การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขาย

มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อ ได้ทำสัญญาซื้อขาย

มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ทรัพย์สินยังไม่โอนไป จนกว่า การจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือ ถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น

มาตรา 460 ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่ง มิได้ กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไป จนกว่าจะได้ หมาย หรือ นับ ชั่ง ตวง วัด หรือ คัดเลือก หรือ ทำโดยวิธีอื่น เพื่อให้บ่งตัว ทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว
ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้อง นับ ชั่ง ตวง วัด หรือ ทำการอย่างอื่น หรือ ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเกี่ยวแก่ ทรัพย์สินเพื่อให้รู้ กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่า การ หรือ สิ่งนั้น ได้ทำแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2562
จำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าทำสัญญากับโจทก์ผู้ให้เช่าเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัท ส. ผู้เช่า และตกลงว่า ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้รับซื้อสินค้าตกลงผูกพันตนร่วมกันกับผู้เช่า เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้เช่าโดยซื้อทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าในราคาตามที่ระบุไว้ รวมด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและบรรดาหนี้เงินที่ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่า โดยให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้รับซื้อสินค้า เมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับโอน การเก็บรักษาทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจากความครอบครองของผู้เช่า และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมาอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้รับซื้อสินค้า หรือของบุคคลอื่นตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด แล้วแต่กรณีตลอดจนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวในบรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับซื้อสินค้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อสินค้าเมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถขุดตีนตะขาบที่เช่าตามสัญญารับซื้อสินค้าพร้อมค่าปรับ หากจำเลยทั้งสองชำระราคารถให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์และเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการยึดรถจากความครอบครองของบริษัท ส. หรือการเคลื่อนย้ายรถมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญารับซื้อสินค้า สัญญารับซื้อสินค้าไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าเอง ซึ่งมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้วโดยมิได้เลือกใช้สิทธิที่จะนำรถไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระราคาและติดตามรถเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562
การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสองบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 มีสิทธิที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทก่อน อันเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป ผลของคำพิพากษาคดีนี้อาจมีผลกระทบสิทธิในการบังคับคดีของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และมีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้

ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนมีประเด็นว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เพียงใด ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกัน คู่ความทั้งสองคดีก็ไม่ใช่รายเดียวกัน โดยโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่รวม 44 ไร่เศษ โจทก์ได้รับโอนที่ดิน เนื้อที่ 12 ไร่ แล้ว คงเหลือที่ดินอีก 32 ไร่เศษ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยบันทึกดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินส่วนที่เหลือ 32 ไร่เศษ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงว่าเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 5.1 (ไม่น้อยกว่า 90 วัน) ข้อ 2.3 ระบุว่า หากคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายชนะคดี อันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินค่ามัดจำตามสัญญาและตามบันทึกฉบับนี้คืน โดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้พิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงถือว่าผู้ร้องสอดชนะคดี แม้ที่ดินจะเหลือเพียง 32 ไร่เศษ ก็มิใช่กรณีที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมด ถือได้ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เมื่อที่ดินส่วนที่ยังเหลือ 32 ไร่เศษ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เหลือดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2562
บริษัท ส. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด มีหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกันออกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนตามมาตรา 4 และมาตรา 18 นับแต่วันที่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อปี 2535 จนถึงวันที่บริษัท ส. โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้บุคคลอื่น หากไม่แปลความดังว่า บริษัท ส. สามารถใช้ประโยชน์จากห้องชุดที่บริษัทถือกรรมสิทธิ์อยู่โดยไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าส่วนกลาง ทั้ง ๆ ที่บริษัทก็ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ส่วนกลางเช่นเดียวกับเจ้าของร่วมอื่น ๆ จึงไม่เป็นธรรมแก่เจ้าของร่วมอื่นในอาคารชุด ส. การแก้ไข พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ในปี 2551 เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นในส่วนที่เจ้าของโครงการหรือผู้จัดสรรถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไว้ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเช่นเดียวกัน มิได้บัญญัติเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบหรือเพิ่งจะถือว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารตามมาตรา 6 เป็นเจ้าของร่วมแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2562
คดีที่ อ. ฟ้องนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีกับพวกต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร เลขที่ 424/2555 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2555 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย ย่อมไม่มีผลเป็นการทั่วไปและไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีปกครองดังกล่าว

วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัท ป. โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้าน พ. ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัท ป. แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัท ป. แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วยรั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อบริษัท ป. ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพงและรั้วกำแพงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการมีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือกำแพงรั้วพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2562
การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนและจำเลยทั้งสองยังมิได้มีการส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง โดยมีข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันหลังพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จึงไม่ตกเป็นโมฆะและสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินมัดจำค่าที่ดินที่รับไปจากโจทก์ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562
ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2561
ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าพึ่งโอนกันได้ เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นเอง จะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" และในวรรคสอง บัญญัติว่า "ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาเช่นว่านี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต" เมื่อตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยื่นซองเสนอราคาทรัพย์สินพร้อมขายของบริษัท บ. ข้อ 5.3 ได้ระบุไว้ว่า บริษัท บ. จะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะซื้อขายให้กับผู้ชนะการเสนอราคาในนามของผู้ชนะการเสนอราคา (ผู้จะซื้อ) เท่านั้น และในข้อ 6.3 ยังระบุไว้ด้วยว่า ผู้เสนอราคาจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง และจำเลยที่ 1 ได้ลงนามรับทราบหลักเกณฑ์ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ บริษัท บ. ได้มีการแสดงเจตนาไว้ในเอกสารดังกล่าว จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้มีชื่อในการชนะประมูลซื้อทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ปฏิเสธ คงอ้างแต่เพียงว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะยกข้อต่อสู้เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต

การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังค้างชำระเงินบริษัท บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยวิญญูชนทั่วไปถ้ายังไม่ได้รับชำระเงินครบถ้วนและยังค้างชำระเงินค่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จะไม่มีผู้ใดส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 แจ้งให้บริษัท บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 บริษัท บ. ไม่ตกลงด้วยเพราะขัดกับข้อตกลง จึงฟังได้ว่าบริษัท บ. ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 10 โฉนดกับบริษัท บ. จึงกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโอนสิทธิเรียกร้องให้กับจำเลยที่ 2 และแจ้งการโอนไปยังบริษัท บ. แล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2561
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด..." ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อโดยยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวในอันที่จะใช้สิทธิร้องขอคืนได้ แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวมา ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 กลับเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านขึ้นมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2558 

เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12203/2555 
การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ การที่โจทก์ร่วมตกลงกับจำเลยนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ว่าจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่จำเลยจนกว่าเช็คทั้งสี่ฉบับจะเรียกเก็บเงินได้นั้น แสดงว่าโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงให้ถือการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ สัญญาซื้อขายรถยนต์ย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ โจทก์ร่วมมีสิทธิติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่ามีข้อตกลงนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับยังไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2554 
โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 21 แปลง ให้แก่ ป. เมื่อปี 2532 กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกไปเป็นของ ป. ผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 453 และมาตรา 456 แม้ ป. ผู้ซื้อยังไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์ผู้ขาย แต่การชำระราคามิใช่เงื่อนไขแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การชำระราคาอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเวลาโอนกรรมสิทธิ์ก็ย่อมทำได้ตามแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ป. จึงมีผลสมบูรณ์เสร็จเด็ดขาด และที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. มิใช่เป็นที่ดินของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553 
โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
(ประชมใหญ่ครั้งที่ 9/2553) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2551
โจทก์ซื้อรถพิพาทไปจากจำเลย ชำระราคาบางส่วนและรับมอบรถพิพาทไปครอบครองใช้ประโยชน์แล้ว มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระราคาบางส่วนที่เหลือให้หมดภายในกำหนด 2 ปี จำเลยจึงจะโอนทะเบียนรถพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยไม่ครบภายในกำหนด 2 ปี จำเลยก็จะไม่โอนทะเบียนรถให้เป็นชื่อโจทก์ เป็นการเอาเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นการหน่วงนิติกรรมการซื้อขายไว้มิให้เป็น ผลจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้จำเลยครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ในรถ พิพาทจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์ทันทีที่ตกลงซื้อขายรถพิพาทกัน ข้อตกลงซื้อขายรถพิพาทไม่ใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2551
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่ เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 เมื่อจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อม อุปกรณ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยผู้ ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2551
ขณะที่ผู้ร้องและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางกันจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถ ยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องยังค้างชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในวันที่ได้รับชำระราคาส่วนที่ เหลือ จึงเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ร้องจะได้ชำระราคาและโอน ทะเบียนกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่แท้จริง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2551
การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์และจำเลยมีใบส่งสินค้าซึ่งมีข้อความว่า สินค้าตามรายการข้างต้น แม้จะได้ส่งมอบต่อผู้ซื้อแล้ว ก็ยังเป็นทรัพย์สินของผู้ขายอยู่จนกว่าผู้ซื้อได้ชำระเงินเสร็จเรียบร้อย แล้ว แม้ใบส่งสินค้าจะไม่ปรากฏลายมือชื่อของผู้รับสินค้าและผู้ส่งของ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาภาพถ่ายตรงกับเอกสารท้ายฟ้องซึ่งโจทก์ได้กล่าวใน คำฟ้องและนำสืบถึงข้อความในเอกสารดังกล่าวไว้ชัดแจ้งแล้วสำหรับต้นฉบับสูญ หาย โดยจำเลยให้การรับว่า ได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวจริง และไม่ได้ให้การปฏิเสธกับนำสืบโต้แย้งว่าไม่รู้เห็นด้วยกับข้อความในเอกสาร ดังกล่าว จึงฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อ ขายยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 ดังนี้ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระราคาสินค้า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจึงยังอยู่กับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550
ตามสัญญาขายห้องชุดระหว่างผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อระบุข้อความว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ หมายเลข 538 - 540, 547 - 549 ของอาคารจอดรถจำนวน 5 คัน ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,014,333 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดพร้อมที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336

ที่จอดรถยนต์ในอาคารชุดโดยสภาพย่อมถือเป็นทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 แต่เมื่อสัญญาขายห้องชุดที่โจทก์ซื้อกรรมสิทธิ์มาระบุว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ ที่จอดรถยนต์ตามที่ระบุไว้ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์พร้อมห้องชุดและไม่ ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนกลาง" ของอาคารชุดอีกต่อไป แต่ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนบุคคล" ของโจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่อาจออกระเบียบหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่จอดรถยนต์ดังกล่าวในภายหลังให้เป็นที่เสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเกินกว่า 6 เดือน จำเลยก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก เมื่อจำเลยออกระเบียบห้ามมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้ามาจอดในที่จอดรถยนต์ตาม สัญญาขาย กระทั่งโจทก์ต้องนำรถยนต์ไปจอดในสถานที่อื่น จนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อันถือเป็นการขัดขวางสิทธิใช้สอยทรัพย์สินตามสัญญาขายห้องชุดของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 บัญญัติว่านิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การที่จำเลยออกระเบียบกำหนดให้รถยนต์ที่จะเข้ามาจอดในอาคารจอดรถยนต์ของ จำเลยจะต้องได้รับสติกเกอร์จากจำเลยเพื่อติดรถยนต์ก่อนอันเป็นการจัดการและ ดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน จำเลยย่อมสามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการขอรับสติกเกอร์ จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ ข้อ 1 แต่การที่จำเลยกำหนดในข้อ 2 ว่าเจ้าของร่วมผู้มีสิทธิในการขอรับสติกเกอร์ตามข้อ 1 จะต้องไม่ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเรื่องการค้างชำระค่าส่วนกลางถือเป็นหนี้ที่จะต้องมีการฟ้องร้องบังคับ คดีตามกฎหมาย การออกระเบียบเช่นนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูก ต้อง มีเจตนาที่จะบีบบังคับเอากับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยกำหนดจึง ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2550
สิทธิตามสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติต่างลักษณะกัน เมื่อเข้าลักษณะใดต้องใช้ลักษณะนั้นบังคับ จะยกเอาบทบัญญัติในเรื่องกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขายมาเป็นข้อวินิจฉัยสิทธิของผู้ขายอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยไม่ได้ ในเรื่องสิทธิของผู้เอาประกันภัยอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยจะมีเพียงใดก็ต้องเป็นไปตามสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 (ผู้ขาย) และจำเลย (ผู้รับประกันภัย) ได้ตกลงประกันภัยทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งสินค้าจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นสุดลงเมื่อโจทก์ที่ 1 มอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งตามเงื่อนไขการซื้อขายแบบเอฟ. โอ. บี. แต่การคุ้มครองจะมีตลอดเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2549
 สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกแก่ผู้ซื้อต่อเมื่อชำระราคาเป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดไว้ครบถ้วนแล้วจึงถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ซึ่งกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อ จนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วน ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์ในภายหน้ากันนั้น ผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อปฏิบัติการเป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว ผู้ขายจึงไม่จำต้องมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอยู่ในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้ การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาให้แก่โจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2543
สัญญามีข้อความระบุว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไข โดยตกลงในข้อ 1 ว่า ผู้จะขายตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 1,235,680 บาท ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้จะขายแล้ว 70,000 บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่อีก 1,165,680 บาทผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดทุก ๆ เดือน งวดละ48,570 บาท ณ สำนักงานของผู้จะขายให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 24 เดือนและข้อ 5 ระบุว่าสัญญาซื้อขายนี้ตามข้อความแห่งสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้จะซื้อต่อเมื่อผู้จะซื้อปฏิบัติตามข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดแล้ว และผู้จะขายมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินได้เมื่อผู้จะซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ส่วนสัญญาข้อ 9 ที่ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่งงวดใด ฯลฯ ผู้จะซื้อยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าวและมีสิทธิเอารถยนต์ที่จะซื้อคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระแล้วนั้น เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจของคู่สัญญาและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายมิให้เสียหายเกินกว่าความจำเป็นเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาเท่านั้น หาทำให้สัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขกลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2543
ผู้ร้องทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ขายตามสัญญาซื้อขายรถแบบเงินผ่อน โดยในสัญญาได้กำหนดให้ผู้ร้องชำระราคารถจักรยานยนต์ของกลางบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือผ่อนชำระรวม 24 งวด เมื่อชำระราคารถจักรยานยนต์ครบแล้วผู้ขายจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ผู้ร้องยังมิได้ชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางจึงยังอยู่ที่ผู้ขายแม้ว่าต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ต่อเมื่อคำพิพากษาทีให้ริบของกลางดังกล่าวเป็นที่สุด แต่ระหว่างที่คำพิพากษาที่ให้ริบของกลางดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุดเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางยังคงมีอำนาจที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์ของตนได้ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าว โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นจะเป็นที่สุดก็ต่อเมื่อระยะเวลาในการอุทธรณ์ฎีกาได้สิ้นสุดลงดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ดังนั้น ก่อนหน้าที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจะเป็นที่สุด ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางยังสามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้ เมื่อผู้ร้องได้ชำระราคางวดสุดท้ายก่อนวันที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางจะเป็นที่สุด ผู้ขายจึงสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง และถือได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงอันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ เมื่อผู้ร้องและผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของรถจักรยานยนต์ของกลางขณะที่ถูกนำไปใช้กระทำความผิดมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงสมควรคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2536
สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทมีเงื่อนไขระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อ จนกว่าจะชำระราคาครบถ้วนตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายย่อมใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 และในสัญญาซื้อขายระบุว่าหากผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาตามงวด ผู้ขายมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทและย่อมมีสิทธิขายทอดตลาดได้ด้วยและเมื่อขายแล้วได้เงินไม่พอ ผู้ซื้อยอมชดใช้เงินจำนวนที่ขาดอยู่ เมื่อผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาและผู้ขายดำเนินการเอารถยนต์พิพาทออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 470 และ 471แล้ว ยังขาดเงินอีก 55,260 บาท ผู้ซื้อและผู้ค้ำประกันต้องรับผิด เพราะถือว่าเป็นเงินราคารถยนต์พิพาทที่ขาดอยู่ และเงินจำนวนดังกล่าวนี้ไม่มีข้อใดในสัญญากำหนดให้ถือเป็นค่าเสียหายจึงมิใช่เบี้ยปรับ สัญญาซื้อขายข้อ 6 วรรคสองระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดต่าง ๆ ตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา หรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ใด ๆ ในสัญญานี้ ผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เงินจำนวน 55,260 บาท ซึ่งเป็นเงินราคารถยนต์พิพาทที่ขาดอยู่ก็คือเงินงวดต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระให้โจทก์ตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาผู้ขายจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากผู้ซื้อได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2535
 สัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 459 เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและโจทก์ผู้ขายให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใด ยอมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีดังนี้จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงไว้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลง และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าก่อนถึงกำหนดชำระราคางวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่ตามสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน เพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114(เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2551
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 เมื่อจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2551
ขณะที่ผู้ร้องและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางกันจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องยังค้างชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในวันที่ได้รับชำระราคาส่วนที่เหลือ จึงเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ร้องจะได้ชำระราคาและโอนทะเบียนกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่แท้จริง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2548
 จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า คำฟ้องโจทก์ซึ่งกล่าวถึงสภาพข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาโอนสิทธิเช่าซื้อ แต่คำขอบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์สิ่งใดทำให้ไม่อาจสู้คดีได้ถูกต้อง คำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้บรรยายให้เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ส่วนใดเคลือบคลุมหรือไม่ชัดแจ้งอย่างไร หรือเนื้อหาในคำฟ้องขัดแย้งกันอย่างไร ซึ่งอ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้ ถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยจำเลยผู้ขายยอมให้โจทก์ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาและมีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อโจทก์ผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงราคากันตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป แม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่หากได้มีการวางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วคู่กรณีก็ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อจำเลยตกลงขายรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในราคา 200,000 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระแล้วเป็นเงิน 95,000 จึงถือว่าโจทก์ได้วางประจำและชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้
โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย ย่อมทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อโจทก์ได้มอบรถยนต์พิพาทคืนแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับมาแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7160/2545
ผู้ร้องเป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินและกิจการสถานีบริการน้ำมันจากจำเลย ได้ชำระราคาบางส่วนและได้เข้าครอบครองทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อขายแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้จะซื้อมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่ผู้ร้องโดยผู้ร้องต้องชำระราคาที่เหลือ การเข้าครอบครองก่อนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลยซึ่งถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการเพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับซึ่งออกตามคำพิพากษาได้ หาใช่เป็นการบังคับคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2543
แม้ว่าการซื้อขายเครื่องชั่งพิพาทระหว่าง ข. กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่า ถ้า ข. ผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินให้แก่จำเลยผู้ขายได้ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ยินยอมให้จำเลยไปรับเอาเครื่องชั่งพิพาทคืนไปได้ทันทีโดยไม่จำกัดว่าเครื่องชั่งพิพาทจะอยู่สถานที่ใดก็ตาม แต่การซื้อขายเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่ระบุตัวทรัพย์และราคา แน่นอนแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงในการซื้อขายว่า หากผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบถ้วนทรัพย์สินที่ขายยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายอยู่จนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วนแต่อย่างใด จึงมิใช่สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข แต่เป็นสัญญา ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้ ข. จะยังไม่ชำระราคาให้แก่จำเลย กรรมสิทธิ์ในเครื่องชั่งพิพาทก็ย่อมโอนไปยัง ข. แล้วตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนเครื่องชั่งพิพาทมาจาก ข. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องชั่งพิพาทโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ทราบว่า ข. ซื้อเครื่องชั่งพิพาทมาจากจำเลยและยังไม่ได้ชำระราคาหรือไม่ เครื่องชั่งพิพาทจึงมิใช่เป็นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7531/2543
 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายซื้อขายมาใช้บังคับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทโดยยังไม่ส่งมอบเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนแก่จำเลยที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ให้จนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระราคาครบถ้วน เมื่อจำเลยที่ 2ชำระราคายังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2543 
สัญญามีข้อความระบุว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไข โดยตกลงในข้อ 1 ว่า ผู้จะขายตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 1,235,680 บาท ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้จะขายแล้ว 70,000 บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่อีก 1,165,680 บาทผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดทุก ๆ เดือน งวดละ48,570 บาท ณ สำนักงานของผู้จะขายให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 24 เดือนและข้อ 5 ระบุว่าสัญญาซื้อขายนี้ตามข้อความแห่งสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้จะซื้อต่อเมื่อผู้จะซื้อปฏิบัติตามข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดแล้ว และผู้จะขายมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินได้เมื่อผู้จะซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ส่วนสัญญาข้อ 9 ที่ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่งงวดใด ฯลฯ ผู้จะซื้อยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าวและมีสิทธิเอารถยนต์ที่จะซื้อคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระแล้วนั้น เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจของคู่สัญญาและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายมิให้เสียหายเกินกว่าความจำเป็นเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาเท่านั้น หาทำให้สัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขกลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2540
 สิทธิเช่าซื้อเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด หาใช่เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขบังคับหลังไม่เพราะโจทก์ผู้ซื้อกับจำเลยผู้ขายได้ตกลงชื้อและตกลงขายในสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเป็นที่ยุติเสร็จสิ้นแล้ว โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อได้ส่งมอบสิทธิแห่งสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อและโจทก์ผู้ซื้อก็ได้ชำระค่าสิทธิตามสัญญาให้แก่จำเลยผู้ขายแล้ว และภายหลังจากทำสัญญาซื้อขาย จำเลยผู้ขายได้ส่งมอบรถยนต์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ผู้ซื้อสิทธิได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตามสิทธิแห่งสัญญาเช่าซื้อแล้ว
การใดจะเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 406 ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นได้ทรัพย์เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย แต่คดีนี้ขณะทำสัญญาซื้อขายจำเลยมีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยขายสิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ เงินที่ได้จากการขายสิทธิอันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมิใช่เรื่องลาภมิควรได้จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ส่วนการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่างวดที่เช่าซื้อต่อบริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนเป็นเหตุจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อเสียหายต้องติดตามยึดรถคืนเพื่อส่งมอบให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเกิดแต่ความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ไม่ถือว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าซื้อต่อกันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถคันพิพาทคืนจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6351/2537
สัญญาซื้อขายรถแทรกเตอร์ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังเป็นของผู้ขายจนกว่าผู้ซื้อจะชำระเงินให้ผู้ขายจนครบถ้วนแล้ว ดังนี้กรรมสิทธิ์ในรถแทรกเตอร์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2536
สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทมีเงื่อนไขระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อ จนกว่าจะชำระราคาครบถ้วนตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายย่อมใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 และในสัญญาซื้อขายระบุว่าหากผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาตามงวด ผู้ขายมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทและย่อมมีสิทธิขายทอดตลาดได้ด้วยและเมื่อขายแล้วได้เงินไม่พอ ผู้ซื้อยอมชดใช้เงินจำนวนที่ขาดอยู่ เมื่อผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาและผู้ขายดำเนินการเอารถยนต์พิพาทออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 470 และ 471แล้ว ยังขาดเงินอีก 55,260 บาท ผู้ซื้อและผู้ค้ำประกันต้องรับผิด เพราะถือว่าเป็นเงินราคารถยนต์พิพาทที่ขาดอยู่ และเงินจำนวนดังกล่าวนี้ไม่มีข้อใดในสัญญากำหนดให้ถือเป็นค่าเสียหายจึงมิใช่เบี้ยปรับ สัญญาซื้อขายข้อ 6 วรรคสองระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินงวดต่าง ๆ ตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา หรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ใด ๆ ในสัญญานี้ ผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เงินจำนวน 55,260 บาท ซึ่งเป็นเงินราคารถยนต์พิพาทที่ขาดอยู่ก็คือเงินงวดต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระให้โจทก์ตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาผู้ขายจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากผู้ซื้อได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2536 
จำเลยทำสัญญาซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีเงื่อนไข เมื่อจำเลยผิดนัดชำระเงินโจทก์ได้ใช้สิทธิตามสัญญาเข้ายึดรถคืนมาโดยมิได้มีกบอกเลิกสัญญาก่อน หลังจากนั้นโจทก์ขายรถดังกล่าวไป ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้ง ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว ทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนราคารถยนต์ที่รับไปแล้วแก่จำเลย และจำเลยต้องชดใช้เงินค่าใช้ทรัพย์นั้นแก่โจทก์ด้วยโดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถตามฟ้อง แต่ถือได้ว่าราคารถยนต์ที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นค่าใช้ทรัพย์ส่วนหนึ่งแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2535
สัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและโจทก์ผู้ขายให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใด ยอมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีดังนี้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงกันไว้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลงและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าก่อนถึงกำหนดชำระราคางวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่า เป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วนเพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114 เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระให้โจทก์เต็มจำนวนตามสัญญา แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยมิได้กำหนดกันไว้ในสัญญาเหมือนเช่นเงินราคาค่ารถโจทก์จึงเรียกได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3067/2530
 สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อความว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะส่งมอบรถให้แก่ผู้ซื้อในวันที่โอนทะเบียน ผู้ซื้อจะชำระเงิน 10,000 บาท และจะโอนทะเบียนกันในเดือนพฤศจิกายน 2527ดังนี้ เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาและโอนทะเบียนแล้วเมื่อผู้ซื้อยังชำระราคาไม่ครบและยังไม่ได้โอนทะเบียนกันกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังคงเป็นของผู้ร้อง