บุคคลสาบสูญ

มาตรา ๔๘  ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้

เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556
            ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย..." หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552
          ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550
          ผู้ร้องอ้างว่า จำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และไม่มีใครรู้แน่ว่า จำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้อง ก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง กรณีเช่นว่านี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549
          แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาไปโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวแต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5770/2548
         ช. เดินทางออกจากบ้านโดยใช้รถยนต์กระบะ แล้วสูญหายไป ภายหลังพนักงานของบริษัทพบรถยนต์กระบะที่ ช. เช่าซื้อไปจอดอยู่ที่ด่านทางออกไปสหภาพพม่าจึงยึดรถยนต์กลับคืนมา การที่พบรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้เดินทาง จึงมิใช่ยานพาหนะที่ ช. เดินทางสูญหาย อันจะเข้าหลักเกณฑ์ระยะเวลา 2 ปี ที่จะต้องขอให้เป็นคนสาบสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่จะต้องใช้หลักเกณฑ์ระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2544
ผู้สาบสูญได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้สุเหร่าคันนายาวต่อเมื่อได้ทำการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายตัดทายาทโดยธรรมของตนทุกคนมิให้รับมรดกในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง เมื่อสุเหร่าคันนายาวได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลในทำนองเดียวกับมูลนิธิตามที่ปรากฏในพินัยกรรม ย่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2538
ในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 ยังไม่ใช้บังคับการนับระยะเวลาในการที่บุคคลได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไปตกต้องในฐานที่จะเป็นภยันตรายแก่ชีวิตอันจะเป็นคนสาบสูญจึงต้องนับเวลาถึงสามปีนับแต่เมื่อภยันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา64วรรคสองเดิมแม้ผู้ร้องจะมาร้องขอให้ม. เป็นคนสาบสูญเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ1ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535ใช้บังคับแล้วและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 61 วรรคสอง ที่ได้ตรวจชำระใหม่ให้ลดระยะเวลาเหลือเพียงสองปีนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไปก็ตามเพราะว่าตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 14 ให้ใช้ระยะเวลาที่ยาวกว่าบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2535
ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ.เป็นคนสาบสูญโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ผ.แทนที่ท. บิดาผู้ร้องซึ่งเป็นลุงของ ผ.ดังนี้หากศาลสั่งให้ผ. เป็นคนสาบสูญตามกฎหมายก็ต้องถือว่า ผ. ถึงแก่ความตายเมื่อครบ 7 ปี นับแต่ไปจากภูมิลำเนา คิดแล้วไม่เกินปี พ.ศ. 2476 เพราะ ผ. ไปจากภูมิลำเนาเมื่อปี พ.ศ. 2469 แต่ ท. บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2478 ดังนั้น ถึง ท.จะมีสิทธิรับมรดกของ ผ.ในฐานะลุงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผ.แทนที่ท.เพราะขณะที่ถือว่าผ. ถึงแก่ความตายนั้นท.ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผ. เป็นคนสาบสูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2533
โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกที่ดินพิพาททั้งหมดซึ่งเป็นที่ น.ส.3 อ้างว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินร่วมกันมาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 1 ปีแล้ว ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนาย ม. บิดาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ครอบครองที่พิพาทร่วมกัน แม้ต่อมานาย ม. ออกจากบ้านแล้วหายสาบสูญไปก็ถือไม่ได้ว่า ม. สละการครอบครองที่พิพาท จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนาย ม. มีส่วนในที่พิพาทเท่า ๆ กัน ศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของที่พิพาทส่วนของตนได้
การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดิน ได้งดดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่จัดรูปใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสามเพราะจำเลยทั้งสามคัดค้านการออกโฉนดโดยอ้างว่าเป็นทายาทของ ม. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาท เมื่อมีข้อโต้แย้งและตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ 4 จึงให้คู่กรณีไปดำเนินคดีกันทางศาลก่อน เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าอย่างไรก็จะปฏิบัติไปตามนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533
การที่ ผ. เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผ. รับรองแล้ว ทรัพย์มรดกของ ผ. เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงเป็นการจัดการสินส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ผู้ที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงน้องเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะยังมีโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ จำเลยจะยกเอาอายุความมรดกมาต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกหาได้ไม่ เหตุที่จำเลยฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ผ.จากอ.ผู้จัดการมรดกเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้หายสาบสูญไปจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยต้องออกไปตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำศพ ผ. ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าผลประโยชน์ของจำเลยนั้น จำเลยหามีสิทธิทีจะนำมาหักไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2521
ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของ จ. ให้กับโจทก์ โดยอ้างว่าทรัพย์สินทั้งนั้นเป็นสินเดิมของ จ. ตกเป็นมรดก โจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของ จ. ผู้สาบสูญตามคำสั่งศาล จะได้จัดแบ่งให้กับทายาทของ จ. ต่อไปแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นบุตรของ จ. ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทของ จ. ด้วย และทรัพย์สินของ จ. ตกเป็นมรดกแต่โจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดในคำฟ้องว่า โจทก์ขอให้แบ่งมรดกให้โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาท และมิได้มีคำขอบังคับท้ายฟ้องเช่นนั้น ดังนั้น ศาลจะพิพากษาให้แบ่งทรัพย์สินของ จ. เป็นกรณีมรดกไม่ได้ เป็นการเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142วรรคแรก และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม (2) เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเป็นของตนทั้งหมด ซึ่งศาลอาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่เพียงบางส่วนได้

(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1360/2517ประชุมใหญ่)