หน้าที่และความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการ

มาตรา ๘๐๗ ตัวแทนต้องทำการตามคำสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการเมื่อไม่มีคำสั่งเช่นนั้น ก็ต้องดำเนินตามทางที่เคยทำกันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทำอยู่นั้น
อนึ่ง บทบัญญัติมาตรา ๖๕๙ ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลมตามควร

มาตรา ๘๐๘ ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้

มาตรา ๘๐๙ เมื่อตัวการมีประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ตัวแทนนั้นในเวลาใด ๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ ตัวแทนก็ต้องแจ้งให้ตัวการทราบ อนึ่งเมื่อการเป็นตัวแทนนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ตัวแทนต้องแถลงบัญชีด้วย

มาตรา ๘๑๐ เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

มาตรา ๘๑๑ ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของตัวการนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

มาตรา ๘๑๒ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา ๘๑๓ ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้ง ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้องรับผิดแต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การ หรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้วและมิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบหรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง

มาตรา ๘๑๔ ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2552
โจทก์มอบหมายให้ ส. นำเงินของโจทก์ไปประกันตัว ก. ต่อศาลชั้นต้น จำเลยรับเงินจาก ส. ไปดำเนินการ เมื่อคดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นสั่งคืนเงินประกันโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคาร อ. ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะผู้ทรงในฐานเป็นผู้รับเงินที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ ธนาคารใช้เงินตามเช็คแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คจึงไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลย ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 โดยตรง หากจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลย รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินตามเช็คดังกล่าว แก่โจทก์ไม่ได้

คำฟ้องของโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินตามเช็คจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แม้ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551
โจทก์ ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน ต่อมาโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้การตั้งตัวแทนจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ไม่ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
ส่วนการที่โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ จำเลยให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนอง ที่ดินไม่ ไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2551
ลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินการลงทุนลูกหนี้ในฐานะตัวแทน ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝืมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในการนำเงินของเจ้าหนี้ไปลงทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 807 วรรคสอง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม การที่ลูกหนี้นำเงินของเจ้าหนี้ไปซื้อลดตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัท ก. และเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินสั่งจ่ายให้แก่ ม. กับมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. เป็นผู้อาวัล เป็นการลงทุนโดยไม่ปฏิบัติตามหนังสือยืนยันนโยบายการลงทุนที่ลูกหนี้มีถึง ประธานคณะกรรมการของเจ้าหนี้ว่า จะลงทุนในตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรองจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดย ปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามที่ตัวการได้มอบหมาย ซึ่งผลปรากฏต่อมาว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้ แม้เจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องเรียกเงินตามตั๋วแลกเงินจากผู้สั่งจ่าย ผู้อาวัล และผู้สลักหลัง กับได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของผู้อาวัลและศาลมีคำสั่งอนุญาต ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่นอนว่าเจ้าหนี้จะได้รับเงินครบถ้วนหรือไม่ การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2550
มูลหนี้ที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์เกิดจากความเสียหายที่จำเลยรับ เป็นทนายความว่าความให้โจทก์ ซึ่งถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยเป็นตัวแทน แล้วจำเลยไม่ฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกหนี้เงินกู้จาก ป. แต่กลับปลอมสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยได้ฟ้อง ป. และ ป. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ดังกล่าวจึงเกิดจากการที่จำเลยไม่ทำการเป็น ตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงมิใช่กรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามมาตรา 420, 448

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4266/2550
จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจาก อ. ในฐานะเป็นตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อสินค้าต่างๆ ที่สั่งซื้อมาไม่ได้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติ หน้าที่เป็นตัวแทนที่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 812

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2548
โจทก์ ให้จำเลยรับจำนองที่ดิน โดยโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาหนังสือสัญญาจำนองไว้และจำเลยลงลายมือชื่อใน หนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้ไว้ต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์สามารถไถ่ ถอนจำนองได้เอง แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยรับจำนองที่ดินในฐานะตัวแทนของโจทก์เมื่อโจทก์ฟ้อง บังคับให้จำเลยเปลี่ยนชื่อผู้รับจำนองมาเป็นชื่อโจทก์อันเป็นเรื่องตัวการ ฟ้องเรียกทรัพย์สินจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 798

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5460/2547
คำ ฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า บ. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้มีชื่อรับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้ให้มารดาโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากเจ้าของที่ดินแทน โจทก์ โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อ บ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นหน้าที่ของ บ. ผู้เป็นตัวแทนจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่ บ. ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นส่งคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง และเมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องโอนที่ดินดังกล่าวส่งคืนให้แก่โจทก์ด้วย คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการเรียกให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ส่งคืนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้เป็นตัวการที่ บ. ได้รับไว้อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นให้แก่โจทก์ อันเป็นหน้าที่ของตัวแทนที่จะต้องส่งให้แก่ตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว การฟ้องเรียกที่ดินตามคำฟ้องจากจำเลยเช่นนี้ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับทรัพย์สินอันใดเพิ่มขึ้นใหม่แต่ประการใด และถือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดที่จะรับคำฟ้องของ โจทก์ไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2545
จำเลย เป็นตัวแทนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพขณะที่ได้รับไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยกลับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคาร โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์โดยการปลอดจำนองเช่นเดิม แต่การไถ่ถอนจำนอง จำเลยผู้จำนองจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วนจึงจะปลอด จำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามลำดับต่อไปได้ จึงเป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสีย ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2540
ใน ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ ตลอดจนให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงกระทำการดังกล่าวตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และบรรยายฟ้องต่อไปว่า ส.ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจช่วงให้ ว.เป็นผู้มีอำนาจยื่นฟ้องและแต่งตั้งทนายความแทนโจทก์ได้ ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 แสดงว่าในขณะยื่นคำฟ้อง ส.ได้มอบอำนาจช่วงให้ ว.มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองแทนโจทก์ได้ตามหนังสือมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงที่ ได้แนบมาท้ายฟ้อง แม้วันที่ที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจช่วงจะเป็นวันที่ภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้อง แล้วก็ตาม เมื่อหนังสือมอบอำนาจช่วงไม่ได้ระบุเงื่อนเวลาเริ่มต้นของการมอบอำนาจช่วง ว่าจะให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงเริ่มมีอำนาจเมื่อใด จึงเป็นที่เห็นได้ว่าในขณะยื่นคำฟ้อง ส.ได้มอบอำนาจช่วงให้ ว.เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้หาทำให้กลับกลายเป็นการมอบอำนาจช่วงภาย หลังยื่นคำฟ้องอันจะทำให้ ว.ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2545
จำเลย เป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการจำเลย ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง แต่การไถ่ถอนจำนอง จำเลยผู้จำนองจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน ที่ดินพิพาทจึงจะปลอดจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติดังกล่าวก็ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นตามลำดับต่อไป ได้ จึงเป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนอง หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้ จ่ายทั้งสิ้นนั้นไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7626/2541
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทน กระทำการนอกเหนือขอบอำนาจของการเป็น ตัวแทน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหาย เป็นประการใดก็ชอบที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของโจทก์ตามกฎหมาย เมื่อคดีดังกล่าวโจทก์เป็นคู่ความและโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้วเช่นนี้ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 145หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจจะอุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาดังกล่าวได้ หากเข้ากรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 138แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และคดี ถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษา ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2986/2537
โจทก์ บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า จำเลยขายสินค้าโจทก์แล้วไม่ส่งมอบเงินมัดจำค่าสินค้าแก่โจทก์เป็นการกล่าว อ้างว่า จำเลยในฐานะตัวแทนขายได้รับทรัพย์สินไว้แทนตัวการแล้วมิได้ส่งมอบให้แก่ โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เป็นการผิดสัญญาตัวแทนและบรรยายคำขอบังคับ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยมีหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าพร้อมหนังสือของจำเลยที่รับทราบการสั่งซื้อ สินค้า และยอมรับการเป็นตัวแทนขายสินค้าให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรของโจทก์ในประเทศไทย จำเลยมีหน้าที่แนะนำผู้ซื้อเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องจักรให้ถูกต้องดูแล ให้มีการตรวจสอบเครื่องจักรทุกชิ้นก่อนที่จะใช้เครื่องจักรดังกล่าว และจะต้องรับผิดชอบในการให้บริการหลังการขายตามสัญญา จำเลยจึงเป็นตัวแทนของโจทก์มิใช่นายหน้า จำเลยจะต้องส่งมอบเงินมัดจำให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเมื่อจำเลยไม่ส่งมอบ จึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 811
เมื่อสัญญาตัวแทนมีข้อกำหนดว่า ราคาสินค้าที่ตัวแทนจะเสนอแก่ผู้จะซื้อนั้น จะต้องไม่สูงเกินกว่ารายการราคาสินค้าที่ส่งให้แก่ตัวแทน ดังนั้นการขายสินค้าเกินราคาให้แก่ลูกค้า และไม่ส่งเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นการที่ตัวแทนทำมิชอบด้วยหน้าที่ ตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2536
การ ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการของเจ้าหนี้นำงานพิมพ์ไปให้สหกรณ์กลาโหม จำกัด รับจ้างช่วง โดยไม่ได้จัดทำสัญญาจ้างตามแผนที่กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นตั๋วแลก เงินเต็มจำนวนค่าจ้าง และจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละครั้งเกิน 300,000 บาท เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบว่าด้วยการจ้าง พ.ศ.2504และข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจและะกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวย การพ.ศ.2496 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยปราศจากอำนาจ และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ส่วนนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 มีอำนาจตั้ง ส.เป็นตัวแทนช่วงให้ดำเนินกิจการจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้ง-องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2469 มาตรา 22 และข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจและกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ พ.ศ.2496 ข้อ 7 เมื่อไม่ปรากฏว่า ส.เป็นผู้ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการดังกล่าวแทนเจ้าหนี้ หรือเป็นผู้ไม่สมควรไว้วางใจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ในการที่เจ้าหนี้ต้องคืนเงินที่ ส.เรียกรับเอาไปให้แก่ผู้สมัครงานเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4061/2533
การ แปลความเอกสารหาอาจพิเคราะห์เพียงข้อความตอนใดตอนหนึ่งของเอกสารเท่านั้นไม่ หากต้องพิจารณาเอกสารทั้งฉบับและความมุ่งหมายของผู้ทำเอกสารเป็นสำคัญอีก ด้วย แม้ข้อความตอนแรก ๆ ของหนังสือมอบอำนาจจะกล่าวถึงกิจการที่มอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำใน ประเทศญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่ข้อความตอนต่อ ๆ มาก็มิได้จำกัดว่าจะต้องให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำได้เฉพาะแต่ในประเทศญี่ปุ่น เท่านั้น การที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน สาขาของโจทก์และอ้างถึงการเป็นตัวแทนตามกฎหมายญี่ปุ่น หรือกิจการที่ผู้รับมอบอำนาจจะต้องกระทำในประเทศญี่ปุ่นบางประการ ย่อมไม่ได้หมายความจำกัดเฉพาะกิจการในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
เมื่อหนังสือมอบอำนาจมีข้อความมุ่งหมายจะมอบอำนาจให้ ท.เป็นผู้มีอำนาจทำการตามที่ระบุไว้ในกิจการอันเกี่ยวกับการรับประกันภัย ทั้งสิ้นโดยไม่ได้จำกัดว่าให้กระทำได้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น และยังได้มอบอำนาจให้ ท.มีอำนาจฟ้องคดีและมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงได้ท.จึง มอบอำนาจให้ พ.ซึ่งอยู่ในประเทศไทยฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2531
ย.มอบ อำนาจช่วงให้ส.ฟ้องคดีแทนโจทก์ต่อมาย.ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์โดยมีอำนาจ ดำเนินคดีทางศาลแทนโจทก์และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ หลังจากนั้น ย.และส.ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขใบมอบอำนาจเดิมหรือทำใบมอบอำนาจขึ้นใหม่ ดังนี้แสดงว่า ย.และส.มีเจตนาให้ใช้ใบมอบอำนาจเดิมนั่นเอง ใบมอบอำนาจเดิมระหว่างย.และส.จึงสมบูรณ์ส.มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตั้งแต่ วันที่โจทก์มอบอำนาจให้ ย.ดำเนินคดีดังกล่าว