คำพิพากษาฎีกาน่าสนใจ ปี 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15383/2555
โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและรับต้นเงิน พร้อมดอกเบี้ยถึงวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไปสำนักงานที่ดินแต่จำเลยไม่ไป ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันนัดจดทะเบียนโอนและไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ ไม่จำต้องวางเงินต่อศาลหรือต้องวางเงิน ณ สำนักงานวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 333 แต่ประการใด เพราะถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะต้องดำเนิน การ ณ สำนักงานที่ดิน ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าว มาแต่ต้น การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง ที่ดิน จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินไปชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตาม มาตรา 324 อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9761/2555

ป.พ.พ. มาตรา 1361 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน" แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง 1 ใน 7 ส่วน แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอก บ.จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอก บ.โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่ คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ผู้ร้องยังมีส่วนเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอด แต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็น เจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวและยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองผูกพันผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาด ได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555

ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม นอกจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด เป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติอีกว่า "...หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..." ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อย โจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานการซื้อขายเป็น หนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของ โจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบท บัญญัติของกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7646/2555

แม้ โจทก์จะมิใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจยกเลิกคำสั่งให้รื้อถอนตึก แต่การที่โจทก์ทำงานในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ย่อมมีเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์จะสามารถช่วยเหลือมิให้จำเลยต้องรื้อตึกได้ การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ในลักษณะเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ช่วย เหลือมิให้จำเลยต้องรื้อถอนตึกที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต การออกเช็คพิพาทจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบ ร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนต้องตกเป็นโมฆะตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2555

ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านโดยอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่ยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมรดกจากบัญชี เงินฝากของผู้ตายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านยอมลงชื่อถอนเงินฝากของผู้ตายแล้วบัญชีหนึ่ง โดยผู้ร้องตกลงว่าจะแบ่งเงินให้ผู้คัดค้าน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่แบ่งให้ตามตกลง การที่ผู้คัดค้านไม่ยินยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินให้อีก ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ผู้ร้องเบิกเงินของผู้ตายออกจากบัญชีธนาคาร ก. ไปเพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งให้แก่ผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้ร้องละเลยมิได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก หากให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านต่อไปจะล่าช้าติดขัดก่อให้ เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีเหตุสมควรให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423 - 6424/2555

พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มา ใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ใน กรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็น เงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของ จำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตาม ระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของ จำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะ รัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2555

ป.พ.พ. มาตรา 851 บัญญัติว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับ ผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หมายความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความอาจทำขึ้นได้โดยไม่ต้องมีแบบของสัญญา แต่หากทำขึ้นโดยไม่มีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับ คดีตามสัญญาได้ สัญญาประนีประนอมมีข้อความระบุความเสียหายทั้งหมดว่ามีประมาณ 12,000,000 บาท แต่เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไป ก. ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ตกลงยอมรับเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท และขอสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายใดๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลยทั้งสอง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมี ขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามมาตรา 850 เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้ ก. ครบถ้วนแล้ว ถือว่า ก. ได้สละสิทธิเรียกร้องใดๆ ที่มีต่อจำเลยทั้งสองในเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไปแล้ว แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มีผลเพียงทำให้ ก. ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 851 เท่านั้น แต่ก็มิได้ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันขึ้นเสียไป เมื่อ ก. ผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จึงมีผลทำให้โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจรับช่วงสิทธิจาก ก. มาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555

จำเลย เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็น เพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคา ทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สิน ซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำ พิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับ จำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่ โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณี ที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผล ผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลย รับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง เท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอา แก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465 - 5466/2555

จำเลย เช่าห้องชุดจากผู้ร้อง สัญญาเช่าข้อ 19 ที่มีข้อความว่า "ในกรณีผู้เช่าไม่ขนย้ายทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ ของผู้เช่าออกจากสถานที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของ ผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้ โดยผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่ามารับคืนภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือแจ้ง หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวผู้เช่าไม่ติดต่อขอรับคืน ให้ทรัพย์สินของผู้เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า" เป็นกรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าตกลงสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนให้ผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ไม่มีลักษณะที่ผู้ร้องได้เปรียบจนเกินสมควรและไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม สัญญาข้อนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ผู้ร้องส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินพิพาทออกจากสถานที่เช่าไปยัง ห้องชุดที่จำเลยเช่าอันเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและ เป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 68 แล้ว แต่ผู้ร้องยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยมารับทรัพย์สินพิพาทคืนภายในกำหนด 1 เดือน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทของจำเลยจึงไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามสัญญาเช่าข้อ 19 โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำยึดทรัพย์สินพิพาทตามบัญชียึดทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2555

ข้อ ต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอนซึ่งยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์บังคับไม่ ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ นำสืบ และอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ ไม่ได้เป็นหนี้ตามฟ้อง เป็นการยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นอ้างได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2555

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องกลับโจทก์ได้ในคดี เดียวกัน กรณีดังกล่าวจึงต้องมีส่วนคำให้การแก้ข้อกล่าวหาของจำเลยเป็นเบื้องต้น กับส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ ซึ่งเมื่อจำเลยขอถอนฟ้องแย้งโดยมิได้ขอถอนคำให้การด้วย ก็มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องแย้งเท่านั้น มิได้ทำให้คำให้การของจำเลยสิ้นไปด้วยแต่อย่างใด

โจทก์อ้างว่า จำเลยสั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์รวม 16 ครั้ง ตามตารางคำนวณยอดหนี้เอกสารท้ายฟ้อง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ ทั้งยังให้การด้วยว่าโจทก์ส่งสินค้าให้แก่จำเลยเป็นเงิน 148,780.98 ดอลลาร์สหรัฐ กรณีจึงถือว่า จำเลยยอมรับข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ และคดีไม่มีประเด็นพิพาทในเรื่องนี้ที่โจทก์จะต้องนำสืบแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของโจทก์ส่วนนี้รับฟังได้ตามฟ้อง โดยที่ไม่จำต้องนำใบแจ้งหนี้มารับฟังเป็นพยานหลักฐาน

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมิได้มีคำขอบังคับให้ชำระเป็นเงินไทยด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันฟ้องก็เพื่อ ประโยชน์ในการคิดค่าขึ้นศาลเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะชำระหนี้เป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลก เปลี่ยน ณ สถานที่ใช้เงินและเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้คิดเป็นเงิน ไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันครบกำหนดชำระเงินแต่ละ จำนวน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีคำขอและเป็นกรณีพิพากษาเกินคำขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2555

บริษัท ท. ผู้ส่งและผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่งตามสัญญา รับขนได้ในเบื้องต้นคือ ค่าเสียหายตามจำนวนเงินค่าสินค้า 34,111.79 ยูโร และค่าเสียหายอื่นตามค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและสมควร โจทก์ผู้รับประกันภัยได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลย ซึ่งย่อมไม่มีสิทธิเรียกมากไปกว่าสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อ จำเลยอยู่แต่เดิม แม้โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดตามมูลค่าการ ประกันภัยที่ตกลงกันไว้กับผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนสูงกว่าราคาสินค้าด้วย การรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันก็ตาม ก็เป็นความผูกพันกันเฉพาะระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันต่อจำเลยที่ต้องถือว่าค่าเสียหายเป็นไปตามจำนวนที่โจทก์ รับประกันภัยเสมอไปแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้เท่าที่ผู้เอาประกันภัยมี สิทธิเรียกร้องต่อจำเลย จากพยานหลักฐานในสำนวนที่พอเห็นได้คือ ค่าขนส่งที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้านี้นอกเหนือ จากราคาสินค้าที่คิดราคาตาม Incoterms FOB แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงจำนวนเงินค่าขนส่งไว้ให้เห็นได้แน่ นอน ในกรณีเช่นนี้เมื่อเห็นว่าค่าขนส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 3,400 ยูโร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่ามีอีกแต่อย่างใดจึง ไม่กำหนดให้ โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทตามอัตรา แลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย 1 ยูโร เท่ากับ 52.7575 บาท ย่อมต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันนี้ในการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นเงินบาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2555

แม้ คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดย กฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์

ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่ง จะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบ ครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2555

การ กำหนดค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำ เป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ใช่ความเสียหายที่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ได้รับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2555

ตาม คำพิพากษาของศาลอาญาในคดีหมายเลขแดงที่ 2522/2527 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ บริษัทสุนิสา จำกัด จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในประเภท ศุลกากร ประเภทที่ 39.6 ข จึงพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยได้ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรโดยอาศัยพิกัดศุลกากร ตามที่อ้างให้โจทก์วางประกันค่าอากรและขาดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เป็นกรณีต้องคืนเงินประกันค่าอากรดังกล่าว เพราะเหตุที่ได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลากากร พ.ศ.2469 บัญญัติให้คืนพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้วางเงินประกันค่าอากรจนถึง วันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน

เงินประกันค่าอากรกับเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาด ตามฟ้องเป็นเงินคนละส่วนกัน และแม้ว่ามาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าปรับ แต่การที่โจทก์ต้องวางประกันค่าปรับดังกล่าวถือว่าโจทก์ต้องเสียหายตั้งแต่ วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวโดยไม่สมัครใจ ดอกเบี้ยในเงินประกันค่าปรับตามที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเข้าลักษณะ เป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มิได้ขอวางเงินประกันดังกล่าวเองแต่ฝ่ายพิกัดกับฝ่ายวิเคราะห์สินค้ามี ความเห็นขัดแย้งกัน และต่อมาฝ่ายวิเคราะห์สินค้าส่งเรื่องให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และให้โจทก์ วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าว อันเป็นการวางเงินประกันโทษทางอาญาโดยโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ระงับคดีแต่ อย่างใด โจทก์ย่อมต้องเสียหายตั้งแต่วันวางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวและตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนี้นับแต่วันวางเงินค่าปรับเช่นเดียวกับการวางเงินประกันค่าอากร ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แม้โจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยอ้างมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ก็เป็นกรณีโจทก์ประสงค์ในดอกผลนิตินัยหาใช่กรณีโจทก์มิได้ขอมาในคำฟ้องดัง ที่จำเลยอ้างไม่

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ ฯลฯ คำว่า ดอกเบี้ยไม่ได้หมายความเฉพาะดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้เท่านั้น อาจเป็นดอกเบี้ยจากหนี้กรณีอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งดอกเบี้ยค้างชำระที่กำหนดอายุความ 5 ปีนี้ หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เสียภาษีต้องจ่ายเงินค่าอากรหรือเงินประกันอากรแต่ ต่อมามีสิทธิได้คืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่มีการเรียกไว้ เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่มเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ต้องเสียภาษี มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงบัญญัติให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวาง เงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน การที่กฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืนมีผลทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่ใช่ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายและพานิชย์ ซึ่งมีกำหนดอายุความเพียง 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

มาตรา 10 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสีย จริงเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักและราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้นๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งออกว่าจะ ยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากร ที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก หมายถึงผู้เสียหายที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียต้องยื่นคำร้องขอคืน เงินอากรที่ต้องเสียไว้เกินภายใน 2 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากร แม้มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน แต่กรณีของโจทก์มิใช่กรณีสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสีย ไว้เกินจำนวนพึงต้องเสียจริงซึ่งจะอยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุค วาม 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่สำหรับกรณีดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากร ขาดเป็นดอกเบี้ยในหนี้เงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายและพานิชย์ โดยมีอายุความ 5 ปี นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี คือนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยคืนเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้ อากรขาดให้แก่โจทก์คือวันที่ 23 มกราคม 2546 เท่านั้น โดยใช้ให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือร้อยละ 7.5 ต่อปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2555

คดีนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ในการเรียกให้จำเลยโอน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้ว จำเลยถูกผู้อื่นแอบอ้างและใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยจำเลยไม่มีเจตนารับโอนเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เพียง พอโดยไม่จำต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง กรณีเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ พิจารณาได้ความแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไป เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีผู้แอบอ้างและใช้เอกสารปลอมขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วนำเงินของโจทก์ไปซื้อ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งซื้อมาด้วยเงินของโจทก์มีชื่อจำเลย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยก็มิได้กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะ เรียกร้องเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงชอบด้วยความเป็นธรรมที่โจทก์จะเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ เสมือนเป็นการติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนแทนเงินที่โจทก์ต้องสูญเสียไป เพื่อเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำอันมิชอบ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่ไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้หนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยตาม ฟ้องได้เพราะจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2555

โจทก์ และจำเลยมีข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้า ออกที่ใช้ร่วมกันและยังไม่มีการตกลงเปลี่ยนแปลงเช่นนี้แล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมจึงไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์ เนื่องจากมีนิติกรรมขัดอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2555

สัญญา จ้างระบุจ่ายค่าจ้าง และสวัสดิการ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง เมื่อผ่านการทดลองงาน จำเลยจะบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ โดยมีสวัสดิการเบี้ยขยันให้ตามหลักเกณฑ์ บ้านพักที่จำเลยจัดให้พนักงานมี 80 ห้อง พนักงานที่ไม่มีบ้านพักจะได้ค่าเช่า ในกรณีของโจทก์ไม่ต้องการบ้านพักก็จะช่วยเหลือเป็นค่าเช่า การตกลงจ่ายเงินดังกล่าวกันตามสัญญาจ้างของโจทก์กับจำเลยมีเจตนามาตั้งแต่ แรกที่จะให้เป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานนอกเหนือจากค่าจ้างที่กำหนด ไว้เป็นเงินเดือน แม้ค่าเช่าบ้านและค่าพาหนะจำเลยจะจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องนำเอกสารหรือหลักฐานมาเบิกจ่าย ก็เป็นเพียงวิธีการจ่ายเงินในลักษณะเหมาจ่ายเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ และมิได้แสดงว่าคู่สัญญาจะเปลี่ยนเจตนาให้สวัสดิการนั้นกลายเป็นค่าจ้าง

จำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบได้ หรืออาจกล่าวว่าโจทก์ขาดสมรรถภาพที่จะทำงานและรับผิดชอบในตำแหน่งที่ได้รับ การว่าจ้าง มิใช่เป็นเรื่องการลงโทษเพราะโจทก์กระทำผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงาน จำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอและสมควรที่จำเลยจะเลิกสัญญาจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

โจทก์ไม่ได้ไปทำงานเนื่องจากลาป่วยและลากิจ แต่โจทก์กลับทำบันทึกรายงานการตรวจงาน โรงอาหาร ร้านค้า พร้อมกับแสดงข้อสังเกต แสดงว่าโจทก์รายงานเท็จ เมื่อได้ความว่ามีการกระทำเช่นนั้นในงานหลักซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของโจทก์ ย่อมถือได้ว่า โจทก์มีการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและ สุจริต ทำให้จำเลยนายจ้างมีสิทธิที่จะให้โจทก์ลูกจ้างออกจากงานได้โดยไม่ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2555

สัญญา เช่ากำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระค่าภาษีโรงเรือนให้แก่ทางราชการแทนโจทก์ ซึ่งกำหนดให้ชำระทุกปีตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าวตามกำหนดย่อมถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาของ โจทก์ โดยหาจำต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีในส่วนดังกล่าวให้แก่ทางราชการก่อน นำคดีมาฟ้องหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่าภาษีโรงเรือนได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2555

ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย..." เมื่อโจทก์เห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดไม่ชอบ โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท โจทก์อาจฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์เพื่อให้บังคับตามสิทธินั้นเป็นคดี มีข้อพิพาทก็ได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองเรียกประชุม ได้ประชุมกันและจัดให้มีการลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับนิติบุคคลอาคาร ชุดทั้งสี่ แต่ในคำขอบังคับท้ายฟ้องขอเพียงให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ให้โจทก์พ้น จากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่และที่แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการซึ่งเป็นมติมิชอบเสีย แล้วให้โจทก์เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ต่อไป แม้ฟังได้ตามฟ้อง จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้เพราะจะต้องบังคับเอาแก่ นิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่มาด้วย กรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์มาในฟ้อง ทั้งไม่อาจแปลคำฟ้องว่าเป็นการร้องขอให้บังคับนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสี่ด้วย เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฐานกระทำ ละเมิด ฟ้องโจทก์ไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2555

จำเลย รับจ้างบริษัท ฟ ทำการขนส่งจากบริษัท ฮ ในประเทศอังกฤษทางรถยนต์ไปยังท่าอากาศยานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อขนส่งทางเครื่องบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเทศไทย แล้วจำเลยยังต้องรับผิดชอบขนส่งทางรถยนต์ต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัท ฟ ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ด้วย ย่อมเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถยนต์หรือทางบกกับการขนส่งทาง เครื่องบินหรือทางอากาศ อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกัน จากสถานที่รับของในประเทศอังกฤษมาส่งมอบของยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศ ไทย ถือได้ว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดังนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของ บริษัท ฟ ต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่จำเลยในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของ หรือควรจะส่งมอบของ เมื่อได้ความด้วยว่า หากสินค้าไม่สูญหายก็จะส่งถึงบริษัท ฟ ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบสินค้า นับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เกินกว่า 9 เดือน คดีจึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2555

แม้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและละเมิด แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการฟ้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งและต่อเติมอาคารพิพาท แล้วจำเลยที่ 1 ทำงานบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ อันต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยจ้างทำของ จำเลยทั้งสามทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่ได้รับจ้างให้โจทก์เรียบร้อยและโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อมาโดยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยทั้งสามต้องกล่าวในคำให้การส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์เมื่อใด และโจทก์พบความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้างวันใด แต่จำเลยทั้งสามกลับให้การในส่วนนี้เพียงว่า โจทก์อ้างว่าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ต่อเติมและตกแต่งอาคารพิพาท 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 และวันที่ 24 มีนาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เช่นนี้ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าขาดอายุความในเรื่องใด และอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความที่คู่ความจะต้องนำสืบ

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยขณะฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด แม้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนภายหลังก็ต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080, 1087 ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080, 1087


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2555

ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านเลขที่ 7/1 บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยหลังจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างบน ที่ดินรวมถึงบ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย จึงเป็นการนำยึดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง บ้านเลขที่ 7/1 ย่อมเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของจำเลยหามีสิทธิบังคับชำระหนี้ไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิ ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สิน เช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2555

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง เมื่อหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ชำระราคาและจำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูก สร้างที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องฟังยุติตามนั้น การที่จำเลยทั้งสองนำพยานบุคคลมาสืบว่า ยังไม่ได้รับชำระค่าที่ดินครบถ้วน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2555

ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสีย หายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หมายถึงสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ถูกทำให้เสียหาย และจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำ ละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่ เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมาย ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีนี้ เป็นค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลต้องสั่งลงในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11987/2554

การที่โจทก์ตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานขับรถตลอดเวลาที่ยังทำงานให้โดย โจทก์มุ่งที่จะใช้การงานของพนักงานขับรถมากกว่าคำนึงถึงผลสำเร็จแห่งงานที่ ทำ พนักงานขับรถต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของโจทก์ โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับโจทก์ และโจทก์มีอำนาจให้คุณให้โทษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน พักงาน เลิกจ้าง เป็นต้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง นายจ้าง และค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711 - 11712/2554

เงิน เบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับ ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับ ชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156

เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงิน ค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน

แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554

โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วัน กู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ

การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้อง ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้น เงินไม่ได้