มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2561
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉล อาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของผู้ตาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้าง
ผู้ตายได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยาน ผู้พิมพ์ ผู้เขียน ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683 - 9685/2558
พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า "พินัยกรรม" ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า "....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้..." กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8687 - 8688/2558
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย คำสั่งศาลที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผลต่อไป แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกมิชอบมิใช่เป็นการเฉพาะตัวจึงย่อมตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลอนุญาตให้ ท. เป็นคู่ความแทนที่จำเลยจึงชอบแล้ว
พินัยกรรมมีลายมือชื่อพยานสองคนและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1670 การที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ช. กับ ห. เมื่อบุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558
การที่ ป. และ บ. ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกันเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ถือว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว การลงลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. จึงถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินควรศาลย่อมลดเบี้ยปรับได้ แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2557
เมื่อพิจารณาพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.3 แล้ว ปรากฏว่ามีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายและหัวแม่มือขวา และมีนาย อ. กับดาบตำรวจ ช. เป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายไว้ ซึ่งตามพินัยกรรมระบุข้อความไว้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์หัวนิ้วมือซ้ายเป็นสำคัญต่อหน้าพยาน จึงเห็นได้ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือขวาของผู้ตายเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเกินกว่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปแต่อย่างใด พินัยกรรมดังกล่าวยังมีผลสมบูรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2555
สัญญาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน คู่ความจะตกลงรูปแบบและกำหนดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น ส. กับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้ ส. ถอนเงินโดยให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายแทนการลงลายมือชื่อได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15964/2553
พฤติการณ์ของจำเลยที่เป็นเจ้าของที่ดินได้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความใดๆ ให้ชัดเจนว่าต้องการจะขายที่ดิน แล้วยังมอบโฉนดที่ดินสำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนของจำเลยให้ ล. ผู้ติดต่อจะซื้อที่ดินไปดำเนินการนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ ล. และ อ. ผู้รับมอบอำนาจนำไปใช้ในกิจการอื่นด้วยการกรอกเพิ่มเติมข้อความว่า ให้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแทนจำเลย ถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยจะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนขึ้นให้การต่อสู้โจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตเพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6542/2552
ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ด้านหลังมี ณ. เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ ที่พิมพ์ลงในหนังสือมอบอำนาจจริง และมีเจตนาในการทำนิติกรรมการโอนที่ดินโดย ณ. ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และในวันเดียวกันก็มีหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรับรองโดย ณ. เช่นเดียวกัน แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดจนให้ผู้รับมอบอำนาจให้ถ้อยคำต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทนโจทก์จนเสร็จการ การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน จึงเป็นการสมบูรณ์ ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และตามมาตรา 822 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลงลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยที่ 1 ไป แสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2548
แม้ลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ เป็นเพียงรอยเปื้อนหมึกไม่เห็นลายของนิ้วมือ แต่ใต้ลายพิมพ์ ก็มีคำอธิบายในวงเล็บว่า เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคล ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่ารอยดังกล่าวเป็นรอยของลายพิมพ์นิ้วมือ มิใช่รอยเปื้อนหมึก เมื่อโจทก์มีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนและโจทก์มีพยานมาเบิกความประกอบเอกสารว่าลายพิมพ์ดังกล่าวเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือข้างขวาของโจทก์ซึ่งนำสืบได้เพราะเป็นรายละเอียด การลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4422/2545
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้ฟ้องคดีแทน และระบุชื่อคู่ความว่า "นางดี พานิชเจริญ โดย บ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์" แต่ปรากฏในใบแต่งทนายความที่ยื่นพร้อมคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แต่งให้ ว. เป็นทนายความด้วยตนเองและ ว. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายฟ้อง โจทก์จึงเป็นผู้ฟ้องคดีเองมิได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแต่ประการใด คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้หรือไม่
ใบแต่งทนายความของโจทก์มีผู้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเพียงคนเดียวไม่เสมอกับลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง มีผลทำให้การแต่งตั้งทนายความของโจทก์ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ ทนายความผู้นั้นยังไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้องได้ เท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง และการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจทำได้หลายประการ เช่น ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้อง หรือในช่องผู้แต่งทนายความ ในใบแต่งทนายความหรือให้ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์จัดให้ผู้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือของโจทก์ในใบแต่งทนายความมาลงลายมือชื่อรับรอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่ความตายและมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ได้ รวมทั้งมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องของใบแต่งทนายความแทนโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2545
พินัยกรรมใช้กระดาษที่มีตราครุฑและมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่ กรอกข้อความด้วยลายมือเขียนเฉพาะบ้านเลขที่ วันเดือนปี อายุของเจ้ามรดกทั้งสอง และรายชื่อผู้รับพินัยกรรม มีลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วนจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656
ผู้ทำพินัยกรรมมิได้ระบุชื่อทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
การที่ ท. คู่สมรสของ ม. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นเหตุให้ ม. ไม่อาจเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นได้ เพราะข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของ ม.เป็นโมฆะ แต่ไม่มีกฎหมายห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำเบิกความของ ท. และ น. เป็นพยานแต่อย่างใด และข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1754/2543
โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย คงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ขอให้กำจัดทายาทมิให้รับมรดกเนื่องจากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดกที่กระทำโดยมิชอบเพื่อโอนที่ดินกลับมาเป็นของเจ้ามรดกตามเดิม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความ 5 ปี มาใช้บังคับแก่คดีได้
ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เพื่อให้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นถือเสมือนกับการลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ซื้อไว้จาก ส. นานแล้ว ไม่ใช่รับโอนที่ดินมาในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีของ ส. เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์จึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7156/2541
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดว่า พยานที่จะรับรองลายพิมพ์นิ้วมือต้องมี 2 คน ปรากฏว่าตามสัญญากู้ยืมเงินมี ผ. เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยเพียงคนเดียว ส่วนโจทก์ลงลายมือชื่อแต่ในช่องผู้ให้กู้เท่านั้น ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแม้โจทก์จะเป็นผู้เขียนข้อความตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยเฉพาะจะได้เขียนข้อความว่า"รอยพิมพ์นิ้วมือ ง." ไว้ก็ตาม แต่โจทก์มิได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยด้วย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยจึงมีไม่ถึง 2 คน สัญญากู้ยืมเงินย่อมจะถือเสมอกับจำเลยลงลายมือชื่อยังไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2540
หนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทน โดยโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 4 ลงชื่อในช่องผู้มอบอำนาจไม่มีระบุไว้ด้วยว่าในฐานะพยาน ส่วนโจทก์ที่ 3 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ที่บริเวณช่องว่างด้านซ้ายมือของลายมือชื่อโจทก์ที่ 2 ดังนี้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีเพียงจ.ลงลายมือชื่อในฐานะพยานเพียงคนเดียวเท่านั้น หาอาจถือได้ว่าลายมือชื่อโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ที่ลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจนั้นได้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 3ด้วย ลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 3 จึงมีพยานรับรองไม่ถึง 2 คน เท่ากับว่าโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจโดยสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 9วรรคสาม โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2539
จำเลยไม่ใช่พยานในการทำพินัยกรรมการที่จำเลยลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้ทำพินัยกรรมถือไม่ได้ว่าได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรมไม่มีผลให้ข้อกำหนดพินัยกรรมยกที่ดินแก่จำเลยเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6290/2538
พินัยกรรมมีข้อความว่าผู้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมและที่จะมีขึ้นภายหน้าให้เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิแก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวและผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานทั้งหมด3คนแม้ลายมือชื่อของพยานดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วยก็ตามพยานผู้ลงลายมือชื่อดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมด้วยและย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2507
ผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นจริงๆ ถ้าพยานจะลงลายมือชื่อรับรองในภายหลังได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้รู้เห็นและยินยอมด้วย ฉะนั้น ในสัญญากู้ที่พยานมิได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะที่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือและผู้กู้มิได้รู้เห็นยินยอม จึงต้องถือว่าผู้ให้กู้ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2507)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2505
พินัยกรรมแบบธรรมดา มีพยาน 4 คนลงลายมือชื่อไว้ท้ายลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดก แต่ปรากฏว่าก่อนถึงลายเซ็นของพยานมีข้อความระบุไว้ด้วยว่าผู้ส่งพินัยกรรมได้ลงชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าข้าพเจ้าด้วย ดังนี้ ไม่จำเป็นจะต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือโดยตรงต่างหากอีก
เรื่องสติของผู้ทำพินัยกรรมดีหรือไม่ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาในเมื่อมีการโต้เถียงกัน ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่าพินัยกรรมจะต้องมีข้อความว่าพยานรับรองสติของผู้ทำพินัยกรรม
ตามปกติการพิมพ์ลายนิ้วมือก็ควรจะมีลายนิ้วมือปรากฏอยู่ด้วย แต่ลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมแม้จะไม่มีลายนิ้วมือเพราะเป็นโรคเรื้อน แต่เมื่อมีพยานลงลายมือชื่อรับรองถูกต้อง และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าเจ้ามรดกได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้จริงแล้ว ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นย่อมใช้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2505
ผู้ทำพินัยกรรม (เจ้ามรดก) ได้พิมพ์ลายนิ้วมือทับรอยพิมพ์นิ้วมือที่ลงไว้ไม่ชัดอีกครั้งหนึ่ง แม้ลายพิมพ์นิ้วมือนี้จะเลอะเลือนจนดูไม่ชัด ก็ไม่กลายเป็นแกงได และการกระทำเช่นนี้หาเป็นการขูดลบตกเติมแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมไม่