หน้าที่และความรับผิดของตัวการต่อตัวแทน

มาตรา ๘๑๕ ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้ ตัวการต้องจ่ายเงินทดรองให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น

มาตรา ๘๑๖ ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้นตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้
ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้
ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้

มาตรา ๘๑๗ ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทนถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านว่าบำเหน็จนั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สุดสิ้นลงแล้ว

มาตรา ๘๑๘ การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ

มาตรา ๘๑๙ ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใด ๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2548
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัท ช. และบริษัท ป. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่ามูลหนี้ตามฟ้องที่เกิดจากการติดตั้งเต้าปูน และใส่ระบบลากจูงเป็นรถพ่วงเต้าปูนที่จำเลยทำกับโจทก์นั้น จำเลยได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของบริษัท ช. และบริษัท ป. ผู้เช่าซื้อ จำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์ ดังนี้ คำร้องของจำเลยดังกล่าวย่อมเข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) เนื่องจากเป็นอันเข้าใจว่า เป็นการขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า ถ้าหากศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีตามฟ้อง จำเลยในฐานะตัวแทนย่อมฟ้องบริษัท ช. และบริษัท ป. ซึ่งเป็นตัวการเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2545
จำเลย แต่งตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. กับจำเลยหาใช่เป็นเรื่องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของจำเลยแต่อย่างใดไม่ เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอันเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของ จำเลย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ทดรองจ่ายแทนจำเลย จึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมาย แก่ตนจากตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยหรือรับทำการ งานต่าง ๆ ของจำเลย คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 19 กันยายน 2540 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2545
จำเลย ทำสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทน นายหน้า ในการซื้อขายหลักทรัพย์ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันใน ฐานะตัวการกับตัวแทนซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นเพียง 10,000 หุ้น แต่โจทก์ขายหุ้นไป 20,000 หุ้น และส่งมอบเงินที่ขายได้ทั้งหมดให้แก่จำเลยซึ่งมียอดเงินที่จำเลยรับไว้เกิน จำนวน 2 แสนบาทเศษนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลยชำระเงินให้จำเลยเกินจำนวนที่จำเลยสั่ง ให้ขายหุ้น จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่เกินมาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2986/2537
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า จำเลยขายสินค้าโจทก์แล้วไม่ส่งมอบเงินมัดจำค่าสินค้าแก่โจทก์เป็นการกล่าว อ้างว่า จำเลยในฐานะตัวแทนขายได้รับทรัพย์สินไว้แทนตัวการแล้วมิได้ส่งมอบให้แก่ โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เป็นการผิดสัญญาตัวแทนและบรรยายคำขอบังคับ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์โดยมี หลักฐานการสั่งซื้อสินค้าพร้อมหนังสือของจำเลยที่รับทราบการสั่งซื้อสินค้า และยอมรับการเป็นตัวแทนขายสินค้าให้แก่โจทก์ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรของโจทก์ในประเทศไทย จำเลยมีหน้าที่แนะนำผู้ซื้อเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องจักรให้ถูกต้อง ดูแลให้มีการตรวจสอบเครื่องจักรทุกชิ้นก่อนที่จะใช้เครื่องจักรดังกล่าว และจะต้องรับผิดชอบในการให้บริการหลังการขายตามสัญญา จำเลยจึงเป็นตัวแทนของโจทก์มิใช่นายหน้า จำเลยจะต้องส่งมอบเงินมัดจำให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 811 เมื่อสัญญาตัวแทนมีข้อกำหนดว่า ราคาสินค้าที่ตัวแทนจะเสนอแก่ผู้จะซื้อนั้น จะต้องไม่สูงเกินกว่ารายการราคาสินค้าที่ส่งให้แก่ตัวแทน ดังนั้นการขายสินค้าเกินราคาให้แก่ลูกค้า และไม่ส่งเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นการที่ตัวแทนทำมิชอบด้วยหน้าที่ ตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2529
โจทก์ ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นแทนจำเลยไปในฐานะตัวแทนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นตัวการโจทก์ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นเหล่านั้นที่ยังคง อยู่ในความครอบครองของโจทก์ได้จนกว่าจำเลยจะชำระเงินที่โจทก์ออกทดรองแทน จำเลยไปตาม ป.พ.พ.มาตรา241,244และ819 การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นไม่ทำให้สิทธิยึดหน่วงของโจทก์ตาม ป.พ.พ.เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ดังนั้นเมื่อโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยโจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายมาตรา6และในการฟ้องให้จำเลยล้มละลายนั้นโจทก์จะต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายมาตรา10(2)โดยกล่าวมาในฟ้องว่าถ้าจำเลยล้มละลายแล้วโจทก์ยอม สละหุ้นของจำเลยแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือตีราคาหุ้นดังกล่าวมาในฟ้องด้วยมิ ฉะนั้นแล้วฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา.