การหักกลบลบหนี้







มาตรา ๓๔๑  ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากเป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

มาตรา ๓๔๒  หักกลบลบหนี้นั้น ทำได้ด้วยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาเช่นนี้ท่านว่าจะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสิ้นสุดอีกด้วยหาได้ไม่

การแสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านว่ามีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก

มาตรา ๓๔๓  การหักกลบลบหนี้นั้น ถึงแม้ว่าสถานที่ซึ่งจะต้องชำระหนี้ทั้งสองจะต่างกัน ก็หักกันได้ แต่ฝ่ายผู้ขอหักหนี้จะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดแต่การนั้น

มาตรา ๓๔๔  สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่ อนึ่ง อายุความย่อมไม่ตัดรอนการหักกลบลบหนี้ แม้สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว แต่ว่าในเวลาที่อาจจะหักกลบลบกับสิทธิเรียกร้องฝ่ายอื่นได้นั้น สิทธิยังไม่ขาด

มาตรา ๓๔๕  หนี้รายใดเกิดแต่การอันมิชอบด้วยกฎหมายเป็นมูล ท่านห้ามมิให้ลูกหนี้ถือเอาประโยชน์แห่งหนี้รายนั้น เพื่อหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้

มาตรา ๓๔๖  สิทธิเรียกร้องรายใดตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดมิได้ สิทธิเรียกร้องรายนั้นหาอาจจะเอาไปหักกลบลบหนี้ได้ไม่

มาตรา ๓๔๗  ลูกหนี้คนที่สามหากได้รับคำสั่งศาลห้ามมิให้ใช้เงินแล้ว จะยกเอาหนี้ซึ่งตนได้มาภายหลังแต่นั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้ที่ขอให้ยึดทรัพย์นั้น ท่านว่าหาอาจจะยกได้ไม่

มาตรา ๓๔๘  ถ้าคู่กรณีต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเรียกร้องหลายรายอันควรแก่การที่จะใช้หักกลบลบหนี้ได้ไซร้ ฝ่ายผู้ที่ขอหักหนี้จะระบุก็ได้ว่าพึงเอาสิทธิเรียกร้องรายใดบ้างเข้าหักกลบลบกัน ถ้าการหักกลบลบหนี้ได้แสดงโดยมิได้ระบุเช่นนั้นก็ดี หรือถ้าระบุ แต่อีกฝ่ายหนึ่งท้วงขัดข้องโดยไม่ชักช้าก็ดี ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๒๘ วรรค ๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้าฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้ยังเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ นอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธานนั้นด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๒๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560
แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12164/2558
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. (เจ้าหนี้รายที่ 131) จำนวน 5,067,601,483.97 บาท ผู้ทำแผนของบริษัท พ. โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยขอถอนคำขอรับชำระหนี้บางส่วนคงเหลือหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. จำนวน 1,589,191,974.13 บาท ต่อมาวันที่ 5 และ 30 กันยายน 2544 ผู้บริหารแผนของจำเลยมีหนังสือถึงบริษัท พ. เพื่อขอหักกลบลบหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของบริษัท พ. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยในหนี้ดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้อยู่เนื่องจากบริษัท พ. โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยและยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 จึงไม่อาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. ในมูลหนี้ค่าก่อสร้างค้างจ่ายและเงินทดรองจ่ายค้างจ่าย การคืนเงินค้ำประกันและมัดจำต่าง ๆ เงินชดเชยความเสียหายตามสัญญารับจ้างช่วงลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,389,191,974.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,388,831,921.18 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ หนี้ของจำเลยจึงไม่มีข้อต่อสู้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้บริหารแผนของจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 16 มีนาคม 2547 ถึงผู้บริหารแผนของบริษัท พ. เพื่อขอหักกลบลบหนี้อีกครั้ง การแสดงเจตนาดังกล่าวจึงมีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก ซึ่งคือ วันที่ 5 และ 30 กันยายน 2544 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 เป็นเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. ทั้งสิทธิเรียกร้องของจำเลยและบริษัท พ. ต่างเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท พ. (วันที่ 12 มิถุนายน 2543) ผู้บริหารแผนของจำเลยจึงชอบที่จะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/33 ได้ ดังนั้น มูลหนี้ของบริษัท พ. จึงหมดสิ้นไปตั้งแต่วันที่แจ้งหักกลบลบหนี้ครั้งแรก เมื่อบริษัท พ. ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของจำเลยโดยการหักกลบลบหนี้ไปแล้ว บริษัท พ. จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ดังกล่าวที่จะทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 31 ตุลาคม 2548 และโอนสิทธิเรียกร้องนั้นให้แก่โจทก์ต่อไป การที่จำเลยใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่บริษัท พ. จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15952/2557
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2557
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระไป เนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยอ้างว่าโจทก์มีหนี้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดต่อจำเลย จากการไม่ชำระค่าสินค้าและรับมอบสินค้าทั้งหมดภายในกำหนด แต่โจทก์ปฏิเสธความรับผิด เช่นนี้ถือว่าหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเพื่อให้ได้ข้อยุติว่า โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยหรือไม่ เพียงใด จำเลยจึงนำหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งจำเลยอ้างเพียงฝ่ายเดียวมาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าสินค้าของโจทก์ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13687/2556
สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10 ที่ ค. ผู้ตายค้ำประกันบริษัท ล. จำกัด ผู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารจำเลย ระบุว่า ข้อ 2 ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 4 ในกรณีที่ผู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดนัด ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะต่อสู้ให้ธนาคารบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิด ถ้าธนาคารมิได้รับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยินยอมชำระหนี้ที่ค้างโดยพลันถึงแม้การดำเนินการเช่นนั้นธนาคารจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก่อนก็ตาม และถึงแม้จะมิได้เรียกร้องหรือฟ้องร้องผู้ค้ำประกันร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชี ดังนี้ ผู้ตายเป็นเจ้าหนี้จำเลยในเงินฝากประจำ 3 เดือน และจำเลยเป็นหนี้ผู้ตายตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งผู้ตายและจำเลยต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระ เมื่อผู้ค้ำประกันตายความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ระงับสิ้นไป ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยวิธีหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยมีสิทธินำเงินฝากของผู้ตายหักชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16802/2555
โจทก์ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่จำเลยจริงและยินยอมชดใช้หนี้นั้น หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้แล้ว เมื่อค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยมีจำนวนน้อยกว่าค่าเสียหายตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยจึงมีสิทธินำค่าจ้างที่ต้องชำระแก่โจทก์มาหักกับหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13928/2555
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คจำนวน 6 ฉบับ ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ การวินิจฉัยความผิดของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตั๋วเงิน โจทก์จึงหาจำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดงตามที่จำเลยฎีกาไม่

จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คทั้ง 6 ฉบับ ตามฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ามูลหนี้ตามเช็คระงับแล้ว ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยและจำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ทำให้ทรัพย์สินที่เช่าเสียหาย คิดเป็นเงิน 260,000 บาท จึงขอหักกลบลบหนี้กับเช็คตามฟ้องโดยจำเลยเบิกความว่า ก่อนที่โจทก์จะออกไปจากห้องเช่า ทำให้ห้องเช่าเสียหาย เนื่องจากต่อเติมห้องเช่าโดยเทพื้นคอนกรีตลงบนสนามหญ้า มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 260,000 บาท นั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์มิได้ยอมรับ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่อาจจะนำมาหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5970/2555
ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติ การหักกลบลบหนี้ไว้ว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในข้อใดเลยว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน เมื่อหนี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันคือ เป็นหนี้เงินและต่างถึงกำหนดที่จะชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้โดยไม่ต้องให้โจทก์ให้ความยินยอม

ที่โจทก์อ้างว่า หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่นั้น หนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่อันไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 นั้น หมายถึง หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด แต่จากคำให้การของโจทก์ในคดีของศาลแพ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์และ ส. ชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 71,243,224.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 62,788,981.59 บาท โจทก์ให้การรับว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,230,760.80 บาท โดยโต้แย้งเพียงการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวแสดงว่า ในยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ 670,805.64 บาท เป็นหนี้ส่วนที่โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แล้ว จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามจำนวนนั้นได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2554
ที่จำเลยขอให้นำค่าเสียหายที่จำเลยได้รับจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของมาหักกลบกับค่าเช่าคลังสินค้านั้น แม้ตามสัญญามีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธิหักเงินค่าเสียหายจากค่าเช่า ค่าแรงงาน และค่ารมยาได้ก็ตาม แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายมาในคดีนี้ และมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด อีกทั้งโจทก์ก็ยังโต้เถียงว่า การที่ข้าวโพดเสื่อมคุณภาพส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการเก็บรักษาไว้นานเนื่องจากบริษัทที่รับซื้อไม่มารับมอบสินค้าภายในกำหนด ไม่ใช่ความผิดของโจทก์เสียทั้งหมด สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายของจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 จึงไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2554
สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืนไม่ใช่เป็นการจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 747 หากแต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้

การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้และโจทก์กับพวกให้การต่อสู้คดี เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกชำระหนี้แล้ว และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2554
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างในงานที่ทำให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยฎีกาขอให้นำเงินค่าปรับที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระแก่จำเลยในอีกคดีหนึ่งมาหักกลบลบหนี้ในคดีนี้ ดังนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ต้องชำระค่างานแก่โจทก์กับความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระค่าปรับแก่จำเลยเกิดจากสัญญาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน จึงหาใช่เป็นการหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 344 ห้ามมิให้หักกลบลบหนี้หากสิทธิเรียกร้องนั้นยังมีข้อต่อสู้อยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกขึ้นปรับแก่คดีไม่ เมื่อจำเลยและโจทก์ต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันในแต่ละคดีซึ่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องกระทำแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ จำเลยจะขอหักหนี้ได้เพียงใดหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2553
หนี้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้นั้นต้องเป็นหนี้อย่างเดียวกัน และต้องเป็นหนี้ที่ไม่มี ข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 344 พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างได้แก่ใบเสร็จรับเงินซึ่งโดยปกติเป็นเอกสารแสดงการรับเงิน จึงมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ ส่วนใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารที่บริษัท ท. มีไปถึงจำเลย จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าหนี้ค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยพึงชำระแก่บริษัท ท. โดยเฉพาะเจาะจง มิได้พึงชำระให้แก่โจทก์ แม้โจทก์และบริษัท ท. เป็นบริษัท ในเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นนิติบุคคลคนละรายกันตามกฎหมาย หากจะมีการโอนหนี้ของ บริษัท ท. ให้แก่โจทก์ก็จะต้องทำเป็นหนังสือและต้องบอกกล่าวไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ หรือจำเลยต้องยินยอมด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำ ดังกล่าว และที่โจทก์อ้างว่ามีการสรุปยอดหนี้กันแล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์จะต้อง ชำระให้แก่จำเลยอีก 257,000 บาท ก็เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า พนักงานของจำเลยส่งโทรสารไปยังโจทก์แจ้งว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 574,000 บาท ก็ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่ามีผู้ลงนาม ในตอนท้ายเป็นชื่อเล่นว่า ม. โดยไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยอยู่ และไม่ปรากฏว่าส่งไปจากที่ใด ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำโฆษณา แสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ในเรื่องหนี้ค่าโฆษณาที่โจทก์จะขอหักกลบลบหนี้กับจำเลย โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ค่าโฆษณาของบริษัท ท. ไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จะต้องชำระ ในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7319/2553
ตามคำยินยอมคำขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ข้อ 3 และข้อ 4 มีข้อความว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารนำเงินที่ข้าพเจ้านำเข้าฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักทอนยอดหนี้ที่เกิดขึ้นตามกล่าวในข้อ 3 หรือหนี้ลักษณะอื่นใดที่ข้าพเจ้ามีอยู่กับธนาคารได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้า" ซึ่งข้อ 3 มีข้อความว่า "ในกรณีที่ข้าพเจ้าให้คำยินยอมหรือมอบอำนาจให้แก่ธนาคารหรือได้สั่งการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ธนาคารหักเงินจากบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารหรือบุคคลอื่น เช่น รายการชำระหนี้ตามบัตรเครดิต ... เป็นต้น ถ้าหากธนาคารได้ผ่อนผันการจ่ายเงินเกินบัญชีไป ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินคืนธนาคารโดยถือเสมือนว่าข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราสูงสุดที่ธนาคารได้มีประกาศกำหนด.." โดยไม่ปรากฏข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำหนี้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์มาหักจากเงินฝากในบัญชีของโจทก์ได้ อีกทั้งตามคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์ โจทก์ตกลงชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตด้วยการให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 170-0-09210-7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากอื่นของโจทก์ได้อีก ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำเงินฝากจากบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เลขที่ 230-0-38370-6 มาหักชำระหนี้บัตรเครดิตได้ และจำเลยที่ 1 ก็มิอาจนำเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักกลบลบหนี้บัตรเครดิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกันได้ เนื่องจากในวันที่โจทก์เปิดบัญชีสะสมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 1 ขณะนั้นสิทธิเรียกร้องในหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ได้ขาดอายุความไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2553
หนี้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้นั้นต้องเป็นหนี้อย่างเดียวกัน และต้องเป็นหนี้ที่ไม่มี ข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 344 พยานหลักฐานที่โจทก์อ้างได้แก่ใบเสร็จรับเงินซึ่งโดยปกติเป็นเอกสารแสดงการรับเงิน จึงมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ ส่วนใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารที่บริษัท ท. มีไปถึงจำเลย จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าหนี้ค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยพึงชำระแก่บริษัท ท. โดยเฉพาะเจาะจง มิได้พึงชำระให้แก่โจทก์ แม้โจทก์และบริษัท ท. เป็นบริษัท ในเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นนิติบุคคลคนละรายกันตามกฎหมาย หากจะมีการโอนหนี้ของ บริษัท ท. ให้แก่โจทก์ก็จะต้องทำเป็นหนังสือและต้องบอกกล่าวไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ หรือจำเลยต้องยินยอมด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำ ดังกล่าว และที่โจทก์อ้างว่ามีการสรุปยอดหนี้กันแล้ว คงเหลือจำนวนเงินที่โจทก์จะต้อง ชำระให้แก่จำเลยอีก 257,000 บาท ก็เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อ้างว่า พนักงานของจำเลยส่งโทรสารไปยังโจทก์แจ้งว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 574,000 บาท ก็ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่ามีผู้ลงนาม ในตอนท้ายเป็นชื่อเล่นว่า ม. โดยไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยอยู่ และไม่ปรากฏว่าส่งไปจากที่ใด ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำโฆษณา แสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ในเรื่องหนี้ค่าโฆษณาที่โจทก์จะขอหักกลบลบหนี้กับจำเลย โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ค่าโฆษณาของบริษัท ท. ไปหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จะต้องชำระ ในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2552
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,347,666 บาท ไปชำระหนี้จำนวน 6,244,185.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้ โดยผู้ร้องต้องแจ้งขอใช้สิทธิหักลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 4,896,519.80 บาท ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่ผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6961/2551
จำเลยหักบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์ค้างชำระ เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงตามคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิต มิใช่เป็นการหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 344 โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะหักบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์ได้ แม้หนี้บัตรเครดิตจะขาดอายุความแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ข้อความในคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิตที่ให้นำหนี้บัตรเครดิตขาดอายุความไปก่อนที่จำเลยจะมีสิทธิหักกลบลบหนี้แล้วนั้นมาหักบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นข้อ สัญญาที่มุ่งจะขยายอายุความ อันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 นั้น เป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับประโยชน์ระหว่างคู่สัญญาเท่านั้นไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก และไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551
หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้
การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2551
การหักกลบลบหนี้นั้น ป.พ.พ.มาตรา 341 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าต้องเป็นเรื่องที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน และต้องมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ มีวัตถุแห่งหนี้เหมือนกัน เช่น เงินต่อเงินหรือสิ่งของต่อสิ่งของ และหนี้ทั้งสองฝ่ายต้องถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะนำมาขอหักกลบลบหนี้กันได้ จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงิน แม้จำเลยจะโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ฝ่ายเดียว เพราะโจทก์มีหนี้ที่ต้องส่งคืนวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้ทำการชุบสีให้แก่จำเลยก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวหามีมูลหนี้อันเป็นวัตถุอย่างเดียวกันไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วแต่อย่างไร กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องหักกลบลบหนี้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอชำระหนี้ด้วยสิ่งของอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 321 ซึ่งจำเลยจะทำได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยินยอมตกลงด้วยเท่านั้น แต่ได้ความว่าก่อนฟ้องและหลังฟ้องโจทก์กับจำเลยได้เจรจาตกลงหนี้กันแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์จึงยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ยังอยู่ที่โจทก์ไว้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยนำวงล้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างไรด้วย จำเลยจึงไม่อาจนำวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยึดหน่วงไว้ตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีกเช่นกัน ที่ศาลฟังว่าฟ้องแย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยลักษณะหักกลบลบหนี้จึงให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยนำฟ้องแย้งไปฟ้องเป็นคดีใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4853/2551
ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้น ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดมิให้หักหนี้กับบริษัทโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท จำเลยจึงไม่อาจยกบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102 มาขอหักหนี้กับหนี้สิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาค้ำประกันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2551
ผู้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้จะต้องเป็นบุคคลสองคนและมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน แม้บริษัท น. จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 แต่บริษัท น. ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากไปจากจำเลยที่ 1 มีผู้ถือหุ้นแตกต่างจากกัน การจัดทำงบดุลบัญชีแยกต่างหากจากกัน แม้บริษัท น. จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ทั้งนี้เพราะหนี้สินระหว่างโจทก์กับบริษัท น. เป็นความผูกพันของโจทก์กับบริษัท น. ส่วนหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แยกต่างหากจากกันจะนำมาหักกลบลบหนี้กันไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2550
โจทก์เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต่อมาโจทก์ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานกองทุนได้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้โจทก์แล้ว และได้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท ให้แก่จำเลยไว้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานตามข้อบังคับกองทุนฯ ข้อ 37 วรรคหนึ่ง (7) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยต้องเก็บรักษาไว้แทนผู้จัดการกองทุนเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อพ้นจากตำแหน่งในบริษัท และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบ ดังนั้น เมื่อโจทก์ลาออกจากงานด้วยความยินดีของทั้งสองฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ เงินดังกล่าวจึงยังมีสภาพเป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุน มิได้กลับมาเป็นของจำเลยแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23, 24 และไม่อาจนำไปหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 346
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7924/2549
หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นหนี้ที่เกิดจากจำเลยค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อต่อผู้ร้อง ส่วนการที่ผู้ร้องยึดรถบรรทุกจากจำเลยเป็นการที่ผู้ร้องใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของผู้ใช้เช่าซื้อยึดทรัพย์สินจากจำเลยในกรณีจำเลยผิดสัญญา ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกสัญญาโดยปริยาย หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นหนี้ที่ผู้ร้องฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่จำเลยค้างชำระก่อนเลิกสัญญา ส่วนการที่ผู้ร้องยึดรถบรรทุกกลับคืนมาแล้วนำออกจำหน่ายหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวต่อไปในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเลิกสัญญา หนี้ทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงเป็นหนี้คนละส่วนกัน ไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7544/2548
จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 การที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้เงินค่าแชร์กับหนี้เงินต้นเงินยืมตามเช็คพิพาทกับดอกเบี้ยนั้น ถือว่าจำเลยประสงค์จะนำหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนี้จำเลยจำนวน 800,000 บาท มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามเช็คพิพาทในชั้นศาล โจทก์นำสืบโต้เถียงว่าโจทก์กับจำเลยได้ตกลงหนี้สินระหว่างกันแล้วโดยให้หักค่าแชร์ที่โจทก์จะต้องชำระอีก 1,200,000 บาท กับหนี้เงินยืมที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ เมื่อตกลงแล้วโจทก์ได้คืนเช็คตามจำนวนหนี้ที่หักหนี้ให้แก่จำเลยและจำเลยมีหน้าที่ชำระค่าแชร์แทนโจทก์ หลังจากหักหนี้กันแล้วจำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 759,040 บาท ซึ่งจำเลยได้สั่งจ่ายเป็นเช็ค 4 ฉบับ อันเป็นการต่อสู้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยนั้นระงับไปแล้วด้วยการหักกลบลบหนี้ โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องชำระแก่จำเลยอีก ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องที่จำเลยนำมาหักกลบลบหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 344 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่" ดังนั้นจำเลยจึงนำสิทธิเรียกร้องค่าแชร์ที่ชำระแทนโจทก์ไปขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตามเช็คพิพาทไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2548
การที่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ขอหักกลบลบหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/33 นั้น เป็นระบบการจัดการทรัพย์สินในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ที่จะนำหนี้ที่ตนมีภาระต้องชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อยู่แล้วในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปหักกับหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
มาตรา 90/33 ที่บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ" ย่อมหมายถึงในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน มิได้หมายถึงช่วงระยะเวลาที่ลูกหนี้อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ฉะนั้น หนี้ที่เจ้าหนี้จะนำมาหักกลบลบหนี้ได้นั้น เจ้าหนี้ต้องเป็นหนี้ลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้ได้
ถ้าเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้หลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเช่นกัน เจ้าหนี้และลูกหนี้ย่อมสามารถนำหนี้ที่มีต่อกันมาหักกลบลบหนี้กันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 โดยหากเจ้าหนี้เป็นฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้แล้วก็ย่อมทำได้โดยการแสดงเจตนาต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2548
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่าการหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นลูกหนี้ของจำเลยตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนี้ดังกล่าวต่างก็ถึงกำหนดชำระแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์นั้น ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์แต่ประการใด
หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 หมายถึง หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบถึงความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด ซึ่งข้อความในเอกสารหมาย ล.7 หาได้มีข้อความตอนใดที่เป็นการปฏิเสธความรับผิด หรือโต้แย้งจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3747/2547
ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ส่วนลูกหนี้มีเงินฝากอยู่กับผู้คัดค้านตามบัญชีเงินฝากรวม 2 บัญชี โดยผู้คัดค้านรับฝากเงินไว้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เงินฝากดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านตั้งแต่มีการฝากเงิน ลูกหนี้ผู้ฝากเงินมีสิทธิที่จะถอนเงินฝากไปได้และผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบตามจำนวนที่ขอถอน ถึงเห็นกรณีที่ผู้คัดค้านกับลูกหนี้ต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกันอยู่ในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านจึงใช้สิทธินำเงินฝากทั้งสองบัญชีดังกล่าวของลูกหนี้มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/33 ภายหลังที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแต่ก็เป็นช่วงเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าว ซึ่งเจ้าหนี้ยังไม่ถูกผูกมัดให้ได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในแผนตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2547
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระราคา จำเลยฟ้องแย้งว่าก่อนหน้านั้นจำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่โจทก์ส่งมาจำหน่ายให้แก่จำเลยและตกลงให้ค่าตรวจสอบคุณภาพสินค้าแก่จำเลยเป็นรายชิ้น เมื่อคิดหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์ยังคงเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ ขอให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย ดังนี้หนี้ทั้งสองรายที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างเกิดจากการที่จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินและทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าถึงกำหนดชำระแล้ว หากฟังได้ว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยจริง จำเลยย่อมใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้เนื่องจากหนี้นั้นมีวัตถุแห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน จึงถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม และ 179 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2547
การยึดทรัพย์สินเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 ย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ด้วย แม้ในระหว่างนั้นโจทก์จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ซึ่งโจทก์จะได้ทุเลาการเสียภาษีอากรต่อเมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิในการทุเลาการเสียภาษีอากรโดยยังไม่ต้องชำระภาษีอากรจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ฉะนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินที่จำเลยต้องคืนไปหักกลบลบหนี้กับภาษีอากรค้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2545
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยังค้างชำระเงินบำเหน็จค่าฝากปลาทูนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายของโจทก์ได้ แต่ตามคำให้การ จำเลยที่ 1 มิได้แสดงเจตนาที่จะหักกลบลบหนี้แก่โจทก์ และทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏว่าเงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ดังกล่าวยังคงมีข้อโต้แย้งและเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จึงไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 342 วรรคหนึ่ง และมาตรา 344
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2545
พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23 และ 24 มีเจตนารมณ์ให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดคราวเดียวโดยเร็วอย่างช้าไม่เกิน 30 วัน เพื่อนำไปเลี้ยงดูชีวิตตนเองและครอบครัว โดยไม่ถูกโอนหรือถูกบังคับคดีหรือถูกบังคับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ ซึ่งแม้เงินดังกล่าวจะถือว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์แล้ว แต่ก็ยังจำแนกได้ว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่มิได้ปะปนกับเงินอื่นของโจทก์ จนไม่อาจแยกออกได้หรือได้ใช้สอยแปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 หักเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว และยังขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 346 ที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องรายใดตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนั้นจะนำไปหักกลบลบหนี้ไม่ได้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวนที่หักไว้ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2545
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 341 ไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่าการหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง จำเลยได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์แล้ว ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าการฝากเงินของโจทก์ไว้กับจำเลยนั้นได้มีการกำหนดเวลาคืนเงินฝากไว้แน่นอน กรณีจึงต้องถือว่าหนี้เงินฝากดังกล่าวถึงกำหนดชำระหนี้ทันทีที่โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลยและก็ไม่ปรากฎเช่นกันว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันมาหักกลบลบกันไว้แต่อย่างใด จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำเงินฝากในบัญชีของโจทก์ไปหักกลบลบกับหนี้ที่โจทก์กู้เงินไปจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2545
จำเลยอ้างว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติของการเป็นพนักงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยของพนักงาน แต่ระเบียบข้อบังคับฯที่จำเลยอ้างดังกล่าว มิใช่คุณสมบัติของการเป็นพนักงาน และหากเป็นข้อกำหนดวินัยในการทำงานก็มิได้ระบุเรื่องการมีภาระหนี้สินของพนักงานไว้โดยตรง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุการมีภาระหนี้สินของโจทก์มาปรับเข้ากับเรื่องวินัยในการทำงานและถือว่าเป็นการขาดคุณสมบัติของการเป็นพนักงานได้ ทั้งภาระหนี้สินของโจทก์ดังกล่าวก็เป็นกรณีที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยเพียงรายเดียว และเป็นหนี้ที่จำเลยเองเป็นผู้พิจารณาให้โจทก์กู้ยืม จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์เป็นหนี้เงินกู้ยืมจำเลยและศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยแล้ว ส่วนจำเลยเป็นหนี้ต้องชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง โจทก์และจำเลยจึงต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นหนี้เงินอย่างเดียวกันและหนี้ของโจทก์และจำเลยถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยก็สามารถนำหนี้ของตนเองมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ของโจทก์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2545
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง การที่จำเลย(นายจ้าง)ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญา และไม่ใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์(ลูกจ้าง) โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่, 121 วรรคสอง ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี และหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ชอบจะได้ค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิใช่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรวม 2 ครั้ง โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือน และโจทก์ยังคงค้างชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว เหตุที่จำเลย ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเพราะเมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้ประธานกรรมการ ผู้จัดการบริษัทจำเลยอยู่อีกมากและโจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้ แม้จำเลยไม่อาจหักกลบลบหนี้เงินกู้กับค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8869/2544
จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนและนายหน้าให้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยและให้โจทก์มีอำนาจนำเงินที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ในวันที่ทำสัญญาจำเลยได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบมาร์จิ้นซึ่งเป็นการซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินเชื่อ ต่อมาจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์หุ้นบริษัท ร. โดยให้โจทก์เป็นตัวแทนการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้น จำเลยค้างชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยและจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ การซื้อขายหุ้นที่จำเลยค้างชำระไม่ใช่การซื้อขายแบบเงินสด การที่โจทก์ดำเนินการขายหุ้นและนำเงินมาหักกลบลบหนี้ที่ค้างชำระจึงไม่ขัดต่อระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้สมาชิกถือปฏิบัติในการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2544
การที่จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราตามกฎหมายให้แก่โจทก์ไปแล้วเท่ากับเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงหามีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยจำนวนที่ชำระไปแล้วคืนไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำไปหักกลบลบหนี้กับต้นเงินที่จำเลยยังไม่ได้ชำระหรือถือเอาว่าเป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้บางส่วนตามสัญญาแล้วได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยชำระไปแล้วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาแก่จำเลยแต่โจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5ต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งเริ่มนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม ดังนั้น ดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด หาใช่ดอกเบี้ยตามสัญญาซึ่งโจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยไม่ เมื่อหนังสือทวงถามครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2541ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2544
จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์และโจทก์ว่าจ้างจำเลยเป็นผู้บริหารหน่วยงานขายประกันชีวิตของโจทก์แก่ผู้ขอเอาประกันชีวิต โดยจำเลยได้รับเงินเดือนและแบ่งปันผลประโยชน์จากเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตจากลูกค้าที่จำเลยขายได้ เหลือรายได้สุทธิโจทก์ต้องจ่ายให้จำเลยโดยหักกลบลบหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระ ดังนี้ เมื่อคำให้การจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมจนถึงวันที่ 16 มกราคม2537 เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทบต้นถึงวันฟ้อง แสดงว่าหนี้เงินที่ค้างชำระคิดถึงวันที่ 16 มกราคม 2537 แต่เงินรายได้ของจำเลยเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยจะต้องนำเงินรายได้ของจำเลยหักกลบลบหนี้ที่จำเลยค้างชำระให้โจทก์ก่อนเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธินำเงินรายได้ดังกล่าวหักกลบลบหนี้ที่ค้างชำระตามฟ้องได้
โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชำระต้นเงินกู้ค้างชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ค้างชำระอื่น ๆ เช่น การเบิกเงิน เป็นต้น เป็นยอดหนี้ค้างชำระภายหลังที่โจทก์คิดยอดหนี้เงินกู้ตามฟ้องแล้วเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวมาด้วย โจทก์จะนำยอดหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยขอให้นำมาหักกลบลบหนี้กับยอดหนี้ตามฟ้องไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 881/2544
จำเลยว่าจ้างโจทก์รักษาความปลอดภัยภายในบริษัทจำเลยต่อมาจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ 165,850 บาท ในช่วงดังกล่าวพนักงานของโจทก์กระทำละเมิดโดยขับรถยนต์โตโยต้าของจำเลยชนรถยนต์เบนซ์ภายในบริษัทจำเลย หลังจากเกิดอุบัติเหตุพนักงานของโจทก์ได้แจ้งเรื่องให้โจทก์จำเลยทราบ ผู้แทนโจทก์ตกลงยินยอมรับผิดชอบในค่าเสียหายของรถยนต์ที่ถูกชน สำหรับรถยนต์โตโยต้าผู้แทนโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะยินยอมรับเป็นกรรมสิทธิ์ในราคา470,000 บาท ดังนั้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการทำละเมิดของพนักงานของโจทก์ ซึ่งผู้แทนโจทก์ยอมรับผิดชอบโจทก์จะว่าไม่มีผลผูกพันโจทก์หาได้ไม่ กรณีมิใช่เป็นเรื่องจำเลยแจ้งความประสงค์แห่งข้อเสนอเพียงฝ่ายเดียวให้โจทก์ชดใช้จำเลยจึงนำค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์โตโยต้ามาหักกลบลบหนี้ค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระได้