มาตรา 8 คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326/2563
แม้คำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ของโจทก์จะระบุว่า มิได้ประสงค์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แต่ประสงค์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดให้ก็ตาม แต่ผลของการขอก็คือขออนุญาตอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเอง ถือว่าคำร้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 26 บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำป.วิ.พ.มาตรา 23 มาอนุโลมใช้ได้
ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามมาตรา 26 ซึ่งมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้หรือต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่ ดังนั้น ถ้าโจทก์ไม่อาจคัดคำพิพากษาศาลแรงงานเพื่อใช้ประกอบในการเขียนอุทธรณ์เนื่องจากยังพิมพ์ไม่เสร็จ ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ก็สมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ แต่คำพิพากษาศาลแรงงานยังพิมพ์ไม่เสร็จตามที่โจทก์อ้างจริงหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานจะต้องไต่สวนแล้วมีคำสั่งต่อไป ที่ศาลแรงงานยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนว่ามีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563
โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างแล้ว แม้จำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้โจทก์เข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการเบื้องต้นแก่จำเลย พร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว จำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมลดลงให้แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน
การชุมนุมทางการเมืองตามที่จำเลยอ้าง ยังไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง และมาตรา 372 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2563
ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 แล้วศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์และทนายจำเลยฟังวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ต้องถือว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไม่ใช่วันที่อ่านให้ทนายจำเลยฟัง จำเลยมีอำนาจยื่นฎีกาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จึงต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย โดยไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6520/2562
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองได้ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดนับแต่ระยะเวลานั้นสิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ต่อมาจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามก็ตาม แต่ในที่สุดจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์คำสั่งได้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วต้องเปลี่ยนแปลง โดยต้องถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2562
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่อ้างว่าประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจหาเงินชำระค่าธรรมเนียมได้ทันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาและจำเลยขอขยายระยะเวลาฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบเช่นกัน เพราะถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3571/2562
การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในกำหนดหรือไม่
ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทนายโจทก์จะเรียงอุทธรณ์ให้ทันภายในกำหนดเพราะทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่ทนายโจทก์ยื่นฎีกาว่า ทนายโจทก์เสร็จคดีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และมีลูกความโทรศัพท์ให้ไปรับเอกสาร ทั้งที่ทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการปกติของศาล แต่ทนายโจทก์กลับเดินทางไปรับเอกสารจากคู่ความที่ตำบลลาดหญ้า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร แสดงว่าทนายโจทก์มิได้สนใจติดต่อศาลชั้นต้น ข้ออ้างว่ารถยนต์ของทนายโจทก์เสียระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลาทำการปกติของศาล จึงเกิดจากความบกพร่องของทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายสิ้นสุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2562
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันขึ้นปีใหม่อันเป็นวันหยุดราชการ วันที่ 2 และ 3 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันจันทร์และวันอังคารก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาในวันที่ 4 มกราคม 2560ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา การที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยได้ จำเลยจะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้องจำเลยอ้างเพียงว่า จำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ขอคัดถ่ายไว้ ทำให้ไม่อาจทำฎีกายื่นได้ทันภายในกำหนด อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น มิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ก่อนสิ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วไม่ จึงไม่อาจขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8961/2561
ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดข้อยกเว้นกรณีต่างๆ เอาไว้ที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดภายในสี่สิบแปดชั่วโมง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง เฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้เอง เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดกว้างเอาไว้โดยมีเจตนารมณ์จะให้ผู้เสพยาเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายได้ เช่น ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องสมควรกับความผิดที่ได้กระทำ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคดีนี้ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งในที่สุดโจทก์ก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี เท่ากับโดยสาระแล้ว จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอีกต่อไป จำเลยจึงเป็นผู้ป่วยซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง การมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในความผิดฐานอื่นของโจทก์ที่เกิดขึ้นในภายหลังเช่นนี้ เข้าลักษณะของพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่อาจนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดได้ทันภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ประกอบกับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี โจทก์ทราบดีถึงพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว เท่ากับข้อเท็จจริงปรากฏแก่โจทก์แล้วว่าจำเลยมิได้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์หรือพนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปยังศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2561
ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่าง บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้องว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่า บ.ส.ท. ฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. ในขณะที่ บ.ส.ท. ดำเนินการชำระบัญชี ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่ บ.ส.ท. ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทน บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. มาโดยชอบตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง
แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ยื่นคำร้องและล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ เมื่อปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังไม่ได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2561
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ขับรถยนต์กลับรถในระยะหนึ่งร้อยเมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และเป็นบริเวณที่มีสัญญาณจราจรบนทางห้ามรถทั้งสองฝั่งขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซง ห้ามกลับรถและห้ามเลี้ยวขวาโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังโจทก์มีระยะห่างจากรถยนต์ของโจทก์มากพอสมควร หากโจทก์ไม่เลี้ยวกลับรถฝ่าฝืนกฎหมายและสัญญาณจราจร ทั้งมิได้ให้สัญญาณเปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับย่อมไม่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ การที่รถยนต์จำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่จะหยุดรถได้ทัน เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยืนยันข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เลี้ยวรถกลับบริเวณที่เกิดเหตุไปด้านตรงข้ามอย่างกะทันหัน จนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดหรือหักหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ อันเกิดจากความประมาทของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2561
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสอง ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เมื่อจำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยระบุหนังสือรับรองการหักเงินรายได้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสาร และยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 16 ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน...พร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น และวรรคสองกำหนดว่า คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ แม้จำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน และจำเลยที่ 6 มิได้แสดงถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีเหตุสุดวิสัย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลภาษีอากรกลางให้นำสืบเอกสารดังกล่าวได้ จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานนั้นเข้าสืบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2560
ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2560
พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ บัญญัติว่า "ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้...(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน..." และมาตรา 19 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต... เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกัน... แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย...เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร"
การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนเงินประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ กำหนดไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อผู้นำเข้าได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก) ถึง (จ)
แม้กากถั่วเหลืองที่โจทก์นำเข้าได้ใช้ผสมอาหารสัตว์เลี้ยงไก่เพื่อส่งไก่สดแช่แข็งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายนั้นจะเกิดจากการที่ต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากกรณีภัยพิบัติไข้หวัดนก อันมิใช่ความผิดของโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่เหตุตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าแก่โจทก์
การที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะ รัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนกให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยโดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โจทก์ก็ยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2560
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ผู้คัดค้านฟังเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 23 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานของราชการ ไม่ใช่ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 24 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ดังที่ทนายผู้คัดค้านระบุไว้ในคำร้องฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2559 ที่ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 1 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตนั้น โดยข้ออ้างในคำร้องเป็นเพียงเหตุที่อ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้สามารถขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 นับได้ว่าเป็นความผิดหลงของทนายผู้คัดด้าน จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านดังกล่าวและต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้าน จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้วเช่นกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำสั่งรับฎีกาในเวลาต่อมา ก็เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2559
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจะต้องเป็นเหตุรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น เพียงแต่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นายจ้างอาจหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้การที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะลูกจ้างในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ด้วยเหตุโรงงาน ผลิตชิ้นส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาประกอบการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนนำส่งแก่โจทก์ได้ ซึ่งเป็นเหตุที่มีผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจในกิจการของโจทก์ ถือว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617 - 6619/2559
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวแม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2559
จำเลยได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่จำเลยไม่สามารถนำวัตถุดิบที่นำเข้าและได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เนื่องจากวัตถุดิบที่นำเข้าถูกไฟไหม้ โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือมีส่วนร่วมกระทำหรือประมาทเลินเล่อ และยังเป็นเหตุสุดวิสัย เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยจงใจ และเหตุดังกล่าวเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จำเลยจะบังคับได้ การที่จำเลยได้รับการส่งเสริมให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำเข้าก็เนื่องจากรัฐต้องการส่งเสริมการลงทุน มุ่งเน้นประโยชน์ในการสร้างงานเพิ่มรายได้แก่ประชาชน โดยประชาชนไม่ได้บริโภควัตถุดิบหรือสินค้าที่นำเข้าอันจะทำให้รัฐเสียดุลการค้าอันจะเห็นได้จากเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดให้นำวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเท่านั้น ก่อนที่จะเกิดไฟไหม้วัตถุดิบที่นำเข้าจำเลยก็ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว เมื่อวัตถุดิบที่นำเข้าถูกไฟไหม้ทำลายไปแล้วก็ไม่สามารถนำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้และไม่อาจนำวัตถุดิบมาบริโภคภายในประเทศได้เช่นกัน และยังเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่สามารถนำวัตถุดิบที่นำเข้าไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้วยเหตุไฟไหม้วัตถุดิบ จึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่จำเลยได้รับตามบัตรส่งเสริมฯ ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2559
แม้จำเลยนำสืบว่าเรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาการเดินเรือและเข้าเทียบท่าอาจคลาดเคลื่อนได้ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่ควรจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3533/2559
ก่อนขายทอดตลาดประมาณ 3 ถึง 4 วัน จำเลยได้รับมอบอำนาจให้ไปดูแลการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้โจทก์ โดยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าจะต้องไปก่อนเวลาขายทอดตลาด และการขายทอดตลาดครั้งก่อนมีผู้สู้ราคาและมีการคัดค้าน ซึ่งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์ระบุว่าต้องหาผู้สู้ราคาสูงกว่าหรือมาซื้อไว้เอง การขายทอดตลาดครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สำคัญที่จำเลยต้องไปดูแลและเตรียมความพร้อมโดยตรวจสอบสำนวนคดีและเส้นทางที่จะไปสำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรีล่วงหน้า ซึ่งจำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อม การที่จำเลยไปไม่ทันกำหนดจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2559
ภายหลังที่ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เฉพาะโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น หารวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ เพราะสิทธิในการฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ราย ฉะนั้นขณะที่ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาจึงพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตามคำร้องของ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองด้วย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้อง ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ อ้างเพียงว่าเอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมดซึ่งยังติดต่อไม่ได้ ต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดได้ อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเท่านั้น แม้ตามคำร้องจะอ้างว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็หาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 27 มีนาคม 2558 ไม่ เพียงแต่เป็นเหตุส่วนตัวของ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ทั้งสองในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงทำให้ ม. ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ทั้งสองก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2559
คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ 7620/2553 ในวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เป็นเวลา 7 วัน โดยที่ศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวไม่ทราบว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ไปก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวดำเนินการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ในขณะที่ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นเวลาก่อนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้เพิ่งลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ 1 ทางหนังสือพิมพ์และในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 และวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ตามลำดับ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวพิจารณารับคำขอรับชำระหนี้และกำหนดนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าววันที่ 19 มกราคม 2554 แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันก็ไม่เคยทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในคดีนี้ไปก่อนแล้ว ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว โดยมิได้ตรวจสอบว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีอื่นก่อนแล้วหรือไม่เพื่อจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีอื่นนั้น จึงเป็นผลจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวที่ทำให้เจ้าหนี้เกิดสำคัญผิดหลงเข้าใจว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีอื่นอีก ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด สมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้จนถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15019/2558
ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับขนสินค้านั้นทางทะเลจากท่าเรือ ซึ่งแม้จะปรากฏว่าเป็นการรับขนตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) แต่ก็มีการออกใบตราส่ง ดังนั้น การรับขนสินค้าทางทะเลในกรณีนี้ในส่วนของหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง โดยหน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 4 ให้บังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลเพื่อขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งมีข้อความว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 1,964,583 เมตริกตัน และมีข้อความระบุว่า "Shipped, in apparent good order and condition" และข้อความว่า "Clean on board" แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อการขนส่งสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบตราส่ง และสินค้าอยู่ในสภาพดี และผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าที่ขนส่งกับได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เรือ ที่ผู้รับตราส่งจัดหามา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อเรือมาถึงเกาะสีชังผู้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างยังได้ออกรายงาน ยืนยันน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งว่าเท่ากับที่รับไว้เพื่อการขนส่งจากต้นทาง จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กัน ให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง ถือไม่ได้ว่าการที่สินค้าขาดจำนวนไป มาจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าที่ขนส่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนหรือสูญหายไปดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยที่ 4 ขาดจำนวนไปจากที่ได้รับไว้เพื่อการขนส่ง และโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด ประกอบกับตามใบกำกับสินค้าก็ได้กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้นของสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งการขนส่งก็เป็นแบบเทกอง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งขาดจำนวนไปดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องฝนตกอย่างฉับพลันคนเรือดึงผ้าใบปิดระวางเรือไม่ทัน เป็นเหตุให้สินค้าที่เหลืออยู่ในระวางเรือเปียกฝน เช่นนี้ถือว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ทั้งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะสามารถรู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพรับขนส่งสินค้า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวนนี้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13718/2558
ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2557 ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 1 เดือน อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับถ้อยคำสำนวนและคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการทางธุรการ กรณีเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งจำเลยขอขยายได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ข้ออ้างตามคำร้องถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเองที่ไม่ติดตามเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้แต่เนิ่น ๆ จึงไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้ทนายจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 กันยายน 2557 และเมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 26 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบเช่นกัน และไม่ก่อให้โจทก์มีสิทธิฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2558
การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 22 เมษายน 2556 ขอขยายระยะเวลานำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน โดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินได้ทัน และผู้มีชื่อนัดช่วยเหลือจำเลยทั้ง ๆ ที่กำหนดเวลาให้จำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้ล่วงพ้นไปแล้วประมาณ 4 ปีเศษ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของจำเลยเองมิใช่พฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำขอของจำเลย และจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายอันจะรับไว้พิจารณาได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2558
กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อพังเสียหายจากการถูกคลื่นสึนามิซัดเข้าปะทะกับต้นไม้และพลิกตะแคงอยู่กับเศษวัสดุต่าง ๆ ที่แตกหักเสียหายเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายใช้การไม่ได้และสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่าหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควรและตามข้อ 11 กำหนดว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุด ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืน แม้โจทก์ฟ้องเป็นกรณีผิดสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไปก็ตาม แต่ก็พอถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดกรณีสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากเหตุที่มิได้เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดังเดิม แต่รถยนต์หาได้สูญสิ้นสภาพไปทั้งหมดยังคงมีตัวทรัพย์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายจากธรณีพิบัติภัยอันเป็นเหตุสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการส่งมอบรถยนต์คืนตามสภาพที่ใช้การได้ดี แต่ต้องส่งมอบคืนตามสภาพที่เป็นจริงหลังเกิดธรณีพิบัติภัย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในการคืนทรัพย์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทน โดยกำหนดให้ในลักษณะของค่าซากรถเป็นเงิน 20,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2558
การที่โจทก์ไม่ดำเนินการสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ และแถลงต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14931/2557
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานมีหน้าที่ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงอันเป็นผลโดยตรงต่อเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11751 - 11752/2557
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนี้ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาให้ย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้โจทก์จะขอให้ขยายระยะเวลาภายหลังวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็หาจำต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่อย่างใดไม่ ปรากฏว่า วันที่ 26 เมษายน 2555 ทนายจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงยังทำอุทธรณ์ไม่ได้ ศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งห้าถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 และในวันที่ 30 เมษายน 2555 อันเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็ปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำสำเนาคำพิพากษาโดยมีการรับรองสำเนาให้แก่โจทก์ตามคำแถลงขอสำเนาคำพิพากษาของโจทก์ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 ดังนี้ ย่อมแสดงว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้น ทนายโจทก์เพิ่งมีโอกาสได้รับสำเนาคำพิพากษาในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียง 2 วัน ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับการที่โจทก์จะทำอุทธรณ์ในคดีนี้ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10285/2557
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่ ธ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9530/2557
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ แต่เอกสารดังกล่าวสูญหายไปจากสำนวนความ เป็นเหตุที่ทำให้ศาลชั้นต้นไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองขอตรวจสำนวนไม่พบคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 อยู่ในสำนวนความ จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นได้ทำการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แล้ว ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้ จึงมีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองด้วยเหตุว่า การไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเป็นเพียงพฤติการณ์พิเศษ ต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4134/2556
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการขอขยายระยะเวลาไว้ว่าให้คู่ความขอขยายระยะเวลาได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โดยให้มีคำขอก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยก็ให้ขอได้แม้สิ้นระยะเวลานั้น สำหรับกรณีของจำเลย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในกำหนด แต่กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาในทางอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โอกาสจำเลยแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในกำหนด การที่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยเห็นพ้องตามคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วจำเลยจึงมายื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่แล้วนั้นไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยได้ เพราะไม่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายของจำเลยต้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไประหว่างอุทธรณ์ไม่นับหักจากระยะเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะสะดุดหยุดลงได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 844/2553
เหตุที่จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 จะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่จำเลยจัดสรรที่ดินและได้ประกาศขายที่ดินแปลงย่อยพร้อมบ้านพักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสิบห้าโดยที่มิได้ตระเตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อนเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุน ซึ่งสถาบันการเงินระงับการให้กู้ในระหว่างนั้นเป็นเหตุให้การดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยหยุดชะงักลง จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551
เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงหลุด รถยนต์บรรทุกจึงเสียการทรงตัวและชนถูกรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้ นั้น กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะผู้ใช้งานรถต้องตรวจตราอุปกรณ์ ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถซึ่งย่อมมีทั้งอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2551
จำเลยเป็นผู้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจัดสรรขายให้แก่ประชาชน โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย จึงต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมในเรื่องการเงิน การตลาด รวมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรับความเสี่ยงได้สูง แม้จะเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมีผลกระทบ ต่อการประกอบธุรกิจทั่วไป รวมทั้งของจำเลยด้วยก็ตาม แต่ก็มิใช่ภาวะที่จำเลยไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้น การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านไม่เสร็จจึงไม่อาจฟังได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5419/2550
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ โจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
หากโจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จริง โจทก์อาจให้ภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดูแลโจทก์ในขณะเจ็บป่วยตามที่โจทก์อ้างในฎีกาเป็นผู้ติดต่อทนายความของโจทก์ซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์เพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ได้ เพราะระยะเวลาดังกล่าวมีเวลาถึง 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟัง ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่โจทก์จะดำเนินการได้ทันทีตามกำหนด ข้ออ้างในฎีกาของโจทก์จึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่วนข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ถูกฟ้องขับไล่และทนายความของโจทก์อยู่ต่างจังหวัดก็มิใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2550
วันเกิดเหตุฝนตกไม่มากและลมพัดไม่แรง การที่ต้นจามจุรีริมทางหลวงล้มทับผู้ตายขณะขับรถจักรยานยนต์ไปตามทางหลวงจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความบกพร่องของกรมทางหลวงจำเลยที่ไม่โค่นเหรือปล่อยปละละเลยไม่สั่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปโค่นต้นจามจุรีที่มีสภาพผุกลวงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077 - 3078/2550
การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ตามคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2546 วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 8 มกราคม 2547 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 กรณีจึงต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าว ต้องถือว่าศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นการบังคับคดีย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะบังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปโดยไม่มีเวลาครบกำหนด ศาลฎีกาจึงกำหนดเวลาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2550
ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จำเลยมีทนายความและรูปคดีไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน ย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปอีก 3 วัน โดยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นแต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2549
ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้ เนื่องจาก อ. ไม่ยอมส่งมอบบัญชีและเอกสารคืนโจทก์ และโจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษีได้เพราะโจทก์ไม่ทราบว่ามีใบกำกับภาษีอะไรบ้างนั้น ไม่ใช่กรณีที่ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป. รัษฎากร มาตรา 82/5 (1) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) ข้อ 2 ที่จะนำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2549
ขณะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ลูกหนี้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 28 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติ ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่ง ณ วันที่ 25 ธันวาคม ให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดที่ให้แก่ลูกหนี้แล้ว กรณีจึงถือได้ว่าลูกหนี้ไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้นและต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 55 ดังนั้น มูลค่าหนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้ทั้งสองแจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ชำระและนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งสองอาจนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนแล้ว เจ้าหนี้ทั้งสองมิได้รับแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้ กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้แล้วว่า เป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ทั้งสองไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/36 และเจ้าหนี้ทั้งสองได้เร่งดำเนินการไปตามขั้นตอนปฏิบัติราชการเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการภายในเวลาอันสมควรภายหลังจากทราบว่าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว กรณีจึงมีเหตุผลสมควรที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659/2548
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนับระยะเวลาเริ่มต้นต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้น ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 มิได้เป็นวันต้นแห่งเดือนกำหนดระยะเวลาเป็นเดือนจึงไม่อาจคำนวณตามปีปฏิทินได้ ระยะเวลาสิ้นสุดย่อมเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลา มิใช่ต้องนับระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกำหนด 11 วัน และเดือนมีนาคม 2547 มีกำหนด 19 วัน เป็น 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนับระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน มิได้กำหนดระยะเวลาเป็นเดือน
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ส่วนคำว่า "เหตุสุดวิสัย" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายถึง เหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
เหตุที่จำเลยอ้างขอขยายระยะเวลาเนื่องจากจำเลยไม่สามารถตรวจพยานหลักฐานคำคู่ความซึ่งมีจำนวนมากและพยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ จำเลยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและอยู่ระหว่างสอบประจำภาคที่กรุงเทพมหานคร ทนายจำเลยไม่สามารถพบจำเลยและสอบถามรายละเอียดได้ทันระยะเวลายื่นอุทธรณ์ กับทนายจำเลยมีภาระต้องดำเนินคดีต่อเนื่องอีกหลายคดีนั้น เมื่อคดีนี้มิได้มีถ้อยคำสำนวนมากเป็นพิเศษ ทั้งมิได้มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนจนทนายจำเลยไม่อาจตรวจหรือทำคำฟ้องอุทธรณ์ได้ทัน หรือต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยอีก จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะมีคำขอภายหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2548
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและพิพากษายกอุทธรณ์เสียนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่ามีเหตุอันควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่
ข้ออ้างที่ว่าทนายจำเลยเชื่อคำบอกเล่าของเจ้าพนักงานศาลและทนายคนเดิมว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 และทนายจำเลยต้องว่าความทุกวันไม่สามารถมาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองได้ ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2548
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ในวันครบกำหนดอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2547 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์พร้อมยื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่าเป็นความผิดของทนายความที่ไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นควรอนุญาตให้ตามขอ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย กรณีของจำเลยดังกล่าวเป็นกรณีที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งจำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้เฉพาะในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ทนายจำเลยไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลยเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลย ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 22 มีนาคม 2547 จึงเกินกำหนดระยะเวลาขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยก็ไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2546
คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องและลงชื่อท้ายคำร้องเพียงผู้เดียวเท่านั้น คำร้องดังกล่าวจึงเป็นคำร้องของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะ จะแปลความว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วยหาได้ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้าใจผิดคิดว่าการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หมายถึงจำเลยทุกคนนั้น ก็มิใช่เหตุสุดวิสัย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด และเหตุที่อ้างก็มิใช่เหตุสุดวิสัยอันจะมีคำขอภายหลังสิ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 กรณีจึงไม่มีเหตุจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2546
จำเลยซื้อผ้าไปจากโจทก์ การที่จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้เพราะผู้ซื้อผ้าจากจำเลยอีกทอดหนึ่งมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลย เป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งการประสบปัญหากำไรหรือขาดทุนเป็นปกติทางการค้าย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2546
อายุความฟ้องร้องผู้สั่งจ่ายเช็คมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ดังนั้น เช็คลงวันที่ 5 สิงหาคม2540 ย่อมครบกำหนดอายุความในวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ปรากฏว่าในวันครบกำหนดดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ว่า โจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลจังหวัดอุดรธานีที่มีเขตศาลเหนือคดีแต่เงินที่เสมียนทนายเตรียมไปไม่พอกับค่าธรรมเนียม เสมียนทนายจึงนำคำฟ้องกลับมาที่จังหวัดขอนแก่นและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อเวลา 16 นาฬิกา อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถกลับไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีได้ทัน จึงขออนุญาตยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งในคำร้องว่า "รับไว้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีโดยด่วนเพื่อพิจารณาต่อไป" คำสั่งดังกล่าวเท่ากับยอมรับว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 แม้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นจะมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ แต่การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งรับคำร้องและให้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาโดยด่วนนั้น ย่อมถือได้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นได้ยอมรับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนการที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจะส่งคำฟ้องไปให้ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาสั่งในภายหลังก็เป็นขั้นตอนปฏิบัติของศาลมิได้เกี่ยวกับคู่ความ แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ภายหลังก็หามีผลทำให้คดีของโจทก์ที่ยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความกลับกลายเป็นคดีที่ขาดอายุความไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546
ปัญหาว่าการที่จำเลยส่งมอบข้าวสารไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ จำเลยเป็นผู้กล่าวอ้างภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงตกแก่จำเลย