การประกันชีวิต

มาตรา ๘๘๙ ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา ๘๙๐ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา ๘๙๑ แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐๙ มาใช้บังคับ

มาตรา ๘๙๒ ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา ๘๖๕ ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น

มาตรา ๘๙๓ การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน

แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา ๘๙๔ ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

มาตรา ๘๙๕ เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใดท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(๑) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญาหรือ
(๒) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ ๒ นี้ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

มาตรา ๘๙๖ ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย

มาตรา ๘๙๗ ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2559
ข้อที่โจทก์แก้ฎีกาอ้างมาเป็นเหตุผลบางประการที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาประกอบคำวินิจฉัยให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ฉ้อฉลหลอกลวงในประเด็นว่าจำเลยทั้งสามใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตตามฟ้องหรือไม่ แม้ฎีกาของจำเลยที่ 1 จะไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาวินิจฉัยดังกล่าวโดยตรงก็ตาม แต่เมื่ออ่านฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งฉบับแล้ว ก็เห็นได้ว่าเนื้อหาของฎีกาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องและมีรายละเอียดแสดงเหตุผลว่าที่ถูกควรเป็นเช่นไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)

พฤติการณ์ของโจทก์บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอให้โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 และร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการประกันชีวิตให้โจทก์มาก่อนลงลายมือชื่อเป็นตัวแทนในใบคำขอเอาประกันชีวิตของโจทก์และเอกสารที่เกี่ยวข้องยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฉ้อฉลโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559
โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557
สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423 - 6424/2555
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711 - 11712/2554
เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156

เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย

แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2550
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รถยนต์พิพาทถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนทำให้คนบนรถยนต์พิพาทรวม 4 คนเสียชีวิต โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรวม 4 คน ๆ ละ 50,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตไป โจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 กับพวกได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2548
ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ถึงโจทก์ผู้รับประโยชน์บอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหม มรณกรรม จึงเป็นการผิดสัญญาและถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2546
ตาม กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัย ต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้ เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตายและค่ารักษาพยาบาลผู้บาด เจ็บซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นการ ประกันชีวิตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2544
ธุรกรรมของจำเลยในการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภท สงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่มไทร โดยการจ่ายจำนวนเงินสงเคราะห์ ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ยื่นคำขอ ก็คือการรับประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889

เมื่อ อ. พนักงานของจำเลยได้รับคำขอและเงินฝากงวดแรกจาก ช. อ. ต้องส่งเรื่องไปให้ผู้อำนวยการภาคของจำเลยเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ ภายใน 1 เดือนนับแต่จำเลยได้รับเงินฝากงวดแรกของ ช. คือภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้อำนวยการภาคของจำเลยได้พิจารณาอนุมัติให้ออก กรมธรรม์ให้แก่ ช. ย่อมแสดงชัดว่าจำเลยยอมรับว่า ช. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ ส่วนข้อกำหนดในคำขอเปิดบัญชีฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบร่ม ไทรที่ว่า "ข้าพเจ้ายอมรับว่าธนาคารยังไม่มีข้อผูกพันใด ๆ กับข้าพเจ้าจนกว่าธนาคารจะได้ออกกรมธรรม์การฝากเงินให้แล้ว..." นั้น ย่อมมีความหมายมุ่งเฉพาะกรณีผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ที่จำเลยกำหนดไว้เท่านั้น

จำเลยผูกพันตนในการที่จะต้องพิจารณาอนุมัติตามคำขอหรือไม่ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันรับฝากเงินคือภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนซึ่งขณะนั้น ช. ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้ง ช. ยังได้ส่งเงินฝากงวดที่ 2 ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนก่อนวันครบกำหนดคือวันที่ 3 ถึงสองวันด้วยกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ได้ เพราะกรมธรรม์ออกให้แก่ ช. ล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานจำเลยเพียงฝ่ายเดียว เท่านั้นข้อกำหนดในเรื่องการออกกรมธรรม์ไม่อาจถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนใน เรื่องความเป็นผลแห่งสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2544
ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิต ของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แม้จะเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่ก็มิใช่กรณีที่ผู้ตายเอาประกันชีวิตตนเองจึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญา ว่าประสงค์ที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ตกได้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยโดย ตรง มิใช่เป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้ตาย ดังนั้นโจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อการเสีย ชีวิตของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึง แก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยัง มีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและ จำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมี ลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์ อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงิน ประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540
ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการ เสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของ บุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา889หา ใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการ ประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่าง กรณีการประกันวินาศภัยดังนั้นแม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อ ฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2536
การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895(1) บัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยเนื่องมาจากผู้เอาประกันภัย กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญานั้นก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้ทำสัญญาประกันชีวิตทำอัตวินิบาต กรรมอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อต้องการให้ผู้รับประโยชน์ได้รับเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิต นั้น ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้รับประกันภัย ดังนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา แม้การกระทำจะเกิดผลสำเร็จโดยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตามแต่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำดังกล่าว ผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ผู้รับ ประโยชน์ตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2536
ผู้ เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะ ของตนเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคแรก มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียก เบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะถือว่าการที่ผู้รับประกันภัยไม่ตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก่อนเป็น การละเลยหาได้ไม่ แม้การประกันชีวิตในทุนประกันภัยต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไม่ จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับประกันภัย ไม่ถือเอาเรื่องสุขภาพของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ สัญญาประกันภัยชีวิตที่กระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรก เป็นโมฆียะมีผลให้ผู้รับประกันภัยใช้สิทธิบอกล้างได้ หากผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมใช้บังคับได้ จึงเป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยจะบอกล้างหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิบอกล้างแต่เพียงเฉพาะสัญญารายใดก็หาเป็นการไม่ ชอบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2534
ล. รู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิตล. โดยไม่ทราบการเป็นโรคไตร้ายแรงดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็น โมฆะ ดังนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตาม สัญญาประกันชีวิตได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2532
แม้ สัญญาประกันภัยจะไม่คุ้มครองการทำร้ายหรือฆาตกรรมก็ตามแต่ เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าผู้เอาประกันถึงแก่ความตายเพราะถูก คนร้ายใช้ อาวุธปืนยิง เพราะยังไม่ปรากฏว่าคนที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เอาประกันเป็นใครแล้ว นับว่าการตาย ของผู้เอาประกันเกิดขึ้นโดย อุบัติเหตุ ผู้รับประกันภัยคุ้มครองมรณกรรมเนื่องจากอุบัติเหตุจะปฏิเสธความรับผิดหาได้ ไม่ เมื่อผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันได้ แจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบถึง อุบัติเหตุและได้ ส่งหลักฐานความเสียหายไปให้ผู้รับประกันภัยครบถ้วนแล้ว ผู้รับประกันเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ ผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย ของเงินที่ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับ นับแต่วันผิดนัด ในคดีที่โจทก์ฟ้องและดำเนินคดีอย่างคนอนาถามาโดยตลอดค่าธรรมเนียมในศาลที่ จำเลยจะต้อง ใช้ แทนโจทก์ชั้นศาล ต้อง สั่งให้จำเลยชำระต่อ ศาลในนามของโจทก์ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 158

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2531
ผู้ เอาประกันชีวิตทราบก่อนทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยว่าตนเป็นโรคพิษสุรา เรื้อรังจนตับอักเสบแต่มิได้แจ้งให้จำเลยทราบซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียก เบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิตสัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยมีสิทธิบอกล้างได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันชีวิตตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด ดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2530
ขณะ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำ ณ. เข้าสืบยังอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานประเด็นโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้แถลงหมด พยานทั้งหมดแม้จำเลยจะนำพยานเข้าสืบบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามโจทก์นำ พยานมาสืบเพิ่มในกรณีนี้ จึงรับฟังคำพยานของ ณ. ได้ กรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุที่ ส. เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าในกรณีที่ ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินจำนวนประกันรวมจำนวนเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ผู้รับ ประโยชน์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ส.ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตามแต่เหตุที่ทำให้ส. ถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้าน หลังล้มหงายศีรษะฟาด พื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไข แห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา จำเลยที่ 3 ตัวแทนเชิด เก็บเบี้ยประกันตามที่ได้รับมอบหมายมาให้จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยยังไม่ออกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยโดยผ่านทางจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว กรมธรรม์จึงยังไม่สิ้นผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2530
ขณะ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำ ณ. เข้าสืบยังอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานประเด็นโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้แถลงหมด พยานทั้งหมดแม้จำเลยจะนำพยานเข้าสืบบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามโจทก์นำ พยานมาสืบเพิ่มในกรณีนี้ จึงรับฟังคำพยานของ ณ. ได้ กรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุที่ ส. เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าในกรณีที่ ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินจำนวนประกันรวมจำนวนเงินประกันอุบัติเหตุให้แก่โจทก์ผู้รับ ประโยชน์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ส.ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบก็ตามแต่เหตุที่ทำให้ส. ถึงแก่ความตายเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุถูกสุกรเข้าชนที่ขาด้าน หลังล้มหงายศีรษะฟาด พื้นคอกสุกร กรณีจึงต้องถือว่า ส. ถึงแก่กรรมเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ มิใช่เนื่องจากการป่วยเจ็บอันเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไข แห่งกรมธรรม์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดจ่ายเงินประกันตามสัญญา จำเลยที่ 3 ตัวแทนเชิด เก็บเบี้ยประกันตามที่ได้รับมอบหมายมาให้จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยยังไม่ออกหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยโดยผ่านทางจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว กรมธรรม์จึงยังไม่สิ้นผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2522
จำเลย ขับรถยนต์โดยประมาททำให้คนตาย โจทก์เป็นทายาทฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายเช่าซื้อมาและต้องรับ ผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อได้โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิตผู้ตายแล้ว ไม่ทำให้หมดสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าเสียหายด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2522
โจทก์ มิได้รับการตรวจสุขภาพ มิได้รับการฉายเอ๊กซเรย์และตรวจคลื่นหัวใจและจำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงให้โจทก์เอาประกันชีวิตโดยแจ้งว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพแล้วจัดหา บุคคลอื่นไปรับการตรวจสุขภาพแทน ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์มีสุขภาพดี และรับประกันชีวิตโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยเข้าใจผิดว่าได้ ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว ซึ่งถ้าโจทก์รู้ว่าเป็นการไม่ชอบก็จะไม่ทำสัญญาด้วย

จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนแสวงหาผู้เอาประกันของจำเลยที่ 1ขอให้โจทก์เอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะทำฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะโจทก์บอกล้างโดยชอบแล้วสัญญาดังกล่าว จึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดส่งคืนเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2516
หน้าที่ เปิดเผยข้อความจริงของผู้เอาประกันภัย มิได้สิ้นสุดลงเพียงในชั้นยื่นคำเสนอขอเอาประกันภัยโดยกรอกคำตอบในแบบคำขอ นั้นเท่านั้น แต่ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาในระหว่างนั้นเรื่อยไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัย สนองตอบรับจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วระหว่างคู่กรณี ฉะนั้น ในกรณีประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันภัยจะได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแล้ว โดยเฉพาะในข้อถามที่ 7 ว่า ตนไม่เคยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ โรคตับอักเสบ ฯลฯ ยื่นส่งแก่บริษัทประกันภัยไปแล้วก็ตาม ถ้าภายหลังนั้นผู้เอาประกันภัยเกิดป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรค กระเพาะอาหารและโรคตับแข็งซึ่งเป็นผลให้ข้อความจริงซึ่งได้แถลงไปแล้วแต่แรก นั้นคลาดเคลื่อนไม่ตรงต่อความเป็นจริง และผู้เอาประกันภัยย่อมทราบว่ายังอยู่ในระหว่างเวลาที่บริษัทยังพิจารณาคำขอ และยังมิได้ออกกรมธรรม์ตอบรับมา ทั้งข้อถามต่างๆ ในแบบคำขอนั้น ผู้เอาประกันภัยเองก็ได้ทราบและรับรองไว้ว่าเป็นข้อความจริงอันเป็นมูลฐาน และสารสำคัญแห่งการออกกรมธรรม์ของฝ่ายผู้รับประกันภัยดังนี้ ย่อมมีผลให้สัญญาไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างและคืนแต่ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ทายาทของผู้ เอาประกันภัยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2513
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 894 ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยในเวลาใด ๆ ก็ได้ ด้วยการงดส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปี ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยหรือรับ กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

เมื่อ ผู้เอาประกันภัยงดส่งเบี้ยประกันภัย ก็ต้องถือว่าบอกเลิกสัญญาประกันภัยแล้วนับแต่วันที่งดส่งเบี้ยประกันภัยเป็น ต้นมา หาจำต้องบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ แม้เงื่อนไขแห่งกรมธรรม์จะระบุว่าหากผู้เอาประกันภัยกลับมาต่ออายุสัญญาใหม่ ภายในกำหนดห้าปี เบี้ยประกันภัยที่ชำระไว้แล้วจะไม่ถูกริบ ก็กำหนดไว้ด้วยว่าการต่ออายุสัญญาต้องตรวจสุขภาพผู้เอาประกันภัยตามระเบียบ เมื่อผู้เอาประกันภัยมิได้กลับมาต่ออายุสัญญาจนกระทั่งผู้รับประกันภัยถูก ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิได้รับเพียงเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เท่านั้น

เงื่อนไข แห่งกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้เอาประกันภัยโดยเริ่มเฉลี่ยให้ทุกปี หลังจากเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยไว้ครบสองปีแล้ว ตามเงื่อนไขนี้หมายความว่าผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินปันผลให้เมื่อสัญญา ประกันภัยยังมีอยู่ หากสัญญาประกันภัยเลิกกันแล้วผู้เอาประกันภัยหามีสิทธิได้รับเงินปันผลต่อไป ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2513
การละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ย ประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 จะต้องพิจารณาถึงความสำคัญของข้อความที่ละเว้นไม่เปิดเผยด้วยมิใช่ว่าถ้ามี การปกปิดความจริงแล้วจะทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะไปเสียทั้งหมด

โรคไส้เลื่อนมิใช่เป็นโรคอันตรายร้ายแรง เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายไปได้การที่ผู้เอาประกันมิได้แจ้งเรื่องเคยเป็นโรคนี้ และได้รับการผ่าตัดมาก่อนให้ทราบ ยังไม่ถึงขนาดที่จะอนุมานเอาได้ว่า ถ้าได้แจ้งเช่นนั้นผู้รับประกันภัยจะบอกปัดไม่รับประกันหรือเรียกเบี้ย ประกันให้สูงขึ้น จึงไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2507
การประกันชีวิตซึ่งตามกรมธรรม์ระบุไว้ว่า ถ้าผู้เอาประกันไม่ชำระเบี้ยประกันคราวใดเมื่อถึงกำหนด กรมธรรม์เป็นอันสิ้นอายุ นั้น เมื่อผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันเมื่อพ้นกำหนดเวลาและล่วงพ้นวันผ่อนตามที่ กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว กรมธรรม์เป็นอันสิ้นอายุ ไม่มีผลผูกพันต่อไป บริษัทรับประกันจึงไม่ต้องรับผิด แม้ต่อมาผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายก็ตาม

ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันที่มีเงื่อนไขว่ายังไม่สมบูรณ์มีผลบังคับจนกว่าจะ ได้ปฏิบัติตามระเบียบการต่ออายุกรมธรรม์นั้น จะถือว่าการชำระเบี้ยประกันสมบูรณ์และเป็นการต่ออายุกรมธรรม์ย่อมไม่ได้