ผลแห่งการไม่ชำระหนี้

มาตรา ๒๐๓  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้


มาตรา ๒๐๔  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว


มาตรา ๒๐๕  ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่


มาตรา ๒๐๖  ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด


มาตรา ๒๐๗  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด


มาตรา ๒๐๘  การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง

แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชำระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชำระหนี้จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่าได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ท่านว่าคำบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้


มาตรา ๒๐๙  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด


มาตรา ๒๑๐  ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัตินั้นแล้วก็ดี หากไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงต้องทำ เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด


มาตรา ๒๑๑  ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นก็ดี หรือในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าหนี้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๙ นั้นก็ดี ถ้าลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไซร้ท่านว่าเจ้าหนี้ยังหาผิดนัดไม่


มาตรา ๒๑๒  ถ้ามิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ก็ดี หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร


มาตรา ๒๑๓  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่


มาตรา ๒๑๔ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๗๓๓ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย


มาตรา ๒๑๕  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้


มาตรา ๒๑๖  ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้


มาตรา ๒๑๗  ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้นถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง


มาตรา ๒๑๘  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นจะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นแล้ว และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้


มาตรา ๒๑๙  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น


มาตรา ๒๒๐  ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๗๓ หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่


มาตรา ๒๒๑  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่


มาตรา ๒๒๒  การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว


มาตรา ๒๒๓  ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๐ นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม


มาตรา ๒๒๔ หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตาม มาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น


ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด


การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้น ให้พิสูจน์ได้


มาตรา ๒๒๔/๑ ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ช าระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น


ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ


มาตรา ๒๒๕  ถ้าลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้ วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่ลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำเพราะวัตถุนั้นเสื่อมเสียลงในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2563

แม้อุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าบางประการมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่ก่อนครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาฉบับแรก โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 1มีการลดเวลาการก่อสร้างลงอีก 5 วัน และขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 14 วัน ก็จะถึงกำหนดเวลาที่แก้ไขใหม่ แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวโดยดี และต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเสร็จแล้วสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับหลังเพิ่มเวลาก่อสร้างเพียง 3 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับแรกครั้งที่ 2 โดยดีอีกเช่นกัน ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อสร้างต่อเนื่องจากสัญญาฉบับแรก กำหนดไว้ว่าต้องลงมือก่อสร้างหลังจากทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกไปแล้ว 170 วัน และปรากฏว่าการก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรก แม้น่าเชื่อว่าอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกล่าช้ามีผลทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังล่าช้าไปด้วยแต่เมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับหลังครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเพิ่มเวลาการก่อสร้างให้โจทก์อีกเพียง 127 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ยังคงยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวอีกเช่นกัน พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับกำหนดเวลาสิ้นสุดในสัญญาทุกฉบับที่ทำกับจำเลยที่ 1 และไม่ติดใจเงินค่าปรับที่ต้องถูกหักจากค่าจ้างตามสัญญา โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับและไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 1 หักไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3995/2563

สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้าง จำต้องมีลักษณะเข้าข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ กล่าวคือนายจ้างและลูกจ้างจะต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้างด้วย


จำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นหนังสือตั้งแต่แรกที่เริ่มจ้างแต่เพิ่งจะมาทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือในภายหลัง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 46 วรรคสี่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ


การเลิกจ้างที่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา582 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นการจ้างที่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าใด จำเลยจ้างโจทก์โดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือมีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ครบกำหนดในสัญญาจ้างจำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563

โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างแล้ว แม้จำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้โจทก์เข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการเบื้องต้นแก่จำเลย พร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว จำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมลดลงให้แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน


การชุมนุมทางการเมืองตามที่จำเลยอ้าง ยังไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง และมาตรา 372 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6837/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 18 บัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นมีเพียงตามมาตรา 19 ที่บัญญัติถึงกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับว่า สิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 ที่แก้ไขเพิ่มเติม กับมาตรา 20 ที่บัญญัติว่า กรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นตามที่บัญญัติในมาตรา 691 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่รวมถึงมาตรา 681/1 ที่กำหนดให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะไว้ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบกับผู้เช่าซื้ออย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันจึงยังคงใช้บังคับได้


ข้อความตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อไม่มีลักษณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสดงออกถึงเจตนาจะให้สัญญาเช่าซื้อเดิมระงับ และจำนวนค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าซื้อคงเหลือจากที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผ่อนชำระตามสัญญาเดิมและไม่มีการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนก่อนทำสัญญาใหม่ จึงเป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้นไม่ใช่เป็นการทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดชำระซึ่งเดิมกำหนด 72 งวด เป็น 84 งวด อันมีผลให้ระยะเวลาที่จำเลย 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทอดยาวกว่าเดิม มีลักษณะของการที่เจ้าหนี้ยอมขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงว่า หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้ ... ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมด้วยทุกครั้งแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามมาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) นั้น เมื่อมาตรา 18, 19 และ 20 ไม่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กับทั้งมาตรา 691 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังบัญญัติว่า ข้อตกลงที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว แม้จะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาด้วย ดังนั้น การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดเพราะเหตุผ่อนเวลา ส่วนที่สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกันตามมาตรา 691 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น ก็มีผลเพียงให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะเท่านั้น ข้อตกลงอื่นสามารถแยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ตามมาตรา 173 จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว


พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถาม และบอกกล่าวเลิกสัญญาไปส่งให้จำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา แม้จะไม่พบจำเลยที่ 2 และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยระบุว่าไม่มารับตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าว จึงถือได้ว่าหนังสือบอกกล่าวได้ส่งถึงจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แม้หนังสือบอกกล่าวจะส่งไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง และเมื่อการเลิกสัญญาเช่าซื้อมีผลให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของ หรือเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 ก็มีผลให้ทรัพย์สินต้องกลับคืนสู่ความครอบครองของเจ้าของ ดังนั้นการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของหรือการใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการไม่อาจส่งมอบวัตถุแห่งหนี้ จึงไม่ใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 686 วรรคสอง อันจำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดจากเหตุบอกกล่าวเกินหกสิบวันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด แต่สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่มีสิทธิ และเป็นความเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังไม่ยอมส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยด้วยตามวรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2562

พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้อนซ้อน


เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นทอด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120 - 5122/2562

เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน


ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1


เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562

การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสองบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 มีสิทธิที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทก่อน อันเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป ผลของคำพิพากษาคดีนี้อาจมีผลกระทบสิทธิในการบังคับคดีของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และมีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้


ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนมีประเด็นว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เพียงใด ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกัน คู่ความทั้งสองคดีก็ไม่ใช่รายเดียวกัน โดยโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ


โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่รวม 44 ไร่เศษ โจทก์ได้รับโอนที่ดิน เนื้อที่ 12 ไร่ แล้ว คงเหลือที่ดินอีก 32 ไร่เศษ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยบันทึกดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินส่วนที่เหลือ 32 ไร่เศษ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงว่าเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 5.1 (ไม่น้อยกว่า 90 วัน) ข้อ 2.3 ระบุว่า หากคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายชนะคดี อันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินค่ามัดจำตามสัญญาและตามบันทึกฉบับนี้คืน โดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้พิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงถือว่าผู้ร้องสอดชนะคดี แม้ที่ดินจะเหลือเพียง 32 ไร่เศษ ก็มิใช่กรณีที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมด ถือได้ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เมื่อที่ดินส่วนที่ยังเหลือ 32 ไร่เศษ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เหลือดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความแม้กระทำในศาลก็ถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง ว่าด้วยหนี้ เช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 บัญญัติว่า "ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่" ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงิน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาที่ธนาคาร ท. สาขาบิ๊กซีบุรีรัมย์ เพื่อให้ธนาคารนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. บุตรโจทก์ แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ถึง 2 วัน แต่ที่ ฐ. ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีได้เพราะระบบของธนาคารต้องทำการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโอนมาจากต่างประเทศก่อน ต่อมาเมื่อระบบของธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของ ฐ. แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ฐ. ก็ได้ไปถอนเงินจำนวน 300,000 บาท จากบัญชีของตนแล้วนำไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสถานที่ชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพออนุโลมได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2562

แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42


สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข "invoice back" ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย


ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้


จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้


การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2562

ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่า จำเลยผู้กู้จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ ก็มิได้ระบุว่า การก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อใดและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระหว่างก่อสร้างดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่หยุดการก่อสร้างแล้ว กรณีจึงไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดลงไว้แน่นอน ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ว่าเมื่อใดจะมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเพียงพอที่จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยากจะมองเห็นผลสำเร็จได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด ในเมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาหุ้นส่วน และบริษัท ธ. ที่ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การชำระเงินกู้ยืมคืนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้กันไว้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมอยู่ในตัวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8951/2561

โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันในอันจะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระ และโจทก์ได้เข้าชำระหนี้นั้นแล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยรวมถึงเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในทันทีตามมาตรา 229 (3)


กรณีเจ้าหนี้เรียกให้โจทก์ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 686 ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้อันมีต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดจึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่ชำระแก่เจ้าหนี้ไป รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงินนั้นในทันทีที่ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ เพียงแต่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่ได้ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้อง นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลย เพราะจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนแล้ว หาใช่จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2561

คดีแรก จ.สามี น. ฟ้องเรียกทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินพิพาทคืนจาก ส. กับพวกซึ่งเป็นตัวแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ จ. ได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้ จ. ได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา อันเป็นการพิพากษากล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินในกรณีเป็นที่ดินแก่คนต่างด้าวที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการบังคับให้จัดการจำหน่ายแทนการได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทได้มาในระหว่างที่ จ. เป็นคนต่างด้าว และได้ความในชั้นพิจารณาว่า น. ได้สัญชาติไทยหลัง จ. แสดงว่าในระหว่างที่ได้ที่ดินพิพาทมานั้น น. ก็เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับ จ. สามี ดังนั้นสิทธิของ น. ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมที่ตกทอดแก่ทายาทก็คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาท หาใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฉะนั้น คดีที่สองที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องพี่น้องห้าคนเป็นจำเลย ขอให้บังคับพี่น้องทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. มารดาให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน และคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน นั้น เป็นการพิพากษาบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในการแบ่งทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ซึ่งก็ย่อมต้องหมายถึงเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั่นเอง ทั้งประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องทั้งสองคดีก็แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ คำพิพากษาหาได้ขัดกันไม่


การที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในคดีแรก ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของ ว. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์อีกคนในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรก ย่อมมีสิทธิถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลได้โดยชอบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 4 ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนได้


คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท เป็นการเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทคืนทั้งสามแปลง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เต็มตามราคาที่ดินพิพาท มิใช่ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7786/2561

โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวนมากและกำแพงคอนกรีตแล้วโอนขายให้ลูกค้ารวมถึงจำเลยทั้งสองที่ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ โดยโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตเพื่อให้บุคคลภายในและภายนอกเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย โจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออกที่โจทก์ก่อสร้าง รวมทั้งให้มีเจ้าพนักงานตำรวจมาอยู่ที่ป้อมตำรวจคอยตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อย กำแพงคอนกรีตที่โจทก์สร้างจึงนอกจากจะบ่งบอกถึงแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพป้องกันซึ่งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาติดต่อค้าขาย กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่าสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือเอกสารขออนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น


การที่จำเลยทั้งสองทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภคโดยทำเป็นทางเข้าออกสู่ที่ดินแปลงอื่นนอกโครงการจัดสรรของโจทก์ทำให้จำเลยกับลูกจ้างไม่ต้องใช้เส้นทางถนนในโครงการจัดสรรของโจทก์ไปออกถนนสาธารณะ ไม่ต้องผ่านทางเข้าออกที่โจทก์กำหนดและไม่ผ่านระบบรักษาความปลอดภัยของโจทก์เหมือนเจ้าของที่ดินในโครงการรายอื่น ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อระบบรักษาความปลอดภัยการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อยของโจทก์และผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่น ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ จึงเป็นการใช้สอยกำแพงคอนกรีตขัดต่อสิทธิเจ้าของรวมคนอื่น โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวงย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับขอให้สั่งห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว


การที่จำเลยทั้งสองทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภคเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพเช่นเดิมตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน


แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภคจะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ยังมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกของภารยทรัพย์กลับคืนมาดังเดิม ก็คือการสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมตามที่เป็นอยู่นั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยทั้งสองซ่อมหรือสร้างกำแพงรั้วคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้ และหากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ กับกำแพงคอนกรีตที่กำลังสร้างขึ้นใหม่อันจะเป็นการทำให้กำแพงคอนกรีตเสื่อมสภาพหรือประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดลง เป็นการใช้อำนาจขัดขวางป้องกันมิให้จำเลยทั้งสองกระทำซ้ำหรือเข้าไปยุ่งกับกำแพงคอนกรีตโดยมิชอบอันจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเหมือนอย่างเช่นที่จำเลยทั้งสองกระทำมาแล้ว และมีแนวโน้มว่าจำเลยทั้งสองจะกระทำซ้ำอีก โจทก์จึงชอบที่จะขอและศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยทั้งสองงดเว้นการกระทำดังกล่าวซ้ำอีกในภายหน้าได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6964/2561

แม้โจทก์จะเป็นบุตรของ บ. เจ้าของกรรมสิทธ์รถยนต์และเป็นผู้ถือครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้รับความเสียหายในส่วนของค่าซ่อม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ถึงแม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุแต่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ประกอบอาชีพทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายจากเหตุละเมิด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้


ขณะโจทก์ขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตนซึ่งเป็นทางตรง มีโควิ่งออกมาจากข้างทาง โจทก์ขับรถชนโคกระเด็นไปไกลประมาณ 10 เมตร ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการชนอย่างแรง จึงเชื่อว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วมากพอสมควร หากโจทก์ไม่ขับรถด้วยความเร็วต้องสามารถหยุดรถได้ทัน หรือหากหยุดไม่ทันลักษณะการชนต้องไม่รุนแรงอย่างผลที่เกิดเหตุเช่นนี้ การที่โจทก์ขับรถผ่านถนนที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตชุมชนมีป้ายเตือนให้ลดความเร็ว บริเวณข้างทางมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา จึงต้องระมัดระวังลดความเร็วลง พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์รับฟังได้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ด้วย มิใช่จำเลยประมาทเพียงฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รับฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2561

ดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามวินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำละเมิด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอมา ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียหายรายเดือนหลังวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์พิพาทนั้น ค่าเสียหายรายเดือนภายหลังวันฟ้อง โจทก์ทั้งสองมีคำขอในลักษณะค่าเสียหายในอนาคต จึงมิใช่หนี้เงินผิดนัดที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2561

เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกระทำไปนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นเพียงก่อให้เกิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องของโจทก์เข้ามาบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้ ธ. สามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเกิดความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีการกระทำทุจริตของ ธ. ได้ อันถือว่าทำละเมิดต่อโจทก์ที่ร้ายแรงกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเพียงการเปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง ทำให้มีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องขึ้น แล้วใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากการสั่งจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องและหมุนเวียนการใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่โจทก์เป็นเวลาหลายปีได้ ดังนั้นโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561

ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์


โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2561

เมื่อพิเคราะห์ถึงแผนผังโครงการจัดสรรในส่วนของโจทก์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้โจทก์จะสร้างกำแพงคอนกรีตเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ทางด้านหลังอาคารพาณิชย์ โดยไม่ได้สร้างกำแพงคอนกรีตในส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเหมือนโครงการจัดสรรเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่เป็นเพราะโจทก์ทำถนนภายในโครงการเชื่อมต่อกับทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก โจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยใช้ทางเข้าออกโครงการตามทางที่โจทก์กำหนดเท่านั้น มิใช่เข้าออกทุกทิศทางตามอำเภอใจ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัยโดยโจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออก ดังนั้น หากโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์เพียงเพื่อแสดงเป็นแนวเขตที่ดินโครงการดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ก็ไม่จำต้องสร้างให้สูงถึง 3 เมตร ซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกจำนวนมาก กำแพงคอนกรีตสูง 3 เมตร ที่โจทก์ก่อสร้างนอกจากจะบอกแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพเพื่อป้องกันทั้งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์จำต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาค้าขายหรือติดต่อ กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามความหมายของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินมิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่า สิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินหรือเอกสารการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น


แม้กำแพงคอนกรีตในส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่โจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินจัดสรรส่วนที่คาดหมายว่าเป็นส่วนที่จะต้องแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จัดสรรขายแก่ผู้ซื้อทั่วไปอันมีผลทำให้กำแพงคอนกรีตที่สร้างไว้ต้องกระจายไปอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกและแบ่งขายแก่ผู้ซื้อทุกแปลง ก็เพราะโจทก์ไม่อาจแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่มีกำแพงคอนกรีตปลูกสร้างอยู่นั้นออกเป็นที่ดินแปลงย่อย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแนวตะเข็บหรือมีเศษเป็นเสี้ยว เป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 15 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในข้อ 7 (1) และข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ดำเนินการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างกำแพงคอนกรีตในปี 2540 โดยที่กำแพงคอนกรีตนี้มีสภาพเป็นสาธารณูปโภคดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นที่จะต้องตกติดไปกับที่ดินจัดสรรตลอดไป การที่จำเลยทุบทำลายกำแพงคอนกรีตดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวง ย่อมมีอำนาจฟ้องได้


โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นเดิม ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องจำเลยให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภค จะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกแห่งภารยทรัพย์กลับคืนมา โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้และหากจำเลยไม่ได้ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทน โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2561

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดแทน ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 กำหนดว่า "หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ... ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน." และตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน


การใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไม่อยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระแทนโจทก์ผู้กู้ยืมจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องแก้ไขการผิดสัญญาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ตามฟ้องแย้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2561

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ตกลงรับเงินจากจำเลย 100,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50,000 บาท งวดแรกชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 งวดที่สองชำระภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ส่วนข้อตกลงที่ว่าหากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง (867,765.50 บาท) เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการบังคับจำเลยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องตีความสัญญาส่วนนี้ไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดนั่นเอง จำเลยทำรายการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในงวดที่หนึ่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ทำรายการครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 โดยเป็นการทำรายการโอนเงินก่อนถึงกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวด ในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวดนั้น ธนาคารทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยทันที พฤติการณ์ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442


จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561

แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2561

โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่ ด. เป็นผู้ขับ รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีที่ ช. เสียชีวิตทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ด. ขับรถบรรทุกและรถพ่วงด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์คันที่ ช. ขับเป็นเหตุให้ ช. ถึงแก่ความตาย โดย ช. ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย แต่ ด. มีส่วนประมาทมากกว่า เมื่อตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3.1.3 ระบุว่า ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน ดังนั้น เมื่อ ช. เป็นผู้ประสบภัยที่ ด. จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะเหตุที่ ด. เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า ช. จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงที่ ด. เป็นผู้ขับไว้จากนายจ้างของ ด. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับละ 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8951/2561

โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันในอันจะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระ และโจทก์ได้เข้าชำระหนี้นั้นแล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยรวมถึงเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในทันทีตามมาตรา 229 (3)


กรณีเจ้าหนี้เรียกให้โจทก์ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 686 ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้อันมีต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดจึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่ชำระแก่เจ้าหนี้ไป รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงินนั้นในทันทีที่ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ เพียงแต่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่ได้ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้อง นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลย เพราะจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนแล้ว หาใช่จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560

แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้


จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2560

แม้การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นละเมิด แต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินไปเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ สำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ขายทอดตลาดโดยเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้นอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 โดยบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด" ตามพฤติการณ์แห่งคดีฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อมากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560

แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา


สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี


อนึ่ง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีกต่อไป แต่เมื่อนำเงินฝากไปหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าหลังวันที่มีการนำเงินฝากไปหักชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับดอกเบี้ย 2 ครั้ง จำเลยที่ 3 ได้รับดอกเบี้ย 5 ครั้ง จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่และที่หกตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มารับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมิใช่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีเรื่องอื่น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ธนาคารจ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารชำระแทนเป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,704.09 บาท รวมเป็นเงิน 15,812.71 บาท แต่ในตอนพิพากษากลับไม่มีการระบุถึงดอกเบี้ยของหนี้เงินทดรองจ่ายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523 - 530/2560

เงินรางวัลประจำปี ประจำปีงบประมาณ 2551 ที่โจทก์ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายแก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานเทศบาลในสังกัดของโจทก์ ไม่ใช่เงินตอบแทนอื่น ๆ อันเป็นรายจ่ายตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 67 (3) จึงเป็นการจ่ายนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ไม่อาจกระทำได้ จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิในเงินนั้นและต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์


การที่มีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่นให้เป็นรายจ่ายอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2557 ภายหลังจากที่โจทก์จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษแก่จำเลยไปแล้ว แสดงว่ากระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโจทก์ยอมรับว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษได้ต้องออกเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษเป็นรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นรายจ่ายตามมาตรา 67 (9) มิใช่รายจ่ายตามมาตรา 67 (3)


ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่นให้เป็นรายจ่ายอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2557 ข้อ 7 กำหนดให้การจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ประกาศคณะกรรมการกลาง ประกาศคณะกรรมการจังหวัด หรือหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นรายจ่ายที่จ่ายได้ตามระเบียบนี้ ไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลเป็นการรับรองว่าการจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษที่ได้กระทำไปก่อนระเบียบดังกล่าวใช้บังคับเป็นไปโดยชอบ


ประกาศคณะกรรมการต่าง ๆ และหนังสือสั่งการอื่น ๆ ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดให้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษเป็นรายจ่ายที่โจทก์สามารถจ่ายได้ จำเลยจึงนำมาอ้างเพื่อแสดงว่าการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปโดยชอบหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559

โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า "จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง" จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์


จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบทั้ง 6 งวด ตามสัญญาประนีประนอมความที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยการชำระเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ตรงตามกำหนด การชำระเงินงวดที่ 5 ถึงกำหนดวันอาทิตย์ จำเลยจึงชำระเงินแก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันจันทร์ และการชำระเงิน งวดสุดท้ายถึงกำหนดสิ้นเดือนเมษายน 2556 วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นวันแรงงานแห่งชาติอันเป็นวันหยุดของสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจึงโอนเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อันเป็นโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดมาเพียง 2 วัน ดังนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยโดยตลอดแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559

คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2559

เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ฉ. แทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559

โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่


ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าแห่งการงานอันเนื่องมาจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งไม่ได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำงานในงวดที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการวิชาชีพในงวดที่ 2 โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าการงาน 2,140,000 บาท ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551


จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่... ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2559

สัญญาจ้างโฆษณามีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว ยังมีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า "เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ" ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นอกจากนี้พฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันและในการประชุมที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว โดยถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อีกทั้งเมื่อคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน แสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น แต่เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559

เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคา ที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6282/2559

การวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันใด ศาลจำต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้ผิดนัดนับตั้งแต่เวลาใดและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้น กรณีจึงเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 บัญญัติว่า ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นับแต่วันทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเช่นกัน สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนหรือเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดหรือผู้ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนดแต่เพียงวงเงินความรับผิดที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ โดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด โดยต้องรับผิดนับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ผิดนัดเท่านั้น และเมื่อหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัย อันเกิดขึ้นตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แล้วและจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 แต่หนังสือทวงถามโจทก์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ ดังนี้ เมื่อเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และจำเลยที่ 3 ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 เมื่อจำเลยที่ 3 รับหนังสือทวงถามในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 แล้ว ไม่ชำระค่าสินไหมทดแทน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2545 และต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5618/2559

โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมแก้ไขงานที่จำเลยส่งมอบคิดเป็นเงิน 1,829,089.80 บาท เมื่อตามสัญญาจำเลยตกลงที่จะรับประกันผลงานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากส่งมอบ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานต่อโจทก์ แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องต่อโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับ กรณีจึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ลูกหนี้ชดใช้ มิใช่ตามจำนวนที่โจทก์คิดคำนวณมาเอง เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ค่าว่าจ้างงานล่วงหน้าที่จ่ายให้แก่จำเลยซึ่งก็ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงหรือไม่ และมูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยที่โจทก์ยังมิได้นำมูลหนี้ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เพื่อให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ก่อนแต่อย่างใด จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2559

โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ผู้โดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559

จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้


เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น


จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป


จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง


จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2559

ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น" เมื่อเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559

โจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) และภาษีที่คำนวณหักไว้ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย

ก่อนที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย และจำเลยรับเงินภาษีที่มีการนำส่งดังกล่าวโดยมีสิทธิตามกฎหมาย การที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังและมิใช่เหตุที่จะโทษจำเลยได้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่เมื่อต่อมามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว กรณีเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2559

การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เป็นผู้เก็บแบบพิมพ์เช็คและตราประทับของโจทก์ไว้ แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาแบบพิมพ์เช็คพิพาทที่มีการปลอมลายมือชื่อของ อ. ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ถึง 43 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานาน 3 ปี เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาทและตราประทับของโจทก์ รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีการนำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้วใช้ตราประทับของโจทก์ประทับลงในเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินจากจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 3 ได้ส่งรายการเดินบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ให้แก่โจทก์ทราบทุกเดือน หากโจทก์มีมาตรการตรวจสอบที่ดี ก็จะทราบถึงความผิดปกติในการใช้เช็คเบิกเงินออกจากบัญชีของโจทก์และสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ แต่โจทก์กลับปล่อยปละไม่ตรวจสอบจนเวลาล่วงมาถึง 3 ปี จึงทราบเหตุละเมิดดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2559

กรมธรรม์ภาคสมัครใจที่จำเลยที่ 2 ส่งมาตามคำสั่งเรียกและโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. 100,000 บาทต่อคน อันเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในความเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 1 เมษายน 2546 ข้อ 3 กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนดังต่อไปนี้ (1) ห้าหมื่นบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยนอกจากกรณีตาม (2) และ (2) หนึ่งแสนบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ...... (ช) ทุพพลภาพอย่างถาวร โจทก์เบิกความเพียงว่าสภาพร่างกายของโจทก์ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเสริมสวยได้เหมือนเดิม โดยไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บที่โจทก์ได้รับนั้นรุนแรงหรือส่งผลถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมสวยที่ทำประจำอยู่ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพอย่างถาวร ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงมีเพียง 50,000 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย 100,000 บาท และความรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งมีวงเงิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจที่โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์โดยศาลชั้นต้นกำหนดให้ 2,385 บาทแล้ว รวมเป็นเงิน 152,385 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเต็มตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่ต้องรับผิด ไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด เมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13070/2558

โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ คำให้การแก้ฟ้องแย้งก็ขอชำระเงินตามจำนวนที่เห็นว่าถูกต้อง ถือว่าโจทก์ยินยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแล้ว เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตน การที่จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้ หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558

ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลางและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10955/2558

ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้บริหารกิจการ และตามมาตรา 26 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเป็นผู้กระทำการแทน สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ การที่จำเลยทั้งสองยอมเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงินโดยนำหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งออกโดยพันเอก ศ. โดยมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พันเอก ศ. เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการของโจทก์ หรือไม่ กรณีจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 ถ. นำสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของพันเอก ศ. ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายทั้งสี่ลงในสำเนาบัตร และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อให้ไว้ต่อพนักงานของจำเลยทั้งสองเพื่อไว้ตรวจสอบลายมือชื่อ จำเลยทั้งสองตรวจสอบหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์และเอกสารต่าง ๆ แล้วเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ใช้ชื่อบัญชีว่า "โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" โดยจำเลยทั้งสองมิได้สอบถามไปยังโจทก์ว่าขอเปิดบัญชีหรือไม่ การที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินทั้งสี่มิได้มาลงลายมือชื่อในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของจำเลยทั้งสองจึงถือเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยทั้งสอง อันเป็นความประมาทเลินเล่อในขั้นตอนการเปิดบัญชีของจำเลยทั้งสอง แต่การที่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเอกสารต่าง ๆ มายื่นคำขอเปิดบัญชีต่อจำเลยทั้งสองกับการที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบกพร่องไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเปิดบัญชีให้แก่ ถ. นั้น การกระทำของ ถ. เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพียงการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น หลังจากที่จำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์แล้ว ถ. กระทำทุจริตนำเช็คขีดคร่อมที่ลูกค้าโจทก์สั่งจ่ายให้โจทก์เข้าฝากในบัญชีที่จำเลยทั้งสองเปิดให้โจทก์จำนวน 119 รายการ รวมเป็นเงิน 73,462,420.16 บาท รวมเวลานานถึง 5 ปีเศษ อันแสดงให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบภายในของโจทก์ไม่ดีพอ โจทก์ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ ถ. มีโอกาสทุจริตได้ง่าย หากโจทก์มีการตรวจสอบที่ดี รัดกุมและละเอียดรอบคอบ ถ. คงจะไม่ทุจริตตลอดมาเป็นระยะเวลา 5 ปีเศษ และความเสียหายคงจะไม่มากเท่านี้ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2558

ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากันอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ และบทบัญญัติอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 วางหลักให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514 - 10515/2558

สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ตามแบบแปลนท้ายสัญญาเช่า โดยมีการกำหนดเวลาเริ่มลงมือก่อสร้างและเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จไว้ การที่โจทก์ไม่สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้ สืบเนื่องมาจากพื้นที่เช่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานภายหลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ของโจทก์เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาเช่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ถือได้ว่าการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนกัน แม้จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าตอบแทนการเช่าที่ชำระไปแล้วในวันทำสัญญาคืนจากจำเลยที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18042/2557

โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดความรับผิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินราย ก. เนื่องจากไม่รายงานและประเมินราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอย่างถูกต้องตามความจริง โจทก์คิดค่าเสียหายจากต้นเงินส่วนที่ธนาคารให้สินเชื่อไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามมติคณะกรรมการควบคุมบริษัทประเมินของโจทก์ ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเท่ากับจำนวนเงินสินเชื่อที่โจทก์อนุมัติให้ ก. กู้ก็ไม่ปรากฏว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ มติดังกล่าวระบุด้วยว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติ ให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้จนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ บริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ แสดงว่าโจทก์เห็นว่ากรณีที่ผู้กู้ยังคงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพียงแต่มีความเสี่ยงว่าผู้กู้จะไม่ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างอื่นหรือจะเสียประโยชน์จากการนำเงินจำนวนนี้ไปเพื่อการอย่างอื่นและจะได้ประโยชน์มากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อแก่ ก. การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท จึงสูงเกินไป


สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินกำหนดหน้าที่ของบริษัทประเมินต้องสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามแบบและวิธีปฏิบัติที่ธนาคารกำหนด แบบสำรวจและประเมินกำหนดรายการประเมินราคาหลักประกันไว้ คือ ราคาประเมินซึ่งเป็นราคาสำหรับการประเมินที่ดินต่อตารางวาและราคาอาคาร กับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยคำนวณจากข้อมูลเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นราคาประเมินหรือราคารับเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นตามมาตรฐานหลักวิชาและจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อให้โจทก์พิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างถูกต้อง หลักประกันราย ร. จำเลยที่ 1 กำหนดราคาประเมิน 10,844,626 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน อ. นักประเมินราคาหลักทรัพย์ของโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันสูงกว่าราคาประเมินของธนาคารร้อยละ 127.41 อ. ประเมินใหม่ได้ราคาประเมิน 8,081,085 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 9,674,000 บาท โดยเปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน นอกจากนี้ปรากฏว่าบริษัทประเมินอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 เคยประเมินราคาในโครงการดังกล่าว ราคาประเมินกับราคารับเป็นหลักประกันจะต่างกันไม่เกินร้อยละ 30 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันไม่เกินร้อยละ 20 มาตรฐานการประเมินราคารับเป็นหลักประกันจึงไม่เกินกึ่งหนึ่งของราคาประเมิน การที่จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันถึง 22,000,000 บาท จึงเป็นการประเมินราคารับเป็นหลักประกันเกินกว่าราคาประเมินกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประเมินราคารับเป็นหลักประกันตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นการผิดสัญญา


การให้สินเชื่อ โจทก์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ โดยฝ่ายประเมินสินทรัพย์ของโจทก์ต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ราคาที่จำเลยที่ 1 ประเมินนั้นเหมาะสมหรือไม่ และต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ทั้งโจทก์ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อด้วย ไม่ได้ใช้ราคาประเมินของจำเลยที่ 1 แต่เพียงอย่างเดียว ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เมื่อโจทก์ได้รับรายงานการประเมินราคาจากจำเลยที่ 1 แล้วต้องทราบว่าราคาประเมินซึ่งเป็นราคาต้นทุนกับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นราคาตลาดต่างกันกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ ต้องถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดทั้งหมดในส่วนต่างจากการให้สินเชื่อย่อมเป็นการโอนภาระความเสี่ยงของโจทก์แก่ผู้ประเมินราคาหลักประกัน ทั้งที่เป็นความผิดของโจทก์ที่วิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดและไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกค้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16469/2557

การชำระหนี้ที่ตกเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 มีความหมายว่า ในเวลาที่คู่สัญญาก่อหนี้นั้น วัตถุแห่งหนี้เป็นสิ่งที่สามารถชำระหนี้ได้ หากแต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นภายหลังจากก่อหนี้เป็นเหตุให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างเด็ดขาดและเป็นการถาวรตลอดไป ลูกหนี้จึงจะหลุดพ้นจากหนี้ได้


จำเลยทำสัญญาจะขายอาคารชุดให้แก่โจทก์ การที่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยถูกระงับไม่ให้ดำเนินกิจการ ไม่ใช่พฤติการณ์ที่ทำให้การก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยตกเป็นอันพ้นวิสัย เป็นเพียงเหตุขัดข้องที่ทำให้จำเลยต้องแสวงหาแหล่งทุนใหม่ อันอาจทำให้จำเลยต้องเสียเวลาในการก่อสร้างอาคารชุดและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้จำเลยก่อสร้างอาคารชุดอย่างสิ้นเชิง การที่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยถูกปิดกิจการไม่เป็นพฤติการณ์ที่ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารชุดตกเป็นอันพ้นวิสัย จำเลยไม่หลุดพ้นจากหน้าที่ต้องสร้างอาคารชุดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15948/2557

สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13675/2557

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14701/2557

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยออกระเบียบแก่บุคคลที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟของจำเลย ห้ามมิให้ใช้ไม้กอล์ฟที่มีประสิทธิภาพตีไกล เช่น หัวไม้ 1 ห้ามมิให้ตั้งทีสูงเกิน 45 มิลลิเมตร ที่บริเวณชั้น 1 และกำหนดเวลาเปิดปิดตั้งแต่ 8 ถึง 20.30 นาฬิกา เป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421, 1337, 1337 และ 1374 เพื่อระงับยับยั้งมิให้การใช้สิทธิของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 5 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง และเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยตรงให้กระทำการและเป็นผู้ออกระเบียบ มิใช่เป็นการบังคับบุคคลภายนอกซึ่งสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้กระทำได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2557

โจทก์ซื้ออาคารชุดเชียงใหม่ทาวเวอร์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เมื่อจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากจำเลยมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากจำเลยมาแสดงโจทก์ย่อมไม่อาจที่จะดำเนินการเพื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมาเป็นของโจทก์ได้ เช่นนี้การที่จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ จึงถือเป็นการใด ๆ ซึ่งจำเลยต้องกระทำเพื่อให้มีผลที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิในการจดทะเบียนสิทธิในห้องชุด อันเป็นการทำนิติกรรมฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 แล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้และโจทก์ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการ จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426 - 7427/2557

ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2557

แม้นิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะเกิดจากการกระทำโดยผิดกฎหมายของจำเลยที่ 1 ที่ลักเอาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทไป แล้วปลอมลายมือชื่อพนักงานผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจ จากนั้นร่วมกับจำเลยที่ 2 นำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี อันเป็นการมิชอบและโจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองอันมิชอบดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์เก็บรักษาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทไม่ดี ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์มีโอกาสลักเอาเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเหตุเกิดเพราะโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย และข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น หากศาลพิพากษาว่านิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วร่วมกันจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกตามเดิม ย่อมมีผลกระทบต่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับโอนและผู้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้นหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 731 อีกทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ยังได้ระบุในอุทธรณ์ของโจทก์โดยแสดงเจตนาให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หรือขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เพราะโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจที่จะจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 3 ได้ และจำเลยที่ 3 ก็มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 ได้เช่นกัน จึงเท่ากับว่าโจทก์ยอมรับถึงสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทและผู้รับจำนองที่ดินพิพาทตามลำดับ

โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยจึงไม่มีทางที่จะคงสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกไว้ได้โดยไม่กระทบสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น ที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องในลำดับแรก ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ และให้มีการเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกตามเดิม จึงเป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19391/2556

การที่จำเลยไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ให้ไว้แก่โจทก์ได้นั้น เป็นเพราะจำเลยได้โอนที่ดินพิพาทไปให้บุคคลภายนอกซึ่งถือได้ว่าเป็นความผิดอันเกิดแต่ฝ่ายของจำเลยเอง จำเลยยังคงมีความรับผิดที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง เพราะอาจมีการเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของจำเลย และดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยไม่จำต้องรับผิดดำเนินการดังกล่าวต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19385/2556

โจทก์ทำใบสั่งซื้อรถรวม 26 คัน จากจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถ 26 คัน แก่สำนักงานศาลยุติธรรม กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้โจทก์ 2 งวด งวดแรก 16 คัน งวดที่ 2 อีก 5 คัน และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง เป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 16 คัน โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อว่า "เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์" จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้าง 10 คัน โดยมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่าน ม. ขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่โจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และการที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 คงเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18292/2556

แม้จำเลยจะทราบว่าโจทก์ประกอบกิจการซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายแก่ลูกค้าของโจทก์ต่อไปก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะตกลงขายสินค้าแก่ลูกค้าไว้ก่อน หรือมีข้อผูกพันที่จะต้องชำระค่าปรับแก่ลูกค้าของโจทก์แล้วหรือไม่ การที่จำเลยไม่ส่งสินค้าแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่าปรับแก่ลูกค้าของโจทก์ จึงมิใช่ค่าเสียหายที่คาดหมายไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นเสมอไปอันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดต่อเมื่อได้คาดหมายหรือควรคาดหมายถึงพฤติการณ์เช่นนั้นก่อนแล้ว ทั้งตามพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบหรือคาดคิดหรือควรคาดคิดมาก่อนแล้วว่าหากจำเลยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์แล้ว โจทก์ต้องเสียค่าปรับแก่ลูกค้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17868/2556

เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการขับรถของทั้งสองฝ่ายว่าฝ่ายใดประมาทยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว จะเห็นได้ว่าหากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรย่อมต้องมองเห็นรถจักรยานยนต์ที่ ก. ขับมาและต้องชะลอความเร็วไม่ให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน ขณะเดียวกัน ก. ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ย้อนเส้นทางเดินรถออกจากซอยก็จะต้องหยุดรถดูว่ามีรถแล่นมาทางด้านขวาหรือไม่ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับออกไป แต่ทั้งจำเลยที่ 1 และ ก. หาได้กระทำไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ ก. ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556

สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6698/2556

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยทั้งหกจึงมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือ ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และแม้สัญญาจะไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งหกจะต้องดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในเวลาอันสมควร เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดตามสัญญา คงเหลือเงินเพียงงวดสุดท้ายที่จะต้องชำระให้จำเลยทั้งหกในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่จำเลยทั้งหกกลับให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ให้แล้วเสร็จ ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยทั้งหกจึงมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 211 โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดและถือว่าจำเลยทั้งหกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20658 - 21837/2555

ความเสียหายเป็นดอกเบี้ยสหกรณ์ที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1191 ล่าช้าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง โจทก์ที่ 1191 ต้องแสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1191 จะได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ที่ 1191 ไม่ได้แสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าถึงความเสียหายให้เพียงพอ การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จึงชอบแล้ว

เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2555

โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการในสังกัดโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่าโจทก์จะให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์เข้าอยู่อาศัยทันทีเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาเนื่องจากโจทก์มีภาระต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ยังขยายเวลาให้จำเลยอีก 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าการที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จโจทก์จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ข้าราชการในสังกัดโจทก์เป็นเงินเดือนละเท่าใด ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์จะเรียกจากจำเลยได้เมื่อจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนี้ล่วงหน้าก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นพฤติการณ์พิเศษดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10625/2555

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตแล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้ผิดนัด คงให้การแต่เพียงว่าสัญญาบัตรเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลบังคับ เนื่องจากโจทก์มิได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่การเลิกสัญญากับการผิดนัดเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน กล่าวคือ หนี้ที่เกิดจากมูลสัญญา เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 หรืออาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตาม มาตรา 386 ถึง มาตรา 388 ก็ได้ แล้วแต่เจ้าหนี้จะเลือก หาได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยมีสิทธิไม่ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยมิได้ชำระตามกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนหรือบอกกล่าวอีกตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15383/2555

โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไปสำนักงานที่ดินแต่จำเลยไม่ไป ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันนัดจดทะเบียนโอนและไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่จำต้องวางเงินต่อศาลหรือต้องวางเงิน ณ สำนักงานวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 333 แต่ประการใด เพราะถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะต้องดำเนินการ ณ สำนักงานที่ดิน ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวมาแต่ต้น การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินไปชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตาม มาตรา 324 อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2555

สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ มาตรา 391 วรรคสี่ ยังบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215, 216 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำการผลิตพื้นเตารีดตามที่โจทก์สั่งเสร็จแล้วแต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างซึ่งจำเลยทวงถามให้ชำระแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดก่อนมีการเลิกสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้แม้ภายหลังโจทก์จำเลยจะเลิกสัญญาต่อกัน และแม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นเตารีดที่ผลิตเสร็จให้โจทก์ โดยจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับการงานอันจำเลยได้กระทำให้ที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้มาในคำให้การแล้ว ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลย แล้วนำมาหักกับราคาแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ก่อนได้ ตามหลักในเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 369


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12048/2553

ที่ดินที่จำเลยเช่าบางส่วนถูกเวนคืนตาม พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม โจทก์จึงถูกบังคับตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนกับกรมโยธาธิการผู้ซื้อ ก็เพื่อที่จะได้รับค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 กำหนดไว้ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์จะไปทำสัญญาหรือไม่ก็ได้ ทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาเช่าของโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่ากลายเป็นพ้นวิสัยบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าที่ดินส่วนที่เหลือต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วโจทก์ย่อมขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าได้ และโจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าทดแทน ถึงแม้ว่ากรมโยธาธิการจะได้นำไปวางทรัพย์ไว้ที่ธนาคารออมสินโดยมีดอกเบี้ยเงินฝากด้วยก็ตาม แต่ค่าทดแทนจะจ่ายให้โจทก์ได้ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ขายจะได้รับเงินค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากที่โจทก์จะได้รับจากธนาคารออมสินจึงเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในขณะนั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2553

การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571/2552

โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งวิทยุแฝงในแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดหาสินค้าดังกล่าวตามสัญญาส่งมอบให้แก่โจทก์ การที่บริษัท ด. ผู้ผลิตสินค้าไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ส่งออกสินค้า จึงเป็นความผิดของจำเลย หาใช่เหตุสุดวิสัยไม่ ทั้งมิใช่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิด ขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ และทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4584/2552

สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นสัญญาโอนขายสิทธิบัตร โดยมีข้อกำหนดว่าผู้โอนคือโจทก์ทั้งสี่ที่เป็นผู้ขายจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้รับโอนคือจำเลยด้วย จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่ชำระราคาให้โจทก์ทั้งสี่ ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสี่รับว่ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจริง และแจ้งให้จำเลยหักชำระหนี้ค่าหุ้นที่โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้ชำระแก่จำเลย ต่อมาจำเลยส่งใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมรับการชำระหนี้ค่าหุ้นแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่ายังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2551

เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 เมื่อ จ. ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จ. ได้แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และมาตรา 192/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ไม่อาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกได้ด้วย แม้สัญญาจำนองจะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีกต่อไป


ตามสัญญากู้เงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัยแต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนแก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น จะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่กรณีที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง จึงเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่า จ. ละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับ จ. ตามกฎหมายที่จะต้องให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. รับผิดชำระหนี้ดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2551

ค่าเสียหายเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งเป็นผลธรรมดาหรือผลโดยตรงจากการไม่ชำระหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้และฟ้องคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องอุทธรณ์ฎีกาและบังคับคดีมิใช่ผลเกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษอันลูกหนี้อาจคาดเห็นหรือควรได้คาดเห็น ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดในค่าฤชา ธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดีให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชา ธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ถึง 389


จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา


โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งการที่โจทก์ฟัองจำเลยก็ไม่เป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระ แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าไปก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551

โจทก์เป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือน อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2550)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2551

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225 บัญญัติว่า "ถ้าลูกหนี้จำต้องให้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนคิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้..." คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้คือส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด ในสภาพใช้การได้ดี หรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาแก่โจทก์ หากวัตถุแห่งหนี้คือการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังยังสามารถกระทำได้โจทก์ก็ต้องขอให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ด้วยการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง จะขอให้จำเลยใช้ราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังแทนไม่ได้ และการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังดังกล่าวมิใช่หนี้เงิน โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์ได้ ต่อเมื่อการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ โจทก์จึงจะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือชดใช้ราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังพร้อมด้วยดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เป็นราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังโดยนับตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ดังนั้น เวลาที่จะกะประมาณราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังจึงมิใช่เวลาที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์ตามกำหนด แต่หมายถึงเวลาที่การชำระหนี้คือการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จำเลยจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาทรัพย์ดังกล่าวนับแต่วันฟ้องอันเป็นเวลาที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้รายนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2551

จำเลยทำสัญญาขายอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ จำเลยจะมอบสินค้ายี่ห้ออื่นแก่โจทก์มิได้ แม้สินค้านั้นจะมีคุณสมบัติการใช้งานเหมือนกันก็ตาม เมื่อจำเลยส่งมอบอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้ออื่น จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ แต่ ว. พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจรับมอบสินค้า มิได้ตรวจสอบสินค้าให้รอบคอบก่อนว่าเป็นยี่ห้อตรงตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของ ว. ตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อของ ว. ด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคสอง ประกอบมาตรา 220


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2551

หนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนความเสียหายของโจทก์ เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ทั้งหมดทันทีนับจากวันผิดนัดคือวันที่เกิดการทำละเมิดเป็นต้นไป ดอกเบี้ยของค่าเสียหายดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) และกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ประีมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตามกำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด


จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2551

ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก นั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2551

ตามสัญญาโฆษณากำหนดวันชำระหนี้ไว้ว่า ชำระเงินหลังวันโฆษณาภายใน 30 วัน ส่วนวันโฆษณาคือวันที่ 4 และ 9 ธันวาคม 2540ดังนั้น วันครบกำหนดชำระเงินคือภายในวันที่ 3 และ 8 มกราคม 2541 จึงถือได้ว่ามีกำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนตามปฏิทิน แต่เมื่อพนักงานของโจทก์ไปส่งใบแจ้งหนี้และใบวางบิลให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยระบุในใบรับวางบิลว่า โปรดมารับเงินวันที่ 13 มีนาคม 2541โจทก์มิได้ทักท้วง แสดงว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอาวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาโฆษณา เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปจำเลยจะผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2551

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโดยในสัญญากำหนดเรื่องการโอนไว้ว่า ผู้ขายจะโอนสิทธิให้ผู้ซื้อในภายหลังเมื่อผู้ซื้อต้องการให้โอน เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงอาจบังคับได้ตั้งแต่วันทำสัญญา เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับตามสัญญาเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2550

โจทก์ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลต์ซีเมนต์จากจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและในระหว่างที่ยังไม่บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ส่งมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบถึงวันบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในทันที แต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าและแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบรับยินยอมชำระค่าปรับตามสัญญา พฤติการณ์ถือได้ว่าความเสียหายพิเศษของโจทก์ในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันต้องชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน


โจทก์เป็นส่วนราชการจะได้รับความเสียหายจากงานของราชการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง และคู่กรณีจะต้องรับข้อเท็จจริงกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษอย่างไร จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2550

โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดซึ่งพิพากษาให้โจทก์ส่งรถยนต์คันพิพาทที่โจทก์เช่าซื้อไปจากจำเลยคืนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแทน หนี้ที่จะต้องชำระตามคำพิพากษามีลักษณะบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับก่อนหลัง แต่การบังคับตามคำพิพากษาถือว่าเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่ตามคำพิพากษาที่อาจยอมรับการชำระหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดตามคำพิพากษาได้ แม้จะมิได้เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา เมื่อจำเลยยอมรับเงินที่โจทก์นำไปวางชำระต่อกรมบังคับคดีครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทให้เป็นของโจทก์ โดยจำเลยได้รับชดใช้ราคาแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2550

ค่าเสียหายจากการที่เจ้าหนี้ต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงนั้น โดยลักษณะของความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับไม่ใช่ความเสียหายที่คนปกติทั่ว ๆ ไปจะรู้ได้จึงไม่ใช่ความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้น แต่เป็นความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ แม้ลูกหนี้จะประกอบวิชาชีพในการก่อสร้างเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า แต่ในระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของเจ้าหนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเท่าใด ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่อาจทราบได้ และการที่จะใช้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งใด ณ เวลาใด เจ้าหนี้น่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของกำลังการผลิตไฟฟ้าในเวลานั้น ๆ อยู่แล้ว เมื่อพิจารณารายละเอียดของค่าเสียหายที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างแล้วจึงเห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวไม่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็น ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2551

การเอาประกันภัยหรือไม่เอาประกันภัยในสินค้าของโจทก์เป็นสิทธิของโจทก์ไม่เกี่ยวพันใดๆ กับการเกิดความเสียหายของสินค้าจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2550

จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงในสัญญาระบุว่า "ข้อ 1 ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ข้อ 2 ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5027 ระวางที่ เลขที่ดิน 329 หน้าสำรวจที่ 943 ตำบลบางแค (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตามจำนวนที่ดินที่แบ่งแยกโดยประมาณ 4 ไร่ เรียบร้อยแล้ว" แสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 วรรคหนึ่ง แต่การกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จสิ้นแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใด เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550

การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2550

แม้โจทก์จะมีส่วนก่อเหตุ โดยเฉพาะกับจำเลยที่เป็นพ่อตาโจทก์ที่ถูกโจทก์กระทำไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์อันถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของโจทก์ที่เป็นผู้ก่อเหตุคดีนี้ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาได้แล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว กรณีหาใช่ว่าเป็นความยินยอมของโจทก์ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550

จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงินจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอชำระหนี้โดยให้โจทก์รับโอนทรัพย์จำนองแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207


มาตรา 733 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคม จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6109/2550

สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 กำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5297/2550

โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมมีข้อความว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ ตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนโดยนำเงินมาวางศาลเดือนละไม่น้อยกว่า 4,000 บาท ทกุเดือนติดต่อกัน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 22 ของเดือน โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 8 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัด 2 งวดโดยไม่จำต้องติดต่อกันให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางศาลภายในกำหนดถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา แม้ว่าโจทก์จะมาขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 นำมาวางศาลภายหลังที่ผิดนัดแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้ทันที


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2550

การที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ในวันนัดส่งตัว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับได้นับแต่วันดังกล่าว แต่จะถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระเบี้ยปรับนับแต่วันนั้นหาได้ไม่ สัญญาประกันมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ดังกล่าวต่อกันไว้ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวกำหนดเวลาชำระหนี้ก่อนหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงได้ชื่อว่าผิดนัดนับแต่เมื่อนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3791/2550

คำขอกู้เงินบำรุงอ้อยระบุว่า ขอกู้เงินเพื่อซื้อพันธุ์อ้อยและบำรุงไร่อ้อย เมื่ออ้อยโตขึ้นผู้กู้ตกลงตัดขายแก่ผู้ให้กู้เพื่อนำเงินค่าอ้อยชำระหนี้ที่ได้กู้เงินมา มิได้ระบุว่าผู้กู้จะต้องปลูกอ้อยเพื่อตัดขายให้แก่ผู้ให้กู้เมื่อใด จึงเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ ส่วนวันถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยในการกู้เงินก็มิใช่กำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่พ้นกำหนดดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2550

การจำนองเป็นสัญญาเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นการประกันหนี้โดยมีหนี้ประธานและจำนองอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ เจ้าหนี้จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ คือ บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 หรือจะบังคับจำนอง คือ ใช้บุริมสิทธิ์บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 728 ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าในกรณีซึ่งเป็นหนี้จำนองแล้ว ผู้เป็นเจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับลูกหนี้อย่างหนี้สามัญตามมาตรา 214 ไม่ได้ เป็นแต่เพียงกฎหมายบังคับว่า ในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบังคับจำนองสิทธิของโจทก์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 733 เท่านั้น ประกอบกับมาตรา 733 มิได้บังคับว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้แต่ทางเดียว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยรวมทั้งทรัพย์ที่จำนองได้ มิใช่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้แต่เฉพาะที่ดินที่จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2550

หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ได้ระบุวันที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาจะใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน คือในวันที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อถึงกำหนดเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง แม้มาตรา 985 จะบัญญัติให้นำมาตรา 941 ในเรื่องตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพแห่งตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งตามบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องนำไปให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้ หรือตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังที่ได้เห็นเท่านั้น ตามมาตรา 986 วรรคสอง เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วที่กำหนดวันใช้เงินชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 986 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไปยื่นตามมาตรา 941 อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2549

แม้กระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแก่โจทก์ในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทถึงกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะและการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ได้สำเร็จ และกระทรวงการคลังได้แจ้งให้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลไปติดต่อเพื่อขอรับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ได้ตามปกติเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแก่โจทก์ตามกำหนดจึงไม่ใช่กรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคสอง


การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดแล้ว เกิดจากจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6027/2549

ก่อนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันถูกฟ้องจำเลยเคยพา ว. พี่เขยสามีจำเลยที่ 2 ไปพบ ค. พนักงานสาขาพุนพินของธนาคารโจทก์เพื่อนำเงิน 5,000,000 บาท ไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองส่วนของจำเลยที่ 2 แต่ ค. ไม่รับชำระหนี้ เพียงแต่ไปพูดคุยกับทางธนาคารเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าตนมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้นั้นได้ และยังมิได้ขอปฎิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่รับชำระหนี้นั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7875/2549

โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเครื่องเคหภัณฑ์ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าว การที่โจทก์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบกิจการโรงแรม การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5)


การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ไว้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก็ย่อมชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สิทธิในการเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจากโจทก์แต่ละคราว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549

ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ


เมื่ออาคารที่เจ้าหนี้รับมอบจากลูกหนี้มีปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้น 8 และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 12 ลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องทำการกันซึมพื้นที่ชั้นที่ 8 ทั้งหมดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดีเพื่อป้องกันน้ำซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนหรือการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาที่ชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบทำการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ หากไม่ดำเนินการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้ได้อันถือได้ว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 และมาตรา 215 นั่นเอง แม้เจ้าหนี้จะยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมก็เรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2548

หลังจากโจทก์ชำระเงินงวดที่ 11 ให้จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ไม่ได้ชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพิพาทไม่แล้วเสร็จจนปัจจุบันนี้เพราะมีปัญหาเรื่องการเงิน กรณีจึงเป็นที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าโดยพฤติการณ์แห่งคดีหรือโดยสภาพหรือโดยเจตนาของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพิพาทต่อไปอีก เพราะถึงอย่างไรจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำการก่อสร้างอาคารพิพาทต่อไปอันเป็นการไม่ชำระหนี้อยู่ดีและหากยังคงให้โจทก์ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 อีก ย่อมเป็นการยังความเสียหายแก่โจทก์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพิพาทให้แล้วเสร็จอีก การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้วและถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2549

ผู้ร้องไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะเข้าสู้ราคาว่าจะนำที่ดินไปพัฒนาเพื่อแสวงหากำไรเมื่อใด อย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการได้รับโอนที่ดินล่าช้าจะทำให้ผู้ร้องเสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจถึงขนาดว่าที่ดินนั้นหมดประโยชน์แก่ผู้ร้อง จึงไม่อาจถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับรู้โดยปริยาย ทั้งการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ซื้อทรัพย์สินอาจยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ที่จะถือว่าการซื้อขายจะเป็นผลสำเร็จก็แต่ด้วยมีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาด ทั้งคดีในชั้นที่ อ.ร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้อง มิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องกลายเป็นพ้นวิสัย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอมัดจำคืน


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาดผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่ผู้ร้องสู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจยกบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความผูกพันได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2548

ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระไม่ตรงตามกำหนดตลอดมาแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยรับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อจากผู้ให้เช่าซื้อโดยไม่โต้แย้ง จึงต้องผูกพันตามความประสงค์ของคู่สัญญาที่ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญเช่นกัน เมื่อจะบอกเลิกสัญญาจำเลยต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาที่สมควรก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อเพียง 3 งวด การที่โจทก์ขอชำระค่าเช่าซื้อแต่จำเลยไม่ยอมรับอ้างว่าค้างชำระถึง 9 งวด จึงเป็นการไม่รับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะอ้างได้ ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่โจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกเลิกสัญญายังถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดนัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141/2548

การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าและการที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงราคาสินค้าและค่าสินจ้างไว้ได้ ดังนี้ การชำระหนี้จึงยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไม่ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือ นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2548

สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมอันเป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งโจทก์ทำกับจำเลยที่กำหนดว่า ผู้ใช้บริการยินยอมชำระค่าติดตามทวงถาม ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าทนายความ ฯ ที่บริษัทต้องเสียไปในการติดตามทวงถามหรือเรียกร้องค่าใช้บริการที่ค้างชำระและฟ้องร้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาให้แก่บริษัท ฯ จนครบถ้วน มีลักษณะเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ย่อมได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคแรก เช่นค่าติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามปกติย่อมกระทำโดยมีหนังสือทวงถามส่งไปโดยพนักงานเป็นผู้ส่งหรือส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือโดยวิธีอื่น ซึ่งหากจำเลยจ่ายไปจริงย่อมเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ดังนั้นข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าติดตามทวงถามดังกล่าว จึงไม่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์และเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าติดตามทวงถามจากโจทก์ได้ แต่ค่าติดตามทวงถามที่จำเลยคิดในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นการแน่นอน จะเป็นความเสียหายตามสมควรเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6375/2547

การที่โจทก์ตกลงซื้อลมและแก๊สจากจำเลยโดยโจทก์วางเงินมัดจำ(ประกัน)ค่ายืมท่อบรรจุลมและแก๊สไว้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยมารับท่อและคืนเงินมัดจำ มิฉะนั้นจะนำท่อออกขายทอดตลาด อันเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์แม้จำเลยได้ทราบแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำท่อออกขายตามที่ได้แจ้ง ทั้งนี้เพราะสัญญาซื้อขายและสัญญายืมท่อระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะขายท่อของจำเลยเพื่อนำเงินมาหักออกจากเงินมัดจำค่ายืมท่อ แม้จำเลยจะมีหน้าที่ต้องคืนเงินมัดจำค่ายืมท่อให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องคืนท่อให้แก่จำเลยเช่นกัน เมื่อโจทก์นำท่อของจำเลยไปขายโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำท่อแก่โจทก์ ทั้งนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546

การที่โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกของโจทก์ให้จำเลยสีเป็นข้าวสารแล้วส่งคืนข้าวสารแก่โจทก์ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นปลายข้าวและรำข้าว ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง เมื่อขณะที่ไฟไหม้โรงสีไม่มีข้าวเปลือกแล้วมีแต่ข้าวสาร แสดงว่าข้าวสารที่จำเลยจะต้องส่งมอบแก่โจทก์เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว เมื่อที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ได้เนื่องมาจากไฟไหม้โรงสีของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใดจึงถือไม่ได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้โรงสีนั้นเนื่องมาจากพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ การชำระหนี้ของจำเลยด้วยการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


การส่งข้าวเปลือกให้จำเลยจะทยอยส่งเป็นงวด โดยกำหนดให้จำเลยสีข้าวเปลือกให้เสร็จตามระยะเวลา แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยสีข้าวเปลือกเสร็จแล้วจะต้องส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์เมื่อใด โจทก์ก็มิได้ทวงถามให้จำเลยส่งมอบข้าวสารที่สีเสร็จแล้วแก่โจทก์และกลับได้ความว่า ในการส่งข้าวสารคืนโจทก์นั้นต้องรอคำสั่งจากโจทก์ว่าจะให้ส่งไปจำนวนเท่าใด เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกให้จำเลยส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์อันจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 217


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2546

การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บางคนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนมีต่อสถาบันการเงินได้เหมือนเช่นปกติแต่จะถือเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 วรรคหนึ่ง เสียทีเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยเฉพาะจำเลยที่ 1ได้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืมไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้บังคับชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213,728 การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในวิสัยที่พึงปฏิบัติได้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ต่อไปจะอ้างวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศมาปลดเปลื้องเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากการบังคับคดีไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2546

สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้อันเกิดจากการใช้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการค้าหรือผู้ให้บริการ มิได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203


สัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บริการโทรศัพท์ แม้ตามเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวระบุให้ผู้ใช้บริการนำเงินค่าใช้บริการไปชำระให้แก่ผู้ให้บริการภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ก็เป็นเพียงเงื่อนไขของการบอกกล่าวเพื่อให้ชำระหนี้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เท่านั้น ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการจึงเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยได้ใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์ในแต่ละครั้ง เมื่อช่วงระยะเวลาที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์จนถึงวันฟ้องเกินกว่า2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438 - 2439/2545

จำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ภายในกำหนดให้แก่โจทก์โจทก์รับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ครบถ้วน ส่วนงวดที่ 4 ชำระเพียงบางส่วน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้บอกเลิกสัญญาหลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วโจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 โจทก์ยอมรับมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 และชำระค่าจ้างให้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ยังคงปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจ้างต่อไป โดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ และไม่จำต้องมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก แต่จำเลยที่ 1 กลับก่อสร้างงานงวดที่ 7 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายไม่แล้วเสร็จและละทิ้งงาน ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้


แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันในกรณีส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาแต่หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วคู่กรณีก็ไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ วันที่มีการส่งมอบงานล่าช้าจึงไม่มีอีกต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้เสร็จตามสัญญาจ้าง เพื่อทดแทนความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 และหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 223


จำเลยที่ 1 ละทิ้งงานงวดที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2538 ซึ่งโจทก์ควรรีบใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 อันเป็นเวลาห่างกันเกือบ4 เดือน จากนั้นโจทก์เพิ่งมาทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ให้ก่อสร้างงานต่อในส่วนที่เหลือ หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือนเศษ ย่อมทำให้ราคาค่าก่อสร้างงานสูงขึ้นและส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2545

จำเลยสร้างตึกแถวที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมที่จะโอนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระแม้ในช่วงเวลานั้นต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินชำระให้แก่จำเลยการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จเกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้เวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความแสดงเจตนาเลิกสัญญา และโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลากำหนดสัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง


โจทก์ชำระเงินดาวน์ 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน1,200,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้ เมื่อจำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์เพิกเฉย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามมาตรา 215 การที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินล่วงหน้า 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้


การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์จึงมิได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2545

จำเลยที่ 1 ไม่โอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ประกอบมาตรา 222 โดยต้องเป็นความเสียหายที่ปกติย่อมเกิดขึ้นหรือเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเท่านั้น ไม่จำต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ดังนั้น เมื่อขณะจำเลยที่ 2 เสนอขายอาคารพาณิชย์พิพาทมีราคาห้องละ 2,000,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ห้องละ 850,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2545

สัญญาค้ำประกันซึ่งระบุว่า เป็นการค้ำประกันหนี้สินในวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกันและอุปกรณ์แห่งหนี้อันมีดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้แม้สัญญาค้ำประกันอันเป็นสัญญาหรือหนี้อุปกรณ์จะมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ก็ต้องถืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือหนี้ประธาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4469/2543

การจะจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตามสัญญาได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทโอนสิทธิการเช่าต่อเจ้าพนักงานเสียก่อนวันนัดจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานต้องออกประกาศเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันจดทะเบียน หากไม่มีผู้ใดคัดค้านเจ้าพนักงานจึงจะจดทะเบียนให้ และต้องมีหนังสือยินยอมให้โอนสิทธิการเช่าจากผู้ให้เช่าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานด้วย ในขณะเดียวกันโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอน ปรากฏว่าในวันจดทะเบียนโอน จำเลยไม่ได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนดังกล่าวและไม่มีหนังสือยินยอมของผู้ให้เช่าไปแสดง โจทก์ก็ไม่ได้เตรียมเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย กรณีของโจทก์และจำเลยปรับ ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 210, 211 ถือว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา และต่างบอกเลิกสัญญาแก่กันและกันแล้ว โดยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป จึงต้องให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ และเมื่อจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียก เอาเบี้ยปรับตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3757/2543

จำเลยเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ของเจ้ามรดกที่ได้กู้เงินไปจากโจทก์ โดยจำเลยตกลงว่าหากจำเลยได้รับมรดกมาเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยจะชำระหนี้ดังกล่าวทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ ถ้าทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับมาไม่พอแก่การชำระหนี้ จำเลยจะยกทรัพย์มรดกที่รับมาทั้งหมดให้โจทก์การที่จำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ก็ดี หรือจำเลยไม่โอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นการผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เท่านั้น โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้หรือเรียกเอา ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213,215,222 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณี การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8103/2542

การเรียกให้จำเลยส่งมอบทรัพย์คืน หากไม่คืนให้ชำระราคาให้แก่โจทก์นั้น ราคาทรัพย์ที่ใช้แทนดังกล่าวถือเป็นค่าเสียหายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น และโจทก์สามารถเรียกดอกเบี้ยในราคาทรัพย์ระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2542

เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเรือที่ไม่นำเรือที่โจทก์เช่าไปบรรทุกสินค้าตามวันเวลาที่ตกลงกับโจทก์ตามสัญญาเช่าเรือทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้เพียงใดหรือไม่ ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ เว้นแต่หากโจทก์พิสูจน์ความเสียหายไม่ได้ตามที่เรียกร้องมาแล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะกำหนดค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 แต่ค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเช่าเรือด้วย หากโจทก์พิสูจน์ได้ว่าเสียหายไปจริง โจทก์ก็มีสิทธิได้รับค่าเสียหายไปตามจำนวนที่เรียกร้อง แต่ต้องไม่เกินกว่าค่าระวางโดยประมาณ


ความรับผิดในค่าเสียหายคงมีแต่เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติในการผิดสัญญาเท่านั้น การที่ผู้ว่าจ้างโจทก์ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญาเช่าเรือได้ทำสัญญากับบริษัทผู้ซื้อสินค้าว่า หากผิดสัญญาจะต้องถูกปรับในอัตราร้อยละ 30 ของราคาซื้อขายกันหรือไม่นั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยมิอาจคาดเห็นได้ว่ามีข้อตกลงเช่นนั้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์พิเศษส่วนนี้ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง การที่โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าเรือจากจำเลยย่อมก่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ ในการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้กักเรือไว้ไม่ให้เดินทางออกจากท่าได้ด้วยเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือตาม พระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นประกันในการที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเรือ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6678/2541

หนี้จำนองโดยสภาพเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานเสียก่อนการบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์จำนองจึงจะกระทำได้ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ทำสัญญาจำนองอันดับที่ 1 กับจำเลยไว้ก่อนก็ตาม แต่เมื่อการไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมซึ่งเป็นหนี้ประธานในคดีนี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาจำนองดังกล่าว ดังนี้โจทก์จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1) เป็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระแต่กรณีของโจทก์เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงไม่ใช่กรณีที่จะบังคับเอาดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ตามมาตราดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมไปจนกว่าโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริม สิทธิจะได้รับชำระครบถ้วน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4932/2541

เงินประกันการเช่าตามสัญญาเช่าได้กำหนดให้โจทก์ผู้ให้เช่ามีสิทธินำค่าเช่าที่ค้างชำระหรือหนี้สินอื่นที่ค้างชำระมาหักเงินประกันค่าเช่าได้เมื่อจำเลยผู้เช่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่าเรียบร้อยแล้ว และให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันค่าเช่าได้ทั้งจำนวนในกรณีจำเลยมิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งแสดงว่าเงินประกันค่าเช่าเป็นเงินประกันความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องหนี้ค่าเช่าค้างชำระ หนี้สินอื่นค้างชำระและเป็นเงินประกันความเสียหายการผิดสัญญาเช่าอีกด้วย เงินประกันการเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับเพราะจำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อจำเลยผิดนัดโดยจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เงินประกันการเช่านี้จึงตกอยู่ในบังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379, 381 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินประกันการเช่าได้


สำหรับเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่าได้ระบุไว้ว่าหากจำเลยเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดอายุสัญญา จำเลยจะต้องชำระค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมีมูลค่าเท่ากับค่าเช่า 4 เดือนเพิ่มขึ้นอีกต่างหากนั้น เป็นเรื่องจำเลยได้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดจึงเป็นเบี้ยปรับตกอยู่ในบังคับมาตรา 379,381 โจทก์จึงมีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดได้เช่นกัน


เงินประกันการเช่าและเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดดังกล่าวต่างก็เป็นเบี้ยปรับในกรณีที่จำเลยชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรแม้ตามสัญญาเช่าจะระบุเรียกชื่อของเงินทั้งสองกรณีที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาได้นั้นต่างกันโดยอาศัยเหตุการริบหรือเรียกเอาได้ต่างกัน แต่เหตุสำคัญที่เป็นเหตุเริ่มต้นให้โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาได้นั้นจะต้องเกิดจากการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด ในกรณีที่จำเลยบอกเลิกการเช่าโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิริบเงินประกันการเช่าได้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิริบเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า ถือได้ว่าเงินประกันการเช่าเป็นเบี้ยปรับที่ซ้ำซ้อนกับเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด เพราะเบี้ยปรับทั้งสองกรณีต่างก็เป็นเงินประกันค่าเสียหายล่วงหน้าเมื่อผิดสัญญาเช่าเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรทั้งสิ้น ดังนั้น เบี้ยปรับที่โจทก์มีสิทธิริบหรือเรียกเอาดังกล่าวนั้นเมื่อได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับความเสียหายที่จำเลยยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน มีเหตุลดเบี้ยปรับลงตามจำนวนพอสมควรได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 คงให้ปรับเฉพาะเงินค่าชดเชยการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดกรณีเดียว


ค่าเสียหายในเชิงธุรกิจที่โจทก์เรียกร้องคือค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าตกแต่งอาคารชั้นล่างเพื่อให้จำเลยทำสำนักงานชั่วคราว และค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่บริษัท ป. อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ต้องให้จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นที่ 7 นั้น ล้วนแต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายหรือจะต้องเสียไปก่อนที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลย เมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดค่าเสียหายเหล่านี้ไว้ในสัญญาเช่าในลักษณะเป็นมัดจำหรือเบี้ยปรับหรือกำหนดอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้นได้ตามแต่โจทก์จะกำหนดให้จำเลยผู้เช่ารับผิด กรณีเช่นนี้จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแก่การไม่ชำระหนี้ หรือเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกในกรณีจำเลยผิดสัญญาเช่าตามมาตรา 222 ดังกล่าวจะต้องเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยผิดสัญญาเช่าแล้ว และโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่านั้นด้วย ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้จากดอกเบี้ยของเงินมัดจำที่จำเลยต้องวางไว้ต่อโจทก์จำนวนเงิน 8,500,000 บาท ตามสัญญาเช่านั้น มาตรา 378 ได้บัญญัติความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินมัดจำที่จำเลยจะต้องวางต่อโจทก์ด้วยจึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 222 มาบังคับเพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์อีก


แม้เงินจำนวน 1,700,000 บาท จะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของการเช่าอาคาร และในสัญญาเช่าจะได้ระบุว่าเป็นมัดจำ แต่ก็ไม่ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นมัดจำตามความหมายที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เพราะมิใช่เงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เพื่อเข้าทำสัญญาเช่าเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาเช่าเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมัดจำมาใช้บังคับได้ จะต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าระบุไว้เมื่อตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อใดระบุให้โจทก์ริบเงินส่วนนี้ของจำเลยไว้ แต่ได้ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่าจะคืนเงินมัดจำดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าทันทีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินค่าเช่าโทรศัพท์ครบถ้วนแล้ว หลังจากสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม อีกทั้งให้นำหลักการเรื่องเงินประกันค่าเช่ามาใช้โดยอนุโลมด้วย ดังนั้น แม้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ก็จะต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย โจทก์คงมีสิทธินำเงินค่าบำรุงการใช้โทรศัพท์มาหักออกจากเงินมัดจำดังกล่าวได้ และจะต้องคืนเงินที่เหลือให้จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2540

โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ มุกตุ๊กตาจีนและแจกันลายคราม การที่โจทก์ได้ติดต่อซื้อรถสามล้อเครื่องจำนวน 50 คัน จากบริษัท ว. โดยได้วางเงินมัดจำไว้2,500,000 บาท ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในกิจการค้าขายของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารทำให้โจทก์ไม่สามารถชำระเงินให้ผู้ขายรถสามล้อเครื่องจนผู้ขายริบมัดจำและทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการให้เช่ารถสามล้อเครื่องก็ตามกรณีถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น และไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยผู้ให้เช่าได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามที่โจทก์อ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2693/2540

โจทก์ทำสัญญาจองซื้อที่ดินกับจำเลยโดยได้ระบุราคาที่จองซื้อที่ดินไว้ในราคาเดียวกับที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศ ทั้งยังได้วางเงินมัดจำกันไว้ตามจำนวนของเงื่อนไขในประกาศของจำเลย เช่นนี้ จึงต้องถือว่าในการทำสัญญาจองซื้อที่ดิน โจทก์และจำเลยตกลงกันให้การชำระราคาที่ดินเป็นไปตามประกาศดังกล่าว


ในสัญญาจองซื้อที่ดินข้อ 3 ระบุว่า โจทก์ผู้จองจะต้องมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้จองมาทำสัญญา ถ้าผู้จองมิได้มาทำสัญญาให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจะถือว่าผู้จองผิดสัญญาและไม่มีความประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และผู้จองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่มอบไว้เป็นหลักประกันนั้น เป็นเพียงข้อตกลงเพิ่มเติมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่จะต้องมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มาทำสัญญา หาได้เป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือแต่อย่างใดไม่


ที่ดินพิพาทที่โจทก์ทำสัญญาจองซื้อกับจำเลยยังแบ่งแยกโฉนดไม่แล้วเสร็จ และโจทก์จะต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือว่าที่ดินแปลงที่จองไว้นั้นได้แบ่งแยกโฉนดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์มาทำสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน และเป็นการเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดเช่นนี้ แม้โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ แต่ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จแล้วโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาพร้อมกับชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจองซื้อที่ดินแก่โจทก์และริบเงินหลักประกันตามสัญญา เช่นนี้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้


ค่าเสียหายที่โจทก์ผู้จะซื้อเรียกร้องในกรณีที่จำเลยผู้จะขายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ อันได้แก่เงินมัดจำที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยในการทำสัญญาจองซื้อที่ดินทั้งสองฉบับและผลต่างระหว่างราคาที่ดินพิพาทตามสัญญาจองซื้อที่ดินกับราคาที่ดินพิพาทในปัจจุบันที่มีราคาสูงขึ้นนั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ ส่วนค่าเสียหายคือเงินค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ที่เรียกเก็บจากโจทก์ แม้จะเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บไปเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ด้วยก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ได้ชำระไปก็โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้มาซึ่งที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนและใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์ตลอดไป เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่ตกลงกันแล้วเงินจำนวนดังกล่าวจะถือว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ตามความประสงค์ของโจทก์หาได้ไม่ ดังนี้เงินค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกที่โจทก์ชำระให้จำเลยจึงถือว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้คืนแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้


โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ทวงถามให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจองซื้อที่ดินอันเป็นการเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แต่มิได้กำหนดวันให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ไว้ และต่อมาจำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดในวันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดนับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2539

โจทก์ส่งกระดาษให้แก่จำเลยมีน้ำหนักไม่ถูกต้องตามขนาดที่ตกลงกันไว้เป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ตกลงกันตามสัญญาถือได้ว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป ฎีกาโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยตามฟ้องแย้งซึ่งเป็นเรื่องความชำรุดบกพร่องขาดอายุความแล้วหรือไม่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่ากรณีพิพาทในคดีนี้เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2539

วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะซื้อขายว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาแสดงไว้ไม่มีพฤติการณ์ให้เห็นว่าระยะเวลาในการจัดหาทางภาร จำยอมให้ได้ภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ของจำเลยเป็นสาระสำคัญแก่ผลสำเร็จและประโยชน์ที่โจทก์จะพึงได้รับตามสัญญาซึ่งหากล่าช้าไปแล้วย่อมเป็นอันไร้ประโยชน์แก่โจทก์กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 กล่าวคือ เมื่อจำเลยผิดสัญญายังไม่สามารถจัดหาทางภาร จำยอมให้แก่ที่ดินพิพาทได้ตามสัญญาเป็นการไม่ชำระหนี้ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตนซึ่งเป็นเวลาก่อนกำหนดระยะเวลาโอนที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วยโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยจัดหาทางภาร จำยอมให้ได้โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อนถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วโจทก์จึงจะเลิกสัญญาได้เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายการบอกเลิกสัญญาของทนายความโจทก์ต่อจำเลยตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.25 จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ดังนั้นโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท และเงินค่าที่ดินที่จำเลยเบิกล่วงหน้าไปจากโจทก์ก่อน 2,000,000 บาท เพราะเป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยไว้ตามข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2539

ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยตกลงจะผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือนช่วง 3 เดือนแรกคือเดือนธันวาคม 2536 เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2537 เดือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2537 เป็นต้นไปเดือนละ15,000 บาท จนกว่าจะครบจำเลยชำระหนี้เดือนแรกในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ในเดือนต่อไปจำเลยชำระในวันที่ 20 มกราคม 2537 เป็นเงิน 5,000 บาท และในวันที่24 มกราคม 2537 อีก 5,000 บาท เป็นการไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย แม้ที่ดินที่ถูกยึดจะมีชื่อ ธ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ในรายงานการยึดทรัพย์อ้างว่าเป็นสินสมรสในชั้นนี้จึงไม่แน่นอนว่าจำเลยจะไม่มีส่วนร่วมอยู่ด้วยและถ้าเป็นของ ธ. จริงก็เป็นเรื่องของธ.ผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เรื่องของจำเลยที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ ที่จำเลยยื่นคำร้องว่าระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์มีหน้าที่ต้องถอนการยึดทรัพย์นั้นปัญหานี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจำเลยยื่นฎีกาทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคแรก จำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงมิได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2538

สัญญาเช่าซื้อเป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่งที่กำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ซึ่งจะต้องปฎิบัติต่อกันหากฝ่ายใดปฎิบัติผิดสัญญาเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหายฝ่ายที่ปฎิบัติผิดสัญญาจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การผิดสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่งดังนั้นแม้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จะไม่มีข้อสัญญาที่กำหนดว่าหากนำรถที่เช่าซื้อออกขายไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดก็ตามแต่ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้จำเลยที่1ต้องรับผิดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายต่างๆเมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อและนำเงินที่ได้มารวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้วก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเช่าซื้อย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์ได้รับความเสียหายฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงได้รับและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว คดีที่ผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 หมายถึงการฟ้องคดีในกรณีที่ผู้เช่าปฎิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไปเช่นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายแต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทและนำเงินไปรวมกับค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วยังได้เงินต่ำกว่าค่าเช่าซื้อตามสัญญาซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิมที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คดีจึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลย ที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลย ที่ 1 จำเลย ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นในชั้นอุทธรณ์จำเลย ที่ 2 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2538

เมื่อสัญญาขายใบยาสูบได้กำหนดเวลาชำระหนี้เงินทดรองล่วงหน้าที่ค้างชำระอยู่ไว้เป็นงวดๆตามฤดูการผลิตใบยาสูบการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายละเลยเสียไม่ได้ชำระเงินทดรองล่วงหน้าที่รับไปให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนอันเป็นการผิดสัญญาและในกรณีผิดสัญญาสิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาประการหนึ่งก็คือบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้นั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินทดรองล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้แม้โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2536

ผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ตามสัญญาเช่าซื้อแต่ผู้ให้เช่าซื้อยังคงรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อต่อมา แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าซื้อมิได้ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตรงตามเวลาและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นเป็นการผิดสัญญาผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3713/2535ข้อตกลงในสัญญาจำนองมีว่า นอกจากโจทก์ต้องรับผิดในเงิน 390,000 บาทแล้ว ยังต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยซึ่งลูกหนี้ผิดนัดด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ขอไถ่ถอนจำนองในจำนวนเงิน 390,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เสนอขอชำระดอกเบี้ยด้วยจำเลยย่อมปฏิเสธการรับชำระหนี้และไม่ยอมให้ไถ่ถอนจำนองได้ การนำสืบพยานเอกสารตามประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบพยานภายหลัง แม้ไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวถามค้านพยานโจทก์ไว้จำเลยก็มีสิทธิอ้างส่งเอกสารดังกล่าวได้.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2534

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์และได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้า12 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อที่ต้องผ่อนชำระ 12 งวด เมื่อเช็คงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 12 เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 8 แต่ปรากฏว่าโจทก์มิได้ถือเอาการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเป็นสาระสำคัญกลับยังคงรับชำระหนี้ต่อมา แม้สัญญาข้อ 10 จะกำหนดว่าในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดและเจ้าของยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งใดไม่ให้ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดครั้งอื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ยอมรับเงินตามเช็คค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากจำเลยอีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างมีเจตนามุ่งหมายระงับข้อผูกพันเดิม ไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญาเป็นการผิดสัญญาและไม่ประสงค์จะเลิกสัญญา การที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 เป็นต้นมาจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2533

โจทก์ว่าจ้างจำเลยติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เมื่อสัญญาครบกำหนดแล้ว จำเลยยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ต่อมาจำเลยทำบันทึกยอมรับว่าจำเลยไม่สามารถดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามสัญญา จำเลยขอเลิกสัญญาและยอมใช้ค่าเสียหายตามสัญญาให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย สำหรับค่าเสียหายนั้นเป็นค่าเสียหายที่จำเลยตกลงชำระตามบันทึกขอเลิกสัญญาดังกล่าว จึงไม่ใช่เบี้ยปรับเพราะมิได้เป็นค่าเสียหายที่คู่ความตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการไม่ชำระหนี้.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2533

โจทก์ใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายเสาและสายอากาศระหว่างโจทก์จำเลยทั้งริบหลักประกันที่จำเลยวางไว้แล้ว แม้ก่อนที่จะมีการบอกเลิกสัญญาจำเลยจะได้ สร้างเสาอากาศไปแล้ว แต่ โจทก์ก็มิได้รับไว้เพราะยังไม่มีสายอากาศตาม สัญญาซื้อขาย ถือ ได้ ว่าจำเลยมิได้ส่งมอบของตามสัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยส่งมอบของให้โจทก์ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ตาม สัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันจากจำเลย