มาตรา 48 ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดีเมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้
มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 50 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นตามที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้
มาตรา 51 ภายใต้บังคับมาตรา 802 ถ้าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจที่ได้รับไว้ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้
มาตรา 52 ผู้จัดการทรัพย์สินที่ศาลได้ตั้งขึ้น ต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล แต่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้ขยายเวลาก็ได้
มาตรา 53 บัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 50 และมาตรา 52 ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนั้นต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติของผู้ไม่อยู่ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ถ้าไม่มีคู่สมรสหรือหาญาติไม่ได้ หรือคู่สมรสและญาติไม่ยอมเป็นพยาน จะให้ผู้อื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นพยานก็ได้
มาตรา 54 ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 และมาตรา 802 ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้
มาตรา 55 ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้
มาตรา 56 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงาน อัยการ ร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้จัดการทรัพย์สินหาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
(2) ให้ผู้จัดการทรัพย์สินแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
(3) ถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน และตั้งผู้อื่นให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนต่อไป
มาตรา 57 ในคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินโดยจ่ายจากทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ ถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้
ถ้าผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงาน อัยการร้องขอหรือเมื่อมีกรณีปรากฏแก่ศาลว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งกำหนดบำเหน็จ งด ลด เพิ่ม หรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการทรัพย์สินอีกก็ได้
มาตรา 58 ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
(2) ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
(3) ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
(4) ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
(5) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
(7) ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน
มาตรา 59 ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 58 (4)(5) หรือ (6) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี จะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง
มาตรา 60 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่โดยอนุโลม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549
แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่ จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ธ. เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ไม่อยู่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 48 วรรคสอง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 ดังนั้น ขณะที่ ธ. ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ธ. ยังไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยศาลฎีกาเห็นควรเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ของ ธ. เสีย และมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2547
เมื่อเจ้าพนักงาน บังคับคดีจำหน่ายทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงาน บังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือ การจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 316 และการจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามมาตรา 318 ซึ่งหากมีเงินสุทธิเหลืออยู่ต้องจ่ายในส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยตามมาตรา 322 วรรคสอง และหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการจ่ายเงินที่เหลือแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานี้ เจ้าพนักงาน บังคับคดีต้องแจ้งบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย และแจ้งให้ลูกหนี้มารับเงินคืนด้วย หากยังปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น เงินส่วนที่เหลือนั้นก็ยังไม่เป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่เจ้าพนักงาน บังคับคดีที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกร้องเอาภายใน 5 ปี และยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงาน บังคับคดีขอให้ศาลส่งหมายแจ้งให้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษามารับเงินโดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2535 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2536 แต่ขณะนั้นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่แล้ว โดยไม่มีใครรู้เห็นว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จนต่อมาศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคน สาบสูญ และมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และปรากฏว่าผู้ร้องทราบว่ามีเงินส่วนที่เหลือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิได้รับคืน เมื่อเดือนตุลาคม 2542 ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 จึงยังไม่พ้นระยะเวลา 5 ปี ย่อมมีสิทธิขอรับเงินนี้ได้ เงินจำนวนนี้ยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2546
ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการกิจการของโรงเรียน ท. เป็นกรณีที่ศาลสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็น เพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง หาใช่กรณีที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 48 วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่ แม้ในเหตุฉุกเฉินผู้ร้องก็ไม่อาจจะก้าวล่วงไปจัดการในกิจการอื่นของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีที่จำเลยถูกฟ้องใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7786/2538
ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดทรัพย์สิทธิที่ยังไม่บริบูรณ์เพราะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ ก็เป็นบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของ ภ. ผู้ไม่อยู่ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทผู้ทำความตกลงยินยอมให้สิทธิอาศัยและสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลย จำเลยย่อมอ้างสิทธิที่ไม่บริบูรณ์ดังกล่าวยันโจทก์ให้ปฏิบัติตามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2525
ธ. ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ไม่ปรากฏว่าเป็นหุ้นส่วนลงทุนในการก่อสร้างห้องแถว จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของ ธ. แต่อย่างใด ธ.จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัว เมื่อ ธ. มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาล และไม่ปรากฏว่าศาลได้อนุญาตให้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของ ก.ผู้ไม่อยู่ได้ ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะดังกล่าว จะถือว่าการที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฟ้องในฐานะดังกล่าวหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2487
ร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องทำพลางตามที่จำเป็น เพื่อจัดการทรัพย์ของผู้ไม่อยู่นั้น ถ้าไม่ระบุในคำร้องอ้างสิ่งที่ขอทำเป็นกิจลักษณะแล้ว ศาลต้องยกคำร้อง
เขียนโดย
Vakin Youngchoay