การฝ่าฝืนกฎหมายที่ประสงค์จะปกป้องผู้อื่น

มาตรา 422 ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่นๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2561

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ขับรถยนต์กลับรถในระยะหนึ่งร้อยเมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และเป็นบริเวณที่มีสัญญาณจราจรบนทางห้ามรถทั้งสองฝั่งขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซง ห้ามกลับรถและห้ามเลี้ยวขวาโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังโจทก์มีระยะห่างจากรถยนต์ของโจทก์มากพอสมควร หากโจทก์ไม่เลี้ยวกลับรถฝ่าฝืนกฎหมายและสัญญาณจราจร ทั้งมิได้ให้สัญญาณเปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับย่อมไม่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ การที่รถยนต์จำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่จะหยุดรถได้ทัน เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยืนยันข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เลี้ยวรถกลับบริเวณที่เกิดเหตุไปด้านตรงข้ามอย่างกะทันหัน จนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดหรือหักหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ อันเกิดจากความประมาทของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2555

จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยมิได้แก้อุทธรณ์ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัย เพราะไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น


ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ และโจทก์ฎีกาปัญหาข้อนี้มา โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่


จำเลยย่อมทราบดีว่าการขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท บ. ให้แก่บุคคลอื่น จะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของบริษัท บ. มาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมาย โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การกำหนดจำนวนค่าเสียหายศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อฟังว่า การโอนทรัพย์สินของจำเลยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นการกระทำละเมิดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันดังกล่าวตามฟ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7973 - 7975/2548 

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดในขณะเกิดเหตุวัตถุระเบิดดังกล่าวระเบิดขึ้น วัตถุระเบิดที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองดังกล่าวเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้มีไว้ในครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามผู้เสียหายเอง รถบรรทุกที่ใช้บรรทุกระเบิดดังกล่าวไม่ได้มีการจัดให้มีป้ายข้อความว่า "วัตถุระเบิด" ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลัง และไม่ได้ติดแถบสะท้อนแสงสีแดงสลับขาวในแนวเส้นทะแยงมุมที่ท้ายรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 และมาตรา 17 วรรคสอง อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ทำการฝ่าฝืนนั้นเป็นผู้ผิด หากจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วชาวบ้านที่เห็นข้อความเตือนภัยดังกล่าวก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนหรือแม้จะเข้ามายุ่งเกี่ยวก็อาจใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เกิดเหตุระเบิดขึ้นก็ได้ เมื่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยพิบัติที่อาจป้องกันได้ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองวัตถุระเบิดมิได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เพื่อป้องกันมิให้ชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวและทำให้เกิดการระเบิดขึ้น การที่ภายหลังจากรถบรรทุกระเบิดพลิกคว่ำและมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนเป็นเหตุให้เกิดมีการระเบิดขึ้นทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามเสียหาย จึงมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย และชาวบ้านที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดอันเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งสาม จึงถือไม่ได้ว่าการระเบิดเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามเอง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2546 

เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินที่จำเลยที่ 1 มีเหลืออยู่ในวันเลิกกิจการ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2545 

จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะกรณีจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ เมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดและอายัดมาชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีไม่ครบถ้วนตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2542 

จำเลยที่ 1 จอดรถบรรทุกซึ่งเพลาขาดไว้ที่ไหล่ถนน โดยมีส่วนท้ายของรถล้ำเข้าไปในช่องทางจราจรประมาณ 70 เซนติเมตร แล้วจำเลยที่ 1 ออกไปโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้สัญญาณใด ๆ ว่ามีรถจอดล้ำอยู่บนถนนดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ให้พ้นภยันตรายจากสิ่งกีดขวางบนถนน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายชนท้ายรถบรรทุกคันดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 422


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2539 

การที่จำเลยที่2นำรถยนต์บรรทุกไปจอดใกล้กับทางรถไฟแม้จะอยู่ในบริเวณลานจอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวิญญูชนย่อมจะต้องคาดหมายว่าเมื่อรถไฟแล่นมาตามรางจะต้องมีระยะที่ปลอดจากสิ่งกีดขวางพอสมควรเพื่อป้องกันมิได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกันพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา57(8)จึงบัญญัติว่าห้ามมิให้จอดรถห่างจากทางรถไฟน้อยกว่า15เมตรแต่จำเลยที่2มิได้ปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคลอื่นเมื่อจำเลยที่2นำรถไปจอดในที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นระยะ2เมตรหรือ1เมตรก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา422ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่2เป็นผู้ผิดจำเลยที่2จึงละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2539 

เมื่อขับรถในเวลากลางคืนผู้ขับรถต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา11,15กฎกระทรวงและข้อกำหนดของกรมตำรวจที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่จำเลยที่2ขับรถบรรทุกของจำเลยที่1บรรทุกรถแทรกเตอร์ซึ่งมีใบมีดจานไถยื่นล้ำออกมานอกตัวรถบรรทุกโดยมิได้ติดไฟสัญญาณไว้ที่ปลายใบมีดจานไถทั้งสองข้างเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่นๆต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่2เป็นฝ่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา422นอกจากนี้บริเวณจุดชนอยู่ในช่องเดินรถโดยสารปรับอากาศที่จำเลยที่4ขับสวนทางมาจึงฟังได้ว่าเหตุเฉี่ยวชนกันเกิดจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่2ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4285/2534 

แม้เหตุที่รถยนต์ของจำเลยชนรถยนต์ของโจทก์เป็นเพราะความประมาทของจำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์จอดรถยนต์ไว้ข้างทางในเวลากลางคืนโดยไม่ให้สัญญาณไฟ และจอดรถยนต์โดยล้อขวาล้ำเข้าไปบนผิวจราจรประมาณ 1 ฟุต ก็เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎจราจร ซึ่งเป็นบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อ จะปกป้องบุคคลอื่น ๆ จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 422 ว่าโจทก์เป็นผู้ผิด ความ เสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ ของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะความผิดของ โจทก์ที่มีส่วนประมาทด้วย หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือ ว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อน กว่ากันเพียงไร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 แม้โจทก์จะฝ่าฝืนกฎจราจรจอดรถยนต์ไว้ข้างทางในเวลากลางคืนโดยไม่ให้สัญญาณไฟ และจอดรถยนต์ไว้โดยล้อขวาล้ำเข้าไปบนผิวจราจรประมาณ 1 ฟุตก็ตาม แต่การที่จำเลยเห็นรถยนต์ของโจทก์จอดอยู่ ข้างหน้าห่างประมาณ 20 เมตร จำเลยย่อมมีโอกาสสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยง ความเสียหาย โดยใช้ห้ามล้อชะลอความเร็วเพื่อหยุดรถหรือหักหลบ มิให้ ชนรถยนต์ของโจทก์ได้ แต่จำเลยกลับขับรถด้วยความเร็วสูง ชนรถยนต์ของโจทก์ เป็นเหตุให้ตกลงไปในคูน้ำข้างทางทั้งสองคัน ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทมากกว่า โจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจำเลยจึงเป็นฝ่ายก่อมากกว่าโจทก์ แต่เนื่องจากรถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์เก๋งได้รับความเสียหายมากกว่า รถยนต์ของโจทก์ ซึ่งเป็นรถยนต์บรรทุก อีกทั้งตัวจำเลยก็ได้รับอันตราย แก่กาย เนื่องจากรถยนต์ชนกันครั้งนี้ด้วย พฤติการณ์แห่งคดีสมควร กำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงสองในสามของ จำนวนที่โจทก์พิสูจน์ได้ตามคำพิพากษาของศาลล่าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169 - 1170/2509 

การที่รถยนต์จำเลยแล่นเข้าไปชนรถยนต์โจทก์ทางด้านขวาของถนน เบื้องต้นศาลสันนิษฐานตามกฎหมายว่ารถยนต์จำเลยเป็นผู้ผิด จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างว่าจำเลยมิใช่เป็นผู้ผิด เมื่อนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลย นายจ้างจึงต้องมีหน้าที่นำสืบหักล้างถ้านำสืบหักล้างไม่ได้ ก็ไม่จำต้องอาศัยคำพยานโจทก์มาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดอีก การที่จำเลยแล่นรถทางขวาของถนนเพื่อจะหลีกขึ้นหน้าโดยคาดหรือเดาเอาว่ารถโจทก์จะเลี้ยวทางซ้ายนั้น เป็นการเสี่ยงภัยของตนเอง มิใช่หลบหลีกให้พ้นอันตราย จึงไม่อาจลบล้างข้อสันนิษฐานที่ว่ารถจำเลยเป็นผู้ผิดได้ การที่จำเลยเสี่ยงภัยเช่นนี้ และเหตุที่รถชนกันก็เพราะรถจำเลยแล่นผิดทาง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7973 - 7975/2548 รถบรรทุกที่ใช้บรรทุกระเบิดดังกล่าวไม่ได้มีการจัดให้มีป้ายข้อความว่า "วัตถุระเบิด" ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลัง และไม่ได้ติดแถบสะท้อนแสงสีแดงสลับขาวในแนวเส้นทะแยงมุมที่ท้ายรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 และมาตรา 17 วรรคสอง อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ทำการฝ่าฝืนนั้นเป็นผู้ผิด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497 - 2500/2520 ตรงที่เกิดเหตุเป็นที่ซึ่งถนนตัดกับทางรถไฟ จำเลยได้ทำเครื่องกั้นถนนไว้โดยใช้คนหมุนขึ้นลงปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่าน แต่ขณะเกิดเหตุพนักงานของจำเลยละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ โดยไม่ปิดเครื่องกั้นถนน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายที่ประสงค์จะปกป้องอันตรายประชาชน เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์แล่นผ่านเข้าไปถูกรถไฟของจำเลยชนเกิดความเสียหายขึ้น ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยประมาทเลินเล่อ เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดด้วย