ส่วนควบ อุปกรณ์ และดอกผลของทรัพย์

มาตรา ๑๓๗  ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

มาตรา ๑๓๘  ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

มาตรา ๑๓๙  อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย

มาตรา ๑๔๐  สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

มาตรา ๑๔๑  ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว

มาตรา ๑๔๒  ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย

มาตรา ๑๔๓  ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๑๔๔  ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา ๑๔๕  ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่
ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปีไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน

มาตรา ๑๔๖  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย

มาตรา ๑๔๗  อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๔๘  ดอกผลของทรัพย์ ได้แก่ ดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย

ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น

ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10361/2557
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่ และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2559
เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยตามมาตรา 148 วรรคสาม
เมื่อโจทก์ยึดหุ้นของบริษัท น. ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2559
ค่าเช่าห้องพักเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ในการยึดอสังหาริมทรัพย์นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง บัญญัติให้ครอบไปถึงเครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมครอบไปถึงค่าเช่าอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย ไม่ว่าดอกผลนิตินัยนั้นจะมีอยู่ก่อนหรือขณะยึดอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำยึดไม่จำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบถึงความมีอยู่แห่งดอกผลนิตินัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดค่าเช่าห้องพัก ซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดได้ แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม กรณีหาใช่เป็นการอายัดทรัพย์เพิ่มเติมเมื่อพ้นระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ การบังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ต้องห้ามความ ป.วิ.พ. มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2550
หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 วรรคสอง มีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้มีการผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แม้จะปรากฏว่าในทางปฏิบัติโจทก์คิดดอกเบี้ยครั้งแรกเพียงอัตราร้อยละ 13 ต่อปี และต่อมาในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็นต้นมาก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาโดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 1 วรรคสอง ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็มิใช่ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นเพราะเหตุผิดนัดตามสัญญาข้อ 3 เพราะโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 1 แต่อย่างใด จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะที่ศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2551
ตามคำฟ้องของโจทก์ ข้อ 1 บรรยายสรุปได้ว่า มีคนร้ายเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 แล้วนำไปทำปลอมโดยนำภาพถ่ายของบุคคลอื่นมาปิดทับภาพถ่ายผู้เสียหายที่ 1 ในบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว จากนั้น คนร้ายได้นำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าว ไปหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จนได้ซิมการ์ดและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เสียหายที่ 2 ไป และตามคำฟ้องโจทก์ ข้อ 2 บรรยายว่า ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ซึ่งใช้กระทำผิดโดยใช้กับหมายเลขโทรศัพท์และซิมการ์ดของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยจำเลยรับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง หมายเลขโทรศัพท์และซิมการ์ด ไว้จากคนร้ายโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดลักษณะลักทรัพย์และฉ้อโกง ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดเจน ทรัพย์แห่งการกระทำผิดฐานรับของโจรอันหนึ่งคือซิมการ์ด ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นวัตถุมีรูปร่างอันเป็นทรัพย์ตามคำจำกัดความตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 137 ไม่ใช่สิทธิการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือการใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจรซิมการ์ด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9743/2558
ในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน นายทะเบียนมีคำสั่งให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยและมีประกาศห้ามจำเลยจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งคำสั่งและประกาศดังกล่าวออกโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 52 และจำเลยทราบคำสั่งและประกาศดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้โอนที่ดินแก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752 - 780/2554
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20875/2556
ห้องแถวพิพาทที่ถูกยึดนำออกขายทอดตลาดเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้ที่ดินที่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตั้งอยู่จะเป็นของกรมป่าไม้ ก็หาทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้นกลับกลายเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ ส่วนที่ประกาศขายทอดตลาดระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์รื้อหรือติดต่อเจ้าของที่ดินก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะเลือกดำเนินการ หาเกี่ยวข้องกับจำเลยไม่ การออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12772/2555
สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าจาก ป. เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ไม่ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะจัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10651/2553
การที่จำเลยได้ที่ดินมาเป็นของตนตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยได้ดินที่โจทก์ทั้งสองถมไว้โดยสุจริตไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยเป็นเวลานานถึง 20 ปีเศษ ดินที่นำมาถมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 จึงไม่อาจคืนดินที่ถมได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนดิน แต่ขอให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดิน ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์ทั้งสองเรียกจากจำเลยได้เพียงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ดิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจ และราคาซื้อขายที่ดินในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,200,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7722/2550
เมื่ออาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 เป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 และทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์จึงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8915/2546
วัตถุที่โจทก์นำมาก่อสร้างอาคารเป็นวัตถุมีรูปร่างย่อมเป็นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 แล้ว มิใช่ว่าหากนำมาก่อสร้างอาคารจะเป็นทรัพย์เมื่อก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ อาคารดังกล่าวติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 139 การที่โจทก์ขายอาคารจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ และการที่โจทก์ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เป็นการประกอบกิจการของโจทก์ จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ แม้โจทก์จะยังมิได้ใช้อาคารดังกล่าวก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423/2541
การที่จำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินของผู้เสียหาย มีผลเพียงแต่ทำให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวในสภาพ อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เมื่อที่ดินถูกขุดดินที่ได้ย่อม เปลี่ยนสภาพเป็นสังหาริมทรัพย์ และผู้เสียหายไม่ได้มอบการ ครอบครองดินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ให้จำเลยครอบครองดินดังกล่าวจึงยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย การที่ จำเลยเอา ดินดังกล่าวไปขายโดยทุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2538
ที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ที่ 1 บางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะจึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจซื้อขายกันได้สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวกับโจทก์ที่1จึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15233/2553
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดินแล้ว ยอมให้สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตกเป็นเจ้าของที่ดิน ดังนั้น เมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดิน สถานีบริการน้ำมันรวมทั้งส่วนควบ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อถังน้ำมัน 9 ถัง ฝังอยู่ใต้พื้นดินและป้ายโฆษณาใหญ่ที่ปักยึดติดลงไปในดินอย่างมั่นคง ซึ่งตามสภาพจึงเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันไม่อาจแยกออกจากสถานีบริการน้ำมันได้ นอกจากการขุดทำลายพื้นผิวของสถานีบริการน้ำมัน จึงถือว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมันย่อมตกเป็นของเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนได้ ส่วนถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย ฮ้อยท์ยกเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ปั๊มลม ถือไม่ได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสถานีบริการน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมัน แม้จะเป็นส่วนสาระสำคัญในการให้บริการจำหน่ายน้ำมัน แต่มีลักษณะที่มิได้ยึดติดแน่นกับที่ดินหรือสถานีบริการน้ำมันเป็นการถาวร สามารถยกเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องทุบทำลาย จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2553
แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2551
น. ยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านเกิดเหตุให้แก่ บ. โดยไม่รวมบ้าน และยกบ้านเกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านเกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านเกิดเหตุจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/2551
จำเลยปลูกสร้างบ้านคอนกรีต 2 ชั้น บนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ บ้านหรือโรงเรือนที่จำเลยปลูกสร้างขึ้น แม้ใช้บันไดเพื่อขึ้นชั้นที่ 2 ของอาคารด้วยบันไดเดียวกัน ย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่ บ้านดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย
จำเลยปลูกสร้างบ้านหรือโรงเรือนบนที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมเป็นการก่อนให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย แต่สิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย และสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลา โจทก์บอกเลิกได้เมื่อบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2551
บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551
การอยู่อาศัยที่ ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา 1408 การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามมาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550
บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสียก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4260/2550
เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท. ต่อมาผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ทำสัญญาให้ ธ. เช่าที่ดินมีกำหนด 20 ปี การที่ ธ. ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดิน จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากผู้จัดการมรดกของ ท. ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดิน ธ. ย่อมหมดสิทธิในที่ดินต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป เว้นแต่ ธ. ยินยอมให้ตึกแถวตกเป็นของโจทก์ ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้รับมอบสิทธิในตึกแถวแล้ว ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ธ. ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวไม่มีอำนาจให้เช่าห้องพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดิน เมื่อสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดแล้ว ระยะเวลาการเช่าห้องพิพาทส่วนที่เกินกว่านั้นย่อมไม่ตกมายังโจทก์ตามมาตรา 569 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทอีกต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมออกไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10229/2555
แม้โจทก์จะเชื่อโดยสุจริตขณะทำสัญญาเช่ากับ ล. ว่า ที่ดินที่เช่าเป็นของ ล. ก็ตาม เมื่อ ล. ไม่มีอำนาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อต้นยูคาลิปตัสถือได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นยูคาลิปตัสนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัส การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานละเมิดตัดต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 1 และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7340/2542
ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่มีอายุหลายปี โดยสภาพถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แม้โจทก์จะอ้างว่าปลูกไว้เพื่อตัดขายเป็นการปลูกลงในพื้นดินเป็นการชั่วคราว แต่ก็จะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 3 ถึง 5 ปีจึงจะตัดฟันนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากตัดฟันแล้วตอที่เหลือก็จะแตกยอดเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ หลังจากนั้นประมาณ 3 ปีก็จะเจริญงอกงามเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลานานตลอดไปหาใช่ปลูกแล้วตัดฟันใช้ครั้งเดียวก็สิ้นสุด ต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559
ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2552
ในการสร้างบ้านพักอาศัยพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมทั้งถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยของโจทก์นั้น ได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของเจ้าของที่ดิน จึงถือได้ว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัย เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ที่จะไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน การที่จำเลยยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงเป็นส่วนควบของที่ดิน เพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ทั้งๆ ที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง แต่กลับไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ต่อไปเนื่องจากต้องรื้อถอนบ้านพักขนย้ายครอบครัวออกไป เพราะถูกแนวเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านจึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ที่มุ่งหมายจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านอย่างเป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2550
เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินและเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้ จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าว โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญากู้เงินแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545
จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2559
ค่าเช่าห้องพักเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ในการยึดอสังหาริมทรัพย์นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง บัญญัติให้ครอบไปถึงเครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมครอบไปถึงค่าเช่าอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย ไม่ว่าดอกผลนิตินัยนั้นจะมีอยู่ก่อนหรือขณะยึดอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำยึดไม่จำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบถึงความมีอยู่แห่งดอกผลนิตินัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดค่าเช่าห้องพัก ซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดได้ แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม กรณีหาใช่เป็นการอายัดทรัพย์เพิ่มเติมเมื่อพ้นระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ การบังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ต้องห้ามความ ป.วิ.พ. มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2559
เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยตามมาตรา 148 วรรคสาม
เมื่อโจทก์ยึดหุ้นของบริษัท น. ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10361/2557
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่ และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2552
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ปลดจำเลยจากล้มละลายมีผลเพียงให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนซึ่งได้มานับแต่วันที่ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วเท่านั้น ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ทั้งจำเลยซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้นยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 79 เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน ทั้งผู้คัดค้านได้รวบรวมต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นเอกสารสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทไว้แล้วก่อนศาลมีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลาย ดังนั้น เงินค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลของที่ดินพิพาทดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 ย่อมตกเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ด้วย ผู้คัดค้านจึงมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมเงินค่าเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแบ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2550
หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 วรรคสอง มีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้มีการผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แม้จะปรากฏว่าในทางปฏิบัติโจทก์คิดดอกเบี้ยครั้งแรกเพียงอัตราร้อยละ 13 ต่อปี และต่อมาในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็นต้นมาก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาโดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 1 วรรคสอง ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็มิใช่ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นเพราะเหตุผิดนัดตามสัญญาข้อ 3 เพราะโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 1 แต่อย่างใด จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะที่ศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6348/2549
หนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงหรือต่ำกว่าได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และ พ. ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่ทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้ผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และ พ. นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีก็มิใช่อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 3 แต่อย่างใด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2548
คดีก่อนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวและเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากโจทก์คดีนี้ผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเลิกกันคู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์ต้องคืนที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองในคดีนี้โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวต่อไป ส่วนค่าเสียหายนั้นเนื่องจากได้ตกลงเลิกสัญญากันแล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ส่งมอบตึกแถว จำเลยทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้ พิพากษาให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินและตึกแถว ดังนั้นผลของคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ โจทก์คดีนี้จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินและตึกแถวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนคือวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์คดีนี้ฟัง การที่โจทก์คดีนี้คงอยู่ต่อมาจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จึงเป็นละเมิด ดังนั้นที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดใน ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและตึกแถวจึงเป็นการฟ้องแย้งเพื่อให้บังคับตามสิทธิที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7712/2547
รถยนต์คันที่โจทก์ได้รับมอบกรรมสิทธิ์มาจากบริษัท บ. หมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์พิพาทมีเพียงหัวเก๋งกับกระบะเท่านั้นที่เป็นของคันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 ส่วนคัสซีหรือเลขตัวรถและเครื่องยนต์เป็นของคันหมายเลขทะเบียน บ - 1317 ชัยภูมิ ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนรถยนต์ประเภทรถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์เก่า รถยนต์พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการเอาอุปกรณ์หรือสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ และโดยที่หัวเก๋งกับกระบะไม่ใช่ทรัพย์ประธาน รถยนต์พิพาทจึงเป็นรถยนต์คันใหม่ ไม่ใช่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร ตามนัยแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1316 ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร โดยมิได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้จำเลยตรวจสอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2531 หมวด 2, 4 และ 6 การโอนรถ ข้อ 35 (1) ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10, 13, 16 และ 17 แห่ง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530 วางระเบียบไว้ และมีผลใช้ในทำนองเดียวกับกฎหมาย จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692/2546
คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ถูกต้องบางส่วน แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ไม่ถูกต้องมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้บังคับคดีแก่จำเลยเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องโจทก์ได้ และจำเลยจะยกเอาความไม่ถูกต้องในคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาอ้างเพื่อลบล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ถูกต้องหาได้ไม่
เมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมา ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด รวมทั้งเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซึ่งระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินที่เช่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยยืนยันไม่ประสงค์จะใช้สิทธิรื้อถอนเสาเข็ม โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยได้และพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรื้อถอนเสาเข็มใต้ดินนั้น ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้บังคับคดีแก่จำเลยเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2546
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินพิพาท และทำให้เสียทรัพย์โดยตัดฟันต้นสนของโจทก์ที่ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงเป็นประเด็นเดียวกันว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ต้นสนที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน โจทก์ย่อมเป็นเจ้าของต้นสนด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันตัดฟันต้นสนของโจทก์เสียหาย จึงต้องร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2545
การซื้อขายอาคารอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่คู่สัญญามีความประสงค์จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 นั้น ถ้าตราบใดที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าทีให้เสร็จเรียบร้อย การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะปรากฏว่าอาคารได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อจำเลยมีสิทธิที่จะปลูกสร้างในที่ดินได้ อาคารที่จำเลยปลูกสร้างจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายระหว่างผู้ร้องและจำเลยคงมีฐานะเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายซึ่งสามารถใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น กรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ดังเช่นกรณีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่คู่สัญญามิได้มีความประสงค์ที่จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และแม้จำเลยจะมอบอาคาให้ผู้ร้องครอบครองก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยกรรมสิทธิ์ในอาคารยังคงเป็นของจำเลยอยู่ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เพราะยังชำระราคากันไม่ครบผู้ร้องจึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดอาคารขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2545
ที่ดินมีโฉนดมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่เป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านตามมาตรา 144 ด้วย หากผู้ร้องโต้แย้งว่าบ้านเป็นของบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ผู้ร้องต้องมีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9526/2544
คำว่า "สุจริต" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1310 นั้น มีความหมายว่าผู้ปลูกสร้างได้ปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินโดยไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของผู้ใดแต่เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองและเชื่อว่าตนมีสิทธิปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้นโดยชอบ เมื่อจำเลยได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. โดยทราบอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ส. และได้ขออนุญาต ส. ปลูกบ้าน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยสุจริต แม้จำเลยจะต่อเติมบ้านในภายหลังอีกโดย ส. และโจทก์ไม่ห้ามปรามขัดขวางก็จะบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ส. รับเอาบ้านแล้วใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. นั้น มิได้ทำให้โรงเรือนตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. และโจทก์แต่อย่างใดตามมาตรา 146

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6402/2544
โจทก์ปลูกสร้างอาคารสรรพสินค้าด้วยสัมภาระของโจทก์บนที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาเช่าจากกรมการศาสนา โดยโจทก์ตกลงยอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้ตกเป็นของกรมการศาสนาทันที ดังนั้น การที่กรมการศาสนาได้กรรมสิทธิ์ในบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างก็เนื่องมาจากข้อตกลงในสัญญาเช่า โดยผู้เช่าแสดงเจตนาไว้ชัดแจ้งถึงการยกกรรมสิทธิ์ให้ทันทีเพื่อให้สิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินส่วนควบติดกับที่เช่าตลอดไป จึงเป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า ซึ่งหากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจจะตกลงให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดินในทันทีได้ ฉะนั้น อาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมการศาสนาโดยนิติกรรม หาใช่โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้จำหน่าย จ่าย โอนอาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า อันเป็นการ "ขาย"ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 91/1(4) ที่ได้ให้คำนิยามว่า "ขาย"หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2544
โจทก์เช่าที่ดินจาก ร. โดย ร. ตกลงให้โจทก์สร้างอาคารบนที่ดินที่เช่าและให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร. ทันทีที่ลงมือปลูกสร้างแล้วโจทก์มีสิทธินำอาคารดังกล่าวไปให้เช่าจนกว่าจะครบอายุสัญญาเช่า 23 ปี การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาเช่าปลูกสร้างอาคารไว้ในที่ดินที่เช่า บรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 146 ร. ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในบรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ร. ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นเนื่องจากสัญญาเช่าที่ตกลงกันไว้ซึ่งหากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์มาก่อนโจทก์ย่อมไม่อาจจะตกลงให้ทรัพย์นั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ ร. ทันทีได้ จึงถือได้ว่าโจทก์จำหน่ายจ่ายโอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ ร. อันเข้าบทนิยาม คำว่า "ขาย" ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2544
บ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินในลักษณะตรึงตราถาวรนับได้ว่าเป็นส่วนซึ่งโดยสภาพเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบ้านซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2543
ป. ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมา และจำเลยได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทหลังจากที่ดินพิพาทตกเป็นของ ป. แล้วโดย ป. รู้เห็นยินยอม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิอาศัยในที่ดินพิพาทปลูกสร้างบ้านไว้ในที่ดินนั้น บ้านจึงเข้าข้อยกเว้นไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2542
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย ป. ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุได้ใช้สิทธิในการเช่าปลูกสร้างบ้านพิพาทลงในที่ดินราชพัสดุ บ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินราชพัสดุ
การจดทะเบียนการโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุจากบุคคลผู้มีสิทธิไปยังบุคคลอื่นต่อเจ้าหน้าที่ของทางราชการ หาใช่เป็นการจดทะเบียนการให้อสังหาริมทรัพย์ไม่ เพราะการโอนบ้านพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จะต้องปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456, 525 ประกอบ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71 คือ ไปจดทะเบียนการได้รับการยกให้บ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินตาม ป. ที่ดิน ฉะนั้นการโอนไปซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยกให้บ้านพิพาทเพราะยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การยกให้บ้านพิพาทไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลให้บ้านพิพาทโอนตกไปยังผู้รับโอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7341/2542
สิทธิเก็บกินในที่ดินเฉพาะส่วนย่อมหมายถึงสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินนั้นด้วย
เมื่อสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทสิ้นอายุการเช่าแล้ว โจทก์ผู้ทรงสิทธิเก็บกินย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าได้ แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ทำสัญญาในฐานะผู้ให้เช่า ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกินหมดสิทธิจัดการทรัพย์สินหรือถือเอาประโยชน์แห่งทรัพย์สินในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1417

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7340/2542
ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่มีอายุหลายปี โดยสภาพถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แม้โจทก์จะอ้างว่าปลูกไว้เพื่อตัดขายเป็นการปลูกลงในพื้นดินเป็นการชั่วคราว แต่ก็จะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 3 ถึง 5 ปีจึงจะตัดฟันนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากตัดฟันแล้วตอที่เหลือก็จะแตกยอดเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ หลังจากนั้นประมาณ 3 ปีก็จะเจริญงอกงามเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลานานตลอดไปหาใช่ปลูกแล้วตัดฟันใช้ครั้งเดียวก็สิ้นสุด ต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะเข้าปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยสุจริต ก็หาอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐได้ไม่ และต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 หากให้โจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสไปในระหว่างพิจารณา ภายหลังจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ จึงสมควรสั่งห้ามไม่ให้โจทก์เข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6348/2549
หนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงหรือต่ำกว่าได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และ พ. ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่ทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้ผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และ พ. นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีก็มิใช่อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 3 แต่อย่างใด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2549
สัญญากู้ยืมเงินมีใจความว่า ในระยะ 2 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยคงที่ได้เพียงร้อยละ 5.25 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาหรือหลังจากนั้น โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และหลังจากล่วงพ้นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ จึงเป็นดอกผลนิตินัยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 148 วรรคสาม แต่สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด และยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379
จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2545
การพิจารณาว่าเงินที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นดอกเบี้ยอันเป็นดอกผลนิตินัยหรือเป็นเบี้ยปรับย่อมขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าเจ้าหนี้เรียกเอาเงินนั้นโดยอาศัยเหตุใด หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือต่ำลงตามที่กำหนดในสัญญาโดยมิได้คำนึงว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ ย่อมเป็นดอกเบี้ยอันเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับตามอัตราที่เปลี่ยนแปลง ศาลจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าอาศัยข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เรียกเอาจากลูกหนี้เนื่องจากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ย่อมเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8485/2544
รายได้จากการกรีดยางที่ได้มาหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว มิใช่ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดก แต่เป็นดอกผลของที่ดินทรัพย์มรดกตกได้แก่เจ้าของที่ดินตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336และ 1360 โจทก์ทราบดีว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้นำน้ำยางไปจำหน่ายหารายได้ตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีก่อนขอแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกและศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยแบ่งที่ดินแก่โจทก์โดยที่ดินดังกล่าวเป็นสวนยางพารามีรายได้จากการกรีดยางตั้งแต่ขณะโจทก์ฟ้องคดี ก่อนซึ่งจำเลยได้เอาไว้เป็นประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบรายได้จากการกรีดยางดังกล่าวแก่โจทก์เสียในคราวเดียวกัน แต่กลับมาฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3467/2543
ตามสัญญากู้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในครั้งแรกโจทก์จะคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยไม่ถึงร้อยละ 18.5 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไป โดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาได้ กรณีหาใช่เรื่องลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องอันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ไม่ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2543)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169/2542
อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกสูงขึ้นได้ในกรณีจำเลยผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา มีลักษณะเป็นค่าเสียหายซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ให้สัญญาแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น หากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงพอสมควรได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การลดนั้นจะต้องลดจากส่วนที่สูงเกินไปกว่าตามปกติที่สัญญากำหนดไว้ ซึ่งไม่เกินอัตราที่กฎหมายอนุญาตให้โจทก์คิดได้ มิใช่ลดลงมาต่ำกว่าอัตราดังกล่าว สัญญากู้ข้อ 2 ระบุให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญา และโจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญา แต่หลังจากวันที่ประกาศของโจทก์ลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 ข้อ 2 ที่ระบุอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้มีระยะเวลา ระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดได้ไม่เกินอัตราดังกล่าว ไม่ว่าจำเลยผู้กู้จะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 148 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นลดจำนวนเบี้ยปรับโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องร้อยละ 15 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราที่ระบุในประกาศข้อ 2 ดังกล่าว จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2542
คำขอของโจทก์ในคดีอาญาก่อนคือการคืนหรือให้ใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลในคดีอาญามีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาได้ และเมื่อศาลในคดีอาญาได้รับคำขอส่วนแพ่งของโจทก์ ดังกล่าวไว้พิจารณาโดยชอบแล้ว ย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก แม้ในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์มิได้มีคำขอในคดีอาญาก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนี้เป็นดอกผลที่เกิดตามเงินต้นตามกฎหมาย การฟ้องร้องขอบังคับในส่วนดอกเบี้ยจึงอาศัยและพึงต้อง ฟ้องมาในคราวเดียวกัน จึงต้องห้ามตามคำฟ้องในส่วน เงินต้นด้วย