บุริมสิทธิสามัญ

มาตรา 253 ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่ง อย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทั้งหมดของลูกหนี้ คือ
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
(2) ค่าปลงศพ
(3) ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ ทำให้แก่ ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้าง
(4) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน

มาตรา 254 บุริมสิทธิในมูลค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันนั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายอันได้เสียไป เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้หมด ทุกคนร่วมกันเกี่ยวด้วยการรักษา การชำระบัญชี หรือการเฉลี่ย ทรัพย์สินของลูกหนี้
ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียไป เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้หมดทุกคน ไซร้บุริมะสิทธิย่อมจะใช้ได้แต่เฉพาะต่อเจ้าหนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ จากการนั้น

มาตรา 255 บุริมสิทธิในมูลค่าปลงศพนั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่าย ในการปลงศพตามควรแก่ฐานานุรูปของลูกหนี้

มาตรา 256 บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรนั้น ใช้สำหรับเอาบรรดา ค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยัง ค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง

มาตรา 257 บุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ให้ใช้สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง

มาตรา 258 บุริมสิทธิในมูลค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็น ประจำวันนั้น ใช้สำหรับเอาค่าเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งยังค้างชำระ อยู่นับถอยหลังขึ้นไปหกเดือน เช่นค่าอาหาร เครื่องดื่ม โคมไฟ ฟืน ถ่าน อันจำเป็นเพื่อการทรงชีพของลูกหนี้และบุคคลในสกุลซึ่งอยู่ กับลูกหนี้ และซึ่งลูกหนี้จำต้องอุปการะกับทั้งคนใช้ของลูกหนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032 - 5080/2548
หนี้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือนแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคน หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 257 อยู่ในฐานะหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (6) ส่วนดอกเบี้ยหรือเงินที่เกินหนึ่งแสนบาท เจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7)

การที่เจ้าหนี้ได้นำหนี้สินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นไปฟ้องเป็นคดีแรงงาน จนกระทั่งศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) มีคำพิพากษา ถือว่าเป็นการรับรองสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้อีกชั้นหนึ่งและทำ ให้เจ้าหนี้มีสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และเจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้อันเกิดจากการเลิกจ้างซึ่งมีคำพิพากษารับรองแล้วมา ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็หาทำให้บุริมสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ก่อนแล้วเปลี่ยน แปลงไปแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2545
โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับ มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมมากที่สุด เมื่อผู้ตาย มิได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการศพ และทายาทก็มิได้มอบหมายให้บุคคลใดจัดการทำศพ โจทก์จึงมีอำนาจและหน้าที่จัดการศพผู้ตายตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จัดการศพไปแล้วย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ จากกองมรดกได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1650 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253(2) ดังนั้น การที่โจทก์จ่ายเงินจัดการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 253(2) ประกอบมาตรา 1739(2)จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวตามส่วนแต่ ต้องไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2545
แม้เจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมีสิทธิยื่นคำร้องให้ตนเข้าเฉลี่ยในเงินดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้สามัญได้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 และ 290 แต่ทั้งสองกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิคนละมาตรา คนละเรื่อง และคนละประเด็นกัน เมื่อได้ความว่าหนี้ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่ผู้ร้องเป็นเพียงหนี้สามัญมิใช่หนี้บุริมสิทธิ ฉะนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ตนก่อนนั้น ศาลจะสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแทนการอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์หาได้ไม่ เพราะเป็นการพิจารณาสั่งนอกฟ้องนอกประเด็นในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5311/2544
ธ. และ ย. ยื่นคำร้องต่อศาลขอรับชำระหนี้จำนองที่มีอยู่เหนือทรัพย์จำนองของผู้ร้องสอดจำนวน 13,950,000 บาทแต่เงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองมีเพียง7,601,977 บาท การที่ ธ. และ ย. แถลงต่อศาลว่า เมื่อได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดในคดีนี้แล้ว ก็ไม่ติดใจที่จะเรียกหนี้สินจากผู้ร้องสอดอีกต่อไป ย่อมหมายถึง ตกลงรับชำระหนี้เพียงเงินจำนวนสุทธิทั้งหมดที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเท่านั้น ส่วนการที่ ธ. และ ย. จะมอบเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์เป็นเงิน1,101,977 บาท นั้นก็เป็นเงินของ ธ. และ ย. ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดหักไว้เพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ตามที่ธ. และ ย. ได้ตกลงกับโจทก์นั่นเอง มิใช่เงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดหรือเหลือจากการชำระหนี้จำนองให้แก่ ธ. และย. ซึ่งจะต้องนำมาเฉลี่ยให้แก่โจทก์และกรมสรรพากรผู้ร้อง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 253(3) เมื่อ ธ. และ ย. ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปหมดแล้ว ย่อมไม่เหลือทรัพย์ที่ผู้ร้องจะเข้ามามีส่วนเฉลี่ยได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2534
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของจำเลยก่อนเจ้าหนี้รายอื่นโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีการค้าที่จำเลยค้างชำระอยู่ อันเป็นหนี้บุริมสิทธิเมื่อ ทางพิจารณา ได้ความ ว่า หนี้ค่าภาษีการค้าที่ค้างชำระนั้นเป็นหนี้สามัญ ศาล ก็ ต้อง ยกคำร้อง ของผู้ร้องเสีย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าตามคำร้องเป็น กรณี ขอเฉลี่ยทรัพย์ ของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ด้วยหรือไม่ เพราะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นในคดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนโดยอาศัยอำนาจแห่ง บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวน ทุนทรัพย์ ที่เรียกร้อง ผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1(1) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2531
เมื่อจำเลยตกลงยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามที่ได้รับประกันภัยไว้แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะได้รับแจ้งจากกรมสรรพากรมิให้ชำระเงินแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ยังมีหนี้ค้างชำระค่าภาษีอากรอยู่ก็ตาม แต่คำสั่งของกรมสรรพากรดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งศาลที่แจ้งให้จำเลยงดชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งหนี้ค่าภาษีอากรเป็นบุริมสิทธิสามัญ มิใช่บุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์ที่เอาประกันอันกรมสรรพากรจะเรียกร้องเอากับจำเลยผู้ประกันได้กรณีเช่นนี้จำเลยจึงไม่อาจขอให้ศาลเรียกกรมสรรพากรเข้ามาเป็นจำเลยร่วมหรือปฏิเสธจำนวนหนี้ที่จำเลยยอมรับผิดนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2531
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่จำนองโจทก์ไว้ก่อนเจ้าหนี้อื่นส่วนหนี้ของโจทก์นอกจากหนี้จำนองเป็นหนี้สามัญที่เจ้าหนี้อื่น ๆ มีสิทธิขอเฉลี่ยจากเงินที่เหลือ แต่กรมสรรพากรเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3) ย่อมมีสิทธิ ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น ๆ จากเงินที่เหลือจากการชำระหนี้ จำนองใช้แก่โจทก์แล้วและจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินอื่นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2526
หนี้ค่าชดเชยของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่เป็นบุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 ส่วนหนี้ค่าจ้างคนงานที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นบุริมสิทธิตามมาตรา 253(4) และมาตรา 257 วรรคสอง ซึ่งโจทก์มีบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างนับถอยหลังไปสองเดือนแต่ไม่เกิน 150 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2522
บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปีปัจจุบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 นั้น คำว่า'ปีปัจจุบัน' หมายถึงปีที่ผู้มีบุริมสิทธิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เอาเงินของลูกหนี้มา ชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่ผู้มีบุริมสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1019/2519
ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างโดยสั่ง ยึดและสั่งขายทอดตลาดได้เองไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลสิทธิของผู้ ร้องตามประมวลรัษฎากรจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องก็มีสิทธิจะขอเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเงิน ที่ได้จากการขายทอดตลาดได้ แต่จะอ้างบุริมสิทธิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 ได้เฉพาะที่ค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่งตามมาตรา 256 การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยเมื่อเกินกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2511
จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2507-2508 โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้า ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ถือว่าผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าทุกชนิดได้ขายสินค้านั้นในวันนำเข้าในราชอาณาจักร จำเลยย่อมมีรายรับตามมูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร และมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีการค้าทุกเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป มูลหนี้ค่าภาษีการค้าจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนภาษีที่จำเลยผู้ประกอบการค้ามีรายรับ
การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินในภายหลัง เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า แล้วมีหนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวไม่ทำให้มูลหนี้ค่าภาษีการค้าเพิ่งเกิด แม้หนังสือแจ้งยอดเงินภาษีที่ประเมินจะเพิ่งมีไปยังจำเลยภายหลังจากจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว กรมสรรพากรก็ยังมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้า ซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนได้
เบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งผู้ประกอบการค้าต้องเสียตามประมวลรัษฎากรถือว่าเป็นเงินภาษีด้วย
สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี
คำขอรับชำระหนี้ของกรมสรรพากรซึ่งระบุว่าขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากร (ภาษีการค้า) ถือได้ว่าขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ เพราะค่าภาษีอากรเป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3) อยู่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198 - 1199/2511
ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มสองเท่า และให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนอีกด้วย จึงแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า กฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าหนี้อากรที่ค้างไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้น จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่
การดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ย่อมมีค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิศาลก็ย่อมสั่งให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่เสียไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องได้ แต่ค่าฤชาธรรมเนียมนี้ไม่เป็นบุริมสิทธิ ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ภาษีอากร เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ภาษีอากร ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในฐานเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2511
หนี้ค่าภาษีอากรซึ่งมีบุริมสิทธิสามัญนั้นต้องเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบัน และก่อนนั้นขึ้นไปปีหนึ่ง
หนี้ค่าภาษีอากรปี 2503 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบและประเมินเพิ่มให้จำเลยชำระเมื่อปี 2505 แม้จำเลยจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และอุทธรณ์ต่อไปยังศาลก็ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากรเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดี(กรมสรรพากร)
เมื่อผู้ร้องมิได้อ้างว่า มีการอนุมัติของอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมไม่มีเหตุที่จะอ้างว่าหนี้ค่าภาษีอากรถึงกำหนดชำระเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอผัดและผ่อนชำระภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89ทวิ แต่อธิบดีไม่อนุญาต ไม่มีผลทำให้หนี้ถึงกำหนดภายหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2509
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 284 เจ้าหนี้บุริมสิทธิสามัญที่มิได้ลงทะเบียนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ใดๆ ที่ไม่มีหลักประกันพิเศษได้เท่านั้น ในทางกลับกันเจ้าหนี้บุริมสิทธิสามัญก็ไม่มีสิทธิจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันพิเศษและตามมาตรา 287 บุริมสิทธิที่อาจใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองนั้น จะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้วตามมาตรา 285 และ 286 เท่านั้น ฉะนั้น เจ้าหนี้บุริมสิทธิสามัญเกี่ยวกับหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 253(3) จึงจะมาขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมิได้