ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2548

ข้อ 1. 

นายวันกับนายเดือนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ตามโฉนดที่ดินมิได้ระบุว่า เจ้าของรวมคนใดเป็นเจ้าของส่วนไหนและมิได้บรรยายส่วนว่าเจ้าของรวมคนใดมีส่วนเท่าใด นายวันทำสัญญาจะขาย ที่ดินทั้งแปลงให้แก่นายปี ส่วนนายเดือนก็ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายอาทิตย์ โดยระบุในสัญญา ระหว่างนายเดือนกับนายอาทิตย์ว่า ส่วนของนายเดือนอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดิน ทั้งนายวันและนายเดือนต่างไม่ทราบ เรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของอีกคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อถึงกำหนดโอนที่ดินตามสัญญา นายวันและนายเดือน ต่างบิดพลิ้วไม่ยอมโอนขายที่ดินให้แก่นายปีและนายอาทิตย์ 

ให้วินิจฉัยว่า 
(ก) นายปีจะฟ้องนายวันและนายเดือนให้โอนขายที่ดินได้หรือไม่ 
(ข) นายอาทิตย์จะฟ้องนายเดือนให้โอนขายที่ดินได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) โฉนดที่ดินมิได้ระบุว่าเจ้าของรวมคนใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนไหน และมิได้บรรยายส่วนว่าเจ้าของรวม คนใดมีส่วนเท่าใด นายวันและนายเดือนเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมมีส่วนเท่ากันคนละครึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1357 การที่นายวันทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งแปลงแก่นายปีโดยนายเดือนมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันนายเดือน คงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของนายวันครึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง แม้นายปีจะฟ้องบังคับให้นายวันและนายเดือนโอนขายที่ดินทั้งแปลงไม่ได้ แต่นายปีก็มีสิทธิฟ้องเรียกให้นายวันโอน ขายที่ดินครึ่งหนึ่งเฉพาะส่วนของนายวันได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2538) 

(ข) การเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่มิได้ระบุว่าเจ้าของรวมคนใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนไหน กรรมสิทธิ์รวมของ เจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือที่ดินทั้งแปลง การที่นายเดือนทำสัญญาจะขายที่ดินแก่นายอาทิตย์โดยระบุ เจาะจงส่วนด้านทิศใต้ของที่ดินนั้น เป็นการขายตัวทรัพย์ ซึ่งรวมถึงส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายวันด้วย มิใช่เป็นการ ขายเฉพาะส่วนของนายเดือน จึงต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากนายวันจึงไม่มีผลผูกพันนายวัน นายอาทิตย์จะฟ้องบังคับให้ นายเดือนโอนขายที่ดินตามสัญญาไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2528, 4134/2529) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2538
จำเลยและจำเลยร่วมเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยจำเลยร่วมมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยร่วม คงสมบูรณ์มีผลผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงตามสัญญาได้ก็ตาม แต่โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยได้ การที่จำเลยไม่ยอมโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของตนให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญามีว่าถ้าจำเลยไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาและเรียกค่าเสียหาย 60,000 บาท ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคแรก เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแล้ว และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ต้องเสียหายอย่างไร ทั้งมิได้นำสืบไว้ จึงเรียกค่าเสียหายไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2528 
ที่ดินมีโฉนดซึ่ง พ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับพี่น้องคนอื่นและมิได้ มีการแบ่งแยกว่าส่วนของใครอยู่ตอนไหนและ มีเนื้อที่เท่าใดผู้มีชื่อในโฉนด ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินกับ พ.โดยระบุว่าที่ดินตามเนื้อที่ ที่ตกลงซื้อขายกันนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงใหญ่จึงเป็น การซื้อขายตัวทรัพย์ซึ่งมิใช่เป็นการ ขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของพ. จะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนเมื่อยังมิได้ มีการแบ่งที่ดินเป็นส่วนสัดการที่พ. เอาตัวทรัพย์มาทำสัญญาจะขาย ให้โจทก์โดยเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ยินยอมด้วย จึงไม่มีผลผูกพัน เจ้าของรวมคนอื่นและโจทก์จะฟ้องบังคับตามสัญญามิได้ 

ข้อ 2. 

นายอุดรและนายอิสานเป็นเจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่งร่วมกัน ทั้งสองต้องการปรับปรุงซ่อมแซมรีสอร์ตที่ต้อง ใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท นายอุดรและนายอิสานจึงไปขอกู้เงินจากนายกรุงและนายชาติ โดยทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดียวที่มีข้อสัญญาระบุวงเงินให้กู้ว่า นายกรุงให้กู้จำนวน 3,000,000 บาท นายชาติให้กู้จำนวน 2,000,000 บาท และมีข้อสัญญากำหนดไว้ด้วยว่า นายอุดรและนายอิสานรับผิดในการ กู้เงินนี้อย่างลูกหนี้ร่วม ในสัญญาที่ทำขึ้นนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ต่อมาหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินได้ 2 ปี นายกรุงเรียกให้นายอุดรคนเดียวชำระเงินกู้ทั้งหมด 5,000,000 บาทตามสัญญา นายอุดรปฏิเสธไม่ชำระหนี้ ให้นายกรุงโดยยกข้อต่อสู้ว่า นายกรุงไม่มีสิทธิเรียกชำระหนี้ เพราะสัญญากู้ยืมเงินไม่มีกำหนดเวลาคืนเงิน เจ้าหนี้ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนจึงจะเรียกชำระหนี้ได้ และนายกรุงไม่มีสิทธิเรียกให้นายอุดรคนเดียวชำระเงินกู้ทั้งหมด 5,000,000 บาท เพราะส่วนที่นายอุดรจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้นต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กับนายอิสาน ดังนั้นนายอุดรจึงมีหนี้ต้องชำระเพียง 2,500,000 บาทให้นายกรุงเท่านั้น 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายอุดรฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

ข้อต่อสู้ของนายอุดรที่ว่านายกรุงไม่มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้เพราะไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ฟังไม่ขึ้น เพราะหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2518, 7399/2547) 

ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่านายกรุงไม่มีสิทธิเรียกให้นายอุดรชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด 5,000,000 บาท ฟังขึ้น เพราะตามสัญญากู้ยืมเงินมีการระบุวงเงินให้กู้ของนายกรุงและของนายชาติไว้คนละจำนวนแยกกัน ไม่ได้มีข้อตกลง การเป็นเจ้าหนี้ร่วม กรณีจึงเป็นเจ้าหนี้หลายคนในหนี้ที่แบ่งกันได้ซึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนชอบที่จะได้รับแต่เพียงเท่าส่วน ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 290 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2541) ดังนั้น นายกรุงจะเรียกชำระหนี้เกินกว่าส่วนของตนไม่ได้ 

สำหรับข้อที่นายอุดรต่อสู้ว่านายอุดรต้องรับผิดเพียง 2,500,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมกับ นายอิสานจึงต้องแบ่งส่วนของความรับผิดออกเป็นส่วนเท่าๆ กัน เป็นข้ออ้างในเรื่องความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วม ด้วยกันเองตามมาตรา 296 แต่ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งคนใดอาจถูกเรียกให้ชำระ หนี้โดยสิ้นเชิงได้ตามมาตรา 291 ดังนั้นนายอุดรจึงต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่นายกรุงให้กู้ทั้งหมดเป็นเงิน 3,000,000 บาท ข้อต่อสู้ของนายอุดรในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น 

ข้อ 3. 

การไฟฟ้ามหานครเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่และวัตถุประสงค์ในด้านบริการสาธารณูปโภค จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในเขตท้องที่ ๆ ให้บริการ วันเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายจากต้นทาง มิได้ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของประชาชน ทำให้กระแสไฟฟ้าแรงสูง ไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดการลัดวงจรและเป็นผลทำให้บ้านเรือนของนายหนึ่งเกิดเพลิงไหม้เสียหาย นายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น ส่วนนายสองซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ติดกับบ้านเรือนของนายหนึ่ง สะสมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้ไฟที่ลามมาบ้านนายสองไม่อาจควบคุม ได้โดยง่ายเกิดความเสียหายแก่บ้านของนายสองทั้งหลัง 

ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนายสองจะฟ้องการไฟฟ้ามหานครเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ ร่างกายและทรัพย์สินของตนได้หรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

กระแสไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง การไฟฟ้ามหานครซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายดังกล่าวจึงต้องรับผิดชอบเพื่อ ความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้น กรณีนี้ ความเสียหายเกิดจากการไฟฟ้ามหานครจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงโดยมิได้ ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของประชาชน จึงมิใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิด เพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย ดังนั้น การไฟฟ้ามหานครจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ ร่างกายและทรัพย์สินของนายหนึ่งเต็มจำนวนและเพื่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนายสอง 

ส่วนการที่นายสองสะสมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นเหตุให้ ไฟที่ลามมาบ้านนายสองไม่อาจควบคุมได้โดยง่ายเกิดความเสียหายแก่บ้านของนายสองทั้งหลังนั้น เป็นกรณีที่นายสอง ผู้ต้องเสียหายมีส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ค่าสินไหมทดแทนที่นายสองควรจะเรียกได้จึงต้องเฉลี่ยด้วยความผิด ของนายสอง การคำนวณค่าเสียหายจึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็น ผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 

ข้อ 4. 

นายจันทร์ทำสัญญาขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นายอังคาร กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 2 ปี ต่อมา อีก 1 เดือนนายจันทร์นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายพุธ กำหนดไถ่คืนภายใน 2 ปี เมื่อถึงกำหนดโอนที่ดินให้แก่นายอังคาร นายจันทร์ผิดสัญญาไม่สามารถโอนที่ดินให้ได้และเมื่อใกล้ครบกำหนดไถ่ ที่ดินคืน นายจันทร์ขอเลื่อนกำหนดไถ่ไปอีก 6 เดือน นายพุธยินยอมโดยบันทึกข้อความไว้ในสัญญาขายฝากและ ลงชื่อไว้ ในวันครบกำหนดไถ่ที่เลื่อนไปนายจันทร์ไม่สามารถไถ่ที่ดินคืนได้ นายอังคารทราบจึงไปขอใช้สิทธิไถ่ต่อ นายพุธ นายพุธไม่ยอมให้ไถ่อ้างว่านายอังคารไม่ใช่ผู้มีสิทธิไถ่ ทั้งเลยกำหนดไถ่มาแล้วเพราะการเลื่อนกำหนดเวลาไถ่ ที่ทำไว้กับนายจันทร์เป็นโมฆะ 

ให้วินิจฉัยว่า นายอังคารมีสิทธิไถ่ที่ดินจากนายพุธหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์และนายอังคารมีข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 2 ปีจึงเป็นสัญญา จะซื้อจะขาย (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2520) เมื่อนายจันทร์ผิดสัญญา นายอังคารจึงอยู่ในฐานะ ผู้รับโอนสิทธิไถ่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 (2) และมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนจากนายพุธได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390-3391/2538, 294/2492) การที่นายจันทร์ขอเลื่อนกำหนดเวลาไถ่ และนายพุธยินยอมโดยบันทึกข้อความไว้ในสัญญาขายฝากและลงชื่อไว้ เป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ที่มีหลักฐาน เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ ตามมาตรา 496 วรรคสอง จึงใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ นายอังคารจึงมีสิทธิ ไถ่ที่ดินคืนจากนายพุธได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2520
โจทก์ฟ้องว่า ในการซื้อขายที่พิพาท ได้ตกลงกันว่าจำเลยจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ด้วย โดยจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์หลังจากที่จำเลยแบ่งแยกที่พิพาทออกจากโฉนดแล้ว ดังนี้ การซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย การที่โจทก์และจำเลยตกลงจะซื้อจะขายที่พิพาทกันแล้วโจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทนั้น เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยตามสัญญาจะซื้อขาย อันเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนจำเลย มิใช่เป็นการ ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏว่าต่อมาโจทก์เปลี่ยนแปลงลักษณะ แห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี โจทก์ ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2492
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะขายที่นาขณะที่ฟ้องคดีนาไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยได้ตกไปเป็นของผู้รับซื้อฝากเสียแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ไถ่ถอนกลับคืนมาก็ไม่มีทางที่จะบังคับให้จำเลย ทำการโอนขายให้โจทก์ได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ศาลพิพากษาบังคับได้ 

คดีผิดสัญญาจะซื้อขายที่นาอาจมีทางที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในทางอื่น เช่น ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยทำการไถ่ถอนการขายฝากจากผู้รับซื้อฝากแทนที่จำเลย ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233,234 แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ โจทก์ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์แต่ประการเดียว เมื่อศาลบังคับให้โดยตรงเช่นนั้นไม่ได้ ต้องยกฟ้อง 

ข้อ 5. 

นายทรัพย์ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท จากนายมั่น มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี โดยมีนายสิน เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ในการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน นายทรัพย์ได้เขียนหนังสือสัญญา กู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันต่อท้ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้นายมั่นไว้ด้วยลายมือของตนเอง นายสิน ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน แต่นายทรัพย์ลืมลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แต่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียน ในหนังสือสัญญาค้ำประกัน ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวนายสินตกลงยอมให้นายมั่นผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ นายทรัพย์ได้ แต่จะต้องแจ้งให้นายสินทราบเป็นหนังสือโดยพลัน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายมั่นยินยอมให้ นายทรัพย์ชำระหนี้ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่นั้น โดยนายมั่นมิได้แจ้งให้นายสินทราบเป็นหนังสือตามที่กำหนด ไว้ในสัญญาค้ำประกัน 

ให้วินิจฉัยว่า นายมั่นจะฟ้องเรียกร้องให้นายทรัพย์และนายสินรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญา ค้ำประกันได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

ในกรณีของนายทรัพย์ผู้กู้ แม้นายทรัพย์ลืมลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แต่นายทรัพย์ก็ได้ลงลายมือ ชื่อเป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันซึ่งอยู่ต่อเนื่องจากหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่นายทรัพย์เขียน นายมั่นจึงใช้หนังสือสัญญา กู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2506, 8396/2540) 

สำหรับนายสินผู้ค้ำประกัน เมื่อนายสินตกลงด้วยในการผ่อนเวลาและการตกลงดังกล่าวสามารถทำล่วงหน้าได้ ทั้งข้อตกลงที่ให้นายมั่นต้องแจ้งการผ่อนเวลาให้นายสินทราบเป็นหนังสือโดยพลันนั้น เป็นเพียงรายละเอียด มิใช่ เงื่อนไขที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเสียไปแม้จะไม่มีการปฏิบัติ นายสินก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700 วรรคสอง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2546) นายมั่นจึงฟ้องเรียกให้นายทรัพย์และนายสินรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันได้ 

ข้อ 6. 

นายเฉลิมออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุชื่อนายเด่นเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” เพื่อชำระหนี้ค่า สินค้าแก่นายเด่น โดยมีนายวินลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คเป็นประกัน นายเด่นได้สลักหลังเช็คดังกล่าวแล้วนำไป ขายลดแก่นายชาติ ครั้นถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายเด่นได้ใช้เงินตามเช็คให้แก่นาย ชาติพร้อมกับรับเช็คคืนมาและทวงถามนายเฉลิมกับนายวินให้ใช้เงินตามเช็ค นายเฉลิมต่อสู้ว่านายเด่นเป็นผู้สลักหลัง ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็ค ส่วนนายวินต่อสู้ว่าด้านหน้าเช็คไม่มีข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัล จึงไม่ต้องรับผิด 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมและนายวินฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายเด่นสลักหลังเช็คแล้วนำไปขายลดแก่นายชาติ แม้นายเด่นจะอยู่ในฐานะผู้สลักหลังมิใช่ผู้ทรงเช็ค ตามที่นายเฉลิมต่อสู้ก็ตาม (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339-6340/2539) แต่เมื่อภายหลังที่นายชาติผู้ทรง เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้แล้ว นายเด่นได้ใช้เงินตามเช็คให้แก่นายชาติพร้อมกับรับเช็คคืนมา นายเด่นย่อมมีสิทธิ เช่นเดียวกับนายชาติผู้ทรงในการที่จะบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2499, 3421/2525, 2879/2536) นายเด่นจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายเฉลิมในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดใช้เงินตามเช็คได้ ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมฟังไม่ขึ้น 

การที่นายวินลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คเป็นประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของนายเฉลิมผู้สั่งจ่ายแม้จะไม่มี ข้อความใด ๆ ก็ตาม ก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลนายเฉลิมผู้สั่งจ่ายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 939 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย จึงไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่าใช้ได้ เป็นอาวัลตามมาตรา 939 วรรคสอง แต่อย่างใด นายวินจึงต้องรับผิดอย่างเดียวกันกับนายเฉลิมผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ข้อต่อสู้ของนายวินฟังไม่ขึ้น 

ข้อ 7. 

นายมุ่ง นายมิ่งและนายมั่น ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น โดยให้นายมุ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดแต่เพียงผู้เดียวและนายมิ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อนจดทะเบียนห้าง นายมุ่งได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะ เพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้าง จากบริษัทเจริญยนต์ จำกัด 1 คัน โดยได้รับมอบรถยนต์มาใช้แล้วแต่ยังไม่ได้ ชำระราคา ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวและดำเนินกิจการจนมีผลกำไรอันจักต้องแบ่งให้แก่ หุ้นส่วนทุกคนตามสัญญา นายมิ่งได้รับส่วนแบ่งกำไรส่วนของตนตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนมาแล้ว แต่ไม่ยอมแบ่ง ให้แก่หุ้นส่วนคนอื่น นายมุ่งและนายมั่นต่างได้ทวงถามแล้ว แต่นายมิ่งก็ไม่แบ่งให้ ทั้งไม่ยอมชำระราคารถยนต์ให้แก่ บริษัทเจริญยนต์ จำกัดอีกด้วย นายมั่นไม่พอใจนายมิ่งมากและประสงค์จะถอนหุ้นโดยเรียกเงินที่ลงเป็นค่าหุ้นคืนจาก นายมิ่ง แต่นายมิ่งก็ไม่ยอมคืนให้ 

ให้วินิจฉัยว่า 

(ก) บริษัทเจริญยนต์ จำกัด จะฟ้องนายมุ่งและนายมิ่งให้ร่วมกันชำระราคารถยนต์ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดได้หรือไม่ 
(ข) นายมั่นจะฟ้องนายมิ่งขอให้แบ่งส่วนกำไรให้ตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและขอให้คืนเงิน ค่าหุ้นที่ได้ลงไปให้แก่ตนด้วยได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) บริษัทเจริญยนต์ จำกัด มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องนายมุ่งและนายมิ่งให้ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวได้ ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1079 ห้างหุ้นส่วนจำกัดถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่ จำกัดจำนวน นายมุ่งได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะกับบริษัทเจริญยนต์ จำกัด ก่อนที่ห้างจะได้จดทะเบียน ดังนั้น ต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระราคารถยนต์กระบะ ให้แก่บริษัทเจริญยนต์ จำกัด แม้นายมุ่งจะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ตาม ก็ไม่อาจอ้างเพื่อให้พ้น ความรับผิดได้ตามนัยแห่งบทกฎหมายข้างต้น ทั้งนายมุ่งยังมีความรับผิดในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทเจริญยนต์ จำกัด อีกด้วย ส่วนนายมิ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนก็ต้องรับผิดเช่นกัน เพราะรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซื้อเพื่อนำมาใช้ใน กิจการของห้างหุ้นส่วน จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในการชำระราคาให้แก่ ผู้ขาย (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2519, 992/2521) 

(ข) นายมั่นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องนายมิ่งขอให้แบ่งส่วนกำไรให้ตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการฟ้องอ้างว่าหุ้นส่วนด้วยกันปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ยอมแบ่งกำไรให้ตามสัญญา แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยังไม่เลิกกันก็ไม่ขัดขวางการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะฟ้องหุ้นส่วนคนอื่นว่าปฏิบัติผิดสัญญา ทั้งไม่มีกฎหมายบทใด บังคับว่า เมื่อยังมิได้เลิกหุ้นส่วนกันแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนฝ่ายหนึ่งจะฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งหาว่าผิดสัญญาไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2497) 

ส่วนการที่นายมั่นฟ้องนายมิ่งขอให้คืนเงินค่าหุ้นที่ตนได้ลงไปนั้น นายมั่นไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องได้ ทั้งนี้เพราะถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิก ผู้เป็นหุ้นส่วนจะฟ้องขอคืนเงิน ค่าหุ้นโดยไม่ได้ฟ้องขอเลิกห้าง และขอให้ชำระบัญชีด้วยไม่ได้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น เมื่อเลิกห้างจะต้องมีการชำระ บัญชีตามมาตรา 1061 เมื่อนายมั่นไม่ได้ฟ้องขอเลิกห้างและขอให้ชำระบัญชีก่อน แต่มาฟ้องขอคืนเงินค่าหุ้น นายมั่น จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2514, 1767/2529) 

ข้อ 8. 

นายหนึ่งซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับในขณะที่มีสติดี และถูกต้องตามกฎหมาย ยกแหวนเพชร 1 วง ที่นายหนึ่งได้รับการยกให้โดยเสน่หาระหว่างสมรสให้แก่นายสอง ซึ่งเป็นเพื่อน หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายหนึ่งได้เขียนข้อความเพิ่มเติมยกเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้มาจาก ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการขายที่ดินสินส่วนตัวของนายหนึ่งภายหลังที่นายหนึ่งสมรสโดยชอบต่อจากข้อความ ยกแหวนเพชรตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าว โดยมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ขณะที่นายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายสามบุตร โดยชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่งตายไปก่อนแล้วและนายหนึ่งไม่มีญาติอื่นอีกเลย นอกจากนายสองซึ่งบวชเป็น พระภิกษุ นายห้าซึ่งมิได้เป็นบุตรของนายหนึ่งแต่นายหนึ่งนำมาเลี้ยงเสมือนเป็นบุตรโดยมิได้จดทะเบียนรับเป็น บุตรบุญธรรม กับนายสี่ซึ่งนายสามจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมไว้ 

ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์สินทั้งสองรายการตามพินัยกรรมของนายหนึ่งจะตกทอดแก่ผู้ใด 

ธงคำตอบ 

กรณีที่นายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ นายหนึ่งสามารถทำพินัยกรรมได้ เพราะ ความสามารถหาได้ถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528) 

แหวนเพชรและเงินจำนวน 100,000 บาท ต่างเป็นสินส่วนตัวของนายหนึ่งเพราะแหวนเพชรเป็นทรัพย์สิน ที่นายหนึ่งได้รับการยกให้โดยเสน่หาระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ส่วนเงิน 100,000 บาท ซึ่งได้มาจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการขายที่ดินสินส่วนตัวของนายหนึ่ง มิใช่ดอกผลของ สินส่วนตัวอันจะเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 1775/2512) ทรัพย์สิน ดังกล่าวจึงเป็นของนายหนึ่งที่จะทำพินัยกรรมได้ แม้นายหนึ่งเขียนพินัยกรรมเพิ่มเติมระบุเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายสองโดยมิได้ลงลายมือชื่อ กำกับไว้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสองก็ตาม แต่คงมีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความส่วนนี้เท่านั้น ข้อความส่วนอื่นยังคงสมบูรณ์อยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546) ดังนั้น แหวนเพชรจึงตกทอดแก่นายสอง ตามพินัยกรรม เพราะการเป็นพระภิกษุอยู่ก็อาจรับทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ตามมาตรา 1622 วรรคสอง 

ส่วนเงินจำนวน 100,000 บาท ต้องนำมาปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตาม มาตรา 1620 นายสองมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา 1629 เพราะนายสองเป็นเพียงเพื่อน นายห้ามิได้เป็นบุตร ของนายหนึ่ง และนายหนึ่งก็มิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม จึงมิใช่ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9003/2547) 

ส่วนนายสี่แม้จะเป็นบุตรบุญธรรมของนายสาม ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ เพราะมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา 1643 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540) ดังนั้นเมื่อนายหนึ่งไม่มี ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เงินจำนวนนี้จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา 1753
Read more

ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2547

ข้อ 1. 

นายสมโชคเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10 ด้านทิศตะวันตกติดถนนสาธารณะ ส่วนด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 11 ของนายทองดีซึ่งเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โดยที่ดินของนายทองดีด้านทิศใต้ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 12 ของนายมี และที่ดินของนายมีทางด้านทิศใต้ติดกับ ถนนสาธารณะ ซึ่งนายทองดีมีสิทธิเดินผ่านที่ดินของนายมีออกไปสู่ถนนสาธารณะในฐานะทางจำเป็นได้ ต่อมา นายสมโชคได้ซื้อที่ดินของนายทองดีและจะใช้ทางที่นายทองดีเคยเดินผ่านที่ดินของนายมีออกไปสู่ถนนสาธารณะ แต่นายมีปิดทางไม่ยอมให้นายสมโชคเดินผ่าน และนายมียังอ้างว่าต้นมะม่วงอายุ 2 ปี ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ดินที่นายสมโชคซื้อจากนายทองดี เป็นของนายมีเพราะต้นมะม่วง งอกจากเมล็ดมะม่วงที่ตกมาจากต้นมะม่วงในที่ดินของนายมี 

ให้วินิจฉัยว่า นายสมโชคจะฟ้องบังคับนายมีให้เปิดทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นได้หรือไม่ และใคร เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วง 

ธงคำตอบ 

การที่นายสมโชคซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11 มาจากนายทองดีนั้น แม้เดิมนายทองดีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11 จะมีสิทธิใช้ทางเดินในที่ดิน โฉนดเลขที่ 12 ของนายมีในฐานะทางจำเป็นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ก็ตาม นายสมโชคผู้รับโอนที่ดิน ดังกล่าวหาได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วย อย่างภาระจำยอมไม่ เพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วย ทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็น เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 11 ซึ่งนายสมโชคซื้อมามีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 10 ของนายสมโชคซึ่งอยู่ติดกันได้อยู่ แล้ว นายสมโชคจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 12 ของนายมีที่นายทองดีเคยใช้ต่อไปอีก (คำพิพากษาฎีกา ที่ 811-812/2540, 5672/2546 ประชุมใหญ่) ดังนั้น นายสมโชคจึงฟ้องบังคับให้นายมีเปิดทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นไม่ได้ 

ส่วนกรณีต้นมะม่วงตามปกติจะมีอายุยืนกว่า 3 ปี จึงเป็นไม้ยืนต้น แม้ต้นมะม่วงที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของนายสมโชคซึ่งซื้อมาจากนายทองดี จะมีอายุ เพียง 2 ปี ก็ถือว่าเป็นไม้ยืนต้นเพราะดูที่ประเภทไม้ ดังนั้น ต้นมะม่วงจึงเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงที่นายสมโชคซื้อมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อนาย สมโชคเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วงดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 144 วรรคสอง ถึงแม้ต้นมะม่วงนั้นจะงอกจากเมล็ดมะม่วงที่ตกมาจากต้นมะม่วงของนายมีก็ตาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811 - 812/2540
แม้เดิมผู้อยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจะได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วยอย่างภารจำยอมเพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็นเมื่อโจทก์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้นเพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 หรือมาตรา 1350 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2546
การที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์รับโอนมามีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์จะได้สิทธิในทางพิพาทนั้นด้วยอย่างภารจำยอม เพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทั้งเป็นการจำกัดและริดรอนอำนาจกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่น จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อที่ดินซึ่งโจทก์รับโอนมามีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกัน แม้ส่วนที่ดินที่ติดกันกว้างเพียง 1.16 เมตร และทางเดินออกสู่ทางสาธารณะกว้างเพียง 1.35 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์ เท่านั้น หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น 

ข้อ 2. 

นายสมชายทำสัญญาซื้อไก่พันธุ์พิเศษที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มไก่ของนายพินิจเท่านั้นจำนวน 1,000 ตัว ในราคา 50,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 5,000 บาท ตกลงจะมีการส่งมอบและชำระราคาที่เหลือในอีก 1 เดือน ก่อนวันส่งมอบ ประมาณ 1 สัปดาห์ ปรากฏว่ามีโรคไข้หวัดนกระบาดเข้าไปถึงท้องที่ฟาร์มไก่ของนายพินิจ เป็นเหตุให้ไก่ที่นายพินิจเลี้ยงอยู่ประมาณ 10,000 ตัว ตายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ทางการได้ประกาศให้ท้องที่ดังกล่าวเป็นเขตไข้หวัดนกระบาดและมีคำสั่งให้นำ ไก่ในเขตนั้นไป ทำลายโดยเร็ว ครั้นถึงวันส่งมอบไก่ นายพินิจไม่ส่งมอบไก่แก่ นายสมชาย แต่ขอให้นายสมชายชำระราคาที่เหลือ นายสมชายไม่ยอมชำระราคาไก่ที่เหลือ และเรียกร้องให้นายพินิจ คืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายที่นายสมชายไม่ได้กำไรจากการซื้อขายครั้งนี้ 10,000 บาท 

ให้วินิจฉัยว่า นายพินิจมีสิทธิเรียกร้องราคาไก่ที่เหลือจากนายสมชายหรือไม่ และนายพินิจต้องรับผิดต่อนายสมชายหรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

สัญญาซื้อขายไก่เป็นสัญญาต่างตอบแทน แต่เมื่อยังไม่มีการคัดเลือกไก่ จึงมิใช่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 370 และมาตรา 371 เมื่อก่อนส่งมอบมีโรคไข้หวัดนกระบาดเข้าไปในฟาร์มไก่ของนายพินิจ และทางการได้มีคำสั่งให้นำไก่ในเขตนั้นไป ทำลายแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องการชำระหนี้ของลูกหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุที่โทษลูกหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนไม่ได้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้นั้นตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง 

และ ขณะเดียวกันลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา 372 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายพินิจไม่จำต้องส่งมอบไก่แก่นายสมชาย และนายพินิจไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาไก่ที่เหลือจากนายสมชาย แต่นายพินิจต้องคืนเงินมัดจำ 5,000 บาท แก่นายสมชาย และกรณีนี้ถือว่าการชำระหนี้ของนายพินิจตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอันจะ โทษนายพินิจไม่ได้ นายพินิจมิได้เป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา นายสมชายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเนื่องจากขาดกำไรจากนายพินิจ 

ข้อ 3. 

นายเหี้ยมหาญเป็นครูสอนวิชาพลศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง นักเรียนของนายเหี้ยมหาญ มีอายุระหว่าง 11 - 13 ปี ในวันเกิดเหตุระหว่างเวลา 13 - 14 นาฬิกา นายเหี้ยมหาญสั่งให้นักเรียนในชั้นทั้งหมด 30 คน วิ่งรอบสนาม ซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร จำนวน 12 รอบ เพื่อลงโทษที่ นักเรียนกลุ่มนั้นทำผิดระเบียบ ในระหว่างวิ่งรอบที่ 11 เด็กชายอ่อนซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วเป็นลมล้มลง และเสียชีวิตเมื่อไป ถึงโรงพยาบาล ทั้งนี้โดยนายเหี้ยมหาญมิได้รู้มาก่อนว่าเด็กชายอ่อนป่วยเป็นโรคหัวใจ 

ให้วินิจฉัยว่า นางแข็งมารดาของเด็กชายอ่อนผู้ตายจะฟ้องนายเหี้ยมหาญ และเจ้าของโรงเรียนผู้เป็นนายจ้างเพื่อให้รับผิดในความตาย ของเด็กชายอ่อนได้ หรือไม่ เพียงใด 

โดยเฉพาะจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้หรือไม่ หากโรงเรียนที่เกิดเหตุมิใช่โรงเรียนเอกชน แต่เป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร บุคคลที่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยจะแตกต่างออกไป หรือไม่ อย่างไร 

ธงคำตอบ 

การที่นายเหี้ยมหาญลงโทษเด็กนักเรียนอายุเพียง 11-13 ปี โดยสั่งให้วิ่งรอบสนาม ซึ่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร เป็นจำนวนมาก ถึง 12 รอบ ในช่วงเวลาบ่ายนั้น ถือเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่กรณี โดย นายเหี้ยมหาญสามารถคาดเห็นได้ว่าการลงโทษเช่นนั้น อาจเป็นอันตรายแก่เด็กนักเรียนที่ถูกลงโทษได้ จึงเป็นการ กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เด็กชายอ่อนถึงแก่ความตาย เป็นการทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง ดังนั้น นางแข็งจึงฟ้อง นายเหี้ยมหาญในฐานะลูกจ้าง และเจ้าของโรงเรียนในฐานะนายจ้างให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดของ นายเหี้ยมหาญที่กระทำโดยประมาทเลินเล่อมีผลโดยตรงต่อความตายของเด็กชายอ่อนและเป็นการกระทำใน ทางการที่จ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 425 ค่าเสียหายที่เรียกได้ คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ตามมาตรา 443 ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของนางแข็งมารดาของ เด็กชายอ่อนตามมาตรา 443 วรรคสาม แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน ตามมาตรา 446 มิได้ เพราะมิใช่ เป็นการกระทำละเมิดแก่ร่างกาย อนามัย หรือเสรีภาพ การที่เด็กชายอ่อนเป็นโรคหัวใจเป็นพฤติการณ์ที่อาจนำมาใช้ในการกำหนด ค่าเสียหายให้ลดลงได้ตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง คือพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงของการละเมิด แต่จะนำมายกเว้นความ รับผิดของนายเหี้ยมหาญและเจ้าของโรงเรียน โดยอ้างว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5129/2546) 

หากโรงเรียนที่เกิดเหตุเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เฉพาะ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด ที่นายเหี้ยมหาญเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการ ปฏิบัติหน้าที่ครูสอนพละเท่า นั้น ในกรณีนี้นางแข็งจะฟ้องนายเหี้ยมหาญเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546
จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาพลศึกษาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัยในชั่วโมงดังกล่าวด้วย การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ ถือเป็นการอบอุ่นร่างกายนับเป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้เมื่อนักเรียนวิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการวิ่งครบ 3 รอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้วิ่งต่ออีก 3 รอบ จะถือเป็นวิธีการทำโทษที่เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วแต่การที่นักเรียนทั้งหมดยังวิ่งได้ไม่เรียบร้อยแบบเดิมอีก จำเลยที่ 1 ก็ควรหามาตรการหรือวิธีการลงโทษโดยวิธีอื่น การที่สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบและเมื่อนักเรียนยังทำได้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันอากาศร้อนและมีแสงแดดแรงนับเป็นการใช้วิธีการลงโทษที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนซึ่งอายุระหว่าง 11 ปี ถึง 12 ปีได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเป็นความประมาทเลินเล่อ ทั้งการออกกำลังกายโดยการวิ่งย่อมทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ จำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่ปกติจนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วล้มลงในการวิ่งรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว จึงเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย การที่จำเลยที่ 1 ทำการสอนวิชาพลศึกษาของโรงเรียนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อทำให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาให้โจทก์เพื่อช่วยเหลืองานศพหรือจัดการศพเด็กชาย พ. ก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ กรณีจึงไม่อาจนำเงินช่วยงานศพที่โจทก์ได้รับจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ได้ การที่บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะถูกทำละเมิดโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตกเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในปัจจุบันและในอนาคตภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร เด็กชายจะสามารถทำงานมีรายได้มาอุปการะโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม 3 รอบ เพื่ออบอุ่นร่างกายและการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้นักเรียนวิ่งต่อไปอีก 3 รอบ เพราะนักเรียนวิ่งกันไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบ เป็นวิธีการสอนและลงโทษนักเรียนตามสมควรแก่เหตุและเหมาะสม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้วิ่งอีก 3 รอบสนาม ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 เป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหวังให้นักเรียนได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจำเลยที่ 1 ยังมีความหวังดีต่อนักเรียนต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้เหมือนดังวิสัยของครูทั่วไป แม้เป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตายแต่จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือกระทำการประมาทอย่างร้ายแรง เพียงแต่กระทำโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบและไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีอาชีพครูสอนพลศึกษาจะพึงปฏิบัติและสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพของเด็กชาย พ. ไม่แข็งแรงมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างความไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมายไม่ได้ แต่ศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของการทำละเมิดได้ แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่ขณะที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วสิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

ข้อ 4. 

นายแมนทำหนังสือสัญญาเช่าบ้านหลังหนึ่งจากนายหมูมีกำหนด 3 ปี มีข้อตกลงด้วยว่าห้ามนำบ้านหลังดังกล่าวไปให้เช่าช่วง ต่อมาในระหว่างสัญญาเช่า นายแมนตกลงด้วยวาจาให้นายเจนเช่าบ้านหลังนี้โดยไม่กำหนดระยะเวลากันไว้ อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ชำระค่าเช่าทุกวันสิ้นเดือน หลังจากให้นายเจนเช่าบ้านได้ 6 เดือน นายแมนเห็นว่ายังเหลือระยะเวลาตามสัญญาเช่าเดิม อีก 1 ปี และตนเองอยากกลับเข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ อีกครั้ง จึงบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าแก่นายเจนในวันสิ้นเดือนของเดือนหนึ่ง ขอให้นายเจนขนย้ายออกจากบ้านเช่าภายใน 15 วัน ครบ กำหนด 15 วันแล้วนายเจนไม่ยอมออก นายแมนจึงยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้น ขอให้ขับไล่ นายเจนออกจากบ้านเช่า นายเจนให้การต่อสู้คดีว่า (ก) นายแมนให้นายเจนเช่าช่วงบ้านฝ่าฝืนข้อตกลงตามสัญญาที่ทำไว้กับนายหมู นายแมนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าของนายแมนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายเจนไม่ได้ทำผิดสัญญา และนายแมนบอกกล่าวให้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเจนทั้งสองข้อรับฟังได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) แม้นายแมนทำหนังสือสัญญาเช่าบ้านจากนายหมูมีข้อตกลงห้ามนำบ้านไปให้เช่าช่วง แต่การที่ นายแมนฝ่าฝืนข้อตกลงโดยนำบ้านหลังดังกล่าวไปให้นายเจนเช่าช่วง ก็เป็นเรื่องที่นายแมนต้องรับผิดต่อนายหมู ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544 ไม่เกี่ยวกับนายเจนผู้เช่าช่วง เมื่อนายเจนตกลง เช่าช่วงบ้านจากนายแมน การเช่า ช่วงดังกล่าวย่อมผูกพันนายแมนและนายเจนในฐานะบุคคลสิทธิและนายเจน ย่อมถูกปิดปากมิให้โต้แย้งอำนาจของนายแมนซึ่งตนเข้า ทำสัญญาด้วย นายเจนไม่อาจยกข้ออ้างที่นายแมนให้ตนเองเช่าช่วงบ้านโดยฝ่าฝืนข้อตกลงตาม สัญญาเช่าที่ทำกับนายหมูมาต่อสู้นาย แมนได้ นายแมนมีอำนาจฟ้อง 

(ข) การเช่าบ้านระหว่างนายแมนและนายเจนทำกันด้วยวาจา ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงฟ้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 กรณีเช่นนี้ถือว่านายเจนผู้เช่าเข้าอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายแมนผู้ให้เช่า เมื่อนายแมนไม่ประสงค์จะให้อยู่ต่อก็สามารถ ฟ้องขับไล่ได้ แม้นายเจนจะมิได้ทำผิดสัญญาใด ๆ นอกจากนี้การเช่าที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น แม้จะมิได้กำหนดเวลาเช่ากันไว้ก็ไม่ อยู่ในบังคับของมาตรา 566 ที่นายแมนที่จะต้องบอกกล่าวการเลิกสัญญาแก่นายเจนให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง เป็นอย่างน้อย นายแมนมีสิทธิฟ้องขับไล่นายเจนได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 20/2519) ข้อต่อสู้ของนายเจนทั้งสองข้อรับฟังไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2519 
เช่าบ้านไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ให้เช่าขับไล่ผู้เช่าได้โดยไม่ต้องบอกเลิกตาม มาตรา 566 ซึ่งใช้ในกรณีมีหนังสือเช่าเป็นหลักฐานใบเสร็จรับเงินค่าเช่าเป็นหลักฐานการเช่าได้หรือไม่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มิใช่จะยกขึ้นอ้างเมื่อใดก็ได้ 

ข้อ 5. 

นายดำทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนายแดง 1,000,000 บาท โดยจำนำแหวนเพชรหนึ่งวงราคา 600,000 บาท เป็นประกันการ ชำระหนี้ มีนายขาวเป็นผู้ค้ำประกันและนายเขียวจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้กู้ยืมดัง กล่าวซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ต่อมานายแดง ให้นายดำยืมแหวนเพชรวงดังกล่าวไปใช้แล้วนายดำมิได้นำมาคืน ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2547 นายแดงมีหนังสือทวงถามไปยังนายดำ ให้ชำระหนี้กู้ยืมภายใน 15 วัน และมีหนังสือบอกกล่าวไปยังนายเขียวให้ไถ่ถอนจำนองโดยเร็วที่สุด นายดำและนายเขียวได้รับหนังสือ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2547 แต่นายแดงลืมทวงถามให้นายขาวชำระหนี้ วันที่ 3 กันยายน 2547 นายแดงฟ้องนายดำ นายขาว และนายเขียว ให้รับผิดตามสัญญากู้ยืม ค้ำประกัน และจำนอง ตามลำดับ 

ให้วินิจฉัยความรับผิดของนายดำ นายขาว และนายเขียว 

ธงคำตอบ 

นายดำเป็นผู้กู้ยืมเงินนายแดงโดยมีสัญญากู้ยืมเป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายดำผู้กู้ แม้สัญญาไม่มีกำหนดเวลาใช้คืนเงินกู้ นายแดงก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 652 เมื่อนายแดงบอกกล่าวแล้วนายดำไม่ชำระหนี้ นายดำตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ 1,000,000 บาท แก่นายแดง 

นายขาวเป็นผู้ค้ำประกัน แม้นายแดงลืมบอกกล่าวทวงถามให้นายขาวชำระหนี้ แต่เมื่อนายดำลูกหนี้ ผิดนัดแล้ว นายแดงย่อมมีสิทธิเรียกให้นายขาวชำระหนี้ได้ตามมาตรา 686 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามแก่ นายขาว (คำพิพากษาฎีกาที่ 6389/2534) การที่นายแดงผู้รับจำนำให้นายดำยืมแหวนเพชรไปทำให้ทรัพย์ที่จำนำกลับคืนสู่ ครอบครอง ของนายดำผู้จำนำ สิทธิจำนำจึงระงับตามมาตรา 769 (2) (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2517/2534) และเป็นเรื่องเจ้าหนี้ทำให้ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจรับช่วงสิทธิจำนำได้เพราะการ กระทำของเจ้าหนี้ตามมาตรา 697 นายขาวผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ ตนเสียหายคือ 600,000 บาท ดังนั้น นายขาวต้องรับผิดต่อนายแดง 400,000 บาท 

สำหรับนายเขียวผู้จำนอง การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภาย ในเวลาอันสมควรซึ่ง กำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ตามมาตรา 728 หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของนายแดงมิได้กำหนดเวลาให้นายเขียวชำระหนี้ จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบ นายแดงยังไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง นายเขียวจึงยังไม่ต้องรับผิดต่อนายแดง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2534
จำเลยที่ 3 แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะสืบ ต. ในประเด็นว่าโจทก์โดย ต. มิได้บอกกล่าวทวงถามชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ก่อนแต่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การข้อที่จะขอนำสืบ ต. ดังกล่าวเป็นประเด็นไว้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการสืบ ต. เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไร้สาระให้งดสืบนั้น จึงชอบแล้ว แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 371391/355 และมีหนังสือทวงถามถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355 แต่ภายหลังจำเลยที่ 3ยื่นคำให้การแล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้เป็นว่าทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 271391/355 จำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันตามข้อสัญญาในการออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตสำหรับการสั่งซื้อสินค้ารายนี้ ซึ่งก็คือสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง สัญญาทรัสต์รีซีทกับสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ลงบนตั๋วแลกเงินถึงวันที่จ่ายจริง แม้การทำสัญญาทรัสต์รีซีทจะไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แล้วหรือไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2534
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนำให้จำเลยผู้จำนำเช่าเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 769(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิจำนำของผู้ร้องจึงระงับสิ้นไปตามมาตรา ดังกล่าว ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำที่จะร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ได้ 

ข้อ 6. 

นายเอกเปิดร้านขายอาหารอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากนายโทเพื่อนำไปใช้ในร้าน นายเอกออกเช็คธนาคารกรุงทอง จำกัด สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือลงวันที่ 7 มกราคม 2547 ชำระหนี้แก่ นายโทที่ร้านนั้นเอง นายโทสลักหลังและส่งมอบเช็คดังกล่าวแก่นายตรีเพื่อชำระหนี้เงินยืม นายตรีรับเช็คไว้แล้วหลงลืม จนกระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 จึงนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงิน ในบัญชีไม่พอจ่าย นายตรีทวงถามนายเอกและนายโทให้ใช้เงินตามเช็ค ทั้งสองคนต่อสู้ว่านายตรีนำเช็คไปเรียก เก็บเงินล่าช้า จึงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ตน 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเอก และนายโทฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

เช็คที่นายเอกสั่งจ่ายเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับสถานที่ออกเช็ค แม้นายตรีผู้ทรงจะมิได้ยื่นเช็ค แก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 แต่ไม่ปรากฏว่าการไม่ยื่นเช็คภายในกำหนดดังกล่าวทำให้นายเอกผู้สั่งจ่ายต้องเสียหายอย่างใด นายตรีจึงไม่เสียสิทธิที่มีต่อนายเอกและ มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากนายเอกได้ ตามมาตรา 900 และมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3242/2530) ข้อต่อสู้ของนายเอกฟังไม่ขึ้น 

นายโทสลักหลังเช็คผู้ถือ ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายจึงต้องผูกพัน เป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกับนายเอกผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 มาตรา 940 วรรคหนึ่ง และมาตรา 967 ประกอบด้วยมาตรา 989 นายโทไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอันจะพ้นความรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็ค ต่อผู้สลักหลังโอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ตามเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย นายโทไม่หลุดพ้นจากความรับผิดและต้องร่วมรับผิดกับนายเอก (คำพิพากษาฎีกาที่ 1007/2542) ข้อต่อสู้ของนายโทฟังไม่ขึ้นเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2530
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์แม้จำเลยสั่งจ่ายเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของ พ.ที่มีต่อโจทก์แต่เมื่อพ. ยังไม่ได้ชำระหนี้ต่อโจทก์ หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังคงมีอยู่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ทั้งจะนำบทบัญญัติในเรื่องการผ่อนเวลาของเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับเพื่อให้จำเลยพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่ ความเสียหายอันเกิดจากผู้ทรงเช็คไม่นำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคาร ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 นั้นหมายถึงผู้สั่งจ่ายเสียเงินที่มีอยู่ในธนาคารเพราะการที่ผู้ทรงไม่นำเช็คไปขึ้นเงินภายในกำหนด เช่นธนาคารล้มละลาย เป็นต้น ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าการที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินล่าช้าจน พ. หลบหนีไปแล้วจึงดำเนินการ ทำให้จำเลยเสียหาย ไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก พ. ได้ กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงไม่พ้นความรับผิดตามเช็คพิพาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2542
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต แม้เช็คพิพาทเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค และโจทก์มิได้ ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็คก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียง ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการ รับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ 967 ประกอบด้วยมาตรา 989ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอัน จะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ เรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลัง โอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น บทบัญญัติมาตรา 990 ดังกล่าวหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกัน การใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่ง ให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จึงไม่อาจ นำมาปรับแก่กรณีนี้ได้ 

ข้อ 7. 

บริษัทสยาม จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2547 มีทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายหนึ่ง และนายสองเป็นกรรมการ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2547 บริษัทฯ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ จึงขอยืมเงินจากนายหนึ่ง จำนวน 1,000,000 บาท อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม 2547 กิจการของบริษัทฯ ได้ดีขึ้น ผู้ถือหุ้นประสงค์จะตอบแทนความ ช่วยเหลือของนายหนึ่ง ผู้ถือหุ้นจึงได้ประชุมกันลงมติพิเศษ ให้บริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนทั้งสิ้น 10,000 หุ้น โดยให้เสนอขายให้นายหนึ่งคนเดียวในราคาหุ้นละ 90 บาท โดยให้ถือว่า เงินที่ กู้ยืมส่วนหนึ่งจำนวน 900,000 บาท ที่บริษัทฯ ยืมไปจากนายหนึ่งเป็นเงินชำระค่าหุ้นและให้คืนเงินที่กู้ยืมที่เหลืออีก 100,000 บาท ให้ นายหนึ่ง 

ให้วินิจฉัยว่า มติพิเศษของผู้ถือหุ้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่ผู้ถือหุ้นบริษัทสยาม จำกัด ลงมติพิเศษให้เพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นให้นายหนึ่งคนเดียวนั้นกระทำไม่ได้ เพราะขัดต่อประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1222 ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้นต้องเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวน หุ้น ซึ่งเขาถืออยู่ ส่วนที่ลงมติเสนอขายในราคาหุ้นละ 90 บาท ต่อหุ้นก็กระทำไม่ได้ เพราะต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ จึงขัดต่อมาตรา 1105 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ออกขายหุ้นในราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ และที่ลงมติให้นายหนึ่งชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน โดยทำการ หักกลบลบหนี้กับเงินที่บริษัทสยาม จำกัด ยืมมาจากนายหนึ่งก็กระทำไม่ได้เช่นกัน เพราะขัดต่อมาตรา 1119 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในการใช้เงินค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่ ดังนั้น มติพิเศษของผู้ถือหุ้นทั้งสามประการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ข้อ 8. 

นายมิตรและนางสาวมุ้ย ต่างมีอายุ 25 ปี ทำสัญญาหมั้นกัน โดยนายมิตรได้มอบแหวนเพชร 1 วง ราคา 200,000 บาท ให้แก่ นางสาวมุ้ยเป็นของหมั้น แล้วนายมิตรกับนางสาวมุ้ยก็อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดย นางสาวมุ้ยลาออกจากงานซึ่งขณะนั้นได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท เพื่อช่วยนายมิตรทำการค้าที่บ้านนายมิตร ครั้นถึงกำหนด วันจดทะเบียนสมรสตามที่ตกลงกันไว้แล้ว นายมิตรไม่ยอมไปจดทะเบียน กลับนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่กินในบ้านและขับไล่นางสาวมุ้ย นางสาวมุ้ยจึงกลับไปอยู่กับนางแม้นมารดา ต่อมานายมิตรยอมใช้ค่าทดแทนความเสียหายในการที่นางสาวมุ้ยมาอยู่กินกับนาย มิตร ให้แก่นางสาวมุ้ยเป็นเงิน 200,000 บาท โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้ หลังจากนั้นนางสาวมุ้ยก็ถึงแก่ความตาย ซึ่งขณะถึงแก่ความตาย คงมีแต่นางแม้นและนายมุ่ง น้าของนางสาวมุ้ยมีชีวิตอยู่เพียง 2 คนเท่านั้น 

ให้วินิจฉัยว่า นางแม้น และนายมุ่ง มีสิทธิในแหวนเพชรของหมั้น ค่าทดแทนความเสียหายตามหนังสือ รับสภาพ กับค่าทดแทนความเสียหายที่นางสาวมุ้ยลาออกจากงานหรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

นางแม้นและนายมุ่งต่างเป็นมารดาและน้าของนางสาวมุ้ยผู้ตาย จึงเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) และ 1629 (6) ตามลำดับ แต่นายมุ่งเป็นทายาทที่อยู่ลำดับถัดลงไปจากนางแม้น ย่อมไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกตาม มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง นางแม้นจึงเป็นทายาทโดยธรรมของ นางสาวมุ้ยแต่ผู้เดียว การที่นายมิตรกับนางสาวมุ้ยหมั้นกันโดยที่ทั้งสองฝ่ายมีอายุเกินกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ทั้งไม่ได้เป็นผู้เยาว์และนายมิตรได้ส่งมอบแหวน เพชรให้แก่นางสาวมุ้ยเป็นของหมั้น การหมั้นจึงทำได้และสมบูรณ์ตามมาตรา 1435 วรรคหนึ่ง และ 1437 วรรคหนึ่ง ของหมั้นจึงตกเป็นสิทธิของนางสาวมุ้ยตามมาตรา 1437 วรรคสอง เมื่อนายมิตรไม่ยอมจดทะเบียน สมรส ถือว่านายมิตรผิดสัญญาหมั้น นางสาวมุ้ยไม่ต้องคืนของหมั้นตามมาตรา 1439 ของหมั้นย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางแม้น 

การที่นางสาวมุ้ยไปอยู่กินร่วมกันกับนายมิตรฉันสามีภริยา ทั้งยังถูกนายมิตรขับไล่ ย่อมเป็นเหตุให้ นางสาวมุ้ยได้รับความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง ตามมาตรา 1440 (1) (คำพิพากษาฎีกาที่ 982/2518) และการที่นางสาวมุ้ยลาออกจากงานเพื่อช่วยนายมิตรทำการค้า ถือว่าเป็นกรณีที่สมควร นางสาวมุ้ยย่อมได้รับ ความเสียหายตามมาตรา 1440 (3) (คำพิพากษาฎีกาที่ 3366/2525) นายมิตรจึงต้องใช้ค่าทดแทน ความเสียหายทั้งสองประการแก่นางสาวมุ้ย ตามมาตรา 1439 ซึ่งสิทธิที่เรียกร้องดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้และ ไม่ตกทอดไปถึงทายาท แต่สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงนั้น เนื่องจากนายมิตรได้รับสภาพไว้เป็นหนังสือ แล้ว สิทธิเรียกร้องเฉพาะส่วนนี้ย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางแม้น ตามมาตรา 1447 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2518
ชายหญิงหมั้นกันโดยตกลงว่า เมื่อทำพิธีแต่งงานกันแล้วจะไปจดทะเบียนสมรสภายใน 15 วัน แต่เมื่อได้ทำพิธีแต่งงานและได้อยู่ร่วมกัน 46 วันแล้ว ชายไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับหญิงแต่กลับขับไล่หญิงให้กลับไปอยู่บ้านบิดาเช่นนี้ชายผิดสัญญาหมั้น เป็นเหตุให้หญิงต้องได้รับความอับอายขายหน้า เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงและร่างกายชายต้องรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1) 

โจทก์ชนะคดี 1 ใน 3 ของคำฟ้อง ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมเต็มจำนวนตามฟ้องก็ได้เมื่อไม่นอกเหนือไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลฎีกาไม่แก้ไข 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2525
จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439,1440 การกำหนดค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์นั้นต้องพิเคราะห์ถึงการศึกษาอาชีพและรายได้ของโจทก์ฐานะของครอบครัวของโจทก์และการที่โจทก์เป็นหญิงมาอยู่กินกับจำเลยจน มีบุตรแต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเสียชื่อเสียงทั้งเป็นการยากที่จะทำการสมรสใหม่ ก่อนรับหมั้นจำเลย โจทก์ทำงานอยู่บริษัทฯ เมื่อแต่งงานแล้วโจทก์ได้ลาออกจากงานเพื่อมาช่วยงานบ้านจำเลยถือได้ว่าโจทก์ได้จัดการเกี่ยวกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสเมื่อจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ได้แต่ต่อมาโจทก์ได้เข้าทำงานใหม่แม้จะลาออกจากงานอีกครั้งหนึ่งก็มิใช่ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสเพราะในระยะนั้นทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่อาจจะจดทะเบียนสมรสกันได้แน่นอน โจทก์จึงเรียกไม่ได้
Read more

ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2546

ข้อ 1. 

เมื่อปี พ.ศ. 2520 นายแดงนำเรือบรรทุกที่ใช้รับจ้างส่งสินค้ามาจอดเกยตื้นอยู่ที่ปากแม่น้ำท่าจีนหน้าที่ดินมีโฉนดของนาย ดำ ซึ่งอยู่ใกล้ตลาดสะดวกที่นายแดงและภริยาจะไปค้าขาย และใช้เรือบรรทุกนั้นเป็นที่อยู่อาศัยตลอดมา ไม่ได้ย้ายไปไหนเลยเป็นเวลา 12 ปี ในระยะเวลาดังกล่าวสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน พอขึ้นปีที่ 13 ชายตลิ่งที่จอดเรือบรรทุกก็ตื้นเขินติดต่อมาจากที่ดินของนายดำ เป็น เนื้อที่ 10 ตารางวา นายแดงจึงปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวอยู่อาศัยแทนเรือบรรทุกที่ผุพังแล้ว นายดำรู้เรื่องก็ไม่ว่ากล่าวอะไร ต่อมาปี พ.ศ. 2540 นายดำจะสร้างบ้านในที่ดินของนายดำ จึงบอกให้นายแดงออกจากที่ดินนั้น นายแดงไม่ยอมออก นายดำจึงฟ้องขับไล่ นาย แดงให้การต่อสู้ว่าได้เข้าครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว 

ให้วินิจฉัยว่า นายดำหรือนายแดงเป็นผู้มี กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าว 

ธงคำตอบ 

เดิมที่ดินตามปัญหาเป็นที่ชายตลิ่งซึ่งน้ำท่วมถึง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) นายแดงมีสิทธินำเรือบรรทุกไปจอดใช้เป็นที่อยู่อาศัยในที่ชายตลิ่งดังกล่าวเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อที่ จอดเรือบรรทุกของนายแดงตื้นเขินกลายเป็นที่งอกเชื่อมต่อมาจากที่ดินมีโฉนดของนายดำ ที่ดินส่วนดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินของนาย ดำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ส่วนที่นายแดงอ้างว่าครอบครองที่ดินส่วนดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนถึง ปี พ.ศ. 2540 เป็นเวลา 20 ปี นายแดงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวแล้วนั้น ในช่วงเวลา 12 ปีแรก ที่ดินนั้นยังเป็นที่สาธารณสมบัติ ของแผ่นดินอยู่ แม้นายแดงจะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่หลังจากที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นที่งอกริมตลิ่งและตกเป็นของ นายดำแล้ว นายแดงเพิ่งเข้าครอบครองได้เพียง 8 ปีเท่านั้น ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายดำ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ที่ 126/2503 และคำพิพากษาฎีกาที่ 149/2543) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2503
ก่อนเป็นที่งอก ที่พิพาท เป็นที่น้ำท่วมถึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต่อมาที่พิพาทเริ่มเป็นของจำเลยโดยเป็นที่งอกหน้าที่ดินของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308เมื่อ 3 ปีมานี้ การที่โจทก์ครอบครองปรปักษ์ต่อที่ดินของจำเลยดังกล่าวนี้เพียง 3 ปีโจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 

ข้อ 2. 

นายเขียวทำสัญญาจ้างนายเหลืองซึ่งมีอาชีพทนายความฟ้องนายม่วงให้ชำระหนี้ตามเช็คจำนวน1,000,000 บาท แก่นาย เขียว โดยตกลงว่านายเหลืองต้องฟ้องร้องและว่าความให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด คิดค่าจ้าง100,000 บาท จะชำระค่าจ้างทั้งหมดในวันที่ คดีถึงที่สุด นายเหลืองได้ฟ้องนายม่วงและว่าความให้นายเขียวโดยใช้ความรู้ความสามารถตามหน้าที่ตลอดมาจนถึงชั้นฎีกา นายเหลือง แจ้งให้นายเขียวทราบว่า ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 1 กันยายน 2544 ให้นายเขียวไปฟังคำพิพากษาและนำค่าจ้าง ไปชำระให้นายเหลืองด้วย ครั้นถึงวันนัดนายเหลืองไปฟังคำพิพากษา ส่วนนายเขียวไม่ไป ปรากฏว่า ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า นายม่วงชำระหนี้ให้นายเขียวครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2544 นายเหลืองแจ้งผลคดีให้นายเขียวทราบและขอให้ชำระค่าจ้าง จำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2544 เป็นต้นไป นายเขียวไม่ยอมชำระเงินดังกล่าว อ้างว่านายเขียวไม่ต้องรับผิดชำระเงินนั้น เนื่องจากนายเขียวแพ้คดีและนายเขียวยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

ให้วินิจฉัยว่า นายเขียวต้องรับผิด ชำระค่าจ้างและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กันยายน2544 แก่นายเหลืองหรือไม่

ธงคำตอบ

การที่นายเขียวทำสัญญาจ้างนายเหลืองให้ฟ้องนายม่วงและว่าความจนกว่าคดีถึงที่สุด เป็นสัญญาต่างตอบแทนก่อให้เกิดหนี้ที่ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระต่างตอบแทนกัน โดยหนี้ที่นายเหลืองจะต้องชำระนั้นเป็นหนี้ที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำซึ่งต้องใช้ ความรู้ความสามารถในการว่าความจนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อนายเหลืองได้ทำการฟ้องนายม่วงและว่าความโดยใช้ความรู้ความสามารถ ตามหน้าที่จนคดีถึงที่สุดแล้ว แม้ผลคดีนายเขียวจะแพ้คดีก็ตาม ก็ถือว่านายเหลืองได้ชำระหนี้ส่วนของตนด้วยการกระทำต้องตามความ ประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้แล้ว นายเหลืองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างจำนวน 100,000 บาท จากนายเขียวเป็นการตอบแทนตามสัญญา ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7406/2540) ส่วนดอกเบี้ย นั้นการที่สัญญาจ้างกำหนดว่า นายเขียวจะชำระค่าจ้างทั้งหมดในวันที่คดีถึงที่สุด ถือว่าเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระ แต่มิใช่ กำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทินที่นายเขียวจะตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่ต้องเตือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง แต่เป็นกรณีตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ที่นายเขียวจะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น นายเหลืองได้ให้คำเตือนแล้ว นายเขียวไม่ชำระหนี้ค่าจ้าง ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดในวันที่ 1 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำ พิพากษาอันถึงกำหนดเวลาชำระหนี้แล้ว แต่นายเหลืองมิได้เตือนให้นายเขียวชำระหนี้ นายเขียวจึงมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2544 นายเขียวจึงยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2544 แก่นายเหลืองตามที่นายเหลือง เรียกร้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2540
จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความ ผลสำเร็จของงานย่อยอยู่ที่การว่าความจนคดีถึงที่สุด ส่วนการแพ้หรือชนะเป็นเพียงผลแห่งการงานในการชำระสินจ้างเท่านั้น เมื่อคดีที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความถึงที่สุด เพราะมีการตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและถอนฟ้องในคดีอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไป สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ต้องปฏิบัติชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ในขณะเดียวกัน เมื่อโจทก์ผู้รับจ้างได้ทำงานให้จำเลยผู้ว่าจ้างและจำเลยได้รับผลงานเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไป ส่วนข้อตกลงที่ว่า "ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไรและย่อมอยู่แก่ความพอใจของจำเลย" นั้น เป็นเพียงข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม มิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144(เดิม) มาตรา 182(ใหม่) สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ 

ข้อ 3.

นายอำนาจลูกจ้างบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด ร่วมกับร้อยตำรวจเอกอิทธิพล สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำ หมายค้นจากศาลไปทำการค้นร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ของนางสาวแชท การค้นไม่พบงานอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ด้วยความเชื่อว่า ร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ของนางสาวแชทมีการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จริง และต้องการมีผลงานเพื่อความดีความชอบในหน้าที่ การงาน นายอำนาจจึงร่วมกับร้อยตำรวจเอกอิทธิพลนำแผ่นวีซีดีและซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 10 แผ่น ที่บุคคลทั้งสองร่วมกันจับได้ ในคดีอื่นวางไว้ในบริเวณที่ตรวจค้นและอ้างว่าเป็นของกลางที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ซึ่งนางสาวแชทมีไว้เพื่อขายโดยรู้ว่าเป็นงานอันได้ ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น นางสาวแชทถูกฟ้องด้วยข้อหาดังกล่าว แต่ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่เชื่อในพยานหลักฐานของโจทก์ 

ให้วินิจฉัยว่า นางสาวแชทจะฟ้องเรียกนายอำนาจ บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด ร้อยตำรวจเอกอิทธิพล และสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายฐานละเมิดได้หรือไม่ หากบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด หรือสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่นางสาวแชทผู้เสียหายแล้วจะมีสิทธิไล่เบี้ยจากนายอำนาจหรือร้อยตำรวจเอกอิทธิพลได้ หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การกระทำของนายอำนาจและร้อยตำรวจเอกอิทธิพล เป็นการจงใจกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เขาเสียหาย แก่เสรีภาพและสิทธิในชื่อเสียง เป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นายอำนาจจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนแก่นางสาวแชทในความเสียหายแก่เสรีภาพและชื่อเสียงของนางสาวแชท บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด นายจ้างต้องร่วมรับ ผิดกับนายอำนาจลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามมาตรา 425 แต่ชอบที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกจ้างได้ตาม มาตรา 426 

สำหรับร้อยตำรวจเอกอิทธิพลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทาง ละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากเป็นละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ นางสาวแชทต้องฟ้องสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดโดยตรง จะฟ้องร้อยตำรวจเอกอิทธิพลไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทาง ละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และเนื่องจากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดด้วยความจงใจ หน่วยงานของรัฐจึงอาจ เรียกให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำและความชอบธรรม ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 

ข้อ 4. 

นายเสือทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของนายช้างเพื่อสร้างตึกแถวหนึ่งห้อง สัญญาเช่ามีข้อตกลงว่าเมื่อนายเสือ ก่อสร้างตึกแถวแล้วเสร็จยอมยกตึกแถวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายช้างทันที ทั้งนี้นายช้างยินยอมให้นายเสือเช่าตึกแถวพร้อมที่ดิน ดังกล่าวมีกำหนด 10 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท และอนุญาตให้นายเสือนำตึกแถวพร้อมที่ดินไปให้เช่าช่วงได้ เมื่อสร้างตึกแถว แล้วเสร็จนายเสือเข้าอยู่อาศัยในตึกแถวชั้นบน ส่วนตึกแถวชั้นล่างให้นายหมีเช่าทำการค้ามีกำหนด 3 ปี โดยนายเสือกับนายหมีไม่ได้ทำ หลักฐานการเช่าเป็นหนังสือกันไว้ อยู่มาได้ 1 ปี นายเสือผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารวม 3 เดือน นายช้างทวงถามให้นายเสือชำระค่าเช่า ภายใน 15 วัน นายเสือก็เพิกเฉย นายช้างจึงมีหนังสือถึงนายเสืออ้างว่านายเสือผิดสัญญา ขอเลิกสัญญาเช่า ให้นายเสือส่งมอบ ทรัพย์สินที่เช่าคืนภายใน 30 วัน และนายช้างมีหนังสือถึงนายหมีอ้างเหตุว่า นายเสือถูกบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ไม่มีสิทธิให้นายหมีเช่า ช่วงต่อไป ขอให้นายหมีออกไปจากตึกแถวภายใน 30 วัน นายเสือกับนายหมีได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม 

ให้วินิจฉัยว่า นายช้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่นายเสือ และมีสิทธิขับไล่นายหมีออกจากตึกแถวได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

สัญญาเช่าระหว่างนายเสือกับนายช้างที่มีข้อตกลงว่า เมื่อนายเสือก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินที่เช่าแล้วเสร็จ ยอมยกตึกแถวให้เป็น กรรมสิทธิ์ของนายช้างทันที โดยนายช้างยินยอมให้นายเสือเช่าตึกแถวพร้อมที่ดินมีกำหนด 10 ปี เป็นทั้งสัญญาเช่าและเป็นสัญญาต่าง ตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้จะเช่ากันเกินกว่า 3 ปี ก็ไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 538 แต่คู่สัญญาต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ด้วย เมื่อนายเสือผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ตามกำหนดและนายช้างผู้ให้เช่าบอกกล่าวทวงถามให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันแล้ว นายเสือเพิกเฉย นายช้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาเช่าแก่นายเสือได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 412/2511) สำหรับนายหมีได้เช่าตึกแถวพร้อมที่ดินโดยความยินยอมของนายช้าง จึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบตามมาตรา 544 และถือว่านาย หมีผู้เช่าช่วงเข้าอยู่ในตึกแถวโดยอาศัยสิทธิของนายเสือผู้เช่าเดิม แต่เมื่อนายเสือผิดสัญญาจนเป็นเหตุให้นายช้างบอกเลิกสัญญาเช่า แล้ว นายเสือย่อมหมดสิทธิที่จะครอบครองและให้นายหมีเช่าช่วงตึกแถวพร้อมที่ดินต่อไป ถือได้ว่าสัญญาเช่าช่วงสิ้นสุดลง นายช้างจึงมี สิทธิขับไล่นายหมีออกจากตึกแถวได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 471/2533) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2511
สัญญาก่อสร้างที่ผู้สร้างยอมยกกรรมสิทธิ์ในเคหะที่สร้างให้แก่เจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินต้องยอมให้ผู้ก่อสร้างเช่าเคหะนั้นเป็นสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดาด้วยแม้จะระบุให้เช่าได้มีกำหนด 11 ปี ก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่ในเรื่องเช่านั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ตามธรรมดาคือผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าเมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าก็เป็นการผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าก็ย่อมบอกเลิกการเช่าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2533
จำเลยให้ อ. เช่าที่พิพาทโดย อ. มีสิทธินำไปให้เช่าช่วงได้ อ. นำที่พิพาทไปให้โจทก์เช่าช่วงโดยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าช่วงแต่เมื่อ อ. ประพฤติผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับจำเลยโดยไม่ชำระค่าเช่า จนจำเลยต้องบอกเลิกสัญญาฟ้องขับไล่ และศาลพิพากษาขับไล่ อ. ออกจากที่พิพาทแล้ว อ. ก็หมดสิทธิครอบครองและให้โจทก์เช่าช่วงที่พิพาทได้ต่อไปเหตุนี้โจทก์จึงจะใช้หนังสือมอบอำนาจของ อ. มาบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการเช่าที่พิพาทให้โจทก์หาได้ไม่ ไม่ว่าการเช่าช่วงที่โจทก์อ้างจะกระทำกันก่อนหรือหลังที่ศาลพิพากษาให้ขับไล่ อ. ออกไปจากที่พิพาทผลของคดีก็ไม่แตกต่างกัน หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ชอบที่จะไปว่ากล่าวกับ อ.ผู้ให้เช่าช่วงแล้วประพฤติผิดสัญญาดังกล่าวต่อไป

ข้อ 5. 

นางแก้วกู้เงินนายธนาคม จำนวน 500,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี มีนาย เพชรเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งระบุในสัญญาค้ำประกันว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 500,000 บาท และมีนาง มณีนำที่ดินแปลงหนึ่งของตนมาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยมีข้อกำหนดในสัญญาจำนองว่า ถ้าในการบังคับจำนอง ตามสัญญานี้ ได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระ ขาดจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ ผู้รับจำนองจนครบจำนวนด้วย ต่อมานางแก้วผิดนัดไม่ชำระหนี้และไม่มีทรัพย์สินใดที่จะนำมาชำระหนี้แก่นายธนาคมได้ นายธนาคมจึง ทวงถามให้นายเพชรในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับนางแก้วชำระต้นเงินและดอกเบี้ยก่อนการทวงถาม ซึ่งนายธนาคมขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 875,000 บาท แต่นายเพชรขอชำระหนี้ให้เพียง 500,000 บาท นายธนาคม ไม่ยอมรับชำระหนี้จากนายเพชรและบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินของนางมณี 

ให้วินิจฉัยว่า นายเพชรและนางมณีจะต้องรับผิดต่อนาย ธนาคมหรือไม่เพียงใด 

ธงคำตอบ 

การที่นายเพชรทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดจำกัดวงเงินสำหรับต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 500,000 บาท แม้นายเพชรตกลง ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 แต่ก็มีความหมายเพียงว่านายเพชรซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ยอมรับผิดร่วมกับนางแก้วในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในวงเงินที่จำกัดจำนวนไว้ กล่าวคือ ในต้นเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวม เป็นเงิน 500,000 บาท เท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับนางแก้วผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อ หนี้ถึงกำหนด นายเพชรขอชำระหนี้แก่นายธนาคมโดยชอบแล้วตามมาตรา 701 วรรคหนึ่ง แต่นายธนาคมไม่ยอมรับชำระหนี้จากนาย เพชร โดยจะให้นายเพชรชำระหนี้ในยอดหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของนายเพชร ย่อมทำให้นายเพชรซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจาก ความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามมาตรา 701 วรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 382/2537) ส่วนการที่นางมณีทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยมีข้อกำหนดในสัญญาจำนองว่า ถ้าในการบังคับจำนอง ตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระ ขาดจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจน ครบจำนวน ข้อตกลงนี้แม้จะแตกต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่ กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นางมณีผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1507/2538 และที่ 168/2518) นางมณีจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยในการบังคับ จำนองขายทอดตลาดที่ดินตามสัญญาจำนอง ถ้าได้เงินไม่พอจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว ขาดจำนวนอยู่เท่าใด นายธนาคมย่อมบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของนางมณีได้จนครบจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้วด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2537
ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่า นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกแม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 2 ครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว และโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาทเท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรก แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701,727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่ มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้เช่นในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้นข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่าถ้าในการบังคับจำนองได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนแต่หนี้ที่น. ลูกหนี้ค้างโจทก์หลังจากบังคับคดีแล้วไม่พอชำระนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ลูกหนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 แต่ยังคงรับผิดตามทรัพย์ที่จำเลยจำนอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2518
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์ตามสัญญาจ้างปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคากรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการบกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายนั้นได้ ร้านสหกรณ์โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าไปแล้ว แต่หาได้มีการลงบัญชีรับสินค้าไว้ไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการอาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สินค้าบางรายการลงบัญชีจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความเป็นจริงร้านสหกรณ์โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญ ซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินไปโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่าย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกันจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้น ย่อมเถียงไม่ขึ้นเพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ ก็ย่อมกระทำได้ 

ข้อ 6. 

นายชูไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าพบนายวิทย์ นายชูเห็นเป็นโอกาสจึงทวงถามเงินที่นายวิทย์ยืมไป นายวิทย์ได้ออกเช็คผู้ ถือโดยมิได้ลงวันที่ออกเช็ค และได้ขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่แล้วมอบเช็คแก่นายชู นายชูลงวันที่ในเช็คแล้วนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคาร ตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายชูไปแจ้งความร้องทุกข์และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของนายวิทย์ นายสันต์บิดาของนายวิทย์กลัว ว่านายวิทย์จะถูกจับกุม จึงรับรองต่อนายชูว่าจะใช้เงินตามเช็คให้ภายในกำหนด 7 วัน โดยนายสันต์ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไว้ด้วย แต่เมื่อครบกำหนด 7 วัน นายสันต์ก็ไม่ยอมชำระ นายชูจึงฟ้องนายวิทย์กับนายสันต์ให้ร่วมกันใช้เงินตามเช็ค นายวิทย์ต่อสู้ว่าได้ขีดเส้น สีดำไว้ในช่องวันที่แสดงว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเติมวันที่ในเช็ค ส่วนนายสันต์ต่อสู้ว่าได้สลักหลังเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการ จ่ายเงินแล้วจึงไม่ต้องรับผิด

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายวิทย์และนายสันต์ฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายวิทย์ออกเช็คโดยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ จึง หาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 กรณีจึงถือได้ว่านายวิทย์ออกเช็คโดยมิได้ ลงวันออกเช็คไว้ นายชูผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายจึงลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2542) ข้อต่อสู้ของนายวิทย์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อต่อสู้ของนายสันต์นั้น แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว เช็คดังกล่าวซึ่งมีรายการครบถ้วนตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 ก็ยังเป็นเช็คตามความหมายแห่งมาตรา 987 นายสันต์สลักหลังเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมเป็น ประกัน (อาวัล) สำหรับนายวิทย์ผู้สั่งจ่าย จึงมีความรับผิดอย่างเดียวกับนายวิทย์บุคคลซึ่งตนประกันตามมาตรา 921, 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 แม้จะสลักหลังเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้วก็ไม่ทำให้ไม่เป็นอาวัล นายสันต์จึงต้องรับ ผิดตามเช็คนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 5766/2537) ข้อต่อสู้ของนายสันต์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงิน บ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมา บ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5766/2537
เมื่อเช็คพิพาทมีรายการครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 988 แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วก็ยังคงเป็นเช็คตามมาตรา 987 จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้สลักหลังยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทตาม มาตรา 900 เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่โจทก์หรือผู้ถือ จำเลยที่ 4 สลักหลังเช็คพิพาทย่อมเป็นประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 และมีความรับผิดอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 921,940 ประกอบด้วยมาตรา 989 ทั้งต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้รับอาวัลรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ตามมาตรา 967ประกอบด้วยมาตรา 989 แม้จำเลยที่ 4 สลักหลังเช็คพิพาทหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คพิพาท 

ข้อ 7. 

นายหนึ่ง นายสอง นายสามและนายสี่ ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย โดยนายหนึ่งและนายสองลงหุ้นคนละ 100,000 บาท ไม่จำกัดความรับผิด ส่วนนายสามและนายสี่ลงหุ้นคนละ 200,000 บาท จำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีนายหนึ่ง และนายสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีรายการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ โดยได้โฆษณาในราชกิจจา นุเบกษาเรียบร้อยแล้วว่า "นายหนึ่งและนายสองลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะมีผลผูกพันห้างหุ้นส่วน" ต่อมา ในวันที่ 21 กันยายน 2546 นายหนึ่งและนายสองต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงได้มอบอำนาจให้นายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เข้าจัดกิจการงาน ในห้างแทนตนเป็นเวลา 10 วันในวันที่ 25 กันยายน 2546 นายสามในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายหนึ่งและนายสองได้ทำสัญญา แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อซื้อขายสินค้าจากนายเอ จำนวน 1,000,000 บาท และในวันที่ 26 กันยายน 2546 นายสี่ซึ่งเป็นหุ้นส่วน จำพวกจำกัดความรับผิด ได้ทำสัญญาแทนห้างหุ้นส่วนเพื่อซื้อสินค้าจากนายบี จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อนายหนึ่งและนายสอง กลับมาจากต่างประเทศก็ได้รับเอาสัญญาที่นายสามทำไว้แทนห้างหุ้นส่วน แต่ไม่ยอมรับเอาสัญญาที่นายสี่ทำไว้ เช่นนี้หากนายเอและ นายบี ได้เรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่สหาย ไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ให้วินิจฉัยว่า นายเอ และนายบีจะเรียกให้บุคคลใดรับผิดได้บ้าง 

ธงคำตอบ 

การที่นายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเขัาจัดกิจการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างฯตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 แม้ว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานดังกล่าวจะทำ โดย ได้รับมอบอำนาจก็ตาม นายสามจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯโดยไม่จำกัดจำนวน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 691/2524) เมื่อนายสามได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องให้เข้าทำสัญญา สัญญาซึ่งนายสามทำไว้กับนายเอจึงมีผลผูกพันห้างฯ เมื่อห้างฯผิดนัด นายเอจึงเรียกให้ห้างฯในฐานะคู่สัญญา รวมทั้งนายหนึ่งและนายสองในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และนายสามในฐานะหุ้นส่วน จำกัดความรับผิด ที่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ร่วมกันรับผิดได้ตามมาตรา 1070 ประกอบกับมาตรา 1080 นายสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจจัดการงานให้ผูกพันห้างฯ อีกทั้งนายบีก็ทราบถึงรายการเกี่ยวกับอำนาจจัดการซึ่งได้จดทะเบียนไว้ ณ กระทรวงพาณิชย์ เพราะรายการดังกล่าวได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าทุกคนทราบถึงข้อความ ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1022 ดังนั้นสัญญาซึ่งนายสี่ได้กระทำขึ้นจึงไม่มีผลผูกพันห้างฯ นายบีไม่ สามารถเรียกให้ห้างฯรับผิด แต่เรียกให้นายสี่รับผิดเป็นส่วนตัวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2524
จำเลยที่ 1,2 ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งต่อมาได้เลิกกิจการ จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 

ข้อ 8.

นายมิ่งกับนางขวัญเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรด้วยกันสองคน คือนายสดและนางสวย หลังจาก คลอดนางสวยแล้ว นางขวัญก็ถึงแก่ความตาย นายมิ่งได้รับรองบุตรทั้งสองคนเป็นบุตรโดยพฤตินัยแล้ว ต่อมานายสดได้สมรสกับนาง บุญโดยจดทะเบียนสมรส ก่อนสมรส 1 วัน นายมิ่งซื้อรถยนต์เก๋ง 1 คัน ราคา 2,000,000 บาท ให้เป็นของขวัญแก่คู่สมรส เมื่อเสร็จงาน สมรสแล้ว นายมิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัดแต่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสดเศร้าสลดจนห้ามใจไม่ได้จึงฆ่าตัวตาย ปรากฏว่า นายมิ่งมีทรัพย์มรดกจำนวน 8,000,000 บาท 

ให้วินิจฉัยตามประเด็นต่อไปนี้ 
(ก) ทรัพย์สินอะไรบ้างเป็นมรดกของนายสด 
(ข) ทรัพย์มรดกของนายสดตกทอดได้แก่ใคร คนละเท่าใด 

ธงคำตอบ 

(ก) ทรัพย์มรดกของนายมิ่งจำนวน 8,000,000 บาท ย่อมตกทอดไปยังนายสดและนางสวยบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1) คนละส่วน เป็นเงินคนละ 4,000,000 บาท เฉพาะ ส่วนของนายสดแม้จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสก็ตาม แต่เป็นการได้มาโดยทางมรดก จึงเป็นสินส่วนตัวของนายสดตามมาตรา 1471 (3) เป็นเงิน 4,000,000 บาทสำหรับรถยนต์เก๋ง 1 คัน ราคา 2,000,000 บาท ซึ่งนายมิ่งได้ซื้อให้เป็นของขวัญแก่คู่สมรส แม้ให้ ก่อนสมรสเพียง 1 วัน แต่นายมิ่งผู้ให้มีเจตนามอบให้แก่คู่สมรสไว้ใช้สอยเมื่ออยู่ร่วมกัน จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสเป็นเจ้าของ ร่วมกัน จึงต้องแบ่งทรัพย์สินส่วนนี้ให้แก่นายสดและนางบุญคนละส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1625 (1), 1532 คือ เป็นทรัพย์สินของนาย สดเป็นเงิน 1,000,000 บาทดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายสดจึงได้แก่สินส่วนตัว 4,000,000 บาท และสิทธิในรถยนต์อีก 1,000,000 บาท รวมเป็นมรดกทั้งสิ้น 5,000,000 บาท 

(ข) การที่นายมิ่งและนางขวัญจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ของนายสดและนางสวยเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องถือตามความเป็นจริง (คำพิพากษาฎีกาที่ 4828/2529) นางสวยจึงเป็นทายาทโดย ธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของนายสดตามมาตรา 1629 (3) สำหรับลำดับส่วนแบ่งระหว่างนางสวยและนางบุญคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมเป็นไปตามมาตรา 1635 (2) ดังนั้น นางสวยและนางบุญจึงมีสิทธิรับมรดกของนายสดคนละกึ่ง คือ คนละ 2,500,000 บาท 

หมายเหตุ 

กรณีรถยนต์นั้น ผู้ตอบจะให้เหตุผลว่าเป็นสินสมรสตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2259/2529 หรือจะให้เหตุผลว่าเป็นสิน ส่วนตัวของแต่ละคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ก็ให้ได้คะแนนเท่ากัน 
แต่ถ้าตอบว่าเป็นสินส่วนตัวของนายสดเพียงคนเดียวตามมาตรา 1471 (3) ถือว่าผิด เพราะนายมิ่งมิได้มีเจตนาให้แก่ นายสดเพียงคนเดียว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2529
การเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันต้องถือความเป็นพี่น้องกันตามความเป็นจริงส่วนบิดามารดาจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญเมื่อบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่กรรมและผู้ตายก็ไม่มีผู้สืบสันดานพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 จึงเป็นผู้จัดการศพผู้ตายมีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพเพราะเหตุที่ลูกจ้างของจำเลยที่1ขับรถยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายได้ ฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นพี่ชายและพี่สาวของผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกันโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยทั้งสองคือค่าปลงศพค่ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 โดยระบุค่าเสียหายแต่ละรายการมาด้วยว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใดและขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจึงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้อบังคับทั้งข้ออ้างและข้อหาส่วนรายละเอียดว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างเป็นเรื่องที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในคำฟ้องฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2259/2529
ของขวัญที่เป็นของใข้ในครอบครัวซึ่งญาติและเพื่อนของคู่สมรสมอบให้เนื่องในวันสมรสนั้นผู้ให้ย่อมมีเจตนาที่จะให้คู่สมรสได้ใช้สอยเมื่ออยู่ร่วมกันถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ให้รายใดได้แสดงเจตนาไว้เป็นพิเศษว่ามอบให้แก่คู่สมรสฝ่ายใดโดยเฉพาะแล้วแม้จะเป็นของที่มอบให้ก่อนวันแต่งงาน1วันก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสตกเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474(1) ของใช้ในครอบครัวแม้จะเป็นของขวัญวันแต่งงานหรือเป็นของที่ซื้อมาหลังการสมรสแล้วก็ตามก็เป็นสินสมรส เข็มขัดทองซึ่งเป็นของหมั้นให้แก่โจทก์นั้นเมื่อจำเลยได้ใช้ให้บุคคลภายนอกไปเอาคืนมาจากบิดาโจทก์จำเลยก็ต้องรับผิดคืนให้แก่โจทก์ด้วย
Read more