จัดการงานนอกสั่ง



มาตรา ๓๙๕  บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องจัดการงานไปในทางที่จะให้สมประโยชน์ของตัวการ ตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ

มาตรา ๓๙๖  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ก็ดี และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ที่ได้เข้าจัดการนั้น แม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น

มาตรา ๓๙๗  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดซึ่งเป็นหน้าที่บังคับให้ตัวการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ดี หรือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะบำรุงรักษาผู้อื่นก็ดี และหากผู้จัดการมิได้เข้าทำแล้วกิจอันนั้นจะไม่สำเร็จภายในเวลาอันควรไซร้ การที่ได้ทำขัดกับความประสงค์ของตัวการเช่นนั้น ท่านมิให้ยกขึ้นเป็นข้อวินิจฉัย

มาตรา ๓๙๘  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดเพื่อประสงค์จะปัดป้องอันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ จะเป็นภัยแก่ตัวก็ดี แก่ชื่อเสียงก็ดี หรือแก่ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่าผู้จัดการต้องรับผิดชอบแต่เพียงที่จงใจทำผิด หรือที่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น

มาตรา ๓๙๙  ผู้จัดการต้องบอกกล่าวแก่ตัวการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ว่าตนได้เข้าจัดการงานแทน และต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตัวการ เว้นแต่ภัยจะมีขึ้นเพราะการที่หน่วงเนิ่นไว้ นอกจากนี้ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๘๐๙ ถึง ๘๑๑ อันบังคับแก่ตัวแทนนั้นมาใช้บังคับแก่หน้าที่ของผู้จัดการด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๔๐๐  ถ้าผู้จัดการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด และว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้เท่านั้น

มาตรา ๔๐๑  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการ และต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจะเรียกให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติมาตรา ๘๑๖ วรรค ๒ นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

อนึ่ง ในกรณีที่กล่าวมาในมาตรา ๓๙๗ นั้น แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับความประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่

มาตรา ๔๐๒  ถ้าเงื่อนไขดังว่ามาในมาตราก่อนนั้นมิได้มี ท่านว่าตัวการจำต้องคืนสิ่งทั้งหลายบรรดาที่ได้มาเพราะเขาเข้าจัดการงานนั้นให้แก่ผู้จัดการ ตามบทบัญญัติว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้

ถ้าตัวการให้สัตยาบันแก่การที่จัดทำนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๔๐๓ ถ้าผู้จัดการมิได้มีบุรพเจตนาจะเรียกให้ตัวการชดใช้คืน ผู้จัดการก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้น
การที่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย บำรุงรักษาผู้สืบสันดานเป็นทางอุปการะก็ดี หรือกลับกันเป็นทางปฏิการะก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีเจตนาจะเรียกให้ผู้รับประโยชน์ชดใช้คืน

มาตรา ๔๐๔  ถ้าผู้จัดการทำแทนผู้หนึ่งโดยสำคัญว่าทำแทนผู้อื่นอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าผู้เป็นตัวการคนก่อนผู้เดียวมีสิทธิและหน้าที่อันเกิดแต่การที่ได้จัดทำไปนั้น

มาตรา ๔๐๕  บทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวมาในสิบมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งเข้าทำการงานของผู้อื่นโดยสำคัญว่าเป็นการงานของตนเอง

ถ้าบุคคลใดถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตนเอง ทั้งที่รู้แล้วว่าตนไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าตัวการจะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับโดยมูลดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙๕, ๓๙๖, ๓๙๙ และ ๔๐๐ นั้นก็ได้ แต่เมื่อได้ใช้สิทธิดังว่ามานี้แล้ว ตัวการจะต้องรับผิดต่อผู้จัดการดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๐๒ วรรค ๑

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2558
จัดการงานนอกสั่งนั้น ป.พ.พ. มาตรา 395 บัญญัติว่า "บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี..." ดังนั้น บุคคลใดที่จะเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น เช่น โจทก์เข้าไปชำระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา แทนจำเลยนั้น เข้าทำกิจการแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวการจะขอให้ทำหรือมีสิทธิทำแทนหรือไม่ ยิ่งในกรณีคดีนี้เข้าทำกิจการอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย คือเป็นการจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และตามข้อบังคับของจำเลยและตาม ป.พ.พ. มาตรา 397 ถ้าโจทก์ไม่เข้าชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง แทนจำเลยแล้ว อาจไม่ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ทางการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงตัดน้ำตัดไฟของอาคารชุด การที่เข้าทำนี้ยังเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดกับความประสงค์ของตัวการคือจำเลย โจทก์เข้าทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทำการตามมาตรา 397 นี้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่โจทก์อย่างเช่นโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยได้ตามมาตรา 401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11181/2555
ว. เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้วผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย แต่ ว. นำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยมาให้โจทก์ซ่อมแล้วไม่ชำระค่าซ่อม โจทก์จึงต้องเก็บรักษารถยนต์ที่โจทก์ซ่อมซึ่งเป็นของจำเลยไว้ในอู่อีก ย่อมเป็นการที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าบำรุงรักษารถยนต์ในส่วนค่าจอดรถจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10624/2554
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปต่อจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรก เป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเพราะไม่รู้ว่าวินาศภัยอันเดียวกันนี้มีผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยไว้ก่อนตน กรณีจึงเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไป ทั้งๆ ที่ผู้ร้องไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสามบัญญัติไว้ ถือได้ว่าการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องนั้น เป็นการสมประโยชน์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่พึงสันนิษฐานได้ กรณีตามคำร้องจึงเข้าเกณฑ์เป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งซึ่งก่อให้เกิดหนี้ที่ผูกพันผู้คัดค้านให้ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องได้ออกทดรองจัดการงานให้ผู้คัดค้านไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1178/2541
ฎีกาโจทก์ที่ว่า เงินที่หักหรือลดเป็นค่าการตลาดร้อยละ 5 จากการขายผลิตผลงานฟาร์มของโจทก์ และเงินค่าเช่าหรือค่าตอบแทนจากการใช้ที่ดินของโจทก์ย่อมเป็นเงินของโจทก์ เป็นฎีกาในปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า จะมีผลทางกฎหมายว่าเงินดังกล่าวเป็นของโจทก์ หรือเป็นเงินค่าใช้จ่ายปกติที่ต้องเสียซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหาร กับผู้ขายที่สามารถจัดเข้าไว้เป็นเงินกองกลางได้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย เงินค่าการตลาดที่หักหรือลดให้ไว้จากการขายผลิตผลงานฟาร์ม ของโจทก์เกิดขึ้นหรือมีที่มาจากการขายผลิตผลงานฟาร์ม ของโจทก์ย่อมเป็นเงินของโจทก์ หาได้มีกฎหมายใดบัญญัติให้ เงินนี้เป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของหรือเป็นเงินกองกลางไม่ส่วนเงินที่ได้รับ ตอบแทนจากการใช้ที่ดินของโจทก์ซึ่งถือว่าเป็นดอกผล ย่อมตกได้แก่เจ้าของทรัพย์คือโจทก์ด้วยเมื่อไม่มีกฎหมายหรือระเบียบให้นำ เงินดังกล่าวไปใช้ได้โดยไม่ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว การที่จำเลยนำเงินดังกล่าวไปใช้โดยไม่ส่งคืนโจทก์ ไม่ว่าจะนำไปใช้โดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์ต่อโจทก์ก็ตาม ถือว่าเป็นการนำไปใช้โดยไม่มีอำนาจ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ทวงถามแล้วจำเลย เพิกเฉย ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2540
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีส่วนได้เสียในที่ดิน กับเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ม. เจ้ามรดกจำต้องชดใช้หนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินแทนจำเลยซึ่งเป็นผู้จำนอง เพื่อปัดป้องมิให้สิทธิของโจทก์ในที่ดินต้องถูกกระทบกระเทือน จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินเพราะอาจถูกผู้รับจำนองบังคับยึดออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนจำเลยจนเป็นที่พอใจของผู้รับจำนอง โดยได้มีการไถ่ถอนจำนองแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้บังคับเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 หาใช่เรื่องจัดการงานนอกสั่งหรือลาภมิควรได้ไม่ แม้เป็นการขืนใจลูกหนี้ แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้นั้นอันเนื่องจากจำเลยไม่ยอมไถ่ถอนจำนองและหากไม่มีการไถ่ถอนจำนองโจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในที่ดินไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9150/2539
สัญญาซื้อขายระบุว่า ซื้อขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ราคาไร่ละ 4,300 บาท แสดงว่าคู่สัญญาเจตนาถือเอาเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ เป็นการซื้อขายโดยกำหนดจำนวนเนื้อที่ดินไม่ใช่เป็นการซื้อขายเหมาที่ดินกันทั้งแปลง โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนโดยอ้างว่าจำเลยส่งมอบที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน เป็นเรื่องฟ้องให้คืนเงินฐานลาภมิควรได้ มิใช่ฟ้องให้รับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน จึงต้องนำอายุความเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นเป็นประเด็นว่าคดีไม่ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความลาภมิควรได้ จึงไม่เป็นการนอกเหนือคำฟ้องและคำฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2531
โจทก์มิได้เป็นบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 เข้าไปจัดการทำศพของผู้ตายโดยสมัครใจเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าจัดการทำศพจากกองมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2523
การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยไปนั้นแม้จำเลยจะไม่ได้มอบหมายให้จัดการชำระหนี้แทนก็ตามแต่ก็เป็นผลทำให้หนี้ของจำเลยระงับไปจำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและอาจนำรถเข้าวิ่งร่วมกับบุคคลภายนอกได้ตามข้อตกลงต่อไปเช่นนี้ เป็นการสมประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการเพราะต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการหรือต้องตามความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้กรณี จึงเป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินที่ออกทดรองคืนได้ตามมาตรา401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3222/2522
โจทก์ฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการชดใช้เงินทดรองซึ่งโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้หนึ่งได้ออกทดรองไปคืนแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การปัดความรับผิดด้วยเหตุหลายประการ แต่ไม่ได้ให้การว่าการที่โจทก์ออกเงินทดรองไปเป็นการเอื้อมเข้าไปจัดการงานของห้างโดยพลการซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1043 ให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยจัดการนอกสั่ง และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว จำเลยฎีกาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการที่หุ้นส่วนอันมิได้ผู้จัดการเอื้อมเข้าไปจัดการงานของห้างโดยพลการ ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225,249 จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2518
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยมีว่า โจทก์จะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกรายหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 10,000 บาท รถยนต์ของจำเลยคันนั้นได้ชนกับรถยนต์คันอื่น ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชอบโจทก์ได้ซ่อมรถคันที่ถูกชนนั้นสิ้นเงินไป 25,000 บาท ขอให้จำเลยใช้เงิน 15,000 บาท ที่โจทก์จ่ายเกินไปให้โจทก์ดังนี้ บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับเงินค่าซ่อมรถจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าที่โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์ส่วนจำนวนที่ยังขาดอยู่นั้นชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ให้ โจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจ่ายเงินค่าซ่อมรถให้ผู้ต้องเสียหายเกินกว่าความรับผิดของตนซึ่งจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท แต่เมื่อได้จ่ายไปแล้วแม้จำเลยจะไม่ได้มอบหมายให้จัดการแทนก็ตาม ก็ย่อมเป็นผลทำให้หนี้ค่าซ่อมรถที่ยังขาดอยู่นั้นระงับไป และจำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายจึงอาจสมประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการหรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งที่อาจจะก่อให้เกิดหนี้ที่ผูกพันจำเลยให้ต้องชดใช้เงินที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการได้ออกทดรองจัดการงานให้จำเลยไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 401 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยศาลชอบที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา