจทก์มิใช่กรณีใดกรณีหนึ่งซึ่งจะถือว่าสัญญาจำนอง ระงับไปดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนระงับจำนอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2526
ถึงแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736,737 บัญญัติให้สิทธิผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายในส่วนสารบัญญัติ ไม่ใช่บทกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับคดี ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาใช้ในการบังคับคดีได้และตามคำพิพากษาก็เป็น หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำการไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเสียก่อนแล้วจึงโอนให้แก่ โจทก์โดยปลอดจำนอง หาใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะทำการไถ่ถอนจำนองเองไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับซึ่งออกบังคับเอาแก่จำเลย จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะพึง ใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297(2)ศาลมีอำนาจที่จะกักขังจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2510
จำเลย จำนองที่ดินไว้กับโจทก์. แล้วนำไปขายฝากกับผู้ร้องและไม่ไถ่กรรมสิทธิ์ จึงตกเป็นของผู้ร้องโดยมีภาระจำนองติดไปด้วยโจทก์จึงมีสิทธิบอกกล่าวแก่ผู้ ร้องว่ามีความจำนงจะบังคับจำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินจำนอง จากจำเลยได้ตาม มาตรา 736, 737เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องขอบังคับจำนองแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องยังไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โจทก์ยังไม่มีสิทธิจะยึดที่พิพาทที่จำนองแก่โจทก์ เพราะผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอก
โจทก์ผู้รับจำนองมี สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้ว หรือหาไม่ตามมาตรา 702(2)