หน้าที่ของผู้ซื้อ

มาตรา ๔๘๖ ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย

มาตรา ๔๘๗ อันราคาทรัพย์สินที่ขายนั้นจะกำหนดลงไว้ในสัญญาก็ได้ หรือจะปล่อยไปให้กำหนดกันด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งได้ตกลงกันไว้ในสัญญานั้นก็ได้ หรือจะถือเอาตามทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันอยู่นั้นก็ได้
ถ้าราคามิได้มีกำหนดเด็ดขาดอย่างใดดั่งว่ามานั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาตามสมควร

มาตรา ๔๘๘ ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้

มาตรา ๔๘๙ ถ้าผู้ซื้อถูกผู้รับจำนองหรือบุคคลผู้เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ขายนั้นขู่ว่าจะฟ้องเป็นคดีขึ้นก็ดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะถูกขู่เช่นนั้นก็ดี ผู้ซื้อก็ชอบที่จะยึดหน่วงราคาไว้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ดุจกัน จนกว่าผู้ขายจะได้บำบัดภัยอันนั้นให้สิ้นไป หรือจนกว่าผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้

มาตรา ๔๙๐ ถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นเวลาใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเวลาอันเดียวกันนั้นเองเป็นเวลากำหนดใช้ราคา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8635/2550
ในการดำเนินการจัดซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยจำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ไว้ ซึ่งมี ก. เป็นประธานกรรมการ แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริหารกิจการภายในซึ่งเป็นเรื่องของจำเลย ทั้งตามสัญญาซื้อขายก็มิได้มีข้อตกลงว่าการรับมอบสิ่งของจะต้องกระทำโดยคณะ กรรมการตรวจรับพัสดุที่จำเลยแต่งตั้งไว้ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ การที่โจทก์นำกิ่งพันธุ์ลำไยไปส่งมอบให้จำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดย น. และ ก. ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารของจำเลยตามลำดับได้รับมอบกิ่ง พันธุ์ลำไยจากโจทก์ไว้แล้วให้โจทก์นำไปส่งมอบให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านต่างๆ ตามหลักฐานการส่งมอบกิ่งพันธุ์ลำไย เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้รับมอบกิ่งพันธุ์ลำไย จากโจทก์ไว้แล้วโดยมิได้โต้แย้งว่ากิ่งพันธุ์ลำไยไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ตามสัญญา

หลักฐานการส่งมอบกิ่งพันธุ์ลำไยซึ่ง น. และ ก. ได้ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการส่งมอบพัสดุมีข้อความระบุว่า คณะกรรมการส่งมอบพัสดุได้ส่งมอบกิ่งพันธุ์ลำไยให้แก่ผู้ใหญ่บ้านต่างๆ เพื่อจะได้ส่งมอบให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านของตนต่อไป ข้อความดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยได้ตรวจและรับมอบกิ่งพันธุ์ลำไยไว้เรียบร้อย แล้ว มิใช่เพียงแต่รับมอบไว้เพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำการตรวจรับ เมื่อจำเลยได้รับมอบกิ่งพันธุ์ลำไยจากโจทก์โดยถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141/2548
การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าและการที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงราคาสินค้าและค่าสินจ้างไว้ได้ ดังนี้ การชำระหนี้จึงยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็น ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วัน ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือ นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66 - 67/2547
บ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์ชำรุดบกพร่อง และโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านระหว่างบริษัทกับจำเลย และจำเลยสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวและเป็นผู้กระทำแทนบริษัทตลอดมา ทั้งในขณะทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์ได้รับรองว่าจะซ่อมแซมความเสียหายทั้งหมดด้วยตนเอง แม้เช็คทั้งห้าฉบับจำเลยจะสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินดาวน์ค่าที่ดินและบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้าน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านที่ชำรุดบกพร่องโจทก์ไม่ซ่อมแซมให้เรียบร้อย จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ดินและบ้านโดยไม่นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2546
จำเลยผู้ซื้อได้มีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์ผู้ขายขอคืนผ้าแต่โจทก์ไม่ได้ทำคำสนองรับ เพียงแต่โจทก์ให้จำเลยช่วยขายผ้าให้บุคคลอื่น โจทก์จะรับผ้าคืนก็ต่อเมื่อมีบุคคลหรือลูกค้าอื่นรับซื้อผ้าไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อโจทก์ขายผ้าได้บางส่วนจึงให้พนักงานของโจทก์มารับผ้าไปจากจำเลย ก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์รับคืนผ้าทั้งหมดเพียงแต่ตกลงกันว่าโจทก์จะรับผ้าไปเมื่อขายผ้าได้บาง ส่วนเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ช่วยจำเลยขายผ้าส่วนที่เหลือ ไม่ได้ตกลงยินยอมรับคืนผ้า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าผ้าที่เหลือให้แก่โจทก์

การที่จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้เนื่องจากบริษัท ธ. ผู้ซื้อผ้าจากจำเลยมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลย ก็เป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้าประสบปัญหากำไรหรือขาดทุนอันเป็นปกติทาง การค้าย่อมเกิดขึ้นได้เสมอไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลย หลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2546
เมื่อโจทก์ชำระราคารถจักรยานยนต์จำนวน 52 คัน ให้แก่ ส. ตัวแทนของจำเลยแล้ว จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการทั้ง หลายอัน ส. ตัวแทนได้ทำไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถจักรยานยนต์จำนวน 52 คัน ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นตัวการแล้วตามกฎหมาย แม้ ส. จะยังไม่ได้ส่งมอบเงินค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่จำเลยก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลย ซึ่งเป็นตัวการจะไปว่ากล่าวไล่เบี้ยเอาจาก ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของตนโจทก์จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารให้แก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำไปใช้ประกอบในการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2545
จำเลยซื้อแผ่นพลาสติกพร้อมติดตั้งจากโจทก์เพื่อใช้ปูบ่อบำบัดน้ำเสียของจำเลย โจทก์ส่งมอบงานปูแผ่นพลาสติกในบ่อบำบัดน้ำเสียให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยใช้บ่อบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 2 ถึง 3 เดือน แผ่นพลาสติกที่ปูไว้ได้โป่งพองลอยขึ้นอันเป็นความบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ใน ขณะเมื่อส่งมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 โดยจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้แต่เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซม ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเท่านั้น เมื่อโจทก์ติดต่อกับจำเลยขอเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมโดยอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องใช้บ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว ไม่สามารถสูบน้ำออกจากบ่อได้เพราะจะทำให้เสียรายได้ ถือเป็นข้ออ้างที่ไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างจะสามารถ ดำเนินการได้โดยลำพัง ดังนั้นการที่โจทก์ไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานได้จึงไม่ ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่ค้างชำระอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6443/2544
ในสัญญาซื้อขายนั้นนอกจากผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่ ผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้ขายเป็นการตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 486 เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าได้ซื้อสินค้าตามฟ้องโจทก์จริง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าที่ซื้อให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลย การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่มีภาระหน้าที่จะต้องชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่าย สินค้าของโจทก์แต่ผู้เดียวในประเทศไทยแล้วโจทก์กลับจำหน่ายสินค้าให้แก่ นิติบุคคลหลายรายในประเทศไทยในราคาที่ต่ำกว่าจำหน่ายให้แก่จำเลย ทั้งโจทก์ได้รับประกันสินค้าเป็นเวลา 1 ปี นับจากวันที่ ผู้ซื้อสินค้ารับสินค้าไปแต่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่ดำเนินการเปลี่ยนสินค้าให้ ใหม่โดยไม่คิดมูลค่า จึงเป็นการที่จำเลยได้ยกข้อต่อสู้ขึ้นมาใหม่เพื่อปัดความรับผิดที่จะไม่ชำระ ราคาสินค้าให้แก่โจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม เกี่ยวกับการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่า นั้นขึ้นไปนั้น เมื่อได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าตามฟ้องให้จำเลยรับไปแล้วตามที่จำเลยสั่งซื้อ ถือได้ว่าได้มีการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายให้จำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาสินค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2542
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยทั้งสองประกอบกิจการขายรถยนต์ โดยจำเลยที่ 2มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียน และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าของโจทก์ไป แม้ตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบรถยนต์คันพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมีเงื่อนไข ว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จะโอนเป็นของจำเลยที่ 1ผู้ซื้อต่อเมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่จำเลยที่ 1ยังไม่ได้ชำระราคาให้จำเลยที่ 2 แม้แต่เพียงบางส่วนและจำเลยที่ 2 ผู้ขายก็มิได้กำหนดราคารถยนต์ที่ขายหรือตกลงกันในสัญญาว่า ให้กำหนดกันด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 487 และมิได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระราคารถยนต์ดังกล่าวไว้ด้วยย่อมเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายและส่งมอบรถยนต์ ระหว่างจำเลยทั้งสองไม่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายกันตามปกติ การที่จำเลยที่ 2ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1ซึ่งประกอบกิจการขายรถยนต์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ในประการที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ดังกล่าวไปขายแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผุ้มีสิทธิขายรถ ยนต์พิพาทแล้ว เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริต จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาซื้อขายและต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รถยนต์ พิพาทพร้อมมอบสมุดจดทะเบียนให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2ไม่ดำเนินการศาลย่อมพิพากษาให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883/2540
จำเลยทั้งสองอ้างว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าอะไร เมื่อไร จำนวนเท่าใดจำเลยทั้งสองได้รับสินค้าจากโจทก์แล้วหรือไม่นั้น เมื่อปรากฎว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า ตั้งแต่ต้นปี 2536 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2536 จำเลยทั้งสองซื้อกระดาษหลายประเภทจากโจทก์ หลายครั้งรวมเป็นเงิน 173,868.50 บาท จำเลยทั้งสองได้รับ กระดาษดังกล่าวแล้ว ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อความที่ จำเลยทั้งสองอ้างข้างต้นว่าไม่มี ไว้ครบถ้วนแล้ว และที่จำเลย ทั้งสองอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการชำระเงินต้องชำระ กันอย่างไร จำเลยทั้งสองผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยเมื่อไร จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองซื้อสินค้าจากโจทก์และรับ สินค้าดังกล่าวตั้งแต่ต้นปี 2536 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2536แม้จะไม่ได้ระบุวันถึงกำหนดใช้ราคา แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 490 บัญญัติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเวลากำหนดใช้ราคาเดียวกันกับเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สิน ซึ่งขายนั้น จึงเข้าใจได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่รับสินค้าและไม่ใช้ราคาแล้ว และแม้โจทก์จะมิได้ระบุวันเดือนปีที่โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ย แต่โจทก์ระบุว่าโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเพียง 5 เดือน โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 หากนับแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2536 อันเป็นวันที่โจทก์ระบุว่าจำเลยทั้งสองซื้อกระดาษจากโจทก์เป็นครั้งสุดท้าย ถึงวันฟ้องจะเป็นเวลา 6 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 เดือนเท่านั้น เมื่อเริ่มนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป 5 เดือน ก็จะสามารถคำนวณเงินค่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องได้ จึงไม่จำเป็นต้องระบุวันเดือนปีที่โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยอีกฟ้องโจทก์ไม่ เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2536
ตามคำฟ้องของโจทก์สรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองซื้อป่านจากโจทก์คิดเป็นเงิน 288,000 บาท แล้วไม่ชำระราคาป่านแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระราคาป่านแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์ บรรยายฟ้องถึงการโอนสิทธิเรียกร้องมาด้วยเป็นเพียงบรรยาย ให้รู้ว่าจำเลยยังไม่ชำระราคาป่านแก่โจทก์เพราะเหตุใด เท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยทั้งสอง ไม่เคยค้ากับโจทก์ จำเลยที่ 1 สั่งซื้อป่านจาก ม.คิดเป็นเงิน 232,000 บาท ประเด็นพิพาทแห่งคดีในส่วนนี้จึงมีว่าจำเลยทั้งสองซื้อป่านตามฟ้องจากโจทก์ หรือไม่ ในราคาเท่าใด ซึ่งแม้ในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อเป็นประเด็นพิพาทอันแท้จริงแห่งคดีที่โจทก์กล่าวอ้างและจำเลยให้การ ปฏิเสธไว้ทั้งคู่ความได้นำพยานหลักฐานมาสืบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแล้วศาล ชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระราคาป่านจำนวน 288,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้นหาเป็นการวินิจฉัยเกินคำฟ้องและคำขอของโจทก์ไม่ แม้โจทก์จะส่งเอกสารเป็นพยานโดยไม่สืบพยานบุคคลแต่ก็หามีกฎหมายห้ามรับฟัง พยานเอกสารเช่นนี้ไม่ กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการซื้อขาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 490 บัญญัติว่าถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งซื้อขายนั้นเวลาใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเวลาอันเดียวกันนั้นเองเป็นเวลากำหนดใช้ราคา เมื่อโจทก์ส่งมอบป่านให้กรมพลาธิการทหารอากาศตามคำสั่งของจำเลย และกรมพลาธิการทหารอากาศได้ตรวจรับมอบไว้ถูกต้องแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 จำเลยจึงชอบที่จะต้องชำระราคาป่านให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายในวันดัง กล่าวเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยไม่ชำระย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดแล้ว โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยชำระราคาป่านได้โดยไม่ต้องทวงถาม