โอนสิทธิเรียกร้อง



มาตรา ๓๐๓  สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้
ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาเช่นว่านี้ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4375/2559
ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) และมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนทั้งแผนฟื้นฟูกิจการนั้นก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินและวิธีการในการจัดกิจการของลูกหนี้ต่อไป นอกจากนี้รายการในแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (6) ก็ให้กำหนดให้ในแผนมีรายการคือ วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่นนี้สิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยสภาพแล้วย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถโอนกันได้ดั่งเช่นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นวิธีการในการดำเนินการของสถาบันการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการหนี้เสียและเป็นวิธีการที่จะนำรายได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจต่อไป เมื่อปรากฏว่าในการโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โอนสิทธิเรียกร้องตามแผนให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด และมีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่าธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องมายังธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด และธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวพร้อมหลักประกันมายังโจทก์และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมเคยมีอยู่และสามารถใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่ค้างอยู่

มาตรา ๓๐๔  สิทธิเรียกร้องเช่นใด ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องเช่นนั้น ท่านว่าจะโอนกันหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่ พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้

มาตรา ๓๐๕  เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจำนอง จำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย [๖]
อนึ่งผู้รับโอนจะใช้บุริมสิทธิใด ๆ ที่ตนมีอยู่เกี่ยวด้วยสิทธิเรียกร้องในกรณีบังคับยึดทรัพย์หรือล้มละลายนั้นก็ได้

มาตรา ๓๐๖  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้ ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2559
ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12379/2558
แม้โจทก์จะรับโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และโจทก์ไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งก่อนฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม แต่ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ. แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแล้วไม่ปรากฏว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างธนาคาร ท. กับโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ได้มอบหมายให้ธนาคารเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้แต่อย่างใด การโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าได้มีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

มาตรา ๓๐๗  ถ้าพิพาทอ้างสิทธิในการโอนต่างราย โอนรายใดได้บอกกล่าวหรือตกลงกันก่อน โอนรายนั้นมีสิทธิดีกว่าโอนรายอื่น ๆ

มาตรา ๓๐๘  ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา ๓๐๖ โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่ แต่ถ้าเพื่อจะระงับหนี้นั้นลูกหนี้ได้ใช้เงินให้แก่ผู้โอนไปไซร้ ลูกหนี้จะเรียกคืนเงินนั้นก็ได้ หรือถ้าเพื่อการเช่นกล่าวมานั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อผู้โอน จะถือเสมือนหนึ่งว่าหนี้นั้นมิได้ก่อขึ้นเลยก็ได้

ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคำบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น ถ้าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากผู้โอน แต่สิทธินั้นยังไม่ถึงกำหนดในเวลาบอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะเอาสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักกลบลบกันก็ได้ หากว่าสิทธินั้นจะได้ถึงกำหนดไม่ช้ากว่าเวลาถึงกำหนดแห่งสิทธิเรียกร้องอันได้โอนไปนั้น

มาตรา ๓๐๙  การโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกคนอื่นได้แต่เฉพาะเมื่อการโอนนั้นได้สลักหลังไว้ในตราสาร และตัวตราสารนั้นได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับโอนไปด้วย

มาตรา ๓๑๐  ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้มีสิทธิที่จะสอบสวนถึงตัวผู้ทรงตราสาร หรือสอบสวนความถูกต้องแท้จริงแห่งลายมือชื่อหรือดวงตราของผู้ทรงได้ แต่ก็หามีความผูกพันที่จะต้องทำถึงเพียงนั้นไม่ แต่ถ้าลูกหนี้ทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไซร้ การชำระหนี้นั้นก็ไม่เป็นอันสมบูรณ์

มาตรา ๓๑๑  บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่มีกำหนดตัวเจ้าหนี้ระบุไว้ในตราสาร ซึ่งมีข้อความจดไว้ด้วยว่าให้ชำระหนี้แก่ผู้ทรงตราสาร

มาตรา ๓๑๒  ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ซึ่งมีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนโดยสุจริตนั้นหาได้ไม่ เว้นแต่ที่ปรากฏในตัวตราสารนั้นเอง หรือที่มีขึ้นเป็นธรรมดาสืบจากลักษณะแห่งตราสารนั้น

มาตรา ๓๑๓  บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงหนี้อันพึงต้องชำระแก่ผู้ถือนั้นด้วย แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560
แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2559
แม้ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ อันทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่ปรากฏว่าภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โจทก์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้โดยการขอบังคับคดีในคดีนี้ไม่ได้ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ และต่อมาผู้ร้องก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้แทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว ดังนั้นโจทก์จะมาขอให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 77 ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 77 (1) หรือ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในกรณีของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2559
ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2559
แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้รับจำนอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาทให้แก่ บสท. ส. จำกัด ดังนั้น จำเลยไม่ใช่ผู้รับจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยให้ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4375/2559
ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) และมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนทั้งแผนฟื้นฟูกิจการนั้นก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินและวิธีการในการจัดกิจการของลูกหนี้ต่อไป นอกจากนี้รายการในแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (6) ก็ให้กำหนดให้ในแผนมีรายการคือ วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่นนี้สิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยสภาพแล้วย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถโอนกันได้ดั่งเช่นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นวิธีการในการดำเนินการของสถาบันการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการหนี้เสียและเป็นวิธีการที่จะนำรายได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจต่อไป เมื่อปรากฏว่าในการโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โอนสิทธิเรียกร้องตามแผนให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด และมีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่าธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องมายังธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด และธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวพร้อมหลักประกันมายังโจทก์และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมเคยมีอยู่และสามารถใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่ค้างอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2559
โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะขอซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนโดยอยู่ในระหว่างพิจารณาของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารได้
ส่วนผู้ร้องเป็นเพียงผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ แม้จะมีข้อตกลงว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีนี้ ผู้ร้องก็มิใช่ผู้ที่ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 438/2559
ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ให้แก่ผู้รับโอนได้ โดยมิได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนก็ตาม แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นเองไม่เปิดช่องให้โอนกันได้หรือเป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแล้วย่อมไม่สามารถกระทำได้ตามบทมาตราดังกล่าว สิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. มีต่อบริษัท ป. ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. ได้ฟ้องบริษัท ป. ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กลางและต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และคดีทั้งสองอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ประกอบกับได้ความว่าโจทก์รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคดีนี้มีมูลหนี้จำนวนประมาณ 312,000,000 บาท โดยซื้อมาเพียง 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้มาก ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. จึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยปกติธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง หากแต่เป็นการซื้อขายความในการดำเนินคดีทั้งสองคดีแก่บริษัท ป. เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ในคดีหรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ การรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2559
ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า "การบริหารสินทรัพย์หมายความว่า (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" และกระทรวงการคลังได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ดังนั้น การที่ผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้ขอสวมสิทธิเดิมซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกัน จึงเป็นการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับซื้อหรือรับโอนหนี้สินด้อยคุณภาพจากผู้ขอสวมสิทธิเดิม โดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้โดยชอบ หาตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14417/2558
แม้ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 มาตรา 5 มิได้บัญญัติว่าการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรานี้ต้องเป็นการโอนหรือรับโอนมาจากผู้ใด แต่ย่อมมีความหมายว่าต้องเป็นการโอนหรือรับโอนสินทรัพย์มาจากผู้โอนซึ่งเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิมดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 เมื่อโจทก์ผู้เป็นคู่ความอยู่เดิมมิได้เป็นผู้โอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วแก่ผู้ร้องโดยตรง แต่อ้างว่าได้รับโอนมาจากบริษัท ร. ผู้โอน ซึ่งมิใช่คู่ความอยู่เดิม หรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ตามคำร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12379/2558
แม้โจทก์จะรับโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และโจทก์ไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งก่อนฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม แต่ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ. แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแล้วไม่ปรากฏว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างธนาคาร ท. กับโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ได้มอบหมายให้ธนาคารเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้แต่อย่างใด การโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าได้มีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10762/2557
ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกัน ให้หลักประกันนั้นตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วย ซึ่งแม้บทมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงสิทธิจำนองให้ตกแก่ผู้สวมสิทธิด้วย แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงสิทธิจำนองดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 305 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจำนองหรือจำนำที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย" ดังนั้น สิทธิจำนองคดีนี้ย่อมตกแก่ผู้สวมสิทธิซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานคดีนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2557
การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. เมื่อธนาคาร ด. เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งห้าในมูลหนี้เงินกู้และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้ย่อมกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายตามมาตรา 150 ธนาคาร ด. จึงสามารถโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ได้ แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายพิเศษนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแม้บริษัทเงินทุน ธ. จะทำสัญญาซื้อหนี้เงินกู้จากธนาคาร ด. ภายหลังธนาคาร ด. ฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร ด. ได้ เนื่องจากโจทก์เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคาร ด. ในคดีนี้ได้โดยชอบตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และแม้จะมิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 5 หรือจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้เท่านั้น หาได้ทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20799/2556
สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันทั้งสองสัญญามีข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องเงินตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สองบัญชี ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนโดยเฉพาะเจาะจงและผู้คัดค้านได้บอกกล่าวการโอนไปยังบริษัท บ. และ ฟ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามสัญญาจ้างแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะยกขึ้นต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แต่การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่รับโอนสิทธิมาก็เพื่อเป็นประกันหนี้สินของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านเท่านั้น และในระหว่างที่เป็นประกันหนี้ของจำเลยหากจำเลยไม่ผิดสัญญาที่มีต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องที่รับโอนเงินดังกล่าว และเงินจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสองบัญชี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านยังไม่ได้บังคับตามสิทธิเรียกร้อง แต่ได้ถูกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลจนศาลมีคำพิพากษาแล้วทำการอายัดบังคับชำระหนี้ไปก่อนที่ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้อง เมื่อผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิเรียกร้องโดยยังมิได้บังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่อาจใช้ยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ทำการอายัดไปก่อนได้ ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินที่กรมบังคับคดีอายัดไปจากบัญชีทั้งสอง และมีหน้าที่ต้องโอนเงินที่เหลือในบัญชีทั้งสองให้แก่กรมบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3845/2556
การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้รวมทั้งหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ย่อมสามารถกระทำได้ตามมาตราดังกล่าว ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2540 ก็หาได้หมายความว่าคู่สัญญาไม่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายที่ตราไว้เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2556
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ในค่าก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยที่ 2 และยังไม่ทราบจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ จึงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้จำนวน 10,250,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากจำเลยที่ 2 ทั้งหมดตามสัญญาจ้างเผื่อไว้ โดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ระบุว่าหากเงินที่ได้รับโอนตามสิทธิเรียกร้องเกินกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ ให้โจทก์คืนส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 3 จะมีข้อตกลงว่า หากเกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้รับโอนอันเนื่องมาจากการรับโอนสิทธิในการรับเงินรายนี้ ผู้โอนยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับโอนทั้งสิ้นก็ตาม ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันยอมชำระหนี้แก่โจทก์แม้จะได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือเป็นข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องก็สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ไม่อาจโต้แย้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12753/2555
การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าช่วงระหว่าง ว. ผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้เช่าหรือผู้โอนสิทธิกับโจทก์ผู้รับโอนสิทธิ เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว การโอนสิทธิย่อมสมบูรณ์ โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยชอบ และการที่โจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิดังกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ทราบเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จึงยกการรับโอนสิทธิดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้และเรียกค่าเช่าช่วง ที่จำเลยค้างชำระจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2552
หนังสือให้ความยินยอมและรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 มีไปยังจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า "เป็นที่เข้าใจกันว่าเอทีแอนด์ที (AT&T) เพียงแต่ตอบสนองตามการขอร้องของท่านที่ให้จ่ายเงินโดยตรงในนามของท่านให้แก่ บริษัทอื่น และในการจ่ายเงินดังกล่าวนี้ เอทีแอนด์ทีจะไม่และต้องไม่เป็นการยอมรับหนี้สินเพิ่มต่อท่านหรือต่อผู้รับ โอนสิทธิ นอกจากนี้การยอมให้มีการโอนสิทธิทางการเงิน ไม่หมายความด้วยประการใด ๆ ว่า เอทีแอนด์ทีสละสิทธิของตนซึ่งมีอยู่ในสัญญา" ข้อความดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่า จำเลยที่ 4 มิได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้อิดเอื้อน แต่เป็นการให้ความยินยอมภายในกรอบแห่งสิทธิของจำเลยที่ 4 อันพึงมีอยู่ในสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ดังนั้น หากจำเลยที่ 4 มีข้อต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ที่ 1 ผู้โอนได้ จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิที่จะนำยอดเงินจำนวน 13,522,469.67 บาท หักกลบลบหนี้กับเงินค่าจ้างจำนวน 11,610,539.33 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 อันทำให้หนี้จำนวนดังกล่าวระงับไป โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 11,610,539.33 บาท แก่ตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5574/2551
แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส. กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือจำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่ง ปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก จำเลย แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้วก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 วรรคแรก จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2551
จำเลย ที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และ 306 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ในนามของโจทก์ แต่เมื่อตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า "หากลูกค้าปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ให้แก่ผู้รับโอน ผู้โอนตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ รับโอนเป็นเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามมูลหนี้พร้อม ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าผู้รับโอนจะได้ชำระหนี้คืนครบถ้วน และผู้รับโอนจะมีสิทธินำเงินที่หักไว้ตามสัญญาข้อ 4 หรือค่าตอบแทนที่ผู้โอนจะได้รับจากการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักชำระหนี้ ได้ทันทีโดยไม่ป็นต้องแจ้งให้ผู้โอนทราบ..." ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่โจทก์ไป แล้วตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาโอนให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจาก ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญา จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาโอนสิทธเรียกร้องซึ่งไม่มี กฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนจากจำเลยที่ 1 เรียกให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในมูลหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกหนี้อันมีอายุความ 2 ปี ฟ้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 799/2551
โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องโดยระบุให้ เรียกคู่สัญญาในหนังสือดังกล่าวระหว่างโจทก์กับธนาคาร ก. ว่า "ผู้โอน" และ "ผู้รับโอน" ตามลำดับ เนื้อหาภายในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้โอนซึ่งเป็นผู้ให้เช่าที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้าง ขอโอนสิทธิการรับค่าเช่าจากจำเลยตามสัญญาเช่าในแต่ละเดือนให้แก่ผู้รับโอน เป็นผู้รับเงินจำนวนดังกล่าว โดยผู้โอนขอรับรองว่า ผู้รับโอนมีสิทธิสมบูรณ์เสมือนผู้โอนทุกประการ ทั้งมีการแจ้งการโอนเป็นหนังสือให้แก่จำเลยและจำเลยได้ตอบรับเป็นหนังสือ หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าที่ดินตามสัญญา ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งก็คือสัญญาเช่าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์และธนาคาร ก. ได้ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 บัญญัติไว้แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการรับเงินค่าเช่าจึงตกเป็นของธนาคาร ก. ตั้งแต่นั้นหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้แก่ธนาคาร ก. เป็นผู้รับเงินค่าเช่าแทนโจทก์ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลย ชำระเงินค่าเช่าแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นได้สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเมื่อเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ได้แล้ว จึงได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 แล้ว ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีและให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงไว้ชัดเจนแล้ว แม้จะได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 764/2551
จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากผู้คัดค้านร้อยละ 15 ของค่าจ้างตามสัญญาโดยรับไปก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะแจ้งการอายัดไปยังผู้คัดค้าน เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะนำไปใช้ในการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านเฉพาะกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสถานะเป็นลูกหนี้ของผู้คัดค้านและไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่ผู้คัดค้าน เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 รับไปจึงไม่อยู่ที่ผู้คัดค้านอันอยู่ในวิสัยที่ผู้คัดค้านจะส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ขออายัดได้ โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านในส่วนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับธนาคารระบุว่า เป็นที่เข้าใจกันดีระหว่างคู่สัญญาว่าสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่กันตามสัญญานี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถเรียกร้องเอาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้คัดค้านได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาผู้คัดค้านจึงไม่ถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนี้เป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่นอันจะทำให้หนี้ที่ผู้โอนมีอยู่กับผู้รับโอนระงับลงบางส่วนหรือทั้งหมด และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ได้รับเงินจากผู้คัดค้านหรือได้รับไม่พอชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ผู้โอนยังคงผูกพันที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้รับโอนจนครบถ้วน ข้อความในสัญญาดังกล่าวแสดงว่าสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่กันนั้นรวมถึงเงินค่าเคด้วย ทางปฏิบัติที่ผู้คัดค้านจ่ายเงินค่าเคให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมีผลเป็นเพียงการสละสิทธิเรียกร้องของธนาคารที่มีต่อจำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านเท่านั้น หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะอายัดเงินค่าเคที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่ธนาคารไปแล้วไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้าน เสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2550
โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัท บ. สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องของโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายหลังจากที่โจทก์โอนสิทธิเรียกร้อง ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6507/2550
จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. มีต่อจำเลยทั้งสี่และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญา ค้ำประกันแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสี่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6334/2550
ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอน แม้การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับโจทก์จะกระทำภายหลังจำเลยผิดนัด ชำระหนี้แล้วและโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าว ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการโอน ไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันจำเลยได้ โจทก์ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้อง ตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2550
จำเลย ที่ 1 ขายปุ๋ยโดยออกใบสั่งจ่ายสินค้าแก่ลูกค้าเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการมา รับปุ๋ย ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวเป็นเอกสารที่อาศัยความไว้วางใจกันในประเพณีในการ ค้าขายปุ๋ยว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะส่งมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามารับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยมีข้อตกลงโดยปริยายแต่ต้นว่า ผู้ซื้อสามารถโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลใดก็ได้และจำเลยที่ 1 จะมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาแสดงในการส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ต้องสลักหลังและลงลายมือชื่อในใบสั่งจ่ายสินค้าเพียงแต่ส่งมอบให้ เท่านั้น แสดงว่าผู้ซื้อที่ได้รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 สามารถโอนใบสั่งจ่ายสินค้านั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และผู้โอนไม่จำต้องสลักหลังการโอนใบสั่งจ่ายสินค้า การโอนสิทธิในการรับปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนหนี้อันพึงจะต้องชำระแก่ผู้ถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 312 ประกอบมาตรา 313 โจทก์ผู้ครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว สามารถนำไปรับหรือเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุส่วนตัวระหว่างลูกค้าที่รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มาปฏิเสธไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2550
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองว่าจ้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก่อสร้างถนน และระบบระบายน้ำ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ซื้อเชื่อวัสดุก่อสร้าง และรับเงินยืมทดรองจ่ายไปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการสร้างรวมเป็นเงิน 778,240 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 1 มูลค่า 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไม่มีสิทธิระงับไม่ให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีหนังสือไปถึงจำเลยทั้งสองให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อนอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจรับเงินตามที่โจทก์มีสิทธิที่จะรับได้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2550
การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินจากผู้ร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนของศาลชั้นต้นให้แก่บริษัท ท. โดยบริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง และหากการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่มีการยกเลิกกันโดยชอบ สิทธิของจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นย่อมตกเป็นของบริษัท ท. จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะรับเงินตามคำพิพากษาในคดีนั้นจากผู้ร้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2550
ธนาคาร น. ในฐานะผู้รับอาวัลได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่แล้ว ธนาคาร น. ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ตามป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 985 และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาจากธนาคาร น. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวภายในอายุความข้างต้นเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2549
อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5842/2549
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แม้ผู้ร้องจะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยการประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องก็ได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ ผู้ร้องจึงตกอยู่ในบังคับที่จะต้องบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม
การอนุญาตให้บุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามความจำเป็นและความสะดวกในการพิจารณาคดี เมื่อผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองเพราะเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2549
สัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด ที่จำเลยที่ 1 นำหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกและเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระมาขายแก่โจทก์ โดยมีข้อสัญญาสรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินแก่ลูกหนี้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขายแก่โจทก์แล้ว หากลูกหนี้นำมาชำระแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องนำมามอบแก่โจทก์ เป็นการแสดงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 นำหนี้รายใดมาขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ และรับชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือรับชำระหนี้ในหนี้รายนั้นต่อไป สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 ส่วนข้อตกลงที่ว่า หากจำเป็นโจทก์มีสิทธิใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดี ก็เป็นเพียงวิธีการและรายละเอียดเพื่อให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในหนี้ที่รับซื้อไว้เท่านั้น หาทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2549
คดีล้มละลายเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องซ้อน
ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2548
บริษัทบริหารสินทรัพย์โจทก์มอบหมายให้ธนาคาร ก. ผู้รับชำระหนึ้เดิมเป็นผู้เรียกเก็บเงินและรับชำระหนี้ จึงเป็นการที่โจทก์ได้มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนในการเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ว่าธนาคาร ก. หรือโจทก์จะไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 การโอนสิทธิเรียกร้องนี้ก็ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งในอันที่จะบังคับชำระหนี้แก่จำเลยต่อไปตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 โดยให้ชำระเงินจำนวน 1,951,461.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี และชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิของโจทก์จะบังคับคดีกับจำเลยได้จะต้องล่วงเลยระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน ดังนั้น สิทธิของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อโจทก์คดีนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่สิ้นระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2548
การที่จำเลยว่าจ้าง น. ให้เป็นตัวแทนเรียกค่าเสียหายจาก ก. โดยจำเลยทำเป็นสัญญากู้เงิน น. ไว้ เท่ากับว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้จ้างทำของมาเป็นหนี้เงินกู้ หนี้จ้างทำของจึงระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากู้เงินกับ น. ก่อน น. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงระงับ น. ไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่าระงับไปแล้วให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2547
ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจากผู้ให้เช่าซื้อยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง ซึ่งมีราคามากกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่ยังเหลืออยู่จำนวนมาก เมื่อผู้เช่าซื้อจะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ผู้ร้องก็ปฏิเสธแสดงเจตนาว่าผู้ร้องต้องการรถยนต์บรรทุกของกลาง ซึ่งมีราคามากกว่าที่ตนควรจะได้ การยื่นคำร้องขอคืนของกลางจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2540
การโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ2ลักษณะ 1 หมวด 4 นั้นเป็นการโอนสิทธิตามที่เป็นอยู่ตามสภาพเดิมให้แก่ผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทนมิได้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิแต่อย่างใดและโดยปกติลูกหนี้มีข้อต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมอย่างไรก็ยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นได้รวมทั้งข้อต่อสู้เรื่องอายุความด้วยดังนั้นอายุความที่ลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องใช้อายุความเดียวกับที่ลูกหนี้สามารถยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมได้เมื่อปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องในคดีนี้เป็นค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของระหว่างจำเลยกับหจก.อ.ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(1)นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างแต่ละงวดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/12เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากหจก.อ.ฟ้องคดีเกิน2ปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6192/2539
ตามข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องมีข้อตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องที่ร. จะได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยให้โจทก์เป็นผู้รับโดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างให้ต่อเมื่อจำเลยได้หักค่าวัสดุที่ ร.ค้างชำระอยู่กับจำเลยเรียบร้อยแล้วย่อมเท่ากับว่าจำเลยได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา308วรรคหนึ่งแล้วสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่ ร.มีอยู่ตามสัญญาว่าจ้างจำเลยย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องประกอบกับสัญญาว่าจ้างที่ตนมีต่อ ร. ซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินบรรดาค่าวัสดุที่ค้างชำระอยู่กับจำเลยได้โดยไม่จำกัดว่าค่าวัสดุที่ค้างจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อจำเลยได้คำนวณค่าวัสดุที่ร. ค้างชำระเสร็จสิ้นก่อนที่จะจ่ายเงินค่าจ้างจำเลยย่อมนำไปหักออกจากค่าจ้างคงชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9206/2538
คำว่า"ข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอน"ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308 นั้น หมายความว่าข้อต่อสู้ที่มีอยู่ในวันที่การโอนสิทธิเรียกร้องการที่จำเลยหรือลูกหนี้รู้ว่ามีข้อต่อสู้ดังกล่าวในวันที่ทำการโอนสิทธิเรียกร้องแต่ก็ยังให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องถือว่าจำเลยหรือลูกหนี้สละข้อต่อสู้นั้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่ต่อผู้โอนดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้แต่ถ้าข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นภายหลังวันโอนสิทธิเรียกร้องย่อมไม่ตัดสิทธิของจำเลยหรือลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ดังนั้นเมื่อขณะที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทว.คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความฟ้องเรียกเอาค่าจ้างทำของซึ่งมีกำหนด5ปีจำเลยจึงยังไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ต่อมาจำเลยได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องไปโดยไม่อิดเอื้อนและโจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากคดีขาดอายุความแล้วจำเลยจึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความดังกล่าวนั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2536
โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้จาก ฉ.โดยทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้แล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนได้นั้นจะต้องเป็นข้อต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอน หาใช่ข้อต่อสู้ระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ดังนั้น กรณีที่ผู้โอนจะเป็นหนี้ผู้รับโอนหรือไม่ จึงเป็นเรื่องระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนมิใช่ระหว่างผู้โอนกับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ จำเลยจึงหามีสิทธิยกเอาข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ไม่การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ฉ. กับโจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2532
เทศบาลเมืองสมุทรปราการ ซึ่งมีสิทธิในที่ดินราชพัสดุที่ตั้งของอาคารพิพาท ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ในที่ดินดังกล่าวโดยใช้ทุนของจำเลยที่ 1 และให้โอนกรรมสิทธิ์แก่ กระทรวงการคลัง โดยให้สิทธิจำเลยที่ 1 เช่าอาคารจาก กระทรวงการคลัง เป็นเวลา 20 ปี และยอมให้จำเลยที่ 1โอนสิทธิการเช่าอาคารได้ ทั้งนี้ เทศบาลเมืองสมุทรปราการจะเป็นผู้นำจำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นซึ่งจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าให้ไปทำสัญญาเช่ากับ กระทรวงการคลัง โดยตรง เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารแล้ว โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทรวม 3 คูหาจากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาเช่าอาคารคูหาเดียวกันจากจำเลยที่ 1 อีกซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างมิได้จดทะเบียนสิทธิการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงแต่ตามสัญญากำหนด ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดให้ผู้เช่าเป็นผู้ทำสัญญาโดยตรงกับเทศบาลเมืองสมุทรปราการ กรณีดังกล่าวมิใช่การเช่าช่วงแต่มีลักษณะเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลย ที่ 1 ที่มีต่อเทศบาลเมืองสมุทรปราการและ กระทรวงการคลัง ให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 3เมื่อไม่ปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้จัดให้มีการแจ้งการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้เทศบาลเมืองสมุทรปราการทราบ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 307 ที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิในอาคารพิพาทดีกว่ากันทั้งไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีโดยตรง ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้ โดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ มาตรา 543(3) คดีนี้แม้โจทก์จะทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทกับจำเลยที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้เข้าครอบครองอาคารพิพาทแล้ว จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนการเช่าและไม่ได้เข้าครอบครองอาคารพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2532
จำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคาร สัญญาข้อ 14 กำหนดว่า "ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้ ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง...ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว..." ต่อมาจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยร่วม จำเลยร่วมมีหนังสือตอบไปยังผู้ร้องว่า "จำเลยร่วมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ผู้ร้องแจ้งมา แต่ผู้ร้องจะได้เงินค่าจ้างเพียงเท่าที่จำเลยจะพึงได้รับจากจำเลยร่วมตามสัญญาจ้างดังกล่าวเท่านั้น" ย่อมเท่ากับว่าจำเลยร่วมได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตามสัญญาจ้างดังกล่าว รวมทั้งตามสัญญาข้อ 14 ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308แล้ว สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามสัญญาจ้าง จำเลยร่วมย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามสัญญาจ้างที่ตนมีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ เมื่อจำเลยค้างจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง จำเลยร่วมย่อมใช้สิทธิตามสัญญาจ้างข้อ 14 หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องเพื่อนำไปจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักไว้นี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5561 - 5567/2530
จำเลยเป็นเจ้าหนี้ค่าก่อสร้างถนนของกรุงเทพมหานครลูกหนี้ได้โอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างดังกล่าวให้ผู้ร้องโดยทำเป็นหนังสือและผู้ร้องได้ส่งคำบอกกล่าวแจ้งการโอนไปยังกรุงเทพมหานครเป็นหนังสือแล้ว จึงต้องด้วยแบบพิธีสำหรับการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306ทุกประการ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นอันสมบูรณ์ สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การโอนย่อมหลุดจากจำเลยไปสู่ผู้ร้องแล้ว และย่อมใช้ยันกรุงเทพมหานครลูกหนี้ และใช้ยันโจทก์ลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้โดยไม่ต้องพิจารณาว่ากรุงเทพมหานครลูกหนี้จะได้ยินยอมในการโอนนั้นด้วยหรือไม่ โจทก์หามีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่
ข้อความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ที่ว่า'ได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น' กฎหมายต้องการเพียงประการใดประการหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ต้องการให้ประกอบกันทั้งสองประการจึงจะถือว่าการโอนสมบูรณ์และใช้ยันลูกหนี้กับบุคคลภายนอกได้ ที่บัญญัติว่า ลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นเป็นกรณีที่ใช้ประกอบกับมาตรา 308 ซึ่งมีความหมายว่าหากลูกหนี้ยินยอมโดยมิได้อิดเอื้อนแล้วย่อมทำให้ลูกหนี้หมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้อันตนมีอยู่ต่อเจ้าหนี้มาใช้แก่ผู้รับโอน แต่หาทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประการแรกตกเป็นอันไม่สมบูรณ์ด้วยการที่ลูกหนี้ไม่ยินยอมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947 - 1950/2524
การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฝากเงินไว้แก่ธนาคารให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนมิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ หากเป็นในลักษณะการโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งผู้ฝากเงินก็ต้องปฏิบัติ ด้วยการออกเช็คสั่งให้ธนาคารใช้เงินและส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ผู้รับโอนไปเบิกเงินจากธนาคาร การที่ธนาคารหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้ฝากเงินไป โดยผู้ฝากเงินมิได้ออกเช็คสั่งจ่ายให้ธนาคารใช้เงิน หรือทำหนังสือโอนหนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมไม่เป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของผู้ฝากเงินในหนี้เงินฝากต้องระงับสิ้นไป เพราะตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีข้อความระบุเงื่อนไขในการสั่งจ่ายและถอนเงินไว้ว่า เมื่อผู้ฝากเงินจะสั่งจ่ายหรือถอนเงิน ให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะ จะเขียนสั่งในกระดาษหรือแบบพิมพ์อย่างอื่นไม่ได้เว้นแต่ธนาคารจะตกลงยินยอม ด้วย การหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากก็ไม่แตกต่างอะไรกับการถอนเงิน