สิทธิยึดหน่วง

มาตรา ๒๔๑  ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๒๔๒  สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย

มาตรา ๒๔๓  ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิจะยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ได้ แม้ทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกร้อง ถ้าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถใช้หนี้นั้นได้เกิดเป็นขึ้นหรือรู้ถึงเจ้าหนี้ต่อภายหลังเวลาที่ได้ส่งมอบทรัพย์สินไซร้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ไว้เดิม หรือไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก็ดี เจ้าหนี้ก็อาจจะใช้สิทธิยึดหน่วงได้

มาตรา ๒๔๔  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจะใช้สิทธิของตนแก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่ยึดหน่วงไว้นั้นจนกว่าจะชำระหนี้สิ้นเชิงก็ได้

มาตรา ๒๔๕  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจะเก็บดอกผลแห่งทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้ และจัดสรรเอาไว้เพื่อการชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้คนอื่นก็ได้
ดอกผลเช่นว่านี้จะต้องจัดสรรเอาชำระดอกเบี้ยแห่งหนี้นั้นก่อน ถ้ายังมีเหลือจึงให้จัดสรรใช้ต้นเงิน

มาตรา ๒๔๖  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจำต้องจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้นั้นตามสมควร เช่นจะพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะเช่นนั้น
อนึ่งทรัพย์สินซึ่งยึดหน่วงไว้นั้น ถ้ามิได้รับความยินยอมของลูกหนี้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหาอาจจะใช้สอยหรือให้เช่า หรือเอาไปทำเป็นหลักประกันได้ไม่ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับไปถึงการใช้สอยเช่นที่จำเป็นเพื่อจะรักษาทรัพย์สินนั้นเอง
ถ้าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติใดที่กล่าวมานี้ ท่านว่าลูกหนี้จะเรียกร้องให้ระงับสิทธินั้นเสียก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15310/2558
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติให้ เงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม มีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้บัญญัติให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แม้ ป.พ.พ. มาตรา 256 จะบัญญัติให้ บุริมสิทธิค่าภาษีอากรใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น

มาตรา ๒๔๗  ถ้าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงต้องเสียค่าใช้จ่ายไปตามที่จำเป็นเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันตนยึดหน่วงไว้นั้นเพียงใด จะเรียกให้เจ้าทรัพย์ชดใช้ให้ก็ได้

มาตรา ๒๔๘  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๙๓/๒๗ การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่

มาตรา ๒๔๙  ลูกหนี้จะเรียกร้องให้ระงับสิทธิยึดหน่วงด้วยหาประกันให้ไว้ตามสมควรก็ได้

มาตรา ๒๕๐  การครองทรัพย์สินสูญสิ้นไป สิทธิยึดหน่วงก็เป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ทรัพย์สินอันยึดหน่วงไว้นั้นได้ให้เช่าไปหรือจำนำไว้ด้วยความยินยอมของลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13204/2558
จำเลยเป็นสถาบันการเงินประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ บ. ที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับมีการประทับข้อความว่า หากหมดอายุการบังคับหรือหมดภาระผูกพันแล้วโปรดคืนธนาคาร (หมายถึงจำเลย) อันเป็นการแสดงว่าหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของจำเลยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของบริษัท ค. ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารไว้กับโจทก์หาใช่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงหรือหลักประกันอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ค. ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับ หนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับย่อมสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลย

แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในอีกคดีหนึ่งพิพากษาให้โจทก์คดีนี้คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ถ้าหากโจทก์คืนให้บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปแล้วบริษัท ค. ผู้รับจ้างก็ต้องนำไปคืนให้จำเลยเนื่องจากเป็นเอกสารของจำเลย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับของจำเลยเนื่องจากสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2558
จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของโจทก์ ทั้งมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในขณะทำการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างงวดงานจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงเพื่ออยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558
โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8752/2556
การที่ผู้ตายมอบใบจอง (น.ส.2) ให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน แม้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิยึดหน่วงแก่จำเลยเพราะหนี้ที่จำเลยมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่จำเลยจะได้รับชำระหนี้คืนจากผู้ตายเท่านั้น หาได้มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยที่ดินใบจอง (น.ส.2) ซึ่งครอบครองไว้นั้นจึงไม่เป็นสิทธิยึดหน่วงดังที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้างก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีเมื่อผู้ตายมอบใบจอง (น.ส.2) ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งจำเลยมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนจนเสร็จสิ้นเชิง จำเลยย่อมมีสิทธิยึดถือใบจอง (น.ส.2) ดังกล่าวไว้

โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องเรียกใบจอง (น.ส.2) ที่พิพาทซึ่งมีชื่อผู้ตายเป็นผู้ขอเข้าครอบครองที่ดินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือ หาใช่ฟ้องเรียกที่ดินคืนจากจำเลย แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาทเนื่องจากผู้ตายขายที่พิพาทให้จำเลยแล้ว ก็ถือว่าจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องคืนต้นฉบับใบจอง (น.ส.2) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555
การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป

เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2554
โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่ผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ผู้รับตราส่งมีผลให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครอบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อน ๆ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เพราะจำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น นับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549จำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี เมื่อนับระยะเวลาจากวันครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2549
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับ ร. ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ และการที่โจทก์กับ ร. ตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยเป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. อีกจำนวนหนึ่ง เห็นได้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มนั้นเป็นสาระสำคัญที่จะต้องตกลงกัน แต่จำเลยก็ยังไม่มีการตกลงกันในรายละเอียดว่าจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับ ร. เป็นจำนวนเท่าใด จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4671/2549เจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 ต้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ คำว่า สิทธิยึดหน่วง หมายถึง สิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้..." การที่ลูกหนี้นำห้องชุดมาวางและทำหนังสือประกันไว้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการอันเป็นศาลยุติธรรมเป็นองค์กรแห่งรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่มีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการครอบครองทรัพย์สินไว้ให้เจ้าหนี้ เจตนาของลูกหนี้ในการทำหนังสือประกันก็เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาตามกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีข้อความใดในหนังสือประกันที่แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ทำหนังสือประกันดังกล่าวเพื่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้มีมูลหนี้มาจากสัญญาจ้างทำของที่ลูกหนี้จ้างเจ้าหนี้ผลิตงานโฆษณาโดยทำเป็นวิดีโอเพื่อเผยแพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับค่าจ้างตอบแทนเท่านั้น หาใช่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้เกี่ยวด้วยห้องชุดที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันแต่อย่างใด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงห้องชุดดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141/2548การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าและการที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงราคาสินค้าและค่าสินจ้างไว้ได้ ดังนี้ การชำระหนี้จึงยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือ นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9208 - 9209/2547
การปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียง 6 เดือน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 113 วรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาด้วยการนำโฉนดที่ดินมาให้จำเลยยึดถือไว้อีก จำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547
โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1755 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7125/2547ผู้ร้องรับสินค้าเหล็กพิพาทลงเรือลำเลียงและลากเรือลำเลียงไปลอยลำไว้ในความดูแลเพื่อรอคำสั่งจากโจทก์และจำเลยให้ทำการขนส่งต่อไป จึงย่อมมีสิทธิยึดหน่วงเหล็กพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่รับสินค้าไว้ในความดูแล โดยสามารถใช้สิทธินี้ยันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งที่ออกไว้สำหรับการขนส่งเหล็กพิพาทครั้งนี้ได้ การที่สินค้าเหล็กพิพาทได้ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรอายัดและตกอยู่ภายใต้อารักขาของเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามพิธีการศุลกากรให้เสร็จสิ้น ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาสละการครอบครองหรือเจตนาไม่ยึดถือเหล็กพิพาทไว้ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ มาตรา 250 เมื่อผู้ร้องยังมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าอยู่ แม้ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้ยึดเหล็กพิพาทนั้นไว้เพื่อเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้สิทธิยึดหน่วงของผู้ร้องสูญสิ้นไปเช่นกัน นอกจากผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องยังมีบุริมสิทธิเหนือสินค้าเหล็กนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 259 และมาตรา 267 สำหรับเอาค่าระวางพาหนะในการรับขน กับทั้งค่าใช้จ่ายอันเป็นอุปกรณ์และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือของอันอยู่ในมือของผู้ขนส่ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิในมูลรับขนก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2546โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาท โดยมีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้โจทก์เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองโจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนและจำเลยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วแม้สิทธิครอบครองจะยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์เพราะคู่สัญญาประสงค์จะให้มีการโอนทางทะเบียน แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินด้านทิศใต้ส่วนที่โจทก์ครอบครอง แล้วโอนให้โจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ก็เป็นเพียงประมาณการเท่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ช่างรังวัดสอบเขตและทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยเป็นผู้นำชี้ซึ่งช่างรังวัดที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองได้เนื้อที่27 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเนื้อที่ซึ่งปรากฏในแผนที่พิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2546จำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวนั้นเอง แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 หมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นหนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดิน
ข้อเท็จจริงที่ว่าจะมีการนำโฉนดที่ดินที่มอบให้ผู้ร้องยึดถือไปจำนองเป็นประกันการกู้เงินตามหนังสือสัญญากู้นั้นด้วย เป็นข้ออ้างว่าผู้ร้องมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยโฉนดที่ดิน ซึ่งจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย ที่จะสนับสนุนว่าผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วง ผู้ร้องต้องอ้างมาในคำร้องด้วย จะนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องหาได้ไม่ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นเพียงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในคำร้องของผู้ร้องแม้จะเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275,276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2545
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลย โดยชำระราคาให้บางส่วนแล้วส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยส่งมอบให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาท อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวซึ่งจำเลยในฐานะผู้จะขายยังมีหนี้ที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้ได้จนกว่าจำเลยจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายเกินกว่า10 ปี ซึ่งขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 ระบุไว้ว่า แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็ยังคงมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่ตนได้พร้อมรับเงินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2545
จำเลยซื้อแผ่นพลาสติกพร้อมติดตั้งจากโจทก์เพื่อใช้ปูบ่อบำบัดน้ำเสียของจำเลยโจทก์ส่งมอบงานปูแผ่นพลาสติกในบ่อบำบัดน้ำเสียให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยใช้บ่อบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 2 ถึง 3 เดือน แผ่นพลาสติกที่ปูไว้ได้โป่งพองลอยขึ้นอันเป็นความบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อส่งมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 โดยจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้แต่เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเท่านั้น เมื่อโจทก์ติดต่อกับจำเลยขอเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมโดยอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องใช้บ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว ไม่สามารถสูบน้ำออกจากบ่อได้เพราะจะทำให้เสียรายได้ ถือเป็นข้ออ้างที่ไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างจะสามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ดังนั้นการที่โจทก์ไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานได้จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่ค้างชำระอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2544
หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยรถยนต์พิพาทอันจะก่อสิทธิแก่จำเลยที่จะยึดหน่วงรถยนต์พิพาทไว้ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเท่านั้น การชำระเงินดาวน์ของโจทก์ต่อจำเลยหาใช่หนี้ที่จะก่อให้จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาทไม่แม้หากโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หามีสิทธินำรถยนต์พิพาทกลับมาไว้ในครอบครองเพื่อบังคับให้โจทก์ชำระหนี้โดยไม่มีข้อสัญญากำหนดให้มีสิทธิกระทำได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2544แม้จำเลยทั้งสองจะจ้างโจทก์ทำเพลทแม่พิมพ์หลายครั้งแต่ในการจ้างแต่ละครั้งสามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้น หนี้ค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เกี่ยวกับการว่าจ้างครั้งที่ 4 และไม่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยเพลทแม่พิมพ์ตามสัญญาจ้างครั้งที่ 4 ที่โจทก์ยึดถือไว้ ทั้งหนี้ค่าจ้างทำเพลทแม่พิมพ์ครั้งที่ 4 ก็ยังไม่ถึงกำหนดชำระเนื่องจากโจทก์ให้เครดิตแก่จำเลยทั้งสองเป็นเวลา 90 วัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงเพลทแม่พิมพ์ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2544
อ. กับ ส. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์2510 โดย อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านในปี 2510 ต่อมา ส. จะแบ่งแยกที่ดินโอนแก่ อ. แต่การแบ่งแยกมีปัญหาเพราะมีการฟ้องร้องระหว่าง ส. กับเจ้าของเดิม คดีถึงที่สุดในปี 2514 และ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2522การที่ ส. ยอมให้ อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านจนกระทั่ง อ. ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองต่อมา โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ส. จะปฏิบัติตามสัญญาโดยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241และมาตรา 193/27 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เมื่อปี 2536 จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2682/2543แม้จำเลยทำสัญญาจะขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โดยจำเลยได้รับ ชำระราคาจากโจทก์แล้วตั้งแต่ปี 2521 โจทก์ซึ่งสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาท มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ไปดำเนินการยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกเพื่อ จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ต่อเจ้าพนักงานได้ ฟ้องโจทก์ ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1898/2543หนี้กู้ยืมเงินเกินห้าสิบบาทขึ้นไปที่มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ ผู้ให้ยืมจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินของผู้ยืมไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2541การที่โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว ดังนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายในเรื่องสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดพิพาท ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดพิพาทจนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2540แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกิดแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่ประกันภัย เนื่องจากอุบัติเหตุจนรถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ กล่าวคือ ค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้เริ่มนับแต่รถยนต์ที่ประกันภัยเกิดอุบัติเหตุเสียหายใช้การไม่ได้จนกระทั่งซ่อมเสร็จใช้การได้ตามปกติ โจทก์จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเข้ายกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ดังกล่าวก็ตาม แต่ความเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ตามฟ้อง เป็นค่าขาดประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จแล้วและเกิดจากเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าซ่อมครบถ้วนแก่ผู้ซ่อม ทำให้ผู้ซ่อมใช้สิทธิยึดหน่วงรถยนต์ของโจทก์ไว้ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเพราะเกิดจากคนละเหตุ โจทก์จึงเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2539ผ.ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริงโดยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทแล้วและได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาแม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือแต่เมื่อมีการชำระหนี้กันแล้วก็มีผลใช้บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคสองเมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์แม้ผ.จะถึงแก่ความตายแล้วกว่า30ปีโจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของผ. ให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา241และมาตรา193/27คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2758/2539โจทก์ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาจำนองแล้วหนี้ตามสัญญาจำนองที่โจทก์มีต่อจำเลยจึงเป็นอันระงับสิ้นไปสัญญาจำนองที่โจทก์ทำไว้แก่จำเลยย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา744(1)จำเลยจึงมีหน้าที่ไปขอจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอมอบที่ดินให้จำเลยทำการแทนในการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนของพ. จึงเป็นกรณีที่โจทก์สมัครใจเข้ามาใช้หนี้ของพ.ลูกหนี้โจทก์แทนพ. โดยยอมให้จำเลยขายที่ดินของโจทก์นำเงินมาชำระหนี้ย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันโจทก์จำเลยจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินตามฟ้องไว้จนกว่าความรับผิดในหนี้ของพ. จะสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7170/2538
โจทก์มีหนี้ผูกพันที่จะต้องคืนเงินที่จำเลยได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารแทนโจทก์ส่วนข้อตกลงที่ว่าเมื่อจำเลยไถ่ถอนจำนองแล้วโจทก์จะต้องขายที่ดินที่ไถ่ถอนจำนองดังกล่าวที่ให้จำเลยยึดเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินไว้ให้แก่จำเลยนั้นเป็นข้อตกลงอีกต่างหากหาใช่หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่จำเลยไถ่ถอนมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา241ไม่จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินของโจทก์เมื่อโจทก์นำเงินมาวางศาลเต็มตามจำนวนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารแทนโจทก์แล้วจำเลยจึงต้องคืนเอกสารสิทธิที่อยู่กับจำเลยให้แก่โจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินคืนจำเลยต่อสู้ว่าไม่ต้องคืนเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6321/2538
จำเลยเป็นหนี้ค่าซ่อมรถยนต์จำนวน 233,149 บาท เมื่อ?โจทก์วางบิลเพื่อเก็บเงินตามข้อตกลงแล้ว จำเลยไม่ยอมรับการวางบิลและไม่ยอม ชำระเงินดังกล่าว จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ของ?จำเลยที่รับซ่อมไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2538
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทสองฉบับชำระค่าจ้างถมดินทำถนนให้ส. โดยสัญญาว่าจ้างระบุว่าถ้าส. ผู้รับจ้างถมที่ดินไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดจำเลยผู้ว่าจ้างสามารถอายัดเช็คทั้งสองฉบับได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้นดังนี้เมื่อส. มิได้ถมดินให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาจำเลยย่อมมีสิทธิยึดหน่วงการชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับได้ตามกฎหมายรวมทั้งมีสิทธิอายัดการใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับต่อธนาคารตามสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายและการที่ส. ถมดินทำถนนไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาส. ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้เต็มตามสัญญาได้แม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คสองฉบับแต่เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาในมูลหนี้อันเดียวกันไม่สามารถแบ่งแยกกันได้การออกเช็คของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4ระคนอยู่ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจำเลยจึงไม่มีความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 180/2538ฉ. ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทแม้ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้ ฉ. ฉ. ก็หาได้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดฉบับดังกล่าวไม่จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดฉบับดังกล่าวไว้ได้เมื่อ ฉ. ส่งมอบโฉนดฉบับพิพาทให้แก่จำเลยและยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงย่อมมีอำนาจติดตามเอาโฉนดซึ่งเป็นเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินของโจทก์กลับคืนมาได้จำเลยไม่อาจอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงโฉนดฉบับพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เพราะหนี้เงินกู้มิได้เป็นหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดฉบับพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา241วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2537กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทการที่จำเลยทั้งสองไม่คืนอุปกรณ์ให้โจทก์ร่วม เพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเป็นของ ม. และ ม. เป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งสองจะคืนให้ เมื่อโจทก์ร่วมใช้ค่าติดตั้งในการดำเนินกิจการเคเบิ้ลทีวีร่วมกันในนามของ ว. จึงเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงอย่างหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองขาดเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2948/2536เงินส่วนที่นำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนซึ่งโจทก์ได้จ่ายให้พนักงานแล้ว เพียงแต่ให้สิทธิโจทก์หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์แก่พนักงานเมื่อออกจากงานเท่านั้น ตามระเบียบของโจทก์ เมื่อพนักงานของโจทก์ออกจากงานก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจากบัญชีสมทบทุนทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆโจทก์เพียงแต่มีสิทธิยึดหน่วงไว้เพื่อชำระหนี้ที่พนักงานยังคงค้างชำระแก่ตนเท่านั้นแม้ในระหว่างที่ยังทำงานอยู่พนักงานไม่มีสิทธิถอนเงินดังกล่าว และอำนาจจัดการเงินกองทุนจะตกเป็นเด็ดขาดของผู้ควบคุม 3 คน โดยตำแหน่ง คือ กรรมการผู้จัดการ สมุห์บัญชี และผู้จัดการบุคคลของโจทก์ แต่ต้องเป็นการจัดการตามระเบียบที่กำหนดไว้ อันเป็นประโยชน์ในการสะสมทรัพย์ให้พนักงาน ผู้ควบคุมโดยตำแหน่งทั้ง 3 คนดังกล่าวแม้เป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ แต่ก็เป็นพนักงานของโจทก์และเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย การเป็นผู้ควบคุมของบุคคลทั้งสามมิให้ทำในนามโจทก์ แต่เป็นการทำแทนสมาชิกทุกคนรวมทั้งบริษัทโจทก์ด้วย เงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้พนักงานแต่ละคนรวมทั้งเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือนของโจทก์ซึ่งนำมาหักเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ได้ โดยโจทก์ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนทั้งหมดของพนักงานไว้ตามมาตรา 50 แล้วนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอตามมาตรา 52 จึงเป็นเงินที่จ่ายขาดจากโจทก์แล้ว เงินส่วนที่หักจากเงินเดือนนำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงานนับแต่นั้น ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินฝากนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงาน หาใช่เงินได้ของโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2535
โจทก์กับ อ. ร่วมกันเปิดศูนย์ภาษาขึ้นที่ตึกแถวของจำเลยโดยตกลงกันว่า โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหมดและจะจ่ายผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนให้แก่จำเลยในอัตราร้อยละ 30ของค่าจ้างที่ได้รับ โจทก์ได้ซื้อทรัพย์พิพาทมาจากบุคคลภายนอกเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของศูนย์ภาษาในตึกแถวดังกล่าวโดยไม่มีหนี้อันเกี่ยวด้วยทรัพย์พิพาทนั้นแต่อย่างใด ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าค่าโทรศัพท์ และค่าผลประโยชน์ที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยอยู่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการของศูนย์ภาษา หาใช่เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์พิพาทซึ่งจำเลยครองอยู่ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์พิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2534การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถและสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้วจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แต่มีหน้าที่ส่งมอบแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไปจดทะเบียนใส่ชื่อบริษัท ซ. จำกัด เป็นเจ้าของรถถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188