ตั๋วเงิน (บททั่วไป)

มาตรา ๘๙๘ อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่งคือ ตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่ง คือ เช็ค

มาตรา ๘๙๙ ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา ๙๐๐ บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อม จะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงไดหรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา ๙๐๑ ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา ๙๐๒ ถ้าตั๋วเงินลงลายมือชื่อของบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลไซร้ ท่านว่าการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน

มาตรา ๙๐๓ ในการใช้เงินตามตั๋วเงิน ท่านมิให้ให้วันผ่อน

มาตรา ๙๐๔ อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา ๙๐๕ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐๘ บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่ง ข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา ๙๐๖ คำว่าคู่สัญญาคนก่อน ๆ นั้น รวมทั้งผู้สั่งจ่าย หรือผู้ออกตั๋วเงินและผู้สลักหลังคนก่อน ๆ ด้วย

มาตรา ๙๐๗ เมื่อใดไม่มีที่ในตั๋วเงินซึ่งจะสลักหลังได้ต่อไปไซร้ท่านอนุญาตให้เอากระดาษแผ่นหนึ่งผนึกต่อเข้ากับตั๋วเงินเรียกว่าใบประจำต่อ นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งตั๋วเงินนั้น
การสลักหลังในใบประจำต่อครั้งแรกต้องเขียนคาบบนตั๋วเงินเดิมบ้างบนใบประจำต่อบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2550
เช็ค พิพาททั้งสองฉบับระบุจ่ายชื่อโจทก์หรือผู้ถือ จึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาททั้งสองฉบับในขณะที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสอง ฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์ได้สลักหลังโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่ ธนาคาร ม. ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้กลับมาอยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์อีก ในฐานะเป็นผู้รับเงิน โจทก์ย่อมกลับมาเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายอีก ครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 904
จำเลยให้การว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าใด ๆ จากโจทก์ จำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และลาย มือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์ หากศาลฟังว่าโจทก์และจำเลยมีการซื้อขายเพชรพลอยกันจริง การซื้อขายก็ไม่เกิน 3,000,000 บาท ชอบที่จำเลยจะรับผิดเพียง 3,000,000 บาท เพราะเพชรบางรายการจำเลยได้คืนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนตามเช็คทั้งสองฉบับ จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว ครั้งแรกจำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้ซื้อสินค้าใด ๆ จากโจทก์และไม่ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ค่าซื้อสินค้า แต่ขณะเดียวกันจำเลยกลับให้การว่าจำเลยได้คืนเพชรบางรายการให้แก่โจทก์แล้ว หากฟังว่าเป็นหนี้ก็ไม่เกิน 3,000,000 บาท จำเลยไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ซึ่งเท่ากับจำเลยให้การยอมรับด้วยว่า จำเลยได้ซื้อเพชรพลอยไปจากโจทก์และได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์ ไว้ เพียงแต่จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพียง 3,000,000 บาท ตามจำนวนสินค้าที่ซื้อไปจากโจทก์นั่นเอง เช่นนี้ คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง และทำให้จำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามคำให้การดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2550
แม้ ในใบตราส่งช่องลายมือชื่อของผู้ขนส่งที่มุมขวาด้านล่างจะใช้คำว่า VIRGO LINE by LEO TRANSPORT CORPORATION LTD. AS AGENT FOR THE CARRIER ซึ่งแปลได้ความว่าโจทก์ในฐานะตัวแทนเพื่อ VIRGO LINE ผู้ขนส่ง แต่ใบตราส่งนี้เป็นเพียงหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่ตัวสัญญารับขนของทางทะเล และสัญญารับขนของทางทะเลไม่มีแบบ โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารนี้ได้ว่าโจทก์รับขน ของทางทะเลโดยใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่า VIRGO LINE อันเป็นชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และโจทก์ใช้เป็นชื่อในการออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางทะเลมีสิทธิเรียกค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งจากจำเลยที่ 1 และที่ 2
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบธุรกิจค้าขายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยร่วมขายสินค้าและติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งกับชำระค่าจ้างขนส่ง และค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งเป็นผู้ชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งโดยชำระด้วยเช็คส่ง มอบให้โจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นและยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ส่งร่วม กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าทางทะเลดังที่โจทก์นำสืบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2550
โจทก์ ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำข้อเท็จจริงตามบันทึกที่ระบุว่าในกรณีที่เช็คถึงกำหนดชำระแล้วไม่สามารถ เรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยอมรับผิดชอบค่าเสียหายต่อผู้ทรงเช็คในฐานะส่วนตัวมาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้า บัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2550
จำเลย เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาท จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
ข้อที่จำเลยนำสืบเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ ท. นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็น สมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่ ท. ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลัง ถือได้ว่า ท. เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ไม่
จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อ ท. ผู้ทรงคนก่อน การที่ ท. ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยการส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับ ท. ผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และ ท. ผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกันในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 918, 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2549
จำเลย ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความใน เช็คนั้น เมื่อจำเลยทั้งหมดให้การต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว โดยจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ให้แก่โจทก์เป็นการตีใช้หนี้ อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดตามเช็ค หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ตีใช้หนี้ตามเช็คฉบับอื่น เป็นเพียงการนำสืบแก้ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นโต้เถียงในคำให้การ เท่านั้น หน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้หาได้ตกอยู่แก่โจทก์ไม่
จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำสืบ แต่นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์แล้วตาม ข้อกล่าวอ้าง หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็ค
แม้โจทก์จะอ้างเอกสารซึ่งเป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายเฉพาะด้านหน้าของเช็คก็ตาม แต่โจทก์อ้างว่าได้มอบต้นฉบับเช็คคืนแก่จำเลยทั้งสองไปแล้ว จำเลยทั้งสองคงคัดค้านเพียงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนา มิได้คัดค้านว่า ต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ทั้งมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ต้นฉบับเช็คอยู่ที่จำเลยทั้งสองจริงหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ศาลจึงรับฟังสำเนาเช็คดังกล่าวประกอบคำเบิกความของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2549
จำเลย และ ป. ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัท ร. ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นกรรมการ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับแม้จะเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ซื้อ แต่เป็นเช็คที่จำเลยและ ป. ร่วมกันออกเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่บริษัท ร. มิใช่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นส่วนตัว บริษัท ร. จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท แม้โจทก์ร่วมจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ร. โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ จำเลยได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7544/2548
จำเลย ต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 การที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้เงินค่าแชร์กับหนี้เงินต้นเงินยืมตามเช็คพิพาทกับ ดอกเบี้ยนั้น ถือว่าจำเลยประสงค์จะนำหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนี้จำเลยจำนวน 800,000 บาท มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามเช็คพิพาทในชั้นศาล โจทก์นำสืบโต้เถียงว่าโจทก์กับจำเลยได้ตกลงหนี้สินระหว่างกันแล้วโดยให้หัก ค่าแชร์ที่โจทก์จะต้องชำระอีก 1,200,000 บาท กับหนี้เงินยืมที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ เมื่อตกลงแล้วโจทก์ได้คืนเช็คตามจำนวนหนี้ที่หักหนี้ให้แก่จำเลยและจำเลยมี หน้าที่ชำระค่าแชร์แทนโจทก์ หลังจากหักหนี้กันแล้วจำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 759,040 บาท ซึ่งจำเลยได้สั่งจ่ายเป็นเช็ค 4 ฉบับ อันเป็นการต่อสู้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยนั้นระงับไปแล้ว ด้วยการหักกลบลบหนี้ โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องชำระแก่จำเลยอีก ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องที่จำเลยนำมาหักกลบลบหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 344 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่" ดังนั้นจำเลยจึงนำสิทธิเรียกร้องค่าแชร์ที่ชำระแทนโจทก์ไปขอหักกลบลบหนี้กับ โจทก์ตามเช็คพิพาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548
เช็ค พิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2548
จำเลย ให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ช. เพื่อเป็นหลักประกัน ช. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียก เก็บเงินนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับ ช. ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ที่จะนำสืบ เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ ช. ผู้ทรงย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับ จำเลย ทั้งเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้ผู้ถือ เบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ผู้ทรงรับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่ง จำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547
ป.พ.พ. มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน?" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไป เช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547
เช็ค พิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2543
จำเลย ที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ได้ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริต กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ได้โอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับและฉบับอื่นให้แก่โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉล โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย คำให้การดังกล่าวเป็นเพียงคำให้การปฏิเสธที่ไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธ ว่า คบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ได้ อย่างไรก็ตามคำให้การที่ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบ เท่ากับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าสิทธิของโจทก์ที่ได้เช็คมานั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คที่ฟ้องในฐานะผู้ทรงเนื่องจากไม่ มีมูลหนี้นั่นเอง จำเลยที่ 1 ย่อมกล่าวอ้างและนำสืบได้เพราะเป็นการยกข้อต่อสู้ที่มีต่อโจทก์ซึ่งเป็น ผู้ทรงคนปัจจุบัน มิใช่ข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ทรงคนก่อน ๆ อันจะเป็นการขัดต่อมาตรา 916

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
จำเลย ให้การว่า จำเลยกู้เงินบ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมาบ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
เช็ค เป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรง ทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้นข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นการห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่จำเลยออกเช็คพิพาทโดยขีดเส้นสีดำในช่องวันที่ไว้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 899 กรณีถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารย่อมลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้ายประกอบ มาตรา 989 จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อ บ. เป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกแม้จำเลยอ้างว่าประสงค์จะออกเช็คระบุชื่อ แต่ด้วยความไม่สันทัดของจำเลยจึงมิได้ ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกก็ตาม ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ มีผลเป็นการประกัน หรืออาวัลผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึงไม่ต้องมีการเขียน ข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัลอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1084/2542
จำเลย สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คถึงกำหนด แม้โจทก์จะนำเข้า บัญชีมารดาโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินและถูกธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงการนำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินโดย อาศัยบัญชีของมารดาแทนเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่มารดาโจทก์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและ เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีได้ การที่โจทก์เป็น ผู้ทรงเช็คพิพาท นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารตามเช็คเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายฉะนั้น ไม่ว่าโจทก์จะนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เองเพื่อเรียก เก็บเงิน หรือเข้าบัญชีของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงินแทนก็เป็น เพียงรายละเอียดในการนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเท่านั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงมิใช่แตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็น เหตุให้ศาลยกฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2541
เช็ค พิพาทเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ ผู้ทรงคนเดิม มีสิทธิโอนต่อให้บุคคลอื่นได้และย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918ประกอบมาตรา 989 เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทโดยการส่งมอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ครอบครองเช็คในฐานเป็นผู้รับเงินโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท โดยชอบตามมาตรา 904 และมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้สั่งจ่ายให้รับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทได้ เช็คพิพาทนั้นไม่ปรากฏข้อความในเช็คว่าจำเลยที่ 2ได้เขียนระบุว่าได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย แม้จำเลยที่ 2 ประทับตราของจำเลยที่ 1ในเช็คพิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ได้กรณีจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทโดยมิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 901

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7121/2539
จำเลย ที่1และที่2เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของบริษัทอ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นของบริษัทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ของบริษัทและของจำเลยที่1แต่จำเลยที่1และที่2มิได้ประทับตราของบริษัทด้วย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1และที่2ไม่ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยระบุว่า กระทำการแทนบริษัทดังกล่าวดังนั้นจำเลยที่1และที่2จึงต้องร่วมกันรับผิดตาม เนื้อความที่ปรากฏในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา900,901

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2537
จำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนคือ ท. หรือน. ร่วมกับกรรมการอื่นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ระบุให้ชัดว่ากระทำแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2536
เมื่อ ได้ความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์โดยมีมูลหนี้ระหว่างกันจึงหาต้องคำนึง ถึงการรับโอนของผู้ทรงคนต่อมาว่าสุจริตหรือไม่ เพราะจำเลยไม่สามารถยกข้อต่อสู้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ขึ้นต่อสู้ผู้ทรงคนก่อน ได้อยู่แล้ว เช็คพิพาทเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับดวงตราสำคัญแบบใหม่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนการใช้ จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย แต่การที่เช็คพิพาทลงลายมือชื่อบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลยหรือเป็นได้แต่ไม่ เต็มผล ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 902 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามเช็ค จำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพียงแต่อ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ดังนี้แม้เช็คพิพาทจะปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5250/2533
เช็ค ผู้ถือมีรายการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แม้จะมีข้อความอื่นบันทึกไว้ด้านหลังเช็คและถูกขีดฆ่าก่อนที่โจทก์ได้รับมา ข้อความดังกล่าวก็หามีผลกระทบต่อเช็คไม่ และถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เช็คมาโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์เป็นธนาคารได้รับเช็คจากลูกค้าเพื่อชำระหนี้ตามปกติทางการค้า หาจำต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถึงที่มาหรือฐานะของผู้สั่งจ่ายเช็คไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์คบคิดกับลูกค้าฉ้อฉลจำเลย จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2528
ข้อ สัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างโจทก์จำเลยมีว่า การสั่งจ่ายเช็คต้องลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดย ฉ. และ จ. ร่วมกันพร้อมทั้ง ประทับตราบริษัทโจทก์เป็นสำคัญ เช็คพิพาททั้งสองฉบับปรากฏว่า ลายมือชื่อจ.เป็นลายมือปลอมเช็คนั้นจึงเป็นอันใช้ไม่ได้เลย เพราะมีแต่ฉ.ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่ผู้เดียวจำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ดังกล่าวย่อมไม่ทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นและยังเป็นการผิดสัญญา เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวด้วย การที่ ฉ. ลง ลายมือชื่อแท้จริงในเช็คไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์อยู่ในฐานเป็น ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทั้งกรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1006 การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ที่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายปลอม โดยที่จำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า โจทก์ได้ทำปลอมหรือได้ร่วมกระทำปลอมแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธินำจำนวนเงินที่จ่ายไปตามเช็คมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ว่าโจทก์ เป็นลูกหนี้จำเลยและโจทก์มีสิทธิให้จำเลยเพิกถอนรายการนั้นเสียได้
โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและให้ จำเลยคืนเงินที่จำเลยจ่ายไปตามเช็คซึ่งลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายเป็น ลายมือชื่อปลอม แล้วนำจำนวนเงินนั้นมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แสดงว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนธันวาคม 2518 และฟ้องคดีนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2525 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2521
การ ที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินยอมผ่อนเวลาให้กับผู้ออกตั๋วนั้นไม่เป็นเหตุให้ ผู้รับอาวัลหลุดพ้นจากความรับผิด เพราะผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกันจึง อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับผู้ออกตั๋ว และไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตามหลักทั่วไปในเรื่องค้ำประกัน
ผู้รับอาวัลสั่งจ่ายเช็คจำนวนหนึ่งผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้ เงินเป็นการรับสภาพหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น และย่อมเป็นเหตุให้อายุความสดุดหยุดลง