ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง

มาตรา ๔๗๒ ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ 


มาตรา ๔๗๓ ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(๑) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(๒) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(๓) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด 


มาตรา ๔๗๔ ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1621/2562

เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะประเด็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าแฟรนไชส์ส่วนที่เหลือตามฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยส่งมอบเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะมือสองให้แก่โจทก์และไม่ส่งแผ่นพับและธงญี่ปุ่นให้โจทก์มาบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ และถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย แม้โจทก์และจำเลยยังคงมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลือจำนวน 175,000 บาท ให้แก่จำเลย ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะของจำเลยเกิดการขัดข้องในการใช้งาน เนื่องจากมีความชำรุดบกพร่องเกี่ยวกับการเซ็ทระบบและภูมิอากาศในประเทศไทย โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่จำนวน 175,000 บาท ได้จนกว่าจำเลยจะแก้ไขความชำรุดบกพร่องของเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะดังกล่าว หรือหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6834/2560

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จะเป็นการฟ้องตามสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญของสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้ไม่สามารถโต้แย้งในเรื่องราคาทรัพย์ที่เช่ากับค่าเช่าที่แท้จริงได้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


เมื่อสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากัน ในสัญญาระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงจะซื้อและหรือได้ซื้อทรัพย์สินตามคำขอร้องของผู้เช่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวตามกำหนดเวลาและตามข้อกำหนดเงื่อนไข โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันตามที่ระบุในสัญญาเช่า เมื่อคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่าเปรียบเทียบกับคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งมียอดค่าเช่าตรงกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจ เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม


เมื่อพิจารณาถึงสัญญาเช่าแล้วมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าเรื่องการส่งมอบ ความชำรุดบกพร่อง การสูญหาย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดนัด การสิ้นสุดสัญญาเช่า เงื่อนไขดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และให้ถือเอาค่าเช่าที่ชำระเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่า สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แบบหนึ่งไม่ใช่สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5618/2559 

โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมแก้ไขงานที่จำเลยส่งมอบคิดเป็นเงิน 1,829,089.80 บาท เมื่อตามสัญญาจำเลยตกลงที่จะรับประกันผลงานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากส่งมอบ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานต่อโจทก์ แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องต่อโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับ กรณีจึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ลูกหนี้ชดใช้ มิใช่ตามจำนวนที่โจทก์คิดคำนวณมาเอง เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ค่าว่าจ้างงานล่วงหน้าที่จ่ายให้แก่จำเลยซึ่งก็ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงหรือไม่ และมูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยที่โจทก์ยังมิได้นำมูลหนี้ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เพื่อให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ก่อนแต่อย่างใด จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2559

จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการแต่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามสัญญาต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้


จำเลยค้างชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์เพียง 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกินจำนวนที่แท้จริงถึง 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นการอ้างความเท็จเพื่อเอาเปรียบจำเลย แต่จำเลยก็นำสืบทำนองว่า จำเลยเองเป็นฝ่ายขอให้โจทก์แสดงราคาสินค้าให้สูงเกินจริงด้วยเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพกิจการของจำเลย รวมทั้งใช้ราคาที่กำหนดสูงขึ้นนี้ขอสินเชื่อต่อธนาคารและจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรนี้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อต่อธนาคารดังกล่าว ทั้งนี้โดยจำเลยถือโอกาสที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องชำระภาษีศุลกากรการนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม อันถือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่สุจริตโจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์แห่งความไม่สุจริตดังกล่าวเรียกร้องเอาหนี้ได้เต็มจำนวน แต่จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าในส่วนคงค้างต่อโจทก์


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องรีดพลาสติกในส่วนคงค้างต่อโจทก์ 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้ารวมถึงอุปกรณ์ที่ยังขาดส่งรวมเป็นเงิน 3,377,261.31 บาท จำเลยจึงยังคงต้องชำระค่าสินค้าดังกล่าวแต่สามารถหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบออกได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2558 

สัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับเป็นสัญญาที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการโรงแรมโดยจำเลยยินยอมจ่ายค่าตอบแทน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุที่ทรัพย์สินซึ่งซื้อขายชำรุดบกพร่องมาเป็นเหตุปฏิเสธไม่ชำระเงินแก่โจทก์ได้ สำหรับวัตถุประสงค์ของสัญญานั้นปรากฏข้อความในตอนต้นของสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับว่า จำเลยประสงค์จะได้รับการจัดหา การติดตั้ง การบำรุงรักษา และสิทธิการใช้ระบบบริหารโรงแรมตามที่ระบุในภาคผนวก ก ซึ่งคือระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบ เมื่อโจทก์ได้จัดหา ติดตั้ง บำรุงรักษา และให้สิทธิจำเลยใช้ระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบตามสัญญาแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนในส่วนของตนแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสัญญาให้แก่โจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14257/2558 

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 26/30, 26/26 และ 26/28 ให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองตามลำดับ ในราคาหลังละ 4,500,000 บาท ต่อมาเมื่อมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่อง หน้าที่ความรับผิดและทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาที่พิพาทในบ้านแต่ละหลัง จึงแยกจากกันตามสัญญาที่ทำไว้ ดังนั้นภาระหนี้ในบ้านแต่ละหลังจึงตกอยู่แก่โจทก์ตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ว่าจ้างให้ทำหินอ่อนขาวเพิ่มเติมในบ้านเลขที่ 26/26 จึงต้องชำระเงิน 198,040 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 26/26 ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2558 

เมื่อโจทก์ที่ 2 พบบ้านชำรุดบกพร่องในเดือนมกราคม 2552 จำเลยเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 แจ้งให้จำเลยหยุดทำการแก้ไขชำรุดบกพร่องโดยโจทก์ที่ 2 จะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่เวลานั้นคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2554 เกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่ การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558 

โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5626/2557 

โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2550 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานดังกล่าว สำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ปรากฏตามใบแจ้งหนี้ว่าเป็นรายการชำระงวดสุดท้าย ซึ่งเป็นการเรียกเก็บในเวลาภายหลังการส่งมอบงานของโจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบงานไม่เรียบร้อยชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างในงวดสุดท้ายเพื่อให้โจทก์ทำการแก้ไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 599 กรณีมิใช่การยึดหน่วงค่าสินค้าและค่าแรงที่โจทก์ทำเสร็จเรียบร้อยและถึงกำหนดชำระแล้วดังที่โจทก์ฎีกา 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2557 

เครื่องบรรจุเอกสารพิพาททั้งสามเป็นเครื่องเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เป็นธรรมดาที่สมรรถนะของเครื่องไม่อาจเทียบได้กับเครื่องใหม่ การซื้อขายสินค้าจึงต้องพิจารณาจากข้อตกลงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาเป็นกรณีไป ดังนั้น การปรับบทกฎหมายในเรื่องความรับผิดกรณีมีความชำรุดบกพร่องจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายในแต่ละมาตราประกอบกัน ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมาตราหนึ่งมาตราใด จากข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารแต่ละเครื่องเสร็จ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาให้บริการกัน ต่อมามีการทำใบสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารทั้งสามเครื่อง แสดงว่าจำเลยยอมรับสินค้าของโจทก์ตามสภาพของสินค้าที่มีการติดตั้งแล้ว และขณะติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารไม่ได้ชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเครื่องบรรจุเอกสารจะอ้างความชำรุดบกพร่องอันไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบมาปฏิเสธไม่ชำระค่าสินค้าไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญา ส่วนภายหลังนั้นการใช้งานเครื่องบรรจุเอกสารมีความชำรุดบกพร่อง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องว่ากล่าวกันตามข้อตกลงสัญญาให้บริการ มิใช่กรณีที่จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ชำระราคาค่าสินค้าได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17093/2555 

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในฐานะจำเลยเป็นผู้ขาย อันเป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์โอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้กับจำเลยให้แก่ ข. ต่อมา ข. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาแล้ว ข. จึงเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลย แม้โจทก์จะได้รับการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ข. ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะให้ ไม่มีบทบัญญัติว่าผู้รับต้องรับสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ให้ไปด้วย ซึ่งต่างจากกรณีทายาทรับมรดกที่จะเป็นผู้สืบสิทธิได้ สิทธิที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขายเป็นบุคคลสิทธิบังคับได้ระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555 

การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2555 

จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ ต่อมาก่อนเช็คพิพาทถึงกำหนด จำเลยพบว่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยตามใบสั่งซื้อ มีวาล์ว 10 ตัว จากจำนวนที่สั่งซื้อ 20 ตัว ชำรุดบกพร่องใช้การไม่ได้ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ขายจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 488 การที่จำเลยออกเช็คโดยจำนวนเงินตามเช็คเป็นการชำระค่าสินค้าทั้งหมดตามใบสั่งซื้อให้แก่โจทก์ แต่มีสินค้าบางส่วนชำรุดบกพร่อง อันมีเหตุให้จำเลยไม่ต้องชำระเงินเต็มตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในเช็คพิพาท จำเลยจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ธนาคารห้ามการใช้เงิน ต่อมาเมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2554 

สติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษที่ซื้อจากโจทก์เมื่อจำเลยนำไปผลิตชิ้นงานแล้วปรากฎว่าลอกแผ่นสติกเกอร์ไม่ออกเพราะเหตุกาวเหนียวเกินไป แม้โจทก์ใช้มือแกะสามารถลอกสติกเกอร์ออกได้ แต่ในการใช้งานของบริษัท ด. ต้องใช้เครื่องจักรเป็นตัวลอกสติกเกอร์ให้ติดกับกล่องนม เมื่อเครื่องจักรไม่สามารถลอกสติกเกอร์ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยผลิตสติกเกอร์ไม่ดีหรือบริษัท ด. ติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้มาตรฐาน จึงฟังได้ว่า สินค้าสติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษของโจทก์ชำรุดบกพร่องในลักษณะกาวเหนียวเกินไป เป็นเหตุให้เมื่อจำเลยนำไปใช้แล้วไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งใช้เป็นปกติ โจทก์ในฐานะผู้ขายสินค้าต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 วรรคแรก ใบสั่งซื้อสินค้าที่จำเลยเป็นผู้สั่งซื้อทางโทรสารไปยังโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์ 15 ม้วน โดยให้ส่งภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2544 และยังมีคำสั่งว่า "อีก 67 ม้วนใหญ่ให้ส่งเดือนมกราคม 2545 แต่ยังไม่ต้องผลิตจะแจ้งอีกครั้งหนึ่ง" เห็นได้ว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์จากโจทก์ 82 ม้วน โดยให้ส่งก่อน 15 ม้วน ส่วนที่เหลืออีก 67 ม้วน ให้โจทก์จัดเตรียมเพื่อที่จะส่งมอบให้ตามที่แจ้งต่อไป จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทสติกเกอร์จากโจทก์มานานหลายปีโดยไม่มีปัญหา ดังนั้น ตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาซื้อขายโดยสภาพหรือโดยเจตนาของคู่สัญญา ย่อมไม่อาจระบุได้ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 388 เนื่องจากใบสั่งซื้อและพฤติการณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดให้ชัดแจ้งและยืนยันให้เด็ดขาดว่า หากโจทก์ไม่ส่งสินค้าให้จำเลยภายในกำหนดให้ถือว่าใบสั่งซื้อดังกล่าวเป็นอันยกเลิกทันที ฉะนั้นการที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติเช่นนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าและชำระราคาได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนเวลาบังคับไว้แต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2551

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทมาเป็นชื่อ โจทก์ เพื่อให้โจทก์สามารถใช้รถยนต์พิพาทได้ตามวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาซื้อขาย หาใช่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเพราะความชำรุดบกพร่องของรถ ยนต์พิพาทไม่ ความรับผิดของจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8635/2550

ในการดำเนินการจัดซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยจำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ไว้ ซึ่งมี ก. เป็นประธานกรรมการ แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริหารกิจการภายในซึ่งเป็นเรื่องของจำเลย ทั้งตามสัญญาซื้อขายก็มิได้มีข้อตกลงว่าการรับมอบสิ่งของจะต้องกระทำโดยคณะ กรรมการตรวจรับพัสดุที่จำเลยแต่งตั้งไว้ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ การที่โจทก์นำกิ่งพันธุ์ลำไยไปส่งมอบให้จำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดย น. และ ก. ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารของจำเลยตามลำดับได้รับมอบกิ่ง พันธุ์ลำไยจากโจทก์ไว้แล้วให้โจทก์นำไปส่งมอบให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านต่างๆ ตามหลักฐานการส่งมอบกิ่งพันธุ์ลำไย เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้รับมอบกิ่งพันธุ์ลำไย จากโจทก์ไว้แล้วโดยมิได้โต้แย้งว่ากิ่งพันธุ์ลำไยไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ตามสัญญา


หลักฐานการส่งมอบกิ่งพันธุ์ลำไยซึ่ง น. และ ก. ได้ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการส่งมอบพัสดุมีข้อความระบุว่า คณะกรรมการส่งมอบพัสดุได้ส่งมอบกิ่งพันธุ์ลำไยให้แก่ผู้ใหญ่บ้านต่างๆ เพื่อจะได้ส่งมอบให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านของตนต่อไป ข้อความดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยได้ตรวจและรับมอบกิ่งพันธุ์ลำไยไว้เรียบร้อย แล้ว มิใช่เพียงแต่รับมอบไว้เพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำการตรวจรับ เมื่อจำเลยได้รับมอบกิ่งพันธุ์ลำไยจากโจทก์โดยถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินประกันของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66 - 67/2547

บ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์ชำรุดบกพร่อง และโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านระหว่างบริษัทกับจำเลย และจำเลยสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวและเป็นผู้กระทำแทนบริษัทตลอดมา ทั้งในขณะทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์ได้รับรองว่าจะซ่อมแซมความเสียหายทั้งหมดด้วยตนเอง แม้เช็คทั้งห้าฉบับจำเลยจะสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินดาวน์ค่าที่ดินและบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้าน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านที่ชำรุดบกพร่องโจทก์ไม่ซ่อมแซมให้เรียบร้อย จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ดินและบ้านโดยไม่นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545

จำเลยเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เช่าซื้อ เพราะสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อโดยรถยนต์ไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ประกอบมาตรา 549 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุอันเกิดจากบริษัท น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยังไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369


จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยก่อน เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยโจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์พิพาทให้จำเลยด้วย ส่วนจำเลยก็ต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2545

ความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขายอันผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลัง ผู้ขายหาต้องรับผิดไม่ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทำและติดตั้งถังคริสตัลที่โรงงานของจำเลยตามสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยได้ดำเนินการผลิตผงชูรสได้นานประมาณ 2 เดือน จึงเกิดปัญหาหรือความเสียหายในส่วนชุดกวนของถังคริสตัล โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2545

ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่ารถยนต์ที่จำเลยขายให้โจทก์มีความชำรุดบกพร่องของระบบเกียร์อันเป็นวัสดุที่จำเลยรับประกันไว้ว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนให้ โจทก์จึงบังคับให้จำเลยซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์ให้โจทก์ใหม่เพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์กลับขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนเท่ากับราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ซื้อไปจากจำเลยหรือให้จำเลยนำรถยนต์คันใหม่ที่มีลักษณะเหมือนรถยนต์พิพาทและมีสภาพใช้งานได้ดีมาเปลี่ยนให้โจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากที่จำเลยได้รับประกันไว้ โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับจำเลยโดยอาศัยข้อตกลงรับประกันดังกล่าวได้จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจบังคับให้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544

ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2544

โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่าซื้อ โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ เมื่อรถพิพาทยังมิได้ทำทะเบียนและแผ่นป้ายวงกลม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจัดหาให้แก่จำเลย เพราะเอกสารดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในการใช้รถโดยจะต้องเป็นผู้จัดอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเพื่อใช้รถที่เช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ การที่โจทก์ส่งมอบรถพิพาทให้แก่จำเลยมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ โดยไม่จัดหาป้ายทะเบียนและป้ายวงกลมให้แก่จำเลย โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ประกอบมาตรา 549เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 การที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จึงไม่ถือว่าจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9034/2543

แม้โจทก์ได้สั่งซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยชำระค่าจองรถยนต์รวมทั้งค่ารถยนต์บางส่วน และได้รับมอบรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ยืนยันว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อไว้กับบริษัท ธ. จำกัด อันแสดงโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ยอมรับแล้วว่าบริษัท ธ. จำกัด เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาท หาใช่จำเลยที่ 1 ไม่ มิฉะนั้นโจทก์คงไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดให้แก่บริษัท ธ. จำกัด ตลอดมา โดยบริษัทดังกล่าวได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ทุกงวด แม้แต่ค่าจองรถยนต์ จนกระทั่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท ธ. จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รับมอบรถยนต์ไว้ โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงหาได้มีนิติสัมพันธ์ตามลักษณะของสัญญาซื้อขายกันไม่ ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่า มีความผูกพันกับโจทก์ตามสัญญาใดที่จะทำให้ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์คันพิพาทต่อโจทก์ ลำพังเพียงการรับประกันว่า หากรถยนต์ที่จำหน่ายมีปัญหาสามารถส่งซ่อมได้ที่ศูนย์บริการตัวแทนจำหน่ายและที่ศูนย์ของจำเลยที่ 2 มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ผูกพันต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่โจทก์ได้รับมอบมาตามสัญญาเช่าซื้อ เพราะความรับผิดในกรณีทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อชำรุดบกพร่องโจทก์ย่อมเรียกร้องได้จากผู้ให้เช่าซื้อโดยตรง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่าซื้ออันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่าซื้อนั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2543

โจทก์ทั้งสามซื้อทาวน์เฮาส์หลังพิพาทมาในสภาพใหม่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากจำเลย และเข้าอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ได้เพียง 6 เดือน ก็เกิดความชำรุดบกพร่องในส่วนสำคัญหลายรายการ จนไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขหรือเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติต่อไปได้ เป็นการชำรุดบกพร่องก่อนเวลาอันสมควร จึงหาใช่เป็นเรื่องที่ความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นจากธรรมชาติของการใช้สอยไม่ จำเลยผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทาวน์เฮ้าส์นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 472


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6976/2542

โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าปลาป่นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่าปลาป่นที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีสิ่งอื่นเจือปน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยได้รับปลาป่นที่มีขนไก่ปลอมปนแล้วจำเลยยังสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์ต่อไปอีก30คันรถบรรทุกแสดงว่าแม้ปลาป่นของโจทก์จะมีขนไก่ปลอมปนอยู่บ้างก็น่าจะเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติการที่ปลาป่นมีขนไก่ปลอมปนอยู่จึงไม่ถึงกับถือได้ว่าเป็นกรณีทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติในอันที่โจทก์ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อจำเลยผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 488 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7806/2540

ป.พ.พ.มาตรา 472 ที่บัญญัติให้ผู้ขายต้องรับผิดต่อผู้ซื้อในความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขาย และผู้ซื้อมีสิทธิที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระแก่ผู้ขายตามมาตรา 488 นั้น จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลัง ผู้ขายหาต้องรับผิดไม่


เครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่จำเลยซื้อจากโจทก์ไม่สามารถผลิตน้ำแข็งได้ 15,000 กิโลกรัมต่อ 24 ชั่วโมงตามสัญญาได้ เพราะเกิดจากการตั้งเครื่องคอมเพรสเซอร์ห่างจากเครื่องทำน้ำแข็งหลอดมากเกินไป จึงทำให้แรงอัดแอมโมเนียอ่อน และทำให้ลิ้นไอดีไอเสียแตก ซึ่งเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นในภายหลังที่จำเลยรับมอบและใช้ประโยชน์มาแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนที่ยังค้างชำระให้แก่โจทก์ ส่วนการที่โจทก์ติดตั้งและเกิดมีความชำรุดบกพร่องอย่างไร โจทก์จะต้องแก้ไขให้จำเลยหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามข้อสัญญาที่มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง จำเลยจะอ้างมาเป็นเหตุยึดหน่วงราคาไม่ยอมชำระราคาให้แก่โจทก์หาได้ไม่


จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดให้แก่โจทก์เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2532 สิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นการที่ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลย และจำเลยใช้เครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่ซื้อผลิตน้ำแข็งออกขาย จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2535 ยังไม่เกิน 5 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ


ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเนื่องจากการผิดนัดไม่ชำระเงินแก่โจทก์ เป็นดอกเบี้ยที่กำหนดแทนค่าเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 224วรรคหนึ่ง และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 กรณีมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปีตามมาตรา 193/33 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2539

โจทก์ส่งกระดาษให้แก่จำเลยมีน้ำหนักไม่ถูกต้องตามขนาดที่ตกลงกันไว้เป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ตกลงกันตามสัญญาถือได้ว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา472ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2539

จำเลยตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อจากการเคหะแห่งชาติแก่โจทก์โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ผ่อนส่งเงินในกำหนดระยะเวลาหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ผ่อนชำระให้จำเลยแล้วจำนวน62,000บาทข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการตกลงเพื่อให้โจทก์เข้าไปสวมสิทธิของจำเลยที่มีอยู่ต่อการเคหะแห่งชาติในการที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารต่อไปก็ตามแต่โจทก์ก็มิได้ฟ้องบังคับให้การเคหะแห่งชาติโอนที่ดินพร้อมอาคารให้แก่โจทก์อันจะต้องอยู่ในบังคับเรื่องการโอนสิทธิโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับสิทธิเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารของการเคหะแห่งชาติซึ่งสิทธิเช่าซื้อดังกล่าวเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการซื้อขายสิทธิแม้ไม่ทำเป็นหนังสือแต่ก็ได้มีการชำระหนี้เนื่องในการซื้อขายนี้กันบ้างแล้วอันมีผลผูกพันระหว่างจำเลยผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามข้อตกลงดังกล่าว (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่3/2539)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7254/2538

จำเลยซื้อเครื่องปรับสภาพน้ำจากโจทก์และชำระราคาบางส่วนเมื่อโจทก์ติดตั้งให้จำเลยเรียบร้อยแล้วโดยไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนเครื่องปรับสภาพน้ำที่โจทก์ติดตั้งให้นั้นมีความชำรุดบกพร่อง ซึ่งโจทก์ต้องแก้ไขให้ตามสัญญานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามข้อสัญญาที่มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง จะอ้างมาเป็นเหตุไม่ยอมชำระเงินให้โจทก์หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6144/2538

โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยต่อเรือตรวจการและรับเรือแล้วแต่เรือชำรุดเสียหาย โจทก์ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมแซมเป็นเงิน 1,159,330บาท และเรือพิพาทชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้จนถึงวันซ่อมเสร็จประมาณ 4 ปีเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท ดังนี้ เมื่อเรือพิพาทชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่โจทก์มุ่งจะใช้ตามปกติ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 595 ประกอบด้วยมาตรา 472


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2538

บัตรรับประกันในการซื้อขายรถมีข้อยกเว้นความรับผิดในความเสียหายซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุเมื่อสาเหตุไฟลุกไหม้เกิดจากความชำรุดบกพร่องของระบบไฟเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ของรถยนต์คันพิพาทได้รับความเสียหายมิได้เกิดจากการขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนกับรถคันอื่นหรือวัตถุสิ่งของอื่นในถนนแม้เป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมายของโจทก์และจำเลยแต่มิใช่เกิดจากอุบัติเหตุจำเลยจึงต้องรับผิด แม้ในบัตรรับประกันจะระบุว่าโจทก์จะต้องนำรถมาซ่อมที่ห้างจำเลยเท่านั้นแต่เมื่อโจทก์นำรถยนต์คันพิพาทไปจอดไว้ที่ห้างจำเลยเพื่อซ่อมจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับผิดอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุโจทก์จึงต้องนำรถยนต์คันพิพาทไปจ้างบริษัทอื่นซ่อมดังนี้จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าซ่อมแก่โจทก์ ค่ายกเครื่องค่าเปลี่ยนฝากระโปรงหน้าค่าเคาะพ่นสีค่ายกรถและชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีการซ่อมและเปลี่ยนใหม่เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการติดตั้งเครื่องยนต์และเป็นส่วนประกอบเพื่อให้รถอยู่ในสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆดังกล่าวไม่ถือว่าอยู่นอกเหนือเงื่อนไขของการรับประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5618/2530

ความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายอันผู้ขายจะต้องรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา472 นั้นต้องเป็นความชำรุดบกพร่อง ที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบ ส่วนความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังผู้ขายหาต้องรับผิดไม่ โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลย ขณะที่โจทก์รับรถคันพิพาทไปจากจำเลย รถมีสภาพเรียบร้อยดี ภายหลังโจทก์จึงอ้างว่ารถมีกลิ่นเหม็นดังนี้ จำเลยหาต้องรับผิดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2529

จำเลยส่งสินค้าที่มีคุณภาพชำรุดบกพร่องทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อสินค้าเป็นเหตุให้โจทก์ขายสินค้านั้นไม่ได้จำเลยต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าวโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา215,387,391และ472 ค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา222คือคืนเงินราคาสินค้าที่จำเลยรับไปจากโจทก์ค่าที่โจทก์ได้ชำระค่าขนส่งสินค้าค่าวัสดุสำหรับบรรจุหีบห่อสินค้าที่โจทก์จัดซื้อแล้วส่งให้จำเลยและค่าโกดังเก็บสินค้าซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายพิเศษที่จำเลยควรจะคาดคิดล่วงหน้าได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2533

โจทก์ซื้อกระป๋องสำหรับบรรจุปลากับน้ำซอส มะเขือเทศ จากจำเลยเมื่อกระป๋องดังกล่าวเป็นสนิมและมีความชำรุดบกพร่องอย่างอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตของจำเลย อันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 แม้โจทก์จะรับของจากจำเลยโดยไม่อิดเอื้อน แต่ขณะที่มีการส่งมอบของนั้นความชำรุดบกพร่องยังไม่เป็นอันเห็นประจักษ์ จำเลยก็หาพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 473(2) ไม่ จำเลยทราบดีว่าโจทก์ซื้อกระป๋องดังกล่าวเพื่อนำไปขายต่อให้แก่ผู้ซื้อในประเทศพม่า การที่โจทก์ต้องเสียค่าขนส่งกระป๋องทดแทนส่วนที่ชำรุดบกพร่องไปให้ผู้ซื้อเพิ่มเติมจึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว แม้โจทก์จะนำสืบจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ได้ความแน่ชัด ศาลก็กำหนดให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544

ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8339/2540

การเรียกคืนเงินส่วนที่ชำระเกินในกรณีโจทก์ส่งมอบสินค้าไม่ถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ หาใช่เป็นเรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปี ไม่ และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะอายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 (เดิม)