การปลดหนี้

มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไปถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2559
หนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุน อ. เจ้าหนี้เดิม มีต่อลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีการแก้ไขแผนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ครั้งที่ 3 ซึ่งศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบแล้วโดยกำหนดให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมดังกล่าวได้รับการปลดหนี้ทั้งจำนวนตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ของศาลล้มละลายกลาง คำสั่งดังกล่าวย่อมผูกพันเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าหนี้เดิม ผลของคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ย่อมผูกพันเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เจ้าหนี้จึงไม่อาจนำหนี้ที่ได้รับการปลดหนี้แล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้อีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551
เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกัน ไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 229 และมาตรา 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้น ส่วนลูกหนื้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามมาตรา 340 ดังนั้นหากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2546
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หนี้ระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้มีการปลดหนี้การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ หรือการที่หนี้เกลื่อนกลืนกัน ผู้ตายทำสัญญากู้เงินกับจำเลย 2 ครั้ง โดยผู้ตายยังชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน และไม่ปรากฏเหตุอย่างอื่นที่จะทำให้หนี้เงินกู้ดังกล่าวระงับ หนี้เงินกู้ที่ผู้ตายจะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงยังไม่ระงับ การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงยังไม่ระงับสิ้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8232/2544
คำพิพากษาระบุไว้ชัดเจนว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 3นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพื่อไถ่ถอนจำนองและโจทก์ตกลงรับชำระหนี้ จึงเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาในลำดับแรกแล้วกรณีไม่จำต้องนำที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายตลาด
การที่โจทก์รับชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3ย่อมทำให้หนี้ของจำเลยที่ 3 ที่ชำระหนี้ในการไถ่ถอนจำนองระงับลงเท่าจำนวนที่ชำระหนี้ซึ่งมีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงปลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 หนี้ของจำเลยทั้งสามจึงยังไม่ระงับไปหนี้ยังเหลืออยู่อีกจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสามยังคงต้องรับผิดร่วมกันอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 โจทก์จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2544
จำเลย และ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับ ส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6829/2543
แม้ ส. กับจำเลย และผู้ค้ำประกันคนอื่น ๆ จะร่วมกันค้ำประกันหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คของ บริษัท ถ. ด้วยกัน และโจทก์จะได้รับชำระหนี้จาก ส. บางส่วน กระทั่งโจทก์ปลดหนี้ให้โดยได้ถอนฟ้อง ส. ในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 23817/2532 ที่พิพากษาตามสัญญายอม โดย ส. มิได้ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ ส. จึงมิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง แม้โจทก์จะปลดหนี้ให้แก่ ส. ก็ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 340 และมาตรา 293
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2542
เมื่อโจทก์และ ส. ร่วมกันค้ำประกันหนี้ของบริษัท ล.ในวงเงิน 1,000,000 บาท ความรับผิดของโจทก์และ ส.ย่อมจำกัดอยู่เท่าวงเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่ บริษัท ล. ต้องรับผิดต่อจำเลย แต่ไม่เกินอัตราที่จำเลยมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย การที่ ส. ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้จำเลย 1,800,000 บาท และจำเลยปลดหนี้ให้ ส. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 ทำให้โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับ ส. ได้ประโยชน์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง,293 แม้ต่อมาอีก 2 ปี 11 เดือน 23 วัน จำเลยได้ฟ้องโจทก์ล้มละลาย แต่วงเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยก็ถูกจำกัดอยู่เพียง 1,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันกับทั้ง ส.ก็ได้ชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญาค้ำประกันแล้วถึง 1,800,000 บาท และแม้โจทก์จะมีความรับผิดตามสัญญาจำนองประกันหนี้ของ บริษัท ล. อีกในวงเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยด้วยก็ตามยอดหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเมื่อรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแล้วก็ไม่มีทางถึง 15,332,017.82 บาท ได้ การที่จำเลยบรรยายฟ้องในคดีล้มละลายว่าโจทก์ยังต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมกับบริษัทล. อีก 15,015,517.82 บาท โดยไม่บรรยายถึงวงเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ทั้ง ว. ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยยังได้เบิกความในชั้นพิจารณาอีกด้วยว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ล. ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,332,071.82 บาท จนศาลชั้นต้นพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการคำนวณยอดหนี้ของโจทก์ และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4123/2540
แม้ผู้ค้ำประกันสัญญาว่าจ้างจะได้รับการเวนคืนหนังสือค้ำประกันสัญญาว่าจ้างซึ่งเป็นเอกสารแห่งหนี้เข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.มาตรา 327 วรรคสาม ว่าหนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อผู้รับจ้างยังมิได้ชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวระงับไปด้วยเหตุประการอื่น และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึง 701 โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามหนังสือค้ำประกันสัญญาว่าจ้างได้ก็ตาม แต่หากธนาคารคืนหลักทรัพย์ที่ผู้รับจ้างนำมาวางเป็นหลักประกัน เนื่องจากผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันมาคืนธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันโดยเฉพาะคดีนี้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของโจทก์คือจำเลยทั้งสามคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้รับจ้างไปเองยากที่โจทก์จะให้ธนาคารผู้ค้ำประกันรับผิดถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วจำเลยทั้งสามจึงต้องมีส่วนรับผิดตามสัญญาว่าจ้างร่วมกับผู้รับจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2540
คำแถลงของโจทก์ที่ขอถอนการยึดและการบังคับคดีมีข้อความว่า"ขณะนี้โจทก์และจำเลยตกลงกันได้แล้วและได้รับชำระหนี้เป็นที่พอใจแล้วโจทก์ไม่ประสงค์บังคับคดีนี้ต่อไปจึงขอถอนการยึดทรัพย์คดีนี้และขอถอนการบังคับคดีเสียทั้งสิ้นต่อไปด้วยฯลฯ"ข้อความดังกล่าวชัดแจ้งว่าโจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์และการบังคับคดีเพราะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองเป็นที่พอใจแล้วตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันดังนี้เมื่อโจทก์ตกลงยกหรือปลดหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยแล้วหนี้ส่วนที่เหลือจึงเป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา340โจทก์ไม่อาจจะนำหนี้ดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7717/2538
จำเลยทำบันทึกรับรอง ฉ. คนต่างด้าว ภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานครโจทก์ แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่จัดการส่ง ฉ. เดินทางออกไปจากราชอาณาจักรไทยอ้างว่าจำวันนัดผิด โจทก์สอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาที่จะผิดเงื่อนไขการรับรอง จำเลยทำคำร้องขอผ่อนผันการปรับตามบันทึกรับรองต่อโจทก์ ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์ ได้มีคำสั่งเห็นชอบผ่อนผันระงับการปรับจำเลยแล้ว อันเป็นคำสั่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์โดยตรงและชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์กระทำไปตามอำนาจในฐานะเป็นคู่สัญญากับจำเลยส่วนอธิบดีกรมตำรวจมิใช่คู่สัญญากับจำเลยจึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมตำรวจ ถือว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาปลดหนี้ให้จำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 340 แล้วหนี้ค่าปรับตามสัญญาดังกล่าวจึงระงับสิ้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2537
การที่จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือค้ำประกันสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ทำประกันไว้ต่อโจทก์คืนนั้นเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้อุบายหลอกลวงจึงมิใช่เป็นการที่โจทก์ปลดหนี้ค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 3ด้วยการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 340
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2536
โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 รวม 5 ฉบับ ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไปด้วยความเข้าใจผิดของพนักงานโจทก์ โจทก์มิได้มีเจตนาประสงค์จะปลดหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสาม แม้จำเลยที่ 3 จะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.มาตรา 327 วรรคสาม ว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1ยังมิได้ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวหาได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใดไม่ จำเลยที่ 1ยังคงต้องชำระหนี้นั้นต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 จำเลยที่ 3 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 2ผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต แม้ไม่ได้รับเวนคืนจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ.มาตรา 698 ถึง มาตรา 701 ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่อาจไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 สำหรับหลักประกันที่ได้คืนให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อยกเลิกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวได้ เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากต่อไปหาได้เกี่ยวข้องกับการหลุดพ้นจากความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1841/2524
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2519 จำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยไม่ลงวันที่แล้วนำไปขายให้โจทก์โดยขอเวลาไว้ 3 ปี จึงให้โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินระหว่างนี้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนตุลาคม2520 จึงหยุดชำระ โจทก์จึงลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ในเช็คแล้วเก็บรอไว้จนครบ 3 ปี จึงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2521 การที่โจทก์ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ในเช็ค จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตตามข้อตกลง และเป็นกรณีจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องว่าจำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรมเสียแล้วโจทก์จึงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ดังนี้ หาใช่เป็นการแสดงความประสงค์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 5 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2522
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ใช้เงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2,3,4 เป็นผู้สลักหลังต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียและอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินตามจำนวนในเช็คคดีถึงที่สุด ดังนี้ แม้ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1ซึ่งขอชำระหนี้เพียงร้อยละ 10 และศาลเห็นชอบด้วยแล้วจำเลยที่ 4 ก็จะขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาเพียงร้อยละ 10 มิได้ เพราะตาม พ.ร.บ.มาตรา 56 นั้นการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่อง หนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้จากลูกหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น ไม่มีผลผูกมัดถึงเจ้าหนี้ของลูกหนี้คนอื่นและในคดีอื่น ทั้งการที่เจ้าหนี้ต้องถูกผูกมัดตามข้อตกลงในการประนอมหนี้นั้นก็ไม่ใช่การปลดหนี้ตามมาตรา 340 แห่ง ป.พ.พ.เพราะโจทก์มิได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 ว่าจะปลดหนี้ให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2519
โจทก์จำนองทรัพย์สินไว้แก่บริษัทจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 40,000 บาท แล้วโจทก์เป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันบริษัทจำเลย 99,853.90 บาทก่อนบริษัทจำเลยจะถูกฟ้องคดีล้มละลายเพียง 4 วัน โจทก์ได้ชำระเงิน 50,000 บาทให้แก่บริษัทจำเลย โดยบริษัทจำเลยยอมลดหนี้ให้ 49,853.90 บาท และทำหนังสือว่าจะปลดจำนองให้ การที่บริษัทจำเลยยอมปลดหนี้จำนวน 49,853.90 บาท และปลดจำนองให้โจทก์นั้น บริษัทจำเลยได้กระทำต่อโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นลูกหนี้ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าหนี้ กรณีจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 115 แต่การที่บริษัทจำเลยแสดงเจตนาจะปลดจำนองและปลดหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นจำนวนสูงให้แก่โจทก์เปล่าๆ ในขณะที่บริษัทจำเลยก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว ย่อมเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยฝ่ายเดียวได้กระทำลงทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจขอเพิกถอนนิติกรรมปลดหนี้ดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.มาตรา 113 ประกอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 237 โจทก์ยังคงผูกพันที่จะต้องชำระหนี้จำนวนนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของบริษัทจำเลยบุคคลล้มละลาย