ลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้าง

มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา 426 นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น

มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม


 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2560
ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกรมธรรม์ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 13,883 บาท ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจาก ส. ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่อได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ ทั้งจำเลยเป็นนายจ้างของ ส. ผู้ซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง แม้จำเลยจะมิใช่บุคคลตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยได้ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10313/2559
โจทก์เป็นภริยาของ ส. แม้ ส. จะเป็นเจ้าของรถตู้คันเกิดเหตุและโดยสารมาในรถตู้คันเกิดเหตุที่มี ว. ลูกจ้างของ ส. เป็นผู้ขับรถตู้คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. มีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุการณ์รถชนที่เกิดขึ้น การที่ ส. ถึงแก่ความตายจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของ ว. และของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกและรถพ่วงคู่กรณี ว. และ จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการตายของ ส. ด้วยกัน และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งฟ้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ณ. ทายาทของ ส. ผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้ฟ้อง ว. ลูกจ้าง ส. ให้ร่วมรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับ ว. ต้องรับผิดเท่ากัน และให้ลดค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ลงกึ่งหนึ่งจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9857/2559
อนุญาโตตุลาการสืบพยานของคู่พิพาทเสร็จแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของ ช. มีหน้าที่ขนไก่ขึ้นลงจากรถ วันเกิดเหตุหลังจากส่งไก่เสร็จแล้ว ช. จะไปซื้อหญ้าที่อำเภอองครักษ์มาปลูกที่บ้าน ผู้ตายขอไปด้วยเพราะรู้จักสถานที่ จึงโดยสารมาในรถ ระหว่างที่ ช. ขับรถยนต์พาผู้ตายกลับบ้าน เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเดินทางไปกับ ช. หลังจากเสร็จสิ้นการส่งไก่ ไม่ใช่ทางการที่จ้าง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) (2) วรรคสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ตามเงื่อนไขท้ายกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่อาจยกความไม่สมบูรณ์ของกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น แต่เงื่อนไขท้ายกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่ ผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในเงื่อนไขกรมธรรม์ข้อนี้ ผู้คัดค้านย่อมไม่ถูกห้ามปฏิเสธความรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 8 ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ขัดต่อข้อสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2) วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559
ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ก. จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานของธนาคาร ก. แต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 จึงเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวแทน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2559
            โจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายในคำร้องสอดว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดา ส. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะที่ ส. ขับ เป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะ โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับค่าขาดไร้อุปการะดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายคำร้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองขาดไร้อุปการะ จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองหรือบังคับตามสิทธิของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมทั้งสองได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีเรื่องใหม่ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่ประการใด แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะกล่าวในท้ายของคำร้องสอดว่า ขอให้พิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง ก็มีความหมายเพียงว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยทั้งสามเท่ากับที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้อง หาใช่โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้เรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ร่วมทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมทั้งสองชอบแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12342/2558 
             พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง หมายความว่าในกรณีนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันที่เป็นเงินและลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างจึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวไปชดใช้ให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้นนายจ้างจะมีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายได้นายจ้างต้องได้รับความเสียหายก่อน หากนายจ้างไม่ได้รับความเสียหายก็ไม่มีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะอาศัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่ง หรือประกาศของนายจ้างมาหักเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายของลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558 
            ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2558 
           ตามคำฟ้องเป็นการฟ้องคดีในมูลละเมิด แม้จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 รับขนส่งช่วง จำเลยที่ 3 นำเรือไปบรรทุกโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมเรือ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือไปจากจำเลยที่ 3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 คำฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และมาตรา 427 คำฟ้องโจทก์จึงไม่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้ในทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ และศาลจะพิพากษาคดีให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558 
         ความหมายของคำว่า "ในทางการที่จ้าง" มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558 
           ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2557 
           ลูกจ้างที่ประสบอันตรายและจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 5 ต้องเป็นลูกจ้างที่ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง การที่โจทก์ขับรถบรรทุกไปส่งวัสดุก่อสร้างที่บ้านของลูกค้านายจ้างแล้วขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อไปยืมเงินเพื่อนบิดาของโจทก์ ทำให้รถของนายจ้างติดหล่ม โจทก์จึงขับรถจักรยานยนต์ไปตามเพื่อนมาช่วยยกรถที่ติดหล่ม และประสบอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์อื่นที่วิ่งตัดหน้าในระหว่างที่ขับรถจักรยานยนต์ไปตามเพื่อนจนทำให้ตาขวาของโจทก์บอดสนิท สมองช้ำ นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขับรถของนายจ้างไปทำธุระส่วนตัวอันเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง เมื่อโจทก์ขับรถของนายจ้างไปติดหล่มย่อมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่โจทก์จะต้องแก้ไขความผิดพลาดอันเกิดจากการกระทำของตนเองและจำเป็นต้องจัดการเอารถของนายจ้างขึ้นจากหล่มให้ได้เพื่อปกปิดมิให้นายจ้างทราบว่าตนเองขับรถของนายจ้างออกนอกเส้นทางไปทำธุระส่วนตัว โดยนายจ้างไม่ทราบว่าโจทก์แอบขับรถของนายจ้างไปทำธุระส่วนตัวนอกทางการที่จ้าง ดังนี้ การประสบอุบัติเหตุของโจทก์เพราะสาเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการประสบอันตรายตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557 
           เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557 
             ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555 
               จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12725/2555 
           ความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นความรับผิดของตนเองที่เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดของผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลในความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เช่นนี้ ความรับผิดตามมาตรา 420 มิใช่เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้นได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ความรับผิดตามมาตราทั้งสองดังกล่าวจึงอาศัยหลักเกณฑ์ต่างกันไป โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับควบคุมรถยนต์ลากจูง และรถกึ่งพ่วงของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าที่สนามบินภูเก็ต แล้ว ถ. ขับควบคุมรถด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับ ถ. มิได้พักผ่อนให้เพียงพอ เกิดอาการง่วงหรือหลับใน ทำให้ไม่สามารถควบคุมและห้ามล้อรถได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำลงข้างถนน ทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กหลังคาและอุปกรณ์เสียหาย แม้คำฟ้องของโจทก์จะอ้างว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วง แต่ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ควบคุมด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่เป็นหลักของข้อหาว่า ถ. กระทำละเมิดตามมาตรา 420 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 หาได้บรรยายฟ้องหรือตั้งประเด็นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงในขณะเกิดเหตุเป็นเหตุให้รถดังกล่าวพลิกคว่ำลงข้างทางทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กและอุปกรณ์ที่อยู่บนรถนั้นเสียหายจึงต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้ ถ. ต้องรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างอีกประการหนึ่งไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงด้วยความประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์กลับอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11488/2555 
          การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อเลี้ยวขวากลับรถกะทันหันให้รถขวางถนน จนเป็นเหตุให้ อ. ซึ่งขับรถยนต์กระบะ พุ่งชน จน อ. ถึงแก่ความตาย และ ส. ซึ่งนั่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บ เมื่อขณะเกิดเหตุปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหกล้อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างขนส่งสินค้าและมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถบรรทุกหกล้อ เช่นนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหกล้อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นประจำโดยใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถมองเห็นได้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นการเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการรับจ้างขนส่งสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2555 
            แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับ น. ในฐานะนายจ้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุ และกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2554 
        โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว วันเกิดเหตุรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์และบุตรโจทก์ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังเกิดเหตุ ผู้ขับรถยนต์กระบะขับหลบหนีไปโดยจำเลยที่ 2 แจ้งต่อพนักงานตำรวจว่า ต. ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงกับผู้ขับ และเหตุละเมิดเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขับรถยนต์กระบะขับไปในทางการที่จ้างวานใช้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อันป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทราบ และมิได้ยืนยันว่า ต. เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุละเมิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุและมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุละเมิดจากการขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในฐานะที่เป็นตัวการ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นตัวการในการกระทำละเมิดเองโดยตรงด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุละเมิดจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย อ. จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลเด็กชาย อ. ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ เมื่อเด็กชาย อ. ถูกกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้โดยตรง ค่าใช้จ่ายอันเป็นค่าเดินทางไปดูแลอาการเด็กชาย อ. เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553 
           จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2550
           กำหนด อายุความตามกฎหมายต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้น ไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ท. ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของ บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาให้แก่บริษัท ว. และ ธ. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 จึงเป็นกรณีที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้าง ได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้าง รับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างเท่า นั้น แต่ในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สิทธิของนายจ้างและหน้าที่ของลูกจ้างจะพึงมีต่อกันเพียงใดต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 ที่บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา โจทก์จึงทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่บริษัท ว. และ ธ. และได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ ท. ถึงแก่ความตาย เมื่อ ท. ตาย หนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ ท. ทำไว้ก่อนตายจึงเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรม สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสามเพิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทน คือวันที่ 31 มีนาคม 2540 และสิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แม้ ท. ตายและหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ ท. กระทำไว้ก่อนตายจะเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรมก็นำอายุ ความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้แก่กรณี นี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 29 กันยายน 2547 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550
 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2548
บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า "วันที่ 23 ธันวาคม 2539 ได้มี ป. ผู้ขับขี่รถยนต์เก๋ง และ ว. ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะ มาพบเพื่อเจรจาค่าเสียหาย ที่ตกลงกันได้ คือ ป. ได้เรียกร้องให้ ว. ซ่อมรถที่ได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม และ ว. ยอมตกลงตามข้อเสนอทุกประการ" เอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุถึงค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายรวมทั้งมิได้ระบุถึงค่าเสียหายอื่นๆ ที่โจทก์ทั้งสองพึงได้รับชดใช้จากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อความให้เห็นด้วยว่าคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้น หรือข้อความว่าโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสองทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2547
จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนนาง ศ. ถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้ตายฟ้องโจทก์แต่ผู้เดียวในฐานะนายจ้างให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยและให้โจทก์ใช้ค่าฤชา ธรรมเนียมแทน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ ทำนั้นชอบที่จะได้รับชดใช้จากลูกจ้าง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างและได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกจึงชอบที่จะ ได้รับชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่ได้ใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปเท่า นั้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ชดใช้ให้แก่ทายาทของผู้ตายเป็นความรับผิดตาม คำพิพากษา อันเกิดจากการดำเนินคดีระหว่างโจทก์กับทายาทของผู้ตายและโจทก์เป็นฝ่ายแพ้ คดี ค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด ของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2545
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของ บ.ผู้ตายจะเรียกให้ บ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ บ. ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างได้ โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปนั้น จึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชดใช้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วคืน จากลูกจ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอก โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยในฐานะทายาทของ บ. ชดใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2535 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 บัญญัติให้นายจ้างได้รับการชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่นายจ้างได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำไว้เท่านั้นค่าฤชาธรรมเนียมในคดีก่อนที่ผู้เสียหายฟ้องนายจ้างและลูกจ้างให้ร่วมกันรับผิดในละเมิดที่ศาลพิพากษาให้คู่ความชดใช้แก่กันนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้นศาลวินิจฉัยให้รับผิดชดใช้กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 ถึง 447 ซึ่งมิได้กล่าวถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความจะต้องชดใช้กันในคดีละเมิดไว้ ดังนั้นจะถือว่าค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันชดใช้ให้ผู้เสียหายในคดีก่อนเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดไม่ได้ นายจ้างจึงฟ้องขอให้ลูกจ้างชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายเป็นจำนวนทั้งหมดไม่ได้ แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวมีผลทำให้นายจ้างและลูกจ้างเป็นลูกหนี้ร่วมของผู้เสียหาย ความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วมจะต้องเป็นไปตามมาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันในกรณีนี้นายจ้างจึงมีสิทธิให้ลูกจ้างชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ชำระเกินไปกว่าความรับผิดคืนจากลูกจ้างได้ตามส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2545 
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งละเมิดของ ค. ซึ่งเป็นลูกจ้างอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดเสียแล้ว ก็ไม่มีหนี้ที่จะให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์โดยอ้างว่าต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ค. ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2543 
รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้ประกอบการขนส่ง แม้จำเลยที่ 3 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวไป แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้เสียภาษีในการใช้รถยนต์ประกอบการขนส่งประเภทส่วนบุคคลตลอดมาทุกปีและยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2540
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนดให้โจทก์ฟ้องร้องทางแพ่งได้นั้น เป็นการตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไปและทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้วความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างย่อมระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสาม ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกามาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 117/2540
จำเลยที่3ขับรถยนต์บรรทุกชนท้ายรถสามล้อเครื่องเป็นเหตุให้รถสามล้อเครื่องกระเด็นไปชนรถยนต์ของบริษัทง. แล้วรถยนต์ดังกล่าวไปชนกับท้ายรถยนต์โดยสารดังนี้แม้เหตุเป็นเพราะลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตกก็ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะหากจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้ตรวจตราและดูแลรถยนต์บรรทุกประจำตามวิสัยของผู้มีอาชีพขับรถยนต์ก็ย่อมป้องกันไม่ให้ลูกยางแม่ปั๊มเบรกแตกโดยกะทันหันได้จำเลยที่3จึงกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของบริษัทง. ได้รับความเสียหาย จำเลยที่3เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่1และที่2ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่1และที่2ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างแล้วหลังจากนั้นแม้จำเลยที่3จะทุจริตขับรถยนต์ไปธุระส่วนตัวแล้วไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นก็ตามก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่ชอบแต่ในกรณีบุคคลภายนอกถือว่าเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่1และที่2จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่3ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6935/2539
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินกิจการโรงสีข้าว ท. ร่วมกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 บรรทุกข้าวสารของโรงสีข้าว ท. ไปส่งตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 โดยประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ เป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5398/2538
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยืนเก็บเงิน ออกบัตร จดทะเบียนรถลงในบัตร และตรวจบัตรขณะที่รถยนต์ออกจากลานจอดรถอยู่ที่คอกกั้นตรงทางเข้าออกลานจอดรถ หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4จึงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยตรง ซึ่งที่ลานจอดรถและที่ด้านหลังบัตรจอดรถ มีข้อความว่า ผู้ใช้บริการลานจอดรถจะต้องเก็บรักษาบัตรไว้เพื่อตรวจขณะจะนำรถออกจากลานจอดรถ มิฉะนั้น บริษัทจะไม่ยอมให้นำรถออกไปจนกว่าจะหาหลักฐานอื่นมาแสดงยืนยัน เมื่อทางเข้าออกลานจอดรถมีอยู่ทางเดียว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งอยู่ที่คอกกั้นตรวจบัตรอย่างเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของโจทก์จะถูกลักไปได้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 นายจ้างย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อโจทก์ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5367/2538
 จำเลยผู้เป็นนายจ้างยินยอมให้ ม.นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและกุญแจรถไปเก็บไว้ที่บ้านของ ม. ถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้ ม. นำรถยนต์บรรทุกออกไปใช้ได้ตลอดเวลาตราบใดที่รถยนต์บรรทุกยังไม่กลับมาอยู่กับจำเลยก็ย่อมต้องถือว่า ม.ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้าง ซึ่งจำเลยต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ ม.กระทำด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2538
 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่1รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่2และจำเลยที่3ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่2จึงต้องฟ้องจำเลยที่1และที่2ภายใน1ปีนับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคแรกมิฉะนั้นคดีขาดอายุความส่วนความรับผิดของจำเลยที่3นั้นเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยจึงต้องนำอายุความ2ปีนับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา882วรรคหนึ่งมาปรับแก่คดีเมื่อโจทก์ฟ้องยังไม่พ้นกำหนด2ปีนับแต่วันเกิดวินาศภัยคดีเกี่ยวกับจำเลยที่3จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746 - 750/2538
จำเลยที่2ต้องเสียค่าบริการให้จำเลยที่3เป็นรายวันเพื่อตอบแทนการนำรถเข้าร่วมแล่นกับจำเลยที่3การเดินรถคันเกิดเหตุจึงเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่2และที่3ฉะนั้นการที่จำเลยที่1ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุโดยรับจ้างจำเลยที่2จึงเป็นการกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่3ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2537
 จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารบ้านพัก มีห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1ห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.ได้มอบให้อ. ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างของห้างนำรถยนต์บรรทุกไปใช้ในการก่อสร้างโดยจำเลยที่ 2และ อ. ได้ใช้รถยนต์บรรทุกนั้นร่วมกัน และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็ใช้อยู่ตลอดทั้งวันน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้รถยนต์บรรทุกนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่โจทก์ขับสวนมาได้รับความเสียหาย โดยจุดชนห่างจากสถานที่ก่อสร้างประมาณ 30 เมตร และเป็นเวลาหลังจากเลิกงานประมาณ1 ชั่วโมง ถือได้ว่าอยู่ในระหว่างเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2537
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ที่ข้างรถยนต์บรรทุกมีชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่านำรถยนต์บรรทุกไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง และร่วมกันเป็นนายจ้างของ ถ.ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเมื่อถ. ผู้เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1632/2536
จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารมีหน้าที่จัดระเบียบการเดินรถยนต์โดยสารขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 3 อนุญาตให้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางสาย 1014 จากปากซอยอุดมสุขถึงปลายซอยดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้ประโยชน์ตอบแทนคือค่าทำสัญญาปีละ 500 บาท เมื่อรถยนต์โดยสารขนาดเล็กได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 แล้ว จะมีการประทับตราจำเลยที่ 3 ไว้ที่ตัวรถ นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 ยังสงวนสิทธิในการหาประโยชน์จากการโฆษณาทั้งภายในและภายนอกตัวรถยนต์โดยสารขนาดเล็กที่เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 อีกทั้งลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบวินัย และคำสั่งของจำเลยที่ 3 ทุกประการด้วย ถือได้ว่ากิจการเดินรถของรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย
เจ้าของรถที่เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 สามารถนำรถออกนอกเส้นทางได้ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ ใช้ในราชการ ใช้ในกิจการส่วนตัว และใช้ในเรื่องสาธารณประโยชน์ แต่ต้องขออนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อน หากฝ่าฝืนสัญญาข้อ 6 ก็ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิสั่งห้ามมิให้เจ้าของรถนำรถออกวิ่งรับผู้โดยสารในเส้นทางมีระยะเวลาตามที่จำเลยที่ 3 กำหนด หรือบอกเลิกสัญญาได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 สามารถที่จะนำรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุไปใช้นอกเส้นทางที่กำหนดไว้ตามสัญญาได้ เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อนเท่านั้น แม้จะฝ่าฝืนสัญญาข้อนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้สัญญาเลิกกัน เพียงแต่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1จะขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุออกนอกเส้นทาง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับและผู้ตายถึงแก่ความตายจึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2536
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 2 เหตุละเมิด เกิดขึ้นในขณะจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์สามล้อมาเก็บ ที่โกดังของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยสั่งลูกจ้างทุกคน ว่า เลิกงานแล้วให้นำรถจักรยานยนต์สามล้อไปเก็บไว้ที่โกดัง เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และตามมาตรา 425 นี้ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายวันหรือลูกจ้างรายเดือนก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5266/2534
 จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วมกิจการเดินรถกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ช. จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนของห้างดังกล่าวในลักษณะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1025เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างฯ ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของห้างฯ ห้างฯ และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดแทนห้างฯ และจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2534
เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2โดยขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3ชนสัญญาณไฟจราจรในขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์จนได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของสัญญาณไฟจราจรดังกล่าวแต่โจทก์มีหน้าที่จัดหา ติดตั้ง ครอบครองและบำรุงรักษาให้สัญญาณไฟจราจรที่ได้รับความเสียหายนั้นมีสภาพดีเช่นเดิม โจทก์จึงเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2533
โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่ง เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์และของบุคคลอื่นเสียหาย สำหรับค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ได้ นับแต่วันเกิดเหตุซึ่ง เป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับเริ่มตั้งแต่ นั้น มิใช่นับเริ่มแต่ วันที่โจทก์ใช้ ค่าซ่อมรถของโจทก์ แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะได้ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ยอมรับสภาพตาม สิทธิเรียกร้องนั้นอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้จนถึง วันฟ้องก็เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนเงินที่โจทก์ใช้ ให้แก่บริษัทประกันภัยเป็นค่าเสียหายจากการที่จำเลยขับรถชนรถที่บริษัทดังกล่าวรับประกันภัยเสียหาย ซึ่ง โจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้อง ร่วมรับผิดกับจำเลยผู้เป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่จำเลยได้ กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นโจทก์ชอบที่จะได้ รับชดใช้จากจำเลยเมื่อโจทก์ได้ใช้ เงินให้แก่บริษัทดังกล่าวไป ดังนั้นอายุความในกรณีนี้ จึงต้อง เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ เงินค่าเสียหายให้แก่บริษัทประกันภัยอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อโจทก์ฟ้องยังไม่พ้นกำหนด10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503 - 3507/2530 
จำเลยที่ 1 นำรถยนต์โดยสารไปเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 ภายในรถยนต์โดยสารมีประกาศของบริษัทจำเลยที่ 3 ติดอยู่และตั๋วโดยสารก็เป็นตั๋วของบริษัทจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าคนขับรถโดยสารคันดังกล่าวเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เมื่อลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายมีผู้บาดเจ็บและตายอันเป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2529 
จำเลยที่1เป็นลูกจ้างจำเลยที่2ทำงานเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ลูกค้าของจำเลยที่2นำมาให้ซ่อมไปเพื่อทดลองเครื่องอันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานซ่อมรถตามหน้าที่ถือได้ว่าจำเลยที่1ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่2จำเลยที่2จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์