มาตรา ๒๙๐
ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระได้และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ก็ดี
มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย
ท่านว่าลูกหนี้แต่ละคนจะต้องรับผิดเพียงเป็นส่วนเท่า ๆ
กันและเจ้าหนี้แต่ละคนก็ชอบที่จะได้รับแต่เพียงเป็นส่วนเท่า ๆ กัน
มาตรา ๒๙๑
ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้
แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว
(กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี
เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก
แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12384/2558
การที่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นร่วมกับจำเลยในคดีนี้
ชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหนังสือปลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นแล้วก็ตาม
หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาของเจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์ที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้จนสิ้นเชิง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น
ไม่มีผลทำให้จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือภายหลังหักชำระหนี้แต่อย่างใดเพราะหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง
จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้
มาตรา ๒๙๒ การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น
ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย
วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้
วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย
ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร
ลูกหนี้คนอื่นๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้หาได้ไม่
มาตรา ๒๙๓ การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดให้
เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๒๙๔
การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ
ด้วย
มาตรา ๒๙๕ ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙๒
ถึง ๒๙๔ นั้น เมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง
ความที่ว่ามานี้
เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด
การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง
กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง
และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน
มาตรา ๒๙๖ ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น
ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น
เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่น ๆ
ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้
แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว
ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป
มาตรา ๒๙๗
ถ้าในสัญญาอันหนึ่งอันใดมีบุคคลหลายคนร่วมกันผูกพันตนในอันจะทำการชำระหนี้ไซร้
หากกรณีเป็นที่สงสัย
ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องรับผิดเช่นอย่างเป็นลูกหนี้ร่วมกัน
แม้ถึงว่าเป็นการอันจะแบ่งกันชำระหนี้ได้
มาตรา ๒๙๘ ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้
โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ไซร้
แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว
(กล่าวคือเจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี
ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้
แม้ทั้งที่เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว
มาตรา ๒๙๙ การที่เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งผิดนัดนั้น
ย่อมเป็นโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วย
ถ้าสิทธิเรียกร้องและหนี้สินนั้นเป็นอันเกลื่อนกลืนกันไปในเจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง
สิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ อันมีต่อลูกหนี้ก็ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป
นอกจากนี้
ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๙๒, ๒๙๓ และ ๒๙๕
มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ
แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น
ๆ ด้วยไม่
มาตรา ๓๐๐ ในระหว่างเจ้าหนี้ร่วมกันนั้น
ท่านว่าต่างคนชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน
เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๓๐๑ ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้
ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
มาตรา ๓๐๒ ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้
และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้
ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน
และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น
อนึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้
หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น
นอกจากนี้
ข้อความจริงใดที่เท้าถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้นหาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่นๆ
ด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8180/2559
ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่
8305/2549
ระบุว่าให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้ละเมิดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แต่ บ.
ขอให้โจทก์ร่วมรับผิดในค่าเสียหายจำนวนเดียวกันกับที่ บ. ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อ บ.
จึงถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่
1 ถึงที่ 3 ด้วย
ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า
โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ.
ส่วนจำเลยทั้งสามแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้สัญญาซื้อขายแก่ บ.
เพียงแต่ค่าเสียหายที่ บ.
เรียกจากโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นเป็นจำนวนเดียวกันถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้
จึงมีผลให้ความรับผิดของโจทก์กับจำเลยแต่ละคนต่อ บ. เป็นอย่างลูกหนี้ร่วมในค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน
แต่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดต่อ บ. หมดไป
โจทก์ยังคงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ตามส่วนของตน
การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บ. เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม
จึงเป็นการชำระหนี้มูลละเมิดของโจทก์ที่มีต่อ บ.
ครึ่งหนึ่งและชำระหนี้มูลสัญญาซื้อขายของจำเลยทั้งสามที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่ง
โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของ บ.
ที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559
พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
พ.ศ.2540
พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้
ดังนั้น
โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่
2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก
นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2
ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม
โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร
ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน
3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน)
ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่
1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง
ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว
ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ
ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่
2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง,
353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่
1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด
(มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่
2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง
ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว
จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว
เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย
จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่
1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท
น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม
โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน
จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง
ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน
กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้
ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่
แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม
ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม
แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน
ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2558
สัญญาที่โจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ระบุจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ติดต่อเบิกหน้ากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปขาย
และนำส่งค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมสำเนาหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ขายได้หรือส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังขาดไม่ได้ให้แก่โจทก์
หากผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่โจทก์
มีลักษณะเป็นสัญญาอันเดียว ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียว ซึ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 804 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
ตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้
เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถให้โจทก์แยกต่างหากจากกัน
ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า ในการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.
จำเลยที่ 2 มีตัวแทนช่วงหรือทีมงานรับกรมธรรม์ พ.ร.บ.
ไปขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขายเอง
แต่เมื่อตัวแทนหรือทีมงานขายได้จะส่งสำเนากรมธรรม์และค่าเบี้ยประกันภัยให้จำเลยที่
2 รวบรวมส่งต่อให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ตามลำดับโดยจำเลยที่
2 ได้รับค่าใช้จ่ายด้วย ตามพฤติการณ์ถือว่า
จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนร่วมกันผูกพันตนในอันที่จะขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ให้แก่โจทก์
เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำหน้าที่ตัวแทน จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม
ป.พ.พ. มาตรา 297
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2557
บริษัท ม.
กับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยในส่วนของโจทก์ต้องชำระเงินเพิ่มตามสัญญาข้อ
4.2 อันเนื่องมาจากโจทก์เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้วปฏิบัติผิดเงื่อนไข
โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และบรรษัทดังกล่าวได้ยกเลิกสัญญาแล้ว
ซึ่งเป็นข้อความจริงที่เกี่ยวถึงตัวโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งโดยเฉพาะ
ย่อมเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่โจทก์เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้สัญญาดังกล่าวในข้อ 4.2 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันรายที่
5 คือโจทก์จะต้องชำระหนี้เงินตามข้อ 4.2.1 จำนวน 570,000 บาท ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อ 4.2.2 จำนวน
570,000 บาท ภายใน 30 วัน นับจากวันที่
23 มิถุนายน 2553 และ ข้อ 4.2.3
จำนวน 553,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของโจทก์ มิฉะนั้นแล้วบรรษัทดังกล่าวคงไม่ตกลงไว้เช่นนั้น
ดังนั้นโจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดด้วยโดยถือเป็นการรับช่วงสิทธิจากบรรษัทดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
21063/2556
พ.
และโจทก์ทำสัญญาใช้บัตรเครดิตวีซ่าชฎาทองของจำเลยที่ 1 โดย พ. ถือบัตรหลัก
โจทก์ถือบัตรเสริม ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวระบุไว้ว่า
ในกรณีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 อนุมัติให้ออกบัตรเสริมแก่ผู้ถือบัตรหลักรายใดแล้ว
ผู้ถือบัตรหลักและผู้ถือบัตรเสริมจะต้องร่วมกันรับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรนั้นอย่างลูกหนี้ร่วม
ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายสัญญาในช่องผู้ให้สัญญา
ย่อมเป็นการตกลงเข้าร่วมรับผิดกับ พ.
ในการใช้บัตรหลักด้วยอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 297
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
22201/2555
จำเลยทั้งสองต่างแสดงเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ
ณ. อันถือเป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน
จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง
แต่ไม่เกินจำนวนที่จำเลยทั้งสองค้ำประกันไว้ การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่
2 เป็นเงิน 60,000 บาท แล้วปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องจำเลยที่
2 เพียงคนเดียว มิได้ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ด้วย
การปลดหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมเพียงเท่าส่วนที่โจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา
293 แต่หาทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่
เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1
จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท
ซึ่งไม่เกินส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์
โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย
ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่
5 จนหมดสิ้นแล้ว
เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้
จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296
การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่
5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่
4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12168/2553
ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1
ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000
บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่
2 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน จำนวน 8,500,000 บาท ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้
จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2552
สัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุไว้ว่า ในกรณีที่ธนาคารโจทก์อนุมัติให้ออกบัตรเสริมแก่ผู้ถือบัตรหลักรายใดผู้ถือบัตรทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมในหนี้อันเกิดจากการใช้บัตร เครดิตนั้น ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับทราบแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมตนเข้าร่วมรับผิดกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการใช้บัตรเครดิตสมาชิกบัตรหลักด้วยตั้งแต่วันสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต โจทก์จำเลยทั้งสองจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ที่แต่ละคนเป็นผู้ก่อขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 297
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551
บริษัท ร. นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลัง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท ร. ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 อันถือได้ว่าเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีก ประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ใน มูลหนี้ตามเช็คพิพาทย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551
เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 ส. และ ว. ได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับโจทก์ จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และมาตรา 682 วรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา 693 วรรคหนึ่ง และรับช่วงสิทธิของโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 อีกด้วย เมื่อลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ในภายหน้าได้ทั้งจำนวนหรือตามส่วนแล้วแต่กรณี เว้นแต่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 หรือที่ 2 แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 เมื่อบริษัท พ. ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ ชั้นต้นอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันอันมีต่อลูกหนี้ที่ 2 ไว้เต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่ เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อลูกหนี้ที่ 2 ได้
เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกัน ไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 229 และมาตรา 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้น ส่วนลูกหนื้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามมาตรา 340 ดังนั้นหากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551
เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ร. ผู้สลักหลังย่อมทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. และจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีก
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้น เชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระ เสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้อง ร่วมรับผิด แต่สำหรับคดีนี้มูลหนี้เดิมตามเช็คพิพาทได้ระงับสิ้นไปแล้วตามสัญญาประนี ประนอมยอมความที่โจทก์ทำกับบริษัท ร. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ร่วมคนอื่นในมูลหนี้เดียวกันย่อมระงับสิ้นไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2551
แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2550
การที่จะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่งหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือ ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบบริโภค หรือคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับ ภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อสัญญาค้ำประกันกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตราดังกล่าว จึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงมิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของ สัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แม้อุทธรณ์ข้อนี้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรง งานกลาง แต่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสองประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2550
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ศ. ชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดด้วย แต่โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียวและการที่ ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 291 และมาตรา 292 เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่บริษัท ศ. ในคดีอื่นซ้ำซ้อนกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงกำหนดความรับผิดในการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ร่วมกับบริษัท ศ. ไว้ในคำพิพากษาคดีนี้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2550
จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์แยกเป็นต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 187,093 บาท และโจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระรวม 10 งวด หากจำเลยทั้งสองผิดนัดยอมให้คิดเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม การที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว กรณีจึงเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งโจทก์จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดย สิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ร่วมยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เมื่อจำเลยที่ 2 ยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น โจทก์จึงนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลย ที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทด แทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8215/2549
สัญญาค้ำประกันระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษี เมื่อโจทก์แจ้งจำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระก่อน และสละสิทธี่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6315/2549
ป.พ.พ. มาตรา 457 ใช้บังคับแก่คู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ต้องชำระตาม ป.ที่ดินนั้น เป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเป็นค่าตอบแทนที่รัฐให้บริการแก่ราษฎร ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 104 บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม อันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายและมีลักษณะเป็นหนี้ที่จะแบ่งกันชำระมิได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าในระหว่างผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย กันนั้นฝ่ายใดตกลงเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนชำระค่า ธรรมเนียมที่ขาดอยู่ทั้งหมดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3932/2549
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ 1 เป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับคำฟ้องเดิมได้ และการที่สัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้สิทธิดังที่กล่าวไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 688, 689 และ 690 ได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 เกิดสิทธิที่จะฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 ด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549
โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2548
จำเลย ที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านลงในที่ดินของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและมุ่งผูกพันในสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะอย่างลูกหนี้ร่วม กัน แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงชื่อคู่สัญญาในสัญญาจ้างผู้เดียวก็ตาม หนี้ค่าก่อสร้างบ้านที่จำเลยทั้งสองมุ่งหมายจะได้อยู่อาศัยต่อไปย่อมผูกพัน จำเลยที่ 1 ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2548
คดีก่อนอันถึงที่สุดแล้วนั้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีก่อนร่วมกันรับผิดกับบริษัท ร. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 กับจำเลยอื่นในคดีก่อน ในฐานะที่จำเลยคดีนี้เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 60775 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน และคดีก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยคดีนี้และจำเลยที่ 1 กับจำเลยอื่นในคดีก่อนร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินดังกล่าวและที่ดินจำนองของจำเลยอื่นออก ขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามในคดีก่อนชำระจน ครบถ้วน
ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12981 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจำนองเป็นประกันเพิ่มหลักทรัพย์ให้แก่โจทก์ โดยมีคำขอบังคับว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองตามคำพิพากษาในคดีก่อน ขอให้บังคับจำนองที่ดินในคดีนี้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีก่อน หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ขอให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
ดังนี้เมื่อที่ดินที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำนองแก่จำเลยในคดีนี้กับคดีก่อนเป็นคนละแปลงกัน แม้จำเลยจะจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ที่บริษัท ร. จะต้องชำระแก่โจทก์รายเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ที่ฟ้องขอให้บังคับจำเลย รับผิดคดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยแตกต่างกันกล่าวคือ คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12981 พร้อมสิ่งปลูกสร้างประกันหนี้ที่บริษัท ร. จะต้องรับผิดชำระตามคำพิพากษาในคดีก่อนและโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้หรือไม่ ส่วนคดีก่อนมีประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยค้ำประกันและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 60775 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ประกันหนี้ที่บริษัท ร. จะต้องชำระแก่โจทก์ตามฟ้องและจำเลยจะต้องร่วมกับจำเลยอื่นในคดีก่อนรับผิด ชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยหรือไม่ กรณีจึงมิใช่เรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้ วินิจฉัยมาแล้ว โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะต้องด้วยลักษณะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนอันถึงที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2545
ตามสัญญาจ้างมีสาระสำคัญว่าสัญญาจ้างฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยซึ่งต่อไปใน สัญญาเรียกว่า "ผู้ว่าจ้าง" ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยร่วมและโจทก์ซึ่งสองบริษัทต่อไปนี้เรียกว่า "ผู้รับจ้าง" อีกฝ่ายหนึ่ง ข้อความในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นอย่างเดียวกัน คือ "ผู้รับจ้าง" เพราะงานที่จะกระทำต่อไปคืองานก่อสร้างอาคารที่มิได้แบ่งแยกว่าจะทำการก่อ สร้างอาคารส่วนใดอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และค่าจ้างที่จำเลยจะชำระก็กำหนดชำระเป็นงวด มิได้กำหนดว่าจะชำระแก่โจทก์และจำเลยร่วมคนละเท่าใดอีกด้วย คงชำระรวมกันไป แม้ในตอนแรกจะแบ่งชำระให้คนละครึ่งของแต่ละงวด ก็เป็นเพียงเพื่อความสะดวกของโจทก์และจำเลยร่วมเท่านั้นหาใช่เป็นการเปลี่ยน แปลงฐานะไปไม่ โจทก์และจำเลยร่วมยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ร่วมในหนี้ค่าจ้าง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้คนใด ก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2544
จำเลย และ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็น ประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำ ประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6829/2543
แม้นางสาวสุพรรณีกับจำเลย และผู้ค้ำประกันคนอื่น ๆ จะร่วมกันค้ำประกันหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คของบริษัทถุงกระดาษไทย จำกัด ด้วยกัน และโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากนางสาวสุพรรณีบางส่วน กระทั่งโจทก์ปลดหนี้ให้โดยได้ถอนฟ้องนางสาวสุพรรณีในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 23817/2532 ที่พิพากษาตามสัญญายอม โดยนางสาวสุพรรณีมิได้ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ นางสาวสุพรรณีจึงมิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง แม้โจทก์จะปลดหนี้ให้แก่นางสาวสุพรรณีก็ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ปลดหนี้ให้แก่ ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และมาตรา 293
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2543
ในกรณีเจ้าหนี้มีลูกหนี้หลายคน เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้คนใดและจะฟ้องอย่างไร ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเลือกกระทำได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้คนอื่น ๆ เป็นคดีล้มละลายโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยด้วย ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลายดังกล่าว ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยในอันที่จะไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย และแม้ต่อมาลูกหนี้คนอื่น ๆ จะตกเป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม จำเลยก็หาได้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ และจะเสียสิทธิในการไล่เบี้ยหรือไม่ เพราะการไล่เบี้ยเป็นเรื่องระหว่างลูกหนี้ด้วยกันเอง กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2542
เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แม้ทั้งสองฝ่ายจะมิได้มีเจตนาหรือจงใจร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อได้ก่อความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลย ที่ 1 และจำเลยที่ 6 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวด้วยกันทั้งหมด และเป็นความเสียหายเดียวกัน ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบ มาตรา 291 จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยคนอื่น ๆ อย่างลูกหนี้ร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2542
จำเลย ที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสิน ไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้อีกทั้งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปีย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2542
เมื่อโจทก์และ ส. ร่วมกันค้ำประกันหนี้ของบริษัท ล.ในวงเงิน 1,000,000 บาท ความรับผิดของโจทก์และ ส.ย่อมจำกัดอยู่เท่าวงเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่ บริษัทล. ต้องรับผิดต่อจำเลย แต่ไม่เกินอัตราที่จำเลยมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย การที่ ส. ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้จำเลย 1,800,000 บาท และจำเลยปลดหนี้ให้ ส. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 ทำให้โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับ ส. ได้ประโยชน์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง,293 แม้ต่อมาอีก 2 ปี 11 เดือน 23 วัน จำเลยได้ฟ้องโจทก์ล้มละลาย แต่วงเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยก็ถูกจำกัดอยู่เพียง 1,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันกับทั้ง ส.ก็ได้ชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญาค้ำประกันแล้วถึง 1,800,000 บาท และแม้โจทก์จะมีความรับผิดตามสัญญาจำนองประกันหนี้ของ บริษัท ล. อีกในวงเงิน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยด้วยก็ตามยอดหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเมื่อรวมทั้ง เงินต้นและ ดอกเบี้ยแล้วก็ไม่มีทางถึง 15,332,017.82 บาทได้ การที่จำเลยบรรยายฟ้องในคดีล้มละลายว่าโจทก์ยังต้องรับผิดต่อจำเลยร่วม กับบริษัทล. อีก 15,015,517.82 บาท โดยไม่บรรยายถึงวงเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ทั้งว. ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยยังได้เบิกความในชั้นพิจารณาอีกด้วยว่า โจทก์ต้อง ร่วมรับผิดกับบริษัท ล. ถึงวันฟ้องเป็นเงิน15,332,071.82 บาท จนศาลชั้นต้นพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายทำให้โจทก์ได้ รับความเสียหาย เป็นการ กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการคำนวณยอดหนี้ของโจทก์ และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2541
ตามสัญญากู้ได้ระบุวงเงินให้กู้ของโจทก์และของผู้ให้กู้อื่นแก่จำเลยที่ 1 ไว้คนละจำนวนในวงเงินไม่เท่ากันและเป็นไปตามลำดับ โจทก์และผู้ให้กู้อื่นมีส่วนในหนี้นั้นแยกกัน จึงไม่เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน ทั้งตามสัญญาก็มิได้กำหนดว่าการฟ้องคดีโจทก์จะต้องได้รับความยินยอมหรือเห็น ชอบจากผู้ให้กู้ด้วยกันเสียก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องเจ้าหนี้หลายคนก็มิได้ระบุว่าผู้ให้กู้คนใดคน หนึ่งจะต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้คนอื่นก่อนจึงจะฟ้องคดี ได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้กู้ราย อื่นก่อน จำเลยทั้งสี่ให้การเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่าจำเลยที่ 1ได้รับเงินตามสัญญากู้ไม่ครบวงเงินกู้ทำให้โครงการขาดทุนหมุนเวียนถือว่า โจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้ง สี่ก็อุทธรณ์ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็วินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ร้อยละ 13.5 ต่อปีนั้นจำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าอัตราดอกเบี้ยสูงเกินส่วนที่โจทก์ควรจะได้รับโจทก์ วิเคราะห์ขนาดของเงินลงทุนผิดพลาด ทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้หลายร้อยล้านบาทและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความ เสียหายเป็นพิเศษเช่นใด จำเลยทั้งสี่จึง ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงเป็นข้อที่ มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อีกทั้งปัญหาเรื่องนี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2539
เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1และผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้าง ของจำเลยที่2ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันถึงแม้จำเลยที่1และผู้ตายจะต่างคนต่าง ประมาทเลินเล่อก็ตามแต่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1และผู้ตาย ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันดังกล่าวแล้วจำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่2ต่อ โจทก์เต็มตามจำนวนค่าเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5709/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและในการร้องขอให้บังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวคือ ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีก่อน ขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วจากนั้น ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด โจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา แต่ได้นำยึดทรัพย์สินเฉพาะของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ แม้โจทก์ยังมิได้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นขอให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 2ซึ่งอยู่ภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แต่เนื่องจากที่ดินอยู่นอกเขตศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นจึงได้มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ช่วยบังคับคดีแทน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วจะไปยึดที่ดินเมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วจะไปทำการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 เกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้วภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2535
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจากมูลละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงฟ้องคดีร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 แม้มูลหนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกันแต่ความเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคน ย่อมต้องแล้วแต่ผลแห่งละเมิดที่โจทก์แต่ละคนได้รับจากมูลละเมิดนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ดังนั้นโจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเท่าใดการที่โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดรวมกัน ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการบรรยายคำขอบังคับไม่แจ้งชัดคำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11161/2511
ความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสองที่ว่า ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเฉลี่ยทรัพย์ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา นั้น คำว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาในที่นี้หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกยึดทรัพย์สินอยู่ในคดีนี้ ถ้าไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ผู้ขอก็ขอเฉลี่ยจากเงินที่ขายทรัพย์ได้ หาได้หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนอื่นในคดีที่ผู้ขอเฉลี่ยชนะคดีไม่ (อ้างฎีกาที่ 176/2494)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2541
ตามสัญญากู้ฉบับพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องได้ระบุวงเงินให้กู้ของโจทก์และของผู้ให้กู้อื่นแก่จำเลยที่ 1 ไว้คนละ จำนวนในวงเงินไม่เท่ากันและเป็นไปตามลำดับ โจทก์และ ผู้ให้กู้อื่นมีส่วนในหนี้นั้นแยกกัน จึงไม่เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน ทั้งตามสัญญาก็มิได้กำหนดว่าการฟ้องคดีโจทก์จะต้องได้รับ ความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้ด้วยกันเสียก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องเจ้าหนี้หลายคนก็มิได้ระบุว่าผู้ให้กู้คนใดคนหนึ่งจะต้องได้รับ ความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ให้กู้คนอื่นก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้อง ได้รับความยินยอมจากผู้ให้กู้รายอื่นก่อน