มาตรา ๘๔๕ บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้นความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ
มาตรา ๘๔๖ ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
มาตรา ๘๔๗ ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดีเป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่
มาตรา ๘๔๘ ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา ๘๔๙ การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20654/2556
คำฟ้องของโจทก์ระบุข้อหาหรือฐานความผิดว่าเป็นการเรียกค่านายหน้า และบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนขายห้องชุดของจำเลย ซึ่งสัญญาระบุว่า ถ้าโจทก์หาคนมาซื้อห้องชุดภายใน 5 เดือน นับแต่วันทำสัญญา จำเลยตกลงจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ซื้อขาย ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าบำเหน็จนายหน้า โดยอาศัยเหตุตามข้อ 2 ของสัญญา ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์ก็ต่อเมื่อสัญญาที่จำเลยขายห้องชุดแก่ ม. นั้น ได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยขายห้องชุดให้แก่ ม. โดยมิได้เกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อ 2 ของสัญญาที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาข้อ 5 ของสัญญาซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยขายห้องชุดได้โดยมิได้เกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัย และพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยตีความว่าเป็นการตกลงค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้ง ๆ ที่ข้อตกลงดังกล่าว มิใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา จึงเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7604/2553
ทางนำสืบของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องปรากฏว่าเงินจำนวนที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่เงินส่วนที่ต่ำกว่าไร่ละ 65,000 บาท ตามที่อ้างว่าเป็นข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าหากแต่เป็นเงินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับพวกซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาไร่ละ 50,000 บาท แล้วนำมาเสนอขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท ส่วนที่เกินไร่ละ 10,000 บาท ตกเป็นของโจทก์กับพวก อันมีลักษณะเป็นการหากำไรจากการซื้อขายที่ดินตามปกติ และเมื่อพิจารณาจากหนังสือทวงถามเงินและสรุปรายการซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์เป็นคนทำเอกสารดังกล่าวเองก็ยิ่งปรากฏชัดเจนว่า เป็นเรื่องที่โจทก์กับพวกซื้อที่ดินมาขายให้แก่ฝ่ายจำเลยจริง โดยเอากำไรจากราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมาหักออกจากราคาที่ตั้งขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายของเจ้าของที่ดินชื่อ ข. ที่ปรากฏในลำดับที่ 6 โจทก์ไปซื้อที่ดินรายนี้มาในราคาไร่ละ 100,000 บาท ขายให้แก่ฝ่ายจำเลยราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยโจทก์จ่ายเงินเพิ่มเอง อันเป็นผลขาดทุนในการซื้อขายที่ดินรายนี้ ทำให้เห็นเจตนาของทั้งสองฝ่ายว่าการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทุกแปลงรวมทั้งแปลงพิพาทเป็นเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายที่ดินกัน หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาถูกเมื่อนำไปขายในราคาที่ตกลงกัน โจทก์ก็มีกำไรมาก หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาแพงก็จะมีกำไรน้อย และโจทก์อาจขาดทุนได้หากซื้อที่ดินมาในราคาสูงกว่าที่ตกลงขายให้แก่ฝ่ายจำเลย ลักษณะการทำธุรกิจกันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการชี้ช่องให้ฝ่ายจำเลยได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาค่าบำเหน็จนายหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6952/2552
โจทก์ฟ้องเรียกค่าบำเหน็จและเงินส่วนเกินตามสัญญานายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 มิได้ฟ้องเรียกเอาสินจ้างจากการรับทำการงาน สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2550
จำเลย ทั้งห้าตกลงมอบหมายให้โจทก์ไปติดต่อขายที่ดินทั้งห้าแปลง โจทก์จึงได้ไปติดต่อขายที่ดินให้แก่ ส. แต่ที่โจทก์นำสืบว่า ส. ไปตรวจดูที่ดินแล้วพอใจ ส. และจำเลยทั้งห้าจึงตกลงทำสัญญาซื้อขายกันที่บ้านของ ส. โดยโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายด้วยนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานสัญญาซื้อขายที่กล่าวอ้างมาแสดง คงมีแต่คำเบิกความลอยๆ เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ติดต่อกับ ส. และจำเลยทั้งห้าเกี่ยวกับเรื่องซื้อขายที่ดินนี้อีก ข้อเท็จจริงจึงเชื่อตามที่จำเลยทั้งห้านำสืบต่อมาโดยมีหลักฐานเป็นพยาน เอกสารสนับสนุนว่า อ. บุตรเขยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับ ส. ต่อมา โดย ส. อ้างว่าไม่มีเงินมาซื้อที่ดินทั้งห้าแปลงของจำเลยทั้งห้า แต่ถ้าจะนำที่ดินมาร่วมลงทุนกันและหากำไรมาแบ่งกันก็สามารถทำได้ ข้อตกลงที่ว่าให้นำที่ดินมาร่วมลงทุนและหากำไรมาแบ่งกัน จึงเป็นข้อตกลงและวัตถุประสงค์ใหม่ซึ่งจำเลยทั้งห้าต้องนำไปปรึกษาหาหรือกัน และตัดสินใจกันใหม่ว่าจะรับข้อเสนอใหม่นี้หรือไม่ แสดงว่าการชี้ช่องของโจทก์ที่ต้องการให้จำเลยทั้งห้าขายที่ดินให้แก่ ส. นั้นไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจาก ส. ไม่มีเงินซื้อ การตกลงนำที่ดินเข้าร่วมลงทุนกับ ส. แล้วนำกำไรมาแบ่งกันภายหลัง จึงเป็นวัตถุประสงค์ใหม่ของจำเลยทั้งห้าไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์และไม่อยู่ใน กรอบวัตถุประสงค์เดิม เพราะการเข้าร่วมลงทุนนั้นเป็นการนำเอาที่ดินของจำเลยทั้งห้ามาเข้าร่วมกับ ส. และให้ ส. เป็นผู้บริหารจัดการโดยจำเลยทั้งห้าได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของโดยรับหุ้นของ บริษัท บ. ของ ส. ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่ การเข้าร่วมลงทุนกับ ส. ตามข้อตกลงใหม่ดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าขายที่ดินได้สำเร็จแล้ว ด้วยการชี้ช่องของโจทก์ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการขายที่ดินในรูปแบบใหม่ ซึ่งในที่สุดข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าทราบว่าถูก ส. หลอกลวง จำเลยทั้งห้าจึงได้ฟ้องเรียกที่ดินทั้งห้าแปลงคืนจากบริษัท บ. และ ส. กับพวก และศาลพิพากษาตามยอมให้คืนที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวแก่จำเลยทั้งห้าแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์สามารถชี้ช่องให้จำเลยทั้งห้าขายที่ดินตาม ฟ้องจนสำเร็จวัตถุประสงค์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยทั้งห้าตามที่ตกลงกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2550
สัญญา จองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกัน ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของโจทก์ที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 845
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5604/2548
ตาม สัญญานายหน้าจำเลยตกลงจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี ในกรณีแรก ตามสัญญาข้อ 3 ถ้าโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ได้ในราคาไม่ต่ำกว่าห้องละ 6,500,000 บาท จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่านายหน้าห้องละ 300,000 บาท ในกรณีที่สอง ตามสัญญาข้อ 4 หากโจทก์สามารถชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ได้ในราคาสูงกว่าที่กำหนดไว้ ในข้อ 3 จำเลยทั้งสองตกลงให้จำนวนเงินส่วนที่เกินเป็นของโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ห้อง เอ. 9 และ เอ. 10 ได้ตามราคาที่กำหนดโจทก์ย่อมมีสิทธิได้ค่านายหน้าห้องละ 300,000 บาท และโจทก์ชี้ช่องให้จำเลยขายอาคารพาณิชย์ห้อง เอ. 2, เอ. 6 ถึง เอ. 8 ในราคาสูงกว่าที่กำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่านายหน้าที่ชี้ช่องให้จำเลยทั้งสองขายอาคารพาณิชย์ ได้ในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนดตามสัญญาข้อ 3 และมีสิทธิได้รับเงินในส่วนที่สามารถชี้ช่องให้จำเลยทั้งสองขายในราคาสูง กว่าที่กำหนดตามสัญญาข้อ 4 อีกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804 - 1805/2546
สัญญา ร่วมกิจการนายหน้าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นข้อตกลงในการร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินและจะได้แบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ให้สำเร็จลุล่วงตามความประสงค์เท่านั้น ไม่มีข้อความใดพอประมาณได้ว่าหากจำเลยรู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่นายหน้าผู้จะ ซื้อจะไม่ทำสัญญาร่วมกิจการนายหน้าอย่างแน่นอนดังนี้ ถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ชี้ช่องให้ บ. กับ ฟ. ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จ พฤติกรรมที่แสดงว่าคู่สัญญามิได้ให้ความสำคัญในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองจะต้อง เป็นนายหน้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สัญญาร่วมกิจการนายหน้าดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์ทั้งสองแสดงการ ฉ้อฉลต่อจำเลยอันจะทำให้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้าต่อโจทก์ทั้งสอง
สำหรับพวกจำเลยทั้งสิบสี่คนที่ร่วมลงชื่อในสัญญานายหน้านั้นไม่ได้กระทำการ เป็นนายหน้าที่แท้จริง แต่สัญญานายหน้าฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นเนื่องจากเป็นความประสงค์ของ บ. และจำเลยเพื่อกระจายฐานภาษีที่จะต้องชำระให้น้อยลงเท่านั้นจึงต้องถือว่า เงินค่าที่ดินส่วนเกินซึ่งจำเลยเป็นผู้รับมาจาก บ. ต้องนำมาจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาร่วมกิจการนายหน้า เมื่อจำเลยไม่นำมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสอง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาร่วมกิจการนายหน้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2545
โจทก์ เป็นผู้เริ่มต้นติดต่อขอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และเจรจาติดต่อกับญาติพี่น้องของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง รวมทั้งไปพบกันที่บ้านมารดาจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์เสนอขายที่ดินต่อบริษัท ค. แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ต่างก็มาดูที่ดินที่จะซื้อขาย ตลอดทั้งนำเจ้าหน้าที่ของบริษัท ค. มาเจรจาตกลงจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยทั้งสองและได้จดทะเบียนให้บริษัท ค. เช่าที่ดินเป็นผลสำเร็จนั้น จึงเกิดจากการที่โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้ทั้งสองฝ่ายเข้าทำสัญญากัน การที่โจทก์เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้นโดยไม่เคยรู้จักกับบริษัท ค. และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 กับเจ้าของที่ดินรายอื่น ๆ มาก่อนต้องเข้าร่วมเจรจาติดต่อกับเจ้าของที่ดินทั้งหลายก็เพื่อต้องการผล ประโยชน์เป็นค่านายหน้าไม่ใช่ทำให้เปล่า หากโจทก์ไม่ได้ค่านายหน้าเป็นผลตอบแทนในการเจรจาติดต่อในครั้งแรกแล้ว การดำเนินการใด ๆ ต่อมาคงไม่เกิดขึ้น และการที่บริษัท ค. กำหนดข้อห้ามไม่ให้ ส. รับประโยชน์หรือค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 นั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างบริษัท ค. กับ ส. ไม่เกี่ยวกับโจทก์ ทั้งไม่ได้ความว่าโจทก์ตกลงยกเลิกสัญญานายหน้ากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธไม่ชำระค่านายหน้าแก่โจทก์หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2545
โจทก์ ติดต่อกับจำเลยและเจ้าของที่ดินทั้ง 4 แปลง เรื่องการเช่าและซื้อขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นได้ใช้บ้าน ร. มารดาจำเลยเป็นสถานที่นัดพบเสมอทั้ง ร. ก็ร่วมเจรจาอยู่ด้วย แม้บางครั้งจำเลยไม่มาแต่ ร. ก็เป็นผู้จัดการแทนจำเลยเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาในที่สุด ดังนั้น ข้อตกลงใด ๆ ที่อยู่ในกรอบของการเช่าหรือซื้อขายที่ดินของจำเลยย่อมเห็นเป็นปริยายว่า จำเลยได้เชิด ร. เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับโจทก์ ทำให้เจ้าของที่ดินอีก 4 แปลง ตกลงยินยอมให้เช่าและขายที่ดินเรื่องค่านายหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง ด้วยแม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันจำเลยแล้ว ดังนั้น จำเลยต้องให้ค่านายหน้า และเงินค่าที่ดินที่ให้เช่าหรือขายเกินกว่าราคาที่กำหนดแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2545
จำเลย ทำสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทน นายหน้า ในการซื้อขายหลักทรัพย์ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันใน ฐานะตัวการกับตัวแทนซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นเพียง 10,000 หุ้น แต่โจทก์ขายหุ้นไป 20,000 หุ้น และส่งมอบเงินที่ขายได้ทั้งหมดให้แก่จำเลยซึ่งมียอดเงินที่จำเลยรับไว้เกิน จำนวน 2 แสนบาทเศษนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลยชำระเงินให้จำเลยเกินจำนวนที่จำเลยสั่ง ให้ขายหุ้น จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่เกินมาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2542
โจทก์ จัดหาผู้ซื้อมาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย โดยจำเลยให้ค่าบริการแก่โจทก์ร้อยละ 1.5 ของยอดขายตามสัญญา คิดเป็นเงิน 7,470,604.95 บาท ตกลงแบ่งชำระเป็น 3 งวด ดังนั้น เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียงงวดเดียว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระงวดที่สองและงวดที่สามที่เหลือ แม้ต่อมาผู้ขายจะตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญากับ ผู้ซื้อใหม่โดยลดยอดขายลงก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินจนครบ เพราะถือว่าได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันเป็นผลสำเร็จเนื่องจากการที่โจทก์ชี้ ช่องหรือจัดการแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2540
บันทึก ข้อตกลงท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ป. ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อระบุว่า จำเลยต้องการให้โจทก์เป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการขายที่ดินให้กับบริษัทค.ไม่ ว่าจะเป็นที่ดินส่วนใดก็ตาม ซึ่งทางจำเลยขายให้กับทางบริษัทค.ได้ จำเลยสัญญาว่าจะจัดค่านายหน้าให้กับโจทก์ 20,000 บาท ต่อไร่ของที่ดินทุก ๆ แปลง ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากจากข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้า 3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 20,000 บาท ต่อเมื่อโจทก์ดำเนินการให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าวได้จนเป็นผลสำเร็จเมื่อ โจทก์เพียงแต่จัดให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับพ.กรรมการบริษัทค.แต่ต่อ มาผู้จะซื้อผิดสัญญาจนมีการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไปแล้ว กรณีจึงหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันจะทำให้จำเลยได้รับเงินตามราคาที่ ตกลงกันไว้ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินหรือค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ดัง กล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2540
บท บัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา845และ846แสดงให้เห็นว่าสัญญานาย หน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการตกลงกันระหว่างบุคคลที่ประสงค์จะทำสัญญากับ บุคคลที่จะทำหน้าที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้ได้ทำสัญญาที่ เรียกว่านายหน้าเมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยพ. น้องจำเลยเป็นผู้ติดต่อขอให้โจทก์ช่วยเสนอขายที่ดินของจำเลยโดยโจทก์ได้ ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและราคาจากพ. พ. ตกลงกับโจทก์ว่าค่านายหน้าที่จำเลยจะให้ในอัตราร้อยละ3ของราคาซื้อขายที่ดิน นั้นพ. จะแบ่งให้โจทก์ร้อยละ2ส่วนพ. จะเอาไว้ร้อยละ1โจทก์ไม่เคยตกลงเรื่องค่านายหน้ากับจำเลยในวันทำสัญญาจะซื้อ ขายโจทก์ได้รับเงินค่านายหน้าจากพ. และในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยกับจ. โจทก์ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินจ. เป็นคนรับเงินค่านายหน้าไว้แทนโจทก์200,000บาทและบอกว่าส่วนที่เหลือให้ โจทก์ติดต่อพ. แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ตกลงโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้โจทก์เป็นนายหน้า ชี้ช่องให้จ.มาซื้อที่ดินจำเลยแม้โจทก์ตกลงร่วมกับพ. ทำหน้าที่ติดต่อชี้ช่องให้จ. เข้าทำสัญญากับจำเลยหรือจัดการให้จ. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยแล้วได้ส่วนแบ่งค่านายหน้าจากพ. ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับพ. เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ร่วมกับพ.ทำหน้าที่ชี้ช่องให้จำ เลยกับจ. เข้าทำสัญญากันแล้วโจทก์ย่อมไม่ใช่นายหน้าของจำเลยโจทก์ได้รับแบ่งค่านาย หน้าที่จำเลยจ่ายให้จากพ. และจ. มาบางส่วนก็เป็นเพราะเหตุที่มีข้อตกลงกันไว้ระหว่างโจทก์กับพ. และจ.แต่โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับเรียกเอาค่านายหน้าจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2535
โจทก์ ช่วยติดต่อขายที่ดินให้จำเลยสำเร็จ เป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดย พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ ถือได้ว่าตกลงกันโดย ปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846 วรรคแรก ส่วนข้อตกลงให้เงินส่วนที่เกินจากราคาที่ดินที่จำเลยกำหนดไว้ 2,000,000 บาทเป็นค่าบำเหน็จแก่โจทก์นั้นเป็นข้อตกลงพิเศษส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกัน แม้จำเลยจะขายที่ดินให้แก่ ฉ. ในราคา 2,000,000 บาทก็ตามโจทก์ก็ยังมีสิทธิได้ค่าบำเหน็จ และเมื่อไม่ได้ความว่าค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใดและไม่ปรากฏ ธรรมเนียมในการนี้โดยชัดแจ้ง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้เท่าที่กำหนดได้ตามสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326 - 328/2518
จำเลย ตกลงขายที่ดินของจำเลยให้แก่กระทรวงการคลังตามที่โจทก์ผู้เป็นนายหน้าของ จำเลยติดต่อให้ มิได้ขายให้แก่ ค. ตามสัญญามัดจำจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับ ค. และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบำเหน็จจาก ค. หรือกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างใดจะถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ และโจทก์ได้กระทำการให้บุคคลภายนอกอันไม่สมควรแก่หน้าที่ผู้กระทำการโดย สุจริต เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ได้รับหน้าที่หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2530
นาง พรจิต โจทก์
นาย ยรรยง กับพวกจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 845, 846
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 185
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตั้งโจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1203 เลขที่ดิน 28 ของจำเลย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้องและโจทก์ไม่ได้เป็นนายหน้า โจทก์นำสืบว่าจำเลยตั้งโจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1203เลขที่ดิน 29 ของจำเลย โดยเลขระวางที่ดิน เลขหน้าสำรวจ และที่ตั้งของที่ดินตรงกับที่ระบุในคำฟ้อง ดังนี้ เป็นการนำสืบในประเด็นข้อพิพาทแล้ว หาใช่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
ค่านายหน้าต้องเป็นไปตามที่คู่สัญญาตกลงกัน เมื่อไม่ได้ตกลงกันว่าจะคิดจากราคาที่เสนอขายหรือราคาซื้อขายที่ตกลงกัน ดังนี้ โดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่าโจทก์ทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ และกิจการที่โจทก์ทำไปทำให้ขายที่พิพาทให้จำเลยได้ โจทก์จึงเรียกค่านายหน้าจากจำเลยตามราคาที่ขายได้ ไม่ใช่ราคาเสนอขาย.
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่1203เล่ม 13 หน้า 3 ที่ดินระวาง 25 น.2ฏ เลขที่ดิน 28 หน้าสำรวจ 211ตำบลท่าเรืออำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ให้โจทก์ไปเสนอขายแก่บุคคลอื่นในราคาไร่ละ 1,000,000 บาทโจทก์จัดการขายได้ 6 ไร่ 3 งาน จึงมีสิทธิ์ได้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาเสนอขาย 6,750,000 บาท คิดเป็นเงิน337,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่านายหน้าดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้อง ไม่เคยขายที่ดินตามฟ้องให้ใคร จำเลยเคยตั้งโจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินแปลงอื่นและจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่านายหน้า
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 330,437.50 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน185,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมอบให้โจทก์เสนอขายที่ดินตามที่ปรากฏในใบเสนอขายเอกสารหมายจ.1 และ ล.1 ซึ่งระบุเลขที่ดินว่าเลขที่ 28 อันเป็นเลขที่ดินของกรมการปกครอง โฉนดเลขที่ 1178 ตำบลสระคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา ส่วนที่ดินตามใบเสนอขายเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1203 ตำบลท่าเรืออำเภอท่ามะกา ซึ่งตรงกับเลขที่โฉนดและที่ตั้งที่ดินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 แตกต่างกันเพียงเลขที่ดินตามโฉนดของจำเลยเป็นเลขที่ 29 เลขที่ดินตามใบเสนอขายเป็นเลขที่ 28 เท่านั้นการที่โจทก์นำสืบให้เห็นว่าที่ดินตามใบเสนอขายเอกสารหมายจ.1 เป็นการเสนอขายที่ดินของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.6จึงเป็นการสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยทั้งสองใหโจทก์เสนอขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่การสืบนอกฟ้องนอกประเด็น
ประเด็นที่ว่าค่านายหน้าจะต้องคิดจากราคาที่เสนอขายหรือราคาที่ตกลงซื้อขายกันนั้น เห็นว่าการคิดค่านายหน้าต้องเป็นไปตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันตามใบเสนอขายเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองไม่ได้สัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ตามราคาที่เสนอขาย แต่กิจการที่จำเลยทั้สองมอบหมายให้แก่โจทก์นั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าโจทก์ทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ และกิจการที่โจทก์ทำไปนั้นทำให้โจทก์ขายที่พิพาทได้ราคา 3,700,000 บาท โจทก์จึงเรียกค่านายหน้าจากจำเลยทั้งสองตามราคาที่ดินที่จำเลยทั้งสองขายได้ โจทก์จะเรียกค่านายหน้าจากราคาที่เสนอขายไม่ได้
พิพากษายืน.
(ธิรพันธุ์ รัศมิทัต-ชูเชิด รักตะบุตร์-สง่า ศิลปประสิทธิ์)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2526
นายเกษียร เกษมพันธัยโจทก์
บริษัทนานาพรรณเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดฯจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 846
ค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษจะต้องกำหนด กันไว้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามบทบัญญัติมาตรา 846 วรรคสอง แห่งป.พ.พ. เมื่อทางพิจารณาไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนด ค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมซึ่งได้ความว่าจำนวนร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมอบหมายให้โจทก์เป็นนายหน้าซื้อที่ดินจำนวน20-25 ไร่ โดยจำเลยจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ไร่ละ 50,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยซื้อที่ดินทั้งหมด 20 ไร่เศษ จำเลยต้องจ่ายบำเหน็จนายหน้าให้แก่โจทก์ 1,123,375 บาท แต่จำเลยชำระให้เพียง 40,000 บาท นอกนั้นยังไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยชำระค่านายหน้าที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่เคยมอบให้โจทก์เป็นนายหน้า ทั้งไม่เคยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ หากจำเลยต้องรับผิดชำระค่านายหน้าก็ควรคิดร้อยละ 5 ของราคาซื้อขาย จำเลยไม่เคยชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่านายหน้าแก่โจทก์จำนวน294,137 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมอบให้โจทก์เป็นนายหน้า แต่โจทก์จำเลยมิได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จไว้ต่อกัน จึงต้องถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมคืออัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 164,693 บาท 75 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยซื้อที่ดินสิบแปลงตามฟ้องโดยการชี้ช่องของโจทก์ จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้า แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ฎีกาเพียงข้อเดียวว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า มิได้มีการกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้าไว้ต่อกันต้องถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมคือร้อยละ 5 ของราคาที่ดินที่ซื้อขายกันแท้จริงนั้นไม่ถูกต้อง โจทก์ควรได้ค่าบำเหน็จนายหน้าในอัตราไร่ละ 50,000 บาท ตามที่โจทก์จำเลยตกลงกัน จึงมีปัญหาว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้ไร่ละ 50,000 บาทหรือไม่ เห็นว่าค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษ จะต้องกำหนดกันไว้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามบทบัญญัติมาตรา 846 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์จะอ้างว่าเหตุที่คิดค่าบำเหน็จนายหน้าสูงถึงไร่ละ 50,000 บาทนั้น เพราะที่ดินที่จำเลยต้องการมีลักษณะพิเศษซึ่งหาได้ยาก คือต้องได้ที่ดินติดต่อเป็นผืนเดียวกันมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 20 ถึง 25 ไร่ ทั้งต้องอยู่ติดริมแม่น้ำไม่น้อยกว่า6 เส้น และต้องลึกไม่ต่ำกว่า 10 เมตรด้วยก็ตาม แต่เมื่อเทียบค่าบำเหน็จนายหน้าดังกล่าวกับราคาที่ดินที่จำเลยซื้อมาในราคาไร่ละ 200,000 บาท เศษแล้ว เห็นว่าค่าบำเหน็จนายหน้าดังกล่าวสูงเกือบถึงร้อยละ 25 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงผิดปกติมาก คือสูงกว่าอัตราตามธรรมเนียมทั่ว ๆ ไปเกือบ5 เท่า ดังนี้ หากมีการตกลงกันในอัตราที่สูงผิดปกติเช่นนี้ก็น่าจะได้ทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือมีเอกสารอื่นใดพอที่จะแสดงให้เห็นว่า มีการตกลงกันเช่นนั้นจริง แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารพอที่จะยืนยันให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้ตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าในอัตราดังกล่าวจริง คงมีแต่คำเบิกความของพยานลอย ๆ จึงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริงนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน
(พิชัย วุฒิจำนงค์-สนิท อังศุสิงห์-สำเนียง ด้วงมหาสอน)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2510
นายสง่า โจทก์
นายผล จำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 803, 816, 845, 846
โจทก์ให้จำเลยจัดการขายที่ดินจำเลยได้จัดการขายที่ดินของโจทก์ได้สำเร็จย่อมเป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาบำเหน็จจึงถือได้ว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846แม้จะฟังไม่ได้ว่าได้ตกลงให้ค่านายหน้าแก่กันเป็นจำนวนที่เกินไปจาก11,000 บาท ดังที่จำเลยนำสืบ จำเลยก็ยังมีสิทธิได้ค่าบำเหน็จเมื่อไม่ได้ความว่าค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ปรากฏธรรมเนียมในการนี้ ศาลย่อมกำหนดให้เท่าที่กำหนดได้ตามสมควร
ส่วนค่าใช้จ่ายในการที่จำเลยได้รับมอบให้จัดการโอนขายที่ดินแทนโจทก์ในภายหลังอีกส่วนหนึ่งนั้น แม้จำเลยไม่สามารถนำสืบให้ฟังได้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้แน่นอนซึ่งจำเลยมีสิทธิเรียกเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816เมื่อไม่ได้ความว่าค่าใช้จ่ายที่จำเลยเสียไปนั้นเป็นจำนวนแน่นอนเท่าใดศาลก็กำหนดให้ได้ตามที่ควรนับว่าจำเป็นต้องใช้จ่ายไปเช่นเดียวกัน(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2510)
โจทก์ฟ้องว่า ได้มอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินแก่นางศรีสอางค์เป็นเงิน 15,300 บาท จำเลยได้โอนที่ดินแก่นางศรีสอางค์และได้รับเงินมาแล้ว จำเลยยังไม่ได้ให้เงินแก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ขอให้จำเลยช่วยขายที่ดินในราคา 11,000 บาท ถ้าขายได้สูงกว่านี้ ส่วนที่เกินให้เป็นของจำเลย จำเลยได้ตกลงขายที่ดินแก่นางศรีสอางค์เป็นเงิน 15,300 บาท จำเลยได้มอบเงินให้โจทก์ครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งหลังอีก 9,650 บาท โดยจำเลยหักค่าใช้จ่าย 500 บาท ค่ารถอีก 350 บาท โจทก์รับเงินไปจากจำเลยจำเลย 10,650 บาท เป็นการเสร็จสิ้นแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยนำสืบไม่ได้ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยได้เงินที่ขายได้เกิน 11,000 บาท ค่าใช้จ่ายและค่ารถที่จำเลยอ้างว่าหักไว้ก็ฟังไม่ได้ ทั้งฟังไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ไปแล้วสองครั้ง เป็นเงิน 10,650 บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาที่ว่าโจทก์ยอมให้เงินส่วนที่เกินจาก 11,000 บาท เป็นของจำเลยหรือไม่นั้น ไม่มีหลักฐานพอที่จะรับฟังตามข้ออ้างของจำเลยได้ จำเลยไม่มีสิทธิจะกันเงินที่ขายได้เกิน 11,000 บาท ไว้เป็นของจำเลย ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์แล้วนั้น ก็ฟังไม่ได้ อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยช่วยติดต่อจัดการขายที่ดินของโจทก์สำเร็จ ย่อมเป็นกิจการที่ทำให้แก่กันโดยพฤติการณ์ที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ จึงถือได้ว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846 แม้จะฟังไม่ได้ว่าได้ตกลงให้ค่านายหน้าแก่กันเป็นจำนวนที่เกินไปจาก 11,000 บาท ดังจำเลยนำสืบ จำเลยก็ยังมีสิทธิได้ค่าบำเหน็จ แต่เมื่อไม่ได้ความว่าค่าบำเหน็จนั้นได้ตกลงกันเป็นจำนวนเท่าใดและไม่ปรากฏธรรมเนียมในการนี้ศาลย่อมกำหนดให้เท่าที่อาจกำหนดได้ตามสมควรส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเลยได้รับมอบให้จัดการโอนขายที่ดินแทนโจทก์ในภายหลังอีกส่วนหนึ่งซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่าย 500 บาท ค่ารถ 350 บาทนั้น จำเลยก็ไม่สามารถนำสืบให้ฟังได้อีกเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้แน่นอน ซึ่งจำเลยมีสิทธิเรียกเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 เมื่อไม่ได้ความว่าค่าใช้จ่ายที่จำเลยเสียไปเป็นจำนวนแน่นอนเท่าใดศาลก็กำหนดให้ได้ตามที่ควรนับว่าจำเป็นต้องใช้จ่ายไปเช่นเดียวกันเงินค่าบำเหน็จนายหน้าและค่าใช้จ่ายในการเป็นตัวแทนนี้ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้รวมเป็นเงิน 800 บาท ซึ่งจำเลยหักออกจากเงินที่ต้องใช้คืนแก่โจทก์ คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระคืนแก่โจทก์ 14,500 บาท พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 14,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
(จิตติ ติงศภัทิย์-สุทิน เกษคุปต์-ไฉน บุญยก)