การฝากทรัพย์

มาตรา ๖๕๗ อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตน แล้วจะคืนให้

มาตรา ๖๕๘ ถ้าโดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าเขารับฝากทรัพย์ก็เพื่อจะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์เท่านั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ตกลงกันแล้วโดยปริยายว่ามีบำเหน็จเช่นนั้น

มาตรา ๖๕๙ ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง
ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย
ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

มาตรา ๖๖๐ ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกใช้สอยเอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา ๖๖๑ ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี หรือยึดทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้รับฝากต้องรีบบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน

มาตรา ๖๖๒ ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ท่านว่าผู้รับฝากไม่มีสิทธิจะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้

มาตรา ๖๖๓ ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรก็ตาม ถ้าว่าผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใด ๆ ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้

มาตรา ๖๖๔ ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรไซร้ ผู้รับฝากอาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ

มาตรา ๖๖๕ ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น
แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท

มาตรา ๖๖๖ เมื่อคืนทรัพย์ ถ้ามีดอกผลเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเท่าใด ผู้รับฝากจำต้องส่งมอบพร้อมไปกับทรัพย์สินนั้นด้วย

มาตรา ๖๖๗ ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย

มาตรา ๖๖๘ ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง

มาตรา ๖๖๙ ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝากทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไรไซร้ ท่านให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็นระยะอย่างไร ก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป

มาตรา ๖๗๐ ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น

มาตรา ๖๗๑ ในข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2559 
          จำเลยเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. (Ship Management Agent) แทนเจ้าของเรือ (Shipowner) โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการบริหารจัดการเรือแก่เจ้าของเรือเพื่อนำออกให้บริการรับขนส่ง และเมื่อเจ้าของเรือประสงค์จะนำเรือออกให้บริการรับขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยจึงย่อมต้องทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ หลักเกณฑ์ และระเบียบว่าด้วยการนำเรือออกให้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งการสำรวจจัดชั้นเรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเรือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ของเรือ และระวางบรรทุกก็เพื่อให้เรือสามารถจดทะเบียนได้ใบอนุญาตใช้เรือและนำเรือออกให้บริการได้ พฤติการณ์และลักษณะการให้บริการของจำเลยแก่เจ้าของเรือในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์นาวีและอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือ อ. แทนเจ้าของเรือรวมทั้งการว่าจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงทำให้การบริการของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวแทนค้าต่างตาม ป.พ.พ. มาตรา 833 ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่ว่าเจ้าของเรือซึ่งเป็นตัวการคือใคร โดยทั้งเจ้าของเรือและจำเลยต่างก็มีผลประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เรือในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ หากจำเลยบริหารจัดการเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพเจ้าของเรือก็จะได้ผลกำไรจากการดำเนินการนั้น ส่วนจำเลยก็จะได้ผลประโยชน์เป็นบำเหน็จตอบแทนจากเจ้าของเรือ โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุง ซ่อมแซมเรือ อ. จำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือซึ่งได้รับมอบหมายเรือไว้จากเจ้าของเรือย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพเหมาะสมแก่การใช้งานดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 842 บัญญัติไว้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฝากทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามควรแก่เรื่อง จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างจึงย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558 
             ข้อตกลงจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญา เมื่อตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุปูพื้นคลังสินค้า จัดหาคนงานขนข้าวสารให้แก่ผู้เช่า จัดเตรียมคลังสินค้าตามสัญญาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะเก็บข้าวสารของผู้เช่าได้ทันที อีกทั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาความปลอดภัย ข้อสัญญาทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบให้ผู้เช่าครอบครองและมีอิสระในการใช้คลังสินค้าเองเยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่โจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่างๆ ภายในคลังสินค้าที่ให้เช่าอยู่โดยตลอดในแต่ละขั้นตอน เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ อันถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2558 
           ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557 
            ผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดจะต้องหาสถานที่จอดเอง เก็บกุญแจรถไว้เอง และจะต้องดูแลรถกับทรัพย์สินภายในรถเอง ทั้งนี้ จำเลยไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการในการนำรถเข้าจอด ดังนั้นความครอบครองในรถยังคงอยู่กับเจ้าของรถหรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถและไม่ได้รับประโยชน์อันเนื่องจากการที่มีผู้นำรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าและการบริการซึ่งเป็นปกติทางการค้าเท่านั้น พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมไม่ได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้คนร้ายลักรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปโดยไม่ตรวจสอบบัตรอนุญาตจอดรถให้ถูกต้อง และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ระมัดระวังดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับรถที่มีผู้นำมาจอดในห้างสรรพสินค้าของจำเลยตามสมควรแล้ว การที่รถสูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วม ดังนั้นจำเลยและจำเลยร่วม จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5072/2557 
              ตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่อ้างมูลเหตุให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายว่า เมื่อจำเลยที่ 4 รับสินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อขนส่งทางรถยนต์ไปส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัย พบว่าสินค้าเสียหายเพิ่มอีก 1 กล่อง ในระหว่างการจัดเก็บโดยไม่ระมัดระวังและไม่ดูแลสินค้าในคลังสินค้าให้ดีเพียงพอของจำเลยที่ 3 และการขนส่งโดยรถยนต์บรรทุกโดยไม่ระมัดระวังและไม่ดูแลสินค้าให้ดีเพียงพอของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกล่าวอ้างถึงการทำหน้าที่ผู้รับฝากทรัพย์บกพร่องจนเกิดความเสียหายแก่สินค้าที่จัดเก็บไว้อันเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ที่ผู้ฝากทรัพย์ใช้สิทธิเรียกร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาตามที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 จึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยในความรับผิดในมูลละเมิดที่จะใช้อายุความในเรื่องละเมิดแต่อย่างใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17872/2556 
                ภ. ได้นำหนังสือเดินทางและสมุดบัญชีคู่ฝากเงินของโจทก์ กับใบมอบฉันทะให้เบิกถอนเงินซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์มายื่นถอนเงิน ณ. พนักงานของจำเลยตรวจสอบเอกสารแล้วลงลายมือชื่อในช่องผู้รับ ผู้บันทึกรายการเป็นคนแรก แล้วนำเอกสารดังกล่าวให้ ส. ตรวจสอบอีกครั้ง แต่ ส. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจในใบถอนเงิน จึงน่าสงสัยว่า ส. ได้ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินแล้วจริงหรือไม่ กรณีชาวต่างชาติมอบฉันทะให้ถอนเงินในบัญชีจนหมดหรือเกือบหมด พนักงานจำเลยจะโทรศัพท์สอบถามเจ้าของบัญชีก่อน ส. เบิกความว่า โทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ในคำขอเปิดบัญชีแต่ติดต่อไม่ได้ ญ. เบิกความว่า โทรศัพท์ติดต่อกับโจทก์แต่ติดต่อไม่ได้ เห็นว่า พยานจำเลยมีแต่พนักงานจำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ มีน้ำหนักน้อยรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานจำเลยผู้รับฝากเงินมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าของจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ ปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีส่วนผิดด้วยหรือไม่ โจทก์เก็บสมุดคู่ฝากและหนังสือเดินทางกับบัตรเอทีเอ็มไว้ในกระเป๋าเดินทางซึ่งเก็บอยู่ในห้องพัก เอกสารดังกล่าวถูกลักไปจากห้องพักโดยการงัดกระเป๋าเดินทาง เห็นว่า โจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังโดยการเก็บเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนกุญแจห้องพักสำรองนั้น ภ. ไปยืมกุญแจจากพี่ชายไปไขเข้าห้องพักของโจทก์และลักเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว หาใช่โจทก์มอบกุญแจสำรองให้ ภ. กรณียังถือไม่ได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เช่นกัน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินที่ถูกถอนไปแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2555 
             การที่โจทก์ฎีกาในบางตอนปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือซ้ายในการถอนเงินและปิดบัญชีไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เจ้าของบัญชีเงินฝากประจำ แต่บางตอนกลับรับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. นั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. สัญญาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน คู่ความจะตกลงรูปแบบและกำหนดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น ส. กับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้ ส. ถอนเงินโดยให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายแทนการลงลายมือชื่อได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคแรก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2555 
             บริษัท ส. ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท บ. ตัดและแปรรูปเหล็กม้วนเพื่อนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า และบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของบริษัท ส. ด้วย เมื่อบริษัท ส. ได้รับสินค้าจากผู้ขนส่งทางเรือแล้วได้ส่งมอบแก่บริษัท บ. ในสภาพเรียบร้อย และบริษัทดังกล่าวไปฝากให้จำเลยเก็บรักษาไว้โดยบริษัท บ. เป็นผู้ทำสัญญาฝากสินค้าเหล็กม้วนนี้เก็บในคลังสินค้ากับจำเลย โดยไม่ได้ความว่าบริษัทดังกล่าวทำสัญญานี้แทนบริษัท ส. แต่อย่างใด เมื่อเกิดความเสียหายแก่สินค้าเหล็กม้วนดังกล่าวก็เป็นกรณีที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้าต่อบริษัท บ. คู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้า จำเลยหาได้มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาสินค้าด้วยความระมัดระวังตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้านี้ต่อบริษัท ส. ซึ่งมิใช่คู่สัญญากับจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้นกรณีเช่นนี้จึงเป็นกรณีที่บริษัท ส. คู่สัญญาจ้างทำของต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายของสินค้าตามสัญญาจ้างทำของจากบริษัท บ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของกับจำเลยเท่านั้น หาใช่กรณีบริษัท ส. ยังมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดให้ผิดไปจากความรับผิดโดยตรงของคู่กรณีที่มีต่อกันตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้าและสัญญาจ้างทำของได้อีกไม่ ดังนั้นบริษัท ส. จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในความเสียหายของสินค้าตามฟ้อง แม้โจทก์รับช่วงสิทธิจากบริษัท ส. ตามสัญญาประกันภัยก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเช่นเดียวกับบริษัท ส. จำเลยรวมทั้งจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจากจำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554 
             จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ เมื่อพนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี โดยเข้าใจผิดว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็ค และจำเลยได้ถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าว ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้วโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทขึ้นปรับใช้แก่คดีเป็นหน้าที่ของศาลเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2554 
               แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความว่า โจทก์คืนเงินให้นาย อ. ครั้งแรกโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากผู้มีชื่อ ส่วนการสั่งคืนเงินให้จำเลยในครั้งหลังจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คก็ตาม กรณีเป็นเพียงวิธีการสั่งคืนเงินโดยฝากเข้าบัญชีเงินฝากเท่านั้น เงินซึ่งนาย อ. และจำเลยนำมาวางไว้แก่โจทก์ก็เพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันให้บริษัท พ. หาใช่เป็นการฝากเงินหรือฝากทรัพย์ไม่ ฉะนั้นการที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยให้คืนเงินที่รับไปนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีจึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 มิใช่เรื่องการติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามมาตรา 1336 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2554 
             จุดที่ลูกค้ามาเล่นกอล์ฟนำถุงกอล์ฟลงจากรถหรือขึ้นรถอยู่หน้าคลับเฮ้าส์ โดยมีซุ้มที่พักพนักงานจำเลยคอยให้การต้อนรับลูกค้า เมื่อลูกค้าเล่นกอล์ฟเสร็จ แคดดี้จะนำถุงกอล์ฟมาวางไว้บริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับถุงกอล์ฟ พนักงานของจำเลยซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวจะต้องคอยดูแลถุงกอล์ฟของลูกค้าไว้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้สั่งให้แคดดี้นำถุงกอล์ฟไปส่งที่รถหรือลูกค้าไม่มีรถส่วนตัวมา แคดดี้ต้องนำถุงกอล์ฟมารอลูกค้าที่หน้าคลับเฮ้าส์ หลังเกิดเหตุถุงกอล์ฟของโจทก์ถูกคนร้ายลักไป จำเลยยังคงใช้สถานที่บริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์เป็นจุดรับส่งถุงกอล์ฟเช่นเดิม เพียงแต่มีป้ายเขียนข้อความให้ลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟแจ้งหมายเลขทะเบียนรถที่จะมารับถุงกอล์ฟไปเท่านั้น พฤติการณ์ดำเนินการให้บริการลักษณะดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าแม้บริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์จะไม่มีข้อความว่าเป็นจุดบริการรับฝากถุงกอล์ฟและไม่มีหลักฐานการรับฝากก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติของสนามกอล์ฟและลูกค้าต่างเป็นที่ทราบว่าเป็นจุดรับส่งถุงกอล์ฟ ดังนั้น การปฏิบัติระหว่างสนามกอล์ฟกับลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟจึงเข้าลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 กรณีต้องถือว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ จำเลยจึงต้องใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการสนามกอล์ฟตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม แต่ตามทางปฏิบัติปรากฏว่าจำเลยไม่มีมาตรการใด ๆ ในการดูแลรักษาถุงกอล์ฟของลูกค้าที่มาใช้บริการ ดังนั้น เมื่อมีคนร้ายมาอ้างต่อพนักงานจำเลยว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟ และพนักงานจำเลยก็ยอมให้ถุงกอล์ฟของโจทก์ไป ทั้งๆ ที่เรื่องนี้พนักงานจำเลยเบิกความรับว่าแคดดี้ของโจทก์แจ้งให้ทราบว่าโจทก์นั่งรถแท็กซี่มาเล่นกอล์ฟ กรณีเช่นนี้ถือว่าพนักงานจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายของอุปกรณ์กอล์ฟต่อโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11029/2553 
              จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์โดยเพิ่มเติมจำนวนตัวเลขและตัวหนังสือในเช็คเงินสดที่เรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปเบิกถอนเงินมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ใช้เช็คขอเบิกเงินสดถึง 15,558,406 บาท เป็นการใช้เช็คเบิกเงินสดที่มากผิดปกติ เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม และตามระเบียบภายในของธนาคารจำเลยที่ 2 พนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจรับเช็คและอนุมัติจ่ายเงินควรที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ และควรที่จะสงสัยถึงขนาดที่ควรจะสอบถามเรือนจำกลางชลบุรี ผู้สั่งจ่ายว่าได้ออกเช็คจ่ายเงินจำนวนมากดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 มาเบิกเงินสดไปจริงหรือไม่ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 ไม่ได้สอบถามผู้สั่งจ่าย และยอมจ่ายเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวไป ถือได้ว่าเป็นการละเว้นไม่กระทำการที่จะต้องกระทำเป็นการผิดสัญญารับฝากเงินและเป็นละเมิดด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8963/2553 
             ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใดคืนให้แก่ผู้นั้น... บัญชีเงินฝากชื่อบัญชีเป็นการฝากในนามของจำเลยโดยไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวแทนผู้ร้อง ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินฝากให้แก่จำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้ผู้ร้องนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อให้จำเลยรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากลูกค้าทั่วไปแทนผู้ร้อง แต่เงินที่ผู้ร้องนำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นกรณีการฝากเงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึ่งต้องส่งคืนเป็นเงินตราอันเดียวกันกับที่ฝาก ผู้รับฝากมีสิทธิเอาเงินนั้นออกใช้ได้ ฉะนั้นเงินที่ฝากจึงตกเป็นของธนาคาร เมื่อจำเลยใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินที่ฝากจากธนาคาร ธนาคารก็ไม่จำต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่รับฝาก ธนาคารคงมีแต่หน้าที่จะต้องคืนเงินให้ครบถ้วนเท่านั้น จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในนามของจำเลย ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ฝาก ผู้ร้องมิได้เป็นคู่สัญญากับธนาคารด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินที่รับฝากไว้จากบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้ในนามของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 และมาตรา 672 ผู้ร้องเพียงแต่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามหน้าที่ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเท่านั้น หากจำเลยไม่รับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากลูกค้าตามที่ผู้ร้องอนุมัติเงินไป ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยคืนได้เอง ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของเงินฝากตามบัญชีธนาคารของจำเลยที่ถูกอายัดไว้ และไม่มีสิทธิขอให้ถอนอายัดเงินฝากดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10082/2551
การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์ไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความ ระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติ โดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่ว ๆ ไปในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร จำเลยใช้ห้องแถวซึ่งอยู่ติดกับถนนเป็นที่ตั้งอู่ บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน แสดงว่าอู่ของจำเลยเป็นอู่ขนาดเล็กย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือ จัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน การที่จำเลยจอดรถยนต์กระบะคันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ของจำเลยโดยได้ล็อก ประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู เมื่อพบว่ารถยนต์คันพิพาทหายไป ก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับ เจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวน ทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2551
โจทก์กู้เงินจำเลย โดยตกลงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกหนี้ผู้เช่า ซื้อจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไปให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระเงิน และเมื่อภาระผูกพันที่โอนสิทธิเรียกร้องไปเป็นประกันได้รับชดใช้คืนครบถ้วน แล้ว จำเลยต้องโอนสิทธิเรียกร้องคืนให้แก่โจทก์ การที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องมีข้อความว่า ให้สัญญานี้ใช้บังคับจนกว่าภาระผูกพันที่มีหลักประกันที่โจทก์ต้องรับผิดต่อ จำเลยทั้งหมดจะได้รับการชดใช้คืนจนครบถ้วนนั้น จากถ้อยคำในสัญญาที่ว่า "สัญญาอื่นใดระหว่างผู้โอน และผู้รับโอนที่ทำขึ้นไม่ว่าเวลาใด" คำว่า "สัญญาอื่นใดที่ทำขึ้นระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน" ซึ่งมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ระหว่างผู้โอนคือโจทก์ กับผู้รับโอน คือจำเลย จึงน่าจะหมายถึงสัญญากู้เงินที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องทำขึ้น ไม่ใช่หมายถึงสัญญาบริหารซึ่งเป็นสัญญาหลายฝ่าย ถ้าหากต้องการให้การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญา บริหารด้วย ผู้โอนและผู้รับโอนก็น่าจะกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า นอกจากสัญญากู้เงินแล้ว ให้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันสัญญาบริหารด้วย เพราะหากสัญญาบริหารเป็นสัญญาหลักที่สำคัญที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเช่า ซื้อรถยนต์เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาด้วย ก็ควรต้องกำหนดในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้ให้ชัดเจน การแปลสัญญาว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันสัญญาบริหารด้วย ย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ นั้น" ฉะนั้นเมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้ว จำเลยต้องโอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่โอนไปตามสัญญากลับคืนให้แก่โจทก์

จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จำเลยจึงเป็นคู่สัญญาฝากเงินกับธนาคาร และย่อมมีสิทธิเรียกคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 แม้จำเลยจะโอนสิทธิและผลประโยชน์ในบัญชีเงินฝาก และสิทธิที่จะได้รับหรือถอนเงินจากบัญชีให้แก่ผู้อื่นแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2551
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 รับจ้างรักษาความปลอดภัยบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่กำหนดรวมทั้งลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยกำหนดให้ต้องรักษาความปลอดภัยด้านโจรกรรม และดูแลรถของลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 จะจัดให้มีพนักงานประจำที่ทางเข้าลานจอดรถเพื่อคอยมอบบัตรผ่านลานจอดรถและเขียนหมายเลขทะเบียนกำกับไว้ก่อนมอบให้ผู้ที่จะนำรถเข้ามาจอด เมื่อจะนำรถออกผู้ขับรถจะต้องคืนบัตรผ่านลานจอดรถและชำระค่าบริการจอดรถให้แก่พนักงานที่ประจำทางออกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงขับรถผ่านออกไปได้ ก. และ ว. ผู้เอาประกันภัยได้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดในลานจอดรถของอาคารดังกล่าว และได้รับบัตรผ่านลานจอดรถจากพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้จึงมีผู้นำรถยนต์พิพาทผ่านออกจากลานจอดรถได้ โดยที่บัตรผ่านลานจอดรถและหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยังอยู่กับ ว. ผู้เอาประกันภัย เหตุที่รถยนต์ของ ว. ผู้เอาประกันภัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ไม่เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ในบัตรผ่านลานจอดรถและไม่ตรวจสอบหลักฐานให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำรถออกไป เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถ ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้รถยนต์ของ ว. ผู้เอาประกันภัยสูญหาย ถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย
เงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถที่ว่า การออกบัตรนี้ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายต่อรถใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2549
โจทก์ ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตาม สัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติ อายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549
การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้า คอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออกเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์
บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แจกให้แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถยนต์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ารถของลูกค้า ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้ หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ กล่าวคือ บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่า บัตรจอดรถยังอยู่กับโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทแต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8144/2548
การที่โจทก์กับ ม. ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็น สาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์ มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญา ฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์ และ ม. จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือ ปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการ ธนาคารพาณิชย์ของตน เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝาก เป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ใน กิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย

ขณะที่โจทก์กับ ม. เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม. ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม. เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม. ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม. จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2547
เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือและรับจ้างขนสินค้าขึ้นจากเรือได้ขนถ่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งหมด ขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลย โดยมีการ คิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหม ทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ อันมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์ คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2547
เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือและรับจ้างขนสินค้าขึ้นจากเรือได้ขนถ่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งหมด ขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลย โดยมีการ คิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหม ทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ อันมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์ คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2546
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝากเป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไป จากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ยังไม่ครบ 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2546
โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 โดยฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินแล้วนำมาถอนเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าว 21 ครั้ง การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ด้วยกันโดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับลายมือชื่อโจทก์ในตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง และในกรณีที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเองแต่ไม่มีตัวโจทก์มา พนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 หากพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพธนาคารแล้วก็ย่อมจะทราบได้ว่าลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินเป็นลายมือชื่อปลอม ส่วนที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ทำไปโดยสุจริตเพราะเชื่อใจจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลาน การที่จำเลยที่ 2 ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2541
โจทก์นำรถยนต์ไปฝากไว้กับจำเลย จำเลยเรียกเก็บค่าฝากเป็นรายเดือน มีระเบียบว่าเจ้าของรถต้องฝากกุญแจไว้กับจำเลยเพื่อจำเลยเลื่อนรถได้ในกรณีที่มีรถอื่นเข้ามาจอด ซึ่งโจทก์ได้มอบกุญแจรถให้จำเลยทุกครั้งที่มาจอดพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ หาใช่เป็นเรื่องให้เช่า สถานที่จอดรถไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2541
จำเลยเป็นธนาคารผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในการเอาเงินฝากของผู้ฝากไปแสวงหาผลประโยชน์จะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบลายมือชื่อผู้จ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้แก่จำเลยหรือไม่ ฉะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญดังกล่าวแต่อย่างใด การที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไปจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ขณะที่บัญชีของโจทก์ยังเดินสะพัดอยู่นั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินหรือเรียกเก็บเงินจากจำเลย โจทก์มาทราบหลังจากที่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ไปตรวจสอบเช็คต่าง ๆที่มีผู้นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยจึงทราบว่ามีผู้ลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในเช็คพิพาทดังนี้ การที่โจทก์ยอมรับรองเรื่องหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชี จะถือว่าโจทก์ยอมรับหนี้ตามเช็คพิพาทปลอมด้วยหาได้ไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคแรก เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายจำเลยย่อมต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามมาตรา 1008 วรรคแรก จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ปลอมรวม 54 ฉบับ และหักเงินจากบัญชีของโจทก์พร้อมคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่โจทก์ตลอดมา ดังนี้นอกจากต้องคืนเงินตามเช็คทั้ง54 ฉบับ แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องคืนดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2540
ธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอาชีพรับฝากเงินจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ผู้ฝากเงินให้ละเอียดรอบคอบ เมื่อเปรียบเทียบลายมือโจทก์ในใบถอนเงินฝากกับลายมือโจทก์ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อผู้ฝากและสมุดคู่ฝากแล้ว เห็นได้ว่าลักษณะการเขียนและลายเส้นลายหนาแตกต่างกัน เช่นตัว "ย" เป็นต้น เมื่อปรากฎด้วยว่าลายมือในใบถอนเงินฝากก็มิใช่เป็นของโจทก์ทั้งหมด จึงเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะหากโจทก์มาถอนเงินด้วยตนเองก็น่าจะต้องกรอกข้อความทั้งหมดด้วยตนเอง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงควรจะต้องสอบถามให้ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้กรอกข้อความร่วมกับผู้ถอนหรือขอตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อให้ลายละเอียดรอบคอบมากขึ้น แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตรวจลายมือชื่อโจทก์โดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ตรวจในภาวะเช่นจำเลยที่ 4 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จำเลยที่ 4 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เพียงแต่ทำสมุดคู่ฝากหายไปเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เพราะมีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินและนำไปถอนเงินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้ผู้ปลอมไปโดยประมาทเลินเล่อโดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย ดังนี้เหตุที่โจทก์ทำสมุดหาย จึงไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้เกิดเหตุในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีส่วนร่วมในความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6280/2538
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ การที่เช็คพิพาทซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นจนกระทั่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์นั้นแสดงว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็คดังกล่าวอันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ