- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19798/2557 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ได้กำหนดข้อจำกัดในการดำเนินกิจการของลูกหนี้หลายประการเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยการห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และการทำนิติกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัตินี้ การนั้นเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 วรรคท้าย ข้อจำกัดดังกล่าวย่อมใช้บังคับกับผู้ทำแผนโดยอนุโลม ตามมาตรา 90/25 และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ข้อจำกัดดังกล่าวย่อมใช้บังคับแก่ผู้บริหารแผนด้วย แต่เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารแผนของลูกหนี้นั้น ผู้บริหารแผนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ตามมาตรา 90/67 และในกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน ผู้บริหารแผนย่อมถูกจำกัด เมื่อปรากฏว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการขายไปเป็นทรัพย์ที่มีความจำเป็นที่ลูกหนี้จะนำมาพัฒนาและทำกำไรในการฟื้นฟูกิจการ และในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนสามารถขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น การที่ผู้บริหารแผนนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่จำนองระงับแล้วไปขายต่อให้แก่บุคคลภายนอก จึงมิใช่การกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อได้ตามแผน นิติกรรมการขายดังกล่าวต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ประกอบมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง จึงตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย ส่วนการขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางในกรณีที่นิติกรรมใด ๆ ตกอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 90/12 (9) จะต้องเป็นการขออนุญาตก่อนการทำนิติกรรม เพราะหากดำเนินการไปแล้วนิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ศาลไม่อาจอนุญาตได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19776/2557 มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้มาจากนิติสัมพันธ์ตามที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพักอาศัย แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารแทน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาช่วงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวก อ้างว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ก่อสร้างอาคารและส่งมอบงานให้แก่โจทก์เสร็จตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาที่ไม่ชำระค่าจ้างและคืนเงินประกันผลงานให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยสัญญาจ้างเหมาช่วง ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้และในคดีก่อนจึงเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่ในคดีก่อนเคยถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19775/2557 คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ฐานยักยอกทรัพย์มรดกของ น. จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คดีเสร็จการพิจารณา ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 คดีนี้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีแพ่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของ น. แทนที่ ส. บิดาตนที่ถึงแก่ความตายไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาท น. อีกคนหนึ่งได้กระทำความผิดอาญาโดยแจ้งเท็จปิดบังทายาทของ น. คนอื่น จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเองและไปจดทะเบียนขายแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องทางแพ่งเนื่องจากอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ซึ่งอายุความในการฟ้องทางแพ่งต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การฟ้องคดีอาญาต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลด้วย โดยคดีอาญายังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19772/2557 การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่ เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้ ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2557 เมื่อจำเลยและธนาคาร ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น สิทธิถอนทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอันขาดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 334 วรรคสอง (2) เหตุที่สำนักงานวางทรัพย์กลางยังไม่จ่ายเงินเนื่องจากจำเลยและธนาคาร ก. ต่างขอรับเงินจำนวนนี้ จึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าแท้จริงแล้วผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ เมื่อยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ สำนักงานวางทรัพย์กลางต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิที่แท้จริง แม้จะล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้รับการบอกกล่าว ก็ไม่ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้ระงับสิ้นไป โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 339
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19696/2557 จำเลยทราบว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 แต่จำเลยก็ไม่เคยคิดจะไปขออนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งหากจำเลยมีความสุจริตใจประสงค์จะขายอาคารพิพาทตามสภาพที่มีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต ก็ควรแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย เพราะหากโจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาคารแล้วโจทก์อาจถูกระงับการใช้อาคารพิพาทหรือถูกปรับในอัตราค่าปรับสูง และการไปขออนุญาตเพิ่มเติมภายหลังเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา พฤติการณ์ที่โจทก์ยอมทำสัญญาจะซื้อขายตามที่ฝ่ายจำเลยจัดทำขึ้นซึ่งไม่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องไปจัดการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องก่อน และไม่มีการกำหนดเบี้ยปรับทั้งที่โจทก์ต้องวางเงินมัดจำจำนวนมาก เชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้างก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย การทำสัญญาจะซื้อขายของโจทก์จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติอาคารพิพาทว่าก่อสร้างถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้าง นิติกรรมที่โจทก์ทำไปจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วจึงมีผลเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19694/2557 คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้แล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2220 ของจำเลยที่ 2 มีสภาพเป็นที่ราชพัสดุการจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เอกชนจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามนัยของมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 การที่เจ้าของที่ดินเดิมของที่ดินโฉนดเลขที่ 31645 กับโรงเรียนบ้านโนนสังข์ทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกันถือเป็นเพียงการปฏิบัติในเบื้องต้นอันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการจะโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น เพราะเหตุยังต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการอีกหลายประการให้ครบถ้วนเสียก่อน เมื่อยังไม่มีการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการจนครบถ้วน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาการแลกเปลี่ยนที่ดินได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19692/2557 โจทก์มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ถือว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 46 (9) และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2540 มาตรา 4 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าว่าต่างและแก้ต่างคดีแทนโจทก์ได้ และพนักงานอัยการเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 (เดิม) มาตรา 11 กำหนด เมื่อโจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้ทำหน้าที่ทนายความ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) จำเลยประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายกระดาษ จำเลยซื้อก๊าซจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนภายในโรงงานของจำเลยเพื่อผลิตกระดาษอันเป็นกิจการของจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้จำเลยทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยนั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเงินค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) แม้พฤติการณ์ที่โจทก์ปิดวาล์วก๊าซ ถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่กรณีก็เป็นการเลิกสัญญาเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซของจำเลย ซึ่งได้เกิดขึ้นและยังมีอยู่ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง การเลิกสัญญาดังกล่าวหาได้ทำให้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยระงับไปไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซจากจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19436/2557 เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ย. ต่อมาบริษัท ย. ขายแผนกไดเวอร์ซี่ลีเวอร์ให้จำเลยที่ 1 ทำให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. สิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีสาเหตุอันเกิดจากโจทก์ บริษัท ย. จึงจ่ายเงินผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการและเงินสมทบที่บริษัท ย. จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ย. พร้อมดอกผลให้โจทก์ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. เงินทั้งสองจำนวนจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้รับเมื่อออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ย. เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการไปยังจำเลยที่ 1 และโอนเงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้ตามสัญญาจ้างไปยังกองทุนจำเลยที่ 2 (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้น) เพื่อนำเงินทั้งสองจำนวนมาใช้ประกอบการคำนวณผลประโยชน์เมื่อโจทก์ออกจากงาน จึงไม่ใช่การโอนทรัพย์สินที่เป็นเงินทั้งสองจำนวนให้เป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้นเงินทั้งสองจำนวนยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ลงโทษเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์ เงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างและโจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 เงินจำนวนนี้จึงอยู่ในส่วนเงินสะสมของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้พร้อมดอกผลแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 ส่งคืนเงินนั้นให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด กองทุนจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแล้วจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลให้ไม่ว่าได้มีการจ่ายเงินและดอกผลคืนให้แก่นายจ้างไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกผลให้โจทก์ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า "เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่าย..." จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินสมทบพร้อมดอกผลที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 จากกองทุนจำเลยที่ 2 มาจ่ายให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนนี้ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้นั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินจำนวนนี้อันเป็นเงินสะสมพร้อมดอกผลให้โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนจำเลยที่ 2 กองทุนจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด การจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษามีผลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19431/2557 ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พยานหลักฐานใดที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นโดยฝ่าฝืนมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบตามมาตรา 27 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวภายใน 8 วัน นับแต่วันแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งได้อีก ชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารคนละฉบับ โจทก์เพิ่งนำสืบเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นพิจารณา จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยว่า เอกสารทั้งสองฉบับต่างระบุเงื่อนไขการประมูลขายแผ่นฟิล์ม และโจทก์นำเอกสารหมาย จ.1 ประกอบคำถามค้านของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับว่า เงื่อนไขการประมูลตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ส่งให้จำเลยที่ 1 ก่อนพิจารณาเสนอราคา จึงเป็นเอกสารที่สนับสนุนข้ออ้างของโจทก์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแผ่นฟิล์ม การนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการนอกฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาแต่เพียงว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารคนละฉบับและคนละความหมายกันใช้แทนกันไม่ได้เป็นการนำสืบนอกฟ้อง ไม่มีข้อความโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ส่วนข้อที่อ้างว่าเอกสารหมาย จ.1 ยื่นฝ่าฝืนมาตรา 90 นั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19416/2557 คดีก่อนโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและมีคำขอเรียกเงินที่เกี่ยวเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าตอบแทนที่โจทก์ทำงานในตำแหน่งเลขานุการผู้อำนวยการโรงเรียนและค่าเสียหายที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน คำฟ้องคดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19395/2557 จำเลยมิใช่ผู้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตั๋วแลกเงินโดยตรง แต่รับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงซึ่งรับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงคนเดิมที่โจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปแล้วโดยขณะจำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมานั้น จำเลยซึ่งเป็นธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมทราบว่า โจทก์ได้ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นที่เห็นได้โดยสุจริตว่าตั๋วแลกเงินที่จำเลยรับสลักหลังโอนมาในขณะนั้น มีมูลค่าลดน้อยลงไปกว่าราคาที่ผู้ทรงคนเดิมรับสลักหลังโอนมาเป็นจำนวนมาก หรือนัยหนึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวน่าจะไม่มีมูลค่าเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการซื้อขายเพื่อสลักหลังโอนกันตามปกติแล้ว ทั้งกรณีที่ผู้ทรงประสงค์จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ก็ชอบที่จะต้องนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจักได้ชำระบัญชีหรือดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์มาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของโจทก์ ให้ได้รับส่วนแบ่งโดยทัดเทียมกันอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนแห่งหนี้ พฤติการณ์การรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลย มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยจึงไม่อาจนำมูลหนี้ ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ มาหักกลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19384/2557 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักทหารกองบิน 2 เลขที่ 302/773 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย แล้วพูดใส่ความผู้เสียหายว่า "อีกะหรี่ อีหน้าหี อีหน้าหัวควย อีดอกทอง อีสัตว์" ต่อหน้าผู้เสียหายและ ฤ. อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนไม่ดีประพฤติชั่ว โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกผู้อื่นดูหมิ่น เกลียดชัง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362, 364 และ 393 ยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท จำเลยฎีกามีข้อความว่า ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยยังไม่เห็นพ้องด้วย จากคำเบิกความของผู้เสียหายตอบทนายจำเลยถามค้านว่า "หลังจากที่จำเลยด่าข้าฯ ด้วยคำพูดหยาบคายโดยเน้นย้ำคำว่า อีกะหรี่ ข้าฯ บอกให้จำเลยออกไป แต่จำเลยไม่ออกไป ข้าฯ จึงหยิบมีดปอกผลไม้มาถือไว้เพื่อป้องกันตัว" เห็นได้ชัดว่าผู้เสียหายมีอาวุธมีดในมือ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะกล้าบุกรุกเข้าไปในบ้านและด่าผู้เสียหาย... ขอศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลย แต่ฎีกาของจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นเช่นไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19355 - 19360/2557 ใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ซื้อทั้งห้าราย จำเลยที่ 2 ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับน้ำหนักของสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 23 ไว้มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า SAID TO WEIGH และระบุน้ำหนักของสินค้าที่ผู้ซื้อทั้งห้าราย สั่งซื้อตรงกับที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายอันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากบริษัท น. ผู้ส่งสินค้าถึงน้ำหนักของสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายที่บรรทุกลงในระวางเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งโดยผลของมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 ตามจำนวนน้ำหนักที่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ระบุไว้ในใบตราส่งดังกล่าว เมื่อผู้ส่งสินค้าได้แสดงใบรับรองน้ำหนักของสินค้าโดยบริษัท ธ. ซึ่งทำการตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายด้วยเครื่องชั่งก่อนที่จะนำสินค้าบรรทุกสินค้าพร้อมออกใบรับรองไว้ โดยฝ่ายจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าว คงมีแต่พยานจำเลยที่ 3 มาเบิกความลอยๆ เป็นเพียงความเห็นและการสันนิษฐานเท่านั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างใบรับรองน้ำหนักของสินค้าดังกล่าวได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการค้นหาสินค้าขาดจำนวน เมื่อความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในความเสียหายของสินค้าที่ตนรับขนส่งต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการค้นหาสาเหตุที่สินค้าสูญหายด้วย เพราะเป็นค่าเสียหายของโจทก์ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยแต่ละรายไม่เกี่ยวกับผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ประกอบกิจการรับขนสินค้าระหว่างประเทศและเป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้า ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับขนส่งสินค้ากับผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่ง แต่การที่จำเลยที่ 1 นำเรือของตนมารับขนส่งสินค้าโดยมิได้นำสืบพยานหลักฐานว่าไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุใดเนื่องจากขาดนัดยื่นคำให้การ คงมีเพียงรายการสำแดงทั่วไปของเรือระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้ามีจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนเจ้าของเรือ โดยมิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าเรือหรือเป็นผู้ดำเนินการ อันถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือบรรทุกสินค้าจากจำเลยที่ 1 และเป็นการเช่าประเภทเสมือนผู้เช่าเป็นเจ้าของเรือ (Chatrer Party by Demise) ที่เจ้าของเรือได้โอนการครอบครองและการควบคุมตลอดจนอำนาจสั่งการให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19350/2557 จากบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกับหลักปรัชญาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานประติมากรรมจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเอง (Originality) โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่จำต้องเป็นงานใหม่อย่างเช่นกรณีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต่อเมื่อเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือต้องไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะ หากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น มิใช่สักแต่ทำขึ้น งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่คุ้มครองความคิดหรือแนวความคิด ปรากฏตามสินค้าของโจทก์ว่าเป็นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้เป็นรูปสามมิติ รูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์นั้นจึงเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้แสดงออกโดยรูปแบบของงานประติมากรรมอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาว่ารูปปั้นนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นโดยเลียนแบบธรรมชาติหรือสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ก่อนแล้วคือพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่มานานนับพันปีแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าผู้สร้างสรรค์งานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ได้สร้างสรรค์งานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเองและด้วยความวิริยะอุตสาหะแล้ว เพราะมิใช่การสร้างงานนั้นขึ้นโดยทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าวในชื่อผลงาน "คุ้มครอง" และ "โพธิพักตร์" ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมนั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19349/2557 พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางที่ยึดได้ในคดีนี้เป็นดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 บัญญัติให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 70 ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีจึงไม่อาจนำดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 ออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลให้แก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับได้ และแม้จะยังมีดีวีดีบางส่วนที่ไม่ทราบตัวผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเจ้าพนักงานได้ยึดไว้เป็นของกลางด้วยก็ตาม แต่เมื่อดีวีดีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากมีการนำออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายให้กระทำได้ จึงไม่อาจนำดีวีดีนั้นออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ได้ แม้การจ่ายสินบนและรางวัลในกรณีของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 7 วรรคสอง จะให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลก็ตาม แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ปรับ ตามระวางโทษที่มาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติไว้ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายเป็นสินบนร้อยละสามสิบของค่าปรับแก่ผู้นำจับและจ่ายเป็นรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19347/2557 พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 33 บัญญัติหน้าที่ของผู้ส่งของที่ต้องทำก่อนและขณะส่งมอบของที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ให้แก่ผู้ขนส่ง คือ ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย และเมื่อส่งของนั้นให้แก่ผู้ขนส่งต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น สินค้าพิพาทบรรจุลงในกล่องกระดาษ ข้างกล่องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสินค้า มีสติกเกอร์ที่แสดงว่าเป็นสารเคมีและแสดงอัตราความเป็นกรด ชื่อของสารเคมีปรากฏในใบเสนอราคา ใบกำกับสินค้า ที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกและตามใบขนสินค้าขาออก อยู่ในวิสัยที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งจะรู้ว่าเป็นสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตราย หลังจากโจทก์รับสินค้าแล้ว พนักงานของโจทก์จะนำสินค้าไปบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นแบบ Less than container load - LCL บรรจุสินค้ารวมกับสินค้าของบุคคลอื่นอีกหลายราย ในกรณีขนส่งสินค้าอันตรายขาออกการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีการวางระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษในการขนส่งสินค้าอันตรายไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับจ้างขนส่งแบบบรรจุสินค้าไม่เต็มตู้ที่จะต้องจัดการติดป้ายและเครื่องหมายที่ตู้สินค้าให้ชัดเจน แม้จำเลยที่ 2 จะแจ้งว่าสินค้าพิพาทไม่ใช่สินค้าอันตราย ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุให้โจทก์ปัดความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นนี้ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีส่วนผิดที่ไม่แจ้งว่าสินค้าพิพาทเป็นสินค้าอันตราย โจทก์จึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการจัดการขนส่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19339 - 19344/2557 แม้จำเลยจะมีพยานบุคคลเพียงปากเดียว แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร โจทก์ทั้งหกยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าจำเลยหรือคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่าขั้นตอนในการออกสิทธิบัตรของพนักงานเจ้าหน้าที่มีความบกพร่อง จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โจทก์ทั้งหกจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมตกเป็นพับแล้ว ก็ไม่อาจพิพากษากำหนดให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 161 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19140 - 19173/2557 จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 (ฉบับเดิม) ว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานของลูกจ้างโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานประชุมและตกลงเป็นหนังสือว่าให้จำเลยแบ่งทยอยปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 3 ช่วง แทนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้คราวเดียวตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก และกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เมื่อสหภาพแรงงานกระทำไปโดยไม่ได้แจ้งให้สมาชิกทราบและไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่เห็นด้วย ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานกระทำไปโดยมติที่ประชุมใหญ่และเป็นการกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (1) และมาตรา 103 (2) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 19 จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้องโดยไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามมาตรา 20 ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยต้องถือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม เงินที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิที่จะได้รับเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนทวงถามจึงถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18891 - 18896/2557 ช่วงเวลาที่ศูนย์เครื่องจักรที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานรวมทั้งบ้านพักอาศัยและบริเวณรอบบ้านพักอาศัยของโจทก์ทั้งหกถูกน้ำท่วมสูงและขังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้ประกาศหยุดงาน จำเลยจัดหาที่พักชั่วคราวให้ลูกจ้างที่บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมที่ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ หมู่บ้านสรานนท์ปากเกร็ด และโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินวัดกำแพง จังหวัดนนทบุรี และมีศูนย์บัญชาการสั่งงานและให้ลูกจ้างมารวมตัวที่หมู่บ้านสรานนท์ปากเกร็ด แม้โจทก์ทั้งหกไม่ได้เข้าพักอาศัยในที่พักอาศัยชั่วคราวที่จำเลยจัดให้ โจทก์ทั้งหกก็ยังมีหน้าที่ต้องไปทำงานหรือรวมตัวกันตามคำสั่งของจำเลย การที่โจทก์ทั้งหกไม่เดินทางไปทำงานโดยไม่แจ้งสาเหตุให้จำเลยทราบเป็นเวลา 3 วันทำงาน ติดต่อกัน แสดงว่าโจทก์ทั้งหกคำนึงถึงความจำเป็นของตนเป็นประการสำคัญโดยไม่สนใจงานที่ต้องทำให้จำเลยหรือความเดือดร้อนของจำเลยที่มีสาเหตุจากน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกัน เป็นกรณีโจทก์ทั้งหกละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18882 - 18883/2557 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 21 ถึงมาตรา 24 เงินที่ผู้ประกันตนออกสมทบเข้ากองทุนย่อมตกเป็นของสำนักงานประกันสังคมจำเลยแล้ว หาใช่ยังเป็นเงินของผู้ประกันตนอันจะตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ไม่ บุคคลใดจะได้รับประโยชน์ทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 3 กรณีใดหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 บัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 73 (2) ระบุไว้ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย มาตรา 77 จัตวา วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติตัวบุคคลผู้เป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมกำหนดสัดส่วนที่จะได้รับไว้โดยเฉพาะ ไม่นำเอาทายาทตาม ป.พ.พ. มาปรับใช้ ทั้งเงินบำเหน็จชราภาพก็เป็นประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งนำเงินกองทุนประกันสังคมมาจ่ายตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง จึงต้องจ่ายให้แก่บุคคลและตามสัดส่วนที่มาตรา 77 จัตวา บัญญัติไว้โดยเฉพาะเท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18869/2557 จำเลยที่ 1 กับพวกเห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 บริหารงานสหกรณ์โจทก์บกพร่องและทุจริต อาจสร้างความเสียหายให้แก่สหกรณ์โจทก์อย่างมาก กรณีมีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกเชื่อว่าสามารถดำเนินการประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 แล้วมีมติให้ปลดคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ออกและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดใหม่ ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถเข้าไปในที่ทำการสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและเชิญเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นสักขีพยานตัดลูกกุญแจเพื่อเข้าไปทำงานในสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ตามปกติ ประกอบกับวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่า การเรียกและจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ ทำให้มติที่ออกมาไม่มีผลบังคับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 เข้าดำเนินการสหกรณ์โจทก์ต่อไป จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยอมปฏิบัติตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งยี่สิบกระทำโดยประสงค์ต่อผลให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยทั้งยี่สิบกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และปกป้องมิให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหายต่อไป จึงมิใช่เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งที่จะให้สหกรณ์โจทก์เกิดความเสียหาย จำเลยทั้งยี่สิบจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18830/2557 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยจ้างคนงานมาสร้างรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์สู่ทางสาธารณะนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลย โดยยื่นคำฟ้องพร้อมกับคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่า คือการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18820/2557 โจทก์ขอรังวัดเพื่อสอบเขต แบ่งแยกในนามเดิมและรวมโฉนดที่ดิน โดยโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแนวเขต แต่จำเลยที่ 1 เห็นว่าแนวเขตด้านทางหลวงเทศบาลไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกเทศมนตรีทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีขอยกเลิกการลงลายมือชื่อระวังแนวเขตของจำเลยที่ 3 และยื่นคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินในส่วนที่พิพาทคดีนี้เป็นสิทธิของฝ่ายใด ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิใช่คำสั่งทางปกครองที่จะทำให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันเพิกถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาท แม้จะเรียกค่าเสียหายมาด้วย แต่สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ย่อมมีอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18803/2557 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2547 โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความรวมทั้งโจทก์ด้วย และเมื่อเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ อันเป็นคุณแก่โจทก์จึงอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับ จ. เป็นจำเลยต่อศาลแขวงอุบลราชธานี จึงมิใช่กรณียังไม่เป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ต่อมาเมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 กับ จ. ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์จนศาลพิพากษาลงโทษและให้ออกไปจากที่ดินพิพาท จากนั้นปี 2552 จำเลยทั้งสองยังเข้าไปในที่ดินพิพาทอีกจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18801/2557 การระงับไปแห่งหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ด้วยการที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ จะถือว่าหนี้นั้นระงับก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้วเท่านั้น ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินของลูกหนี้ที่ 2 มิได้ระบุว่าหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 มีอยู่กับเจ้าหนี้ ได้ระงับลงทั้งหมดหรือบางส่วนในทันทีที่ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง แต่มีข้อตกลงว่าหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการรับโอนสิทธิเรียกร้อง ลูกหนี้ที่ 2 ยอมให้เจ้าหนี้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ การที่เจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน เมื่อลูกหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนอื่นที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด และไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18797/2557 การที่แผนข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ 1 และ 2 กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ คือ เจ้าหนี้ที่รวมทั้งที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ได้รับชำระหนี้และให้ยกคำขอรับชำระหนี้ และตามหนี้ส่วน ฉ 3 กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีคำสั่งเป็นที่สุดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้ได้รับชำระหนี้หรือยกคำขอรับชำระหนี้และทำหนังสือแจ้งความประสงค์จะไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด จะได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินต้นนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/32 วรรคสอง (2) และ (3) และวรรคสาม เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการซึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ ส่วนเจ้าหนี้นั้นจะได้รับชำระหนี้เพียงใดและอย่างไรต้องเป็นไปตามที่แผนกำหนดซึ่งได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้และจัดสรรการชำระหนี้ไว้ แต่หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใดแล้ว เจ้าหนี้รายนั้นก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้แม้แผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้ดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก็ตาม เพราะมิใช่เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งกรณีแตกต่างกับที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนอันเป็นกรณีถือว่าแผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/61 (1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมิให้เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ไม่ได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ด้วย ประกอบกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นย่อมจะผูกพันคู่ความที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลูกหนี้ซึ่งไม่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ ดังนั้น แผนข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ ในส่วนที่กำหนดให้เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขการชำระหนี้นั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/32 ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18660 - 18677/2557 เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ผู้ใดจะวางระเบียบหรือตกลงให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างมีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดมาทำนองเดียวกับเงินเดือน ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพเกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะหรือจ่ายเพื่อช่วยเหลืออื่นใด ค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 ซึ่งต้องนำไปคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา แม้จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ให้นำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อมาตรา 61 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณจากค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18591 - 18632/2557 เมื่อปรากฏว่างานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกและจำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็ตามแต่ก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (9) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหากโจทก์ทั้งสี่สิบสองได้ทำงานล่วงเวลา หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าได้ทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ทำงานล่วงเวลาจำนวนกี่ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18574 - 18577/2557 สัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมใช้ความถี่สื่อสาร โดยในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ใช้กิจการสื่อสารมวลชนเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของคนในชาติและรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการรับรู้ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนสาระความรู้และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ จึงเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนอันเป็นบริการสาธารณะ การให้บริษัท ท. จำกัด ดำเนินการจึงต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย และสัญญายังเป็นการมอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการรับผิดชอบและเสี่ยงภัยในกิจการนั้นตลอดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้รับบริการซึ่งเป็นสมาชิกที่รับบริการปลายทางในรูปแบบของการสัมปทานเพื่อจัดการบริการสาธารณะในลักษณะเดียวกันกับการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเห็นชอบหรืออนุญาตให้กระทำการใดหรือไม่ให้กระทำการใด รวมทั้งมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 อันเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดในสัญญาแล้วบริษัท ท. จำกัด ยังต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาในข้อ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่การตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันในลักษณะแห่งความเสมอภาคของคู่สัญญาในการก่อให้เกิดสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขและการเลิกสัญญาในลักษณะของคู่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ข้อสัญญาที่กำหนดให้บริษัท ท. จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดอายุสัญญา หากชำระล่าช้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นการกำหนดค่าตอบแทนจากการที่ร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาเท่านั้น ไม่ว่าการดำเนินกิจการของบริษัท ท. จำกัด จะมีกำไรหรือไม่ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการตกลงเข้ากันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ส่วนการที่บริษัท ท. จำกัด จะต้องโอนหุ้นซึ่งชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วจำนวนร้อยละ 7 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น หรือที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัท ท. จำกัด ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปี และเพื่อให้มีผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมการดำเนินงานในลักษณะของความมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนนั่นเอง สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมิใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด จัดการบริการสาธารณะในรูปแบบของการสัมปทาน ซึ่งบริษัท ท. จำกัด จะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยทุนทรัพย์และความเสี่ยงภัยของบริษัท ท. จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้บริษัท ท. จำกัด ใช้ความถี่สื่อสารที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติเพื่อดำเนินการเองในนามของจำเลยที่ 1 อันเป็นลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้วเช่นนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 15 ตัวแทน ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18571 - 18572/2557 หนังสือเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จะต้องประกอบด้วยข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำของตนและต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีก เมื่อพิจารณาเอกสารทีมผู้บริหารได้แจ้งจำเลยที่ 2 ให้ทราบถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานและพฤติการณ์ส่วนตัวในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานโดยละเอียด และในเรื่องวิธีการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท เป็นลักษณะการทำงานที่เสียเวลาและเสียพลังงานโดยใช่เหตุ ข้อความดังกล่าวนี้ได้แสดงถึงเหตุในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้อย่างครบถ้วน และทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าตนกระทำความผิดอย่างไรแล้ว และยังมีข้อความในวรรคท้ายว่าผู้บริหารได้ขอให้จำเลยที่ 2 ปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นภายในเดือนหน้า มิฉะนั้นบริษัทจะพิจารณาให้จำเลยที่ 2 ออกจากบริษัทต่อไป จึงเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำซ้ำในเหตุที่โจทก์ได้กล่าวอ้างอีก จึงมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) แล้ว เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดอีกโดยไม่สามารถจัดเตรียมรายงานประจำปีอันเป็นงานในความรับผิดชอบของตนได้เรียบร้อย จึงเป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18570/2557 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ เห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แทน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18514/2557 เดิมบริษัท บ. เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ประสงค์จะเช่า แต่บริษัท บ. มีหนี้สินจำนวนมาก จึงทำหนังสือยินยอมให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ใช้สอยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยวางเงินประกันความเสียหายไว้ ต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเจ้าหนี้ของบริษัท ก. แล้วนำออกขายทอดตลาด โจทก์เข้าประมูลราคาจากการขายทอดตลาดได้ ย่อมถือว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวตกแก่โจทก์ สิทธิใดๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากบริษัท ก. เจ้าของเดิมจึงหมดไป โดยไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่ามีสิทธิเหนือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ โจทก์มีสิทธิในทรัพย์ดังกล่าวเหนือกว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่อาจกล่าวอ้างหรือแสดงสิทธิผ่านสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดสัญญาเช่าต่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยที่ 1 กับทั้งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันความเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18464/2557 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 39 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางสามารถใช้สิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในการต่อสู้บุคคลภายนอกหรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางคืนได้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมทั้งหมด แต่ในกรณีที่เป็นความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลซึ่งเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น ย่อมเป็นสิทธิของบุคคลผู้ได้รับความเสียหายที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเอง คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดครอบครองทรัพย์ส่วนกลาง โดยอ้างว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น ๆ ในอาคารชุดไม่สามารถค้าขายได้ดีเช่นเดิม ทำให้ยอดขายของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมลดลง เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมแต่ละรายได้รับจากการกระทำของโจทก์ซึ่งมิใช่บุคคลภายนอก จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557 การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18406 - 18412/2557 การคุ้มครองแรงงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กำหนดไว้ว่ามิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู ดังนั้นการคุ้มครองแรงงานของครูของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ซึ่งขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้คือ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตามบทกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนดังกล่าวได้กำหนดการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับครูไว้ในมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและวรรคสองบัญญัติว่า การคุ้มครองการทำงาน การจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในระบบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งหมายถึงคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนยังมิได้ ออกระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงกำหนดรับรองไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 166 ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้ ระเบียบดังกล่าวที่ว่าคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนนานาชาติตามความหมายของโรงเรียนนานาชาติที่ถือเป็นโรงเรียนในระบบประเภทหนึ่งตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง กำหนดประเภทและระดับของโรงเรียนในระบบที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 17 และถือเป็นโรงเรียนในระบบตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 4 ดังนั้น กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูจึงอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 การคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 4 การเลิกสัญญาการเป็นครูและค่าชดเชย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 กำหนดให้การคุ้มครองการทำงานเกี่ยวกับค่าชดเชยตามข้อ 35 (2) ว่า ลูกจ้างที่เป็นครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างกับการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แสดงว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นการไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง ระเบียบดังกล่าวเกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือ โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปีการศึกษาและโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากการเป็นครูเพราะเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ถือเป็นการถูกจำเลยทั้งสองเลิกสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดกระทำผิดใดอันจะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในเหตุข้ออื่นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 32 และข้อ 33 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบมีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียนและการดำเนินกิจการของโรงเรียนให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารเพื่อบริหารกิจการโรงเรียนโดยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก ดังนั้นจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสองและมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 4 ได้กำหนดความในคำนิยามว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ครูเมื่อเลิกสัญญาการเป็นครู ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดนับแต่วันเลิกสัญญาโจทก์ทั้งเจ็ดคือ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายนับแต่วันดังกล่าวถือว่าผิดนัด จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอเงินเพิ่มนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยอ้างเหตุตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง และข้อ 35 (2) ไม่ถือว่าจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่ม เมื่อกิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการที่เป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน อยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครู ซึ่งแยกต่างหากจากการคุ้มครองแรงงานของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ได้ให้คำนิยามของคำว่า "วันหยุด" ในข้อ 4 ว่า หมายความว่า วันที่กำหนดให้ครูหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันปิดภาคเรียน วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือวันที่กำหนดให้หยุด และได้กำหนด ให้ความคุ้มครองไว้ในข้อ 15 ว่า ในปีการศึกษาหนึ่ง ครูมีวันหยุดทำงานดังนี้ (1) วันหยุดประจำสัปดาห์ตามที่ได้รับอนุญาต (2) วันหยุดภาคเรียน (3) วันหยุดตามประเพณี (4) วันหยุดตามประกาศหรือคำสั่งของทางราชการ และ (5) วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุด ซึ่งการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดของลูกจ้างที่เป็นครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจะมีสิทธิใดอันจะได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครูเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดตามระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนด ให้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ครู ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเช่นแรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้นั้น หากเปรียบเทียบถึงการคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิในวันหยุดของโจทก์ทั้งเจ็ดกับการคุ้มครองแรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ว ต่างก็มีสิทธิหยุดประจำสัปดาห์และหยุดตามประเพณีเช่นกัน ส่วนที่แตกต่างในสิทธิคือการที่แรงงานทั่วไปได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แม้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามการคุ้มครองแรงงานสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก็ตาม แต่ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ก็กำหนด ให้ครูมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียน ซึ่งแรงงานทั่วไปไม่มีสิทธิดังกล่าว รวมทั้งให้สิทธิหยุดในวันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือในวันที่ราชการกำหนดให้หยุดอีกด้วย ดังที่ปรากฏว่าปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานในวันเปิดภาคเรียนหรือเรียกว่า Student Days จำนวนไม่เกิน 188 วัน และมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียนด้วย จึงมิได้เป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้แต่อย่างใด สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยทั้งสองระหว่างปีการศึกษา 2550 ถึง 2551 และปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 เรื่องการเติบโตในอาชีพ กำหนดทำนองว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการเติบโตทางอาชีพ ปีละ 20,000 บาท และสะสมต่อได้ถึง 80,000 บาท ค่าตอบแทนสะสมจากปีก่อนจะต้องใช้ก่อนเริ่มต้นปีสุดท้ายของสัญญาและค่าตอบแทนปีสุดท้ายจะต้องใช้ภายในภาคการศึกษาแรกของปีสุดท้ายที่สัญญาจ้างสิ้นสุด เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดตกลงยินยอมลงชื่อต่ออายุสัญญาจ้างครั้งสุดท้ายระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยให้ใช้เงื่อนไขตามสัญญาจ้างข้างต้น โจทก์ทั้งเจ็ดชอบที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงการเบิกค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพตามสัญญาจ้าง ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเอาเปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดเกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าว จึงย่อมสิ้นสิทธิและไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาในค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพแล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 รับทราบข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ทำกับจำเลยทั้งสองแต่แรกว่า จำเลยทั้งสองจะจ่ายค่าที่พักให้ถึงเดือนมิถุนายนของปีที่ยกเลิกสัญญาจ้างหรือถึงวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ยินยอมต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสองเรื่อยมาและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวมาก่อน ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเอาเปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าวมีข้อตกลงให้สิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับค่าที่พักถึงเดือนมิถุนายนของปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสัญญาจ้าง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่มีสิทธิได้รับและเรียกร้องเอาค่าที่พักเดือนกรกฎาคม 2552
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557 สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18368/2557 แม้ชั้นบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุแห่งการนั้นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ฟ้องจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ต่อศาลแขวงนครราชสีมาและศาลมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) แล้ว ถือว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) กับจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดไม่มีประเด็นพิจารณาในคดีก่อน ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18347/2557 คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่แก่แล้วอายุตั้ง 90 ปี พูดกลับไปกลับมา แม่ใหญ่ได้แค่ในห้องนี้แหละ ข้างนอกฉันใหญ่ ถ้าไม่มีแม่ ฉันก็ดูแลทุกอย่างเองได้ ออกไปจากบ้านเถอะ" ต่อมาชั้นสืบพยานโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่อายุ 90 ปี แล้ว พูดกลับไปกลับมา แม่ไม่อยู่ไม่มีแม่เค้าก็ทำได้" และจำเลยบอกคนดูแลโจทก์ให้จูงโจทก์ออกไปข้างนอก แม้ในข้อนี้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้พูดข้อความเช่นนั้นและอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18330/2557 คำสั่งรับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย สิทธิบัตรของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณา โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณาเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรของโจทก์ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรดังกล่าวย่อมเป็นการออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.82/2553 ให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์แล้วนั้น ไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18329/2557 สิทธิบัตรพิพาทเป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาโดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรพิพาทในคดีนี้ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิบัตรพิพาทเป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรดังกล่าวย่อมเป็นการออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18316/2557 โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองปิดกั้นทางสาธารณะ แต่ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ซึ่งถือเป็นคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 246, 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองขุดทำลายทางจำเป็นและปลูกต้นไม้ล้ำเข้ามาในทางจำเป็นโดยจงใจทำให้โจทก์ทั้งสองกับผู้ใช้ทางอื่นไม่ได้รับความสะดวก อันเป็นละเมิด ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองเข้าปรับปรุงทางพิพาทเนื่องจากมีข้อตกลงในการสร้างทางภาระจำยอมเพื่อใช้แทนทางจำเป็น หากการก่อสร้างทางดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองแก้ไขให้ถูกต้องได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาจึงไม่เป็นละเมิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18297/2557 คดีอาญาที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และจำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18280/2557 จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง..." และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี" ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยจำนวน 100,000 บาท ได้ กรณีไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหมายบังคับคดีและคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18279/2557 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับ ย. วางแผนฆ่าผู้ตายและไม่รู้มาก่อนว่า ย. มีและพาอาวุธปืนติดตัวมาด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องและโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่า ขณะที่ ย. ยิงผู้ตายนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จำเลยที่ 1 จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ ย. ฆ่าผู้ตายนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้มาก่อนแล้วว่า ย. ให้จำเลยที่ 1 ขับรถพาไปหาผู้ตายเพื่อฆ่าผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก่อน การที่ ย. ยิงผู้ตายนัดแรกขณะที่นั่งซ้อนท้ายรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้วลงจากรถตรงไปยิงผู้ตายซ้ำ อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ขับรถหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ แต่ขับรถวกกลับมารับ ย. ตามเสียงตะโกนเรียกของ ย. และพาหลบหนีไป ก็มิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ย. ฆ่าผู้ตาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18235/2557 แม้สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. และมาตรา 4 บัญญัติว่า ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายความว่า ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น... เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ ช. กับค่าเสียหายของรถจักรยานสองล้อเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นหรือต้องนำค่าเสียหายเบื้องต้นไปชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่นอันเกิดขึ้นจากการที่จำเลยกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้นายชิ้นถึงแก่ความตาย จึงต้องนำเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปแล้วและถือว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. ไปหักออกจ่าค่าเสียหายดังกล่าวด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ได้รับไปแล้วมีจำนวนเท่ากับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพแก่โจทก์อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18225/2557 เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาชำระให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2557 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้" วรรคสอง บัญญัติว่า "คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด..." วรรคสาม บัญญัติว่า "ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า... (ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ... (จ)... กระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้..." ดังนั้น หากโจทก์ซึ่งเป็นคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสามารถกระทำได้โดยการขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) (จ) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งมีคำขอบังคับให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง หาใช่ฟ้องจำเลยเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาดังกล่าว จำเลยไม่ว่าจะในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการหาได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ไม่และกรณีหาใช่เป็นการเสนอคดีมีข้อพิพาทหรือคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 หรือกรณีควรคืนคำฟ้องนั้นไปให้โจทก์ทำมาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18196/2557 ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก จึงเป็นผู้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของกองมรดกที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาด การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่ผู้ร้องจะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อมีการบังคับคดีโดยนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อน ทั้งบุริมสิทธิของผู้ร้องไม่ปรากฏทางทะเบียน ดังนี้ ผู้ร้องย่อมสามารถร้องขอให้บังคับตามสิทธิของตนได้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 318 ถึง 321
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18162/2557 วิทยาลัย ฉ. ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัย ฉ. ตามมาตรา 20 เท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.นั่นเอง วิทยาลัย ฉ. จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อ ส. อธิการบดีวิทยาลัย ฉ. ได้มอบอำนาจให้ บ. แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557 การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้ แม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และโจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวย่อมมิได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557 อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18117/2557 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอส่วนหนึ่งให้เพิกถอนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวาระที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 อันเป็นการไม่ชอบ เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ซึ่งบัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้วให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย..." จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า การประชุมและลงมติวาระตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าว ศาลต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1195 ที่ศาลจะเพิกถอนมติที่ประชุมอันผิดระเบียบนั้นหรือไม่อันเป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทโดยไม่ต้องพิจารณาข้อตกลงในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คำฟ้องและคำขอบังคับในส่วนนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทตามสัญญาผู้ถือหุ้นซึ่งโจทก์จะต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามสัญญาผู้ถือหุ้นเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18056/2557 มาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ บัญญัติให้อำนาจอธิบดีเรียกประกันจากเจ้าของหรือผู้ปกครองคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อประกันค่าภาษีอากรหรือค่าชดใช้อย่างอื่น ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจเรียกให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนทำข้อตกลงหรือสัญญาประกันตามบทบัญญัตินี้ได้ ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ผู้ให้สัญญาจะปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศของกรมศุลกากร บรรดาที่มีบังคับใช้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาประกันทัณฑ์บนนี้ หรือที่จะมีขึ้นใช้บังคับต่อไป ประกาศและคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่บังคับใช้อยู่แล้วจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน มิได้เป็นผู้นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร แต่หากโจทก์เก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเกินกำหนดที่จำเลยอนุญาต จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บค่าอากรเป็นของใช้ภายในประเทศจากโจทก์ โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบก่อนตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปได้ เพราะมิใช่เรียกเก็บจากโจทก์ในฐานะผู้นำเข้าหรือเจ้าของสินค้าแต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18055/2557 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 47) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.62/2539 เรื่อง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและการขอมีเลขประจำตัวของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อการคำนวณกำไรขาดทุนและการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการวิเทศธนกิจเท่านั้น ไม่รวมถึงกิจการธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและต้องแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 พร้อมงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนของแต่ละกิจการ ตามอัตราภาษีร้อยละ 10 หรือร้อยละ 30 เสมือนหนึ่งเป็นคนละนิติบุคคล เนื่องจากมีอัตราภาษีเงินได้ที่ไม่เท่ากัน เมื่อพิจารณาประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 และวันที่ 17 เมษายน 2541 แล้วย่อมเห็นได้ว่า บทกฎหมายข้างต้นมีวัตถุประสงค์ให้กำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจแยกต่างหากจากกำไรสุทธิส่วนที่ได้จากกิจการอื่นของธนาคาร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ สำหรับกิจการวิเทศธนกิจที่ไม่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้เหลือร้อยละ 10 แยกต่างหากจากแบบฯ สำหรับกิจการวิเทศธนกิจที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้เหลือร้อยละ 10 และแยกต่างหากจากแบบฯ สำหรับกิจการอื่นของธนาคาร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18042/2557 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดความรับผิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินราย ก. เนื่องจากไม่รายงานและประเมินราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอย่างถูกต้องตามความจริง โจทก์คิดค่าเสียหายจากต้นเงินส่วนที่ธนาคารให้สินเชื่อไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามมติคณะกรรมการควบคุมบริษัทประเมินของโจทก์ ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเท่ากับจำนวนเงินสินเชื่อที่โจทก์อนุมัติให้ ก. กู้ก็ไม่ปรากฏว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ มติดังกล่าวระบุด้วยว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติ ให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้จนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ บริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ แสดงว่าโจทก์เห็นว่ากรณีที่ผู้กู้ยังคงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพียงแต่มีความเสี่ยงว่าผู้กู้จะไม่ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างอื่นหรือจะเสียประโยชน์จากการนำเงินจำนวนนี้ไปเพื่อการอย่างอื่นและจะได้ประโยชน์มากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อแก่ ก. การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท จึงสูงเกินไป สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินกำหนดหน้าที่ของบริษัทประเมินต้องสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามแบบและวิธีปฏิบัติที่ธนาคารกำหนด แบบสำรวจและประเมินกำหนดรายการประเมินราคาหลักประกันไว้ คือ ราคาประเมินซึ่งเป็นราคาสำหรับการประเมินที่ดินต่อตารางวาและราคาอาคาร กับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยคำนวณจากข้อมูลเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นราคาประเมินหรือราคารับเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นตามมาตรฐานหลักวิชาและจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อให้โจทก์พิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างถูกต้อง หลักประกันราย ร. จำเลยที่ 1 กำหนดราคาประเมิน 10,844,626 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน อ. นักประเมินราคาหลักทรัพย์ของโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันสูงกว่าราคาประเมินของธนาคารร้อยละ 127.41 อ. ประเมินใหม่ได้ราคาประเมิน 8,081,085 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 9,674,000 บาท โดยเปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน นอกจากนี้ปรากฏว่าบริษัทประเมินอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 เคยประเมินราคาในโครงการดังกล่าว ราคาประเมินกับราคารับเป็นหลักประกันจะต่างกันไม่เกินร้อยละ 30 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันไม่เกินร้อยละ 20 มาตรฐานการประเมินราคารับเป็นหลักประกันจึงไม่เกินกึ่งหนึ่งของราคาประเมิน การที่จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันถึง 22,000,000 บาท จึงเป็นการประเมินราคารับเป็นหลักประกันเกินกว่าราคาประเมินกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประเมินราคารับเป็นหลักประกันตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นการผิดสัญญา การให้สินเชื่อ โจทก์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ โดยฝ่ายประเมินสินทรัพย์ของโจทก์ต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ราคาที่จำเลยที่ 1 ประเมินนั้นเหมาะสมหรือไม่ และต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ทั้งโจทก์ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อด้วย ไม่ได้ใช้ราคาประเมินของจำเลยที่ 1 แต่เพียงอย่างเดียว ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เมื่อโจทก์ได้รับรายงานการประเมินราคาจากจำเลยที่ 1 แล้วต้องทราบว่าราคาประเมินซึ่งเป็นราคาต้นทุนกับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นราคาตลาดต่างกันกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ ต้องถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดทั้งหมดในส่วนต่างจากการให้สินเชื่อย่อมเป็นการโอนภาระความเสี่ยงของโจทก์แก่ผู้ประเมินราคาหลักประกัน ทั้งที่เป็นความผิดของโจทก์ที่วิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดและไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกค้า
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18032/2557 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย" และมาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า "เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ" ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีออกคำสั่งลงวันที่ 4 ตุลาคม 2516 สั่งว่าโจทก์มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี เป็นการกระทำไปตามที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุดในขณะนั้นให้อำนาจไว้ แม้จะเป็นคำสั่งที่ว่าโจทก์กระทำความผิดทางอาญาข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี ทั้งออกคำสั่งโดยไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลก็ตาม คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งที่มีผลบังคับได้ตามบทบัญญัติในกฎหมาย ซึ่งเมื่อไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด และด้วยผลของคำสั่งดังกล่าวกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 โดยออกคำสั่งกระทรวงกลาโหมให้โจทก์ออกจากประจำการ ถอดยศทหาร และย้ายประเภททหาร อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กระทำเช่นนั้นได้ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย โดยไม่อาจถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18028/2557 โจทก์บรรยายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านเช่าครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น เปิดให้เช่า 5 คูหา ต่อมาฟ้าผ่าเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังไม่ต่อสายล่อฟ้าลงพื้นดินเป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามสายไฟฟ้าเข้ามิเตอร์วัดไฟที่ต่อให้ประชาชนใช้ตามบ้านจนเกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนรวมถึงอาคารบ้านเรือน 5 คูหาของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายเลขที่บ้านเป็นเลขที่ 81 แต่ทางพิจารณาเป็นเลขที่ 16 ก็เป็นข้อแตกต่างที่ไม่เป็นสาระสำคัญ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18011/2557 ตามหนังสือรับรองโจทก์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า พ. เป็นกรรมการคนที่ 5 มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทผูกพันโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบหนังสือมอบอำนาจซึ่งระบุให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีและมีอำนาจมอบอำนาจช่วง และมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 จนกว่าจะได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่นำสืบให้ได้ความว่าหนังสือมอบอำนาจได้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ย่อมฟังได้ว่า พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และทำหนังสือมอบอำนาจให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีต่อมา ท. และ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ อ1. หรือ ศ. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยไม่จำต้องนำสืบหนังสือรับรองโจทก์ที่นายทะเบียนออกให้ ณ วันฟ้องว่า พ. ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อีก โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ คงให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องและค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ไม่มีการโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ที่จำเลยทั้งสองเพิ่งมายกขึ้นอ้างในฎีกาว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาแบบคำขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันให้ก่อนสืบพยานและเอกสารดังกล่าวมิใช่ต้นฉบับจึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เป็นฎีกาที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18006/2557 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 บัญญัติว่า "เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้... (3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว..." นั้น หมายความถึง การดำเนินการชำระหนี้จนเต็มจำนวนภายใต้กระบวนพิจารณาและวิธีการในคดีล้มละลายที่มีการตรวจสอบได้ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาล เนื่องจากหากมีการยกเลิกการล้มละลายตามอนุมาตรานี้ จำเลยจะหลุดพ้นจากหนี้สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 136 ดังนั้น จำเลยที่จะได้รับประโยชน์เช่นนี้จึงเป็นจำเลยที่ดำเนินการอยู่ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายและการตรวจสอบตามกฎหมาย คดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้ยื่นคำร้องเพื่อขอถอนคำขอรับชำระหนี้ จนไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เหลืออยู่ จึงไม่มีการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายเต็มจำนวนโดยตรงภายใต้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย แต่เป็นกรณีที่ไม่มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมีเหตุที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจรายงานศาลเพื่อสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยโดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) จึงไม่ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557 ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162 ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17950/2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ทั้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้กระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดเป็นลูกจ้างกองน้ำบาดาล ในสังกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะเป็นกรม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาจะมี พ.ร.ฎ.ให้โอนกองน้ำบาดาลไปสังกัดจำเลยร่วม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะฐานะของกองน้ำบาดาล ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 สังกัดในขณะเกิดเหตุยังมีผลผูกพันต่อไป สำหรับค่าขาดแรงงานไม่ใช่ค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะผู้ตายทั้งสองยังมีชีวิตได้ช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 4 จึงไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงาน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17923/2557 แม้สัญญาหมาย จ.1 จะระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาเช่า แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของเนื้อหา หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองประสงค์จะครอบครองที่ดินเพื่อใช้หรือได้รับประโยชน์ในที่ดินชั่วระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และโจทก์ทั้งสองได้ให้เงินแก่จำเลยเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 โดยแท้จริงไม่ แต่จุดประสงค์แห่งสัญญามุ่งเน้นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินจากจำเลยเพื่อก่อสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เจตนาที่จะเช่าทรัพย์กันแต่อย่างใด สัญญาหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นคนต่างด้าว การซื้อที่ดินเพื่อให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนโจทก์ทั้งสอง มีลักษณะให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้วโจทก์ทั้งสองยังคงเป็นผู้ครอบครองที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาซื้อขายจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17905/2557 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนี้ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดอาญา จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เกินกว่าสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17870/2557 จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานแล้ว โดยที่จำเลยร่วมได้ระบุในคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมขอถือเอาคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยเป็นคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยร่วมส่วนหนึ่งด้วย ในระหว่างพิจารณาจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่าไม่ถูกต้องประการใด ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1. ว่า เครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 654920 ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ตามคำขอเลขที่ 442167 และ 442168 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในคำพิพากษาต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยร่วมไม่อาจโต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้อีกเพราะจำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วม และไม่อาจใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และมาตรา 58 วรรคสอง การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้ ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมซึ่งได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมอยู่ที่คำว่า "VALENTINO" ซึ่งสะกดเหมือนกันทั้งเก้าตัวอักษร มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันว่า "วาเลนติโน" แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ตัวอักษรซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนคำดังกล่าวเป็นลายมือเขียน ส่วนคำนี้ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ และในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "Rudy" ต่อท้าย ส่วนในเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีบนคำว่า "VALENTINO" ซึ่งคำว่า "Rudy" กับตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเท่านั้น มิใช่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานว่า "วาเลนติโน รูดี้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเรียกขานว่า "วี วาเลนติโน" นับว่ามีสำเนียงเรียกขานคล้ายกันมากเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับที่จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 442167 และมีรายการสินค้าหลายรายการที่เหมือนกัน หากเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ซึ่งคล้ายกันมากกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วม ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อน ได้รับการจดทะเบียนและใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้าเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อน เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ไม่อาจได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 20 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อปรากฏว่า ว. เป็นผู้อนุญาตให้โจทก์นำชื่อตัวและชื่อสกุลของตนมาใช้เป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2518 การที่โจทก์นำคำว่า "VALENTINO RUDY" มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นสินค้าในจำพวก 25 จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต และปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าว่า โจทก์ได้อนุญาตให้บริษัท บ. ในประเทศไทยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" กับสินค้าในจำพวก 25 ที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" ในลักษณะที่เป็นลายมือชื่อ โดยบริษัท บ. ได้ผลิตสินค้าเสื้อเชิ้ตบุรุษออกจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถึงประมาณ 3 ปีเศษ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับสินค้าจำพวก 25 ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์โดยกำหนดเงื่อนไขและข้อกำจัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17869/2557 สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบ ข้อ 3.4 เกี่ยวกับการห้ามใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญาหรือได้รับแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้นั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานวรรณกรรมแบบเรียนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาข้อนี้จึงจำกัดเฉพาะงานที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 3.4 โจทก์จึงต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นใดของโจทก์ที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบกระทำการใดที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ชิ้นใดที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบใช้หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าว สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ระบุว่า "เกิดกรณีที่ผู้อนุญาต (โจทก์) ยกเลิกสัญญา กับสาขาที่ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ทำการสอนอยู่ ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) สัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" ข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว ล. และ ด. จึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกและเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากจำเลยทั้งสิบซึ่งโจทก์อบรมให้ ข้อสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ดังกล่าว มิได้ห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบอาชีพครูโดยเด็ดขาดไม่ทำให้จำเลยทั้งสิบต้องรับภาระเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสิบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 มิได้เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ซึ่งได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนของโจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อจำเลยทั้งสิบยังคงเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ที่สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 กำหนดว่า "หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานที่จำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กำหนดค่าเสียหายในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 200,000 บาท เท่ากันทุกฉบับโดยไม่ได้พิจารณาลักษณะการกระทำและความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคน อีกทั้งจำเลยทั้งสิบประกอบวิชาชีพเป็นครูโดยทำงานอยู่กับ ล. และ ด. ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. การห้ามจำเลยทั้งสิบไม่ให้รับจ้างหรือทำงานกับ ล. และ ด. ต่อไปย่อมทำให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยทั้งสิบในการหางานด้วย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสิบจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาที่ทำกับโจทก์ การกำหนดให้จำเลยทั้งสิบต้องชำระเงินแก่โจทก์คนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เมื่อโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินคนละ 200,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกทางประกอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่ ล. และ ด. ก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินแก่โจทก์ในอัตราคนละ 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 50,000 บาท นั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จากจำเลยทั้งสิบได้เพราะค่าเสียหายดังกล่าว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 ให้โจทก์เรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17838/2557 เดิมโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการครูฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการครูและผู้ใต้บังคับบัญชาโจทก์ ในความผิดทางอาญาฐานเบิกความเท็จ นำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และความผิดทางแพ่งในมูลละเมิดเรียกค่าเสียหาย ในคดีแพ่งคู่ความสามารถตกลงกันได้โดยจะไปดำเนินการถอนเรื่องที่ยื่นฟ้องกันไว้ที่ศาลปกครองทั้งหมด รวมถึงคดีแพ่งและคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นนี้ โดยจะไม่นำมาฟ้องร้องอีกเว้นแต่จะเกิดการกระทำขึ้นใหม่ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญา แต่จำเลยทั้งสองไม่ถอนฟ้องคดีที่ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองขอนแก่น เนื่องจากโจทก์มิได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยทั้งสองและคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในส่วนของข้อตกลงที่ให้ไปถอนเรื่องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการทั้งหมดรวมทั้งเรื่องที่ยื่นฟ้องคดีที่ศาลปกครองขอนแก่น ระบุเพียงว่า โจทก์จำเลย (หมายถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ (ซึ่งอยู่ในห้องพิจารณาด้วย) ไปยื่นคำร้องขอถอนเรื่องด้วย ข้อตกลงตามรายงานดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 แต่สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงย่อมตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ ส่วนความรับผิดในค่าเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนอุทธรณ์คดีที่ฟ้องโจทก์แล้วย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียหายมากนัก เห็นควรไม่กำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ได้ถอนฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ศาลปกครองนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองขอนแก่น โจทก์จึงยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ศาลดังกล่าวเช่นเดิม การที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีต่อไปฟังไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงเกียรติยศของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่าประสงค์จะเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่อาจกำหนดได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17604 - 17605/2557 ขณะที่จำเลยยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โจทก์ทั้งสองยังคงเป็นนักบริหาร 7 รองหัวหน้าแผนก ซึ่งมีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้โดยชอบตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2554 จำเลยจะมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนักบริหาร 8 หัวหน้าแผนก โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีสิทธิเบิกเฉพาะเบี้ยเลี้ยงตามอัตราที่ผู้ว่าการของจำเลยกำหนดเท่านั้น โดยไม่มีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็ตาม ก็ย่อมไม่กระทบสิทธิในการเบิกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งโจทก์ทั้งสองมีอยู่ก่อนแล้วและไม่อาจมีผลในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินที่โจทก์ทั้งสองเบิกไปเกินกว่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2554 ออกจากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2554 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17597 - 17598/2557 แม้บริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็ตาม แต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน การที่โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการของบริษัท พ. อยู่แล้วได้รับมอบหมายจากบริษัท พ. ให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด้วย การที่โจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ย่อมมีอำนาจในการบริหารวางแผนและมีอำนาจสูงสุด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แม้ค่าตอบแทนในการบริหารงานที่โจทก์ได้รับจากการบริหารงานในบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทซึ่งรวมทั้งเงินที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อยู่ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทกลุ่ม พ. กำหนดไว้ว่าจะได้รับจากบริษัทใดจำนวนเท่าใด ไม่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กำหนดค่าตอบแทนให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใดได้เอง ส่วนการหักภาษีเงินได้และเงินกองทุนประกันสังคมในแต่ละบริษัทเห็นได้ว่าเป็นการคำนวณจากค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากการที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทกลุ่ม พ. กำหนดให้กระจายความรับผิดชอบไปให้แต่ละบริษัทที่โจทก์เข้าไปบริหารงานนั่นเอง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แต่กลับเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บริหารงานและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เช่นนี้ โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17591 - 17594/2557 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย จำเลยจึงเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 7 คน ซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ด้วยเนื่องจากโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 มีผลการทำงานย้อนหลัง 3 ปี ต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดงาน ลาป่วย ลากิจ ละทิ้งหน้าที่จำนวนมาก และเคยถูกลงโทษทางวินัย ศาลแรงงานภาค 1 จดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ แล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่าการใช้สิทธิลาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไม่ทำให้จำเลยเสียหาย การเลิกจ้างมีเหตุผลมาจากจำเลยต้องการลดจำนวนลูกจ้างเพื่อลดต้นทุนการผลิต การที่จำเลยนำเรื่องการทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 มาพิจารณาเพื่อเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการให้เหตุผลเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทนั้นแล้ว แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยโดยให้เหตุผลรวบรัดไปบ้าง แต่ก็ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงโดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยครบถ้วน คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 1 จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง การพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอหรือไม่ จำเลยอ้างเหตุว่าคำสั่งซื้อจากลูกค้าของจำเลยลดลงตั้งแต่กลางปี 2551 ทำให้กิจการของจำเลยประสบภาวะการขาดทุนและเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อความอยู่รอดของกิจการจำเลย นับจากเวลาที่คำสั่งซื้อลดลงจนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 มีระยะเวลาเพียงประมาณ 6 เดือน โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พยายามใช้วิธีการอื่นใดปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือลดค่าใช้จ่ายของจำเลยลงหรือให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไปช่วยทำงานในหน้าที่อื่นแต่อย่างใด การที่จำเลยเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างในทันทีเพื่อลดค่าใช้จ่ายของจำเลย โดยมิได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนการเลิกจ้าง เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ได้ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17584 - 17585/2557 ข้อบังคับของการประปานครหลวง ฉบับที่ 60 ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานหรือลูกจ้างในทางแพ่ง พ.ศ.2522 ข้อ 7 ระบุว่า "เมื่อผู้ว่าการได้รับรายงานผลการสอบสวนแล้วให้สั่งการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสี่สิบห้าวัน ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้ (ก) ถ้าหากเห็นว่าผู้ใดต้องรับผิด ก็ให้สั่งการเรียกเงินชดใช้ค่าเสียหายให้เสร็จไป หรือให้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ไว้เป็นหลักฐานภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งการ แต่ถ้าหากผู้ต้องรับผิดคนใดปฏิเสธไม่ยอมชดใช้เงินหรือบิดพลิ้ว ประวิงเวลาหรือ ไม่ยอมทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ ให้สั่งการดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือให้รับสภาพหนี้..." ข้อบังคับดังกล่าวเป็นระเบียบปฏิบัติที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาที่ผู้ว่าการการประปานครหลวงจะต้องดำเนินการภายหลังจากที่ได้รับรายงานผลการสอบสวน อันเป็นระเบียบภายในของโจทก์ ทั้งตามข้อบังคับนั้นก็ไม่มีกำหนดห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีถ้ายังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อบังคับครบถ้วน ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ โจทก์ย่อมมีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพียงว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยมิได้ยกเหตุเป็นข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย โดยบรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน แม้ความรับผิดของจำเลยทั้งสองจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ก่อน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะใช้บังคับ หรือระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 หลังวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เมื่อในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เหตุคดีนี้เกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 26 กันยายน 2549 คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17582/2557 องค์การค้าของคุรุสภาโอนมาเป็นองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยพนักงานยังคงได้รับเงินเดือนจากองค์การค้าของคุรุสภาไม่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยที่ 1 ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ไม่ได้บัญญัติยกเว้นไม่ให้นำมาใช้บังคับแก่หน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้น จึงใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาได้ ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 กำหนดให้การสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 10 ล้านบาท ลงมา ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ แต่หากเกินกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 20 ล้านบาท ให้ประธานกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ โจทก์ทำงานด้านจัดซื้อมา 10 ปีเศษ การที่โจทก์เสนอให้แบ่งการจัดซื้อออกเป็นงวด ๆ เพื่อให้แต่ละงวดมีวงเงินไม่เกินอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จนในที่สุดมีการอนุมัติตามที่โจทก์เสนอแนะ เป็นกรณีที่โจทก์มีเจตนาเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้เพื่อป้องกันความเสียหายด้านการเงิน ทั้งการกระทำของโจทก์เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อได้โดยง่ายจึงเป็นการกระทำผิดวินัยเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17549/2557 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แต่จำเลยร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ ร้องขอมิให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด อ้างว่าจะขอจัดการทรัพย์และร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้ง ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้เป็นเวลาหลายปี พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดขวางการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จในวันขายทอดตลาด และไม่แน่ว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เมื่อใด กรณีจึงทำให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยต่อไปตามสิทธิที่ปรากฏในคำพิพากษา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่โจทก์ซื้อทรัพย์ได้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยผู้ฎีกายื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังวันใด ถือว่าวันดังกล่าวโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยเพราะไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ มาขัดข้องต่อการได้รับชำระหนี้ของโจทก์อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557 ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่ การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17522/2557 คำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว เป็นการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ดำเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4692 ของจำเลยเช่นเดียวกับคำร้องนี้ แม้จะเป็นการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีคนละคราวกัน แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงเดียวกันโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าทรัพย์จำนองไม่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ ซึ่งคำร้องฉบับหลังโจทก์อ้างเพียงว่ามีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นอันมีผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โดยความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยนี้มีมาแต่เดิมและมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 คำร้องของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17502/2557 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวผู้รับโอนทรัพย์มรดกและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยไม่ชอบเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนและให้จำเลยโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกกลับคืนมาเป็นกองมรดกของ พ. เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทคนหนึ่ง จึงเป็นคดีมรดก จำเลยมีสิทธิยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์และบุตรทุกคนของ พ. ไม่เคยติดตามการจัดการทรัพย์มรดกของ ส. และการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นเวลา 22 ปี นับแต่ พ. ถึงแก่ความตายและเกือบ 20 ปี นับแต่วันที่ ส. โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในทรัพย์มรดกของ พ. จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ส. โอนที่ดินให้แก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17411/2557 การที่คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 มีมติให้ก่อสร้างอาคารสำนักงานนิติบุคคลในที่ดินอันเป็นสวนสาธารณะโดยสมาชิกของโครงการหมู่บ้านจัดสรรเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยก็ตาม แต่ก็มีสมาชิกคัดค้านถึง 25 ราย การก่อสร้างอาคารดังกล่าวนอกจากเป็นการใช้สาธารณูปโภคคนละประเภทยังเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ในการใช้สาธารณูปโภคตามที่ผู้จัดสรรได้จดทะเบียนไว้ ทั้งยังเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบที่ดินสวนสาธารณะจากผู้จัดสรรที่ดิน จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวที่มีอยู่แล้วให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และยังทำให้สภาพสวนสาธารณะเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่สวนสาธารณะต้องลดลง ถือได้ว่าประโยชน์แห่งภาระจำยอมในการใช้สอยที่ดินดังกล่าวลดไปหรือเสื่อมความสะดวก แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกโดยส่วนรวม แต่ทั้งนี้สวนสาธารณะดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินทุกแปลงในโครงการ การเปลี่ยนแปลงการใช้สาธารณูปโภคจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมของที่ดินบางแปลงลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไป ย่อมมิอาจกระทำได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17401/2557 คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง กล่าวคือไม่ขออนุญาตศาลฎีกาให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้วินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17391/2557 การที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนจากรถยนต์มาเพื่อป้องกันบุตรของตน และเหตุที่กระสุนปืนลั่นเกิดจากการแย่งอาวุธปืนระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วม อันสืบเนื่องมาจากจำเลยใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันบุตรของตนดังกล่าว มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17245/2557 สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินหรือรายงานผลการก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเกิดโดยความประมาทเลินเล่อ จงใจ หรือทุจริต ซึ่งมีผลให้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินราคาสูงขึ้น หรือต่ำกว่าตามปกติที่เป็นจริง หรือผิดไปจากวิชาชีพการประเมินราคา โดยจำเลยที่ 1 ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ความรับผิดดังกล่าวนั้นจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินราคาหลักประกันลูกค้าของโจทก์ทั้งสามรายไม่ถูกต้อง โดยประเมินราคาหลักประกันลูกค้ารายที่ 1 และที่ 2 สูงกว่าความเป็นจริง และรายที่ 3 ไม่ได้รายงานผลการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำถนนสาธารณะซึ่งต้องไม่ประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ทำให้ราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริงอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สตอ. ส. จสต. อ. และ ว. ลูกค้าของโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์ได้ฟ้องบังคับคดีขายทอดตลาดหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โดยคณะทำงานดำเนินการเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ได้กำหนดวิธีชดใช้ค่าเสียหาย เงื่อนไขหลุดพ้นความรับผิดชอบ และการฟ้องบังคับคดีลูกหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 3.3.1 และข้อ 3.3.2 ว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้เอาไว้ก่อน ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ลดลงจนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ ให้ถือว่าบริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ และกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ให้ฟ้องบังคับคดีและเอาหนี้ส่วนที่ขาดจากบริษัทประเมินตามที่ได้รับสภาพหนี้ไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยประเมินราคาหลักประกันสูงกว่าความเป็นจริงและไม่รายงานสภาพที่แท้จริงของหลักประกัน ย่อมทำให้โจทก์ใช้ราคาประเมินดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณวงเงินกู้และอนุมัติเงินกู้ให้แก่ลูกค้าสูงกว่ามูลค่า ที่แท้จริงของหลักประกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับชำระหนี้คืนในส่วนยอดหนี้ที่เกินกว่าราคาหลักประกันมีผลถึงการประกอบกิจการโดยรวมของโจทก์ กรณีย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้แล้ว หาใช่เป็นกรณีที่ความเสียหายที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 890,000 บาทนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์กำหนดตามข้อสัญญาที่ว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้น และโจทก์กำหนดตามราคาประเมินหลักประกันของลูกค้าทั้งสามรายที่สูงกว่าความเป็นจริง กรณีจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17227/2557 เดิมศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุก มีกำหนด 1 ปี ซึ่งเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาลงโทษ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังเห็นควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าหกเดือน ย่อมถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31 (2) ต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะทำคำพิพากษาฉบับใหม่นี้ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะด้วยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3) โดยไม่อาจย้อนกลับไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะที่มีคำพิพากษาฉบับเดิมลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาได้ เนื่องจากคำพิพากษาฉบับเดิมได้ถูกยกไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17225/2557 เมื่อจำเลยยื่นคำแถลงและวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วมต่อศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธและขอให้การรับสารภาพ กับแถลงขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย การที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมเพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิจารณาพิพากษา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษารอการลงโทษให้แก่จำเลย แม้คดีจะถึงที่สุด โจทก์ร่วมก็ยังมีสิทธิขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลเพื่อชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าไม่ประสงค์จะรับเงินค่าเสียหายที่จำเลยวางไว้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิมาขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17217/2557 ผู้มีเงินได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ แต่ส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนั้น หากผู้มีเงินได้ต้องการขายในส่วนที่ซื้อไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนครบ 5 ปี ก็ย่อมกระทำได้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขายหน่วยลงทุนที่เหลือเกินจากการใช้สิทธินำไปหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องถือไว้จนครบ 5 ปี และได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น 1,545.84 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากส่วนต่างดังกล่าวในปีที่ขายหน่วยลงทุน โดยโจทก์ยังมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนในส่วนที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้ตามกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17216/2557 มาตรา 3 เบญจ แห่ง ป.รัษฎากร หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนไม่ หากแต่เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจอธิบดีเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึดหรืออายัดบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งต่อมาเมื่อมีการตรวจค้น ยึดหรืออายัดเอกสารมาตรวจสอบแล้ว ผลปรากฏว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการที่ผู้เสียภาษียื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนตามมาตรา 19 เป็นลำดับถัดไป คดีนี้เจ้าพนักงานทำการสืบสวนการดำเนินกิจการของโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์มียอดขายสูงกว่าที่ยื่นแบบและมิได้ออกใบกำกับภาษีแก่ผู้ซื้อสินค้าทันที แสดงว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรย่อมมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่ทำการของโจทก์เพื่อทำการตรวจค้น ยึดหรืออายัดบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียได้ แม้เจ้าพนักงานจะบันทึกว่า ได้มาทำการตรวจค้นตามคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีอากรค้างรายโจทก์ก็ตาม ก็หามีผลทำให้คำสั่งของอธิบดีที่ออกมาแล้วโดยชอบตามกฎหมายกลับเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบขึ้นมาได้ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการตามมาตรา 88/3 และมีอำนาจออกหมายเรียกตามมาตรา 88/4 ได้เองอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17215/2557 แม้แบบแจ้งการประเมินอากรทั้งสองฉบับระบุแต่เพียงเลขแฟ้มคดี แต่ก็เป็นเลขแฟ้มคดีเดียวกันกับแบบแจ้งการประเมินอากรอีก 9 ฉบับ ที่เป็นการนำเข้าสินค้าพิพาทประเภทเดียวกัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในชั้นอุทธรณ์การประเมินและในชั้นยื่นคำฟ้องโจทก์ทั้งสามก็บรรยายฟ้องโดยโต้แย้งเหตุผลการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ถูกต้อง จึงถือว่าโจทก์ทั้งสามทราบเหตุผลในการออกคำสั่งตามแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องระบุเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจอีก เนื่องจากเหตุผลนั้นเป็นที่รู้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบแจ้งการประเมินอากรฉบับเดิมที่ไม่มีการลงลายมือชื่อ แต่ในระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ จำเลยได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรทั้งสองฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ซึ่งไม่มีการเพิ่มเติมประเด็นหรือภาระภาษี เมื่อจำเลยทำการแก้ไขข้อบกพร่องย่อมถือได้ว่าแบบแจ้งการประเมินอากรดังกล่าวได้ระบุชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง พร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 36 แล้ว พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคท้าย บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบไฮโมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค) เมื่อของใดไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) หรือ 3 (ข) ได้ ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน สินค้าพิพาททั้งสามรุ่นมีลักษณะเป็นปั้นจั่นที่ติดตั้งอยู่บนยานยนต์หรือโครงยานยนต์หรือรถบรรทุกสมบูรณ์แบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แสดงลักษณะอันเป็นสาระสำคัญทั้ง 2 ประการ สินค้าพิพาทจึงมีลักษณะเป็นของที่ไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) หรือ 3 (ข) ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค) ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น สินค้าพิพาททั้งสามรุ่นดังกล่าวจึงต้องจัดเข้าประเภทพิกัด 87.05 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2557)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จึงดำเนินการทวงหนี้ จนศาลล้มละลายกลางออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแต่เพียงว่าไม่ทราบเรื่องการทวงถามหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิได้ปฏิเสธ แต่ก็มิได้โต้แย้งหรือขอให้ศาลเพิกถอนคำบังคับ คำบังคับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอ้างส่งพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน รายการคำนวณยอดหนี้และรายการค่าเสียหาย ภาระหนี้หลังการขายทอดตลาดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าหนี้ที่ทวงถามโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความ ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 8 ธันวาคม 2553 พร้อมระบุจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แล้วหรือยังและค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างก็ย่อมเป็นผลจากการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแล้ว ทั้งรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายแต่ละเดือนนั้น โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17020 - 17021/2557 หลังจากผู้แทนลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์แล้ว โจทก์ได้ทยอยเรียกให้ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานเป็นชุดโดยวิธีโทรศัพท์แจ้งลูกจ้างเป็นรายบุคคล ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เรียกโจทก์ให้รออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้ารายงานตัวหรือลงเวลาที่บริษัท ไม่ได้มอบหมายงานให้ ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้เข้าทำงานลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด และโจทก์ยังจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบของบริษัท พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์มีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของลูกจ้างในวันทำงานตามปกติ ดังนั้นการที่โจทก์ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงที่รอเรียกตัวเข้าทำงานดังกล่าวอันเป็นวันทำงานตามปกติ จึงเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าโจทก์จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างตามมาตรา 64
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16999/2557 ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า แม้สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนและสัญญาประกันชีวิตที่ฟ้องคดีนี้ทำขึ้นในวันเดียวกันและรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน แต่ก็เป็นสัญญาแยกต่างหากจากกันได้เพราะมิได้มีกฎหมายใดกำหนดให้สัญญาประกันชีวิตแบบพิเศษในคดีนี้เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ในคดีก่อน สัญญาประกันชีวิตแต่ละฉบับมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองทั้งสัญญาก็แยกคนละฉบับและเงื่อนไขแยกจากกัน ถือได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ดังนี้ แม้ประเด็นแห่งคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยทั้งสองคดีมีว่า ผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงและจำเลยบอกล้างสัญญาแล้วจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็เกิดจากสัญญาประกันชีวิตคนละฉบับซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขแยกจากกัน ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงไม่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ ป. ไปพบแพทย์หญิง ศ. ที่คลีนิกเพื่อรักษาอาการไอและเป็นไข้ ผลตรวจและเอกซเรย์ปอดพบว่า ป. มีอาการหลอดลมอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนที่ ป. ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะต้องได้รับยาฉีดและดูอาการ แสดงว่าโรคที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียทำให้หลอดลมอักเสบมิใช่โรคที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียทำให้เป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องนอนพักรักษาอาการในโรงพยาบาล ส่วนแผลเป็นและก้อนเนื้อที่ปอดเป็นมานานมากแล้ว แพทย์หญิง ศ. ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นวัณโรค ผลตรวจเสมหะไม่พบเชื้อโรค ทั้งไม่มีการตรวจปอดว่าแท้จริงแผลเป็นและก้อนเนื้อที่ปอดเป็นเพราะสาเหตุใด เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตหรือไม่ ป. ตายด้วยโรคโลหิตเป็นพิษและความดันโลหิตต่ำ มิใช่เป็นผลจากแผลเป็นและก้อนเนื้อในปอด ถือไม่ได้ว่าขณะที่ ป. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ป. รู้อยู่แล้วแต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจจะจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา หรือ ป. รู้อยู่แล้วแต่แถลงข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง คำสั่งนายทะเบียนที่ 13/2541 ข้อ 1 ระบุว่า เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยที่เพิ่มเติมตามคำสั่งนี้ให้รวมถึงผู้เอาประกันภัยที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับด้วย ฉะนั้น บันทึกสลักหลังแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยตามคำสั่งฉบับดังกล่าวจึงใช้บังคับกับสัญญาประกันชีวิตก่อนวันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557 ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16918/2557 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ในวงเงินจำนองเพียง 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 เป็นเงินถึง 19,143,180.49 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 1441 ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จึงไม่เป็นไปตามที่ได้วินิจฉัยไว้ ซึ่งที่ถูกต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ หากยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ เนื่องจากจำเลยที่ 4 ไม่ได้ทำสัญญาผูกพันตนเข้าร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 4 ในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการผิดหลง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดหลงนั้นให้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลได้แม้คดีจะถึงที่สุด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16911/2557 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการไปตามหมายบังคับคดีของศาลนั้นในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. เพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีได้โดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1 (14) แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีคดีนี้เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดจำเลย แต่เมื่อจำเลยมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาล จำเลยจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งริบเงินมัดจำและให้นำทรัพย์นั้นออกขายใหม่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลและตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. ในฐานะเสมือนเจ้าพนักงานศาลได้ คำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ย่อมไม่อาจบังคับได้ จำเลยมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายทอดตลาดกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทอดตลาดได้ คำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16906/2557 โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดจงใจกลั่นแกล้งเป็นเหตุให้นายทะเบียนไม่ยอมรับการจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 1 ทราบคำสั่งของนายทะเบียนคืออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งแปดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เกินกำหนด 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการนั้นเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งห้าภายหลังอันเป็นเพียงผลที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง มิใช่การกระทำละเมิดต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16897/2557 โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ... และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว จากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้ แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเสียเช่นนั้นไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2557 แม้การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์เมื่อพ้นระยะเวลาฎีกาแล้วจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในการยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ยังเหลืออยู่ก็ตาม โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าศาลชั้นต้นอาจสั่งไม่อนุญาตก็ได้ กรณีไม่อาจนำเหตุที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว 4 วัน มาเป็นเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้ การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างตามคำร้องเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ การที่โจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพราะกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งอาศัยต่างประเทศยังไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อสั่งจ่ายเช็คค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระและนำมาวางศาล เป็นความบกพร่องของตัวโจทก์และทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามบทบัญญัติดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16887/2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า ให้จำเลยวางเงินค่านำส่งตามข้อบังคับว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารทางคดีในวันถัดไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องวางเงินค่านำส่งดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อจำเลยไม่วางเงินค่านำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งของศาลและศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยทิ้งฎีกา ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแล้ว คดีย่อมถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลฎีกาได้อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557 ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ข้ามเรือโดยสารจากคลองสานไปท่าเรือสี่พระยา ขณะเรือเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่าวันนี้เปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตายและเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมากจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าอาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16836/2557 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557 จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16781/2557 การดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ที่มีผลใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่า กรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและมีบทบัญญัติในหมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 ว่าด้วยการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดกระบวนการในการไต่สวนและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภา บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบและไต่สวนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. กลั่นแกล้งฟ้องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โดยง่าย เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหลุดพ้นจากความผิดทางอาญา เพราะผู้เสียหายอาจร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แล้วเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งต้องถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 17 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ หมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 จึงยังสามารถดำเนินการได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16750/2557 โจทก์เป็นบริษัทเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมผู้บริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มีวัตถุประสงค์รับเป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์และเก็บผลประโยชน์จากการรับโอนหลักประกันของลูกหนี้ รายบริษัทคันทรี่ฯ ซึ่งปรับโครงสร้างหนี้กับ (บสท.) โดยผ่านกระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของบริษัทคันทรี่ฯ แล้วขายคืนให้แก่นิติบุคคลทั้งสามที่ลูกหนี้เสนอซื้อก็เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ (บสท.) เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือได้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันของลูกหนี้ของโจทก์เป็นการขายแทน บสท. เมื่อ บสท. ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรจากกฎหมายทั้งปวงในการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จึงไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16748/2557 บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียมและยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรดังกล่าว หรือที่ถือว่าเป็นเงินกำไรดังกล่าว เฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักรและจะได้รับเครดิตสำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักรเป็นจำนวนเงินตามอัตราของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวงตามมาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง ทั้งการได้เครดิตหรือไม่ เพียงใดยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามมาตรา 65 นว วรรคท้าย กล่าวคือ เครดิตที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะมีได้เป็นจำนวนเท่าที่ไม่เกินภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีและภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ที่เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวสำหรับกำไรที่ได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและเครดิตที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะต้องไม่เกินภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ที่เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย การที่โจทก์จะได้รับเครดิตตามมาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาทั้งตามมาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง รวมกับข้อจำกัดตามมาตรา 65 นว วรรคสอง ประกอบกัน ซึ่งการจะทราบจำนวนเครดิตที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อมีการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้ทราบว่าโจทก์มีภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีและมีเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 จัตวา เสียก่อน และเครดิตที่เกิดขึ้นจะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องใช้บังคับแก่กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16563/2557 สำหรับในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไรแล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 ดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 1 หาดกังหัน 2 และหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งห้ามีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของโจทก์และจำเลยที่ 4 เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงทราบข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าทั้งหมดตามคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารประกอบในคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 2 ของโจทก์เป็นอย่างดีและสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 เท่านั้น มิใช่การบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด ดังนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16562/2557 สำหรับในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอ ให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้าและข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ ทั้งมิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร ทั้งการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 33 ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ว่า จำเลยทั้งสามได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดเผย เอาไปหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งสามมีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้ออ้างว่า จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามกระทำการที่มีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกันอันเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าในทางแพ่งดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติผิดสัญญาใดต่อโจทก์หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดหรือกระทำในประการที่เป็นการจูงใจผู้ใดให้ละเมิดความลับอันเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน จำเลยทั้งสามได้ติดสินบนผู้ใด หรือจำเลยทั้งสามได้ข่มขู่ผู้ใด ฉ้อโกงผู้ใด ลักทรัพย์ของผู้ใด รับของโจรของผู้ใด หรือจำเลยทั้งสามกระทำการจารกรรมหรือใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามความหมายของ "การกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน" ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16561/2557 โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าข้อมูลต่างๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 นี้โจทก์ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า โดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์ก็หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ การบรรยายฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ละเมิดสิทธิในทางแพ่งมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16559/2557 เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ แม้รูปคชหงส์จะเป็นรูปลายไทยมีรายละเอียดแตกต่างกับรูปไก่ชน แต่ลักษณะจัดวางรูปคชหงส์และรูปไก่ชนให้ยืนหันหน้าเข้าหากันโดยมีตัวอักษรโรมันอยู่ด้านบนเหมือนกัน ทำให้ภาพรวมของเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน ประกอบกับตัวอักษรโรมันด้านบนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า ลำปำ จันทรา และลำปำ ตามลำดับ ส่วนตัวอักษรโรมันประดิษฐ์ด้านบนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แม้ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระบุว่า อ่านไม่ได้ แปลไม่ได้ แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรโรมันที่ประดิษฐ์จากคำว่า LAMPAM ซึ่งเรียกขานได้ว่า ลำปำ เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนสำหรับสินค้าทุกจำพวก แม้จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่รูปคชหงส์เป็นรูปของสัตว์ซึ่งไม่มีอยู่จริง โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่านำลักษณะเด่นของหงส์ ช้าง และสิงโต มารวมกันแล้วเขียนขึ้นใหม่ในลักษณะรูปลายไทย รูปคชหงส์จึงเป็นรูปที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีความแตกต่างกับรูปไก่ชน ไม่ได้เกิดจากการนำรูปไก่ชนมาดัดแปลง ลำพังการจัดองค์ประกอบของรูปให้มีคชหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากันซึ่งบุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ใช่การทำซ้ำ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ จึงไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมรูปไก่ชนสองตัวหันหน้าหากันของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์รูปคชหงส์แล้วนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียน ทั้งการโฆษณาก็ระบุเครื่องหมายการค้าพร้อมที่มาของการออกแบบรูปคชหงส์เป็นเครื่องหมายการค้าใหม่ จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาลวงขายสินค้า ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ การสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้ฟ้องผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์รายอื่นด้วยไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามยุติการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมันคำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้ตามคำขอ ที่โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้และผลิตสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมัน คำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกต่อไป คำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้ชอบแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยที่ 3 ไม่ต้องขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ถูกต้อง เมื่อการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 3 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16533/2557 แม้ในรายงานการประชุม คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) ตำบลหนามแดง ผู้ทำหน้าที่เลขา คชก. ตำบลหนามแดงได้สรุปมติที่ประชุมไม่ครบถ้วนโดยขาดข้อความที่มีการตกลงให้เช่านาต่อไปอีก 4 ปี อันเป็นเพียงการผิดพลาดโดยผิดหลง แต่เนื้อหาก็มีปรากฏชัดเจนในรายงานการประชุมอยู่แล้ว หาทำให้ข้อตกลงเป็นอันสิ้นผลแต่ประการใดไม่ เมื่อจำเลยนำค่าเช่าไปชำระแก่โจทก์ตามข้อตกลงในการประชุม คชก. ตำบลหนามแดง จำเลยจึงสามารถอยู่ทำนาในที่ดินของโจทก์ต่อไปได้อีก 4 ปี นับแต่วันประชุม คชก. ตำบลหนามแดง ในวันที่ 13 สิงหาคม 2552 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ยังไม่พ้นระยะเวลา 4 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16524/2557 โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายและทายาทของ ส. ต้องไปจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่โจทก์ผู้จะซื้อเป็นผู้กำหนด นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งจำเลยและทายาท ส. จะต้องดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่เมื่อภายหลังจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกัน ปรากฏว่าจำเลยมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขตที่ดินพิพาทกับ อ. จนต่อมาจำเลยต้องฟ้องขับไล่ อ. ให้ออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น ระหว่างที่เป็นความคดีดังกล่าวกันอยู่เกี่ยวกับแนวเขตที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีทางที่จะดำเนินการให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้ และโจทก์กับจำเลยยังได้ทำบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์เลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าที่ดินบางส่วน ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ออกไปจนกว่าจะตกลงกันเรื่องที่ อ. รุกล้ำที่ดินพิพาทเสร็จเรียบร้อยก่อน การที่โจทก์ยังไม่ชำระราคา และไม่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท จึงเป็นไปตามข้อตกลงส่วนที่เพิ่มเติมในสัญญา ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับริบเงินมัดจำได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ยังคงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยคู่สัญญาอยู่ อีกทั้งเมื่อเหตุแห่งความขัดข้องที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ยังคงมีอยู่ กับไม่ได้มีข้อตกลงเพิ่มเติมให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอีก ดังนั้น การที่จำเลยยังไม่ไปขอแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ย่อมไม่เป็นการผิดสัญญาจะซื้อจะขายเช่นกัน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญากับเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16520/2557 เมื่อจำเลยชำระเงินตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้ตามที่โจทก์ยินยอม จึงเป็นกรณีโจทก์ใช้เงินตามเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกขอลดเบี้ยปรับหรือขอคืนเบี้ยปรับได้ แม้ว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557 จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16490/2557 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของที่ใช้ประกอบอาหาร สุรา บุหรี่ และของใช้ทั่วไป แล้วร่วมกันเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปขาย และเบียดบังยักยอกเงินค่าขายทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง แต่กลับนำสืบว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำทรัพย์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารไปใช้ที่ร้านอาหารของจำเลยที่ 1 อันเป็นการยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ไม่ใช่ยักยอกเงินค่าขายทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ในสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16482/2557 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 18, 19 และ 39 กำหนดให้การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีตกลงราคาซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อตกลงราคากับผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยตรงแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อและจัดจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าส่วนราชการ แต่หากกรณีจำเป็นและเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อนและไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน ให้เจ้าหน้าที่พัสดุหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนั้นดำเนินการไปก่อนได้แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิมารับสินค้าที่ได้สั่งซื้อหลายครั้งไปจากโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 อยู่ในขอบเขตอำนาจที่กระทำแทนจำเลยที่ 1 ส่วนระเบียบขั้นตอนการจัดจ้างหรือสั่งซื้อที่ระบุว่าจำเลยที่ 3 ละเลยไม่ปฏิบัตินั้นก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ประกาศให้บุคคลภายนอกทราบ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะทำการจัดซื้อสินค้าจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบขั้นตอนและเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่สุจริต แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดระเบียบขั้นตอนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องได้รับความคุ้มครอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16477/2557 จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ละเลยไม่ใช้ราคาส่วนที่เหลือ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซ้ำ ได้เงินจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาด จำเลยต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเนื่องจากโจทก์และ ช. สมคบกันให้โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพิพาทนั้น จำเลยมีเพียงตนเองเบิกความลอย ๆ และ ช. ก็มิได้เบิกความถึงข้อที่จำเลยอ้าง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์และ ช. สมคบกันให้โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาต่ำ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16469/2557 การชำระหนี้ที่ตกเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 มีความหมายว่า ในเวลาที่คู่สัญญาก่อหนี้นั้น วัตถุแห่งหนี้เป็นสิ่งที่สามารถชำระหนี้ได้ หากแต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นภายหลังจากก่อหนี้เป็นเหตุให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างเด็ดขาดและเป็นการถาวรตลอดไป ลูกหนี้จึงจะหลุดพ้นจากหนี้ได้ จำเลยทำสัญญาจะขายอาคารชุดให้แก่โจทก์ การที่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยถูกระงับไม่ให้ดำเนินกิจการ ไม่ใช่พฤติการณ์ที่ทำให้การก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยตกเป็นอันพ้นวิสัย เป็นเพียงเหตุขัดข้องที่ทำให้จำเลยต้องแสวงหาแหล่งทุนใหม่ อันอาจทำให้จำเลยต้องเสียเวลาในการก่อสร้างอาคารชุดและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้จำเลยก่อสร้างอาคารชุดอย่างสิ้นเชิง การที่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่จำเลยถูกปิดกิจการไม่เป็นพฤติการณ์ที่ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารชุดตกเป็นอันพ้นวิสัย จำเลยไม่หลุดพ้นจากหน้าที่ต้องสร้างอาคารชุดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557 อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16390/2557 เมื่อประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความคดีแพ่งทั่วไป แล้วให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาใหม่เป็นคดีผู้บริโภคภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แม้การโอนคดีไปลงสารบบความคดีผู้บริโภคของศาลชั้นต้นจะสามารถกระทำได้ เพียงแต่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการคดีของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่โจทก์ก็ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด และจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวแล้ว จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งเมื่อคดีมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภคย่อมเกิดความสะดวกในการพิจารณาพิพากษา และเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภคมากกว่าการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความคดีแพ่งทั่วไป แล้วให้โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นคดีผู้บริโภค จึงเป็นคำสั่งที่มิได้ขัดต่อกฎหมาย ทั้งเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16386/2557 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ว. ผู้นั่งโดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ว. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันและจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้ ว. เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของ ว. มาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 25,000 บาท กรณีนี้มิได้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 มาใช้บังคับกับ ว. แต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557 สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16378/2557 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ความเสียหายเกิดจากลักษณะและน้ำหนักของสินค้า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความเสียหายเกิดจากสินค้ามีน้ำหนักไม่สมดุลและเหวี่ยงตัวเองในขณะแขวนอยู่ในลวดสลิง จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 4 มีวิชาชีพเฉพาะในการขนถ่ายสินค้าเพื่อขนส่ง หากพนักงานของจำเลยที่ 4 เห็นว่ารถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ไม่เหมาะที่จะใช้บรรทุกสินค้าแล้วต้องปฏิเสธไม่ให้ใช้รถดังกล่าว จะอ้างว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ขนถ่ายสินค้ามิได้เพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีความชำนาญการในการขนถ่ายสินค้าเช่นพนักงานของจำเลยที่ 4 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 4 ทราบอยู่แล้วว่าการขนถ่ายสินค้าไม่น่าจะดำเนินการได้โดยปลอดภัย แต่ก็ยินยอมขนถ่ายสินค้าให้จนเกิดความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16376/2557 ขณะจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็ม แอล อาร์) ร้อยละ 11.5 ต่อปี ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ร้อยละ 13.25 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์พึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามประกาศดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากไม่มารับภายในกำหนด กำหนดระยะเวลาที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อความในหนังสือยังไม่อาจเริ่มนับ จึงให้ถือเอาวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นวันที่เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 12.75 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16352/2557 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ศาลล่างทั้งสองจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วม การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วมจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 251 และ 252 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 251 ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 252 จึงต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 251 แต่กระทงเดียวตาม ป.อ. มาตรา 263 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารสัญญาที่จะออกหนังสืออนุญาตการทำงานสำหรับชาวต่างชาติ ปลอมเอกสารการอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐโปแลนด์ (วีซ่า) ของสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ ปลอมหนังสือของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ถึง กรมการจัดหางาน ปลอมรอยตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ขึ้น แล้วนำรอยตราปลอมที่ทำขึ้นดังกล่าวไปใช้ประทับลงในเอกสารหนังสือความต้องการลูกจ้าง หนังสือมอบอำนาจ และหนังสือสัญญาจ้างแรงงานของบริษัท ซ. จากนั้นนำเอกสารปลอม เอกสารราชการปลอม และเอกสารที่มีรอยตราปลอมดังกล่าวไปแสดงแก่โจทก์ร่วม เป็นการกระทำที่ล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือหลอกลวงโจทก์ร่วมให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 251 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16310/2557 การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลย ดำเนินการขายรถยนต์ให้แก่บริษัท ย. ในนามตัวแทนของจำเลย รับดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัท ย. โดยมิได้มีหน้าที่โดยตรงแล้วอาศัยโอกาสเรียกให้บริษัท ย. โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ 15,000 บาท แล้วนำส่งจำเลยเป็นค่ามัดจำป้ายทะเบียนรถยนต์ป้ายแดง 4,000 บาท และค่าจดทะเบียนรถยนต์ 3,800 บาท ส่วนที่เหลือ 7,200 บาท ไม่คืนให้แก่บริษัท ย. เป็นเหตุให้บริษัท ย. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นการประพฤติตนไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ คดโกง ถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1) และกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16300/2557 พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ความหมายของคำว่า "เลื่อยโซ่ยนต์" ไว้ว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ กำหนดความหมายของคำว่า "เลื่อยโซ่ยนต์" ไว้ว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งาน ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว (2) ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) ดังต่อไปนี้ (ก) เครื่องจักรกลต้นกำลังที่มีการออกแบบตัวเครื่องและอุปกรณ์ประกอบตัวเครื่องให้มีลักษณะหรือสภาพเพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องมือตาม (1) โดยเฉพาะ ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า (ข) แผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เลื่อยโซ่ยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล ชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขนาดกำลังแรงม้าไม่ชัดเจน แต่แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกิน 12 นิ้ว แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวยืนยันมาว่าเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางมีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า คงกล่าวแต่เพียงว่า แผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว เท่านั้นก็ตาม แต่ก็ต้องด้วยความหมายของคำว่า เลื่อยโซ่ยนต์ ตามกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 แล้ว เพราะใน (2) กำหนดความหมายเลื่อยโซ่ยนต์ ให้หมายถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) แห่งกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ซึ่งก็คือเครื่องจักรกลต้นกำลังหรือแผ่นบังคับโซ่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางข้างต้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ขอให้ริบของกลางตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้ริบ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง มาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16275/2557 แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในขณะนั้นจะไม่ปรากฏคำว่า "แกนนำ" แต่ก็เป็นถ้อยคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และในสังคมไทยที่มีการชุมนุมกันทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นการนำความหมายของคำว่า "แกน" ซึ่งเป็นคำนามหมายความว่า วัตถุแข็งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งอื่นสำหรับยึดให้อยู่ และความหมายของคำว่า " นำ" ซึ่งเป็นคำกริยาหมายความว่า ไปข้างหน้า เช่น นำขบวนหรือออกหน้ามากล่าวรวมกันเป็น "แกนนำ" เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการชุมนุมกันทางการเมืองนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหลักยึดเป็นผู้นำให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมนั่นเอง ซึ่งต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ให้ความหมายในทำนองนี้ว่า "แกนนำ" เป็นคำนามแปลว่า ผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงอาจถือเอาตามความหมายที่รู้และเข้าใจกันในการสื่อสารในสังคมไทยในขณะนั้นเพื่อพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ ด. เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มของ ส. ที่ชุมนุมกันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาท เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557 การยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อทางราชการมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าเป็นตัวแทนกันได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 อาคารที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่บนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่ยินยอมให้อาคารนั้นตั้งอยู่ อาคารดังกล่าวไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินและไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารประกอบกับโจทก์มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงควรไต่สวนค้นหาความจริงให้รอบด้านว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารตามความเป็นจริงหรือมิฉะนั้น จำเลยที่ 5 ควรรอคำวินิจฉัยของศาลตามคำร้องขอของโจทก์ การที่จำเลยที่ 5 ด่วนจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16251/2557 โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินโดยการโอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาเป็นค่ารับรอง ค่าเลี้ยงดู เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมงานได้เสนอเรื่องให้ ช. พวกของจำเลยทั้งสองใช้อำนาจในฐานะที่เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างได้มีคำสั่งให้บริษัท ซ. หยุดงานในวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 อ้างว่าเนื่องจากแนวส่งท่อน้ำมีปัญหาจะต้องมีการแก้ไขแบบในการก่อสร้าง แทนที่จะใช้อำนาจดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนผิดสัญญา โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 149 ซึ่งองค์ประกอบความผิดเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดต้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบ เพราะเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16250/2557 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองพยานพร้อมยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวโดยมีข้อความใส่ความโจทก์ว่า โจทก์กับพวกคุกคามข่มขู่จำเลยกับพยาน เป็นข้อความที่เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แม้จำเลยจะจัดส่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปให้บุคคล และคณะบุคคลต่างรายกันก็หาทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีก่อนต่อศาลแขวงดุสิตในเรื่องที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก เมื่อคดีของศาลแขวงดุสิตที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาภายหลังศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาแล้ว แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ถือได้ว่าศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16249/2557 จำเลยที่ 1 อ้างเหตุที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบและกระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุตามมาตรา 78 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยส่วนนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ตรวจสอบได้ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน จำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ต่อสู้คดีก็ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามคำขอท้ายฟ้องขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไว้ด้วย แต่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ได้มีคำสั่งในส่วนนี้อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (1) แก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากการเลิกจ้างโดยกระทำความผิดร้ายแรงเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดก็เพื่อไปขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุบังคับให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งเลิกจ้างเพื่อการดังกล่าวตามคำขอให้โจทก์อีกต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16228/2557 การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์สำหรับการกระทำที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นสอบสวนใหม่แล้วมีคำสั่งลงโทษทางวินัยให้ไล่โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเห็นว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั้น เมื่อตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดขั้นตอนการลงโทษทางวินัยโดยให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีอำนาจลงโทษพนักงานลูกจ้างสำหรับความผิดเล็กน้อยไม่ร้ายแรงได้ แต่ให้อยู่ภายใต้การทบทวนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเพื่อให้การลงโทษนั้นเหมาะสม โดยระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่มีคำสั่งลงโทษในชั้นต้นมีหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินการลงโทษทางวินัยนั้นไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงจนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่เพื่อพิจารณาทบทวนได้ หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาแล้วลงโทษเป็นอย่างอื่นก็ให้การลงโทษโดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไป กรณีนี้จึงมิใช่เป็นการลงโทษซ้ำสำหรับการกระทำเดียวกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557 จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557 การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16137/2557 การจะริบทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นั้น ผู้ร้องมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาไต่สวนให้ได้ความว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นคนละส่วนกับคดีที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกฟ้องอันเป็นคดีหลัก แม้ในคดีหลักจำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อทางนำสืบของผู้ร้องได้ความเพียงว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ที่ตัวจำเลย โดยซุกซ่อนไว้ที่ขอบกางเกงที่จำเลยสวมอยู่ และผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะสำหรับการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอย่างไร หรือจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดคดีนี้อย่างไร ดังนั้น รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้เดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุ มิใช่เป็นยานพาหนะที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันจะพึงริบได้ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16136/2557 จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่พบเห็นผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิง ม. ซึ่งเคยเป็นคนรักของจำเลยที่ 2 มาซื้อของ จำเลยที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปปาดหน้ารถของผู้เสียหายที่ 1 และใช้อาวุธมีดชี้หน้าบังคับให้หยุดรถ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาโดยมีคนร้ายนั่งซ้อนท้ายมาจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ทันที และหลบหนี้ไปด้วยกันย่อมบ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบกับพวกมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับพวกในการใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 จริง แต่การที่พวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ก็ฟันเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทันระวังตัว ไม่ได้ต่อสู้หรือมีผู้ใดขัดขวาง หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยที่ 2 ฟันผู้เสียหายที่ 1 ซ้ำอีก ทั้งบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับ มีความยาว 5 เซนติเมตร ไม่ลึกถึงกะโหลกศีรษะ สามารถรักษาได้ภายใน 7 ถึง 14 วัน แสดงว่าไม่ได้ฟันโดยแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ฟัน อันตรายต่อชีวิตได้โดยฟันครั้งเดียว พฤติการณ์แห่งคดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่า ผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ผิดฐานพยายามฆ่า และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดย่อมได้รับประโยชน์ด้วย แม้คดีส่วนของจำเลยที่ 1 จะยุติแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16134/2557 แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อฝากที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้ ทั้งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น การที่ปรากฏจากการจดทะเบียนว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาหลายครั้ง โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมย่อมทำให้มีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถทำนิติกรรมได้ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 มีความประมาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้เป็น 300,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายคำฟ้องว่า หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองจึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคแรก ตอนท้าย โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้ การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงสมรสกันกรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16130/2557 ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักในการยื่นฎีกาประการหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างนั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และโจทก์คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวโดยคัดลอกคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ชนิดคำต่อคำ ซึ่งข้อความในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์นั้นล้วนมุ่งหมายที่จะโต้แย้งคัดค้านโดยตรงในประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น โดยโจทก์อาศัยข้อเท็จจริงและอ้างอิงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อสนับสนุนแทบทั้งสิ้น ไม่มีข้อความตอนใดระบุเลยว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด และรายละเอียดส่วนใด หากยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ปัญหาตามข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้หลายประการที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งแตกต่างไปจากเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยอีกด้วย ฎีกาของโจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลมานั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรและด้วยเหตุผลใด มิใช่อ้างแต่เพียงคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องชอบด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลแล้วเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาที่ถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นฎีกาของโจทก์นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไปแล้ว ไม่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเหลืออยู่ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ต่อไป จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และถือไม่ได้ว่าได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายโดยชัดแจ้งแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์มาก็เป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16115/2557 ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีข้อความชัดแจ้งว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่โจทก์นั้นมีภาระติดพันเพียงการจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเท่านั้น และจำเลยทั้งสองรับรองว่าที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์ไม่มีภาระติดพันหรือการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีภาระจำยอมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเบิกความขัดแย้งกับสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ถือว่าขณะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายนั้น จำเลยทั้งสองปกปิดความจริงว่าที่ดินพิพาทที่มีการทำสัญญาจะซื้อขายรวมกับที่ดินแปลงอื่นมีภาระจำยอมติดอยู่ แต่จำเลยทั้งสองปกปิดไม่ยอมแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทมีภาระติดพันคือภาระจำยอมอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิในการบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง (3)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16097/2557 ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขายฝาก โจทก์ทั้งสองพยายามติดต่อจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธบอกปัดไม่ยอมรับการไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับชำระหนี้อยู่ในตัว กรณีจึงมีเหตุให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์ทั้งสองวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา โดยมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จ่ายสำนักงานบังคับคดีจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นวันที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โจทก์ที่ 1 นำเงินมาไถ่ถอนที่ดินตามสัญญาขายฝากซึ่งครบกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน การแจ้งความเป็นหลักฐานระบุเวลา 17.15 นาฬิกา อันเป็นเวลาที่ทางราชการปิดทำการแล้ว จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสำนักงานบังคับคดีและวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ทั้งสองนำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวที่สั่งจ่ายแก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา ไปวางทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีโดยมีบันทึกรายงานเจ้าพนักงานเป็นหลักฐาน ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินสินไถ่ พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาขายฝากในวันครบกำหนดจริง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนได้ภายในกำหนดแล้ว ส่วนการจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือวางแล้วถอนคืนไป ก็มิใช่กรณีที่นำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้มีสิทธิไถ่คืน การวางทรัพย์เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้ขายฝากมีเงินสินไถ่มาทำการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากกับผู้รับซื้อฝาก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้" ในกรณีวางทรัพย์บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้โจทก์ทั้งสองผู้ไถ่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่จำเลยผู้ซื้อฝากพร้อมกับสินไถ่ที่โจทก์ทั้งสองวางแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นสินไถ่เท่าที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก จึงเป็นการใช้สิทธิไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากโดยชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16093/2557 เมื่อสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่ม ศูนย์อาหารเรนทรี ฟู้ด สแควร์ เป็นสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาใช้แก่ผู้ค้าที่ประสงค์จะทำสัญญาประกอบอาหาร/เครื่องดื่มในศูนย์อาหารดังกล่าวทุกคน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแรกเข้าจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 โดยมิพักต้องคำนึงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 720,000 บาท โจทก์ได้จ่ายเพื่อได้สิทธิในการประกอบอาหารในศูนย์อาหารดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท แม้ในการประกอบธุรกิจศูนย์อาหารของจำเลยที่ 1 นี้จะมีค่าใช้จ่ายและค่าบริหารจัดการ และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของยอดขายอาหารของโจทก์ ก็หาทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์เข้าใช้ประโยชน์ตามสิทธิที่ระบุในสัญญาได้เพียงประมาณ 6 เดือน แล้วมีการเลิกสัญญาและไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 หาผู้มาใช้ประโยชน์ต่อจากโจทก์ไม่ได้ ข้อตกลงในสัญญากำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนเลยย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์คิดหักค่าใช้ประโยชน์จากศูนย์อาหารดังกล่าวตามระยะเวลาที่โจทก์ได้ใช้สิทธิออกจากเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแล้วกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 600,000 บาท ที่เหลือแก่โจทก์ แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าแก่โจทก์เพียง 515,500 บาท และโจทก์พอใจไม่อุทธรณ์โต้แย้งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์เท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานับเป็นการใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงอำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจและทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญา เพื่อให้ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีโดยชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16075/2557 จำเลยร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม กล่าวหาโจทก์ทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งโดยให้ตัวแทนจ่ายเงินให้แก่ ว. และ บ. เป็นการตอบแทนที่ไปฟังโจทก์ทั้งสองปราศรัยหาเสียงเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่โจทก์ทั้งสอง เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์ทั้งสอง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งเป็นการกระทำคราวเดียวกัน แม้ผลจะเกิดกับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับการเลือกตั้งคนละตำแหน่งกันก็เป็นความผิดกระทงเดียว ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสาม แบ่งเป็นสี่วรรค วรรคหนึ่ง เป็นความผิดที่กระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ วรรคสอง ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกลั่นแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ส่วนวรรคสาม ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดโทษและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแก่ผู้กระทำความผิดหนักเบาแตกต่างกัน สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นตามมาตรา 4 ให้คำนิยามหมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 หมวดที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 6 คณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 229 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสี่คน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งที่อยู่ในส่วนกลาง หรือกรุงเทพมหานคร ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมิได้อยู่ในความหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งการกระทำของจำเลยต้องปรับบทความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16022/2557 พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีประจำปีภาษี 2551 ที่พิพาท โดยอาศัยค่ารายปีประจำปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 แต่เมื่อจำเลยกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางใหม่ตามบันทึกข้อความกรุงเทพมหานคร ที่ กท 1302/222 ก่อนที่โจทก์จะยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2551 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยควรจะนำอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษีพิพาทด้วย เนื่องจากเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมิน แม้บันทึกข้อความกรุงเทพมหานครดังกล่าวจะมิได้บังคับให้ต้องกำหนดค่ารายปีเท่ากับอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางและมิได้ห้ามให้กำหนดค่ารายปีสูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แต่เมื่อปรากฏตามบันทึกดังกล่าวว่าสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดให้อยู่กลุ่ม 2 เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม 1 ซึ่งมีค่ารายปีสูงกว่า จึงไม่อาจใช้ค่ารายปีของปีภาษี 2550 ที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีในปีภาษีพิพาท การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1-2 ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีความกว้างมากกว่าถนนเจริญราษฎร์อันเป็นที่ตั้งโรงเรือนของโจทก์ และมีราคาประเมินที่ดินสูงกว่า ย่อมแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่โรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่ได้รับประโยชน์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สินของโจทก์สูงกว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลาง แม้จะเท่ากับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้ว แต่เนื่องจากทรัพย์สินของโจทก์มีสภาพเศรษฐกิจแตกต่างไปจากเดิม การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 และมาตรา 18 ประกอบแนวทางปฏิบัติตามบันทึกกรุงเทพมหานครดังกล่าว การกำหนดค่ารายปีและคำชี้ขาดจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557 มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2557 การที่พยานโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหลังเกิดเหตุครั้งแรกว่ามีสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ติดตั้งอยู่แต่ไม่มีความชัดเจนว่าฝังอยู่จุดใดบ้าง ประกอบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งดำเนินการวางท่อประปามาแล้วประมาณ 50 กิโลเมตร ขุดไม่โดนสายเคเบิลของโจทก์เลย เหลือระยะทางที่จะต้องวางท่อประปาอีกประมาณ 135 กิโลเมตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยังคงขุดเพื่อวางท่อประปาต่อไปตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตโดยปฏิบัติเหมือนกับ 50 กิโลเมตรแรก จึงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลของโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15979/2557 ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ในส่วนข้อกำหนดและเงื่อนไขของตราสารหนี้ ข้อ 16 การบังคับสิทธิเรียกร้องกำหนดให้เฉพาะทรัสตีใช้ดุลพินิจดำเนินการต่อ บ. และจำเลย เพื่อบังคับตามสิทธิของผู้ถือตราสารหนี้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน แต่ไม่ผูกพันทรัสตีที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว เว้นแต่เป็นมติพิเศษของผู้ถือตราสารหนี้หรือผู้ถือตราสารหนี้อย่างน้อยหนึ่งในสี่ร้องขอเป็นหนังสือและทรัสตีได้รับการประกันความเสียหายตามที่พอใจ ผู้ถือตราสารไม่มีสิทธิดำเนินการโดยตรงต่อ บ. และจำเลย เว้นแต่ทรัสตีไม่กระทำการภายในระยะเวลาที่สมควรและไม่กระทำการใด ๆ ต่อไป ข้อ 16 จึงเป็นเพียงกรณีกำหนดอำนาจและหน้าที่ของทรัสตีในการดำเนินการบังคับสิทธิเรียกร้องต่อ บ. และจำเลยแทนผู้ถือตราสารหนี้ หากทรัสตีไม่กระทำการผู้ถือตราสารหนี้ก็มีสิทธิบังคับสิทธิเรียกร้องโดยตรงต่อ บ. และจำเลย นอกจากนั้น ข้อ 14 อายุความ กำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินต้น พรีเมียมและดอกเบี้ยจะขาดอายุความถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 10 ปี สำหรับเงินต้นหรือพรีเมียม หรือ 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยตามลำดับ นับแต่วันที่เกี่ยวข้องตามที่ให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 12 (c) และข้อ 12 (c) (i) ระบุว่า วันที่เกี่ยวข้องหมายถึงวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถือตราสารหนี้ก่อนโจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารหนี้แล้ว วันดังกล่าวจึงเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ อายุความจึงเริ่มนับแต่ดังกล่าวอันเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้และอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ไม่ใช่นับแต่วันที่ทรัสตีบอกกล่าวให้ บ. และจำเลยชำระเงินตามตราสารหนี้ การรับสภาพหนี้ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ รายงานประจำปีของจำเลย ไม่ใช่เอกสารที่จำเลยทำให้ไว้ต่อโจทก์โดยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ แต่เอกสารดังกล่าวแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการเงินของบริษัทจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15978/2557 การวินิจฉัยว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่าวันที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อฎีกาของโจทก์ที่ 2 เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา เมื่อโจทก์ที่ 2 เรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งทุนทรัพย์ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นมูลหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้ คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนว่ามิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท แสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดเหตุในคดีนี้ ทั้งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้พบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรหนองแค โจทก์ทั้งสองจึงทราบถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดต่อจำเลยทั้งสามได้นับแต่วันดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายกระทำโดยประมาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขาดอายุความ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จะนำอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับจำเลยที่ 3 มิได้ เหตุเกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีวันที่ 12 มีนาคม 2546 คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสองโดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งมาตรา 295 บัญญัติให้กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใด ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนี้ แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ 1 ปี ยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยด้วยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ปัญหาข้อที่ว่าจะใช้บทบัญญัติอายุความละเมิดหรืออายุความประกันวินาศภัยมาใช้บังคับนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557 ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15968/2557 สำนักงานประกันสังคม (จำเลย) ยึดถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ด้วยการประกาศท้องที่และรายชื่อสถานพยาบาลประจำปีในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิพิจารณาเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ไว้ได้หนึ่งแห่งจากรายชื่อนั้น หากผู้ประกันตนต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลในภายหลังก็ทำได้ กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการทางการแพทย์ ประเภทยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค โดยระบบจัดเก็บเงินอยู่ในรูปไตรภาคีที่ผู้ประกันตน นายจ้าง รัฐบาลร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม อันเป็นการมุ่งประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนควบคู่ไปกับประสิทธิผลของการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินและมีความจำเป็นทำให้ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ (ตามที่ผู้ประกันตนเลือก) สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินเป็นค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ข้อ 3 ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ไม่ถึงขนาดเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน คณะกรรมการการแพทย์ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 15 (2), 59, 63 ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉบับนี้จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์เข้ารับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลตามสิทธิในวันที่ 2 มกราคม 2551 แต่ยังคงมีอาการเจ็บปวด ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม 2551 โจทก์ได้โทรศัพท์ขอนัดทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาล อ. ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิและไปถึงโรงพยาบาลเวลา 7.31 นาฬิกา ได้รับการผ่าตัดเวลา 19.15 นาฬิกา แพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ยอมรับว่าแม้โจทก์ไม่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารในวันและเวลาดังกล่าวก็ไม่มีผลอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตและการที่โจทก์ไปให้แพทย์โรงพยาบาล อ. ผ่าตัดเย็บแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารเดิมที่ปริออกทำให้เลือดซึมออกมาเพราะแผลไม่แห้งสนิทอันเป็นผลจากการเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรก แพทย์ไม่ได้ผ่าตัดเย็บแผลเดิมใหม่ให้ทันที แต่กลับรอดูอาการถึงกว่า 1 วัน ก่อนแล้วจึงผ่าตัดเย็บแผลให้ใหม่อีกครั้ง แสดงว่าไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และโจทก์ไม่ได้แจ้งให้สถานพยาบาลตามสิทธิทราบหรือเดินทางไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิเพราะมีความต้องการให้โรงพยาบาล อ. ทำการรักษาให้ต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15952/2557 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับมารดาโจทก์เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำและฝากเงินไว้ต่อธนาคารจำเลยสาขาฝาง ว. ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และ ส. กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับ ว. อย่างลูกหนี้ร่วม ว. ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยฟ้อง ว. ส. และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส. และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยจนครบ จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับมารดาโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15948/2557 สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557 การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15913/2557 โจทก์บรรยายฟ้องในคำฟ้องอ้างเหตุที่เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะเป็นการโทรมหญิงเท่านั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าธารกำนัล แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แสดงว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล และเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังไม่ได้ว่าการร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 มีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม คงเป็นความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ย่อมตกลงยอมความกันได้ตามมาตรา 281 เมื่อมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15899/2557 คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ใช้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ใส่กุญแจประตูทางเข้าบริเวณที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออก ใช้สอยและผลิตสินค้าในที่เช่าได้ เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ และยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ให้พนักงานของจำเลยที่1 กระทำการดังกล่าว แม้จะบรรยายในลักษณะว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดก็ตาม จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 การแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผ่านทางจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบโดยตรง กรณีต้องด้วยมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในขอบเขตของตนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15866/2557 ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตราบเท่าที่จำเลยยังคงเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราอยู่และผู้เสียหายแต่ละคนได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยนั้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กันยายน 2551 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดสำเร็จ จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15846/2557 ในการโฆษณาให้เช่าพื้นที่โครงการของจำเลยระบุว่าให้มีสถานบริการประเภทร้านค้า ร้านอาหารและ สถานที่ออกกำลังกายภายในพื้นที่โครงการของจำเลย แสดงว่าโครงการของจำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้ายูเนี่ยมมอลล์ในโครงการ การทำสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าของโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวในพื้นที่ตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้และโจทก์แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณา แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความว่าจำเลยจะต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลย คำโฆษณาของจำเลยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดศูนย์การค้าของจำเลย จำเลยยังดำเนินการจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยไม่ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการภายในขอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดส่วนตัว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15837/2557 การที่จำเลยเข้าไปซ่อมแซมตัดต่อท่อประปาที่หน้าวัดอ่างทองสามัคคีธรรมเนื่องจากระบบท่อน้ำประปาที่คุ้มโนนไม่ไหล จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าการเข้าไปซ่อมแซมตัดต่อท่อประปาเป็นเรื่องมีเหตุฉุกเฉิน เพราะน้ำประปาในชุมชุนไม่ไหล การที่จำเลยนำท่อประปาเข้าไปซ่อมแซมจึงเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านเฉพาะหน้า หลังจากซ่อมแซมระบบประปาแล้ว จำเลยก็ไม่เคยนำผลงานดังกล่าวไปโฆษณาหาเสียงอันจะเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งของจำเลยแต่อย่างใด แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างประกาศหาเสียงเลือกตั้ง แต่ลักษณะการกระทำของจำเลยมีเจตนาเพียงต้องการช่วยเหลือชุมชนที่เดือดร้อนเพราะน้ำประปาไม่ไหล ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (2), 118
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15833/2557 แม้ ช. เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสอง และคำให้การของ ช. จะเป็นคำซัดทอดก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 มิได้ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานซัดทอด เพียงแต่ว่าในการรับฟังพยานดังกล่าวศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน บันทึกถ้อยคำของ อ. ในชั้นสืบสวนสอบสวน แม้เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่กรณีมีเหตุจำเป็น เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำ อ. มาเบิกความได้และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ศาลจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15794/2557 ตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 333/2551 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สิน เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ส่วนในข้อ 14 ของคำสั่งดังกล่าวที่ว่า "ในกรณีมีการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากผู้ซื้อประสงค์จะได้รับเงินคืน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินแก่ผู้ซื้อ โดยเหลือไว้ร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อขาย" เป็นเรื่องการขอคืนเงิน มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเงินจากผู้ซื้อทรัพย์เพิ่มเติมให้ครบร้อยละ 5.5 ประกอบกับคู่มือการนำระเบียบ คำสั่ง กฎหมาย มาใช้กับการบังคับคดีแพ่งได้ให้คำอธิบายว่า "กรณีมีผู้ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อไม่ต้องวางเงิน หากมีการชำระราคาครบถ้วนหรือวางมัดจำเกินร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อขาย ให้คืนเงินส่วนเกิน คงเหลือไว้ร้อยละ 5.5" ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอชะลอการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายตลาดที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ดินที่ซื้อได้ จึงไม่ชอบ เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อดังกล่าวได้ ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ จำนวน 2,000,000 บาท แล้วประกาศให้ขายทอดตลาดใหม่นั้น ระเบียบกรมบังคับคดีข้อ 12 กำหนดว่า กรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบมัดจำ แต่กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือ แต่เป็นกรณีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อ จึงหมายความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบเงินมัดจำ หากเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาส่วนที่เหลือ แล้วไม่ปฏิบัติตาม เมื่อกรณีนี้มีการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด แล้วผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอคืนเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 14 ทั้งยังไม่แน่นอนว่า เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จะได้ซื้อทรัพย์ตามที่ประมูลหรือไม่ จึงไม่มีเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำของผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าว คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำและสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่จึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15793/2557 แม้เงินชดเชยค่าก๊าซที่โจทก์ได้รับจาก กฟผ. จะมิใช่รายได้ที่เกิดจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์อันเป็นการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของโจทก์ เนื่องจากเป็นเงินที่จ่ายในขั้นตอนการทดสอบกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้า และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2543 ก็มีผลเพียงทำให้รายได้เงินชดเชยค่าก๊าซมิใช่เป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง แต่เมื่อเงินชดเชยค่าก๊าซเป็นการตอบแทนค่าพลังงานตามที่ระบุไว้ในสัญญาระหว่างโจทก์กับ กฟผ. จึงต้องถือว่าเป็นรายได้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากกิจการที่โจทก์กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก ส่วนมาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แม้โจทก์เรียกเก็บเงินชดเชยค่าก๊าซจาก กฟผ. ในปี 2543 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวมีความแน่นอนที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระตามสัญญา และโจทก์บันทึกรายการซื้อก๊าซจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไว้ในสมุดแยกประเภทปี 2542 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินชดเชยค่าก๊าซดังกล่าวเป็นจำนวนแน่นอนสามารถลงบัญชีรับรู้ได้ ดังนั้น โจทก์จึงต้องนำเงินชดเชยค่าก๊าซมาลงบัญชีเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 ตามมาตรา 65 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15734/2557 ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 2 นั้น แม้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว เมทแอมเฟตามีน และ 3, 4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้จะเป็นยาเสพติดให้โทษคนละชนิดกันแต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เหมือนกันและเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นยาเสพติดให้โทษทั้งสองชนิดในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนและ 3, 4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ ก. กับข้อ ข. ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็น 2 กรรมนั้น จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15733/2557 โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตามฟ้อง 674,903 บาท โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกเป็นเงิน 600,366 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 674,954 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม 600,417 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2557 จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่น หรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัวไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหายอันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายย่อมเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก และไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุคดีนี้ โจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15726/2557 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 โดยบรรยายฟ้องในข้อ 1 และข้อ 5 เพียงว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของโจทก์ ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขมาด้วย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ว่า เหตุเกิดวันที่ 28 มกราคม 2554 โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 28 ตุลาคม 2554 โดยมิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2554 จึงฟ้องเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1 จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 และข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2555 ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในความผิดฐานทำร้ายร่างกายแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15719/2557 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับในเรื่องการเพิ่มโทษและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แม้โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบประวัติ ผลการตรวจสอบระบุว่า จำเลยที่ 3 ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 22 ปี 6 เดือน รับลดกึ่งหนึ่ง จำคุก 11 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่พยานปากดังกล่าวมิได้เบิกความว่า คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2557 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 ซึ่งความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนอาญา คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนแพ่ง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนอาญา อันมีผลทำให้ไม่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เฉพาะในส่วนอาญาให้จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษต่อไปอีก อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานยักยอก และทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 แต่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อ้างมาตรานี้มาในฟ้อง ทั้งโทษตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ก็หนักกว่าโทษตามมาตรา 352 และมาตรา 358 ที่โจทก์ฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15717/2557 ความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า และฐานให้เช่า เสนอให้เช่า งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดในส่วนของการกระทำคือ มีการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า และการให้เช่า เสนอให้เช่า เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และได้กระทำแก่งานนั้นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ได้มาโดยการสร้างสรรค์งานเองตามมาตรา 6 หรือได้มาโดยการรับโอนลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้มาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 8 นอกจากนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ฉะนั้นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวจึงเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ก็ย่อมต้องรู้ว่าผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรืองานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย และมาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าผู้สร้างสรรค์... ถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนั้นการบรรยายในคำฟ้องว่างานที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรือถึงแก่ความตายเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นส่วนสาระสำคัญ มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย และไม่อาจจะนำเอาข้อสันนิษฐานต่าง ๆ หรืออนุมานเอาเอง เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายเมื่อใด หรือบรรยายให้ปรากฏถึงวันเวลาที่ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกไว้อย่างชัดแจ้ง จึงย่อมเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด อันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15711/2557 แม้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ในคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ตามลำดับ อันเป็นความผิด 2 กรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ร้าน บ. และที่ร้าน น. อันได้มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนต์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสและไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวนกี่แผ่นเท่านั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ว่า ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรื่องใด จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 (2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวีดิทัศน์นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึง ข้อ 2.9 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15707/2557 ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมต้องนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำโดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยทั้งนี้เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยและการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทย โจทก์ร่วมจึงจะขอให้บังคับใช้สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ ปรากฏว่ารายการ "National Geographic" เป็นรายการเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์และคนซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์เอง เมื่อโจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวแล้วจะอนุญาตให้แพร่เสียงแพร่ภาพผ่านทางเคเบิลทีวีซึ่งจะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนจึงจะสามารถแพร่เสียงแพร่ภาพรายการของโจทก์ร่วมได้ การแพร่เสียงแพร่ภาพทางเคเบิลทีวีอาจดำเนินการทางระบบสายและระบบจานโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่รายการของโจทก์ร่วมในประเทศไทยคือบริษัท ย. กับบริษัท บ. โจทก์ร่วมจะยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการดังกล่าวไปยังดาวเทียม จากนั้นดาวเทียมจะส่งสัญญาณกลับมาที่ภาคพื้นดินโดยสมาชิกจะต้องใช้จานหรือเครื่องรับสัญญาณซึ่งต้องมีสมาร์ตการ์ด จึงจะสามารถรับสัญญาณดาวเทียมและชมรายการของโจทก์ร่วมได้ สัญลักษณ์ "National Geographic" เป็นสัญลักษณ์ของโจทก์ร่วมและเป็นสิ่งแสดงว่ารายการนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ในกรณีที่มีการรับสัญญาณรายการ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. จะปรากฏทั้งสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" ที่หน้าจอโทรทัศน์ โดยสัญลักษณ์นั้นจะปรากฏอยู่คนละด้านกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ที่โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยต้องเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่ส่งสัญญาณผ่านบริษัท ย. ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของสมาชิกเคเบิลทีวีของบริษัท ย. โดยที่หน้าจอโทรทัศน์จะปรากฏสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" อยู่คนละด้าน เมื่อปรากฏว่าที่จอโทรทัศน์ในบ้านที่เกิดเหตุของผู้เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 มีภาพแสดงรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ซึ่งมีสัญลักษณ์"National Geographic" เท่านั้น ไม่มีสัญลักษณ์ "UBC" แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งรายการโทรทัศน์ "National Geographic" โดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยของโจทก์ร่วม แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพจากดาวเทียมอื่นซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมที่โจทก์ร่วมยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. ในประเทศไทย จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอื่นที่มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสี่ได้ใช้ในการกระทำความผิดขอให้ริบนั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้ จึงต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15705 - 15706/2557 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 นั้น ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วกับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งนี้ โดยผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้านั้นมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของบุคคลอื่น โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ข้าว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กำลังจะส่งออกไปต่างประเทศซึ่งสินค้าข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ปรากฏว่าที่ด้านหลังกระสอบบรรจุข้าวดังกล่าว ตรงลูกศรชี้ข้างล่างมีชื่อและที่อยู่บริษัทโจทก์ที่ 2 พร้อมตราสัญลักษณ์ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์นกอินทรีบนลูกโลกและช่อรวงข้าวผูกริบบิ้นในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังภาพ ซึ่งเห็นได้ว่าตราสัญลักษณ์ ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตราเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏอยู่ที่ด้านหน้ากระสอบ ชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์ที่ 2 ที่ปรากฏอยู่บนกระสอบด้านหลังข้างล่างนั้นเป็นชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกซึ่งต้องระบุไว้ที่สินค้าที่ส่งออกตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งการระบุชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ข้าว) (เพื่อกิจการที่เป็นการค้า) ซึ่งระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออก ประกอบกับโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่มีตราเครื่องหมายขนาดเล็กที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ที่ด้านล่างกระสอบวัตถุพยาน โจทก์ที่ 2 ก็ได้ใช้ตราเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ในลักษณะทำนองเดียวกันดังกล่าวกับสินค้าข้าวที่โจทก์ที่ 2 ส่งออกอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าข้าวของโจทก์ที่ 2 กับสินค้าข้าวของบุคคลอื่นโดยมิใช่เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ดังนี้ การที่มีตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏอยู่ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 บนกระสอบ จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น การใช้ตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกดังกล่าวมิใช่การใช้ตราเครื่องหมายนั้นอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าข้าวที่ส่งออกแตกต่างกับสินค้าข้าวที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายที่ทำหน้าที่เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าข้าวที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งออกในวันเกิดเหตุเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าว่าเป็นของผู้ใดหรือมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใดนั้นปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ คือเครื่องหมาย ซึ่งไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามที่ปรากฏอยู่หน้าชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อระบุว่าสินค้าข้าวนั้นเป็นของผู้ผลิตรายใดและเพื่อแยกแยะสินค้าข้าวนั้นว่าแตกต่างจากสินค้าข้าวของบุคคลอื่น การที่ปรากฏเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ที่กระสอบด้านหลังข้างล่างที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ ซึ่งเป็นกระสอบที่ใช้บรรจุสินค้าข้าวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศในวันเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 เมื่อสินค้าข้าวจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลางมิใช่สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ได้ ส่วนรถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางที่ใช้บรรทุกข้าวสารนึ่งจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลาง และอุทธรณ์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15702/2557 แม้ปัญหาที่ว่าคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาผู้เดียวเป็นผู้วินิจฉัย และศาลที่รับคดีไว้จะต้องเสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องบรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศโดยการขนส่งทางทะเลและทางอากาศรวม 91 รายการ แยกเป็นรายการค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายระหว่างประเทศและค่าแรงงาน โดยอ้างส่งใบแจ้งหนี้แต่ละรายการมาท้ายฟ้อง อันเข้าใจได้ว่าค่าขนส่งและค่าแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรับขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา ย่อมแสดงว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วเห็นว่ามูลคดีตามฟ้องโจทก์ทั้ง 91 รายการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เมื่อจำเลยต้องการโต้แย้งว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จำเลยก็ต้องกล่าวโดยชัดแจ้งว่าการขนส่งรายการใดไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศเพราะเหตุใด การที่จำเลยยกขึ้นโต้แย้งในคำให้การเพียงว่า จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าจากโรงงานของจำเลยไปส่งยังท่าเรือเท่านั้น ไม่ได้ว่าจ้างให้ขนส่งไปต่างประเทศ จึงเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15698/2557 คำว่า หรือ ของเครื่องหมายบริการ และ ตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์มาจากตัวอักษรโรมันคำว่า ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์ ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่ามีแหล่งข้อมูลอื่นที่ให้ความหมายคำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเช่นเดียวกับเอกสารที่จำเลยอ้าง ทั้งปรากฏในเอกสารดังกล่าวด้วยว่าคำดังกล่าวซึ่งเป็นคำย่อยังมีอีกหลายความหมาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าบุคคลที่มีความรู้ภาษาเยอรมันหรือบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการให้คำแนะนำทางเทคนิคต่าง ๆ ทราบดีว่า คำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค แม้คำว่า เป็นคำย่อซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคก็ตาม แต่คำดังกล่าวก็ไม่เป็นคำที่ผู้ใช้บริการสามารถทราบได้ว่าเกี่ยวข้องกับบริการจำพวกที่ 35 และ 42 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียน คำว่า และ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่ใช่คำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง เครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งสี่คำขอ จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 ประกอบมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันพึงรับจดทะเบียนได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15697/2557 โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างจึงมีภาระการพิสูจน์ว่า รายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 เอาไปนั้นคือข้อมูลใดและเป็นความลับทางการค้าของโจทก์อย่างไร โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะพิเศษอย่างไรจึงเป็นข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่กลับได้ความจากพยานโจทก์ว่า รายชื่อลูกค้าอาจได้มาจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่บริษัทต่างๆ ลงประกาศรับสมัครงานหรือจากเว็บไซต์ ดังนั้นรายชื่อลูกค้า ชื่อคนติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์ รวมทั้งที่อยู่ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของลูกค้าจึงเป็นเพียงข้อมูลการค้าทั่วไปเท่านั้น แม้จะมีประโยชน์ในทางพาณิชย์ต่อโจทก์อยู่บ้างแต่ก็ไม่เป็นความลับทางการค้าเพราะไม่มีคุณค่าทางพาณิชย์ตามความหมายใน พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 เนื่องจากข้อมูลการค้าที่มีประโยชน์ในทางพาณิชย์ดังกล่าวต้องมีผลต่อการดำรงคงอยู่ของธุรกิจการค้าที่กระทำอยู่หรือที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคต หรือการดำรงคงอยู่ของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลดังกล่าวเป็นสำคัญ และผู้เป็นเจ้าของข้อมูลการค้าได้ใช้เวลาและความพยายามกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อจะได้ข้อมูลนั้นมา ซึ่งคู่แข่งทางการค้าที่ได้ข้อมูลนี้ไปโดยไม่ชอบจะทุ่นเวลาและแรงงานในการหาหรือเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเป็นอย่างมาก และทำให้เจ้าของความลับเสียเปรียบในทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีรหัสให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ แต่เมื่อข้อมูลการค้าดังกล่าวบุคคลหรือบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจรับจัดหางานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะทางสื่อสิ่งพิมพ์หรือเว็บไซต์ต่างๆ ได้ จึงถือไม่ได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าซึ่งโจทก์มีสิทธิในการเปิดเผยหรือใช้เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 5 การที่จำเลยที่ 2 นำชื่อลูกค้าของโจทก์ไปประกาศโฆษณาในอินเตอร์เน็ต หรือการที่จำเลยที่ 2 รับจัดหาพนักงานให้บริษัทซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 6 ส่วนสัญญาและกลยุทธ์ทางการค้าที่โจทก์นำสืบว่าเป็นความลับทางการค้าของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายในฟ้องและไม่สามารถนำสืบได้ว่ากลยุทธ์และสัญญาของโจทก์มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากกลยุทธ์และสัญญาอื่นๆ อย่างไร หากกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นความชำนาญหรือทักษะเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากการทำงานกับโจทก์ก็มิใช่ความลับทางการค้าและจำเลยที่ 1 มีสิทธินำความชำนาญและทักษะดังกล่าวไปใช้ทำงานที่อื่นได้หากไม่มีการจำกัดสิทธิดังกล่าวในสัญญา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557 การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15561/2557 การกีฬาแห่งประเทศไทยเพิกถอนใบอนุญาตที่ให้โจทก์จัดตั้งเป็นสมาคมแต่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองและคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติ ทั้งการเลิกสมาคมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 101 (6) ที่บัญญัติให้สมาคมเลิกกันเมื่อนายทะเบียนถอนชื่อสมาคมจากทะเบียน เมื่อไม่ปรากฏว่านายทะเบียนได้ถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียน โจทก์จึงยังมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 83
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15533/2557 เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าการบริหารองค์กรไม่ว่าบริหารภาครัฐหรือเอกชน การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง การโยกย้าย หรือการพิจารณาความดีความชอบจะต้องใช้หลักคุณธรรม และเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่นั้นเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และยังเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นหรือเสาหลักแห่งกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อความตอนใดที่โจทก์ขอให้จำเลยทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจในตัวโจทก์ถูกต้อง กลับให้จำเลยไปพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รู้จักกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์อย่างเต็มที่ โดยสัญญาแบบผู้มีความรับผิดชอบให้ได้รับตำแหน่งสูงสุด และหากโจทก์ขอความช่วยเหลือ จำเลยจะต้องให้ความสะดวกและช่วยเหลือโจทก์ได้มีตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ระเบียบแบบแผนและวิธีการของทางราชการ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15525/2557 โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ควรรับฟังพยานหลักฐานเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นเป็นฎีกาทำนองว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว แต่ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2557 จำเลยกับพวกร่วมกันกระชากตัวโจทก์ร่วมลงจากรถแท็กซี่และรุมทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วนำตัวโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะแล่นออกไปยังบ่อปลาแห่งหนึ่งโดยระหว่างที่อยู่ในรถกระบะจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทางโดยใช้ขวดเบียร์และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ และจำเลยได้ล้วงเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี การที่จำเลยและ น. เรียกร้องเงินจำนวน 23,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วม โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงเงิน น. ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้ น. ไม่ ดังนั้น เงินจำนวน 23,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็นค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 313 วรรคแรก อนึ่ง เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 316
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2557 จ่าสิบตำรวจ ว. เป็นข้าราชการตำรวจ ในสังกัดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการไต่สวนการตายตามหมายเรียกพยานบุคคลของศาล ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากเห็นสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่ออุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเป็นพยานศาลเป็นการกระทำโดยประมาทธรรมดา จ่าสิบตำรวจ ว. จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15451/2557 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ เป็นบทบัญญัติในส่วนของดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท มิฉะนั้นแล้วผลจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาเห็นควรนำปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามที่คู่ความร้องขอ แต่ใช้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากตัวบท กลับเป็นผลร้ายแก่คู่ความซึ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ไม่ปรากฏข้อความที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ได้และมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในวันเดียวกัน กรณีย่อมถือได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15450/2557 คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กรณีฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในครั้งหลังจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่อย่างไรเพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษต่อได้ จึงนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15438 - 15440/2557 ป. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะพา ป. ไปทำธุรกิจที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดย ป. นั่งไปด้วย ย่อมถือได้ว่า ป. เป็นตัวการ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ ป. ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะไปชนรถแท็กซี่เป็นเหตุให้ ป. กับ ส. ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน ป. ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไป จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ ป. เป็นทายาทโดยธรรมต้องร่วมรับผิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15433/2557 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 16 ถึง 18 ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉยขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 รับหนังสือวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระย่อมถือว่าสัญญาเลิกกัน แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีกฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก เท่ากับโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถามในฉบับแรก โดยโจทก์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาในฉบับที่สองแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่างวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด โดยจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะต้องวางทรัพย์แทนการนำไปชำระหนี้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ก่อนหน้าว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเบี้ยปรับ จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามหนังสือบอกกล่าวโดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเบี้ยปรับและค่าติดตามมา ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและตามสิทธิที่โจทก์อ้างมาก่อนครบกำหนดหนังสือบอกเลิกสัญญา ฉบับหลังแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาข้อ 12 วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15427/2557 ระหว่างการพิจารณาคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลจึงงดการพิจารณาคดีล้มละลายไว้ ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และมีเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 อีกครั้ง แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ศาลจึงไม่งดการพิจารณาคดีล้มละลาย ซึ่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) บัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีล้มละลายของจำเลยแล้ว หลังจากนั้นศาลได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยจะต้องงดการพิจารณาคดีล้มละลายไว้จนกระทั่งคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีเหตุที่ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาฟื้นฟูกิจการต่อไป ดังนั้น เมื่อศาลในคดีที่มีการร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอ แม้มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก็ตาม กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลในคดีล้มละลายจะต้องงดการพิจารณา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15402/2557 การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้ว โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือดำเนินการขอให้ผู้คัดค้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน อันจะถือได้ว่าเป็นการดำเนินการชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และคำร้องขอของผู้คัดค้านเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องคัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้ความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15400/2557 ฎีกาของจำเลยที่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์และไม่มีเจตนากระทำความผิด ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ขณะเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไปมีราคา 30,400 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องราคารถจักรยานยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เป็นเงิน 30,400 บาท ไม่ใช่ 80,000 บาทตามฟ้อง เมื่อจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายและผู้รับประกันภัยไม่ติดใจเรียกร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีก จำเลยจึงไม่จำต้องชำระราคาในส่วนที่ขาดเป็นเงิน 49,600 บาท เพราะมิฉะนั้นผู้เสียหายย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15363/2557 กรณีหนี้จำนองมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ประธาน หากเอาทรัพย์จำนองหลุดและทรัพย์สินนั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดนั้น แต่ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินจำนอง ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวนต่อไป ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์ จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากร 593,750 บาท จากหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ประธาน 1,255,291.40 บาท โดยไม่มีข้อตกลงยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ถ้านำที่ดินของจำเลยที่ 5 ขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท เงินยังขาดจากจำนวน 593,750 บาท อยู่เท่าใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่ยังขาดอยู่ แต่หากนำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิมากกว่า 593,750 บาท เงินส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 5 เนื่องจากเกินวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 5 มีเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจำนวน 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้น จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นความรับผิดต่างหากจากสัญญาจำนองในหนี้ค่าภาษีอากรที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไปด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15351/2557 บุคคลภายนอกที่จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการส่งมอบการครอบครองเครื่องพิมพ์พิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่ทรัพย์สินที่ต้องถูกบังคับเสร็จสิ้นแล้ว ความจำเป็นที่ผู้ร้องจะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ย่อมหมดไป ไม่ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15349/2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงศาลชั้นต้นอายัดเงินค่าเช่าที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินค่าเช่าที่จำเลยได้นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่จำต้องทำการยึดหรืออายัดอีก แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่เงินจำนวนดังกล่าวได้ทันที จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งไม่ชอบ ที่ถูกศาลชั้นต้นจะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปตามหนังสือขออายัดซึ่งมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง อย่างช้าสุดนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2546 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นได้รับหนังสืออายัด ทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 บัญญัติว่า "คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้ เว้นแต่การบังคับคดีนั้น สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์" และตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "การบังคับคดีนั้น ให้ถือว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" เมื่อถือว่ามีการอายัดเงินค่าเช่านับแต่วันที่ 10 มกราคม 2546 เจ้าหนี้อื่นมีสิทธิยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ได้ภายในวันที่ 24 มกราคม 2546 จำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดวันที่ 18 สิงหาคม 2552 การบังคับคดีจึงสำเร็จบริบูรณ์ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วย่อมใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แม้คดีนี้ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2548 โจทก์จะมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อโจทก์จะได้บังคับเอากับเงินดังกล่าว และศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ต้องเสียไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15315/2557 มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยเอกสารหลายประเภท ดังที่บัญญัติว่า "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ" เมื่อเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้เป็นเอกสารสิทธิอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 จึงต้องปรับบทและนำโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 มาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15308/2557 คดีเดิมของศาลชั้นต้น เรื่องขอจัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ร. เมื่อ ร. ถึงแก่ความตายและมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ว. ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ บิดาของโจทก์และ ว. คือ ม. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ร. เจ้ามรดก ร. หย่ากับสามีและไม่มีบุตร ม. ถึงแก่ความตายก่อน ร. ส่วน ธ. บุตรบุญธรรมของ ร. ขอสละมรดก ว. และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ม. ทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกของ ร. ถือว่า ว. และโจทก์อยู่ในฐานะเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวแล้วว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้เป็นผู้จัดการมรดก อันเป็นการวินิจฉัยว่าพินัยกรรมดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่พินัยกรรมปลอมหรือเกิดจากการถูกหลอกลวง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกโดยอ้างว่า ร. ไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลย แต่เกิดจากจำเลยกับพวกใช้อุบายหลอกลวง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15306/2557 หนี้ที่เกิดจากเจ้าของร่วมมีหน้าที่ชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้ห้ามมิให้บุคคลอื่นชำระหนี้แทนเจ้าของห้องชุดที่เป็นเจ้าของร่วม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ จึงจำเป็นอยู่เองที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายและค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่จำต้องให้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเข้ามาในคดีก่อน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15250/2557 คำร้องขอลดค่าปรับเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหาและการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย ดังนั้น คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด และกรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248 - 15249/2557 จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้ จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15243/2557 ความผิดฐานฟ้องเท็จเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การถอนฟ้องในระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องคงเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 176 คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องโดยลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองมาในส่วนของคำขอท้ายฟ้องก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งโจทก์ให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง จนเห็นได้ว่าเป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15241/2557 ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แม้ความผิดฐานสมคบและรับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งเด็ก ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ต้องเป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15239/2557 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า "สถานการค้าประเวณี" หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณีและให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อการกระทำการค้าประเวณีด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาคำว่า สถานการค้าประเวณีตามบทบัญญัติดังกล่าวอาจไม่มีอยู่จริงตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้หมายความเพียงแต่สถานที่อันมีไว้เพื่อค้าประเวณีโดยเฉพาะเช่น ซ่องโสเภณี แต่ยังให้หมายรวมถึงสถานที่ทั่วไปที่ยอมให้มีการค้าประเวณีหรือใช้ในการติดต่อจัดหาบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้าประเวณีอีกด้วย เช่น ในโรงแรม ร้านทำผม ร้านอาหาร และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกทั่วไปไม่รู้ว่ามีการค้าประเวณีแอบแฝง คงรู้แต่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นต้น การที่จำเลยที่ 1 พา น. ไปขายบริการทางเพศให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บังกะโล ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างรู้กันว่า บังกะโลนี้เป็นสถานที่ติดต่อสำหรับค้าประเวณีได้ แม้เจ้าของหรือผู้ควบคุมบังกะโลจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม สถานที่ดังกล่าวก็เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำชำเรา น. ในสถานการค้าประเวณีแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557 ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 9 ทำไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญารถร่วมระหว่างโจทก์กับผู้ตายอยู่ในเล่มเดียวกับหนังสือสัญญารถร่วม มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 9 ยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีผู้ตายทำสัญญารถร่วมไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 28 มิถุนายน 2526 ซึ่งกำหนดเวลาของสัญญารถร่วมระบุไว้ในข้อ 9 ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 โดยไม่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผู้ตายไปต่อสัญญารถร่วมในปีต่อมา หรือหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ไปต่อสัญญารถร่วม จำเลยที่ 9 ได้ไปทำสัญญาค้ำประกันการต่อสัญญารถร่วมให้ไว้แก่โจทก์อีก หรือยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้มีผลต่อไป อีกทั้งในหนังสือสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อความระบุว่าหากมีการต่อสัญญารถร่วมให้ถือว่าการค้ำประกันของจำเลยที่ 9 มีผลต่อไปด้วย ซึ่งสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 9 ย่อมสิ้นไปเมื่อสัญญารถร่วมครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2526 เมื่อเหตุรถคันพิพาทชนกับรถคันอื่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2537 จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
เขียนโดย
Vakin Youngchoay