ผลแห่งบุริมสิทธิ

4. ผลแห่งบุริมสิทธิ

มาตรา 281 บุริมสิทธิอันมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์นั้น ท่านห้ามมิ ให้ใช้ เมื่อบุคคลภายนอกได้ทรัพย์นั้นจากลูกหนี้และได้ส่งมอบทรัพย์ ให้กันไปเสร็จแล้ว

มาตรา 282 เมื่อมีบุริมสิทธิแย้งกับสิทธิจำนำสังหาริมทรัพย์ ท่านว่าผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิใน ลำดับที่หนึ่งดังที่เรียงไว้ใน มาตรา 278 นั้น

มาตรา 283 บุคคลผู้มีบุริมสิทธิสามัญต้องรับชำระหนี้เอาจาก สังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ก่อน ต่อเมื่อยังไม่พอจึงให้เอาชำระหนี้จาก อสังหาริมทรัพย์ได้
ในส่วนอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องรับชำระหนี้เอาจากอสังหาริม ทรัพย์อันมิได้ตกอยู่ในฐานเป็นหลักประกันพิเศษเสียก่อน
ถ้าบุคคลใดมีบุริมสิทธิสามัญและละเลยด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่สอดเข้าแย้งขัดในการแบ่งเฉลี่ยทรัพย์ ตามความที่กล่าวมาใน วรรคทั้งสองข้างบนนี้ไซร้ อันบุคคลนั้นจะใช้บุริมสิทธิของตนต่อ บุคคลภายนอกผู้ได้จดทะเบียนสิทธิไว้แล้วเพื่อจะเอาใช้จนถึงขนาด เช่นที่ตนจะหากได้รับเพราะได้สอดเข้าแย้งขัดนั้น ท่านว่าหาอาจ จะใช้ได้ไม่
อนึ่ง บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคทั้งสามข้างต้นนี้ ท่านมิให้ใช้ บังคับหากว่าเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์ได้นั้น จะพึงต้องเอามาแบ่ง เฉลี่ยก่อนเงินที่ขายทรัพย์สินอย่างอื่นก็ดี หรือหากว่าเงินที่ขาย อสังหาริมทรัพย์อันตกอยู่ในฐานเป็นหลักประกันพิเศษนั้นจะพึงต้อง เอามาแบ่งเฉลี่ยก่อนเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นก็ดุจกัน

มาตรา 284 บุริมสิทธิสามัญนั้น ถึงแม้จะมิได้ไปลงทะเบียนเกี่ยว ด้วยอสังหาริมทรัพย์ก็ดี ย่อมจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใด ๆ ที่ ไม่มีหลักประกันพิเศษนั้นได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการ ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้ไปลงทะเบียนสิทธิไว้

มาตรา 285 บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าหากว่า เมื่อทำการเพื่อบำรุงรักษานั้นสำเร็จแล้ว ไปบอกลงทะเบียนไว้โดย พลันไซร้ บุริมะสิทธิก็คงให้ผลต่อไป

มาตรา 286 บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบน อสังหาริมทรัพย์นั้น หากทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอก ลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือการทำไซร้ บุริมสิทธิก็คงให้ผลต่อไป แต่ถ้าราคาที่ทำจริงนั้นล้ำราคาที่ได้ประมาณไว้ชั่วคราว ท่านว่า บุริมสิทธิในส่วนจำนวนที่ล้ำอยู่นั้นหามีไม่
ส่วนการที่จะวินิจฉัยว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะ การอันได้ทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์มากน้อยเพียงใดนั้น ท่านให้ศาล ตั้งแต่งผู้เชี่ยวชาญขึ้นเป็นผู้กะประมาณ ในเวลาที่มีแย้งขัดในการ แบ่งเฉลี่ย

มาตรา 287 บุริมสิทธิใดได้ไปจดลงทะเบียนแล้วตามบทบัญญัติ แห่ง มาตรา ทั้งสองข้างบนนี้ บุริมสิทธินั้นท่านว่าอาจจะใช้ได้ก่อนสิทธิ จำนอง

มาตรา 288 บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นหากว่า เมื่อไปลงทะเบียนสัญญาซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคา หรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้ บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป

มาตรา 289 ว่าถึงผลแห่งบุริมสิทธินอกจากที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 281 ถึง มาตรา 288 นี้แล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะจำนอง มาใช้บังคับด้วยตามแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2549
โจทก์รับจ้างทำของบนที่ดินของจำเลยที่ 1 อันทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 (2) แต่ก่อนลงมือทำการงานจ้าง โจทก์ไม่ได้ทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันโจทก์มีอยู่ย่อมสิ้นผลไปตามมาตรา 286 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพทย์ในมูลจ้างทำของขึ้นบนที่ดินของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2523
จำเลยซื้อที่ดินของโจทก์ แต่ยังมิได้ชำระราคาที่ดินทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนที่ดินที่ซื้อขายกันโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนราคาที่ดินส่วนที่ยังค้างชำระเป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ค่าที่ดินที่จำเลยยังค้างชำระ อันทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เหนือที่ดินนั้น เพื่อเอาชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งหากได้ไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนสิ้นเชิงได้ หามีบทบัญญัติอื่นใดที่จะตัดทอนอำนาจของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ไม่ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 289 จะได้บัญญัติว่า'ว่าถึงผลแห่งบุริมสิทธินอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 281ถึง 288 นี้แล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะจำนองมาใช้บังคับด้วยตามแต่กรณี' ก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าให้นำมาใช้เท่าที่ไม่ขัดต่อบทในลักษณะบุริมสิทธิ ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเอาชำระหนี้จากอสังหาริมทรัพย์นั้นก่อนเจ้าหนี้อื่นเท่านั้น เหตุดังกล่าวจึงนำบทบัญญัติมาตรา 733 มาใช้บังคับแก่คดีไม่ได้ ดังนั้น หากยึดที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิขายทอดตลาดยังไม่พอชำระหนี้มาตรา273,276 ห้ามเพียงมิให้โจทก์บังคับบุริมสิทธิเอาแก่ทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากที่ดินที่จดทะเบียนบุริมสิทธิตามฟ้องเท่านั้น แต่มิได้ห้ามโจทก์ในอันที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระหนี้จนกว่าจะครบอย่างเจ้าหนี้สามัญศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นมาชำระหนี้จนกว่าจะครบได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2523)