มาตรา ๑๖๘ การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น
ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์
หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน
มาตรา ๑๖๙
การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา
แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น
ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป
แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย
หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
[มาตรา ๑๖๙ วรรคสอง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕]
มาตรา ๑๗๐
การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล
หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี ของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย
หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ
ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2553
ก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือลงวันที่
5
กันยายน 2548 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้จำเลยที่บ้านเลขที่
5/619 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แต่ไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้
เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงมีหนังสือให้จำเลยไปรับหนังสือดังกล่าว
แต่จำเลยไม่ไปรับหนังสือภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงส่งหนังสือคืนแก่โจทก์
หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งโดยส่งให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาดังกล่าว
ปรากฏว่ามี อ. ซึ่งระบุว่าเป็นย่าของจำเลยเป็นผู้รับไว้แทน
ดังนั้นจากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว
แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด
จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วยแล้ว
เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 มีผู้รับไว้แทน
จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2
ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน
แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8
(9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2550
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง
จะให้สิทธิผู้รับประกันภัยบอกล้างโมฆียะกรรมได้แต่สัญญาประกันชีวิตเป็นนิติกรรมสองฝ่าย
การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 178 เมื่อจำเลยต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาประกันชีวิตย่อมต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์ทั้งสามผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่าย
มิใช่เพียงแสดงหลักฐานฝ่ายเดียวว่าตนได้ใช้สิทธิบอกล้างแล้ว
การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙
คดีนี้จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปถึงโจทก์ทั้งสามที่จังหวัดพิจิตรทางไปรษณีย์
อันเป็นการแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง
การบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่เวลาที่หนังสือไปถึงโจทก์ทั้งสาม
เมื่อนับจากวันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ในวันที่ 6 สิงหาคม
2540 ถึงวันที่การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมมีผลในวันที่ 7
หรือ 8 กันยายน 2540 จึงพ้นกำหนด
1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น
การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตาม
ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง
จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้โจทก์ทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5901/2550
การแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้านั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 บัญญัติว่า
"การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา..."
ถ้อยคำที่ว่าไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้นมิได้หมายความว่า
ผู้นำจดหมายไปส่งจะต้องได้พบผู้รับการแสดงเจตนาโดยตรง แต่หมายความว่า
ผู้นำจดหมายไปส่งต้องไปส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนา
แม้ขณะไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนา
จะไม่พบผู้รับการแสดงเจตนาโดยตรง ก็ถือว่าเป็นการส่งยังสถานที่ที่ถูกต้องแล้ว
ดังนี้ การที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไปส่งให้จำเลยที่ 2
ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่พบจำเลยที่ 2
และไม่มีผู้ใดรับไว้ แต่ก็ถือได้ว่า
หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่ 2
และมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ไปยังจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1602/2548
โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทโดยได้รับมรดกจาก
ป. ซึ่ง ป. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาท กำหนดอายุสัญญาเช่า 15 ปี
โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 11 ระบุว่า
เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะต่อสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี
ซึ่งข้อความตามข้อตกลงดังกล่าว เป็นเพียงคำมั่นของ ป.
ว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา
แต่คำมั่นนี้ยังไม่มีผลผูกพัน ป. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้สนองรับก่อน ป.
ถึงแก่ความตายทั้งเมื่อจำเลยได้รู้อยู่ว่า ป. ผู้เสนอตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537
ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2538 กรณีจึงต้องบังคับตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360
ซึ่งบัญญัติว่าห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองมาใช้บังคับ ดังนั้น
คำมั่นของ ป. ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา
1599 และมาตรา 1600 หนังสือขอต่อสัญญาของจำเลยจึงไร้ผล
และไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าใหม่
โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5655 - 5751/2543
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน
2541 จำเลยได้ส่งสำเนาประกาศเลิกจ้างโจทก์ จากสำนักงานกลางกรุงเทพมหานคร
ทางโทรสารไปปิดประกาศเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบที่โรงงานน้ำตาลลำปางที่โจทก์สังกัดอยู่
แม้จะมีการปิดประกาศในวันนั้น แต่จะมีผลเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างต่อเมื่อโจทก์ได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว
โจทก์ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยวันที่ 3 กรกฎาคม 2541
ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2541
และมีผลเป็นการเลิกจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 30
สิงหาคม 2541 เมื่อการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ประสงค์ให้เป็นผลเลิกจ้างกันในวันที่
1 สิงหาคม 2541 ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582
โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30
วันตามฟ้อง และจำลเยต้องชำระดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ประกอบด้วยมาตรา 224
นับแต่วันฟ้องซึ่งถือเป็นวันผิดนัดด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
939/2542
จำเลยยื่นคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวันเดียวกัน
โดยคู่สัญญาไม่ได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้
สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลา
กรณีเช่นนี้คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้
การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
นับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม หากพ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันสิ้นสุดลง
ดังนี้เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วจำเลย ไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนด
สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนดนั้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า การส่งหนังสือทวงถามบอกกล่าวผู้กู้
แม้ส่งแล้วไม่มีผู้รับเพราะผู้กู้ย้ายที่อยู่โดยไม่ได้แจ้งย้ายให้ผู้ให้กู้ทราบให้ถือว่าได้ส่งให้ผู้กู้แล้วโดยชอบ
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยผู้กู้เคยแจ้งย้ายให้โจทก์ทราบ
ดังนั้นที่พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถามของโจทก์ไปส่งให้จำเลยตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์แล้วโดยชอบในวันดังกล่าว
ในหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15
วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม กำหนดเวลาชำระหนี้ วันสุดท้ายจึงเป็นวันที่ 2
พฤศจิกายน 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในเวลาดังกล่าว
สัญญาบัญชีเดินสะพัด ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่
วันพ้นกำหนดคือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1062/2540
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า
ผู้ออกตั๋วสัญญาจะใช้เงินแก่โจทก์เมื่อทวงถาม ดังนั้น วันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทหมายถึงวันที่โจทก์ทวงถามให้ใช้เงินตามความใน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 913(3) หาใช่ถึงกำหนดใช้เงินในวันออกตั๋วไม่
ทั้งกรณีนี้ได้มีการทวงถามให้ผู้ออกตั๋วและจำเลยซึ่งเป็นผู้รับอาวัลชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแล้ว
อายุความจึงไม่อาจเริ่มนับจากวันที่ออกตั๋ว
ในหนังสือบอกกล่าวทวงถามของโจทก์ได้ให้เวลาจำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้เสร็จสิ้นภายใน
7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าวอันเป็นระยะเวลาพอสมควร
ซึ่งหมายความว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลานั้นหาได้ไม่
แต่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นได้
หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วไม่ชำระก็ถือว่าจำเลยผิดนัด
โจทก์อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทในฐานะผู้รับอาวัลได้นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามแล้วเป็นต้นไปวันครบกำหนด
7 วันตามหนังสือทวงถามคือวันที่ 19 กันยายน 2533อายุความตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001จึงเริ่มนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2533
เป็นต้นไปหาใช่เริ่มนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามไม่
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2536 ยังไม่ครบกำหนด 3 ปี
คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5785/2539
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน
เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไปส่งที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่1แม้ไม่พบจำเลยที่1และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยเกิดจากการที่จำเลยที่1หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับก็ถือว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ไปถึงจำเลยที่1และมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2777/2535
โจทก์จำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ใหม่โดยรวมเอาเงินต้นและดอกเบี้ยค้างส่งถึงวันทำสัญญาเพื่อผ่อนคืนเป็นงวด
งวดละเดือน จำนวน 54 เดือน หากจำเลยผิดนัดเดือนใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด
การฟ้องร้องจึงเป็นเรื่องต้องอยู่ภายในบังคับแห่ง ป.พ.พ มาตรา 166 มีอายุความ5 ปี
จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเพียงเดือนแรก
ต่อมาเดือนที่ 2 คือวันที่ 13 มีนาคม2524 จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตลอดมา
ถือว่าจำเลยผิดนัดทั้งหมดทุกงวด สิทธิเรียกร้องเงินคืนทั้งหมดจึงมีขึ้นแล้ว
อายุความฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างจากจำเลยจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม
2524 แล้ว หาใช่เริ่มนับอายุความเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดสุดท้ายไม่
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15กรกฎาคม 2531 เกิน 5 ปี ตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 ประกอบมาตรา 166 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ