การทำละเมิดของผู้รับจ้างทำของ

มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4304/2558 
              โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่ดินพิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 428 ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง โจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างบ้านโดยใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในวันใด จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2558 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434 - 3440/2557
           จำเลยที่ 3 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 (3) (6) (8) (9) และ (20) แม้จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนเช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบท่าเทียบเรือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งควบคุมความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนผู้มาใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย การปิดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการปิดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2552
          โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับผู้รับเหมาร่วมกันทำละเมิด แต่การเป็นผู้รับเหมาอาจเป็นผู้รับจ้างทำของหรือเป็นลูกจ้างจำเลยที่จำเลยจ้างแรงงานก็ได้ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาทำการตอกเสาเข็มอันเป็นลักษณะของการจ้างทำของและตามคำให้การของจำเลยก็มิได้ให้การว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างทำของแต่เป็นคำให้การยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ตอกเสาเข็ม ตามคำฟ้องและคำให้การประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 428 เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 87, 142, 177 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2552
            จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ท. ให้รับเหมาก่อสร้างบ้านโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้ ท. ทำงานตรงไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ ท. เปลี่ยนแปลงขนาดเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาแพงกล่าวเดิม และเป็นคนเอาเงินให้ ท. ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้ ท. จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และการที่ ท. ไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรก ก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่า ท. เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ ท. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และแม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ฟ้อง ท. ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2550 
            จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดวิธีการให้ผู้รับจ้างตัดต้นไม้และให้คนควบคุมดูแลการตัดต้นไม้ตลอดเวลา แต่ในวันที่มีการตัดต้นไม้และทำให้ไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์ขาดก่อให้เกิดความเสียหายกลับไม่มีผู้ใดควบคุม การที่ผู้รับจ้างไม่มีความรู้ความชำนาญในการตัดต้นไม้ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างข้างเคียงหรือไม่ยอมทำตามวิธีการที่ถูกต้อง ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2551
           โจทก์ ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 แบ่งแยกความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 ไว้เป็นสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ค่าเสียหายทางด้านความเสียหายของทรัพย์สินซึ่งคือสิ่งปลูก สร้างอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ที่ 1 ที่ได้รับความเสียหายตามข้อ 1 ซึ่งยังมิได้ประเมินกันให้ถูกต้องและจะดำเนินการสำรวจโดยสถาบันซึ่งทั้งสอง ฝ่ายยอมรับภายในเดือนตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นและค่า ใช้จ่ายในการสำรวจทั้งหมด ส่วนที่สองได้แก่ค่าสินไหมทดแทนความเดือนร้อนรำคาญทั้งความปลอดภัยเกี่ยวกับ ชีวิตและอนามัย ซึ่งความเสียหายส่วนหลังนี้จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ที่ 1 ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เกิดข้อพิพาทจนถึงเดือนธันวาคม 2537 แล้วเป็นเงิน 500,000 บาท แต่หากการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างของอาคารไม่เสร็จภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็จะยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 35,000 บาท นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป มิได้คำนวณรวมกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังคงมีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายทางด้านทรัพย์สินซึ่งตามบันทึกข้อ ตกลงข้อ 1 ที่โจทก์ที่ 1 มิได้รับชดใช้

บันทึกข้อตกลงข้อ 1. มีข้อความระบุว่า ความเสียหายจากการก่อสร้างอาคารที่มีผลทำให้อาคารทาวน์เฮาว์เสียหายจะดำเนิน การสำรวจโดยสถาบันซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับภายในเดือนตุลาคม 2537 ไม่มีการตกลงว่าจะต้องชดใช้เงินจำนวนเท่าใด คู่กรณีตกลงจะชำระเมื่อใด และที่ไหน อย่างไร ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดในมูลหนี้ละเมิดตามเดิม จึงไม่เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ละเมิดยังคงมีอยู่ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ได้ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 ได้

ตามสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ต้องทำการก่อสร้างตามแบบแปลนและคำสั่งของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นจากการทำการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในที่ชุมนุมชนซึ่งมีอาคารบ้าน เรือนตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกันมาก่อนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2550
จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดวิธีการให้ผู้รับจ้างตัดต้นไม้และให้คนควบ คุมดูแลการตัดต้นไม้ตลอดเวลา แต่ในวันที่มีการตัดต้นไม้และทำให้ไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์ ขาดก่อให้เกิดความเสียหายกลับไม่มีผู้ใดควบคุม การที่ผู้รับจ้างไม่มีความรู้ความชำนาญในการตัดต้นไม้ที่จะก่อให้เกิดความ เสียหายแก่สิ่งก่อสร้างข้างเคียงหรือไม่ยอมทำตามวิธีการที่ถูกต้อง ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2544
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 บัญญัติว่า"ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง" โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ผิดตามมาตรา 428 ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ผิดในส่วนสั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้แก่ผู้รับจ้างอย่างไรและในการเลือกผู้รับจ้างคือบริษัท ฟ. ซึ่งเป็นผู้ตอกเสาเข็มและก่อสร้างฐานรากก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษในการก่อสร้างอาคารสูง การที่จำเลยว่าจ้างบริษัท ป. เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ย่อมหมายความว่าจำเลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือสั่งการในการทำงานแต่อย่างใด เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัททั้งสอง เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์จะต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ก่อสร้างคือบริษัท ฟ. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิด จำเลยไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันทำให้จำเลยต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942/2543
แม้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 6 และที่ 7 ตอกเสาเข็มในการก่อสร้างภัตตาคาร แต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปล่อยให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตอกเสาเข็มไปตามแบบแปลนโดยลำพัง จำเลยที่ 1 ให้ ก. เป็นวิศวกรผู้ควบคุมดูแลการตอกเสาเข็มทั้งหมด ก. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อ ก. เห็นแล้วว่าการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่มิได้สั่งห้ามหรือให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อมิให้โจทก์ต้องเสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2542 
กำแพงรั้วของโจทก์เกิดความเสียหายจากการตอกเสาเข็ม ของผู้รับจ้างก่อสร้างบ้านจำเลย โดยจำเลยได้คอยควบคุมดูแล อยู่ตลอดเวลา ถือว่าการตอกเสาเข็มเป็นไปตามคำสั่ง ของจำเลยโดยตรง โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่า ในระหว่างการก่อสร้างบ้านจำเลย ได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม ปรากฏว่าแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม โจทก์เกรงว่าอาจทำให้กำแพงรั้วคอนกรีตและตัวบ้านเสียหาย โจทก์ได้สั่งให้จำเลยแก้ไขแล้ว แต่จำเลยกลับเพิกเฉยและยังใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มต่อไปจนเสร็จ อีกทั้งมิได้หาทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านโจทก์ และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทำให้กำแพงรั้วคอนกรีต คานและหลังคา ค.ส.ล.บนกำแพงรั้วคอนกรีตของบ้านโจทก์ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วคอนกรีต ได้รับความเสียหาย อันเป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิด จากการกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 ซึ่งเป็นเรื่อง ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้าง ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใคร และมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร แม้ความรับผิด ตามมาตรา 420 อาจซ้อนกับมาตรา 428 ได้ แต่คำฟ้องโจทก์ ก็จะต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอคำบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 จึงเป็นการพิพากษา เกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2539
จำเลยที่1เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างและตอกเสาเข็มยินยอมให้จำเลยที่2ขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดินมีจำเลยที่3เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่4ดำเนินการตอกเสาเข็มบนที่ดินเมื่อเกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ที่1ซึ่งอยู่บนที่ดินข้างเคียงจำเลยที่1ถึงที่3ก็เคยเข้าไปตรวจดูแลซ่อมแซมให้บางส่วนพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่1ถึงที่3มีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยที่1แม้จำเลยที่3จะเป็นผู้จ้างให้จำเลยที่4ตอกเสาเข็มแต่ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่1ถึงที่3ด้วยถือได้ว่าจำเลยที่1ถึงที่3เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่4ในการตอกเสาเข็มซึ่งโดยปกติผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างการที่จำเลยที่4ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่1ถึงที่3ห่างรั้วกำแพงของโจทก์เพียง2เมตรเท่ากับจำเลยที่4ได้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่1ถึงที่3จำเลยที่1ถึงที่3ผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำอันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่1 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ที่1โดยพิเคราะห์ตามคำเบิกความของ ย. พยานโจทก์ที่1ประกอบภาพถ่ายและใบประเมินราคาแล้วเห็นว่ากำแพงรั้วพื้นซีเมนต์ตัวอาคารและสระน้ำเสียหายเป็นจำนวนมากจึงเหมาะสมแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2539
คดีระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมมากับโจทก์ที่ 1 แต่ก็เป็นความเสียหายที่แต่ละคนได้รับต่างหากแยกจากกัน การคำนวณทุนทรัพย์ ของแต่ละคนจึงต้องแยกจากกันด้วย เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างอาคารและตอกเสาเข็ม จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตอกเสาเข็ม อีกทั้งจำเลยที่ 1ก็เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 4ในการตอกเสาเข็ม จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ห่างรั้วของโจทก์เพียง 2 เมตร ย่อมตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มขนาดใหญ่ย่อมทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรงอันจะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7818/2538
ตามสัญญาจ้างระบุว่าจำเลยที่2ผู้รับจ้างจะต้องก่อสร้างตามรูปแบบและรายการที่จำเลยที่1ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ทุกประการและจำเลยที่1ได้แต่งตั้งให้ว.ช่างโยธาของจำเลยที่1เป็นผู้ควบคุมงานเมื่อว.เห็นว่าจำเลยที่4ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการของจำเลยที่2ใช้คนและเครื่องจักรขุดดินรางระบายน้ำเก่าโดยไม่ได้ใช้ไม้ค้ำยันและอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ดินพังลงมาแต่ว.ก็มิได้สั่งห้ามมิให้ทำเป็นเหตุให้ดินพังลงมาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายถือว่าจำเลยที่1ในฐานะผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วยจำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่2ผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา428เพราะว.ผู้ควบคุมงานของจำเลยที่1มีหน้าที่ควบคุมวิธีการก่อสร้างด้วยมิใช่มีหน้าที่เพียงควบคุมให้ผลของงานเป็นไปตามสัญญาเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2538
 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยก่อสร้างเขื่อนเพื่อกั้นดินในเขตติดต่อที่ดินโจทก์จำเลยมิให้พังทลายลงโดยไม่ได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการละเมิดโดยตรงจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคหนึ่งซึ่งมีอายุความเพียง1ปีและในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงใช้อายุความตามหลักทั่วไปตามมาตรา193/30ซึ่งมีอายุความ10ปี โดยหลักทั่วไปแล้วผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา428เมื่อจำเลยเป็นผู้กำหนดว่าจะขุดดินบริเวณใดและจำเลยร่วมได้ทำตามคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ฟ้องขอให้สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นดินยาว180เมตรความประสงค์ของโจทก์ต้องการที่จะให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิมไม่พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยเท่านั้นซึ่งการสร้างเขื่อนก็เป็นวิธีการหนึ่งที่โจทก์เห็นว่าจะกั้นดินไม่ให้พังทลายลงแต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการสร้างเขื่อนเกินความจำเป็นจึงได้ใช้วิธีถมดินแล้วบดอัดให้แน่นเพื่อป้องกันมิให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยนั้นศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำได้ไม่เกินคำขอของโจทก์แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ถมดินระยะยาวเกินกว่า180เมตรเป็นการเกินคำขอของโจทก์จึงไม่อาจทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2531
จำเลยจ้าง น.ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างอาคารชุดโดยจำเลยเลือกจ้างให้ผู้รับจ้างฝังเสาเข็มโดยวิธีตอกเพราะเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะทั้ง ๆ ที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้อาคารโจทก์และผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย แต่จำเลยก็ไม่สนใจ ถือได้ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เสียหายอย่างไร โดยแยกเป็นรายการและคำนวณค่าซ่อมรวมไว้ ซึ่งสามัญชนทั่ว ๆ ไปพอจะเข้าใจถึงสภาพของความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้คดี ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2511
จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาล จำเลยที่ 2 รับจ้างจำเลยที่1 ทำท่อระบายน้ำและทางเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ละเว้นไม่ทำการป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ถนนหรือทางเท้าตามหน้าที่ให้เรียบร้อย โดย ไม่ปิดฝาบ่อและไม่มีแสงสว่างให้เห็นทั้ง ไม่มีเครื่องหมายหรือเครื่องปิดกั้นแสดงไว้ให้ทราบฉะนั้น การที่โจทก์พลัดตกลงไปในบ่อพักท่อระบายน้ำของจำเลยที่ 1 จึง ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ายังอยู่ในระหว่างการจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 ยัง ไม่มอบงานไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่เพื่อการนี้โดยตรง เมื่อจำเลยที่ 1 ละเว้นไม่จัดการป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ถนนหรือทางเท้าตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ประมาทเลินเล่อต้องรับผิดต่อโจทก์ และจะอ้างข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ตกลงไว้กับจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบต่ออุปัทวเหตุหรือภยันตรายความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง เพื่อปัดให้ตนพ้นผิดไม่ได้ เพราะโจทก์เป็นคนนอกสัญญา
จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนคร การสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 56 ประกอบด้วยมาตรา 50 และ 53 เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างทำของ เมื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด หาได้ไม่
ในมูลละเมิด แม้โจทก์นำสืบถึงค่าที่ขาดรายได้จากการประกอบการงานถึงจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ ศาลก็กำหนดจำนวนค่าเสียหายให้ได้