รับขนของ

มาตรา ๖๑๐  อันบุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไปนั้น เรียกว่าผู้ส่ง หรือผู้ตราส่ง
บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงนั้น เรียกว่าผู้รับตราส่ง

บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้น เรียกว่าค่าระวางพาหนะ

มาตรา ๖๑๑  อันว่าอุปกรณ์แห่งค่าระวางพาหนะนั้น ได้แก่ค่าใช้จ่ายอย่างใด ๆ ตามจารีตประเพณีอันผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง

มาตรา ๖๑๒  ถ้าผู้ขนส่งเรียกเอาใบกำกับของ ผู้ส่งต้องทำให้
ใบกำกับของนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้ คือ
(๑) สภาพและน้ำหนัก หรือขนาดแห่งของที่ส่ง กับสภาพ จำนวน และเครื่องหมายแห่งหีบห่อ
(๒) ตำบลที่กำหนดให้ส่ง
(๓) ชื่อหรือยี่ห้อ และสำนักของผู้รับตราส่ง
(๔) ตำบลและวันที่ออกใบกำกับของนั้น
อนึ่งใบกำกับของนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ส่งเป็นสำคัญ

มาตรา ๖๑๓  ถ้าผู้ส่งเรียกเอาใบตราส่ง ผู้ขนส่งก็ต้องทำให้
ใบตราส่งนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้ คือ
(๑) รายการดังกล่าวไว้ในมาตรา ๖๑๒ อนุมาตรา ๑, ๒ และ ๓
(๒) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ส่ง
(๓) จำนวนค่าระวางพาหนะ
(๔) ตำบลและวันที่ออกใบตราส่ง
อนึ่งใบตราส่งนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ขนส่งเป็นสำคัญ

มาตรา ๖๑๔  แม้ว่าใบตราส่งจะได้ออกให้แก่บุคคลผู้ใดโดยนามก็ตาม ท่านว่าย่อมสลักหลังโอนให้กันได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามการสลักหลังไว้

มาตรา ๖๑๕  ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง หรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร

มาตรา ๖๑๖  ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง

มาตรา ๖๑๗  ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าอันเกิดแต่ความผิดของผู้ขนส่งคนอื่น หรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมายของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง

มาตรา ๖๑๘  ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า

มาตรา ๖๑๙  ถ้าของเป็นสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือเป็นสภาพเกลือกจะก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินไซร้ ผู้ส่งต้องแสดงสภาพแห่งของนั้นไว้ก่อนทำสัญญา ถ้ามิได้ทำเช่นนั้นผู้ส่งจะต้องรับผิดในการเสียหายไม่ว่าอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ของนั้น

มาตรา ๖๒๐  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี และของมีค่าอย่างอื่น ๆ หากมิได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตน

แต่ถ้าของนั้นได้บอกราคา ท่านว่าความรับผิดของผู้ขนส่งก็ย่อมจำกัดเพียงไม่เกินราคาที่บอก

มาตรา ๖๒๑  ค่าสินไหมทดแทนในการส่งมอบของชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้คิดเกินกว่าจำนวนเช่นจะพึงกำหนดให้ในเหตุของสูญหายสิ้นเชิง

มาตรา ๖๒๒  ของถึงเมื่อใด ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่ง

มาตรา ๖๒๓  ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว

แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของสูญหายหรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายในแปดวันนับแต่วันส่งมอบ

อนึ่ง บทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้

มาตรา ๖๒๔  ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ เว้นแต่ในกรณีที่มีการทุจริต

มาตรา ๖๒๕  ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9855/2559
แม้ใบรับขนสินค้าของจำเลยที่ 1 มีข้อความท้ายสุดว่า "สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท" ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนที่สินค้าเสียหายจริงคือ 34,527.50 บาท

มาตรา ๖๒๖ ตราบใดของยังอยู่ในมือผู้ขนส่ง ตราบนั้นผู้ส่ง หรือถ้าได้ทำใบตราส่ง ผู้ทรงใบตราส่งนั้น อาจจะให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไป หรือให้ส่งกลับคืน หรือให้จัดการแก่ของนั้นเป็นอย่างอื่นประการใดก็ได้

ในเหตุเช่นนี้ ผู้ขนส่งชอบที่จะได้รับเงินค่าระวางพาหนะตามส่วนแห่งระยะทางที่ได้จัดการขนส่งไปแล้ว กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องเสียไปเพราะเหตุที่บอกงดหรือเพราะส่งของกลับคืน หรือเพราะจัดการเป็นประการอื่นนั้น

มาตรา ๖๒๗  เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว ท่านว่าแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง

มาตรา ๖๒๘  ถ้าว่าของสูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย ท่านว่าผู้ขนส่งไม่มีสิทธิจะได้เงินค่าระวางพาหนะ ถ้าและได้รับไปไว้ก่อนแล้วเท่าใดต้องส่งคืนจงสิ้น

มาตรา ๖๒๙  ถ้าผู้ขนส่งคนใดส่งมอบของเสียแต่ก่อนได้รับค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ไซร้ ท่านว่าผู้ขนส่งคนนั้นยังคงต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งก่อน ๆ ตนเพื่อค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ซึ่งยังค้างชำระแก่เขา

มาตรา ๖๓๐  ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงเอาของไว้ก่อนได้ตามที่จำเป็นเพื่อประกันการใช้เงินค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์

มาตรา ๖๓๑  ถ้าหาตัวผู้รับตราส่งไม่พบก็ดี หรือถ้าผู้รับตราส่งบอกปัดไม่ยอมรับมอบของก็ดี ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวไปยังผู้ส่งทันที และถามเอาคำสั่งของผู้ส่ง

ถ้าหากว่าพฤติการณ์ขัดขวางไม่สามารถจะทำได้ดังนี้ก็ดี หรือถ้าผู้ส่งละเลยเสียไม่ส่งคำสั่งมาในเวลาอันควรก็ดี หรือส่งมาเป็นคำสั่งอันไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปได้ก็ดี ท่านว่าผู้ขนส่งมีอำนาจที่จะเอาของไปฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ได้

ถ้าของนั้นเป็นลหุภัณฑ์ของสดเสียได้ และการหน่วงช้าไว้ย่อมเป็นการเสี่ยงความเสียหายก็ดี หรือถ้าราคาของนั้นดูไม่น่าจะคุ้มค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ก็ดี ผู้ขนส่งจะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดเสียก็ได้

อนึ่ง การเอาของไปฝากหรือเอาออกขายทอดตลาดเช่นว่านั้น ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมิให้ชักช้า เว้นแต่ไม่สามารถจะทำได้ ถ้าและผู้ขนส่งละเลยเสียไม่บอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย

มาตรา ๖๓๒  เมื่อเอาของออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขนส่งหักเอาไว้เป็นเงินค่าระวางพาหนะและค่าอุปกรณ์ ถ้าและยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องส่งมอบให้แก่บุคคลผู้ควรที่จะได้เงินนั้นโดยพลัน

มาตรา ๖๓๓  ถ้าของนั้นได้ขนส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทอดหลังที่สุดอาจใช้สิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา ๖๓๐, ๖๓๑, ๖๓๒ นั้น ในการเรียกค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์อันค้างชำระแก่ผู้ขนส่งทั่วทุกคนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2559
เมื่อปรากฏว่าอุณหภูมิของตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงผิดปกติ พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว และในที่สุดแม้สินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องไม่ได้รับการขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการจากบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้าดังกล่าว โดยหลังจากรับขนส่งและรับสินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องมาแล้วจำเลยที่ 1 จึงออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้านั้นไว้เพื่อขนส่งต่อไปแล้ว และใบเรียกเก็บเงิน ยังเป็นการเรียกเก็บค่าระวางอีกด้วย นอกจากนี้แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับอ้างเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งว่าเป็นสัญญาที่บริษัท ม. ผู้เอาประกันภัยตกลงในเรื่องการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อความที่ใช้กับเฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เช่นจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาผู้รับขนส่งทางอากาศได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยา ที่บริษัท ม. ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์

ใบรับขนของทางอากาศในช่องรายการแสดงราคาสินค้า (Shipper's Declared Values) แบ่งเป็น 2 ช่อง ช่องทางซ้ายเป็นช่องแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (for Customs) ระบุว่า "NVD" ส่วนช่องทางขวาเป็นช่องแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (for carriage) ระบุว่า "M/F" แสดงว่าเฉพาะในช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carraige) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกันและมีผลต่อการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ในช่องดังกล่าวของใบรับขนของทางอากาศกลับระบุว่า "M/F" ไม่ใช่ "NVD" โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 หรือฝ่ายใดว่า "M/F" กับ "NVD" มีความหมายเช่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายอ้างเอาประโยชน์จากข้อสัญญาจำกัดความรับผิดในความเสียหายจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด ซึ่งอยู่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นด้วยว่าบริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด เมื่อไม่ปรากฏลายมือชื่อของกรรมการบริษัท ม. ผู้ส่ง ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท บริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างย่อมไม่ผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10156/2558
แม้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาขาในประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ขั้นตอนในการดำเนินการขนส่งจะต้องอาศัย Agent หรือผู้รับขนส่งที่ประเทศต้นทาง ตามใบวางบิลของจำเลยที่ 2 มีการหักส่วนของกำไรที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกด้วย จำเลยที่ 1 มีกำไรจากค่าขนส่งส่วนหนึ่ง ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า และค่าเงินที่ผันผวน เมื่อตรวจดูการโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพนักงานฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ขายระวางกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าระวาง (Air Freight) ด้วย เมื่อ ม. ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทตามภาระที่เกิดจากเงื่อนไขการส่งมอบแบบ FCA และต่อมาเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนส่วนหนึ่งจากค่าระวางทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจาก ม. แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเอง กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาขนส่งกับ ม. ผู้ส่งที่แท้จริงตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 608 และ 610 แล้ว หากสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามมาตรา 616 และเมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ต้องรับผิดด้วยหากว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 617 และ 618

จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทแต่จำเลยที่ 2 มอบหมายต่อไปให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำเลยที่ 3 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นในการขนส่งที่มีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความหมายในมาตรา 617 และ 618 แม้ใบรับขนของทางอากาศจะไม่มีชื่อของ ม. ปรากฏอยู่ แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทที่แท้จริง และถ้าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความรับผิดต่อ ม. ผู้ซื้อในเงื่อนไขส่งมอบแบบ FCA นอกจากนั้นตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของ แม้จะระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็ระบุในช่อง Nature and Quantity of Goods ว่า CONSOLIDATED CARGO AS PER ATTACHED MANIFEST โดยมี Cargo Manifest แนบอยู่ในช่อง House Airway Bill/Consignee ระบุชื่อ ม. เป็นผู้รับตราส่งไว้ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งย่อมรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่าผู้รับสินค้าพิพาทที่ปลายทางที่แท้จริงคือ ม. ผู้รับตราส่งที่แท้จริงตามมาตรา 627 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้

ตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 3 ออกด้านหน้ามีช่องระบุข้อความให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้ส่งสามารถกำหนดเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้มากกว่าที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้ ด้วยการชำระค่าระวางขนส่งเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่ง และที่ด้านหลังมีข้อความพิมพ์ไว้ ซึ่งมี Notice Concerning Carrier's Limitation of Liability กำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ที่ 19 SDR ต่อน้ำหนักสินค้าที่เสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม เมื่อด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศไม่ปรากฏว่ามีการระบุมูลค่าของสินค้าพิพาทไว้ในช่อง Value for Carriage ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมจำกัดความรับผิดไว้ได้ตามที่ปรากฏหลังใบรับขนของทางอากาศ

เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการดูแลของจำเลยทั้งสาม และโจทก์จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15019/2558
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 ซึ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเพราะจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และมาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งในการสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์ นั้น แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน แต่โจทก์ก็มีพนักงานพิจารณาสินไหมบริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเหตุที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวมาเป็นพยานตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยาน โดยจำเลยที่ 4 มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อการขนส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของ ซึ่งมิได้บัญญัติว่า สัญญาเช่นนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารมาแสดงจึงจะบังคับกันได้ ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบและพยานดังกล่าวเบิกความยืนยันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้

ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับขนสินค้านั้นทางทะเลจากท่าเรือ ซึ่งแม้จะปรากฏว่าเป็นการรับขนตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) แต่ก็มีการออกใบตราส่ง ดังนั้น การรับขนสินค้าทางทะเลในกรณีนี้ในส่วนของหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง โดยหน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 4 ให้บังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลเพื่อขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งมีข้อความว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 1,964,583 เมตริกตัน และมีข้อความระบุว่า "Shipped, in apparent good order and condition" และข้อความว่า "Clean on board" แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อการขนส่งสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบตราส่ง และสินค้าอยู่ในสภาพดี และผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าที่ขนส่งกับได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เรือ ที่ผู้รับตราส่งจัดหามา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อเรือมาถึงเกาะสีชังผู้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างยังได้ออกรายงาน ยืนยันน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งว่าเท่ากับที่รับไว้เพื่อการขนส่งจากต้นทาง จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กัน ให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง ถือไม่ได้ว่าการที่สินค้าขาดจำนวนไป มาจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าที่ขนส่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนหรือสูญหายไปดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยที่ 4 ขาดจำนวนไปจากที่ได้รับไว้เพื่อการขนส่ง และโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด ประกอบกับตามใบกำกับสินค้าก็ได้กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้นของสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งการขนส่งก็เป็นแบบเทกอง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งขาดจำนวนไปดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องฝนตกอย่างฉับพลันคนเรือดึงผ้าใบปิดระวางเรือไม่ทัน เป็นเหตุให้สินค้าที่เหลืออยู่ในระวางเรือเปียกฝน เช่นนี้ถือว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ทั้งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะสามารถรู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพรับขนส่งสินค้า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวนนี้ด้วย

ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการค้นหาสาเหตุของการที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยที่ 4 ไม่ชำระหนี้ด้วยการขนส่งสินค้าที่ได้รับไว้ในความดูแลให้ปลอดจากความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อให้ทราบปริมาณความเสียหายและจำนวนค่าเสียหายของสินค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจาก 2 สาเหตุ เมื่อจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจากเหตุสินค้าเปียกน้ำเท่านั้น จึงเห็นควรลดค่าเสียหายส่วนนี้ลงตามส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2557
จำเลยที่ 1 รับสินค้าจากโจทก์เพื่อดำเนินการขนส่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ครั้นเมื่อมีการขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อแล้ว ปรากฏในขณะนั้นว่าสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง แต่ได้ความต่อมาว่าจำเลยที่ 2 พบสินค้าที่คิดว่าสูญหายดังกล่าวที่ท่าอากาศยานเบรเมน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันจะถือได้ว่าสินค้า 1 กล่องนี้สูญหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงกำหนดเวลาในการขนส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 ต้องขนส่งไปมอบแก่ผู้ซื้อไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ตามปกติในการขนส่งทางอากาศย่อมเป็นที่เข้าใจและคาดหมายกันได้ระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งว่าควรขนส่งไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยคู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งไปส่งมอบได้ภายในกำหนดเวลาเท่าที่พึงคาดหมายว่าการขนส่งทางอากาศในระยะทางเช่นนี้ควรส่งมอบแก่ผู้ซื้อได้ ประกอบกับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความทำนองว่า พยานได้รับแจ้งจากผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเชื่อได้ว่าการขนส่งครั้งนี้มีกำหนดเวลาอันคาดหมายได้ว่าควรส่งสินค้าถึงผู้ซื้อได้ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และมีการส่งสินค้าไปมอบแก่ผู้ซื้อแล้วเพียงแต่ส่งมอบได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้น เมื่อสินค้าขาดหายไป 1 กล่อง และค้นพบวันที่ 27 มีนาคม 2550 ย่อมเป็นกรณีที่หากส่งมอบสินค้า 1 กล่องนี้ได้ก็เป็นการส่งมอบชักช้ากว่าเวลาอันควรส่งมอบได้ จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งต้องร่วมกันรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการส่งมอบชักช้าดังกล่าว อันเกิดจากโจทก์ต้องผลิตสินค้าใหม่และส่งให้ผู้ซื้อทดแทน

ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความแสดงถึงกรณีที่สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครองไว้ในข้อ 2.6 ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองในกรณีการสูญหาย เสียหาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าโดยเฉพาะ เมื่อสินค้า 1 กล่อง หายไปโดยหาไม่พบแต่แรก แต่ต่อมาก็ค้นพบภายหลังในเวลาประมาณ 40 วัน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีส่งได้ชักช้าเท่านั้น ไม่ถึงกับถือว่าเป็นการสูญหาย จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2556
จำเลยที่ 2 ออกใบรับขนของทางอากาศฉบับแรกโดยระบุชื่อผู้ขายเป็นผู้ส่ง บริษัทผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่ง และใบรับขนของทางอากาศฉบับหลังก็ปรากฏข้อเท็จจริงต่อเนื่องกันกับการออกใบรับขนของทางอากาศฉบับแรก โดยใบรับขนของทางอากาศฉบับหลังจำเลยที่ 3 ออกให้โดยระบุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่ง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งที่ท่าอากาศยานปลายทางในประเทศไทย อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้านี้ทางอากาศเพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้รับมอบสินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปส่งมอบยังสำนักงานของผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับจัดการขนส่งโดยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้วดำเนินการขนส่งมาจนถึงท่าอากาศยานในประเทศแคนาดาและว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งทางอากาศมายังประเทศไทย และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางบกต่อในช่วงสุดท้ายนี้ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง หากสินค้าสูญหายไปในช่วงระหว่างตั้งแต่จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ขนส่งทางบกช่วงสุดท้ายไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย

ปัญหาว่าสินค้าสูญหายไปในช่วงการขนส่งโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวหรือไม่ โจทก์ผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สินค้าตามฟ้องสูญหายไปในระหว่างการขนส่งที่ผู้ขนส่งต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนต่อโจทก์ และเมื่อโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วม กรณีจึงเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ก็สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22319/2555
ในการขนส่งสินค้ารายนี้ สินค้าถูกส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาเนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิถูกปิดเพราะเหตุประท้วง แล้วส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 จากนั้นจำเลยที่ 4 บรรทุกสินค้าที่ได้รับมอบจากสนามบินอู่ตะเภามาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเก็บไว้ในโกดังของจำเลยที่ 4 และดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับแจ้งให้บริษัท ฮ. มารับสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมขนส่งสินค้ากับผู้ขนส่งรายอื่นในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบตราส่งทางอากาศ การบรรทุกสินค้าจากสนามบินอู่ตะเภามายังสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเพียงการขนย้ายสินค้าเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แสดงว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งมารับสินค้า ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในการขนส่งทอดใดทอดหนึ่ง

จำเลยที่ 4 ได้รับสินค้าและตรวจพบความเสียหายของกล่องบรรจุสินค้าจึงได้ทำรายงานสินค้าเสียหายเอาไว้ แสดงว่าสินค้าต้องถูกกระแทกได้รับความเสียหายในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งระหว่างการขนส่ง แม้จะไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของบุคคลใด แต่ได้ความจากพนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายว่าเมื่อไปตรวจสอบความเสียหายของสินค้าที่สถานที่รับมอบสินค้าตามคำสั่งให้ส่งสินค้า (Delivery Order) พบสินค้าที่ขนส่งมาโดยเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหาย อันเป็นสินค้าที่จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ดูแลทำการขนส่ง เมื่อผู้รับสินค้ายังไม่ยินยอมรับมอบสินค้า ถือได้ว่าสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดูแลของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่เมื่อมีข้อความระบุข้อจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศของจำเลยที่ 3 ไว้ ซึ่งผู้ส่งหรือผู้แทนได้ลงนามตกลงไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ส่งหรือผู้แทนไม่ได้แจ้งต่อจำเลยที่ 3 ว่าประสงค์จะให้รับผิดตามราคาของที่อ้างว่าเสียหาย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏในใบตราส่งทางอากาศว่าได้ระบุข้อจำกัดความรับผิดไว้ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9541/2555
ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่ง แต่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ขนส่งอีกต่อหนึ่ง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ต่างรับจ้างขนส่งสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เงินส่วนต่างค่าขนส่งเป็นของตนเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติของตนอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และเมื่อจำเลยที่ 1 ว่าจ้างผู้ขนส่งคนอื่นคือ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งมอบหมายสินค้าให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกันในความสูญหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และมาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย

ส่วนที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น เป็นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันภัย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การสูญหายของสินค้าทำให้ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งต้องเสียหายมากกว่าราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าระวางการขนส่งแล้วแต่อย่างใด

จำเลยที่ 5 ออกใบตราส่งและประทับชื่อจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่ง ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 7 ออกใบรับขนของ (WAYBILL) ระบุว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ส่งของโดยให้ตัวแทนของจำเลยที่ 5 รับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง อันเป็นการทำหน้าที่ผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลทุกประการ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งโดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ขนส่งอื่น ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 7 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39, 43, 44 และ 45 สำหรับจำเลยที่ 6 แม้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 6 ไม่ได้ทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824

ความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ถึง (4) คดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ซึ่งผู้ขนส่งไม่อาจจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 ได้ เมื่อการสูญหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 เป็นผู้ลักเอาสินค้าที่สูญหายไป หรือจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดที่มีเจตนาจะให้เกิดการสูญหาย หรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่ามีกรณีตามมาตรา 60 (1) ที่ทำให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมรับผิดเพียงจำนวนจำกัดตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7157/2555
พฤติการณ์ที่จำเลยเลือกใช้บริการขนส่งทางอากาศซึ่งมีค่าขนส่งสูงกว่าการขนส่งทางทะเลมากถึงประมาณ 10 เท่า ก็เพราะเหตุจำเป็นต้องการส่งสินค้าให้ถึงโดยด่วน แม้ในใบรับขนทางอากาศจะไม่ได้ระบุวันที่สินค้าต้องถึงปลายทางไว้ก็เห็นได้อยู่ในตัวว่า คู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งสินค้าถึงปลายทางโดยรวดเร็วตามสภาพปกติในการขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบิน ซึ่งต้องใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งทางทะเลมากพอสมควร แต่การขนส่งสินค้าตามใบรับขนทางอากาศ 2 ฉบับ ตามฟ้อง โจทก์ใช้เวลาในการขนส่งถึงปลายทางช้ากว่าปกติ โดยใช้เวลามากกว่าการขนส่งทางทะเล ย่อมเห็นได้ว่าล่าช้าผิดปกติจากที่ควรจะเป็น

ส่วนปัญหาที่โจทก์ต่อสู้ว่า ความล่าช้าเกิดจากเหตุสุดวิสัยและสภาพแห่งของนั้นเองข้อเท็จจริงนี้โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพายุว่า เกิดพายุที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีวันเวลาใด มีความรุนแรงเพียงใดและเกิดขึ้นในช่วงกำหนดการบินของเครื่องบินที่จะขนส่งสินค้าอย่างไร มีเหตุให้ต้องเลื่อนกำหนดการบินออกไปเป็นวันเวลาใด ทั้งมิได้นำสืบว่าสินค้าของจำเลยมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถขนส่งโดยเครื่องบินของสายการบินทั่วไปอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าความล่าช้าเกิดจากมีพายุและข้อจำกัดเที่ยวบินของเครื่องบินเฉพาะสำหรับขนส่งสินค้าที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี อันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือสภาพแห่งของนั้นเอง

จำเลยเป็นหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 4,125,573.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนโจทก์เป็นหนี้ค่าเสียหายจากการขนส่งที่ต้องชำระแก่จำเลย 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จำเลยจะขอหักกลบลบหนี้มาด้วยก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยจะได้รับชำระจากโจทก์ดังกล่าวจะมีผลเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอน และข้อต่อสู้แห่งสิทธิเรียกร้องเป็นอันยุติสิ้นไปนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ จึงย่อมหักกลบลบหนี้กันได้ในวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ อันถือเป็นวันเวลาใช้เงินในการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสำหรับหนี้ที่จำเลยจะได้รับชำระจากโจทก์ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2555
บริษัท ท. ผู้ส่งและผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่งตามสัญญารับขนได้ในเบื้องต้นคือ ค่าเสียหายตามจำนวนเงินค่าสินค้า 34,111.79 ยูโร และค่าเสียหายอื่นตามค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและสมควร โจทก์ผู้รับประกันภัยได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลย ซึ่งย่อมไม่มีสิทธิเรียกมากไปกว่าสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยอยู่แต่เดิม แม้โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดตามมูลค่าการประกันภัยที่ตกลงกันไว้กับผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนสูงกว่าราคาสินค้าด้วยการรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันก็ตาม ก็เป็นความผูกพันกันเฉพาะระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันต่อจำเลยที่ต้องถือว่าค่าเสียหายเป็นไปตามจำนวนที่โจทก์รับประกันภัยเสมอไปแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้เท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย จากพยานหลักฐานในสำนวนที่พอเห็นได้คือ ค่าขนส่งที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้านี้นอกเหนือจากราคาสินค้าที่คิดราคาตาม Incoterms FOB แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงจำนวนเงินค่าขนส่งไว้ให้เห็นได้แน่นอน ในกรณีเช่นนี้เมื่อเห็นว่าค่าขนส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 3,400 ยูโร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่ามีอีกแต่อย่างใดจึงไม่กำหนดให้ โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย 1 ยูโร เท่ากับ 52.7575 บาท ย่อมต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันนี้ในการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นเงินบาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2555
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าซึ่งผู้ขายขอเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้อง การประกันภัยคุ้มครองสินค้าระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี โดยยังไม่ได้อ้างถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าผู้ขายเอาประกันภัยสินค้าไว้เฉพาะช่วงที่ขนส่งจากประเทศอินโดนีเซียมาถึงเกาะสีชังเท่านั้น ไม่ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงช่วงที่ขนส่งจากเกาะสีชังไปยังโรงงานของผู้ซื้อตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อและไม่อาจรับช่วงสิทธิจากผู้ซื้อ ข้ออ้างของจำเลยส่วนนี้เป็นไปตามข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบและอ้างส่งกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดอีกฉบับ โดยอ้างว่ากรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารท้ายฟ้องระบุให้เงื่อนไขการประกันภัยเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดดังกล่าวที่โจทก์ไม่ได้อ้างถึงและมิได้ส่งมาท้ายคำฟ้องเพื่อให้จำเลยได้ตรวจสอบก่อนทำคำให้การ ทั้งที่เอกสารดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นและเป็นเอกสารที่อยู่ในครอบครองของโจทก์ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงเป็นรายละเอียดที่เพิ่งปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณา ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธความคุ้มครองของการประกันภัยสินค้ารายนี้อย่างชัดแจ้งไว้แล้ว และก็ได้ถามค้านเอกสารทั้งสองฉบับในประเด็นนี้ไว้แล้ว อุทธรณ์ส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยชอบที่จะยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้

แม้การประกันภัยสินค้าตามฟ้องจะมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุว่า บริษัท บ. ผู้ขาย เป็นผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อยานพาหนะว่าเรือ อ. ระบุการเดินทางของเรือว่าจากท่าเรือประเทศอินโดนีเซียไปเกาะสีชัง ประเทศไทย และในช่องข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษระบุข้อความว่าเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งหมายถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยทางทะเลแบบเปิด (MARINE CARGO OPEN POLICY) ระหว่างบริษัท ป. ผู้เอาประกันภัย กับโจทก์ผู้รับประกันภัย เห็นได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ คู่สัญญาในส่วนของผู้เอาประกันภัยเป็นนิติบุคคลต่างรายกันแต่คู่สัญญาในส่วนของผู้รับประกันภัยเป็นนิติบุคคลเดียวกันคือโจทก์ เมื่อสัญญาประกันภัยทางทะเลตามกรมธรรม์ประกันภัย บริษัท บ. ได้ทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายสินค้าถ่านหินระหว่างบริษัท บ. ผู้ขายกับผู้ซื้อ ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยให้มีผลคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างการขนส่งตั้งแต่ท่าเรือต้นทางที่บรรทุกสินค้าไปจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยยอมรับเงื่อนไขพิเศษตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด ซึ่งโจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับประกันภัยด้วยมาเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษของสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าตามฟ้องกับบริษัท บ. ผู้ขาย ตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้บริษัท บ. จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบริษัท ป. แต่ก็เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งข้อกำหนดและเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย โดยมีผลให้การคุ้มครองสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นการให้ความคุ้มครองตั้งแต่ท่าเรือต้นทางไปจนส่งมอบถึงโรงงานผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรีเมื่อผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยความเสียหายของสินค้าตามสัญญาระหว่างการขนส่ง ผู้ขายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าตามฟ้องตลอดการขนส่งจนกว่าสินค้าจะเดินทางถึงโรงงานของผู้ซื้อ การประกันภัยสินค้าจึงครอบคลุมถึงความเสียหายหรือสูญหายของสินค้า

ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคลื่นและลมในท้องทะเลช่วงที่เกิดเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวเรือที่เดินเรือในท้องทะเลบริเวณเกิดเหตุแต่อย่างใด คงเกิดความเสียหายแก่เรือทั้งสองลำดังกล่าวเท่านั้น การที่เรือไทยขนส่ง 46 และเรือไทยขนส่ง 45 มีความสามารถบรรทุกสินค้าได้อย่างปลอดภัยเพียง 590 เมตริกตัน แต่จำเลยจัดสินค้าถ่านหินบรรทุกถึงลำละ 1,300 เมตริกตัน เกินกว่าความสามารถบรรทุกตามที่ได้จดทะเบียนไว้กว่า 2 เท่า ความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย จำเลยเป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับมอบหมายสินค้าตามฟ้องไว้ในความครอบครองดูแลเพื่อการขนส่ง จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3723/2555
คดีนี้มีมูลเหตุจากการที่บริษัท ย. ในประเทศไทย สั่งซื้อเครื่องอัดฉีดพลาสติกจากประเทศญี่ปุ่น สินค้าถูกขนส่งทางทะเลจากท่าเรือเมืองโยโกฮาม่าถึงท่าเรือกรุงเทพ และผู้ซื้อได้เอาประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อไว้กับโจทก์ เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ผู้ซื้อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้ซื้อรวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรดังกล่าว กระบวนการขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้ซื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิประกอบกิจการประกันภัยในราชอาณาจักรไทย จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลโดยรับประกันภัยสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่งตั้งแต่โรงงานของผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นจนกว่าสินค้าจะถึงโรงงานของผู้ซื้อในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางบกก่อนสินค้าจะถูกส่งถึงมือผู้ซื้อ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ และโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป โจทก์จะเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากผู้ที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะร่วมกันขนส่งสินค้าแล้วทำให้สินค้าเสียหายเป็นคดีนี้ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับพิจารณาพิพากษาคดีชอบแล้ว

จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างจากผู้เอาประกันภัยจัดการนำสินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพ ผ่านพิธีศุลกากรและขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัยรวมทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรดังกล่าวไปติดตั้งในโรงงานของผู้เอาประกันภัยโดยจำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เอาประกันภัย การที่จำเลยที่ 1 ไปติดต่อเช่ารถฟอร์คลิฟท์จากจำเลยที่ 2 มาดำเนินการในส่วนของการเคลื่อนย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 2 มิได้ทำการขนส่งเครื่องจักรแม้เพียงช่วงใดช่วงหนึ่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น แต่ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการขนย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2917/2555
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายสินค้าพิพาทไว้เพื่อขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ระหว่างการขนส่งสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายเพราะมีแมลงเข้าไปในสินค้าพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าพิพาท จำเลยให้การปฏิเสธว่า การที่แมลงเข้าไปในสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากการขนส่งของจำเลย เนื่องจากผู้ส่งเป็นผู้บรรจุและหีบห่อสินค้าพิพาท เมื่อขนส่งสินค้าพิพาทไปถึงด่านสินค้าขาเข้าของประเทศมาเลเซียมีการพบแมลงอยู่บริเวณหีบห่อส่วนที่เป็นพลาสติก การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตั้งประเด็นว่า สินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลย และจำเลยต้องรับผิดชอบหรือไม่ ย่อมครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงว่า การที่มีแมลงเข้าไปในสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากการกระทำหน้าที่ขนส่งของจำเลย แต่ถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียที่ให้เก็บสินค้าพิพาทไว้ในโกดังสินค้าของจำเลย ห้ามเคลื่อนย้ายในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยจึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างไว้ในคำให้การ มิได้เป็นการพิพากษานอกประเด็น

ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากมีแมลงเข้าไปปะปนอยู่ในถุงสินค้าพิพาท ขณะสินค้าพิพาทถูกขนออกจากตู้คอนเทนเนอร์เก็บไว้ที่โกดังสินค้าของจำเลยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียตรวจสอบ ขณะนำไปตรวจสอบไม่ปรากฏตัวแมลงปะปนอยู่ในสินค้าพิพาท แสดงว่าแมลงได้เข้าไปปะปนในสินค้าพิพาทในช่วงเวลาที่สินค้าพิพาทถูกเก็บไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยก่อนผู้ซื้อจะได้รับมอบสินค้าพิพาทแม้การเก็บสินค้าพิพาทไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยจะถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซีย แต่จำเลยก็มีหน้าที่นำสินค้าผ่านเข้าประเทศมาเลเซียด้วย ดังนั้น การดูแลรักษาสินค้าพิพาทยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย จำเลยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการขนส่งสินค้าย่อมมีหน้าที่ดูแลสินค้าพิพาทในช่วงเวลาขนส่งมิให้เกิดความเสียหายสูญหาย การมีแมลงเข้าไปตอมสินค้าพิพาทโดยแทรกสิ่งห่อหุ้มสินค้าพิพาทเข้าไปย่อมเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า สินค้าพิพาทมีการหีบห่อเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ได้มีการคลุมสินค้าพิพาทอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า การป้องกันมิให้แมลงเข้าไปที่สินค้าพิพาทสามารถป้องกันได้โดยใช้ผ้าใบหรือสิ่งห่อหุ้มคลุมสินค้าพิพาทไว้อีกชั้นหนึ่ง เพียงแต่จำเลยมิได้คาดคิดหรือคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การมีแมลงเข้าไปที่สินค้าพิพาทเกิดความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายขณะที่สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

ตามสัญญาประกันภัยมีการตกลงราคาประกันภัยโดยคิดตามราคาสินค้าบวกด้วยร้อยละ 10 แม้คู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงกันได้เพราะผู้เอาประกันภัยอาจได้รับความเสียหายมากกว่ามูลค่าสินค้าที่เอาประกันภัยโดยมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้เอาประกันภัยต้องเสียไป เช่น ค่าหีบห่อและค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วย ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้าได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันซึ่งต้องจ่ายตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องในความเสียหายได้เพียงที่ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิด คือ จำนวนตามสัญญารับขน ซึ่งได้แก่ค่าเสียหายเท่าที่ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจริงเท่านั้น และต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา มิใช่จะถือเอาว่าความเสียหายที่แท้จริงจะต้องเป็นราคาสินค้าที่เสียหายบวกร้อยละ 10 ตามสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องผูกพันด้วยแต่อย่างใด และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ปรากฏว่า ผู้ซื้อสินค้ามีหนังสือเรียกร้องความเสียหายเป็นค่าสินค้าที่เสียหายที่ยังไม่บวกร้อยละ 10 แต่ส่วนเพิ่มที่เป็นภาษีมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของราคาสินค้าแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีเพียงจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831 - 1832/2555
คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ขนส่งโดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าพิพาทไปยังโรงงานของผู้รับตราส่งทั้งสอง การที่มีผู้ขับเรือนำเรือลำเลียงมารับสินค้าพิพาทเพื่อขนส่งไปยังโรงงานของผู้รับตราส่งทั้งสองย่อมเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าพิพาทเสียหายระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมีว่า จำเลยที่ 1 รับขนส่งสินค้าพิพาทโดยเรือลำเลียงไปยังโรงงานของผู้รับตราส่งทั้งสอง แต่ระหว่างการขนส่งมีน้ำไหลเข้าไปในเรือลำเลียงเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทซึ่งเป็นเหล็กม้วนเป็นสนิม ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าเรือมีรอยรั่วบริเวณด้านบนของกราบขวาเรือ ทำให้น้ำเข้าเรือ เป็นเพียงรายละเอียด เพราะแม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าน้ำไหลเข้าไปในเรือลำเลียงได้อย่างไร จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องรับผิดตามสภาพแห่งข้อหาดังกล่าว เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะพิสูจน์ได้ว่าการที่น้ำไหลเข้าไปในเรือเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าน้ำไหลเข้าเรือตามรอยรั่วดังกล่าว แต่ไหลเข้าตามรอยรั่วแห่งอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย ไม่ถือว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังข้อเท็จจริงเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11699/2554
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามสัญญารับขนสินค้าตามฟ้อง ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิด คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ผู้กระทำละเมิดทำให้สินค้าเสียหายเป็นคนขับเรือลากจูง จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225

จำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งสินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นให้กับบริษัท ท. จากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงพักสินค้าของบริษัทดังกล่าวที่จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นการขนส่งภายในประเทศ ที่ต้องใช้บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 บังคับ ซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อปรากฏว่าสินค้าที่รับขนส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องพิสูจน์นำสืบพยานหลักฐานแสดงข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย

แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า เรือมีรูรั่วบริเวณด้านบนกาบขวาเรือ แต่โจทก์นำสืบรับว่าเรือของจำเลยทั้งสองมีรูรั่วอยู่บริเวณใต้น้ำ ซึ่งแตกต่างไปจากคำฟ้อง ก็ไม่ใช่เป็นการคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 เพราะสาระสำคัญของข้อเท็จจริงที่จะมีผลให้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดอยู่ที่เรื่องเหตุสุดวิสัยเท่านั้น เมื่อรับฟังไม่ได้ว่ารูรั่วเกิดจากเหตุสุดวิสัยแล้ว จำเลยทั้งสองก็ยังคงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. 616 อยู่ดี

ลักษณะความเสียหายของสินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นเกิดเป็นสนิมทั้งหมด ซึ่งเหล็กดังกล่าวจะนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้าที่ซื้อไปผลิตส่วนประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์หรือตัวถังรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หากเกิดสนิมหรือเกิดความชื้นเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ ถือว่าเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง การเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2554
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7198/2554
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ย่อมต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามหนังสือรับช่วงสิทธิที่ผู้เอาประกันภัยออกให้แก่โจทก์มีข้อความว่า ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ และตกลงโอนสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่รับประกันภัยไว้โดยผลของกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องหรือไม่ นั้น ในส่วนของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าเกษตรกรรม ทั้งคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ นอกจากเอกสารซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่ง ประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ท. ผู้จัดการของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่า รับขนสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้รับการติดต่อจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับขนส่งสินค้าตามฟ้องให้ไปร่วมขนส่งสินค้า แต่ ท. อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีรถไปบรรทุกสินค้าจึงสอบถาม อ. โดย อ.ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อ. จึงไปติดต่อนำรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 มารับขนสินค้า คนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับการรับขนสินค้าตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งเหตุแล้วได้นำรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งมาแบ่งขนสินค้าไปส่งยังคลังสินค้าของผู้เอาประกันภัย ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการขนส่งสินค้ารายนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรับผิดชอบจัดหารถไปช่วยขนสินค้าไปยังที่หมายปลายทางตามสัญญาว่าจ้าง ทั้ง ท. เบิกความรับว่า หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมได้ชำระค่าว่าจ้างขนส่งให้แก่จำเลยที่ 2 อีกด้วย จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งเพื่อทางการค้าเป็นปกติ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าที่รับขนเกิดความเสียหายสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายหรือสูญหายดังกล่าว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมอย่างลูกหนี้ร่วมจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ทั้งที่โจทก์ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2553
ใบกำกับการส่งสินค้าหรือใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ที่นำสินค้ามาส่ง มีข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และลูกจ้างของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ส่งสินค้า แต่ด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเพียงแต่มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การส่งสินค้าควรประเมินราคาเพื่อประโยชน์ของท่านเอง และอีกตอนหนึ่งว่า โปรดสังเกตเงื่อนไขในการว่าจ้าง ร.ส.พ. ขนส่งสินค้าอยู่ด้านหลังนี้ ซึ่งด้านหลังของเอกสารดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการว่าจ้าง มีเงื่อนไขตอนหนึ่งระบุว่า ข้อ 7 ค. การขนส่งพัสดุภัณฑ์อื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในข้อ ก.และ ข. ผู้ส่งหรือผู้ว่าจ้างยินยอมให้ ร.ส.พ. ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท ต่อเอกสารการขนส่ง 1 ฉบับ ข้อความด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำเตือนหรือคำแนะนำให้ผู้ส่งสินค้าปฏิบัติ ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดระหว่างผู้ขนส่งและผู้ส่ง ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา 625 แห่ง ป.พ.พ.

สินค้ากระดาษอัดรูปและฟิลม์สีที่โจทก์ว่าจ้างให้ขนส่งมีราคาสูง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่นตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่จำต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในราคาสินค้าที่แท้จริงซึ่งเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2553
ใบกำกับการส่งสินค้าหรือใบเสร็จรับเงินซึ่งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ที่นำสินค้ามาส่ง มีข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และลูกจ้างของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ส่งสินค้าไว้ด้วย แต่เอกสารดังกล่าวด้านหน้าตอนท้าย ของเอกสารดังกล่าวเพียงแต่มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การส่งสินค้าควรประเมินราคาเพื่อประโยชน์ของท่านเอง และอีกตอนหนึ่งว่า โปรดสังเกตเงื่อนไขในการว่าจ้าง ร.ส.พ. ขนส่งสินค้าอยู่ด้านหลังนี้ ซึ่งด้านหลังของเอกสารดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการว่าจ้างร.ส.พ.ขนส่งสินค้าและมีเงื่อนไขตอนหนึ่งระบุว่าการขนส่งพัสดุภัณฑ์อื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในข้อ ก.และ ข. ผู้ส่งหรือผู้ว่าจ้างยินยอมให้ ร.ส.พ. ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท ต่อเอกสารการขนส่ง 1 ฉบับ ข้อความด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำเตือนหรือคำแนะนำให้ผู้ส่งสินค้าปฏิบัติ ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดระหว่างผู้ขนส่งและผู้ส่งจึงเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 สินค้าประเภทกระดาษอัดรูปและฟิลม์สีที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนส่งมีราคาสูง แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่นตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่จำต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในราคาสินค้าที่แท้จริงซึ่งเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 61

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2553
ใบกำกับการส่งสินค้าหรือใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ที่นำสินค้ามาส่ง มีข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และลูกจ้างของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ส่งสินค้า แต่ด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเพียงแต่มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การส่งสินค้าควรประเมินราคาเพื่อประโยชน์ของท่านเอง และอีกตอนหนึ่งว่า โปรดสังเกตเงื่อนไขในการว่าจ้าง ร.ส.พ. ขนส่งสินค้าอยู่ด้านหลังนี้ ซึ่งด้านหลังของเอกสารดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการว่าจ้าง มีเงื่อนไขตอนหนึ่งระบุว่า ข้อ 7 ค. การขนส่งพัสดุภัณฑ์อื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในข้อ ก.และ ข. ผู้ส่งหรือผู้ว่าจ้างยินยอมให้ ร.ส.พ. ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท ต่อเอกสารการขนส่ง 1 ฉบับ ข้อความด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำเตือนหรือคำแนะนำให้ ผู้ส่งสินค้าปฏิบัติ ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดระหว่างผู้ ขนส่งและผู้ส่ง ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา 625 แห่ง ป.พ.พ.
สินค้ากระดาษอัดรูปและฟิลม์สีที่โจทก์ว่าจ้างให้ขนส่งมีราคาสูง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่นตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่จำต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในราคาสินค้าที่แท้จริงซึ่ง เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2551
ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติว่า การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหมายความว่าอย่างไร จึงต้องถือความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และมาตรา 610 จากบทบัญญัติดังกล่าว การให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนส่งของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีก ที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง ฉะนั้น หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะแล้ว การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ซึ่งค่าระวางพาหนะจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งเป็นสำคัญ เมื่อบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไป ส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญา จ้างบริการโดยมิได้คำนึงถึงระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่งอันจะ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) แม้จะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2551
เมื่อสินค้าที่ขนส่งเป็นของมีค่า และโจทก์ผู้ส่งได้บอกสภาพแห่งของว่าเป็นนาฬิกาและบอกราคาของไว้ในขณะที่ส่ง มอบแก่จำเลยผู้ขนส่งแล้ว จำเลยก็ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลสินค้าเป็นพิเศษในการขนส่ง เมื่อสินค้าสูญหาย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าซึ่งเป็นราคาที่บอกแก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616, 620 และโจทก์ไม่ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามข้อ ความที่ปรากฏด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 625 โจทก์จึงไม่จำต้องเลือกชำระค่าบริการเพิ่มแทนการยอมรับการจำกัดความรับผิด ของจำเลย ทั้งการที่โจทก์ไม่เสียค่าบริการเพิ่มจะถือว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้ เกิดความเสียหายด้วย และอาศัยเป็นพฤติการณ์ในการลดค่าเสียหายของโจทก์หาได้ไม่ จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าที่ขนส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2551
สินค้าที่ขนส่งเป็นของมีค่า และโจทก์ผู้ส่งได้บอกสภาพแห่งของว่าเป็นนาฬิกาและบอกราคาของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยผู้ขนส่งแล้ว จำเลยจึงต้องใช้ความระมัดระวังดูแลสินค้าเป็นพิเศษในการขนส่ง เมื่อสินค้าสูญหาย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าซึ่งเป็นราคาที่บอกแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 616, 620 ทั้งโจทก์ไม่ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามข้อ ความที่ปรากฏด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 625 โจทก์จึงไม่จำต้องเพิ่มส่วนความรับผิดของจำเลยโดยเลือกชำระค่าบริการเพิ่ม แทนการยอมรับการจำกัดความรับผิด อีกทั้งการที่โจทก์ไม่เสียค่าบริการเพิ่มจะถือว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อ ให้เกิดความเสียหายด้วยและอาศัยเป็นพฤติการณ์ในการลดค่าเสียหายของโจทก์หา ได้ไม่ จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดขอใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าที่ขนส่งตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2551
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และบริษัท ล. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกัน โดยจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจรับขนคนโดยสาร ส่วนบริษัท ล. ประกอบธุรกิจรับขนของ แต่ที่ว่างสำหรับรรทุกของใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้ขายพื้นที่ดังกล่าวแก่บริษัท ล. เพื่อไปบริการรับขนสินค้าในนามตนเอง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้บริษัท ล. ขนส่งสินค้าดังกล่าวและบริษัท ล. ได้ดำเนินการส่งสินค้าดังกล่าวมากับเครื่องบินของจำเลยที่ 3 โดยใช้พื้นที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบินโดยสารที่จำเลยที่ 3 ขายให้ดังกล่าวขนสินค้า ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ถูกขนส่งนั้น โดยเป็นผู้มีหน้าที่ในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งและได้ รับผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน เช่นนี้ต้องถือว่าการส่งสินค้าครั้งนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งด้วยทอดหนึ่ง โดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 618

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2550
การรับขนของทางอากาศเป็นการขนส่งประเภทหนึ่ง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 625 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 625 บัญญัติว่า "ใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด เช่นว่านั้น" ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจะต้องรับผิดเพียงใด จึงต้องวินิจฉัยตามบทกฎหมายดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของบริษัท ฮ. ผู้ส่งสินค้าได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งสินค้าตามใบรับขนทางอากาศ เอกสารหมาย จ.4 ดังนั้น บริษัท ฮ. ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นตัวการย่อมมีความผูกพัน ต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน ส่วนผู้รับตราส่งแม้ไม่ได้แสดงความตกลงในการจำกัดความรับผิดตามใบรับขนทาง อากาศ เอกสารหมาย จ.4 แต่เมื่อสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นตกไปได้แก่ผู้รับ ตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 627 ดังนั้น ข้อตกลงการจำกัดความรับผิดดังกล่าวนอกจากใช้ยัน บริษัท ฮ. ผู้ส่งได้แล้วยังใช้ยันผู้รับตราส่งตลอดจนผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่ง ได้ด้วย

จำเลยทั้งสองต่างเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศและต่าง ยอมผูกพันตนตามข้อกำหนดของสมาคมดังกล่าวเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิด กล่าวคือ ในเรื่องความรับผิดต่อความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าหรือทรัพย์สินที่ขนส่ง จะมีข้อกำหนดให้บรรดาสมาชิกปฏิบัติไปในทางเดียวกัน คือ หากไม่แจ้งราคาสินค้าและไม่ชำระค่าระวางตามราคาสินค้าที่แจ้งแล้วเกิดความ สูญหายหรือเสียหายต่อสินค้าดังกล่าวซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบจะถูกจำกัดไว้เพียงไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยคำนวณจากน้ำหนักสุทธิของสินค้าที่สูญหาย การขนส่งที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น จึงอยู่ภายใต้การจำกัดความรับผิดดังกล่าว เมื่อผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง ทำให้ผู้ส่งสินค้าไม่ต้องเสียค่าระวางพาหนะเพิ่มเท่ากับเป็นการเลือกที่จะ ยอมรับการจำกัดความรับผิดที่ระบุอยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศนั้นเอง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการจำกัดความ รับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง เป็นเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม การจัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 625

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2550
บริษัท ก. โดยบริษัท พ. ได้ทำสัญญาขนส่งสินค้ากับจำเลยทั้งสอง ซึ่งมีข้อความกำหนดว่า เป็นการเข้าทำสัญญาตามเงื่อนไขด้านหลังของใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศ และเงื่อนไขดังกล่าวกำหนดไว้ในข้อความจำกัดความรับผิดว่าความรับผิดสูงสุด ของผู้ขนส่ง เสียหาย ล่าช้า... ถูกจำกัดตามใบตราส่ง คือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่ง หรือ 9.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ปอนด์ (20 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม) ที่ใบกำกับสินค้าระบุราคาสินค้าว่ามีมูลค่า 5,080 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่องมูลค่าการขนส่ง (Total Declared Value For Carriage) ระบุไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่าการขนส่งรายพิพาทนี้บริษัท ก. เจ้าของสินค้าได้มอบหมายให้บริษัท พ. เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งแทน โดยมีพนักงานของบริษัทดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ส่ง ทั้งได้ความว่า มีประเพณีเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศกำหนดไว้เช่นนั้น บริษัท ก. ได้ใช้บริการของจำเลยทั้งสองมาหลายครั้งจึงฟังได้ว่า บริษัท ก. ผู้ตราส่งยอมรับข้อตกลงตามเงื่อนไขข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ ขนส่งโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 แล้ว จำเลยทั้งสองย่อมรับผิดต่อบริษัท ก. เป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลย ทั้งสองรับผิดเพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011/2550
ผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบกล่องสินค้าให้พนักงานของจำเลยผู้ขนส่งพร้อมใบกำกับ สินค้าและใบรับขนทางอากาศ ซึ่งจำเลยส่งมาให้ผู้ส่งสินค้ากรอกข้อความ โดยได้กรอกประเภทของสินค้าว่าสินค้าจำพวกเครื่องเพชร พลอย ทอง 18 เค แสดงว่าจำเลยผู้ขนส่งได้รับบอกสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนแล้ว

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าสูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย นั้น เป็นอุทธรณ์ที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศกลางจึงไม่รับวินิจฉัย ทั้งข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงใช้บังคับ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8530/2549
ขณะส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัย สินค้าพิพาทมีสภาพกล่องที่เปียกน้ำ เปื่อย บุบยุบ ฉีกขาด และบางส่วนไม่ได้วางอยู่บนฐานรอง ซึ่งกล่องที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานรองนี้แตกต่างจากสภาพสินค้าขณะที่จำเลยรับ มอบไว้จากผู้ส่งตามใบตราส่ง ซึ่งระบุว่าสินค้าพิพาทมี 167 กล่อง วางอยู่บนฐานรองรวม 12 ฐาน ขณะที่พนักงานของผู้เอาประกันภัยได้ถ่ายภาพเพื่อเก็บหลักฐานความเสียหายที่ ปรากฏในเบื้องต้นนั้น ได้มีการแสดงออกถึงการที่ยังไม่ยอมรับว่าสินค้าที่จำเลยส่งมอบอยู่ในสภาพเรียบร้อยให้พนักงานขับรถและส่งของของจำเลยได้ทราบแล้ว แม้พนักงานของผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อรับสินค้านั้นไว้ก็เพราะปรากฏใน เบื้องต้นว่าสินค้าส่งมาครบถ้วนเท่าจำนวนกล่องที่ระบุไว้ในใบตราส่งเท่านั้น จะถือว่าผู้เอาประกันภัยรับเอาสินค้านั้นไว้โดยไม่อิดเอื้อนไม่ได้ จำเลยจึงยังไม่หลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 วรรคแรก ส่วนการอ้างประโยชน์ตามมาตรา 623 วรรคสอง ในกรณีความชำรุดบกพร่องมิได้ปรากฏแต่สภาพภายนอกซึ่งเจ้าของสินค้า ต้องบอกกล่าวภายใน 8 วัน นับแต่วันรับมอบนั้น กรณีตามมาตรา 623 วรรคสอง ต้องปรากฏว่ามีการรับของโดยไม่อิดเอื้อนและมีการจ่ายค่าระวางพาหนะแล้ว ตามมาตรา 623 วรรคแรกด้วย ความรับผิดของจำเลยจึงจะสิ้นสุดลง เมื่อข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่าผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งได้รับของ ไว้โดยไม่อิดเอื้อนแล้ว แม้ผู้รับตราส่งจะมิได้แจ้งเกี่ยวกับความเสียหายให้จำเลยทราบภายใน 8 วัน ก็ตาม ความรับผิดของจำเลยก็ยังไม่สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4787/2549
โจทก์เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 25 กรกฎาคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบกระเป๋าเดินทางสูญหายให้แก่โจทก์ อายุความย่อมเริ่มตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์จะฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2542 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือยินยอมชดใช่ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 400 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้จะไม่เต็มตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7970/2549
เมื่อผู้ส่งสินค้าทั้งห้ารายดังกล่าวติดต่อส่งสินค้ากับจำเลยทั้งสองมาเป็นเวลา นาน ผู้ส่งสินค้าย่อมมีโอกาสตรวจดูเงื่อนไขข้อตกลงตามใบรับขนทางอากาศและทราบถึง เงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าว และยังได้ความจากถ้อยคำของ ป. พยานจำเลยทั้งสองว่า พนักงานของจำเลยที่ 2 ได้อธิบายให้พนักงานของบริษัท อ. ทราบในหลายโอกาสว่าในใบรับขนทางอากาศด้านหลังมีข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขน ส่งอยู่ ประกอบกับตามใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ.3 จ.7 จ.11 จ.15 และ จ.19 ในช่องหมายเลข 10 ซึ่งฝ่ายผู้ส่งสินค้าได้ลงชื่อไว้ในฐานะผู้ส่งสินค้ามีข้อความว่า ผู้ส่งสินค้าตกลงตามเงื่อนไขสัญญาที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ นี้ แสดงว่าผู้ส่งได้รับทราบและยอมตกลงตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ปรากฏอยู่ด้านหลัง ของใบรับขนทางอากาศดังกล่าว นอกจากนี้ตามใบรับขนส่งทางอากาศ เอกสารหมาย จ.3 ก็ปรากฏว่าบริษัท อ. ผู้ส่งตกลงเลือกส่งสินค้าแบบไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง โดยมีการแจ้งน้ำหนักสินค้า จึงมีการคิดค่าระวางตามน้ำหนักสินค้าที่แจ้งเท่านั้น ส่วนในการขนส่งสินค้าของผู้ส่งสินค้าอีก 4 รายที่เหลือก็ปรากฏตามใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ.7 จ.11 จ.15 และ จ.19 ว่าผู้ส่งตกลงเลือกส่งสินค้าแบบแจ้งมูลค่าเพื่อการขนส่ง ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งสินค้าดังกล่าวทราบและยอมรับข้อจำกัดความรับผิด ที่ระบุอยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศดังกล่าว ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าผู้ส่งสินค้าทั้งห้ารายดังกล่าวได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง ในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าว

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าผู้ส่งสินค้าทั้งห้ารายดังกล่าวได้ตกลงด้วยชัด แจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าสินค้าทั้ง 5 รายการ สูญหายไปเพราะการทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้ง สอง ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์แต่อย่างใด เท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับในข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าสินค้าทั้ง 5 รายการ สูญหายไปเพราะการทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสอง ผู้ขนส่งตามฟ้อง ซึ่งตามเงื่อนไขด้านหลังใบรับขนทางอากาศ เอกสารหมาย ล.5 กรณีนี้จำเลยทั้งสองผู้ขนส่งไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดมาเป็นประโยชน์แก่ตน ได้

เมื่อบริษัท บ. และบริษัท ก. ผู้ส่งได้บอกราคาแห่งของในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยทั้งสองผู้ขนส่งว่ามีราคาราย ละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดและความรับผิดของจำเลยทั้งสองก็ย่อมจำกัดเพียง ไม่เกินราคาที่บอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 ส่วนสินค้ารายผู้ส่ง คือ บริษัท อ. นั้น ตามใบรับขนทางอากาศสินค้ารายนื้เอกสารหมาย จ.3 ในช่องมูลค่าสำแดงเพื่อการขนส่งไม่ได้ระบุราคาสินค้าไว้ว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างใด ฉะนั้น จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจำกัดความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของสินค้า รายนี้เป็นเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,404 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคสอง ได้ แต่เรื่องนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัย แล้วว่า ผู้ส่งสินค้าได้บอกถึงสภาพของสินค้าไว้ในขณะที่ส่งมอบให้จำเลยทั้งสองผู้ขน ส่งแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้ตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง โดยในข้อนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความสูญหายของสินค้าดัง กล่าวแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวมาใช้บังคับได้ดัง กล่าว จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาสินค้า

แม้ตัวแทนทำการเกินอำนาจ แต่ทางปฏิบัติของตัวการย่อมทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรจะเชื่อว่าการ อันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนเช่นนี้ ตัวการย่อมต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2549
ด้านหลังใบรับขนทางอากาศมีข้อความระบุจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ทั้งด้านหน้าใบรับขนทางอากาศก็ยังทำช่องการแสดงมูลค่าสำหรับการขนส่งไว้ เพื่อให้มีการกรอกข้อความได้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีข้อความกรอกไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า N.V.D. หรือ non value declare หมายความว่า ผู้ส่งสินค้าเลือกที่จะไม่แสดงมูลค่าเพื่อการขนส่ง ซึ่งเท่ากับยอมรับในจำนวนจำกัดความรับผิดดังกล่าว ประกอบกับการที่บริษัท อ. เป็นตัวแทนผู้ส่งสินค้าและเป็นตัวแทนออกใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล. 1 โดยมีข้อความดังกล่าวอยู่และอยู่ในความรู้เห็นเป็นอย่างดีของบริษัทนี้ ย่อมแสดงว่าบริษัทดังกล่าวกระทำการในฐานะตัวแทนผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในเรื่อง จำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่อยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล. 1 โดยชัดแจ้ง ซึ่งมีผลผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้า จึงถือได้ว่าผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งโดย ชัดแจ้งแล้วเช่นกัน ข้อจำกัดความรับผิดอันเป็นข้อตกลงในสัญญารับขนทางอากาศรายนี้ย่อมมีผลผูกพัน โดยสมบูรณ์ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อจำกัดความรับผิดนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2548
เมื่อปรากฏว่าเรือฉลอมลำเกิดเหตุซึ่งบรรทุกสินค้า 155 ถุง น้ำหนัก 186 ตัน จากที่สามารถบรรทุกน้ำหนักสูงสุดได้ 190 ตันเศษ ถูกนำไปจอดรวมกับเรืออีก 4 ลำ อยู่ที่ทุ่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่จอดเรือเป็นทางเข้าออกของเรือเดินสมุทรหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาด ใหญ่ ย่อมจะคาดหมายได้ว่าจะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ได้ การที่เรือฉลอมบรรทุกสินค้าเต็มลำเรือเสมอกาบเรือโดยเรือพ้นจากผิวน้ำไม่ เกิน 1 ศอก เมื่อถูกคลื่นขนาดใหญ่กระแทกน้ำย่อมเข้าเรือได้โดยง่าย ยิ่งนำไปผูกรวมกับเรืออื่น ๆ อีก 4 ลำ ทำให้เรือกระแทกกันเอง เพิ่มความรุนแรงในการกระแทกมากขึ้นและน้ำย่อมจะเข้าเรือได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการระมัดระวังจัดการป้องกันมิให้น้ำเข้าเรือเมื่อโดนคลื่น ขนาดใหญ่กระแทกอย่างไรบ้าง การนำเรือมาจอดที่ทุ่นจอดเรือและบรรทุกสินค้าไม่เกินพิกัดสูงสุดที่จะบรรทุก ได้โดยไม่จัดการระมัดระวังป้องกันเป็นพิเศษอย่างใดเลย ไม่เป็นการป้องกันตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าทางเรือ แม้ว่าเมื่อเรือฉลอมดังกล่าวจมลง ผู้ควบคุมเรือได้ตัดเชือกที่ผูกโยงกับเรือลำอื่น ๆ ก็เป็นเพียงการป้องกันมิให้เรือลำอื่น ๆ ต้องจมลงไปด้วย มิใช่การป้องกันเรือลำเกิดเหตุ เรือฉลอมจมลงและสินค้าเสียหายจึงมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7690/2547
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 บัญญัติการเริ่มต้นนับอายุความในกรณีที่ของสูญหายไว้ว่า ให้เริ่มต้นนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท บ. ผู้ส่งของให้ถ้อยคำว่า ระยะเวลาได้ผ่านพ้นไปพอสมควรแล้วก็ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าผู้ขนส่งยังไม่ทราบ ว่าสินค้าได้ตกหล่นที่ไหน จำเลยขอให้บริษัท บ. สอบถามไปยังผู้ซื้อว่าได้รับมอบสินค้าหรือไม่ แสดงว่าขณะที่จำเลยแจ้งมายังบริษัท บ. เป็นวันอันควรที่ส่งมอบสินค้าแล้ว เมื่อปรากฏว่าบริษัท บ. ได้ส่งอีเมล์สอบถามไปยังบริษัทผู้ซื้อโดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 24 สิงหาคม 2543 ถือได้ว่าอย่างช้าที่สุดวันที่ 24 สิงหาคม 2543 เป็นวันที่ควรจะได้ส่งมอบตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 624 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2547
สัญญารับขนของทางอากาศซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขของสัญญารับขนของทางอากาศปรากฏ เป็นข้อความภาษาอังกฤษทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบรับขนทางอากาศโดยด้านหน้ามี ข้อความพิมพ์ไว้ชัดแจ้งว่า คู่สัญญาให้ถือเอาข้อตกลงและเงื่อนไขในการขนส่งตามที่ระบุไว้ในแผ่นหน้าและ แผ่นหลังของใบรับขนทางอากาศนี้เป็นข้อสัญญารับขนของทางอากาศ ทั้งมีข้อความให้ผู้ส่งสินค้ารับทราบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิด ของผู้ขนส่งด้วย ผู้ส่งสินค้าอาจเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดได้ โดยแจ้งมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นและชำระเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น และแผ่นหลังของใบรับขนทางอากาศดังกล่าวได้ระบุข้อตกลงในกรณีที่ผู้ส่งสินค้า ไม่ได้ระบุมูลค่าของสินค้าไว้ว่า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้าหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งบริษัท อ. ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะตัวแทนของผู้ขายสินค้าหรือผู้ส่งสินค้าด้วย ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมรับฟังได้ว่า ตามสัญญารับขนสินค้าน้ำหอมทางอากาศในคดีนี้ ผู้ส่งสินค้าได้ตกลงโดยชัดแจ้งในเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งแล้ว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงใช้บังคับแก่คู่สัญญาขนส่งของทางอากาศ ในคดีนี้ได้ เมื่อปรากฏตามใบรับขนส่งทางอากาศว่าผู้ส่งสินค้าไม่ได้แจ้งมูลค่าสินค้า เพื่อการขนส่งไว้ ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่ขนส่งที่ตนเองรับ ขนส่งจึงถูกจำกัดไว้จำนวนเพียง 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้าที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1920/2546
เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างขนส่งสินค้า จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าอากาศยานปลายทาง จำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งอันถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งของให้แก่ผู้ส่งตามใบตราส่ง โดยระบุในใบตราส่งว่าผู้รับตราส่งคือธนาคารซิตี้แบงก์ มี ซ. เป็นผู้ที่จะต้องแจ้งให้ทราบ จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ ซ. ที่ท่าอากาศยานเมืองไมอามีซึ่งเป็นท่าอากาศยานปลายทาง โดยการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งซึ่งธนาคารซิตี้แบงก์ได้สลักหลังให้ เมื่อสินค้าถึงท่าอากาศยานเมืองไมอามี ตัวแทนของจำเลยที่ 2 กลับปล่อยสินค้าให้แก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทางอากาศ ถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบสินค้าโดยชอบ
สินค้าที่ขนส่งเป็นเพียงพรม ซึ่งเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า และอัญมณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2546
แม้โจทก์ผู้ขนส่งและจำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งจะตกลงกันให้เก็บค่าระวางและค่าใช้จ่าย ส่วนที่ 2 จากผู้ซื้อที่ปลายทาง แต่ก็ไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าในกรณีที่โจทก์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 จากผู้ซื้อที่ปลายทางไม่ได้ โจทก์สิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลย ทั้งในใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนค่าระวางไว้และไม่ได้มีเงื่อนไขใด ๆ ว่า หากเรียกเก็บจากผู้ซื้อไม่ได้แล้วโจทก์หมดสิทธิเรียกเอาจากจำเลย เมื่อโจทก์กับจำเลยเป็นคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางอากาศกันโดยตรง โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้รับผิดชดใช้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วน ที่ยังไม่ได้รับชำระได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2544
ใบตราส่งแสดงชื่อผู้รับตราส่งว่า ให้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคาร ด. ธนาคาร ด. ได้สลักหลังใบตราส่งให้แก่ธนาคาร ซ. ซึ่งสลักหลังสิทธิตามใบตราส่งให้โจทก์ ซึ่งด้านหลังของใบตราส่งปรากฏว่ามีรายการสลักหลังโดยระบุชื่อธนาคารทั้งสอง และลายมือชื่อของผู้มีอำนาจของธนาคารทั้งสอง อีกทั้งมีการระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับสลักหลังด้วย และเมื่อโจทก์เป็นผู้รับสลักหลังคนสุดท้ายจึงต้องถือว่าเป็นผู้รับตราส่ง แม้มิได้มีการแสดงชื่อในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่งก็ตาม และเนื่องจากสิทธิที่ระบุไว้ในใบตราส่งตกแก่ผู้รับตราส่งมิใช่ตกแก่ผู้ส่ง ผู้ส่งไม่สามารถสลักหลังโอนสิทธิที่ระบุไว้ในใบตราส่งให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น การที่ไม่มีรายชื่อของผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท พ. ผู้ส่งสินค้าจึงไม่ทำให้การสลักหลังขาดสาย

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดในกรณีที่ของที่ผู้ขนส่งได้รับมอบหมายเกิด สูญหายหรือเสียหาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งความรับผิดดังกล่าวหมายถึงกรณีเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ของที่ผู้ขน ส่งรับมอบหมาย ส่วนกรณีที่จำเลยในฐานะผู้ขนส่งไม่ยอมส่งมอบของให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับ ตราส่ง แต่ได้ส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อซึ่งมิใช่เป็นบุคคลที่มีชื่อแสดงในใบ ตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่ง ไม่เข้ากรณีของสูญหายหรือเสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากการสูญหายนี้หมายถึงของไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ขนส่งจะเอามาส่งมอบให้ แก่ผู้รับตราส่งได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2543
ความหมายของข้อความว่า "ได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด"ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ต้องปรากฏว่าแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับของหรือสินค้าที่ถูกขนส่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งด้วยการรับขน ส่งกันเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ลำพังแต่การเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งทอดใดทอดหนึ่งเพื่อทำธุรกรรมทางด้าน เอกสารเกี่ยวกับสินค้า หรือปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในการนำเรือเข้าเทียบท่า แจ้งกำหนดเรือบรรทุกสินค้าเข้าให้เจ้าของสินค้าทราบเพื่อจะได้มารับสินค้า เท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องขนส่งสินค้าด้วยแล้ว ก็ไม่อาจถือว่าตัวแทนเรือดังกล่าวเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2541
บรรดาหน้าที่และความรับผิดอันเกิดจากการซื้อขายสินค้ามีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่ง เป็นผู้ขายกับบริษัทอ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ หามีผลใด ๆ เกี่ยวข้องถึงจำเลยซึ่ง เป็นผู้รับขนไม่ โจทก์จำเลยทำสัญญารับขนของกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ซึ่งขณะนั้น พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 612 และ 613 ได้บัญญัติ ถึงรูปแบบและเหตุที่ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งไว้ทั้งนี้ หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งเสมอ ไป แต่หากเมื่อใดที่มีการทำใบตราส่งให้แก่กันแล้วจะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงจะรับของไปได้ ซึ่งจะเป็นไปตาม มาตรา 615 ที่บัญญัติว่า ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กันท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบ ตราส่งหรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ และจำเลยได้ส่งสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอ.แล้วโดยบริษัทอ.ไม่ได้เวนคืนใบตรา ส่งให้แก่จำเลย หรือให้ประกันตามควร อีกทั้งไม่มีคำสั่งของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าเรียกให้จำเลยผู้รับขนรับผิด เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขน ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทอ.ผู้ซื้อโดยที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เวนคืนใบ ตราส่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ ปฏิบัติตามสัญญาเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์มิได้ฟ้องในข้อความรับผิดของจำเลยในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งล่าช้า แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลย ปฏิบัติผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2539
สายการเดินเรือ ซ. รับจ้างขนส่งสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทย แต่ไม่มีสาขาในประเทศไทย จึงให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแทนระหว่างเดินทาง เรือบรรทุกสินค้าของสายการเดินเรือ ซ.เกิดเพลิงไหม้ ทำให้สินค้าเสียหายบางส่วน ต้องขนสินค้าที่เสียหายขึ้นที่เมืองฮ่องกง จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องกับสินค้าบนเรือขอให้ใช้กฎแห่งการเฉลี่ยทั่วไปใน รูปแบบของหลักประกันเฉลี่ยของบริษัทลอยด์ จำกัด จากผู้รับตราส่งสินค้าเรียกหนังสือค้ำประกันเพื่อกฎแห่งการเฉลี่ยอย่างไม่ จำกัดจำนวนจากผู้รับประกันภัยสินค้าและขอให้ลงชื่อในแบบฟอร์มหลักประกัน เฉลี่ยและหนังสือค้ำประกัน เมื่อเรือสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งเรือเข้าต่อกรมเจ้าท่าและต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยแจ้งให้กรม ศุลกากรทราบว่าสินค้าที่บรรทุกมาบนเรือมีอะไรบ้าง ประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อให้นำใบตราส่งมาแลกกับใบปล่อย สินค้าซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกให้เพื่อไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับค่าระวางขนส่งจากผู้รับตราส่ง มีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าบนเรือทั้งหมดไปเก็บไว้ในคลังสินค้า และเมื่อเรือบรรทุกสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยา จำเลยที่ 1 ต้องหาเรือลำเลียงมาขนถ่ายสินค้า การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นวิธีการรับขนทางทะเล มีลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จำเลยที่ 1 ประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อให้นำใบตราส่งมาแลกกับใบปล่อย สินค้าซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้เพื่อนำไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นขั้นตอนสำคัญของการรับขนตามป.พ.พ. มาตรา 615 และมาตรา 622 จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

เมื่อเรือบรรทุกสินค้าบรรทุกน้ำหนักมาก ไม่สามารถเข้ามาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ จำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าจากเกาะสีชังมากรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4และที่ 5 ขนถ่ายสินค้า โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นคนขับเรือเล็ก จำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่สู่เรือเล็กแล้วนำเข้าเก็บไว้ใน คลังสินค้า จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อในการขนส่งช่วงสุดท้าย จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และที่ 5ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 3 จึงย่อมไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งหลายทอด