หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่า

มาตรา ๕๕๒ อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่

มาตรา ๕๕๓ ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

มาตรา ๕๕๔ ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๕๕๒ มาตรา ๕๕๓ หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆ ก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา ๕๕๕ ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร

มาตรา ๕๕๖ ถ้าในระหว่างเวลาเช่ามีเหตุจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเป็นการเร่งร้อน และผู้ให้เช่าประสงค์จะทำการอันจำเป็นเพื่อที่จะซ่อมแซมเช่นว่านั้นไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ทำนั้นไม่ได้ แม้ถึงว่าการนั้นจะเป็นความไม่สะดวกแก่ตน ถ้าการซ่อมแซมเป็นสภาพซึ่งต้องกินเวลานานเกินสมควร จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา ๕๕๗ ในกรณีอย่างใด ๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นชำรุดควรที่ผู้ให้เช่าจะต้องซ่อมแซมก็ดี(๒) ถ้าจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่ทรัพย์สินนั้นก็ดี(๓) ถ้าบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในทรัพย์สินที่เช่าหรือเรียกอ้างสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือทรัพย์สินนั้นก็ดี
ในเหตุดั่งกล่าวนั้นให้ผู้เช่าแจ้งเหตุแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน เว้นแต่ผู้ให้เช่าจะได้ทราบเหตุนั้นอยู่ก่อนแล้ว
ถ้าผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในเมื่อผู้ให้เช่าต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะความละเลยชักช้าของผู้เช่านั้น

มาตรา ๕๕๘ อันทรัพย์สินที่เช่านั้น ถ้ามิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าก่อน ผู้เช่าจะทำการดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าและผู้เช่าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าเช่นนั้นไซร้ เมื่อผู้ให้เช่าเรียกร้องผู้เช่าจะต้องทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนคงสภาพเดิมทั้งจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การดัดแปลงต่อเติมนั้นด้วย

มาตรา ๕๕๙ ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือโดยจารีตประเพณีว่าจะพึงชำระค่าเช่า ณ เวลาใด ท่านให้ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือว่าถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่ากันเป็นรายเดือนก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน

มาตรา ๕๖๐ ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

มาตรา ๕๖๑ ถ้ามิได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาแสดงไว้ต่อกันว่าทรัพย์สินที่ให้เช่ามีสภาพเป็นอยู่อย่างไร ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เช่าได้รับทรัพย์สินที่เช่านั้นไปโดยสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ผู้เช่าก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพเช่นนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิได้ซ่อมแซมไว้ดีในขณะที่ส่งมอบ

มาตรา ๕๖๒ ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง
แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ

มาตรา ๕๖๓ คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2560 
               คดีนี้ พ. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเป็นผู้ทำสัญญาให้บริษัท บ. เช่า เป็นเวลา 30 ปี บริษัท บ. ตกลงชำระค่าหน้าดิน 87,500,000 บาท ในวันเดียวกัน พ. ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิเก็บกินบนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลาน และบริษัท บ. ตกลงจ่ายค่าหน้าดินและค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แต่เพิ่งไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่มีการทำสัญญาเช่าแล้ว ดังนั้น ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่า คือ พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงผู้รับเงินค่าเช่าแทน พ. เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559 
            ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234/2559 
              จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 อ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมาจากการที่ ม. เช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แล้วสืบสิทธิต่อเนื่องกันมา แต่มิได้มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือหลักฐานการชำระเงินค่าเช่ามาแสดง ทั้งยังได้ความว่า ม. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิการเช่าที่พิพาทย่อมสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 จึงไม่อาจที่จะอ้างการสืบสิทธิของ ม. เพื่ออยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ใช้สิทธิแห่งตนในการฟ้องคดี โดยมีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมฟ้องขับไล่มาด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนที่มีอยู่เพื่อขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ผู้กระทำละเมิดได้ โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ที่ 1 หนังสือมอบอำนาจ ย. ผู้ว่าการของโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แทน โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 กล่าวอ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ม. อันเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีร่วมกับโจทก์ที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่านั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และมาตรา 549 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดตามพฤติการณ์ความร้ายแรงให้แก่โจทก์ที่ 2 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2559 
            เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้การปรับปรุงตึกแถวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนโดยไม่มีสาเหตุอันควร ทำให้ต้องเลิกสัญญาเช่ากันในเวลาต่อมา และการงานที่โจทก์เข้าปรับปรุงตึกแถวเป็นการงานที่โจทก์ทำให้และจำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกแถวพิพาทได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4810/2559 
             โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยยินยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาทำนาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินพิพาท กรณีไม่ใช่เรื่องผู้ให้เช่านาบอกเลิกการเช่านา ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 31 แต่เป็นเรื่องผู้ให้เช่าไม่ให้ผู้เช่าเข้าทำนา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้ผู้เช่านาต้องคัดค้านต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเหมือนการบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา 31 ซึ่งผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาและส่งสำเนาหนังสือต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3836/2559 
            โจทก์เป็นเจ้าของสนามบิน โจทก์ทำสัญญาให้เช่าสนามบินระยะยาวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับสัญญาอื่น ๆ อีก 4 ฉบับ คือ สัญญาเช่าช่วงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัญญาให้บริการระบบ สัญญาตกลงกระทำการ หนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองในวันเดียวกัน เพื่อระดมเงินผ่านกองทุนรวมฯ เมื่อพิจารณาหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนที่ระบุว่ามีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินที่ได้จากการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนไปซื้อ เช่าและหรือ เช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยการให้เช่า ให้เช่าช่วง โอน และ/หรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมฯ ได้ลงทุน โดยกองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ ได้แก่ ที่ดิน ทางวิ่ง และลานจอดเครื่องบิน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ซึ่งปัจจุบันใช้ดำเนินการสนามบินสมุย โดยเข้าทำสัญญาเช่าระยะยาวและสัญญาตกลงกระทำการกับบางกอกแอร์เวย์ส ในขณะเดียวกันกองทุนรวมฯ ประสงค์ที่จะจัดหาผลประโยชน์โดยนำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป และนโยบายการลงทุนครั้งแรกที่กองทุนรวมฯ ประกาศชี้ชวนผู้ลงทุนทั่วไปนั้นปรากฏข้อความชัดเจนว่า กองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ อีกทั้งเป็นกองทุนรวมฯ ประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่มุ่งลงทุนโดยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน คงมีเพียงสิทธิในการนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปหาผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาของสัญญาเช่าที่กองทุนรวมฯ ได้ตกลงไว้กับโจทก์ การที่กองทุนรวมฯ ทำสัญญาทั้งห้าฉบับกับโจทก์ จึงเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนว่า กองทุนรวมฯ จะนำเงินไปลงทุนในสิทธิการเช่าสนามบินสมุย โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่กองทุนรวมฯ นำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป รวมทั้งได้รับประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาให้บริการระบบรวมกันมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 6 ของจำนวนเงินทุนของโครงการ ณ วันที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมฯ ดังที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวน นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าระยะยาว ยังระบุความประสงค์ของโจทก์ไว้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ที่ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 537 ไม่อาจแปลความสัญญาเช่าระยะยาวดังกล่าวเป็นการกู้เงิน หรือเป็นสัญญาเช่าที่มิใช่สัญญาเช่าปกติทั่วไปได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14977/2558 
             พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่า "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ" ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ หม้อแปลงไฟฟ้าพิพาทติดตั้งยึดติดอยู่บนคานปูนที่วางพาดระหว่างเสาไฟฟ้า เสาไฟฟ้าทั้งสองต้นหล่อด้วยปูนมีฐานติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินจึงมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งอยู่บนคานปูน ไม่ได้ยึดติดกับพื้นดิน และสามารถเคลื่อนย้ายออกไปจากเสาไฟฟ้าได้ แต่โดยสภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้ประจำอยู่กับเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการแปลงค่ากระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่โรงงาน ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 6 (1) การที่จำเลยกำหนดค่ารายปีในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าโดยนำค่าเช่าที่โจทก์ได้รับมาเป็นเกณฑ์จึงเป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558 
              ข้อตกลงจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญา เมื่อตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุปูพื้นคลังสินค้า จัดหาคนงานขนข้าวสารให้แก่ผู้เช่า จัดเตรียมคลังสินค้าตามสัญญาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะเก็บข้าวสารของผู้เช่าได้ทันที อีกทั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาความปลอดภัย ข้อสัญญาทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบให้ผู้เช่าครอบครองและมีอิสระในการใช้คลังสินค้าเองเยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่โจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่างๆ ภายในคลังสินค้าที่ให้เช่าอยู่โดยตลอดในแต่ละขั้นตอน เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ อันถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558 
               ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558 
               ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558 
              สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า "สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก" ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2558 
             คดีโจทก์ในส่วนค่าซ่อมรถยกและค่าเสื่อมราคา เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายของทรัพย์สินที่เช่าอันเกิดขึ้นก่อนสัญญาเช่าเลิกกัน ตามสัญญาเช่าที่กำหนดให้จำเลยผู้เช่าต้องรับผิดในความเสียหายนั้น จึงเป็นกรณีฟ้องเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2558 
             พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4 โรงแรม หมายความว่า สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ดังนี้ สถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 674 จะต้องเป็นสถานที่ซึ่งให้บริการทำนองเดียวกันกับโรงแรมหรือโฮเต็ล คือเป็นสถานที่ซึ่งมีลักษณะให้บริการเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใด สำหรับอพาร์ตเม้นท์ของจำเลยนั้น ศ. เช่าห้องพักของจำเลยสำหรับอยู่อาศัยและเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปสถานศึกษา แม้จะมีบุคคลอื่นเช่าห้องพักดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน แต่เห็นได้ว่าการให้บริการห้องพักของจำเลยมีลักษณะเป็นการให้เช่าพักอยู่อาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไปเท่านั้น มิใช่เป็นการให้เช่าบริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลใด ดังนี้ การประกอบธุรกิจของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น กล่าวคือ เช่นดังเจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ลที่จะนำบทบัญญัติวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับให้จำเลยต้องรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848 - 2849/2558 
               บริษัท บ. จำกัด ต้องการที่จะใช้รถเครนและรถขุดพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องการขายรถเครนและรถขุดพิพาทจึงติดต่อกับโจทก์ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทเพื่อนำออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าแบบลิสซิ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านเทคนิคของรถเครนและรถขุดพิพาท โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบด้วยการซื้อกลับคืนเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมดหากบริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ก็ตกลง โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเข้าทำสัญญาซื้อขายรถเครนและรถขุดพิพาทและทำสัญญาซื้อกลับคืนในวันเดียวกัน แล้วโจทก์นำรถเครนและรถขุดพิพาทออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าตามสำเนาแบบคำขอให้บริการเช่าโดยมีบริษัท ส. จำกัด และ ส. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่ารถของบริษัท บ. จำกัด ดังกล่าว ในการนี้โจทก์ได้รับประโยชน์ที่รวมอยู่ในค่าเช่า และจำเลยที่ 1 ได้กำไรจากการขายรถดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามวิธีการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ และคู่กรณีต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อกลับคืนอย่างแท้จริงโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่า สัญญาซื้อกลับคืนเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แยกต่างหากจากสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายฉบับเดิม ดังจะเห็นได้จากสัญญาซื้อกลับคืนเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัท บ. จำกัด ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า สัญญาซื้อกลับคืนจึงมีผลบังคับ กับมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันโดยแจ้งชัด และภายหลังจากที่บริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ก็เข้าผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนและหนังสือรับสภาพหนี้ติดต่อตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2549 เป็นเงินรวม 40 ล้านบาทเศษและขอให้โจทก์ฟ้องบริษัท บ. จำกัด เพื่อจะได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปตามสัญญาซื้อกลับคืนด้วย ซึ่งโดยสภาพแห่งสัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสร้งแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมแต่อย่างใด สัญญาซื้อกลับคืนจึงมิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาค้ำประกันหรือสัญญารับสภาพหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2558 
           เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558 
              สัญญาเช่า ข้อ 22 ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าระงับลง ผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน หากไม่ดำเนินการผู้เช่ายินยอมให้ค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินวันละ 5,000 บาท ต่อคูหา นับแต่วันที่สัญญาเช่าระงับจนถึงวันที่ผู้เช่าส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนเสร็จเรียบร้อย หรือวันที่ผู้ให้เช่าได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าแล้วแต่กรณี ถือว่าสัญญาเช่าได้กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการให้เช่าอาคารพาณิชย์บริเวณพิพาทเป็นคูหาละ 154,200 บาท ต่อเดือน ใกล้เคียงกับเบี้ยปรับตามสัญญา จึงชอบด้วยเหตุผล 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2558 
             ส. บิดาโจทก์เช่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และ ส. อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากกรมธนารักษ์ต่อจาก ส. โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทอีกต่อไปจึงฟ้องให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท แม้โจทก์ในฐานะผู้เช่าจะมีสิทธิเข้าใช้สอยทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยเข้าครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่ามาก่อน และจำเลยอยู่ในที่พิพาทก็โดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. ผู้เช่าเดิมไม่ได้อาศัยสิทธิโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดต่อกรมธนารักษ์เจ้าของที่พิพาท หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเรียกกรมธนารักษ์ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 545 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยลำพัง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยเพิ่งกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990 - 991/2558 
            แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18830/2557 
             การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยจ้างคนงานมาสร้างรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์สู่ทางสาธารณะนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลย โดยยื่นคำฟ้องพร้อมกับคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่า คือการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16527/2557 
               ตาม ป.พ.พ. มาตรา 546 บัญญัติว่า "ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยืนยันหน้าที่ของผู้ให้เช่าในอันที่จะต้องให้ผู้เช่าได้ใช้สอยหรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินที่เช่าในสภาพที่พร้อมจะให้ผู้เช่าทำการปลูกสร้างอาคารเพื่อดำเนินธุรกิจได้มีกำหนด 30 ปีตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยเข้าปลูกสร้างอาคารโดยโจทก์ยังมิได้ขอความเห็นชอบต่อกรมการศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 4 ที่ระบุว่า "การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา" สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าตรงตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเช่าแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำเงื่อนเวลาการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน นับแต่วันทำสัญญามาบังคับแก่จำเลยได้ จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิการเช่า จำเลยผู้เช่ายังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าจากจำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13383 - 13386/2557 
              ผู้เช่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เช่ามาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้เช่าประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งกับเป็นตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า และมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงตกลงส่งมอบรถยนต์ 3 คัน ให้ผู้เช่า แต่ความจริงผู้เช่าไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถยนต์แต่อย่างใด แม้จะชำระค่าเช่ามาบางส่วนแต่ก็เพื่อที่จะทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อและเพื่อฉ้อโกงรถยนต์คันต่อไปจากโจทก์เพิ่มอีกดังที่ได้ติดต่อไว้ จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์ดังกล่าวกันจริง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินคดีอาญากับ ม. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เช่าในเรื่องนี้ และศาลแขวงพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษ ม. ในความผิดฐานยักยอก โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้างต้น จึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานข้างต้นถือได้ว่าการกระทำของผู้เช่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถติดตามรถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนมาได้ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ที่ให้เช่าดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากถูกฉ้อโกงแล้ว และเมื่อสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า วินาศภัย ว่า ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญา จำเลยร่วมตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขและความคุ้มครองตามข้อ 5 ระบุว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่คดีนี้ฟังได้ว่าการที่รถยนต์ทั้งสามคันสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว แม้ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยร่วมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยก็เป็นการรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่วินิจฉัยมาแล้ว วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์ทั้งสามคันอันเกิดจากการฉ้อโกงคดีนี้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 ซึ่งในเงื่อนไขข้อดังกล่าวยังระบุว่าให้จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยร่วมทันทีและให้ถือว่าการคุ้มครองรถรถยนต์นั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะได้ติดตามรถยนต์ที่สูญหายคืนมาได้ 1 คัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือถึงจำเลยร่วมเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ที่สูญหายไปทั้งสามคัน และให้มารับซากรถยนต์ที่ติดตามได้คืนมาแล้ว อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.1.2 ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืน จำเลยร่วมจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในรถยนต์คันนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13043/2557 
              กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นความรับผิดไม่คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เมื่อ ส. ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน และ ส. เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่กลับแจ้งออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ส. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 มอบการครอบครองรถยนต์ให้ไป การกระทำของ ส. จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12803/2557 
              ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12017/2557 
               จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เกิดเหตุที่รถซึ่งโจทก์รับประกันภัยสูญหายจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์และหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัยอันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11419/2557 
             แม้การเช่าที่ดินพิพาทจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าก็ยังต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยผู้ให้เช่าตามสัญญา ไม่เช่นนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อความปรากฏว่าในคดีเรื่องก่อนที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องขับไล่เพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซึ่งจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้วนั้น คดีถึงที่สุดให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีเรื่องก่อนจึงต้องผูกพันไปตามคำพิพากษาในคดีเรื่องก่อนอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยซึ่งจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำมาอ้างเพื่อขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้อีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10924/2557 
              นิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ตกลงทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน จึงมิใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามสัญญาร่วมทุนแต่เนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ เป็นเรื่องที่ศาลต้องปรับข้อกฎหมายให้เข้ากับเนื้อหาของสัญญา หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ชื่อสัญญาจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่แท้จริงของสัญญา ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อหาของสัญญาได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8174/2557 
               ตามสัญญาเช่าเหมาเรือลงวันที่ 21 มกราคม 2553 ข้อ 6 เอ ซีและดีมีใจความโดยสรุปว่า การเช่าเรือครั้งนี้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือมุ่งหมายเอาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือเป็นสำคัญ ส่วนการเดินเรือและการจัดการเกี่ยวกับเรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยร่วม แต่เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของบริษัท ด. ยิ่งไปกว่านั้นในข้อ 7.เอ ยังมีข้อความระบุว่าบริษัท ด. มีหน้าที่จัดหาและจ่ายเสบียงอาหาร ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่และลูกเรือด้วยตนเอง จำเลยร่วมไม่มีส่วนรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย คงรับผิดชอบชำระค่าเรือให้แก่บริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเท่านั้น ลูกเรือของเรือเฮอริเทจเซอร์วิสและจำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่จำต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7225/2557 
            โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์ที่ 2 เพื่อทำนาโดยชำระค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก จำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์ทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่าพร้อมขับไล่จำเลยและเรียกค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ดังนี้ โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญาเช่าที่ดินกับจำเลย แม้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมก็ฟ้องขับไล่จำเลยตามสัญญาเช่าและเรียกค่าเช่าที่ดินไม่ได้ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การเช่านาให้มีการกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลาหรือมีต่ำกว่าหกปี ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลาหกปี" และมาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติว่า "ค่าเช่านาให้คิดเป็นรายปี ในอัตราไม่เกินอัตราขั้นสูงที่ คชก. ตำบลกำหนด..." ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 โจทก์ที่ 2 ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินเพื่อปลูกข้าวทำนามีกำหนดเวลาเช่า 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2552 ครบกำหนดเวลาวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 ข้อตกลงที่สถานีตำรวจภูธรท่าบ่อ ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานว่า ผู้ให้เช่าเรียกเก็บข้าวเปลือกจากผู้เช่าไร่ละ 9 กระสอบ หากผู้เช่ายังไม่ได้ทำสัญญาเช่า ห้ามผู้เช่าทำนาอีกต่อไปในที่นาของผู้ให้เช่า เป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และมาตรา 151 โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีก่อนครบกำหนดในวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 หาได้ไม่ ส่วนข้อพิพาทเกี่ยวกับการเก็บค่าเช่าและการชำระค่าเช่านั้น โจทก์ยังมิได้ขอให้ คชก. ตำบล พิจารณาวินิจฉัย ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 13 (2) โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ดิน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2557 
             หนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเป็นการตกลงว่า ถ้ามีการฟ้องคดีอันเกี่ยวกับสัญญาเช่านี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่ายอมชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตลอดทั้งค่าทนายความให้จนครบถ้วนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันจะพึงมีขึ้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ" ซึ่งมาตรา 153/1 บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียมตาม มาตรา 149 ... ให้ชำระตามวิธีการและอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามวิธีการและอัตราที่มีกฎหมายอื่นบังคับไว้" และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี" ดังนั้น สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับทนายโจทก์ ซึ่งตกลงกันเองไม่อาจนำมาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้แก่โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ตามที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดตามกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักของทนายความไม่อาจกำหนดให้ได้ เพราะมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายบัญญัติ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2557 
              ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินจากเรืออากาศตรีหญิง ว. เมื่อขณะยังมีชีวิตอยู่ ระยะเวลาเช่า 30 ปี ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2562 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของเรืออากาศตรีหญิง ว. จากนั้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาผิดสัญญาจะซื้อจะขาย และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ในระหว่างพิจารณาอันเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ไม่ว่าการเช่าที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าเดิมได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนอยู่อีกด้วย และได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย คดีเดิมมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ คดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสอง อันเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 มิได้ฟ้องขอบังคับชำระหนี้โดยตรงจากที่ดินพิพาทดังเช่นในคดีก่อนอีกด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาผูกพันคู่ความหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างเอาผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่ยังไม่ถึงที่สุดมาผูกพันโจทก์ในคดีนี้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้ทำสัญญาเช่าที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่ดินนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนในอันที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2557 
             หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก บันทึกข้อตกลงประกอบการเช่า ข้อ 2. ระบุว่า "ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้างต่อเติมและตกแต่งตัวอาคารโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งหมดนั้น ผู้เช่าตกลงยินยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้เช่านั้นทันที รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของผู้เช่าทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้นำเข้ามาในบ้านเช่า ยกเว้นตู้โค้กและแผงไฟชื่อป้ายหน้าร้านนอกตัวอาคาร" ซึ่ง ฉ. ย่อมต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว และถือได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ ฉ. ในฐานะผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของ ฉ. ทั้งสิ้น ทรัพย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายทันทีนับแต่วันที่นำเข้าไว้ในตึกแถว ฉ. จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวอีกต่อไป และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยและ ก. ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2557 
                 ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสี่ บัญญัติว่า ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามมาตรา 17, 33, 36 และ 37 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ต้องมีนิติบุคคลเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ย่อมหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ แม้หลังทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัย เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์ และตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคาร ก็เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 ยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนรวมทั้ง ส. ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้างก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั่นเอง ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ไป จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6179/2551
               โจทก์เป็นผู้มีสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุของกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง อาคารตึกแถวเลขที่ 231 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าขณะยื่นฟ้องเดือนละ 2,000 บาท แม้โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาเดือนละ 10,000 บาท ก็เป็นค่าเสียหายอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ให้เช่าช่วงแต่มีเจตนาโอนสิทธิการเช่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาเช่าช่วงเป็นนิติกรรมอำพรางการโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นนี้โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมิได้ รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายดัง กล่าว

สัญญาเช่าช่วงอาคารชั้นล่างบางส่วนมีข้อตกลงว่าเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะ เวลา การเลิกสัญญาจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 566 สัญญาเช่าช่วงดังกล่าวมีข้อตกลงระบุชำระค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ไม่ระบุวันที่ชำระค่าเช่าแน่นอน จึงต้องถือเอาวันสิ้นเดือนเป็นกำหนดชำระค่าเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 559 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงและจำเลยได้รับหนังสือวันที่ 4 สิงหาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 21 มีนาคม 2538 การบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6159/2551
เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้ง หลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เมื่อทรัพย์ที่เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกเพลิงไหม้ ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำ รายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดใน ทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยมี หน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพ เรียบร้อยเมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี

เหตุเกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดย สภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อมิใช่เหตุสุดวิสัยและมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2550
ป.พ.พ. มาตรา 563 หมายถึง การฟ้องคดีในกรณีที่ผู้เช่าปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 552 ถึงมาตรา 562 แต่กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าไฟฟ้าที่จำเลยค้างชำระและค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าจากจำเลยครบถ้วนตามสัญญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2550
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากอาคารพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพซ่อมแซมดีแล้วและใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะส่งมอบเสร็จแก่โจทก์ ชั้นบังคับคดีปรากฏว่า ต. เช่าอาคารพิพาทบางส่วนจากจำเลยทั้งสอง ต. จึงเป็นบริวารของจำเลยทั้งสองและถือได้ว่า ต. ได้ครอบครองอาคารพิพาทแทนจำเลยทั้งสองตลอดมาถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ต่อมา ต. ได้นำกุญแจห้องในอาคารพิพาทมอบให้แก่โจทก์ต่อหน้าศาล จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นในวันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้จนถึงวันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4644/2549
สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดและเมื่อผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว ถ้าขายได้ราคาไม่พอชำระค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อยังคงต้องชำระตามสัญญารวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดหักด้วยค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระแล้ว ผู้เช่าซื้อตกลงจะชดใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่เป็นการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า จึงไม่ตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) ทั้งไม่ใช่เป็นคดีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่อยู่ในอายุความ 6 เดือน เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3807/2549
โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้น เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ จะเอามาใช้กับสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อไม่ได้
ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิริบเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ไว้แล้วรวมทั้งเงินดาวน์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2549
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นทางเดินและที่ตั้งตลาดและทำสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากชำระค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าต้องชำระให้แก่ผู้เช่าเกินกำหนดเวลา ผู้เช่าต้องชำระเงินเพิ่มจากเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงตามสัญญาเช่าทรัพย์สิน การฟ้องเรียกเบี้ยปรับต้องดำเนินการฟ้องเสียภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2548
สัญญาเช่าข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งประกอบเป็นสิ่งที่เช่าให้อยู่ในสภาพดีและเรียบร้อย เพื่อซ่อมสิ่งที่สึกหรอจากการใช้งานตามปกตินั้น หมายถึงข้อสัญญาที่ให้ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ต้องบำรุงรักษาและทำการซ่อมแซมเล็กน้อยตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 553 บัญญัติไว้เท่านั้น หาได้หมายความว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดซ่อมแซมทรัพย์ที่เช่าในทุกๆ กรณีไม่
การซ่อมแซมใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ เป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ให้เช่าตามมาตรา 547 หาใช่เป็นการบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเล็กน้อยอันจะตกอยู่ในความรับผิดของโจทก์ผู้เช่าไม่ ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้ให้เช่าจึงเป็นฝ่ายต้องรับผิดในการซ่อมแซมดังกล่าวตามมาตรา 550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8879/2547
กำหนดอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้นจะต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้บังคับอยู่ แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สำหรับกรณีที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้วนำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032/2547
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 563 มิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่า การใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า จะต้องเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างสัญญาเช่าซื้อมีผลใช้อยู่ แต่การที่ ป.พ.พ. มาตรา 563 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า แสดงว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต้องเกิดขึ้นแล้วในวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า โดยอาจเกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้อยู่ หรือระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังครอบครองทรัพย์สินอยู่ แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ในราคาน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะทราบได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและขายไปแล้ว จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2545
จำเลยไม่ได้นำสืบว่าเมื่อจำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าคืนมารถยนต์ที่เช่าชำรุดหรือมีความบุบสลายเพราะความผิดของโจทก์อันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าเสื่อมสภาพ เสื่อมราคา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 562 วรรคแรก และตามสัญญาเช่าไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องรับผิดในราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ขาดอยู่เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่อาจเรียกราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ขาดอยู่ จากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2543
คำว่า ส่งทรัพย์สินที่เช่าตามถ้อยคำในมาตรา 563 ป.พ.พ. มิได้ให้คำจำกัดความไว้ และการส่งคืนทรัพย์สิน ที่เช่าตามมาตราดังกล่าว กฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้ให้เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือการบอกเลิกสัญญาเช่าและตามความในมาตรา 564 ถึงมาตรา 571 (ความระงับแห่งสัญญาเช่า) ก็ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า ถ้าได้มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าแล้วให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุด ฉะนั้นอายุความ 6 เดือน ตามมาตรา 563 จึงต้องเป็นเรื่องการส่งคืนทรัพย์ที่เช่าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือการบอกเลิกสัญญาเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8602/2542
จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยและจะใช้ที่ดินของโจทก์และจำเลยเพื่อทำสวนส้ม จึงต้องปรับแต่งหน้าดินของโจทก์และจำเลยให้มีระดับหน้าดินเท่ากันก่อนจะขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำ การที่จำเลยนำดินที่ขุดจากที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลยเพื่อให้มีระดับพื้นดินเท่ากัน เป็นการปรับปรุงที่ดินทั้งของโจทก์และจำเลยให้มีสภาพเหมาะสมแก่การทำสวนส้ม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่เช่าตามประเพณีนิยมปกติ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดินแล้วโจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยปรับแต่งหน้าดินให้เรียบหรือคงไว้ในสภาพเดิมได้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์ โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวบอกเลิกสัญญาเช่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2541
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและโรงสีข้าวจากธนาคารแล้วนำไปให้จำเลยเช่า ต่อมาเกิดเพลิงไหม้โรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมดแม้ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้คดีนี้ โจทก์ยังชำระราคาค่าที่ดินและโรงสีข้าวให้แก่ธนาคารยังไม่ครบตามสัญญา ธนาคารยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและโรงสีข้าวก็ตาม แต่โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและโรงสีข้าวตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โดยโจทก์ได้ให้จำเลยเช่าอาคารโรงสีข้าวเครื่องจักร อุปกรณ์โรงสีข้าวพร้อมทั้งยุ้งฉาง สำนักงาน บ้านพักคนงาน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาจากธนาคาร อีกทั้งเมื่อโจทก์ชำระราคาที่ดินและโรงสีข้าวครบ โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์นั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าทรัพย์ดังกล่าวให้รับผิดได้
เหตุเพลิงไหม้โรงสีข้าวเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และเมื่อไม่ปรากฏว่าเหตุไฟฟ้าลัดวงจรนั้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6497/2540
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่รถยนต์ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมราคานอกเหนือจากการที่จำเลยใช้รถยนต์นั้นโดยชอบ ป.พ.พ.บรรพ 3. ลักษณะ 5ว่าด้วยเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยตรง แต่การที่จำเลยในฐานะผู้เช่าซื้อเป็นแต่เพียงเช่าทรัพย์นั้นไป โดยมีคำมั่นของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่าจะขายทรัพย์นั้นให้เท่านั้น จึงต้องนำมาตรา 562 ในลักษณะเช่าทรัพย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม เมื่อโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนได้วันที่ 23 มีนาคม 2537กรณีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 7 กันยายน 2537ยังไม่เกินกำหนด 6 เดือน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2540
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากตึก 5 ชั้นที่พิพาท อันมีค่าเช่าที่ตกลงในขณะทำสัญญาวันที่ 13 มกราคม 2526 กำหนดอัตรากันไว้เดือนละ 500 บาท และจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้นและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ยังอยู่ในอายุสัญญาเช่าที่จำเลย ได้ทำไว้โดยจำเลยได้ชำระเงินค่าจองตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญา จองเช่าอาคารจำนวน 1,620,000 บาท ให้แก่โจทก์ เพื่อให้จำเลยมีสิทธิได้จดทะเบียนเช่าอยู่ในตึกพิพาทมีกำหนดระยะยาวนาน เป็นเวลา 25 ปี 6 เดือน 7 วัน เงินค่าจองเช่าจำนวน1,620,000 บาทดังกล่าว เป็นเงินที่ทำให้จำเลยสามารถมีสิทธิได้อยู่ในห้องเช่าของโจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงจดทะเบียนเช่ากันไว้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่ชำระไว้ล่วงหน้าให้โจทก์ โจทก์จึงมี สิทธินำเงินค่าจองเช่าอาคารนี้มาคำนวณแล้วคิดเฉลี่ยเป็นค่าเช่า รายเดือนตามระยะเวลาเช่าที่กำหนดไว้ได้ แล้วนำเงิน ค่าเช่ารายเดือนเดือนละ 500 บาท ตามสัญญามารวมซึ่งเมื่อคิดเฉลี่ยแล้วเป็นเงินค่าเช่าเกินเดือนละ 5,000 บาทจึงไม่ต้องห้ามโจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองเดิมที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่โจทก์ยื่นฎีกา คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2534
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2540)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6184/2540
โจทก์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยผู้เช่าแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าการที่จำเลยทุบผนังอาคารพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์อันเป็นการผิดสัญญาเช่าข้อ 4 วรรคสอง ที่ระบุว่า หากผู้เช่าจะดัดแปลงสถานที่ที่เช่าผู้เช่าสัญญาว่าจะขออนุญาตต่อผู้ให้เช่าก่อน เมื่อผู้ให้เช่าเห็นชอบและมีหนังสืออนุญาตแล้ว จึงกระทำการดังกล่าวได้ ฯลฯ และเมื่อตามสัญญาเช่าข้อ 4 วรรคสอง ตอนท้ายระบุว่า ถ้าผู้เช่าฝ่าฝืนให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิบังคับผู้เช่าให้ทำให้กลับคืนสภาพเดิมโดยผู้เช่าออกค่าใช้จ่ายเอง อันเป็นการระบุสภาพบังคับโดยเฉพาะให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิบังคับให้ผู้เช่าทำให้กลับสู่สภาพเดิมเท่านั้น แม้ในสัญญาเช่าข้อ 12 ระบุว่าหากผู้เช่ากระทำผิดข้อสัญญา แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่งแห่งสัญญานี้ ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที ฯลฯ ก็เป็นการกำหนดไว้กว้าง ๆ สำหรับการผิดสัญญาข้อที่ไม่ได้ระบุสภาพบังคับไว้โดยเฉพาะว่าให้ดำเนินการอย่างไร ดังนั้นเมื่อกรณีที่ผิดสัญญาข้อ 4 นั้น ได้ระบุไว้ชัดแจ้งโดยเฉพาะแล้วว่าผู้ให้เช่ามีสิทธิบังคับให้รื้อถอนหรือทำให้กลับคืนสภาพเดิม โดยผู้เช่าออกค่าใช้จ่ายเอง ฉะนั้น จึงจะนำสัญญาข้อ 12ซึ่งเป็นกรณีทั่วไปมาใช้บังคับไม่ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย
สัญญาเช่าห้องแถวที่พิพาทระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเช่าอาคารพิพาท2 คูหา เพื่อประกอบการค้าและอยู่อาศัย และจำเลยที่ 1 ผู้เช่ามีความประสงค์ในการเช่าอาคารพิพาท 2 คูหา เพื่อทำเป็นร้านแสดงสินค้าจำพวกกระเบื้องดินเผา ซึ่งจำเป็นต้องใช้สถานที่กว้าง เหตุที่จำเลยที่ 1 ทุบผนังที่กั้นระหว่างอาคารพิพาท 2 คูหาออกก็เพื่อประกอบการค้าตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ และการกระทำของจำเลยไม่ปรากฏว่าทำให้โครงสร้างหรือฐานรากของอาคารพิพาทเสียหายแต่อย่างใด เมื่อคำนึงถึงทำเลที่ตั้งอาคารพิพาทซึ่งอยู่ริมถนนใหญ่ติดกับตลาดอันเป็นบริเวณที่ทำการค้าและจำเลยต้องจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างในการเช่าอาคารพิพาท2 คูหา เป็นจำนวนเงินถึง 4,800,000 บาท ก็เพื่อทำอาคารพิพาทเป็นร้านแสดงสินค้าอันเป็นประโยชน์ในการประกอบการพาณิชย์ นอกจากนี้อาคารพาณิชย์จำนวน 11 คูหาของโจทก์ซึ่งรวมทั้งอาคารพิพาทก็เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาติดกัน และไม่มีผนังกั้นกลาง โดยผู้เช่า 2 ราย ได้ขออนุญาตทุบผนังออก ซึ่งหากจำเลยมาขออนุญาต โจทก์ก็จะอนุญาตเช่นเดียวกัน ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองทำผิดสัญญาเช่าก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงความประสงค์ของจำเลยที่ทำไปในทางสุจริตเพื่อประกอบการพาณิชย์ โดยพิเคราะห์ถึงอาคารพาณิชย์ข้างเคียงที่เช่าจากโจทก์ซึ่งมีการทุบผนังอาคารออกอันเป็นปกติประเพณีในการเช่าอาคารพาณิชย์ทั่วไปด้วยแล้วการที่จำเลยผิดสัญญาดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2540
จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถนนพิพาทและตึกแถวที่โจทก์เช่า จึงมีสิทธิที่จะให้ใครใช้ถนนพิพาทหรือไม่ก็ได้ ส่วนการที่โจทก์มีสิทธิใช้ถนนพิพาทก็เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถวของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ริมถนนพิพาท แต่ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสนอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 553 โจทก์จึงต้องสงวนถนนพิพาท เมื่อการให้รถบรรทุก 6 ล้อ และ 10 ล้อ แล่นเข้ามาในถนนพิพาทเป็นเหตุให้ถนนพิพาทชำรุดเร็วยิ่งขึ้น ดังนี้ การที่จำเลยปิดกั้นถนนพิพาทและห้ามโจทก์ใช้รถบรรทุก 10 ล้อของโจทก์วิ่งผ่านจึงเป็นการสมควรแล้ว และแม้ในสัญญาเช่าจะระบุว่าให้เช่าตึกแถวเพื่อการค้าและอยู่อาศัยก็ตาม แต่เมื่อสัญญาเช่าไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าเป็นการค้าขายประเภทใด ซึ่งหากเป็นการตั้งโรงงานใช้รถบรรทุก 10 ล้อ จำเลยอาจไม่ให้เช่าก็ได้ และจำเลยไม่ได้ห้ามเด็ดขาดมิให้รถยนต์แล่นเข้าออกถนนพิพาทเสียทีเดียวรถยนต์ 4 ล้อและรถปิกอัพก็สามารถแล่นเข้ามาได้ เพียงแต่โจทก์ไม่ได้รับความสะดวกเท่านั้นเอง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2538
เมื่อกรณีเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมีส่วนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้โดยมิชอบ ไม่สงวนทรัพย์สินเสมอกับวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถยนต์ชำรุดเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดในส่วนที่รถยนต์ขายได้ราคาต่ำลงมาเนื่องจากความชำรุดเสียหายดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 562ทั้งข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ก็ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ถ้าปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อตกอยู่ในสภาพเสื่อมเหลือมูลค่าเป็นเงินไม่คุ้มกับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระทั้งหมดตามสัญญารวมกับหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยยังคงค้างชำระอยู่ จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินที่ยังขาดอยู่เป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนครบถ้วนด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7371/2537
เกี่ยวกับความรับผิดของผู้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 562 นั้นหากความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่ามิใช่เกิดจากการใช้ทรัพย์สินโดยมิชอบ และมิใช่เป็นการกระทำของผู้เช่าหรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วงผู้เช่าก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า ส่วนข้อตกลงรับผิดนอกเหนือจากนี้ที่มีระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเป็นเรื่องที่บังคับได้ระหว่างคู่กรณีเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวหาก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้เช่าในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่าจากบุคคลภายนอกผู้ทำละเมิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6278/2537
ที่ดินและตึกแถวที่เกิดเพลิงไหม้เป็นของบิดาโจทก์ บิดาโจทก์ให้ ข. มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต ข. ให้จำเลยเช่าเป็นเวลา7 ปี เมื่อบิดาโจทก์และ ข. ถึงแก่ความตายระหว่างสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดลง โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินและตึกแถวดังกล่าว จึงรับโอนสิทธิหน้าที่ที่บิดาโจทก์ทั้งสองมีอยู่รวมถึงสิทธิที่ ข. ผู้มีสิทธิเก็บกินให้จำเลยเช่านี้ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย สัญญาเช่าระบุวัตถุประสงค์การเช่าว่าเพื่อใช้ประกอบธุรกิจการค้า การที่จำเลยนำสินค้าของจำเลยซึ่งมีกล่องกระดาษบรรจุสินค้าและเศษกล่องกระดาษที่ใช้แล้วเก็บไว้ในตึกแถวพิพาทจำนวนมากเป็นการใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากการที่กำหนดไว้ในสัญญาจำเลยไม่จัดให้มีเครื่องดับเพลิงและเวรยาม แม้ผลการสอบสวนไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลใดทำให้เกิดเพลิงไหม้ก็ตาม แต่เหตุเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ก็เพราะความผิดของจำเลยดังกล่าวมาแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 552 และมาตรา 562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2535
การที่จำเลยผู้เช่ายังคงอยู่ในอาคารพิพาทที่เช่าต่อมา และโจทก์ผู้ให้เช่าได้นำเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อชำระค่าเช่าไปเรียกเก็บเงินถือว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าโดยบอกกล่าวให้จำเลยรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 ถือว่าสัญญาเช่าอาคารพิพาทได้เลิกกันแล้ว การที่จำเลยยังคงครอบครองอาคารพิพาทหลังจากนั้น ย่อมเป็นการละเมิดซึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ได้นำเช็คที่จำเลยออกให้ไปเรียกเก็บเงินอีก ก็เป็นการเรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าเสียหายเท่านั้น หามีผลเกิดเป็นสัญญาเช่าไม่ การที่จำเลยทำการปรับปรุงพื้น ซ่อมหลังคา ทาสีและกั้นห้องในอาคารพิพาท นั้น ถือว่าเป็นการซ่อมแซมตามปกติซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 553 และเป็นการทำเพื่อให้สวยงามและความสะดวกสบายของจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3974/2533
แม้จำเลยจะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการที่ ส. นำรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิด แต่เหตุที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกยึดก็เนื่องจากจำเลยให้ ส. ยืมไปอันเป็นความผิดของจำเลยเอง หาใช่เกิดจากการกระทำของฝ่ายโจทก์ไม่ จำเลยจะอ้างการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนยึดมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อหาได้ไม่สัญญาเช่าซื้อยังไม่ระงับ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ ให้แก่โจทก์จนกว่าครบถ้วนตามสัญญาหรือมีการบอกเลิกสัญญาโดยชอบ สัญญาเช่าซื้อกำหนดดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าเช่าซื้อที่ผิดนัดค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี แต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างผิดนัดเท่านั้น หามีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452/2525
สัญญาเช่ารถยนต์เป็นสัญญาเดิมที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด กับโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยตั้งขึ้นเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับโอนกิจการและทรัพย์สินของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาดำเนินกิจการ ได้เช่ารถยนต์คันพิพาทสืบต่อมาโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่จึงนำสัญญาเช่าซึ่งมีอยู่เดิมมาใช้บังคับได้
สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่า รวมถึงความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุและเหตุสุดวิสัย เป็นต้นข้อที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่านั้น หมายความถึงการที่ผู้เช่าใช้รถที่เช่าอย่างปกติธรรมดาตามประเพณีนิยม โดยได้สงวนทรัพย์สินนั้นเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ผู้เช่าจึงจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่าง ๆ ที่โดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการใช้รถที่เช่า เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าได้ขับรถยนต์ที่เช่าด้วยความประมาทไปชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2522
จำเลยเช่าหม้อแปลงไฟฟ้าจากโจทก์แล้วถูกคนร้ายลักเอาไปตามสัญญาผู้เช่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเว้นแต่เหตุสุดวิสัย แต่หม้อแปลงไฟฟ้าที่จำเลยเช่าติดตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวนอกที่ดินจำเลยห่างบ้านจำเลยถึงครึ่งกิโลเมตรเศษ จำเลยไม่อยู่ในวิสัยที่จะป้องกันมิให้คนร้ายลักเอาหม้อแปลงไฟฟ้าในยามวิกาล ขณะเกิดเหตุฝนตกลมแรงซึ่งปกติไฟดับได้ การที่จำเลยไม่ออกไปตรวจดูในขณะนั้นจะถือว่าจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายไม่ได้ การที่คนร้ายลักหม้อแปลงไฟฟ้าในกรณีเช่นนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งจำเลยไม่อาจป้องกันได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ที่มา :
http://deka2007.supremecourt.or.th/deka/