มาตรา ๓๕๔ คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น
ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
มาตรา ๓๕๕
บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง และมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง
จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น
ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
มาตรา ๓๕๖ คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า
โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ
ที่นั้นเวลานั้น
ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย
มาตรา ๓๕๗ คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี
หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี
คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป
มาตรา ๓๕๘ ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา
แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการ
ซึ่งตามปรกติควรจะมาถึงภายในกำหนดไซร้
ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า
เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น
ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา
มาตรา ๓๕๙
ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ท่านให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่
คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม
มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ
ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว
มาตรา ๓๖๐ บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๙ วรรคสอง นั้น
ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง
หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น
คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
มาตรา ๓๖๑
อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น
ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง
หรือตามปรกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าวสนองไซร้
ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้น
อันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ
มาตรา ๓๖๒
บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด
ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใด ๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น
แม้ถึงมิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล
มาตรา ๓๖๓ ในกรณีที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้
เมื่อยังไม่มีใครทำการสำเร็จดังบ่งไว้นั้นอยู่ตราบใด
ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นของตนเสียโดยวิธีเดียวกับที่โฆษณานั้นก็ได้
เว้นแต่จะได้แสดงไว้ในโฆษณานั้นว่าจะไม่ถอน
ถ้าคำมั่นนั้นไม่อาจจะถอนโดยวิธีดังกล่าวมาก่อน
จะถอนโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ถ้าเช่นนั้นการถอนจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้เพียงเฉพาะต่อบุคคลที่รู้
ถ้าผู้ให้คำมั่นได้กำหนดระยะเวลาให้ด้วยเพื่อทำการอันบ่งนั้นไซร้
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้สละสิทธิที่จะถอนคำมั่นนั้นเสียแล้ว
มาตรา ๓๖๔ ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันบ่งไว้ในโฆษณา
ท่านว่าเฉพาะแต่คนที่ทำได้ก่อนใครหมดเท่านั้น มีสิทธิจะได้รับรางวัล
ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันนั้นได้พร้อมกัน
ท่านว่าแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับรางวัลเป็นส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
แต่ถ้ารางวัลนั้นมีสภาพแบ่งไม่ได้ก็ดี หรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่นนั้น
บุคคลแต่คนเดียวจะพึงรับรางวัลก็ดี ท่านให้วินิจฉัยด้วยวิธีจับสลาก
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างต้นนั้น
ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าในโฆษณานั้นแสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๓๖๕
คำมั่นจะให้รางวัลอันมีความประสงค์เป็นการประกวดชิงรางวัลนั้น
จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย
การที่จะตัดสินว่าผู้ประกวดคนไหนได้กระทำสำเร็จตามเงื่อนไขในคำมั่นภายในเวลากำหนดหรือไม่ก็ดี
หรือตัดสินในระหว่างผู้ประกวดหลายคนนั้นว่าคนไหนดีกว่ากันอย่างไรก็ดี
ให้ผู้ชี้ขาดซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในโฆษณานั้นเป็นผู้ตัดสิน
หรือถ้ามิได้ระบุชื่อผู้ชี้ขาดไว้ ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ตัดสิน
คำตัดสินอันนี้ย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทุกฝ่าย
ถ้าได้คะแนนทำดีเสมอกัน
ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๖๔ วรรค ๒ มาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี
การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นประกวดนั้น
ผู้ให้คำมั่นจะเรียกให้โอนแก่ตนได้ต่อเมื่อได้ระบุไว้ในโฆษณาว่าจะพึงโอนเช่นนั้น
มาตรา ๓๖๖ ข้อความใด ๆ
แห่งสัญญาอันคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้น
หากคู่สัญญายังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย
ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน การที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง
ถึงแม้ว่าจะได้จดลงไว้ก็หาเป็นการผูกพันไม่
ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้
เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย
ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ
มาตรา ๓๖๗ สัญญาใดคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นอันได้ทำกันขึ้นแล้ว
แต่แท้จริงยังมิได้ตกลงกันในข้อหนึ่งข้อใดอันจะต้องทำความตกลงให้สำเร็จ
ถ้าจะพึงอนุมานได้ว่า ถึงหากจะไม่ทำความตกลงกันในข้อนี้ได้
สัญญานั้นก็จะได้ทำขึ้นไซร้
ท่านว่าข้อความส่วนที่ได้ตกลงกันแล้วก็ย่อมเป็นอันสมบูรณ์
มาตรา ๓๖๘ สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต
โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559
โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม
โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์
โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด
และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์
หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม
ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า
"จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง"
จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559
ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง
ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย
เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด
ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย
ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า
ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย
โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์
และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย
และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์
หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า
สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์
หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า
สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง
กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว.
เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่
1 เพื่อนำไปขาย
กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว
จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9108/2558
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนสินค้าเองบางส่วนที่เหลือให้โจทก์และบริษัทอื่นรับจ้างขนสินค้าคิดค่าจ้างเป็นรายเที่ยว
จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์มีสัญญาต่อกันในการรับจ้างขนสินค้าบางส่วนดังกล่าว
ครั้นต่อมาโจทก์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนด้านการจัดส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก่จำเลยที่
1 ซึ่ง ธ.
กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ยอมรับว่ายังไม่มีการทำสัญญาเนื่องจากสัญญาจะทำขึ้นในภายหลัง
แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้
เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1
และที่ 2 ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา
ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง
สัญญาว่าจ้างรถห้องเย็นขนส่งสินค้าที่ว่าจ้างโจทก์แต่ผู้เดียวตามฟ้องจึงยังไม่เกิดขึ้น
โจทก์จึงจะฟ้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2558
แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน
แต่การชำระหนี้ของแต่ละฝ่ายจะต้องมีความชัดเจน
ในกรณีของจำเลยยังไม่มีความแน่นอนว่าจะชำระหนี้โดยวิธีใด
ทั้งยังมีปัญหาว่าจำเลยจะจดทะเบียนจำนองห้องชุดให้แก่โจทก์ได้อย่างไร
ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในห้องชุดยังเป็นของบริษัท พ. อยู่ ซึ่งจำเลยย่อมทราบดี
ในการตีความการแสดงเจตนานั้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร
โดยเฉพาะสัญญาต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต
โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ มาตรา 171 และ 368
การที่จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์
โดยไม่เสนอว่าจะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ด้วยวิธีใดและมีความเป็นไปได้ประการใด
นับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะหากโจทก์ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว
จำเลยย่อมอ้างได้ว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามสัญญาหรือข้อตกลงและยังหาผู้ซื้อต่อไม่ได้
นอกจากนี้จำเลยยังกำหนดเวลาให้โจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์
หากไม่ปฏิบัติตามขอเลิกสัญญาและให้โจทก์คืนเงิน 15,000,000 บาท
ตามหนังสือบอกกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามสัญญา
โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2557
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อตกลงว่า
หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อจะดำเนินการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร
เมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ
จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เห็นได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมีเงื่อนไขที่โจทก์จะต้องไปขอสินเชื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย
สถาบันการเงินหรือธนาคารจะให้กู้หรือไม่เป็นเรื่องไม่แน่นอน
ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา หากสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่ให้กู้
สัญญาจะซื้อจะขายย่อมไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้
เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารถึงสองธนาคาร
แต่ธนาคารทั้งสองแห่งไม่อนุมัติ เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นผล
สัญญาไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดช่วงเวลาหรือจำนวนสถาบันการเงินหรือธนาคารที่โจทก์จะดำเนินการขอสินเชื่อ
โจทก์จึงยังอาจดำเนินการขอสินเชื่อได้อีก ไม่ใช่เรื่องพ้นวิสัย
แต่ก็ไม่แน่นอนว่าการดำเนินการขอสินเชื่อจะได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินหรือธนาคารใดหรือไม่
เมื่อไร ทั้งการดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารมาสองแห่งแล้ว
ถือว่าโจทก์ขวนขวายดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาตามสมควรแล้ว
กรณีมิใช่ว่าโจทก์จะต้องดำเนินการขอสินเชื่อเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของคู่สัญญา
เมื่อโจทก์พยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาแล้วแต่ไม่สำเร็จไม่สามารถนำเงินมาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือได้
จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ผิดนัดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ
ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10197/2557
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อเสนอขายเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์
จัดหาแค็ตตาล็อกพร้อมราคา ประสานกับบริษัท ม. ผู้ผลิต พา พ. กรรมการโจทก์
ไปดูเครื่องจักรตัวอย่างที่ประเทศสเปน
โดยพรรณนาคุณลักษณะและประสิทธิภาพของเครื่องจักรจนโจทก์ตกลงซื้อ
ทั้งยังให้บริการหลังการขาย จัดส่งเงื่อนไขการชำระเงิน พร้อมทั้งขอให้โจทก์ดำเนินการจ่ายเงิน
3 งวด ตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตาม
แม้โจทก์จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรพิพาทที่จำเลยที่ 2 จัดทำและส่งให้ แต่จำเลยทั้งสองได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ขาย
ส่วนโจทก์ก็ยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาแล้วเช่นกัน
จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจะขอให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาซื้อขายอีก
พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้มุ่งให้การซื้อขายเครื่องจักรพิพาท
จะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาอีก
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย
หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.
มาตรา 366 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่
และเมื่อเครื่องจักรมีปัญหาทำงานไม่ได้ตามคำพรรณา จำเลยที่ 1 ก็จัดส่งวิศวกรเข้าไปแก้ไข ทั้งมีการทำหลักฐานไว้ว่า
หลังจากวันติดตั้งไปจนวันครบกำหนดประกัน ถ้าเครื่องจักรมีปัญหา จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบแก้ไข
แม้ขณะตกลงซื้อขายจำเลยทั้งสองจะไม่ใช่เจ้าของเครื่องจักรพิพาทก็ตาม
สาระสำคัญอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์
ที่บริษัท ม. จัดส่งเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ก็เป็นวิธีการจัดการให้โจทก์ได้รับเครื่องจักรที่จำเลยที่
1 ตกลงขายแก่โจทก์
แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง การที่บริษัท ม. ส่งวิศวกรมาแนะนำ
แก้ไขเครื่องจักรพิพาทที่มีปัญหาขัดข้องก็เกิดจากการติดต่อประสานงานของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขาย
จึงไม่มีผลทำให้บริษัท ม.
ผู้ผลิตและส่งเครื่องจักรพิพาทกลายมาเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับโจทก์แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14810/2557
ข้อความตามหนังสือขอรับข้อเสนอที่มีถึงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ว่าขอรับข้อเสนอของจำเลย
ยอมรับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
โดยไม่ติดใจจะเรียกร้องฟ้องร้องหรือค่าตอบแทนอื่นใดจากจำเลยอีกทั้งสิ้น
เป็นกรณีทำคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้เสนอ
เอกสารดังกล่าวจำเลยจัดเตรียมไว้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นคำสนองของโจทก์
โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วมีการขีดฆ่าลายมือชื่อของตนออกเสียก่อน
มีการลงวันที่ในหนังสือและก่อนนำเสนอต่อกรรมการผู้จัดการของจำเลย
จึงไม่มีผลเป็นคำสนองรับคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงเป็นอันสิ้นความผูกพัน
ไม่ก่อให้เกิดเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ไม่ใช่เรื่องการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6828/2557
ตามประกาศของจังหวัด
เรื่อง ประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น ระบุว่า
ผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาตให้เป็นผู้ชนะการประมูลจะต้องมาทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับโจทก์ที่
2
เมื่อได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่
1 กับจำเลยมีเจตนาตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ
ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเป็นหนังสือ โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้จำเลยเข้าดูแลรักษาเกาะรังนกท้องที่จังหวัดตรังในช่วงปลอดสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยได้ตามที่จำเลยขอ
และจำเลยให้การยอมรับว่าการที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูแลเกาะรังนกอีแอ่นในระหว่างปลอดสัญญาเป็นการเข้าไปเพื่อสำรวจเส้นทางที่ตั้งของเกาะและจุดที่ตั้งของถ้ำที่มีรังนกอีแอ่น
มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 มีสัญญาอนุญาตจัดเก็บรังนกต่อกันกับจำเลยแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366
วรรคสอง
ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่อย่างไรก็ตาม
แม้จำเลยยังไม่มีความรับผิดตามสัญญาหลักคือสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น
เนื่องจากสัญญาดังกล่าวยังไม่เกิดจนกว่าโจทก์ที่ 1 ให้ความเห็นชอบ
และจำเลยไปทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเป็นหนังสือกับโจทก์ที่ 2 แต่ประกาศของจังหวัด เรื่อง ประมูลอากรรังนกอีแอ่น
และเอกสารแนบท้ายมีความชัดเจนเพียงพอ เมื่อโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ประมูลสูงสุดและแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจึงมีผลผูกพันโจทก์ที่
1 และที่ 2 กับจำเลยโดยจำเลยต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาประกวดราคา
เมื่อจำเลยไม่ยอมไปทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น โจทก์ที่ 1 ผู้มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตาม
พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2482 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นย่อมเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกวดราคาย่อมมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13215/2556
เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระและไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำหนดโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงเป็นอันเลิกกัน การที่กรรมการโจทก์มีหนังสือแจ้ง น.
ภายหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วมีใจความว่า ตามที่ น.
แจ้งความประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 485/10
โฉนดที่ดินเลขที่ 424 ตำบลคลองถนน อำเภอสายไหม
กรุงเทพมหานคร ในโครงการสะพานใหม่วิลล์นั้น
โจทก์ตกลงจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ น. ในราคา 1,040,000 บาท หาก น. พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เท่านั้น
หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำสนองรับคำเสนอของ น.
แต่เป็นคำสนองที่มีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย
ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอบางส่วนของ น. ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัวตาม
ป.พ.พ. มาตรา 359 วรรคสอง น.
ไม่สนองรับคำเสนอดังกล่าวโดยการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด
คำเสนอของโจทก์ย่อมสิ้นผลไป ไม่ก่อให้เกิดข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างโจทก์กับ น.
กรณีมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2556
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย
ซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคล
โจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีภูมิลำเนาที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ส่วนจำเลยมีภูมิลำเนาที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น
จำเลยจะส่งใบสั่งซื้อสินค้าทางโทรสารไปยังที่ทำการโจทก์ที่อำเภอสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นโจทก์จะจัดส่งสินค้าให้จำเลย ณ
ที่ทำการบริษัทจำเลยที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เห็นว่า
การที่จำเลยทำคำเสนอส่งให้แก่โจทก์ทางโทรสารเป็นเพียงการแสดงเจตนาต่อโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลย
ณ ที่นั้นเวลานั้นแต่อย่างใด
ทั้งจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาโดยให้ถือว่าการดำเนินการจัดส่งสินค้าเป็นการสนองรับหรือปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยมีประเพณีปฏิบัติในการค้าต่อกัน
โดยไม่จำต้องมีคำสนองรับที่จะก่อให้เกิดสัญญาจนทำให้เกิดมูลหนี้ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์
ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น การที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลย
ณ ที่ทำการบริษัทจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
และจำเลยได้ยอมรับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับ
จึงถือว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น
โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาและมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล
ทั้งกรณีไม่ใช่เรื่องมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันในอันที่โจทก์จะเสนอคำฟ้องได้ทั้งสองศาล
โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การแสดงเจตนาของจำเลยมีผลนับแต่เวลาที่โจทก์ได้ทราบการแสดงเจตนา
สัญญาซื้อขายจึงเสร็จสมบูรณ์ ณ ที่ทำการโจทก์นั้นเป็นเรื่องผลของการแสดงเจตนา
เมื่อไม่มีการสนองรับในขณะนั้น จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ ณ
สถานที่และในเวลาเดียวกันกับที่มีคำเสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5181/2556
จำเลยทำใบเสนอราคาคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างต่อโจทก์มีการระบุถึงรายละเอียดของรายการสินค้าประเภทคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างพร้อมราคาไว้
และจำเลยยังระบุเงื่อนไขเพื่อประกอบการพิจารณาของโจทก์ไว้รวม 9 ข้อ ในใบเสนอราคาดังกล่าว
โดยข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง
กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา และในข้อ 9
ระบุถึงการที่ผู้ซื้อมีเหตุจำเป็นต้องซื้อคอนกรีตจากผู้ขายรายอื่นเนื่องจากเหตุที่ผู้ขายไม่สามารถให้บริการได้
ผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อในอัตราค่าเสียหายตามความเป็นจริง
ซึ่งในข้อ 4 และข้อ 9 นี้เท่านั้นที่ได้กล่าวถึงสัญญาและสัญญาซื้อขายไว้
แม้จะมิได้ระบุว่าสัญญาและสัญญาซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือกันในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาใบเสนอราคาดังกล่าวในข้อ 7 ที่ระบุให้ผู้ซื้อซึ่งหมายถึงโจทก์ต้องออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารเท่ากับมูลค่า
2,000,000 บาท
โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดขึ้นด้วย
แต่โจทก์กลับมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 นี้
โดยขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามวงเงินประกันแต่อย่างใดและแสดงให้เห็นว่า
โจทก์เองก็มิได้ตกลงโดยยินยอมที่จะผูกพันและปฏิบัติตามใบเสนอราคาดังกล่าวทั้งหมดทุกข้อ
ที่โจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามใบเสนอราคาเฉพาะในข้อ 9 ซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์
แต่กลับไม่ยอมปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่จำเลยได้แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่า
โจทก์จะต้องตกลงด้วยในข้อนี้
การที่โจทก์ยังมิได้ขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามใบเสนอราคาข้อ 7 นี้
จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงตามใบเสนอราคากันทั้งหมดทุกข้อแล้ว
ใบเสนอราคาที่จำเลยทำถึงโจทก์เป็นเพียงการทำความเข้าใจกันกับโจทก์ไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่างในเบื้องต้นเท่านั้น
ถึงแม้ว่าจะได้ระบุไว้ก็หาเป็นการผูกพันจำเลยไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366
วรรคหนึ่งและวรรคสอง การที่โจทก์ซื้อคอนกรีตจากจำเลยเรื่อยมา
ก็เป็นเพียงการซื้อขายสินค้าเฉพาะสิ่งตามรายการที่มีการส่งมอบให้แก่กันเป็นคราว ๆ
ไปเท่านั้น มิได้เป็นคำสนองเข้ารับทำสัญญาตามใบเสนอราคาดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
22777 - 22778/2555
คำเสนอต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญา
จำเลยโฆษณามีใจความว่า
ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประมูลหลักทรัพย์ของจำเลยในงานมหกรรมขายทอดตลาด
วงเงินกู้สูงสุด 90 % ของราคาประเมินหลักทรัพย์ประกัน อัตราดอกเบี้ยมี 3 ทางเลือก
1) คงที่ 1 ปี 3.5 % ต่อปี 2) คงที่ 2 ปี 4.25 % ต่อปี 3) คงที่ 3 ปี 4.75 % ต่อปี
ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ของจำเลยที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์ในการจัดงานดังกล่าวได้
ข้อความที่แสดงไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้
คงเป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้ชนะการประมูลทำคำเสนอขอสินเชื่อเงินกู้จากจำเลยภายในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยประเภทใดประเภทหนึ่งที่ระบุเอาไว้เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20348/2555
ในการตีความสัญญานั้นต้องคำนึงความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต
และต้องคำนึงประเพณีปฏิบัติในระหว่างคู่สัญญาเอง หรือประเพณีในทางการค้าด้วยตาม
ป.พ.พ. มาตรา 368 จะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13098/2555
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 บัญญัติว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต
โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย
นอกจากนี้ในการตีความการแสดงเจตนายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม
ป.พ.พ. มาตรา 171 ด้วย
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างบริษัท
ม. กับโจทก์ ระบุให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เมื่อทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และ 15
ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามวงเงิน
ครั้นเมื่อทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ
9.25 ต่อปี 12.5 ต่อปี และ 13 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามวงเงิน
การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ดังกล่าวเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา
การที่โจทก์ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่
3 จะถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยแก่บริษัท ม.
หาได้ไม่ เพราะสัญญาข้อ 2 ระบุว่า เงื่อนไขข้ออื่น ๆ
ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม
รวมทั้งข้อตกลงต่อท้ายสัญญาให้มีผลบังคับตลอดไปด้วยทุกประการ จึงมีความหมายว่า
เรื่องดอกเบี้ยที่ไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นจะต้องบังคับตามเงื่อนไขในสัญญาฉบับก่อน
คือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 การที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม
ครั้งที่ 3 มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้หาทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากบริษัท
ม. ไม่
โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม
ครั้งที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2555
แม้จำเลยจะเป็นผู้ยื่นแบบขอใช้ไฟฟ้าและมีชื่อในทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อให้โจทก์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยที่บ้านพิพาทก็ตาม
แต่เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ ป. ไปแล้ว
ย่อมถือได้ว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิการใช้ไฟฟ้าซึ่งติดกับตัวบ้านให้แก่ ป.
แล้วโดยปริยาย ป.
จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาการใช้ไฟฟ้าที่จำเลยมีต่อโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงด้วย
แม้จำเลยจะยังไม่บอกเลิกการใช้ไฟฟ้าและโอนทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้าให้ ป. ก็ตาม
เมื่อขณะตรวจพบการทำละเมิดต่อคร่อมสายไฟฟ้า
จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านพิพาทหรือร่วมรู้เห็นหรือได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว
อีกทั้งโจทก์ก็ฟ้องบังคับเอาแก่ ป. แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผูกพันต้องชำระหนี้ค่าไฟฟ้าแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2555
ประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อความระบุถึงการจัดพื้นที่ชดเชยให้แก่กลุ่มร้านค้าบริเวณตลาดนัดซันเดย์ที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่กับจำเลย
จะได้รับสิทธิการเช่าโครงการใหม่มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี
ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยผู้ให้เช่าฝ่ายเดียว
ประกาศดังกล่าวจึงถือเป็นคำมั่นแก่ผู้ค้ารวมทั้งโจทก์ว่าหากผู้ค้าตกลงเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิเช่าอาคารมีกำหนด
10 ปี โดยเงื่อนไขว่าผู้จะได้รับสิทธิการเช่าจะต้องร่วมออกค่าก่อสร้างโครงการใหม่
ต้องชำระค่าเช่าตามอัตราที่จำเลยกำหนด
และชำระค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ล่วงหน้าจำนวน 10,000 บาท
ตลอดจนให้ความร่วมมือในการรื้อถอนอาคารร้านค้าเดิมที่กีดขวางการก่อสร้างโครงการใหม่
โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทต่อกัน
แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศของจำเลยซึ่งเป็นคำมั่นจะให้เช่า
และเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่จะสนองรับคำมั่นตามประกาศของจำเลยภายในเวลาที่กำหนดแล้ว
จำเลยจึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตนและตกเป็นลูกหนี้ที่โจทก์มีสิทธิจะฟ้องบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์ต่อไปจนครบระยะเวลาตามประกาศดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2554
การที่จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ
5
ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า 80,000,000 บาท
มีมูลเหตุมาจากปัญหาการกำหนดจำนวนทรัพย์มรดกที่โจทก์รับจะฟ้องให้จำเลยทั้งสาม
โดยโจทก์ต้องการกำหนดค่าตอบแทนในการว่าความเพิ่มเติม
ซึ่งมีเงื่อนไขที่โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 2 ข้อ
กล่าวคือ จำเลยทั้งสามชนะคดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์รับว่าความให้และเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า
80,000,000 บาท
ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวย่อมเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี
กรณีเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความตามปกติ
แม้จะเป็นบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทั้งสามทำให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความแล้วอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ตาม
ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์
แม้บันทึกที่ทำขึ้นภายหลังจะใช้คำว่า คำมั่นจะให้รางวัล
กรณีก็ไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 362 บันทึกคำมั่นจะให้รางวัลดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
15238/2553
การซื้อขายสินค้าประเภทอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ
ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางจะเกิดขึ้นเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม
ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีใบเสนอราคา แสดงว่าได้ทำคำเสนอไปยังจำเลยแล้วการที่จำเลยมีใบสั่งซื้อกลับไปยังโจทก์
โดยมีสาระสำคัญตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นชนิด รุ่น หรือราคาสินค้าที่โจทก์เสนอมา
คงมีแต่รายละเอียดที่จำเลยกำหนดไว้ในใบสั่งซื้อว่าวางบิลได้ในเวลาใด
ติดต่อพนักงานของจำเลยผู้ใดและที่อาคารชั้นไหนเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะถือว่าเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่
ถือว่าเป็นคำสนองถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์
ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยและมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ใบสั่งซื้อของจำเลยส่งไปถึงโจทก์แล้ว
ส่วนที่ต่อมามีพนักงานของโจทก์ติดต่อไปยังจำเลยขอให้ยืนยันการสั่งซื้อ
ก็เป็นเพียงกลวิธีในการทำธุรกิจที่จะลดความเสี่ยงและเป็นการให้บริการแก่ลูกค้า
โดยให้โอกาสแก่จำเลยว่าจะยังคงยืนยันการซื้อขายหรือไม่
หาใช่สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้นไม่
จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าจากโจทก์และไม่ยอมชำระราคา
จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย
ฉะนั้น
โจทก์จะรับชำระค่าสินค้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยไม่ได้
เพราะเป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 369
ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามคำขอท้ายฟ้องให้แก่โจทก์เท่านั้น
โดยไม่ได้พิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์ด้วยจึงไม่ถูกต้อง
ที่ถูกต้องคือจะต้องพิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์และชำระราคา
ส่วนการจะบังคับคดีอย่างไรนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2553
ใบรับเงินมีข้อความว่า
"จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท
ด้วยเช็ค
ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน 30
วัน" เห็นได้ว่า
ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น
หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30
วัน ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน แสดงให้เห็นว่า
โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ
ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
"ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้
เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ"
ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น
เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปรากศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้
จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258/2551
การที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปถึงโจทก์ยืนยันว่า ส. มีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 ซึ่งมียอดเงินฝากในขณะนั้น 3,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นแต่จะได้รับความยินยอม จากโจทก์ คำรับรองนี้มีลักษณะเป็นคำมั่นซึ่งมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำมั่นดังกล่าว โดยหลังจากที่โจทก์ได้รับหนังสือรับรองดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงยอมให้ ส. รับรถยนต์จากโจทก์ไปจำหน่ายได้ อันพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้เสนอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคสองอีก จำเลยที่ 2 ต้องถูกผูกพันตามคำมั่นที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้ ส. เปลี่ยนบัญชีเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์พิเศษเป็นบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาและยอม ให้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามคำมั่นอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ถอนเงินจากบัญชีของ ส. โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากเงินในบัญชีที่ ส. ฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2551
จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าผ่านพนักงานของโจทก์ที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นภูมิ ลำเนาของจำเลยทั้งสอง จากนั้นพนักงานของโจทก์ส่งใบสั่งซื้อสินค้ามายังโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการ ในเขตศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อโจทก์มีคำสั่งอนุมัติก็จะจัดส่งสินค้าไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยทั้งสองทำคำเสนอต่อโจทก์ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าหากโจทก์ประสงค์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยทั้งสองก็ต้องแสดงเจตนาบอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตามการที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐมและจำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับก็ถือ ว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลแห่งคดีได้เกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
จำเลยทั้งสองมิได้แสดงเจตนาให้ถือว่าการกระทำของโจทก์ที่อนุมัติและดำเนิน การจัดส่งสินค้าแก่จำเลยทั้งสองเป็นการบอกกล่าวสนองรับ ทั้งไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นที่จะทำให้ก่อเกิดสัญญา ในอันจะทำให้เกิดมูลคดี ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น
แม้โจทก์จะอ้างว่าคู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญากันทางโทรศัพท์หรือเครื่องโทรสารก็ตาม แต่คดีนี้เป็นสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง มิใช่เรื่องสัญญาระหว่างบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า ที่คู่สัญญาอาจเสนอและสนองรับกัน ณ สถานที่และในเวลาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2551
จำเลยทำสัญญาการจัดการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการและบริหารกิจการโรงแรมของ จำเลย สัญญาการจัดการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลานับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 ครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาการบริหารโรงแรมไปอีก 10 ปี จำเลยปฏิเสธการขยายระยะเวลาโดยอ้างว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยไม่ได้ตกลงไว้ ข้อสัญญาดังกล่าวทั้งหมดหาได้มีความหมายว่าจำเลยจะต้องยินยอมให้โจทก์ต่อ อายุสัญญาการจัดการทันทีไม่ เพราะไม่มีข้อความใดที่ชัดเจนพอที่จะแสดงได้ว่าการขยายอายุสัญญาหรือไม่ขึ้น อยู่กับการแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นการยากที่คู่สัญญาจะเขียนสัญญาให้ชัดเจนเช่นนั้น หรืออาจจะเขียนไปในสัญญาเสียเลยก็ได้ว่าให้สัญญานี้มีอายุ 20 ปี แต่ให้สิทธิโจทก์บอกกล่าวให้สัญญาสิ้นสุดลงได้เมื่อสัญญาครบ 10 ปี ดังนั้น การแปลความว่าจำเลยจำต้องยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาออกไปตามที่โจทก์แจ้งความ ประสงค์ต่อจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจพิจารณาความน่าพึงพอใจของ โจทก์ในการบริหารงานหรือพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในระยะเวลาที่ ผ่านมาเสียก่อน จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาจ้างบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความพึง พอใจและการไว้วางใจต่อกันเป็นส่วนสำคัญในการตกลงทำสัญญาด้วย อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ข้อสัญญาดังกล่าวตอนต้นมีข้อความว่า "Subject to mutual agreement" ซึ่งหมายความว่า ข้อสัญญาข้อนี้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ก็ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป คู่สัญญายึดถือเจตนาที่ต้องตรงกันของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญมากกว่าลำพังเจตนา ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนข้อบังคับของบริษัทจำเลยและสัญญาผู้ถือหุ้นก็เป็นข้อกำหนดในการบริหาร กิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลย โดยกำหนดประเภทและจำนวนกรรมการที่จะมีอำนาจดำเนินการให้มีผลผูกพันบริษัท จำเลยในกิจการแต่ละเรื่อง มิได้มีข้อความหรือความหมายเป็นข้อผูกพันจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า จำเลยจะต้องว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้บริหารจัดการโรงแรมของจำเลยต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีความประสงค์จะให้สัญญาการจัดการขยายออกอีก 10 ปี ตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ฝ่ายเดียว การขยายอายุสัญญาการจัดการจึงไม่เกิดขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550
แผ่นพับโฆษณาให้บุคคลทั่วไปทราบว่า โจทก์มีโครงการโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระสูงและไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ ให้สามารถปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ด้วยวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่จำนองให้โจทก์แทนการชำระหนี้ โดยโจทก์กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของโจทก์ก่อน แผ่นพับโฆษณาดังกล่าวยังไม่ชัดเจนแน่นอน จึงมิใช่คำเสนอแต่เป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้สนใจทำคำเสนอเข้ามาเท่านั้น คำร้องขอของจำเลยที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ จึงจัดว่าเป็นคำเสนอเมื่อโจทก์มิได้สนองรับย่อมไม่ก่อให้เกิดสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551
ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับ ลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2550
สัญญาจำนอง ข้อ 1. ระบุว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้และภาระผูกพันใดๆ ของ อ. ที่มีต่อธนาคาร ก. ผู้ร้องจำนอง ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นในภายหน้าทุกลักษณะ ทุกประเภทหนี้ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท และตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 2. ระบุว่า หนี้สินและภาระผูกพันใดๆ ที่จำนองเป็นประกัน ได้แก่ หนี้สินและภาระผูกพันทุกประเภท ทุกอย่าง ที่มีต่อผู้รับจำนองแล้วในเวลานี้และที่จะมีต่อไปในภายหน้า เมื่อหนี้สินและภาระผูกพันประเภทใดประเภทหนึ่ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งระงับสิ้นไป แต่หนี้สินและภาระผูกพันประเภทอื่นยังมีอยู่หรือจะมีต่อไปในภายหน้าสัญญาจำนองไม่ระงับสิ้นไปคงผูกพันเป็นประกันต่อไป เห็นได้ว่า สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวนอกจากจะเพื่อเป็นประกันเงินที่โจทก์กู้จากจำเลย ตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ยังเป็นประกันหนี้ทุกประเภทที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยอีกด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมีหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี แม้จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการทำนิติกรรมกับจำเลยต่างสาขากัน แต่เป็นหนี้ที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยเช่นกันถือได้ว่า โจทก์ยังมีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองรายนี้อยู่ แม้โจทก์จะได้ชำระหนี้ที่โจทก์กู้จากจำเลย สาขาสามพรานครบถ้วนแล้วสัญญาจำนองก็ไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2549
การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับ ร. ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ที่จำเลยมอบให้ยึดถือเป็นประกันไว้ได้
โจทก์กับ ร. ตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้ แก่โจทก์กับ ร. อีกจำนวนหนึ่งซึ่งจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มนั้นเป็นสาระสำคัญที่จะ ต้องตกลงกัน แต่จำเลยยังไม่ได้ตกลงในรายละเอียดว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ กับ ร. เป็นจำนวนเท่าใด จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548
สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของ ป. ผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญัญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม โจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลผูกพันตลอดไปไม่
แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะมีคำมั่นที่ ป. ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไปและตกทอดแก่ โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้าย สุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายแล้วตึกแถวพิพาทตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาท จำเลยทราบว่า ป. ถึงแก่ความตายแล้งจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลยแจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2548
แม้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และได้ทำคำขอ/สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์อันมีลักษณะเป็นคำเสนอต่อตัวแทนของโจทก์ที่จังหวัดจันทบุรี แต่ตัวแทนของโจทก์ส่งคำขอให้โจทก์ตรวจสอบและอนุมัติการทำสัญญากับจำเลยที่ภูมิลำเนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ และโจทก์เป็นผู้เปิดสัญญาณดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นคำสนองที่ก่อให้เกิดความผูกพันตามสัญญาระหว่างกัน ทั้งยังเป็นต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลคดีย่อมเกิดขึ้นในศาลแขวงพระนครเหนืออีกศาลหนึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2548
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคลโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมมาขอใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์จากสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ สำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์จะเสนอคำขอ/สัญญาการใชบริการวิทยุคมนาคมดังกล่าวมาให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์พิจารณาอนุมัติเมื่ออนุมัติแล้วสำนักงานใหญ่จะเป็นผู้เปิดสัญญาณคลื่นวิทยุคมนาคมที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ จำเลยจึงจะใช้บริการตามคำขอที่ยื่นไว้ได้ ย่อมถือได้ว่าคำขอใช้บริการวิทยุคมนาคมที่จำเลยยื่นต่อสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว เป็นการทำเสนอเพื่อขอใช้บริการวิทยุคมนาคมต่อโจทก์ ส่วนการพิจารณาอนุมัติของสำนักงานใหญ่ถือได้ว่าเป้นการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งมีผลเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของจำเลย แม้จะเป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อจำเลยซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แต่ก็ถือได้ว่าตามปกติประเพณีการตกลงทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กระทำขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นเมื่อสำนักงานใหญ่ได้สนองรับคำเสนอโดยการเปิดสัญญาณวิทยุคมนาคมอันมีผลให้จำเลยสามารถใช้บริการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคสองอีก เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยได้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทนุคมนาคมดังกล่าว จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นเป็นศาลหนึ่งที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 4 (1) มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2546
โจทก์ทำคำเสนอทางโทรสารขอจองห้องพักระหว่างวันที่ 6 ถึง 12 มกราคม 2535 ไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยทำคำสนองทางโทรสารตอบรับการจองห้องพักไปถึงโจทก์ในวันเดียวกัน สัญญาจองห้องพักจึงเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2534 โจทก์โอนเงินค่าเช่าห้องพักงวดแรกตามสัญญาให้จำเลยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 และโอนเงินงวดที่ 2 ให้จำเลยในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 เงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยภายหลังจากวันที่สัญญาจองห้องพักเกิดขึ้นแล้วจึงไม่ใช่มัดจำที่จำเลยจะพึงริบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) เพราะไม่ใช่เงินหรือสิ่งใดที่โจทก์ให้จำเลยไว้ในวันเข้าทำสัญญา ทั้งไม่ใช่หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจองห้องพักเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินอันเกิดจากการเลิกสัญญานี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี เรื่องลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2546
จำเลยผู้ซื้อได้มีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์ผู้ขายขอคืนผ้าแต่โจทก์ไม่ได้ทำคำสนองรับเพียงแต่โจทก์ให้จำเลยช่วยขายผ้าให้บุคคลอื่น โจทก์จะรับผ้าคืนก็ต่อเมื่อมีบุคคลหรือลูกค้าอื่นรับซื้อผ้าไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อโจทก์ขายผ้าได้บางส่วนจึงให้พนักงานของโจทก์มารับผ้าไปจากจำเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์รับคืนผ้าทั้งหมดเพียงแต่ตกลงกันว่าโจทก์จะรับผ้าไปเมื่อขายผ้าได้บางส่วนเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ช่วยจำเลยขายผ้าส่วนที่เหลือ ไม่ได้ตกลงยินยอมรับคืนผ้า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าผ้าที่เหลือให้แก่โจทก์
การที่จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้เนื่องจากบริษัท ธ. ผู้ซื้อผ้าจากจำเลยมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลย ก็เป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้าประสบปัญหากำไรหรือขาดทุนอันเป็นปกติทางการค้าย่อมเกิดขึ้นได้เสมอไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 219 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2545
จำเลยทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้นข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืม จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2545
คำเสนอขายรถยนต์พิพาทมี ส. ลงชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแต่กรรมการของบริษัทมีเพียง ส. เท่านั้น ส. จึงมิได้เสนอขายเป็นส่วนตัว แม้จะมิได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1ในคำเสนอขายแต่การที่จำเลยที่ 1 เข้ารับประโยชน์โดยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ อ. ผู้เช่าซื้อ และเป็นผู้รับชำระราคาจากโจทก์ แสดงว่า ส. ทำคำเสนอขายรถยนต์พิพาทต่อโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการกระทำของ ส. แล้ว การซื้อขายรถยนต์พิพาทจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์เมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ ก็หาทำให้การซื้อขายไม่สมบูรณ์ เพราะทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น
การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทที่ขายให้โจทก์แล้วไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีกแม้จำเลยที่ 2 จะซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก ระบุชื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทไม่ เพราะกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์มิใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้แก่ผู้ใดได้อีกและการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 1336 บัญญัติไว้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกได้ แต่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริต สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองบังคับคู่สัญญาได้ เพียงแต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2545
หนังสือที่ ว. มีถึงจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ของ ว. มีข้อความว่า ว. ต้องการให้จำเลยจ่ายเงิน 2,112,450 บาท ให้โจทก์ โดยจำเลยจะต้องตรวจรับงานติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นตัวแทนของจำเลยได้ตรวจรับงานดังกล่าวจากโจทก์และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ไป 360,000 บาท กับทำบันทึกภายในบริษัทจำเลยยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,752,450 บาท หนังสือดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำเสนอ ส่วนการที่จำเลยตรวจรับมอบงานจากโจทก์ จ่ายเงินให้โจทก์ไปบางส่วนและทำบันทึกภายในยอมรับว่าค้างชำระหนี้แก่โจทก์ มีลักษณะเป็นคำสนองด้วยการแสดงเจตนาโดยปริยาย เกิดเป็นสัญญาระหว่าง ว. และจำเลยโดยให้จำเลยรับมอบงานติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมจากโจทก์และจ่ายเงินให้โจทก์แทน เนื่องจากจำเลยยังค้างชำระค่าที่ดินและอาคารที่ซื้อจาก ว. อยู่ สัญญาเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โดยจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงได้ และสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงไม่มีปัญหาว่ามีหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ว. และโจทก์หรือไม่
จำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ในการซื้อขายและติดตั้งกระจกและอะลูมิเนียมแต่จำเลยเป็นลูกหนี้ของ ว. โดยยังค้างชำระราคาที่ดินและอาคารที่ซื้อไปจาก ว. มูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินและอาคารย่อมมีอายุความ 10 ปี อันเป็นข้อที่จำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้ ว. ได้ เมื่อสัญญาระหว่างจำเลยและ ว. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก จำเลยมีข้อต่อสู้คู่สัญญาเดิมคือผู้ขายที่ดินและอาคารให้แก่จำเลยอยู่อย่างไรจำเลยอาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาที่ทำให้จำเลยตกลงว่าจะชำระหนี้ของ ว. ให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 376 แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยยกเอาข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาซื้อขายและติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมของ ว. ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/30 มิใช่มีกำหนด 2 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8898/2544
ประกาศแจ้งความประกวดราคาจ้างเหมาเป็นเพียงประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจที่จะรับจ้างขนขยะมูลฝอยจากท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปทำลายโดยวิธีฝังดิน ยื่นคำเสนอขอทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยวิธียื่นซองประกวดราคา ซึ่งต่อมาโจทก์เป็นผู้เข้าประกวดราคาและเสนอราคาต่ำสุดอันเป็นการทำคำเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เท่ากับโจทก์ยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของจำเลยที่ 1 ทุกประการ การที่จำเลยที่ 1 โดยประธานคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคามีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังว่าตกลงรับราคาที่โจทก์เสนอถือได้ว่าเป็นการทำคำสนองรับคำเสนอของโจทก์ แต่ในประกาศแจ้งความประกวดราคาจ้างเหมา ข้อ 16 ระบุว่าเมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งให้ผู้ประกวดราคาได้ทราบเป็นหนังสือผู้ประกวดราคาได้นั้นต้องไปทำสัญญาตามแบบของจำเลยที่ 1 ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ทำสัญญาตามแบบของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกิดเป็นสัญญาผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ประกาศยกเลิกการประกวดราคาจ้างเหมาครั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจะทำผิดเงื่อนไขตามประกาศแจ้งความประกวดราคาหรือไม่ก็ตามก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6729/2544
การที่จำเลยแถลงต่อศาลในคดีอาญา ขอให้สัญญาแก่ผู้เสียหายว่าจะนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหายภายใน 3 เดือนโดยขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป และผู้เสียหายก็แถลงรับต่อศาลว่า หากจำเลยสามารถปฏิบัติได้ตามที่ให้สัญญา ผู้เสียหายก็จะถอนคำร้องทุกข์และไม่เรียกร้องหนี้จำนวนใดอีก ดังนี้คำแถลงของผู้เสียหายเป็นเพียงการให้คำมั่นต่อศาลมิได้สนองรับคำเสนอของจำเลยแต่อย่างใดและเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการเลื่อนคดีออกไปตามที่จำเลยแถลง คำแถลงของจำเลยและผู้เสียหายในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่ถือว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย แม้ต่อมาผู้เสียหายจะได้นำเอาข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาไปอ้างในการยื่นฟ้องคดีแพ่งและได้ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องคดีแพ่งไปโดยอ้างเหตุผลว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยในมูลหนี้เดิมซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับหนี้ตามเช็คในคดีนี้เพื่อแสดงว่าสิทธิเรียกร้องทางแพ่งของผู้เสียหายยังไม่ขาดอายุความก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยย่อมฟังได้แต่เพียงว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีแพ่งเท่านั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงยังหาได้ระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6720/2544
สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 572 วรรคสอง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อไปจากผู้เสียหาย ดังนี้ เมื่อสำเนาใบขอเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยทำขึ้นเสนอต่อผู้เสียหายเป็นเพียงคำเสนอขอเช่าซื้อรถยนต์เท่านั้นมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้อ ส่วนหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นสัญญาเช่าซื้อระหว่างบริษัท ธ. กับจำเลยซึ่งแม้เป็นรถยนต์คันเดียวกับรถยนต์ตามสำเนาใบขอเช่าซื้อรถยนต์ก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็มิได้เป็นคู่สัญญาเช่าซื้อกับจำเลย ข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับบริษัท ธ. จะมีอยู่อย่างไรก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายกลายเป็นคู่สัญญากับจำเลยไปได้ เมื่อโจทก์ไม่มีสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยมาแสดง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่บังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2544
จำเลยทำคำเสนอให้โจทก์ลาออกโดยยอมจ่ายเงินเพื่อตอบแทนการลาออก ซึ่งโจทก์มีคำสนองรับคำเสนอของจำเลยโดยการลาออก จึงเกิดสัญญาขึ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์และมีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกการที่ภายหลังจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ก็หามีผลตามกฎหมายไม่เพราะขณะนั้นโจทก์และจำเลยมิได้มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งมิใช่เหตุตามข้อสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวมาเพื่อบอกเลิกสัญญาที่ทำกับโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2544
แผ่นพับโฆษณาที่มีข้อความกล่าวถึงขนาด เนื้อที่อาคารราคาเซ้งต่อห้อง 20 ปี การผ่อนชำระเงิน วันจอง ทำสัญญา ผ่อนชำระชำระวันโอนสิทธิ การผ่อนชำระแก่สถาบันการเงินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ซึ่งหากผู้ใดสนใจจะจองห้องเช่าที่ขนาดใดต้องติดต่อขอทำสัญญากับโจทก์นั้นเป็นการชวนเชิญให้จำเลยเป็นฝ่ายทำคำเสนอเท่านั้น ไม่ชัดเจนแน่นอนพอที่จะถือเป็นคำเสนอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2543
การที่โจทก์ส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ไปถึงจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดของสินค้าราคาและวิธีการชำระหนี้ ย่อมเป็นคำเสนอขายสินค้าเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารดังกล่าวแล้วส่งคืนให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาสนองรับซื้อแทนจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรายนี้จึงเกิดขึ้นมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2543
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสัญญาจ้างเหมาจำเลยปลูกสร้างอาคาร แม้มิได้มีกำหนดเวลาโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและส่งมอบอาคารแต่เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยมีหนี้ที่ต้องชำระตอบแทนแก่โจทก์เมื่อปล่อยให้เวลาล่วงผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาและได้จัดทำแบบคำร้องขอยกเลิกสัญญาเพื่อให้ผู้ที่เข้าทำสัญญากรอกเพื่อเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระแล้วคืนจากจำเลย แสดงว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ทั้งคำร้องนั้นก็มีผลเป็นการทำคำเสนอไปยังโจทก์เพื่อให้โจทก์แสดงเจตนาว่าจะตกลงเลิกสัญญาหรือไม่ เมื่อโจทก์กรอกแบบคำร้องแจ้งความประสงค์ขอเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากจำเลยจึงมีผลเป็นคำสนองรับคำเสนอของจำเลย ทำให้สัญญาเลิกกันทันที จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2543
จำเลยได้ออกสลากรางวัล โดยมีข้อความแสดงคำมั่นจะให้รางวัลแก่ผู้ถูกรางวัล จำเลยจึงต้องผูกพันตาม คำมั่นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 362 เมื่อโจทก์เป็นผู้ถูกรางวัล ถึงแม้โจทก์จะได้ทำสลากดังกล่าวหายไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้มีสิทธิได้รับรางวัลตามคำมั่นของจำเลย ส่วนการที่สลากรางวัลดังกล่าว มีข้อความว่า ผู้ถือสลากเท่านั้น จึงจะมีสิทธิรับรางวัลได้ ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยมีหลักฐานในการจ่ายรางวัลให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น เงื่อนไขดังกล่าวจะนำมาจำกัดตัดสิทธิโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับรางวัลตามกฎหมายหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับรางวัลจากจำเลยตามคำมั่นของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5933/2538
การที่หนังสือพิมพ์ ท. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรกลางให้คำมั่นจะให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 เป็นคำมั่นที่ประกาศแก่คนทั่วไป ซึ่งโจทก์แม้จะได้รับแต่งตั้งจากองค์กรกลางให้เป็นประธานองค์กรกลางอำเภอ หากเป็นผู้แจ้งเบาะแสก็มีสิทธิจะได้รับรางวัลดังกล่าวได้จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะแบ่งเงินรางวัลตามที่จำเลยจะได้รับจากการแจ้งเบาะแสให้แก่โจทก์ในการกล่าวโทษต่อ พนักงานสอบสวนและเป็นผู้ติดต่อประสานงานรับเงินรางวัลในคดีที่จำเลยเป็นผู้แจ้ง การที่โจทก์กล่าวโทษ น. ต่อพนักงานสอบสวนตามที่ตกลงกับจำเลยดังกล่าวข้างต้นย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมดำเนินการแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกับจำเลยต่อพนักงานสอบสวน ดังนั้นข้อตกลงตามหนังสือสัญญาแบ่งเงินรางวัล จึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2547
การตีความตามสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ด้วย จะถือเอาแต่เพียงชื่อของสัญญาเป็นเด็ดขาดไม่ได้ เมื่อข้อความในสัญญาประกอบกับพยานหลักฐานฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบเท่านั้น มิได้มีเจตนาทำสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวแต่อย่างใด ลิขสิทธิ์ในงานเพลงจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตมาสเตอร์เทปเพลงทั้ง 14 เพลงดังกล่าวเป็น 3 ชุด ซึ่งเป็นคนละเวอร์ชันกับมาสเตอร์เทปที่จำเลยที่ 1 โอนขายให้โจทก์ย่อมไม่ใช่การดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6563/2545
ป.พ.พ. มาตรา 171 ที่บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกันหรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนา
สัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 171 มาบังคับให้ต้องสืบพยานบุคคลประกอบเพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) คดีจึงฟังได้ว่า สัญญาจำนองที่ดินพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5678/2545
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ให้ตีความสัญญาไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิจารณาถึงปกติประเพณีด้วย และตามมาตรา 171 ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน เคยทำสัญญาซื้อขายและจัดสรรที่ดินมาแล้วหลายแห่งมีความรู้ความชำนาญและสันทัดจัดเจนในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยิ่งกว่าจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่พนักงานของโจทก์จัดทำขึ้น โจทก์มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยย่อมมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมากกว่าจำเลย หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์มีหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ขอกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในโครงการรวม 155,000,000 บาท โดยเป็นการขอกู้ยืมเงินเพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 43,000,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าที่ดินพิพาท และบริษัทในเครือของโจทก์เคยมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติและตามปกติประเพณีของการซื้อขายที่ดินที่มีราคาสูง หากผู้จะซื้อที่ดินจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระราคาที่ดินล่วงหน้า ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะต้องให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ประเพณีเช่นว่านี้แม้ไม่ได้เขียนไว้ในสัญญาก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติโดยปริยาย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินในคดีนี้ด้วย แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม เมื่อโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่มีอาวัลของธนาคาร จำเลยย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4932/2545
ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมมีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จะมากล่าวอ้างในภายหลังว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยสำคัญผิดหาได้ไม่
กรณีที่จะต้องมีการตีความข้อความในเอกสารใดก็แต่เฉพาะเมื่อข้อความในเอกสารนั้นมีข้อสงสัยเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2543
ขณะทำสัญญาเช่าไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันในฐานะใกล้ชิดอย่างไร ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยกที่ดินให้จำเลยโดยเสน่หา แต่กลับปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายเข้าครอบครองที่ดินพิพาทปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนโจทก์ และ ส. ซื้อที่ดินตามฟ้องจากเจ้าของที่ดินคนเดิม การที่โจทก์ตกลงจะแบ่งแยกที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยครอบครองให้จำเลย เพื่อโจทก์จะได้ขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ลักษณะข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ใช่สัญญาให้หรือมีคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เป็นสัญญาที่มีขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญาที่ใช้บังคับกันได้ ประกอบกับในการตีความสัญญานั้น ป.พ.พ. มาตรา 368 ให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย เมื่อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้แก่จำเลยตามสัญญาเช่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2543
ป.พ.พ.มาตรา 466 วรรคสอง ที่กำหนดเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แล้วผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดที่ได้ระบุไว้นั้น มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงอาจกำหนดไว้ในสัญญาเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัตินี้ได้ ที่สัญญาระบุไว้ในข้อ 2(ข)ว่าถ้าพื้นที่ของห้องชุดแตกต่างตั้งแต่ร้อยละห้าหรือมากกว่านั้น คู่สัญญายังคงต้องผูกพัน โดยต้องชำระราคาตามสัญญาที่ปรับเพิ่มหรือลดตามส่วน จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 151 แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้ แต่ศาลก็ต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 และเมื่อสัญญามีข้อสงสัยว่าโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาหรือไม่ ศาลย่อมต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ ในเมื่อล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้ทำสัญญานั้นตาม ป.พ.พ.์ มาตรา 466 วรรคสอง อันเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391