ผลก่อนการชำระหนี้(ค้ำประกัน)

มาตรา ๖๘๖ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ

ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง


เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมด หรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้

การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693

มาตรา ๖๘๗ ผู้ค้ำประกันไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดที่จะชำระ แม้ถึงว่าลูกหนี้จะไม่อาจถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสุดสิ้นได้ต่อไปแล้ว

มาตรา ๖๘๘ เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต

มาตรา ๖๘๙ ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

มาตรา ๖๙๐ ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา ๖๙๑ ในกรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วก็ดี ลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดดังกล่าวไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือนั้นแล้วก็ดี ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ลดดังกล่าวแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดดังกล่าวแล้วหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้น


ข้อตกลงใดที่มีผลเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันให้มากกว่าที่บัญญัติในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นให้เป็นโมฆะ

มาตรา ๖๙๒ อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2550
ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งสมัครเข้าทำงานในบริษัทโจทก์ตามใบสมัครงาน ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 และข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยครบถ้วน หากในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์ ถ้าได้กระทำการผิดกฎหมายหรือได้กระทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์หรือ เป็นหนี้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ขอสละสิทธิของผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ตามกฎหมายในการที่จะขอให้โจทก์เรียกร้อง เอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ก่อน จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในใบสมัคร งาน ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งเมื่อพิจารณาใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ระบุว่าจำเลยที่ 1 สมัครงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล ดังนั้น ความรับผิดที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้าง แรงงานต่อโจทก์ในขณะทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่จำเลยที่ 2 ระบุในสัญญาค้ำประกันข้อ 1 ดังกล่าว แม้ว่าตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมและตกลงด้วยว่าหากโจทก์โยกย้าย แต่งตั้ง สับเปลี่ยน หรือถอดถอนจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัทในเครือหรือสำนักงานสาขาแห่งใดให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันนี้ มีผลบังคับได้เช่นเดิมตลอดไป ก็มีความหมายเพียงว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตาม ที่ค้ำประกันไว้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าปี 2526 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ย้ายจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกบุคคลไปทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจำหน่ายรถยนต์ซึ่งรวมถึงการรับจ่ายเงินค่าสินค้าและ อื่นๆ อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 มากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติการจำหน่ายรถยนต์โดยผิดระเบียบและฝ่าฝืนวิธีการจำหน่าย แล้วทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ในขณะทำหน้าที่พนักงานขายตำแหน่งผู้ จัดการแผนกขาย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อ โจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830 - 3831/2550
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของ เจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อ ชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา

หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าแล้วจำเลยได้ยึดรถยนต์ คันที่เช่าซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนหลังเวลาล่วงเลยมา ถึง 5 เดือน ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่การเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่าย หนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่า ขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ ระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจาก โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17/2550
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ส. โดยยอมร่วมรับผิดกับ ส. จำเลยที่ 4 ในฐานะสามีของจำเลยที่ 3 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ส. ลูกจ้างโจทก์ได้ยักยอกเงินของโจทก์ และทำหนังสือรับสภาพหนี้กำหนดว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์งวดแรกในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ดังนี้ ความรับผิดของ ส. เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 กำหนดเวลานี้เริ่มนับแต่วันเกิดเหตุทุจริตยักยอกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 แต่เมื่อ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์ งวดแรก 200,000 บาท ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 การรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และอายุความที่สะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 กรณีหาใช่การรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ไม่ เมื่อต่อมาปรากฏว่า ส. ไม่ชำระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 เมษายน 2537 เมื่อนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับอายุความใหม่ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10306/2550
ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากร จำเลยที่ 3 ให้สัญญาไว้กับกรมสรรพากรโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8215/2549
สัญญาค้ำประกันระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษี เมื่อโจทก์แจ้งจำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระก่อน และสละสิทธี่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2550
การที่จะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็น ธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่งหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือ ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบบริโภค หรือคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับ ภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อสัญญาค้ำประกันกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตราดังกล่าว จึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงมิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของ สัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แม้อุทธรณ์ข้อนี้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรง งานกลาง แต่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสองประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3932/2549
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้น การบรรยายฟ้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และต้องบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย ที่ 2 อย่างไรตามมาตรา 55 ทั้งต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ 1 เป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับคำฟ้องเดิมได้ และการที่สัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้สิทธิดังที่กล่าวไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 688, 689 และ 690 ได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 เกิดสิทธิที่จะฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7982/2547
โจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพนี้มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินจากลูกค้าแล้วไม่นำเงินส่งแก่โจทก์และขอชำระเงินดังกล่าวในวันทำสัญญาบางส่วน ส่วนที่เหลือจะชำระในวันรุ่งขึ้นจำนวนหนึ่งและจะผ่อนชำระอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้ หนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงชำระให้แก่โจทก์คือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ผูกพันต่อโจทก์อยู่แล้ว มิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันใหม่อันมีผลให้หนี้เดิมของจำเลยที่ 1 ระงับไป การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 ระงับไป การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่ได้เปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด
ความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่ต้นปี 2541 เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และการที่อายุความสะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5242/2547
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบและโจทก์บังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 แล้วไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จึงหาจำต้องระบุว่าหากบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 อีกด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2547
สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเงินเบิกเกินบัญชี แม้ไม่ระบุวงเงินค้ำประกันโดยตรงแต่ความในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่า เนื่องในการที่โจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาลงวันที่ 21 มกราคม 2528 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ตามสัญญาลงวันที่ 3 มีนาคม 2532 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และตามสัญญาลงวันที่ 27 มิถุนายน 2533 เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่าผู้ค้ำประกันมีเจตนาเข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะต้นเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น ส่วนที่ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงโดยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญานั้น หมายถึงผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยสละสิทธิให้โจทก์เรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 หรือทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 691 เท่านั้น มิใช่เป็นข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ดังนั้น ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีย่อมมีผลให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท กับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น ส่วนสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นเพียงการที่จำเลยที่ 3 ให้หลักประกันเพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้หลักประกันใหม่โดยไม่จำกัดจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2547
ศาลแรงงานกลางมิได้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ถ้าลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้แต่นั้นประกอบกับมาตรา 691 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเบียดบังยักยอกสินค้าของโจทก์ และเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4356/2545
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้ แม้จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็มิได้ทำให้กลายเป็นลูกหนี้ร่วมเต็มตัวอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แต่เป็นการยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 691 ซึ่งคงเสียสิทธิเพียงไม่อาจยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 688,689 และ 690ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ นอกนั้นมิได้เสียสิทธิของผู้ค้ำประกันตามบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้ และตามสัญญาค้ำประกันจะได้ระบุให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ให้แก่ผู้ให้กู้ทั้งสิ้นในเมื่อผู้กู้ไม่ชำระหนี้หรือผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม แต่ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้รวมไปถึงเรื่องการสละสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน จึงมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2544
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แม้จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้ขอให้ออกคำบังคับแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ก็ตาม แต่ในการทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก จำเลยที่ 2 ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689 ได้ แม้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้วไม่มีการขาย และหากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ไม่พอชำระหนี้ โจทก์จะต้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่มีเหตุที่จะมีคำสั่งเพียงให้งดการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6895/2543
จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินค้ำประกัน หมายความว่าแม้จำเลยที่ 1 จะมีหนี้อยู่มากกว่านี้ จำเลยที่ 2 คงต้องรับผิดเพียงวงเงินที่ค้ำประกันไว้เท่านั้นเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่มากกว่าวงเงินที่ค้ำประกัน จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความระบุว่าถ้าจำเลยที่ 1 ชำระเงินเท่าใดจะให้จำเลยที่ 2 รับภาระหนี้ที่ค้ำประกันอยู่ลดลงตามจำนวนหนี้ที่ชำระมาแล้ว จำเลยที่ 2 จะนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์เคยมีข้อตกลงดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136 - 8139/2542
ป.พ.พ. มาตรา 686 บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อบริษัทนายจ้างผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามมาตรา 686 ได้ แม้มาตรา 688 และมาตรา 689 จะให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ให้โจทก์ทั้งสี่ไปเรียกร้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ก่อนที่จะเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกัน ก็มิได้หมายความว่า ถ้าโจทก์ทั้งสี่ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากบริษัทนายจ้างลูกหนี้แล้ว โจทก์ทั้งสี่จะไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลย ประกอบกับหากจำเลยประสงค์จะให้บริษัทนายจ้างลูกหนี้ชั้นต้นรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ชอบที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกบริษัทนายจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ จำเลยจึงหามีสิทธิยกมาตรา 688 และมาตรา 689 ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2539
ผู้ร้องนำที่ดินมาวางเป็นประกันต่อศาลเพื่อให้จำเลยได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีระหว่างฎีกาโดยผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลว่าถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนหนี้เท่าใดผู้ร้องยอมให้บังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ที่ผู้ร้องได้นำมาวางไว้เป็นประกันทันทีเป็นการทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลด้วยการนำที่ดินมาวางเป็นประกันต่อศาลทั้งนี้เพื่อให้ศาลทุเลาการบังคับคดีในระหว่างฎีกาเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ศาลย่อมออกคำบังคับให้ผู้ร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องผู้ร้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา274ไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ3ลักษณะ11เรื่องค้ำประกันดังนั้นจึงไม่อาจนำมาตรา689และ690แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นต้องตามเงื่อนไขที่ผู้ร้องให้สัญญาต่อศาลว่าผู้ร้องยอมให้บังคับคดีเอาจากที่ดินที่ผู้ร้องวางเป็นประกันไว้ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1640/2530
แม้สัญญาระบุชื่อว่าสัญญาค้ำประกัน แต่ข้อความในสัญญามีว่าจำเลยที่ 3 จ้างโจทก์ประกันตัวจำเลยที่ 1 ไปจากศาลแล้วจำเลยที่ 3 จะปฏิบัติตามนัดทุกครั้ง โดยการมอบตัวจำเลยที่ 1 ณ สถานที่ส่งตัว ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 1 ได้เพราะจำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นเหตุให้โจทก์ถูกปรับเป็นเงินมากน้อยเท่าใด จำเลยที่ 3 ยอมชดใช้เงินแทนโจทก์ทั้งสิ้น ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนธรรมดาที่ใช้บังคับกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ชำระหนี้คือส่งตัวจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยตรง หาใช่เป็นการผูกพันตนเข้าชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้อันเป็นการค้ำประกันไม่ ฉะนั้นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3ว่าไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689,700ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกันจะนำมาใช้กับคดีนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9156/2538
จำเลยที่2และที่3ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องโดยมี ก. ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่2ที่3และก. ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่2ที่3และก.ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วยกรณีนี้จำเลยที่2ที่3และก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ที่จำนองได้ร่วมกันเอาทรัพย์สินจำนองไว้แก่ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่2และที่3โดยจำเลยที่2และที่3เป็นลูกหนี้ชั้นต้นส่วนก. เป็นเพียงลูกหนี้ชั้นที่สองตามสัญญาค้ำประกันและจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา724มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ก. ซึ่งเป็นผู้จำนองได้และแม้ว่าก. จะทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่2และที่3อย่างลูกหนี้ร่วมก็มีความหมายเพียงว่าก. ยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่2และที่3หาได้หมายความว่าก. จะมีฐานะกลายเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่2และที่3ไปด้วยไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา693หาได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่2และที่3ที่จะไล่เบี้ยเอาจากก. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ก. และจำเลยที่2และที่3ต่างไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกันอันจะทำให้มีการหักกลบลบหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341ดังนั้นเมื่อผู้คัดค้านได้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของจำเลยที่2และที่3ในคดีนี้ชำระหนี้จำนวน9,429,863บาทให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้วผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน3,143,287.66บาทไปขอหักกลบลบหนี้กับเงินส่วนของก.ที่จะได้รับจากการขายทอดตลาดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2513
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 ที่ให้สิทธิผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้เรียกร้องเอาชำระหนี้จากลูกหนี้ก่อนได้นั้น มิได้หมายความว่าถ้าเจ้าหนี้ไม่เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนแล้วจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด เพราะเจ้าหนี้มีสิทธิจะเรียกร้องหรือฟ้องผู้ค้ำประกันฝ่ายเดียวให้รับผิดเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686ฉะนั้น ถึงแม้จำเลยผู้ค้ำประกันจะได้ขอให้โจทก์เรียกร้องเอาชำระหนี้จากลูกหนี้ก่อนแล้ว โจทก์ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ปล่อยเวลาให้ล่วงมาถึง 6 ปีจึงฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลย จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลยไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ก่อนนั้นผู้ค้ำประกันต้องพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีทางชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 689 เมื่อจำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ จำเลยก็ไม่อาจอ้างประโยชน์ตามมาตรา 689 นี้ได้
ทรัพย์ที่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันจะต้องเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เมื่อไม่ใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ จำเลยผู้ค้ำประกันจึงไม่มีสิทธิตามมาตรา 690ที่จะยกขึ้นใช้ยันโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1536/2511
การบังคับคดีต้องอาศัยคำพิพากษาเป็นหลัก เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ด้วยทรัพย์ที่จำนองไว้กับโจทก์ และโจทก์ก็ได้ฟ้องบังคับจำนองกับจำเลยที่ 2 ด้วย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 ไถ่จำนองเต็มจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระ และหากบังคับจำนองขายทรัพย์ที่จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ก็ให้โจทก์ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 ขายใช้หนี้ได้จนครบ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงต้องไถ่จำนองเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อปัดป้องมิให้ตนต้องถูกบังคับจำนอง และเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ หรือไม่ไถ่จำนอง ก็ต้องถูกบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์ที่จำนองเพื่อขายทอดตลาดได้ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688,689,690 ว่าด้วยค้ำประกันมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนหาได้ไม่ มิฉะนั้นแล้วบทบัญญัติในลักษณะจำนองดังกล่าวแล้วก็จะไร้ผลและผิดหลักการจำนองเป็นประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ