มาตรา ๓๒
บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา
หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้
หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว
เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๘ ร้องขอต่อศาล
ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง
ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ ๕
แห่งประมวลกฎหมายนี้
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ
๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้
ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3184/2550
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี
ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง
โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา
1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ
ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21
แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้
ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์
ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน
ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด
ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท.
บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้
ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์
จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56
กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน
มาตรา ๓๓
ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถเพราะวิกลจริต
ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๘
ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
หรือในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเพราะมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นวิกลจริต
เมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๘
ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้
มาตรา ๓๔ คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น
ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
(๑) นำทรัพย์สินไปลงทุน
(๒)
รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
(๓)
กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
(๔)
รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
(๕)
เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
(๖) ให้โดยเสน่หา
เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(๗)
รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(๘)
ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
(๙)
ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
(๑๐)
เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา ๓๕
หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
(๑๑)
ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง
ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว
ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง
ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง
เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
ในกรณีเช่นนี้
ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้
ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้
การนั้นเป็นโมฆียะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2553
คำร้องขอที่ให้ศาลมีคำสั่งว่า
จ.
เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้ร้องจะมีคำขอมาด้วยกันเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวไว้ใน
ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ได้ด้วยตนเองไม่ได้
เนื่องจากคำร้องขอของผู้ร้องเป็นแต่เพียงการขอล่วงหน้าโดยยังไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ตามที่ขอเกิดขึ้นจริง
จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะให้ศาลนำมาพิจารณาวินิจฉัยเพื่อใช้ดุลพินิจได้
ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอส่วนนี้ของผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี
ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง
โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ
ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้
ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์ ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน
ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด
ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท.
บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้
ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์
จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7755/2549
ผู้คัดค้านปกปิดการร้องขอให้
ส. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะประสงค์จะช่วยเหลือและคุ้มครองประโยชน์ของ ส.
โดยคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
นอกจากนั้นผู้คัดค้านยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบิดาผู้คัดค้านฟ้อง ค. และ บ.
พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. เพิกถอนการโอนที่ดินของ ป. พี่ชาย ส.
ทั้งผู้คัดค้านยังได้แจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้พิทักษ์ของ ส. ให้ดำเนินคดีแก่ ค.
ในข้อหายักยอกทรัพย์ของ ส. การที่ผู้คัดค้านแจ้งความดำเนินคดีก็ดี การฟ้องคดีก็ดี
ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้กระทำในฐานะส่วนตัว
จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้คัดค้านมีคดีในศาลกับพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ส.
และมิใช่ผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3247/2542
ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่
ในความอนุบาลของ บ. และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้วแม้ภายหลังพันตำรวจโท ศ.
จะได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นโดยไม่มีผู้คัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็น
คนเสมือนไร้ความสามารถและศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของพันตำรวจโท
ศ. ก็ตามก็เป็นคนละคดีกัน
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถอยู่ในความพิทักษ์ของพันตำรวจโท
ศ.จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงยกเลิกเพิกถอนหรือลบล้างคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาล
ของ บ. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
ส่วนคดีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่ง
ที่สั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถซึ่ง บ.
ยื่นคำคัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้โจทก์เป็น
คนไร้ความสามารถ แต่ บ. ยื่นอุทธรณ์และคดีดังกล่าวภายหลังศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืน
ตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้โจทก์เป็น
คนไร้ความสามารถเป็นให้ยกคำร้องขอของโจทก์ ซึ่งหมายความว่า
โจทก์ยังคงเป็นคนไร้ความสามารถอยู่ตามเดิมส่วนในคดีที่ พันตำรวจโท ศ. บุตรบุญธรรมของโจทก์ยื่นฟ้อง
บ.ขอให้เพิกถอน บ. จากการเป็นผู้อนุบาลโจทก์ เป็นให้ยกฟ้องซึ่งหมายความว่า บ.
ยังคงเป็นผู้อนุบาลของโจทก์อยู่ตามเดิมดังนั้น
การที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้พันตำรวจโท พ.
ฟ้องคดีนี้ในขณะที่โจทก์ยังเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ ในความอนุบาลของ บ.และการที่โจทก์ฟ้องคดีโดยอ้างว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมีพันตำรวจโท
ศ. เป็นผู้พิทักษ์นั้น เป็นการกระทำโดยโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ ต้องให้
บ.ผู้อนุบาลเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรณีหาใช่เป็นเรื่องของการบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์และจำต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้นแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8368/2538
จำเลยนอกจากจะให้การและฟ้องแย้งว่า
จำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความ
จำเลยยังได้ให้การอีกว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าว
จำเลยไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไป
การแสดงเจตนาของจำเลยเป็นไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นว่า
จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องรวมทั้งมอบหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทโดยถูกโจทก์หลอกลวงอันเป็นเหตุให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่
แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตทางอารมณ์และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
เป็นผู้มีจิตไม่สมประกอบจนศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
โจทก์หลอกลวงจำเลยในขณะที่จำเลยมีสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ
ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท
และลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยจำเลยไม่มีเจตนาที่จะขายที่ดินให้แก่โจทก์
นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กรณีถือได้ว่าข้อที่ว่า
ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าวจำเลยมีสติสัมปชัญญะหรือรู้สำนึกผิดชอบหรือไม่เป็นประเด็นแห่งคดีรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ด้วยทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่กำหนดไว้แต่อย่างใด
คงอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลยและจำเลยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
อันถือเป็นการยอมรับว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นประเด็นในคดี
ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขประเด็นเป็นว่าขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารตามฟ้อง
จำเลยสามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปหรือไม่
จึงยังคงอยู่ในประเด็นแห่งคดีและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
โจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการขาดเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม
แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้วสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 32(เดิม) จำเลยมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
137(เดิม) เมื่อจำเลยได้บอกล้างภายใน 1 ปี
นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143(เดิม) แล้ว
สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
138 วรรคหนึ่ง (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6107/2538
น.ผู้พิทักษ์ของ
ด.คนเสมือนไร้ความสามารถไม่ใช่ผู้แทนของ ด.ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน เมื่อ
น.เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยเป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความและทนายความลงชื่อในคำฟ้องอันเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนจาก
ด. คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 35 เดิม
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3
ก็ได้ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งเป็นกรณีล่วงเลยการตรวจวินิจฉัยคำฟ้อง จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา
18
มาใช้บังคับไม่ได้เมื่อคดีไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานเป็นว่าด.ได้มอบให้
น.ฟ้องและดำเนินคดีแทนและได้รับความยินยอมจาก น.แล้ว
และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง
จึงมีผลทำให้ฟ้องที่ไม่สมบูรณ์กลับเป็นฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า
โจทก์ซึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมอบอำนาจให้
น.ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งนำเข้าร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 3 โดยมีเครื่องหมายของจำเลยที่
3
ติดอยู่ข้างตัวรถยนต์บรรทุกแล่นในซอยซึ่งเป็นถนนสายโทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับอยู่ในถนนสายกลางซึ่งเป็นถนนสายเอกล้มลงโดยประมาทไม่ดูรถที่แล่นอยู่ในถนนสายกลาง
เหตุเกิดทื่สี่แยกถนนสายกลางตัดกับถนนซอยในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส
คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
375/2538
บุคคลที่จะบอกล้างโมฆียะซึ่งผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้กระทำลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 137 เดิม คือผู้แทน โดยชอบธรรม หรือผู้พิทักษ์
หรือทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นคำว่าทายาทของบุคคลเช่นว่านั้น
ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้ไร้ความสามารถ
หรือผู้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้แก่ถึงความตายลง ดังนั้นในขณะที่ ต.
ผู้ถูกกลฉ้อฉลยังมีชีวิตอยู่จำเลยซึ่งเป็นเพียงผู้สืบสันดานของต. เท่านั้น
จึงยังไม่เป็นทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นจึงไม่มีอำนาจบอกล้างนิติกรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530
จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 34
หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา
1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา
๓๔ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถร้องขอ
ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้กระทำการนั้นโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก็ได้
ถ้าการนั้นจะเป็นคุณประโยชน์แก่คนเสมือนไร้ความสามารถ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6107/2538
น. ผู้พิทักษ์ของ ด. คนเสมือนไร้ความสามารถ
ไม่ใช่ผู้แทนของ ด. ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน เมื่อ น. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยเป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความและทนายความลงชื่อในคำฟ้องอันเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนจาก
ด. คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 35 เดิม
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3
ก็ได้ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งเป็นกรณีล่วงเลยการตรวจวินิจฉัยคำฟ้อง จึงนำ ป.วิ.พ.
มาตรา 18 มาใช้บังคับไม่ได้เมื่อคดีไม่มีการชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานเป็นว่า
ด. ได้มอบให้ น. ฟ้องและดำเนินคดีแทนและได้รับความยินยอมจาก น. แล้ว
และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง
จึงมีผลทำให้ฟ้องที่ไม่สมบูรณ์กลับเป็นฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4045/2528
คดีก่อนผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถขอแบ่งมรดกของผู้เสมือนไร้ความสามารถ
ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถเพราะเป็นเพียง
ผู้พิทักษ์มีอำนาจหน้าที่เพียงแต่ให้ความยินยอมหรือไม่แก่
ผู้เสมือนไร้ความสามารถเท่านั้น
ผู้เสมือนไร้ความสามารถคือโจทก์ในคดีนี้จึงมาเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองโดยได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
ดังนี้ ฟ้องโจทก์ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน และศาลอุทธรณ์ในคดีนี้
ไม่จำต้องพิพากษาคดีตามศาลอุทธรณ์ในคดีก่อน เพราะคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนย่อมสิ้นผลโดยคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน
ดังนั้นศาลอุทธรณ์คดีนี้จึงย่อมพิพากษากลับกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีก่อนได้
มาตรา ๓๖
ถ้าเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2102/2517
คดีเรื่องถอดถอนผู้พิทักษ์
ไม่เป็นคดีที่ทายาทจะรับมรดกความได้
คดีที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้พิทักษ์โจทก์
เมื่อโจทก์ซึ่งอยู่ในความพิทักษ์ถึงแก่ความตายในระหว่างฎีกา ก็ไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะพิจารณาฎีกาของจำเลยต่อไป
ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี