การรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้


มาตรา ๒๒๖  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
ช่วงทรัพย์ ได้แก่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่ง ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน

มาตรา ๒๒๗  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย

มาตรา ๒๒๘  ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ และถ้าใช้สิทธินั้นดังได้ระบุไว้ในวรรคต้นไซร้ ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมลดจำนวนลงเพียงเสมอราคาแห่งของแทนซึ่งลูกหนี้ได้รับไว้ หรือเสมอจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ลูกหนี้จะเรียกร้องได้นั้น

มาตรา ๒๒๙  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง
(๒) บุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป
(๓) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8180/2559
ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8305/2549 ระบุว่าให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้ละเมิดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แต่ บ. ขอให้โจทก์ร่วมรับผิดในค่าเสียหายจำนวนเดียวกันกับที่ บ. ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อ บ. จึงถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ส่วนจำเลยทั้งสามแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้สัญญาซื้อขายแก่ บ. เพียงแต่ค่าเสียหายที่ บ. เรียกจากโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นเป็นจำนวนเดียวกันถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงมีผลให้ความรับผิดของโจทก์กับจำเลยแต่ละคนต่อ บ. เป็นอย่างลูกหนี้ร่วมในค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดต่อ บ. หมดไป โจทก์ยังคงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ตามส่วนของตน การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บ. เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการชำระหนี้มูลละเมิดของโจทก์ที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่งและชำระหนี้มูลสัญญาซื้อขายของจำเลยทั้งสามที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่ง โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8443/2559
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาล พ. อันเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มิใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิ ส่วนค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ที่จำเลยตกลงจ่ายแก่ พ. ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้นเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ค่าเสียหายที่จำเลยตกลงจ่ายแก่ พ. จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไป ถือเป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมในทางแพ่งที่ พ. มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ตามมาตรา 22 ไม่ทำให้ค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์จ่ายแทนไปก่อนระงับไป โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6914/2559
เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2559
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ผู้โดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2559
ช. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่ที่ได้รับ คำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว ผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณี

ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12980/2558
จำเลยเป็นผู้ซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยซึ่งประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยซ่อมเสร็จและส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว แต่เมื่อคนขับรถของผู้เอาประกันภัยนำรถไปขับปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับและเกิดความเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังในการซ่อมรถยนต์ให้เพียงพอ ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การยกเว้นความเสียหายต่อรถยนต์ การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง... 7.2 การแตกหักของเครื่องจักรกลไกของรถยนต์ หรือการเสีย หรือการหยุดเดินของเครื่องจักรกลไก หรือเครื่องไฟฟ้าของรถยนต์อันมิได้เกิดจากอุบัติเหตุ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าการที่เครื่องยนต์ของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย เกิดจากการที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังในการซ่อม เท่ากับเป็นการอ้างว่าความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 7.2 ความเสียหายของเครื่องยนต์ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัย การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปจึงไม่ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่จะมาฟ้องเรียกเอาจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558
ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10461/2558
เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันแล้ว ก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 และมาตรา 880 มีความหมายว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกันตามความเสียหายที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10154/2558
จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมจึงมีหน้าที่ต้องรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา โรงแรมของจำเลยมีห้องพัก 48 ห้อง มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่ 2 คน อ. ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยและทำหน้าที่เปิดห้องพักให้แขกทางเข้าออกของโรงแรมไม่มีแผงเหล็กล้อเลื่อน ไม่มีไม้กั้นรถเข้าออก มีเพียงป้อมยาม เช่นนี้แสดงว่าขณะ อ. ไปเปิดห้องพักให้แขกจะไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราหรือดูแลรักษาความปลอดภัย คงมีเพียงพนักงานเก็บเงินคนเดียวประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียนเข้าพัก ซึ่งย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าบุคคลดังกล่าวไม่อาจดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าได้ คงทำได้เพียงอำนวยความสะดวกในการเข้าพักเท่านั้น ทั้งการขับรถเข้าออกโรงแรมสามารถกระทำได้โดยง่ายเพราะไม่มีแผงกั้นและจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีวิธีรักษาความปลอดภัยวิธีอื่นใดทำให้คนร้ายเข้ามาภายในห้องพักของแขกที่เข้ามาพักอาศัยได้โดยง่าย แม้ดาบตำรวจ ส. กับ ร. จะล็อกเพียงลูกบิดประตูห้องโดยไม่ได้ล็อกกลอนประตูและอุปกรณ์ล็อกรูปตัวยูทั้งที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยของคนเข้าพักอาศัย ไม่อาจถือว่าเป็นความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัย เพราะหากโรงแรมของจำเลยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ก็ย่อมเป็นการยากที่คนร้ายจะสามารถเข้าไปภายในห้องพักของลูกค้าได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่ อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้ อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ. หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6610/2558
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าของผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 มอบหมายให้จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยและด้วยความประมาทของจำเลยที่ 5 เป็นเหตุให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นความรับผิดในเหตุแห่งละเมิด เมื่อโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้อง จึงต้องพิจารณาจากสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จำเลยที่ 1 จะมีสัญญารับส่งสินค้าตามเอกสารหมาย จ. 9 ที่มีข้อจำกัดความรับผิดระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้มีข้อสัญญารับส่งสินค้าต่อกัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาสัญญาดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับผู้เอาประกันภัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5086/2558
ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ เมื่อโจทก์นำสืบพยานบุคคลฟังได้แล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นภายในสถานที่ประกอบการหรือเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่ประกอบการไว้จากบริษัท พ. ผู้เอาประกันภัย การอ้างกรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานจึงเป็นเพียงนำสืบประกอบพยานอื่นในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิ ไม่ได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง ดังนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนอ้างส่งเป็นพยาน ก็ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4966/2558
โจทก์ฟ้องโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ผู้รับประกันภัยจึงมีเท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ก็ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4075/2558
โจทก์ที่ 1 ลงลายมือในเอกสารโดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความในเอกสารมีความหมายเช่นไร เมื่อข้อความในเอกสารมีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงหาอาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นผู้รับประกันภัยในรถจักรยานยนต์ที่บุตรของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ได้ทำบันทึกขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ จ. ผู้ละเมิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 หรือ จ. โจทก์ที่ 1 จึงหามีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2558
ข้อตกลงที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความสรุปว่า ความเสียหายของรถยนต์พิพาทนั้น พ. ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทได้เรียกร้องจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยที่ 1 แสดงว่า พ. ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัย ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลงอันเป็นการระงับข้อพิพาทตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์พิพาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2558
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ก่อวินาศภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ถ. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ได้
บันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเพียงข้อตกลงระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันกับจำเลยเท่านั้น หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ แม้มูลหนี้ละเมิดระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยจะระงับสิ้นไป ตามบันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2461/2558
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ขายปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้จำเลยที่ 1 จะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการโดยนำรถยนต์เข้าไปในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นปกติ การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยนอกจากทำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการอันส่งผลต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 อีกด้วย ลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ดังกล่าวถูกโจรกรรมได้โดยง่าย
จำเลยที่ 1 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถและไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลบริเวณทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและเครื่องกั้นจราจรสกัดกั้นมิให้ขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถได้โดยสะดวก ทำให้คนร้ายฉวยโอกาสนำรถยนต์ออกจากห้างสรรพสินค้าโดยแล่นย้อนศรสวนทางออกไปในช่องทางเข้าผ่านด้านหลังของกล้องวงจรปิดทำให้กล้องวงจรปิดไม่สามารถส่องเห็นใบหน้าคนขับ หากจำเลยที่ 1 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณทางเข้าและทางออก จำเลยที่ 1 ก็จะตรวจพบความผิดปกติของคนร้ายที่ขับรถย้อนศรออกไปทางช่องทางเข้าได้ในทันที เหตุรถยนต์สูญหายก็จะไม่เกิดขึ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จักต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมเป็นการกระทำด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ดูแลทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและตามลานจอดรถตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ไปดูแลพื้นที่อื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ไปดูแลบริเวณอื่นอันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2558
ค่าประเมินความเสียหายของรถเป็นค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยซึ่งโจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 878

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2558
การฟ้องบังคับคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง หมายถึงกรณีผู้เอาประกันภัยฟ้องบังคับผู้รับประกันภัยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือกรณีที่ผู้รับประกันภัยฟ้องบังคับเอาเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยทั้งสามผู้ขนส่งให้ร่วมกันรับผิดเนื่องจากสินค้าของผู้เอาประกันภัยเสียหายระหว่างการขนส่งของจำเลยและโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องร้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ได้ กรณีมิใช่เป็นการฟ้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวอันจะตกอยู่ภายใต้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16386/2557
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ว. ผู้นั่งโดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ว. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันและจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้ ว. เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของ ว. มาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 25,000 บาท กรณีนี้มิได้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 มาใช้บังคับกับ ว. แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557
จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557
ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12017/2557
จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เกิดเหตุที่รถซึ่งโจทก์รับประกันภัยสูญหายจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์และหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัยอันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19985/2556
แม้กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่ อ. ผู้เอาประกันภัยจะมีกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ ซึ่งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองก็ตาม กรณีเป็นเรื่องระหว่าง อ. กับโจทก์ เมื่อคู่สัญญาดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้ให้เช่าซื้อไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยไม่มีข้อคัดค้านโต้เถียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำกันไว้แต่ประการใด ดังนั้นโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจาก อ. ผู้เอาประกันภัยในอันที่จะฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยและจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เมื่อโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ อ. ลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว ก็ไม่ทำให้จำเลยและจำเลยร่วมพ้นจากความรับผิดไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13337/2556
 การที่จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ เป็นการให้สัญญาต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ก็ให้ธนาคารเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 บังคับจำนองเอากับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ ต่างกับการค้ำประกันซึ่งโจทก์ผู้ค้ำประกันสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ในกรณีของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ในลักษณะจำนองซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 682 วรรคสอง ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน อีกทั้งไม่ใช่กรณีผู้ค้ำประกันหลายคนยอมตนเข้าค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง อันจะทำให้โจทก์รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บังคับจำนองกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2553
จำเลย ที่ 1 เป็นหนี้บรรษัท ง. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ได้จำนองที่ดินในวงเงิน 4,000,000 บาท เพื่อประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน เช่นนี้ความรับผิดของโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีต่อบรรษัท ง. นั้นอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมที่จะต้องชำระหนี้ตามฐานะของตน และวงเงินที่มีการกำหนดความรับผิดไว้ โดยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองซึ่งกำหนดวงเงินจำกัดความรับผิดไว้ การที่โจทก์ได้ชำระหนี้ตามภาระค้ำประกันให้แก่บรรษัท ง. ไปนั้น โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัท ง. ที่จะมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นโดยเต็มจำนวน แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินประกันหนี้ในวงเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และบรรษัท ง. ได้ฟ้องบังคับจำนองจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้บังคับจำนองแล้ว และหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบรรษัท ง. นั้น มีจำนวนมากกว่าวงเงินที่จำนองอยู่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้จำกัดความรับผิดของตนต่อบรรษัท ง. ไว้ และมีภาระต้องรับผิดต่อบรรษัท ง. ตามวงเงินที่จำนอง แต่โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าการชำระหนี้เงินของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อบรรษัท ง. หรือรับผิดน้อยกว่าวงเงินที่แต่ละคนเข้าผูกพันแล้ว โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในความรับผิดระหว่างลูกหนี้ร่วมกันอันจะก่อให้เกิด ความเสียหายต่อบรรษัท ง. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 230 วรรคสอง หาได้ไม่ โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ยังไม่อาจกำหนดได้แน่นอน โจทก์จึงยังไม่อาจนำหนี้ในส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2552
เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือ ทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของ ตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง สิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูก เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนเอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของ ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดัง ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 288 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551
เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 ส. และ ว. ได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับโจทก์ จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และมาตรา 682 วรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา 693 วรรคหนึ่ง และรับช่วงสิทธิของโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 อีกด้วย เมื่อลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ในภายหน้าได้ทั้งจำนวนหรือตามส่วนแล้วแต่กรณี เว้นแต่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 หรือที่ 2 แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 เมื่อบริษัท พ. ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ชั้นต้นอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันอันมีต่อลูกหนี้ที่ 2 ไว้เต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อลูกหนี้ที่ 2 ได้

เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 229 และมาตรา 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้น ส่วนลูกหนื้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามมาตรา 340 ดังนั้นหากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2551
เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์ยืมมาจากมารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเนื่องจากความผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่รับจ้างกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 643 แม้โจทก์จะซ่อมรถยนต์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6277/2550
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามสัญญาประกันภัยในกรณีที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ม. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการที่โจทก์กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเฉี่ยวชนรถยนต์ของ ม. และ ส. ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ส่วนที่โจทก์จะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. และ ส. บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมิใช่กรณีรับช่วงสิทธิ

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่การที่จำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากมีหลักฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ และคนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสู้ความโดยมีเหตุสมควร สมควรกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2550
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ 9 ข้อ โดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนและเป็นการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างตลอดไปตรวจที่ยังคงทำงานกับโจทก์หรือมีหนี้สินค้างชำระ ก็เป็นเงื่อนไขทั่วไปตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนในข้อ 6 ระบุให้ผู้ค้ำประกันไม่ยกข้อต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นความรับผิดกรณีที่โจทก์กระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในเรื่องจำนอง จำนำ บุริมสิทธิ ดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 697 หรือสละสิทธิในการยกอายุความขึ้นต่อสู้ ก็เป็นการทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันคดีนี้มิได้มีส่วนเกี่ยวกับสัญญาในข้อ 6 ส่วนสัญญาข้ออื่นนอกจากนี้มิได้มีผลให้จำเลยที่ 2 รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตามสัญญาข้ออื่นก็เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2550
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นการประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บริษัท ซ. ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าของบริษัท ซ. ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์โดยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัท ซ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ซ. ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 โดยตรงตามมาตรา 887

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2550
ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2550
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โดยอาศัยมูลหนี้ที่ ต. ได้นำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จาก บ. เจ้าของรถยนต์ไปจอดในบริเวณโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้วเข้าพักในโรงแรม ต่อมารถยนต์หายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในความสูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้นตามมาตรา 678 แม้โจทก์จะอ้างว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและมีคำขอให้คืนรถยนต์แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่มีอายุความ 1 ปี เมื่อเหตุรถยนต์สูญหายเกิดขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม 2540 โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 880 มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 เกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ ต. ออกจากโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2549
นอกจากผู้คัดค้านกับผู้ตายจะอยู่กินกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยตามปกติธรรมดาของสามีภริยาทั่วไปแล้ว ผู้คัดค้านยังได้เข้าค้ำจุนช่วยเหลือธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายโดยยอมเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมกับผู้ตายในการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่อีกด้วย ซึ่งการเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมดังกล่าว ทำให้ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยจากกองมรดกของผู้ตายเพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ทั้งยังเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดาที่มีเหนือผู้ตายได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลที่ต้องถูกกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่อันเนื่องจากการจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5369/2549
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจาก บ. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์อีกว่า หากโจทก์ต้องชำระหนี้แก่ บ. แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาไว้แก่โจทก์นั้น มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูก บ. เรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ บ. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ บ. ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ บ. ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549
โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2548
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์คันเกิดเหตุที่หายไปให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์คันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6519/2548
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าข้าวจากบริษัท ซ. ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าข้าว เมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 877 อันเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย และผลแห่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าข้าวพิพาทได้ในนามของโจทก์เองตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง และการรับช่วงสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมาย หาใช่เกิดจากข้อตกลงของคู่กรณีในสัญญาประกันภัยไม่ แม้เอกสารการรับช่วงสิทธิไม่มีกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซ. ลงลายมือชื่อพร้อมกับประทับตราสำคัญของบริษัท ก็ไม่มีผลทำให้การรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เป็นอันสิ้นสิทธิหรือระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4731/2548
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งจากประเทศไทยไปยังประเทศสาธารณรัฐสังคมเวียดนามกับเป็นผู้ว่าจ้างและชำระค่าตรวจสอบความเสียหายให้แก่บริษัทผู้ตรวจสอบความเสียหายโดยตรง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าการที่ที่โจทก์จ่ายแทนผู้เอาประกันภัยไปนั้นเป็นเพราะผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่หรือความจำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้น โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะที่รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายของสินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโดยตรงเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องในค่าตรวจสอบความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2547
จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ส. ผู้เยาว์เอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บ ส. โดย ศ. มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ ส. จนเป็นที่พอใจตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วย่อมไม่ได้ และเมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ให้แก่ ส. ไปแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในฐานะผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2547
โจทก์บรรยายฟ้องระบุข้อเท็จจริงว่า โจทก์ชำระเงินให้แก่บริษัท ง. ตามบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์รับเป็นนายหน้าชี้ช่องให้บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทดังกล่าว โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าและมีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นคงเหลือตามสัญญาเช่าซื้อหากผู้เช่าซื้อผิดนัด โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัท ง. ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นการฟ้องโดยอ้างสิทธิว่าเป็นการรับช่วงสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ซึ่งการรับช่วงสิทธิจะพึงมีได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมายเท่านั้นตามมาตรา 229 ส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาซึ่งเป็นเรื่องของการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติในบรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 4 โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 306 ฎีกาของโจทก์จึงนอกฟ้องและมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2547
โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง ชำระค่าเช่าจำนวน 3 งวดต่อโจทก์ที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในอันที่จะใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 เรียกร้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แก่ตนได้โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) โดยไม่ต้องอาศัยหลักฐานหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5127/2546
การที่ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองประสบภัยได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายก็เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อด้วยความประมาทเลินเล่ออันเป็นการทำละเมิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรถที่กระทำโดยจงใจหรือประพฤติเลินเล่ออย่างร้ายแรง และไม่ใช่ผู้ขับขี่รถอันจะต้องถูกไล่เบี้ยตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองไปแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาแก่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองไว้ซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้ประสบภัยและไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยหรือใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยจากจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2546
ตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลมีข้อความว่า "VOYAGE : At and from LAEM CHABANG , THAILAND TO HOCHI MINH" แปลว่าคุ้มครองที่และจากแหลมฉบัง ประเทศไทย ถึง โฮจิมินห์ ในประเทศเวียดนาม คำว่า ที่และจากแหลมฉบังย่อมเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้วว่าคุ้มครองภัยที่เกิดที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย ไม่ใช่เฉพาะนับจากเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบัง

สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไปขณะเก็บอยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อสินค้าที่สูญหายตามความผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ได้

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝาก เป็นการฟ้องให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2546
โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ 3ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยขับรถดั๊มโดยประมาทกระบะหลังกระแทกถูกหลังคาปั๊มน้ำมันของบริษัท ค. ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายเป็นเงิน 312,000 บาท โจทก์ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร ร่วมกระทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดเพราะอะไร จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 3 จะให้การว่ารับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1920/2546
สำเนาเอกสารที่ผู้ส่งเอกสารส่งให้แก่โจทก์โดยวิธีโทรสาร เมื่อจำเลยถูกโจทก์อ้างมาเป็นพยานหลักฐานยันตน จำเลยมิได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอม หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นแล้วเสร็จ และไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านต่อศาลในภายหลัง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยคัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้วินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้ โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2) แล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

จำเลยมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ธนาคารผู้รับตราส่งหรือ ช. ผู้ซื้อสินค้า การส่งมอบสินค้าแก่บุคคลอื่นโดยมิได้มีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งมอบโดยชอบทำให้ผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า เป็นเหตุให้ผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากผู้รับตราส่งหรือผู้ซื้อ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายต่อผู้ส่ง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยได้ตามอำนาจแห่งกฎหมายโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยได้ทราบถึงการประกันภัยหรือไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2546
ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตายและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4193/2545
บริษัท ส. ผู้ส่งกับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 มีผลให้บริษัท ส. ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 แม้โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ส. ไปก็เป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับบริษัท ส. แต่หาอาจก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิจากบริษัท ส. มาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7584/2544
โจทก์เอารถยนต์ประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลย ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย โจทก์ขับรถยนต์ชนราวสะพานและเสียหลักพุ่งตกลงบนหลังคาบ้านของ ม. โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้ชำระค่าเสียหายอันเกิดแก่ ม. ให้โจทก์ ดังนี้ เมื่อโจทก์มีความรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ม. โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เพราะกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องรับช่วงสิทธิแม้โจทก์จะยังมิได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6282/2544
โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ขนส่งอื่น เมื่อสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งอย่างลูกหนี้ร่วมตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 45 โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ ประกอบกับโจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทผู้รับตราส่งหรือบริษัทผู้รับประกันภัยสินค้าโจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยปฏิเสธ ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ทั้งผู้มีสิทธิที่จะฟ้องเพื่อตั้งหลักฐานแห่งสิทธิเรียกร้องเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงเนื่องจากหนี้จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) จะต้องเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2544
สินค้าที่ขนส่งโดยเรือเดินทะเลมาถึงโกดังของบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ยังต้องตรวจสอบสินค้าครบจำนวน และความเรียบร้อยว่ามีความสูญหายหรือบุบสลายหรือไม่ที่จะต้องปฏิบัติเป็นขั้นตอนต่อไปอีกด้วยอันเป็นปกติทางการค้าในการรับมอบสินค้า ดังนี้ ตราบใดที่ผู้รับสินค้ายังตรวจสอบสินค้าไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าได้มีการส่งมอบหรือควรจะได้ส่งมอบสินค้าแล้วหาได้ไม่ เมื่อบริษัท อ. ตรวจสอบและรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 อายุความฟ้องร้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายจึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิจากบริษัท อ. ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 ยังไม่พ้น 1 ปีจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2544
จำเลยทำสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยกับบริษัท อ. โดยยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท อ. ในกรณีที่ทรัพย์สินสูญหายเนื่องจากการโจรกรรม ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินของบริษัท อ. สูญหายไปเนื่องจากการโจรกรรม จำเลยจึงต้องรับผิดต่อบริษัท อ. ตามสัญญา เมื่อทรัพย์สินที่สูญหายเป็นทรัพย์สินที่บริษัท อ. ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ. ไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท อ. เรียกร้องเอาจากจำเลยตามสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2544
การที่บริษัท ภ. เจ้าหนี้ของจำเลยได้นำเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. ผู้ค้ำประกันจำนำไว้ไปหักชำระหนี้แทนจำเลย โดยบริษัท ภ. นำไปคิดหักเป็นค่าดอกเบี้ยของดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระจำนวนหนึ่งด้วย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บริษัท ภ. ที่คิดหักเอาไปเอง ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ คงมีแต่เพียงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินคืนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9023/2543
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการซึ่งอยู่และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้ส่งของส่วนพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 เพียงแต่ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ขนส่งอื่นเท่านั้นไม่มีบทบัญญัติใดยกเว้นความรับผิดของตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ

เมื่อสินค้าได้รับความเสียหายเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้ส่งของไป 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยได้รับ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเป็นจำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ตามความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยได้รับอย่างแท้จริงเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6874/2543
แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะกำหนดเงื่อนไขกรณีเกิดเหตุความรับผิดให้โจทก์ผู้เอาประกันภัยแจ้งคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้ขนส่งภายใน 3 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า แต่การที่โจทก์แจ้งเรื่องสินค้าสูญหายล่าช้าไปหลายเดือนก็เนื่องมาจากกระบวนการตรวจสอบว่าสินค้าได้สูญหายไปจริงหรือไม่ เมื่อตรวจสอบว่าสินค้าได้สูญหายไปจริงโจทก์ก็ได้แจ้งให้ผู้ขนส่งและจำเลยผู้รับประกันภัยทราบทันที ซึ่งจำเลยก็ไม่เคยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ได้แจ้งความเสียหายให้ทราบภายในกำหนดแต่อย่างใด จำเลยคงปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินค้าสูญหายโดยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าสินค้าสูญหาย กับจำเลยไม่สามารถรับช่วงสิทธิจากผู้ทำละเมิดได้เท่านั้น จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอาข้อกำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญให้โจทก์ปฏิบัติตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2543
ผู้รับประกันภัยรับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายในการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เอาประกันภัยเสียหายและผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของผู้ทำละเมิดได้แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามตราสารข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัย จำเลยร่วมหาอาจยกมาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ไม่
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2543
วินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยเพียงนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ว่าหลังจากนั้นจำเลยจะได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายไปแล้วก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิในการรับช่วงสิทธิของโจทก์ซึ่งมีอยู่แล้วสิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2540
เมื่อสัญญาจำนองที่ดินพิพาทไม่มีการเพิกถอนก็ต้องถือว่าเป็นสัญญาจำนองที่ ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ม.จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ม.เพราะอาจถูกธนาคาร ก.ผู้รับจำนองบังคับยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนจำเลยทั้งสองจนเป็นที่ พอใจของธนาคาร ก.เจ้าหนี้โดยได้มีการไถ่ถอนจำนองแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้บังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 230 หาใช่เรื่องจัดการงานนอกสั่งหรือลาภมิควรได้ไม่ แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าที่โจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารดังกล่าวไปนั้นเป็นการ ขืนใจลูกหนี้ก็ตาม ในเมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้นั้นอันเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ยอมไถ่ถอนจำนอง และหากไม่มีการไถ่ถอนจำนองโจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในที่ดินพิพาทไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้