วิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรม

มาตรา ๖๗๔ เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา


มาตรา ๖๗๕ เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น ก็คงต้องรับผิด


ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าอัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง


แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ


มาตรา ๖๗๖ ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗๔และ ๖๗๕


มาตรา ๖๗๗ ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น


มาตรา ๖๗๘ ในข้อความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือของแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้น


มาตรา ๖๗๙ เจ้าสำนักชอบที่จะยึดหน่วงเครื่องเดินทางหรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทางหรือแขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นได้จนกว่าจะได้รับใช้เงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตน เพื่อการพักอาศัยและการอื่น ๆ อันได้ทำให้แก่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามที่เขาพึงต้องการนั้น รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปด้วย


เจ้าสำนักจะเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดหน่วงไว้เช่นว่านั้นออกขายทอดตลาดแล้วหักเอาเงินใช้จำนวนที่ค้างชำระแก่ตนรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดนั้นจากเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ท่านมิให้เจ้าสำนักใช้สิทธิดั่งว่านี้ จนเมื่อ


(๑) ทรัพย์สินนั้นตกอยู่แก่ตนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาห์ยังมิได้รับชำระหนี้สินและ


(๒) อย่างน้อยเดือนหนึ่งก่อนวันขายทอดตลาด ตนได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นฉบับหนึ่งแจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สิน บอกลักษณะแห่งทรัพย์สินที่จะขายโดยย่อ กับถ้ารู้ชื่อเจ้าของ ก็บอกด้วย


เมื่อขายทอดตลาดหักใช้หนี้ดั่งกล่าวแล้ว มีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องคืนให้แก่เจ้าของ หรือฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติในมาตรา ๓๓๑ และ ๓๓๓ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2563

จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย ส่วนกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่จำเลยอ้างนั้น เป็นการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรม จึงเป็นกฎกระทรวง ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้อง กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ได้มีผลยกเลิกหรือยกเว้นความผิดของจำเลย การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2559 

คำว่า "คนเดินทางหรือแขกอาศัย" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 หมายถึง บุคคลอื่นใดที่ใช้บริการเข้าพักในโรงแรม หรือ โฮเต็ล หรือ สถานที่อื่นทำนองเช่นนั้น ดังนี้ การที่ ก. เข้าพักอาศัยที่โรงแรมของจำเลย จึงถือได้ว่า ก. เป็นแขกอาศัยตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมประกอบกิจการเพื่อให้บริการแขกอาศัยโดยมีค่าตอบแทน ได้ยกเว้นไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนจาก ก. ก็หาทำให้ ก. มิใช่แขกอาศัยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10154/2558 

จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมจึงมีหน้าที่ต้องรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา โรงแรมของจำเลยมีห้องพัก 48 ห้อง มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่ 2 คน อ. ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยและทำหน้าที่เปิดห้องพักให้แขกทางเข้าออกของโรงแรมไม่มีแผงเหล็กล้อเลื่อน ไม่มีไม้กั้นรถเข้าออก มีเพียงป้อมยาม เช่นนี้แสดงว่าขณะ อ. ไปเปิดห้องพักให้แขกจะไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราหรือดูแลรักษาความปลอดภัย คงมีเพียงพนักงานเก็บเงินคนเดียวประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียนเข้าพัก ซึ่งย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าบุคคลดังกล่าวไม่อาจดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าได้ คงทำได้เพียงอำนวยความสะดวกในการเข้าพักเท่านั้น ทั้งการขับรถเข้าออกโรงแรมสามารถกระทำได้โดยง่ายเพราะไม่มีแผงกั้นและจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีวิธีรักษาความปลอดภัยวิธีอื่นใดทำให้คนร้ายเข้ามาภายในห้องพักของแขกที่เข้ามาพักอาศัยได้โดยง่าย แม้ดาบตำรวจ ส. กับ ร. จะล็อกเพียงลูกบิดประตูห้องโดยไม่ได้ล็อกกลอนประตูและอุปกรณ์ล็อกรูปตัวยูทั้งที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยของคนเข้าพักอาศัย ไม่อาจถือว่าเป็นความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัย เพราะหากโรงแรมของจำเลยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ก็ย่อมเป็นการยากที่คนร้ายจะสามารถเข้าไปภายในห้องพักของลูกค้าได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6918/2558 

แม้โรงแรมของจำเลยทั้งสองจะมีการให้บริการในส่วนของการนวดแผนโบราณโดยสถานที่นวดอยู่ภายในอาคารของโรงแรมก็ตาม แต่ลักษณะของการเข้ามาใช้บริการดังกล่าวก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นเพื่อต้องการพักผ่อนเท่านั้น ซึ่งการใช้บริการไม่จำต้องลงทะเบียนขอเปิดห้องพักเหมือนอย่างกรณีการเข้าพักอาศัย ส. จึงไม่ใช่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 674 เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไป จำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจึงไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5108/2558 แม้รถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้จะสูญหายไปในขณะที่จอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม ร. แต่โจทก์ก็นำสืบว่า เหตุที่ ป. นำรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม ร. เนื่องจากรถบรรทุกมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถนำเข้าไปในลานจอดรถของโรงแรมจำเลยได้เพราะประตูทางเข้าโรงแรมจำเลยมีเหล็กกั้นความสูงอยู่พนักงานของโรงแรมจำเลยจึงบอกให้ ป. นำรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม ร. วิธีปฏิบัติซึ่งโรงแรมจำเลยอาศัยพึ่งพิงลานจอดรถของโรงแรม ร. เสมือนเป็นลานจอดรถของตนในกรณีที่รถยนต์ของลูกค้าของโรงแรมจำเลยเป็นรถขนาดใหญ่และไม่สามารถเข้าไปจอดในลานจอดรถของโรงแรมจำเลยได้ และน่าจะได้รับความยินยอมจากโรงแรม ร. เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นย่อมเป็นการยากที่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ลูกค้าของโรงแรม ร. จะสามารถนำรถเข้าไปจอดภายในลานจอดรถของโรงแรมได้ เมื่อรถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไป จำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่ง ป. คนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามาตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2558 

การที่โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา จึงมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลทรัพย์สินของลูกค้า แต่จำเลยที่ 1 และพนักงานไม่ตรวจตราดูแลให้ดี ทำให้มีคนเข้ามาลักเอารถยนต์ไป จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้เข้าพักในโรงแรม ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 โต้เถียงบรรยายโดยแจ้งชัดชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ม. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทระบุเวลาที่รถหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี 2 ฉบับ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ไม่ตรงกันนั้น น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของผู้บันทึก ไม่ใช่ ม. แจ้งแตกต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเฉพาะทรัพย์สินที่สูญหายภายในห้องพัก แต่ลานจอดรถอยู่ด้านนอกโรงแรม และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับฝากรถยนต์ จึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ที่จอดไว้นั้น เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 674 และมาตรา 675 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา แม้ความสูญหายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม ก็ต้องรับผิด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2558 

พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4 โรงแรม หมายความว่า สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ดังนี้ สถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 674 จะต้องเป็นสถานที่ซึ่งให้บริการทำนองเดียวกันกับโรงแรมหรือโฮเต็ล คือเป็นสถานที่ซึ่งมีลักษณะให้บริการเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใด สำหรับอพาร์ตเม้นท์ของจำเลยนั้น ศ. เช่าห้องพักของจำเลยสำหรับอยู่อาศัยและเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปสถานศึกษา แม้จะมีบุคคลอื่นเช่าห้องพักดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน แต่เห็นได้ว่าการให้บริการห้องพักของจำเลยมีลักษณะเป็นการให้เช่าพักอยู่อาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไปเท่านั้น มิใช่เป็นการให้เช่าบริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลใด ดังนี้ การประกอบธุรกิจของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น กล่าวคือ เช่นดังเจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ลที่จะนำบทบัญญัติวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับให้จำเลยต้องรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8081/2556 

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีโดยแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธว่า การเช่าห้องพักมีข้อตกลงตามสัญญาเช่าว่า ผู้ให้เช่าจะไม่รับผิดชอบในความสูญหายแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่จำเลยยินยอมออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีในนามจำเลยให้แก่ผู้มาพักอาศัยห้องพักย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้มาใช้บริการห้องพักเข้าใจว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันกับบริษัท ช. เมื่อพนักงานเป็นทั้งพนักงานของบริษัท ช. และพนักงานของจำเลย ส่วนพนักงานที่รับแจ้งเหตุรถยนต์สูญหายในวันเกิดเหตุเป็นพนักงานของจำเลย ทั้งจำเลยก็ไม่นำสืบหลักฐานความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของห้องพักว่าเป็นของบริษัท ช. แยกต่างหากไม่ใช่ของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของที่พักที่เกิดเหตุ อันมีลักษณะทำนองเดียวกับโรงแรม จำเลยจึงเป็นเจ้าสำนักสถานที่พักดังกล่าวทำนองเดียวกับโรงแรม ต้องรับผิดในการที่รถยนต์ของ พ. สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 674


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2550

โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โดยอาศัยมูลหนี้ที่ ต. ได้นำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จาก บ. เจ้าของรถยนต์ไปจอดในบริเวณโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้วเข้าพักในโรงแรม ต่อมารถยนต์หายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในความสูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้นตามมาตรา 678 แม้โจทก์จะอ้างว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและมีคำขอให้คืนรถยนต์แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลย ที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่มีอายุความ 1 ปี เมื่อเหตุรถยนต์สูญหายเกิดขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม 2540 โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 880 มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 เกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ ต. ออกจากโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9284/2544

จำเลยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุโดยตรงให้ ทรัพย์สินของโจทก์สูญหาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดเพียงที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับวิธีเฉพาะสำหรับ เจ้าสำนักโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674,675 และ 676 เท่านั้น


ทรัพย์สินของโจทก์ที่หายคือ นาฬิกาเรือนทองฝังเพชรสายสร้อยคอทองคำ เหรียญหลวงพ่อคูณกรอบทองคำล้อมเพชรพระนางพญาเลี่ยมทอง ตุ้มหูเพชร เข็มกลัดเพชรและเงินสดทรัพย์สินดังกล่าวจึงเกี่ยวด้วยเงินทอง ตรา ธนบัตร อัญมณี และของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 675 วรรคสอง ให้จำกัดความรับผิดไว้เพียง 500 บาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัด แจ้งโจทก์เป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยเมื่อไม่ฝากของมีค่าไว้จำเลยจึงรับผิด เพียง 500 บาท ไม่ว่าของมีค่านั้นผู้เดินทางจะสวมใส่มาโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม และหาใช่ว่าจะต้องฝากทรัพย์สินเฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2544

จำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถในลานจอดรถ น. ซึ่งขับรถมาส่งแขกเข้าพักโรงแรมของจำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์ เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนการที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สินก็ไม่ ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 677


น. ได้ปิดล็อกประตูรถยนต์ทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ซึ่งย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสาม


ความรับผิดของเจ้าสำนักในทรัพย์สินของคนเดินทาง ที่สูญหายจำกัดไว้เพียงห้าร้อยบาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสอง หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณีหรือของมีค่าอื่น ๆ รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป แม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9437/2542

คำว่า "ของมีค่า" ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 675 วรรคสอง หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตรหรือตั๋วเงิน ส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือของโจทก์เป็นเพียงทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็น ปกติธรรมดา แม้จะมีราคาค่อนข้างสูงก็ไม่จัดว่าเป็นของมีค่าตามบทกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5005/2540

น.นำรถยนต์คันเกิดเหตุมาจอดไว้ในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมจำเลยและรถยนต์คันดัง กล่าวได้หายไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อ น. ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 674 แม้ น. จะมิได้แจ้งให้พนักงานของจำเลยทราบว่าได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุมาจอดไว้ใน บริเวณลานจอดรถของโรงแรมจำเลยก็ตาม แต่เมื่อ น.ทราบแน่ชัดว่ารถยนต์ของตนหายไปก็ได้แจ้งแก่ ว.ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมจำเลยทราบในทันที ทั้ง น.ก็ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กรณีถือได้ว่าเป็นการแจ้งเหตุแก่จำเลยผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรมทราบทันทีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 676 แล้ว ส่วนข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยตามเอกสารซึ่งเป็นเพียงใบกรอกรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ของผู้เข้าพักโรงแรมจำเลยและในตอนท้ายมีข้อความพิมพ์ไว้ว่า "โรงแรมจะไม่รับผิดชอบในทรัพย์สิน สิ่งมีค่าหรือธนบัตร ซึ่งอาจเกิดการสูญหาย"อันเป็นการยกเว้นความรับผิดของจำเลยนั้น เอกสารดังกล่าวจำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียว และไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวด้วย ข้อความในเอกสารเช่นนี้จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 จำเลยจึงยังคงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5539/2537

ตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยมีมูล หนี้สืบเนื่องมากจาก ช. ผู้เอาประกันภัยได้นำรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ไปจอดในบริเวณโรงแรมของ จำเลยซึ่งจำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือ บุบสลายอย่างใด ๆอันเกิดแต่ทรัพย์สิน ซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามาซึ่งเกี่ยวกับอายุความเรียกร้องค่าสิน ไหมทดแทน ในกรณีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 678 มีอายุความ 6 เดือนนับแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้น เมื่อเหตุรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายเกิดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2527หลังเกิดเหตุ ช. ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแล้วเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 880 มาและยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ที่โจทก์ รับประกันภัยจากจำเลย เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2527เกินกำหนดเวลาหกเดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2537

คำว่า เจ้าสำนักโรงแรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 674,675 หมายถึงเจ้าของกิจการโรงแรม ผู้ถือกรรมสิทธิ์เก็บผลประโยชน์รายได้จากกิจการโรงแรม หาใช่บุคคลผู้ควบคุมและจัดการโรงแรมซึ่งเป็นตัวแทนไม่ โจทก์เข้าพักในโรงแรมของจำเลยที่ 1 เมื่อรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าไปจอดที่ลาดจอดรถของโรงแรมหายไป โจทก์ได้แจ้งต่อผู้จัดการโรงแรมทันที ที่ทราบเหตุการณ์ ย่อมถือได้ว่า โจทก์แจ้งเหตุที่รถยนต์หายแก่เจ้าสำนักโรงแรมทันทีแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างให้ตนพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 727/2536

โจทก์ได้เช่าห้องพักในโรงแรมของจำเลยและนำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ถนนหน้าโรงแรมตามที่ พนักงานโรงแรมบอกให้จอด เพราะที่จอดรถยนต์ภายในโรงแรมเต็ม เมื่อรถยนต์ของโจทก์หายไป จำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2534

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยอ้างว่าได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องบังคับจำเลย โดยนำเอาสัญญาเช่าซื้อมานำสืบประกอบฐานะของผู้เอาประกันภัยว่าเป็นผู้มีส่วน ได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ มิได้นำสืบบังคับตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรง แม้สัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมมีระเบียบว่าผู้เข้าพักต้องแจ้งให้ทางจำเลยทราบว่า มีรถยนต์เข้ามาจอดในที่จอดรถด้วยเพื่อจะได้จัดพนักงานดูแล มิฉะนั้นหากเกิดความเสียหายหรือสูญหายจำเลยจะไม่รับผิดชอบ ต่อมา ร. ได้เข้าพักในโรงแรมจำเลยโดยนำรถยนต์ไปจอดในที่จอดรถของโรงแรมจำเลย แต่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเมื่อปรากฏว่า ร. มิได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังกล่าวของจำเลย ระเบียบดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 จำเลยจะบอกปัดความรับผิดไม่ได้ เมื่อรถยนต์ของ ร.หายไปจากที่จอดรถของโรงแรมจำเลยร.ได้แจ้งให้ พ. ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมจำเลยทราบ แต่ พ.ปฏิเสธความรับผิดดังนี้ถือได้ว่า ร. บอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญา ประกันภัยและรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยเช่นนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องทวงถามจำเลยก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2533

โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะเป็นเจ้าสำนักโรงแรมโดยแนบสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาท้ายฟ้อง แม้ตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีลายมือชื่อของผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่ทำให้ฟ้องเสียไป เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องแนบสัญญาเช่าซื้อมาพร้อมกับฟ้อง อีกทั้งการจะพิจารณาว่าสัญญาเช่าซื้อทำขึ้นโดยชอบหรือไม่เป็นเรื่องที่โจทก์ จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา บริษัท ส. ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมโดยมีจำเลยเป็นเจ้าสำนักโรงแรม เมื่อปรากฏว่าโจทก์มาพักอาศัยที่โรงแรมโดยนำรถยนต์มาจอดไว้ที่ลานจอดรถในบริเวณโรงแรมแล้วหายไป จำเลยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดต่อโจทก์ จะอ้างไม่รับผิดเป็นส่วนตัวเพราะเป็นตัวแทนของบริษัท ส. ไม่ได้ ค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดในการที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายก็คือราคารถ ยนต์ ซึ่งต้องถือเอาราคาที่อาจซื้อขายกันได้ตามปกติในเวลาที่สูญหาย คดีนี้โจทก์ได้รถยนต์คันพิพาทมาด้วยการเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อบวกดอกเบี้ยเข้าไว้ในราคาด้วย ทำให้ราคารถยนต์สูงกว่าราคาปกติที่ซื้อขายกัน การเสียดอกเบี้ยนั้นถือว่าเป็นภาระส่วนตัวเป็นพิเศษของผู้เช่าซื้อ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนที่เป็นดอกเบี้ย