การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหาย

มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560 

ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10798/2559

โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการค้าขายสินค้ากระดาษโดยโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 98.39 และต่างเป็นบริษัทในเครือ ป. โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ดังนี้หากจำเลยทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำการจำหน่ายสินค้ากระดาษโดยใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ คล้ายของโจทก์ทั้งสองข้างต้นจนทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 และทำให้โจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ที่ 2 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ดังนี้ย่อมถือว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิโดยจำเลยทั้งสาม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง


ข้อเท็จจริงปรากฏตามห่อสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์และของจำเลยที่ 1 ด้านหน้าห่อสินค้าของทั้งสองฝ่ายนั้น ของฝ่ายโจทก์ด้านบนมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า "idea" สีแดง และคำว่า "GREEN" สีเขียว ของจำเลยที่ 1ใช้ข้อความในตำแหน่งเดียวกันว่า "เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" โดยใช้คำว่า "เป็ดกระดาษ" สีแดง และคำว่า "กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" สีเขียว เป็นทำนองเดียวกันกับของฝ่ายโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรโรมันตัว "i" ของโจทก์ที่ 1 ใช้เป็นอักษรประดิษฐ์ ขณะที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ตัวอักษรตัวแรกเป็นสระในอักษรไทย "เ" แต่จำเลยที่ 1 กลับทำให้เหมือนของฝ่ายโจทก์ นอกจากนี้ในส่วนกลางของห่อสินค้าด้านหน้าของจำเลยที่ 1 ยังปรากฏรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งคล้ายกันมากกับรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาสินค้ากระดาษของฝ่ายโจทก์ ซึ่งฝ่ายโจทก์โฆษณาภาพยนตร์ดังกล่าวทางโทรทัศน์และจัดรายการส่งเสริมการขายโดยใช้ภาพตามภาพยนตร์ดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะวางจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยใช้ห่อสินค้าดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่เห็นภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ และต่อมาเมื่อเห็นรูปเป็ดกระดาษที่ยืนอยู่หน้าเครื่องพิมพ์เอกสาร ที่ห่อสินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ดังที่เห็นในภาพยนตร์โฆษณาของฝ่ายโจทก์ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "เป็ดกระดาษ" ด้วยอักษรสีแดงขนาดใหญ่ที่ส่วนบนของด้านหน้าห่อสินค้าก็อาจทำให้ผู้ที่เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ของฝ่ายโจทก์มาก่อนเข้าใจผิดว่าสินค้ากระดาษที่ใช้ห่อสินค้าดังกล่าวคือสินค้าของฝ่ายโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปต่าง ๆ หลายข้อความหลายรูปและจัดองค์ประกอบภาพในส่วนต่าง ๆ คล้ายกับของฝ่ายโจทก์อันเป็นการกระทำซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ากระดาษเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของฝ่ายโจทก์ จึงมีเหตุผลให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจใช้ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่ห่อสินค้ากระดาษเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ และไม่รับผิดชอบต่อประชาชนหรือผู้บริโภคที่อาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริต ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 แล้ว


จำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของประเทศเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่ม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรับรู้และมีส่วนร่วมกับการกระทำของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสินค้ากระดาษ "เป็ดกระดาษ กระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" การที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ผู้ผลิต จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบถึงสัญญาตัวแทนจำหน่ายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และสัญญาจ้างผลิตกระดาษระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ซึ่งมีข้อตกลงทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิใด ๆ ต่อบุคคลภายนอกโดยให้ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้ถึงการละเมิดดังกล่าวนั้น ไม่มีน้ำหนักและไม่อาจนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559 

 การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6599/2559

คดีนี้โจทก์ทั้งสองจัดรายการส่งเสริมการขาย "ผนึกกำลังสนั่นวงการ ช้อปสะใจคืนกำไร 2 ห้าง" โดยแจกคูปองมูลค่า 80 บาท ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองขั้นต่ำ 800 บาท นำมาใช้เป็นส่วนลดราคาสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้เมื่อซื้อสินค้าตั้งแต่ 400 บาท ขึ้นไป จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขายและโฆษณาว่า "ยินดีต้อนรับลูกค้าคาร์ฟูร์ด้วยใจ สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ถือคูปองคาร์ฟูร์ นำมาเพิ่มมูลค่า 2 เท่า เมื่อใช้คู่กับบัตรคลับการ์ด" โดยโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งยังอยู่ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสองจัดรายการส่งเสริมการขาย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงถึงยอดขายของโจทก์ทั้งสอง กรณีนี้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นลงทุนโฆษณาสื่อถึงลูกค้าเพื่อมาซื้อสินค้าของตน ต้องใช้บุคลากรและเงินจำนวนมาก ส่วนจำเลยเพียงแต่อาศัยการโฆษณาของโจทก์ทั้งสองเป็นพื้นฐานแล้วโฆษณาเพิ่มเติมโดยให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่า ง่ายต่อการจูงใจให้ลูกค้านำคูปองมาใช้ที่ห้างของตน เมื่อลูกค้าของโจทก์ทั้งสองนำคูปองของห้างโจทก์ทั้งสองมาซื้อสินค้าที่ห้างของจำเลยแล้ว จำเลยก็จะเก็บคูปองไว้ ทำให้ลูกค้าของห้างโจทก์ทั้งสองไม่มีคูปองที่จะกลับไปซื้อสินค้าครั้งที่สองที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้อีก อันเป็นการทำให้รายการส่งเสริมการขายของห้างโจทก์ทั้งสองไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ลูกค้าที่นำคูปองมาใช้ที่ห้างของจำเลย ก็มิได้รับสิทธิในการใช้คูปองทุกคน โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิในการใช้คูปองคือ ลูกค้าที่ยังไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยและจะต้องสมัครเป็นสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยก่อนที่จะได้รับสิทธิ แม้ลูกค้าที่สมัครสมาชิกคลับการ์ดของจำเลยแล้ว ยังสามารถเป็นสมาชิกของห้างโจทก์ทั้งสองและกลับไปซื้อสินค้าที่ห้างของโจทก์ทั้งสองได้ แต่ก็ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่า ห้างของจำเลยให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่าห้างของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นวิสัยทางการค้าปกติ แต่มีเจตนาทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสียหาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2559

การที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า บนปกหนังสือและแบบทดสอบทั้งห้าเล่มของจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏว่าที่หน้าปกหนังสือและแบบทดสอบดังกล่าวเครื่องหมายคำว่า "KENDALL SQUARE" ประกอบรูปประดิษฐ์อาคารทรงกลม ที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ด้วย แม้จะมิใช่เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ของโจทก์ในลักษณะที่สาธารณชนอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าก็ตาม แต่ปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าหนังสือคู่มือประกอบการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อใช้ในห้องเรียน มิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย สาธารณชนทั่วไปย่อมไม่ทราบว่าคำว่า "KENDALL SQUARE" เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ในขณะที่คำว่า "TOEFL" ของโจทก์ มีลักษณะที่สาธารณชนคือกลุ่มนักศึกษาไทยที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนรู้จักเครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ของโจทก์เป็นอย่างดี เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าหนังสือและแบบทดสอบกับสินค้าหนังสือและแบบทดสอบของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "TOEFL" ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 420


ชื่อโดเมนเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อความสะดวกในการจดจำและเรียกขานโดยสื่อถึงเจ้าของชื่อโดเมนในการติดต่อระหว่างกันในระบบเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ต อันเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์ของชื่อหรือนามตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ซึ่งผู้เป็นเจ้าของนามจะได้รับความคุ้มครองในการใช้นามของตนโดยมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นใช้ชื่อหรือนามเดียวกันนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของชื่อหรือนามเป็นเหตุให้เจ้าของชื่อหรือนามนั้นได้รับความเสื่อมเสียประโยชน์ รวมตลอดทั้งมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียประโยชน์นั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของชื่อโดเมนอันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ กรณีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 หรือไม่ นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "TOEFL" และคำว่า "TOEIC" ของโจทก์ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโดเมนของจำเลยที่ 1 เพราะสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นั้นแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับรายการสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโดเมน www.toeffthailand.wordpress.com ชื่อโดเมน www.2toeic.com และชื่อโดเมน www.7toefl.com กับสินค้าหนังสือ หนังสือเล่มเล็ก หนังสือคู่มือ แบบทดสอบ กระดาษคำตอบข้อสอบ และกับบริการพัฒนาดำเนินการและให้คะแนนการทดสอบประเมินความสามารถ แจกเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบ เปิดเผยคะแนนให้แก่ผู้สอบและสถาบัน ดำเนินการค้นคว้าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบเพื่อความพัฒนาก้าวหน้าในด้านทฤษฎีและในด้านปฏิบัติ บริการทดสอบและประเมินความสามารถในภาษาอังกฤษ การค้นคว้าวิจัยในด้านการศึกษา บริการให้การศึกษาตามที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร


ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 32 ถึง 43 เป็นข้อต่อสู้ที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์จะหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว หาใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องกล่าวบรรยายในคำฟ้องไม่


แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้รับค่าตอบแทนจากการจำหน่ายหนังสือคู่มือและแบบทดสอบ จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนในการสอนจากผู้เรียนหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการสอบ "TOEFL" ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนน้อยก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการสอนที่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้เรียนในหลักสูตรดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนแล้วนำไปแจกแก่ผู้เรียนในหลักสูตรซึ่งจำเลยที่ 1 จัดสอนถึงวันละ 4 รอบ มีผู้เรียนจำนวนประมาณวันละ 80 คน จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงสำเนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน ทั้งผู้ทำซ้ำคือจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เรียนและมีการทำซ้ำเกินกว่า 1 สำเนา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การกระทำที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรอันจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (1) (3) (6) (7) แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนการคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 33 นั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แต่ปรากฏว่าการนำเอาข้อสอบอันเป็นงานอันที่ลิขสิทธิ์ของโจทก์มาทำซ้ำเป็นหนังสือคู่มือนั้น เป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญทั้งหมดของงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งฉบับและมีปริมาณเป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์เพียงบางตอนตามสมควร ส่วนข้อความที่ปรากฏในหนังสือและแบบทดสอบว่า "An official TOEFL publication developed by ETS test specialist Copyright @ 1998 ETS. Unauthorized reproduction of this book is prohibited." ก็เป็นข้อความที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นข้อความที่โจทก์ประกาศแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และแสดงเจตนาห้ามการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เสียก่อน มิใช่การที่จำเลยที่ 1 แสดงความรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537


คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 ยุติการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "TOEFL" คำว่า "TOEIC" และคำว่า "ETS" ของโจทก์และยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 เก็บรวบรวมตำราเรียนแบบฝึกหัดและแบบทดสอบ ซีดี-รอม และเอกสารอื่นใดทั้งหมดที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อจัดการทำลายนั้น เป็นคำขอในลักษณะที่ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้หรือเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป ถือเป็นคำขอที่มุ่งบังคับถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในอนาคต จึงไม่อาจบังคับให้ได้


เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การตัดฟ้องว่าสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ แต่จำเลยที่ 1 มิได้กล่าวในคำให้การในส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความเรื่องใด อายุความเริ่มนับโดยโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่วันใด และมีกำหนดอายุความเท่าใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในเรื่องอายุความย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14701/2557 

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยออกระเบียบแก่บุคคลที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟของจำเลย ห้ามมิให้ใช้ไม้กอล์ฟที่มีประสิทธิภาพตีไกล เช่น หัวไม้ 1 ห้ามมิให้ตั้งทีสูงเกิน 45 มิลลิเมตร ที่บริเวณชั้น 1 และกำหนดเวลาเปิดปิดตั้งแต่ 8 ถึง 20.30 นาฬิกา เป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421, 1337, 1337 และ 1374 เพื่อระงับยับยั้งมิให้การใช้สิทธิของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 5 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง และเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยตรงให้กระทำการและเป็นผู้ออกระเบียบ มิใช่เป็นการบังคับบุคคลภายนอกซึ่งสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้กระทำได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11753 - 11754/2557 

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า คอนเทนเนอร์ไลเนอร์ ในต่างประเทศหลายประเทศ โจทก์ที่ 1 เคยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย หลังจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองพบว่าจำเลยทั้งสี่ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ไลเนอร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า แครีบัลค์ (CarriBulk) เมื่อโจทก์ทั้งสองพิจารณารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ (specification) และแบบพิมพ์ลายเส้นบรรจุภัณฑ์ (drawings) แล้วเชื่อว่ามีการลอกเลียนข้อมูล อันเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงมีเหตุผลสมควรให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่เพื่อปกป้องสิทธิของตนตามกฎหมายได้ การที่โจทก์ทั้งสองมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดสิทธิตามกฎหมายของโจทก์ทั้งสองและขอให้ยุติการกระทำละเมิด เป็นขั้นตอนตามปกติของการดำเนินการก่อนฟ้องคดี ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารก็เป็นสิทธิของคู่ความที่เห็นว่าเอกสารที่ตนประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก โดยคู่ความฝ่ายนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้บุคคลที่ครอบครองส่งต้นฉบับเอกสารนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีของตน แม้ภายหลังโจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอ้างเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องของตน ข้อเท็จจริงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองต้องการกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสี่โดยมุ่งต่อผลที่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสี่ จึงไม่ใช่การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 การดำเนินคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2556 

การฟ้องคดีต่อศาลตามปกติย่อมเป็นการกระทำโดยชอบ เพราะเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของตนทางศาลอันเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาต การใช้สิทธิเช่นนี้ไม่เป็นการผิดกฎหมายเว้นแต่จะปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาข่มขู่ ขู่เข็ญให้เกิดความกลัว ดูหมิ่นซึ่งหน้าและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร้องเรียนจำเลยต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยในเรื่องเดียวกัน ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าโจทก์หมิ่นประมาทจำเลย จึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานหมิ่นประมาท มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยปั้นเรื่องขึ้นฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจำเลยก็ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิอันไม่สุจริตอันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15674/2555 

จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิกระทำการใด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของจำเลย แต่การใช้สิทธิของจำเลยต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่เพียง 35 ตารางวา เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง มีความกว้างสุดประมาณ 2 เมตร ตามสภาพย่อมไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะบดบังทัศนียภาพหน้าที่ดินที่เป็นตึกแถวตั้งอยู่ได้ ซึ่งทัศนียภาพดังกล่าวเป็นคูน้ำและทางหลวงสายสุพรรณบุรี - ชัยนาท หมายเลข 340 ที่อยู่หน้าที่ดินของจำเลย ส. เจ้าของที่ดินเดิมก็คงคาดหมายเช่นนี้ จึงสร้างตึกแถวขาย แต่เมื่อมีกำแพงทึบสูงถึง 2.70 เมตร ย่อมทำให้ชั้นล่างของตึกแถวถูกบดบังและผู้อยู่อาศัยย่อมไม่อาจเห็นทัศนียภาพดังกล่าวได้ ทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสเห็นความเป็นไปบนทางหลวง และผู้สัญจรบนทางหลวงไม่อาจเห็นตึกแถวได้ชัดเจนเช่นกัน ย่อมทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสในการค้าขาย การที่จำเลยทำกำแพงคอนกรีตทึบสูง 2.70 เมตร โดยขาดเหตุผล จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 421 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12973/2555 

โจทก์และเจ้าของที่ดินเดิมใช้น้ำจากคลองชลประทานผ่านร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 ในการทำนามาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วตั้งแต่ก่อนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าถ้าจำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เสีย ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่การทำนาและเลี้ยงปลาของโจทก์อย่างแน่นอน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อ มิให้โจทก์ได้ใช้น้ำที่ไหลผ่านร่องน้ำนั้นในการทำนาและเลี้ยงปลาต่อไป ย่อมเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เปิดร่องน้ำนั้นเพื่อโจทก์จะได้ใช้น้ำที่ผ่านมาทางร่องน้ำนี้ทำนาและเลี้ยงปลาตามเดิมต่อไปได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2551 

เดิมเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5638 ขุดลำรางพิพาทผ่านที่ดินเพื่อนำน้ำจากคลองสาธารณประโยชน์มาใช้ในที่ดินมาประมาณ 40 ปี ต่อมาที่ดินตกเป็นของโจทก์กับจำเลยและบุคคลอื่นอีกหลายคนเป็นเจ้าของรวมกัน กับได้แบ่งแยกที่ดินเป็นของเจ้าของแต่ละคนลำรางจึงถูกแบ่งออกเป็นส่วนตามที่ดินที่ถูกแบ่งแยก เมื่อเจ้าของรวมในที่ดินมิได้มีข้อตกลงหรือจดทะเบียนให้ลำรางดังกล่าวเป็นลำรางที่ตกอยู่ในภาระจำยอมขณะมีการแบ่งแยกโฉนด จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ลำรางส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะถมดินกลบลำรางพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อลำรางพิพาทมิได้ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์การที่โจทก์ขอให้จำเลยเปิดลำรางพิพาทย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียวโดยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินลำรางพิพาทเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการใช้ที่ดินของตน การที่จำเลยถมดินกลบลำรางพิพาทจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387 - 388/2550 

จำเลยปลูกสร้างบ้านบังหน้าบริเวณที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ออกสู่ทะเลหลวงไม่ได้หรือไม่สะดวก โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษโดยตรง แม้ที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทจะเป็นที่ชายตลิ่งจำเลยก็ไม่อาจใช้สิทธิอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 ประกอบมาตรา 1337 และโจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านพิพาทที่กีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกสู่ทะเลหลวงไปได้

โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินของตนออกสู่ทะเลหลวงได้ตลอดแนวเขต การที่โจทก์จะก่อสร้างกำแพงส่วนใดและเว้นที่ดินส่วนใดให้เป็นทางออกสู่ทะเลหลวง ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิที่จะรบกวนการใช้สิทธิของโจทก์ แม้โจทก์จะมีอาชีพประมงหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะใช้ที่ดินบริเวณที่จำเลยปลูกสร้างบ้านออกสู่ทะเลหลวงได้อยู่แล้ว และโจทก์จะเลือกใช้สิทธิของตนออกสู่ทะเลหลวงทางใดก็ได้ที่โจทก์เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นความสะดวกแก่ตนมากที่สุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7822/2547

การพิจารณาเรื่องอำนาจฟ้องต้องพิจารณาในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล ดังนั้นนับแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในทรัพย์พิพาทโดยบริบรูณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติแม้ภายหลังการขายทอดตลาดจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตามคงเป็นเพียงการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดเท่านั้น หาใช่เรื่องการขายทอดตลาดตกเป็นโมฆะไม่ และตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดสิทธิของโจทก์ในทรัพย์พิพาทก็ยังคงบริบูรณ์อยู่ คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีสบัญญัติของจำเลยไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์พิพาทอีกต่อไป เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากทรัพย์พิพาทและจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากทรัพย์พิพาท และเรียกค่าเสียหายจากการเพิกเฉยไม่ออกไปจากทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2546

จำเลยปลูกต้นไม้และก่อสร้างห้องน้ำในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะที่คั่นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนหลวง เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ติดต่อกับถนนหลวงมาแต่เดิมเนื่องจากมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ และจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเช่นนี้ โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทกีดขวางทางออกสู่ถนนสาธารณะหาได้ไม่ กรณียังไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 421 และมาตรา 1337 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนต้นไม้และสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2545

การที่โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนถึงกับต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรจำเลยปลูกสร้างอาคารและกำแพงล้อมรั้วในที่ดินของจำเลยเอง ไม่ปรากฏว่าได้กลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 แต่อย่างใด เมื่อที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยังเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีรั้วล้อมรอบ โจทก์ก็ย่อมสามารถเดินผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะด้านวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (ถนนสุขุมวิท 93) และถนนอ่อนนุชได้ ส่วนด้านทิศตะวันตกโจทก์แถลงต่อศาลเองว่าหากมีการปิดกั้นโจทก์ไม่สามารถเดินออกไปสู่ทางสาธารณะได้ แสดงว่าหากโจทก์จะเดินออกไปก็ย่อมเดินได้ทั้งเป็นเรื่องในอนาคตที่โจทก์คาดหมายไปเอง นอกจากนี้ปรากฏว่าโจทก์มิได้มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ บ้านที่โจทก์อยู่อาศัยคงเป็นบ้านที่ บ. ปลูก และโจทก์มีฐานะเป็นเพียงผู้อาศัย การที่จำเลยสร้างอาคารคอนกรีตสูง 3 ชั้น และกำแพงรั้วปิดกั้นตามแนวเขตที่ดินของจำเลย จึงมิได้เป็นเหตุให้โจทก์เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9671 - 9675/2544

เมื่อจำเลยใช้สิทธิของตนปลูกบ้านในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินปิดหน้าที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ กรณีต้องบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421และ 1337 การที่จำเลยปลูกบ้านอยู่ก่อนก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ผู้มาทีหลังต้องเสียสิทธิดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานอันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์อันเป็นทางสาธารณะได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2543

แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 แต่ถนนพิพาทเป็นถนนหน้าตึกแถวที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ซื้อหรือเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ และโจทก์ได้ใช้ถนนพิพาทตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยหวงห้าม แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายตึกแถวที่โจทก์เช่าอยู่ให้แก่บุคคลภายนอก แต่โจทก์ก็ยังคงอยู่ในตึกแถวที่เช่าต่อมา การที่จำเลยที่ 2 สร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนนพิพาทด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตนซื้อจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์สัญจรผ่านเข้าออกไม่ได้ตามปกติย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้


จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์และผู้เช่ารายอื่นว่าจะจัดให้ถนนพิพาทเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ตลอดไป มิฉะนั้นโจทก์และผู้เช่ารายอื่นคงไม่ยินยอมจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างและจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานถึง 20 ปี และจำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยินยอมให้โจทก์และครอบครัวตลอดจนบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้ใช้ถนนพิพาทเป็นทางเข้าออกตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี เช่นเดียวกัน แม้สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมิได้ระบุเรื่องการใช้ถนนพิพาทไว้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้หวงห้ามมิให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้ถนนพิพาท และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อถนนพิพาทบางส่วนจากจำเลยที่ 1 และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นถนนพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ที่ไม่สามารถใช้ถนนพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2299/2541

ที่ดินที่ตั้งแผงลอยพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ซื้ออาคารพาณิชย์ห้องริม ด้านข้างติดกับซอยจึงมีราคาแพงกว่าห้องอื่น ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้าที่สามารถขายสินค้าได้ทั้งสองด้าน การที่จำเลยสร้างแผงลอยปิดกั้นจนโจทก์ไม่สามารถเปิดประตูด้านข้างได้ เป็นเหตุให้ผู้เช่าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ไม่สะดวกในการกระทำการค้าและเป็นเหตุ ให้บอกเลิกสัญญาเช่า จึงเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของตน เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและ ตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไป และเรียกเอาค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2541

จำเลยปลูกสร้างสะพานกว้าง 1 เมตร ยาว 50 เมตร ลงในคลองสำโรงซึ่งเป็นคลองสาธารณะ ผ่านหน้าที่ดินของโจทก์ในระยะห่างประมาณ1 ถึง 2 เมตร ในลักษณะมั่นคงและถาวร อันอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางขึ้นหรือทางลงคลองดังกล่าว ดังนั้น แม้โจทก์มิได้อาศัยและทำประโยชน์อยู่ในที่ดินขณะจำเลยปลูกสร้างสะพาน และการปลูกสร้างได้กระทำลงในคลองสาธารณะและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนก็ตาม โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิจะฟ้องขอให้รื้อถอนสะพานที่ผ่านหน้าที่ดินของโจทก์เพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2541 

จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมรู้กันเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้เพื่อฟ้องคดีให้มีการยึดที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายออกขายทอดตลาดป้องกันมิให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 โอนขายให้ นับว่าเป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากจำเลยที่ 1 จะผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว ยังถือว่าได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย


จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมีจำนวนเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วมที่จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์จำนวน 9,500,000 บาท โจทก์ยอมรับและไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 2 อีก จำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์อนุญาต ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 9,500,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากหนี้จำนวนดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงต้องนำเอาราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับหนี้ที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์แล้วมาหักออกจากราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ คงเหลือเป็นจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์


ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 คาดเห็นแล้วว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่โอนขายที่ดินให้โจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายคือไม่สามารถนำที่ดินที่จะซื้อไปขายได้ ค่าเสียหายของโจทก์ก็คือเงินกำไรจากการขายที่ดินดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8298/2540 

สะพาน น.เป็นสะพานที่ก่อสร้างและเปิดใช้การมานานประมาณ 50 ปีแล้ว มีความชำรุดเสื่อมโทรมมากจนอาจจะเกิด อันตรายต่อบุคคลผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปผู้ใช้สัญจรไปมา การที่กรุงเทพมหานครจำเลยดำเนินการบูรณะ และซ่อมแซมสะพานดังกล่าวตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ยานพาหนะและแก่ประชาชนทั่วไปให้ได้รับความปลอดภัย ถือได้ว่าการกระทำ ของจำเลยเป็นการบำรุงรักษาสะพานซึ่งเป็นทางสัญจรทางบกอันเป็นอำนาจและหน้าที่ของจำเลย ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89(6)บัญญัติไว้ แม้การก่อสร้างนั้นจะทำให้บันไดทางขึ้นลงสะพานต้องเปลี่ยนจากแนวเดิมเป็นแนวใหม่ทอดยาวไปตามถนนเกือบ สุดแนวตึกแถวหรือร้านค้าของโจทก์ และทำให้สะพานกับเสาสะพาน ปิดบังหน้าร้านค้าของโจทก์ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายบ้าง ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่มีกฎหมาย รับรองให้กระทำได้ จำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ กระทำต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3815/2540

โจทก์ก่อสร้างบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงของประเทศมีประชาชนอยู่หนาแน่น มีอาคารบ้านเรือนอาคารพาณิชย์และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ปลูกอยู่อย่างแออัดที่ดินที่ตั้งบ้านโจทก์อยู่ใกล้กับถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนลาดพร้าว เป็นย่านที่มีความเจริญมาก ที่ดินมีเนื้อที่ว่างน้อยและราคาแพง จึงต้องมีการก่อสร้างอาคารสูงมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด การที่โจทก์ก่อสร้างบ้านในทำเลดังกล่าวจึงควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าอาจมีผู้มาก่อสร้างอาคารสูงใกล้กับบ้านโจทก์เป็นเหตุให้บังทิศทางลม แสงสว่าง และทัศนียภาพที่มองจากบ้านโจทก์ อันเป็นไปตามปกติและมีเหตุอันควรอยู่แล้ว ดังนั้น แม้จำเลยก่อสร้างอาคารเป็นผนังทึบไม่มีช่องระบายลมก็ตาม แต่กระแสลมและแสงสว่างยังคงพัดผ่านและส่องมายังบ้านโจทก์ได้พอสมควร ประกอบกับโจทก์ก็ตั้งใจจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านของโจทก์อยู่แล้ว เพราะสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในกรุงเทพมหานคร เพื่อความสะดวกสบายของโจทก์เองหาใช่เพราะการก่อสร้างอาคารของจำเลยทำให้อากาศร้อนอบอ้าวไม่ ทั้งการที่จำเลยก่อสร้างอาคารสูงบังบ้านโจทก์ก็หาเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ไม่ เพราะกรณีตามมาตรา 421 จะต้องเป็นเรื่องของการแกล้งโดยผู้กระทำมุ่งต่อผลคือความเสียหายแก่ผู้อื่นถ่ายเดียว แต่ถ้าเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลอันเป็นธรรมดาของสิทธินั้น แม้ผู้กระทำจะเห็นว่าผู้อื่นจะได้รับความเสียหายบ้างก็ไม่เป็นละเมิด เมื่อไม่ปรากฏว่าการก่อสร้างอาคารนั้นจำเลยได้กระทำเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์โดยมุ่งต่อความเสียหายแก่โจทก์ถ่ายเดียว การใช้สิทธิของจำเลยในการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421 กรณีไม่มีเหตุที่จะรื้อถอนอาคารของจำเลยและกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารให้โจทก์


จำเลยร่วมที่ 1 ใช้เพียงเสาไม้ปักกั้นดินไว้ เมื่อมีฝนตกดินในบ้านโจทก์จึงเคลื่อนตัวผ่านช่องว่างระหว่างเสาไม้ลงไปในหลุมที่จำเลยร่วมที่ 1 ขุดทำให้ดินในเขตบ้านโจทก์ทรุดเป็นเหตุให้รั้วบ้าน ผนังหินล้างและพื้นซีเมนต์รอบบ้านโจทก์แตกร้าว เมื่อปรากฏว่าอาคารของจำเลยและบ้านโจทก์ต่างก็ปลูกห่างจากแนวรั้วถึง 2 เมตร จำเลยร่วมที่ 1 ชอบที่จะสร้างเครื่องป้องกันคลุมอาคารของจำเลยด้านที่ใกล้กับบ้านโจทก์ เพื่อป้องกันมิให้วัสดุก่อสร้างหรือน้ำปูนซีเมนต์ตกหล่นมาถูกบ้านโจทก์เสียหาย โดยไม่ต้องทำล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ได้ แต่จำเลยร่วมที่ 1 ก็หาได้ทำไม่ จำเลยร่วมที่ 1 จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2540

โจทก์และจำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์จากลำเหมืองสาธารณะจำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำแผ่นคอนกรีตและดินไปปิดกั้นปากร่องน้ำของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์


โจทก์ใช้น้ำจากลำเหมืองพิพาทตามที่โจทก์มีสิทธิ และหากมีการแบ่งเฉลี่ยการใช้น้ำระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว ก็จะมีน้ำใช้เพียงพอทั้งสองฝ่าย การที่โจทก์เปิดน้ำเข้าฟาร์มของโจทก์ในช่วงฤดูแล้งมีน้ำน้อยไม่พอในการทำนาของราษฎร แต่โจทก์มิได้ชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของโจทก์ตามควรอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1355 จึงไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3050/2540

ตามคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ที่ต้องชำระด้วยเงินแก่จำเลยจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น มิได้พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยโดยนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาล ทั้งตามคำบังคับของศาลออกให้ตามคำขอของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มิได้ระบุสถานที่ใช้เงินไว้ด้วย กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 324 ที่บัญญัติให้ต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจุบันของเจ้าหนี้ เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นหนี้ที่ต้องชำระด้วยเงิน โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงต้องนำเงินไปชำระแก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ณภูมิลำเนาของจำเลย การที่โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่จำเลยโดยนำเงินมาวางศาล จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยได้รับชำระหนี้จากโจทก์โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และโจทก์ก็มิได้แจ้งการชำระหนี้โดยการนำเงินมาวางศาลให้จำเลยทราบ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบถึงการที่โจทก์ได้นำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่จำเลย การที่จำเลยขอบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของโจทก์ตามหมายบังคับคดีของศาล จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลตามที่จำเลยมีอยู่เพื่อขอบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต จงใจหรือประมาทเลินเล่อเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใดแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดกฎหมายและไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2544 

บริษัท ม. จัดสรรพื้นคอนกรีตบนที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลย รวมตลอดถึงด้านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงเป็นทางสำหรับให้บุคคลที่ซื้อบ้านที่บริษัท ม. ได้จัดสรรขายใช้เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินได้ การที่จำเลยให้พนักงานของจำเลยและลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยใช้และนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่ไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่เข้าออกได้แม้เป็นการชั่วคราวแต่ก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และยังเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามมาตรา 1337 อีกด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2546

โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากเทศบาลเมืองโพธารามเพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถสำหรับกิจการโรงแรมของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินข้างเคียงได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่า โจทก์ไม่สามารถใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน แต่การเช่าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในกิจการโรงแรมของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337 แม้ว่าจำเลยทั้งสามจะติดตั้งหลังคาตึกแถวก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ โจทก์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยทั้งสามให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมออกจากตึกแถวซึ่งกีดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่โจทก์เช่าได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7168 - 7172/2545

โจทก์สร้างความรำคาญให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยบอกกล่าวห้ามปรามแล้ว โจทก์ไม่เชื่อฟัง จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขจัดความเดือดร้อน หามีสิทธิที่จะสร้างรั้วอิฐบล็อกปิดกั้นทางลมและแสงสว่างมิให้พัดและส่องสว่างเข้าทางประตูหน้าต่างตึกแถวของโจทก์ไม่


จำเลยเป็นผู้สร้างตึกแถวของโจทก์โดยผนังตึกแถวด้านหลังมีประตูและหน้าต่างติดกับเขตที่ดินของจำเลย แม้จะเป็นการผิดเทศบัญญัติก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิอ้างเหตุดังกล่าวก่อสร้างรั้วอิฐบล็อกติดกับผนังตึกแถวด้านหลังของโจทก์ จนเป็นเหตุให้ปิดกั้นทางลมและแสงสว่างที่จะผ่านเข้าออกทางด้านหลังของตึกแถวของโจทก์โดยที่โจทก์มิได้ยินยอมด้วย และแม้จำเลยจะก่อสร้างในเขตที่ดินของจำเลยก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2545

การที่จำเลยที่ 2 นำแผ่นเหล็กและทำประตูเหล็กปิดกั้นก็เพราะมีบุคคลภายนอกเข้ามาใช้ทางเข้าออกหอพัก และเพื่อเป็นการป้องกันทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยอยู่ในหอพักเป็นการใช้สิทธิตามปกติวิสัยของผู้เป็นเจ้าของที่ดินในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและโจทก์เองก็สามารถประกอบกิจการค้าขายด้านหน้าร้านได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะลดความสะดวกลงไปบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2540 

โจทก์และจำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์จากลำเหมืองสาธารณะจำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำแผ่นคอนกรีตและดินไปปิดกั้นปากร่องน้ำของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์


โจทก์ใช้น้ำจากลำเหมืองพิพาทตามที่โจทก์มีสิทธิ และหากมีการแบ่งเฉลี่ยการใช้น้ำระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว ก็จะมีน้ำใช้เพียงพอทั้งสองฝ่าย การที่โจทก์เปิดน้ำเข้าฟาร์มของโจทก์ในช่วงฤดูแล้งมีน้ำน้อยไม่พอในการทำนาของราษฎร แต่โจทก์มิได้ชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของโจทก์ตามควรอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1355 จึงไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2538

โจทก์เช่าดาดฟ้าตึกแถวติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าของโจทก์ส่วนจำเลยเป็นผู้เช่าตึกแถวที่อยู่ติดกันและได้ติดตั้งป้ายโฆษณาของจำเลยปิดบังป้ายโฆษณาของโจทก์ดังนี้เมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์ในตึกแถวที่เช่าได้จำเลยก็ย่อมติดตั้งป้ายโฆษณางานในธุรกิจของจำเลยได้เช่นกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยติดตั้งป้ายโฆษณาภายหลังโจทก์หรือไม่เพราะการติดตั้งป้ายโฆษณาทั้งของโจทก์และจำเลยต่างก็ติดตั้งบนดาดฟ้าของตึกแถวที่แต่ละฝ่ายเช่ามาทำประโยชน์ถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยได้ใช้ประโยชน์จากตึกแถวที่เช่าตามแดนแห่งสิทธิของสัญญาเช่าที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ตามกฎหมายเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยติดตั้งป้ายเพื่อจงใจกลั่นแกล้งโจทก์โดยมุ่งประสงค์จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์การติดตั้งป้ายโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแม้จะปิดบังป้ายโฆษณาสินค้าของโจทก์ก็หาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา421ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2538

แม้โจทก์ก่อสร้างตึกผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯและเทศบัญญัติก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการกับโจทก์จำเลยไม่มีสิทธิอ้างเหตุดังกล่าวก่อสร้างแผ่นเหล็กกั้นจนเป็นเหตุให้ปิดกั้นแสงแดดและทางลมที่จะเข้าตึกของโจทก์และแม้จำเลยจะก่อสร้างในเขตที่ดินของจำเลยก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา421


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2521

จำเลยฟ้องขอหย่าขาดกับสามีโดยอ้างเหตุว่าสามีไปติดพันหญิงอื่นคือโจทก์และสามีได้ไปอยู่กินกับโจทก์อย่างเปิดเผย ดังนี้ เป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นจะต้องกล่าวในฟ้องให้สามีจำเลยเข้าใจข้อหาโดยชัดเจน ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต จึงถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2517 

โจทก์จำเลยสมรสกันตามประเพณี และตกลงกันว่า หากจำเลยสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยจะไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แต่เมื่อจำเลยสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์นั้น การที่โจทก์ต้องสูญเสียความเป็นสาวและอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย โดยไม่จดทะเบียนสมรสกัน เกิดจากความสมัครใจของโจทก์ มิใช่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ก็มิใช่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ หรือเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420,421 จำเลยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2509

รถพิพาทเป็นรถที่โจทก์จำเลยร่วมกันซื้อไว้ให้เป็นรถของหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือเป็นทำนองโจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของรถพิพาทร่วมกัน การใช้สิทธิใดๆ ของจำเลยต่อรถ จะต้องไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือใช้สิทธิที่ไม่ขัดสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และ 1360 การที่จำเลยเอารถพิพาทออกวิ่งรับจ้างหาประโยชน์ทำให้รถเสื่อมคุณภาพสึกหรอ ทำให้โจทก์เสียหายนั้นเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และขัดต่อสิทธิของโจทก์การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2527

การที่จำเลยเพิ่มข้อความบนกล่องบรรจุยา ฉลากยา และสิ่งพิมพ์ที่ใช้โฆษณาสินค้ายาที่จำเลยผลิตจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยว่า 'ขนานแท้' ก็ดี 'ห้างเก่า'ก็ดี และ 'ระวังยาเลียนแบบ' ก็ดี เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมหาเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใดไม่ส่วนการที่โจทก์ได้ส่งตัวแทนไปบอกร้านขายยาทั่วไปรวมทั้งลูกค้าของจำเลยว่ายาของจำเลยเป็นของปลอมขายไม่ได้หากขายจะถูกจับฐานขายยาปลอม และถ้าจำเลยต้องแพ้คดีก็ไม่มีสิทธิขายยาที่ผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทำให้ลูกค้าไม่ยอมซื้อยาของจำเลยเพิ่มเติมและที่ซื้อไว้แล้วก็ไม่ยอมชำระราคา หรือรอให้คดีเสร็จเสียก่อนจึงจะชำระราคานั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 เป็นการละเมิดต่อจำเลย