มาตรา ๑๙๓/๙ สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ
มาตรา ๑๙๓/๑๐ สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
มาตรา ๑๙๓/๑๑ อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้
มาตรา ๑๙๓/๑๒ อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
มาตรา ๑๙๓/๑๓ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป แต่ถ้าลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าระยะเวลาหนึ่งจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่เวลาที่ได้ทวงถามนั้น ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลานั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว
มาตรา ๑๙๓/๑๔ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
(๒) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
(๓) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
(๔) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
(๕) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี
มาตรา ๑๙๓/๑๕ เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น
มาตรา ๑๙๓/๑๖ หนี้ใดซึ่งตามมูลแห่งหนี้นั้น เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ในเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนอายุความครบบริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าอายุความสะดุดหยุดลง
มาตรา ๑๙๓/๑๗ ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา ๑๙๓/๑๔ (๒) หากคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง หรือทิ้งฟ้อง ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง
ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด
มาตรา ๑๙๓/๑๘ ให้นำมาตรา ๑๙๓/๑๗ มาใช้บังคับแก่กรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา ๑๙๓/๑๔ (๓) (๔) และ (๕) โดยอนุโลม
มาตรา ๑๙๓/๑๙ ในขณะที่อายุความจะครบกำหนดนั้น ถ้ามีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางมิให้เจ้าหนี้กระทำการตามมาตรา ๑๙๓/๑๔ ให้อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุสุดวิสัยนั้นได้สิ้นสุดลง
มาตรา ๑๙๓/๒๐ อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว
มาตรา ๑๙๓/๒๑ อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของคนไร้ความสามารถหรือของคนเสมือนไร้ความสามารถ ที่จะฟ้องร้องผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของตนนั้น ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว
มาตรา ๑๙๓/๒๒ อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา ถ้าจะครบกำหนดก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง
มาตรา ๑๙๓/๒๓ อายุความสิทธิเรียกร้องอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ตาย ถ้าจะครบกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันตาย อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันตาย
มาตรา ๑๙๓/๒๔ เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน
มาตรา ๑๙๓/๒๕ เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ให้มีผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่เริ่มนับอายุความ
มาตรา ๑๙๓/๒๖ เมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความให้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นขาดอายุความด้วย แม้ว่าอายุความของสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นจะยังไม่ครบกำหนดก็ตาม
มาตรา ๑๙๓/๒๗ ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้
มาตรา ๑๙๓/๒๘ การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้นไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้
มาตรา ๑๙๓/๒๙ เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2563
คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)
เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้" ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)
เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2563
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ก. เป็นจำเลย ภายหลังจากนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกสมาคมและตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว การฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องผิดตัว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องสมาคมเพื่อนำมูลหนี้ไปฟ้องผู้ชำระบัญชีของสมาคมโดยศาลชั้นต้นมีสั่งจำหน่ายคดี กรณีจึงถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่เช็คถึงกำหนด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 พ้นกำหนด 1 ปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1 - 3/2563
เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้
หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ
การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212
การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก
การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562
แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2562
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือว่าเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินค่าขาดราคาและภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธหรือแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2562
จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2562
โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า ในการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งจำเลยเข้าร่วมประชุมได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่า จำเลยได้ยืมเงินโจทก์จำนวน 6,100,000 บาท และจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ข้างต้นโดยถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินและจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ 6,100,000 บาท และตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้อันเป็นลักษณะของการฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการรับสภาพหนี้ของจำเลยตามรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมใหญ่ในฐานะผู้ยืม โจทก์ก็ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 แต่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามรายงานการประชุมใหญ่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์
เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่ ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย
แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ และการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่เป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์โดยเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น อีกทั้งการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยก็ดี และการลงชื่อในสำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ดี จำเลยกระทำไปในฐานะผู้ถือหุ้นและฐานะส่วนตัวในวาระเดียวกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2562
ข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่า ผู้ร้องมิได้ส่งมอบสินค้าล่าช้า ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านรับมอบสินค้าไว้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องส่งมอบสินค้าตามสัญญาและตามใบสั่งซื้อแก่ผู้คัดค้านครบถ้วนแล้ว ทั้งในการประชุมเจรจาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังถกเถียงกันเรื่องตัวเลขค่าปรับและการเริ่มคำนวณดอกเบี้ย ยังไม่เป็นที่ยุติ การโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านก็ไม่มีข้อความใดแสดงว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ใช่ข้ออ้างที่ผู้ร้องจะยกขึ้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังโต้แย้งกันเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยโดยยังไม่ได้ข้อยุติ ข้อความในการประชุมและในจดหมายโต้ตอบจึงไม่อาจถือว่าผู้คัดค้านยอมรับสภาพหนี้ ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ทั้งการที่ผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทนี้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลแพ่งเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็มิอาจอ้างว่าได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เพราะเป็นข้อพิพาทที่ต้องเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 193/14 (4) ดังนั้น ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเรียกเอาค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาด
ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าเพราะเหตุขาดอายุความ และคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ยกข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องแย้ง โดยให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบในค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2562
แม้ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า ฉ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคล ที่ถูกต้องระบุชื่อคู่ความว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อ ฉ. ขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับ ล. กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ มิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรง จำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า ฉ. มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินไถ่ถอนจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา
ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี การที่โจทก์นำสืบเรื่องขอไถ่ถอนจำนองว่ามีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดแต่ละห้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การขอให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและออกหนังสือปลอดชำระหนี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่และขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 โดยตรง เมื่อทางพิจารณาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นผู้จัดการหรือในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวกระทำการนอกเหนือจากขอบอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 อันมีลักษณะเป็นการละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 14
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่
ในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนดนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) จะไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินส่วนนี้เป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชอบที่จะเรียกร้องเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เรียกไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว เมื่อพฤติการณ์เชื่อได้ว่าโจทก์ทราบถึงภาระหนี้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแล้วเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ก็ต้องถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้สำหรับห้องชุดแต่ละห้องให้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6751/2561
คดีที่เสร็จไปโดยการที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 นั้น เป็นผลจากการที่โจทก์ละทิ้งหรือทอดทิ้งคดีของตน ทำนองเดียวกับคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่ถอนฟ้องและทิ้งฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2)
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มีผลอย่างเดียวกับคำพิพากษาของศาลที่ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่ออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งจำหน่ายคดีถึงที่สุด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5193 - 5208/2561
โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อตามประกาศขายทอดตลาดได้ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อน และผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยไม่เสนอจะชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 หาได้ไม่
แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนด เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินในส่วนนี้จึงเป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชอบที่จะคิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก็ได้
โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2561
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับปกติและฉบับยื่นเพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท โดยกรอกรายการรายได้ส่วนที่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีไว้ในแบบแสดงรายการแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้โจทก์ส่งเอกสารเพิ่มเติมจึงเป็นการตรวจสอบตามรายการที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า รายการรายได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีที่โจทก์กรอกไว้ถูกต้องหรือไม่ มิได้เป็นการใช้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอื่นเพื่อนำมาประเมินภาษีโจทก์นอกเหนือจากรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการแต่อย่างใด เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินตามรายการที่โจทก์แสดงไว้โดยนำมาปรับปรุงวิธีการคำนวณเท่านั้น เป็นการประเมินโดยใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 จึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 และยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 เพื่อปรับปรุง เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าแบบที่โจทก์ยื่นไว้เดิมไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องของแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมได้ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 จึงยังอยู่ในอายุความ
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เป็นกฎหมายกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ว่า ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องคำนวณภาษีเป็นรายบัตรส่งเสริมหรือเป็นรายนิติบุคคลตามรอบระยะเวลาบัญชีอย่างไร กรณีจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร เป็นหลักในการคำนวณ ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกี่โครงการก็ตาม การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องถือว่าทุกโครงการเป็นหน่วยภาษีเดียวกันที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์จึงต้องนำผลประกอบการทั้งหมดมารวมกัน ได้แก่ ผลประกอบการของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทุก ๆ โครงการและผลประกอบการของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษี
กรณีใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 36 (4) (เดิม) เพื่อหักเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน การคำนวณเงินได้พึงประเมินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต้องคำนวณจากรายได้การส่งออกโดยรวมในแต่ละปี มิใช่คำนวณแต่ละโครงการ เมื่อวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม ป.รัษฎากร การประเมินจึงชอบแล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561
การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2561
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงอัตราพิกัดศุลกากรไม่ถูกต้อง จึงได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีนับตั้งแต่วันนำของเข้า และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยมีใบขนสินค้าหลายฉบับ นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีจะเกินสิบปี แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย ส่งให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดสิบปี แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และจำเลยได้รับแล้วมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 112 อัฏฐารส แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำนวนภาษีจึงยุติตามการประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และต้องฟังว่า สินค้าพิพาทจัดเป็นของตามประเภทพิกัด 9403.20 และพิกัดประเภทที่ 9403.20.00 ในฐานะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ทำด้วยโลหะตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ตามมาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระได้เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบสินค้าขาเข้าโดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นำเข้าโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2561
แม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี อันทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10025/2560
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่คำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยละเมิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยกระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี
ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2560
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาด...ให้มีอายุความสิบปี... แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำเข้าหรือส่งของออก" บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดในกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งออก ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี และมาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ" คือเริ่มนับตั้งแต่วันนำของเข้า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปี แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า
เมื่อใบขนสินค้า 16 ฉบับ ที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 รวม 5 ฉบับ โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยแต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียว
กับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2560
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10098/2559
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 และนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา และต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นต้องงดการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือ การทำคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับใหม่เพื่อรอให้คู่ความดำเนินการใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
จำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างส่งรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ตามท้ายอุทธรณ์โดยมิได้นำสืบในศาลชั้นต้น และส่งสำเนาให้จำเลย ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวไม่ชอบนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทำคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่คำฟ้องคดีแพ่งสามัญ ถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลแพ่งต้องมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนั้นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุศาลแพ่งไม่รับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่เพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นกรณีศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โดยรับฟังคำเบิกความของ ส. ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่าคำเบิกความของ ส. ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่ามีน้ำหนักเนื่องจากเบิกความสอดคล้องกับเอกสารดังกล่าว ศาลอุทธรณ์มิได้นำเอกสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานดังที่จำเลยฎีกา
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อมาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดค่าสินไหมทดแทน บทกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันเกิดวินาศภัย โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความสองปี แต่อายุความครบกำหนดในระหว่างการส่งคำฟ้องให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ต่อศาลชั้นต้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อศาลแพ่งอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 8 พร้อมกับคำสั่งไม่รับฟ้องให้จำหน่ายคดีในวันที่ 22 กันยายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 ตุลาคม 2551 ยังไม่เกินหกสิบวัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9124/2559
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2559
อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้นเป็นอันสะดุดหยุดลงเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล และได้ตัวผู้ถูกฟ้องมายังศาลด้วยแล้ว ระยะเวลาที่ล้วงพ้นไปก่อนนั้นไม่คิดนับเข้าในอายุความตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โดยอายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่งและคดีเด็ดขาดแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559
ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559
คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2559
ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ (1) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ..." บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามความในตอนท้ายของมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง แต่หากยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้มีสิทธิขอคืนก็ยังยื่นคำร้องขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการนั้นตามมาตรา 27 ตรี (1) การนับระยะเวลาขอคืนภาษีอากรจึงต้องเริ่มต้นจากการยื่นแบบแสดงรายการของผู้เสียภาษีก่อน เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการจะมีภาษีที่ได้ชำระแล้วหรือมีการคำนวณเครดิตภาษีจากจำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่ง อันมีผลทำให้เกิดจำนวนภาษีที่ได้ชำระแล้วและมีสิทธิจะขอคืนได้ ดังนั้น ในกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการก็จะไม่มีเวลาเริ่มต้นที่จะใช้สำหรับนับระยะเวลาในการขอคืนภาษีตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ โจทก์มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 ทั้งตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน" เป็นผลให้เงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงไม่มีกำหนดเวลายื่นรายการภาษีของโจทก์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักในการเริ่มต้นระยะเวลาการขอคืนภาษีตามมาตรา 27 ตรี การที่จำเลยที่ 2 หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยที่ 1 โดยอาศัย ป.รัษฎากร มาตรา 52 และจำเลยทั้งสองไม่คืนเงินภาษีแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกินกำหนดตามมาตรา 27 ตรี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เงินภาษีไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ในขณะรับเงินนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15643/2558
หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/32 เมื่อปรากฏว่าก่อนครบระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปรวมกับหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้และลูกหนี้ร่วมรายอื่นเป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มีผลทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าลูกหนี้เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีลูกหนี้ออกจากสารบบความ กรณีมิใช่คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ที่จะให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหลังหักราคาขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15116/2558
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์โดยผู้อำนวยการได้มอบอำนาจให้ ธ. รองผู้อำนวยการ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในบรรดากิจการต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งด้วย โดยความตอนท้ายระบุว่า "ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างคดีหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ" ธ. จึงมอบอำนาจช่วงให้ ร. ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายมีอำนาจกระทำการแทนรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งได้ เพราะเป็นการมอบอำนาจช่วงที่มีการให้อำนาจไว้ แต่การที่ ร. มอบอำนาจช่วงต่อให้ อ. ฟ้องจำเลยทั้งห้าแทนโจทก์อีกต่อหนึ่งนั้น เป็นการกระทำนอกขอบเขตของหนังสือมอบอำนาจเพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว มิได้ระบุให้อำนาจผู้ที่ได้รับมอบอำนาจช่วงจาก ธ. มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปอีกช่วงหนึ่งได้ด้วย อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116 - 1117/2495 (ประชุมใหญ่) แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่คำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำวินิจฉัยในปัญหานี้มีผลไปถึงจำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความในคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14858/2558
เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตามมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับร้อยเอก ท. จดทะเบียนจำนองที่ดินให้แก่ผู้คัดค้าน ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การจดทะเบียนจำนองในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากนิติกรรมที่เสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะกลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เคยรับทราบและให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนองของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งการยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างเช่นนี้ มิใช่เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 193/9 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องกำหนดอายุความที่จะบังคับให้ผู้ร้องต้องใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความแต่อย่างใด และการที่ผู้ร้องขอเพิกถอนนิติกรรมการจำนองโดยยังไม่เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมอื่นก็ไม่เป็นการทำให้ผู้คัดค้านเสียสิทธิ เนื่องจากสิทธิของผู้คัดค้านมีอยู่โดยชอบอย่างไร ผู้คัดค้านก็ยังบังคับตามสิทธิของผู้คัดค้านได้ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13443/2558
โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งใหม่ตามฟ้องได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 56 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น อายุความในการฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้งของจำเลยและให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11161/2558
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด" มิได้หมายความถึงกรณีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น แต่หากยังหมายถึงกรณีที่ศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ด้วย ซึ่งฟ้องแย้งถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) การที่ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 525/2553 มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีผลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสาม คือ เป็นการไม่รับหรือยกฟ้องแย้งโดยจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว โดยเหตุนี้ศาลชั้นต้นหาจำต้องระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องอีกไม่ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13443/2558
โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งใหม่ตามฟ้องได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 56 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น อายุความในการฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้งของจำเลยและให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 41 และตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ค่าใช้จ่ายรายการที่ 5 ถึงรายการที่ 10 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 และที่ 6 เป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนค่าปรับในรายการที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26
ค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558
เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558
คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996/2558
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกันอันเนื่องจากสัมปทานสิ้นสุด มิใช่เป็นการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสัมปทาน ซึ่งกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกเงินประกันดังกล่าวคืนเกินสิบปีนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9468/2558
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นนายจ้างด้วยเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2558
เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคารถที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าขาดราคาได้นับแต่วันเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่นับแต่วันที่ประมูลขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขาดราคาจึงขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7191/2558
ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การต่อสู้คดี ทั้งคำให้การในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากผิดนัดชำระค่าเช่าหลายปีเช่นนี้ เป็นกรณีจำเลยทั้งสองให้การว่ารับสภาพความผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ศาลจึงไม่อาจหยิบยกอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2558
เมื่อโจทก์ที่ 2 พบบ้านชำรุดบกพร่องในเดือนมกราคม 2552 จำเลยเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 แจ้งให้จำเลยหยุดทำการแก้ไขชำรุดบกพร่องโดยโจทก์ที่ 2 จะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่เวลานั้นคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2554 เกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558
แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับคดีเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลชั้นต้นกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2558
แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้ จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี ไม่ อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ยย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2558
การใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ข้อกำหนดในสัญญาค้ำประกันระบุว่า การเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันต้องกระทำภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญา ข้อความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการตกลงกันย่นอายุความตามมาตรา 193/11 จึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558
ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2558
แม้หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระถือเป็นเงินค้างจ่ายซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) แต่หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เกินเวลา 5 ปี ก็ไม่ระงับ เพราะสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมีผลให้ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 โจทก์จะร้องขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางครบถ้วนแล้ว ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อโจทก์หรือเจ้าของร่วมคนเดิมยังไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยจนครบถ้วน จำเลยก็มีสิทธิ ที่จะปฏิเสธการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามที่โจทก์ร้องขอโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้
ตามใบแจ้งค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดพิพาท ระบุว่ามียอดเบี้ยปรับตามข้อบังคับคิดที่ร้อยละ 10 ต่อเดือน จำนวน 156 เดือน เป็นเงิน 752,541.19 บาท แต่ตามมติคณะกรรมการคิดเพียง 125,423 บาท ส่วนยอดเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เป็นเงิน 2,057.05 บาท สอดคล้องกับข้อบังคับของจำเลย ข้อ 17 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2537 และข้อบังคับ ข้อ 18 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 18/1 ที่บัญญัติถึงกรณีที่เจ้าของร่วมไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในเวลาที่กำหนดว่าต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ โดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ หากค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี การคิดเงินเพิ่มจากค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยและไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริต อีกทั้งโจทก์ก็มีโอกาสที่จะตรวจสอบได้ว่าเจ้าของร่วมคนเดิมค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสู้ราคาในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่จำเลยเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มเต็มจำนวนจึงไม่ถือว่าไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16836/2557
สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11571/2557
จำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ อ. เจ้าหนี้เดิม ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ฯ สิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อกันต่อไปก็ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 แม้ตามบันทึกข้อตกลงตอนแรกให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญา เจ้าหนี้เดิมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้เดิมจะถึงกำหนดแล้วหรือไม่ก็ตาม อันแสดงว่าเจ้าหนี้เดิมอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ผิดนัดดังกล่าวเป็นต้นไปซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ก็ตาม แต่ตามข้อ 3 ใบบันทึกข้อตกลงระบุว่า เจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิที่จำหน่ายจ่ายโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณีเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้เดิมและเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ตามบันทึกนี้ อันเป็นกรณีที่จำเลยตกลงให้เจ้าหนี้เดิมขายหลักทรัพย์ที่เป็นประกันได้ไว้ล่วงหน้า จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบหรือรอให้จำเลยตกลงให้จำเลยตกลงในขณะขายอีกครั้งหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา เมื่อต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้เดิมบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) นำเงินไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่บางส่วน ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมตามข้อตกลงข้อ 3 ดังกล่าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้เดิมด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วน อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2557
วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกรณีผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกรณีผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เริ่มนับเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง มิใช่นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าเสียหายเมื่อนำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด ค่าขาดราคารถที่เช่าซื้อ และค่าขาดประโยชน์กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้าหนี้มรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกกรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อรู้ถึงความตายของผู้เช่าซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ย่อมต้องอยู่ภายใต้บัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความตายดังกล่าว หรือภายในสิบปีนับแต่ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13853/2556
การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 จึงมีอายุความสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้นำส่งภาษี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) ภริยาจำเลยที่ 2 รับหนังสือในวันที่ 31 มีนาคม 2549 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องวันที่ 14 มีนาคม 2551 จึงยังไม่พ้นกำหนดสองปี นอกจากนี้ ยังถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดด้วย ซึ่งได้ความว่า การดำเนินคดีรายจำเลยที่ 2 นั้น นิติกรประจำสรรพากรภาค 3 จัดทำบันทึกข้อความรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสนอสรรพากรภาค 3 ที่ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อความเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 กรณีต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี อีกทั้งไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ซึ่งคือวันที่ครบกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าภาษีไปชำระ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2556
จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าสิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ศ. ผู้ให้เช่าซื้อเดิมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ คดีมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนับจากวันทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งไม่มีประเด็นอายุความอันเกี่ยวด้วยการเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่และค่าขาดประโยชน์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถยนต์ส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556
จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14426/2555
แม้ระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีสัญญากำหนดความรับผิดต่อกันไว้โดยระบุว่า ในกรณีที่พนักงานประจำรถและหรือรถตามสัญญานี้ ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นแก่ผู้ให้สัญญาหรือบุคคลใด ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง หรือนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ผู้รับสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาที่กล่าวถึงความรับผิดของจำเลยผู้รับสัญญา ในกรณีที่พนักงานประจำรถของจำเลยไปก่อให้เกิดความเสียหายอันทำให้โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อความเสียหายดังกล่าวมาจากเหตุละเมิด อายุความในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้จึงมีกำหนด 1 ปี และไม่อาจนำข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาขยายอายุความละเมิดออกไป เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/11 เมื่อได้ความว่าผู้แทนของโจทก์ลงนามในช่องผู้จัดการใหญ่ อนุมัติจ่ายค่าลากรถยนต์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ วันที่ 8 กันยายน 2548 พ้นกำหนด 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12264/2555
สำเนาใบกำกับภาษีระบุชื่อจำเลยเป็นลูกค้าทุกฉบับ และยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีรายการหักทอนกันระหว่างโจทก์และจำเลยหลายรายการ ระบุยอดสุดท้ายว่าเป็นรายการที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ คงเหลือ 314,965.05 บาท เท่ากับรายการตามหนังสือรับสภาพหนี้ ปรากฏว่ามีการส่งอะไหล่ครั้งสุดท้ายระบุวันที่ 18 ตุลาคม 2540 โดยไม่ปรากฏว่าได้มีกำหนดเวลาชำระค่าอะไหล่กันไว้ ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก ดังนั้น ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะมีอายุความ 2 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย หรือมีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา ก็เป็นที่เห็นได้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เป็นการจัดทำขึ้นหลังจากขาดอายุความแล้ว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการที่จำเลยรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพความรับผิดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ประกอบมาตรา 193/28 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555
โจทก์ตั้งสิทธิฟ้องเรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยผิดสัญญาจ้างทำไม้ต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะต้องถูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกร้องค่าปรับ ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า ไม่ใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิที่โจทก์ต้องชำระค่าปรับก่อนแล้วจึงจะใช้สิทธิฟ้องบังคับเอาจากจำเลยได้ แม้ปรากฏว่าเคยมีมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้หน่วยงานราชการฟ้องร้องกันก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการด้วยกันที่มีต่อกันระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยทำไม้โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ที่จำเลยทำได้นั้นให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่การขาย ให้เช่า มอบให้หรือโอนไปด้วยประการใดๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ สัญญาจ้างทำไม้ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้างและได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับไปชำระแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระได้ในวันนั้น และจำเลยต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระภายในกำหนด จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความคือวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9053/2552
จำเลย ที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์แล้วบางส่วน เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 5 ปี นับจากวันที่จำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์อีก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552
การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีแต่ยังคงอยู่กิน และอุปการะเลี้ยงดูกันเสมือนมิได้หย่ากันเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ ระหว่างกัน การหย่าดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าการหย่าเป็นโมฆะและขอแบ่งทรัพย์ที่ทำมาหาได้ จึงเป็นการขอเข้าจัดการสินสมรสร่วมกับจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอได้ตราบ เท่าที่โจทก์และจำเลยยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันอยู่ และกรณีนี้มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่ กฎหมายกำหนด ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4640/2551
หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ส. เป็นหนี้เงินกู้มีอายุความ 10 ปี ขณะที่ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้นั้น ยังไม่หมดอายุความ ดังนั้น จะนำอายุความ 2 ปี เรื่องการรับสภาพความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 มาใช้บังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2551
สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยสัญญาว่าจะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นเดือน เดือนละ 5,000 บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) (มาตรา 166 เดิม) มิใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง เป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความจึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 193/9
ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8419/2550
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ใดย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้ยันต่อรัฐได้และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนจึงยังเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ผู้ที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น
โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า การที่จำเลยซื้อเฉพาะบ้านของโจทก์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่ยอมรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทได้
โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันโจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยและจำเลยไม่ได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จำเลยจึงยกความอายุความ 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2550
ท. ขับรถไปในทางการที่จ้างของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างชนรถยนต์ของ ธ. ที่เอาประกันภัยไว้ต่อบริษัท ว. ได้รับความเสียหาย หลังจาก ท. ตายโจทก์ทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้โจทก์ชำระแก่ ธ. และบริษัท ว. และโจทก์ได้ชำระไปแล้ว สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจาก ท. ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 จึงเพิ่งเกิดเมื่อวันที่โจทก์ชำระเงิน
สิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตามมาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้บังคับในการฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. รับผิดไม่ได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. (วันที่โจทก์ชำระเงิน) ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2550
โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 บุรกรุกเข้าไปแย่งทำนาในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ตามแผนที่โดยประมาณท้ายฟ้องมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งแผนที่ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและได้ระบุบริเวณที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกไว้อย่างชัดเจนพอให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 ซึ่งการฟ้องเช่นนี้มีอายุความ ส่วนมาตรา 1363 วรรคสอง นั้น เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกินสิบปี มิใช่อายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6335/2550
เงินประกันผลงานที่จำเลยหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละงวดเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญาประสงค์จะใช้เป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างค้างชำระที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายใน 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6109/2550
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 กำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6024/2550
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความ บทบัญญัติดังกล่าวที่ให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิดนั้นวันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนผลของการทำละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งวันทำละเมิดกับวันที่ผลของการทำละเมิดเกิดขึ้นจึงต่างกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาณเลินเล่อ รังวัดที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ของโจทก์ โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ มูลละเมิดย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2523 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2550
เมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่งจนทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในทางแพ่งและรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น และในวันที่ 8 มกราคม 2544 ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวง ได้ลงนามในหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเหตุละเมิดคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 31,373.75 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่า ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของโจทก์ ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2544 ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 มกราคม 2546 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2550
ส. เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยกระทำการแทนจำเลยได้ แม้ ส. ไม่ได้ประทับตราของจำเลย แต่หนังสือรับสภาพหนี้มีชื่อของจำเลยที่ด้านบนของกระดาษประกอบพฤติการณ์ของ ส. จึงถือว่า ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลย การที่ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ ถือเป็นการกระทำของจำเลย หนังสือรับสภาพหนี้มีข้อความตอนหนึ่งว่า "...ขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันชำระค่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายเดือนต่อไป" จึงเป็นการกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับตามสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นการยอมรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องไม่เกิน 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2550
สัญญาที่โจทก์รับจ้างจำเลยทั้งสามว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของนั้นมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) ส่วนการเริ่มนับอายุความในการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ค่าว่าความนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/12 บัญญัติไว้ว่า "อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป..." และมาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ" ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความถึงกำหนดเมื่อจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งการส่งมอบและรับมอบการงานการที่ทำนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสามพอใจและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสามในศาลชั้นต้นซึ่งคือศาลจังหวัดเชียงใหม่จนศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ต้องถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบและจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาสินจ้างย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษา หาใช่เมื่อคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์นั้นก็น่าเชื่อว่าโจทก์ทำไปโดยพลการ โจทก์จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นอ้างได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2550
โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทน การนับอายุความละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
น. เป็นนายช่างแขวงการทางซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้ น. จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2539 แล้ว แต่อธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 26 กันยายน 2546 นับถึงวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2550
โจทก์ทราบเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์จำเลยมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2541 แสดงว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวมิใช่ถือเอาวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลได้เอง โดยไม่จำต้องรอฟังคำสั่งจากจำเลย แม้โจทก์จะเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งให้ทราบถึงมติของจำเลยในวันที่ 21 มกราคม 2541 ก็ไม่มีผลต่อการเพิ่งเริ่มนับอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550
การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2550
การกระทำที่จะเป็นความผิดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิด มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2550
การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หักลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา มิใช่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เช่นกัน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2550
จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคารและศาลพิพากษาตามยอมว่าข้อ 1 ตกลงชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ตกลงชำระค่าธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2538 และข้อ 3 หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 9 มีนาคม 2538 ย่อมถือว่าผิดนัดและธนาคารสามารถบังคับคดีได้ทันทีตามสัญญาข้อ 3 ดังนั้น อายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2538 เมื่อครบ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 1 โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 เกิน 10 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17/2550
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ส. โดยยอมร่วมรับผิดกับ ส. จำเลยที่ 4 ในฐานะสามีของจำเลยที่ 3 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ส. ลูกจ้างโจทก์ได้ยักยอกเงินของโจทก์ และทำหนังสือรับสภาพหนี้กำหนดว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์งวดแรกในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ดังนี้ ความรับผิดของ ส. เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 กำหนดเวลานี้เริ่มนับแต่วันเกิดเหตุทุจริตยักยอกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 แต่เมื่อ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์ งวดแรก 200,000 บาท ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 การรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และอายุความที่สะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 กรณีหาใช่การรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ไม่ เมื่อต่อมาปรากฏว่า ส. ไม่ชำระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 เมษายน 2537 เมื่อนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับอายุความใหม่ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9009 - 9014/2549
โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 แต่เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8696/2549
โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายที่จำเลยยังคงครอบครองรถแท็กซี่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะเรียกวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับค่าเช่า แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระ กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8694/2549
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยกำหนดเงื่อนไขการเข้าสู้ราคาและข้อสัญญาว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ต้องชำระเงินส่วนที่เหลือภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไปนั้น ระยะเวลา 15 วัน ที่กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการชำระหนี้ มิใช่อายุความตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งคู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์ตกลงกันขยายระยะเวลาวางเงินส่วนที่เหลือออกไปอีกจึงหาเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 และ 515 ไม่ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งและการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรณีเช่นว่านี้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่จำต้องไต่สวน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242 - 8246/2549
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ... และคำว่า "ค่าล่วงเวลา" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างหนึ่งตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7875/2549
โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเครื่องเคหภัณฑ์ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าว การที่โจทก์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบกิจการโรงแรม การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าประเภทเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7611/2549
โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อ ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อมีอายุความ 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6785/2549
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรฯ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวนี้ไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความการเรียกคืนลาภมิควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5996/2549
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า "อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นการกระทำอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น" เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงด้วยวาจากับโจทก์ว่า หากโจทก์สามารถตรวจสอบพบการทุจริตและนำเงินที่ทุจริตกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ตรวจสอบพบการทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กระทั่งวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้รับคืนจำนวน 9,403,007.63 บาท ตามเงื่อนไขในการตกลงด้วยวาจาจึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าตอบแทนพิเศษให้นับแต่นั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 หาใช่นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 อันเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษคิดเป็นร้อยละของผลงานที่ทำได้ จึงเป็นการเรียกร้องค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานอันเป็นค่าจ้าง จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2549
การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างให้ชำระหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเบิกสินค้าของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งคืนแล้วทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ เพียงแต่อ้างว่าจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานประกอบว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้ด้วยเท่านั้น หนี้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549
จำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี เมื่อนับระยะเวลาจากวันครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5033/2549
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง" ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ เป็นการใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" ดังนั้น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงสามารถย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ
การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำสิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเสียเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,500,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อฝากซึ่งโจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองไปนั้น มิใช่คำฟ้องในเรื่องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี เพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสองผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้ ส่วนดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายนั้นคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ฟ้องคดีในระหว่างที่คดีอาญายังไม่เด็ดขาด จึงไม่ขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2549
สัญญาที่โจทก์รับซ่อมรถยนต์ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)
โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์แต่ละคันให้แก่ผู้ที่นำมาซ่อม การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
โจทก์นำหนี้จำนวน 41 รายการ รวมเป็นเงิน 402,197 บาท ซึ่งโจทก์สามารถบังคับตามสิทธิของตนได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 มาฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ค่าซ่อมรถอีก 11 รายการ จำนวน 47,500 บาท ปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้บางส่วน หนี้ค่าซ่อมรถทั้ง 11 รายการ ยังไม่ขาดอายุความ อายุความสำหรับหนี้ดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับใหม่ และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ในส่วน 11 รายการนี้ จึงยังไม่ขาดอายุความ
การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องกระทำก่อนที่หนี้ขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าซ่อมรถจำนวน 402,197 บาท ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 การชำระหนี้บางส่วนของจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4787/2549
โจทก์เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 25 กรกฎาคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบกระเป๋าเดินทางสูญหายให้แก่โจทก์ อายุความย่อมเริ่มตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์จะฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2542 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือยินยอมชดใช่ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 400 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้จะไม่เต็มตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4206/2549
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้รับตราส่งหรือผู้ส่งของฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในค่าเสียหายเพื่อความสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่าจ้างจำเลยดำเนินการจัดส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้าของโจทก์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ ให้จำเลยรับผิดเพราะจัดส่งเอกสารไปให้แก่ลูกค้าที่ปลายทางตามข้อตกลงล่าช้า ทำให้ลูกค้าไม่ยอมรับสินค้าเท่านั้น โจทก์ไม่ได้อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งของทางทะเลและให้จำเลยรับผิดเพราะเหตุการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งสินค้าที่รับขนเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยตามมาตรา 39 ของ พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 46 มาใช้บังคับได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ แต่ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ว่าด้วยอายุความก็มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้โดยเฉพาะอีกเช่นกัน จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ทราบในวันที่ 8 ธันวาคม 2544 ว่าจำเลยกระทำผิดข้อตกลงทำให้ลูกค้าไม่สามารถรับสินค้าได้ทันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ และนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2549
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นกรมตำรวจฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และโจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และมีอายุความ 10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2549
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์กับโจทก์ร่วมกันคืนเป็ดแก่ ป. หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลชำระหนี้แก่ ป. ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ซึ่ง ป. ได้รับเงินแล้วโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองก่อนที่ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อายุความที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่อยู่ภายใต้บังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการฟ้องของโจทก์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ศาลฎีกาวินิจฉัยในคดีก่อนว่า จำเลยทั้งสองยึดเป็ดของ ป. ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อ ป. แม้โจทก์กับจำเลยทั้งสองจะเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตาม ก็ต้องถือว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย คำพิพากษาของศาลฎีกาจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสองด้วยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่อาจกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโต้แย้งให้ฟังเป็นอื่นได้อีก
จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อ ป. เป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลเพื่อใช้ราคาเป็ดแก่ ป. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2549
แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาของที่ได้ส่งมอบซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) ก็ตาม แต่ความในตอนท้ายของมาตรานี้บัญญัติกรณีเป็นข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งต้องพิจารณาถึงกิจการของลูกหนี้ว่าประกอบกิจการประเภทใดเป็นกรณีไป การที่จำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ไปใช้กับรถยนต์โดยสาร โดยที่จำเลยทั้งสองประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารและขนส่งสินค้า ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของจำเลยทั้งสอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้น ไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2549
การที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ และให้โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 โดยชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนนั้น เป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทหนึ่งของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้ดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือรับทำการงานต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ตามความใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ไม่ จึงไม่อาจนำเอาอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีได้ และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิจากโจทก์ไปรับสินค้าก่อน แล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ในภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความโดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2549
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ต้องผูกพันโดยตรงต่อผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนจากจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารจากโจทก์ไปขอรับสินค้าก่อนแล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกำหนด หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมิใช่เป็นหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 วรรคหนึ่ง หมายความว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นคงขาดอายุความเฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป ดอกเบี้ยที่ค้างชำระส่วนที่ยังไม่เกิน 5 ปี ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2549
ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เป็นบทบัญญัติกำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ เมื่อเจ้าพนักงานมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ โดยการออกหมายเรียกดังกล่าวจะต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ และถ้าหากเป็นกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายระยะเวลาทำการออกหมายเรียกก็ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ หากพ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงให้เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงได้เท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรไม่ ทั้งการออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ตามมาตรา 91/21 (5) บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 88 มาใช้บังคับโดยอนุโลม อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 ด้วย ส่วนในเรื่องอายุความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 บัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะประเมินเก็บภาษีจากโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี ตั้งแต่วันครบกำหนดที่โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อระยะเวลายังอยู่ในกำหนดอายุความดังกล่าว เจ้าพนักงาน ประเมินย่อมประเมินให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2549
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 และตกลงซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่อยู่ติดกับที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15658 ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาทีล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2519 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ ข้อความในหนังสือดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2540 ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง แม้ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนในหมู่บ้านที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินและตกอยู่ในภาระ จำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ก็ตาม แต่ภาระ จำยอม นั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารย ทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารย ทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารย ทรัพย์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารย ทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2549
การประกันภัยค้ำจุนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติแยกไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 อายุความฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิด จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 ซึ่งบัญญัติเป็นบทเบ็ดเสร็จทั่วไปในส่วนที่ 1 ของหมวดเดียวกัน อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจเทียบได้กับกรณีประกันชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดอื่นและไม่อาจนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีประกันภัยค้ำจุนได้
การเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดในค่าสินไหมทดแทนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า "บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง...ฯลฯ" โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาก่อน ทั้งอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยก็เป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้นับแต่วันเกิดวินาศภัย จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้หรือนำมาตีความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2549
สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 10 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กันยายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8712/2548
บทบัญญัติมาตรา 193/33 และมาตรา 193/34 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะเป็นอายุความเรียกร้องเงินเดือนเหมือนกัน แต่มาตรา 193/34 (9) เป็นกรณีที่ลูกจ้างเรียกเอาเงินที่ได้จากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจากนายจ้าง หรือนายจ้างเรียกเอาเงินที่นายจ้างออกทดรองไปคืนจากลูกจ้าง ส่วนมาตรา 193/33 (4) นั้นเป็นกรณีที่ผู้อื่นที่มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาเงินเดือนหรือเงินประเภทต่างๆ จากผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่าย ซึ่งมีกำหนดการจ่ายเป็นระยะเวลา การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักอันเป็นสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) มิใช่ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8007/2548
หนี้ที่เกิดจากการที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงแรมได้ซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวพร้อมการติดตั้งจากเจ้าหนี้ เป็นการกระทำเพื่อหากำไรในการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ต่อไป จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7656/2548
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ 60,000 บาท จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง เมื่อนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้มิใช่กรณีลูกหนี้รับสภาพความผิดภายหลังมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้วที่จะมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120/2545
เมื่อสิทธิเรียกร้องขาดอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10และ 193/28 ให้จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธินั้นโดยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ จึงมีผลเพียงว่า จำเลยจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนไม่ได้เท่านั้นส่วนการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) จะต้องกระทำก่อนที่หนี้นั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การชำระหนี้ของจำเลยภายหลังที่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงไม่ใช่การรับสภาพหนี้ ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง